ฉบับที่ 104 ครัวใบโหนด ผลผลิตจากครัวชุมชนสู่คนทั้งหมด

ใน “ลานผักพื้นบ้าน อาหารกู้โลก” ของงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 6 “ผักพื้นบ้าน สร้างเศรษฐกิจไทย กู้ภัยวิกฤติ” ที่จัดระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายนนี้ ที่เมืองทองธานี 2552 มีกลุ่มชาวบ้านที่จัดว่าเป็นไฮไลต์ของลานที่มาตั้งร้านจำลองที่มีชื่อว่า “ครัวใบโหนด” ซึ่งมาพร้อมกับเมนูตัวอย่างจากคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลากว่า 10 ชนิด ใครๆ ได้ไปชิมแล้ว เป็นต้องออกปากชมเปาะ และติดใจในรสมือระดับแม่ครัวตัวยายของกลุ่มพวกเขา “เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ตาลโตนด และโครงการฟื้นฟูฯ คาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา”   ครัวใบโหนดจากการคิดและร่วมลงทุนลงหุ้นกันของสมาชิกในกลุ่มจำนวน 7 กลุ่ม 5,000 กว่าชีวิต จนมาเปิดร้านอาหารพื้นบ้านที่มีขนาดใหญ่แบบคนใจใหญ่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเรื่องราววิถีวัฒนธรรมการกินของชาวคาบสมุทรสทิงพระและเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มให้คงอยู่ในรุ่นลูก รุ่นหลานสืบต่อไป อีกทั้งยังต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้สนใจที่แวะเวียนเข้าลองชิมและอุดหนุน พร้อมๆ กับการเปิดมุมเผยแพร่แลกเปลี่ยนพันธุ์พืชท้องถิ่น และเป็นแหล่งรวบรวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในคาบสมุทรสทิงพระอีกด้วย ก่อนที่จะมาเปิดร้าน ครัวใบโหนด เริ่มกันด้วยเครือข่ายออมทรัพย์ตาลโตนดก่อน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านเมื่อ 24 ปีที่แล้วเพื่อทำกลุ่มออมทรัพย์ ส่งเสริมอาชีพของสมาชิกในชุมชน "คาบสมุทรสทิงพระ" ซึ่งเป็นพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาอยู่ระหว่างทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำนา ทำสวน ทำน้ำตาลโตนดและทำประมง เมื่อเริ่มมีเครือข่ายออมทรัพย์ ก็มีการตั้งกองทุนสวัสดิการ กองทุนเงินฌาปณกิจและกองทุนไถ่ถอนที่ดินเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืนร่วมไปด้วย จนเมื่อปี 2549 เครือข่ายออมทรัพย์ตาลโตนดได้เริ่มทำการสำรวจภูมิปัญญาจากตำรับน้ำพริก และอาหารท้องถิ่นในปี 2550 เพื่อศึกษาความหลากหลายของพืชพื้นบ้าน รวมถึงคุณประโยชน์ในด้านการกินและสมุนไพรในการรักษา และด้านอื่นๆ จากสภาพพื้นที่ที่มีลักษณะผสมผสานระหว่าง ทุ่งนา ป่าตาลโตนดและทะเลน้ำจืด(ทะเลสาบตอนบนและตอนกลาง) ทะเลน้ำกร่อยในช่วงทะเลสาบสงขลาตอนใต้และน้ำเค็มในทะเลอ่าวไทย เรียกสั้นๆ ง่ายๆ “โหนด –นา – เล ของคาบสมุทร 3 น้ำ” ชาวบ้านพบว่า หนทางเดียวที่จะรักษาความหลากหลายของทรัพยากรอาหารกับภูมิปัญญาความรู้ในการเลือกกิน เลือกเก็บอาหารมาปรุงให้อร่อยและมีคุณค่าได้ คือการมีไว้ให้ลูกหลานกินนั่นเอง ที่ร้านครัวใบโหนด นอกจากมีอาหารดีๆ อร่อยๆ แล้วยังจัดสรรให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับที่มาที่ไปของอาหารในคาบสมุทรสทิงพระ เช่น พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน อาหารจากตาลโหนดในนา โดยปฏิบัติการตรงจากลุงป้าน้าอาและลูกหลานของชุมชน เพื่อนำเสนอสู่ผู้คนที่สนใจให้ได้ร่วมภาคภูมิใจในรสอร่อยของอาหาร ไปพร้อมๆ กับการสืบสานและสร้างสรรค์ให้พืชพันธุ์ท้องถิ่นอยู่คู่การกินแบบมีคุณภาพในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เมนูที่ครัวใบโหนดเลือกมาสาธิตให้ผู้สนใจในลานผักพื้นบ้าน อาหารกู้โลกเมื่อวันงานที่เมืองทองธานี คือ “ยำสาย” หรือยำสาหร่ายจากทะเลสาบสงขลา (คนที่เคยได้ทดลองกินในงานมหกรรมสมุนไพรปีที่แล้วต่างยอมรับกันทั่วว่าอร่อยจริงๆ) เมื่อวันงานผ่านไปแล้ว อย่าเพิ่งเสียดายว่าจะไม่ได้ชิมอีก หลังจากเสร็จงานมหกรรมฯ ที่เมืองทองธานี พวกเขาจะเปิดร้านครัวใบโหนดอย่างเป็นทางการ ที่บ้านบ่อกุล อ.สิงหนคร ในคอนเซ็ปต์ “ผลผลิตจากครัวชุมชน สู่คนทั้งหมด” เตรียมเสิร์ฟอาหารท้องถิ่นรสอร่อยแท้ ปลอดสารพิษรสเด็ดแบบชาวคาบสมุทรสทิงพระกว่า 60 รายการที่คัดสรรอย่างดีมาให้กับลูกค้า เจ้าตำรับ : นางฆอยะ มณีโชติ อายุ 60 ปี จ.สงขลา วัตถุดิบในการทำยำสาย1. สาย(หรือสาหร่าย) 3 ขีด2. มะพร้าวคั่ว ? กิโลกรัม3. มะนาวลูกใหญ่ 5 ลูก4. หอมแดง 16 กลีบ5. น้ำตาลปีบ 3 ขีด6. มะม่วงพิมเสนเบา 4 ลูก7. พริกสด 10 ดอก8. น้ำกะทิสด 1 กิโลกรัม9. เกลือ 1 ช้อนชา10. กะปิ 2 ขีด วิธีทำยำสาย1. นำสาย/สาหร่าย ที่ล้างทำความสะอาดแล้วมาหั่นให้เหลือความยาวประมาณ 2 นิ้ว2. เอาน้ำกะทิตั้งไฟ ใส่กะปิ หั่นหอมแดงประมาณ 6 กลีบ และน้ำตาลปีบใส่ลงไป เคี่ยวจนละลายแล้วเติมเกลือ3. นำสายหรือสาหร่ายที่หั่นแล้วใส่ลงไป คนให้เข้ากัน แล้วยกลงเทใส่ภาชนะหรือถาด4. นำมะพร้าวคั่วมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปคลุกกับสาย5. หั่นหอมแดง 10 กลีบที่เหลือบางๆ ใส่ลงไป ฝานหรือสับหรือซอยมะม่วงใส่ลงไป แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน6. ใส่พริกสด เกลือ กะปิ คลุกเคล้าอีกครั้งหนึ่งแล้วชิมรส

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point