ฉบับที่ 105 ความพิการกับความเป็นอื่น

ในทางศาสนาพุทธนั้น พระพุทธองค์เคยดำรัสสัจธรรมประการหนึ่งเอาไว้ว่า มนุษย์เราทุกคนต่างก็มีทั้ง “ความเหมือนกัน” และ “ความแตกต่างกัน” เป็นปกติธรรมดา โดยส่วนตัวของผมแล้วนั้น “ความเหมือนกัน” อาจจะสร้างปัญหาระหว่างมนุษย์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่น่าจะมากมายนัก เพราะจุดร่วมเหมือนกันของมนุษย์ทุกคน ต่างก็ต้องวนเวียนในสังสารวัฏที่มีการเกิดแก่เจ็บตายเหมือนๆ กัน และเราเองต่างก็รับรู้ว่า ไม่มีใครที่หลุดรอดออกไปจากกงล้อแห่งวัฏฏะดังกล่าวไปได้ แต่ทว่า “ความแตกต่างกัน” นี่สิครับ ที่ดูจะสร้างปัญหาให้กับมนุษย์เรายิ่งนัก เนื่องจากว่ามนุษย์มักไม่ได้กระทำแค่การจำแนกว่าเรา “แตกต่าง” จากคนอื่นอย่างไรเท่านั้น แต่มนุษย์ยังมีแนวโน้มที่จะเชื่อด้วยว่า ในความแตกต่างนั้น มักจะมีคนหนึ่งที่มีสถานะอยู่ “เหนือกว่า” อีกคนหนึ่งเสมอ ตัวอย่างเช่น คนสองคนย่อมมีหน้าตาแตกต่างกัน และเราก็มักจะต้องตัดสินลงไปว่า คนนี้ “สวย” คนนั้น “หล่อ” และคนที่สวยหรือหล่อก็มักจะ “ดูดีกว่า” คนอื่นๆ ที่หน้าตาไม่ดี และความคิดเกี่ยวกับความแตกต่างและความเหนือกว่าเช่นที่ว่านี้ ก็เป็นโลกทัศน์ที่สลักฝังลึกเข้าไปในกรอบวิธีคิดหลักของคนในสังคมมาอย่างช้านาน อย่างไรก็ดี แม้ความแตกต่างกับความเหนือกว่าจะเป็นโลกทัศน์หลักของสังคม แต่ก็ใช่ว่าโลกทัศน์แบบนี้จะไร้ซึ่งการตั้งคำถามแต่อย่างใด ผมเห็นโฆษณาธุรกิจประกันชีวิตชิ้นหนึ่งที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ได้ไม่นานนัก เป็นโฆษณาที่ดูเรียบง่าย แต่ก็ประทับใจคนดูหลายคนยิ่งนัก โฆษณาชิ้นนี้ทำให้เพลง “Que Sera Sera” ของ คุณดอริส เดย์ ที่เคยโด่งดังอยู่ในภาพยนตร์ของ อัลเฟรด ฮิชค็อก เรื่อง The Man Who Knew Too Much เมื่อปี ค.ศ.1956 ได้กลายเป็นที่รู้จักกันอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ โฆษณาเปิดฉากด้วยภาพสุภาพสตรีท่านหนึ่งในชุดแต่งกายสีฟ้า เธอเริ่มต้นบรรเลงคีย์เปียโนอยู่ในหอประชุม เด็กหญิงผมเปียตัวน้อยสวมแว่นตาหน้าตาน่ารัก ก็เริ่มร้องเพลงด้วยเสียงใสขึ้นว่า “When I was just a little girl, I asked my mother what will I be…” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “เมื่อยังเด็กเล็กอยู่ ตอนนั้นหนูถามแม่ว่า เมื่อโตขึ้นแม่จ๋า หนูจะโตเป็นอะไร จะมีหน้าตาสวย หรือร่ำรวยบ้างหรือไม่...” จากนั้น กลุ่มเด็กน้อยในชุดสีฟ้า ก็พากันร้องประสานเสียงด้วยความตั้งอกตั้งใจว่า “Que sera, sera. Whatever will be, will be. The future’s not ours to see. Que sera, sera…” โดยมีบรรดาคุณแม่ ๆ นั่งอมยิ้มบ้าง ยืนถ่ายรูปบ้าง และร้องคลอตามเพลงด้วยบ้าง ด้วยความรู้สึกภูมิอกภูมิใจ หลังจากเพลงบรรเลงไปได้ครึ่งทาง โฆษณาก็ทำให้คนดูประหลาดใจขึ้น เมื่อกล้องตัดภาพมาให้เห็นว่า เด็กอนุบาลแต่ละคนที่กำลังประสานเสียงร้องเพลงอยู่นั้น แท้จริงแล้วเป็นเด็กพิการ นั่งรถเข็นบ้าง แขนขาพิการบ้าง