ฉบับที่ 138 ข่าวสารผู้บริโภคบนทวิตเตอร์ (Twitter)

ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบติดตามข่าวสารบ้านเมืองผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบ ตื่นเช้ามาสิ่งแรกที่คุณเปิดรับคือการคลิกลงบนจอโทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ต หรืออุปกรณ์ไอทีชนิดอื่นๆ เพื่ออ่านข้อความของใครต่อใครว่ามุมโลกแต่ละมุมเป็นอย่างไรบ้าง ก็คงไม่แปลกอะไรที่คุณจะรู้จัก Twitter แต่เนื่องจากบางท่านอาจไม่รู้จัก twitter จึงขออธิบายความหมายกันสักหน่อย Twitter (ทวิตเตอร์) เป็นบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อก โดยผู้ใช้สามารถส่งข้อความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร ซึ่งเป็นข้อความสั้นๆ ข้อความอัปเดตที่ส่งเข้าไปยังทวิตเตอร์จะแสดงอยู่บนเว็บเพจของผู้ใช้คนนั้นบนเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ถูกสร้างขึ้นโดย Jack Dorsey หรือผู้อ่านสามารถตามทวิตได้ที่ @jack   สำหรับผู้อ่านที่ใส่ใจเรื่องเกี่ยวกับผู้บริโภค ที่ชอบติดตามข่าวสารสิทธิผู้บริโภค ความเป็นไปในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งชื่นชอบการใช้อินเตอร์เน็ตในการท่องโลกออนไลน์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงขอแนะนำทวิตเตอร์ในแวดวงผู้บริโภคที่ต้องการทราบด้านโทรคมนาคมให้ทุกคน following ตามข่าวสารอย่างทันถ่วงที ในส่วนบุคคล คนแรกขอแนะนำ “สุภิญญา กลางณรงค์” หรือทวิตเตอร์ “@supinya” ผู้หญิงคนเดียวจากจำนวน 11 คน ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยจะอัพเดททุกความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. ซึ่งจะดูแลทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในส่วนของวิทยุและโทรทัศน์ คนที่สอง พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ “@DrNateeDigital” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  และคุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ “@TakornNBTC” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่วนหน่วยงานที่น่าสนใจแนะนำเป็น “@NBTCrights” และ “@Teleconsumer” สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เป็นอีกช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภค ทั้งปัญหา เรื่องราวอัพเดต ของนโยบายด้านกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม  อีกหนึ่งช่องทาง ลองตามข่าวสารทาง twiiter กันดูนะคะ รวดเร็วทันใจจริงๆ **มือถือทุกรุ่นสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น twitter ได้ฟรีค๊า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ยำปลาข้าวสาร (จบ)

