ฉบับที่ 245 ตรวจสอบคุณภาพอากาศ บนแอปพลิเคชั่น Air4Thai

        เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดของถังเก็บสารเคมีของโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นข่าวใหญ่โตและมีผู้ติดตามข้อมูลข่าวสารกันตลอดเวลา จากเหตุการณ์นี้ได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ด้วย โดยสารเคมีชนิดนี้มีชื่อว่า สไตรีน โมโนเมอร์ มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะตัว ไม่ละลายน้ำและเบากว่าน้ำ เป็นสารที่ก่ออันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตา หากสัมผัสในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวและเสี่ยงโรคมะเร็งได้ ดังนั้นกรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ติดตามและเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และสารอันตรายในพื้นที่ที่เกิดเหตุและพื้นที่ใกล้เคียงจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป         ระหว่างที่กรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำอยู่นั้น ในฐานะประชาชนคนธรรมดาที่ต้องใช้ชีวิตประจำวันคนหนึ่งอย่างพวกเรา ก็ต้องคอยตรวจสอบสภาพอากาศที่อาจเกิดมลพิษด้วยเช่นกัน นอกจากติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องแล้ว การมีแอปพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบสภาพอากาศฉบับพกพาก็ช่วยให้อุ่นใจได้ไม่น้อยเลย         แอปพลิเคชั่น Air4Thai จัดทำขึ้นโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ใช้เครื่องมือตรวจวัดสารมลพิษทางอากาศที่ได้รับรองมาตรฐาน 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)        โดยแบ่งคุณภาพอากาศผ่านระดับสี 5 ระดับ ได้แก่ ระดับสีฟ้า เขียว และเหลือง ที่แสดงระดับมลพิษทางอากาศที่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยสีเหลืองคือใกล้ถึงค่ามาตรฐาน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อผู้ที่อ่อนไหวกับมลพิษได้ เช่น โรคหอบหืด เป็นต้น และเมื่อเกินค่ามาตรฐานสีส้ม และสีแดง จะทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปในวงกว้างได้         ภายในแอปพลิเคชั่นจะสามารถตรวจสอบสภาพอากาศโดยรวม หรือจะเลือกตรวจสอบสถานการณ์ PM2.5 อย่างเดียวก็ได้ และให้กดค้นหาบริเวณต่างๆ ตามที่ต้องการ หรือจะเข้าเมนูรายการ เพื่อเลือกระบุว่าต้องการตรวจสอบสภาพอากาศของภูมิภาคใดได้ทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังเพิ่มความสะดวกโดยการมีเมนูแผนที่เพื่อแสดงสภาพอากาศบริเวณต่างๆ ในรูปของแผนที่ได้อีกด้วย         ลองดาวน์โหลดมาตรวจสอบคุณภาพอากาศกันดูว่าบริเวณที่อยู่อาศัยของเรามีมลพิษอยู่ในระดับสีใด อันตรายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ที่อ่อนไหวกับมลพิษ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดจากมลพิษนั้นได้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ยังสามารถติดตามผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com ได้อีกช่องทางหนึ่ง         ช่วงนี้มีทั้งโรคมีทั้งอุบัติเหตุ อดทนกันอีกหน่อย สู้กันต่อไปนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ควบคุมอารมณ์ด้วยการฝึกการหายใจ

