ฉบับที่ 277 เปิดคลินิกในปั๊มน้ำมันแบบนี้ก็ได้หรือ

        ความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะหากปล่อยไว้วันหนึ่งความเสียหายอาจมาถึงตัวเราเองและคนใกล้ตัวเข้าสักวัน         วันหนึ่งเมื่อคุณกองฟางพบว่า ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสกลนครมีการเปิดคลิกนิกให้บริการทางการแพทย์ เขารู้สึกแปลกใจ เพราะไม่คิดว่า คลินิกจะสามารถตั้งอยู่ในสถานที่เช่นนี้ได้ เพราะโดยปกติในปั๊มน้ำมันจะพบเห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านสะดวกซื้อเท่านั้น        เมื่อความสงสัยและประหลาดใจเกิดขึ้นแล้ว มันต้องเคลียร์เพื่อไม่ให้คาใจคุณกองฟางจึงได้พยายามสอบถามข้อมูลจากผู้คนต่างๆ และได้รู้ข้อมูลต่อมาว่าในคลินิกแห่งนี้มีผู้อ้างตนว่าเป็นแพทย์ หรือ มีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาโรค จ่ายยา ฉีดยา เช่นเดียวกับแพทย์ ก็ยิ่งทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น จากความสงสัยในตอนแรกว่าสถานที่ตั้งคลินิกถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหน้าร้านมีเพียงป้ายระบุชื่อคลินิกขนาดเล็ก ไม่มีป้ายแสดงชื่อผู้ตรวจ ชื่อประเภทและลักษณะการให้บริการ ไม่มีเลขที่ใบอนุญาต จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผู้ตรวจรักษาโรค เป็นแพทย์จริงหรือไม่และคลินิกได้รับอนุญาตเปิดคลินิก ถูกต้องหรือไม่ คุณกองฟางจึงเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณกองฟาง พร้อมทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวได้จดทะเบียนและเปิดให้บริการอย่างถูกต้องหรือไม่ แล้วการอนุญาตให้เปิดในปั๊มน้ำมันนั้นสามารถทำได้หรือไม่         ต่อมาวันที่ 21 มี.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาตของคลินิกว่าภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 12 .ก.พ. พบว่า คลินิกที่ถูกร้องเรียนนี้มีปัญหาจริงหลายประการ เจ้าหน้าที่จึงให้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขโดยให้คลินิกปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ต่อมาพบว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนด  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงออกคำสั่งยกเลิกและคืนคำขออนุญาตทำให้คลินิกต้องปิดตัวลง           กรณีนี้มีข้อที่ประชาชนควรรู้คือการเปิดคลินิกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2551 การเปิดให้บริการคลินิกแต่ละประเภทต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพบำบัด  คลินิกเวชกรรมต่างๆ กฎหมายได้กำหนดมาตรฐานที่ผู้ขอเปิดให้บริการต้องดำเนินการไว้แตกต่างกัน...หากประชาชนพบความผิดปกติ หวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยสามารถร้องเรียนเรื่องเข้ามาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายเช่นกรณีนี้         สำหรับกรณีเรื่องสถานที่ตั้งในปั๊มน้ำมันนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุชัดว่าได้หรือไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ทำหน้ากระชับ แต่กลับได้หน้าเบี้ยว

        Ulthera (อัลเทอร่า) หรือ Ultherapy คือ เทคโนโลยียกกระชับแบบ Original มีหลักการทำงานโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง และมีความเฉพาะเจาะจง (Focused Ultrasound) ยิงลงไปใต้ชั้นผิวเพื่อให้ผิวเกิดการยกกระชับขึ้น         นี่คือคำโฆษณา ที่สถานเสริมความงาม คลินิกต่างๆ ให้คำจำกัดความนวัตกรรมอัลเทอร่าไว้ แต่เรื่องราวของคุณจอย ผู้ที่ได้รับบริการอัลเทอร่ากับคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะไม่ได้หน้ากระชับแต่กลับได้หน้าเบี้ยว เธอจึงเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         คุณจอยได้เข้ารับบริการกระชับหน้าด้วยการทำอัลเทอร่าที่ โนรา คลินิก (นามสมมุต) เมื่อปี 2565 แต่ใบหน้าที่ต้องการให้กระชับนั้น กลับกลายเป็นว่าทำให้มีปัญหาหน้าเบี้ยวหลังการทำอัลเทอร่า คุณจอยจึงกลับมาหาแพทย์ที่คลินิกอีกครั้งเพื่อให้ช่วยรักษาอาการผิดปกติ แต่แพทย์ของทางคลินิกปฏิเสธการรักษาเพื่อแก้ไขอาการเพียงแนะนำให้คุณจอยไปซื้อยารักษาอาการเอาเอง โดยคลินิกจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ คุณจอยจึงต้องไปหาแพทย์เพื่อรักษาอาการผิดปกติที่โรงพยาบาลอื่น         ระหว่างการรักษาอาการหน้าเบี้ยวคุณจอยจึงได้รู้เพิ่มเติมว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ใช้แพทย์ที่เชี่ยวชาญอัลเทอร่า ( Ulthera ) โดยเฉพาะเป็นเพียงแพทย์ผิวหนังทั่วไปเท่านั้น จึงได้รับการบริการและการดูแลที่ไม่ดีและยังต้องหาทางรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง คุณจอยเสียเงินรักษาอาการไปแล้วกว่า 32,500 บาท (ก่อนร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ) แต่ทางคลินิกจ่ายเพียงแค่ 7,664 บาท ยังคงเหลือจำนวนที่ทางคลินิกต้องชดใช้คืนให้แก่คุณจอยอีกจำนวน 24,836 บาท ซึ่งคุณจอยยังไม่ได้รับเงินคืนจากคลินิกอีกเลย ทั้งที่คลินิกแจ้งว่าจะรับผิดชอบค่ารักษาทั้งหมดแต่แรก จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 กระแสต่างแดน

ขอที่ปูผ้า        ชาวบ้านบนเกาะพารอส ประเทศกรีซ พากันนุ่งผ้าเช็ดตัวออกมาเรียกร้องการเข้าใช้พื้นที่บนหาดทราย หลังกิจการบาร์ชายหาดรุกพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง จนไม่เหลือที่ให้คนท้องถิ่นมาปูผ้านอนอาบแดดได้โดยไม่ต้องเสียเงิน         กิจการ “ให้เช่าเก้าอี้อาบแดด” กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ใครก็อยากเข้ามาลงทุน เพราะเรียกเก็บค่าเช่าแพงๆ จากนักท่องเที่ยวได้ แค่เตียงผ้าใบสองตัวกับร่มอีกหนึ่งคัน ก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ยูโร (ประมาณ 3,800 บาท) แล้ว         โดยทั่วไปร้านค้าต้องได้รับอนุญาตก่อนจะให้บริการเช่าเตียงและร่มได้ แต่ส่วนใหญ่มักใช้พื้นที่เกินจากที่ขอไว้         “ม็อบผ้าเช็ดตัว” ทำให้เกิดกระแสขอคืนพื้นที่บนชายหาดของเกาะยอดนิยมทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ มีทั้งการเดินประท้วงและการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ         ชายหาดกว่า 16,000 กิโลเมตรของกรีซ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละหลายล้านคนในช่วงวันหยุดฤดูร้อน พกร่มให้หล่อ        ตลาดร่มสำหรับผู้ชายในญี่ปุ่นกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ชายเริ่มหันมาใช้ร่มกันมากขึ้น         ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นบอกว่าปีนี้ยอดขาย “ร่มผู้ชาย” เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า ห้างบอกว่าจากร่มในสต็อก 600 รุ่น มีถึง 80 รุ่น ที่เป็นร่มสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ         ร่มที่ลูกค้าชายชอบคือร่มสีเข้ม เช่น สีดำ กรมท่า และน้ำเงิน เป็นแบบพับได้หลายตอนและมีขนาดเล็กใส่กระเป๋าสะดวก (ในขณะที่ผู้หญิงชอบร่มที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนเพื่อให้เปิด/ปิดได้ง่าย ไม่เกี่ยงขนาด)         สาเหตุที่ผู้ชายนิยมกางร่มมากขึ้นเพราะเหตุผลด้านการดูแลผิว ผู้อยู่เบื้องหลังได้แก่บรรดาบริษัทเครื่องสำอางที่ประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดลูกค้าผู้ชายในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ตลาดเครื่องสำอางผู้ชายของญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30  ตลาดผลิตภัณฑ์กันแดด/แก้ผิวไหม้ ก็โตขึ้นร้อยละ 20 เช่นกัน         ห้างวิเคราะห์ต่อว่าการประชุมออนไลน์มีส่วนทำให้ผู้ชายใส่ใจรูปลักษณ์ตัวเองมากขึ้น เพราะได้เห็นหน้าตัวเองบนจอภาพพร้อมกับหน้าของผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่น   ไม่รับเงินสด         เป็นอีกเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดใจให้ผู้บริโภคเสมอ เมื่อผู้ประกอบการยืนยันว่า “ไม่รับเงินสด” โดยเฉพาะเมื่อเป็นบริการรถสาธารณะ         กฎหมายของเดนมาร์ก จึงกำหนดให้ธุรกิจขนส่งไม่สามารถปฏิเสธเงินสดได้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายว่าด้วยการชำระเงิน ที่กำหนดให้ธุรกิจต้องรับชำระเงินเป็นเงินสด แม้แต่การปฏิเสธ “แบงค์ใหญ่” เพราะไม่มีเงินทอน ก็ใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้         แต่ Midttrafik ผู้ประกอบการรถเมล์สาธารณะในเมืองออฮุส ประเทศเดนมาร์ก กลับยืนยันว่าตั้งแต่พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป เขาจะไม่รับชำระค่าโดยสารเป็นเงินสดแล้ว          เทศบาลเมืองออฮุสแถลงว่าบริษัทไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาผู้โดยสารจะจ่ายค่าโดยสารเป็นเงินสดกับเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติที่ประตูกลางหรือประตูหลังของรถ เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ต้องยกเครื่องเหล่านี้ออกไปทำลาย ช่องทางชำระด้วยเงินสดจึงหมดไปโดยปริยาย อยากระบาย         บริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาที่กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันจัดให้ฟรีสามครั้งสำหรับคนอายุ 15 ถึง 30 ปี ได้รับการตอบรับดีเกินคาด         ผู้อำนวยการกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ กล่าวว่าโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับ “คนไข้” จำนวน 6,000 คน ปัจจุบันมีคนมาจองพบจิตแพทย์ในคลินิกและโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเต็มหมดแล้ว         สาเหตุที่มีโครงการนี้ขึ้นมาก็เพราะ นอกจากภาวะหดหู่และโดดเดี่ยวในช่วงที่มีการระบาดของโควิดที่ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านกับเพื่อนแล้ว คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะจมอยู่กับอินเทอร์เน็ต ขาดทักษะทางสังคมและคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาก็มีสถิติการหย่าร้างสูงขึ้น         กรมฯ มองว่า การตอบรับอย่างท่วมท้นนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะอย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ไม่กลัวที่จะเล่าปัญหาตนเองให้คนอื่นฟัง ต่างกับคนรุ่นก่อนหน้าที่เลือกจะไม่ปรึกษาใครเพราะกลัวเสียภาพพจน์   แก้ขาดทุน         ปีหน้าผู้โดยสารรถไฟในเนเธอร์แลนด์จะต้องจ่าย “ค่าธรรมเนียมชั่วโมงเร่งด่วน” ร้อยละ 7 หลังรัฐบาลอนุมัติแผนแก้ปัญหาการขาดทุนของการรถไฟเนเธอร์แลนด์ (NS) ที่ต้องการนำเงินดังกล่าวมาเฉลี่ยกับรายได้ในช่วงที่มีผู้โดยสารน้อย         รัฐบาลยังเว้นการเรียกเก็บภาษีปีละ 80 ล้านยูโรจากบริษัท และให้เงินช่วยเหลือปีละ 13 ล้านยูโรด้วย ซึ่งกรณีหลังนี้องค์กร Alliance of Passenger Rail New Entrants (ALLRAIL) ออกมาค้านว่าน่าจะผิดกฎสหภาพยุโรป ที่ระบุว่ากิจการแสวงหากำไรที่เลี้ยงตัวเองได้ด้วยค่าโดยสารและรายได้อื่น ไม่สมควรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไป         ที่แน่นอนคือสัญญาการเดินรถระหว่างประเทศของ NS กำลังจะสิ้นสุดลง สหภาพยุโรปกำหนดว่าตั้งแต่ 25 ธันวาคมปีนี้เป็นต้นไป ต้องมีการประมูลรับสัมปทานกิจการรถไฟระหว่างประเทศกันใหม่ ขณะนี้มีผู้ประกอบการจากเยอรมนี อิตาลี รวมถึงบริษัทร่วมทุนเนเธอร์แลนด์/เบลเยียมก็แสดงความสนใจเข้ามาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 268 สิ่งที่ควรรู้ ก่อนศัลยกรรมเพิ่มความสวย

