ฉบับที่ 276 “รอยสิว” แก้ยังไงดี

        “รอยสิว” ไม่ใช่เรื่องสิวๆ เอาเสียเลย ยิ่งถ้ามันเยอะจนเกินไป ยิ่งเป็นเรื่องกวนใจอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะมันทำให้ผู้ประสบปัญหาขาดความมั่นใจได้ไม่ว่าจะเป็นรอยดำ รอยแดงหรือหลุมสิวที่ทิ้งร่องรอยไว้บนหน้า แต่มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนเป็นสิว อย่างไรก็ตามก็พอมีวิธีการรักษา ดูสิว่าทำอย่างไรได้บ้าง           ก่อนที่จะไปรักษารอยสิว สิ่งที่ไม่ควรทำและหลีกเลี่ยง มีดังนี้         ·  เวลาเป็นสิวไม่ว่าจะสิวอุดตันหรือสิวอักเสบ ห้ามแกะ/บีบสิว หรือกดสิวเอง ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้กดเท่านั้น        ·  ไม่ขัดถู สครับใบหน้าแรงๆ เพื่อไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง         · ไม่ควรนำส่วนผสมต่างๆ ที่เป็นกรดแรงๆ มาแต้มสิวเพราะอาจเกิดอาการไหม้ได้จนทำให้เป็นรอยดำมากกว่าเดิมวิธีการรักษารอยดำ แดง จากสิว                   รอยสิวต่างที่เกิดขึ้นหลังจากที่สิวหายแล้วนั้น หากเป็น “รอยแดง” และ “รอยดำ” บริเวณบนใบหน้าจะรักษาได้ง่าย นั่นคือต้องขยันทาครีมหรือเจลลดรอยสิวอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถใช้พวกผลิตภัณฑ์ช่วยลดรอยดำจากสิวที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปได้ แต่จะให้ดีเลือกตัวที่มีกลุ่มสารประกอบ เช่น ไนอะซินาไมด์ วิตามินซี  กรดซาลิไซลิก(กลุ่มผลัดเซลล์ผิว) หรืออาร์บูติน โดยเลือกที่มีส่วนผสมที่มาจากสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น ว่านหางจระเข้ มะเขือเทศ หอมแดง เป็นต้น อ่านฉลากให้ละเอียดเพื่อดูส่วนผสมต่างๆ ให้ดีเพื่อป้องกันที่จะแพ้ส่วนผสมบางตัว และอย่าลืมดูวันเดือนปีที่หมดอายุ รายละเอียดวิธีการใช้ ชื่อบริษัทที่ผลิต/จัดจำหน่าย                          ในส่วนของสารกลุ่มผลัดเซลล์ผิวแน่นอนว่าสามารถช่วยลดรอยได้แต่ควรระมัดระวังการใช้ให้ถูกวิธี อ่านฉลากก่อนซื้อทุกครั้งว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับอะไร เนื่องจากผลิตภัณฑ์กลุ่มผลัดเซลล์ผิวบางตัวใช้เป็นกลุ่มรักษาสิว ซึ่งหากนำมาใช้ลดรอยโดยเฉพาะนั้น คงจะไม่เหมาะเพราะใช้ผิดวัตถุประสงค์และอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้มากกกว่าเดิม จากหน้าที่ดีขึ้นอาจจะกลายเป็นแย่ลงได้นั่นเอง                 นอกจากนี้ อย่าลืมทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ทุกตัว และที่สำคัญควรทามอยเจอร์ไรเซอร์รวมถึงครีมกันแดดในช่วงระหว่างรักษารอยดำ แดง เพื่อป้องกันแสงแดดทำร้ายผิวให้หมองคล้ำกว่าเดิม ควรเป็นกันแดดที่มีประสิทธิภาพดี เช่น มี SPF 50+ ขึ้นไป         หากผู้บริโภคมีรอยสิวเยอะมากและรู้สึกว่าใช้ผลิตภัณฑ์ลดรอยแล้วแต่ก็ไม่ช่วยอะไร อีกวิธีที่ช่วยลดรอยให้เร็วขึ้น คือ การทำเลเซอร์ลดรอย ซึ่งส่วนมากจะนิยมใช้เป็นตัวเลเซอร์ IPL (ปัจจุบันอาจมีเลเซอร์ตัวอื่นที่สามารถช่วยได้เช่นเดียวกัน) การเข้าใช้บริการรักษาด้วยเลเซอร์จากคลินิกเสริมความงาม ควรตรวจสอบให้ดีเกี่ยวกับรายละเอียดใบอนุญาตคลินิก สอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายหรือวิธีการรักษาให้ชัดเจน และรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น         กรณี รอยหลุมสิว หรือรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว เป็นรอยที่รักษายากพอสมควร ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีครีมตัวไหนรักษาให้กลับมาเนียนเหมือนเดิมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ วิธีเดียวคือการเลเซอร์เท่านั้น ดังนั้นหากใครที่ดูรีวิวจากบรรดาอินฟลูเอนเซอร์แล้วมีการเคลมว่ามี ครีมสามารถรักษาหลุมสิวให้หายได้อย่างรวดเร็ว 3-7 วัน อย่าหลงเชื่อนะคะ  ข้อมูลจาก วิธีรักษาและลบรอยสิว - พบแพทย์ (pobpad.com)https://ch9airport.com/th รอยดำหลังการเกิดสิว รักษาอย่างไรดีhttps://www.si.mahidol.ac.th/metc/met/th/images/exhibition/METex2022/Acne/scar.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับ “เด็ก”

        ฤดูร้อนไม่เคยหายไปจากบ้านเรา แม้ในวันที่มีเมฆมากก็ไม่ได้แปลว่าเราจะรอดพ้นจากรังสียูวี โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ผู้ปกครองพาไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงปิดเทอม ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับเด็กที่มีค่า SPF ไม่ต่ำกว่า 50+         องค์กรที่ส่งตัวอย่างเข้าทดสอบในครั้งนี้คือองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย ฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน หลายยี่ห้อมีจำหน่ายในบ้านเราหรือสั่งซื้อได้ออนไลน์  คราวนี้เรามีมาให้เลือก 20 ผลิตภัณฑ์ ทั้งแบบโลชัน สเปรย์ และแบบแท่ง เช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา เราแบ่งคะแนนการทดสอบออกเป็น 4 ด้านดังนี้        ร้อยละ 65       ประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA/UVB และ UVA ratio (ทดสอบในห้องปฏิบัติการ)        ร้อยละ 20       ความพึงพอใจของผู้ใช้ เช่น เปิดใช้ง่าย ทาง่าย ซึมลงผิวเร็ว ไม่เหนียว ไม่ทิ้งคราบ         ร้อยละ 10       ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ส่วนผสมที่ไม่ทำลายธรรมชาติ บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดมากเกินไป สามารถนำไปรีไซเคิลได้ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้หมด ไม่มีตกค้าง เป็นต้น)         ร้อยละ 5         ฉลากที่ถูกกฎหมายและเป็นมิตรต่อผู้บริโภค          ในภาพรวมเราพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่างกันมากนักในเรื่องประสิทธิภาพการป้องกันแดดและความพึงพอใจของผู้ใช้ (ส่วนใหญ่ได้คะแนนระดับสี่ดาวขึ้นไป ยกเว้นผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนรวมน้อยกว่า 50) เมื่อเทียบกับครั้งก่อน ผู้ผลิตมีการปรับปรุงเรื่องของฉลากดีขึ้นมาก อย่างน้อยร้อยละ 50 มีการแสดงฉลากที่ดีขึ้น แต่ยังต้องปรับปรุงอีกมากในเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ยังได้คะแนนเพียงหนึ่งหรือสองดาวเท่านั้น            “ข่าวดี” คือเราไม่พบพาราเบนหรือสารเคมีที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDCs) และมีเพียงสามผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่มีค่า SPF ต่ำกว่าที่ระบุในฉลาก นอกจากนั้นเรายังพบว่าราคาของผลิตภัณฑ์ไม่ได้ยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเสมอไป ตัวที่ได้คะแนนสูงที่สุดสามอันดับแรกมีราคาไม่เกิน 5 บาทต่อหนึ่งมิลลิลิตร ในขณะที่ตัวที่มีราคามิลลิลิตรละ 16 บาทนั้นเข้ามาที่อันดับเก้า อีกข้อสังเกตคือมีความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตรายเดียวกันจะมีประสิทธิภาพในระดับที่ต่างกันด้วย         หมายเหตุ  ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในร้านค้าออนไลน์ และคำนวณจากหน่วยเงินในประเทศต้นทาง เช่น ยูโร หรือปอนด์  โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 274 ภัยครีมผิวขาวผิดกฎหมาย

ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการทดสอบเครื่องสำอางที่ขายผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์พบสารห้ามใช้ 8 รายการ อาทิ ปรอท สารสเตียรอยด์ ที่อาจทำให้เกิดการแพ้ เกิดฝ้าถาวร เสี่ยงพิษร้ายแรง  ทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2566 ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) EcoWaste Coalition จากประเทศฟิลิปปินส์ และเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IPEN-SEA) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคมจากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่ติดตามปัญหามลพิษในระดับนานาชาติ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่  6 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเรียกร้องให้ อย. เปิดเผยรายชื่อรายการเครื่องสำอางที่ปนเปื้อนสารปรอทที่มีการเพิกถอนแล้วให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงขอให้นำระบบการแจ้งเตือนภายหลังออกสู่ท้องตลาดของอาเซียน (ASEAN Post-Marketing Alert System: PMAS) มาใช้แจ้งเตือนหน่วยงานรัฐและผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนให้ทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะที่ปนเปื้อนสารปรอทและสารต้องห้าม หรือสารควบคุมอื่นๆ  “ได้โปรดดำเนินการจัดการผู้กระทำความผิด เพื่อยุติการขายเครื่องสำอางที่มีการปนเปื้อนของสารปรอทอย่างผิดจริยธรรมและกฎหมาย และเพื่อปกป้องสิทธิทางสุขภาพที่ดีและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ไร้มลพิษ”         เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์ EcoWaste Coalition  ตรวจพบการปนเปื้อนของสารประกอบของปรอทนั้น ได้แก่       ครีมเลดี้โกลด์ สาหร่ายทองคำ ผสมกลูต้า, ครีม Super Gluta Brightening, ครีมหมอยันฮี จำนวน 5 สูตร (Dr. Yanhee), ครีม Dr. วุฒิ-ศักดิ์ จำนวน 2 สูตร (Dr. Wuttisak), ครีมสมุนไพรสาหร่ายเหมยหยง ซุปเปอร์ไวท์เทนนิ่ง (Meyyong Seaweeds Super Whitening), ครีมพอลล่าโกลด์ (Polla Gold Super White Perfects), ครีมไข่มุกนาโน (White Nano), ครีมบำรุงหน้า 88 สูตรกลางคืน (88 Whitening Night Cream), ครีมรักแร้ขาว 88 (88 Total White Underarm Cream) และครีมรักแร้ขาว สโนว์ไวท์ (Snow White Armpit Whitening Underarm Cream) ซึ่งพบสารปรอทในปริมาณที่สูงมากระหว่าง 2,486 ppm ไปจนถึง 44,540 ppm และทุกตัวอย่างฉลากระบุว่า “ผลิตในประเทศไทย”          ต่อมาทาง อย.ได้สื่อสารต่อสาธารณะในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 โดย ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ว่า  “อย. ตรวจสอบพบว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง 13 รายการ จดแจ้งแล้ว 1 รายการ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีการกระทำผิดหรือลักลอบใส่สารห้ามใช้ จะถูกดำเนินการตามกฎหมายและประกาศผลวิเคราะห์ทันที สำหรับเครื่องสำอางเถื่อน อย. จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหาแหล่งผลิตและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” ในไทยก็ขายเกลื่อน         จากข้อสรุปข้างต้นคือ เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบการปนเปื้อนสารประกอบของสารปรอทนั้น เกือบทั้งหมดเป็นเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ไม่มีการกำกับเบื้องต้นจากหน่วยงาน อย. หรือไม่มีเลขจดแจ้ง (เครื่องหมาย อย.สำหรับเครื่องสำอาง) สำหรับ 1 ตัวอย่างที่พบเลขจดแจ้ง ต้องรอดูว่า ทาง อย.จะดำเนินการอย่างไร จะยกเลิกสถานะและดำเนินคดีทางกฎหมายหรือไม่         อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง ตั้งข้อสังเกตว่า แล้วทำไมสินค้าเครื่องสำอางปลอมจึงระบาดไกลไปถึงฟิลิปปินส์ และในประเทศไทยจะยังมีวางขายหรือไม่ หาซื้อง่ายหรือไม่  จึงได้ทดลองหาซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทอ้างว่าทำให้ผิวขาวหรือครีมผิวขาวผิดกฎหมาย โดยตั้งใจตามหายี่ห้อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ทางเอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบว่ามีการปนเปื้อนสารประกอบของปรอท ในเดือนมีนาคม 2566 หลังจากนั้นเพื่อยืนยันในเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปรากฎแลขจดแจ้ง หรือจะเรียกอีกอย่างว่า เป็นสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ มีการใส่สารต้องห้าม อย่างปรอทจริงหรือไม่ (เมื่อจำหน่ายในประเทศ) ฉลาดซื้อและมูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงได้ทดสอบผลิตภัณฑ์จำนวน 12 ตัวอย่างที่เก็บตัวอย่างมา โดยทดสอบด้วย  ชุดตรวจปรอทในเครื่องสำอางเบื้องต้น (Mercury test kit in cosmetic)    พบว่า มีสารประกอบของปรอททุกตัวอย่าง ในไทยก็ขายเกลื่อน         จึงฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภค อย่าซื้อ อย่าใช้เครื่องสำอางผิดกฎหมาย ถ้าไม่แน่ใจเลขจดแจ้งที่ผู้ผลิตระบุ ตรวจสอบได้ที่  https: //oryor.com/check-product serial ลิ้งก์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) (oryor.com)  อันตรายของเครื่องสำอางที่มีการพบสารปรอท อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ       ข้อแนะนำ         1.ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน น่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน         2.ฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทเครื่องสำอาง ชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือปีเดือนที่ผลิต คำเตือน (ถ้ามี) และเลขที่ใบรับจดแจ้ง         3.กรณีที่พบผลิตภัณฑ์ ที่สงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ                   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 การดูแล “ส้นเท้าแตก”

        ปัญหาผิวหนังที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือ อาการส้นเท้าแตก ซึ่งแม้มันจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดอะไรมากมาย หรืออันตรายต่อสุขภาพ แต่มักสร้างความรำคาญแถมอาจทำให้เสียความมั่นใจในการโชว์เท้าสวยๆ ของตัวเอง        สาเหตุในการเกิด “ส้นเท้าแตก” อาจจะเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่คือความเสี่ยงด้านพฤติกรรมต่างๆ  เช่น  การไม่สวมรองเท้าและเดินเท้าเปล่าบ่อยจนเกิดการเสียดสีมากๆ  อากาศที่แห้งหรือหนาวเย็นหากบริเวณส้นเท้าไม่ทาครีมก็ทำให้ขาดความชุ่มชื่นจนเท้าแตกได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม บางคนอาจเกิดจากการอาบน้ำอุ่นเป็นประจำ หรือแพ้สารเคมี ส่วนสาเหตุที่อาจพบไม่บ่อย คือ เกิดจากอาการป่วยหรือโรคที่เป็นนั้นเอง         ทั้งนี้ เรื่องอายุที่มากขึ้นก็เช่นกัน เมื่อเรามีอายุมากขึ้นจะมีผิวแห้งกร้านกว่าวัยหนุ่มสาว บริเวณที่เสียดสีกับปัจจัยต่างๆ ข้างต้น จะยิ่งเร่งให้ส้นเท้าแตกง่ายขึ้น  แล้วเราควรจะดูแลส้นเท้าแตกของเราอย่างไร การดูแลส้นเท้าแตก        ·     เลือกทาครีมบำรุงบริเวณส้นเท้าที่ให้ความชุ่มชื้นเยอะๆ หรืออาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มให้ความชุ่มชื้น เช่น  ยูเรีย กลีเซอลีน สามารถทาและสวมถุงเท้าก่อนนอนได้เลย        ·     เรื่องการรักษาสุขอนามัยก็สำคัญ สามารถทำความสะอาดด้วยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นแต่ไม่ควรเป็นน้ำที่ร้อนจนเกินไปเพราะจะทำให้เสียความชุ่มชื้นได้ ไม่ควรแช่นานจนเกินไป หลังจากนั้น สามารถนำหินมาขัดส้นเท้าเบาๆ ได้ เพื่อนำเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก ทั้งนี้ ไม่ควรขัดแรงๆ อีกด้วย ควรขัดเบาๆ ก็พอ        ·     เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ทำร้ายผิว ไม่แห้งตึง  หรือเป็นกรดด่างเกินไป เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนหรือมีมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นส่วนผสมยิ่งดี แนะนำให้อ่านฉลากส่วนผสมก่อนซื้อทุกครั้ง        ·     ในส่วนของคนที่ชอบถอดรองเท้า เดินเท้าเปล่า แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใส่รองเท้าทุกครั้ง ก่อนเดินไปที่พื้นเพื่อป้องกันการเสียดสี เปลี่ยนจากรองเท้าแตะเป็นรองเท้าหุ้มส้นได้ยิ่งดี แต่ก็ไม่ควรเป็นรองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป        ·     การดื่มน้ำเป็นประจำวันละ 8 แก้ว ก็เป็นตัวช่วยจากภายในสู่ภายนอกได้         นอกจากนี้ อย่าลืมสังเกตตัวเองด้วยว่าปัญหาส้นเท้าแตกของตัวเองที่เกิดนั้น มาจากสาเหตุใด  แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤกรรม         อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บางคนอาจจะเป็นมากถึงขนาดส้นเท้าแตกลาย หรือมีอาการเจ็บเป็นแผลลึก แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และหากเป็นผลข้างเคียงมาจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ด้วยยิ่งต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง เพราะแพทย์จะเลือกทำการรักษาให้เหมาะสมกับอาการ อาจจะจ่ายยารับประทาน ยาทาผิวหรือต้องผ่าตัดเอาเนื้อตายออก เป็นต้น ข้อมูลจาก Hello คุณหมอ : วิธีแก้ส้นเท้าแตก และวิธีดูแลส้นเท้าไม่ให้แห้งแตกPobPad :  ส้นเท้าแตก สาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 268 ผลิตภัณฑ์กันแดด 2023

        ได้เวลานำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดดประจำปีกันอีกครั้ง ระหว่างที่บ้านเราเข้าสู่ฤดูฝน (แต่แดดจ้าไม่เคยหายไป) ทางยุโรปกำลังเข้าสู่ฤดูร้อนและเป็นช่วงที่ผลิตภัณฑ์นี้กำลังเป็นที่ต้องการ เรามีผลิตภัณฑ์กันแดดทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ในรูปแบบของครีม โลชัน และสเปรย์ ที่มีค่า SPF30 และ SPF50+ ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศในยุโรปร่วมกันส่งเข้าทดสอบมาฝากสมาชิก ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงคัดเลือกมาเพียง 24 ผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนในลำดับต้นๆ เท่านั้น คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้ร้อยละ 65       ประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA/UVBร้อยละ 20       ความพึงพอใจของผู้ใช้ (เช่น ไม่เหนอะหนะ ไม่ทิ้งคราบ)ร้อยละ 10       ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร้อยละ 5         ฉลากเป็นมิตรต่อผู้บริโภค        ในภาพรวมเราพบว่าคะแนนประสิทธิภาพในการกันแดดและความพึงพอใจของผู้ใช้ ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่างกันมากนัก (ทั้งหมดจัดอยู่ในระดับ 4 ดาวขึ้นไป)  แต่ก็มีผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อที่ต้องปรับปรุงเรื่องฉลากและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเคลมเกินจริงหรือเคลมในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้  ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เราทดสอบไม่มีสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDCs) และไม่มีพาราเบน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก แต่เราก็พบว่าค่า SPF ที่แจ้งไว้นั้น มีทั้งที่เกินและขาดจากค่าที่วัดได้จริงในห้องปฏิบัติการ ที่ให้มาเกินเราไม่ว่า แต่ก็มีอย่างน้อย 6 ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF น้อยกว่าที่แจ้งไว้บนฉลากผลการทดสอบยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ราคาแพงเพื่อดูแลผิวหนังก่อนออกเผชิญแสงแดด พลิกหน้าถัดไปเพื่อหาครีม/สเปรย์กันแดดที่ถูกใจคุณได้เลย         ·     ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในร้านค้าออนไลน์ และคำนวณจากหน่วยเงินในประเทศต้นทาง เช่น ยูโร ปอนด์อังกฤษ หรือแดนิชโครน เป็นต้น โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 267 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2566

