ฉบับที่ 237 วาสนารัก : แข่งบุญแข่งวาสนา...แข่งกันไม่ได้จริงๆ หรือ

                มีความเปรียบเปรยอยู่ข้อหนึ่งที่ผู้คนมักจะกล่าวกันไว้ว่า “แข่งเรือแข่งพายนั้นแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้”         ความเปรียบข้อนี้สะท้อนโลกทัศน์ที่หยั่งรากลึกเนิ่นนานในสังคมไทยเอาไว้ว่า ถึงแม้นเรื่องของ “ความสามารถ” อาจเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลแข่งขันเพื่อกำชัยชนะระหว่างกันได้ก็ตาม แต่เรื่องของ “เส้นวาสนา” หาใช่จะเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนมีอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ได้ไม่         “บุญพาวาสนาส่ง” ถือเป็นกลไกรอมชอมความขัดแย้ง และสร้างความชอบธรรมให้กับคนชั้นนำที่จะอธิบายว่า ทำไมมนุษย์เราจึงมีความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันในความสัมพันธ์ ด้วยเหตุนี้ คนที่เราเห็นว่า เขามีสถานะดีกว่า ก็เนื่องจากเขามีวาสนาติดตัวมาแต่กำเนิด ในขณะที่เราอาจจะมีสถานะต่ำต้อยด้อยกว่า ก็ด้วยเพราะเกิดมาพร้อมกับเสียงเพลงที่ปลอบประโลมใจว่า “ฉันมันไม่มีวาสนา ฝืนดวงชะตาก็คงไม่ได้”         แม้โลกทัศน์เรื่อง “วาสนา” เยี่ยงนี้ อาจตกผลึกฝังเป็นตะกอนนอนก้นในสังคมไทยมายาวนานก็จริง แต่ทุกวันนี้ เมื่อสถานะแห่งชนชั้นนำเริ่มแปรเปลี่ยนโฉมหน้าค่าตาไป คำถามก็ดูน่าสงสัยยิ่งว่า แล้วบุญวาสนายังจะเป็นเรื่องที่แข่งขันฝีพายไม่ได้จริงอยู่อีกหรือไม่         ละครโทรทัศน์เรื่อง “วาสนารัก” ที่เพียงเห็นแค่ชื่อ ก็เหมือนจะชวนชี้ให้เราเริ่มตั้งคำถามต่อสำนึกเรื่อง “บุญพาวาสนาส่ง” เฉกเช่นที่กล่าวมานี้         ด้วยเป็นภาคต่อของละครเรื่อง “ทุ่งเสน่หา” ซึ่งเรื่องราวแต่เดิมสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของชนบท ที่ผันผ่านสู่ความเป็นเมือง ละคร “วาสนารัก” จึงสานต่อคำถามว่า ภายใต้วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปสู่รุ่นลูกและหลานของตัวละครในภาคแรกนั้น โลกทัศน์ต่อบุญวาสนาของเธอและเขาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกันบ้าง         เปิดฉากมากับบรรยากาศของตัวเมืองนครสวรรค์ กับภาพของตัวละครภาคก่อนอย่าง “สำเภา” และ “ยุพิณ” ที่อดีตเคยเป็นคู่ปรับกัน แต่เวลาที่ผ่านผันก็ทำให้ทั้งสองมีวุฒิภาวะและเข้าใจชีวิตมากขึ้น พร้อมๆ กับปมปัญหาใหม่ที่ถูกผูกไว้ให้เป็นจุดเริ่มต้นของความรักอันดูเหมือนจะไร้วาสนาของคนรุ่นลูกหลาน          สำเภามี “กันตพล” เป็นหลานชาย