อ่านเรื่องปลาข้าวสารมา 2 ตอนแล้วอาจจะยังสงสัยปลาข้าวสารว่าตกลงคืออะไรแน่ ระหว่าง ปลาข้าวสารคือปลากะตักตัวเล็กที่ยังไม่โตสายพันธุ์หนึ่งตามที่กรมประมงบอก หรือ บูหรา (ปลาข้าวสาร) ที่เราซื้อมากิน มันเป็นปลากะตักที่โตเต็มวัยเท่านี้แหละและมีมาให้ชาวประมงในอ่าวพังงา และทะเลอันดามัน จับมากิน-ขายได้บางช่วงบางฤดู ที่พี่อิดว่ามันเป็นชุดความรู้ที่ชาวบ้านใช้ต่อรองเพื่อให้ตัวเองยังคงมีสิทธิมีโอกาสในการจับปลาข้าวสารมาขายโดยหมุนเวียนเปลี่ยนพลัดไปกับการจับปลากะตักสายพันธุ์อื่นๆ ในช่วงเวลาที่ต่างไป ธนู  แนบเนียน ผู้ประสานงานองค์กรความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติอันดามัน  บอกกับฉันว่า แม้ความรู้เรื่องปลาข้าวสารจะแตกแขนงออกเป็น 2 แนวทาง  แต่ทั้งกรมประมงและชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งอันดามันต่างมีข้อตกลงร่วมกันในการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลหน้าบ้านของตน คือร่วมกันแก้ไขปัญหาอวนลากอวนรุนที่รุกล้ำเข้ามาในเขตชายฝั่ง โดยจับกุม เปลี่ยนเครื่องมือ และขยายระยะห่างเป็นเขตอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ห่างจากชายฝั่ง 3 กิโลเมตร เป็น 3 ไมล์ทะเล หรือ 5.4 กิโลเมตร   นอกจากนี้ชาวประมงพื้นบ้านยังต้องรักษาสภาพป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง  ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์   ธนู กังวลว่าอวนตาถี่ที่เรือปลากะตักในใช้จับปลาข้าวสารนั้นอาจจะมีปลาอื่นๆ ปะปนมาด้วย เมื่อประกอบกับการที่เรือปลากะตักนำอุปกรณ์ไฮเทคมาใช้ตรวจหาปลาได้อย่างแม่นยำจะมีผลทำให้ปริมาณปลาข้าวสารและปลาชนิดอื่นๆ ลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว  แต่การที่รัฐจะประกาศควบคุมปริมาณการจับปลาชนิดต่างๆ ของไทยไปพร้อมๆ กับการประกันราคาปลาคงยังไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในเมืองไทย  แม้ชาวประมงพื้นบ้านจะช่วยกันรักษาน่านน้ำอันเป็นพื้นที่หากินของตัวเองในการเฝ้าระวังเรืออวนลากอวนรุน  รวมทั้งเรือหาปลากะตักจากต่างถิ่นแล้ว  ก็ยังมีปัญหาพื้นๆ อย่างเรือเถื่อนที่ไม่มีใบอนุญาตหรืออาชญาบัตร ยังคงมีปรากฏให้เห็นเสมอ แม้ธนูจะบอกว่าถ้าผู้บริโภคจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยการเลือกซื้อจากกลุ่มชาวประมงที่ทำการอนุรักษ์  แต่ฉันก็ยังอดคิดไปไกลไม่ได้ว่า เป็นเรื่องยากมากๆ ที่ผู้บริโภคจะทราบถึงแหล่งที่มาของปลาข้าวสาร และอาหารทะเลชนิดอื่นๆ คิดอะไรไม่ออกฉันก็หาข้อมูลไปเรื่อยๆ  