พบ “สเตียรอยด์” ในสินค้ายี่ห้อ “โสมผสมกระชายดำ ตราเทพี”         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรโสมผสมกระชายดำ ตราเทพี เลขสารบบอาหาร 40-2-00658-2-0012 โดยในฉลากได้ระบุว่า คือ “ชา สมุนไพร ตราเทพี  มีสรรพคุณกล่าวอ้างว่า แก้ปวดตามข้อ ปวดหลัง ปวดเอว โรคเก๊าท์ รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ กระดูกทับเส้นประสาท ... มีเลขวันผลิต 30/12/22 และหมดอายุ  30/12/24  เมื่อนำมาตรวจสอบด้วยชุดทดสอบสเตียรอยด์พบว่า มีการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ เมื่อตรวจสอบสถานะผลิตภัณฑ์ได้มีการยกเลิกโดยผู้ประกอบการตั้งแต่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564  โดยเลขสารบบอาหารดังกล่าวอยู่ที่ จ.ขอนแก่น อย.จึงได้ประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นเพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังหากมีการกระทำผิดจะดำเนินตามกฎหมาย พร้อมเตือนให้ผู้บริโภคอย่าซื้อมารับประทาน  การบินไทยห้ามนำ “กระเป๋า-ยานพาหนะ มีแบตเตอรี่ลิเธียม” ขึ้นเครื่อง         การบินไทยประกาศออกมาทางเพจเฟซบุ๊ก “Thai Airways” กรณีห้ามนำกระเป๋าเดินทางหรือยานพาหนะที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมขึ้นเครื่องบิน  โดยทางการบินไทยได้มีการระบุข้อความดังนี้ เรียนท่านผู้โดยสาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอเรียนให้ท่านผู้โดยสารทุกท่านทราบว่าบริษัทฯ ไม่รับกระเป๋า Smart Baggage ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ลิเธียม ในลักษณะดังนี้        1.สัมภาระถือขึ้นเครื่อง (Carry on) และสัมภาระลงทะเบียน (Checked Baggage) ที่ติดตั้งแบตเตอรี่แบบที่ถอดไม่ได้ และมีกำลังไฟเกิน 2.7 วัตต์ *ไม่รับในทุกกรณี           2.ยานพาหนะขนาดเล็กส่วนบุคคลที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมในการขับเคลื่อน , Segway         3.กระเป๋าที่มีมอเตอร์ขับเคลื่อน หรือมีลักษณะใกล้เคียงกัน กระเป๋าเดินทางที่ขี่ได้ Motorize Baggage, Rideable Carry-On Baggage         ทั้งนี้ ทางการบินไทยยังระบุว่าอีกว่า ทางการบินไทยไม่รับผิดชอบการจัดเก็บ/การรับฝากสิ่งของทุกประเภทที่ไม่อนุญาตให้นำไป  จับแหล่งขายซากเนื้อสัตว์ ฟอร์มาลีน-โซดาไฟ         26 พฤษภาคม 2566 ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการสืบทราบถึงกรณีการลักลอบการนำเข้าซากสัตว์แบบผิดกฎหมายในพื้นที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี จึงได้มีการประสานนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารผิดกฎหมายพบว่า มีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผลิตไส้ตัน หมึกกรอบ สะไบนาง และนำไปส่งขายที่ร้านหมูกระทะในพื้นที่ และในจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังตรวจพบซากเนื้อสัตว์ เช่น  ไส้ตันแช่แข็ง ระบุว่านำเข้าจากเยอรมันนี จำนวน 39 กล่อง 500 กก. ไส้ตันแปรรูปแช่สารโซดาไฟ และฟอร์มาลิน จำนวน 1 ถัง น้ำหนัก 200 กก. สไบนางแช่สารโซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และฟอร์มาลิน จำนวน 2 ถัง น้ำหนัก 400 กก. และหมึกกรอบแช่สารฟอร์มาลิน จำนวน 1 ถัง น้ำหนัก 100 กก.         นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ซากสัตว์ทั้งหมดไม่พบเอกสารรองรับและไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ตามกฎหมาย ทั้งยังตรวจพบสารฟอร์มาลินในน้ำแช่สไบนาง ไส้ตัน และหมึกกรอบ ในการทดสอบด้วยชุดทดสอบฟอร์มาลินเบื้องต้น         ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ยึดและอายัดสินค้าจำนวนกว่า 1,200 กก รวมทั้งให้ผู้ประกอบการนำเอกสารมาแสดงหากไม่นำมาทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป  เตือนนักเรียนแบกกระเป๋าหนัก เสี่ยงกระดูกสันหลังคด         นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยว่า เด็กนักเรียนไม่ควรแบกกระเป๋าน้ำหนักเกิน 10-20% ของน้ำหนักตัว เนื่องจากการแบกกระเป๋าหนักมาก อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อของร่างกาย โดยจะมีอาการปวดที่บ่า ต้นคอ ซึ่งคือสาเหตุของการปวดหลังเรื้อรัง ส่งผลให้มีบุคลิกภาพที่ผิดปกติ เช่น หลังค่อม ไหล่และเชิงกรานไม่สมดุลกัน ทั้งนี้ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก  และแนะนำให้ผู้ปกครองคอยสังเกตอาการโรคกระดูกคดเอียงอีกด้วย         ส่วนเด็กที่ถือกระเป๋ารูปแบบหิ้ว สะพายข้าง หากมีน้ำหนักเอียงไปทางใดทางหนึ่งเพื่อรับน้ำหนักตัวเราจะเอียงตามทำให้บุคลิกภาพเราจะเป็นไปตามนั้น  ส่วนกล้ามเนื้อก็จะพัฒนาไปในลักษณะนั้นๆ ซึ่งเมื่อคนเราปกติใช้ร่างกายด้านใดด้านหนึ่งก็จะทำงานหนักมากกว่าปกติและส่งผลต่อการเจริญเติบของเด็กได้ มพบ. เสนอ อย. ให้ควบคุมจดแจ้งเครื่องสำอางที่เคยถูกห้ามขาย ครีมผิวขาวเพิร์ลลี่         จากกรณีที่มีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากครีมผิวขาว “เพิร์ลลี่” และให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือด้านคดีนั้น ล่าสุดทางศาลอุทธรณ์มีคำสั่งห้ามขายครีมผิวขาวเพิร์ลลี่แล้วแต่ปัจจุบันทางมูลนิธิฯ ยังคงพบว่ามีจำหน่ายอยู่ในทางออนไลน์         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษา “ห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ชื่อ เพิร์ลลี่ อินเทนซีฟ ไวท์ โลชั่น เลขที่จดแจ้ง 10-1-5733777 และเพิร์ลลี่ อินเทนซีฟ ไวท์ ชั่น พลัส เลขที่จดแจ้ง 10-1-5749866” แต่ทางมูลนิธิฯ ยังพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการเปลี่ยนเลขจดแจ้งใหม่ เป็น “โลชั่นเพิร์ลลี่ (อินเซ็นทีฟไวท์ ครีม สูตร พลัส x 2) Pearly Lotion Intensive WCream PlusX2”  และ โลชั่นเพิร์ลลี่ (อินเทนซีฟครีม) Pearly Lotion Intensive Cream ข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ค. 66 )         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันเป็นหูเป็นตา พบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แจ้งรายละเอียดมายังช่องทางต่างๆ ของมูลนิธิฯ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังให้ผู้บริโภคปลอดภัยและร่วมสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. อยากให้ควบคุมเรื่องการจดแจ้งผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด เพราะจากข้อมูลที่มูลนิธิฯ รวบรวมไว้ พบว่ามีเจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรืออาหารเสริมจำนวนไม่น้อยที่เมื่อได้รับการถอนทะเบียนจะนำผลิตภัณฑ์มาปะแป้งแต่งตัว เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วจดแจ้งใหม่นำมาจำหน่าย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 เรื่องยุ่งๆ ของซิลิโคนในครีมนวดผม

        สืบเนื่องจากข่าวเรื่อง ผลสำรวจฉลาก "ครีมนวดผม" ของนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่าเจอสารซิลิโคนทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพเส้นผม เช่น ผมร่วง ได้นั้น (ติดตามรายละเอียดได้จากนิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 257) ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามกฎหมายเรื่องเครื่องสำอางนั้น ได้ออกหนังสือชี้แจงว่า         “ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมมักใส่สารในกลุ่มซิลิโคน เช่น สารไดเมทิโคน (Dimethicone) เพื่อคุณสมบัติช่วยเคลือบเส้นผมทำให้เส้นผมนุ่มลื่น ไม่พันกัน โดยสารในกลุ่มซิลิโคนนี้ ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขและปริมาณการใช้เช่นเดียวกับกฎระเบียบสากลด้านเครื่องสำอาง และเนื่องจากครีมนวดผมมีน้ำเป็นส่วนผสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตง่าย จึงมีความจำเป็นต้องใส่สารกันเสีย โดยสามารถใช้สารกันเสียในครีมนวดผมมากกว่า 1 ชนิดได้อย่างปลอดภัยหากใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด...”          ดังนั้นทางนิตยสารฉลาดซื้อจึงขอนำเสนอเรื่องราวของ ซิลิโคน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ได้รับการเฝ้าระวังเพราะถูกใช้ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เพื่อประกอบเป็นความรู้เพิ่มเติมให้กับผู้บริโภค โดย ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระได้ให้ข้อมูลว่า EU ได้กล่าวถึงการเตือนให้ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบเป็น  silicone ชนิด cyclopentasiloxane (D5) ซึ่งมักมีการเจือปนที่ไม่ต้องการของ cyclotetrasiloxane (D4) (Cyclotetrasiloxane (D4) เป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์และสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยมีผลกระทบระยะยาวที่คาดเดาไม่ได้)         Wikipedia ให้ข้อมูลพร้อมเอกสารอ้างอิงว่า สารประกอบซิลิโคนโดยเฉพาะ cyclic siloxanes D4 และ D5 เป็นสารก่อมลพิษในอากาศและในน้ำ และมีผลเสียต่อสุขภาพในสัตว์ทดลอง ใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลต่างๆ The European Chemicals Agency (สำนักงานเคมีภัณฑ์แห่งยุโรป) พบว่า "D4 เป็นสารที่ตกค้างยาวนาน สะสมทางชีวภาพและเป็นพิษ (PBT หรือ persistent, bioaccumulative and toxic) และ D5 เป็นสารที่ตกค้างยาวนานมากและสะสมในสิ่งมีชีวิตมาก (vPvB หรือ very bioaccumulative)"         ในปี 2015 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (SCCS) ของ EU  ระบุว่าระดับของ Cyclotetrasiloxane (D4) ที่เป็นสิ่งเจือปนของ Cyclopentasiloxane (D5) ควรถูกทำให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าต้องการใช้ D5 ในเครื่องสำอาง จากนั้นเมื่อต้นปี 2017 คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้เสนอให้ห้ามใช้ Cyclotetrasiloxane (D4) และ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบล้างออก โดยมีสารอย่างใดอย่างหนึ่ง 0.1% ขึ้นไป การห้ามนี้เมื่อเผยแพร่อย่างเป็นทางการจะครอบคลุมผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แชมพู ครีมนวด เจลอาบน้ำ ฯลฯ         ผู้ผลิตสินค้าจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า Cyclopentasiloxane (D5) ที่ใช้ในการผลิตสินค้ามีความบริสุทธิ์สูงสุด (99%) และไม่มี Cyclotetrasiloxane (D4) พร้อมทั้งวางแผนที่จะปรับสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบล้างออกด้วย Cyclopentasiloxane โดยลดปริมาณลงถึง 0.1% หรือโดยการแทนที่ด้วยซิลิโคนชนิดอื่น         รายงานฉบับสุดท้ายเรื่อง  the Opinion on decamethylcyclopentasiloxane (cyclopentasiloxane, D5) in cosmetic products ของ EU (รับรองในการประชุมเมื่อ 25 มีนาคม 2015) ให้ข้อมูลว่า SCCS (Scientific Committee on Consumer Safety) พิจารณาว่า การใช้ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีความปลอดภัยในระดับความเข้มข้นที่รายงานได้ศึกษา ยกเว้นการใช้ในสเปรย์แต่งผมและผลิตภัณฑ์สเปรย์กันแดด         โดยแท้จริงแล้วการใช้ในสเปรย์แต่งผมและผลิตภัณฑ์สเปรย์กันแดดที่ความเข้มข้นสูงสุดที่ผู้ผลิตกำหนดในวิธีใช้และตามสมมติฐานที่ SCCS มีอยู่สรุปได้ว่า การสัมผัสกับ D5 อาจทำให้ความเข้มข้นของอากาศสูงกว่าค่าที่ SCCS พิจารณาว่า D5 อาจเป็นพิษเฉพาะที่ในตำแหน่งที่ถูกพ่น การสัมผัสกับ D5 ที่มาจากผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับการจัดแต่งผมยังทำให้เกิดการสัมผัสรวมในระดับสูงซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้มข้นในอากาศที่สูงกว่าค่าที่ SCCS พิจารณาว่าปลอดภัย ความคิดเห็นนี้ไม่ครอบคลุมถึงการใช้ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก             Cyclopentasiloxane (D5) อาจมีการปนเปื้อนของ Cyclotetrasiloxane (D4) ซึ่งในสหภาพยุโรปจัดว่า เป็นพิษต่อการสืบพันธุ์ ดังนั้นระดับการปนเปื้อนของ Cyclotetrasiloxane (D4) ใน Cyclopentasiloxane (D5) ควรต่ำที่สุด SCCS ทราบดีว่ามีการเสนอข้อจำกัดเกี่ยวกับ D4 และ D5 ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (personal care) ภายใต้ระเบียบการเข้าถึงอันเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม         ประเด็นคือ เครื่องสำอางในไทยยี่ห้อใดบ้างที่มีองค์ประกอบเป็น D5 และมี D4 (ปนเปื้อน) น่าจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแล หรือนิตยสารฉลาดซื้อน่าจะได้มีการเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจฉลากครีมนวดผม พบซิลิโคนในครีมนวดทุกตัวอย่าง ซึ่งจะสะสมทำให้ผมร่วงได้ เตือนผู้บริโภคศึกษาชื่อสารเคมีบางชนิดเพื่อรู้เท่าทันฉลาก

