ฉบับที่ 222 เมื่อที่จอดรถคนพิการของคอนโดกลายเป็นของคนอื่น

        ชีวิตในคอนโดมิเนียม ก็ใช่ว่าจะสวยงามเหมือนในใบโฆษณาเสมอไป เพราะมันคือสังคมหมู่บ้านแบบหนึ่ง ถ้าได้เพื่อนบ้านดี นิติบุคคลที่บริหารจัดการได้ดี เรื่องจุกจิกกวนใจก็น้อย แต่ถ้าเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นระหว่างผู้พักอาศัย แล้วคนกลางหรือนิติบุคคลเกิดมีแนวโน้มเข้าข้างคู่กรณี แบบนี้ชีวิตก็ลำบาก เช่นเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้         คุณครูปรีชา หลังเกษียณก็ใช้ชีวิตอยู่ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านบางนา คุณครูพักอาศัยคอนโดแห่งนี้มากว่า 14 ปี ไม่มีปัญหาอะไร ปกติคุณครูจะสามารถจอดรถในที่จอดรถสำหรับคนพิการตามสิทธิที่ตนเองพึงได้ จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคณะนิติบุคคลชุดใหม่ที่มีอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยใกล้เคียงกับคอนโดได้ขึ้นเป็นประธานกรรมการของคอนโดดังกล่าว (คุณครูปรีชาระบุว่า เหตุที่อาจารย์ท่านนี้ได้รับเลือกก็เพราะมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่อาศัยอยู่ในคอนโดเป็นจำนวนมากเป็นผู้เลือกอาจารย์ท่านนี้เข้ามา) เรื่องวุ่นวายก็เกิดขึ้น         ตัวคุณครูนั้นมิได้มีปัญหาอะไรกับอาจารย์ท่านดังกล่าว แต่เมื่อมีการทำสัญญาว่าจ้างหรือเปลี่ยนบริษัทจัดการบริหารงานคอนโดเป็นบริษัทใหม่ ปรากฏว่ามีคนแปลกหน้าซึ่งอ้างตัวว่า เป็นผู้จัดการบริษัทดังกล่าวปล่อยให้เกิดกรณีคนนอกซึ่งไม่ใช่คนพิการเข้ามาใช้ที่จอดรถคนพิการหลายครั้ง ทำให้คุณครูไม่สามารถจอดรถในที่เดิมได้ คุณครูจึงทำเรื่องร้องเรียนต่อประธานกรรมการหรืออาจารย์ สมมติว่าชื่อ อาจารย์โอ ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ถูกกีดกันแม้กระทั่งการขอพบหรือเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อ        การกระทำที่เหมือนละเลยสิทธิของคุณครูปรีชาทำให้เกิดปัญหาวิวาทบ่อยครั้งระหว่างผู้จัดการนิติบุคคล ผู้จัดการอาคาร กับคุณครู ต่อมาในเดือนกันยายน 2561 นิติบุคคลได้ปล่อยให้เกิดเหตุ คือ คู่กรณีของคุณครูที่มีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ขึ้นไปจนถึงห้องพักของคุณครู โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งคุณครูพยายามร้องเรียนเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขซ้ำยังถูกกระทำในลักษณะข่มขู่คุกคามจากฝ่ายนิติบุคคลในขณะที่คุณครูเข้าไปร้องเรียนที่ห้องทำงานของนิติฯ และยังพบก้นบุหรี่บนหลังคารถของตนเองที่จอดไว้ในที่จอดรถอีกหลายครั้ง จึงปรึกษามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าพอจะมีแนวทางจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างไรบ้าง   แนวทางการแก้ไขปัญหา        เรื่องของคุณครูต้องแบ่งเป็นสองกรณี คือกรณีที่อาจเข้าลักษณะข่มขู่หรือทำร้ายร่างกาย ควรแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับกรณีเรื่องปัญหาที่จอดรถ ซึ่งตามที่คุณครูร้องเรียนคือ นิติบุคคลไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ทางศูนย์ฯ ได้ทำหนังสือเพื่อขอให้ทางนิติบุคคลและผู้ร้องได้เจรจากันในเบื้องต้นเพื่อไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ ต่อมาก็ได้รับการบอกกล่าวจากคุณครูปรีชาว่า “ตอนนี้สามารถเข้าไปจอดรถในที่ของคนพิการได้แล้ว และไม่พบว่ามีคนที่ไม่ใช่คนพิการเข้ามาจอดอีก” คุณครูจึงของยุติเรื่องการร้องเรียนไว้ก่อน และขอบคุณทางมูลนิธิฯ ที่ช่วยให้คำแนะนำและประสานงานเรื่องการเจรจากับทางนิติบุคคลให้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2559ทำ “ฟันปลอมเถื่อน” เสี่ยงติดเชื้อในช่องปากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เตือนเรื่อง “บริการทำฟันปลอมเถื่อน” ที่เดี๋ยวนี้มีให้เห็นได้ตามตลาดนัดแผงลอยริมถนนทั่วไป เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะได้รับอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด ผู้ใช้บริการมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดโรคในช่องปาก เพราะทั้งสถานที่และเครื่องมือที่ใช้อาจไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อก่อนและหลังการใช้งาน ที่สำคัญคือ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่ทันตแพทย์ จึงขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในการทำฟันปลอมที่ถูกต้อง ซึ่งฟันปลอมจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ผู้ที่ต้องการทำฟันปลอมควรขอคำแนะนำและรับบริการจากทันตแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตการใช้ฟันปลอมเถื่อนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบฟันที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้ฟันซี่ใดซี่หนึ่งรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้ฟันซี่ที่แข็งแรงกลายเป็นฟันที่อ่อนแอ เกิดการโยก สึกกร่อน และหัก อาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก การใส่ฟันปลอมโดยไม่เตรียมช่องปากที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักทันตกรรม เช่น ไม่อุดฟันซี่ที่ผุ ขูดหินปูน รักษารากฟัน หรือถอนฟันซี่ที่ไม่รักษาไว้ เมื่อเกิดปัญหาหลังการทำแล้วการแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติจะทำได้ยากรถไฟฟ้าสายสีม่วงยังไม่สะดวกสำหรับคนพิการนาย ชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ออกมายอมรับเองว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงเส้นบางใหญ่-บางซื่อ ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งสถานีที่พบปัญหาประกอบด้วย บางซ่อน แยกนนทบุรี และบางพลู โดยปัญหาที่พบที่ต้องเร่งแก้ไขมีหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น ทางลาดชันในการขึ้นใช้ลิฟท์มีความลาดชันมากเกินไป ต้องปรับให้ลาดชันน้อยลง นอกจากนี้ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ยังเห็นว่า ควรยกเลิกใช้เก้าอี้ที่ติดกับราวบันไดเพื่อเลื่อนขึ้นไปยังสถานี เพราะใช้แล้วไม่ปลอดภัย ควรปรับเป็นลิฟต์หรือทางลาดชันจะดีกว่า ป้ายแสดงเส้นทางต่างๆ ไม่ชัดเจน นอกจากนี้ต้องปรับปรุงเรื่องการบริการ การอำนวยความสะดวกต่างๆ ควรมีจุดที่จะเรียกใช้บริการเจ้าหน้าที่ และจัดเตรียมช่องซื้อตั๋วโดยสารโดยเฉพาะ เป็นต้น Service charge เก็บได้แต่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบหลังจากที่ สคบ. ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีถูกเรียกเก็บค่าบริการเซอร์วิส ชาร์จ (Service charge) 10% โดยผู้บริโภครู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และอัตรา 10% ที่เรียกเก็บนั้นเหมาะสมหรือไม่ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กล่าวว่า ได้มีการหารือแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เร่งออกประกาศไว้เป็นข้อปฏิบัติและรับทราบโดยทั่วกันโดยที่ผ่านมา สคบ.ได้ประสานขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านอาหารให้ช่วยติดป้ายแสดงไว้ที่หน้าร้านอาหารของตนว่า ร้านนี้มีการคิดค่าเซอร์วิส ชาร์จ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ แต่ก็ยังเป็นแค่การขอความร่วมมือเท่านั้น ส่วนกรมการค้าภายในฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เซอร์วิส ชาร์จ เป็นค่าบริการที่ผู้ประกอบการขายสินค้านั้นๆ คิดเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายถึงว่า ร้านอาหารนั้นต้องตั้งอยู่ในสถานที่หรูหรา ห้องแอร์ หรือพนักงานเสิร์ฟเป็นอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับการเพิ่มการบริการของร้านอาหารนั้นๆ ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เขาให้บริการแก่ลูกค้าได้ ซึ่งการเรียกเก็บค่าบริการ 10% กรมการค้าภายในมองว่า “เป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว” เนื่องจากเป็นอัตราที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบตามสากล และยอมรับได้ทั้งนี้กรณีที่ผู้ประกอบการหรือร้านอาหาร เรียกเก็บค่าบริการ เซอร์วิส ชาร์จ โดยที่ไม่ได้ระบุหรือแจ้งให้ลูกค้าทราบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการแสดงสินค้าและบริการที่กำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทอันตราย “แมงลักอัดแคปซูล” ผสมไซบูทรามีนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอันตรายหลอกลวงผู้บริโภคยังมีโผล่มาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Mangluk Power Slim ที่ อย. ออกมาฟันธงแล้วว่า เข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย มีการปลอมเลขสารบบอาหาร โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และตรวจพบไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โดยจะมีอาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แนะผู้บริโภคอย่าซื้อมารับประทานเด็ดขาดจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวฉลากระบุเลขที่ อย. 89-1-04151-1-0080 นำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท THE RICH POWER NETWORK จังหวัดสมุทรสาคร รุ่นผลิต RI88-89/01 เมื่อตรวจเลขสารบบอาหาร พบว่าไม่ได้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้าแต่อย่างใด รวมทั้งไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมจากเว็บไซต์โดยค้นหาชื่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษพบจำนวนเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกว่า 6 พันรายการ มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเช่น “ยับยั้งการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล ลดความอยากอาหาร DETOX ลำไส้ ไร้ผลข้างเคียง” “ช่วยเสริมระบบการย่อยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถลดการสะสมของไขมันในเส้นเลือด ช่วยควบคุมความหิว ลดการดูดซึมของไขมันที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายและขจัดสารพิษต่างๆ” เป็นต้น ทั้งนี้ อย.จะดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไปโรงพยาบาลรับผิดทำผู้ป่วยเสียชีวิต หวังเป็นจุดเริ่ม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯถือเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่มีผู้เสียชีวิตจากการรับบริการทางการแพทย์ ที่ควรหยิบยกมาพูดถึง โดยเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ เรื่องของผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่ง ซึ่งพาแม่เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ ด้วยอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ซึ่งหลังการเอ็กซเรย์แพทย์ได้วินิจฉัยพบว่า เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น และทางแพทย์ได้มีการแนะนำให้ผ่าตัด แต่สุดท้ายเกิดเหตุสุดวิสัย แพทย์ผ่าตัดถูกเส้นเลือดดำที่ติดกับกระดูกสันหลัง ซึ่งแพทย์และทีมพยาบาลพยายามยื้อชีวิตอย่างเต็มที่แต่ก็สุดความสามารถโดยเหตุผลที่ญาติผู้เสียชีวิตเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ เพราะต้องการเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางโรงพยาบาล ซึ่งแม้ทางแพทย์ผู้ผ่าตัดจะออกมายอมรับว่าผ่าตัดผิดพลาด แต่กลับไม่ได้รับการชดเชยใดๆ จากทางโรงพยาบาลเมื่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นถูกเผยแพร่และเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมออนไลน์ ไม่นาน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุปราการ และเป็น 1 ในกรรมการแพทยสภา ได้ออกมายืนยันว่าทางโรงพยาบาลจะให้การช่วยเหลือทายาทของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ ด้วยการเยียวยาตามมาตรา 41 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมทั้งทางโรงพยาบาลก็จะรับผิดชอบชดเชยให้ด้วยอีกส่วนหนึ่ง พร้อมกันนี้จะต้องมีการเยียวยาต่อสุขภาพจิตของแพทย์ ที่มีเจตนาที่จะช่วยคนไข้ เพื่อมีสภาพจิตใจสามารถกลับมาทำหน้าที่รักษาดูแลประชาชนได้ต่อไปทางด้าน นาง ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ในฐานะประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิของผู้ป่วยมาอย่างยาวนาน ได้แสดงความเห็นชื่นชมต่อการออกมาแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ผ่านหน้าเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยให้ความเห็นว่า แพทย์เองก็เข้าใจดีอยู่แล้วความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการผลักดันให้มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ถึงเวลาที่แพทยสภาจะต้องหันมาเร่งผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 2557 คนไทยติดมือถือ โฮเทลส์ ดอทคอม เผยคนไทยติดมือถืออันดับ 1 จากกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวจาก 28 ประเทศ ที่พกมือถือตลอดเวลาแม้แต่ไปพักร้อน โดยคนไทย โดย 6 ใน 10 ใช้เวลาไปกับการเช็กอีเมล์บนมือถือ และ 100% ใช้เพื่อเชื่อมต่อกับโลกโซเชียล         คลีนฟู้ด กู้ดเทสต์ ไม่ผ่านมาตรฐาน กรมอนามัย เผยร้านค้าที่เคยผ่านมาตรฐานโครงการคลีนฟู้ด กู้ดเทสต์ พลัส ล่าสุดไม่ผ่านเกณฑ์ถึงร้อยละ 27 เล็งยกระดับมาตรฐานร้านจำหน่ายอาหาร มอบป้าย Clean Food Good Taste Plus ให้ร้านอาหารไทยปลอดภัย สุขภาพดี ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 7 ข้อ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค เกณฑ์มาตรฐานร้านอาหาร Clean Food Good Taste Plus มีดังนี้ 1. ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย 2. มีช้อนกลางสำหรับผู้บริโภค 3. มีอ่างล้างมือสำหรับผู้บริโภค 4.ส้วมในร้านอาหารผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS (Healthy Accessibility Safety) และมีส้วมสำหรับผู้พิการ ที่รถเข็นสามารถเข้าถึงได้ 5. ผักสดปลอดสารพิษฆ่าแมลง 6. ผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมและมีบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหาร และ 7. ใช้ถุงมือสัมผัสอาหาร   ยอดโรงเรียนกวดวิชาพุ่ง สะท้อนระบบการศึกษาที่มีต้นทุนสูง รายงานจากกระทรวงศึกษาธิการ พบผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาโรงเรียนกวดวิชาและติวเตอร์อิสระรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเฉพาะปี 2555 ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชา 2,005 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 460 แห่ง และภูมิภาค 1,545 แห่ง มีนักเรียนเรียนกวดวิชา 453,881 คน หรือ12% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด โดยมูลค่าการตลาดของธุรกิจกวดวิชา ปี 2556 ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2558 จะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาท เพิ่ม 5.4% ซึ่งการเติบโตนี้มีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มราคาค่าเรียน และจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น นักเรียนส่วนใหญ่ต่างต้องการผลการเรียนที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ส่งผลให้ต้นทุนการศึกษาสูง ผู้ปกครองเดือดร้อน นักเรียนเองก็แบกรับความทุกข์จากการเรียนทั้งในและนอกเวลา นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า “หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ ศธ.ลดเวลาเรียนลงจึงได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ไปวิเคราะห์แล้วและคาดว่าการปรับลดเวลาเรียนคงไม่ได้ปรับใหญ่เพราะชั่วโมงเรียนไปสัมพันธ์กับหน่วยกิตการเรียนการสอน ดังนั้นเบื้องต้นอาจปรับลดชั่วโมงเรียนในบางวิชาลง เช่น วิชาสังคมศึกษาที่มีการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบของกิจกรรมแทน เป็นต้น     พบผู้ประกันตนเมินสิทธิฉุกเฉิน เหตุกลัว รพ.