เลยได้ย้อนกลับไปดูมาตรการควบคุมการจับปลากะตักเพื่อความยั่งยืนของสหภายุโรป ที่อ่าวบิสเคย์  พื้นที่ชายฝั่งทะเลของสเปนและฝรั่งเศส ซึ่งประสบความสำเร็จในการริเริ่มแผนการจัดการระยะยาวของปลากะตักในอ่าวบิสเคย์เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยเสนอสูตรทางคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณหาค่าปริมาณที่อนุญาตให้จับทั้งหมด (total allowable catch, TAC) และโควตาในการจับโดยขึ้นอยู่กับรัฐนั้นๆ ปี 2553 ชายฝั่งทะเลเขตสเปนได้โควตาจับปลา 80 % (14,040 ตัน) ในขณะที่ฝรั่งเศสได้โควตา 20 % (1,560 ตัน)  จนกระทั่งในเดือนมิถุยายน 2554 นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์เทคโนโลยีด้านการวิจัยทางทะเลและอาหาร (AZTI-Tecnalia) ยืนยันว่า ชีวมวลของปลากะตักในอ่าวบิสเคย์มีปริมาณเพิ่มขึ้น 278 % ต่อปี จาก 36,500 ตันในฤดูใบไม้ผลิ 2553 เป็น 138,000 ตัน ในเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งจากการศึกษาของ Bioman ระบุว่า จากจำนวนของไข่ที่พบทำให้คาดการณ์ได้ว่า 86% ของชีวมวลมาจากปลากะตักอายุ 1 ปี  ผลจากการจำกัดปริมาณการจับสัตว์น้ำเหล่านี้ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอต่อรัฐบาลสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ เพื่อขอเพิ่มโควตาจับปลากะตัก (anchovy) ในอ่าวบิสเคย์จาก 15,600 ตัน เป็น 29,700 ตัน (เพิ่มขึ้น 47 %)  โดยฤดูจับปลาเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 และสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2555 น่าอิจฉาเขานะคะที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถูกนำมาใช้กับแผนการอนุรักษ์ได้อย่างประสบความสำเร็จ  ในประเทศไทยของเราหากจะฝันถึงการกำหนดโควตาสัตว์น้ำในทะเล  และการประกันรายได้เพื่อความมั่นคงของผู้ประกอบการจับปลาเพื่อให้เรามีอาหารทะเลกินกันได้อย่างยั่งยืนคงเป็นเรื่องไกลเกินฝันจริงๆ   มาทำปลาข้าวสารกรุบกริบกินส่งท้ายกันดีกว่า เครื่องปรุง ปลาข้าวสาร 1/2 ถ้วย , ไข่ไก่ 1 ฟอง , แผ่นห่อเมี่ยงเวียดนาม  1 ขีด , พริกไทยเม็ด 10 เม็ด , รากผักชี 1 ราก ,  ใบชะพลูหั่นฝอย 10 ใบ (หรือใบมะกรูดซอยละเอียด 5 – 6 ใบ) , น้ำมันปาล์ม   วิธีทำ ล้างปลาข้าวสารให้สะอาดหลายๆ รอบ ใส่กระชอนทิ้งให้สะเด็ดน้ำ โขลกพริกไทยเม็ดกับรากผักชีให้ละเอียด ตอกไข่ใส่ชาม เจียวไข่แล้วนำปลาข้าวสาร พริกไทยโขลกกับรากผักชี ใบชะพลูหั่นฝอยมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใช้กรรไกตัดแผ่นห่อเมี่ยงเวียดนามออกเป็นขนาดพอคำ  นำส่วนผสมที่ปรุงไว้มาทาบางๆ วางเรียงลงในจานแล้วนำไปทอด  