        วันนี้ (28 ตุลาคม 2565) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้เปิดเผยผลสำรวจฉลากครีมนวดผม เนื่องจากในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อเส้นผม และหนังศีรษะหลายชนิด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงสุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ครีมนวดผม” จำนวน 12 ตัวอย่าง  ในเดือนมิถุนายน 2565  จากห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำทั่วไป  ได้แก่ยี่ห้อ ซันซิล , เทรซาเม่ , ลอรีอัล ปารีส , บุ๊ทส์ , รีจอยส์ , โดฟ , เฮดแอนด์โชว์เดอร์ , แพนทีน , วัตสัน ,  เฮอร์บัล เอสเซนส์ ,ซึบากิ ,เคลียร์ ผลการสำรวจฉลากครีมนวดผม ทั้ง 12 ตัวอย่าง           -  พบสารซิลิโคนทั้ง 12 ตัวอย่าง        -  ไม่พบ พาราเบน ฟอร์มาดีไฮด์ และอิมิดาโซลิตินิล ยูเรีย        -  พบเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (MIT) ใน 7 ตัวอย่าง  คิดเป็น 58.33 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -  พบพีน็อกซี่เอทานอล ใน 8 ตัวอย่าง คิดเป็น 66.67 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -  เมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ  1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเคลียร์ แอนตี้แดนดรัฟ สกาล์ป แคร์ คอนดิชันเนอร์ ไอซ์คูล เมนทอล แพงสุดคือ 0.61 บาท ส่วนยี่ห้อซันซิล แดเมจ รีสโตร์เซรั่มคอนดิชันเนอร์ แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น ถูกสุดคือ 0.16 บาท         นอกจากนี้ จาก 12 ตัวอย่าง  มี 4 ตัวอย่างที่พบสารกันเสียทั้งเมทิลไอโซไทอะโซลิโนนและพีน็อกซี่เอทานอล ซึ่งเป็นการใช้สารเคมีกันเสียมากกว่า 1 ชนิดใน 1 ผลิตภัณฑ์  และมี 4 ตัวอย่างที่ระบุวันที่ผลิตแต่ไม่ระบุวันหมดอายุ         ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายปัจจัยแวดล้อมทำให้ผมเสียทั้งแสงแดด ฝุ่นควัน ความร้อนจากการเป่าและหนีบผม รวมถึงสารเคมีจากการทำสีผม ไฮไลต์ผม สังเกตพบว่า ในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมจึงมีการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อเส้นผม และหนังศีรษะหลายชนิด และเนื่องจากผู้บริโภคต้องการดูแลเส้นผมมากขึ้น จึงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ได้รับความนิยมมากขึ้น ตามไปด้วย  ในปี 2564 ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมในประเทศไทย เติบโตถึง 5.6% มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท ในการตลาดระดับโลก ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมและทรีตเมนต์มีมูลค่าการขายเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2563         ดังนั้น ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีคำแนะนำในการเลือกซื้อ เลือกใช้ครีมนวดผมคือ หนึ่ง เลือกซื้อครีมนวดผมคือ  เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย และมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด คือ ชื่อผลิตภัณฑ์ประเภทสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและสถานที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและปริมาณสุทธิ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญที่เชื่อถือได้ และผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบปริมาณ และคุณภาพเทียบกับราคาได้   สอง เมื่อซื้อครีมนวดผมที่มีโปรโมชันลดราคาเยอะๆ ยิ่งควรสังเกตวันหมดอายุให้ดี เพราะหากหมดอายุไปแล้ว จะเสียเงินเปล่าและจะทำให้สารเคมีในครีมนวดผมมีอันตรายต่อเส้นผมและหนังศีรษะมากขึ้น  สาม  การใช้ครีมนวดผม ไม่ควรชโลมครีมนวดผมที่หนังศีรษะเพราะทำให้หนังศีรษะมัน ครีมนวดผมนั้นยังถูกออกแบบมาให้บำรุงเฉพาะเส้นผม การใช้ครีมนวดผมให้ได้ผลดีที่สุด คือการใช้บริเวณกลางเส้นผมจรดปลาย  นอกจากนี้เมื่อรู้ว่า ครีมนวดผมที่เลือกใช้มีส่วนผสมของซิลิโคน ยิ่งควรล้างออกให้สะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีตกค้างสะสม  สี่ หากระคายเคืองผิว หรือแพ้ คันจากการใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ นอกจากหยุดใช้และไปพบแพทย์แล้ว ควรศึกษาฉลาก ดูส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นให้ดี เพราะจะได้สามารถเลือกซื้อครีมนวดผมที่จะไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่แพ้อีกในครั้งหน้า          นอกจากนี้ฉลาดซื้อขอแนะนำว่า ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติใกล้ตัว ในครัว เช่น มะกรูด อัญชัน ไข่ไก่ โยเกิร์ต  น้ำมันมะพร้าว  เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้บำรุงเส้นผม โดยที่ไม่มีสารเคมีตกค้างได้เช่นกัน         อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่บทความทดสอบ จากนิตยสารฉลาดซื้อ “มีอะไรน่าสนใจใน “ครีมนวดผม” https://www.chaladsue.com/article/4095

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 มีอะไรน่าสนใจใน “ครีมนวดผม”

        ในทุก ๆ วัน เส้นผมของเราต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผมเสียได้มากมาย ทั้งแสงแดด ฝุ่นควัน ความร้อนจากการเป่าและหนีบผม รวมถึงสารเคมีจากการทำสีผม ไฮไลต์ผม และดัดผมอีกด้วย หลายคนจึงนิยมเลือกใช้ “ครีมนวดผม” มาปรับสภาพเส้นผมหลังการสระผม เพื่อให้เส้นผมอ่อนนุ่ม ไม่พันกัน หวีง่าย อีกทั้งช่วยฟื้นฟูและดูแลสุขภาพผมให้ดีขึ้น         ในปี 2564 ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมในประเทศไทย เติบโต 5.6% มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดถึง 74% (Euromonitor, 2021) ส่วนในรายงานการตลาดระดับโลกพบว่า ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมและทรีตเมนต์มีมูลค่าการขายเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2563 (Kantar, 2022)         ครีมนวดผมแต่ละยี่ห้อที่มีหลากหลายสูตรให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นสำหรับผมแห้งเสีย ขจัดรังแค ลดผมขาดหลุดร่วง หรือสูตรพิเศษสำหรับผมทำสีก็ตาม มักจะมีสารซิลิโคนและสารกันเสียเป็นส่วนประกอบพื้นฐานอยู่ ดังนั้นหากผู้บริโภคใช้ครีมนวดผมเป็นประจำอาจเสี่ยงสัมผัสสารเคมีเหล่านั้นเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน          นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ครีมนวดผม” จำนวน 12 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อสำรวจฉลากว่า มีสารเคมีหรือสารกันเสียที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         ซิลิโคน (Silicone) เป็นสารโพลิเมอร์ใช้เติมลงในครีมนวดเพื่อให้ผมลื่น หวีง่าย เคลือบเส้นผมให้เงางาม แต่ล้างออกยาก จึงเกิดการสะสมอยู่ที่เส้นผมและหนังศีรษะ ใช้บ่อยๆ เส้นผมจะลีบแบนและเป็นมันเยิ้ม ซึ่งสารซิลิโคนที่ตกค้างอาจจะไปอุดตันรูเส้นผม ทำให้เซลล์ผมทำงานผิดปกติ การขับของเสียและดูดซึมสารอาหารลดลง และหากใช้ไปนานๆ จะทำให้ผมร่วงได้         สารกันเสียในครีมนวดผมที่ควรระวังมีดังนี้พาราเบน (Parabens) : มีรายงานว่าอาจเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลให้เป็นมะเร็ง         ฟอร์มาดีไฮด์ (Formaldehyde) : หากสัมผัสสารในปริมาณมากอาจทำให้เกิดผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน จนถึงผิวหนังไหม้ เป็นผื่นอักเสบและติดเชื้อได้         อิมิดาโซลิตินิล ยูเรีย (Imidazolidinyl urea) : อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบ และมีอันตรายจนสามารถทำลายเซลล์ผิวได้         เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone : MIT) : หากเกิดอาการแพ้จะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงควบคุมให้ใช้ในความเข้มข้นตามที่กำหนด และอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วล้างออกเท่านั้น         พีน็อกซี่เอทานอล (Phenoxyethanol) : พบได้ในครีมนวดผมที่มีส่วนผสมของน้ำหอม มีคุณสมบัติทำให้กลิ่นหอมคงตัว ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ได้ไม่เกิน 1.0 % หากสัมผัสกับผิวในปริมาณที่มากอาจทำให้ผิวแพ้ ระคายเคือง และเกิดผดผื่นได้ผลการสำรวจฉลาก “ครีมนวดผม”        -        พบสารซิลิโคนทั้ง 12 ตัวอย่าง        -        ไม่พบ พาราเบน ฟอร์มาดีไฮด์ และอิมิดาโซลิตินิล ยูเรีย        -        พบเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (MIT) ใน 7 ตัวอย่าง  คิดเป็น 58.33 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -        พบพีน็อกซี่เอทานอล ใน 8 ตัวอย่าง คิดเป็น 66.67 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -        เมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ  1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเคลียร์ แอนตี้แดนดรัฟ สกาล์ป แคร์ คอนดิชันเนอร์ ไอซ์คูล เมนทอล แพงสุดคือ 0.61 บาท ส่วนยี่ห้อซันซิล แดเมจ รีสโตร์เซรั่มคอนดิชันเนอร์ แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น ถูกสุดคือ 0.16 บาท ข้อสังเกต                                -        สารกลุ่มซิลิโคนที่พบในตัวอย่างนี้ส่วนใหญ่เป็น Dimethicone รองลงมาคือ Amodimethicone และ Dimethiconol ตามลำดับ        -        ยี่ห้อเคลียร์ แอนตี้แดนดรัฟ สกาล์ป แคร์ คอนดิชันเนอร์ ไอซ์คูล เมนทอล ไม่พบสารกันเสียที่ควรระวังตัวใดเลย        -        มี 4 ตัวอย่างที่พบสารกันเสียทั้งเมทิลไอโซไทอะโซลิโนนและพีน็อกซี่เอทานอล        -        ทุกตัวอย่างระบุวันที่ผลิต แต่มี 4 ตัวอย่างที่ไม่ระบุวันหมดอายุ ฉลาดซื้อแนะ                -        เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย และมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด คือ ชื่อผลิตภัณฑ์ประเภทสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและสถานที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและปริมาณสุทธิ        -        ซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ยีสต์และราสูงเกินกำหนด โดยหากเรานำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้ อาจทำให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่อักเสบเป็นสิว แผล และเกิดการติดเชื้อได้        -        สังเกตฉลากบนผลิตภัณฑ์เพื่อดูส่วนผสมของสารกันเสียต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว หรือหากใช้ไปแล้วเกิดอาการแพ้ใดๆ ควรหยุดใช้ทันที หรือไปพบแพทย์เพื่อหาว่าแพ้สารชนิดใด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารชนิดนั้นอีกต่อไป        -        หากครีมนวดผมที่ใช้อยู่มีซิลิโคนและสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ เราจะต้องล้างครีมนวดผมออกให้เกลี้ยงทุกครั้ง เพื่อไม่ให้สารเหล่านั้นตกค้างและสะสมมากจนเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมาได้        -        ครีมนวดผมจะมีอายุ 2 - 3 ปี ไม่ควรซื้อครีมนวดผมที่ใกล้หมดอายุ โดยเฉพาะต้องดูให้ดีๆ เวลามีโปรโมชั่นลดราคาเยอะๆ เพราะอาจใช้ไม่ทันวันหมดอายุ จนเหลือทิ้ง กลายเป็นซื้อแพงโดยใช่เหตุ          -        เมื่อต้องการเปลี่ยนครีมนวดผมยี่ห้อใหม่ อาจซื้อแบบซองมาลองใช้ก่อน เพื่อดูว่าแพ้ไหม ใช้แล้วเหมาะกับสภาพผมและได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือเปล่า หากใช้ได้ผลดีค่อยซื้อขวดใหญ่คุ้มกว่า        -        ลองทำครีมนวดผมโฮมเมดง่ายๆ จากสมุนไพรอย่างมะกรูด อัญชัญ และวัตถุดิบในครัวเช่น ไข่ไก่ โยเกิร์ต กล้วย น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น ค้นหาวิธีทำได้จากเว็บไซต์และยูทูบต่างๆ มีหลายสูตรมากข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 185 ครีมนวด-ครีมหมักผม จำเป็นแค่ไหนhttps://marketeeronline.co/archives/266777https://www.komchadluek.net/news/521385

