ฉบับที่ 261 เรื่องยุ่งๆ ของซิลิโคนในครีมนวดผม

        สืบเนื่องจากข่าวเรื่อง ผลสำรวจฉลาก "ครีมนวดผม" ของนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่าเจอสารซิลิโคนทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพเส้นผม เช่น ผมร่วง ได้นั้น (ติดตามรายละเอียดได้จากนิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 257) ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามกฎหมายเรื่องเครื่องสำอางนั้น ได้ออกหนังสือชี้แจงว่า         “ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมมักใส่สารในกลุ่มซิลิโคน เช่น สารไดเมทิโคน (Dimethicone) เพื่อคุณสมบัติช่วยเคลือบเส้นผมทำให้เส้นผมนุ่มลื่น ไม่พันกัน โดยสารในกลุ่มซิลิโคนนี้ ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขและปริมาณการใช้เช่นเดียวกับกฎระเบียบสากลด้านเครื่องสำอาง และเนื่องจากครีมนวดผมมีน้ำเป็นส่วนผสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตง่าย จึงมีความจำเป็นต้องใส่สารกันเสีย โดยสามารถใช้สารกันเสียในครีมนวดผมมากกว่า 1 ชนิดได้อย่างปลอดภัยหากใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด...”          ดังนั้นทางนิตยสารฉลาดซื้อจึงขอนำเสนอเรื่องราวของ ซิลิโคน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ได้รับการเฝ้าระวังเพราะถูกใช้ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เพื่อประกอบเป็นความรู้เพิ่มเติมให้กับผู้บริโภค โดย ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระได้ให้ข้อมูลว่า EU ได้กล่าวถึงการเตือนให้ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบเป็น  silicone ชนิด cyclopentasiloxane (D5) ซึ่งมักมีการเจือปนที่ไม่ต้องการของ cyclotetrasiloxane (D4) (Cyclotetrasiloxane (D4) เป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์และสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยมีผลกระทบระยะยาวที่คาดเดาไม่ได้)         Wikipedia ให้ข้อมูลพร้อมเอกสารอ้างอิงว่า สารประกอบซิลิโคนโดยเฉพาะ cyclic siloxanes D4 และ D5 เป็นสารก่อมลพิษในอากาศและในน้ำ และมีผลเสียต่อสุขภาพในสัตว์ทดลอง ใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลต่างๆ The European Chemicals Agency (สำนักงานเคมีภัณฑ์แห่งยุโรป) พบว่า "D4 เป็นสารที่ตกค้างยาวนาน สะสมทางชีวภาพและเป็นพิษ (PBT หรือ persistent, bioaccumulative and toxic) และ D5 เป็นสารที่ตกค้างยาวนานมากและสะสมในสิ่งมีชีวิตมาก (vPvB หรือ very bioaccumulative)"         ในปี 2015 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (SCCS) ของ EU  ระบุว่าระดับของ Cyclotetrasiloxane (D4) ที่เป็นสิ่งเจือปนของ Cyclopentasiloxane (D5) ควรถูกทำให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าต้องการใช้ D5 ในเครื่องสำอาง จากนั้นเมื่อต้นปี 2017 คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้เสนอให้ห้ามใช้ Cyclotetrasiloxane (D4) และ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบล้างออก โดยมีสารอย่างใดอย่างหนึ่ง 0.1% ขึ้นไป การห้ามนี้เมื่อเผยแพร่อย่างเป็นทางการจะครอบคลุมผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แชมพู ครีมนวด เจลอาบน้ำ ฯลฯ         ผู้ผลิตสินค้าจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า Cyclopentasiloxane (D5) ที่ใช้ในการผลิตสินค้ามีความบริสุทธิ์สูงสุด (99%) และไม่มี Cyclotetrasiloxane (D4) พร้อมทั้งวางแผนที่จะปรับสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบล้างออกด้วย Cyclopentasiloxane โดยลดปริมาณลงถึง 0.1% หรือโดยการแทนที่ด้วยซิลิโคนชนิดอื่น         รายงานฉบับสุดท้ายเรื่อง  the Opinion on decamethylcyclopentasiloxane (cyclopentasiloxane, D5) in cosmetic products ของ EU (รับรองในการประชุมเมื่อ 25 มีนาคม 2015) ให้ข้อมูลว่า SCCS (Scientific Committee on Consumer Safety) พิจารณาว่า การใช้ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีความปลอดภัยในระดับความเข้มข้นที่รายงานได้ศึกษา