ฉบับที่ 264 สัญญาเช่าต้องติดอากรแสตมป์ด้วยหรอ

        ผู้บริโภคหลายคนโดยเฉพาะนักศึกษาและคนวัยเริ่มทำงานมักจะเช่าห้องเช่าคอนโดมิเนียม หลายคนอาจไม่ทราบว่าสัญญาเช่าที่เราทำกัน จริงๆ แล้วต้องติดอากรแสตมป์ด้วย หลายๆ คนอาจจะสับสนว่า อากรแสตมป์ อันเดียวกันกับที่เป็นแสตมป์ปิดซองจดหมายใช่หรือไม่  บอกเลยไม่ใช่         อากรแสตมป์เป็นภาษีประเภทหนึ่งตามประมวลรัษฎากรที่จัดเก็บในรูปของดวงแสตมป์ที่ใช้สำหรับปิดบนเอกสารราชการและหนังสือสัญญาต่างๆ โดยมีกรมสรรพากร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ  มีชนิด 1 บาท 5 บาท และ 20 บาท สีเขียวๆ  โดยอัตราที่ต้องเสียคิดง่ายๆ เสียอัตรา 0.1% ของค่าเช่าตลอดอายุสัญญา (ถ้าไม่กำหนดให้ถือว่ามีระยะเวลา 3 ปี และถ้าครบกำหนดแล้วยังให้เช่าต่อไปถือว่าทำสัญญากันใหม่และต้องเสียอากรสำหรับสัญญาดังกล่าว ภายใน 30 วัน) เช่น ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ทำสัญญา 1 ปี = 60,000 บาท เสียภาษีอากรอัตราร้อยละ 0.1 จึงเท่ากับ ต้องติดอากรจำนวน 60 บาท ซึ่งตามกฎหมายผู้ที่ต้องเสียอากรส่วนนี้ คือผู้ให้เช่า เนื่องจากกฎหมายมองว่าเจ้าของทรัพย์ที่เช่าเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการทำสัญญาเช่า  ส่วนผู้เช่ามีหน้าที่ต้องขีดฆ่าอากรแสตมป์  อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ยังเปิดช่องให้คู่สัญญาสามารถตกลงกันเองได้ ว่าจะกำหนดให้ใครมีหน้าที่ต้องเสียอากรนี้ โดยระบุไว้ในสัญญา แต่หากไม่ได้ตกลงกันก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด         ดังนั้น หากในสัญญาเช่าระบุไว้ว่า ให้ผู้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบ เราจึงควรรู้ว่า หากต้องเสียอากรสามารถทำได้ โดยหาซื้ออากรได้ที่หน่วยงานราชการ เช่น กรมสรรพากร หรือร้านเครื่องเขียน (บางร้าน)หรือ จะนำเงินไปขอเสียอากรที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้านก็ได้ โดยจ่ายเงินสด จะได้ใบเสร็จมา ก็นำใบเสร็จมาแนบประกอบสัญญาเช่าไว้เป็นหลักฐาน         หากสัญญาเช่าใด ไม่ติดอากรหรือติดไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ผลคือ ผู้มีหน้าเสียอากรจะต้องเสียเงินเพิ่มนอกเหนือจากค่าอากรที่ต้องเสียนับจากวันทำสัญญาเช่า ซึ่งแบ่งเป็นช่วงเวลาคือถ้าปิดอากรหลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน จะเสีย 2 เท่า แต่ถ้าเกิน 90 วัน จะเสีย 5 เท่า แต่หากไม่ดำเนินการและถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเจอ จะเสีย 6 เท่า เงินเพิ่มดังกล่าวสามารถขอลดหย่อนได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและหากมีข้อพิพาทต่อศาล ตราสารดังกล่าวจะไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในศาลได้จนกว่าจะได้เสียอากรแสตมป์ให้ถูกต้อง (ขอบคุณที่มา กรมสรรพากร )         สัญญาเช่าซื้อไม่ติดอากรแสตมป์ มีผลใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะเพียงแต่อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่2089/2552)         คำพิพากษาฎีกาที่ 2089/2552         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยแบบของสัญญาเช่าซื้อบัญญัติไว้เพียงว่า "สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ" เมื่อปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นโดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เช่า และมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในช่องเจ้าของ ถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นเป็น หนังสือตามแบบที่บัญญัติไว้แล้ว จึงมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามนั้น ส่วนการ ปิดอากรแสตมป์ในตราสารตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากร ก็เป็นเรื่องของการเรียกกับ อากรอันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหาก ทั้งการไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ก็มีผล เพียงไม่อาจอ้างตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น มิใช่ว่าสัญญาที่มิได้ ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์จะตกเป็นโมฆะไม่         สัญญาเช่าไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ แต่เมื่อจำเลยยอมรับว่ามีการทำสัญญากันจริง เพียงแต่เจตนาเป็นสัญญาซื้อขาย จึงไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือสัญญาเช่าฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ตามคำรับของจำเลยว่ามีการทำหนังสือสัญญาเช่ากันจริง          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7720/2550         โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่ากับโจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าท้ายฟ้องแล้วผิดสัญญา