        ปัจจุบันมีคลินิกเสริมความงามเปิดใหม่มากมาย แถมราคาในการผ่าตัดบางคลินิกก็ถูกแสนถูก ล่อตาล่อใจผู้บริโภคกันสุดๆ  แต่ว่าราคาถูกที่ว่านั้น..ถ้าเจอที่ดีก็ถือว่าโชคดีไป เจอไม่ดีก็อาจจะได้หมอเถื่อนมาทำหน้าเราแทน จากหน้าสวยก็จะกลายเป็นหน้าพัง  อย่างกระแสข่าวเรื่องจับหมอปลอมตามคลินิกเสริมความงามก็มีมาให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ เต็มโลกออนไลน์         แม้ว่า ฉลาดซื้อ จะรู้อยู่ว่าหลายคนที่ต้องการศัลยกรรมใบหน้าคงรู้กันอยู่แล้วว่าการทำหัตถการประเภทนี้ค่อนข้างเสี่ยง แต่ถ้าความเสี่ยงที่เราเอาไปแลก มันคือความผิดพลาดจากทางคลินิกที่มักง่าย ไม่ได้มาตรฐานมันก็คงไม่คุ้มเสี่ยงใช่ไหม ดังนั้น ฉลาดซื้อ ก็อยากให้ทุกคนที่กำลังตัดสินใจจะไปทำศัลยกรรม ลองมาพิจารณาข้อมูลที่ควรเช็กกันก่อนเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม เช็กก่อนศัลยกรรมเพื่อความปลอดภัย        ·     อย่างแรกที่ต้องเช็คเลย คือ การตรวจเช็กใบอนุญาตสถานพยาบาล 11 หลัก อันนี้สำหรับตรวจสอบว่าคลินิกที่ให้บริการเป็นคลินิกเถื่อนหรือไม่ ซึ่งก่อนเข้ารับบริการควรสังเกตว่ามีติดไว้หน้าคลินิกเพื่อให้ผู้ที่เข้ารับบริการนั้น สามารถตรวจเช็กได้อย่างสะดวก เช็กได้ที่ https://hosp.hss.moph.go.th/ หรือ http://privatehospital.hss.moph.go.th         ·     ตรวจสอบใบประกอบวิชาชีพแพทย์ โดยต้องมีติดอยู่หน้าที่เข้าบริการอย่างชัดเจน  ต้องมีภาพถ่ายของแพทย์ ชื่อ-นามสกุล  สาขาและเลขที่ใบอนุญาตของผู้ให้บริการ และสามารถ                นำไปเช็กได้ที่ https://checkmd.tmc.or.th/ หรือโทรสอบถามแพทย์สภาโดยตรง        ·     ทำการเช็กภาพถ่ายที่ติดอยู่หน้าห้องกับผู้ที่ทำหัตถการให้ว่าเป็นคนเดียวกันหรือไม่ หากไม่ใช่ ให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำหัตถการด้วย ไม่ต้องเกรงใจคลินิกเพราะเราต้องปลอดภัยไว้ก่อน        ·     เวลาเข้าคลินิกเพื่อทำศัลยกรรมต่างๆ อีกเรื่องที่ต้องระวัง คือ อุปกรณ์ ยา ซิลิโคน ฟิลเลอร์หรือโบท็อกซ์ ซึ่งต้องมี อย. รับรอง ยกตัวอย่าง คลินิกถูกกฎหมายส่วนมาก เมื่อทำหัตถการจะเปิดตัวยาให้เราดูอย่างชัดเจนก่อนเริ่มฉีด เมื่อเสร็จก็จะให้กล่องตัวยากลับบ้าน ซึ่งเราควรจะเลือกคลินิกที่เมื่อเราเข้ารับบริการนั้น ทางคลินิกสามารถเปิดข้อมูลตัวยาที่จะฉีดให้เราดูได้อย่างชัดเจน ไม่ปกปิดข้อมูล        ·     หากทำหัตถการที่จะต้องวางยาสลบ  คลินิกควรต้องมีวิสัญญีแพทย์อันนี้สำคัญ เผื่อกรณีคนไข้มีอาการแพ้ยาสลบ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ทั้งนี้ ควรมีเครื่องมือและอุปกรณ์รองรับในกรณีฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัย        ·     การรับผิดชอบของคลินิกกรณีหากเราเกิดความเสียหายต่อการรักษาของแพทย์ในคลินิก จะมีแนวทางในการชดเชยเยียวยาอย่างไร        ·     คลินิกสะอาดมีสุขอนามัยอนามัยหรือไม่  และก่อนเข้าบริการควรไปสำรวจที่ตั้งของคลินิกที่ต้องการเข้ารับบริการก่อนว่ามีอยู่จริง         ทั้งนี้  เราควรที่จะต้องสอบถามแพทย์เพื่อให้ตรวจเช็กความพร้อมของร่างกายเราด้วย และตัวเราเองควรบอกข้อมูลกับแพทย์ให้ครบถ้วน เช่น แพ้ยาอะไร มีโรคประจำตัวอะไร พร้อมกับสอบถามรายละเอียดให้ชัดเจน พยายามอย่าเชื่อรีวิวโฆษณาในโลกออนไลน์หรือโปรโมชันราคาถูกจนเกินไป         อีกเรื่องที่ต้องเตือนคือ หมอกระเป๋า แน่นอนว่าไม่มีความปลอดภัย ผู้บริโภคบางคนอาจจะคิดว่าฟิลเลอร์แท้ โบท๊อกซ์แท้ฉีดยังไงก็คงไม่เป็นไร แต่จริงๆ มีความเสี่ยงมาก เพราะใบหน้าของเรามีทั้งเส้นเลือด เส้นประสาทมากมาย  ดังนั้นการทำหัตถการควรต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น        นอกจากนี้ หากผู้บริโภคพบเจอสถานประกอบพยาบาลเถื่อนเบื้องต้นสามารถร้องเรียนได้ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สายด่วน 1426 หรือ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ โทรศัพท์ 02 5918844  ข้อมูลจาก  https://www.hfocus.org/content/2021/10/23328https://ffcthailand.org/case/65https://www.springnews.co.th/blogs/spring-life/819276

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 คลินิกเสริมความงามแอบรูดบัตรเครดิตเกินราคา

        คลินิกเสริมความงามหลายแห่งมักจัดโปรโมชันพิเศษราคาถูก เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านให้ได้ก่อน หลังจากนั้นพนักงานขายจะพยายามโน้มน้าวชักชวนให้ลูกค้าซื้อคอร์สต่อเนื่องในราคาที่แพงกว่าหลายเท่า ผู้บริโภคจึงต้องดูเงื่อนไขและราคาให้รอบคอบจะได้ไม่เจอปัญหาเหมือนอย่างคุณนารี         วันหนึ่งขณะที่คุณนารีนั่งเล่นเฟซบุ๊กอยู่ ก็มีโฆษณาของคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง เด้งขึ้นมานำเสนอคอร์สกำจัดขนใต้รักแร้ในราคาโปรโมชั่นพิเศษ เธอจึงสนใจและตัดสินใจเดินทางไปที่คลินิกที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าใหญ่แถวลาดพร้าว หลังจากโอนเงิน 1,990 บาท ชำระตามเงื่อนไขโปรโมชั่นแล้วก็นั่งรอคิวรับบริการ ระหว่างนั้นมีพนักงานขาย 2 คนเข้ามาแนะนำว่าโปรโมชั่นนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา และเสนอขายคอร์สที่ราคาสูงกว่าคือ 23,000 บาท ลดเหลือ 15,000 บาท (ทั้งหมด 12 ครั้ง ไม่มีวันหมดอายุ แถมคอร์ส Cooling Cell ฟรี 1 ครั้ง) แต่เธอปฏิเสธไป         หลังจากนั้น ขณะที่พนักงานกำลังเลเซอร์ขนใต้รักแร้ให้คุณนารีอยู่ พนักงานขายคนเดิมก็เข้ามาขายคอร์สอีกรอบ และจงใจให้พนักงานหยุดให้บริการจนกว่าเธอจะตอบตกลง โดยเสนอคอร์สเดิมในราคาใหม่ที่ 10,000 บาท เธอคำนวณดูแล้วก็คิดว่าคุ้ม จึงตอบตกลง แล้วหยิบบัตรเครดิตส่งให้พนักงานขายไป เพื่อชำระเงินส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 8,010 บาท (ก็ตอนนั้นกำลังทำเลเซอร์อยู่) เมื่อรับบริการเสร็จแล้ว วันนั้นเธอก็กลับบ้านพร้อมกับใบเสร็จรับเงิน 10,000 บาท โดยไม่ได้เอะใจอะไร         ผ่านไป 2 วัน คุณนารีเพิ่งมาเช็คยอดเงินที่จ่ายไป ถึงได้รู้ว่าพนักงานรูดเงินไป 10,000 บาท ซึ่งเกินราคาที่ตกลงซื้อไว้ เธอจึงได้ติดต่อขอเงินส่วนที่จ่ายเกินไป 1,990 บาทคืน แต่ทางคลินิกปฏิเสธในครั้งแรก และแจ้งภายหลังว่าขอพิจารณาโดยไม่ได้กำหนดวันที่แน่ชัด ทำให้เธอไม่อยากจะใช้บริการคลินิกนี้อีกแล้ว จึงยืนยันขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน 10,000 บาท แต่ทางบริษัทไม่ยอมคืนเงินให้ โดยอ้างว่าได้ไลน์ไปแล้ว แต่เธอไม่ได้ทักท้วงในตอนนั้นจึงถือว่ายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น คุณนารีเห็นว่าข้ออ้างของทางคลินิกไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงโทรศัพท์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ คุณนารีสามารถขอยกเลิกบริการได้ภายในระยะเวลา 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับบริการ โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้         1.นำเรื่องไปบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานทีตำรวจในท้องที่         2.ทำหนังสือบอกยกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน (ส่งภายใน 45 วันนับตั้งแต่ทำสัญญา) โดยทำเป็นไปรษณีย์ตอบรับ สำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         3.ทำจดหมายถึงธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้ทำเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับเช่นเดียวกัน และสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         4.ถ้ามีข้อความกำหนดไว้ว่า ไม่สามารถยกเลิกได้ ถือว่าข้อความในสัญญานั้นไม่เป็นธรรม        5. ถ้าทางคลินิกไม่ยกเลิกให้ตามที่ผู้ร้องทำหนังสือไป ผู้ร้องสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาลหรือค่าขึ้นศาลแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 หนุ่มกรุงเก่าเตือนภัย ฉีดยาลดพุงกลับได้แผลลึก คลินิกดังไม่รับผิดชอบ ลุยทวงความยุติธรรมให้ถึงที่สุด