เก็บเงิน นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยเรื่อง "การบริหารจัดระบบบริการทางการแพทย์กรณีฉุกเฉินตามนโยบายบริหารจัดการร่วม สามกองทุน" ระบุ นโยบายการรักษาดังกล่าวมีการให้บริการที่รวดเร็ว รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนไม่มีการปฏิเสธการรักษาคนไข้ตามมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น แต่ปัญหาที่พบคือ ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะใช้สิทธิได้ที่ใด และยังกังวลว่าโรงพยาบาลเอกชนจะไม่รับรักษา เนื่องจากเรื่องของค่ารักษาพยาบาล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนว่า ให้โรงพยาบาลที่ให้การรักษาเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานใด ทำให้เกิดความสับสนในการจัดการค่าใช้จ่าย แม้โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือไม่เก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วย โดยไปเบิกจากกองทุนประกันสังคมผ่านหน่วยงานกลางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (สปสช.) และมีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งยังคงเรียกเก็บเงินค่ารักษาจากคนไข้ บางรายต้องกู้เงินมาจ่ายค่ารักษาจนเป็นหนี้สิน เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมายนโยบายการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อกำหนดการจัดการค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลให้ชัดเจน โดยห้ามโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ให้การรักษาเรียกเก็บเงินจากคนไข้โดยเด็ดขาด "ส่วนการจ่ายค่ารักษาให้แก่โรงพยาบาลเอกชนนั้น ควรใช้อัตราเดียวกับที่กรมบัญชีกลางจ่ายให้แก่โรงเรียนแพทย์ และจ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โดยอัตราที่จ่ายนั้นพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วน สปส.ควรจัดให้มีสายด่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แยกจากสายด่วนปกติและจัดให้พยาบาลซึ่งมีความรู้ด้านโรคต่างๆ มาเป็น Call Center" นพ.ถาวรกล่าว   คนพิการทวงคืนพื้นที่ ที่จอดรถห้างชื่อดัง ต้นเดือนที่ผ่านมามีการแชร์คลิปหนึ่งที่สร้างความฮือฮามากเรื่อง การทวงสิทธิที่จอดรถคนพิการในห้างดัง ในคลิปเป็นภาพชายหนุ่มพิการนั่งรถวีลแชร์ไปทวงถามพื้นที่จอดรถสำหรับคนพิการ ซึ่งกลายเป็นที่จอดรถพิเศษของลูกค้าวีไอพีของห้างไป ทั้งที่มีการระบุสัญลักษณ์คนพิการอย่างชัดเจน ชายหนุ่มพิการอธิบายว่า ลานจอดรถชั้นนี้ยังมีช่องจอดรถว่างอยู่พอสมควร แต่ทุกครั้งที่มาห้างแห่งนี้ พื้นที่จอดรถของคนพิการ มักมีรถเก๋งคันหรูจอดเต็มอยู่เสมอ ขณะที่ในคลิปวิดีโอยังเผยให้เห็นเจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่ง ซึ่งประจำลานจอดรถได้เข้ามาชี้แจง พร้อมกับอธิบายและขอโทษเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ชายหนุ่มพิการก็ระบุว่าไม่ได้กล่าวโทษใดๆ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้น หากไม่ได้รับคำสั่งคงไม่เปิดให้รถเก๋งคันหรูเหล่านี้มาจอดในพื้นที่สำหรับคนพิการ พร้อมกับกล่าวว่าเจ้าของรถเหล่านี้ไม่มีจิตสำนึกและถ่ายภาพป้ายทะเบียนรถเอาไว้เป็นหลักฐาน หลังจากแชร์กันสนั่นและวิจารณ์กันไปจนทั่วโลกโซเชียล ท้ายที่สุด ห้างดังก็ต้องออกมาขอโทษและรับปากจะไม่ละเมิดสิทธิผู้พิการอีก     สารพิษตกค้างเพียบในผัก ผลไม้ แม้มีตรา Q การันตี ไทยแพน(เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ เพื่อหาสารเคมีตกค้างปี 2557 พบ ผัก-ผลไม้ที่ได้รับตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มีสารตกค้างสูงถึงร้อยละ 87.5 ซึ่งมากกว่าผัก-ผลไม้ ที่วางขายในตลาดทั่วไป นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ จาก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และยโสธร รวม 118 ตัวอย่าง พบว่าผักผลไม้เกือบครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 46.6 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่เกินมาตรฐาน MRL หรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดไว้ใน มกอช. ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานจากไทยแพน ระบุ หากจำแนกตามประเภทแหล่งจำหน่าย พบว่า ผักผลไม้ที่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด คือผักผลไม้ที่ได้ตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร หรือ ตรารับรองมาตรฐาน "Q" พบการตกค้างมากถึงร้อยละ 87.5 และไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน MRL มากถึงร้อยละ 62.5 รองลงมาคือผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีก ส่วนแหล่งที่พบผักผลไม้เกินมาตรฐาน MRL น้อยที่สุดกลับเป็นตลาดทั่วไป โดยผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง รองลงมาคือ ฝรั่ง ส่วนที่พบสารตกค้างน้อยสุดคือ แตงโม ข้อสังเกตจากการทดสอบ พบว่า สารเคมีที่ตกค้างในผักผลไม้ทุกชนิด คือ คลอร์ไพริฟอสและไซเปอร์เมทริน รวมทั้งสารคาร์เบนดาซิม ที่พบตกค้างในส้ม แอปเปิ้ลและสตรอว์เบอร์รี่ นั้นสูงกว่าค่า MRL หลายเท่าตัว เพราะคาร์เบนดาซิม เป็นสารดูดซึมการตกค้างจะเข้าไปในเนื้อผลไม้และไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการล้างน้ำ องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยจึงมีข้อเสนอดังนี้  1.ให้ มกอช. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ปฏิรูปการออกเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร หรือ Q ให้เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคได้จริง 2.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเร่งจัดการปัญหาเรื่องการควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มที่มีอันตรายร้ายแรง และดูดซึมอย่างเข้มงวด โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ  และ 3.เร่งสร้างระบบเตือนภัยความปลอดภัยด้านอาหาร(Rapid Alert System for Food) ภายในปี 2558