ขอให้ขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย จำลยให้การว่าหนังสือสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องเป็นสัญญาที่โจทก์เจ้าของที่ดินรวมและจำเลยมีเจตนาให้เป็นสัญญาซื้อขาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยให้การยอมรับว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวกับโจทก์จริง เพียงแต่อ้างว่าหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวคู่สัญญามีเจตนาให้เป็นสัญญาซื้อขาย กรณีเช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือสัญญาเช่าฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ตามคำรับของจำเลยว่ามีการทำหนังสือสัญญาเช่ากันจริงไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา118

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ทำไมต้องคัดค้าน ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและตัวแทนชุมชนประชาชนในกรุงเทพมหานคร อาทิ  ชุมชน สุขุมวิท 28 และ 30 ชมรมอนุรักษ์พญาไท และ ชุมชนซอยมหาดเล็กหลวง 1-2 และ 30 ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)  เพื่อขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาทบทวนกฎกระทรวง ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)   ให้มีหลักเกณฑ์และมาตรการที่ควบคุมอย่างเข้มงวด และมีบทกำหนดโทษขั้นสูงหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายทั้งผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดและขอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาในปัจจุบันทั้งระยะสั้นและในระยะยาว ดังที่ข่าวกระแสหลักได้เสนอไปแล้วนั้น ทีมงานฉลาดซื้อขอพามาอ่านความคิดของตัวแทนชุมชนท่านหนึ่งกันแบบเจาะลึก        คุณมานิต ศรีวิชภูมิ  เป็นตัวแทนชุมชนสุขุมวิทชอย 28 กับ 30 เล่าว่า พวกเขารวมกลุ่มกันเนื่องจากมีปัญหาการสร้างตึกสูง และคอนโดในพื้นที่ชุมชน        เรารวมตัวเพราะว่าเราเจอประเด็นเรื่องการสร้างคอนโด    ครั้งแรกที่รวมตัวกันน่าจะ 3 ปี ได้แล้ว    เพราะเกิดเหตุว่ามีคอนโดมาสร้าง แล้วก็พบว่าคอนโดที่สร้างเริ่มทำให้มีปัญหาในซอยจากผังเมืองอันเก่า พบว่ามีการใช้ใบอนุญาตผิดประเภท มีการไม่ตรงไปตรงมาของเจ้าหน้าที่รัฐ เรารวมตัวกันเพราะมันผิดปกติ มีการอนุญาตให้สร้างในที่ซอยเล็ก มีข่าวว่าจะมีการสร้างตึกในซอยแคบ  8 เมตร 10 เมตร สร้าง 30 ชั้น ดูแล้วว่าไม่ได้แล้ว ก็เลยเกิดการรวมตัวกันแล้วก็ไม่ยอม  รวมตัวกันโดยคนในพื้นที่    ที่อยู่กันมาดั้งเดิม ประเด็นต่อมาที่สำคัญก็คือ ขบวนการแบบนี้มันจะผลักดันให้เจ้าของที่ดินเดิม หรือที่อยู่กันมาหลายชั่วคน  ไม่มีที่อยู่ จะต้องออกไปจากพื้นที่  ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดินเดิม จะอ้างว่าได้ที่ดินราคาสูงขึ้น ซึ่งมันไม่เกี่ยวมันเป็นปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ คุณไม่สามารถเอาปัญหาเศรษฐกิจมาตอบคำถาม มาเป็นข้ออ้างและทำให้คุณสามารถละเมิด หรือทำอะไรก็ได้  แต่ละคนมีทัศนคติต่อเรื่องที่ดินไม่เหมือนกัน   อย่างที่ดินที่บ้านผม  อยู่ต่อกันมาสองสามชั่วคน   เป็นของทวด เพราะฉะนั้นการกระทำแบบนี้มันไม่ถูกต้อง ในกระบวนการพัฒนาเมือง มันต้องไม่ไปละเมิดคนใดคนหนึ่งหรือว่าจะต้องได้รับการเห็นชอบยินยอมสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิด        วันนี้ที่มายื่นหนังสือก็เพราะเห็นว่าผังเมืองอันนี้เขาไม่ได้มาถามเราตอนที่เขาร่าง เท่าที่ฟังดูเหมือนเขาไปถามกันในกลุ่มเอง  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสายอาชีพนักลงทุนต่างๆ คือเป็นพวกนักพัฒนา ซึ่งมันไม่ใช่   ผมได้ยินพวกคนจนเขามาสะท้อนให้ฟังว่า “เขาเป็นคนจนเขาก็ไม่เคยได้ถูกถามว่าจะให้พวกเขาไปอยู่ไหน” ซึ่งผมคิดว่าการพัฒนาแบบทิ้งคนใดคนหนึ่งมันไม่ถูก แล้วต้องให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบกรับภาระไป แล้วนักพัฒนาที่ดินได้เงินไปก็ไม่ได้อยู่ที่นั่น ผมสู้มาผมเห็นมาเยอะ   การที่คุณพัฒนาแบบนี้คุณอยู่ในที่ดินหรือเปล่า  คุณก็ไม่ได้อยู่คุณสร้างปัญหาเสร็จแล้วคุณเอาเงินไปไหน คุณเอาเงินไปเข้าบัญชีคุณ แล้วคุณก็ผ่องถ่ายออกไป บางคนมีร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เขาได้เงินไปเขาก็ไปอยู่ประเทศเขา แต่เราที่อยู่ที่นี่ เราจะเผชิญกับปัญหา อันนี้คือปัญหาหลักของเมือง ซึ่งการพัฒนาเมืองที่ไม่สมดุล ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ แล้วจะพัฒนาไปเพื่ออะไร คุณอ้างเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวมันไม่ถูก เศรษฐกิจก็ไม่ได้นำความสุขมาให้กับทุกคน คุณพัฒนาเศรษฐกิจแต่คุณกลับสร้างความทุกข์ให้กับคนจำนวนไม่น้อย        ผมคิดว่าเป้าหมายหลักของการพัฒนาที่ กทม. พยายามจะใช้คำว่าเมืองสร้างสุข มันไม่ใช่สโลแกน มันหลอกลวง มันเป็นการโกหกหลอกลวงตัวเอง เพราะว่ากระบวนการที่ เขาทำก็ทำเฉพาะกลุ่มทุน กลุ่มที่มีอำนาจทางด้านการเงินทุนทรัพย์ เข้ามามีบทบาทในการกำหนดว่าประเทศควรพัฒนาไปอย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่ ประเทศเป็นของทุกคน เมืองเป็นของทุกคน ควรจะคนทุกภาคส่วน คนทุกเพศทุกวัย ควรจะมีเสียงมีสิทธิ คอนโดต้นตอปัญหานั้นสร้างเสร็จหรือยัง        เขาหยุดสร้างไป มันมีสองคอนโดที่เราสู้ มีคอนโดที่ทำ EIA เราก็สู้โดยใช้ EIA ที่จะสร้าง 30 ชั้น เป็นกลุ่มของเคพีเอ็น อันนี้เราก็หยุดเขาได้คัดค้านได้ แต่สิ่งที่เขาทำก็คือเอาที่ดินนี้ไปขายต่อให้นายทุนกลุ่มอื่น ซึ่งนายทุนกลุ่มอื่น นายทุนกลุ่มใหม่ เขาก็รอผังเมืองใหม่มา เขาถึงจะสร้างเป็นการซื้อไว้เก็ง  มีอีกอันคือคอนโดเก่าซึ่งไม่ได้เก่ามาก เพิ่งสร้างเสร็จแต่ใช้ใบอนุญาตเก่า สร้าง 18 ชั้น ซึ่งใช้ใบอนุญาตเก่าที่ไม่ต้องมีการทำ EIA ไม่ต้องทำเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม  อันนี้เราฟ้องร้อง ตอนนี้อยู่ในศาลปกครอง เพราะเราบอกว่าทำไม่ได้ ที่จะใช้ใบอนุญาตตั้งแต่ปี 35 ปรากฏว่าเขาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รีบเปิดใช้อาคาร ทำให้มีการเปิดใช้อาคารแล้ว และเราก็ไม่สามารถที่จะหยุดการใช้อาคารของเขาได้ เขาสร้างเสร็จแล้ว เปิดมามีผลกระทบเรื่องน้ำท่วม เรื่องไฟตก เริ่มตั้งแต่เขาสร้างแล้ว เรื่องน้ำท่วมแต่ก่อนเป็นที่ดินเปล่าฝนตกก็รับน้ำ พอเขาสร้างเสร็จน้ำไม่มีที่ไป น้ำก็ลงมาที่ถนน ลงมาในชุมชน คือถ้าเขาปฏิบัติตามกฎหมาย อาคารเขาก็จะไม่สูง พื้นที่คอนกรีตก็จะน้อย ก็จะมีพื้นที่ๆ จะปล่อยให้น้ำซึมลงดินได้มากขึ้น คือเป็นประเด็นที่ชัดเจน ในส่วนของ 30 ชั้นเราก็คิดว่าให้สร้างไม่ได้แล้ว เพราะปัญหาเรื่องจราจรเอง สาธารณูปโภคไม่เพียงพอ ถึงแม้เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าพอ ก็ไม่พอ “เขาก็จะพูดเอาใจช่วยนายทุน แต่เราชาวบ้าน เราอยู่ ฝนตกปุ๊บไฟดับ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเป็น ไฟดับคือไฟไม่พอ แล้วคุณจะมาเพิ่มการใช้ไฟอีก อีก 30 ชั้นอีก 200 ห้อง 200 ครอบครัวคุณจะเอาไฟที่ไหนมาใช้   คุณเอาหมู่บ้านมาอยู่แนวตั้งมันไม่ได้  การพัฒนาโดยขาดการคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง  เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่นี่ไม่ใช่เรียกว่าการพัฒนา เรียกว่าการแสวงหาประโยชน์”  เหตุที่มายื่นหนังสือในวันนี้        พอเราทราบข่าวว่าผังเมืองใหม่จะเปลี่ยนพื้นที่จากสีน้ำตาลเป็นสีแดง  ก็คือจะปล่อยผีให้สร้างตึกสูงขึ้นมาได้ เราก็เริ่มไม่สบายใจ เพราะว่ามีคอนโดที่เราสามารถหยุดยั้งเขาได้  ที่เขาพยายามจะสร้างสูงเกินที่กำหนด ซึ่งควรจะเป็น 8 ชั้น แต่ว่าจะสร้าง 30 ชั้น คือเขาจ้องอยู่  วันนี้เขาก็หยุดโครงการ เขาก็รอผังเมืองใหม่ออกมา ให้ถูกกฎหมายแล้วเขาก็จะสร้างได้เต็มที่ ทีนี้จาก 30 ที่เขาวางแผนไว้ก็จะสูงกว่านั้น เพราะว่าถ้าตามแผนนี้เขาก็จะสร้างสูงได้ไม่จำกัดถ้าเป็นสีแดงนี่ก็จะเป็นปัญหา เพราะว่าปกติสภาพการจราจรสุขุมวิทมันก็ติดมาก ขึ้นชื่อว่าเป็นเขตที่รถติดมากเราคิดว่านี่คือประเด็นหลัก ที่เราไม่เห็นด้วยที่จะมาเติมให้พื้นที่ในกรุงเทพฯ มันหนาแน่นขึ้น ซึ่งมันก็หนาแน่นอยู่แล้ว เราก็เลยกลับมาดูว่าผังเมืองนี้โดยภาพรวมแล้ว ถ้ายอมเปิดให้ขยายเส้นสีน้ำตาลมาเป็นสีแดง เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสในการเติมความหนาแน่นเข้าไปอีก จากที่ของเดิมก็แย่อยู่แล้ว ประเด็นที่จะตามมาอีกอันก็คือ ประเด็นของเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเราเห็นว่ามันมีช่องโหว่และมีการคอรัปชัน ดูแล้วทำให้กลับไปคิดว่าเป้าประสงค์ของเขาคืออะไร อดถามไม่ได้ว่าการที่เราปล่อยเส้นสีแดง แล้วก็ไม่ได้ควบคุม ให้สร้างกันได้เต็มที่ในซอยเล็ก ซอยน้อย        ผมคิดว่าประโยชน์มันจะเกิดกับใคร เกิดกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มากกว่าประชาชนส่วนน้อย  แล้วก็ทิ้งปัญหาทั้งหมดให้กับประชาชนธรรมดา ซึ่งไม่มีอะไรที่จะไปต่อรอง   ซึ่งก็ชัดเจนว่าเส้นสีแดงมันไม่ได้ถูกใช้อย่างมียุทธศาสตร์  คือไม่ได้ตอบสนอง ถ้าจะเอาเส้นสีแดงไปใช้ในส่วนของการส่งเสริมให้ความเจริญกระจายออกไปข้างนอก อันนั้นน่าจะเป็นประเด็นที่มีประโยชน์กว่า ควรกระจายออกไป ไม่ควรกระจุกตัวอย่างนี้ เพราะปัญหาเดิมมันไม่ได้แก้ และแก้ไม่ได้ด้วย เพราะด้วยโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางหน่วยงานราชการเองก็เป็นปัญหาอยู่ ยังไม่ได้บวกเรื่องของการคอรัปชัน การไม่ซื่อตรงต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ๆ บังคับใช้กฎหมาย คิดไหมว่าการยื่นหนังสือจะช่วยเปลี่ยนอะไรได้        