ที่เพราะชาติกำเนิดของเขาหาใช่เป็นหลานแท้ๆ ของสำเภาไม่ แต่เขาเป็นลูกของ “ไผท เทพทอง” พระเอกลิเกชื่อดังที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตลงตั้งแต่ต้นเรื่อง         และเหมือนกับโชควาสนาจะเล่นตลก เมื่อกันตพลได้มาพบเจอกับ “ใกล้รุ่ง” ลูกสาวบ้านลิเกของไผท เทพทอง และเขาก็รู้สึกถูกชะตาตกหลุมรักหญิงสาวมาตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน โดยมีความลับที่ถูกลืออยู่ตลอดว่า ทั้งคู่อาจเป็นพี่น้องพ่อเดียวกัน ซึ่งอาจจะก่อกลายเป็นรักต้องห้ามของพระนางในเรื่องไปในที่สุด         เพราะโดยแก่นแกนหลักของละครก็คือ การชี้ยืนยันให้เห็นว่า วาสนาเป็นเงื่อนไขที่กำหนดมนุษย์ทุกคน และเป็นลิขิตที่เรามิอาจฝืนได้ เพราะฉะนั้นความรักที่พลิกผันไปมาของกันตพลกับใกล้รุ่ง ก็เหมือนจะถูกเล่าผ่านกติกาของบุญวาสนาที่ให้ผู้ชมได้ลุ้นไปด้วยว่า “วาสนารัก” ของคนทั้งคู่จะบรรจบพบและลงเอยอย่างไร         พร้อมๆ กับการร่วมลุ้นไปกับ “วาสนารัก” ของตัวละครนี้ ที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งก็คือ แทบจะทุกตัวละครในเรื่องต่างก็พากันพ้องเสียงพร่ำพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยประโยคที่มักจะขึ้นต้นว่า “ถ้าคนเค้ามีวาสนาต่อกัน...” บ้าง หรือ “เป็นเพราะวาสนาที่ทำให้...” บ้าง จนผู้เขียนเองก็รู้สึกได้ว่า ตั้งแต่ดูละครโทรทัศน์มา ไม่เคยอิ่มล้นกับละครเรื่องใดที่จะสำทับซ้ำๆ กับคำว่า “วาสนา” จนนับครั้งไม่ถ้วนเยี่ยงนี้         แม้ว่าวาสนาจะเป็นโลกทัศน์ที่ฝังแฝงเข้มข้นอยู่ในมโนสำนึกของคนรุ่นหนึ่ง แต่สำหรับคนรุ่นใหม่หรือลูกหลานที่เป็นผลผลิตของคนรุ่นก่อนๆ นั้น เหมือนจะเดินอยู่บนทางสองแพร่ง ที่ฟากหนึ่งก็เชื่อในพลังของวาสนาฟ้าลิขิต แต่อีกฝั่งหนึ่ง โลกทัศน์ของคนกลุ่มนี้ก็เริ่มเห็นว่า สองมือของปัจเจกบุคคลสามารถก่อร่างและกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ด้วยเช่นกัน         จะมีก็แต่ตัวละครอย่าง “ไพรัช” ที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปเท่านั้น ที่ไร้วาสนาในความรักกับนางเอกใกล้รุ่ง แบบที่ “จินดา” ผู้เป็นแม่ก็ยังกล่าวถึงบุตรชายว่า “ทำบุญแค่นี้ มีวาสนาต่อกันแค่นี้” แต่กับตัวละครอื่นๆ ที่เหลือนั้น เมื่อต้องหันมา “สู้เพื่อรัก” กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ต่างก็พากันเชื่อด้วยว่า หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจกันแล้ว ต้องอาศัยสองมือกับหนึ่งใจของปัจเจกเท่านั้น ที่จะฝ่าฟันและกำหนดทางเดินแห่งรักของตนเองได้          