ยกเว้นการใช้ในสเปรย์แต่งผมและผลิตภัณฑ์สเปรย์กันแดด         โดยแท้จริงแล้วการใช้ในสเปรย์แต่งผมและผลิตภัณฑ์สเปรย์กันแดดที่ความเข้มข้นสูงสุดที่ผู้ผลิตกำหนดในวิธีใช้และตามสมมติฐานที่ SCCS มีอยู่สรุปได้ว่า การสัมผัสกับ D5 อาจทำให้ความเข้มข้นของอากาศสูงกว่าค่าที่ SCCS พิจารณาว่า D5 อาจเป็นพิษเฉพาะที่ในตำแหน่งที่ถูกพ่น การสัมผัสกับ D5 ที่มาจากผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับการจัดแต่งผมยังทำให้เกิดการสัมผัสรวมในระดับสูงซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้มข้นในอากาศที่สูงกว่าค่าที่ SCCS พิจารณาว่าปลอดภัย ความคิดเห็นนี้ไม่ครอบคลุมถึงการใช้ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก             Cyclopentasiloxane (D5) อาจมีการปนเปื้อนของ Cyclotetrasiloxane (D4) ซึ่งในสหภาพยุโรปจัดว่า เป็นพิษต่อการสืบพันธุ์ ดังนั้นระดับการปนเปื้อนของ Cyclotetrasiloxane (D4) ใน Cyclopentasiloxane (D5) ควรต่ำที่สุด SCCS ทราบดีว่ามีการเสนอข้อจำกัดเกี่ยวกับ D4 และ D5 ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (personal care) ภายใต้ระเบียบการเข้าถึงอันเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม         ประเด็นคือ เครื่องสำอางในไทยยี่ห้อใดบ้างที่มีองค์ประกอบเป็น D5 และมี D4 (ปนเปื้อน) น่าจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแล หรือนิตยสารฉลาดซื้อน่าจะได้มีการเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 มีอะไรน่าสนใจใน “ครีมนวดผม”

        ในทุก ๆ วัน เส้นผมของเราต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผมเสียได้มากมาย ทั้งแสงแดด ฝุ่นควัน ความร้อนจากการเป่าและหนีบผม รวมถึงสารเคมีจากการทำสีผม ไฮไลต์ผม และดัดผมอีกด้วย หลายคนจึงนิยมเลือกใช้ “ครีมนวดผม” มาปรับสภาพเส้นผมหลังการสระผม เพื่อให้เส้นผมอ่อนนุ่ม ไม่พันกัน หวีง่าย อีกทั้งช่วยฟื้นฟูและดูแลสุขภาพผมให้ดีขึ้น         ในปี 2564 ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมในประเทศไทย เติบโต 5.6% มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดถึง 74% (Euromonitor, 2021) ส่วนในรายงานการตลาดระดับโลกพบว่า ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมและทรีตเมนต์มีมูลค่าการขายเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2563 (Kantar, 2022)         ครีมนวดผมแต่ละยี่ห้อที่มีหลากหลายสูตรให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นสำหรับผมแห้งเสีย ขจัดรังแค ลดผมขาดหลุดร่วง หรือสูตรพิเศษสำหรับผมทำสีก็ตาม มักจะมีสารซิลิโคนและสารกันเสียเป็นส่วนประกอบพื้นฐานอยู่ ดังนั้นหากผู้บริโภคใช้ครีมนวดผมเป็นประจำอาจเสี่ยงสัมผัสสารเคมีเหล่านั้นเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน          นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ครีมนวดผม” จำนวน 12 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อสำรวจฉลากว่า มีสารเคมีหรือสารกันเสียที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         ซิลิโคน (Silicone) เป็นสารโพลิเมอร์ใช้เติมลงในครีมนวดเพื่อให้ผมลื่น หวีง่าย เคลือบเส้นผมให้เงางาม แต่ล้างออกยาก จึงเกิดการสะสมอยู่ที่เส้นผมและหนังศีรษะ ใช้บ่อยๆ เส้นผมจะลีบแบนและเป็นมันเยิ้ม ซึ่งสารซิลิโคนที่ตกค้างอาจจะไปอุดตันรูเส้นผม ทำให้เซลล์ผมทำงานผิดปกติ การขับของเสียและดูดซึมสารอาหารลดลง และหากใช้ไปนานๆ จะทำให้ผมร่วงได้         สารกันเสียในครีมนวดผมที่ควรระวังมีดังนี้พาราเบน (Parabens) : มีรายงานว่าอาจเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลให้เป็นมะเร็ง         ฟอร์มาดีไฮด์ (Formaldehyde) : หากสัมผัสสารในปริมาณมากอาจทำให้เกิดผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน จนถึงผิวหนังไหม้ เป็นผื่นอักเสบและติดเชื้อได้         อิมิดาโซลิตินิล ยูเรีย (Imidazolidinyl urea) : อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบ และมีอันตรายจนสามารถทำลายเซลล์ผิวได้         เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone : MIT) : หากเกิดอาการแพ้จะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงควบคุมให้ใช้ในความเข้มข้นตามที่กำหนด และอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วล้างออกเท่านั้น         พีน็อกซี่เอทานอล (Phenoxyethanol) : พบได้ในครีมนวดผมที่มีส่วนผสมของน้ำหอม มีคุณสมบัติทำให้กลิ่นหอมคงตัว ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ได้ไม่เกิน 1.0 % หากสัมผัสกับผิวในปริมาณที่มากอาจทำให้ผิวแพ้ ระคายเคือง และเกิดผดผื่นได้ผลการสำรวจฉลาก “ครีมนวดผม”        -        พบสารซิลิโคนทั้ง 12 ตัวอย่าง        -        ไม่พบ พาราเบน ฟอร์มาดีไฮด์ และอิมิดาโซลิตินิล ยูเรีย        -        พบเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (MIT) ใน 7 ตัวอย่าง  คิดเป็น 58.33 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -        พบพีน็อกซี่เอทานอล ใน 8 ตัวอย่าง คิดเป็น 66.67 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -        เมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ  1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเคลียร์ แอนตี้แดนดรัฟ สกาล์ป แคร์ คอนดิชันเนอร์ ไอซ์คูล เมนทอล แพงสุดคือ 0.61 บาท ส่วนยี่ห้อซันซิล แดเมจ รีสโตร์เซรั่มคอนดิชันเนอร์ แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น ถูกสุดคือ 0.16 บาท ข้อสังเกต                                -        สารกลุ่มซิลิโคนที่พบในตัวอย่างนี้ส่วนใหญ่เป็น Dimethicone รองลงมาคือ Amodimethicone และ Dimethiconol ตามลำดับ        -        ยี่ห้อเคลียร์ แอนตี้แดนดรัฟ สกาล์ป แคร์ คอนดิชันเนอร์ ไอซ์คูล เมนทอล ไม่พบสารกันเสียที่ควรระวังตัวใดเลย        -        มี 4 ตัวอย่างที่พบสารกันเสียทั้งเมทิลไอโซไทอะโซลิโนนและพีน็อกซี่เอทานอล        -        ทุกตัวอย่างระบุวันที่ผลิต แต่มี 4 ตัวอย่างที่ไม่ระบุวันหมดอายุ ฉลาดซื้อแนะ                -        เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย และมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด คือ ชื่อผลิตภัณฑ์ประเภทสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและสถานที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและปริมาณสุทธิ        -        ซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ยีสต์และราสูงเกินกำหนด โดยหากเรานำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้ อาจทำให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่อักเสบเป็นสิว แผล และเกิดการติดเชื้อได้        -        สังเกตฉลากบนผลิตภัณฑ์เพื่อดูส่วนผสมของสารกันเสียต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว หรือหากใช้ไปแล้วเกิดอาการแพ้ใดๆ ควรหยุดใช้ทันที หรือไปพบแพทย์เพื่อหาว่าแพ้สารชนิดใด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารชนิดนั้นอีกต่อไป        -        หากครีมนวดผมที่ใช้อยู่มีซิลิโคนและสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ เราจะต้องล้างครีมนวดผมออกให้เกลี้ยงทุกครั้ง เพื่อไม่ให้สารเหล่านั้นตกค้างและสะสมมากจนเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมาได้        -        ครีมนวดผมจะมีอายุ 2 - 3 ปี ไม่ควรซื้อครีมนวดผมที่ใกล้หมดอายุ โดยเฉพาะต้องดูให้ดีๆ เวลามีโปรโมชั่นลดราคาเยอะๆ เพราะอาจใช้ไม่ทันวันหมดอายุ จนเหลือทิ้ง กลายเป็นซื้อแพงโดยใช่เหตุ          -        เมื่อต้องการเปลี่ยนครีมนวดผมยี่ห้อใหม่ อาจซื้อแบบซองมาลองใช้ก่อน เพื่อดูว่าแพ้ไหม ใช้แล้วเหมาะกับสภาพผมและได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือเปล่า หากใช้ได้ผลดีค่อยซื้อขวดใหญ่คุ้มกว่า        -        ลองทำครีมนวดผมโฮมเมดง่ายๆ จากสมุนไพรอย่างมะกรูด อัญชัญ และวัตถุดิบในครัวเช่น ไข่ไก่ โยเกิร์ต กล้วย น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น ค้นหาวิธีทำได้จากเว็บไซต์และยูทูบต่างๆ มีหลายสูตรมากข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 185 ครีมนวด-ครีมหมักผม จำเป็นแค่ไหนhttps://marketeeronline.co/archives/266777https://www.komchadluek.net/news/521385

อ่านเพิ่มเติม >