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ปลอมในปลอม ไม่ยอมจบ

        เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ตลาดการขายสินค้าออนไลน์ยังไม่เกิดขึ้น มีครีมหน้าขาวยี่ห้อหนึ่งขายดิบขายดี ครีมชนิดนั้นถูกเรียกติดปากว่า “ครีมฟ้าขาว โรงพยาบาลเชียงราย” ด้วยรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์เป็นตลับเล็กๆ ตัวตลับและฝาจะเป็นคนละสีคือ ฟ้า-ขาว จำหน่ายโดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเชียงราย ผลลัพธ์ทำให้หน้าขาวจริงและเร็ว จึงขายดิบขายดีผ่านการบอกต่อๆ จากปากต่อปากจากของคนใช้ แต่ภายหลังตรวจพบการปลอมปนสารต้องห้าม         ไม่น่าเชื่อว่าถึงวันนี้ ถ้าเราใช้คำค้นหาว่า “ครีมฟ้าขาว” ค้นดูในอินเทอร์เน็ต เราจะพบว่ายังมีครีมดังกล่าวขายอยู่ โดยเฉพาะในตลาดออนไลน์ มีมากมายหลายเจ้าของ แต่ละเจ้าของก็จะอ้างว่า “ครีมของตนเองคือของแท้” ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าครีมของใครคือของแท้ เพราะจนถึงบัดนี้ก็ยังตามหาผู้ผลิตครีมดังกล่าวไม่ได้ ปล่อยเป็นปริศนาต่อไป (ฮา)         แต่เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ไม่ได้มีแค่ครีมเมื่อยี่สิบปีในอดีต ในเดือนเมษายน ปี 2564 ผมได้ลงพื้นที่พร้อมกับพนักงานสอบสวน เพื่อสืบค้นข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ร้องเรียนการผลิตเครื่องสำอางในพื้นที่ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ผลการตรวจสอบคือ มีการลักลอบผลิตเครื่องสำอางผิดกฎหมายจริง และยังเป็นการผลิตเครื่องสำอางปลอม ที่มีการปลอมปนสารต้องห้าม “ปรอทแอมโมเนีย” มีการจับกุมดำเนินคดี ศาลตัดสินให้ผู้ต้องหาต้องโทษจำคุก 2 ปี         จากการพูดคุยและการสอบสวน ผู้ผลิตที่ถูกดำเนินคดีปลอมครีมยี่ห้อหนึ่ง ที่เป็นยี่ห้อที่มีชื่อติดตลาด เพราะจะทำให้ขายได้เร็ว ซึ่งจากการตรวจสอบกับฐานข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าครีมนี้มีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ผลิตอยู่ในจังหวัดหนึ่งทางภาคกลาง และไม่ได้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกเจ้าของครีมตัวจริงมาสอบสวน ปรากฎว่าเจ้าของตัวจริงกลับไม่ติดใจเอาความผู้ต้องหาที่แอบปลอมครีมของตนเองอีกด้วย เลยชักสับสนว่าแท้จริงแล้วรู้เห็นเป็นใจกัน หรือหวังว่าการปลอมครีมจนขายดี จะเป็นการประชาสัมพันธ์ทางอ้อมให้กับครีมของตนหรือเปล่า ยิ่งคิดยิ่งปวดหัว (ฮา) จนถึงขณะนี้ ครีมยี่ห้อนี้ก็ยังมีขายมากมายในตลาดออนไลน์ แถมยังมีคนขายหลายรายมาก ไม่รู้ครีมใครตัวจริง ครีมใครตัวปลอม เพราะทุกคนอ้างว่าครีมของตนเป็นตัวจริงทุกราย ทุกข์หนักคือผู้บริโภค เพราะคงไม่รู้ว่าครีมที่ตนเองซื้อมาใช้อันไหนจริงอันไหนปลอม หรืออาจซื้อของปลอมมาทั้งนั้น (ฮาไม่ออก)         ในตลาดออนไลน์เป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภค ที่จะแยกว่าสินค้าตัวไหนจริงตัวไหนปลอม จะให้งดซื้อครีมออนไลน์ก็คงยาก เพราะทุกวันนี้อะไรๆ ก็แทบจะยกขบวนไปขายกันบนตลาดออนไลน์หมด เมื่อกฎหมายและกระบวนการจัดการยังไล่ตามไม่ค่อยทัน ผู้บริโภคจึงควรต้องใช้วิจารณญาณ (ขั้นสูงสุดๆ) ในการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์มาใช้ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ที่ตอนนี้กลายเป็นปัจจัยที่ 6 ในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันไปแล้ว         หวังว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องคงต้องช่วยกันพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับตลาดกันใหม่ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สามารถควบคุมการค้าขายบนตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง และให้เจ้าของตลาดออนไลน์แต่ละเจ้า ต้องรับผิดชอบด้วยหากพบว่าสินค้าที่ตนขายไม่ปลอดภัยหรือโฆษณาไม่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ระวังพลาดเจอ ครีมกวน

        แม้ผ่านมาหลายปีแล้วจะมีทั้งข่าวจับขบวนการขายครีมที่ผสมสารอันตรายของทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมามากมาย รวมถึงการออกมาเตือนแล้วเตือนอีก เรื่องของผลกระทบของการใช้ครีมหน้าขาว หรือเรียกอีกอย่างว่า “ครีมกวน” ที่มีส่วนผสมสารอันตรายต่างๆ ที่สวยได้สักพัก เลิกใช้หน้าพังทันทีก็ตาม แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีมาให้เห็นอีกอยู่เป็นพักๆ ไม่หายจากไปง่ายๆ ในหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ ล่าสุดก็ยังมีการรีวิวครีมหน้าขาวอันตรายพวกนี้ ที่สำคัญคือยังมีคนหลงเชื่อและสนใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์พวกนี้อยู่             ฉลาดซื้อจึงอยากแนะนำวิธีระวัง “ครีมหน้าขาวที่อันตราย” เพื่อย้ำเตือนกันอีกสักครั้งให้ทุกคนที่กำลังคิดจะลองใช้   สารอันตรายจากครีมหน้าขาว         ครีมหน้าขาวส่วนมากจะเน้นการโฆษณาหรือรีวิวว่าใช้แล้วหน้าใส ขาวไวมาก ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ผลิตจะนำสารที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอางเช่น สารปรอท สารสเตียรอยด์  ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ มาเป็นส่วนผสม เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวนี้มีฤกธิ์ช่วยลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน จึงทำให้ผิวขาวเร็ว เรียกว่า 3-7 วันเห็นผล แต่ผลข้างเคียงหรืออันตรายทำให้ผิวพังก็ไวเช่นกัน ผลข้างเคียง         ขาวเร็วแบบไม่ปลอดภัย ลักษณะอาการเป็นอย่างไรบ้าง มาดูกัน สารปรอท ทำให้มีอาการแพ้ ผื่นแดง ผิวบางลงและคล้ำลงอย่างรวดเร็ว ไตอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ สารไฮโดรควิโนน  ผิวหนังระคายเคืองผิวคล้ำมากขึ้น เกิดฝ้าถาวรและอาจมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนัง กรดวิตามินเอ ระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น แสบร้อนรุนแรง หน้าแดง แพ้แสงแดด ไวต่อแสง รวมถึงเป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์อีกด้วย สารสเตียรอยด์  มีผื่นแพ้ สิวผด ผิวบางจนเกิดผิวแตกราย เป็นต้น  ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างผลเสียที่ตามมาเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังคงมีอาการอีกหลายรูปแบบซึ่งเกิดขึ้นไปแล้วแต่ละบุคคลเพราะผิวหนังและร่างกายในแต่ละคนไม่เหมือนกัน      เลือกซื้อครีมอย่างปลอดภัย        -       ก่อนซื้อครีมควรสังเกตรายละเอียดว่าในส่วนผสมของครีมมีอะไรบ้าง        -       อย่าเชื่อคำโฆษณาที่มีการอวดอ้างผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างแบบไม่น่าเป็นไปได้        -       หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีฉลาก ไม่มี วัน/เดือน/ปี ที่ผลิต ไม่แสดงรายชื่อผู้ผลิต ไม่ควรเสี่ยงซื้อมาใช้ สำคัญควรดูว่ามีเลขที่ใบรับแจ้งของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) หรือไม่ การตรวจเช็กเลขจดแจ้งของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สามารถตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ดังนี้ https://www.fda.moph.go.th/        -       ในส่วนของลักษณะครีมหน้าขาวที่พบได้บ่อยจะเป็นรูปแบบตลับหรือกระปุกพลาสติกดูไม่น่าเชื่อถือ  ไม่มีฉลาก หรือขายเป็นถุงกิโลและมีเนื้อครีมที่สีเข้ม เช่น ที่พบบ่อยคือสีเขียว หรือเหลือง อย่าซื้อมาใช้        -       หากซื้อมาแล้วและไม่มั่นใจที่จะใช้ก็สามารถหาซื้อที่ตรวจสารอันตรายต่างๆ มาลองตรวจดูเพื่อเช็กความชัวร์ได้         สุดท้ายแล้วหากพบว่า ตนเองหลงไปใช้ครีมที่มีสารอันตรายเข้าแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ หยุดใช้ครีมทันที ไม่ควรใช้ต่อ และถ้าพบอาการผิดปกติที่ใบหน้าควรเข้าไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาอาการเบื้องต้นทันที ไม่ควรรักษาเองเนื่องจากหากรักษาไม่ถูกวิธีหรือถูกจุดอาการอาจจะหนักมากกว่าเดิมได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ผลิตภัณฑ์กันแดด 2022

