ฉบับที่ 139 ข้าว(เม่า)จี่ AEC

ได้ข่าวจากพี่ชาวนาที่ฉันเคยไปสัมภาษณ์ว่าเขาเลือกปลูกพันธุ์ข้าว กข. 51 อายุเพียง 90 วัน ในรอบการปลูกนาปรังหนที่ 2 ที่ต้องเกี่ยวให้ทันก่อนน้ำมาภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้เป็นอย่างช้า  หากเลือกพันธุ์อื่นที่อายุยาวนานกว่านั้นอาจจะต้องเสี่ยงเกี่ยวข้าวเขียวหนีน้ำกันอีกรอบเพราะเมื่อต้นปี 55 นั้น น้ำลดช้าทำให้ แม้ว่าเกษตรตำบลจะท้วงติงว่าข้าว กข. 51 จะขายได้ราคาต่ำเพราะคุณภาพข้าวไม่ดี แต่นี่คือทางเลือกที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขที่พี่เขาเลือกได้ ฉันเองก็นึกขำเกษตรตำบลอยู่ไม่น้อย แม้ในช่วงการปฏิบัติตามนโยบายประกันราคาของรัฐบาลประชาธิปัตย์  พันธุ์ข้าวอายุตั้งแต่ 100 วัน ที่รัฐกำหนดให้ขึ้นทะเบียนนั้นมีอยู่จริงเฉพาะในทะเบียนเมื่อต้องปลูกข้าวนาปรังรุ่นที่2 ซึ่งต้องปลูกระหว่างเดือนพฤษาคม –ต้นกันยายน  หรือที่ชาวนาเรียก “รุ่นหนีน้ำ” และถึงแม้จะปลูกพันธุ์ข้าว 90 วันแล้วแต่หากน้ำมาก่อนกำหนดเกี่ยวหนีน้ำก็ต้องการเป็นเกี่ยวข้าวให้เป็ดกินเพราะโรงสีไม่รับซื้อ ส่วนข้าวที่เกี่ยวขายได้ตามปกติก็ถูกพ่อค้าช้อนซื้อในราคาต่ำแต่มีรัฐบาลยอมจ่ายส่วนต่างชดเชยให้โดยตรงกับชาวนา แต่รวมแล้วเงินจากการขายข้าว 1 ตันที่ชาวนาได้จริงก็ไม่ถึง 10,000 บ. เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลังเลือกตั้งใหม่ปี 2554 น้ำมาไวและมากเหมือนเดิม พันธุ์ข้าวที่ปลูกพันธุ์เดิม เกี่ยวข้าวเขียวขายเหมือนเดิม แต่ปีนี้ราคาข้าวเขียวขายได้เกือบเท่าราคาข้าวปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากประกันราคาข้าวเป็นจำนำข้าวแทน - - ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? สื่อต่างประเทศอย่างบลูมเบิร์กวิเคราะห์ไว้ว่าราคาข้าวที่ขึ้นสูงในช่วงนั้นเป็นเพราะนโยบายจำนำข้าวมีผลทำให้ดึงราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้น  พ่อค้าข้าว/โรงสี พยายามกักตุนข้าวก่อนรัฐจะดำเนินนโยบายดังกล่าว  กระตุ้นกลไกตลาดให้ข้าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและชาวบ้านรับตรงเองจากชาวนา  จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมชาวนาส่วนใหญ่ถึงพออกพอใจกับการขายข้าวได้ราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 1 หมื่นบาทจากการขายข้าวงวดนั้น ผลที่ตามมาของนโยบายจำนำข้าวคือชาวนากล้าที่จะลงทุนปรับเปลี่ยนจากนาฟางลอยที่ปลูกแล้วไม่คุ้มมาเป็นนาปรัง 2 หนแทน เพราะแม้จะมีความเสี่ยงเรื่องหนีน้ำในการปลูกนาหนที่ 2 อยู่บ้าง แต่การจัดการผลผลิตและแนวโน้มของผลตอบแทนที่ได้รับอย่างคุ้มค่าก็มีอยู่โอกาสอยู่มากด้วยเช่นกัน   ราคาข้าวก่อนหน้านั้นมันถูกกดให้ต่ำมานานมากแล้วโดยกลไกตลาด ก่อนปี 2550 ราคาข้าวไม่เคยสูงเกินกว่าตันละ 6,500 บ. และค่าเช่านาปีละ 300-400 บ./ไร่  และที่นาหลุดมือจากชาวนาเพราะราคาข้าวถูกกดไปแล้วเท่าไหร่?  