        “ความตั้งใจของผมคือ อยากให้มีความเท่าเทียมกัน ในขณะที่บุคคลทั่วไปเป็นคู่กรณีต่อสู้คดีกับนายทุน ไม่ใช่ว่านายทุนจะทำอะไรก็ได้ ปฏิเสธหมด เพราะเขามั่นใจว่าเราไม่สามารถจะทำอะไรเขาได้อยู่แล้ว ถ้าสมมติว่าผู้บริโภคอย่างเราไม่ต่อสู้จริง ๆ ผมว่าเรื่องนี้ก็จะพิสูจน์ความเป็นธรรมยากเลย”         “เราไม่ควรใช้วิธีทางลัดในการลดน้ำหนัก”         นี่เป็นบทเรียนสอนใจที่ได้จากประสบการณ์หลอนของคุณพงษ์พัฒน์ ลอมคุณารักษ์ เมื่อครั้งที่เขาไปฉีดยาสลายไขมันลดพุงแล้วต้องเจ็บทั้งตัวเจ็บทั้งใจ เพราะไปหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริงของคลินิกเสริมความงามชื่อดัง จนกระทั่งวันนี้เขาตัดสินใจลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง         คุณพงษ์พัฒน์ได้เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ว่า         “ช่วงนั้นผมน้ำหนักเยอะมาก ประมาณ 97 กิโลฯ คืออึดอัด ไม่ไหวแล้ว ปกติน้ำหนักผมจะอยู่ประมาณ 80 – 85 กิโลฯ เริ่มรู้สึกไม่คล่องตัว ตอนแรกก็กังวลว่าอาจจะถึง 100 กิโลฯ ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ค่อยได้กินอะไรมาก พอดีไปเห็นโฆษณาฉีดสลายไขมันของคลินิกชื่อดังที่พิษณุโลก ผมก็เดินทางจากสุโขทัยไปเลย” ตัดสินใจวันนั้นเลยว่าจะฉีดสลายไขมันที่หน้าท้อง         ใช่ ก่อนจะไปผมก็แชตไปสอบถามและปรึกษากับทางคลินิกนี้ ตามช่องทางที่เขามีโฆษณาทางไลน์และเฟซบุ๊ก แล้วก็ตามดูรีวิว เขาก็ว่าปลอดภัย ว่าสารที่ฉีดเข้าไปไม่มีอันตราย ไม่ตกค้าง สามารถขับออกทางปัสสาวะและทางเหงื่อเองได้ พอไปถึงคลินิก ผมก็สอบถามข้อมูลเบื้องต้นว่าตัวยาเป็นอย่างไร ซึ่งทางคลินิกเขาก็บอกว่าไม่มีอันตราย แล้วก็ไม่มีผลข้างเคียง ไม่มีการเจ็บปวด หรือว่าต้องพักฟื้นอะไร คือเขาก็เหมือนโน้มน้าวให้ผมเกิดความมั่นใจ แล้วคลินิกเขาก็ใหญ่ มีหลายสาขาด้วย เขาก็บอกว่าถ้าจองภายในวันนั้นเลย ก็จะได้ส่วนลด ในราคา 3,900 บาท จากราคาเต็มประมาณ 5,900 บาท จ่ายเงินแล้วทำได้เลย         ผมก็ตกลง เขาให้เซ็นเอกสารที่จะมีระบุคล้ายๆ ว่าถ้าเกิดมีความเสียหายหรือผลข้างเคียง คือยินยอมให้คลินิกเป็นผู้รักษา ซึ่งผมไม่ได้ถ่ายรูปเก็บไว้ เพราะตอนนั้นไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร         วันนั้นแพทย์ที่ประจำคลินิกเป็นคนฉีดยาสลายไขมันให้ผม ฉีดบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่เขาตีตารางไว้ก่อนแล้ว ผมซื้อโปรฯ แบบบุฟเฟต์ คือฉีดซ้ำๆ แบบไม่จำกัดซีซีเลย หมอหยิบเข็มมาแล้วก็จิ้มๆ ๆ เยอะมาก ไวมาก น่าจะ 2 - 3 นาทีเอง พอฉีดเสร็จ ผมเห็นรอยเข็มเต็มหน้าท้องไปหมดเลย แล้วสังเกตว่ามีรอยช้ำขนาดใหญ่อยู่จุดหนึ่ง ซึ่งหมอก็บอกว่ารอยช้ำนี้จะหายภายใน 3 - 4 สัปดาห์ แล้วก็ให้ผมกลับบ้านได้ ตั้งใจไปลดพุง แต่กลับได้แผลลึก         ช่วงแรกๆ  ทางคลินิกก็โทรศัพท์มาติดตามอาการและชวนให้ไปทำต่อ เขาบอกว่าถ้าอยากให้เห็นผลดียิ่งขึ้นต้องฉีดทุกอาทิตย์ แล้วทุกครั้งที่ฉีดก็ต้องจ่ายเท่าเดิม แต่ผมก็บอกว่าอยากรอให้รอยช้ำหายก่อน         ผ่านไปประมาณ 4 เดือน ในวันที่ 1 ตุลาคม  ผมก็ติดต่อไปที่คลินิกทางไลน์ ส่งรูปให้ดูว่ารอยช้ำยังไม่หายและเหมือนจะแดงขึ้นด้วย แล้วเขาก็นัดให้ไปที่คลินิกในช่วงบ่ายวันนั้นเลย คุณหมอมาตรวจแล้วก็ให้ขึ้นนอนเตียง ใช้เข็มดูดตรงรอยช้ำที่เหมือนจะมีก้อนๆ ตรงหน้าท้อง ตอนนี้ผมไม่เห็น แต่ผมได้ยินว่าหมอน่าจะโทรศัพท์ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสักคน พอวางสาย หมอก็มาบอกขอกรีดนะ หลังจากฉีดยาชาแล้วหมอก็กรีดบริเวณหน้าท้องประมาณ 1-2 เซนติเมตร เหมือนเอาอะไรบางอย่างออกมา ทางคลินิกถ่ายวิดีโอไว้ จากนั้นหมอก็ยัดก็อซเดรนเข้าไปในรูหน้าท้อง แล้วก็ปิดแผลไว้ ผมถามว่าผมเป็นอะไร หมอบอกว่าเป็นหนอง ผมถามว่าเป็นได้ยังไง หมอก็ไม่บอก พูดแต่ว่าคลินิกจะรับผิดชอบทุกอย่าง ไม่ต้องกลัว สบายใจได้ ตอนหลังคลินิกบอกปัดความรับผิดชอบ         ตอนแรกผมก็งงนะ เพราะวันนั้นหมอบอกว่าต้องมาล้างแผลทุกวัน แต่ผมอยู่สุโขทัยก็บอกไปว่าไม่สะดวก หมอก็บอกว่าให้ล้างแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือมานอนโรงพยาบาลเอกชนที่พิษณุโลกก็ได้ ทางคลินิกจะออกค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งผมขอกลับบ้านมาปรึกษากับครอบครัวก่อน         วันที่ 2 ตุลาคม ตอนนั้นโรงพยาบาลสุโขทัยน้ำท่วม ผมก็เลยไปหาหมอที่คลินิกแห่งหนึ่งซึ่งมีใบอนุญาตถูกต้อง แล้วผมแจ้งค่าใช้จ่ายตามจริงไป 1,300 บาท คือ 800 เป็นค่ายา ฉีดยา ล้างแผล แล้วก็ค่าวินิจฉัยโดยอัลตราซาวด์ที่หน้าท้องพบว่าเกิดการอักเสบในชั้นไขมัน ส่วนอีก 500 บาทเป็นค่าน้ำมันรถ เขาก็รับผิดชอบโอนมาให้ทั้งหมด และย้ำว่าพรุ่งนี้ให้ไปล้างแผลอีก แล้วจะขอติดตามอาการด้วย         ผมเห็นเขารับผิดชอบจริง ผมก็คุยกับที่บ้านว่าน่าจะไปนอนโรงพยาบาลตามที่คลินิกแนะนำ แต่ยังไม่ทันได้แจ้งไปเลย วันรุ่งขึ้นเขาก็โทรศัพท์มาบอกว่าเขาไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการกระทำของคลินิก ให้ผมไปรักษาตัวเอง เขาจะไม่รับผิดชอบอะไรอีกแล้ว ตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้คิดอะไร ขอรักษาตัวให้หายก่อน ไปแจ้งความแต่กลับโดนคลินิกข่มขู่กลับ         ผมปรึกษาทางแพทยสภาก่อน ฝ่ายจริยธรรมและฝ่ายกฎหมายเขาก็แนะนำให้ผมไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก หลังจากที่ผมไปแจ้งแล้วทางเจ้าหน้าที่ก็ไปตรวจสอบ เบื้องต้นก็พบว่ามีความบกพร่องและถูกเปรียบเทียบปรับเกี่ยวกับเรื่องการโฆษณาเกินจริงไปแล้ว จากนี้ก็จะดำเนินคดีในส่วนของมาตรฐานการรักษาต่อไป ซึ่งในรายละเอียดของคดีตรงนี้ผมไม่แน่ใจ แต่ทางสสจ.พิษณุโลกส่งใบแจ้งผลมาให้ผมว่าได้ดำเนินการตรวจสอบพบว่ามีความผิดจริง         ผมปรึกษาทางสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้วย เขาแนะนำมาว่าให้สาธารณสุขทำเป็นใบความเห็นออกมา แล้วก็แจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี ให้ตำรวจส่งฟ้อง แล้วอัยการเขาจะดำเนินการให้ พอผมรักษาตัวประมาณ  21 วัน แผลเริ่มแห้ง ผมก็ไปแจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินคดีทางคลินิกในข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผมได้รับอันตรายสาหัส         วันที่ตำรวจนัดมาคุย คลินิกเขาก็ส่งทนายความมา ก็ปฏิเสธเหมือนเดิมว่าไม่ใช่ความผิดจากเขา แถมยังข่มขู่อีกว่าให้ผมยอมความ ถ้าไม่ยอมความ เขาก็จะดำเนินคดีกลับ เขาพูดทำนองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นคล้ายกับเป็นโชคร้ายของผมเอง ให้ผมยอมรับสภาพความเจ็บปวดหรือสิ่งที่สูญเสียไปนี้เอง แล้วให้จบกันไป ไม่มีเรื่องราวต่อกัน คือผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรม แล้วหลังจากนั้นทางคลินิกก็ไม่ได้ติดต่อกลับมาอีกเลย ตอนนี้ความคืบหน้าทางคดีเป็นยังไงบ้าง         ผมไปแจ้งความที่ สภอ.เมืองพิษณุโลก ที่คลินิกตั้งอยู่ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2564 ทางตำรวจได้ตรวจสอบพยานหลักฐานและสอบพยานที่อยู่ในเหตุการณ์แล้ว เขาบอกว่าต้องรอผลจากแพทยสภา โดยไม่ได้บอกระยะเวลา ผมก็โทรไปปรึกษาทางแพทยสภา เขาก็บอกว่าจริงๆ เรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของตำรวจที่สามารถจะดำเนินคดีได้เลย เพราะแพทยสภาก็ได้รับเรื่องนี้ไว้สอบเรื่องจริยธรรมของแพทย์แล้ว         ผ่านมาหลายเดือนเรื่องยังไม่คืบ ผมก็เลยไปปรึกษาที่ตำรวจจังหวัดพิษณุโลก เขาก็แนะนำว่าถ้าเรื่องช้าก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้สอบพนักงานสอบสวนได้ แต่ผมไม่มีเจตนาแบบนั้นอยู่แล้ว แค่อยากหาทางออกว่าจะทำยังไงต่อไปดี หลังจากนั้นทางตำรวจก็ส่งเอกสารกลับมาแจ้งว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว และทางร้อยเวรก็โทร.มารับปากว่าเขาจะดำเนินการให้ แต่อีกใจก็กลัวว่าเรื่องจะไม่ไปถึงไหน เพราะเหมือนมาหยุดอยู่ที่รอแพทยสภา เรื่องไม่ไปถึงชั้นอัยการ ซึ่งจะส่งฟ้องหรือไม่ส่งฟ้อง ไม่อยากปล่อยผ่านผมร้องเรียนทุกหน่วยงาน         ตอนแรกผมก็ลองสอบถามพี่ที่รู้จักและเสิร์ชในกูเกิลว่ามีหน่วยงานไหนที่จะให้ความเป็นธรรมแล้วก็ช่วยเหลือผมได้บ้าง ผมก็ไปปรึกษาศูนย์ดำรงธรรม สคบ. สำนักอัยการคุ้มครองสิทธิ  สำนักงานยุติธรรมจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด แพทยสภา และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทุกหน่วยงานก็รับเรื่องไว้และให้คำแนะนำตลอดเลยครับ แล้วผมก็ยังหาข้อมูลทางอินเทอร์เนตเอาไว้ เพื่ออยากให้เรื่องนี้เกิดความเป็นธรรม แล้วก็เกิดการพิสูจน์หาความจริงมากที่สุด ผมไม่อยากปล่อยผ่านเรื่องนี้ไป ไม่อยากให้เกิดกับคนอื่นอีก         ผมไปร้องเรียนในเพจเฟซบุ๊กของพิษณุโลก และออกข่าวช่อง PPTV 36 ด้วย จนมีคนทักมาส่วนตัวสอบถามว่าผมไปทำมาจากที่ไหน เขากลัวว่าถ้าไปทำแล้วจะเป็นแบบผม เพราะตอนนี้คลินิกก็ยังเปิดปกติ แล้วก็ยังมีโปรโมชันฉีดสลายไขมันแบบนี้อยู่ด้วย แผลนี้มีผลกระทบกับชีวิตยังไงบ้าง         ตอนนี้แผลแห้งแล้วมีรอยแผลเป็น หมอก็บอกไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่เหมือนเป็นปมอยู่ในใจผมตลอด เพราะช่วง 1 เดือนที่ต้องไปรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลสุโขทัย ผมรู้สึกแย่มาก เพราะมันเป็นแผลเปิด พอขยับตัวมาก พวกน้ำเลือดน้ำหนองก็จะซึมออกมาเปื้อนผ้าที่ปิดไว้ ผมกลายเป็นคนวิตกกังวล ทำงานอะไรไม่ได้เลย ไม่อยากให้ใครเข้าใกล้ เพราะจะเจ็บมาก อาบน้ำก็ไม่ได้ นอนหงายก็ไม่ได้ ผมเครียดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับเลย ซึ่งค่าความเจ็บปวดและความทรมานที่ผมได้รับนี้ตีเป็นราคาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ         ผมตั้งใจจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด อยากจะให้เรื่องนี้ตีแผ่เพื่อเตือนและเป็นอุทาหรณ์ให้กับทั้งคนที่จะไปฉีดและคลินิกด้วย อยากให้เป็นกรณีศึกษาแก่สถานประกอบการที่เปิดบริการแบบนี้ ว่าน่าจะมีมาตรการออกมาดูแล ติดตามผลและรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยของคนที่จะไปฉีดด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้เสียหายมารับชะตากรรมเองแบบนี้ ซึ่งผมว่ามันไม่ถูกเลย         เมื่อเรื่องนี้เป็นข่าวออกไป ทางแพทยสภาก็แจ้งว่าเมื่อวันที่ 1 เมษาที่ผ่านมา ได้นำเรื่องนี้มาเป็นวาระเร่งด่วน ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวนแพทย์ที่ทำการฉีด ในเรื่องจริยธรรม เพราะเบื้องต้นเขาก็มีความเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะมีมูล ก็ให้แพทย์มาชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าผิดจริงตามที่ยื่นฟ้องไป ก็อาจจะต้องลงโทษ แล้วก็มีมาตรการออกมาป้องกัน เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาอีก         “ความตั้งใจของผมคือ อยากให้มีความเท่าเทียมกัน ในขณะที่บุคคลทั่วไปเป็นคู่กรณีต่อสู้คดีกับนายทุน ไม่ใช่ว่านายทุนจะทำอะไรก็ได้ ปฏิเสธหมด เพราะเขามั่นใจว่าเราไม่สามารถจะทำอะไรเขาได้อยู่แล้ว ถ้าสมมติว่าผู้บริโภคอย่างเราไม่ต่อสู้จริง ๆ ผมว่าเรื่องนี้ก็จะพิสูจน์ความเป็นธรรมยากเลย” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 สาวหลงซื้อคอร์สความงาม เกือบสูญเงินแสน

