ฉบับที่ 178 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2558“ฉลาดซื้อ” เป็นเจ้าภาพการประชุมองค์กรทดสอบระหว่างประเทศมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและนิตยสารฉลาดซื้อได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมร่วมกันในเรื่องของการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆ ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2558 โดยในการประชุมครั้งนี้มีองค์กรผู้บริโภคจาก 7 ประเทศเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลี ฮ่องกง จีน  ไทย และองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT, International Consumer Research Testing) จากประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคมที่ผ่านมา     โดยในการประชุมครั้งนี้แต่ละองค์กรได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆ ของแต่ละประเทศ ว่าในรอบปีที่ผ่านมาแต่ละประเทศประสบความสำเร็จ รวมทั้งต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างในเรื่องการทดสอบ และผลทดสอบที่ได้มีการนำไปเผยแพร่และให้กับผู้บริโภคได้ใช้ประโยชน์อย่างไรกันบ้าง ซึ่งสำหรับประเทศไทยเราผลทดสอบทั้งหมดก็ได้ถูกนำเสนออยู่ในนิตสารฉลาดซื้อของเรานั่นเอง โดยในที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าในปีหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเน้นเรื่องการยกระดับความปลอดภัยของรถยนต์ที่จำหน่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เป็นมาตรฐานทัดเทียมกับประเทศในยุโรป     แฟนๆ ฉลาดซื้อก็สามารถติดตามผลการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งในประเทศที่ฉลาดซื้อร่วมทดสอบกับทีมเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และผลทดสอบในระดับสากลโดย ICRT ได้ที่นิตยสารฉลาดซื้อเช่นเดิม   ผิดสัญญา!!? ใกล้ครบ 1 ปี BTS ต้องมีลิฟท์ให้ผู้พิการ แต่ยังไร้ความคืบหน้าหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสต้องดำเนินการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการอย่าง ลิฟท์โดยสาร ให้ครอบคลุมทุกสถานีภายใน 1 ปี ซึ่งคำสั่งศาลมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 58 ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันครบกำหนด แต่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 58 ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) ร่วมกับตัวแทนคนพิการจากหน่วยงานต่างๆ นำโดย คุณมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ประธานคณะติดตามระบบรางภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ลงสำรวจความคืบหน้าการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณรอบสถานีบีทีเอสพร้อมพงษ์ พบว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเท่าที่ควร ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจของเครือข่ายฯ พบว่ายังมีอีก 13 สถานีที่กำลังดำเนินการก่อสร้างลิฟท์ ได้แก่ สถานีทองหล่อ นานา พญาไท พร้อมพงษ์ พระโขนง ราชเทวี สนามกีฬา สนามเป้า สะพานควาย สุรศักด์ อนุเสาวรีชัยฯ อารีย์ และเอกมัย รวมทั้งยังมีอีก 8 สถานีที่ยังไม่เอื้อต่อคนพิการ ได้แก่ สถานีช่องนนทรี ชิดลม บางหว้า เพลินจิต ราชดำริ ศาลาแดง สะพานตากสิน และอ่อนนุช ซึ่งดูแล้วมีแนวโน้มว่าอาจจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการได้ไม่เสร็จตรงตามเวลาที่กำหนด ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่าง กองขนส่ง สํานักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินงานล่าช้าว่าเกิดจากระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ระบบสื่อสารต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ต้องมีการประสานจัดการก่อนซึ่งต้องใช้เวลานาน อย่าหลงเชื่อเครื่องตรวจสุขภาพ “ควอนตั้ม”อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาเครื่องตรวจสุขภาพ “ควอนตั้ม” หรือ Quantum Resonance Magnetic Analyzer (QRMA) ที่อวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถตรวจวินิจฉัยโรคและตรวจร่างกายเบื้องต้นได้กว่า 40 รายการ โดยมีการอ้างว่าเครื่องนี้สามารถวิเคราะห์ไฟฟ้าที่ไหลเวียนในร่างกาย แล้วนำมาเทียบเคียงกับค่าเฉลี่ยของคนปกติที่สามารถบ่งชี้ความผิดปกติของร่างกายได้อย่างแม่นยำ อย. ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วพบว่าเครื่องตรวจสุขภาพดังกล่าวไม่เคยมีการขออนุญาตนำเข้าหรือจำหน่าย นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่าผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าวจะถูกนำเสนอพร้อมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการค้าของผู้จำหน่ายในรูปแบบธุรกิจการขายตรงการตรวจสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและตรงตามความเป็นจริงที่สุดนั้น ควรดำเนินการตรวจวินิจฉัยโรคโดยแพทย์จากสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น คัดค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอเครือข่ายภาคประชาชน กลุ่มเกษตรกรรม นักวิชาการ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ รวมตัวกันคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ “พ.ร.บ.จีเอ็มโอ” เนื่องจากไม่มั่นใจว่าการส่งเสริมให้มีการทำเกษตรจีเอ็มโอในประเทศไทย อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อการเกษตรอินทรีย์ และอาจเกิดการผู้ขาดเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่เจ้า สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรพื้นบ้านในประเทศ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการส่งร่างกฎหมายจีเอ็มโอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว โดยให้มีตัวแทนจากกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากจีเอ็มโอ ตัวแทนจากเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์การคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการด้านกฎหมายที่ติดตามเรื่องนี้ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายด้วย โดยการพิจารณากฎหมายต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความเสียหายที่อาจจะเกิดกับพันธุ์พืชในประเทศ โดยจากนี้จะต้องมีการออกกฏหมายให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอต้องแสดงฉลากให้ผู้บริโภคทราบเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยล่าสุดรัฐบาลได้สั่งให้ยกเลิกการพิจารณา พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพแล้ว เจ็บป่วยฉุกเฉินยังมีปัญหาสิทธิเรื่องการรักษาพยาบาลยังคงเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทยที่ต้องมีการปฏิรูปอย่างรวดเร็ว เพื่อคนไทยทุกคนจะได้มีสิทธิได้รับการรักษพยาบาลที่เท่าเทียมทั่วถึงและมาตรฐานเดียวกันทุกคน     ล่าสุดในงานเสวนาเรื่อง “สภาผู้บริโภคประเด็นบริการสุขภาพและสรุปบทเรียนการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ กรณีเข้ารับการบริการฉุกเฉิน” ที่จัดขึ้นโดยคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ โดยในเวทีได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิในเรื่องการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ยังพบปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ การถูกเรียกเก็บเงินก่อนการรักษา และการคิดค่ารักษาพยาบาลในราคาแพง ในเวทีได้มีการเสนอผลวิจัยเรื่องค่าใช้จ่ายกรณีรับบริการสุขภาพ โดยรวบรวมเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน (หน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5))ในช่วงปี 2558 ศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ จากการถูกเรียกเก็บค่ารักษาจากโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามสิทธิ ในกรณีที่ใช้บริการฉุกเฉินตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน จากผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินกรณีเข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลเอกชนหรือสถาพยาบาลนอกสิทธิ สามารถเบิกเงินคืนได้ในจำนวนเงินที่น้อยมาก ยกตัวอย่างโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วย 3 แสนบาท แต่สามารถเบิกคืนได้เพียง 10,500 บาท ไม่ถึง 5% ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดยในใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลไม่มีการแจกแจงรายละเอียดเรื่องค่าบริการต่างๆ นอกจากนี้ยังพบผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ด้านคุณภาพมาตรฐานการรักษา บางรายต้องกลับมารักษาซ้ำในโรคเดิมหรือเสียชีวิต ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการคุ้มครอง ช่วยเหลือ เยียวยา อย่างที่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เจ็บป่วยฉุกเฉิน บางครั้งผู้ป่วยไม่มีโอกาสที่จะเลือกใช้เฉพาะสถานพยาบาลตามสิทธิหรือสถานพยาบาลของรัฐ จำเป็นต้องเลือกใช้บริการสถานพยาบาลที่พร้อมและอยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจเป็นสถานพยาบาลของเอกชน ดังนั้งหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องนี้ต้องมีมาตรการที่ทำให้สถานพยาบาลเอกชนให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่ใช้สิทธิอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม คำนึงถึงการรักษาพยาบาลก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นค่อยดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >