ฉบับที่ 271 กู้เงิน แต่เจอคิดดอกเบี้ยแพง เกินกฎหมาย เจ้าหนี้เงินกู้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหรือไม่

            ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันหลายคนมีปัญหาทางการเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ค่าใช้จ่ายๆ ต่างก็สูงมากขึ้น การไปกู้ยืมเงินจากบรรดาธนาคารต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องหาคนค้ำหรือมีวางหลักประกัน ดังนั้นจึงมีหลายคนหันไปใช้บริการกู้เงินนอกระบบหรือผ่านแอปกู้เงินบนออนไลน์ ซึ่งเมื่อกู้มาแล้วเจอคิดดอกเบี้ยแพง เช่น ร้อยละ 10 ต่อเดือนทั้งที่ตามกฎหมายแล้วการคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้ กฎหมายได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดที่ผู้ให้กู้สามารถเรียกได้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี คือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน เช่นนี้ลูกหนี้มักถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยสุดโหด คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อเจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากเงินกู้เกินกฎหมาย ผู้บริโภคอย่างเราในฐานะผู้กู้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ นี้หรือไม่ หากจ่ายไปแล้วเอาคืนได้ไหมหรือเจ้าหนี้จะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยแพงผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ ศาลฏีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยศาลเห็นว่าการคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยแต่ลูกหนี้ก็ไม่มีได้ดอกเบี้ยนี้คืนแต่สามารถเอาเงินที่ชำระเป็นดอกเบี้ยไปหักเงินต้นที่กู้ยืมได้             คําพิพากษาฎีกาที่ 5056/2562             โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนโดยจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน มาโดยตลอด ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่ โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไป แต่โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวหากแต่ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปื ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง             นอกจากนี้ การกู้ยืมเงิน มีเรื่องที่ผู้บริโภคควรใส่ใจ เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากการกู้ยืมเงิน ดังนี้             (1) อย่าได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเป็นอันขาดเพราะเจ้าหนี้อาจเอาไปเติมข้อความหรือตัวเลขเงินกู้ที่เกินจริงในภายหลังได้             (2) โฉนดที่ดินเป็นเอกสารสำคัญอย่าไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันเพราะอาจเจอปัญหาตอนจ่ายหนี้หมดแต่เจ้าหนี้เรียกค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมภายหลังได้ หากจะเอาที่ดินเป็นประกันต้องไปจดจำนองที่สำนักงานที่ดินให้ถูกต้อง             (3) ตรวจสอบเงินที่ได้รับมาตรงตามที่ทำสัญญากู้หรือไม่เป็นเรื่องพื้นฐานได้เงินไม่ครบตามเอาทีหลังจะยากเพราะถือว่ารับเงินมาแล้ว ดังนั้นจึงควรตรวจนับทันทีเพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่เราได้ตรงกับที่ทำสัญญาไว้             (4) ควรใส่ตัวเงินเป็นตัวหนังสือด้วยเพื่อป้องกันมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตัวเลขในภายหลัง             (5) ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้เสมอเป็นสิทธิตามกฎหมาย ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้มาด้วยหากไม่ส่งมอบอาจส่อเจตนาไม่สุจริตและผิดต่อกฎหมาย การจ่ายเงินกู้โดยไม่รู้ว่าสัญญากำหนดสิทธิหน้าที่ของเราไว้อย่างไรจะทำให้เราเสียเปรียบเพราะไม่รู้เงื่อนไขตามสัญญาที่ตกลงกันหากเกิดการฟ้องร้องจะทำให้ต่อสู้คดีได้ยาก             (6) ในสัญญากู้ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานอย่างน้อย 1 คน เพื่อให้เป็นหลักฐานว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง มีพยานยืนยันจำนวนเงินที่กู้ ระยะเวลาที่กู้ ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ เพื่อหากเกิดปัญหาพิพาทกันภายหลังจะได้มีคนยืนยันไม่ให้ถูกเจ้าหนี้เรียกเงินคืนที่อาจเกินจริง             (7) จ่ายเงินทุกครั้งต้องมีหลักฐาน กล่าวคือ หากจ่ายเป็นเงินสดต้องได้ใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐานยืนยันการชำระเงินและควรเก็บไว้ให้ดีจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วนหรือเพื่อความสะดวกควรจ่ายโดยวิธีโอนเงินผ่านมือถือมีสลิปที่แอปธนาคารยืนยันก็จะช่วยให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 270 วิกฤตหนักของสิทธิผู้บริโภค ใน ‘อสังหาริมทรัพย์’

        วันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีกลุ่มคดีสำคัญในรอบปี 2566 คือการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์  กว่า 32 ราย   โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งและศาลพระนครเหนือในฐานผิดสัญญา เพื่อเรียกเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายทุกคน         หนึ่งในผู้เสียหายที่เดินทางไปฟ้องคดีด้วย คือ คุณกิตติพงศ์  สุชาติ   ที่ตั้งใจซื้อคอนโคครั้งนี้เพื่ออยู่อาศัยสร้างครอบครัวเมื่อโครงการคอนโดเริ่มมีปัญหา คือการสร้างที่ไม่คืบหน้าทำให้ไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้ตามสัญญาที่ทางโครงการระบุไว้เมื่อตอนโฆษณาขายและทำสัญญา ซึ่งเขาเข้าใจในคำอธิบายของบริษัทฯ ในชั้นต้นจึงยังคงให้โอกาสกับทางบริษัทเพราะสิ่งที่ต้องการคือคอนโด ไม่ได้ต้องการเงินคืน แต่สุดท้ายการไร้ความรับผิดชอบของบริษัททำให้เขาทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาฟ้องคดีเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง   คุณกิตติพงศ์เข้าซื้อคอนโด ตั้งแต่เมื่อไหร่          ผมซื้อคอนโดของบริษัทออล อิน สไปร์ ในโครงการ  The Excel ลาซาล 17 ตอนที่ซื้อได้เข้าไปดูห้องตัวอย่าง เขามีให้ดูมีเซลล์แกลลอรี่แบบปกติเลย  เขาพาไปชมโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ตอนนั้นน่าจะเริ่มไปประมาณ  50 %  แล้ว ผมก็ทำปรกตินะวางเงินดาวน์ แล้วก็จ่ายเป็นงวดๆ ตามสัญญาที่ให้ไว้  ช่วงที่ซื้อประมาณปลายปี  2563 เข้าไปดูโครงการแล้วจอง ต่อมาอีก 2 สัปดาห์ก็นัดทำสัญญากัน และผ่อนชำระงวดแรก  ในสัญญาระบุว่าสิ้นเดือน ธ.ค. ปี 2564 เขาจะส่งมอบคอนโด  ซึ่งระหว่างนี้ผมก็เข้าไปดูความคืบหน้าที่โครงการเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ต่อมาบริษัทก็ได้ส่งจดหมายมาขอเลื่อนการส่งมอบออกไปอีก ผมก็ยังไม่เอะใจอะไรทั้งที่ตอนนั้นผมก็เริ่มได้ยินว่ามีคนเริ่มไปขอเงินคืนกันแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้คืนเงิน ในเนื้อความจดหมาย บริษัทแจ้งอ้างเหตุอะไรจึงขอเลื่อน         บริษัทเกิดปัญหาจากโควิดทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักและดำเนินการล่าช้า  บริษัทจึงขอเลื่อนการก่อสร้างออกไปก่อนแล้วเดี๋ยวจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ประมาณ ต.ค. พ.ย. ก่อนครบสัญญา เขามาแจ้งก่อน ตอนนั้นคนที่ซื้อคอนโด คนอื่นๆ ก็น่าจะได้จดหมายด้วยเช่นกัน แล้วเริ่มแก้ไขปัญหาอย่างไร          ตอนนั้น บริษัทเขาก็มีการตั้งเจ้าหน้าที่มาคนหนึ่งคอยประสานกับคนที่ซื้อคอนโด เขาโทรมาหาผมว่าจะสร้างต่อนะจะรอไหม ถ้าไม่รอจะคืนเงิน แต่จะคืนเงินให้เป็นงวดๆ ผมเลยถามว่าจะใช้เวลาสร้างต่อถึงเมื่อไหร่ เขาบอกว่าจะสร้างต่อถึงประมาณตุลาคม 2565 ผมเลยบอกว่า ผมรอ แต่ถ้าสร้างไม่เสร็จ ผมขอเอาเงินคืนแล้วกัน         ตอนนั้นในกลุ่มผู้เสียหายก็มีการรวมตัวกันในกลุ่มไลน์แล้ว เฉพาะ โครงการ The Excel ลาซาล 17 ก็มีอยู่ 100 กว่าคนแล้ว ผมก็อยู่ในกลุ่มด้วยตอนบางคนเริ่มมีคนไปออกข่าว ส่วนผมผมกลัวว่าเขาจ่ายเงินคืนเป็นงวดๆ 6 งวด  แล้วถ้าจ่ายแล้วหายไป เขาบ่ายเบี่ยงอีก ประกอบกับเขาให้ความมั่นใจด้วยว่าเขาจะสร้างต่อ แล้วจริงๆ ผมอยากได้คอนโดด้วยผมเลยรอ แต่พอถึงช่วง ต.ค. ก็เริ่มวุ่นวายขึ้นอีก ผมเลยบอกว่า งั้นผมขอเงินคืนแล้วกัน  แต่ตัวแทนของบริษัทยังยืนยันจะจ่ายคืนเป็นงวดๆ  ผมก็บอกว่าผมไม่สะดวก เพราะว่าผมขอเป็นงวดเดียวเลยก้อนเดียวเลย เพราะว่าผมจ่ายไปหมดแล้ว เขาเลยบ่ายเบี่ยงไปเรื่อยๆ จนผู้เสียหายๆ หลายๆ คนรวมถึงผมด้วยไม่ไหวแล้ว ผมเลยมาขอความช่วยเหลือให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยประสานทำเรื่องให้แต่หลังจากนั้นก็ติดต่อบริษัทไม่ได้อีกเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ มีผู้เสียหายผู้หญิง 2 คน  เคยมาที่มูลนิธิแล้ว เขาเคยบอกแล้วว่า เคยไปที่บริษัทมาแล้ว แต่บริษัทเขาปิดไม่ให้เข้าแล้วต่อเราจึงได้รู้ว่าเขาย้ายที่อยู่บริษัทไปแล้ว แล้วจุดที่คิดว่าไม่ไหวแล้วและตัดสินใจฟ้องคดี คืออะไร          ผมมาทราบข่าวอีกครั้ง  เมื่อเดือน ก.พ. 66   ว่าบริษัทได้ขายโครงการให้อีกบริษัทหนึ่งไปแล้วซึ่งบริษัทนี้ก็เอาโครงการมาดำเนินการก่อสร้างต่อแล้วก็ขายต่อแล้ว บริษัทที่ผมทำสัญญาด้วยได้เงินกว่า 500 ล้านจากโครงการที่ขายไป แต่เขาไม่ได้ติดต่อเอาเงินมาจ่ายลูกบ้านที่มีปัญหากันอยู่เลย แล้วบริษัทก็ติดต่อไม่ได้ แล้วล่าสุดบริษัทก็แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าขอย้ายที่อยู่ไปแล้ว  แล้วพอตอนที่ติดต่อมาว่าจะคืนเงินให้ผมยังถามว่าแล้วจะให้ผมจะไปเซ็นต์สัญญาที่ไหนซึ่งผมยืนยันว่าขอเงินคืนในงวดเดียว เจ้าหน้าที่ของเขาก็บอกว่า เดี๋ยวจะนัดหมาย วัน เวลา สถานที่ให้เข้าไปทำเรื่องและขอไปปรึกษา บัญชีก่อน แล้วก็เงียบหาย แต่ผมไม่รอแล้ว แล้วการที่บริษัทเอาโครงการไปขายต่อ ทั้งที่ยังมีปัญหากับลูกบ้าน ทำได้ด้วยหรือ         ผมคิดว่าการซื้อขายคงทำหนังสือกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเขาดำเนินการซื้อกัน  โดยผมเชื่อว่าบริษัทที่เข้ามาซื้อก็รู้ว่าคอนโดโครงการนี้ยังมีปัญหาอยู่ แต่เป็นทางบริษัท ทางออลล์ อินสไปร์เองที่จะต้องไปเคลียร์กับลูกบ้าน  แต่เขา (บริษัทใหม่) รู้ว่ามีลูกบ้านที่ติดอยู่สถานการณ์เป็นแบบนั้น         ผมก็ยังงง มันเหมือนลูกบ้านอย่างเราก็มีสัญญายังผ่อนอยู่ แล้วอยู่ดีๆ เอาบ้านไปขายให้คนอื่น  คนใหม่ก็มาซื้อด้วย ทั้งๆ ที่รู้นะ   มันแปลกมากแล้วกระทบกับสิทธิของผู้บริโภคที่เข้าไปซื้อคอนโดแบบนี้มาก การยื่นฟ้องคดีที่ผ่านมา ผู้เสียหายทุกคน ฟ้องคดีไหม         ไม่ทุกคน คือ ปีที่แล้วมีผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งราว 20 คน  เขาตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมา แล้วเขาจะมีความเคลื่อนไหว  ไปออกข่าวร้องทุกข์คนที่เป็นแกนนำสัมภาษณ์ให้ข่าวบ่อยๆ แบบนั้นเจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาติดต่อไปคืนเงินให้ก่อนใคร เขาก็ได้เงินคืน เขาแจ้งในไลน์กลุ่มว่าเขาได้เงินคืนแล้วในครั้งเดียวเลย แล้วเขาก็เลยขอออกจากกลุ่มไปหลักๆ กลุ่มนี้เท่าที่ผมคุย คือ ได้เงินคืนครบประมาณ 10  คน กับอีก 10 คน โดนสร้างเงื่อนไขให้ได้รับเงินคืนเป็นงวดๆ บางคนได้งวดเดียวแล้วไม่ได้อีกเลย หายเงียบหรือบางคนไม่ได้สักงวดเลยก็มี เลยมีทั้งคนที่ได้เงินคืนแล้ว แล้วคนที่สุดท้ายมาร่วมกันฟ้องคดี  ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค แล้วมาเจอผู้ประกอบการที่เป็นแบบนี้ อยากจะเปิดใจเรื่องอะไร         ผมมองว่ามันเป็นการเอาเปรียบกัน  คุณบริหารล้มเหลวเองให้ผลกระทบมาตกกับลูกค้ามันไม่ถูกต้อง แล้วมองว่าทรัพย์สินคุณก็ยังมีอยู่ ทำไมไม่คิดจะเอามาขายเพื่อชำระหนี้   ถ้ามองภาพรวมนะครับ แต่ถ้ามองในส่วนที่โครงการยิ่งน่าเกลียด ในเมื่อคุณขายโครงการได้เงินมาแล้ว ขายได้เกือบ 500 ล้าน แทนที่คุณจะเอาเงินมาเคลียร์ลูกบ้านก่อน น่าจะครอบคลุมได้หมดเลย  ผมนั่งดีดตัวเลขกลมๆ ถ้าเขาขายห้องหมด ประมาณ 200 ล้าน ก็ยังเหลือๆ เขาควรเลือกจะคืนให้คนที่มีผลทางกฎหมายกับเขา ส่วนคนที่เขาไม่ทำอะไรเลย  เขาเลือกที่จะเฉยๆ เขาไม่ได้สนใจที่จะคืนเงินเลย อยากบอกอะไรกับคนอื่นๆ ที่เขาอาจจะยังแบบว่า อย่าไปฟ้องเลยไหม         คือมีอีกหลายคน  ที่เขาไม่ทำอะไรเลย เสพข่าวอย่างเดียวหรือบางคนไปบ่นกับพนักงาน  พนักงานเขาก็บอกได้แต่ว่า เขาทำอะไรไม่ได้หรอก เขาไม่มีเงินต้องให้คนที่เขามีอำนาจตัดสินใจมาคุยกับเรา เรามานั่งอ่านไลน์กลุ่มมันก็ไร้สาระ  แล้วก็ไปว่าพนักงาน เขาก็ไม่เกี่ยว เขาทำตามหน้าที่ของเขา และยังมีลูกค้าต่างชาติอีก  เขาพิมพ์ข้อความมาก็ไม่ค่อยมีคนสนใจแต่พนักงานเขาก็ทำอะไรไม่ได้มาก         วันแรกที่ซื้อคอนโด ผมก็ได้ตรวจสอบดีแล้ว แล้วอีกอย่างหนึ่งโครงการก็ขึ้นมา ตั้ง 5 โครงการแล้ว  โครงการที่ผมซื้อมันเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วด้วยนะ  ทุกอย่างมันไม่มีทิศทางว่าเขาจะเป็นแบบนี้ เรามั่นใจ ที่อื่นขึ้นตอม่อมาก็โดนแล้วแต่ของผมโครงสร้างมันเสร็จหมดแล้ว เหลือแต่งานออกแบบภายในเฉยๆ  แล้วทราบอีกว่าเขาโกงเงินผู้รับเหมาด้วย  ผู้รับเหมาเขาเลยหนี ไม่สร้างต่อแล้ว         เราทำทุกทางแล้ว ไปกองปราบ ไปร้องกับ สรยุทธ  โหนกระแส เราก็ติดต่อไปแล้ว เขาก็รับเรื่องไว้ เขาไม่ได้สนใจอยากจะเอามาตีแผ่  ผู้บริโภคบางคนยอมทิ้งเงินตัวเองเลย ไม่เอาแล้ว หลายๆ คนเริ่มนิ่ง เราก็บอกไปแล้วว่า ถ้านิ่งๆ จะไม่ได้เงินคืนนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ขอบังคับคดีกับบุคคลภายนอกที่เป็นลูกหนี้ร่วมตามสัญญาประนีประนอมได้หรือไม่

