ฉบับที่ 242 เมียจำเป็น : โลกนี้นี่ดูยิ่งดูยอกย้อน เปรียบเหมือนละคร

                ตามสามัญสำนึกของคนทั่วไป โลกแห่งความจริงกับโลกของละครเป็นสองโลกที่มีเส้นกั้นแบ่งแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน โลกแห่งความจริงเป็นโลกทางกายภาพที่มนุษย์เราสัมผัส จับต้อง และใช้ชีวิตอยู่อาศัยจริงๆ ในขณะที่โลกของละครเป็นจินตนาการที่ถูกสมมติขึ้นด้วยภาษาสัญลักษณ์         อย่างไรก็ดี นักทฤษฎีจิตวิเคราะห์นามอุโฆษอย่างคุณปู่ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้เคยโต้แย้งว่า จริงๆ แล้ว โลกแห่งความจริงกับโลกของละครไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง แต่กลับไขว้ฟั่นพันผูกกันอย่างแนบแน่น จนแม้ในบางครั้ง เรื่องจริงกับเรื่องจินตนาการก็แยกแยะออกจากกันไม่ได้เลยทีเดียว         กับละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกดรามาเรื่อง “เมียจำเป็น” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า โลกแห่งละครที่มนุษย์เราดื่มด่ำประหนึ่ง “มหากาพย์แห่งความรื่นรมย์” อยู่นั้น หาใช่เพียงแค่เรื่องประโลมโลกย์ไร้สาระแต่อย่างใดไม่ หากแต่ทุกวันนี้โลกทัศน์ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้อรรถรสแห่งละคร ได้ก่อกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโลกจริงๆ ในชีวิตประจำวันของคนเราไปเสียแล้ว         ด้วยโครงเรื่องคลาสสิก (กึ่งๆ จะเหลือเชื่อแต่ก็เป็นจริงได้) ที่สาวใช้สู้ชีวิตอย่าง “ตะวัน” ได้ประสบพบรักและลงเอยแต่งงานกับ “โตมร” พระเอกหนุ่มลูกชายเศรษฐีเจ้าของสวนยางที่ภูเก็ต แม้จะดูเป็นพล็อตที่มีให้เห็นทั่วไปในละครหลังข่าว แต่ลีลาอารมณ์ของเรื่องที่ผูกให้มีลักษณะเสียดสีล้อเลียน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นแนว “parody” นั้น ก็ชวนให้เราพร้อมจะ “ขบ” คิด ก่อนที่จะแอบขำ “ขัน” อยู่ในที         เริ่มต้นเปิดฉากละครด้วยภาพของตะวัน หญิงสาวผู้ต่อสู้ชีวิตด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจน กอปรกับ “เดือน” ผู้เป็นแม่ก็ป่วยกระเสาะกระแสะอีก ตะวันจึงรับจ้างทำงานเป็นแม่บ้านพาร์ตไทม์ จนเป็นที่ไวรัลกันปากต่อปากว่า เธอเป็นแม่บ้านรับจ้างมือหนึ่ง ที่ดูแลทำความสะอาดบ้านได้อย่างเกินล้น ล้างจานได้สะอาดหมดจด รวมไปถึงมีกรรไกรตัดเล็บติดตัว พร้อมปฏิบัติภารกิจผู้พิทักษ์สุขอนามัยอย่างเต็มที่         ตัดสลับภาพมาที่โตมร หนุ่มนักเรียนนอกเนื้อหอม แม้ด้านหนึ่งเขาจะชอบวางมาดไม่ต่างจากพระเอกละครโทรทัศน์ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นลูกเศรษฐีผู้มีน้ำใจกับคนรอบข้าง และก็เป็นไปตามสูตรของละครแนวพระเอกผู้ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด” โตมรก็ถูกพ่อแม่จับคลุมถุงชนให้หมั้นหมายเพื่อแต่งงานกับ “หยาดฟ้า” ผู้ที่ไม่เคยเจอหน้าเจอตากันมาก่อน         เพราะโตมรต้องการปฏิเสธสภาวะคลุมถุงชนครั้งนี้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อดูตัวว่าที่เจ้าสาว โดยหวังว่าจะได้จัดการถอนหมั้นเธอให้จบไป นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่พระเอกหนุ่มกับนางเอกแม่บ้านพาร์ตไทม์ได้มาพบเจอกัน โดยมีเหตุให้โตมรเข้าใจผิดว่า แม่บ้านออนไลน์อย่างตะวันก็คือหญิงสาวที่เป็นคู่หมั้นหมายของเขาจริงๆ         จากนั้น