ฉบับที่ 162 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 2557 คนไทยติดมือถือ โฮเทลส์ ดอทคอม เผยคนไทยติดมือถืออันดับ 1 จากกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวจาก 28 ประเทศ ที่พกมือถือตลอดเวลาแม้แต่ไปพักร้อน โดยคนไทย โดย 6 ใน 10 ใช้เวลาไปกับการเช็กอีเมล์บนมือถือ และ 100% ใช้เพื่อเชื่อมต่อกับโลกโซเชียล         คลีนฟู้ด กู้ดเทสต์ ไม่ผ่านมาตรฐาน กรมอนามัย เผยร้านค้าที่เคยผ่านมาตรฐานโครงการคลีนฟู้ด กู้ดเทสต์ พลัส ล่าสุดไม่ผ่านเกณฑ์ถึงร้อยละ 27 เล็งยกระดับมาตรฐานร้านจำหน่ายอาหาร มอบป้าย Clean Food Good Taste Plus ให้ร้านอาหารไทยปลอดภัย สุขภาพดี ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 7 ข้อ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค เกณฑ์มาตรฐานร้านอาหาร Clean Food Good Taste Plus มีดังนี้ 1. ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย 2. มีช้อนกลางสำหรับผู้บริโภค 3. มีอ่างล้างมือสำหรับผู้บริโภค 4.ส้วมในร้านอาหารผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS (Healthy Accessibility Safety) และมีส้วมสำหรับผู้พิการ ที่รถเข็นสามารถเข้าถึงได้ 5. ผักสดปลอดสารพิษฆ่าแมลง 6. ผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมและมีบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหาร และ 7. ใช้ถุงมือสัมผัสอาหาร   ยอดโรงเรียนกวดวิชาพุ่ง สะท้อนระบบการศึกษาที่มีต้นทุนสูง รายงานจากกระทรวงศึกษาธิการ พบผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาโรงเรียนกวดวิชาและติวเตอร์อิสระรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเฉพาะปี 2555 ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชา 2,005 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 460 แห่ง และภูมิภาค 1,545 แห่ง มีนักเรียนเรียนกวดวิชา 453,881 คน หรือ12% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด โดยมูลค่าการตลาดของธุรกิจกวดวิชา ปี 2556 ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2558 จะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาท เพิ่ม 5.4% ซึ่งการเติบโตนี้มีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มราคาค่าเรียน และจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น นักเรียนส่วนใหญ่ต่างต้องการผลการเรียนที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ส่งผลให้ต้นทุนการศึกษาสูง ผู้ปกครองเดือดร้อน นักเรียนเองก็แบกรับความทุกข์จากการเรียนทั้งในและนอกเวลา นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า “หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ ศธ.ลดเวลาเรียนลงจึงได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ไปวิเคราะห์แล้วและคาดว่าการปรับลดเวลาเรียนคงไม่ได้ปรับใหญ่เพราะชั่วโมงเรียนไปสัมพันธ์กับหน่วยกิตการเรียนการสอน ดังนั้นเบื้องต้นอาจปรับลดชั่วโมงเรียนในบางวิชาลง เช่น วิชาสังคมศึกษาที่มีการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบของกิจกรรมแทน เป็นต้น     พบผู้ประกันตนเมินสิทธิฉุกเฉิน เหตุกลัว รพ.เก็บเงิน นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยเรื่อง "การบริหารจัดระบบบริการทางการแพทย์กรณีฉุกเฉินตามนโยบายบริหารจัดการร่วม สามกองทุน" ระบุ นโยบายการรักษาดังกล่าวมีการให้บริการที่รวดเร็ว รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนไม่มีการปฏิเสธการรักษาคนไข้ตามมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น แต่ปัญหาที่พบคือ ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะใช้สิทธิได้ที่ใด และยังกังวลว่าโรงพยาบาลเอกชนจะไม่รับรักษา เนื่องจากเรื่องของค่ารักษาพยาบาล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนว่า ให้โรงพยาบาลที่ให้การรักษาเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานใด ทำให้เกิดความสับสนในการจัดการค่าใช้จ่าย แม้โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือไม่เก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วย โดยไปเบิกจากกองทุนประกันสังคมผ่านหน่วยงานกลางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (สปสช.) และมีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งยังคงเรียกเก็บเงินค่ารักษาจากคนไข้ บางรายต้องกู้เงินมาจ่ายค่ารักษาจนเป็นหนี้สิน เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมายนโยบายการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อกำหนดการจัดการค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลให้ชัดเจน โดยห้ามโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ให้การรักษาเรียกเก็บเงินจากคนไข้โดยเด็ดขาด "ส่วนการจ่ายค่ารักษาให้แก่โรงพยาบาลเอกชนนั้น ควรใช้อัตราเดียวกับที่กรมบัญชีกลางจ่ายให้แก่โรงเรียนแพทย์ และจ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โดยอัตราที่จ่ายนั้นพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วน สปส.