        หลายปีมานี้ มีคำเตือนสำหรับคุณผู้หญิงที่ใจอ่อนและขี้เกรงใจว่า อย่าเดินห้างสรรพสินค้าเพียงลำพัง ระวังอาจหลงคารมโน้มน้าวของพนักงานจากสถานเสริมความงามต่างๆ ที่มักแข่งกันงัดกลเม็ดเด็ดพรายมาละลายใจให้คุณๆ ยอมเซ็นสัญญาจ่ายซื้อคอร์สเสริมความงามราคาแพงลิ่ว         เช่นเดียวกับคุณเอมมี่ ที่วันหนึ่งขณะเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้าย่านบางกะปิเพลินๆ ก็มีหญิงสาวหน้าใสในชุดยูนิฟอร์มของคลินิกเสริมความงามมีชื่อแห่งหนึ่งเดินมาดักหน้า พร้อมเผยยิ้มกว้างและเอ่ยเสียงหวานไพเราะ          “ขอโทษนะคะ ขอรวบกวนเวลาแป๊บนึง วันนี้คลินิกเรามีบริการคอร์สทดลอง เชิญเลยนะคะ” คุณเอมมี่เคยได้ยินชื่อเสียงของคลินิกแห่งนี้ก็เลยเผลอคิดว่า ทดลองใช้ดูก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงตามพนักงานไปทดลองคอร์สดังกล่าว         หลังจากคุณเอมมี่ใช้บริการทดลองในร้านแล้ว พนักงานก็กุลีกุจอเข้ามาแนะนำให้เธอซื้อคอร์ส VIP ในราคา 100,000 บาท ซึ่งมีข้อเสนอเด็ดคือสามารถแบ่งจ่ายได้ เริ่มต้นเป็นเงินสด 35,000 บาท และจ่ายผ่านบัตรเครดิต 65,000 บาท ยังไม่ทันได้คิดละเอียดอะไรเพราะพนักงานพูดเก่งมาก และมีการขอดูบัตรเครดิตของเธอเพื่อจะดูว่าเธอจะได้สิทธิพิเศษอะไรอีกบ้างเพราะทางคลินิกทำโปรโมชั่นไว้กับหลายธนาคาร จนเมื่อเธอหยิบบัตรเครดิตส่งให้ พนักงานก็คว้าหมับไป และหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมคืนบัตรเครดิตให้เธอ         พอถูกรุกหนักเข้า คุณเอมมี่เริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล ในระหว่างนั้นก็มีพนักงานชายพยายามมาทำให้เธอรู้สึกถูกคุกคามทางเพศด้วย จึงยิ่งไม่พอใจอย่างมาก  ต่อมาภายหลังเมื่ออ่านรายละเอียดในสัญญาก็พบว่าเงื่อนไขในนั้นไม่เป็นไปตามที่เสนอขายไว้เลย เธอจึงอยากจะยกเลิกสัญญา  เพราะยังไม่ได้ใช้บริการ  จึงร้องเรียนมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอให้ช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอทราบรายละเอียดทราบว่า คุณเอมมี่เองกำลังเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนจากคลินิกเสริมความงามคู่กรณีอยู่ ซึ่งภายหลังคุณเอมมี่แจ้งว่าทางคลินิกยอมยกเลิกสัญญาและจ่ายเงินค่าสมัครคืนให้ทั้งหมดแล้ว เรื่องนี้ก็จบแบบไม่เสียแรงเกินไป         อย่างไรก็ตาม มีหลายเคสในลักษณะคล้ายกันนี้ที่ไม่ได้จบง่าย บางรายต้องเสียเงินฟรี บางรายเสียเวลาไปฟ้องร้อง แต่ที่แน่ๆ คือทุกคนต่างเสียความรู้สึก ดังนั้นการป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์เช่นนี้ คือ หากพบการเสนอขายแบบคะยั้นคะยอให้คล้อยตาม ผู้บริโภคต้องใจแข็ง พิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนการตัดสินใจทำสัญญา และอย่ายื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปง่ายๆ จนกว่าจะตัดสินใจดีแล้ว สอบถามรายละเอียดพร้อมอ่านสัญญาให้รอบคอบ พิจารณาว่าสัญญาครอบคลุมทั้งเรื่องการขอยกเลิกหากไม่พอใจหรือไม่ เหตุแห่งการยกเลิกมีอะไรบ้าง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติหากเกิดความเสียหายจากการเข้ารับบริการ  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การทำสัญญานี้จะไม่ผิดพลาดจนต้องมายุ่งยากในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ไหนบอก.. ดูดไขมัน ทำแล้วไม่เจ็บ

        บ่ายวันหนึ่งระหว่างที่คุณสุปราณีเดินเล่นอยู่ในห้างสรรพสินค้ามีพนักงานสาวสวยหน้าคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งตรงดิ่งเข้ามาหา พร้อมกับเสนอโปรโมชันพิเศษคอร์สเสริมความงาม ดูดไขมัน ลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน แบบที่คุณสุปราณีก็ไม่ทันตั้งตัว เมื่อคุณสุปราณีได้ฟังข้อมูลจากพนักงานขายก็เริ่มเกิดความสนใจ และได้เข้าไปพูดคุยสอบถามรายละเอียดขั้นตอนและราคากับทางคลินิก         หลังจากพูดคุยตกลงความต้องการกันเสร็จเรียบร้อย ทางคลินิกได้แจ้งกับคุณสุปราณีว่า จะให้บริการดูดไขมันในครั้งแรกทั้งหมด 7 จุด ที่บริเวณหน้าท้องและใต้คอ รวมค่าใช้จ่าย 100,000 บาท และยังได้ให้คำแนะนำคุณสุปราณีว่า การดูดไขมันนั้นไม่เจ็บมาก โดยจะทำการฉีดยาชาให้ก่อน และรูที่ดูดไขมันนั้นก็เล็กเท่าปลายปากกา         เมื่อถึงวันนัดเข้ารับบริการครั้งแรก คุณสุปราณีไปคลินิกด้วยความตื่นเต้นเพราะไม่เคยเข้าคอร์สดูดไขมันมาก่อนในชีวิต โดยหลังจากคลินิกได้ทำการดูดไขมันให้ คุณสุปราณีรู้สึกว่าเจ็บมาก ไม่ใช่เจ็บนิดเดียวอย่างที่คลินิกบอก และทางคลินิกก็ทำการดูดไขมันบริเวณหน้าท้องไม่ครบทุกจุดตามที่ตกลงกันไว้ และรูที่ดูดก็ไม่ได้เล็กเท่าปลายปากกา แต่ใหญ่กว่ามาก หลังจากที่กลับมาสำรวจรูปร่างของตัวเองก็พบว่าหน้าท้องไม่ได้ยุบลงจากเดิมเลยคุณสุปราณีรู้สึกผิดหวังกับทางคลินิกที่ให้บริการไม่ตรงกับที่บอกไว้ จึงอยากขอเงินอีกครึ่งหนึ่งคืน และไม่ต้องการกลับไปใช้บริการคอร์สดูดไขมันอีกแล้วเพราะรู้สึกเจ็บมาก แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณสุปราณีสามารถบอกเลิกสัญญากับทางคลินิกได้ เพราะคลินิกไม่ได้ให้บริการดูดไขมันให้ครบทุกจุดตามที่ตกลงกันไว้ ถือว่าผิดสัญญา  และยังชี้ชวนว่า การดูดไขมันไม่เจ็บ ถือเป็นการชวนเชื่อให้เข้าใจผิด คุณสุปราณีต้องแจ้งต่อคลินิก เป็นลายลักษณ์อักษร โดยส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนแบบตอบรับไว้เป็นหลักฐาน หากคลินิกไม่ยอมคืนเงิน คุณสุปราณีก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้         ทั้งนี้ การใช้บริการคอร์สเสริมความงามเช่นการดูดไขมันนี้ อาจทำให้ร่างกายเกิดบาดเจ็บหรือได้รับอันตรายได้หากผู้ให้บริการขาดความเชี่ยวชาญ ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจใช้บริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 รับประกันหนึ่งเดือนแต่ทำไมต้องเสียค่ารักษาเพิ่ม