เมื่อในทางหนึ่งหยาดฟ้าที่คบหาอยู่กับชายหนุ่มเจ้าชู้ไก่แจ้อย่าง “บรรเลง” ก็ไม่อยากแต่งงานกับชายหนุ่มบ้านนอกที่เธอไม่รู้จักมักจี่มาก่อน กับอีกทางหนึ่ง ตะวันก็ต้องการเงินมารักษาแม่ที่ป่วยออดๆ แอดๆ กลเกมสลับตัวของผู้หญิงสองคนจึงเกิดขึ้น ตะวันในนามของหยาดฟ้าเลยตกลงปลงใจมายอมรับสภาพเป็น “เมียจำเป็น” ณ นิวาสถานของพระเอกหนุ่มโตมรในที่สุด         เมื่อต้องกลายมาเป็น “เมียจำเป็น” ตะวันก็ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งขันที่หมายมาดจะเข้ามาช่วงชิงบทบาทความเป็น “เมีย” ของนายหัวโตมร ไม่ว่าจะเป็น “โสภิต” เลขาคู่ใจ แต่คิดกับพระเอกหนุ่มเกินคำว่าเพื่อน หรือ “กิ่งแก้ว” พยาบาลของ “คุณน้อย” น้องสาวพิการของโตมร ที่อยากเลื่อนขึ้นมาเป็นพี่สะใภ้มากกว่า รวมไปถึงหยาดฟ้าตัวจริงเอง ที่ภายหลังก็คิดจะเลิกร้างกับบรรเลง เพื่อมาเป็นภรรยาเจ้าของสวนยาง        จากความขัดแย้งของเรื่องที่นางเอกยากจนต้องมาต่อสู้กับบรรดานางร้ายผู้มีหมุดหมายเป็นพระเอกหนุ่มคนเดียวกันเช่นนี้ ละครก็เหมือนจะบอกเป็นนัยว่า สำหรับคนชั้นล่างแล้ว “ความจำเป็น” ทางเศรษฐกิจสังคมก็คือ ตัวแปรต้นที่ทำให้ตะวันจำยอมตัดสินใจมารับบทบาทความเป็น “เมียแบบจำเป็น”         ตรงกันข้ามกับบรรดาคนชั้นนำที่มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ใน “ความไม่จำเป็น” แต่อย่างใด ทว่าคนกลุ่มนี้กลับใช้อำนาจและพยายามทุกวิถีทางที่จะครอบครองสถานะความเป็น “เมีย” เพียงเพื่อสนอง “ความปรารถนา” มากกว่า “ความจำเป็น” ของตนเท่านั้น         คู่ขนานไปกับการนำเสนอความขัดแย้งระหว่าง “ความจำเป็น” กับ “ความปรารถนา” นั้น ด้วยวิธีเล่าเรื่องแนวเสียดสีชวนขัน ในเวลาเดียวกัน เราจึงได้เห็นอีกมุมหนึ่งของการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ตัวละครเอกที่ผิดแผกไปจากการรับรู้แบบเดิมๆ ของผู้ชม         แม้พระเอกนางเอกจะต่างกันด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคม แต่ทั้งคู่ก็ถูกออกแบบให้กลายเป็นคนที่ชอบดูละครโทรทัศน์เป็นชีวิตจิตใจ แม้พระเอกหนุ่มจะเป็นเจ้าของสวนยางที่มั่งคั่ง แต่เขาก็ติดละครหลังข่าวแบบงอมแงม เช่นเดียวกับตะวันที่เมื่อทำงานเสร็จ ก็ต้องรีบกลับบ้านมาดูละครภาคค่ำทุกๆ คืน         การโคจรมาเจอกันของแฟนคลับละครจอแก้ว ไม่เพียงจะทำให้คนสองคนได้ปรับจูนรสนิยมในการคบหากันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว พร้อมๆ กันนั้น ความคิด การกระทำ และประสบการณ์ชีวิตของพระเอกนางเอกก็ได้ก่อรูปก่อร่างขึ้นมาจากละครโทรทัศน์หลากหลายเรื่องที่ทั้งคู่รับชมมาตั้งแต่เด็กๆ        ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกที่หลายฉากหลายสถานการณ์ที่ปรากฏในละคร “เมียจำเป็น” จึงช่างดูคุ้นตาแฟนานุแฟนของละครภาคค่ำยิ่งนัก         ตั้งแต่ฉากที่ตะวันผูกผมเปียถือกระเป๋าเดินเข้าบ้านหลังใหญ่ของคุณโตมร ที่ยั่วล้อฉากคลาสสิกของ “บ้านทรายทอง” ฉากน้องสาวพิการที่หวงพี่ชายจนเกลียดนางเอกแสนดีเหมือนพล็อตในละคร “รักประกาศิต” เนื้อเรื่องที่เล่นสลับตัวนางเอกมาแต่งงานหลอกๆ คล้ายกับเรื่องราวในละครทีวีหลายๆ เรื่อง ไปจนถึงฉากที่นางเอกถูกกักขังทรมานในบ้านร้างที่ก็อปปี้ตัดแปะมาจากละครเรื่อง “จำเลยรัก”        ด้วยเส้นเรื่องที่ “ยำใหญ่” ละครเรื่องโน้นเรื่องนี้อีกหลายเรื่องและเอามาล้อเล่นเสียดสีแบบนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เรา “ขบขัน” กับความซ้ำซากจนกลายเป็นความคุ้นชินในชีวิตผู้ชมเท่านั้น หากแต่อีกด้านหนึ่ง ก็ชวนหัวชวนคิดไปด้วยว่า ตกลงแล้วระหว่างละครกับชีวิตจริง อะไรที่กำหนดอะไรกันแน่        ในขณะที่ชีวิตจริงของคนเราก็ถูกสะท้อนเป็นภาพอยู่ในโลกแห่งละคร แต่ในเวลาเดียวกัน ละครที่เราสัมผัสอยู่ทุกวันก็ได้ย้อนยอกจนกลายมาเป็นชีวิตจริงของคนหลายๆ คน เพราะฉะนั้น ประโยคที่โตมรหันมามองกล้องและพูดด้วยเสียงก้องตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “ผู้หญิงดีๆ ที่ไหนจะยอมมาเป็นเมียจำเป็น” ก็อาจจะมีสักวันหนึ่ง ที่ “ความจำเป็น” จะทำให้ผู้หญิงดีๆ บางคนต้องลุกขึ้นมายินยอมสวมบทเป็น “เมียจำเป็น” ได้เหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 ห้องน้ำสำหรับคนพิการ ความจำเป็นที่ถูกมองข้าม

ห้องน้ำ ถือเป็นเรื่องที่หลายๆ คนให้ความสำคัญไม่ว่าจะไปที่ไหน ขอให้รู้ว่ามีห้องน้ำอยู่ใกล้ๆ เวลาปวดหนักปวดเบาก็รู้สึกอุ่นใจ ซึ่งสำหรับผู้พิการเองก็เช่นกัน พวกเขาก็ต้องการรู้สึกอุ่นใจว่าที่ที่พวกเขากำลังจะไปนั้นมีห้องน้ำที่ออกแบบมาสำหรับพวกเขา ห้องน้ำแบบเฉพาะเพื่อให้ผู้พิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำไมต้องมีห้องน้ำเฉพาะสำหรับผู้พิการผู้พิการไม่ต้องการเป็นภาระของสังคม และอยากทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ด้วยความบกพร่องทางร่างกายทำให้มีหลายกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ผู้พิการไม่สามารถทำได้เหมือนคนปกติ ที่ชัดที่สุดก็เห็นจะเป็นการทำธุระต่างๆ ในห้องน้ำ โดยเฉพาะกับผู้พิการที่ต้องนั่งอยู่บนรถวีลแชร์ ที่ส่วนใหญ่ล้วนมีปัญหาบกพร่องทางร่างกายบางส่วนไม่สามารถขยับได้ ทำให้การพยุงตัวเพื่อขึ้นนั่งบนโถส้วม การใช้อ่างล้างมือ รวมถึงการอาบน้ำในห้องน้ำแบบปกติเป็นไปอย่างยากลำบาก การมีห้องน้ำที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้ผู้พิการที่ใช้รถวีลแชร์ทำธุระในห้องน้ำได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น ห้องน้ำคนพิการหายากจังเวลาที่ปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ แต่มองซ้ายมองขวาก็ไม่รู้ว่าสุขาอยู่หนใด หลายๆ คนคงเข้าใจว่าช่างเป็นช่วงเวลาที่แสนทุกข์ทรมานใจ ขนาดคนปกติธรรมดาที่พอจะหาห้องน้ำได้ไม่ยากยังเคยเจอสถานการณ์แบบนี้ แล้วถ้าเป็นคนพิการต้องมาจะเรื่องแบบนี้คงเดาไม่ยากว่าจะรู้สึกแย่แค่ไหน นั้นเป็นเพราะห้องน้ำสำหรับคนพิการในเมืองไทยหาได้ยากเย็นยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร แสดงให้เห็นว่าคนพิการยังคงถูกมองข้ามในสังคม แม้ว่าห้องน้ำคนพิการจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่คนพิการควรได้รับ แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้คนพิการก็ยังต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก เพราะการช่วยเหลือจากสังคมยังมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ห้องน้ำสาธารณะที่คนนิยมเลือกใช้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น ในห้างสรรพสินค้า รองลงมาก็คือ ในร้านอาหาร สถานที่ราชการ โรงแรมและสวนสาธารณะ ซึ่งสถานที่ที่กล่าวมา แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกที่ที่จะมีห้องน้ำสำหรับคนพิการ และบางทีถึงแม้จะมีห้องน้ำสำหรับผู้พิการ แต่ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะถึงแม้จะติดป้ายบอกว่าเป็น ห้องน้ำคนพิการแต่การออกแบบกลับไม่เอื้ออำนวย อย่างเช่นระหว่างทางไปห้องน้ำกลับเป็นทางที่เป็นขั้นบันได พื้นที่ในห้องน้ำแคบเกินไป หรือปัญหาพื้นๆ ที่คนปกติก็มักเจอกันเป็นประจำอย่าง น้ำไม่ไหล ไม่มีกระดาษทิชชู ห้องน้ำสกปรก ซ้ำร้ายที่สุดคือห้องน้ำถูกล็อคหรือถูกทำให้กลายเป็นห้องเก็บของ “ฉลาดซื้อ” จึงอยากทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ไปถึงหน่วยงานราชการและเจ้าของกิจการต่างๆ ช่วยสละพื้นที่เล็กๆ ในอาคารสถานที่ที่ท่านดูแล แบ่งมาสร้างเป็นห้องน้ำสำหรับผู้พิการที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยกันสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมของเรา ***ปีนี้รัฐบาลจัดงานใหญ่สำหรับคนพิการขึ้นถึง 2 งาน คือ “มหกรรมต้นแบบคนพิการไทย” และ “งานมหกรรมวันคนพิการสากลประจำปี 2552” ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่คนพิการจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ห้องน้ำคนพิการที่ดีควรมีอะไรบ้าง-ประตูห้องน้ำควรเป็นแบบบานเลื่อน หรือถ้าเป็นแบบบานพับก็ควรเป็นแบบที่เปิดออกสู่ด้านนอก โดยเปิดออกได้ไม่น้อยกว่า 90 องศา และมีความกว้างของประตูไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ที่สำคัญคือประตูควรเปิดได้ง่าย ใช้แรงไม่มากในการเปิด เหมาะกับผู้พิการที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ -ที่พื้นจากภายนอกสู่ห้อง ควรเป็นพื้นเรียบเสมอกัน ถ้าหากพื้นมีความต่างระดับกันต้องทำทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ด้วย -มีราวจับจากประตูไปถึงยังจุดต่างๆ ทั้งอ่างล้างมือ โถส้วม โดยราวจับต้องมีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร และต้องมีราวจับทั้งแนวตั้งและแนวนอน ตรงบริเวณข้างอ่างล้างมือทั้ง 2 ฝั่ง และด้านข้างโถส้วม เพื่อช่วยในการพยุงตัว -อ่างล้างมือควรสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 80 เซนติเมตร โดยขอบอ่างต้องอยู่ห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 45 เซนติเมตร -โถส้วมควรเป็นชนิดนั่งราบ สูงจากพื้นประมาณ 45 เซนติเมตร มีพนักพิงหลัง และที่ปล่อยน้ำให้เป็นแบบคันโยก -พื้นห้องน้ำควรทำจากวัสดุที่ไม่ลื่น กันน้ำ และมีระบบระบายน้ำที่ดี -พื้นที่ว่างภายในห้องน้ำควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร เพื่อให้รถวีลแชร์สามารถหมุนกลับตัวได้ -สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องน้ำ ควรอยู่สูงจากพื้นระหว่าง 0.25 - 1.20 เมตร -ติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉิน สำหรับให้ผู้พิการที่อยู่ในห้องน้ำติดต่อมายังบุคคลภายนอก กรณีต้องการความช่วยเหลือ -ก๊อกน้ำเป็นแบบก้านกด ก้านโยกหรือให้ดีที่สุดคือเป็นระบบแบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ-มีอักษรเบรลล์บอกให้ทราบว่านี้คือห้องน้ำสำหรับคนพิการหรือบอกให้ทราบว่าเป็นห้องน้ำหญิงหรือชาย สำหรับห้องน้ำทั่วไป *** ข้อมูลจาก “คู่มือการออกแบบสภาพแวดล้อมสำหรับคนพิการและคนทุกวัย” สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ “ระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2544”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point