ตอนละเลงเครื่องปรุงลงแผ่นเมี่ยงควรระวังอย่าให้ชุ่มน้ำเพราะจะทำให้ลอกแผ่นเมี่ยงตอนทอดยาก เมื่อเตรียมแผ่นเมี่ยงที่ใส่เครื่องปรุงเสร็จแล้วจึงตั้งกระทะไฟปานกลาง  รอจนน้ำมันร้อนจัดแล้วค่อยๆ ทอดจนเหลืองกรอบ   หมายเหตุ ตอนจะเสิร์ฟ  คุณอาจเลือกน้ำจิ้มที่กินกับข้าวสารกรุบกริบได้หลายแบบ ทั้งซอสมะเขือเทศ  หรืออาจาด (แตงกวาและหอมแดงซอยในน้ำตาลเคี่ยวไฟกับน้ำส้มสายชูและเกลือนิดหน่อย)  แต่คราวนี้ฉันทำง่ายกว่า คือคว้าเอาน้ำจิ้มไก่สำเร็จรูปที่มีอยู่ในครัวมาเหยาะใส่ลงในถ้วยที่เต็มไปด้วยแตงกวาที่ผ่ายาว 4 ชิ้นแล้วหั่นหนาครึ่งเซนติเมตร //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 154 ปลาข้าวสาร (2) ขนมจีนซาวน้ำ

จากปลาข้าวสารที่กำลังจะเข้าปากในรูปการยำของฉันในตอนที่แล้ว ได้นำเราไปสู่เรื่องปัญหาและการคลี่คลายลงการจับปลากระตักในทะเลชายฝั่งอันดามันในอดีต และภาพปัจจุบันของชาวประมงชายฝั่งที่นั่นได้มีการปรับตัวเองไป จนเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ผู้อ่าน บางคนอาจยังมีคำถามคาใจถึงมาตรการที่กรมประมงใช้ในการควบคุม “การใช้อวนตาถี่ 0.6  ซ.ม.” ที่ติดตั้งในเรือปลากะตักกลางวัน ที่ยังอาจจะมีผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ปลากะตักและอาชีพการจับปลาในระยะยาว เรื่องนี้ พี่อิด – พิเชษฐ ปานดำ คนทำงานกับชาวประมงชายฝั่งอันดามันใน จ.พังงา – ภูเก็ต และคนที่เคยพาฉันไปซื้อปลาข้าวสารในตลาดภูเก็ต หลังจากการเยี่ยมเยือนกลุ่มออมทรัพย์และพื้นที่อนุรักษ์ริมฝั่งทะเลของเพื่อนชาวประมงที่แกทำงานด้วย 2 – 3 แห่ง เมื่อ 4 – 5ปีก่อน เล่าให้ฉันฟังว่า หากจะยึดข้อกำหนดขนาดของตาอวนในการจับปลากระตักกลางวันเป็นหลักอย่างที่กรมประมงกำหนด คนจับปลาคงต้องผันตัวเองไปทำอาชีพอื่นทั้งหมดแน่ๆ  ชาวประมงในฝั่งอันดามันจึงต้องต่อรองกับกรมประมง   “ก่อนอื่นเธอต้องเข้าใจก่อนว่าปลากระตักมีหลายชนิด ส่วนปลาข้าวสารที่เธอเรียกนั่น คนที่อ่าวพังงาเรียกปลาบูหรา” เสียงพี่อิดกรอกหูผ่านเครื่องมือสื่อสารในยุค 3G ดังชัดแจ๋ว พี่เขาบรรยายถึงเครื่องมือจับปลาและปลาชนิดต่างๆ ที่จับโดยเรือปลากะตักกลางวัน ว่าเรือหาปลาชนิดนี้จะใช้อวนที่เป็นมุ้งเขียว ซึ่งแน่นอนว่ามีขนาดตาอวนเล็กกว่าที่กรมประมงกำหนด เพราะต้องใช้กวาดจับปลาตัวเล็กชนิดต่างๆ ในร่องน้ำลึก ที่อยู่ไกลออกไปจากชายฝั่ง และเรือประมงเล็กไปไม่ถึง   นอกจากจะจับปลากระตักหรือปลาฉิ้งฉั้งในภาษาถิ่นแล้ว  ยังมี ปลาลิง ปลาบูหรา และปลาอื่นๆ อีก นับกว่า 10 ชนิด  ซึ่งปลาแต่ละชนิดอยู่กันคนละฝูงไม่ปะปนกัน  แถมยังมีความชุกชุมในแต่ละช่วงฤดูแตกต่างกันด้วย เพราะว่าในร่องน้ำลึกมีปลาตัวเล็กหลากหลายชนิดให้เรือปลากะตักจับนี่เอง