        การรับประกันต้องอ่านข้อกำหนดหรือข้อสัญญาให้ดี และสอบถามถึงเงื่อนไขที่ไม่อยู่ภายใต้การรับประกันให้แน่ใจก่อน มิเช่นนั้นก็อาจต้องปวดหัวเสียเวลา เหมือนที่คุณประคองเซลล์แมนผู้มีปัญหาฟันห่างประสบมา         อาชีพเซลล์แมนจำเป็นต้องมีบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือ ปัญหาฟันหน้าห่างจึงเป็นสิ่งที่คุณประคองรู้สึกเป็นปมด้อยของตนเองมาตลอด เวลาพบลูกค้าจะขาดความมั่นใจ เขาจึงปรึกษากับคลินิกทันตกรรมแห่งหนึ่ง ขอเรียกว่าคลินิกพี เรื่องการรักษาฟันห่าง ซึ่งทันตแพทย์แนะนำหลายวิธีตามหลักการรักษา วิธีซึ่งง่ายและไม่กระทบกับงานของคุณประคอง ผู้ไม่ค่อยมีเวลาว่างมาก คือการใช้วัสดุอุดฟันปิดเติมฟันหรืออุดปิดช่องว่างระหว่างฟัน การรักษาวิธีนี้ทางคลินิกรับประกันผลหนึ่งเดือน         แต่ก็เหมือนโดนแกล้ง เพียงหกวันหลังการรักษาฟัน วัสดุที่อุดช่องว่างระหว่างฟันเกิดแตกร้าว คุณประคองจึงต้องกลับไปคลินิกพีอีกครั้งเพื่อให้ทันตแพทย์แก้ไข ต่อมาเช้าวันรุ่งขึ้น วัสดุที่ซ่อมก็เกิดหลุดออกมาอีกจึงต้องกลับไปคลินิกอีกครั้ง         ทันตแพทย์ระบุว่าต้องรื้อทำใหม่ และต้องเสริมด้วยการทำรีเทนเนอร์ครอบฟันไว้เพื่อไม่ให้เกิดการแตกร้าวอีก ซึ่งต้องชำระเงินเพิ่มเป็นค่ารีเทนเนอร์ 5,000 บาท คุณประคองต้องการให้การรักษาเป็นไปด้วยดี จึงจ่ายชำระเงินส่วนนี้เพิ่มไป แต่ยังไม่ได้ทำรีเทนเนอร์ในวันนั้นเพราะต้องมีการสั่งทำเฉพาะ ทันตแพทย์จึงแก้ไขบางส่วนให้ก่อน เมื่อกลับถึงบ้านปัญหายังคงเกิดขึ้นอีกครั้งในวันถัดมา เมื่อเขาติดต่อทางโทรศัพท์กับทางคลินิก เขาได้รับการนัดหมายให้มาพบทันตแพทย์ในอีกสองวัน แต่เมื่อมาตามนัด ได้พบทันตแพทย์คนใหม่ ซึ่งบอกเขาว่า ค่ารีเทนเนอร์คือ 8,000 บาท ไม่ใช่ 5,000 ตามที่ทันตแพทย์คนเดิมแจ้งไว้        “ผมรู้สึกไม่ชอบที่พนักงานบอกข้อมูลไม่หมด ไม่บอกผมว่าถ้าเป็นทันตแพทย์คนใหม่ต้องเสียเงินเพิ่มอีกถึงสามพันบาท แล้วการแตกของฟันก็ควรอยู่ในเงื่อนไขประกันที่ทางคลินิกระบุคือหนึ่งเดือน พอผมต่อว่าไป พนักงานบอกว่า ขอโทษที่ลืมแจ้งแต่หากจะทำในราคาที่จ่ายไป 5,000 บาท ต้องรอคิวคุณหมอท่านเดิม คือรออีกถึง 6 วัน ผมเป็นเซลล์ต้องพบเจอลูกค้าตลอด จะให้ฟันบิ่นๆ ไปถึง 6 วัน จะไหวเหรอ”        คุณประคองจึงย้ายไปรักษาที่คลินิกแห่งใหม่ และจ่ายค่าทำฟันไป 3,000 บาท เขาต้องการให้คลินิกพีเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาตรงนี้ จึงปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าสามารถทำได้หรือไม่ หรือควรดำเนินการอย่างไรต่อไป    แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องปรึกษาของคุณประคองนั้นทราบต่อมาว่า ทางคลินิกได้ให้ตัวแทนนำเช็คจำนวนเงิน 5,000 บาทมามอบให้ ซึ่งก็คือเงินค่ารีเทนเนอร์ที่คุณประคองโอนให้แก่คลินิก แต่ไม่ยินดีชดเชยในกรณีที่คุณประคองต้องไปรักษาที่คลินิกอีกแห่ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงเชิญทั้งสองฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ย         ทางตัวแทนคลินิกยังยืนยันการคืนเงิน 5,000 บาทให้เท่านั้น แต่รับปากจะนำเรื่องไปเสนอผู้บริหาร ซึ่งภายหลังแจ้งผลว่า ยินดีคืนเงินเพียงแค่ค่ารีเทนเนอร์เท่านั้น ซึ่งคุณประคองรู้สึกผิดหวังที่ทางคลินิกเหมือนให้สัญญารับประกันที่เป็นแค่เพียงลมปาก แต่ก็ไม่อยากต่อความด้วย จึงตกลงรับเงินจำนวน 5,000 บาทคืนและยุติเรื่อง   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 เพิ่งมารู้ทีหลังว่า.. คลินิกไม่มีใบอนุญาต

        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ไปใช้บริการคลินิกแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วต่อมาพบว่า เป็นคลินิกเถื่อน ผู้บริโภคจะทำอะไรได้บ้างมาติดตามกัน         คุณอัจฉรา ป่วยเป็นหวัด มีอาการไข้และเจ็บคอ จึงตัดสินใจเข้าพบ “แพทย์” ในคลินิกใกล้บ้านแห่งหนึ่ง ด้วยเห็นว่าสะดวกและน่าจะรวดเร็วกว่าการไปโรงพยาบาลใหญ่ เมื่อไปถึงคลินิก ก็มีคนเข้ารอรับบริการจำนวนพอสมควร คุณอัจฉรารับบัตรคิวแล้วก็นั่งรอเพื่อรับการตรวจจากแพทย์ หลังจากตรวจเป็นที่เรียบร้อย คุณอัจฉราออกมานั่งรอรับยาหน้าเคาน์เตอร์ด้านหน้าคลินิก ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต คุณอัจฉราเห็นความผิดปกติบางอย่างคือ คลินิกดังกล่าวไม่มีการแสดงป้ายใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลแสดงไว้ มีเพียงรูปถ่ายของแพทย์ในใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ติดอยู่บนผนัง และไม่ใช่คนเดียวกันกับที่ทำการตรวจรักษาให้ตนเองเมื่อสักครู่ คุณอัจฉราจึงลังเลว่าคลินิกแห่งนี้ จะได้รับการอนุญาตถูกต้องหรือไม่ รวมถึงผลการวินิจฉัยที่ได้รับ ยาต่างๆ จะช่วยให้ตนเองหายจากอาการหวัดหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นคุณอัจฉราได้เข้าปรึกษากับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบสถานพยาบาลดังกล่าว ต่อมาเมื่อทางศูนย์ฯ อยุธยาได้ทำการติดตามข้อมูลกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ได้ข้อเท็จจริงว่า คลินิกดังกล่าวเป็นคลินิกที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อประกอบกิจการสถานพยาบาล หรือเป็นคลินิกเถื่อนนั่นเอง ดังนั้นทาง สสจ.พระนครศรีอยุธยาจึงดำเนินการแจ้งความและสั่งปิดคลินิกดังกล่าว         ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคในการเข้าใช้บริการสถานพยาบาล         1.ขอให้ตรวจสอบเลขใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล กับเว็บไซต์กองสุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อความมั่นใจในการเข้าใช้บริการ ทั้งนี้สถานพยาบาลทุกแห่งจะต้องแสดงใบอนุญาตฯ ไว้ในที่ ที่ผู้ใช้บริการสามารถมองเห็นได้ชัดเจน รวมถึงแพทย์ที่ทำการรักษาจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแสดงเอาไว้ด้วย         กรณีผู้กระทำผิดหลอกลวงว่าตนเองเป็นแพทย์ จะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ซึ่งมีบทกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        ส่วนสถานพยาบาลที่ไม่ได้จดทะเบียน นั้นมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีบทกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 คลินิกเสริมสวยเปิดใหม่เซลล์ขายแหลกแต่ทำไม่ได้จริง

