ฉบับที่ 256 ระวังพลาดเจอ ครีมกวน

        แม้ผ่านมาหลายปีแล้วจะมีทั้งข่าวจับขบวนการขายครีมที่ผสมสารอันตรายของทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมามากมาย รวมถึงการออกมาเตือนแล้วเตือนอีก เรื่องของผลกระทบของการใช้ครีมหน้าขาว หรือเรียกอีกอย่างว่า “ครีมกวน” ที่มีส่วนผสมสารอันตรายต่างๆ ที่สวยได้สักพัก เลิกใช้หน้าพังทันทีก็ตาม แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีมาให้เห็นอีกอยู่เป็นพักๆ ไม่หายจากไปง่ายๆ ในหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ ล่าสุดก็ยังมีการรีวิวครีมหน้าขาวอันตรายพวกนี้ ที่สำคัญคือยังมีคนหลงเชื่อและสนใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์พวกนี้อยู่             ฉลาดซื้อจึงอยากแนะนำวิธีระวัง “ครีมหน้าขาวที่อันตราย” เพื่อย้ำเตือนกันอีกสักครั้งให้ทุกคนที่กำลังคิดจะลองใช้   สารอันตรายจากครีมหน้าขาว         ครีมหน้าขาวส่วนมากจะเน้นการโฆษณาหรือรีวิวว่าใช้แล้วหน้าใส ขาวไวมาก ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ผลิตจะนำสารที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอางเช่น สารปรอท สารสเตียรอยด์  ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ มาเป็นส่วนผสม เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวนี้มีฤกธิ์ช่วยลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน จึงทำให้ผิวขาวเร็ว เรียกว่า 3-7 วันเห็นผล แต่ผลข้างเคียงหรืออันตรายทำให้ผิวพังก็ไวเช่นกัน ผลข้างเคียง         ขาวเร็วแบบไม่ปลอดภัย ลักษณะอาการเป็นอย่างไรบ้าง มาดูกัน สารปรอท ทำให้มีอาการแพ้ ผื่นแดง ผิวบางลงและคล้ำลงอย่างรวดเร็ว ไตอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ สารไฮโดรควิโนน  ผิวหนังระคายเคืองผิวคล้ำมากขึ้น เกิดฝ้าถาวรและอาจมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนัง กรดวิตามินเอ ระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น แสบร้อนรุนแรง หน้าแดง แพ้แสงแดด ไวต่อแสง รวมถึงเป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์อีกด้วย สารสเตียรอยด์  มีผื่นแพ้ สิวผด ผิวบางจนเกิดผิวแตกราย เป็นต้น  ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างผลเสียที่ตามมาเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังคงมีอาการอีกหลายรูปแบบซึ่งเกิดขึ้นไปแล้วแต่ละบุคคลเพราะผิวหนังและร่างกายในแต่ละคนไม่เหมือนกัน      เลือกซื้อครีมอย่างปลอดภัย        -       ก่อนซื้อครีมควรสังเกตรายละเอียดว่าในส่วนผสมของครีมมีอะไรบ้าง        -       อย่าเชื่อคำโฆษณาที่มีการอวดอ้างผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างแบบไม่น่าเป็นไปได้        -       หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีฉลาก ไม่มี วัน/เดือน/ปี ที่ผลิต ไม่แสดงรายชื่อผู้ผลิต ไม่ควรเสี่ยงซื้อมาใช้ สำคัญควรดูว่ามีเลขที่ใบรับแจ้งของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) หรือไม่ การตรวจเช็กเลขจดแจ้งของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สามารถตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ดังนี้ https://www.fda.moph.go.th/        -       ในส่วนของลักษณะครีมหน้าขาวที่พบได้บ่อยจะเป็นรูปแบบตลับหรือกระปุกพลาสติกดูไม่น่าเชื่อถือ  ไม่มีฉลาก หรือขายเป็นถุงกิโลและมีเนื้อครีมที่สีเข้ม เช่น ที่พบบ่อยคือสีเขียว หรือเหลือง อย่าซื้อมาใช้        -       หากซื้อมาแล้วและไม่มั่นใจที่จะใช้ก็สามารถหาซื้อที่ตรวจสารอันตรายต่างๆ มาลองตรวจดูเพื่อเช็กความชัวร์ได้         สุดท้ายแล้วหากพบว่า ตนเองหลงไปใช้ครีมที่มีสารอันตรายเข้าแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ หยุดใช้ครีมทันที ไม่ควรใช้ต่อ และถ้าพบอาการผิดปกติที่ใบหน้าควรเข้าไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาอาการเบื้องต้นทันที ไม่ควรรักษาเองเนื่องจากหากรักษาไม่ถูกวิธีหรือถูกจุดอาการอาจจะหนักมากกว่าเดิมได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 แปลกจริงหนอ ... ขอเสี่ยงสักหน่อย

