ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ยิ่งหวานยิ่งแก่

ความอ่อนเยาว์ใครกันไม่ปรารถนา แต่คนเราก็ไม่สามารถอ่อนเยาว์ได้ตลอดไป ความเสื่อมย่อมเกิดขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป อย่างไรก็ตามมนุษย์เราไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ผลิตภัณฑ์เพื่อทำนุบำรุงผิวพรรณ ซึ่งเป็นจุดแรกที่คนจะสังเกตเห็นได้ง่ายถึงความชราภาพของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นริ้วรอย ความหยาบกร้าน รอยด่างดำ จึงถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังช่วยชะลอความเสื่อมของผิว และเหตุที่ต้องทุ่มเทกับเครื่องสำอาง แบบว่าอะไรว่าดีก็เอามาลองก่อน เลยมีการสำรวจพบว่าผู้หญิงจะทิ้งขว้างเครื่องสำอางถึง 75% เพราะใช้แล้วไม่เวิร์ก และเหลือเพียง 2-3 ผลิตภัณฑ์(25%) ที่โอเค จริงๆ แล้ว เครื่องสำอางบำรุงผิวเป็นแค่ตัวช่วยเท่านั้น ไม่ใช่ตัวจริง ถ้าอยากผิวพรรณอ่อนเยาว์ สดใส เราต้องมองปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่ผิวและบำรุงส่งเสริมให้ถูกจุด โดยตัวที่ควรให้ความสำคัญคือแสงแดด คิดว่าหลายคนรู้ ซึ่งคราวนี้จะไม่พูดถึง แต่อยากบอกว่า มีอีกสิ่งหนึ่งที่คุณอาจคิดไม่ถึง นั่นคือ “ความหวาน” ใช่แล้วยิ่งหวาน ยิ่งแก่ คุณเชื่อไหมล่ะ   น้ำตาลต้นเหตุของความเสื่อมของผิว ให้ชัดเจนต้องบอกว่า น้ำตาลทำให้เนื้อเยื่อในร่างกายเสื่อม น้ำตาลในร่างกายถ้าสูงมากๆ จะไปจับกับโปรตีนในร่างกายทำให้เกิดความเสื่อม เช่น ทำให้เป็นต้อกระจก ผนังหลอดเลือดแข็ง โรคไต สมองเสื่อมและริ้วรอยแก่กร้านบนผิวหนัง คอลลาเจนและอีลาสติน เป็นชื่อของโปรตีนที่ทำให้ผิวของเรากระชับและยืดหยุ่น (ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมประเภทคอลลาเจนนี่ทำยอดขายอันดับหนึ่งเลยนะคะ) ที่จริงแล้วโปรตีนที่มีมากที่สุดในร่างกายก็คือ คอลลาเจน นั่นแหละ ถ้าร่างกายเรามีน้ำตาลมากไป เจ้าน้ำตาลส่วนเกินนี้จะไปจับกับโปรตีน คอลลาเจนและอีลาสตินทำให้แห้งและแข็งจนเกิดริ้วรอย เหี่ยวย่นและหย่อนยาน โดยจะแสดงผลชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อผ่านวัย 35 ปีขึ้นไป (The British Journal of Dermatology, 2007) การฟื้นฟูสภาพที่คอลลาเจนถูกทำลายจากน้ำตาลหรือความหวานมีด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีที่ดีที่สุดก็คือการเลิกกินน้ำตาลมากไป เพื่อลดการทำลายสภาพผิว ที่ไม่แนะนำให้งดน้ำตาลไปเลย ก็เพราะว่ามันเป็นไปได้ยาก เพราะน้ำตาลปะปนอยู่ในอาหารที่เรารับประทานประจำวัน ไม่เว้นแม้แต่ข้าวหรือผัก ผลไม้ แต่เสนอให้ลดตัวที่เป็น “น้ำตาล” ซึ่งถูกปรุงแต่งในอาหารสำเร็จรูปต่างๆ โดยเฉพาะน้ำอัดลม ขนม หรือแม้แต่น้ำผลไม้   5 อันดับของหวานที่ควรกินแต่น้อย น้ำอัดลม มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย ประมาณ 8-10 ช้อนชาต่อ 1 กระป๋อง แต่บางรสชาติน้ำตาลก็พุ่งไปถึง 16 ช้อนชาได้ สิ่งที่ทำให้เราชอบน้ำอัดลมน่าจะเป็นความซ่าและความเย็น อาจเลี่ยงไปดื่มน้ำโซดาผสมน้ำมะนาวหรือน้ำหวานเข้มข้น(ชงบางๆ) แทน ไม่ก็ดื่มประเภท 0% แคลอรีแทน น้ำผลไม้ ชาเย็น กาแฟเย็น รวมชานมไข่มุก มีปริมาณประมาณน้ำตาล 7-10 ช้อนชาต่อแก้ว(ขวด) ชนิดสำเร็จรูปให้ตรวจดูที่ฉลาก ชนิดสั่งควรระบุหวานน้อย และดื่มให้น้อยลง โดยเปลี่ยนเป็นน้ำชาชนิดไม่มีน้ำตาลหรือน้ำเปล่าแทน ได้คาเฟอีนแก้อาการหงุดหงิดได้เหมือนกัน ขนมอบ เค้ก คุ้กกี้ ปริมาณน้ำตาลไม่เบา เค้ก 1 ชิ้น น้ำตาลเฉลี่ย 6-12 ช้อนชา ถ้าเป็นชนิดบรรจุหีบห่อ โปรดอ่านฉลากก่อน แต่ถ้าเป็นแบบสั่ง ปัจจุบันจะมีแบบใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล(แต่อาจไม่อร่อยเท่า) เลี่ยงมากินพวกขนมปังโฮลวีตแทน หรือกินแต่น้อยพอได้รสชาติ ช็อกโกแลต หลายคนติดใจเลิกไม่ได้ ขอแนะนำให้เป็นดาร์กช็อกโกแลตแทน จะได้สารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นด้วย ไอศกรีม ว่ากันว่าเวลาอากาศร้อน ไอศกรีมจะขายดิบขายดี เพราะมันทั้งหวานและเย็นชื่นใจ แต่เชื่อเถอะมันหวานมากไป นอกจากเสี่ยงน้ำตาลสูงแล้ว ยังเสี่ยงกับสารเคมีปรุงแต่งรสชาติต่างๆ ด้วย   อย่าลืมนะคะ ยิ่งหวาน ยิ่งแก่เร็วค่ะ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 144 น้ำตาลสังเคราะห์

  เมื่อน้ำตาลได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ร้ายที่ถูกส่งมาทำลายหุ่นอันผอมเพรียวและไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เลยต้องมีการคิดค้นและพัฒนาสารอะไรสักอย่างขึ้นมาเพื่อเป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เราคุ้นเคย สำหรับคนที่ อดหวาน ไม่ได้   ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาคุณมารู้จักกับ “ความหวาน” แบบพลังงานต่ำหรือไม่ให้พลังงาน ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล(Sweetener) ซึ่งเทรนด์ตลาดวัตถุให้ความหวานในเมืองไทย เมื่อปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมประมาณ 300-400 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดูจากปัจจุบันที่มีสินค้ากลุ่มนี้วางจำหน่ายอยู่หลายยี่ห้อและวางบนชั้นวางของห้างค้าปลีกทั่วไป     วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จากการสำรวจตลาดพบว่า มีผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.น้ำตาลฟรุคโตส(fructose) 2.กลุ่มที่ใช้แอสปาร์แทม 3.กลุ่มที่ใช้ซูคราโลส 4.กลุ่มที่ใช้สเตวิโอไซด์(หญ้าหวาน) 5.กลุ่มที่ใช้อะเซซัลเฟม-เค ร่วมกับแอสปาร์แทม 6.กลุ่มที่ใช้ซูโครสเป็นหลักร่วมกับสารให้ความหวานอื่นๆ   1.น้ำตาลฟรุคโตส(Fructose) เป็นน้ำตาลที่พบได้ในผลไม้และน้ำผึ้งตามธรรมชาติ ให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทรายคือ 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่น้ำตาลฟรุคโตสมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึงเท่าตัว ดังนั้นจึงสามารถใช้ในปริมาณที่น้อยลงกว่าครึ่งเมื่อต้องการความหวานที่เท่ากัน    2.