        การบังคับคดี โดยปกติจะกระทำได้ก็เฉพาะคู่ความผู้ที่แพ้คดีและตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่บางกรณี บุคคลภายนอกก็อาจถูกบังคับคดีได้ หากเข้ามาเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา อย่างเช่นในกรณีที่หยิบยกในครั้งนี้ เป็นเรื่องของ นาย ส. ซึ่งเดิมมิใช่คู่ความในคดีเป็นบุคคลภายนอก แต่ในระหว่างดำเนินคดี ได้ยินยอมตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในคดี  ต่อมาเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ นาย ส. ซึ่งแม้เป็นบุคคลภายนอกคดี แต่เมื่อยอมตกลงรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม แล้วต่อมา นาย ส.ไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา ก็มีสิทธิบังคับคดีกับทรัพย์สินของนาย ส. ได้ เนื่องจากถือได้ว่านาย ส. อยู่ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ และต้องดำเนินการบังคับคดีภายในสิบปีวันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามมาตรา 274 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564  คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564         แม้ ส. เป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีที่ถูกฟ้องแต่แรก แต่ ส. ยินยอมเข้ามาในคดีโดยตกลงยอมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างลูกหนี้ร่วมและได้ลงลายมือชื่อผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274  แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 และโจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีภายหลังจากมาตรา 274  ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว การบังคับคดีของโจทก์จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 274  วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมที่ ส. ซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกยินยอมเข้ามาผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ร่วมรับผิดกับจำเลยมีผลผูกพัน ส. ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อ ส. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดี ส. ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่เกร็ดความรู้เพิ่มเติม สำหรับหลายท่านที่เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิบังคับคดี ในบางครั้งการบังคับคดี หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ทราบว่าทรัพย์สินลูกหนี้ตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ได้             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2559          คำร้องของโจทก์ที่ระบุว่า โจทก์ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์ของจำเลยแล้ว  ปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้  แต่ตามฐานะความเป็นอยู่ของจำเลยเชื่อว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบแล้ว  ย่อมมีความหมายในตัวเองว่าโจทก์เห็นว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นซึ่งโจทก์ยังไม่สามารถติดตามจนพบเพื่อบังคับคดีได้จึงต้องขอให้ศาลเรียกจำเลยมาไต่สวนให้ได้ความจริง  การที่โจทก์ไม่อาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ได้เพราะยังไม่พบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใด   กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ทราบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดเป็นที่แน่ชัดแล้ว  แต่จะอาศัย ป.วิ.พ.มาตรา 277  เป็นเครื่องมือติดตามตัวทรัพย์สิน  หรือเพื่อให้ทราบสถานที่ตั้งของทรัพย์สินนั้น จึงมีเหตุสมควรที่จะรับคำร้องของโจทก์และมีหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 เมื่อผู้บริโภคถูก “ฟ้องปิดปาก”

        การฟ้องปิดปาก (SLAPPs) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ”  เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ย่อมบั่นทอนกำลังใจ สำหรับคุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง หรือคุณนะ หนึ่งในผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกระทะโคเรีย คิง มีเพียงความเชื่อมั่นในสิทธิของผู้บริโภคเท่านั้นที่ทำให้เธอสามารถเดินหน้าต่อไปได้         ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้ยื่นฟ้องบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด  ผู้นำเข้า‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีกลุ่ม เนื่องมาจากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณกัลยทรรศน์ได้เข้าร่วมการไต่สวนคำร้องการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามนัดของศาลมาอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมาคุณกัลยทรรศน์ กลับถูกบริษัทวิซาร์ด โซลูชั่น ฟ้อง ใน 2 คดีซึ่งล้วนเป็นคดีอาญาคือ คดีที่ 1 อ.169/2565 ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ศาลจังหวัดสตูล และคดีที่ 2 ในข้อหาเบิกความเท็จ หมายเลขดำที่ อ.2961/2565  ศาลอาญา         ทั้ง 2 คดีบริษัทฟ้อง คุณกัลยทรรศน์เป็นการส่วนบุคคล ซึ่งล้วนมีที่มาจากการที่คุณกัลยทรรศน์เข้าร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกร้องให้บริษัทชดใช้ค่าสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทุกรายที่ซื้อสินค้ามากกว่า 1,650 ล้านบาทเหตุการณ์เริ่มต้นอย่างไร ทำไมบริษัทถึงฟ้องได้         ต้องเล่าย้อนกลับไปถึงการฟ้องคดีกลุ่ม เพราะเกี่ยวข้องกัน เราฟ้องบริษัทในฐานะที่เขาขายสินค้าไม่ตรงที่โฆษณาว่าสามารถที่จะ ผัด ทอด โดยที่ไม่ต้องใช้น้ำมันแล้วสินค้าไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะว่าทุกครั้งที่เราใช้กระทะเราก็ต้องใช้น้ำมันอยู่ดีเรารู้สึกว่ามันไม่ตรงกับสิ่งที่เขาโฆษณาไว้ อีกอย่างหนึ่งก็หลายสตางค์นะ เราเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เราทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล เราจึงร่วมฟ้อง         แต่การซื้อ ตอนนั้นเห็นโฆษณาเราก็สั่งซื้อกัน  แต่ใช้ชื่อน้อง‘อนัตตา’  เป็นเพื่อนร่วมงานซื้อ ซื้อแล้ว  เราก็เฉลี่ยเงินแล้วก็มาแบ่งกัน  พอซื้อแล้ว เราต่างคนก็ต่างเอากระทะกลับไปใช้แล้วก็รู้ว่าคุณสมบัติเรื่องของการโฆษณาไม่เป็นไปตามนั้นเลย พอรู้ว่าตอนนั้นก็มีผู้เสียหายหลายคน และมูลนิธิจะฟ้องเราก็จะร่วมด้วย  แต่ใบเสร็จรับเงินที่อยู่ในกล่องตอนที่ซื้อมามันหายไป เราเลยไปแจ้งความ ตำรวจก็ให้ลงบันทึกประจำวันไว้ว่าใบเสร็จได้สูญหายไป ยืนยันว่าเราได้ซื้อกระทะจากบริษัทจริง กระทะทั้งสองใบก็ยังอยู่นะ  ตรงนั้นเราจึงเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีกลุ่ม แล้วบริษัทมาฟ้องได้อย่างไร         บริษัทเขาบอกว่าค้นในระบบแล้วไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ เราไม่ใช่ผู้ซื้อ  ไม่มีประวัติในการซื้อ ซึ่งกระทะก็อยู่ที่เราจนถึงตอนนี้ เลยเป็นที่มาของการฟ้อง         บริษัทฟ้องเรากลับมาคนเดียว ฟ้องคดีแจ้งความเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล  สองก็คือเบิกความเท็จ ฟ้องที่ศาลอาญา เมื่อบริษัทเขาไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ  ที่เราได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เขาเลยเอาตรงนั้นมาแจ้งข้อหาและฟ้องที่ศาลจังหวัดสตูล เมื่อช่วงปลายปี 2565         เราเองก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับเรานะเพราะเป็นคนซื้อจริงๆ  แล้วก็จ่ายเงินจริง ใช้จริง  เราก็มั่นใจ มันเหมือนกันว่าถ้าเอาตามตัวหนังสือแน่นอนว่าไม่มีชื่อเรา  สุดท้ายศาลท่านแนะนำว่าเป็นคดีที่ไกล่เกลี่ยกันได้  ซึ่งทนายความทางศาลก็ไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ฟ้องกับเราที่เป็นจำเลย  โดยถ้ายอมรับสารภาพว่าเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ซื้อ แล้วบริษัทก็จะถอนฟ้อง แล้วอีกคดีที่บริษัทฟ้องในข้อหาเบิกความเท็จ         คดีนี้เขาฟ้องที่ศาลอาญา ฟ้องในเวลาไล่เลี่ยกันเลย เขาฟ้องว่าในคดีที่ฟ้องกลุ่ม เราเบิกความเท็จว่าเป็นผู้ซื้อ พอถูกดำเนินคดีแล้ว เราเสียอะไรไปบ้าง         วันที่หมายศาลมาที่บ้าน กลัวมาก นอนไม่หลับเครียดมาก ร้องไห้ เครียดกลัวพ่อแม่ กลัวลูกไม่สบายใจ ตอนนั้นเครียดจนต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย  เราเป็นคนธรรมดา ไม่มีความรู้กฎหมาย เราก็กลัว แล้วเรื่องค่าใช้จ่าย เราต้องเดินทางขึ้นกรุงเทพ เดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง แล้วมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับสภาองค์กรของผู้บริโภคเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร         ก็ช่วยตลอดมาตั้งแต่แรก  ช่วยเรื่องเงินประกัน มีทนายความมาช่วย มูลนิธิฯ ออกค่าที่พักที่นอนให้แต่เราเองก็ต้องออกไปก่อนครั้งละ 5,000 -6,000 บาท เวลาที่ขึ้นไปศาลฯ ที่กรุงเทพ         ที่ศาลอาญา ช่วงที่รอไต่สวน เราต้องเข้าไปอยู่ในห้องขัง ต้องไปเจอผู้ต้องขังเยอะแยะมากมาย เราเสียใจ ร้องไห้นะ ในคดีแจ้งข้อความอันเป็นเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล ทำไมเราถึงยอมรับสารภาพ         ความหมายของผู้บริโภคเมื่อเกิดความเสียหายก็สามารถฟ้องได้  เราพูดในฐานะที่เป็นผู้บริโภคแล้วเวลาเราฟ้อง ในวันนั้นที่เราฟ้องคดีกลุ่ม ฟ้องในฐานะผู้บริโภค ซึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ซื้อด้วยและเราก็บริโภคด้วยเพราะเราเป็นคนใช้ แต่ศาลที่สตูลเขาบอกว่าถ้าด้วยตัวกฎหมายก็คือว่ามันไม่ใช่ชื่อกัลยทรรศน์ แต่มันเป็นชื่ออนัตตา มันผิดตรงนั้นที่เราไปลงบันทึกประจำวันไว้ ทำไม บริษัทถึงมาฟ้องเรื่องนี้ในปี 65  ทั้งที่เริ่มฟ้องคดีกลุ่มมาตั้งแต่ปี 60 แล้ว          ในคดีกลุ่ม บริษัทฯ ก็ทยอยไกล่เกลี่ย คืนเงินชดเชยซึ่งอาจเหลือไม่กี่คนแล้ว อันนี้เขาบอกนะ ถ้าสมมุติว่าเขาทำให้พี่ถอนฟ้องได้ การฟ้องแบบนี้มันเหมือน ฟ้องปิดปากเพื่อที่จะให้เราไปถอนฟ้อง เหมือนกับคดีปิดปากอื่นๆ เขาทำให้เรารู้สึกกลัว แล้ว จำนวนคนที่ยังอยู่ที่บริษัทจะชดใช้เงินคืนก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้กำลังใจเป็นอย่างไร          เรามีกำลังใจจากคนที่เข้ามาช่วยเรา ทั้งจาก เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และน้องๆ ทนายความจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่คอยปลอบใจ ให้กำลังใจเราเสมอ สิ่งที่อยากฝาก         เราได้บทเรียนว่าวินาทีที่เราตั้งใจซื้อไม่ว่าทางไหนก็แล้วแต่จะต้องมีหลักฐานเอกสารขนาดต้อง Copy ไว้หมดเลยการซื้อของทุกวันนี้ต้องเก็บหลักฐานตั้งแต่วินาทีสั่งของ เวลาที่ของมาถึงเราแล้วก็ต้องถ่ายรูปคนที่เขามาส่ง ต้องจำให้หมดแล้วถ่ายสำเนาไว้หมด ต้องมีหลักฐานหมด จุดเริ่มต้นที่ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม และหลังจากถูกฟ้องจากบริษัท ความคิด ความเชื่อได้เปลี่ยนไปไหม            เราก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้เป็นไปตามโฆษณาอย่างนั้นจริงๆ เพราะเราเชื่อโฆษณาไง เราก็ไม่อยากใช้น้ำมันเราอยากดูแลสุขภาพ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นไปตามนั้น  เราก็ใช้ทุกครั้งมันก็ติดกระทะมัน ก็ไม่เป็นจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอนที่ 1