        ได้ชื่อว่าเซลล์ตำแหน่งนี้วัดกันที่การขาย ใครหาลูกค้าได้มากรายได้ก็มากตามขึ้นไป ผู้บริโภคหลายคนจึงถูกเซลล์ปั่นจนหวั่นไหว เสียเงินไปแบบคิดไม่ทันจนเจ็บใจมาก็เยอะ ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีเรื่องมาเล่าให้ฟัง         คุณพบรัก เผอิญไปพบเจอเซลล์หรือพนักงานขายของคลินิกเสริมความงามแห่งใหม่เข้าอย่างจังในระหว่างเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พนักงานหญิงสองคนประกบหน้าหลัง ชักชวนให้ตรวจหน้าแบบฟรีๆ เพื่อดูสภาพผิวว่าเป็นอย่างไรบ้าง คุณพบรักไม่ทันคิดอะไรนัก คิดว่าฟรีก็ดีเหมือนกันไม่ได้ตรวจสภาพผิวหน้าตัวเองนานแล้ว ลองดูสักหน่อยไม่เสียหาย         โอ้ สุขภาพผิวคุณดีจังเลย ไม่ใช่คำตอบที่คุณพบรักได้รับแต่เป็นผลตรงกันข้าม พนักงานแจ้งว่า สุขภาพผิวหน้าแย่มากๆ ทางคลินิกของเราขอรับอาสามาเป็นผู้ดูแลปัญหานี้ให้ พอถามไปว่าต้องทำอย่างไร พนักงานก็ขอบัตรเครดิตพร้อมแนะนำคอร์สหนึ่งให้ในราคา 7,000 บาท จากนั้นก็รูดบัตรเสร็จสิ้นกระบวนการ คุณพบรักได้สลิปบัตรมาพร้อมใบเสร็จชั่วคราวอย่างงงๆ พร้อมคำสัญญาของพนักงานว่า ระหว่างนี้คลินิกยังไม่พร้อมให้บริการ คุณพบรักต้องรอ 3 เดือนจึงจะไปใช้บริการได้         ผ่านมาเกือบสามเดือนพนักงานที่ขายคอร์สให้ได้โทรมานัดให้ไปที่คลินิกเพื่อตรวจสภาพผิวอีกครั้ง แต่พอใกล้วันจริง “นางบอกว่า อย่าเพิ่งมาดีกว่าเพราะกลิ่นสียังไม่ทันจาง และทางหน่วยงานรัฐยังเข้ามาตรวจสอบไม่เสร็จ ไว้เป็นสัปดาห์หน้านะคะ” คุณพบรักจึงได้แต่รอต่อไป         ในวันนัดจริงเมื่อคุณพบรักมาถึงคลินิกก็พบเรื่องน่ารำคาญใจหลายเรื่อง ตั้งแต่มีการนัดคนมาใช้บริการในวันดังกล่าวจำนวนมาก คุณพบรักต้องรอถึง 1 ชั่วโมงกว่าจะถึงคิวของตัวเอง พอกำลังจะเริ่มรับบริการ ก็ยังต้องรอเครื่องมือจากห้องอื่น แม้จะเห็นว่ามันไม่ค่อยถูกต้องเพราะเครื่องมืออาจติดเชื้ออะไรก็ได้จากคนที่ใช้บริการก่อนหน้าตนเอง แต่นอนบนเตียงไปแล้วจะร้องเรียนอะไรก็ทำไม่ได้ จึงต้องปล่อยเลยตามเลย แถมระหว่างนวดหน้าอยู่ เซลล์ยังโทรเข้ามาขอโทษที่ให้ลูกค้ารอนาน “มันใช่เวลาไหม” คุณพบรักหงุดหงิดอยู่ในใจ        เมื่อใช้บริการนวดหน้าเสร็จ พนักงานแจ้งให้ไปรออีกห้องหนึ่งก่อน เมื่อมาที่ห้องนี้ก็กลายเป็นห้องสำหรับการขายโปรโมชั่น(อีกแล้ว) คุณพบรักมีความขยาดอยู่จึงไม่สนใจโปรที่พนักงานเสนอ จนพนักงานงัดทีเด็ดบอกว่า โปรนี้พิเศษมากๆ ลูกค้าจ่ายเพียง 23,000 บาท รวมกับของเดิม 7,000 บาท เท่ากับ 30,000 บาท แต่จะได้รับบริการในระดับเดียวกับการจ่ายคอร์ส 90,000 บาท และจะมอบบริการพิเศษให้คุณพบรักสามารถผ่อนบัตรเครดิต 0% ได้อีกด้วย โอ้ คุ้มมากคุณพบรักคิดจึงตอบตกลงไป พร้อมรูดเงินไป 13,000 บาท เนื่องจากวงเงินวันนั้นไม่พอ จึงค้างไว้ก่อน 10,000 บาท         อย่างไรก็ตาม การผ่อนชำระ 0% นั้น พนักงานแจ้งภายหลังว่า ไม่สามารถทำได้ ขั้นต่ำคือคุณพบรักต้องผ่อนกับบัตรเครดิตที่ดอกเบี้ย 0.89%         คุณพบรักตอนนี้เริ่มพบว่า ไม่ไหวจะเคลียร์แล้ว พนักงานขายทำไม่ได้จริงสักอย่างที่สัญญาไว้ จึงทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาไปที่คลินิกและทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินกับธนาคารเจ้าของบัตร ทางธนาคารแจ้งว่าอย่างไรก็ตามจะต้องให้ทางคลินิกยกเลิกสัญญาก่อนจึงจะปิดหนี้บัตรเครดิตให้ คุณพบรักจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ และดำเนินการติดต่อกับคลินิกเพื่อขอยกเลิกสัญญาพร้อมขอเงินคืน แนวทางแก้ไขปัญหา         คุณพบรักดำเนินการแจ้งร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมๆ กัน ต่อมา ทางคุณพบรักแจ้งกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า  ได้ไปเจรจากับทางคลินิกที่ สคบ.แล้ว บริษัทฯ จะคืนเงินให้ 70% ในส่วนของ 13,000 บาท คือ 9,100 บาท ส่วนที่เหลือ คือ 7,000 บาทแรกนั้น เนื่องจากมีการรับบริการไปแล้ว 1 ครั้ง จึงขอให้คุณพบรักไปใช้บริการต่อในส่วนนั้น บริษัทฯ อ้างว่า ส่วนที่หัก 30% คือค่าดำเนินการที่จะขยายคอร์สจาก 30,000 เป็น 90,000 บาท ส่วน 7,000 ก่อนหน้าตามเงื่อนไขของบริษัทฯ หากมีการใช้บริการไปแล้วจะไม่คืนเงินส่วนที่เหลือต้องใช้บริการไปจนจบคอร์สนั้นๆ         คุณพบรักไม่อยากยุ่งยากจึงรับข้อเสนอดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เมื่อบอร์ดวุฒิศักดิ์คลินิกประชุมแก้ปัญหาลูกค้ากว่า 6 เดือน

            ปีที่ผ่านมามีข่าวการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและการปิดตัวหลายสาขาของคลินิกเสริมความงาม เจ้าของสโลแกน “เพราะความสวยรอไม่ได้” วุฒิศักดิ์คลินิก ทำให้ผู้บริโภคที่เสียเงินซื้อคอร์สเสริมความงามได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ซึ่งคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบนี้ก็คือ คุณปราง ที่ต้องรอวุฒิศักด์คลินิกแก้ปัญหากว่าครึ่งปี          เพราะชื่อเสียงก่อนหน้านี้ของวุฒิศักดิ์คลินิกและจำนวนสาขาที่มีมากมาย ทำให้คุณปรางไว้ใจและซื้อคอร์สเสริมความงาม ที่เรียกว่า เลเซอร์และอัลตราดีฟ ในราคา 24,000 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ณ สาขาเซ็นทรัลขอนแก่น แต่พอเดือนถัดมาคลินิกสาขานี้ก็ปิดตัวลง แจ้งเพียงว่าให้ลูกค้าไปใช้บริการต่อที่คลินิกสาขาบิ๊กซี ขอนแก่น ซึ่งคุณปรางเล่าว่า “ใช้บริการไม่ได้เลย ไปทีไรคิวเต็มบ้าง ไม่มีพนักงานบ้าง ยาหมด หมอไม่อยู่...” ทำให้คุณปรางต้องขับรถไปใช้บริการถึงเดอะมอลล์ โคราช และที่เหนื่อยใจที่สุดก็คือคุณปรางไม่สามารถติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของวุฒิศักดิ์คลินิกได้เลย จึงต้องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้รับการร้องเรียนเดือนพฤษภาคมจึงติดต่อไปยังคอลเซนเตอร์ของวุฒิศักดิ์คลินิก ซึ่งเป็นไปตามที่คุณปรางระบุคือ ไม่สามารถติดต่อได้ จึงใช้อีเมล์ติดต่อไปตามที่ได้รับแจ้งข้อมูลไว้ และติดต่อไปยังเบอร์ของสำนักงานหลัก จึงได้คุยกับพนักงาน ทางพนักงานแจ้งว่า ขอให้ผู้ร้องคือคุณปรางส่งเอกสารร้องเรียนไปที่สำนักงานหลักที่กรุงเทพฯ และทางสำนักงานจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมพิจารณาเพื่อคืนเงินให้ ซึ่งคุณปรางก็ปฏิบัติตามที่ได้รับคำแนะนำ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ติดตามข้อมูลกรณีร้องเรียนของคุณปรางกับทางสำนักงานหลัก ได้รับแจ้งว่าเรื่องการพิจารณาเพื่อคืนเงินยังไม่คิวของคุณปราง ขณะนี้(เดือนกรกฎาคม) ยังเป็นคิวของผู้ร้องขอคืนเงินที่ยื่นเรื่องในเดือนกุมภาพันธ์อยู่          ทางศูนย์พิทักษ์ฯ พยายามติดตามเรื่องให้คุณปรางโดยตลอดพบว่า เรื่องของคุณปรางยังอยู่ในระหว่างพิจารณา จนวันที่ 21 ธันวาคม 2561 เมื่อติดต่อไปจึงได้รับแจ้งจากพนักงานว่า ยังไม่มีการประชุมบอร์ดในขณะนี้และไม่ทราบว่าจะประชุมเมื่อใดเพราะผู้บริหารไปต่างประเทศ อีกอย่างหนึ่งยอดเงินของคุณปรางเหลือที่ต้องคืนอยู่เพียง 936 บาท จึงแนะนำว่าให้กลับไปใช้บริการต่อที่สาขาบิ๊กซีขอนแก่นหรือเปลี่ยนเป็นสินค้าแทน เมื่อทางศูนย์ฯ นำเรื่องแจ้งต่อคุณปรางตามที่ได้รับคำตอบมา คุณปรางก็ขอยุติเรื่อง เพราะไม่สะดวกและเบื่อการรอคอยคำตอบจากวุฒิศักดิ์คลินิกแล้ว “มันนานเกินไป” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 “คลินิกแก้หนี้” แก้ได้จริงหรือ?

สมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อไม่มากก็น้อยคงทราบดีว่าเรื่องปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต  เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ของผู้บริโภคมายาวนาน เมื่อไม่นานมานี้มีโครงการหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผุดไอเดียดูดีชื่อ “คลินิกแก้หนี้” โครงการที่เป็นเสมือนความหวังของลูกหนี้ทุกคน  ฉลาดซื้อจึงพูดคุยกับคุณนกกระจอกเทศ ผู้บริโภคที่มีความชำนาญ ในการให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตมามากกว่า 10 ปี ให้กับผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต จาก Webboard คนยิ้มสู้หนี้ ของเว็ปไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) จะมาเล่าให้เรากระจ่างว่า คลินิกแก้หนี้ จะแก้ปัญหาหนี้ได้จริงหรือไม่?จุดเริ่มต้นของโครงการ “คลินิกแก้หนี้” นั้นอ้างอิงจาก ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ ต้นปี พ.ศ.2560 ประชากรไทยทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 70 ล้านคน มีคนที่เป็นหนี้ทั้งหมด 21 ล้านคนและในจำนวนนี้ มีคนที่เป็นหนี้อยู่ 3 ล้านคน ที่จ่ายหนี้ไม่ไหวแล้ว (หยุดจ่ายแล้ว) จนกลายเป็น”หนี้เสีย” หรือ NPL จำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นคนไทยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปีในช่วงเวลานั้น(ต้นปี 2560) ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(หรือที่เรียกกันว่าแบงก์ชาติ) โดน "ด่าจนเละ" ว่าปล่อยให้มีคนไทยที่เป็น "หนี้เสีย"(NPL) หรือที่เรียกกันว่า "ติด Blacklist" อยู่ในเครดิตบูโร มีจำนวนมากถึง 3 ล้านคนทางแบงก์ชาติไม่คิดจะหาทางทำอะไรบ้างเลยหรือยังไง? พอโดนวิจารณ์มากๆ เข้า ก็เลยต้องคิดทำโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ขึ้นมา โดยการนำเอา "สัญญาประนอมหนี้" หรือ "สัญญาปรับโครงสร้างหนี้" ที่เคยมีอยู่เดิม แต่นำมาปัดฝุ่นใหม่ แล้วตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ว่าเป็น "โครงการคลินิกแก้หนี้"...เพื่อลดแรงกดดันจากทั่วสารทิศโครงการตัวนี้ ทางแบงก์ชาติได้เรียกประชุมสถาบันการเงินทั้งหมด ให้มาเข้าร่วมประชุม แล้วขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินทั้งหลายช่วยให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการตัวนี้ของแบงก์ชาติด้วยขอย้ำว่า...เป็นการขอความร่วมมือจากทางแบงก์ชาติ หรือที่เรียกกันว่าเป็น "สัญญา MOU" ไม่ใช่ ประกาศ หรือกฎหมายบังคับ  หากสถาบันการเงินใด ที่ยินดีให้ความร่วมมือในโครงการ "คลินิกแก้หนี้" ตัวนี้ ก็ให้ลงนามใน "สัญญา MOU" ดังกล่าว ว่าจะให้ความร่วมมือด้วย...หรือจะมีสถาบันการเงินใด ที่ไม่ประสงค์จะให้ความร่วมมือก็ได้ไม่ได้บังคับทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปในบรรทัดฐานเดียวกัน ทางแบงก์ชาติยังได้ออกข้อกำหนดมาด้วยว่า หากสถาบันการเงินใด ที่ให้ความร่วมมือในโครงการตัวนี้ จะต้องทำการคิดดอกเบี้ยกับลูกหนี้ ในระหว่างที่ลูกหนี้ขอผ่อนตามสัญญาตัวนี้ จะคิดดอกเบี้ยได้สูงสุด ไม่เกินกว่า 7% ต่อปี โดยทางแบงก์ชาติ ได้ทำการแต่งตั้งให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือมีชื่อย่อว่า SAM ให้เป็นผู้แทนแบงก์ชาติ ในการเจรจาให้สถาบันการเงินที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการตัวนี้ ต้องปฏิบัติตามกฏของการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวดังนั้น หากลูกหนี้คนใด ที่มีความสนใจจะเข้าสมัครในโครงการตัวนี้ ก็สามารถติดต่อกับทาง SAM ได้เลย เพื่อให้ SAM เป็นผู้คัดกรอง และเจรจาในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าว กับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ที่เข้ามาร่วมกับโครงการตัวนี้ โดยกำหนดให้ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมในโครงการตัวนี้ จะต้องมีคุณสมบัติตามนี้ด้วย ถึงจะสามารถผ่านการเข้าร่วมโครงการได้ โดยมี คุณสมบัติ ดังนี้1. ต้องมีอายุไม่เกินกว่า 60 ปี (หรือห้ามแก่เกินกว่าเกษียณการทำงาน)2. ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือน มีเงินเดือนประจำที่มั่นคงแน่นอน3. ต้องเป็นลูกหนี้ที่ติด Blacklist ในเครดิตบูโรมาแล้ว อย่างน้อย 2 สถาบันการเงินขึ้นไป...และจะต้องเป็นผู้ที่ติด Blacklist มานานแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ด้วย4. จะต้องเป็นลูกหนี้ที่ไม่เคยถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลมาก่อนเลย...แม้แต่คดีเดียว5. ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมในโครงการ ต้องเอาหนี้ของลูกหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด ทุกเจ้า เข้าร่วมในโครงการให้หมด6. ยอดหนี้รวมทั้งหมด ที่ลูกหนี้จะสามารถเข้าร่วมโครงการตัวนี้ได้ จะต้องไม่เกินกว่า 2 ล้านบาท7. ลูกหนี้สามารถขอผ่อนได้นานไม่เกิน 10 ปี...(แต่เอาเข้าจริงๆ เจ้าหนี้มันก็ยอมให้ลูกหนี้สามารถผ่อนได้นานสูงสุด เพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น)มีธนาคารหรือสถาบันการเงินใดที่เข้าร่วมโครงการบ้างผลจากการประชุมขอความร่วมมือของแบงก์ชาติในวันนั้น มีธนาคารที่ตอบรับเข้าร่วมลงนามในสัญญา MOU ของ “โครงการคลินิกแก้หนี้” ทั้งหมด จำนวน 16 ธนาคาร โดยมีรายชื่อดังนี้ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ,ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารซิตี้แบงก์ , ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ,ธนาคารทหารไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารธนชาติ ,ธนาคารยูโอบี, ธนาคารเกียรตินาคิน , ธนาคารทิสโก้ , ธนาคารไทยเครดิต ,ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank Of China) , ธนาคารไอซีบีซี ,ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  ส่วนสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (พวก Non-Bank ทั้งหมด) ไม่มีการลงนาม MOU เข้าร่วมกับโครงการนี้เลย...แม้แต่รายเดียว ตอนนี้...โปรดมาสังเกตรายชื่อของธนาคาร 10 รายแรก ให้ดีนะครับ(ขีดเส้นใต้) เพราะมันเป็นรายชื่อของธนาคารที่เป็นผู้ออกบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดให้ประชาชนทั่วๆ ไปอยู่แล้ว...ลูกหนี้ต่างคุ้นเคยกันดีแต่ดูรายชื่อของธนาคารอีก 6 ราย ที่ถัดมาสิครับ...เขาเคยทำบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดให้กับเราด้วยหรือ? คุณเคยเห็นบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดของธนาคารเกียรตินาคิน , ธนาคารทิสโก้ , ธนาคารไทยเครดิต , ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank Of China) , ธนาคารไอซีบีซี , ธนาคาร แลนด์ แอนด์เฮ้าส์...พวกคุณเคยเห็นด้วยหรือครับ? โดยเฉพาะธนาคารไอซีบีซี มันตั้งอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศไทยกัน?เมื่อ 6 รายนี้ไม่เคยทำบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดให้กับประชาชนทั่วไป...แล้วแบงก์ชาติไปชักชวนให้เข้ามาร่วมใน “โครงการคลินิกแก้หนี้” นี้ด้วยทำไม มันจะมีประโยชน์อะไรกับลูกหนี้ หรือว่าแบงก์ชาติต้องการเพียงแค่จะอวดว่า มีธนาคารที่ให้ความร่วมมือในโครงการตัวนี้ ถึง 16 แห่ง (แม้จะมีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับหนี้บัตรต่างๆ จริงเพียงแค่ 10 ธนาคารเท่านั้น) แต่รายสำคัญจริงๆ คือกลุ่ม Non-Bank กลับไม่มีเลยแม้แต่รายเดียวข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการนี้ที่ผู้บริโภคควรรู้อย่างที่ผมเกริ่นไปว่าโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ตัวนี้ มันเป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือจากทางแบงก์ชาติ...ไม่ได้เป็นกฎหมาย...และไม่ได้บังคับ จะไม่ให้ความร่วมมือก็ได้ ดังนั้นจึงไม่มีสถาบันการเงินที่เป็น Non-Bank รายใด ที่ลงนามในสัญญา MOU เลยแม้แต่รายเดียว...ขนาดธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ และธนาคารฮ่องกงแบงก์(HSBC) ยังไม่ร่วมลงนามให้ความร่วมมือด้วยเลย  แล้วเท่าที่ผมทราบข้อมูลมา แม้มีลูกหนี้ผู้ถือบัตรต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วม “โครงการคลินิกแก้หนี้” แต่ว่าเมื่อสมัครไปแล้ว ยังไม่มีใครสามารถผ่านการอนุมัติได้เลยสักคนทำไมถึงสมัครไม่ผ่าน ลองดูนะครับ เงื่อนไขมันโหดมาก1.ลูกหนี้คนนั้น จะต้องเคยหยุดจ่ายหนี้มาก่อน อย่างน้อยก็ต้องหยุดจ่ายตั้งแต่ 2 ใบขึ้น และได้หยุดจ่ายมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว จนกระทั่งตัวของลูกหนี้คนนั้น ได้ติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2560…ถ้าใครที่เพิ่งเริ่มหยุดจ่าย หรือติดมา Blacklist ภายหลังจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ไปแล้ว...จะสมัครไม่ผ่าน2.หากลูกหนี้ที่ต้องการจะสมัครเข้าในโครงการนี้ ในอดีตเคยเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือมีเงินเดือนประจำ แต่ปัจจุบันตกงาน หรือลาออกมาประกอบอาชีพส่วนตัว หรือทำงานฟรีแลนซ์ ไม่มีเอกสารใบรับรองเงินเดือนหรือสลิปเงินเดือน มาประกอบแนบกับใบสมัครด้วย...แบบนี้ก็สมัครไม่ผ่าน3.หากปัจจุบันลูกหนี้มีอายุมาก หรือเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว...สมัครไม่ผ่านเช่นกัน4.ลูกหนี้ที่เคยถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลมาแล้ว แม้เพียงคดีเดียว...สมัครไม่ผ่าน5.ลูกหนี้ที่จะสมัครเข้าโครงการตัวนี้ จะต้องถูกบังคับให้เอาเจ้าหนี้เข้าร่วมในโครงการให้หมด ทุกเจ้าหนี้ ทุกบัตร-ทุกราย ห้ามยกเว้นแม้แต่รายเดียวดังนั้นสมมติว่า ลูกหนี้ที่สนใจจะเข้าสมัคร มีบัตรเครดิตและบัตรกดเงินทั้งหมด 5 ใบ และเคยติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโรมาก่อนแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม(ตรงตามเงื่อนไขของข้อ 1.) และต่อให้ยังไม่เคยถูกฟ้องศาลเลยก็ตาม แต่ดันมี 1 ในบัตรที่ลูกหนี้ถืออยู่เป็นบัตรของพวก Non-Bank ต่างๆ เช่น อิออน , ยูเมะพลัส , KTC , เฟิร์สช้อยส์ , บัตรกรุงศรี , พรอมิส , เอมันนี่ , เจมันนี่, กรุงศรีโฮมโปร , เซนทรัลการ์ด ฯลฯ...จะสมัครไม่ผ่าน เพราะพวก Non-Bank ไม่ได้เข้าร่วมในโครงการคลินิกแก้หนี้ด้วย เพราะข้อกำหนดในข้อ 5. บังคับเอาไว้ว่า ลูกหนี้จะต้องเอาเจ้าหนี้เข้าร่วมในโครงการนี้ให้หมด ทุกเจ้าหนี้ ทุกบัตร-ทุกราย ห้ามยกเว้นแม้แต่รายเดียว ดังนั้นหากลูกหนี้ดันมีบัตรที่เป็นเจ้าหนี้ประเภท Non-Bank เพียงใบใดใบหนึ่ง ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมในโครงการนี้ได้เลยบทสรุปของ “คลินิกแก้หนี้”สรุปแล้ว โครงการคลินิกแก้หนี้ตัวนี้ ทางแบงก์ชาติออกมาตรการมาเป็นเพียงแค่ “ยาหอม” เพื่อลดแรงเสียดทานในช่วงที่โดนกระแสวิจารณ์มากๆ ก็เท่านั้นเองครับว่า  “ตอนนี้มีลูกหนี้ที่ติด Blacklist อยู่ 3 ล้านราย ( ต้นปี 2560) ทางแบงก์ชาติไม่คิดที่จะทำอะไรบ้างเลยหรือ? “  แบงก์ชาติก็เลยลดกระแสที่ถูกด่าอย่างหนักโดยการหยิบยกเอา“สัญญาประนอมหนี้” หรือ “สัญญาปรับโครงสร้างหนี้” ที่มีอยู่แล้วของเดิม มาทำการปัดฝุ่นใหม่ โดยการเปลี่ยนชื่อให้มันดูไพเราะเพราะพริ้งว่าเป็น“โครงการคลินิกแก้หนี้” โดยมอบหมายให้ SAM เป็นผู้ดำเนินการแทนในการคัดกรองและเจรจา แล้วก็เอาดอกเบี้ยในระหว่างที่ผ่อนตามสัญญาคลินิกแก้หนี้ ว่าเป็นดอกเบี้ยราคาถูกมาก(ไม่เกิน 7% ต่อปี) มาเป็น“ตัวล่อ”ให้ลูกหนี้มีความหวังแบบ ลมๆ แล้งๆ การทำแบบนี้ก็สามารถออกมาอ้างได้ว่า แบงก์ชาติมีการทำโครงการเพื่อลดจำนวนลูกหนี้ที่ติด Blacklist มากถึง 3ล้านคนให้แล้วนะ...