แอสปาร์แทม(Aspartame) แอสปาร์แทม เป็นผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ให้ความหวานประมาณ 200 เท่าของน้ำตาลทราย แอสปาร์แทมให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทรายคือ 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่ใช้เพียงนิดก็หวานมากแล้ว ดังนั้นแอสปาร์แทมจึงให้แคลอรี่ที่น้อยกว่ามากเมื่อผสมลงในอาหาร ตัวอย่างเช่น น้ำอัดลมแคลอรี่ต่ำ ข้อเสียที่สำคัญของแอสปาร์แทมในเรื่องรสชาติคือ แอสปาร์แทมไวต่อความร้อน ดังนั้นเครื่องดื่มที่ผสมแอสปาร์แทมอาจมีรสชาติที่เปลี่ยนไปเมื่อสัมผัสกับความร้อน จึงไม่เหมาะจะนำไปใช้กับเครื่องดื่มหรืออาหารที่ต้องใช้ความร้อนในการปรุง คำเตือนอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยเฟนิลคีโตนูเรีย   เพราะว่าใช้แอสปาร์แทมเพียงจำนวนน้อยก็หวานมากแล้ว ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องเติมสารเพิ่มปริมาณ คือ แลคโตส ที่มีความหวานเพียง 0.2 เท่าของน้ำตาลในเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่า แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ อให้เป็นตัวหลักแค่ต้องการเพิ่มปริมาณบรรจุเท่านั้น แลคโตสนี้อาจมีปัญหาทำให้ท้องอืดได้สำหรับคนที่ไม่มีเอนไซม์ที่ใช้ย่อยแลคโตส   3.ซูคราโลส(Sucralose) ซูคราโลสนี้หวานกว่าน้ำตาลทรายถึง 600 เท่า ข้อดีของซูคราโลสคือ รสชาติ ที่ใกล้เคียงน้ำตาล ไม่มีรสขม และทนต่อความร้อน จึงมีการนำไปใช้ในอาหารหลากหลายชนิด เช่นเดียวกับแอสปาร์แทม เนื่องจากซูคราโลสมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 600 เท่า การนำมาใช้จึงอยู่ในปริมาณที่น้อยมากๆ ดังนั้นเพื่อให้มีน้ำหนักเพิ่มจึงผสมกับน้ำตาลกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ ได้แก่ มอลทิทอลและเออริทริทอล ซึ่งสองตัวนี้มีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลทรายและให้พลังงานไม่มาก แต่ถ้ารับประทานมากไปอาจกระทบกับระบบทางเดินอาหารทำให้ท้องเสียได้   4.สเตวิโอไซด์(หญ้าหวาน) หญ้าหวาน หรือ ต้นสตีเวีย(Stevia rebaudiana Bertoni) เป็นพืชพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยสารที่สกัดออกมาคือ สเตวิโอไซด์ หวานมากกว่าน้ำตาลทราย 300 เท่า ไม่ให้พลังงาน มีความคงตัวที่อุณหภูมิสูง สเตวิโอไซด์ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาของอเมริกาให้ใช้เป็นสารให้ความหวานแต่อนุญาตให้ใช้ผงแห้งและสารสกัดจากใบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   5.ใช้อะเซซัลเฟม-เค ร่วมกับแอสปาร์แทม อะเซซัลเฟม-เค (Acesulfame-K) เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่หวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า ข้อดีคือให้รสหวานที่รับรู้รสได้เร็วแต่บางครั้งก็จะมีรสขมเมื่อใช้ในปริมาณสูง ไม่ให้พลังงานและทนความร้อนได้ดี ผู้ผลิตนิยมใช้อะเซซัลเฟม-เคร่วมกับแอสปาร์แทม เพื่อลดจุดด้อยของกันและกัน และเลี่ยงการเกิดรสขมเมื่อใช้ในปริมาณสูง     6.