ไม่ว่าจะเป็น “พรรณษา” ศัตรูหัวใจของใกล้รุ่ง ที่ไม่เลือกทำตัวเป็น “ข้าวคอยฝน” นั่งรอโชควาสนาบันดาลให้ได้เข้าวงการบันเทิง หากแต่เธอก็เชื่ออยู่ตลอดกับคำพูดที่ว่า “ในเมื่อวาสนามันไม่มี มันก็ต้องสร้างโอกาสเอาเอง” จนบรรลุฝั่งฝันในวงการมายาได้ในที่สุด         หรือ “เพทาย” กับ “เมฆินทร์” ที่เพื่อจะพิชิตหัวใจหญิงสาวอย่างพรรณษาและ “จินตนา” ซึ่งเขาแอบรักมาตลอด ก็มิอาจรอให้ “พรหมลิขิตบันดาลชักพา” ได้ แต่ทั้งสองมุ่งมั่นสมัครเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะเชื่อมั่นว่า มีเพียงดาวบนบ่ากับหัวใจของตนเท่านั้น ที่จะให้ได้มาซึ่งความรักที่อยู่เหนือวาสนา         ไล่เรื่อยไปถึง “บดินทร์ เทพทอง” พระเอกลิเกที่ถือคติ “ดักลอบต้องหมั่นกู้ เป็นเจ้าชู้ต้องหมั่นเกี้ยว” ด้วยหวังพิชิตใจของ “อาภากร” ที่ต่างกันทั้งฐานะทางสังคมและต่างกันทั้งช่วงวัย รวมทั้งตัวละคร “เอกชัย” ที่เพศวิถีหาใช่อุปสรรคที่จะกีดกันความรักความรู้สึกที่เขามีต่อ “จันทร์เพ็ญ” ไปได้          จนแม้แต่กับนางเอกใกล้รุ่ง ที่แม้จะมีชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยอย่าง “อรรณพ” มาคุกเข่าขอแต่งงาน แต่เมื่อกันตพลคือชายเดียวที่เธอรัก ถึงใครต่อใครจะพยายามขัดขวางความรักของเธอ แต่ใกล้รุ่งก็เลือกยืนยันว่า “ครั้งนี้ขอรุ่งทำตามใจของตัวเองสักครั้ง” ก่อนที่ปมเงื่อนเรื่องชาติกำเนิดของทั้งคู่จะคลี่คลายไปในที่สุด         ในฉากอวสานของเรื่อง แม้ละครจะปิดท้ายด้วยข้อความแคปชันที่ขึ้นไว้ว่า “โชคชะตา ทำให้รู้จัก หากได้รัก เพราะวาสนา” แต่ความคิดต่อบุญวาสนาก็อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมือนพ้องกันระหว่างคนสองรุ่นสองวัย          เพราะในทางหนึ่ง คนรุ่นเก่าอย่างสำเภาผู้ผ่านโลกมาทั้งด้านที่สมหวังและสูญเสีย เหมือนจะยังคงยึดมั่นในพลังแห่งวาสนาที่เข้ามากำหนดชะตาชีวิตของคนเรา แบบเดียวกับที่เธอพูดว่า “ไม่คิดว่าแต่ละคู่แต่ละคนจะลงเอยกันได้ ต่างที่มาต่างวาสนา มีวาสนามากมีวาสนาน้อยก็แตกต่างกันไป แต่ก็เพราะวาสนานี่แหละที่ทำให้ชีวิตของเราหักเหเปลี่ยนผัน และลงเอยกันได้ โดยที่เรามิอาจคาดเดากันได้เลย”         แต่สำหรับอนุชนคนรุ่นใหม่ๆ ทั้งหลายแล้ว ปริศนาที่ทิ้งไว้ให้ขบคิดหลังละครจบลงก็คือ ระหว่าง “วาสนา” กับ “สองมือหนึ่งใจ” นั้น เธอและเขายังคงต้องค้นหาต่อไปว่า ปัจเจกบุคคลจะเลือกผสมผสานเส้นทางทั้งสองแพร่งให้เป็นเส้นทางดำเนินชีวิตของตนกันอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >