ฉบับที่ 224 ใบไม้ที่ปลิดปลิว : จากความแตกต่าง...ก่อร่างเป็นความเกลียดชัง

                มนุษย์เราแต่ละคนต่างถือกำเนิดมาและมี “ความแตกต่าง” ระหว่างกันเป็นเรื่องปกติ คนเรามีความแตกต่างกันตั้งแต่รูปร่าง นิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิด ไปจนถึงไลฟ์สไตล์และวิถีปฏิบัติทางสังคมที่ผิดแผกกันไป         อันที่จริงแล้ว ความผิดแผกแตกต่างกันแบบนี้หาใช่จะเป็นปัญหาใดๆ ไม่ จนกว่าความแตกต่างดังกล่าวจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายว่า วิถีปฏิบัติของใครอยู่สูงกว่าใคร อะไรเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับชอบธรรม และอะไรคือความเบี่ยงเบนหรือถูกตีตราว่านอกรีตนอกขนบของสังคม การจำแนกขั้วความแตกต่างซึ่งกลายเป็นข้ออ้างแห่งการเลือกปฏิบัติเยี่ยงนี้ต่างหาก ที่จะนำไปสู่ความเกลียดชังระหว่างมนุษย์ด้วยกัน         ไม่ต่างไปจากชีวิตของ “ชนันธวัช” ที่เป็นประหนึ่งใบไม้ที่แตกยอดอ่อนมาบนความเกลียดชังของผู้เป็นบิดาอย่าง “ชมธวัช” เพียงเพราะเขาเลือกจะมีเพศวิถีที่แตกต่างไปจากที่พ่อคาดหวังจะให้เป็น ชีวิตของชนันธวัชจึงล่องลอยเฉกเช่น “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” ห่างไกลไปจากต้นไม้ที่ให้กำเนิดเขาเอง         โครงเรื่องของละคร “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” นั้น เริ่มเปิดฉากให้เราได้เห็นภาพของชนันธวัชที่ทบทวนหวนคิดไปถึงความเจ็บปวดที่ฝังตรึงเป็นปมในใจตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะแม้เพศธรรมชาติจะเป็นชายโดยกำเนิด แต่หัวใจอันเป็นหญิงที่หลบเร้นอยู่ก็ทำให้เขาปฏิเสธเพศทางกายภาพที่ฟ้าลิขิตเป็นโครโมโซมมาให้กับตน         ยิ่งเมื่อภาพในอดีตฉายให้เห็นตัวละครชนันธวัช ซึ่งเติบโตมาในบรรยากาศที่คนใกล้ชิดในครอบครัวมีท่าทีรังเกียจต่อเพศสภาพที่เขาเลือกจะเป็น เช่นที่ “รังรอง” ผู้เป็นอาสาวแท้ๆ ได้กล่าวว่า “อะไรก็ได้ ขออย่าให้เป็นกะเทยก็พอ” หรือแม้กระทั่งชมธวัชผู้เป็นพ่อก็มักพูดจาดูถูกลูกชายของตนด้วยวลีสั้นๆ ว่า “อีกะเทย” การถูกกระทำทั้งกายวาจาและใจเยี่ยงนี้เองได้สั่งสมเป็นบาดแผลในจิตใจของชนันธวัชมาตั้งแต่วัยเยาว์        แม้ชมธวัชจะได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงและฐานะมั่งคั่งด้วยสินทรัพย์นับพันๆ ล้าน แต่ความสำเร็จในกิจการค้าขายบ้านในฝันให้กับคนอื่นๆ ก็ย้อนมาเสียดสีตัวเขาเองว่า สำหรับสถาบันบ้านที่เขาเป็นผู้ถือครองในฐานะหัวหน้าครอบครัวจริงๆ นั้น ความเกลียดชังต่อเพศสภาพของบุตรชายก็ทำให้เขาล้มเหลวในชีวิตครอบครัวโดยสิ้นเชิง         