ก่อนจะออกไปเที่ยวผจญแดดร้อนลมแรงที่ไหน อย่าลืมสำรวจวันหมดอายุของครีม/โลชัน/สเปรย์กันแดดที่มีอยู่ โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีอายุประมาณ 2 – 3 ปี แต่ถ้ามันถูกเก็บในบริเวณที่ร้อนมากอย่างคอนโซลหน้ารถ ความสามารถในการป้องกันยูวีอาจเสื่อมไปก่อนเวลาอันควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลิตภัณฑ์มีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น แยกชั้น หรือจับตัวเป็นก้อน เราขอแนะนำให้คุณซื้อใหม่         ฉลาดซื้อ ฉบับนี้มีผลทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์กันแดดที่ทำขึ้นในช่วงต้นปี 2565 มาให้สมาชิกได้เลือกกันถึง 25 ผลิตภัณฑ์ (ค่า SPF30 และ SPF50+) ทั้งแบบครีม โลชัน และสเปรย์ สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ที่สามารถหาซื้อได้ในประเทศไทย         แม้จะยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนถึงระดับห้าดาว แต่ “ตัวท็อป” ในการทดสอบปีนี้ก็ได้คะแนนรวมไปถึง 74 คะแนน (เทียบกับ 71 คะแนนของปีที่แล้ว) ข่าวดีคือผลิตภัณฑ์ 25 ตัวนี้ไม่มีสารรบกวนฮอร์โมน หรือสารก่ออาการแพ้ Octocrylene D5         แต่การทดสอบก็ทำให้เรารู้ว่ายังมีผลิตภัณฑ์อีกไม่น้อยที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันยูวีต่ำกว่าที่แจ้งบนฉลากหรือในโฆษณา เป็นการตอกย้ำว่าราคาหรือภาพลักษณ์ไม่สามารถรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้เสมอไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 255 วิธีดูแลผิวแตกลาย

        ใครมีปัญหาผิวหนังแตกลาย อย่าเพิ่งเครียดกันนะคะ “ฉลาดซื้อ” เรามีวิธีป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธีมาฝาก         ธรรมดาผิวแตกลายมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง(การขยายตัว) อย่างรวดเร็วที่พบได้บ่อย ส่วนมากมักมาจากการตั้งครรภ์ การลดหรือเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ซึ่งรอยแตกลายที่เกิดจากสาเหตุที่กล่าวมานั้น ถือว่าเป็นเหมือนเรื่องธรรมชาติปกติของร่างกายถึงจะไม่สามารถรักษาให้กลับมาผิวเหมือนเดิม100% ได้แต่ก็พอมีวิธีดูแลเพื่อให้รอยจางลงได้ แต่ที่มีอีกบางสาเหตุที่น่ากังวัลกว่า คือการใช้ครีมหรือโลชั่นที่อวดอ้างโฆษณาว่าทาแล้วดี ขาวเร็วขาวใสภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นครีมที่ทำให้ผิวขาวจริง เพราะการใส่สารอันตรายเข้าไปผสม เช่น สารสเตียรอยด์ สารปรอทหรือสารอันตรายอื่นๆ ซึ่งเมื่อใช้ไปสักพักผิวจะแตกลายจนน่ากลัวอย่างที่เคยเป็นข่าวเมื่อหลายปีก่อน (อ่านจากฉลาดซื้อย้อนหลังได้เลย)  ซึ่งหากรอยแตกเกิดจากสาเหตุนี้สิ่งที่ควรทำคือ หยุดใช้ครีมนั้นทันที และพบแพทย์เพื่อรักษาด่วน รอยแตกลายสีแดงและสีขาว         รอยแตกลายมักเกิดจากการยืดและหดตัวอย่างรวดเร็วของของผิวหนัง ซึ่งหากรอยแตกลายที่เกิดขึ้นบริเวณร่างกายมีลักษณะสีแดง แปลว่ารอยแตกลายนั้นอยู่ในระยะเริ่มแรกและสามารถรักษาให้จางลงได้เร็วกว่ารอยแตกสีขาว ในส่วนของรอยแตกสีขาวจะเกิดหลังจากมีรอยแตกสีแดงที่เริ่มจางจนกลายมาเป็นสีขาวจะรักษาได้ยากกว่าสีแดง แต่ก็สามารถรักษาให้จางลงมาได้เช่นกัน ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผิวแตกลาย        -        ผู้ที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะหากมีอายุยังน้อย        -        การที่มีน้ำหนักเพิ่มและลดลงอย่างรวดเร็วจนเกินไป        -        การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว        -        การเจริญเติบโตของร่างกายในช่วงวัยรุ่นอย่างรวดเร็ว        -        ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และเข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอก การดูแลรักษาผิวแตกลาย         การดูแลรักษารอยแตกลายเบื้องต้นอย่างแรกที่สำคัญคือ        -        การใช้มอยเจอร์ไรส์เซอร์เพื่อให้ความชุ่มชื้นบริเวณผิวที่แตกลาย แม้มอยเจอร์ไรส์เซอร์จะไม่ได้ช่วยให้รอยแตกลายหายขาดหรือจางลงโดยตรง แต่สามารถช่วยให้ผิวบริเวณที่แตกนั้นมีความชุ่มชื้นผิวไม่แห้งและดูดีขึ้นจากเดิม        -        การใช้ครีมที่มีส่วนผสมวิตามินเอทาบนบริเวณที่แตกลายเพื่อให้รอยแตกลายนั้นจางลง หรือใช้ยา กลุ่ม Tretinoin แต่ถ้าเลือกใช้กรดวิตามินเอไม่ควรใช้สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เพราะกรดวิตามินเอ อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เสี่ยงต่ออันตรายได้          -        ใช้ผลิตภัณฑ์ครีมลดรอยแตกลายที่วางขายตามตลาดได้ แต่ก่อนซื้อควรศึกษาหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้นให้ดีเพื่อไม่ให้เสี่ยงเจอผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารอันตราย และควรเช็กให้ดี   ไม่ควรเชื่อครีมที่มีการโฆษณาว่าหายเร็วหายไว้ภายใน 3-7 วัน เป็นต้น        -        ใช้เลเซอร์เป็นตัวช่วยในการรักษา รู้กันดีว่ารอยแตกลายนั้นไม่สามารถรักษาให้หายกลับมาเหมือนผิวเดิม 100% แต่ยังไงการเลเซอร์คือวิธีรักษาอีกทางหนึ่งที่ได้ผลดี โดยเฉพาะเริ่มแรกของรอยแตกลายที่มีลักษณะสีแดง ตัวอย่างเลเซอร์ เช่น Fractional CO2 Laser , Fractional RF , Fine Scan Laser , Vbeam laser หรืออื่นๆ  ทั้งนี้การเลือกใช้เลเซอร์ในการรักษาอยู่ที่แพทย์ประเมินว่าสภาพผิวรอยแตกลายของเราว่าเหมาะกับเลเซอร์รูปแบบไหน         อย่างที่กล่าวตอนแรก ผิวแตกลายคงไม่มีใครอยากให้เกิดถึงแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติมากก็ตาม ดังนั้นการหาทางป้องกันด้วยการควบคุมภาวะเสี่ยงจะช่วยได้มาก เช่น ไม่ลดน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักเร็วเกินไป กรณีการตั้งครรภ์คุณแม่ควรหมั่นใช้ครีมหรือมอยเจอร์ไรส์เซอร์ที่มีเนื้อครีมเข้มข้น ทาผิวบริเวณหน้าท้องสม่ำเสมอ ส่วนใครจะเลือกรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ถ้าเข้าใช้บริการที่คลินิกอย่าลืมตรวจสอบสถานที่ประกอบการและผู้ให้บริการว่ามีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ ตรวจสอบใบอนุญาตว่าผู้ที่ทำการรักษาใช้แพทย์จริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ https://checkmd.tmc.or.th/ (เว็บไซต์ตรวจสอบรายชื่อแพทย์จากฐานข้อมูลแพทย์สภา) ส่วนการใช้ครีมหรือโลชั่นที่อวดอ้างสรรพคุณเว่อร์วัง อย่าลองใช้เลยนะคะ ปัญหาไม่จบแน่ๆอ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=JKwCpOZJmTwhttps://www.thaihealth.or.th/blog/myblog/topic/1269/https://hellokhunmor.com/สุขภาพผิว/การดูแลและทำความสะอาดผิว/รอยแตกลาย-สาเหตุ-การรักษา/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม(ครีมแท้)