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 ห้องน้ำสำหรับคนพิการ ความจำเป็นที่ถูกมองข้าม

ห้องน้ำ ถือเป็นเรื่องที่หลายๆ คนให้ความสำคัญไม่ว่าจะไปที่ไหน ขอให้รู้ว่ามีห้องน้ำอยู่ใกล้ๆ เวลาปวดหนักปวดเบาก็รู้สึกอุ่นใจ ซึ่งสำหรับผู้พิการเองก็เช่นกัน พวกเขาก็ต้องการรู้สึกอุ่นใจว่าที่ที่พวกเขากำลังจะไปนั้นมีห้องน้ำที่ออกแบบมาสำหรับพวกเขา ห้องน้ำแบบเฉพาะเพื่อให้ผู้พิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำไมต้องมีห้องน้ำเฉพาะสำหรับผู้พิการผู้พิการไม่ต้องการเป็นภาระของสังคม และอยากทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ด้วยความบกพร่องทางร่างกายทำให้มีหลายกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ผู้พิการไม่สามารถทำได้เหมือนคนปกติ ที่ชัดที่สุดก็เห็นจะเป็นการทำธุระต่างๆ ในห้องน้ำ โดยเฉพาะกับผู้พิการที่ต้องนั่งอยู่บนรถวีลแชร์ ที่ส่วนใหญ่ล้วนมีปัญหาบกพร่องทางร่างกายบางส่วนไม่สามารถขยับได้ ทำให้การพยุงตัวเพื่อขึ้นนั่งบนโถส้วม การใช้อ่างล้างมือ รวมถึงการอาบน้ำในห้องน้ำแบบปกติเป็นไปอย่างยากลำบาก การมีห้องน้ำที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้ผู้พิการที่ใช้รถวีลแชร์ทำธุระในห้องน้ำได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น ห้องน้ำคนพิการหายากจังเวลาที่ปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ แต่มองซ้ายมองขวาก็ไม่รู้ว่าสุขาอยู่หนใด หลายๆ คนคงเข้าใจว่าช่างเป็นช่วงเวลาที่แสนทุกข์ทรมานใจ ขนาดคนปกติธรรมดาที่พอจะหาห้องน้ำได้ไม่ยากยังเคยเจอสถานการณ์แบบนี้ แล้วถ้าเป็นคนพิการต้องมาจะเรื่องแบบนี้คงเดาไม่ยากว่าจะรู้สึกแย่แค่ไหน นั้นเป็นเพราะห้องน้ำสำหรับคนพิการในเมืองไทยหาได้ยากเย็นยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร แสดงให้เห็นว่าคนพิการยังคงถูกมองข้ามในสังคม แม้ว่าห้องน้ำคนพิการจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่คนพิการควรได้รับ แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้คนพิการก็ยังต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก เพราะการช่วยเหลือจากสังคมยังมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ห้องน้ำสาธารณะที่คนนิยมเลือกใช้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น ในห้างสรรพสินค้า รองลงมาก็คือ ในร้านอาหาร สถานที่ราชการ โรงแรมและสวนสาธารณะ ซึ่งสถานที่ที่กล่าวมา แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกที่ที่จะมีห้องน้ำสำหรับคนพิการ และบางทีถึงแม้จะมีห้องน้ำสำหรับผู้พิการ แต่ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะถึงแม้จะติดป้ายบอกว่าเป็น ห้องน้ำคนพิการแต่การออกแบบกลับไม่เอื้ออำนวย อย่างเช่นระหว่างทางไปห้องน้ำกลับเป็นทางที่เป็นขั้นบันได พื้นที่ในห้องน้ำแคบเกินไป หรือปัญหาพื้นๆ ที่คนปกติก็มักเจอกันเป็นประจำอย่าง น้ำไม่ไหล ไม่มีกระดาษทิชชู ห้องน้ำสกปรก ซ้ำร้ายที่สุดคือห้องน้ำถูกล็อคหรือถูกทำให้กลายเป็นห้องเก็บของ “ฉลาดซื้อ” จึงอยากทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ไปถึงหน่วยงานราชการและเจ้าของกิจการต่างๆ ช่วยสละพื้นที่เล็กๆ ในอาคารสถานที่ที่ท่านดูแล แบ่งมาสร้างเป็นห้องน้ำสำหรับผู้พิการที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยกันสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมของเรา ***ปีนี้รัฐบาลจัดงานใหญ่สำหรับคนพิการขึ้นถึง 2 งาน คือ “มหกรรมต้นแบบคนพิการไทย” และ “งานมหกรรมวันคนพิการสากลประจำปี 2552” ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่คนพิการจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ห้องน้ำคนพิการที่ดีควรมีอะไรบ้าง-ประตูห้องน้ำควรเป็นแบบบานเลื่อน หรือถ้าเป็นแบบบานพับก็ควรเป็นแบบที่เปิดออกสู่ด้านนอก โดยเปิดออกได้ไม่น้อยกว่า 90 องศา และมีความกว้างของประตูไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ที่สำคัญคือประตูควรเปิดได้ง่าย ใช้แรงไม่มากในการเปิด เหมาะกับผู้พิการที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ -ที่พื้นจากภายนอกสู่ห้อง ควรเป็นพื้นเรียบเสมอกัน ถ้าหากพื้นมีความต่างระดับกันต้องทำทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ด้วย -มีราวจับจากประตูไปถึงยังจุดต่างๆ ทั้งอ่างล้างมือ โถส้วม โดยราวจับต้องมีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร และต้องมีราวจับทั้งแนวตั้งและแนวนอน ตรงบริเวณข้างอ่างล้างมือทั้ง 2 ฝั่ง และด้านข้างโถส้วม เพื่อช่วยในการพยุงตัว -อ่างล้างมือควรสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 80 เซนติเมตร โดยขอบอ่างต้องอยู่ห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 45 เซนติเมตร -โถส้วมควรเป็นชนิดนั่งราบ สูงจากพื้นประมาณ 45 เซนติเมตร มีพนักพิงหลัง และที่ปล่อยน้ำให้เป็นแบบคันโยก -พื้นห้องน้ำควรทำจากวัสดุที่ไม่ลื่น กันน้ำ และมีระบบระบายน้ำที่ดี -พื้นที่ว่างภายในห้องน้ำควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร เพื่อให้รถวีลแชร์สามารถหมุนกลับตัวได้ -สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องน้ำ ควรอยู่สูงจากพื้นระหว่าง 0.25 - 1.20 เมตร -ติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉิน สำหรับให้ผู้พิการที่อยู่ในห้องน้ำติดต่อมายังบุคคลภายนอก กรณีต้องการความช่วยเหลือ -ก๊อกน้ำเป็นแบบก้านกด ก้านโยกหรือให้ดีที่สุดคือเป็นระบบแบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ-มีอักษรเบรลล์บอกให้ทราบว่านี้คือห้องน้ำสำหรับคนพิการหรือบอกให้ทราบว่าเป็นห้องน้ำหญิงหรือชาย สำหรับห้องน้ำทั่วไป *** ข้อมูลจาก “คู่มือการออกแบบสภาพแวดล้อมสำหรับคนพิการและคนทุกวัย” สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ “ระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2544”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 103 ที่ไหนคุณไปได้ คนพิการ(ควรจะ)ไปได้ด้วย