แต่เด็ก ๆ ทุกคนก็มีรอยยิ้ม และร้องเพลงอย่างมีความสุข กล้องตัดภาพอีกครั้งไปยังหมู่เมฆที่ลอยอยู่ด้านนอก และซูมช้าๆ เข้าไปยังก้อนเมฆ ก่อนจะตัดภาพกลับมาที่ห้องประชุมอีกครั้ง เห็นช่างกล้องที่กำลังนั่งฟังเด็กพิการเหล่านี้ร้องเพลง บรรดาคุณแม่กำลังนั่งครุ่นคิด และก็ปิดท้ายด้วยภาพคุณแม่คนหนึ่งเอามือกุมท้องที่กำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ พร้อมข้อความโฆษณาจบท้ายขึ้นมาว่า “ชีวิตเกิดมาแตกต่าง แต่ดูแลให้ดีที่สุดได้” ผมเดาว่า ธีมหลักของโฆษณานี้คงต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มคุณแม่ๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือต้องการมีบุตรในอนาคตว่า ไม่ว่าหลังจากการคลอด บุตรของคุณแม่จะออกมาเป็นเช่นไร จะสมบูรณ์ จะเป็นอัจฉริยะ หรือจะพิการร่างกาย แต่ชีวิตมนุษย์ทุกชีวิตก็มีคุณค่าไม่แตกต่างกัน แบบเดียวกับเนื้อเพลง “Que Sera, Sera” ที่มีเนื้อความสรุปได้ว่า “อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด อนาคตคือสิ่งที่มองไม่เห็น อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด” ซึ่งเป็นสัจธรรมของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ แต่ก็เหมือนกับที่ผมได้บอกไปตอนต้นนั่นแหละครับ โฆษณาได้ตั้งคำถามกับประเด็นเรื่องชีวิตที่เกิดมา “แตกต่าง” ว่า ถึงอย่างไรมนุษย์ทุกคนที่มีเกิดแก่เจ็บตายนั้น ต่างก็มีความแตกต่างระหว่างกันและกันทั้งสิ้น แต่ทว่าเป็นคนปกติอย่างเราๆ หรือเปล่า ที่ประเมินค่าความแตกต่างนั้น ให้เป็นลำดับชั้นที่ไม่เสมอภาคและไม่เท่าเทียมกัน ในทางสังคมศาสตร์ มีคำอธิบายว่า ความแตกต่างมีอยู่ด้วยกันสองชนิด ด้านหนึ่งเรียกว่า ความแตกต่างใน “เชิงประเภท” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “difference in kind” อันมีลักษณะของการเทียบเคียงของสองสิ่งขึ้นไป แล้วจำแนกให้เห็นลักษณะเฉพาะที่ว่า ของต่างๆ ดังกล่าวนี้ไม่ใช่ประเภทเดียวกัน เช่น ถ้าสิ่งหนึ่งเป็น “ขาว” ก็จะแตกต่างเป็นคนละประเภทกับ “ดำ” กับ “เทา” กับ “ฟ้า” และกับสีอื่น ๆ ภายใต้วิธีคิดความแตกต่างเชิงประเภทนี้ ถ้าคำตอบต่อเรื่องหนึ่งเป็น “yes” ก็จะไม่มีทางเป็น “no” ไปได้เลย เพราะ “yes/no” ต่างก็เป็นคำตอบที่ต่างประเภทกัน ดังนั้น ถ้าคุณเป็น “คนปกติ” (ในที่นี้หมายถึง ไม่ใช่ผู้พิการทุพพลภาพ) และคุณๆ ที่ปกติก็ถูกสังคมตีค่าไว้แล้วว่า เป็นคนฉลาด อัจฉริยะ สร้างสรรค์สังคม และมีความสามารถมากล้น คนพิการทั้งหลายก็จะกลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ตรงข้ามกับคุณโดยสิ้นเชิง เพราะเขาคือ “คนไม่ปกติ” และคือ “ความเป็นอื่น” ที่แตกต่างเชิงประเภทกับคนปกติอย่างเราๆ ในทุกทาง การแยกระหว่าง “ความเป็นเรา” (ที่ปกติสมบูรณ์) กับ “ความเป็นอื่น” (ที่ผิดปกติพิกลพิการ) แบบนี้ ไม่เพียงแต่จำแนกสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์เป็นประเภทที่แตกต่างกันเท่านั้น หากแต่ยังได้จัดวางลำดับชั้นคุณค่าระหว่างพวกเรากับพวกอื่น