        ฉบับนี้ขอชวนผู้บริโภคสายเบเกอรี่ ทั้งคนชอบกินและคนชอบทำ มาสำรวจฉลากวิปปิ้งครีมกัน         ‘วิปปิ้งครีม’เป็นครีมจากน้ำนมหรือไขมันพืช เมื่อตีให้ขึ้นฟูจนครีมตั้งยอดได้ก็จะเป็น ’วิปครีม’           เมื่อก่อนเรามักลิ้มรสชาติวิปครีมที่หอมมัน นุ่มละมุนลิ้น บนหน้าเค้กหรือเป็นส่วนประกอบในขนมเบเกอรี่ต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีม น้ำปั่น น้ำหวาน เครื่องดื่มร้อน-เย็น ก็ใส่วิปครีมเป็นหน้าท็อปปิ้งเพิ่มความอร่อยได้หลากหลายเมนู และกำลังนิยมกันมาก หากบริโภคบ่อยๆ เสี่ยงไขมันเกินได้         ทั้งนี้ นมสด 100% จะมีไขมัน 3.3% ในตำราเบเกอรี่ระบุว่า วิปปิ้งครีมแท้จะมีไขมันเนย 30-36%         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม ทั้งหมด 12 ตัวอย่าง เลือกเฉพาะที่ระบุว่าเป็นครีมแท้ชนิดวิปปิ้งครีม จากร้านค้าและห้างค้าปลีก มาสำรวจฉลากเพื่อดูเปอร์เซ็นต์ของครีมแท้จากนม ปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมด รวมถึงความคุ้มค่า เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค           ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 208) พ.ศ.2543 เรื่อง ครีม ระบุให้ครีมเป็นอาหารที่กําหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน “ครีมแท้” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่แยกได้จากนม โดยกรรมวิธีต่าง ๆ และมีมันเนยเป็นส่วนประกอบที่สําคัญ สำหรับมาตรฐานของครีมแท้ชนิดวิปปิ้งครีม คือต้องทำจากนมและมีมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 28 ของน้ำหนัก ผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม(ครีมแท้)-จากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง พบว่ามี 4 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าเป็นครีมแท้จากนมโค 100 % ได้แก่ ยี่ห้อแมกโนเลีย, โฟร์โมส, เมจิ และเอ็มมิลค์-ค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์ครีมแท้ในตัวอย่างวิปปิ้งครีมทั้งหมด คือ 95.44 %  - มี 3 ตัวอย่างที่มีเปอร์เซ็นต์ครีมแท้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย คือ ยี่ห้อเวสท์โกลด์ (86%), พอลส์(81.76%) และเดบิค(81%)-เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเพรสซิเด้นท์ แพงสุด คือ 0.75 บาท  ส่วนยี่ห้อเอโร่ ถูกสุดคือ 0.17 บาท-มี 6 ตัวอย่าง ที่แสดงฉลากโภชนาการระบุปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมดในวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร ได้แก่ ยี่ห้อแองเคอร์, เอ็มบอร์ก, พอลส์, เพรสซิเด้นท์, เดบิค และเวสท์โกลด์ พบว่ามีปริมาณพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 335.9 กิโลแคลลอรี และปริมาณไขมันทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 35.3 กรัม-ยี่ห้อเอ็มบอร์กและพอลส์ มีพลังงานมากที่สุดคือ 337 กิโลแคลลอรี่ต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนยี่ห้อเวสท์โกลด์ มีพลังงานน้อยที่สุดคือ 334.6 กิโลแคลลอรี่ต่อ 100 มิลลิลิตร  -ยี่ห้อแองเคอร์ และเวสท์โกลด์ มีไขมันทั้งหมดมากที่สุดคือ 35.5 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนยี่ห้อเดบิค มีไขมันทั้งหมดน้อยที่สุดคือ 35 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร   ข้อสังเกต-ทั้ง 4 ตัวอย่างที่มีครีมแท้จากนมโค 100 % เป็นวิปปิ้งครีมพาสเจอร์ไรส์ ที่ผลิตในประเทศไทย และไม่มีฉลากโภชนาการที่ระบุปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมดไว้-มี 6 ตัวอย่างที่นำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็น 50% ของตัวอย่างที่นำมาสำรวจ-ยี่ห้อเพรสซิเด้นท์ ที่มีราคาต่อหน่วยแพงสุด มีครีมแท้ 99.6% นำเข้าจากฝรั่งเศส ส่วนยี่ห้อเอโร่ ที่ราคาต่อหน่วยถูกสุด มีครีมแท้ 99.97% ผลิตในประเทศไทย-ยี่ห้อเวสท์โกลด์ มีพลังงานน้อยที่สุด แต่มีไขมันทั้งหมดมากที่สุด-ปริมาณพลังงานเฉลี่ยของวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร อยู่ที่ 335.9 กิโลแคลอรี ถือว่าพอๆ กับพลังงานของอาหารจานเดียว 1 จานที่ปริมาณ 300 – 600 กิโลแคลอรี และคิดเป็นประมาณ 16.8% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน (2,000 กิโลแคลอรี่) นี่คือวิปปิ้งครีมจืดๆ แต่ถ้านำไปตีเป็นวิปครีมแล้วใส่ส่วนผสมอื่นๆ เพิ่ม เช่น น้ำตาล คาราเมล หรือช็อกโกแลต ก็จะได้พลังงานบวกเพิ่มเข้าไปอีก-ค่าเฉลี่ยของปริมาณไขมันทั้งหมดในวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร อยู่ที่ 35.3 กรัม คิดเป็นประมาณ 54.3% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน (< 65 กรัม) ซึ่งค่อนข้างสูงทีเดียว- ในฉลากระบุว่ามีไขมันทรานส์ด้วย ไม่ต้องตกใจ เพราะอยู่ในน้ำนมธรรมชาติ และมีปริมาณน้อยมาก (0.94 -1.7 กรัม) ฉลาดซื้อแนะคนชอบกิน - ควรกินวิปปิ้งครีมแท้ โดยสังเกตว่าวิปครีมที่ทำจากวิปปิ้งครีมแท้ จะสีออกเหลือง ไม่ขาวจั๊ว หอมมันกลิ่นนมสดเข้มข้น กินแล้วละลายในปาก ไม่มีคราบมันติดปาก อย่างไรก็ตามควรบริโภคแต่น้อย  เพื่อลดเสี่ยงภาวะไขมันเกินคนชอบทำ - ก่อนซื้อวิปปิ้งครีมควรดูฉลากให้ชัดเจน เพราะครีมที่ใช้ทำขนมเบเกอรี่ยังมีอีกหลายชนิด เช่น ฮาลฟ์ครีม(ไขมัน 10-18%) คุกกิ้งครีม (ไขมัน 18-56%) เฮฟวี่ครีม(ไขมัน 36-38%)และดับเบิ้ลครีม(ไขมัน 48-60%) หากจะทำวิปครีม แล้วซื้อครีมที่มีไขมันน้อยกว่า 35% มา อาจตียากหรือตีไม่ขึ้นเลยก็ได้         -จากตัวอย่างมีหมายเหตุบนฉลากว่า “เปิดแล้วใช้ให้หมดภายใน...” น้อยที่สุด  1 วัน มากที่สุด 4 วัน เพราะตามมาตรฐานครีมแท้จะต้องไม่มีวัตถุกันเสีย เมื่อเปิดแล้วจะเก็บได้ไม่นาน จึงควรดูวันหมดอายุให้ดีๆ ซื้อมาเท่าที่จะใช้ ไม่ควรซื้อตุน         -ถ้าใช้ไม่หมด ให้แรปปิดกล่องให้สนิท หรือเทส่วนผสมใส่ภาชนะสะอาดและเขียนวันหมดอายุติดไว้ด้วย เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา อย่าใส่ช่องแช่แข็ง ครีมจะแข็งแล้วตีไม่ขึ้นฟู         -เมื่อหมดอายุแล้ว ต้องทิ้งไป แม้บางทีรสชาติและลักษณะของวิปปิ้งครีมยังเหมือนเดิม ก็อย่าเสียดาย เพราะอาจมีเชื้อราที่มองไม่เห็นเจือปนอยู่ได้  ข้อมูลอ้างอิงhttps://my-best.in.th/50276https://krua.co/cooking_post/whipping-cream/https://www.dip.go.th/files/Cluster/20.pdfhttp://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P208.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานและครีมเทียมข้นหวานแบบหลอดบีบ

        ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานที่รสชาติหวานมัน นิยมเติมใส่ชา กาแฟ โอวัลติน เพื่อเพิ่มความหวาน หรือกินกับขนมปัง ปาท๋องโก๋ตอนเช้าๆ ที่ถูกใจใครหลายๆ คนนั้น  รู้หรือไม่? บางยี่ห้ออาจไม่ใช่นมข้นหวานจริงๆ เพราะมันอาจเป็น “ครีมเทียม” ก็เป็นได้         แม้รูปร่างหน้าตา สี รสชาติคล้าย “นมข้นหวาน” แต่ ยี่ห้อที่ระบุว่าเป็น ครีมเทียมข้นหวาน หากลองอ่านฉลากดูกันสักนิด จะเห็นส่วนผสมของนมที่มีปริมาณน้อยมากๆ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 352) พ.ศ. 2556 เรื่อง ผลิตภัณฑ์ของนม ได้ระบุว่า คุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของนม ต้องมีเนื้อนมทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ในผลิตภัณฑ์นั้น ซึ่งตามกฎหมายหากมีไม่ถึงจะไม่อนุญาตให้เรียกว่า นม ได้         ทั้งนี้  เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยและความรู้เรื่องการบริโภคที่เหมาะสม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน (ครีมเทียมข้นหวาน) แบบหลอดบีบ จำนวน 13  ตัวอย่าง 5  ยี่ห้อ จากห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 มาเปรียบเทียบฉลากว่า มีส่วนผสมประกอบใดบ้าง และยี่ห้อไหนกันนะเป็นครีมเทียม พร้อมสำรวจปริมาณพลังงานกิโลแคลอรี่ โซเดียมและน้ำตาล ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรมาดูกัน ผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน (ครีมเทียมข้นหวาน) แบบหลอดบีบ         1.  พบว่ามีรูปแบบของนมที่ใช้เป็นส่วนประกอบอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ 1.นมสด (4 ตัวอย่าง) 2.นมผง (7  ตัวอย่าง) 3.นมผงขาดมันเนย (4 ตัวอย่าง) 4.นมผงพร่องมันเนย (1ตัวอย่าง) 5.เวย์ผง (11 ตัวอย่าง) โดย ยี่ห้อ จิตรลดา นมข้นคืนรูปหวาน มีปริมาณนม (ผงขาดมันเนย) มากที่สุด 24.9732% และยี่ห้อ พาเลซ ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน เป็นครีมเทียมช้นหวาน อยู่เพียงยี่ห้อเดียว เพราะมีปริมาณนมผง,เวย์ผง อยู่เพียง 7%         2.  พลังงาน เฉลี่ยที่ 60-70 กิโลแคลอรี่ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ช้อนโต๊ะ หรือ 20 กรัม)         3.  น้ำตาล พบว่า มะลิ ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานปราศจากไขมัน ไขมัน 0% และคาร์เนชัน พลัส ผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน เพิ่มนมอีก 65%  มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดอยู่ที่ 12 กรัม ต่อหน่วยบริโภค (1 ช้อนโต๊ะหรือ 20 กรัม)         4. โซเดียม ยี่ห้อ จิตรลดา นมข้นคืนรูปหวาน มีปริมาณโซเดียมมากที่สุดอยู่ที่ 25 มิลลิกรัม ต่อหน่วยบริโภค (1 ช้อนโต๊ะหรือ 20 กรัม)         5.  เมื่อนำทุกตัวอย่างมาเปรียบเทียบราคาในปริมาณ 1 กรัม/ราคา (บาท) พบว่า ยี่ห้อ พาเลซ ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน มีราคาต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.09 บาท/กรัม และยี่ห้อตรามะลิ ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานปราศจากไขมัน สูตรน้ำตาลน้อยกว่า ราคาสูงที่สุดต่อกรัม อยู่ที่ 0.21 กรัมข้อสังเกต        -        ยี่ห้อ ตราพาเลซ PALACE ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน ไม่มีระบุข้อมูลโภชนาการบนฉลาก        -        ทุกยี่ห้อมีหน่วยบริโภคที่แนะนำอยู่ที่ 1 ช้อนโต๊ะ (20กรัม)        -        พาเลซ ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน มีราคาต่ำที่สุด คือ 18 บาท และราคาเฉลี่ย/กรัมต่ำสุด  เพราะเป็นครีมเทียมไม่ใช่ นมข้นหวาน และได้ปริมาณมากที่สุด 195 กรัม        -        12 ตัวอย่าง มีส่วนผสมนมชนิดต่างๆ ในปริมาณที่รวมกันได้เกินกว่าร้อยละ 8  ครีมเทียม         ครีมเทียมในปัจจุบันมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ ครีมเทียมแบบผงและครีมเทียมข้นหวานที่อยู่ตามท้องตลาด รูปแบบครีมเทียมแบบผง คือ เอาไว้ชงใส่กาแฟเพื่อเพิ่มความอร่อยหรือที่เราคุ้นเคยก็คือคอฟฟีเมตนั้นเอง ส่วนประกอบหลักครีมเทียมผง คือ กลูโคสไซรัป น้ำมันปาล์ม สารแต่งสีและกลิ่น โซเดียม สารป้องกันการเกาะตัวเป็นก้อน หรืออื่นๆ ส่วนครีมข้นหวาน คือ รูปแบบหลอดบีบหรือกระป๋องไว้กินกับขนมปังหรือใช้ผสม ชา กาแฟ โกโก้ ได้เหมือนกัน ส่วนประกอบหลัก คือ แป้ง น้ำมันปาล์มและกลูโคสไซรัป และส่วนผสมนมเพียงเล็กน้อย ซึ่ง 2 รูปแบบ มีไขมันปาล์มที่เป็นไขมันอิ่มตัวสูง และกลูโคสไซรัปซึ่งเป็นน้ำตาล ควรบริโภคอย่างระมัดระวัง คำแนะนำ        หากเราจะงดบริโภคครีมเทียมเราสามารถบริโภคอะไรทดแทนได้ เราอาจจะใช้นมจืดพร่องมันเนยทดแทนครีมเทียมได้ เพราะในเมื่อเราจะกินอะไรที่เป็นรูปแบบ มันๆ อยู่แล้ว การบริโภคนมจืดพร่องมันเนยจะช่วยเพิ่มให้เราได้โปรตีนและแคลเซียมมากขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวังคือเรื่องของน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ ซึ่ง ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินปริมาณที่แนะนำ ดังนี้ เด็กและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 16 กรัม ต่อวัน (4 ช้อนชา) วัยรุ่นหญิงชาย อายุ 14 – 25 ปี ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัม ต่อวัน (6 ช้อนชา)  อ้างอิงhttp://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P408.PDF       http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P352.pdf        http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/264/T_0012.PDFhttps://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/ondemand/%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a1-%e0%b9%83%e0%b8%aa%e0%b9%88%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%a2/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ดูแลผิวแห้งช่วงฤดูหนาว