พฤติกรรมการบริโภคผิดๆ ยังคงเป็นสิ่งที่มีมาเรื่อยๆ พวกผมเลยต้องหาทางรณณงค์ชี้แจงเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจให้ถูกต้องและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม เพราะมิฉะนั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่พฤติกรรมผิดๆ เหล่านี้ บางทีมันก็คาดไม่ถึงหากเราไม่ได้เข้าไปคลุกคลีในกลุ่มพวกเขา “ฉันรู้ว่าครีมหน้าขาวอันตราย แต่ฉันขอใช้” ผมเคยเก็บตัวอย่างครีมทาหน้าจากร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งไปตรวจ ผลปรากฏว่าครีมทาหน้าขาวที่ร้านเสริมสวยแห่งนี้มีไว้จำหน่ายกลับไม่พบสารอันตราย แต่กระปุกที่เจ้าของร้านใช้เองกลับพบสารห้ามใช้ หลังจากพูดคุยสอบถามว่าไม่กลัวอันตรายหรือ เจ้าของร้านตอบว่า “แหม ก็ใช้แล้วหน้ามันขาวขึ้นจริงๆ แต่ก็กลัวอันตรายนะ ฉันเลยปรับวิธีการใช้เป็น 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะได้ไม่อันตราย” เป็นไงครับ เจอเหตุผลแบบนี้ เล่นเอาอึ้ง “หน้ายังขาว แล้วที่อื่นจะเหลือรึ” เรื่องนี้ทราบจากคุณครู อย.น้อย ที่พวกเราชวนท่านมาเป็นภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในโรงเรียน หลังจากคุณครูไปสำรวจพฤติกรรมการใช้ครีมทาหน้าขาวปรากฏว่าไม่พบการใช้ แต่คุณครูแอบสังเกตเห็นว่านักเรียนกลุ่มหนึ่งพกครีมดังกล่าว ซักไปซักมาเลยทราบว่า เด็กเขาไม่ได้เอาไปทาหน้า “หนูไม่ทาหน้าหรอก เพราะมันอันตราย แต่ทารักแร้คงไม่เป็นไรนะคะ มันขาวดี” หนูๆ เขาให้เหตุผล เฮ้อ เด็กหนอเด็ก มันก็อันตรายเหมือนกันล่ะจ้ะ “ลูกกลอนดีๆ ต้องมีคาถา” ชะรอยว่ากระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์การปลอมปนยาสเตียรอยด์ในยาลูกกลอนอย่างได้ผล ปรากฎว่าช่วงหนึ่งพวกผมไปตรวจสอบยาลูกกลอนแผนโบราณ เลยไม่พบสารสเตียรอยด์ แต่คล้อยหลังไม่เท่าไหร่ ดันตรวจเจอยาลูกกลอนสายพันธ์ใหม่มาจำหน่ายอีกแล้ว ยาลูกกลอนรุ่นนี้มีแผ่นทองคำเปลวปิดที่เม็ดยา แถมเอกสารกำกับยาที่แนบมา ก็มีคาถาให้บริกรรมก่อนรับประทานซะอีก เล่นกันแบบนี้เอง มิน่า ถึงได้ขายดีตีตลาด “ตรวจเท่าไหร่ก็ไม่เจอสเตียรอยด์” เจ้ายาลูกกลอนเม็ดนี้ เจ้าหน้าที่ใช้ชุดทดสอบตรวจสเตียรอยด์ตรวจเท่าไหร่ก็ไม่เจอ มาถึงบางอ้อตรงที่ไปตามข้อมูลจากผู้บริโภคที่ซื้อมารับประทาน เลยทราบว่าเขาแอบซื้อมารับประทานเพราะมันโฆษณาว่าลดไขมันได้ เจ้าหน้าที่เลยสุ่มตรวจยาแผนปัจจุบัน สุดท้ายพบยาลดไขมันชนิดแพงๆ ผสมอยู่ มิน่าไขมันถึงได้ลดเอาๆ “ประกายตาใสกิ๊งๆ” ยุคที่เลนส์ตาโต(บิ๊กอาย)กำลังฮิต ผมเข้าไปนั่งเก็บข้อมูลที่ร้านทำแว่นที่คุ้นเคย สังเกตเห็นเด็กนักเรียนวัยรุ่นมาซื้อน้ำตาเทียมหยอดตากันเยอะมาก สอบถามข้อมูลทราบว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้ใส่คอนแท็คเลนส์ อ้าว!แล้วหนูๆ ซื้อน้ำยาชนิดนี้ไปทำอะไร น้องๆ เขาซื้อไปหยอดตาครับ เขาบอกว่าสมัยนี้เขาฮิตตาที่เป็นประกายใสกิ๊งแวววาวสะดุดตา แต่ที่เล่นเอาผมงงคือ เด็กเขาไปเอาเกลือป่นผสมลงไปด้วย นัยว่ามันจะยิ่งให้ประกายตา โคตะระใสกิ๊งขึ้นกว่าเดิมอีก ไม่รู้มันใสเพราะแสบจนน้ำตาไหลออกมาหรือเปล่า เป็นไงครับ พฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริโภคที่เล่ามานี้ บางทีมันก็ ทั้งแปลก ทั้งเสี่ยงจนเราคาดไม่ถึงเลยนะครับ เอาเป็นว่าใครเจออะไรที่มันแปลกๆ เสี่ยงๆ รีบเตือนกันด้วยนะครับ แล้วอย่าลืมมาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วยนะครับ จะได้รีบหาทางกระจายข่าวเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังอันตรายไงครับ

อ่านเพิ่มเติม >