ดังนั้น เพื่อหลบหนีไปจากสภาพแวดล้อมแห่งการเลือกปฏิบัติที่พ่อมีต่อตน ชนันธวัชจึงตัดสินใจ “ปลิดปลิว” โบยบินจากบ้านไปใช้ชีวิตยังต่างแดนตั้งแต่เด็ก พร้อมกับ “นิรมล” อดีตนางแบบผู้เป็นมารดา ซึ่งเข้าใจและยอมรับเพศสภาพที่ลูกชายเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง         และเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากมารดา ในเวลาต่อมาชนันธวัชก็ตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศที่ต่างประเทศ เพื่อรื้อสร้างรูปลักษณ์ทางกายภาพให้กลายเป็นสาวสวยในชีวิตเพศสภาพที่เลือกเอง รวมทั้งเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่ว่า “นิรา คงสวัสดิ์” เพื่อปกปิดและลบเลือนปมบาดแผลจากอดีตที่มีอยู่เดิม         แต่อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะได้เริ่มต้นชีวิตและอัตลักษณ์ทางเพศแบบใหม่ นิราก็ต้องสูญเสียมารดาในอุบัติเหตุรถคว่ำ โดยที่ส่วนหนึ่งของสาเหตุการเสียชีวิตก็มาจากชมธวัชที่ยังตามคุกคามเธอกับแม่อีกเช่นกัน         ภายใต้แรงขับที่มาจากการบีบคั้นของบิดาและการสูญเสียมารดาที่คอยยืนเคียงข้างนิรามาตลอด ละครได้ให้คำอธิบายว่า เฉพาะร่างทางกายภาพของคนเราเท่านั้นที่อาจจะ “รื้อถอน” และ “สร้างใหม่” ให้ต่างไปจากเพศโดยกำเนิดได้ แต่ทว่า กับบาดแผลความเกลียดชังที่ฝังลึกอยู่ในห้วงจิตไร้สำนึกของมนุษย์อย่างนิรานั้น หาใช่จะเป็นไฟล์ที่ถูกลบทิ้งไปจากโปรแกรมความทรงจำได้โดยง่าย         ด้วยเหตุดังกล่าว นิราจึงตัดสินใจกลับมาเมืองไทย มาแก้แค้นบิดาและอาผู้หญิงเพื่อชดเชยความเจ็บปวดและความสูญเสียต่างๆ ที่เธอได้รับมาในชีวิต พร้อมกับเสียงก้องที่อยู่ในห้วงคำนึงและหยาดน้ำตาของตัวละครว่า “ทุกคนจะต้องได้รู้ว่าความเจ็บปวดมันเป็นเช่นไร...ทุกคนต้องได้รู้ว่าเราเจ็บปวดแค่ไหน...”         พลันที่กลับมาถึงเมืองไทย นิราก็มาเริ่มต้นอาชีพเป็นช่างแต่งหน้าหญิง ก่อนที่ภายหลังเธอจะหันเหมาเป็นดารานางแบบที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง แต่ไม่ว่าจะเป็นช่างแต่งหน้าหรือนางแบบ ก็มีนัยสะท้อนตัวตนของหญิงข้ามเพศแบบนิราซึ่งมีสองด้านในความเป็นมนุษย์ ที่มีทั้งหน้าฉากและหลังฉาก มีด้านที่เปิดเผยและปกปิด และมีด้านที่เจ็บปวดภายใต้ใบหน้าที่ถูกตกแต่งหรือท่วงท่าเดินเหินอยู่บนเวทีแคทวอล์กนั้น         และที่สำคัญ การได้กลับมาพบกับ “ชัชวีร์” อาเขยที่เป็นรักแรกในวัยเด็กของชนันธวัช และค่อยๆ ก่อกลายมาเป็นรักครั้งใหม่ของนิรา ซึ่งต้องคอยปิดบังอำพรางเพศทางกายภาพอันแท้จริงของตน