ฉบับที่ 218 ตุ๊กตาผี : เด็กดีผีคุ้ม

                ความเชื่อเรื่อง “ผี” ไม่เคยห่างเหินและสูญหายไปจากระบบคิดของสังคมไทย        เหตุผลที่ผียังคงสถิตอยู่เป็นความเชื่อของคนไทยก็น่าจะเป็นเพราะว่า ผีมีบทบาทหน้าที่กำกับควบคุมความเป็นไปในสังคม สำนวนที่ว่า “คนดีผีคุ้ม” นั้น ย่อมบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า หากใครมีความประพฤติปฏิบัติที่ดี และเป็นไปตามข้อตกลงร่วมในสังคมไทย ภูตผีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมจะอภิบาลคุ้มครอง ไม่เว้นแม้แต่ “เด็กดี” ที่ “ผีย่อมต้องคุ้ม” ด้วยเช่นกัน        โดยปกติแล้ว สถาบันแรกสุดที่ถูกสังคมมอบหมายบทบาทและความชอบธรรมให้คุ้มครองชีวิตและความเป็นไปของเด็กๆ ก็คือ สถาบันครอบครัว แต่ทว่า ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ตุ๊กตาผี” นั้น ตัวละครเด็กอย่าง “แป้งร่ำ” ต้องมีเหตุให้ครอบครัวมิอาจดูแลคุ้มครองชีวิตของหนูน้อยจากภยันตรายรอบตัวได้เต็มที่นัก        เปิดฉากมาของเรื่องละคร เด็กหญิงแป้งร่ำได้เห็น “ธาดา” เจ้าของบริษัททิพย์พิมานผู้เป็นบิดาของเธอ ถูก “พิชิต” ทนายประจำบริษัทยิงตายต่อหน้าต่อตา แม้เด็กหญิงจะจำได้ว่ามือปืนก็คือพิชิต แต่หลังจากเห็นบิดาถูกฆาตกรรม เธอก็ไม่ยอมพูดจากับใครอื่นนอกจาก “ตุ๊กตาวาวา” ตุ๊กตาที่พ่อซื้อให้ก่อนจะเสียชีวิต        และในเวลาต่อมา “นวลทิพย์” มารดาของแป้งร่ำตกลงแต่งงานกับพิชิต โดยหารู้ไม่ว่าเขาคือฆาตกรฆ่าสามี แต่กลับเชื่อว่า เขาจะช่วยดูแลบริหารงานของบริษัทและดูแลแป้งร่ำไปด้วยในเวลาเดียวกัน หากแต่ว่าพิชิตกลับหวังที่จะปอกลอก และพยายามวางแผนเพื่อถือครองมรดกของนวลทิพย์และธาดามาเป็นของเขาแทน        จนเมื่อความโลภดำเนินไปถึงขีดสุด พิชิตก็หันไปร่วมมือกับ “เริงวุฒิ” เจ้าของกิจการคู่แข่ง ที่หวังจะกำชัยทางธุรกิจเหนือบริษัททิพย์พิมาน รวมทั้งต้องการครอบครอง “ตุ๊กตาหยก” ของศักดิ์สิทธิ์มีค่าประจำตระกูลของนวลทิพย์ ซึ่งเธอแอบซ่อนตุ๊กตาหยกนี้ไว้ในตัวตุ๊กตาวาวาของแป้งร่ำ และนั่นก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เด็กน้อยแป้งร่ำได้เห็นมารดาถูกฆาตกรรมต่อหน้า เนื่องเพราะความโลภของบรรดาผู้ใหญ่รอบตัวนั่นเอง        เมื่อขาดซึ่งพ่อแม่บุพการีที่จะคอยเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรดูแลคุ้มครองลูก เด็กน้อยอย่างแป้งร่ำจึงมีสถานะไม่ต่างจาก “เหยื่อ” ที่ตัวละครผู้ใหญ่ตัวโตทั้งหลายพยายามเข้ามาช่วงชิงผลประโยชน์จากเด็กที่ตัวเล็กกว่า        เริ่มตั้งแต่พิชิตที่มุ่งหมายจะครอบครองสิทธิ์ในมรดกทั้งหมดของแป้งร่ำ หรือ “ม่านฟ้า” ภรรยาใหม่ของพิชิตที่อีกด้านหนึ่งก็คือเมียลับๆ ของเริงวุฒิที่ต่างร่วมมือกันวางแผนชิงตุ๊กตาหยกมาเป็นของตน ไปจนถึงบรรดาเครือญาติอีกมากมายของพิชิตที่แห่กันเข้ามาอาศัยร่วมชายคาเดียวกันในบ้านหลังใหญ่ของแป้งร่ำ        ไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง “พุด” พ่อที่ติดการพนันงอมแงมจนหมดตัว “จัน” แม่ที่ติดหรูแบบจมไม่ลง “พิชัย” น้องชายที่หลักลอยไม่ทำงานการใดๆ “ละม่อม” สาวใช้ตัวร้ายของพุดและจัน รวมถึง “อาจารย์สมิง” หมอผีชื่อดังที่ใช้อาคมสะกดวิญญาณของธาดาเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง        เพราะเด็กมักถูกรับรู้ว่าเป็นมนุษย์ตัวเล็กที่ “มีอำนาจน้อย” หรือ “ไร้ซึ่งอำนาจ” จะต่อรอง ดังนั้น บรรดาตัวละครผู้ใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยความโลภและมิจฉาทิฐิดังกล่าว ก็คอยตั้งท่าจะเอารัดเอาเปรียบและขูดรีดเพื่อพรากเอาทรัพย์สินผลประโยชน์ของแป้งร่ำให้กลายมาเป็นผลประโยชน์เฉพาะส่วนตน        อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแป้งร่ำเป็น “เด็กดี” และไม่เคยทำร้ายใครก่อน ด้านหนึ่งเด็กหญิงก็เลยมีผู้ใหญ่ที่ดีกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เป็นระยะๆ ซึ่งในท้องเรื่องก็คือ “ธนิดา” หลานสาวของธาดา กับ “อติรุจ” แฟนหนุ่มของเธอ รวมไปถึง “ป้าสาย” และ “ปลา” ญาติสนิทของนวลทิพย์ ที่คอยดูแลเด็กหญิงหลังจากสูญเสียพ่อแม่ไป        แม้ความเป็นจริงที่ว่า เด็กคือกลุ่มคนตัวเล็กที่ “มีอำนาจน้อย” อาจจะถูกต้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เด็กตัวเล็กๆ จะกลายเป็นปัจเจกบุคคลหรือมนุษย์ที่ “ไร้ซึ่งอำนาจ” โดยสิ้นเชิง เพราะในขณะที่เด็กหญิงแป้งร่ำถูกกระทำทารุณต่อทั้งกายวาจาและจิตใจอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่กลไกทางสังคมบางอย่างก็คอยเสริมให้หนูน้อยมีศักยภาพหรือ “มีอำนาจ” ที่จะต่อกรกับผู้ใหญ่เหล่านั้นเอาไว้ได้เช่นกัน        หากดูผิวเผินแล้วเด็กก็อาจจะไม่มีอำนาจปะทะต่อสู้กับผู้ใหญ่ที่ตัวโตกว่าได้ แต่ถ้าเด็กคนหนึ่งยึดมั่นในความดี ข้อเท็จจริงที่ว่า “เด็กดีแล้วผีจะคุ้ม” ก็เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นจากกรณีของเด็กหญิงแป้งร่ำที่มีผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องเธอจากผู้ใหญ่ตัวร้ายที่ยกขบวนกันมาแย่งชิงผลประโยชน์จากเธอ        ด้วยเหตุดังกล่าว “เด็กดีๆ” แบบแป้งร่ำจึงได้รับการดูแลจาก “ผีคุ้ม” ซึ่งก็คือเหล่าตุ๊กตาของหนูน้อยเอง ที่ภายหลังมีวิญญาณอันเป็นกัลยาณมิตรมาสิงสู่อยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาผีเจ้าสาว ตุ๊กตาผีกุ๊กผู้หญิง ตุ๊กตาผีตัวตลก ตุ๊กตาผีตำรวจ ตุ๊กตาผีช่างฟิตหนุ่ม ตุ๊กตาผีคู่กุมารหญิงและชาย และรวมไปถึงวิญญาณผีนวลทิพย์ที่ภายหลังก็มาร่วมสมาคมกับตุ๊กตาผีกลุ่มนี้ เพื่อคอยคุ้มครองป้องภัยให้กับบุตรสาวของเธอ        จากเด็กตัวเล็กอย่างแป้งร่ำที่เคย “ไร้ซึ่งอำนาจ” ก่อกลายมาเป็นเด็กที่ “มีอำนาจ” มาต่อสู้กับผู้ใหญ่ได้ ก็เมื่อหนูน้อยมีพันธมิตรที่เป็นบรรดาตุ๊กตาผีหลายตนมาคอยให้การปกป้องคุ้มครอง        จะว่าไปแล้ว ความคิดเรื่องตุ๊กตาที่มีผีมาสิงสถิตและคอยช่วยเหลือเด็กๆ ก็หาใช่เรื่องที่แปลกใหม่ในโลกทัศน์ของคนไทย เด็กไทยสมัยก่อนเคยมีความเชื่อเรื่องการเลี้ยงตุ๊กตารักยมให้เป็นทั้งพี่และเพื่อนในจินตนาการต่อสิ่งเหนือธรรมชาติของเด็ก และที่สำคัญ ในจินตนาการเรื่องเล่าของตุ๊กตาผีแบบนี้เองที่ “อำนาจ” จะถูกผกผันกลับหัวกลับหางให้เด็กมีพลังที่จะต่อสู้ต่อกรกับผู้ใหญ่ที่ตัวโตกว่าได้        ดังนั้น ฉากที่พันธมิตรตุ๊กตาผีของเด็กหญิงแป้งร่ำได้ใช้ความน่ากลัวของ “ความฝัน” สร้างจินตนาการเพื่อลงโทษกักขังทารุณกรรมพิชิตและวงศาคณาญาติของเขาเป็นการสั่งสอน โดยที่พิชิตและม่านฟ้าถูกจับขังและเผาไว้ในโลงศพ ขณะเดียวกับที่คนอื่นก็ถูกหลอกหลอนจนแทบไม่เป็นผู้เป็นคน ก็ทำให้เราเห็นว่า อำนาจนั้นไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่มาอยู่ได้ในมือของเด็กตัวเล็กๆ เช่นกัน        หากความเชื่อเรื่องผีคือกลไกที่สังคมใช้ควบคุมคนดี และหาก “เด็กดีผีย่อมคุ้ม” ด้วยแล้ว กับบรรดาผู้ใหญ่ที่เลือกทำตนไม่ดีนั้น ผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คงไม่เลือกอภิบาลปกป้องคนไม่ดีดังกล่าว เหมือนกับที่ธนิดาเคยพูดกระทบกระเทียบกับพิชิตว่า “ถ้าคนไม่ได้คิดร้ายกับผี ก็ไม่ต้องกลัวผีมาหลอกหรอก”        เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ต่อให้หนูน้อยแป้งร่ำไม่ได้เลือกจะทำร้ายผู้ใหญ่ที่มุ่งร้ายต่อเธอก็จริง แต่ก็เป็นบรรดาตุ๊กตาผีกัลยาณมิตรที่จะทำหน้าที่รักษากฎกติกาทางสังคม และลงโทษทัณฑ์คนร้ายและคนโลภเหล่านั้นทั้งในจินตนาการเหนือธรรมชาติและที่สัมผัสได้ในโลกความจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เลือดข้นคนจาง : ทฤษฎีสมคบคิดภายในสถาบันครอบครัว