ที่ไหนคุณไปได้ คนพิการ(ควรจะ)ไปได้ด้วย           เปรียบเทียบการใช้ระบบขนส่งมวลชน สำหรับคนพิการ รถเมล์โอกาสที่ผู้พิการที่ใช้รถวีลแชร์จะได้ใช้บริการรถเมล์เป็นไปได้น้อยมาก เพราะรถเมล์บ้านเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เอื้อต่อการนำรถวีลแชร์เข้าไป และก็อย่างที่รู้กันว่าขนาดคนปกติยังเจอปัญหามากมายกับการใช้บริการรถเมล์ ดูแล้วจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตรายที่ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์จะเลือกใช้บริการรถเมล์คะแนนความน่าใช้ 0ความเป็นไปได้ในการใช้ 0ความปลอดภัย 0 รถไฟฟ้ารถไฟฟ้าเหมือนจะเป็นความหวังให้ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ แต่กลับกลายเป็นสร้างปัญหาซะมากกว่า เพราะ 25 สถานีของรถไฟฟ้าตอนนี้มีลิฟต์ให้ใช้แค่ 7 สถานี ซึ่งไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ แถมบริเวณชานชาลาที่จะขึ้นไปในตัวรถไฟฟ้าก็มีช่องว่างที่กว้างเกินกว่าล้อรถวีลแชร์จะข้ามผ่านได้ จะเข้าไปในรถทีก็ต้องมีคนช่วยยกเข้าไป แถมเมื่อเข้าไปในรถแล้วก็ไม่มีตัวที่ช่วยล็อครถให้อยู่กลับที่ ซึ่งแบบนี้ถือว่าไม่ปลอดภัยคะแนนความน่าใช้ ความเป็นไปได้ในการใช้ ความปลอดภัย รถไฟฟ้าใต้ดินถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ เพราะรถไฟฟ้าใต้ดินมีลิฟต์ไว้ให้บริการทุกสถานี และมีห้องน้ำผู้พิการในสถานีด้วย แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาเปิดให้ถ้าอยากจะใช้บริการ ซึ่งก็อาจต้องเสียเวลารอบ้างนิดหน่อย อีกอย่างที่เป็นข้อดีของรถไฟฟ้าใต้ดินคือ ผู้พิการที่มีสมุดประจำตัวผู้พิการสามารถใช้รถไฟฟ้าใต้ดินได้ฟรี แต่ข้อจำกัดของรถไฟฟ้าใต้ดินก็คือเส้นทางการเดินทางยังไม่ทั่วถึงคะแนนความน่าใช้ ความเป็นไปได้ในการใช้ ความปลอดภัย รถแท็กซี่น่าจะเป็นทางเลือกที่ผู้พิการที่นั่งรถวีลแชร์ใช้มากที่สุด แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะการใช้บริการแท็กซี่ของผู้ใช้วีลแชร์ก็มีอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งเรื่องราคาที่ค่อนข้างแพง แท็กซี่บางคันก็ปฏิเสธที่จะรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ เพราะกลัวว่าจะต้องอุ้มผู้พิการขึ้นรถ ซึ่งจริงๆ แล้วผู้พิการสามารถพยุงตัวขึ้นรถเองได้ แต่บางครั้งก็อาจต้องการคนช่วยพับรถวีลแชร์เก็บให้ คะแนนความน่าใช้ ความเป็นไปได้ในการใช้ ความปลอดภัย รถตู้โดยสารเดี๋ยวนี้เราจะเห็นรถตู้โดยสารสาธารณะมีให้บริการเยอะแยะไปหมด ซึ่งช่วยเรื่องความสะดวกและประหยัดเวลา แม้ราคาจะแพงแต่ก็มีคนนิยมใช้กันเยอะ สำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ก็มีสิทธิที่จะใช้เจ้ารถตู้พวกนี้เหมือนกันแต่อาจจะค่อนข้างลำบากสักหน่อย เพราะต้องมีคนช่วยอุ้มขึ้นรถ แถมรถตู้ส่วนมากไม่ค่อยรับผู้ที่ใช้วีลแชร์เพราะกลัวต้องเสียพื้นที่สำหรับเก็บรถวีลแชร์คะแนนความน่าใช้ ความเป็นไปได้ในการใช้ ความปลอดภัย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 103 ทางสำหรับคนพิการ สังคมไทยพร้อมแค่ไหน

“ความพิการ อาจบั่นทอนบางสิ่งบางอย่างในร่างกายของเราไป แต่ความพิการ ไม่อาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตที่เราเคยมี”ความพิการ เกิดขึ้นกับคนเราได้หลายสาเหตุ ทั้งพิการมาตั้งแต่กำเนิด พิการเพราะความแก่ชรา พิการด้วยโรคภัยไข้เจ็บ และพิการเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุ ซึ่งแน่นอนว่าการยอมรับในความพิการของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้พิการมาตั้งแต่กำเนิด เพราะการจะทำใจยอมรับพร้อมกับปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในขณะที่สภาวะร่างกายมีบางอย่างที่สูญเสียไปไม่ใช่เรื่องง่าย กำลังใจจากทั้งของตัวเองและคนรอบข้างคือแรงกระตุ้นสำคัญ ที่จะทำให้ผู้พิการกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติอีกครั้งเมื่อผู้พิการมีกำลังใจพร้อมที่จะกลับมาใช้ชีวิตในสังคม ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของสังคมว่ามีความพร้อมเพื่อผู้พิการแล้วหรือยัง?   