ใช้น้ำตาลทราย(Sucrose) ร่วมกับสารให้ความหวานอื่นๆ กลุ่มนี้เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมแคลอรีมากกว่าใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะส่วนประกอบหลักยังคงเป็นน้ำตาลทรายมากกว่า 90% แต่เพิ่มสารให้ความหวานเข้าไปเพื่อลดปริมาณการใช้ลงมา ดังนั้นรสชาติจะเหมือนน้ำตาลปกติและแต่ค่าพลังงานจะต่ำลงมาเพราะปริมาณการใช้ที่น้อยลง     ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- น้ำตาลเป็นอาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง เป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรต ชื่อของน้ำตาลมักจะใช้คำลงท้ายว่า “โอส” (“ose”) อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารที่เราทราบกันดีว่าได้แก่อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล คาร์โบไฮเดรตมีรากศัพท์มาจากคำว่า “คาร์บอน”รวมกับ”ไฮเดรท” แปลว่าเป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างที่มีน้ำจับอยู่กับทุกๆ อะตอมของคาร์บอน   ---------------------------------------------------------------------------------------------------- วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม วัตถุให้ความหวานที่ให้พลังงาน ได้แก่ ฟรุคโตส(น้ำตาลจากผลไม้) มอลทิทอล เออริทริทอลและไซลิทอล สารให้ความหวานกลุ่มนี้ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยโรคเบาหวาน วัตถุให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงานหรือให้พลังงานต่ำ ได้แก่ ซูคราโลส หญ้าหวาน แอสปาร์แทม อะเซซัลเฟม-เค สารให้ความหวานกลุ่มนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยโรคเบาหวาน ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ข้อมูล 1.เป็นเบาหวาน เลือกอะไรใส่กาแฟแทนน้ำตาล. รศ.วิมล ศรีสุข คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=100 2.สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการ http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15566&id_L3=565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 เปรียบเทียบความหวานสารพัดของทา (น) กับขนมปัง

  ขนมปังอาจจะไม่ใช่อาหารหลักของคนไทย แต่ขนมปังก็เป็นของโปรดของใครหลายๆ คน จะรับประทานเป็นขนมเป็นของว่าง หรือจะรับประทานเอาอิ่มเป็นมื้อหลัก แบบที่หลายๆ คนนิยมเป็นอาหารเช้า ไม่ว่าจะแบบไหนก็อร่อยได้เหมือนกัน แค่ขนมปังธรรมดาๆ ก็ว่าอร่อยแล้ว ยิ่งถ้าทาแยมหรือเนยด้วยก็ยิ่งช่วยเพิ่มรสชาติขึ้นไปอีก แต่ก็อย่าอร่อยจนลืมตัว หรือหลงคิดว่าขนมปังทาแยม ขนมปังทาเนยจะแค่เป็นอาหารเบาๆ แทนข้าวแล้วจะไม่อ้วน เพราะในความอร่อยของ แยม เนยถั่ว หรือผลิตภัณฑ์ทาขนมปังชนิดอื่นๆ ล้วนมีตัวแปรสำคัญของความอร่อยอยู่ที่ความหวานของน้ำตาล เรามารู้ทันความหวานจากน้ำตาลกับผลสำรวจปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ทาขนมปังกันดีกว่า การทดสอบครั้งนี้ฉลาดซื้อสำรวจเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ที่นิยมนำมารับประทานคู่กับขนมปัง ไม่ว่าจะเป็น แยม เนยถั่ว มาร์การีน รวมทั้งที่เป็นสไตล์ไทยๆ อย่าง สังขยา และ น้ำพริกเผา   ฉลาดซื้อใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการวิเคราะห์จากข้อมูลที่อยู่บนฉลากของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยดูตัวเลขปริมาณน้ำตาลที่แจ้งไว้ในข้อมูลส่วนประกอบ ซึ่งทุกตัวอย่างที่นำมาทดสอบครั้งนี้จะแจ้งปริมาณน้ำตาลเอาไว้เป็น % เราจึงต้องปรับตัวเลขให้มีหน่วยเป็นกรัม แล้วเปรียบเทียบที่ปริมาณต่อ 1 ช้อนโต๊ะ (16 กรัม) เพราะการนำมาคิดเป็นน้ำหนักต่อช้อนโต๊ะน่าจะทำให้ข้อมูลที่ได้ เป็นข้อมูลที่ใกล้เคียงกับปริมาณที่เรารับประทานจริงในแต่ละครั้งมากที่สุด สำหรับการสำรวจในครั้งนี้ -ปริมาณ 16 กรัม ต่อ 1 ช้อนโต๊ะเป็นข้อมูลที่นำมาจากข้อมูลในฉลากโภชนาการ หรือ “Thai RDI” ของผลิตภัณฑ์ สุรีย์ น้ำพริกเผาเสวย ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ตัวอย่าง ที่มีการแจ้งข้อมูลโภชนาการ อีก 1 ตัวอย่างคือ สตรีมไลน์ รีดิวซ์ ชูการ์ มาร์มาเลดส้มสูตรลดปริมาณน้ำตาล   ตารางแสดงผลสำรวจปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ทาขนมปังชนิดต่างๆ   ผลทดสอบ 1. แยม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาหรือทานคู่กับขนมปังที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด ตัวอย่างที่มีน้ำตาลมากที่สุดตามข้อมูลที่แจ้งไว้ในส่วนประกอบก็คือ เบสท์ ฟู้ดส์ มาร์มาเลดส้ม ที่มีน้ำตาลอยู่ประมาณ 8.9 กรัม ต่อปริมาณแยม 1 ช้อนโต๊ะ มากกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่คนไทยควรบริโภคใน 1 วัน คือไม่เกิน 24 กรัม ถ้าเทียบจากเกณฑ์ที่ฉลาดซื้อใช้ แต่จริงๆ แล้ว วิธีการรับประทานของแต่ละคนก็คงจะแตกต่างกันไป บางคนอาจจะชอบทาแยมมากๆ เวลาทาบนขนมปังก็อาจทามากกว่า 1 ช้อนโต๊ะ หรือรับประทานต่อครั้งก็อาจกินขนมปังมากกว่า 1 แผ่น ปริมาณน้ำตาลก็จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมการบริโภค เพราะฉะนั้นก็ต้องคำนวณกันให้ดีว่าจะเลือกกินแบบไหนเพื่อให้ได้น้ำตาลในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของร่างกาย ไม่มากเกินไป ส่วนตัวอย่างแยมยี่ห้ออื่นๆ ก็มีปริมาณน้ำตาลใกล้เคียงกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 8 กรัม ต่อแยม 1 ช้อนโต๊ะ แยมที่เราสำรวจทั้งหมดเป็นแยมผิวส้ม หรือที่เรียกว่า มาร์มาเลด (marmalade) 2. เนยถั่ว เหมือนจะดูไม่น่าจะหวานมาก แต่ก็พบน้ำตาลในปริมาณที่สูงเช่นกัน ตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ นัทเกา โกโก้และเฮเซลนัทครีม