ก็คือความขัดแย้งระหว่างเหรียญสองด้านที่มีทั้งต้องปกปิดแต่ก็รอคอยวันเปิดเผยความลับของตัวละครนั่นเอง         ในเวลาเดียวกัน เพราะ “ความแตกต่าง” เคยถูกใช้เป็นกลไกและอำนาจความชอบธรรมที่ใช้เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีเพศวิถีเบี่ยงเบนไปจากขนบจารีตที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับ ดังนั้น คู่ขนานไปกับการปลูกต้นรักครั้งใหม่ของนิรากับชัชวีร์ อีกด้านหนึ่งเธอก็เดินเกมให้ท่ายั่วยวนชมธวัช โดยที่เขาก็ไม่รู้ระแคะระคายเลยว่านิราตัวจริงก็คือบุตรชายแท้ๆ ที่ผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว          กระทั่งมาถึงจุดพลิกผันสุดขั้นของเรื่อง เมื่อนิราจัดฉากให้ชมธวัชถูกมอมยาและเข้าใจผิดว่าเขาได้มีความสัมพันธ์เกินเลยกับกะเทย ผู้ชมก็ได้เห็นภาพการกรีดร้องอย่างคับแค้นของผู้ชายคนหนึ่งอย่างชมธวัชซึ่งถูกเหยียบย่ำความเป็นบุรุษเพศ โดยผู้ชายอีกคนที่มีเพศสภาพเป็นกะเทยซึ่งเขาทั้งแสนจะเกลียดและกลัว         แต่ในทางกลับกัน ฉากการกรีดร้องข้างต้นก็สะท้อนให้เห็นด้วยว่า ในขณะที่ชมธวัชเคยใช้ความเกลียดชังเป็นอำนาจกดทับบุตรชายที่มีความแตกต่างทางเพศวิถีมาก่อน แต่เพราะอำนาจไม่เป็นปฏิบัติการที่ “ไม่เข้าใครออกใคร” นิราจึงได้แปลงความเกลียดชังดังกล่าวมาย้อนเป็นอำนาจที่จะให้บทเรียนว่า ความเกลียดกลัวในจิตใจนั้นไม่เคยให้คุณกับผู้ใดได้จริงๆ                  จนมาถึงฉากโศกนาฏกรรมที่นิรากระทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อความลับเรื่องเพศสภาพถูกเปิดเผยมาในตอนจบ โดยมีตัวละครรอบข้างถูกดึงมารับรู้สถานการณ์ดังกล่าว ละครโทรทัศน์ก็ได้สรุปเป็นนัยๆ ว่า ความเกลียดชังเพียงเพราะวิถีปฏิบัติที่แตกต่างกันของคนเรา ไม่เพียงแต่จะสร้างบาดแผลให้กับผู้ที่ถูกเกลียดกลัวเท่านั้น หากแต่ยังมาซึ่งความเจ็บปวดในใจของผู้ที่เลือกปฏิบัติความเกลียดชังต่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน                  และแม้ภายหลังนิราจะรอดพ้นจากความตาย พร้อมกับมีเสียงก้องความในใจที่กล่าวว่า “…ก่อนที่คนเราจะตาย เราจะรู้สึกว่าชีวิตมีค่ามาก ในนาทีที่ทุกอย่างกำลังจะดับลง เราจะอยากกลับไปทำทุกอย่างให้ดีที่สุด อยากกลับไปยกโทษให้คนที่เราเคยโกรธเคยเกลียด...” แต่นั่นก็เป็นเสียงก้องเพื่อสะท้อนย้อนคิดไปด้วยว่า หากมนุษย์จะลดละเลิกความเกลียดชังต่อเพศวิถีหรือวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เราก็คงไม่ต้องรอให้ตัวละครมายกโทษให้อภัยกันและกันในฉากจบเช่นนี้หรอก

อ่านเพิ่มเติม >