เมื่อสังคมไม่พร้อม คนพิการก็ไม่กล้าฝันประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตเช่นคนปกติอาจถูกลดทอนลงไปเพราะความพิการ แต่ผู้พิการก็ยังต้องใช้ชีวิตประจำวันไม่ต่างจากคนปกติทั่วๆ ไป คนพิการยังคงต้องทำงาน ต้องตื่นแต่เช้าไปเจอรถติด ต้องไปซื้อของที่ตลาด ไปกินข้าว ไปเที่ยวกับเพื่อนกับครอบครัว หรือแม้แต่ไปดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งกิจกรรมที่ว่ามาอาจเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนทั่วไป เพราะจะไปไหนมาไหนก็มีทางให้เลือกมากมาย สะดวกบ้างไม่สะดวกก็ว่ากันไป แต่สำหรับคนพิการ การจะเดินทางไปไหนที มองหาตัวเลือกยากจริงๆ ยิ่งเป็นผู้พิการที่ใช้เก้าอี้รถเข็นหรือรถวีลแชร์ยิ่งมีปัญหาเวลาเดินทาง เพราะระบบขนส่งมวลชนบ้านเราไม่เอื้อต่อผู้พิการ ความจริงในบ้านเรามีข้อกำหนดหลายข้อ ที่มีเนื้อหาพูดถึงการดูแลและให้ความสำคัญกับผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็น พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550, พรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 และกฎกระทรวงเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548 ใจความสำคัญของข้อกำหนดเหล่านี้ต้องการบอกให้ทราบว่าคนพิการมีสิทธิในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกจากสาธารณประโยชน์ต่างๆ ที่ทางภาครัฐมีหน้าที่จัดหามาให้ เช่นเดียวกันกับที่คนปกติได้รับ แต่เมื่อมองกลับมาในความเป็นจริง จะเห็นว่าผู้พิการยังคงถูกจำกัดสิทธิในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องพื้นฐาน อย่างเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทั้งในส่วนของทางเท้า และระบบขนส่งมวลชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้พิการสามารถออกมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและอิสระ Universal Design – การออกแบบที่เป็นประโยชน์กับทุกคนในสังคมUniversal Design ไม่ได้เป็นแค่คำภาษาอังกฤษเท่ๆ แต่ว่าเป็นคำที่มีความหมาย ใช้ในการอธิบายแนวคิดการออกแบบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในสังคมใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ให้ความแตกต่างของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ อายุ และรวมถึงความทุพพลภาพทางร่างกายมาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงและใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ Universal Design จึงเป็นหลักการการออกแบบที่เอื้อต่อผู้พิการ ผู้สูงอายุ และยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วย เด็ก และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เพราะ Universal Design เป็นการออกแบบอาคารสถานที่ที่เน้น ให้ทุกอย่างสามารถใช้สอยได้โดยคนทุกกลุ่ม ใช้ง่าย มีความเสมอภาค ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ ปลอดภัย พร้อมทั้งทุ่นแรงขณะใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ทางเดิน ประตูทางเข้า บันได้ขึ้นลง รวมไปถึงห้องน้ำ สิ่งที่ควรมีไว้ให้ผู้พิการป้าย – เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ช่วยให้ให้ผู้พิการไปไหนมาไหนหรือทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะต้องตั้งให้อยู่ในจุดที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ทางลาด – มีประโยชน์และสำคัญอย่างมาก สำหรับทั้งผู้ที่ใช้วีลแชร์ ซึ่งเพื่อความปลอดภัย ควรมีความลาดอยู่ที่ 30 องศา (*กฎกระทรวงกำหนดไว้ไม่เกิน 45 องศา) ที่จอดรถ – ควรมีสัญลักษณ์แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นที่จอดรถสำหรับคนพิการ และมีความกว้างพอสมควร ห้องน้ำ – พื้นภายนอกกับพื้นในห้องน้ำต้องมีระดับเท่ากัน หรือต่างระดับก็ต้องเป็นทางลาด ที่สำคัญประตูต้องเป็นบานเลื่อน ความกว้างต้องไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร และต้องติดปุ่มสัญญาณฉุกเฉินไว้ด้วย ประตู – ควรเป็นแบบเลื่อนเพราะใช้แรงน้อยกว่าประตูที่เป็นแบบผลัก ยิ่งที่เป็นระบบเซ็นเซอร์เปิด-ปิดอัตโนมัติก็จะยิ่งดีมาก ความกว้างของประตูควรไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร พื้นผิวต่างระดับ – มีประโยชน์สำหรับผู้พิการทางการมองเห็น ซึ่งควรให้มีพื้นผิวต่างสัมผัสไว้ตาม ทางขึ้น-ลงบันไดและทางลาด ด้านหน้า-หลังประตู และที่หน้าประตูห้องน้ำ ปัจจุบันสถานที่ต่างๆ พร้อมแค่ไหนสำหรับคนพิการสถานที่ราชการถ้าเป็นเมื่อก่อน สถานที่ราชการมักจะถูกสร้างเป็นอาคารสูงๆ เพราะอาจจะต้องการให้ดูโดดเด่นเป็นสง่า ซึ่งแน่นอนไม่มีทางลาดให้ใช้ แต่สมัยนี้สถานที่ราชการหลายๆ ที่ก็เริ่มมีการปรับปรุง และออกแบบให้เอื้อกับคนพิการมากขึ้น ซึ่งคนพิการก็ต้องการติดต่อเรื่องทางราชการไม่ต่างจากคนปกติ สถานศึกษาถ้าหากภาครัฐหรือคนที่มีอำนาจในการปรับปรุงสถานที่เพื่อคนพิการ อยากจะลงมือปรับปรุงสถานที่สักแห่ง เราขอแนะนำให้เริ่มที่สถานศึกษา สถานศึกษาในที่นี้หมายถึงสถานศึกษาทั่วๆ ไป ไม่ใช่ที่มีไว้ให้เฉพาะคนพิการ เพราะถ้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในสถานศึกษาทั่วไป นอกจากคนพิการจะได้มีโอกาสทางการศึกษาแล้ว พวกยังได้มีสิทธิได้ใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนปกติ วัดกิจกรรมทางศาสนาส่วนใหญ่มักจะจัดกันในโบสถ์หรือไม่ก็บนศาลาวัด ซึ่งล้วนแล้วแต่ออกแบบให้เป็นอาคารสูง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งสำหรับผู้พิการที่อยากเข้าไปร่วมฟังเทศน์ฟังธรรม หากไม่ขอแรงให้คนอื่นช่วยพาขึ้นไป ก็ต้องยอมนั่งฟังเทศน์อยู่ข้างล่าง แถมบางครั้งผู้พิการยังถูกมองว่าความพิการเป็นเรื่องของบุญบาป ผู้พิการเลยมักถูกดูแคลนเวลาที่อยู่ในวัด ซึ่งความจริงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อคนพิการในวัด นอกผู้พิการจะได้ใช้แล้ว บรรดาคนเฒ่าคนแก่ก็ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้ด้วย ตลาดบริเวณพื้นตามตลาดสดส่วนมากจะค่อนข้างเฉอะแฉะ ซึ่งเป็นอุปสรรคมากๆ สำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ แถมในตลาดจะมีร่องน้ำอยู่ตามทางเดิน ถ้าหากรถวีลแชร์พลาดตกลงไปก็อาจเกิดอันตราย เรื่องความกว้างก็เป็นอีกปัญหาสำคัญที่สร้างความลำบากให้ผู้ที่ใช้วีลแชร์ เพราะตามตลาดส่วนมากผู้คนจะพลุกพล่าน ยิ่งตลาดดังๆ ถึงขนาดต้องเดินเบียดเสียดกันเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ก็แทบจะหมดสิทธิ ธนาคารธนาคารส่วนใหญ่มักสร้างให้ดูยิ่งใหญ่อลังการ และชอบสร้างให้เป็นอาคารแบบยกสูง โดยทำชั้นล่างเป็นที่จอดรถ ซึ่งก็ต้องเดินขึ้นบันไดหลายขั้นกว่าจะถึงตัวธนาคาร แล้วแบบนี้ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์จะมีโอกาสใช้ได้ยังไง แม้ธนาคารส่วนใหญ่จะได้คำชมเรื่องการบริการ พนักงานส่วนมากยินดีมาช่วยพาผู้พิการขึ้นไป แต่ผู้พิการก็อยากที่จะทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีธนาคารในห้างมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ก็อาจพอช่วยผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ได้บ้างแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด โรงภาพยนตร์ผู้พิการเสียค่าตั๋วชมภาพยนตร์เท่ากับคนปกติ แต่แทบไม่มีโอกาสได้เลือกที่นั่งในมุมที่อยากนั่ง เพราะเวลาผู้พิการวีลแชร์ไปดูหนังก็มักถูกจัดให้ไปนั่งอยู่ตรงที่ว่างริมสุดของแถว หรือไม่ก็ที่ว่างตรงกลางโรงภาพยนตร์ แถมในโรงหนังก็แทบไม่มีทางลาดไว้ให้ใช้ ขอขอบคุณ ผู้ให้ข้อมูล …รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้พิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 ปี กับชีวิตบนวีลแชร์ ที่ไม่มีคำว่ายอมแพ้ขวัญฤทัย สว่างศรีเจ้าหน้าที่องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เมื่อต้องต่อสู้กับความพิการตอนที่ตัวเองประสบอุบัติเหตุใหม่ๆ ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 4 ก็ทำใจไม่ได้ เพราะตอนนั้นทำอะไรก็ไม่ได้ กินข้าวเองก็ไม่ได้ จะเข้าห้องน้ำก็ทำไม่ได้ ได้แต่นอนอยู่เฉยๆ รู้สึกอายด้วยเพราะจะเจอแต่คำถามหรือคำพูดที่บั่นทอนจิตใจจากคนรอบข้าง จนเมื่อเรารู้สึกว่าไม่ได้แล้วนะ อยู่อย่างนี้ก็มีแต่รู้สึกแย่ รู้สึกหดหู่ ก็เลยตัดสินใจลองออกมาใช้ชีวิตคนเดียว แล้วก็โชคดีมาได้ทำงานที่องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ก็ค่อยๆ เริ่มที่จะเรียนรู้การใช้ชีวิต แรกๆ เราจะไม่กล้าทำอะไรเลย ต้องรอให้คนอื่นมาช่วย เพราะเรายังมองไม่เห็นว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง จนเมื่อเราได้ลองกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งเราก็เริ่มเห็นว่า ถึงเราเป็นแบบนี้ก็ยังทำอะไรได้อีกหลายอย่าง ความพิการเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ เราอาจต้องเริ่มต้นเรียนรู้อะไรใหม่หลายๆ อย่าง แต่อันดับแรกคือเราต้องไม่ยอมแพ้ให้กับความพิการ ชีวิตผู้พิการในสังคมไทยความพิการมีหลายประเภท คือพิการตั้งแต่กำเนิด กับพิการในภายหลัง ซึ่งผู้พิการภายหลังการยอมรับการปรับตัวเป็นเรื่องยาก แต่พอเริ่มยอมรับได้ในระดับหนึ่งก็คิดอยากกลับมาใช้ชีวิตในสังคม แต่ก็กับต้องมาท้ออีก เพราะสังคมกลับพิการยิ่งกว่า สิ่งที่เอื้อกับผู้พิการในสังคมหาได้ยากมาก ใจพร้อมแต่สังคมไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นบันได ทางลาด ห้องน้ำ ไม่มี ซึ่งเราก็ต้องมาสู้มาทำให้เขาเห็นว่าเรามีตัวตน คนพิการพอมองเห็นสังคมเป็นอย่างนี้แล้วอาจจะท้อ แต่เราท้อไม่ได้ เพราะถ้าเราไม่ออกมาในสังคม สังคมก็จะไม่มีทางรู้ว่าเราต้องการอะไร สิ่งที่อยากเห็นในสังคมอยากให้มองถึงเรื่องการศึกษา ถ้าเราได้รับโอกาสในการศึกษา ก็ช่วยทำให้เรามีอาชีพ มีเงิน มาเลี้ยงดูตัวเองได้ พอเขามีเงินพอเขาก็อาจจะนำไปปรับปรุงทำทางลาดหรือทำห้องน้ำสำหรับคนพิการไว้ใช้เองที่บ้าน การศึกษาเป็นประตูไปสู่ชีวิต ซึ่งคนพิการสามารถเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกับคนปกติได้ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะผู้พิการก็คือคนๆ หนึ่งที่อยู่ในสังคม ต้องการใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป ฝากถึงผู้พิการคนอื่นๆเราต้องพยายามออกมาในสังคมมากขึ้น เพื่อให้คนทั่วไปได้ทราบว่าคนพิการมีอยู่ในสังคม เราต้องการมีส่วนร่วมในสังคม ให้เขาเห็นว่าเราทำอะไร อย่างสถานที่ต่างๆ ที่เขาไม่ได้ทำสิ่งที่ควรมีให้คนพิการ เช่น ทางลาดตามสถานที่ราชการ หรือลิฟต์ในสถานีรถฟ้า เพราะเขาอาจจะมองว่าคนพิการที่ไหนจะมาใช้ เขาเลยไม่ยอมสร้างให้เรา เพราะฉะนั้นเราก็ควรต้องออกมาใช้ชีวิตในสังคม ให้เขาเห็นว่าเราต้องการตรงนี้นะ คุณควรจะมีทางลาดไว้นะ ประตูควรเป็นแบบเลื่อนนะ ห้องน้ำคนพิการต้องกว้างนะ ให้เขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสังคม สร้างมาแล้วได้ใช้งาน คือถ้าเรารออย่างเดียวไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนสิ่งเหล่านี้จะเกิด แต่ถ้าออกมาใช้ชีวิต ให้สังคมได้มองเห็นเรา แล้วหันมาให้ความสำคัญกับเรามากขึ้น เชื่อว่าสิ่งจำเป็นต่างๆ สำหรับคนพิการน่าจะเกิดขึ้นได้ อนาคตข้างหน้า (อาจจะ) มีให้ใช้-ลิฟท์ที่รถไฟฟ้า BTS ทุกสถานี ภายในปี 2554-สัญญาณไฟพูดได้ เพื่อช่วยผู้พิการทางสายตาเวลาข้ามถนน-ปรับปรุงทางเท้าใน กทม. โดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้พิการเป็นหลัก-หากรถเมล์ NGV 4000 คันได้มีโอกาสมาวิ่งในบ้านเรา คนพิการก็มีสิทธิได้ใช้เจ้ารถเมล์พวกนี้ เพราะองค์กรคนพิการเรียกร้องให้รถเมล์ที่จะนำเข้ามาต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการด้วย เช่น พื้นชานต่ำ ราวจับ ที่ล็อคล้อรถวีลแชร์ โดยต้องมีอยู่ในรถเมล์ทุกสาย ครอบคลุมทุกเส้นทาง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point