คือเรามาสะท้อนให้ผู้ออกแบบให้เขามองในหลายๆ มิติ คือคำนึงในมิติต่างๆ ที่เราได้สะท้อนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับฟัง การมีส่วนร่วมของประชาชน ประเด็นเรื่องประชากรแฝง ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในรูปของคอนโด หรือแม้แต่เรื่องของภาษี ซึ่งเราต้องโดนแน่ๆ เพราะถ้ามาประกาศอย่างนี้ราคาที่ดินก็จะขึ้น เราก็เคยอยู่ดีๆ เราไม่เกี่ยวอะไรจากประโยชน์ของเขา เราก็ต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้น แล้วก็ตามมาด้วยเรื่องอื่นๆ แน่นอน เรื่องสาธารณูปโภคมันไม่พออยู่แล้ว โดยเฉพาะที่จะออกกฎใหม่ที่จะลดจำนวนที่จอดรถยนต์ในคอนโดเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ มันไม่สอดคล้องกับสังคมไทย สังคมไทยเป็นสังคมบูชารถ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย คุณให้ 100 เปอร์เซ็นต์เขายังไม่พอ เพราะห้องหนึ่งมีมากกว่าหนึ่งคัน ทุกวันนี้แต่ละคอนโดก็มีปัญหาเรื่องนี้ แล้วก็ทะเลาะกัน คุณจะทำปัญหาเพิ่มขึ้น ตัวนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ ถ้าคุณจะจำกัดรถยนต์ เช่น คุณมีมาตรการในเรื่องภาษี รถยนต์ภาษีต้องสูงขึ้น คุณจะต้องมีแผนผังพื้นที่ในการจอดรถด้วยว่าซื้อแล้วจะไปจอดที่ไหน ไม่ใช่ว่าเอาใจมาตรการนายทุน อุตสาหกรรม ทุกวันนี้ไม่รอดอยู่แล้ว ย้ายฐานการผลิตไปหมดแล้ว หลังจากวันนี้ วางแผนอย่างไรต่อไป        คงต้องติดตามแล้วก็รวมกลุ่มผ่านชุมชนต่างๆ ที่ประสานงานโดยมูลนิธิ  คิดว่าเป็นจุดแข็ง เป็นจุดที่ดี  แล้วก็ไปทุกที่ ทุกเวที แล้วก็แสดงให้รัฐเห็นว่า เราไม่ยินยอม เราไม่เห็นด้วยในระดับนี้ จนกระทั่งคัดค้านไปจนถึงที่สุด เมื่อถึงที่สุดของกระบวนการ แล้วมีการไปอนุญาตหรือไปเซ็นโดยมหาดไทย เราก็จะไปถึงศาลปกครองซึ่งขอให้ยับยั้งการออกกฎกระทรวง เขาเรียกกฎกระทรวงซึ่งมันมีผลกระทบกับมหาชนมาก เพราะว่ากฎหมายที่มีผลกระทบกับมหาชนขนาดนี้กับไม่ผ่านสภา กลับไปอยู่กับกระทรวง  ผมคิดว่ามันมีผลกระทบมากแต่ทำไมจะให้แค่ระดับรัฐมนตรีเซ็นผ่านแค่นั้นหรือ น่าจะเป็นระดับประเทศ เพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลระทบต่อมหภาค เศรษฐกิจและประชากรที่อยู่ในนี้เป็นหนึ่งในสามของประเทศ ดังนั้นผมคิดว่าอะไรที่มีผลกระทบมากๆ จะต้องมีการถกเถียงกันในระดับสภา ทำไมเมืองใหญ่อื่นๆ ถึงทำได้ แต่ประเทศเราทำไม่ได้        ต้องไปดูว่าประเทศที่เขาจัดการได้ เขามีความเข้มแข็งในการจัดการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายเขาศักดิ์สิทธิ์ เขาบังคับใช้ได้ เอาจริง การคอรัปชันน้อย ดังนั้นที่เราเห็นว่าเขาทำได้และอยากทำเหมือนเขานั้น เราไม่สามารถทำได้หรอก เราจะทำแย่กว่าเพราะการบังคับใช้กฎหมายเราต่ำมากต้องแก้  กทม เอง ปัญหาในวันนี้ก็คือตัว กทม  ผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายกลับปล่อยปละละเลย หรือมีส่วนรู้เห็นในการที่จะให้เมืองมันพัฒนาไปอย่างบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามผัง อย่างที่บอกคือวันนี้ที่เรามาเราถามว่าแผนเดิมของปี 56 ผังเดิมมันมีความบกพร่องตรงไหน คุณมีข้อศึกษาไหม คุณก็ไม่มี แทนที่จะเริ่มใหม่ อันเก่าคุณพัฒนาเต็มศักยภาพหรือยัง อันเก่าคุณยังทำไม่เต็มที่แล้วคุณยังมาขยับอีกเพื่ออะไร นี่มันก็คือการตอบโจทย์นายทุนทั้งนั้นอยากฝากถึงคนที่มีผลกระทบคนอื่นๆ หรือผู้อ่านอย่างไร        คือผมคิดว่าวันนี้เราจะปล่อยปละละเลยให้สิ่งต่างๆ ผ่านไป โดยที่เราไม่ใส่ใจมันคงไม่ได้อีกแล้ว เพราะว่าการที่เราปล่อยให้คนอื่นเขาละเมิดเรา เรายินยอมให้เขาทำ แล้วเราก็บอกว่าเราไม่อยากไปยุ่ง มันเลยทำให้ปัญหาลุกลามใหญ่โต ถ้าทุกคนทำหน้าที่คนละเล็กละน้อย แบ่งเบาภาระกันไป  ก็จะไม่ต้องมีคนใดคนหนึ่งทำหนัก แล้วท่านจะเดือดร้อนจนกระทั่งไปสู่วิกฤต เช่น ถ้า ทุกคนช่วยกันปัดกวาดขยะในบ้านและหน้าบ้านตัวเองมันก็จะไม่มีขยะสะสม จนกระทั่งทำให้บ้านเมืองดูไม่ดี ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือก็จะไม่มีปัญหาที่จะต้องมาทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าขยะหน้าบ้านไม่ใช่ของฉัน ฉันจะทำเฉพาะในบ้านตัวเอง ในท้ายที่สุดขยะหน้าบ้านของคุณมันก็จะมาเป็นปัญหาของคุณด้วย เพราะคุณออกจากบ้านคุณก็จะเจอขยะ เมื่อเราต้องอยู่กันเป็นชุมชนเราก็ต้องดูแลชุมชนด้วย เราอย่านิ่งดูดาย เพราะถ้านิ่งดูดายผลักภาระให้คนอื่นที่เขาใส่ใจมันไม่ค่อยยุติธรรม        การแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกันมันจะทำให้เราทำให้ชุมชนเดินหน้าไปด้วยกันได้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดการขาดสมดุลเพราะความไม่ใส่ใจของเรา ที่เราไปดำเนินการตามที่ต่างๆ ก็เป็นเงินส่วนตัว การที่เราออกมาเคลื่อนไหว เราใช้เงินตัวเองไม่มีใครมาว่าจ้าง เราคิดว่าถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำให้เรา บ้านเราเองถ้าเราไม่ดูแลใครจะมาดูแลให้เรา “เราต้องช่วยกัน คืออย่าไปคิดว่าเวลาคนออกมาเรียกร้อง อย่าไปมองเชิงลบ ต้องดูเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ว่าเขามีปัญหาอะไร บางคนเขาออกมาเพราะปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ เราปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ไม่ได้ถ้าเราทุกคนนิ่งดูดายมันก็ไม่ไม่รอด อย่าไปคิดอะไรเชิงลบ มันไม่สร้างสรรค์และมันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ ยิ่งถ้าเขามาทำให้เรา ถ้าเราช่วยได้ก็ส่งเสริมเขา เป็นกำลังใจ สนับสนุนได้ทางใดได้ก็ทำ”