“ที่ใดก็ตาม ไม่มีเสรีภาพของการแสดงออกที่แท้จริง ที่นั่นไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” นี่คือปรัชญาที่สหภาพยุโรปใช้เป็นแนวทางการยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท มองมาที่ไทย ประเทศที่เสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2475 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อประชาชนใช้สิทธิ เสรีภาพ  เพื่อส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของตนเอง  อาจกระทบต่อคนหลายฝ่าย อาจเกี่ยวพันไปถึงสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ประกอบการ  นักการเมือง ข้าราชการ ที่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองด้วยเช่นกัน         ‘การฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (strategic lawsuits against public participation) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” จึงถูกผู้ประกอบการ นักการเมือง ข้าราชการนำมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง         คดีจากการ‘การฟ้องปิดปาก’  นี้จึงแตกต่างจากคดีทั่วไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำหรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น เช่น ปัจจุบัน ผู้บริโภคหลายรายเพียงรีวิว การใช้สินค้าที่ซื้อมาใช้ด้วยความสุจริตลงในสื่อออนไลน์ กลับถูกประกอบการขู่ฟ้อง ดำเนินคดี ก็เพื่อให้หยุดแสดงความคิดเห็นหรือลบข้อความที่ได้เขียนลงไป         ในเวทีเสวนาเรื่อง “เสวนาปัญหาการถูกฟ้องคดีปิดปาก: ถอดบทเรียนจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค” วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ในต่างประเทศการฟ้องปิดปากเป็นคดีแพ่งเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะกลับถูกดำเนินคดีทั้งกระบวนการทางแพ่งและอาญา สุดท้ายทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิ ถอดใจ เรากล่าวขอโทษ ถอดบทความต่างๆ ความจริงก็จะไม่ปรากฏ และประโยชน์สาธารณะก็จะเสียไป        “ผมคิดว่า การฟ้องปิดปากมีสมการที่อธิบายได้แบบนี้ เสรีภาพ การแสดงออกซึ่งความคิดของประชาชน กับเรื่องสิทธิของผู้ประกอบการในการมีสิทธิทางธุรกิจ เกียรติยศ  ผมว่าเสมอกัน เสรีภาพของประชาชน เสมอกับเกียรติยศของคนที่เราพูดถึง   ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว  เราไปกล่าวหาคนอื่น เรื่องส่วนตัว เรามีความรับผิด ตรงกันข้าม ถ้าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด บวกประโยชน์สาธารณะเข้ามา มันควรจะมากกว่า ชื่อเสียง เกียรติยศของภาคธุรกิจหรือไม่  เราเป็นผู้บริโภคแสดงออกว่า สินค้านี้ไม่ดี เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เขาไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว เขาทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น เพื่อธุรกิจจะมีความรับผิดชอบ นำของที่ดีมาขาย ไม่ใช่เอาของไม่ดีมาขายแล้วตัดภาระให้ประชาชน เมื่อมีประโยชน์สาธารณะสุดท้ายจะปรับให้เกิดภาพรวมที่ดีของสังคมที่ได้ ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้นเพราะทุกคนในประเทศไทยต่างเป็นผู้บริโภค เพราะเราต้องซื้อของ และใช้บริการ”          รายงานวิจัยของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดีที่นำเข้าสู่กระบวนการศาล  หนึ่งในสี่ของคดีปิดปากเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ประชาชนถูกฟ้องร้องจากความพยายามที่จะร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย เรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือ เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาสาสมัคร ร้อยละ 39  ผู้แทนชุมชนและแรงงาน ร้อยละ 23% นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร้อยละ16%และ นักข่าวร้อยละ9%  และกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องคือการแสดงความเห็นออนไลน์ ซึ่งคดีหมิ่นประมาทเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ ปรับ 200,000 บาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง         รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่าเขามองว่า ความหวัง และทางออกของเรื่องนี้คือ กฎหมายมาตรา 329 ที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรได้นำไปปรับใช้ให้มากขึ้น“มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม(2)   ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่(3)   ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ(4)   ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุมผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”         “ผมว่าตรงนี้คือกุญแจสำคัญในการที่ผู้บริโภค พิทักษ์สิทธิ์ ไปแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด แม้เป็นการใส่ความเขาเหตุผลเพราะ เรากำลังทำเพื่อความเป็นประธรรม ประโยชน์ส่วนร่วม ตามมาตรา 329”         อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังเป็นไปได้น้อย ศาลยังขาดข้อมูลว่าผู้ฟ้องมีเจตนาใช้กระบวนการยุติธรรมด้วยความไม่บริสุทธิ์ ทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลแม้การฟ้องปิดปากจะเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดี ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ไม่มีทางเลือกและจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมักจะมาในรูปของ การชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือ การลบข้อความที่ถือว่าละเมิด         การดำเนินคดีในกลุ่มผู้ใช้สิทธิผู้บริโภคก็มีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอข่าว และ บทความ ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า “ฉลาดซื้อเผยผลสุ่มตรวจ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. …” โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ยี่ห้อ เคียวร์ซิส (CUREAYS) ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยผลการทดสอบ ได้ผล ร้อยละ 69 และ ร้อยละ 64 ตามลำดับ พร้อมระบุข้อสังเกตจากการทดสอบ เรื่องคุณภาพการผลิต พบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน … บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด รับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายบริษัท แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า บริษัทผู้ผลิต กลับยื่นฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานโดยสุจริต เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับถูกข้อกฎหมายฟ้องปิดปาก มาปิดกั้นการทำงานเพื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ และยังมีอีกหลายกรณีของการทดสอบ หรือ เผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริตเพื่อ เตือนภัย แต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับถูกแทรกแซงจากผู้ประกอบการด้วยวิธีการต่างๆ และจากหลายกรณีที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน เช่น คดีกระทะโคเรียคิง ครีมเพิร์ลลี่ หรือ คดีสามล้อ ฯลฯ กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากโดย ปปช.         คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ ให้ประชาชน ‘ไม่ทำ’ และ ‘ไม่ทน’ ต่อการทุจริต  แต่เมื่อประชาชนที่มาชี้ช่อง เบาะแสกลับถูกดำเนินคดีฟ้องกลับ มากมาย ปปช.ในปี พ.ศ. 2564 จึงเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....” หรือ ปัจจุบันมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ...” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย         นายนิรุท  สุขพ่อค้า  ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า “ปปช. เรามีแนวคิดปกป้องคุ้มครองประชาชนมานานแล้วเราจึงมีกฎหมายในการคุ้มครองพยาน แต่ยังเป็นเรื่องของการคุ้มครองอันตรายทางกายภาพ เนื้อตัว ร่างกาย ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ผู้ถูกกล่าวหาเขามีความรู้ก็จะใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้แจ้งเบาะแส หรือ ภาคประชาชนซึ่งเรื่องการชี้ช่องเบาะแส  บางอย่าง เป็นเรื่องของการก้ำกึ่งระหว่างเรื่องของการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นคดีอาญา การที่เขาจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีปิดปาก มันเป็นการดำเนินการที่ไม่ต้องใช้ทุนอะไร แค่เดินไปยังพนักงานสอบสวน และร้องทุกข์ กล่าวโทษก็ถือว่าเป็นคดีได้แล้ว”         “เรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ ปปช. มีหน้าที่รวบรวม พยานหลักฐาน  แต่คนที่จะมีส่วนรู้เห็น ก็มีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วย  ปปช. ได้คือภาคประชาชน การฟ้องปิดปากจึงทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเดือดร้อน  ไม่ว่าจะภาคประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ที่ถูกเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เสียหายในเขตพื้นที่อันเกิดจากการทุจริต ในการจัดซื้อจัดจ้าง ถนนชำรุดทรุดโทรมง่าย ภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ NGO ทำหน้าที่เป็นสื่อ ทำหน้าที่สอดส่อง ดูแล  การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง เป็นกลุ่มที่หลากหลาย ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ”          “กฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชรตามคดี 3 ลักษณะกว้างๆ คือ เมื่อคนที่ชี้ช่องถูกดำเนินคดีอาญา ปปช. จะเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความร้องทุกข์ฐานหมิ่นประมาท ทางในแพ่ง ปปช. จะตั้งทนายเข้าไปช่วยประชาชน และหากเป็นคดีทางปกครอง ถูกผู้บัญชาดำเนินการทางวินัย ปปช.มีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดการดำเนินการทางวินัยได้เลย นี่ค่อนข้างจะเด็ดขาดมาก ทั้ง 3 ลักษณะคดีนี้  ปปช. มีอำนาจที่จะให้ข้อมูล เพื่อให้พนักงานสอบสวน/ อัยการ มีดุลยพินิจ สั่งไม่ฟ้อง และ ปปช.ดำเนินการด้วยงบประมาณของตนเองเพราะมีกองทุนอยู่แล้วจึงมีความพร้อมในการปฏิบัติ เราคาดหวังเต็มร้อยเพราะเรื่องการปราบปรามทุจริตได้ เราทำเองไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือให้ข้อมูล เบาะแส หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญเป็นลำดับต้นกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนด้วยทุกฝ่าย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสังคมโลกดีขึ้น ”นายนิรุทกล่าวยืนยัน        ฉบับหน้าติดตามตัวอย่างผู้บริโภคที่ได้รับผลจากการฟ้องคดี “ปิดปาก” และผลของคดีที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 เมื่ออัยการทำ MOU กับศัลยแพทย์ ประชาชนจะพึ่งใคร

        เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม สำนักงานอัยการสูงสุด กับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ โดยมี อัยการสูงสุด นายกแพทยสภา และประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมลงนาม         คำถามที่ชาวบ้านหรือผู้รับบริการสาธารณสุขสงสัยคือ เหตุใดองค์กรแพทย์จึงต้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์เป็นกรณีพิเศษ  ข่าวแจกสื่อมวลชนระบุว่า การทำ MOU นี้เกิดจากปัญหาที่ศัลยแพทย์ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการรักษาของศัลยแพทย์ที่เป็นภาวะแทรกซ้อน  ดังนั้น จึงควรมีการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้อง  กล่าวคือ สำนักงานอัยการสูงสุดจะให้การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ด้วยการให้คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย การไกล่เกลี่ยประนอม ข้อพิพาท การช่วยเหลือทางคดี         ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเรื่องการเตรียมทำ MOU ฉบับนี้ โดยระบุถึงความจำเป็นว่า ศัลยแพทย์มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ  หากปล่อยให้ศัลยแพทย์ได้รับโทษทางแพ่งและอาญา ตลอดจนโทษจากองค์กรควบคุมวิชาชีพ อันเป็นผลจากภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาพยาบาล  ก็อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต           ผู้เขียนเห็นว่า การทำ MOU ดังกล่าวของสำนักงานอัยการสูงสุดกับแพทยสภา โดยเฉพาะราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นสิ่งที่ขาดเหตุผล ความจำเป็นและขาดความเหมาะสม  เนื่องด้วยบทบาทหน้าที่ของอัยการในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายร้องทุกข์ในคดีทางการแพทย์ หากมีผู้ป่วยไปเสริมความงามจมูก หน้าอก แล้วเกิดภาวะติดเชื้อหรือทำให้ใบหน้าผิดเพี้ยนหรือพบความผิดปกติ หรือการผ่าตัดรักษาอาการอย่างหนึ่งแต่กลับส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่นในร่างกาย  กรณีเหล่านี้จะถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อน (complication) หรือไม่  หรือกรณีศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วย (standard of care) ซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น การป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วยในขณะเข้ารับการผ่าตัดหรือการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  ในคดีทางการแพทย์ในต่างประเทศหากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย มีหลายคดีที่ศาลตัดสินให้แพทย์มีความผิดหรือต้องชดใช้ค่าเสียหาย เพราะศาลเห็นว่าแพทย์มิได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานการดูแลรักษา   คำถามสำคัญคือ หากแพทย์ที่ถูกร้องร้องเรียนหรือถูกฟ้องมาขอคำปรึกษากับอัยการตาม MOU จะส่งผลทำให้อัยการมีความเห็นทางกฎหมายที่เอนเอียงไปกับฝ่ายศัลยแพทย์หรือไม่                     การทำ MOU นี้ของสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องในคดีอาญาหรือร้องเรียน อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง เนื่องจากอาจทำให้อัยการขาดความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงยังอาจขัดต่อกฎหมายขององค์กรอัยการหลายฉบับคือ พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓  จนอาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำปฏิญาณของพนักงานอัยการก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า “..... จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน ....”  อีกทั้งยังอาจขัดต่อ ”ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน พ.ศ. 2562” โดยเฉพาะข้อ 19 ที่กำหนดว่า พนักงานอัยการจะต้องให้คำปรึกษาแก่ประชาชนโดยเสมอภาคกัน  การที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้คำปรึกษาเป็นพิเศษแก่กลุ่มองค์กรแพทย์เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องที่อาจขัดต่อกฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการข้างต้น        เนื้อหาตาม MOU ระบุให้มีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด แพทยสภา ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ โดยการประชุมหารือร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในการให้ความคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์  จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้อัยการที่ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย ขาดความรู้ ความเข้าใจทางการแพทย์ ก็ย่อมอาจรับฟังและเชื่อในข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่แพทย์บางท่านอธิบาย  แต่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ในแต่ละเคสจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน การพิจารณาว่าศัลยแพทย์ท่านใดกระทำผิดตามที่ถูกผู้ป่วยหรือผู้รับบริการร้องเรียนหรือไม่ หากอัยการรับฟังข้อมูลจากศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนแล้วเชื่อว่าเป็นความจริงทั้งหมด ก็อาจส่งผลต่อการพิจารณาสั่งคดีของอัยการได้คือ อัยการอาจสั่งคดีไม่ฟ้องแพทย์รายนั้น ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือ หากพนักงานอัยการในนามองค์กรอัยการได้ให้คำปรึกษาแก่ศัลยแพทย์ท่านนั้นไป หรือให้คำแนะนำแก่แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ไปแล้ว อาจทำให้มีผลผูกพันต่อการสั่งคดีทางอาญาหรือไม่ และอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระ เที่ยงธรรมของพนักงานอัยการผู้สั่งคดี         อนึ่งในความเป็นจริงนั้น ผู้ป่วยที่ฟ้องแพทย์ส่วนใหญ่จะแพ้คดี เพราะเป็นเรื่องยากที่จะร้องขอให้แพทย์ท่านใดมาเป็นพยานเบิกความให้ฝ่ายผู้ป่วยในศาลได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ฟ้องแพทย์ก็มีน้อยมาก เพราะไม่มีเงินว่าจ้างทนายความ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงต้องเสียเวลาขึ้นศาล หรือคิดว่าเป็นเรื่องเคราะห์กรรม อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยบัตรทองหลายรายที่ได้รับการเยียวยาความเสียหาตามกฎหมายแล้วคือ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มักจะไม่ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาลอีก              ผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุดควรทบทวนการทำ MOU ดังกล่าว เพราะอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อองค์กรและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเกิดความคลางแคลงใจในการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการว่า จะมีความเที่ยงธรรมหรือไม่ เพียงใด  การที่อัยการมีความสัมพันธ์หรือมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายแพทย์ที่เป็นคู่ความในคดีอย่างใกล้ชิด เช่น การจัดประชุมหรือจัดสัมมนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง          การร้องเรียนหรือคดีทางการแพทย์ที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากศัลยแพทย์อาจมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามกระแสนิยมในเรื่องการเสริมความงาม  หากผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการดังกล่าว   ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องได้รับคำปรึกษาแนะนำทางกฎหมายจากอัยการอย่างใกล้ชิด แล้วประชาชนจะไปหันพึ่งใคร          การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ ระหว่าง สำนักงานอัยการสูงสุด กับ แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการ องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม จึงควรทบทวนความจำเป็นการทำ MOU ฉบับนี้ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับแพทยสภาที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งสมาชิกขององค์กรอาจเป็นคู่ความในคดีทางการแพทย์ จึงอาจกระทบต่อความเป็นกลาง ความเที่ยงธรรมในการดำเนินคดีของอัยการ  --------------------------------* กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2565