ควรจัดให้มีสายด่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แยกจากสายด่วนปกติและจัดให้พยาบาลซึ่งมีความรู้ด้านโรคต่างๆ มาเป็น Call Center" นพ.ถาวรกล่าว   คนพิการทวงคืนพื้นที่ ที่จอดรถห้างชื่อดัง ต้นเดือนที่ผ่านมามีการแชร์คลิปหนึ่งที่สร้างความฮือฮามากเรื่อง การทวงสิทธิที่จอดรถคนพิการในห้างดัง ในคลิปเป็นภาพชายหนุ่มพิการนั่งรถวีลแชร์ไปทวงถามพื้นที่จอดรถสำหรับคนพิการ ซึ่งกลายเป็นที่จอดรถพิเศษของลูกค้าวีไอพีของห้างไป ทั้งที่มีการระบุสัญลักษณ์คนพิการอย่างชัดเจน ชายหนุ่มพิการอธิบายว่า ลานจอดรถชั้นนี้ยังมีช่องจอดรถว่างอยู่พอสมควร แต่ทุกครั้งที่มาห้างแห่งนี้ พื้นที่จอดรถของคนพิการ มักมีรถเก๋งคันหรูจอดเต็มอยู่เสมอ ขณะที่ในคลิปวิดีโอยังเผยให้เห็นเจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่ง ซึ่งประจำลานจอดรถได้เข้ามาชี้แจง พร้อมกับอธิบายและขอโทษเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ชายหนุ่มพิการก็ระบุว่าไม่ได้กล่าวโทษใดๆ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้น หากไม่ได้รับคำสั่งคงไม่เปิดให้รถเก๋งคันหรูเหล่านี้มาจอดในพื้นที่สำหรับคนพิการ พร้อมกับกล่าวว่าเจ้าของรถเหล่านี้ไม่มีจิตสำนึกและถ่ายภาพป้ายทะเบียนรถเอาไว้เป็นหลักฐาน หลังจากแชร์กันสนั่นและวิจารณ์กันไปจนทั่วโลกโซเชียล ท้ายที่สุด ห้างดังก็ต้องออกมาขอโทษและรับปากจะไม่ละเมิดสิทธิผู้พิการอีก     สารพิษตกค้างเพียบในผัก ผลไม้ แม้มีตรา Q การันตี ไทยแพน(เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ เพื่อหาสารเคมีตกค้างปี 2557 พบ ผัก-ผลไม้ที่ได้รับตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มีสารตกค้างสูงถึงร้อยละ 87.5 ซึ่งมากกว่าผัก-ผลไม้ ที่วางขายในตลาดทั่วไป นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ จาก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และยโสธร รวม 118 ตัวอย่าง พบว่าผักผลไม้เกือบครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 46.6 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่เกินมาตรฐาน MRL หรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดไว้ใน มกอช. ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานจากไทยแพน ระบุ หากจำแนกตามประเภทแหล่งจำหน่าย พบว่า ผักผลไม้ที่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด คือผักผลไม้ที่ได้ตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร หรือ ตรารับรองมาตรฐาน "Q" พบการตกค้างมากถึงร้อยละ 87.5 และไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน MRL มากถึงร้อยละ 62.5 รองลงมาคือผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีก ส่วนแหล่งที่พบผักผลไม้เกินมาตรฐาน MRL น้อยที่สุดกลับเป็นตลาดทั่วไป โดยผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง รองลงมาคือ ฝรั่ง ส่วนที่พบสารตกค้างน้อยสุดคือ แตงโม ข้อสังเกตจากการทดสอบ พบว่า สารเคมีที่ตกค้างในผักผลไม้ทุกชนิด คือ คลอร์ไพริฟอสและไซเปอร์เมทริน รวมทั้งสารคาร์เบนดาซิม ที่พบตกค้างในส้ม แอปเปิ้ลและสตรอว์เบอร์รี่ นั้นสูงกว่าค่า MRL หลายเท่าตัว เพราะคาร์เบนดาซิม เป็นสารดูดซึมการตกค้างจะเข้าไปในเนื้อผลไม้และไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการล้างน้ำ องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยจึงมีข้อเสนอดังนี้  1.ให้ มกอช. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ปฏิรูปการออกเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร หรือ Q ให้เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคได้จริง 2.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเร่งจัดการปัญหาเรื่องการควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มที่มีอันตรายร้ายแรง และดูดซึมอย่างเข้มงวด โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ  และ 3.เร่งสร้างระบบเตือนภัยความปลอดภัยด้านอาหาร(Rapid Alert System for Food) ภายในปี 2558

อ่านเพิ่มเติม >