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 218 คอนโดสร้างไม่เสร็จตามกำหนด

        คอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก ยิ่งทำเลดี ใกล้ที่ทำงาน ใกล้ห้างสรรพสินค้า ใกล้โรงพยาบาล การเดินทางสะดวก ยิ่งเป็นที่ต้องการ อย่างไรก็ตามการตัดสินใจซื้อคอนโด ต้องคำนึงถึงสิ่งอื่นด้วย เช่น ระยะเวลาการก่อสร้าง เพราะว่าระหว่างที่คอนโดยังสร้างไม่เสร็จเราก็ต้องไปเช่าที่อื่นอยู่ มาดูกันว่าการซื้อคอนโดของผู้ร้องรายนี้จะมีเรื่องราวน่าสนใจอย่างไร         คุณภูผา เป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แถวๆ สยาม เริ่มแรกเช่าหออยู่ เมื่อทำงานเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งก็เล็งหาคอนโดใกล้ที่ทำงาน เพื่อไว้อยู่อาศัยจนมาพบกับคอนโดวิช ซิกเนเจอร์ บริเวณถนนเพชรบุรี ใกล้บีทีเอสราชเทวี ใกล้สยายที่ทำงานของเขา ของบริษัท สยามนุวัตร จำกัด คุณภูผาจึงตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัท ราคาเกือบ 6 ล้าน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 โดยชำระเงินจำนวนเกือบ 4 แสนบาทในวันเดียวกัน โครงการนี้กำหนดสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ต่อมาบริษัทมีหนังสือมาถึงคุณภูผาขอขยายระยะเวลาเป็นวันที่ 30 เมษายน 2561 ตามข้อตกลงในสัญญาที่กำหนดไว้ว่าสามารถขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 60 วัน แต่เมื่อถึงวันดังกล่าวบริษัทกลับเงียบไปไม่ติดต่อคุณภูผาเลย        ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 คุณภูผาจึงทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดจำนวน 1,200,000 บาท และเรียกเบี้ยปรับร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญาที่ได้ทำไว้ ส่งไปยังบริษัททางไปรษณีย์ แต่บริษัทเพิกเฉย คุณภูผาพยายามติดต่อไปหลายครั้งพนักงานของบริษัทก็บ่ายเบี่ยงตลอด จนกระทั่งวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 บริษัทมีหนังสือแจ้งมายังคุณภูผาให้ไปตรวจรับห้องชุด ถ้าพ้นกำหนดแล้วยังไม่ได้ตรวจรับห้องชุด หรือไม่แจ้งเลื่อนวันตรวจห้องชุด บริษัทจะถือว่าคุณภูผายอมรับว่าห้องชุดอยู่ในสภาพเรียบร้อยและพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจากบริษัท         หลังจากได้รับหนังสือดังกล่าวคุณภูผาได้ติดต่อไปยังบริษัทสอบถามถึงหนังสือดังกล่าว เพราะเขาได้บอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนไปแล้วทำไมถึงมีหนังสือให้ไปตรวจรับห้องชุดส่งมาอีก พนักงานของบริษัทก็บ่ายเบี่ยงโยนกันไปมา คุณภูผาก็ยังโทรเข้าไปถามอยู่หลายครั้ง เพราะอยากได้คำตอบที่แน่นอน จนครั้งสุดท้ายพนักงานของบริษัทแจ้งว่าบริษัทไม่มีการตอบรับใดๆ ให้ลูกค้าดำเนินการตามสมควรเอาเอง ด้วยความร้อนใจคอนโดก็ไม่ได้ เงินที่ส่งไปก็ไม่ได้คืน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี จึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่าคุณภูผาได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่บริษัทเป็นผู้ผิดสัญญาคุณภูผามีสิทธิบอกเลิกสัญญา ขอเงินคืน และเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาจะซื้อจะขายที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงไว้ บริษัทต้องคืนเงินให้คุณภูผาพร้อมเบี้ยปรับทันที ถ้าบริษัทล่าช้าบริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่คุณภูผาอีกด้วย         ส่วนหนังสือแจ้งนัดตรวจรับมอบหนังชุด แนะนำให้คุณภูผาทำหนังสือปฏิเสธการตรวจรับห้องชุดและยืนยันการบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนตามที่คุณภูผาเคยมีหนังสือไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง โดยส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ(ใบสีเหลือง) เพื่อยืนยันในความต้องการของตนเอง        ศูนย์พิทักษ์ฯ มีหนังสือถึงบริษัทเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องและบริษัทในเดือนกันยายน 2561 บริษัทส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมและรับข้อเสนอของผู้ร้องที่บอกเลิกสัญญา