แม้ช่วงปี 50-51 ซึ่งราคาข้าวเขยิบขึ้นสูงถึงตันละ 1 หมื่นบาทนั่นก็เพราะประเทศคู่แข่งส่งออกข้าวของไทยเราเจอปัญหาภัยพิบัติและเกิดการเก็งกำไรของตลาดโลก   ฉันยังสงสัยว่าถ้าราคาข้าวนาปรังไทยเรายังขายได้ต่ำกว่าหมื่นบาท/ตัน  เมื่อถึงวันที่ไทยต้องเปิดเสรีข้าวในปี 2558 นั่น เราจะขายข้าวส่งออกกันในราคาที่เท่าไหร่  หากไม่พยายามดึงราคาให้สูงขึ้นไว้และหนีให้พ้นสงครามตัดราคากันเองของประเทศผู้ส่งออกข้าวอย่างที่เราทำๆ กันมาอย่างต่อเนื่อง? ฉันยังสงสัยต่อไปอีกว่า มีสัดส่วนของชาวนาหน้าใหม่ ทุนใหม่ กับชาวนาหน้าเดิมหรือชาวนารับมรดกต่อเนื่องมาจากครอบครัว เป็นเท่าไหร่ที่จะเหลือพออยู่สู้กับวิกฤติการแข่งขันข้าวครั้งใหม่ในโลกตลาดเสรีถ้าเรายังขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าตันละ 1 หมื่น? ยังมีเรื่องข้าวคุณภาพอย่างข้าวนาปี ข้าวเมล็ดยาวของไทยที่หลายคนยังไม่แน่ใจว่าจะโดนข้าวหอมเมล็ดยาวของกัมพูชา และข้าวปอซานมุยของพม่ามาแข่งขันในตลาดชั้นสูงเพิ่มจากเดิมที่มีข้าวบาสมาติของอินเดียข่มกันอยู่กับข้าวหอมมะลิของไทย ให้เราได้ฉงนสงสัยกับการเคลื่อนย้ายไปของนักลงทุนภาคการเกษตรเสรีอีก  ถึงตอนนี้ฉันได้แต่ฝันแทนประชากรกลุ่มชาวนาของประเทศผู้ส่งออกว่าถ้ามีสหภาพชาวนาและครัสเตอร์ส่งออกข้าวแห่งอาเซียนในการค้าเสรี AEC ก็คงจะดี  - - อา  อยากจะฝันแบบนี้นานๆ จัง   ก่อนจะไปฝันแบบนั้นฉันเพิ่งอิ่มมาจากเมนูข้าวเม่าที่จับเอาวิธีการปรุงโดยการจี่ไฟ (ปิ้ง-ย่าง) แบบอีสาน กับเครื่องปรุงแบบไทยปนแขกอย่างหมูสะเต๊ะ มาผสมผเสปนเปกันน่ะ เครื่องปรุง 1.ไข่ไก่ใบใหญ่ 1 ฟอง   2.ข้าวเม่าข้าวเหนียว(สีเขียว)  1 ถ้วย  3.หมูสะเต๊ะ  4 ไม้ 4.พริกไทยป่น   5.เกลือ 1 ช้อนชา   6.น้ำเปล่า 3 ช้อนโต๊ะ    7.สาหร่ายญี่ปุ่นแห้งท่อน 1 ช้อนโต๊ะ (ไม่ใส่ก็ได้) วิธีทำ 1.ตอกไข่ลงชาม ตีไข่แดงให้แตกเข้ากันกับไข่ขาว   ปรุงรสด้วยพริกไทยและเกลือเติมสีสันอาหารโดยการใส่สาหร่ายญี่ปุ่นแห้งที่ใช้กรรไกรตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ยาว 1 ซม. 2.ใส่ข้าวเม่าลงในไข่เจียวที่เตรียมไว้  คนให้เข้ากันให้ทั่วแล้วทิ้งไว้สัก 5 นาทีเพื่อให้ไข่ซึมเนื้อข้าวเม่าจนนิ่มดี 3.นำข้าวเม่าผสมไข่ห่อหมูสะเต๊ะ  โดยนำใช้มือที่สวมถุงพสาสติกใส(ถุงใส่แกงร้อน) เพื่อห่อไม้หมูสะเต๊ะให้แน่นและไม่ติดมือ 4.นำไปย่างบนเตาไฟฟ้า หรือเตาถ่านตามสะดวก   โดยตั้งไฟให้แรงปานกลาง  เมื่อเหลืองหอมสุกดีแล้วยกลง เสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ และอาจาด หากชอบข้าวจี่หอมๆ อาจจะต้องหาชามใบเล็กๆ อีกใบและเพิ่มไข่อีกลูก  เจียวไข่และปรุงรสให้เหมาะตามชอบแล้วนำข้าวปั้นที่นำไปจี่มาชุบแล้วจี่สัก 3 – 4 ครั้ง ส่วนผู้ที่พิสมัยรสชาติที่แตกต่างออกไป อาจจะเปลี่ยนไส้ในข้าวเป็น หมู ไก่ กุ้ง  เห็ด และแน่นอน  น้ำจิ้มที่ใช้ก็เลือกเป็นแจ่วแบบอีสาน หรือน้ำพริกตาแดง  หรืออื่นๆ ตามแต่สะดวกค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point