4 เดือนแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง         นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารดิจิทัล ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่าน www.thaipoliceonline.com เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องทุกข์เพิ่มขึ้น และจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนถึง 59,846 เรื่อง โดยทางดีเอสไอสามารถอายัดบัญชีผู้กระทำผิดได้เป็นเงินกว่า 121 ล้านบาท         ในส่วนของคดีที่พบมากที่สุด ได้แก่ คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางด้านการเงิน จำนวน 31,047 เรื่อง แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ดังนี้  การหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ได้แก่ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า จำนวน 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ จำนวน462 เรื่อง ข่าวปลอม จำนวน 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 136 เรื่อง นั่งแคปกระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย         ย้ำอีกครั้งว่าหลังวันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้นั่งรถยนต์เบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2565 กำหนดให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) แต่สำหรับกรณีของผู้ที่นั่งในรถกระบะด้านหลังคนขับ (แคป) นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าจะมีการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำร่างประกาศให้เป็นข้อยกเว้น         รถกระบะนั้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้คาดเข็มขัดเฉพาะแถวหน้าเท่านั้น ส่วนแคปไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ไม่เกิดความแออัดจนเกินไปรวมถึงอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย อย. ยันยังไม่พบการจำหน่ายแป้งฝุ่นเด็กปนเปื้อนแร่ใยหินในไทย         จากที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศหยุดจำหน่ายแป้งเด็กทำจากทัลคัม (Talcum) ทั่วโลก ภายในปี 2566 เหตุจากการฟ้องร้องจากผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากทัลคัมของจอห์นสันนั้น พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง         ด้านเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว และมีการใช้มาเป็นเวลานาน ทัลคัมหากนำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน ในปัจจุบันยังคงเป็นสารที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ได้  ทั้งนี้ ทาง อย. ได้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับแป้งฝุ่น ที่อาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมหลายยี่ห้อ จำนวน 133 ตัวอย่าง (ปี 2563 - 2565) โดยเก็บส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 20 ตัวอย่าง มียี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 6 ตัวอย่าง สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ เจ้าของผลงานบนสื่อออนไลน์แจ้งถอดงานได้ทันทีหากพบการละเมิด         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565  ว่าเพื่อยกระดับของการคุ้มครองงานลิขลิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook Youtube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีหากได้รับแจ้งโดยเจ้าของผลงาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล         ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนยังคงสอดคล้องกับหลักสากลรองรับการเข้าเป็นภาคีการตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค ผลึกกำลังค้านควบรวม ทรู-ดีแทค         วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ. คลินิก  นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ยังมิได้ขออนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)         ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่         นอกจากนั้นยังยื่นข้อเสนอขอให้ทางคณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์รวมถึงความคิดเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับรู้          ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึงส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้านจาก Change.org/TrueDtac

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 คำรับสารภาพ ช่วยลดโทษได้จริงหรือ

        ตามที่มีข่าวคดีขับรถบิ๊กไบค์ชนหมอบนทางม้าลายจนเสียชีวิต และหลังศาลมีคำพิพากษาก็เกิดกระแสของคดีนี้ และตั้งคำถามต่อบทลงโทษที่ผู้กระทำผิดได้รับว่าเหมาะสมหรือไม่ ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนมาก และมีการคาดหวังที่จะเห็นบทลงโทษอย่างเหมาะสมเพื่อป้องปราม และเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ขับขี่รถบนท้องถนนให้รักษากฎระเบียบจราจรและความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนมากขึ้น ซึ่งมีประเด็นว่า ในคดีดังกล่าว ศาลอาญามีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรารวมถึง ฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดย ประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินโดยไม่ปฏิบัติตาม เครื่องหมายบนพื้นทางเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ศาลเห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ทำให้โทษที่จำเลยได้รับจากการกระทำความผิดต่าง ๆ ดังกล่าว เหลือเพียง จำคุก 1 ปี 15 วัน และปรับ 4,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา         นอกจากนี้ศาลยังสั่งริบจักรยานยนต์ของกลางที่ใช้กระทำผิด และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยด้วย         จากคดีดังกล่าว จึงมีเรื่องที่น่าสนใจว่า การรับสารภาพช่วยให้บรรเทาโทษหรือลดโทษได้เสมอไปหรือไม่ ซึ่งในความจริงแล้วการรับสารภาพที่จะเป็นเหตุบรรเทาโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น เป็นบทบัญญัติในการ "ใช้ดุลพินิจของศาล" ไม่ใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเสมอไป ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3299/2547                 "ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่         การรับสารภาพ อาจมีสาเหตุได้หลายประการ และบางอย่างก็อาจไม่เป็นเหตุให้ศาลบรรเทาโทษ เช่นกรณีการรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ยากที่จะอ้างเป็นเหตุบรรเทาโทษ แม้จะกระทำความผิดครั้งแรกก็ตาม         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4211/2546         "จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากถึง 110,000 เม็ดน้ำหนัก 10,496.92 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 1,044.916 กรัม แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มี พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความใหม่แทนก็ตาม แต่เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัม ขึ้นไปกฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย การที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาล เป็นเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ล่อซื้อจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ขณะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้และมาเบิกความยืนยันความผิดของจำเลยที่ 2 ด้วยตนเอง จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ"         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2527        จำเลยไปขอเงินผู้ตายซึ่งเคยเป็นภรรยามีบุตรด้วยกัน แต่เลิกกันแล้ว ผู้ตายให้ไปเอาที่บ้าน จำเลยขู่จะฆ่ามารดาผู้ตายห้ามก็ไม่ฟัง จำเลยตีและเตะจนผู้ตายล้มลงไปในนามีน้ำขัง จำเลยตามไปกดคอจนตายเพราะขาดอากาศหายใจ ดังนี้ เป็นการข่มเหงรังแกเอาแก่สตรีโดยปราศจากเมตตาปรานีและโดยไม่มีเหตุอันน่าเห็นใจแต่อย่างใดกระทำต่อหน้าพยาน ทั้งถูกจับกุมได้ในทันทีหลังเกิดเหตุแม้รับสารภาพ ก็เป็นการจำนนต่อพยานหลักฐาน จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลยได้         จากตัวอย่างคำพิพากษาที่ยกมาข้างต้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อเทียบเคียงกับคดีที่เกิดขึ้น การรับสารภาพของผู้ขับบิ๊กไบค์ดังกล่าว แท้จริงแล้วเป็นการรับสารภาพโดยจะถือว่าให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของศาล หรือเป็นเพราะกระแสสังคมกดดัน และจำนนต่อพยานหลักฐาน ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ ศาลอาจใช้ดุลยพินิจไม่มีเหตุลดโทษก็ได้  โดยคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด มีการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 แจ้งแบบไหน จึงผิดฐานแจ้งความเท็จ

        ในช่วงนี้ ตามที่ปรากฎในหน้าข่าวเกี่ยวกับคดีของดาราท่านหนึ่งที่เสียชีวิตจากการไปล่องเรือ และปรากฎว่าตำรวจได้มีการตั้งข้อหากับผู้ที่อยู่บนเรือเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จ ซึ่งก็มีหลายคนสงสัยว่าแจ้งความเท็จเป็นยังไง มีโทษอย่างไรบ้าง ดังนั้น ในวันนี้ จึงขอหยิบยกประเด็นกฎหมายในเรื่องความผิดเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จมาเล่าสู่กันฟังครับ        ความผิดฐานแจ้งความเท็จ เป็นความผิดทางอาญา โดยมีกำหนดอยู่ใน   ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 172 และ 173  ดังนี้          มาตรา 137 "ผู้ใด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ แก่เจ้าพนักงาน ซึ่ง อาจทำให้ ผู้อื่น หรือ ประชาชน เสียหาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน         มาตรา  172  บัญญัติว่าผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         มาตรา  173  บัญญัติว่าผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน  6,000  บาทน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”         การแจ้งความเท็จนั้น อาจทำได้โดย การบอกกับเจ้าพนักงาน การตอบคำถามเจ้าพนักงาน เช่น ให้การเท็จในฐานะเป็นพยาน  หรือการแจ้งโดยวิธีแสดงหลักฐานก็ได้ ข้อความที่แจ้งต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือในปัจจุบัน หากเป็นเรื่อง 'อนาคต' ไม่ถือเป็นความเท็จ  นอกจากนี้ การแจ้งความเท็จนั้นต้องมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง มิใช่การแสดงความคิดเห็น หรือการคาดคะเนถึงเหตุการณ์ในอนาคตด้วย และผู้แจ้งต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าสิ่งตนเองแจ้งนั้นเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงตามที่แจ้งเพราะหากแจ้งตามที่เข้าใจเช่นนี้ถือว่าผู้แจ้งไม่มีเจตนา         หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้ คงนึกถึงการไปแจ้งความกับตำรวจที่โรงพัก แต่ความจริงการกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จรวมถึงกรณีไปทำนิติกรรมหรือจดทะเบียนกับเจ้าพนักงานต่างๆ เช่น จดทะเบียนโอนที่ดินด้วย         คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2141/2532         จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องต่อ เจ้าพนักงานที่ดินขอรับมรดกที่ดินมีโฉนด แล้วจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำและยืนยันรับรองบัญชีเครือญาติต่อ เจ้าหน้าที่ที่ดินที่สอบสวนที่ดินมรดกว่า ผู้ตายมีทายาทเพียง 4 คน คือ จำเลยทั้งสี่ อันเป็นเท็จ ซึ่ง ความจริงจำเลยทั้งสี่ต่าง ทราบดี อยู่แล้วว่าผู้ตายยังมีบุตรสาวอีก 2 คน เป็นทายาทโดยธรรม เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ตาม คำขอของจำเลยทั้งสี่ทำให้กรมที่ดินและบุตรสาวอีก 2 คน ของผู้ตายเสียหาย จำเลยทั้งสี่ย่อมมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จในวันที่กระทำความผิดนั้นเอง        นอกจากนี้  การที่ไปแจ้งความบอกเล่าตามความเข้าใจของตน แล้วต่อมาตำรวจไม่ได้ไปดำเนินคดีหรือเอาผิดกับผู้ถูกแจ้ง ก็ไม่ถือว่าผู้แจ้งมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะการที่ผู้ถูกแจ้งจะผิดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตำรวจต้องไปดำเนินการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำความผิด        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465/2555          จำเลยแจ้งข้อเท็จจริงโดยเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทกับ ส. มีการชำระเงินค้างชำระจำนวนเท่าใด จนกระทั่งในวันเกิดเหตุจำเลยได้นำรถยนต์ไปพบโจทก์และ ส. เพื่อทำความตกลงกันและ ส. ได้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้  ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความจริงที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยอมรับมิได้มีข้อความใดที่จำเลยกล่าวอ้างอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจึงตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ  เพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะไม่ได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่จำเลยแจ้งก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ และถึงแม้จำเลยจะแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ และส. ในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์  ก็น่าเชื่อว่าเป็นการที่จำเลยกล่าวอ้างไปตามความเข้าใจของตน  ส่วนการกระทำตามที่จำเลยแจ้งจะเป็นความผิดดังกล่าวหรือไม่เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวน  และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2564

ปรับเป็นแสน ห้ามนำ-ใช้ ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานแห่งชาติ        3 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง มีส่วนทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว  ดังนั้นเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกประกาศดังนี้         ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone , Octinoxate ,4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซื้อยาฟ้าทะลายโจรระวังเจอของปลอม         23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม  เนื่องจากมีกรณีผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีการโฆษณาตามเพจเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ายาไม่มีรสชาติขมซึ่งผิดปกติจากฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเป็นลักษณะเด่น จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตได้ จึงเชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. จึงทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสขายยาฟ้าทะลายโจร บนเพจเฟซบุ๊ก และเข้าจับกุม ด้าน อย.ระบุ หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรต้องดูฉลากที่ระบุเลขที่จดแจ้งและระบุสถานที่ผลิตชัดเจน โดยซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ “ขนส่งทางบกขอ” ตำรวจไม่จับใบขับขี่หมดอายุถึงสิ้นปี         ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีประกาศงดให้บริการประชาชนด้านใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิดระบาด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กรมฯ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผ่อนปรนการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง เกี่ยวกับกรณีใบขับขี่หมดอายุ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้พิจารณากฎเกณฑ์ขยายระยะเวลา ดังนี้         1.ใบขับขี่หมดอายุขับรถต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564          2.เพิ่มการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและส่วนบุคคลชั่วคราว สามารถขับรถที่ใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าได้ เช่น รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนตามกฎหมายของการขนส่งทางบก และรถปิกอัพป้ายเหลือง         กรณีที่ประชาชนมีเอกสารคำขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตประจำรถ ได้แก่ เอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ หรือคำขอที่ดำเนินการไม่สำเร็จภายใน 90 วัน กรมการขนส่งทางบกจะอนุโลมให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564  พืชกระท่อมปลดออกจากยาเสพติดแล้ว ประชาชน ซื้อ-ขายได้        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่ตอนนี้พืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ทุกคนสามารถครอบครองซื้อขายได้         และ การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด มีผลให้ต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวกับคดีสารเสพติดอื่นนอกเหนือจากพืชกระท่อม และถือว่าเป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิด หากในกรณีที่ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ยุติปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาล โดยได้รับการพิพากษายกฟ้อง ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จะต้องยกเลิกการเสียค่าปรับทันที ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสคิดค่าบริการปัดเศษวินาทีเป็นนาที         ตามที่มีตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เหตุจากการคิดค่าบริการดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริงนั้น  วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ ให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร ค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ และหากดำเนินคดีแบบสามัญการคำนวณค่าเสียหาย ผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญสะดวกกว่า         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากคำตัดสินนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดีหรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกันในกระบวนการแบบสามัญ เช่น สมาชิก 30-40 คน อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ฟ้องคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนายทำได้จริง ใช้กฎหมายช่วยฟ้อง

        ปัญหาบอส กระทิงแดง ทำให้ย้อนกลับมาคิดเรื่องกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นอกเหนือจากตำรวจและอัยการ ที่ต้องการปฏิรูป ลดขั้นตอน สนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น การฟ้องศาลยังเป็นเรื่องยุ่งยากต้องใช้เงินเยอะ  แถมใช้เวลานาน  คดีผู้บริโภคมีผู้ประกอบการฟ้องคดีมากกว่าผู้บริโภคดำเนินการฟ้องเอง จนถูกข้อครหาว่าช่วยทวงหนี้แทนสถาบันการเงิน ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังเป็นความจริง ถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากฎหมายได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น  นั่นคือ“พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ. 2551” ที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภคเรียกว่า“กฎหมายช่วยฟ้อง”          หัวใจของกฎหมายฉบับนี้คือช่วยให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีได้เองกล่าวคือเมื่อถูกละเมิดสิทธิสามารถเอาหลักฐานความเสียหายที่มีไปศาลฟ้องด้วยวาจาได้ ไม่จำเป็นต้องมีทนายซึ่งจะมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ทำบันทึกรายละเอียดของคำฟ้องจากนั้นให้ผู้บริโภคในฐานะโจทก์ลงลายมือชื่อรับรองซึ่งโจทก์จะมีการยื่นหลักฐานพยานแนบมาพร้อมคำฟ้องด้วย         กฎหมายช่วยฟ้องยังมีข้อดีอีกหลายประการ เช่น ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดี ภาระการพิสูจน์เป็นของผู้ประกอบการโดยกฎหมายเขียนไว้ว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การประกอบการ การออกแบบ ส่วนผสม การให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ         ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองโดยอาจสั่งให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานของคดี ตรวจสอบกระบวนการผลิตตรวจพิสูจน์สินค้าหรือความเสียหายอันเกิดจากการบริโภค         สามารถมีคำพิพากษาเกินคำขอได้ สามารถให้ผู้ถือหุ้นมาร่วมรับผิดชอบ มีคำพิพากษาเชิงลงโทษเพื่อให้หลาบจำไม่กระทำผิดกฎหมายซ้ำหรือยุติการเอาเปรียบผู้บริโภค เท่ากับป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้ การฟ้องคดีไม่ใช่การตั้งรับเยียวยาความเสียหายเพียงอย่างเดียว โดยสามารถสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น ไม่เกิน 2 เท่า หรือ 5 เท่า ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิด 50,000 บาท และมีคำพิพากษาที่ก้าวหน้าจริงจากบทเรียนกรณีการเสียชีวิตของผู้โดยสารรถตู้จันทบุรีทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งเพื่อการลงโทษที่ชัดเจน https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/consumers-news/public-society/4256-611004van.html         ผู้บริโภคสามารถทำได้จริงเมื่อใช้สิทธิกับผู้ประกอบการแล้วไม่สำเร็จ เช่นตัวอย่างฟ้องร้านทองของผู้บริโภคที่รับซื้อทองราคาต่ำกว่าที่สมาคมค้าทองคำกำหนด บริการส่งอาหารไม่เป็นธรรม ซื้อที่นอนออนไลน์แล้วถูกฉ้อโกง สร้างบ้านไม่เสร็จตามสัญญา ใช้บริการรถโดยสารแล้วประสบอุบัติเหตุ จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  สถาบันการเงินเรียกเก็บดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ใช้บริการโรงพยาบาลแล้วราคาแพง หรือได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ         หวังว่าทุกภาคส่วนจะช่วยทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงความเป็นธรรม ฟ้องคดีได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรมมากขึ้นกับผู้บริโภค และที่สำคัญช่วยกันตรวจสอบว่าทำได้จริงมั้ย เพื่อช่วยป้องปรามการละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้อย่างเป็นระบบตามเจตนารมณ์ของกฎหมายช่วยฟ้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ทำสัญญายอมในคดีแพ่งจะมีข้อตกลงยกเว้นให้สิทธิดำเนินคดีอาญาได้ จริงหรือไม่

ช่วงนี้เรายังอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง แม้ว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง แต่เราก็ยังต้องระมัดระวัง เน้นอยู่บ้าน ถ้าออกไปไหนก็ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้งนะครับ  ในฉบับนี้ผมก็อยากจะพูดถึงกฎหมายในเรื่องการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะหลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่า เวลาเราตกลงกันได้เพื่อให้เรื่องยุติและมีหลักฐาน เราก็จะทำสัญญายอมกัน แต่ทราบหรือไม่ว่าผลของการทำสัญญายอม กฎหมายจะถือตามสัญญาที่เกิดขึ้นและมีผลให้หนี้เดิมที่เคยโต้แย้งกันระงับไปด้วยผลของสัญญายอมนะครับ อย่างเช่นในคดีตัวอย่างที่จะยกมาพูดถึงกันในวันนี้         เรื่องมีอยู่ว่า จำเลยจ่ายหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์เป็นเช็ค ต่อมาเช็คเด้งทำให้ขึ้นเงินไม่ได้ โจทก์ก็เอาเรื่องมาฟ้องศาลทั้งคดีแพ่งและอาญา ต่อมาในคดีแพ่ง โจทก์กับจำเลยเขาตกลงกันได้ ก็ทำสัญญายอมกันไว้ และในสัญญายอมมีข้อตกลงว่า สัญญายอมไม่ผูกพันคดีอาญา คือโจทก์ยังมีสิทธิดำเนินคดีอาญาได้ ศาลฎีกาก็มองว่า เมื่อทำสัญญายอมกันแล้ว ทำให้หนี้ตามเช็คที่พิพาทกันหมดไป และต้องรับผิดกันตามสัญญายอมที่เกิดขึ้น มีผลให้คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปด้วย ดังนั้นการทำข้อตกลงที่ให้คดีอาญายังมีอยู่ ก็เป็นการขัดต่อกฎหมายดังกล่าว จึงไม่มีผลใช้บังคับ และข้อตกลงนี้สามารถแยกออกต่างหากได้จากข้อตกลงอื่นในสัญญายอม จึงไม่ทำให้สัญญายอมโมฆะทั้งหมด ยังมีผลใช้บังคับได้ คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 2788/2562         มูลหนี้ซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์ซึ่งจําเลยที่ 2 ชําระหนี้ด้วยเช็คพิพาท ถูกโจทก์ นําไปฟ้องเป็นคดีแพ่ง ซึ่งต่อมาโจทก์และจําเลยที่ 2 ได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ในคดีแพ่งดังกล่าวและศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมทําให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระเงินตามมูลหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์ รถยนต์จากการออกเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอม ยอมความเท่านั้น แม้จําเลยที่ 2 จะไม่ชําระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิ เรียกร้องให้จําเลยที่ 2 รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก จึงต้องถือว่าหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และ อุปกรณ์รถยนต์ที่จําเลยที่ 2 ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้น เป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลในคดีนี้ มีคําพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ส่วนที่ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ระบุไว้ว่า การทําสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่วินิจฉัยอยู่นี้ เป็นทํานองยกเว้น มิให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกันด้วยก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง กฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งข้อตกลง ดังกล่าวสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้ออื่นได้ จึงไม่ทําให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งตกเป็นโมฆะทั้งหมด ทั้งนี้ ตามมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์         จากตัวอย่างคดีนี้ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้นะครับว่า ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความใดๆ ก็ตาม แม้คู่สัญญาจะมีเสรีภาพในการทำสัญญา แต่ก็ต้องวางอยู่บนหลักกฎหมายด้วย ดังนั้นเราต้องตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยก่อนทำสัญญา หากไปกำหนดข้อตกลงใดๆ ก็ตาม ที่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วและมีข้อตกลงนั้นขัดต่อกฎหมาย ก็จะไม่มีผลใช้บังคับเหมือนในคดีนี้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2561

ศาลยกฟ้อง คดีมาสด้าฟ้องลูกค้ากว่า 84 ล้านบาทกรณี บจก.มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) ฟ้องเรียกค่าเสียหายลูกค้ากว่า 84 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2561 เหตุผู้ใช้รถมาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซลที่พบปัญหาการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท โดยบริษัทมาสด้าให้เหตุผลการฟ้องคดีว่า ผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และทำให้ยอดขายของบริษัทลดลงนั้น         เมื่อวันที่ 28 พ.ย.61  ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดี  ชี้ว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบของผู้เสียหาย เป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถมีความบกพร่องจริง และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ซึ่งไม่ถือเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนตามที่บริษัทอ้าง ด้าน นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายที่ถูกฟ้อง ได้กล่าวฝากถึงผู้บริโภคทุกคนให้ตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองมีตามกฎหมาย และเมื่อเกิดความเสียหายก็ต้องได้รับการชดเชยเยียวยา3 โรค 1 ภัยสุขภาพสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2562นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2562 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การพยากรณ์โรคติดต่อ และการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ ดังนี้ โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2562 มี 3 โรค ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด และไข้เลือดออก ซึ่งไข้หวัดใหญ่คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงเกือบ 1.8 แสนราย ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัดส่วนโรคหัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ผู้ปกครองควรพาเด็กเล็กไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่งกรณีโรคไข้เลือดออก ต้องร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 1 เรื่อง คือ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน เนื่องจากทุกปีประเทศไทยจะพบอุบัติเหตุจากการจราจรเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง หากดื่มสุราแล้วไม่ควรขับรถ และง่วงต้องไม่ขับ ‘ออมสิน’ ชะลอฟ้อง - งดบังคับคดี ตุ๊กตุ๊ก โครงการสามล้อเอื้ออาทรเมื่อวันที่ 27 พ.ย.61 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อสามล้อ ในโครงการสามล้อเอื้ออาทร กว่า 150 ราย เดินทางไปยังธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้ถอนฟ้องคดีผู้เสียหายทุกรายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกัน และขอให้งดการบังคับคดีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการสินเชื่อดังกล่าวนายประเสริฐ กองจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานบริหารหนี้และกฎหมาย กลุ่มปฏิบัติงาน ได้ตอบรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้เสียหาย โดยจะยื่นขอให้ศาลจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และงดการบังคับคดี และได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการสามล้อเอื้ออาทร ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดยได้นัดให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มผู้เสียหาย มารับฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค.6213 เม.ย. 62 รพ.เอกชนยอมกางบัญชี "ราคายา-ค่ารักษา" ขึ้นเว็บไซต์          กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนกว่า 100 แห่งเตรียมเผยแพร่ราคายา-ค่ารักษาบนเว็บไซต์ รพ.และเว็บไซต์กลาง ในวันที่ 13 เม.ย. 2562 เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจใช้บริการ พร้อมชี้ว่า รพ.เอกชนเผยแพร่ข้อมูลเรื่องราคาได้ แต่คงบังคับให้ลดราคาไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน สำหรับข้อมูลที่นำมาเผยแพร่จะต้องง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน ไม่ใช่เป็นข้อความทางเทคนิค ซึ่งยาที่จะประกาศราคานั้น เบื้องต้น จะมีประมาณ 1,000 รายการ จากทั้งหมดกว่า 5,000 รายการ หวังเพื่อให้ประชาชนรับทราบราคายาและค่ารักษาและเกิดการเปรียบเทียบ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่กล้าคิดราคายาและค่ารักษาที่แพงเกินความเหมาะสม ยื่นฟ้อง ไทยพาณิชย์ เหตุคนร้ายโจรกรรมเงินฝากผ่านแอพฯ กว่า 2 ล้านบาทเมื่อ 15 พ.ย.61 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. และ น.ส.ธนิตา จิราพณิช อาชีพนักแสดงอิสระ ซึ่งเป็นผู้เสียหายสูญเงินกว่า 2 ล้านบาท จากการถูกโจรกรรมข้อมูลและเงินในบัญชีเงินฝาก เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง รัชดาฯ โดยผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน (จำเลยที่ 1) และ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (จำเลยที่ 2)        กรณีนี้ คนร้ายได้หลอกลวงเอาข้อมูลของผู้เสียหาย ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เพื่อใช้สมัครอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งบนมือถือของคนร้าย และโจรกรรมเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนเปิด SCBFP กองทุนเปิด WINR และกองทุนตราสารหนี้ที่ผู้เสียหายเปิดบัญชีไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท หลักทรัพย์จัดการรองทุน ไทยพาณิชย์ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 วัน ตั้งแต่ 27 ธ.ค.60 - 4 ม.ค.61 รวมกว่า 50 ครั้ง นับรวมความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเมื่อผู้เสียหายทราบเรื่องก็ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาล โดย นายเฉลิมพงษ์ ให้ความเห็นว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายและประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ให้เป็นไปอย่างครบถ้วนถูกต้อง ทั้งการตรวจสอบสิทธิในการเข้าถึงระบบสารสนเทศ การติดตามแจ้งเตือน การแจ้งข้อมูลการทำธุรกรรมไม่มีมาตรฐาน จนทำให้คนร้ายสามารถทำการโจรกรรมเงินในบัญชีและกองทุนของผู้เสียหายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 2

บทเรียนการทำคดีผู้บริโภคก่อนมีกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่มทุกวันนี้ปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแบบปัจเจกคือ เกิดกับคนๆ เดียว แต่ปัจจุบันมีปัญหาหลายกรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภคหลายคนในเวลาเดียวกัน เช่น กรณี สถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าวปิดตัวโดยไม่แจ้งลูกค้า หรือ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร หรือ กรณีปัญหาสาธารณูปโภคบ้านจัดสรร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว กระบวนการใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายของผู้บริโภค จะมีความแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละบุคคลคือ ต้องแยกกันฟ้อง บางกรณีฟ้องคนละศาล ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งของคำพิพากษา หรือการไม่สะดวกต่อกระบวนการใช้สิทธิดังกล่าว ขอยกกรณีศึกษา จากการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ผ่านมาดังต่อไปนี้ กรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าวมีผู้บริโภคมากกว่า 600 ราย มาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าได้รับความเสียหายจากการปิดกิจการของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฯ  โดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า เป็นเหตุให้สมาชิกจำนวนมากได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้บริการได้ตามสัญญา ทั้งที่ยังมีอายุสัญญาใช้บริการอยู่  และได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วอีกทั้งยังพบว่า กรณีนี้มีการกระทำผิดหลายอย่าง เช่น การฝ่าฝืนประกาศ สคบ. เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา โดยกำหนดห้ามทำสัญญาเป็นสมัครสมาชิกเกิน 1 ปี แต่ทางแคลิฟอร์เนียเปิดรับสมัครสมาชิกตลอดชีพ เพื่อระดมเงินค่าสมัครของผู้ใช้บริการ ก่อนที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศ และทยอยปิดกิจการลงจนหมดสิ้น ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการทั่วประเทศกว่า 1 แสนราย ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกรณีรถยนต์โดยสารประจำทางบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด วิ่งระหว่างเส้นทาง อ.แม่สะเรียง – จ.เชียงใหม่ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำระหว่างทาง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 40 คน  ผู้เสียหายแต่ละรายต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแยกเป็นรายคดี เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย  ซึ่งผู้เสียหายที่เจ็บมากและเจ็บน้อย ต่างก็ต้องแยกฟ้องคดีส่วนของตนเอง ในทางปฏิบัติอาจฟ้องหลายๆ คนรวมกันได้ แต่มีความยุ่งยากค่อนข้างสูงกรณีรถยนต์ชำรุดบกพร่อง (เชฟโรเล็ต)  จากกรณีความชำรุดบกพร่องของสินค้ารถยนต์เชฟโรเลต ที่พบปัญหาในระบบส่งกำลัง ระบบเกียร์  ของรถยนต์รุ่นครูซ และแคปติว่า ของรถยนต์เชฟโรเลต โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ซื้อรถจนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทก็ไม่สามารถแก้ไขให้รถมีสภาพปกติเหมาะกับการใช้งานได้แต่เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงการเยียวยาได้ ผู้เสียหายทั้ง 7 ราย จึงตัดสินใจฟ้องบริษัท บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ,  บริษัทผู้ขายรถยนต์ (ดีลเลอร์) และบริษัทเช่าซื้อ เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแพ่ง โดยฟ้องแยกเป็น 7 คดี เรียกค่าเสียหาย ทั้งนี้ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง 4 ประเด็น คือ1.ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด2.ขอให้บริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้นเพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้งานปกติของผู้บริโภค3.ขอให้ศาลห้ามบริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้นั้นห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย4.ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทวันที่ 9 ตุลาคม 2558  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ 6 คดี ชนะคดีโดยศาลพิจารณาตามหน้าที่ของบริษัทที่ต้องชำระคืน ทั้งเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนชำระค่างวดไปแล้ว นั้นก็คือผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทเชฟโรเล็ต คืนเงินดาวน์ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนไปทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีนกว่าจะชำระหมด  และให้โจทก์ชำระเงินค่าใช้รถยนต์ให้กับบริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์วันละ 100 บาท ตั้งแต่วันรับรถจนกว่าจะคืนรถ  แต่อีกคดี ปรากฏว่า แม้ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ กลับพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างโจทก์ขออนุญาตฎีกา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากการฟ้องคดีรถยนต์ดังกล่าวนี้  แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นการฟ้องคดีที่ผู้เสียหายมีความเสียหายแบบเดียวกัน มีจำเลยคนเดียวกัน ในปัญหาข้อเท็จจริงแบบเดียวกัน แต่ก็ศาลก็อาจมีผลคำพิพากษาที่แตกต่างกันได้   จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาของผู้บริโภคหลายครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะโดยสภาพของการทำธุรกิจ ย่อมเข้าถึงผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจากการบริโภคสินค้าและบริการ จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมาก บางครั้งการร้องเรียนหรือฟ้องคดีเพื่อให้ได้รับการชดเชยเยียวยา อาจไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน และผู้บริโภคที่เสียหายแต่ละรายก็ไม่มีกำลังทรัพย์หรือความรู้ที่เท่าทันมากพอที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง จึงจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของผู้เสียหายเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง มีตัวแทนกลุ่มในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประโยชน์ของคนจำนวนมากจากความเสียหายเดียวกัน[1] จุฬารัตน์  ยะปะนัน. หนังสือจุลนิติ พ.ค. - มิ.ย. 53[2] เกรียงศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์. สรุปสาระสำคัญการดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “บทเรียน 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 1