ขอเงินที่จ่ายไปทั้งหมดประมาณ 1,200,000 บาทคืน และดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยขอให้ชำระภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2561 คุณภูผาใจดีไม่คิดเบี้ยปรับกรณีบริษัทผิดสัญญา และให้แจ้งกลับมายังมูลนิธิ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ไม่ได้แจ้งกลับมายังมูลนิธิ เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิโทรศัพท์สอบถามความคืบหน้าไปยังตัวแทนของบริษัท ตัวแทนแจ้งว่าบริษัทมีนโยบายที่จะคืนเงินให้แก่ผู้ร้อง โดยขอแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด และจะเริ่มชำระในเดือนมกราคม 2562 เจ้าหน้าที่มูลนิธิขอให้ตัวแทนบริษัทแจ้งมาเป็นหนังสือ แต่บริษัทก็ยังเพิกเฉย         ผู้ร้องจึงขอให้ศูนย์พิทักษ์ดำเนินคดีกับบริษัทฯ เรียกเงินที่ชำระไปทั้งหมดคืน พร้อมเบี้ยปรับกรณีผิดสัญญาร้อยละ 15 ต่อปี และดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ทนายความของศูนย์ได้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้เสียหายจากการที่บริษัทสร้างห้องชุดไม่เสร็จภายในกำหนด และผู้ซื้อขอเงินคืนแต่บริษัทบ่ายเบี่ยงไม่คืนเงินให้แก่ผู้ซื้อ ผู้เสียหายจึงรวมกลุ่มกันฟ้องบริษัท สยามนุวัตร จำกัด เป็นจำเลย โดยขอให้ศาลดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกให้บริษัทคืนเงิน พร้อมเรียกเบี้ยปรับและดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งเป็นกรณีความเสียหายเช่นเดียวกับคุณภูผา ศูนย์ฯ จึงแจ้งผู้ร้องให้ไปร่วมกลุ่มด้วย เพราะว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่มผู้ร้องจะได้รับความคุ้มครองด้วยเนื่องจากเป็นความเสียหายลักษณะเดียวกัน ผู้ร้องไม่ต้องเสียเวลาไปดำเนินคดีแยกอีกคดีหนึ่ง ถ้าศาลไม่รับดำเนินคดีแบบกลุ่ม ผู้ร้องยังสามารถดำเนินคดีกับบริษัทได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมูลนิธิยินดีให้ความช่วยเหลือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ท้อง 3 เดือนแรก และ 6 เดือนขึ้นไปไม่ควรนวด             ข่าวหญิงท้อง 6 เดือน ช็อกคาร้านนวดทำให้แท้งลูกส่วนตัวเองมีอาการเจ้าหญิงนิทรานั้น รองโฆษก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์นั้นสามารถนวดได้เพียงแต่ต้องดูอายุครรภ์และนวดกับหมอนวดผู้ชำนาญ        โดยหากอายุครรภ์ตั้งแต่เริ่มจนถึง 3 เดือน ไม่ควรนวด เพราะการนวดจะไปกระตุ้นให้มดลูกรัดตัว เสี่ยงแท้งลูกได้ อีกช่วงที่ต้องระวังคือ อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป การนวดอาจทำให้มดลูกไปกดเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงในท้อง ในลำไส้ อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติ ไม่ควรไปนวดตามร้านนวดทั่วไป หากเลือกที่จะนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ควรเลือกใช้บริการกับหมอแผนไทยที่มีการร่ำเรียนมา 800 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพราะการนวดเป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการต้องผ่านการอบรม และสอบจนผ่านการรับรองจากทางราชการ รถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปีสวนทางวิกฤตฝุ่นจิ๋ว        ไม่น่าแปลกใจที่ค่าฝุ่นพิษใน กทม. จะเพิ่มขึ้น เมื่อสถิติรถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปี จากการเปิดเผยสถิติปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนในปี 2551 - 2560 โดยสำนักงานจราจรและขนส่ง กทม. พบว่า รถยนต์ส่วนบุคคลมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี โดยการที่กรุงเทพฯ มีปริมาณรถส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยของพื้นที่ชั้นนอกลดลง 22% พื้นที่ชั้นกลางลดลง 17% และพื้นที่ชั้นในลดลง 11%         ขณะที่กรมการขนส่งทางบก รายงานข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ ณ วันที่ 31 มกราคม 2562 พบว่า มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ทั้งหมด 4,529,691 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 1,378,623 คัน รวม 5,908,314 ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 2.2 ล้านคัน หรือ 38.73% เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล        ทั้งนี้การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก จำเป็นต้องแก้ปัญหาจราจรติดขัดเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งประกอบไปด้วย PM 2.5 มากกว่า 90% และควรเพิ่มการใช้งานระบบขนส่งมวลชน และรถโดยสารประจำทาง ขณะเดียวกันให้จำกัดรถยนต์ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ส่งเสียงถึง คกก.