โดยที่มีพวกเรานั่นแหละที่ใช้อำนาจไปกดทับคุณค่าของพวกอื่นเอาไว้ในเวลาเดียวกัน แต่ดูเหมือนว่า โฆษณาธุรกิจประกันชีวิตชิ้นนี้ จะไม่ได้ประเมินค่าคนพิการในฐานะ “ความเป็นอื่น” ที่แตกต่างกันใน “เชิงประเภท” หากแต่นักสร้างสรรค์งานโฆษณากลับเลือกใช้ตรรกะอีกชุดหนึ่งที่เรียกว่า ความแตกต่างใน “เชิงระดับ” หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำเรียกว่า “difference in degree” ความแตกต่างใน “เชิงระดับ” นี้ หมายความว่า เมื่อเราเปรียบเทียบของสองสิ่งขึ้นไป เราจะไม่เห็นแค่เพียงด้านที่สิ่งต่างๆ เหล่านั้น เป็นประเภทที่แตกต่างกันออกไป แต่บนความต่างหรือไม่เข้าพวกเดียวกันนี้ ก็มีลักษณะบางอย่างที่เป็นจุดร่วมกันบนระนาบของการเปรียบเทียบนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ถึงแม้เราจะเห็นวัตถุเป็น “ขาว” เป็น “ดำ” เป็น “เทา” หรือเป็น “ฟ้า” แต่การเห็นดังกล่าวก็ต่างล้วนเกี่ยวพันกับความเป็น “สี” ด้วยกันทั้งสิ้น เฉกเช่นเดียวกัน คำตอบต่อปัญหาหนึ่งๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นความแตกต่างแบบที่ว่า ถ้าเป็น “yes” ก็ต้องไม่ใช่ “no” ทั้งนี้เพราะทั้ง “yes/no” อาจจะเกิดขึ้นได้ใต้กรรมใต้วาระเดียวกัน เพียงแต่ว่า เหตุการณ์เดียวกันอาจจะ “yes” ในเงื่อนไขหนึ่ง และอาจจะเป็น “no” ได้ในอีกเงื่อนไขหนึ่งมากกว่า ดังนั้น ระหว่างพวกเราที่เรียกตนเองว่า “คนปกติ” กับคนพิการที่ถูกนิยามว่าเป็น “คนอื่นๆ (ที่ผิดปกติ)” แต่ทว่า ทั้งคนปกติสมบูรณ์กับคนพิกลพิการนั้น ต่างก็ล้วนมีลักษณะร่วมกันในฐานะที่เป็น “คน” เหมือนกัน ซึ่งหมายความว่า คนทั้งสองกลุ่มไม่ใช่แค่เพียงจะมีลักษณะร่วมของการ “เกิดแก่เจ็บตาย” ในสังสารวัฏเท่านั้น หากแต่พวกเขาก็สามารถสร้างสรรค์คุณค่า สร้างสรรค์สังคม และสร้างสรรค์โลกได้ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด ในโฆษณานั้น แม้เด็กอนุบาลตัวน้อยอาจจะพิการทางร่างกาย แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเธอและเขาได้พิสูจน์ให้เห็นก็คือ ความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์เสียงประสานในการร้องเพลงให้ทุกคนได้ยิน หากเด็กปกติร้องเพลงประสานเสียงใต้หมู่เมฆที่ลอยอยู่เหนือฟากฟ้าได้ฉันใด เด็กพิการตัวน้อยๆ เหล่านี้ ก็ “สามารถ” ที่จะทำดุจเดียวกันได้ฉันนั้น ก็เหมือนกับเพลง “Que Sera, Sera” ที่ได้ตั้งคำถามกับความไม่แน่นอนของอนาคตนั่นแหละครับ ความจริงที่ว่า “อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด อนาคตคือสิ่งที่มองไม่เห็น อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด” นั้น ถือเป็นสัจธรรมที่ใช้อธิบายได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งกับคนปกติและคนพิการ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นสัจธรรมกับทุกชีวิตที่ยังเวียนว่ายอยู่ในโลกใบนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point