พบปริมาณน้ำตาลประมาณ 8.16 กรัม ต่อปริมาณตัวอย่าง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่คนไทยควรรับประทานใน 1 วัน ข้อสังเกตที่น่าสนใจ เนยถั่วบางผลิตภัณฑ์น้ำตาลไม่มาก หรือไม่มีเลยบนฉลาก แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเนยถั่วนิยมใช้สารให้ความหวานชนิดอื่นแทนน้ำตาล ซึ่งที่เราพบจากการสำรวจก็คือ  คอร์นไซรัป เป็นสารให้ความหวานที่ทำมาจากแป้งข้าวโพด ว่ากันว่าให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย แถมร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ได้ง่ายกว่าน้ำตาลทราย แต่ในบ้านเราไม่นิยมใช้เพราะราคาแพงกว่าน้ำตาลทรายที่ทำจากอ้อยค่อนข้างมากความนิยมต่อเนยถั่วในบ้านเรายังมีค่อนข้างน้อย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เราสำรวจล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า ซึ่งส่งผลให้แต่ละตัวอย่างมีราคาที่ค่อนข้างสูง 3. สังขยา เราสำรวจพบ 1 ยี่ห้อ  2 รสชาติ คือ เอ็มไพร์ สังขยา กลิ่นใบเตย กับ กลิ่นวานิลลา ซึ่งปริมาณน้ำตาลของทั้ง 2 รสมีเท่ากัน คือ 6.89 กรัม ต่อปริมาณตัวอย่าง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 1 ใน 4 ของปริมาณน้ำตาลที่ควรรับประทานใน 1 วัน   ไม่ว่าคุณจะทาขนมปังด้วยหน้าอะไร ก็อย่าลืมความจริงข้อหนึ่งว่า ขนมปัง ก็มีความหวานเช่นกัน  ยกตัวอย่าง จากข้อมูลโภชนาการของผลิตภัณฑ์ขนมปังยี่ห้อฟาร์มเฮ้าส์ ทั้งแบบธรรมดาและแบบโฮลวีต บอกไว้ว่ามีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 3 กรัม ต่อขนมปัง 2 แผ่น (50กรัม) ลองนำไปเป็นข้อมูลไว้ใช้คำนวณกันดูเวลาจะทานขนมปังทาหน้าต่างๆ จะได้หวานกันแต่พอดี   สารกันบูด ยังพบในหลายผลิตภัณฑ์สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งในการรับประทานขนมปังทาหน้าต่างๆ ก็คือ สารกันบูด  เพราะถ้าลองดูจากผลสำรวจจะเห็นว่ามีหลายตัวอย่างที่มีการใช้สารกันบูด แถมก่อนหน้านี้ก็เพิ่งมีข่าวว่าศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มเก็บตัวอย่างขนมปังหลากหลายชนิดจำนวน 800 กว่าตัวอย่าง ผลที่ออกมาพบว่ามีมากกว่า 600 ตัวอย่างที่พบสารกันบูด เนย กับ มาร์การีน แตกต่างกันอย่างไร เพราะรูปร่างหน้าตาก็เหมือนกัน วิธีนำไปรับประทานก็ไม่ได้แตกต่างกัน ถ้าจะให้อธิบายให้ง่ายที่สุดก็คือ เนยคือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแตกตัวของไขมันในนม ขณะที่มาร์การีนก็คือ เนยเทียม ที่ใช้ไขมันจากพืชแทน เนื่องจากเนยจะมีไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโคเลสเตอรอลสูง มาร์การีนหรือเนยเทียม จึงถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ขณะเดียวกันตัวมาร์การีนเองก็มีความเสี่ยงของไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเนยแท้หรือเนยเทียมก็ต้องเลือกอย่างระมัดระวัง นึกถึงสุขภาพของตัวเองมาเป็นอันดับแรก

อ่านเพิ่มเติม >