หลังจากฉบับที่แล้วได้แนะนำวิธีการประเมินสภาพจิตใจภายใต้สภาวะสังคมที่ต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความกดดันและความเครียดรอบตัว ฉบับนี้จึงนำเทคนิคอีกรูปแบบหนึ่งมาแนะนำ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฝึกการหายใจที่ลึกและถูกต้อง การหายใจที่ถูกวิธีจะสามารถต่อสู้กับความวิตกกังวลและความเครียดได้ส่วนหนึ่งเช่นกัน การหายใจลึกๆ จะช่วยทำให้เป็นประโยชน์ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก จากเดิมที่มักเกิดความวิตกกังวลและความเครียดที่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความหงุดหงิด ความโมโห อารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย ดังที่จะเห็นจากการรายงานข่าวของสื่อสำนักต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาในรูปแบบคลิปวิดีโอ เนื่องจากเกิดการกระทบกระทั่งกันจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต โดยจะเห็นว่าข่าวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ สาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดมาจากการควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ทั้งสิ้นแอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า BellyBio เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยตรวจสอบการหายใจและสอนวิธีการหายใจลึก ซึ่งจะทำให้อารมณ์เย็นลงได้ การใช้แอพพลิเคชั่นนี้ต้องอยู่นิ่งกับตนเองชั่วขณะ ไม่ควรทำกิจกรรมใดๆ เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นจะปรากฏคำแนะนำในการใช้ วิธีการใช้แอพพลิเคชั่นนี้คือ เมื่อกดเริ่มต้นแอพพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้นำโทรศัพท์ไปเสียบไว้ที่ขอบกางเกง โดยให้หน้าจอหันออกด้านนอก ให้ด้านหลังโทรศัพท์สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง หลังจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะเริ่มทำงาน โดยจะใช้สัญลักษณ์เป็นเส้นคลื่นสีแดงและสีขาวขึ้นลงเพื่อบอกจังหวะในการหายใจของเรา เมื่อมีการหายใจที่นิ่งขึ้น แอพพลิเคชั่นจะเปลี่ยนหน้าจอเป็นตัวอักษร เพื่อบอกจังหวะการหายใจเข้าและการหายใจออกอย่างช้าๆ  ถ้าเส้นคลื่นยิ่งต่ำลงมากเท่าไร นั่นหมายความว่าการหายใจเป็นปกติ ซึ่งแสดงออกถึงอารมณ์ที่ปกติและสงบมากขึ้นการฝึกการหายใจจะทำกี่นาทีก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แอพพลิเคชั่น เมื่อจบการฝึกในแต่ละครั้ง แอพพลิเคชั่นจะทำการบันทึกสถิตินั้นไว้ โดยสามารถเรียกดูภายหลังได้ เพื่อนำมาเปรียบเทียบการหายใจและอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน ซึ่งสามารถทำให้เข้าใจอารมณ์ของตนเองได้เพิ่มขึ้นแอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยฝึกให้การหายใจเข้าและออกเป็นไปอย่างถูกวิธี เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ดี  ถ้าหากรู้สึกว่ามีความวิตกกังวล ความเครียด ความหงุดหงิดเกิดขึ้น ลองเปิดแอพพลิเคชั่นนี้เพื่อฝึกการหายใจเข้า การหายใจออกให้เป็นจังหวะ น่าจะช่วยทำให้อารมณ์สงบได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

แม้เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยนำพาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย แต่ในปี 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมอนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยถึงผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เสาสัญญาณการสื่อสารว่า ภายในรัศมี 400 เมตร ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาวะ เช่น มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ขาดสมาธิ วิงเวียน สั่นกระตุก เศร้าสลด สายตาพร่ามัว รวมทั้งพบอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มสูงกว่า 3 - 4 เท่าตัว ทำให้หลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรากลับพบว่าในบางพื้นที่ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้อยู่อาศัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของผู้ร้องรายนี้ คุณสุชัยร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ในชุมชนของเขามีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ โดยขัดกับนโยบายป้องกันการเกิดอันตราย เพราะเสาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลชุมชนเพียง 20 เมตร ซึ่งตามหลักการติดตั้งเสาสัญญาณ ต้องอยู่ห่างจากชุมชนเกิน 2 กิโลเมตรและควรอยู่บนเนินสูง รวมทั้งขอบของลำคลื่นหลัก (main beam) ที่ระดับพื้นดินต้องอยู่ห่างจากสถานที่กลุ่มผู้อ่อนแอ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักฟื้นคนชรา ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณสุชัยจึงขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยต้องการให้มีการย้ายเสาสัญญาณดังกล่าวออกจากชุมชนแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต. ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการขออนุญาตจากผู้ประกอบการหรือทำประชาพิจารณ์ ในการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ โดยหากพบว่าไม่มีการดำเนินการเหล่านั้น สามารถล่ารายชื่อของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ดังกล่าว และทำหนังสือส่งถึง กสทช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหา หรือโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงต่อ กสทช. ได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้สามารถทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วย ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการ พบว่า กสทช. ได้เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ และขอให้ถอนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากชุมชนไป ตามหลักการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. การขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตรวจสอบจาก กสทช. ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25352. การขออนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารในจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ตรวจสอบจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 4)3. ขั้นตอนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตรวจสอบจาก กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.54. ตรวจสอบการดำเนินการเรื่อง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งรายงานประเมินระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้องมีระดับความแรงของคลื่นที่ได้มาตรฐานตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 10 และ 11

อ่านเพิ่มเติม >