แต่พอดูเงื่อนไขที่จะสามารถสมัครให้ผ่านเข้าโครงการฯ ได้ มันโหดมาก ไม่มีการแจ้งข้อมูลหรือความจริงให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้ได้รับทราบเลยแม้แต่น้อย มาจนถึงกรกฎาคม พ.ศ.2561 แล้วนะครับ  ผ่านมาปีกว่าตัวเลขของลูกหนี้ที่ติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโร ได้พุ่งสูงเกินกว่า 3 ล้านคนไปมากแล้ว ผมอยากทราบจริงๆ ว่า มีลูกหนี้ที่สมัครในโครงการคลินิกของธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านการอนุมัติสักกี่คนครับ  เพราะฉะนั้นทางออกของลูกหนี้ทั้งหลายคืออะไรถ้าผมเป็นลูกหนี้ ผมคงไม่เสียเวลากับโครงการตัวนี้ ผมจะไปทำงานหารายได้ให้มากๆ เพื่อที่จะเก็บสะสมเงินไว้เอาไป Hair cut กับเจ้าหนี้แต่ละบัตรโดยตรงเองดีกว่าครับ มันคือวิธีที่ดีที่สุดจริงๆ ในตอนนี้ ต้องการปรึกษา หรือข้อมูลเพิ่ม สามารถติดตามได้ที่ http://debtclub.consumerthai.org/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2556 ผักดองต้องระวัง ใครที่ชอบผักดองอ่านข่าวนี้แล้วคงต้องคิดหนัก เพราะทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการสุ่มตรวจสอบตัวอย่างผักดองในช่วงเทศกาลกินเจที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดดอง กาน่าไฉ่ หัวไชโป้ว รวมจำนวน 30 ตัวอย่าง โดยนำตัวอย่างมาตัวหาวัตถุกันเสีย ชนิดกรดเบนโซอิค พบว่า มีตัวอย่างผักดองที่เกินมาตรฐานถึง 22 ตัวอย่าง ปริมาณของกรดเบนโซอิคที่พบอยู่ระหว่าง 1,034 - 5,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ. 2547) กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้น โดยชนิดของผักดองที่พบการใช้วัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิคมากที่สุด คือ ผักกาดดองและหัวไชโป้ว ซึ่งวัตถุกันเสียไม่ได้มีปนเปื้อนเฉพาะในตัวผักเท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในน้ำที่ใช้ดองผักด้วยเช่นกัน วัตถุกันเสีย เมื่อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเกินไปจะทำลายเซลล์ในร่างกาย ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เกิดแผล นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำ จนเกิดอาการช็อกได้ หรือในบางรายที่กินเข้าไปไม่มากแต่แพ้ จะทำให้เป็นผื่นคันขึ้นตามตัว อาเจียน มีไข้     คุมเข้มคลินิกเสริมความงาม ความนิยมที่มีเพิ่มขึ้นของสถานเสริมความงาม สิ่งที่เพิ่มตามไม่ใช่แค่ความสวยเท่านั้น แต่ปัญหาหลายอย่างก็ตามมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการหลอกลวง สถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน ยาปลอม จนเป็นเหตุให้ผู้ที่ใช้บริการต้องเสียทั้งทรัพย์ เสียสุขภาพ เสียโฉม ไปจนถึงเสียชีวิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้เตรียมจัดอบรมพร้อมกำหนดมาตรฐานคลินิกเสริมความงามทั่วประเทศ เพื่อจัดการกับปัญหาคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน รวมไปถึงเรื่องการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการเสริมความงามที่เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง โดย สบส.จะจัดโครงการอบรมผู้ประกอบกิจการคลินิกเวชกรรมทุกประเภทซึ่งมีประมาณ 14,000 แห่ง และ รพ.เอกชน 326 แห่งทั่วประเทศ ในเดือน ต.ค. นี้ เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติให้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ โดยได้กำหนดมาตรฐานของคลินิกเวชกรรมทุกประเภทจะต้องแสดงหลักฐาน 5 ประการ คือ 1.ชื่อสถานพยาบาล รวมทั้งเลขที่ใบอนุญาต 11 หลักติดที่หน้าสถานพยาบาล 2.แสดงใบอนุญาตประกอบกิจการและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลในที่ตั้งชัดเจนและเปิดเผย 3.แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปีของปีปัจจุบัน 4.มีแพทย์อยู่ประจำจริง โดยต้องแสดงชื่อ รูปถ่าย รวมทั้งเลขที่ใบประกอบวิชาชีพ และ 5.แสดงราคาค่ารักษาที่ชัดเจน ติดที่หน้าห้องตรวจ เพื่อให้ประชาชนแยกแยะได้ง่ายยิ่งขึ้น หลังจากการอบรม สบส. จะตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการตรวจประเมินมาตรฐานของคลินิกความงาม โดยคณะกรรมการจะประกอบด้วย ผู้แทนจากสาธารณสุข ผู้แทนภาคเอกชน และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องทุกสาขา ซึ่งในหลักเกณฑ์การประเมินอาจจะมีการกำหนดรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในคลินิกต้องผ่าน อย. สถานที่มีความสะอาดปลอดภัย มีเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยแก้ไขในกรณีที่เกิดปัญหา เช่น การแพ้ยาในเบื้องต้นได้ หากสุ่มตรวจแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข จะมีการยึดใบอนุญาต พร้อมทั้งดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541   บ้านนี้อยู่แล้วดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับ การเคหะแห่งชาติ กรมที่ดิน ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ได้ร่วมกันคัดเลือกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดี โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 5 ข้อสำคัญ คือ 1.การประกอบการและทีมงาน 2.ความถูกต้องเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง คุณภาพด้านคมนาคม สาธารณูปโภค 3.มาตรฐานการออกแบบและการก่อสร้าง 4.ความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจต่อผู้บริโภคและสังคม ก่อนและหลังการขาย และ 5.ความพึงพอใจของผู้บริโภคทั้งในเรื่องของคุณภาพบ้าน การดูแลสาธารณูปโภคและการบริการสาธารณะ การตอบสนองต่อการแจ้งปัญหาของผู้อยู่อาศัย โดยผลการคัดเลือกได้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดี ที่ผ่านหลักเกณฑ์ฯ ทั้งหมดจำนวน 22 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพฤกษาวิลเลจ Scenery (รังสิต คลอง 2) โดย บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท 2.โครงการพฤกษาวิลล์ 31 (สายไหม) โดย บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท 3.โครงการบ้านพฤกษา 52/1 (พหลโยธิน – นวนคร) โดย บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท 4.โครงการทรี คอนโด สุขุมวิท 42 โดย บจก. บิ๊ก ทรี แอสเสท 5.โครงการทรี คอนโด ลาดพร้าว 27 โดย บจก.บิ๊ก ทรี แอสเสท 6.โครงการเลอนครินทร์ นีโอ โดย บจก.น้อมบุญ 7.โครงการศุภาลัย สุวรรณภูมิ โดย บมจ.ศุภาลัย 8.โครงการศุภาลัย ปาร์ค ศรีนครินทร์ โดย บมจ.ศุภาลัย 9.โครงการศุภาลัย ปาร์ค แยกติวานนท์ โดย บมจ. ศุภาลัย 10.โครงการศุภาลัย ริเวอร์เพลส โดย บมจ. ศุภาลัย 11.โครงการเลอริช พระราม 3 โดย บจก.ริชี่เพลซ 2002 12.โครงการไอริส พาร์ค (สุขุมวิท 76) โดย บจก. ไอริส กรุ๊ป 13.โครงการอิสรเพลส โดย บจก. อิสรพร็อพเพอร์ตี้ 14.โครงการยู ดีไลท์ แอท ห้วยขวาง สเตชั่น โดย บจก. แกรนด์ ยู ลิฟวิ่ง 15.โครงการAqua Divina by Sammakorn โดย บมจ.สัมมากร 16.โครงการบ้านฟ้าปิยรมย์ เลค แอนด์ พาร์ค 2 โดย บมจ.เอ็น ซี เฮ้าส์ซิ่ง 17.โครงการบ้านฟ้ากรีนพาร์ค รอยัล ธนบุรีรมย์ โดย บมจ. เอ็น ซี เฮ้าส์ซิ่ง 18.โครงการ The First Home รังสิต–ลำลูกกา คลอง 2 โดย บจก. กานดา เดคคอร์ 19.โครงการนิรันดร์ วิลล์ 8 โดย บจก.นิรันดร์วิลล์ 20.โครงการนิรันดร์ วิลล์ 10 โดย บจก. นิรันดร์วิลล์ 21.โครงการนิรันดร์ วิลล์ 10 โดย บจก.อีลิท แลนด์ 22.โครงการซิมโฟนี สุขุมวิท โดย บจก.อีลิท แลนด์   "สเต็มเซลล์" รักษาได้แค่ 5 โรค องค์กรด้านการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมประสาทวิทยา ร่วมกันแถลงยืนยันและออกโรงเตือนประชาชน เรื่องการรักษาโรคด้วย "สเต็มเซลล์" ว่าในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถใช้สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคที่เป็นที่ยอมรับเพียง 5 โรคเท่านั้น คือ 1. โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว 2. โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 3. โรคไขกระดูกฝ่อ 4. โรคมะเร็งมัลติเพิล มัยอิโรมา และ 5. โรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัตซีเมีย เพราะฉะนั้นอย่าหลงเชื่อหากมีใครมีอวดอ้างว่าสามารถใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคอื่นๆ นอกเหนือจาก 5 โรคที่กล่าวมา และหากมีผู้ใดชักชวนให้รักษาด้วยสเต็มเซลล์นอกจาก 5 โรคนั้น ให้แจ้งไปที่แพทยสภาเพื่อตรวจสอบได้ว่า การรักษาดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากเป็นโครงการวิจัย ผู้ป่วยจะต้องไม่เสียเงินและไม่มีการเรียกเก็บเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด สำหรับโทษต่อผู้ป่วยที่ได้รับสเต็มเซลล์โดยไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงกับโรค อาจเกิดอาการแพ้ เกิดการอุดตันของหลอดเลือด และอาจเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง     สคบ.ฟ้องแทนคดีรถโดยสาร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.เตรียมให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีแทนผู้บริโภค ในเรื่องของการฟ้องร้องขอชดเชยค่าเสียหายเพิ่มเติมจากกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถประจำทาง รถตู้โดยสาร และรถแท็กซี่  ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางโดยสารรถสาธารณะเป็นจำนวนมาก ที่พบปัญหากรณีเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บแล้วได้รับการชดเชยค่าเสียหาย แค่ในวงเงินที่ผู้ให้บริการทำประกันไว้เท่านั้น ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แถมหลายรายยังถูกประวิงเวลาไม่ได้รับการเยียวยาทั้งที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นไปแล้ว การดำเนินการฟ้องแทนผู้บริโภคของ สคบ. จะเป็นการช่วยการดำเนินการรวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ผู้บริโภคร้องเรียนมายัง สคบ. ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาหลายขั้นตอน กว่าจะถึงการส่งฟ้องคดีได้ แต่ทั้งนี้ สคบ. จะต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานศาลยุติธรรม และ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อการทำงานช่วยเหลือผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากที่สุด   //

อ่านเพิ่มเติม >