                        เพราะครอบครัวเป็นสถาบันแรกและหลักที่สุดของสังคม ดังนั้นละครโทรทัศน์จึงมักหยิบเอาชีวิตครอบครัวมาผูกโยงเป็นเรื่องเล่าสู่สายตาของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นด้านที่เปี่ยมด้วยความสุข หรือด้านที่ปะทุคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้ง ครอบครัวก็ยังเป็นสถาบันที่โลกสัญลักษณ์ของละครมักเลือกฉายภาพออกมาอยู่เสมอ        ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเนื้อหาสารชนิดอื่นๆ ที่นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นว่า จะมีพื้นที่อื่นใดที่สามารถกะเทาะความเป็นจริงแห่งสถาบันครอบครัวได้เข้มข้น ถึงแก่น และชัดเจนที่สุด ได้ทัดเทียมภาพสมมติของครอบครัวที่อยู่ในละครโทรทัศน์อีกแล้ว         และด้วยตรรกะเช่นนี้ “เลือดข้นคนจาง” ก็เป็นละครโทรทัศน์อีกหนึ่งเรื่องที่เลือกย้อนรอยให้เห็นความเป็นจริงในพื้นที่ของครอบครัว ยิ่งหากทุกวันนี้ ภายใต้กระแสจีนาภิวัตน์ที่สังคมไทยหันหน้าไปจูบปากกับความเป็นจีนกันอย่างดื่มด่ำด้วยแล้ว ฉากหลังของครอบครัวแบบจีนก็ถูกวาดขึ้นมาเพื่อสอดรับกับกระแสธารดังกล่าว โดยผ่านความสัมพันธ์ภายในตระกูล “จิระอนันต์” เจ้าของธุรกิจเครือโรงแรมขนาดใหญ่อย่าง “จิรานันตา”         โดยพื้นฐานของธรรมเนียมปฏิบัติแบบจีน นิยมพำนักอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยาย หรือสำหรับครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่งอย่างจิระอนันต์ก็กินอยู่กันในลักษณะของระบบ “กงสี” โดยมีหลายๆ ครัวเรือนของลูกหลานที่อาศัยร่วมอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันแบบสายตระกูลขนาดใหญ่นั่นเอง        และเพราะครอบครัวเป็นสถาบันซึ่งดำรงอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวที่สุดของชีวิตมนุษย์ ก็หนีไม่พ้นกฎที่ครอบครัวจิระอนันต์จะต้องกอปรขึ้นด้วยด้านที่เป็น “หน้าฉาก” ที่เปิดม่านออกคนนอกรับรู้มองเห็นได้ กับส่วนที่เป็น “หลังฉาก” อันเป็นปริมณฑลส่วนตัว ซึ่งจะมีก็แต่สมาชิกครอบครัวเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้         ในด้านความเป็น “หน้าฉาก” ผู้ชมเองก็สัมผัสได้ตั้งแต่ม่านละครเปิดออกมาพร้อมกับภาพความสุขในงานเลี้ยงรวมญาติเพื่ออวยพรวันเกิดของ “อากงสุกิจ” ผู้ก่อตั้งโรงแรมจิรานันตา ซึ่งมีลูกชายคนโตหรือ “ประเสริฐ” กับลูกสาวคนที่สาม “ภัสสร” ที่ช่วยกันบริหารกิจการ ส่วนลูกชายคนที่สองคือ “เมธ” และลูกชายคนสุดท้อง “กรกันต์” ก็เป็นผู้ร่วมกินอยู่ในกงสีของตระกูล แม้ว่าจะไม่ได้บริหารงานโรงแรมโดยตรงก็ตาม        ฉากเริ่มต้นเรื่องที่ตัวละครทั้งหมดในทุกเจนเนอเรชั่นของครอบครัวมาร่วมโต๊ะกินข้าว ถ่ายรูปร่วมกัน หรือชื่นชมภาพวาดฝีมืออากง ก็คือด้านหน้าฉากซึ่งฉายบรรยากาศความสุขของตระกูลจิระอนันต์ที่เปิดออกให้สาธารณชนคนนอกอย่างเราๆ ได้รับรู้กัน                แต่ในอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็น “หลังฉาก” ของครอบครัวจิระอนันต์นั้น ตัวละครที่เราเห็นปรองดองกันอยู่เพียงไม่กี่ฉากในตอนต้นเรื่อง ก็ค่อยๆ ถูกวางโครงเรื่องให้ผู้ชมได้ขยับเข้าไปเห็นเบื้องหลังซึ่งมีทั้งการช่วงชิงผลประโยชน์ และการเก็บงำความลับบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ในโครงข่ายของสายตระกูลดังกล่าว        แม้โดยแก่นหลักของละครจะพยายามยืนยันกับผู้ชมอยู่ตลอดเรื่องว่า “เพราะครอบครัวสำคัญที่สุด” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ภายในสถาบันครอบครัวที่ “สำคัญที่สุด” นี้เองที่ความขัดแย้งและการวางหมากวางเกมระหว่างกัน กลับเป็นคลื่นใต้มหาสมุทรที่มีผลประโยชน์ของสมาชิกแต่ละคนเป็นตัวแปรหลบเร้นอยู่เนื้อใน        ดังนั้น เมื่ออากงประมุขของตระกูลเสียชีวิตลง และทำพินัยกรรมไว้ตามธรรมเนียมนิยมแบบจีน โดยแบ่งมรดกกิจการโรงแรมเป็นสี่ส่วนให้ลูกชายสามคนกับ “พีท” หลานชายคนโตลูกชายของประเสริฐในฐานะของ “ตั่วซุง” ของบ้าน จึงนำไปสู่ความไม่พอใจของภัสสรในฐานะที่บุตรสาวที่ช่วยดูแลกิจการของครอบครัวมาโดยตลอด แต่เธอกลับแทบจะถูกมองไม่เห็นค่าในฐานะลูกผู้หญิงของตระกูล         และที่สำคัญ ภายหลังจากความขัดแย้งในการจัดสรรมรดกที่มีค่านิยมบางอย่างของสังคมกำกับไว้ ได้นำไปสู่ความรุนแรงที่พี่ชายคนโตอย่างประเสริฐถูกฆาตกรรม โดยมีน้องสาวคู่กรณีหลักอย่างภัสสรตกเป็นจำเลยต้องสงสัยลำดับแรกๆ         ด้วยการผูกเรื่องให้เป็นละครแนวดราม่าสืบสวนสอบสวน ด้านหนึ่งละครก็ค่อยๆ คลายปมให้เห็นว่า “ใครกันแน่ที่ฆ่าประเสริฐ” โดยที่ผู้ต้องสงสัยสามารถเป็นใครก็ได้ในครอบครัว แต่ในเวลาเดียวกัน โครงเรื่องที่ดำเนินไปก็ทำให้ผู้ชมได้เห็นความขัดแย้งของผลประโยชน์ในธุรกิจกงสีของตระกูลจิระอนันต์ไปพร้อมๆ กัน        แม้ในตอนจบของเรื่อง ละครจะเฉลยคำตอบว่า ภัสสรที่ถูกต้องสงสัยตั้งแต่ต้นเรื่องนั้นหาได้เป็นฆาตกรตัวจริงไม่ หากแต่เป็นเมธน้องชายคนรองที่ยิงประเสริฐเพราะลุแก่โทสะที่เขาปิดบังความลับเรื่องการตายของภรรยาตน แต่ทว่าแง่มุมที่ละครสะท้อนให้เราต้องย้อนคิดไปกว่านั้นก็คือ เบื้องหลังความรุนแรงในครอบครัวนี้ “คนที่ยิง” กับ “คนที่ฆ่า” อาจจะไม่ใช่คนเดียวกันเสมอไป        เพราะแม้เมธจะเป็นผู้ที่เหนี่ยวไกปืนสังหารพี่ชายของตนด้วยอารมณ์ชั่ววูบ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว กลับเป็นทุกคนที่เหลืออยู่ในตระกูลนั่นต่างหากที่สมคบคิดหรือมีส่วนไม่มากก็น้อยในการ “ฆ่า” ด้วยการหยิบปืนมาใส่ไว้ในมือของเมธให้ “ยิง” พี่ชาย เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของธุรกิจกงสีในฐานะที่เป็นผลประโยชน์แห่งตน        ว่ากันตามหลักทฤษฎีแล้ว เรื่องของ “เหตุผล” และ “ผลประโยชน์” ไม่ใช่สิ่งที่แยกจากกันโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น เมื่อมี “ผลประโยชน์” ที่ทุกคนต้องการร่วมสืบทอดและครอบครองมรดกอันเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจของครอบครัว ตัวละครต่างๆ จึงล้วนมีข้ออ้าง “เหตุผล” เพื่อสร้างความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงแม้แต่กับผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน        อากงและอาม่าก็เลือกจะรักลูกไม่เท่ากัน โดยอ้างเหตุผลเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติในการแบ่งมรดกของครอบครัวจีน พี่ใหญ่อย่างประเสริฐก็มีเหตุผลเรื่องความอยู่รอดของกิจการกงสีซึ่งต้องเป็นตนเท่านั้นที่ควรถือครองโดยชอบธรรม สะใภ้ใหญ่อย่าง “คริส” ที่ต้องการสร้างความมั่นคงในสถานภาพจนเลือกวางยาขับเลือดให้ภรรยาของเมธกินจนแท้งบุตร รวมไปถึงภัสสรที่แม้จะล่วงรู้ความลับของทุกคนในบ้าน แต่ก็เลือกจะปกปิดไว้เพียงเพื่อให้เธอมีโอกาสได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในมรดกของตระกูล        เหตุผลที่ต่างคนต่างอ้างความชอบธรรม โดยมีผลประโยชน์ของครอบครัวที่จะจัดสรรตกมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตน ในท้ายที่สุดก็นำไปสู่อำนาจและความขัดแย้ง ที่ทุกคนนั่นเองสมคบคิดและมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดเป็นความรุนแรงแห่ง “ศึกสายเลือด” ของตระกูลจิระอนันต์         กล่าวกันว่า การเมืองที่คุกรุ่นที่สุดในชีวิตมนุษย์นั้นไม่ได้อยู่ไกลโพ้นอย่างการช่วงชิงอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรหรอก หากแต่เริ่มต้นกันตั้งแต่สนามรบในบ้านหรือครอบครัวนี่เอง เพราะฉะนั้น เมื่อผลประโยชน์เข้ามาเป็นตัวแปรแทรกกลางความสัมพันธ์ของมนุษย์ แม้แต่กับสมาชิกที่ “เลือดข้น” ในสถาบันครอบครัว มนุษย์เราก็พร้อมจะกลายพันธุ์เป็น “คนจาง” ซึ่งมีเหตุผลให้ห้ำหั่นกันและกันได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ริมฝั่งน้ำ : “คนไกลฝั่ง” กับ “ไม้ใกล้ฝั่ง”…เรารักกันนะ...จุ๊บจุ๊บ