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action คืออะไร        การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action เป็นหนึ่งในวิธีพิจารณาความ เพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่กลุ่มผู้เสียหายที่มีจำนวนหลายคน  ให้ทั่วถึง รวดเร็ว เป็นธรรม  สร้างภาระและค่าใช้จ่ายแก่ภาครัฐน้อยที่สุด  โดยมีรูปแบบการดำเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการทำคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย หลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดี และป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทย ได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา[1]คดีอะไรบ้างที่ฟ้องคดีแบบกลุ่มได้   การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะใช้ในกรณีที่มีผู้ถูกโต้แย้งสิทธิเป็นจำนวนมาก เช่น ในคดีคุ้มครองผู้บริโภคที่มีผู้เสียหายจำนวนมากจากการใช้สินค้าและบริการ ซึ่งเกิดจากผู้ประกอบการรายเดียวกัน หรือในคดีละเมิดที่มี ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำเป็นบุคคลจำนวนมาก   ซึ่งบ่อยครั้งความเสียหาย อาจเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ ซึ่งแต่ละครั้ง ที่มีเหตุละเมิดดังกล่าวจะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่พบปัญหามากขึ้นในปัจจุบัน เพราะการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละครั้งนั้น จะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันนอกจากนี้ ยังรวมถึง คดีอื่นๆ เช่น คดีแรงงาน คดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์   การแข่งขันทางการค้า  เป็นต้น[i] ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้   ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้  คือ ศาลยุติธรรมทุกศาล(ยกเว้น ศาลแขวง) ทั้งศาลแพ่ง  ศาลจังหวัด  ศาลภาษีอากร  ศาลแรงงาน  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการ ค้าระหว่างประเทศ  เป็นต้น(แต่ไม่รวมไปถึงศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ) หลักการสำคัญของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกันจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์  เท่านั้นที่จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี·โจทก์และทนายความโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยศาลจะต้องคัดเลือกผู้ที่จะเป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์อย่างละเอียดรอบคอบ·การเริ่มดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน  เมื่อเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายและตามข้อกำหนดที่จะออกตามมาที่จะสามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ทุกประการแล้ว  การดำเนินคดีนั้นๆ ในศาลจะไม่เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มโดยอัตโนมัติ  แต่โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อศาลเสียก่อน  และเมื่อศาลอนุญาตแล้ว  จึงจะให้ถือว่าการดำเนินคดีในคดีนั้นเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม การยื่นคำร้องฝ่ายโจทก์จะต้องเป็นฝ่ายยื่นคำร้องไปพร้อมกับการยื่นคำฟ้อง·การออกจากลุ่ม โดยสมาชิกกลุ่มมีสิทธิแสดงเจตนาต่อศาลในการขอออกจากการเป็นสมาชิก และไม่ประสงค์จะผูกพันในคำพิพากษาคดีแบบกลุ่ม เพื่อไปฟ้องคดีของตนเองได้·ผลของคำพิพากษาสมควรผูกพันบุคคลอื่นที่ไม่ได้เข้ามาในคดีโดยวิธีการแจ้งหรือประกาศเพื่อให้สมาชิกกลุ่มทราบถึงความเคลื่อนไหวของคดีและทราบถึงสิทธิของตน·โจทก์ ต้องมีความสามารถทำแทนคนอื่นได้ กล่าวคือ โจทก์จะต้องทำหน้าที่แทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมดซึ่งอาจมีจำนวนมากโดยที่ไม่เคยพบปะกันมาก่อน และการทำหน้าที่ของโจทก์จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ โจทก์จึงเป็นตัวละครที่มีความสำคัญมาก จึงมีความจำเป็นที่ศาลจะต้องควบคุมตรวจสอบผู้ที่เป็นผู้แทนกลุ่มโดยเคร่งครัด ·กลุ่มบุคคล แม้ความเสียหายต่างกันก็ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้  หมายถึง บุคคลที่มีสิทธิอย่างเดียวกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงและกฎหมายอย่างเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าลักษณะของความเสียหายจะแตกต่างกันก็ตาม เช่น นางสาวแดง ฟ้า และส้ม ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง จากห้างสรรพสินค้าคนละที่ คนละจังหวัดกันไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ปรากฎว่าพอทุกคนใช้เครื่องสำอางเกิดอาการเป็นผื่นแดง ผิวลอกลาย ต้องไปหาหมอเสียค่ารักษาพยาบาล กรณีเช่นนี้ทั้งสามคนถือว่าเป็นกลุ่มบุคคล เมื่อมาร้องเรียนและรวมกลุ่มกัน ก็สามารถตกลงกันให้ใครคนหนึ่งเป็นตัวแทน ฟ้องร้องและดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทเครื่องสำอางได้ โดยคนที่เหลือก็เป็นสมาชิกกลุ่ม แม้แต่ละคนจะมีความเสียหายต่างกันก็ตาม ·ทนายความฝ่ายโจทก์ ต้องรับผิดชอบสูงจึงมีสิทธิได้รับเงินรางวัล หลังจากที่ศาลอนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ทนายความของโจทก์จะทำหน้าที่เป็นทนายความของกลุ่มด้วย ซึ่งบทบาทของทนายความฝ่ายโจทก์นี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้ตัวโจทก์ เพราะทนายความจะเป็นผู้รวบรวมผู้ที่ได้รับความเสียหาย รวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งจ่ายเงินทดรองในการดำเนินคดีทั้งหมดไปก่อน เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแสวงหาพยานหลักฐานและค่าใช้จ่ายในการติดต่อประสานงานสมาชิกกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดความสามารถของทนายความฝ่ายโจทก์ไว้ว่า ต้องสามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม และต้องไม่มีผลประโยชน์ขัดหรือแย้งกับสมาชิกกลุ่ม หากปรากฏว่าทนายความไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม หรือเมื่อทนายความถอนตัว สมาชิกกลุ่มสามารถร้องขอต่อศาลให้มีการเปลี่ยนตัวทนายความฝ่ายโจทก์ได้  ทนายความของกลุ่มจึงมีภาระหน้าที่สูงกว่าทนายความคดีทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ให้คนเป็นจำนวนมากและต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในการออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปก่อน ดังนั้น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและแรงจูงใจ กฎหมายจึงกำหนดให้ทนายความกลุ่มมีสิทธิได้รับเงินรางวัลทนายความ ศาลจะเป็นผู้กำหนดเงินรางวัลทนายความให้เมื่อการดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว โดยพิจารณาจากความยากง่ายของคดี และระยะเวลาการทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินแบบกลุ่ม  แต่ไม่เกินจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนค่าเสียหายที่สมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ โดยจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินรางวัลให้ทนายความ·ศาล ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงแบบเชิงรุก ในระบบวิธีพิจารณาปกติ ศาลจะดำเนินกระบวนการพิจารณาด้วยระบบกล่าวหา คือ โจทก์และจำเลยนำเสนอพยานหลักฐานของตนต่อศาล ศาลมีหน้าที่ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและตัดสินไปตามที่ปรากฏ แต่ในการพิจารณาคดีแบบกลุ่มนั้น ศาลจะมีบทบาทในเชิงรุกโดยใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณา กล่าวคือ ศาลมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เอง ไม่ผูกพันอยู่เฉพาะแต่พยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอเท่านั้น  โดยมีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มทำหน้าที่ช่วยเหลือศาล·เมื่อมีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มแล้ว หากศาลเห็นว่าสมาชิกในกลุ่มได้รับความเสียหายต่างกัน ศาลก็สามารถแบ่งสมาชิกในกลุ่มออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ เพื่อความสะดวกในการพิสูจน์เรื่องจำนวนค่าเสียหาย[2] สิทธิของสมาชิกกลุ่ม (ที่ไม่ได้เป็นโจทก์ผู้เริ่มคดี)       มีสิทธิดังนี้ 1. เข้าฟังการพิจารณาคดี2. ร้องขอต่อศาลถ้าเห็นว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติหรือส่วนได้เสียในคดี3. ขอตรวจเอกสารหรือขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนความ4. จัดหาทนายคนใหม่แทนทนายที่ขอถอนตัวหรือที่ศาลสั่งเปลี่ยนทนาย5. ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์6. คัดค้านสมาชิกอื่นในกลุ่มที่ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์7. คัดค้านการที่โจทก์ขอถอนฟ้อง8. คัดค้านการตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ9. คัดค้านการตกลงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด10.ตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกอื่น11. แต่งตั้งทนายความให้เป็นผู้ดำเนินการแทนตนตาม 1 ถึง 10 ข้างต้นได้ประโยชน์ของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี·เป็นมาตรการที่เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น·ทำให้การดำเนินคดีในปัญหาอย่างเดียวกันได้รับผลเป็นอย่างเดียวกันโดยจำเลยจะไม่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาที่แตกต่างกัน·ทำให้ผู้ที่จะฝ่าฝืนกฎหมายเกิดความยับยั้งชั่งใจในการที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย·เป็นมาตรการที่ได้รับความคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ที่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยให้ได้รับการเยียวยาแก้ไขตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่มูลนิธิฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มนับตั้งแต่มีกฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่มประกาศใช้ในประเทศไทยในปี 2558  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงมีการสนับสนุนผู้บริโภคให้เกิดการรวมกลุ่ม และฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มในหลายกรณี ที่สำคัญ ดังนี้ 1.ฟ้องคดีสินค้าไม่ปลอดภัย กรณีเครื่องสำอางเมื่อวันที่   18  กันยายน  2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเป็นคดีผู้บริโภค และขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551  คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่ายเครื่องสำอางใช้ชื่อการค้าว่า “เมย์โรว”  โดยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง คือ เพิร์ลลี่ อินแทนซีพ ไวท์ โลชั่น เป็นเครื่องสำอางประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค ตัวแทนจำหน่าย และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อถือเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ของจำเลยว่า “ผิวขาวสวย ปัง ปัง ปัง”  “ขาวสุดพลัง ขาวได้มง อยากขาว ต้องลอง” และอื่นๆจากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ และผู้บริโภครายอื่นอีกหลายรายเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นจริงตามที่โฆษณา ปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงซื้อสินค้าของจำเลยมาใช้กับตนตามที่จำเลยโฆษณา แต่เมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายของจำเลยเป็นประจำทุกวัน ปรากฏว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา อันเกิดจากการแพ้สารเคมีที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอางของจำเลย เมื่อไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แพทย์วินิจฉัยว่าสาเหตุที่ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม สารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้  ผลการดำเนินการ  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ยกคำร้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และมีการประกาศแจ้งการดำเนินคดีแบบกลุ่มลงหนังสือพิมพ์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่าง นัดพร้อมและนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว2.ฟ้องคดีสินค้าโฆษณาเกินความเป็นจริงเมื่อวันที่   30  มิถุนายน 2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัท เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน  ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืน และเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา   คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่าย “กระทะโคเรียคิง (KOREA KING)” โดยจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าของจำเลยทางสื่อโฆษณาทางช่องโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟสบุ๊ค และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ผู้บริโภคทั่วไปเกิดความเชื่อถือว่าผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นกระทะไม่ใช้น้ำมัน ทำอาหารไม่ติดกระทะ ราคาถูก เหมาะสำหรับทำอาหารคลีน หรืออาหารเพื่อสุขภาพ เป็นกระทะที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย  จากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสอง และผู้บริโภครายอื่นๆ อีกจำนวนมากหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยมีราคาแพง แต่จำเลยจัดรายการส่งเสริมการขาย(PROMOTION) จำหน่ายในราคาพิเศษ และสินค้ามีคุณสมบัติเป็นจริงตามที่โฆษณา รวมทั้งปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงสำคัญผิดในสาระสำคัญของราคา และคุณสมบัติของสินค้าจำเลย จึงซื้อสินค้าจำเลยมาใช้กับตนและครอบครัวตามที่จำเลยโฆษณา  เมื่อโจทก์ทั้งสองและผู้บริโภครายอื่นๆ ได้ใช้สินค้าของจำเลยตามวิธีการที่จำเลยโฆษณาไว้ ผลปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่จำเลยโฆษณาไว้ เช่น กระทะดำไหม้  อาหารติดกระทะ ไม่ทนความร้อน ฯลฯ           ผลการดำเนินการ  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างไต่สวนคำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.ฟ้องคดีบริษัทคิดค่าโทรศัพท์เกินจริง   เมื่อวันที่   15 พฤษภาคม  2561   ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากการที่ผู้เสียหายถูกคิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาทีเป็นนาที ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการคิดค่าบริการเกินจริงเป็นวงกว้าง  มีการแยกฟ้องเป็นสามคดี ตามค่ายมือถือ คือ เอไอเอส ดีแทคและทรู  เรียกค่าเสียหายรวมไม่น้อยกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้จ่ายให้ชดเชยและเยียวยาแก่ผู้ใช้มือถือทุกคนกว่า 90 ล้านเลขหมายในประเทศไทย กำหนดโจทก์ผู้ฟ้องคดี  เป็นแกนนำคดีละ 2 คน  แบ่งตามผู้ใช้บริการแบบรายเดือนกับเติมเงิน  โดยแบ่งเป็นสองศาล คือ คดีดีแทค ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.527/2561 ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในวันที่  18  มิถุนายน  2561 เวลา 9.00 น. ส่วนเอไอเอสและทรู  ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง (รัชดา) โดยเอไอเอสเป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2023/2561  และทรู เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2031/2561  และมีการแถลงข่าวต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561  ณ สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผลการดำเนินการ   โดยทั้งสามคดีอยู่ระหว่างศาลนัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] 

