ฉบับที่ 114 ถนนความฝันกับถนนความจริง

กล่าวกันว่า โลกความจริงจะเป็นเช่นไรและจะมีอยู่หรือไม่นั้นไม่สำคัญ แต่เป็นโฆษณาต่างหากที่มีอำนาจเนรมิตสิ่งที่ไม่มี สิ่งที่เคยมี หรือแม้แต่สิ่งที่ผู้คนอยากให้มี ให้กลายมาเป็นโลกความจริงที่อยู่หน้าจอโทรทัศน์ขึ้นมาได้ กับความดังกล่าวข้างต้นนี้ เราอาจพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดจากโฆษณารถยนต์รุ่นใหม่ยี่ห้อหนึ่ง เริ่มต้นกับฉากที่นักร้องหนุ่มสองคนแห่งบ้านเรียลลิตี้นักล่าฝัน ได้เชิญชวนกันไปเที่ยวละไมลองรถเก๋งคันใหม่ ซิ่งกันไปยังถนนที่หลุดออกไปจากป่าคอนกรีตแห่งสังคมเมืองหลวง กล้องจับภาพให้เราเห็นรถเก๋งของสองหนุ่มที่แล่นผ่านโค้งต่างๆ กลางหุบเขา ถนนที่เงียบสงบและมีเพียงรถเก๋งคันเดียวที่แล่นฝ่าผ่านกองใบไม้ร่วงเข้าไป สายลมเอื่อยๆ พัดดอกหญ้าปลิวฟุ้งกระจาย ทิวทัศน์สีเขียวของป่าผืนใหญ่แวดล้อมอยู่รอบตัว สลับกับแสงแดดทอระยับจับกับตัวถังรถที่เป็นประกายมันวาว กล้องตัดภาพสลับไปมาระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของรถเก๋งรุ่นใหม่ ตั้งแต่กระจังหน้ารถ ไฟท้าย ล้อรถ พวงมาลัย และเกียร์สมรรถนะเยี่ยม นักร้องหนุ่มคนหนึ่งทำหน้าที่สารถีขับรถและหยอกล้อเพื่อนไปตลอดทาง ในขณะที่เพื่อนนักร้องอีกคนก็หยิบกีตาร์โปร่งขึ้นมาดีดร้องเพลงคลอไปกับจังหวะการแล่นของรถที่วนวกอยู่ท่ามกลางขุนเขา เสียงเพลงที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นได้เริ่มต้นขึ้นว่า “เพราะฉันยืนยันจะไปต่อ ฉันยินดีจะไปต่อ ถึงล้มลงไปก็ลุกขึ้นได้ใหม่ อยู่ที่จุดหมาย นัดกันที่ปลายฝัน...ฝันมีอยู่จริง” และภาพก็ตัดกลับมาที่แสงแดดสะท้อนเงากระจกรถ และใบไม้ดอกหญ้าที่ปลิวว่อนไปทั่ว ก่อนจะมาปิดท้ายที่ภาพรถเก๋งมาจอดนิ่งอยู่ที่ “จุดหมายปลายฝัน” และภาพตัวอักษรที่ขึ้นข้อความว่า รถเก๋งยี่ห้อนี้สามารถ “Make It Happen” ขึ้นมาได้ คุณผู้อ่านสงสัยหรือไม่ครับว่า ภาพที่โฆษณาสาธยายออกมาให้เราเห็นเช่นนี้ เป็นภาพความจริงหรือเป็นภาพที่ถูกสรรค์สร้างจินตนาการขึ้นมากันแน่??? หากเราเชื่อว่า โฆษณาสามารถจะสร้างจินตภาพความเป็นจริงต่างๆ ขึ้นมาได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีของจริงรองรับอยู่หรือไม่ก็ตาม เราก็อาจจะพบว่า โฆษณารถเก๋งชิ้นนี้กำลังทำหน้าที่แต่งเติมเสริมฝันกับชุดความเป็นจริงบางอย่างให้เราได้สัมผัสรับรู้เช่นกัน แน่นอน ในลำดับแรกนั้น สิ่งที่โฆษณาต้องการขายก็คือ สินค้ารถเก๋งรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะสูง แตกต่างไปจากรถเก๋งยี่ห้ออื่นหรือรถเก๋งยี่ห้อเดียวกันในรุ่นก่อนๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด เพราะฉะนั้น ภาพที่โฆษณาฉายให้ผู้ชมเห็นจึงเป็นองค์ประกอบต่างๆ ไล่ไปตั้งแต่กระจังหน้าถึงไฟท้ายของรถ เรื่อยไปจนถึงพวงมาลัยบังเหียนที่ควบคุมการขับเคลื่อนของรถยนต์ ในขณะเดียวกัน เป้าหมายที่นักร้องหนุ่มสองคนออกไปเที่ยวลองรถกันนั้น ก็เพื่อจะยืนยันให้ผู้บริโภคได้ประจักษ์ถึงศักยภาพของรถรุ่นใหม่ ที่น่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งเดียวในหัวใจของผู้คนได้เช่นกัน แต่ในอีกลำดับหนึ่งนั้น แม้โฆษณาจะมีเป้าประสงค์เพื่อขายสินค้ารถยนต์ “ล่วงหน้า” ไปให้กับคุณผู้ชม แต่ทว่า คำถามก็คือ ทำไมโฆษณาต้องนำเสนอเป็นจินตภาพของรถยนต์ที่แล่นผ่านเข้าไปในขุนเขา โดยมีสองนักร้องหนุ่มเป็นพรีเซ็นเตอร์พาเราไปสัมผัสกันเช่นนั้นเล่า คำตอบต่อคำถามข้อนี้ก็คงเป็นเพราะว่า โดยหลักการแล้ว โฆษณามักมีแนวโน้มจะเลือกหรือสร้างสรรค์ภาพความเป็นจริงบางอย่างที่ “เคยมีอยู่” แต่ได้ “หายไปแล้ว” และผู้บริโภคจำนวนมากก็กำลัง “โหยหา” ถึงความเป็นจริงที่เลือนหายไปเหล่านั้น ในฐานะที่ผมเองก็เป็นคนที่ใช้ชีวิตเวียนว่ายอยู่ในเมืองหลวง(แบบเดียวกับนักร้องหนุ่มทั้งสองคน) ผมพบว่า “ความเป็นจริงที่แท้จริง” ที่เราสัมผัสได้จากท้องถนนของป่าคอนกรีตของจริง ช่างแตกต่างจากถนนโล่งๆ ที่เราเห็นจาก “ความจริงในฝัน” ของโฆษณาเป็นอย่างยิ่ง น้อยนักที่ในชีวิตจริงๆ ของเรา ผู้คนจะได้สัมผัสมิตรภาพที่แสดงผ่านผู้ร่วมใช้ถนนสายเดียวกัน ตรงกันข้าม ในทุกๆ วัน ผู้ที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัยบังเหียนรถ ดูจะมีแนวโน้มห้ำหั่นขันแข่งช่วงชิงเลนแซงกันไปมา เพื่อแย่งให้ไปถึงจุดหมายฝั่งฝันก่อนผู้อื่น ป่าดิบ ขุนเขา และสายลมเอื่อยๆ นั้น ก็ไม่ใช่ของจริงเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับป่าคอนกรีต ตึกระฟ้า อาคารสูงต่างๆ และควันฝุ่นคลุ้งดำด้วยไอมลพิษของเมืองใหญ่ ความสงบตามธรรมชาติ ก็ดูจะไกลไปจากความจริง และถูกแทนที่ไว้ด้วยปริมาณของรถยนต์ในเมืองกรุงที่ติดยาวเป็นแพโยงจากต้นถนนสู่สุดปลายถนน  และที่สำคัญ โสตประสาทที่จะสัมผัสเสียงดนตรีกีตาร์โปร่ง ก็มักจะถูกทดแทนด้วยเสียงการเร่งเครื่องยนต์ และดุริยางคศิลป์ที่บรรเลงออกมาจากปุ่มแตรของรถยนต์ใหญ่น้อยรอบตัว สำหรับชีวิตของสัญจรชนที่อยู่บนท้องถนนเมืองกรุงวันละหลายๆ ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมิตรภาพระหว่างกันเอย เรื่องของธรรมชาติเอย เรื่องของความสงบเอย และสุนทรียรสของเสียงดนตรีเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีจริงอยู่เลย หรือเป็นคุณค่าที่หาได้ยากยิ่งนักท่ามกลางชีวิตครอบครัวกลางถนน และที่น่าสนใจก็คือ หากเป้าหมายหลักของโฆษณาได้แก่การพยายามขายผลิตภัณฑ์รถเก๋งรุ่นใหม่ให้กับผู้บริโภคด้วยแล้ว ยิ่งเราซื้อรถรุ่นใหม่ออกมาแล่นตามท้องถนนมากขึ้นเท่าใด เราก็จะยิ่งพบว่า คุณค่าข้างต้นที่โฆษณาได้วาดฝันไว้ ก็จะผกผันลดลงไปในทางกลับกัน เพราะฉะนั้น แม้ว่าถนนแห่งความจริงจะเป็นอย่างหนึ่งในชีวิตเรา แต่โฆษณาก็สามารถ “make it happen” ให้เป็นจินตภาพทางหน้าจอโทรทัศน์ ที่คนเมืองหลวงจำนวนมากอยากเข้าไปสัมผัส ถึงแม้จะตระหนักแก่ใจว่ายากยิ่งที่ได้เจอกับความฝันดังกล่าวในโลกความจริง อย่างไรก็ดี ถ้าเราจะลองมองไปยังอีกด้านหนึ่งของโฆษณา ผมก็อยากจะให้ข้อสังเกตและตั้งความหวังปิดท้ายเอาไว้ว่า แม้ในวันนี้ เราอาจจะ “make” คุณค่าที่เลือนหายไปให้ “happen” ขึ้นมาได้ก็แต่ในโลกของโฆษณา แต่ก็ไม่แน่ว่า ในวันพรุ่งนี้เราเองก็อาจจะช่วยกัน “make it happen” หรือ “ขอความสุขจงคืนกลับมา” ได้ในโลกความจริงเช่นกัน...

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point