วัตถุอันตราย ทบทวนลงมติแบน 'พาราควอต'        มูลนิธิชีววิถี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติทบทวนการใช้พาราควอต ในรอบการประชุมที่จะมีการพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม สามารถให้ประชาชนทราบได้ว่าใครตัดสินอย่างไร  และเรียกร้องให้กรรมการที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมีลาออก        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงปัญหาพาราควอตอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง 2. ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน และ 3. มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว         ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า ควรประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีก่อน จนกว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะสามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าสารเคมีเหล่านี้ปลอดภัย ไม่เป็นพิษ และไม่ทำให้คนป่วยหรือเสียชีวิตดับฝันคอนโดให้เช่ารายวัน จับปรับ “เจ้าของห้อง-นิติบุคคลฯ”        “ศาลจังหวัดหัวหินถึงเพชรบุรี” ตัดสินคดีตัวอย่างเชือดเจ้าของห้องชุดปล่อยเช่ารายวันผิด กม.โรงแรม จำคุก 6 เดือน ปรับ 5 พัน-1 หมื่น          จากภาวะบูมของตลาดคอนโดมิเนียมนำไปสู่การตลาดแนวใหม่ที่หันไปเน้นลูกค้าซื้อลงทุนปล่อยเช่ามากขึ้น โดยปกติเน้นการปล่อยเช่าแบบรายเดือน อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาเริ่มหันมาเน้นปล่อยห้องชุดเช่ารายวันมากขึ้น กลายเป็นคู่แข่งของโรงแรมและเป็นการทำผิดกฎหมายโรงแรมโดยตรง        ล่าสุด การนำห้องชุดมาปล่อยเช่ารายวันได้มีคำพิพากษาถูกลงโทษหนักทั้งปรับและจำคุก คำพิพากษาของศาลจังหวัดหัวหิน คดีดำเลขที่ 50/2561 คดีแดงเลขที่ 59/2561 วันพิพากษา 5 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 4, 15, 59 รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ปอ.ม.78 ปรับ 5,000 บาท และปรับรายวัน วันละ 500 บาท เป็นเวลา 20 วัน เป็นเงิน 10,000 บาทกับคดีดำเลขที่ 107/2561 คดีแดงเลขที่ 106/2561 วันพิพากษา 16 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับ 5,000 บาท ปรับรายวัน วันละ 100 บาท เป็นเวลา 81 วัน เป็นเงิน 8,100 บาท        อีกตัวอย่างการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวันและรายสัปดาห์ ทำเลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยศาลจังหวัดเพชรบุรี คดีดำเลขที่ 277/2561 คดีแดงเลขที่ 900/2561 มีการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวัน ค่าเช่าวันละ 4,990 บาท ผิด พ.ร.บ.โรงแรมฯ พิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ปรับอีกวันละ 1,000 บาท        “กรณีนี้เป็นการป้องปรามไปยังกรรมการนิติบุคคลด้วย เพราะเริ่มมีตัวอย่างจากหลายนิติฯ ที่มีตัวแทนกลุ่มผู้ซื้อลงทุนปล่อยเช่า ส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการนิติฯ และพยายามออกระเบียบให้ปล่อยเช่ารายวันได้ ที่หนักข้อสุดน่าจะเป็นตัวแทนลูกค้าจีน ซึ่งซื้อในโควตาต่างชาติ 49% แล้วส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการ ดังนั้น คำพิพากษาลงโทษเจ้าของห้องชุดมีผลผูกพันกับนิติบุคคลในฐานะรับฝากเช่ารายวันที่จะทำผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน” ร้องเรียนปี 61 พบปัญหาโฆษณาเกินจริงมากที่สุด        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยตัวเลขการให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค จากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ทั่วประเทศ ประจำปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,545 เรื่อง โดยพบว่า เรื่องร้องเรียนด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,505 ราย ส่วนอันดับสอง ด้านบริการสาธารณะ 930 ราย และอันดับสาม ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 705 ราย        โดยเรื่องร้องเรียนด้านอาหารฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโฆษณาหลอกลวงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค และทางช่องเคเบิ้ลทีวี รวมไปถึงวิทยุท้องถิ่น ส่วนหมวดบริการสาธารณะ พบปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งทางบกได้รับการร้องเรียนมากที่สุด โดยเป็นเรื่องการชดเชยเยียวยาจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และการร้องเรียนพฤติกรรมพนักงานผู้ให้บริการ เช่น พูดจาไม่สุภาพ สูบบุหรี่ขณะขับรถ ขับรถหวาดเสียว        สำหรับหมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นการสอบถามเรื่องการย้ายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง ซึ่งนอกจากการไม่รู้สิทธิแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น การไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรหรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ การได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล และการถูกเรียกเก็บค่าบริการจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 คอนโดมิเนียม สร้างทับที่สาธารณะ