อ่านเพิ่มเติม >

อานิสงส์เมจิกสกิน ศาลอุทธรณ์ ภาค 9 รับคดีฟ้อง ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีแบบกลุ่ม

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.61 ศาลอุทธรณ์ ภาค 9 อนุญาตให้คดีเครื่องสำอางผิดกฎหมายเพิร์ลลี่เป็นคดีแบบกลุ่ม ซึ่งนับเป็นคดีผู้บริโภคคดีแรก เหตุเพื่อเป็นการช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดผู้ผลิตที่ทำผิดกฎหมายซ้ำซาก และอาจทำให้ผลของคดีไม่เป็นไปทางเดียวกัน หากปล่อยผู้บริโภคให้ดำเนินคดีกันเอง           นางสาวศรินธร อ๋องสมหวัง ทนายความผู้รับผิดชอบคดี ให้ข้อมูลว่า กระบวนการฟ้องคดีแบบกลุ่ม กรณีโลชั่นทาผิวขาวเพิร์ลลี่ นั้น เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 แต่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้ว มีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้ง 4 ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยให้เหตุผลว่าคำฟ้องคดีนั้นไม่ปรากฎรายละเอียดความเสียหายของสมาชิกแต่ละคน และมีข้อเท็จจริงคนละอย่าง รวมถึงความเสียหายที่ไม่เท่ากัน หากจะพิจารณาแบบกลุ่มอาจมีความยุ่งยาก           โจทก์ทั้ง 4 จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ภาค 9 และเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ ภาค9 ได้มีคำสั่งรับคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม และการดำเนินคดีแบบกลุ่มกฎหมายก็กำหนดให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยกำกับดูแล ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมประสิทธิภาพการกำกับดูแลของภาครัฐ ดังนั้นการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามามีส่วนร่วมในคดีนี้ จึงเป็นการช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดผู้ผลิตที่ทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นอีกซ้ำซาก รวมถึงการปล่อยผู้บริโภคให้ดำเนินคดีกันเอง อาจทำให้ผลของคดีแตกต่างกันออกไป ไม่เป็นไปทางเดียวกัน            “ในด้านความเสียหาย หากไม่เยอะ ผู้บริโภคก็อาจตัดสินใจไม่ฟ้อง ส่วนด้านผู้ประกอบการอาจคิดว่าไม่มีใครฟ้องมาฟ้อง ก็จะผลิตสินค้าผิดกฎหมายแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งหากรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ก็จะเป็นการแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวม โดยต้องขอชื่นชมผู้เสียหายที่ร่วมฟ้องคดี ที่ให้ความร่วมมือ มีความรับผิดชอบ และมีความเป็นผู้นำ” นางสาวศรินธร กล่าว           นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอว่า จากผลของคำตัดสินดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรออกประกาศ แล้วเอาสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคออกจากตลาด รวมถึงมีข้อเสนอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประกาศแจ้งเตือนผู้บริโภคทันที กรณีเครื่องสำอางผิดกฎหมายเพิร์ลลี่ทันที เพื่อยกระดับการคุ้มครองแบบเป็นระบบ และฝากถึงผู้เสียหายจากเครื่องสำอางดังกล่าว ควรเข้าสู่กระบวนการเพื่อที่จะได้รับการชดเชยเยียวยากันถ้วนหน้า แม้ไม่ได้เป็นสมาชิกผู้ฟ้องคดีก็ตาม           ขณะนี้ทางผู้ฟ้องคดี ได้ขอยื่นความคุ้มครองชั่วคราวว่า โลชั่นผิวขาวดังกล่าวเป็นสินค้าอันตราย เพื่อให้เก็บออกจากท้องตลาด ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้งใน เดือน ก.ค.61           ทั้งนี้ ผู้เสียหายจากกรณีโลชั่วผิวขาวเพิร์ลลี่ สามารถติดต่อมาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อร่วมลงชื่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 248 3737 หรือที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ สมาคมผู้บริโภคสงขลา (https:/www.facebook.com/consumersongkhla/) ข่าวที่เกี่ยวข้อง- ทุกคนมีสิทธิ ฉบับที่ 202 ขาวอันตราย- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมผู้เสียหายจากครีมผิวขาว‘เพิร์ลลี่’ ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 40 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ทนายความทิ้งคดี

ผู้บริโภคหลายคนที่ประสบปัญหาด้านคดีความ มักว่าจ้างทนายความให้มาช่วยแก้ต่างให้ ซึ่งต่อให้ไม่ชนะคดี แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ ความเอาใจใส่ด้านคดีความหรือการทุ่มเทให้กับคดีอย่างเต็มที่ และหากเราพบภายหลังว่าทนายความมีการทิ้งคดี หรือหนีหายจากการทำคดีไปดื้อๆ จะสามารถจัดการปัญหาได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูเหตุการณ์นี้กันคุณชูชาติพบว่า มีหลายคนเข้ามาบุกรุกที่ดินของตัวเอง จึงไปว่าจ้างทนายความมาช่วยฟ้องร้องให้ ซึ่งภายหลังส่งเรื่องไปที่ศาล ทนายความก็นัดให้เขาเตรียมตัวขึ้นศาลเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตามหลังจากนัดแนะวันเวลากันเรียบร้อย ทนายความก็กลับมาบอกว่าศาลเลื่อนนัดและเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้งคุณชูชาติจึงลองเดินทางไปที่ศาลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตนเองและพบว่า ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีของเขาไปนานแล้ว เนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองคนที่เข้ามาบุกรุกให้เป็นคดีเดียวกัน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะแยกฟ้องจำเลยเข้ามาใหม่ แต่ทนายกลับไม่ได้ยื่นฟ้องเข้ามาใหม่แต่อย่างใด ส่งผลให้คดีขาดอายุความในที่สุดเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณชูชาติจึงรู้สึกว่าถูกทิ้งคดี และส่งเรื่องร้องเรียนปัญหาไปยังสภาทนายความ ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า ทนายความคนดังกล่าวไม่ได้มีสถานภาพเป็นทนายความแล้ว เนื่องจากใบอนุญาตการประกอบอาชีพของเขาได้หมดอายุไปแล้ว และยังไม่มีการยื่นคำขอต่อใบอนุญาตแต่ประการใด อย่างไรก็ตามคุณชูชาติกลับพบชื่อของทนายดังกล่าว ในเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) ของสภาทนายความประจำจังหวัด ซึ่งเป็นการโพสต์เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในสภา ส่งผลให้คุณชูชาติส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบปัญหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 กำหนดให้ทนายความต้องมีมรรยาทต่อตัวความ ซึ่งไม่ควรกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้  เพราะอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ คือ 1.จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี 2. จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน  หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ ซึ่งผู้ร้องสามารถร้องเรียนปัญหาไปที่สภาทนายความเพื่อให้มีการตรวจสอบได้ นอกจากนี้หากพบว่าทอดทิ้งคดีจริงและทำให้ผู้ร้องเสียหาย อาจเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ที่กำหนดว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ผู้นั้นจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับในกรณีนี้ศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังสภาทนายความอีกครั้ง ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

รวมพลังฟ้องคดีแบบกลุ่ม ทำได้จริง!

“กฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม” หรือ “Class Action” เป็นกฎหมายการฟ้องคดีฉบับใหม่ ที่เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2558  จุดเด่นของกฎหมายคือ การฟ้องคดีเพียงครั้งเดียว ด้วยโจทก์คนเดียว แต่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้าง ช่วยให้ผู้เสียหายเกิดการรวมตัวกัน นอกจากจะช่วยลดภาระและขั้นตอนในการฟ้องคดีต่อกลุ่มผู้เสียหาย แล้วยังช่วยให้ศาลสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญการฟ้องคดีแบบกลุ่มยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคในการรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองที่ชัดเจนที่สุดวิธีหนึ่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิของตนเองอย่างเต็มที่ และเมื่อมีคดีระดับสาธารณะเกิดขึ้น ทางมูลนิธิฯ จึงเริ่มทดสอบกระบวนการฟ้องร้องแบบกลุ่ม โดยประเดิมด้วยคดีกระทะยี่ห้อโคเรียคิง...อันเป็นข่าวโด่งดังในระยะเวลาที่ผ่านมา และคราวนี้ฉลาดซื้อจะพาท่านไปติดตามความในใจของผู้บริโภค 4 ท่าน จากผู้ร่วมฟ้องทั้งสิ้น 74 ราย ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจร่วมฟ้องในคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.60 ศาลแพ่ง (ถนนรัชดาภิเษก) นัดไต่สวนคำร้องคดีแบบกลุ่ม กรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับผู้เสียหาย 74 ราย ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม กับ บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด เหตุจำหน่ายกระทะ (กระทะยี่ห้อโคเรียคิง รุ่นไดมอนด์ (Diamond Series) และรุ่นโกลด์ (Gold Series)) ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามโฆษณา เรียกค่าเสียหายกว่า 1,650 ล้านบาท โดยทั้งสองฝ่ายขอเลื่อนนัดไต่สวนคดี พร้อมนัดเปิดเวทีเจรจาในวันที่ 13 พย.2560 ที่จะถึงนี้คุณนลินทิพย์ ศุภกุลกิตติวัฒน์ “จำได้จานแรกที่ทำคือผัดผักบุ้ง ผัดออกมาเหมือนต้นหญ้าเลย แห้งเหี่ยวกินไม่ได้เลย ก็ไม่มีความสุขหรอกแต่ทนๆ ใช้”คุณนลินทิพย์ เล่าว่า ตัวเองป่วยเป็นมะเร็งต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ จริงๆ ก่อนที่จะไปร้องเรียนที่มูลนิธิฯ ได้ติดต่อมาทางบริษัทโคเรียคิง บอกปัญหากับเขาไปแล้วแต่เขาไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีกลับมา แล้วพอดีกับได้ยินข่าวว่าทางมูลนิธิฯ จะมีการฟ้องรวมกลุ่มจึงตัดสินใจเข้าร่วมฟ้องร้องด้วยเพราะตัวเองตอนที่เห็นโฆษณาทางทีวี เห็นมาตั้งนานก็ยังไม่คิดตัดสินใจซื้อเพราะว่ายังไม่ค่อยเชื่อมั่น พอดูไปเรื่อยๆ มันเหมือนดูดซึมตัวเรา ด้วยความที่แต่เดิมเราใช้กระทะสแตนเลสก็รู้สึกว่ามันก็ล้างยากนะ ถ้าเราได้กระทะอย่างดี ล้างง่ายๆ มันน่าจะสะดวกกับเรา และด้วยความเชื่อมั่นในตัวคุณวู้ดดี้ ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ เห็นเขาโฆษณากระทะเพื่อสุขภาพ ทำให้อยากซื้อสักใบหนึ่งแล้วราคาที่เขาว่า คิดแล้วมันก็รู้สึกไม่แพง มันคุ้มค่าก็เลยตัดสินใจซื้อ แต่พอซื้อมาแล้วในคู่มือบอกให้ใช้ไฟอย่างอ่อน ทีนี้ก็ทำอาหารไม่ได้เลย ส่วนใหญ่ไม่ได้ทอดเพราะว่าป่วย ส่วนใหญ่จะผัดแล้วใส่น้ำมันนิดหนึ่งอยู่แล้ว แต่ใช้เวลาผัดนานมากเลยเพราะเขาบอกให้ใช้ไฟอ่อน แล้วผัดเมื่อไรจะสุก จำได้จานแรกที่ทำคือผัดผักบุ้ง ผัดออกมาเหมือนต้นหญ้าเลย แห้งเหี่ยวกินไม่ได้เลย ก็ไม่มีความสุขหรอกแต่ทนๆ ใช้ จริงๆ คือเสียดายเพราะซื้อมาแล้วมันต้องใช้ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช้ดีกว่ายอมเสียเงินแล้วก็เอาเก็บใส่กล่องได้อ่านคู่มือก่อนใช้ไหมก็อ่านคู่มือก่อน ทำตามขั้นตอนที่เขาบอกแล้วค่อยใช้ พอเจอปัญหาที่ว่าเมื่อเราล้างกระทะแล้ว ล้างด้วยฟองน้ำกับน้ำยาล้างจาน น้ำที่ล้างมันออกมาเป็นสีเทาๆ ดำๆ ก็นึกว่าเป็นครั้งแรกของการใช้แต่พอครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ทุกวันก็เป็นเหมือนกัน เราก็คิดว่าทำไมมันไม่หายสักที เลยรู้สึกกลัวว่าคงจะเกิดจากผิวกระทะมากกว่า แทนที่จะเป็นการดูแลสุขภาพกลายเป็นต้องกินสารพวกนี้เข้าไป ตายผ่อนส่งหรือเปล่าก็ไม่รู้ จึงหยุดการใช้ใช้ไปประมาณ 10 กว่าครั้งได้ โทรไปถามเขาว่าขอใช้ไฟแรงกว่านี้ได้ไหมเพราะว่าไฟมันอ่อนเกินไปอาหารเราไม่สามารถทำได้นะ เขาก็ตอบมาว่า ถ้าใช้เตาแก๊สให้ใช้ไฟดวงในเพิ่มอีกนิดแล้วกัน ก็ลองเพิ่มแล้วเวลาทำอาหาร ตอนนั้นก็ลองทำราดหน้า เวลาผัดผักก็ใส่น้ำร้อนไม่ใส่น้ำเย็นนะ มันก็ยังไม่ค่อยยอมเดือด คิดอยู่ว่าจะโทรไปบอกเขาก็เปลี่ยนใจไม่ได้โทรแต่หลังจากนั้นทางบริษัทโทรกลับมาหาเราเพื่อขายสินค้าอีกว่าถ้าต้องการซื้อเพิ่มจะได้ราคาพิเศษ หรือมีเพื่อนสนใจจะซื้อเพิ่มจะได้ราคาพิเศษเหมือนกันโดยใช้ชื่อสมาชิกของเรา เราก็เลยแจ้งเขาไปว่าเราใช้แล้วมีปัญหานะ อาหารมันสุกช้าแล้วเวลาล้างกระทะก็มีปัญหาเป็นน้ำสีดำๆ ออกมา เขาก็รับฟังแล้วก็บอกว่าจะบอกผู้ใหญ่ให้นะคะ แล้วก็ไม่เคยติดต่อมาอีกเลย หลัวจากนั้นก็มีคนโทรมาอีกเป็นตัวแทนขายของอีก เราก็บอกปัญหาเขาไปเขาก็ตอบมาว่าเหรอคะ เดี๋ยวจะแจ้งผู้ใหญ่ให้ แต่ก็ไม่มีใครโทรตามเรื่องเราเลย ก็เงียบไปตลอด เราได้แต่ทำใจทำไมจึงตัดสินใจฟ้องคดีตอนเห็นเป็นข่าวขึ้นมาคนที่บ้านก็บอกกระทะแบบนี้ที่สิงคโปร์ใบละไม่เท่าไรเองนะ เราก็มาตามข่าวแล้วได้ยินว่ามีการรวมกลุ่มก็คิดว่าจะร่วมด้วยแต่ก่อนที่จะคิดตรงนี้ก็พอดี บริษัทก็โทรมาขายก่อนที่จะฟ้องแล้วก็เงียบหายไปอีกอยู่ดี เขาก็ไม่ได้จัดการอะไรให้เราเลย ถ้าตอนนั้นเขาใส่ใจเราที่เป็นลูกค้าสักนิดหนึ่ง สอบถามสักนิดเราก็อาจไม่ได้ฟ้องร้องกับเขา แต่นี่ทำให้มีความรู้สึกว่าเขาหวังแค่ขาย ไม่ได้ใส่ใจลูกค้า และเมื่อเราบอกปัญหาไปเขาก็ยังไม่ใส่ใจคิดว่าการรวมกลุ่มแบบนี้มีโอกาสจะชนะมากขึ้นไหมใช่ค่ะ คิดว่าอย่างนั้น เพราะมีความรู้สึกว่าคนขายเขาต้องขายตามที่เขาบอก เมื่อมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็เหมือนหลอกลวงผู้บริโภค อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่มาเพราะเราอยากเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ใช่มาหลอกลวงเราแบบนี้ อีกหน่อยก็หลอกคนอื่นไปเรื่อยๆ เพราะเขาบอกว่าสินค้าเขาดีและเราก็ซื้อเพราะเราเชื่อว่าสินค้าดี----------------------------คุณวิไลพรรณ สกุลนาค“กระทะนี้เราตั้งใจมากที่จะซื้อให้บุพการีและบุตรที่เป็นที่รักและใกล้ชิดเรามากที่สุด แม่เราเป็นคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูงและลูกสาวก็กินอาหารคลีน”  เมื่อได้กระทะมา ก่อนใช้ล้างด้วยน้ำเปล่ากับฟองน้ำก่อนด้วยนะ แล้วก็ใช้งานตั้งแต่ครั้งแรกเลยไข่ไม่ล่อนอย่างที่เขาโฆษณา ลูกสาวบ่นเลยว่า แม่โดนหลอกแล้ว แล้วที่บ้านอยู่กัน 3 คน ทดลองกัน 3 คน 3 ครั้ง ประสิทธิภาพคือเหมือนเดิม พอล่าสุดเริ่มมีข่าวที่พูดถึงกันมากๆ เราจึงหยุดใช้ทันทีเพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงของรูปกระทะ คุณภาพของกระทะรู้สึกว่า มันไม่เหมือนกับกระทะที่เราเคยใช้งานมานานถึง 20 ปี อย่างเช่น สีเริ่มเปลี่ยน ขนาดใช้แค่ 3 ครั้งนะคะ แล้วหัวน็อตเริ่มเป็นสนิม แล้วพอมีข่าวการผ่ากระทะหรืออะไรออกมาเราก็ติดตามข่าวเรื่อยๆ ไม่ว่าเรื่องมูลค่า ราคาของ การผลิต การขาย การผ่าพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นจริงอย่างคำโฆษณา ทุกสิ่งอย่างทำให้เราหมดความเชื่อมั่นศรัทธาในกระทะเจ้านี้ไปเลยทำให้มารวมตัวกับท่านอื่นร่วมฟ้องคดีค่ะ จริงๆ แล้วประเด็นที่ว่ามันเหมือนทำร้ายจิตใจเรา  กระทะนี้เราตั้งใจมากที่จะซื้อให้บุพการีและบุตรที่เป็นที่รักและใกล้ชิดเรามากที่สุด แม่เราเป็นโคเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูงและลูกสาวก็กินอาหารคลีน  ตัวแม่จะเลือกทำอาหารเองในครัว ทุกคนในบ้านจะรักษาสุขอนามัยเป็นอย่างยิ่งในการบริโภคทุกอย่างเข้าไป ทีนี้การโฆษณาสินค้าบอกว่าการที่ไม่ใช้น้ำมันนั้น ก็คิดว่าลูกกับแม่เราน่าจะได้ประโยชน์มากสุดก็เลยเลือกซื้อ ด้วยเหตุผลที่ว่าราคาซื้อได้ ทีเดียวได้ 2 ต่อเลย ได้ดูแลสุขภาพแม่และลูกเบ็ดเสร็จในเวลาเดียวกัน มันพร้อม แต่ก็ไม่ใช่ พอฟังคำโฆษณาหรือสื่อแล้วเราซื้อเลยนะ ฟังอยู่เป็นเดือนจนมั่นใจว่าเอาดารามาขาย เขามีชื่อเสียง เขาไม่น่าจะมาหลอกลวง คงไม่กล้าเอาชื่อเสียงลงมาทำลายเล่น เราก็มั่นใจว่าเราควรจะซื้อ ใช้เวลา 1 เดือนบวกกับชื่อเสียงคนที่เป็นพรีเซนเตอร์ แล้วกลายเป็นแบบนี้ก็เลยทำให้รู้สึกว่าเรากำลังทำร้ายคนในครอบครัวหรือเปล่า แล้วเราไม่ได้รับความเป็นธรรมในลักษณะที่ว่าทำไมเขาขายเกินราคาจริงอย่างมากมายจากท้องตลาด แล้วมันไม่มีคุณภาพอย่างที่เขาโฆษณา นี่เลยทำให้ต้องมาร่วมฟ้องกลุ่มในวันนี้คิดอย่างไรกับการฟ้องกลุ่ม มันรู้สึกว่า ดูเหมือนมีพลังและประสิทธิภาพมากกว่า น่าจะทำให้ศาลรับฟ้องได้ง่ายขึ้นแล้วก็มันทำให้ไม่ยุ่งยากกับรายบุคคลเพราะบางคนอาจจะไม่สะดวกในการมาเดี่ยวๆ ในศาล การฟ้องกลุ่มก็เลยเป็นทางเลือกที่เหมือนว่าจะดีที่สุด คุณกัณฏารัตน์ เรืองวงษ์ศา“มาเพราะได้ยินข่าวการฟ้องกลุ่ม”ดูทีวีแล้วเห็นทางมูลนิธิฯ บอกให้ส่งรูป ส่งหลักฐานมาก็เลยให้ลูกชายถ่ายส่งให้เพราะเราทำเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยเป็น ก็เลยได้มา คิดว่าฟ้องดีกว่า เพราะเราเคยติดต่อทางบริษัทฯ ไปแล้ว แล้วเขาก็บอกว่าเดี๋ยวต้องโทรไปตรงนี้ เราก็โทรไปเขาก็ให้โทรไปตรงนั้น เราก็โทรไปๆ มาๆ สายหลุดอีก ก็โทรไปหลายครั้งนะ จนโอนกันไปโอนกันมา จนรอนานไม่มีใครรับสายสักที จนสุดท้ายผู้หญิงคนหนึ่งรับสาย เราก็พูดให้เขาฟัง เขาก็บอกให้เราไปซื้อเบคกิ้งโซดามาล้าง เราก็ถามว่าเบคกิ้งโซดามันล้างออกแล้วเรากินเบคกิ้งโซดาเหรอ  ขนาดไอ้นี้ยังล้างออกแล้วเราไม่แย่เหรอถ้าเรากินเข้าไปอีก เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่อันตรายก็บอกให้เราทำตามนี้ แต่เราก็ไม่ได้ทำหรอก เลยตัดสินใจฟ้องบริษัทฯ จริงๆ ก็คือ สงสารผู้บริโภคท่านอื่นๆ ด้วยนะ คนที่ซื้อหลังๆ นี้ คืออาจจะต้องใช้เวลานานๆ แล้วมันจะเห็นว่ามีปัญหาจากการใช้งานกระทะนี้ คือถ้าใช้ไปแค่ 1 - 2 ครั้งยังไม่รู้หรอก แต่ถ้าคุณใช้เป็นประจำวันเป็นปกติมันจะเห็นเร็ว ของเราก็ใช้ไม่กี่เดือนเอง เดือนแรกก็เริ่มแล้วทำไปได้ไม่กี่ครั้งเองไม่ถึง 10 ครั้งด้วยซ้ำก็เริ่มติดกระทะ เริ่มหลายอย่างจนกระทั่งรู้สึกไม่ไหวแล้ว มันติดกระทะแล้วก็เริ่มแดงขึ้นๆ เราก็เลยเก็บ พอได้ยินข่าวว่าสามารถฟ้องร้องได้ จึงตัดสินใจว่าจะร่วมฟ้องคดีด้วย ------------------------------คุณณัชไม กิตติโรจนธรรมตอนที่ซื้อมี 1 แถม 1 แต่ราคาตอนนั้น 3,300 บาท รู้สึกจะเป็นรุ่นต้นๆ ของเขา จะไม่มีแถมอะไรต่ออะไร ซึ่งมาตอนหลังนั้นเริ่มถูกลง ราคาก็คงถูกลงด้วยและก็มีของแถมเป็นตะหลิวบ้างอะไรบ้าง สรุปว่าราคาถูกลงและฟังดูหลายๆ คนก็ซื้อได้ราคาถูกลงด้วย เราก็รู้สึกว่าความมาตรฐานของเขาไม่มี อยากจะขายเท่าไรก็ขาย ความนิยมเยอะก็ขายราคาสูง กระทะนี้ก็ดูโฆษณาก็รู้สึกว่าน่าใช้นะ ที่บ้านไม่ค่อยได้ทำอะไรทานเองมากนัก ปกติจะซื้อกับข้าวนอกบ้าน ก็คิดว่าได้กระทะมามันไม่ต้องใช้น้ำมันก็ดีนะ ทอดไข่ ผัดกับข้าวอะไรพวกนี้ จะได้ดีต่อสุขภาพก็ซื้อมาใช้ พอซื้อมาใช้รู้สึกว่าไม่ใช้น้ำมัน(อย่างโฆษณา) ไม่ได้แล้ว อาหารมันติดหนึบเลย สรุปก็คือตอนนั้นเอาปลามาทอดก็ต้องใส่น้ำมันสักนิดหนึ่ง แต่ไอ้ส่วนที่ติดมันก็ติดอยู่ พอใช้ไป 2 – 3 ครั้งมันเริ่มเป็นเหมือนสนิม ก็คิดว่านี่มันจะเป็นอะไรหรือเปล่าแต่ก็ด้วยความที่เราไม่ได้ทำกับข้าวเยอะ ส่วนมากจะซื้อกินเสียมากกว่าก็ไม่ได้สนใจตรงนั้นไป ถึงเวลาจะใช้ก็เอามาใช้ พอใช้ทีก็เป็นอย่างเดิมทุกที คิดอยู่นะว่าเสี่ยงไหมนี่แล้วไม่นานก็ได้ยินข่าวว่ากระทะชื่อดังโฆษณาไม่จริงตามที่เขาได้ทำโฆษณาไว้  เราก็เลยเริ่มกังวลว่าสงสัยเป็นจริงแล้วอย่างที่เรากลัวๆ ไว้ แสดงว่าที่เรากินไปที่หลุดๆ ลอกๆ มามันไม่ได้หายไปไหนมันคงอยู่ในอาหารเรานี้แหละ หลังจากนั้นก็เห็นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเริ่มมาทำเรื่องชวนกันฟ้องร้องเป็นคดีแบบกลุ่ม เราก็เลยขอเข้าไปร่วมทำเรื่องกับเขาด้วย แต่จุดประสงค์ก็คือไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะมาชดใช้อะไรเรา แต่อยากจะสร้างภาพพจน์ให้ผู้บริโภคของเราแข็งแรงขึ้น ในหลายๆ เรื่องนั้น เช่นถ้าผู้บริโภคแข็งแรงการหลอกลวง อย่างเช่น เรื่องที่ดินก็คงไม่เกิดขึ้น ไม่กล้าโฆษณาเพื่อที่จะหวังหลอกลวง  โดยหลอกให้คนส่ง 5 ปี 10 ปี ซึ่งถ้าพวกเราแข็งแรงขึ้นนั้นคนที่จะทำอะไรเขาจะต้องคิดก่อนที่มาทำ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะช่วยๆ กันคิดว่าการร่วมฟ้องฯ ครั้งนี้จะช่วยยกระดับสินค้าคิดเรื่องยกระดับผู้บริโภคให้แข็งแรงขึ้นมากกว่า อยากจะให้ใครได้ยินข่าวนี้อยากให้ช่วยๆ กันมาร่วมมือกัน ทำให้ฝ่ายผู้บริโภคแข็งแรง เพราะถ้าผู้บริโภคมีพลัง คิดว่าเขา(บริษัทฯ) น่าจะกลัวพลังตรงนี้ แล้วก่อนจะทำอะไรพวกบริษัทต่างๆ ที่ทำไม่ดีเขาจะได้คิดเยอะขึ้น และถ้าจะให้ดีนั้นถ้าเสียงดังไปถึงฝ่ายรัฐบาล ถ้ารัฐบาลสนับสนุนทำให้พวกเราโตขึ้นมันก็จะยิ่งทำให้ภาคประชาชนแข็งแรงขึ้นคดีอะไรบ้าง ที่สามารถฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม1.คดีละเมิด2.คดีผิดสัญญา3.คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้าขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มขั้นตอนการขออนุญาตโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม1.  โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม2.   โจทก์ต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.   คำฟ้องของโจทก์ต้องทำเป็นหนังสือและแสดงโดยชัดเจนถึงข้อหาหรือข้อบังคับ ที่ตัวโจทก์และสมาชิกกลุ่มทั้งหมดที่เข้าร่วมฟ้องได้รับความเสียหายอันเป็นเหตุผลที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล และกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องมีการระบุหลักการและวิธีคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะระบุได้ลงไปด้วย4.   ในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลต้องจัดส่งสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยที่ถูกฟ้องด้วย จากนั้นศาลต้องฟังคู่ความทุกฝ่ายและมีการไต่สวนตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาว่าคดีนี้ศาลจะอนุญาตให้ใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่5.    เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะรับคำร้องนั้นไว้ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนของศาลต่อไป โดยทนายความของโจทก์ก็ถือว่าเป็นทนายความของกลุ่มด้วย6.    ในกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ หรืออาจทำการขออุทธรณ์อีกครั้งภายใน 7 วันหลังจากศาลมีคำสั่งแรกออกมา โดยคำวินิจฉัยของศาล  อุทธรณ์ถือเป็นที่สิ้นสุดดาวโหลดกฎหมายได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/028/1.PDFขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 173, สำนักงาน ไทยลอว์ คอนซัลต์, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000040824

อ่านเพิ่มเติม >