           นั่งเรียบเรียงต้นฉบับครั้งนี้ ผู้เขียนเลือกวันดีๆ และสถานที่ดีๆ มาทอดอารมณ์เขียนงานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรับลมเย็นสบายๆ อันที่จริงแล้ว “ริมฝั่งน้ำ” แบบนี้ ถือเป็นแหล่งรวมของผู้ใช้ชีวิตหลายเพศ หลายรุ่น หลายวัย และหลายหลากสถานะทางสังคม และยังเป็นอาณาบริเวณอันน่าสนใจที่จะให้ผู้คนหลากหลายได้มาเห็นกันและกัน เพื่อเรียนรู้วิถีปฏิบัติและความเป็นไปในชีวิตทางสังคมที่แตกต่างจากตัวเรา            เฉกเช่นเดียวกับละครโทรทัศน์เรื่อง “ริมฝั่งน้ำ” ที่ทำให้เราได้หันมาทบทวนหวนคิดกับชีวิตของคนที่หลากหลายเพศ วัย และสถานะทางสังคม ไม่ต่างจาก “ริมฝั่งน้ำ” ที่เราสัมผัสกันอยู่ในโลกความจริงเลย            และเพราะตอนนี้โรดแม็พของสังคมไทยกำลังเลี้ยวโค้งเข้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” กันอย่างแท้จริง ภาพของผู้คนที่ฉายอยู่ในโลกสัญลักษณ์ของละคร “ริมฝั่งน้ำ” ก็ต้องจำลองชีวิตของบรรดาปู่ย่าตายายทั้งหลาย กับมุมมองที่ผู้คนหลากหลายเจนเนอเรชั่นมีต่อผู้สูงวัยเหล่านี้            ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างรุ่นวัยดังกล่าว เวียนวนอยู่ในปริมณฑลแห่ง “บ้านร่มไม้ชายคา” บ้านพักคนชราที่เป็นมรดกตกทอดจากบิดามารดา มาอยู่ในมือของ “พิมพ์วีนัส” นางเอกของเรื่อง            เริ่มแรกเมื่อได้รับมรดกมา พิมพ์วีนัสก็ตั้งแง่รังเกียจบ้านพักคนชราแห่งนี้ ด้วยเพราะในอดีตพ่อแม่ของเธอต้องเสียชีวิต เนื่องจากอาสาช่วยคนแก่จมน้ำจนตัวเองต้องตายไป ยิ่งผนวกกับภาพลักษณ์และความหมายของบ้านพักคนชราในฐานะที่เป็นแหล่งรวมของบรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ซึ่งมีแต่จะร่วงโรยจากน้ำที่กัดเซาะตลิ่งจนผุพังไปตามกาลเวลา จึงเป็นสิ่งที่นางเอกคนสวยมิอาจรับได้ เพราะนั่นหาใช่ความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ยืนอยู่ “ไกลฝั่ง” อย่างเธอคาดหวังจะถือครองได้เลย            ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นของเรื่อง พิมพ์วีนัสจึงปฏิบัติการ “ตามล่าฝัน” ด้วยการหนีไปเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ตามแบบอุดมคติที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต แต่เมื่อต้องมานั่งตบยุงเพราะไม่มีลูกค้าเข้ามานั่งในร้านกาแฟเลย พิมพ์วีนัสก็ได้คำตอบว่า ความฝันกับชีวิตจริงของ “คนไกลฝั่ง” ที่ประสบการณ์อ่อนต่อโลกนั้น ยังอีก “ไกลแสนไกลกว่าจะถึงฝั่งฝัน”            จนเมื่อ “คุณยายพิกุล” ได้มาเตือนสติพิมพ์วีนัสผู้เป็นหลานสาวว่า “พ่อแม่หนูสร้างสร้างบ้านร่มไม้ฯ มาด้วยความรัก แต่หนูอย่าไปทำลายมันด้วยความเกลียดเลยนะ” นั่นจึงเป็นเหตุปัจจัยให้นางเอกของเราลองเปิดใจหันกลับมาดูแลกิจการบ้านพักคนชรา และค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต “ไม้ใกล้ฝั่ง” ที่ครั้งหนึ่งเธอมองข้าม หรือไม่อยากแม้แต่จะผาดตามอง            ณ บ้านร่มไม้ชายคาแห่งนี้เอง มีหลายชีวิตที่มาอยู่อาศัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น “คุณตาชาญชัย” เจ้าของกิจการโรงแรมที่ไม่มีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะลูกหลานแย่งชิงสมบัติกัน “คุณตาโตมร” อดีตอธิบดีที่วางอำนาจใส่ทุกคนในบ้าน เพื่อกลบเกลื่อนอาการเจ็บป่วยของตน “คุณยายนิ่มนวล” แม่ค้าขนมเปี๊ยะที่ลูกหลานไม่ดูแลเพราะเป็นอัลไซเมอร์ “คุณยายม้วน” ที่ช่างพูดช่างสมาคม รวมไปถึง “เชาว์” “อี๊ด” “กรรณิการ์” “ดวงใจ” “เฟรดริก” และคุณตาคุณยายหลายคนที่ร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นไปในบ้านพักคนชราหลังนี้            จนกระทั่ง วันหนึ่ง “พฤกษ์” ผู้เป็นพระเอกของเรื่อง ได้ตัดสินใจพา “บุษกร” มารดาของตนเข้ามาพำนักร่วมกับเพื่อนผู้สูงวัยในบ้านร่มไม้ชายคา แม้บุษกรจะเคยเป็นคนที่ชอบเสียงเพลงและรักการเต้นรำ แต่ภายหลังจาก “เดชา” บิดาของพฤกษ์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต มารดาของเขาก็กลายเป็นโรคซึมเศร้านับจากนั้นมา            แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยหนุ่มอย่างพฤกษ์จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และร่ำเรียนความรู้เชิงทฤษฎีมาสอนด้านบริหารธุรกิจให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่กับการบริหารสถาบันครอบครัวจริงๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เขากลับล้มเหลวกับมรสุมชีวิตต่างๆ แบบไม่เป็นท่า ทั้งจากการเลือกปิดบังความลับเรื่องพ่อตายไม่ให้มารดารู้ และจากการตีกรอบชีวิตตัวเองเนื่องจากผิดหวังกับความรักมาก่อน            การผูกโยงให้ตัวละครเอกได้มาพบรักกัน และยังได้เรียนรู้ชีวิตจากผู้สูงวัยที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งแน่นอนว่า ครั้งหนึ่งก็เคยมีประสบการณ์ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมายิ่งกว่าเธอและเขาเสียอีก ในที่สุดทั้งพิมพ์วีนัสและพฤกษ์ก็ค่อยๆ ปรับโลกทัศน์ของตนต่อคนสูงอายุเสียใหม่ เหมือนกับหลายๆ ฉากที่ผู้ชมจะได้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ที่ “ไกลฝั่ง” เหล่านี้ เดินเข้าไปมองสายน้ำอยู่ริมตลิ่งที่ “ใกล้ฝั่ง” นั่นเอง            ด้านหนึ่ง ด้วยสุขภาพร่างกายที่ป่วยกระเสาะกระแสะบ้าง ขี้หลงขี้ลืมบ้าง ขี้บ่นขี้โวยวายบ้าง แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมของผู้สูงวัยที่เดินทางมาอยู่บั้นปลายชีวิต เฉกเช่นที่คุณตาชาญชัยได้พูดกับพิมพ์วีนัสว่า “นาฬิกาของฉันมันเดินถอยหลัง มันต่างจากนาฬิกาของหนู ซึ่งเดินไปข้างหน้า”            แต่อีกด้านหนึ่ง ประสบการณ์ที่มี “นาฬิกาชีวิต” หมุนผ่านมาหลายรอบนี้เอง ทำให้คนสูงวัยต่างมีภูมิความรู้และรู้เท่าทันโลก ในแบบที่อหังการของคนรุ่นใหม่ผู้อ่อนหัดไม่อาจทัดเทียมได้จริง เหมือนกับที่ “อานัส” หลานชายเพลย์บอยของคุณตาชาญชัยต้องเคยพ่ายแพ้เกมเล่นเปตองให้กับคุณตาโตมร ก็เป็นเพราะว่า เกมบางเกมไม่ใช่การใช้เรื่องแรงกาย แต่เป็นเรื่องของสมองและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตต่างหาก            แม้ “เกิดแก่เจ็บตาย” จะเป็นธรรมดาของโลก แต่ในห้วงปลายทางของชีวิต ผู้สูงอายุในบ้านร่มไม้ชายคาก็ยังต้องเผชิญปัญหารุมเร้ามากมาย บางคนถูกทรมานทั้งกายวาจาใจจากคนรุ่นใหม่ ถูกปอกลอกโกงเงิน ถูกทอดทิ้ง รวมไปถึงถูกทำให้รู้สึกเหงา เหมือนกับที่คุณตาชาญชัยเคยเปรยกับพฤกษ์ว่า “ความเหงาคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตคนแก่”             แต่อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า สิ่งที่จะทำให้บรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ต้องเจ็บปวดมากที่สุดก็คือ การเฝ้ามองดูความเสื่อมถอยของบุตรหลานตน เหมือนเมื่อครั้งที่คุณตาชาญชัยต้องเสียน้ำตาให้กับลูกๆ หลานๆ เพราะหลานคนหนึ่งติดยาเสพติด อีกคนหนึ่งหนีคดีขับรถชนคนตาย ในขณะที่ลูกๆ ที่เหลือก็เอาแต่จะแย่งชิงมรดกมาเป็นของตน คุณตาถึงกับตัดพ้อว่า “คนแก่จะอายุยืนถ้าได้อยู่เห็นความกลมเกลียว ความรักกันของลูกหลาน มากกว่าที่จะได้ยินเสียงแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างคนสายเลือดเดียวกัน”             หากบ้านร่มไม้ชายคาเป็นภาพจำลองให้เห็นสังคมไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” ก็คงถึงเวลาแล้วกระมังที่ “คนไกลฝั่ง” จะได้จัดวางจังหวะชีวิตของตนให้หันมามองประสบการณ์และความเป็นไปของ “ไม้ใกล้ฝั่ง” กันบ้าง เมื่อยิ่งเรียนรู้และยิ่งผูกพันกัน บางทีความสัมพันธ์ที่เข้าอกเข้าใจกันของคนต่างวัยก็อาจเป็นดุจดังที่พิมพ์วีนัสได้เคยพูดบ้านร่มไม้ชายคาว่า “เราเคยเกลียดที่นี่ ไม่อยากจะเดินเข้ามาที่นี่ แต่วันนี้พอไม่มีคุณตาคุณยายแล้ว ทำไมเรากลับใจหายก็ไม่รู้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 การเลือกซื้อรถยนต์ให้สัมพันธ์กับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก

เมื่อทราบข่าวจากคุณแม่ว่าจะมีสมาชิกใหม่ในบ้าน หลายครอบครัวก็ต้องมาวางแผนในการที่จะต้องซื้อของเพื่อใช้ในการเลี้ยงเด็กทารก รถยนต์เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ บางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเดินทางร่วมกันของครอบครัว ดังนั้นการเลือกซื้อรถยนต์ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่อง ความเป็นมิตรกับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก (Family friendly car) จำเป็นต้องมีข้อมูลและแนวทางเบื้องต้นในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกซื้อรถเข็นเด็กทั่วไป คือ ยิ่งเป็นรถขนาดใหญ่ยิ่งดีใช่หรือไม่?คำตอบคือ ถูกเพียงครึ่งเดียว สิ่งที่ควรพิจารณา คือ ความง่ายในการติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก(car seat) และเข็มขัดนิรภัยของรถ สามารถติดตั้งได้ง่ายหรือไม่ ซึ่งในรถรุ่นเก่าก่อนปี 2004 จะไม่มีตะขอโลหะที่ซ่อนอยู่ใต้เบาะสำหรับติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก แบบ Isofix ซึ่งเป็นชิ้นส่วนมาตรฐานสำหรับรถยนต์ในปัจจุบัน(โดยเฉพาะรถยนต์ ของประเทศยุโรป)  ที่มีไว้สำหรับการติดตั้ง car seat สำหรับเด็ก นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงความยาวของเข็มขัดนิรภัยในรถด้วย เพราะถ้าความยาวของเข็มขัดสั้นเกินไปอาจทำให้เกิดการรัดเข็มขัดที่ยากขึ้น หรือไม่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้สำหรับกรณีการติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับทารกแบบ carry seat ซึ่งการติดตั้งในกรณีที่ติดตั้งอยู่ข้างหน้าข้างคนขับจะต้องล็อคไม่ให้กลไกถุงลมนิรภัยทำงาน เนื่องจากจะเป็นอันตรายแก่เด็กในกรณีเกิดอุบัติเหตุ  และหากเป็นไปได้ ก็ควรเลือกรถที่มี ประตู ปิด เปิด แบบสไลด์ นอกจากจะต้องคำนึงถึงรถยนต์คันใหม่ที่จะซื้อแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องคำนึงถึง ที่นั่งนิรภัยที่จะซื้อตามมาอีกด้วย เพราะ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ไม่ได้ทำมาเพื่อติดตั้งได้กับรถทุกคันในตารางที่แสดงผลการทดสอบ ความเหมาะสมของที่นั่งตำแหน่งต่างๆ ของรถยนต์หลากหลายยี่ห้อ หลากหลายแบบ ตั้งแต่ รถยนต์ กลุ่ม Middle class SUV VAN และ Compact wagon จำนวน 18 รุ่น จะเห็นได้ว่า การติดตั้งที่นั่งนิรภัยด้านข้างคนขับนั้นทุกยี่ห้อ ได้ผลการประเมินเพียงแค่ พอใช้ หรือผ่านเท่านั้น เนื่องจากเด็กไม่ควรนั่งข้างหน้าข้างคนขับ ยกเว้นในกรณีจำเป็น เพราะในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะได้รับการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่า การที่นั่งข้างหลังสำหรับการให้คะแนนในการประเมินทางองค์กรที่ทดสอบการติดตั้งที่นั่งนิรภัยจะพิจารณาจากความยาวของเบาะที่นั่ง ที่ว่างด้านหน้าเบาะ ตำแหน่งของตะขอสำหรับการติดตั้งที่นั่งนิรภัยแบบ Isofix และความยาวของเข็มขัดนิรภัยที่มา วารสาร Test ฉบับที่ 7/2015

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 88 โรงเรียนกวดวิชา

กลับมาอีกครั้งกับผลสำรวจของฉลาดซื้อร่วมกับเครือข่ายที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ (ลำปาง เพชร์บูรณ์ ลพบุรี สระบุรี กาญจณบุรี ตราด สมุทรสงคราม สตูล ยะลา มหาสารคาม และอำนาจเจริญ) คราวนี้เราเลิกไปป้วนเปี้ยนแถวโรงเรียน แต่ไปสอบถามจากผู้ปกครอง จำนวน 498 คน ในฐานะที่เป็นแหล่งทุนสำหรับการเรียนพิเศษของเด็กๆ ทั้งในช่วงเปิดและปิดเทอม กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ปกครอง อายุระหว่าง 41-50 ปี และร้อยละ 60 เป็นผู้หญิงร้อยละ 32 จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ร้อยละ 26 มีการศึกษาระดับประถมศึกษา ตามด้วยอีกร้อยละ 24 ที่มีการศึกษาระดับมัธยม ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 28) รับราชการ ตามด้วย ร้อยละ 24 ที่ทำธุรกิจส่วนตัว รายได้ของครอบครัวของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 35) อยู่ที่ 10,000 ถึง 15,000 บาท