คงมีใครหลายคนที่น่าจะเลือกคอนโดมิเนียมจาก ทำเลที่ตั้ง เป็นปัจจัยหลัก โดยอาจจะให้เอื้อประโยชน์ในด้านการเดินทาง เช่น ติดสถานีรถไฟฟ้า หรือให้มีความสะดวกสบายในการพักผ่อน เช่น เงียบสงบ อยู่แถวชานเมืองที่ไม่วุ่นวายมากนัก อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เรามักมองข้ามคือ ที่ดินของคอนโดนั้นๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร เพราะคงไม่มีใครคิดว่าคอนโดมิเนียมหรูราคาแพง จะสร้างทับที่ดินสาธารณะ ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของได้ แม้จะจ่ายเงินซื้อคอนโดนั้นแล้วก็ตามเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ทำสัญญาจองซื้อคอนโดของโครงการ คีรีมายา เรสซิเดนส์ อัตตา เดอะคอนโด ที่ จ.นครราชสีมา โดยคอนโดดังกล่าวมีราคากว่า 7 ล้านบาท ซึ่งเขาได้ผ่อนดาวน์ไปแล้วประมาณ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังก็ได้รับเอกสารแจ้งจากสำนักงานที่ดินปากช่องว่า คอนโดดังกล่าวได้มีการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ เป็นพื้นที่จำนวน 163 ไร่ และปิดกั้นเส้นทางสาธารณะ จำนวน 48 ไร่ และผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ก็ได้แจ้งว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวได้ แต่หลังจากทางโครงการก่อสร้างเสร็จ ก็ได้ปิดกั้นเส้นทางดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้อีกเลยและผู้ร้องยังพบข่าวที่เคยลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 ก.ย. 58 ว่า คอนโดดังกล่าวมีการปล่อยเช่า ให้เป็นคอนโดมิเนียมรายวัน (โรงแรม) ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2478 เขาจึงส่งเอกสารขอคำชี้แจงถึงกรณีต่างๆ ไปยังโครงการ ก่อนจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดเป็นของตัวเอง เพราะกังวลว่าจะมีผลต่อข้อตกลงเรื่องการเช่า อย่างไรก็ตามทางโครงการก็ไม่ได้ส่งหนังสือชี้แจงตอบกลับมา เพียงแต่แจ้งว่าการที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด จะถือว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ทำให้ผู้ร้องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะอาจเป็นเหตุให้บริษัทบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดก็ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องยังไม่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดดังกล่าว และทำหนังสือถึงโครงการอีกครั้งว่า ให้มีการตรวจสอบกรณีต่างๆ ให้มีความชัดเจนก่อน เพราะหากโครงการทำผิดกฎหมายจริง ก็เท่ากับว่าเป็นการผิดสัญญากับผู้บริโภค ซึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ก็ทำหนังสือสอบถามไปยังจังหวัด เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้หากพิสูจน์ได้ว่า มีการสร้างคอนโดลุกล้ำลำน้ำสาธารณะจริง ทางบริษัทก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยอาจจะรื้อและสร้างใหม่ให้กับผู้ซื้อก็ได้แนะข้อควรรู้เบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อคอนโด1. ตรวจสอบพื้นที่ตั้ง โดยสามารถสอบถามไปยัง กรมที่ดิน (ควรอยู่ในย่านเดียวกัน) ว่าที่ตั้งของคอนโดดังกล่าว เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นพื้นที่สาธารณะ เราไม่สามารถครอบครองได้ นอกจากนี้รัฐยังสามารถเวนคืนได้ทุกเมื่อ แม้ว่าเราจะเป็นเจ้าของคอนโดนั้นแล้วก็ตาม 2. ประเมินกำลังการผ่อนของตนเองในอนาคต ว่าสามารถชำระค่างวดจนครบได้หรือไม่ หรือควรให้มีการระบุในสัญญาว่า หากเรากู้ธนาคารไม่ผ่าน จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้รับความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เช่น มีการคืนเงินจองล่วงหน้า หรือคืนเงินดาวน์ที่จ่ายไปแล้ว3. ไม่ซื้อคอนโดที่ยังไม่ก่อสร้าง เพราะอาจเกิดปัญหาจ่ายเงินแล้วเรียบร้อย แต่ไม่มีการก่อสร้างจริงได้4. ศึกษารายละเอียดโครงการที่ประกาศขาย ในเรื่องโครงสร้างและความน่าเชื่อถือ5. ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขาย โดยควรมีการรับประกันโครงสร้างด้วย6. ดูคุณภาพจากสถานที่จริง ไม่ใช่แค่ในโฆษณา 7. ไม่รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อโครงการยังไม่แล้วเสร็จ หรือไม่สร้างตามแบบแปลนที่โฆษณาไว้ นอกจากนี้ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ ต้องตรวจสอบสภาพห้องให้เรียบร้อยทั้งการก่อสร้างและมาตรฐาน 

อ่านเพิ่มเติม >