        เมื่อถึงช่วงเวลาของฤดูหนาว แม้ประเทศไทยเราไม่ได้หนาวมากเหมือนต่างประเทศที่มีอุณหภูมิถึงขั้นติดลบ แต่สิ่งที่ประสบปัญหาเหมือนกันคือ เรื่องผิวแห้งและลอกเป็นขุยสีขาวตามผิวหนังทั้งแขนและขาจนน่ารำคาญใจ บางคนเลยเถิดถึงขั้นเป็นแผลจากการแกะเกาอีกด้วย ยิ่งโดยเฉพาะคนที่มีผิวแห้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้วคงจะไม่ชอบเอามากๆ         สาเหตุของผิวแห้งเป็นขุย หลักๆ คือ ผิวขาดความชุ่มชื้น ซึ่งอาจเกิดจากสภาพอากาศภายนอกที่มีความชื้นต่ำ ทำให้ผิวหนังสูญเสียน้ำออกไปได้ง่ายกว่าปกติ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความสมดุลของผิวหนัง และเกิดอาการลักษณะผิวแห้งลอก (ขุยขาวๆ ) และยังอาจมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การอาบน้ำอุ่นบ่อยๆ การอยู่ในห้องแอร์นานหลายชั่วโมง รวมไปถึงการใช้สบู่ที่ผสมสารที่กำจัดไขมันบนผิวออกไป         ลักษณะปัญหาผิวที่พบในหน้าหนาว นอกจากผิวแห้ง คือ         ผิวพรรณไม่สดใสหมองคล้ำ  เกิดจากผิวของเราที่ขาดความชุ่มชื้นจนแห้งกร้าน เมื่อสะสมไปนานๆ ก็ทำให้ผิวเกิดความหมองคล้ำขึ้นได้         ผิวหน้ามัน ทำไมถึงมีปัญหาผิวมันได้ในช่วงหน้าหนาวในเมื่อสภาพอากาศแห้ง สาเหตุเกิดขึ้นเพราะผิวหน้าของเราเมื่อขาดความชุ่มชื้น ขาดน้ำ ต่อมไขมันใต้ผิวหนังก็จะดึงเอาน้ำมันออกมาเพื่อไม่ให้ผิวหน้าเรานั้นแห้งจนเกินไป จนทำให้ผิวหน้าของเรานั้นมีความมันเพิ่มขึ้นนั่นเอง   วิธีการดูแลผิวในช่วงหน้าหนาว        1.    หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น เพราะความร้อนของน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิสูงมากกว่าปกติจะเข้าไปทำลายไขมันที่เคลือบไว้ปกปิดผิวหนัง จนทำให้ผิวหนังขาดความชุ่มชื้นนั่นเอง แต่ไม่ใช่ว่าไม่สามารถอาบน้ำอุ่นได้ เราสามารถอาบน้ำอุ่นได้ แต่ควรอาบในอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับอุณหภูมิปกติและควรหลีกเลี่ยงการขัดถูผิวแรงๆ        2.    ทาครีมให้ความชุ่มชื้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทาครีมเป็นตัวเลือกแรกที่ทุกคนต้องเลือกใช้ในช่วงหน้าหนาวอยู่แล้ว แต่จะเลือกให้ดี ควรเลือกครีมที่มีส่วนผสมที่ให้ความชุ่มชื้น ได้แก่ กลีเซอรีน  ซอบิทอล เซรามายด์  ลาโนลิน หรือพวกชนิดน้ำมันมะกอก หรือโจโจ้บาออยล์ โดยหากจะให้ครีมมีประสิทธิภาพในการดูดซึมที่ดีควรทาหลังอาบน้ำทันที โดยเช็ดตัวให้หมาดก่อนเริ่มทาครีม        3.    หลีกเลี่ยงครีมที่มีกรดผลไม้ กรดเรตินอล และแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ผิวเราเกิดการระคายเคืองมากขึ้นจากเดิม        4.    การใช้สบู่อาบน้ำ ควรเลือกใช้สบู่อาบน้ำที่เหมาะสมกับสภาพผิวโดยเลือกสบู่ที่มีกรดอ่อนอยู่ในระดับ pH 5.5 เพื่อรักษาความสมดุลของผิวหนัง        5.    ทาครีมกันแดดแบบ SPF50+ ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เพื่อป้องกันแสงแดด        6.    ดื่มน้ำให้มากขึ้น เนื่องจากสาเหตุที่ผิวของเราแห้งและลอกมาจากการสูญเสียน้ำทางผิวหนัง เพราะฉะนั้นควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว        7.    หากพบมีอาการผื่นคันจากผิวที่แห้งลอกมากๆ ก็ควรที่จะเข้าพบเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยไว้  เพราะอาจเกิดความเสียหายกับผิวที่มากกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2564

ปรับเป็นแสน ห้ามนำ-ใช้ ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานแห่งชาติ        3 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง มีส่วนทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว  ดังนั้นเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกประกาศดังนี้         ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone , Octinoxate ,4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซื้อยาฟ้าทะลายโจรระวังเจอของปลอม         23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม  เนื่องจากมีกรณีผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีการโฆษณาตามเพจเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ายาไม่มีรสชาติขมซึ่งผิดปกติจากฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเป็นลักษณะเด่น จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตได้ จึงเชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. จึงทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสขายยาฟ้าทะลายโจร บนเพจเฟซบุ๊ก และเข้าจับกุม ด้าน อย.ระบุ หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรต้องดูฉลากที่ระบุเลขที่จดแจ้งและระบุสถานที่ผลิตชัดเจน โดยซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ “ขนส่งทางบกขอ” ตำรวจไม่จับใบขับขี่หมดอายุถึงสิ้นปี         ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีประกาศงดให้บริการประชาชนด้านใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิดระบาด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กรมฯ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผ่อนปรนการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง เกี่ยวกับกรณีใบขับขี่หมดอายุ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้พิจารณากฎเกณฑ์ขยายระยะเวลา ดังนี้         1.ใบขับขี่หมดอายุขับรถต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564          2.เพิ่มการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและส่วนบุคคลชั่วคราว สามารถขับรถที่ใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าได้ เช่น รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนตามกฎหมายของการขนส่งทางบก และรถปิกอัพป้ายเหลือง         กรณีที่ประชาชนมีเอกสารคำขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตประจำรถ ได้แก่ เอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ หรือคำขอที่ดำเนินการไม่สำเร็จภายใน 90 วัน กรมการขนส่งทางบกจะอนุโลมให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564  พืชกระท่อมปลดออกจากยาเสพติดแล้ว ประชาชน ซื้อ-ขายได้        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่ตอนนี้พืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ทุกคนสามารถครอบครองซื้อขายได้         และ การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด มีผลให้ต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวกับคดีสารเสพติดอื่นนอกเหนือจากพืชกระท่อม และถือว่าเป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิด หากในกรณีที่ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ยุติปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาล โดยได้รับการพิพากษายกฟ้อง ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จะต้องยกเลิกการเสียค่าปรับทันที ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสคิดค่าบริการปัดเศษวินาทีเป็นนาที         ตามที่มีตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เหตุจากการคิดค่าบริการดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริงนั้น  วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ ให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร ค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ และหากดำเนินคดีแบบสามัญการคำนวณค่าเสียหาย ผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญสะดวกกว่า         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากคำตัดสินนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดีหรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกันในกระบวนการแบบสามัญ เช่น สมาชิก 30-40 คน อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ผลทดสอบผลิตภัณฑ์กันยูวี

        แสงแดดบ้านเราร้อนแรงขึ้นทุกปี ผลิตภัณฑ์กันแดดจึงกลายเป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่ทุกบ้านต้องมีไว้ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอนำผลทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์กันแดดที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ได้ทำไว้ในช่วงต้นปี 2564 มาฝากสมาชิกกันอีกครั้ง คราวนี้เป็นครีม/สเปรย์กันยูวี ที่มีค่า SPF ระหว่าง 15 - 50 ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอนำเสนอเพียง 20 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น*         คราวนี้นอกจากจะให้ความสำคัญกับความสามารถในการป้องกันรังสี UVA/UVB (ร้อยละ 65)  ความพึงพอใจของผู้ใช้ เช่น การซึมลงผิว และ ความรู้สึกไม่เหนียวเหนอะหนะ (ร้อยละ 20) แล้ว ทีมทดสอบยังให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 10) และฉลากที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคด้วย (ร้อยละ 5)         แม้จะไม่ได้ให้สัดส่วนคะแนนสำหรับการงดใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์ (Endocrine Disrupting Chemicals หรือ EDCs) เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ให้การตอบรับและยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ทีมทดสอบก็พบว่ามีอย่างน้อยสองผลิตภัณฑ์ที่ยังใช้สารเคมีกลุ่มดังกล่าวอยู่ (Hawaiian Tropic Satin Protection SPF 30 และ Lancaster Sun Beauty Sublime Tan)*หมายเหตุ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าทดสอบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่จัดซื้อโดยองค์กรผู้บริโภคในสเปน อิตาลี โปรตุเกส  ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ และราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโรในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 โปรดตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจข้อมูลจาก National Ocean Service ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาhttps://oceanservice.noaa.gov/news/sunscreen-corals.html

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point