อีกร้อยละ 26 มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท อีกร้อยละ 28 มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทลูกหลานของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 43) กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร้อยละ 64 ของนักเรียน เลือกเรียนสายวิทย์ เกือบร้อยละ 40 มีเกรดเฉลี่ยระหว่าง 2.5 ถึง 3 อีกร้อยละ 32 มีเกรดเฉลี่ยระหว่าง 3 ถึง 3.5 จากกลุ่มตัวอย่างที่เครือข่ายของเราไปสัมภาษณ์ พบว่ามีถึงร้อยละ 34 ที่เรียนกวดวิชาและในกลุ่มนี้  มีถึงร้อยละ 79 ที่ใช้บริการโรงเรียนกวดวิชา ที่เหลือเรียนตัวต่อตัวกับครูสอนพิเศษ จำนวนวิชาที่เรียนต่อเทอมหนึ่งวิชา 40.5สองวิชา 36.1สามวิชา 19มากกว่าสามวิชา 4.4วิชาที่เด็กๆนิยมเรียนเรียงตามลำดับความนิยมในกรณีที่เรียนเพียงหนึ่งวิชานั้น วิชาที่เด็กๆ เลือกเรียนคือ คณิตศาสตร์ (ร้อยละ 62.6) รองลงมาได้แก่ อังกฤษ (ร้อยละ 38) ฟิสิกส์ (ร้อยละ 28) และเคมี (26)  ว่าแต่ทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงต้องเรียนกวดวิชา สิ่งที่ผู้ปกครองกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นเหตุผลหลักที่เด็กๆไปเรียนพิเศษ คือ เรียนเพื่อต้องการทำคะแนนให้ดีขึ้น (ร้อยละ 77.5) รองลงมาได้แก่เพื่อการเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย (ร้อยละ 49.2) ตามด้วยการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ (ร้อยละ 45.2) มี ร้อยละ 26.3 ที่ให้เหตุผลว่าลูกหลานไปเรียนพิเศษ เพราะเรียนตามเพื่อนในห้องไม่ทัน (ร้อยละ 26.3) มีเพียงร้อยละ 8.6 เท่านั้นที่ตอบว่าเด็กไปเรียนเพราะต้องการมีกิจกรรมนอกบ้าน และไปสังสรรค์กับเพื่อนหลังเรียน เกณฑ์ในการพิจารณาเลือกโรงเรียน / ผู้สอนพิเศษให้กับบุตรหลาน คุณวุฒิของผู้สอน                 64.6ชื่อเสียงของผู้สอน            41.5เลือกตามคำแนะนำจากผู้ปกครองอื่นๆ     30.5แผ่นพับ/โฆษณา                14.8มาดูเรื่องเงินกันบ้างค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ โดยประมาณส่วนใหญ่ (ร้อยละ 31.2) มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 2,000 บาท ต่อภาคเรียน แต่ที่น่าสนใจคือมีอีกร้อยละ 25 ที่เสียค่าใช้จ่ายเทอมละมากกว่า 4,000 บาท กลุ่มที่ใช้จ่ายเรื่องเรียนพิเศษเทอมละ 2,001 – 3,000 บาท และ 3,001 – 4,000 บาท มีประมาณร้อยละ 18 และมีไม่ถึงร้อยละ 8 ที่จ่ายน้อยกว่า 1,000 บาท    ในกลุ่มที่เรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น มีมากกว่าร้อยละ 30 ที่ใช้จ่ายมากกว่า 4,000 บาทค่าใช้จ่ายในเดินทางค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียนพิเศษแต่ละครั้งของเด็กส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 50 ถึง 100 บาท หนึ่งในสี่ใช้น้อยกว่า 50 บาท และมีถึงร้อยละ 16 ที่มีค่าเดินทางมากกว่า 200 บาทบทสรุปความคุ้มค่าของการลงทุนหนึ่งในสี่ของผู้ปกครองเหล่านี้เชื่อว่าบุตรของตนมีผลการเรียนดีอยู่แล้วก่อนเรียนพิเศษ     ประมาณร้อยละ57 เชื่อว่าบุตรมีผลการเรียนดีขึ้นหลังเรียนพิเศษ แลประมาณร้อยละ 42 ใส่ใจการเรียนมากขึ้นหลังจากไปเรียนพิเศษแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีอยู่บ้าง (ร้อยละ 9) ที่ตอบว่าไม่มีความแตกต่างของผลการเรียนก่อนและหลังการเรียนพิเศษแล้วที่ไม่เรียนเพราะอะไรสาเหตุหลักคือเรื่องของความไม่พร้อมทางการเงิน (ร้อยละ 23.3) มีประมาณร้อยละ 20 ที่เห็นว่าบุตรหลานของตนเองมีผลการเรียนที่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการกวดวิชาก็ได้ ร้อยละ 10 เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะต้องเรียน และที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียนกวดวิชาจริงๆ มีเพียงร้อยละ 3     เท่านั้น ______________________________________________________

อ่านเพิ่มเติม >