ที่ทำให้เรือจับปลากะตักต้องจับปลาตัวเล็กหมุนเวียนไป  โดยบูหราจะมีมากในช่วงเปลี่ยนลมมรสุม หรือปีละ 2 ครั้ง คือระหว่างปลายเดือนเมษายน-มิถุนายน และช่วงปลายปีพฤศจิกายน-ธันวาคม  พ้นจากช่วงนี้เรือกะตักกลางวันก็หาและจับปลาตัวเล็กชนิดอื่นๆ แทน พี่อิดเล่าต่อไปอีกว่า อวนเขียวที่ล้อมจับบูหรานั้นยังจำกัดชนิดเฉพาะบูหรา เพราะปลาที่ล่าบูหราอย่างปลาฉลามนั้นสามารถพุ่งตัวหนีออกจากอวนเมื่อกำลังตีล้อมจับปลาได้อีกต่างหาก  ซึ่งต่างจากอวนทวน เครื่องมือปูม้าที่เวลาจับปูม้าแล้วมักได้ปลาอื่นๆ ติดมาด้วย “มิน่า  พี่ยังพาพวกเราไปซื้อปลาข้าวสารกลับบ้านหลังจากขึ้นทะเล” ฉันกรอกเสียงกลับไป คนอีกฝั่งที่ไกลลิบนั่นหัวเราะร่วมไปกับฉัน แต่ยังไม่วายอัพเดทความคืบหน้าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีต่อ “คนบนเรือหากะตักกลางวันที่นี่ส่วนใหญ่ยังเป็นคนพื้นถิ่น  เรือกะตักปั่นไฟกลางคืนจากอ่าวไทยไม่ค่อยเข้ามาในเขตนี้หลายปีแล้ว หลังจากชาวบ้านที่นี่ช่วยกันดูแลทะเล เดี๋ยวนี้คนทำประมงก็น้อยลงด้วย  แต่ปัญหาที่นี่ก็เหมือนที่อื่นๆ คือเริ่มเปลี่ยนจากเทคโนโลยีการจับแบบพื้นๆ มาใช้อุปกรณ์ไฮเทคค้นหาปลาจากดาวเทียมขึ้นอย่างซาวเดอร์ หรือซูนาร์ ที่แม่นยำ รวดเร็วกว่า ... ” เรื่อง ปลาข้าวสารหรือบูหรา ยังไม่จบ  มีต่อตอนหน้าแน่ๆ  ตอนนี้เรามาหาอะไรกินง่ายๆ จากปลาข้าวสารกันดีกว่า ฉันนึกถึงบูหราสดๆ ที่ชาวอ่าวพังงาเอามาทำห่อหมกหรือยำสดๆ แต่ปลาข้าวสารที่ฉันซื้อมาจากตลาดนัดนั่นเป็นปลาข้าวสารที่แช่แข็งมาในท้องเรือแล้วเอามาต้มน้ำทะเลและตากให้แห้งบนบก  เวลาจะเอามากินก็แค่ล้างหลายๆ เที่ยวเพื่อจางรสเค็มแล้วลวกด้วยน้ำร้อนเดือดๆ อีกทีก่อนจะสงให้สะเด็ดน้ำก่อนนำไปปรุงในรูปแบบต่างๆ  เมนูบูหราเที่ยวนี้ขอเป็นอาหารพื้นๆ ภาคกลาง ง่ายๆ แล้วกัน   ขนมจีนซาวน้ำ เครื่องปรุง 1.เส้นขนมจีน  ½  กก.   2.มะพร้าวขูด 3 ขีด  3.สับปะรดเปรี้ยว-หวาน หั่นชิ้นเล็ก 1 ถ้วย  4.ปลาข้าวสารล้างสะอาดลวกน้ำร้อนและสงให้สะเด็ดน้ำ 1 ถ้วย 5.กระเทียมสดซอยบาง ¼ ถ้วย   6.เกลือ 1 ช้อนชา  7.น้ำตาลทราย  8.พริกขี้หนูคั่วป่น  9.น้ำปลา วิธีทำ คั้นมะพร้าวเอาแต่หัวกะทิประมาณ 1 ถ้วย ปรุงรสด้วยเกลือให้มีรสเค็มนิดๆ แล้วนำไปเคี่ยวไฟปานกลาง ต้องหมั่นคนตลอดเวลาให้กะทิแตกมันและป้องกันกะทิจับกันเป็นลูกนานสัก 10 นาทีแล้วยกลง  จากนั้นจัดเรียงเครื่องเคียงที่ต้องการกินลงในจาน  ปรุงรสเค็ม เผ็ด หวาน ตามชอบ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 153 ยำปลาข้าวสาร (1)

ฉันกำลังสงสัยว่า เวลาที่คุณเห็นปลาข้าวสารแล้วนึกถึงอะไรบ้าง?  จะมีเรื่องปลาข้าวสาร สักเรื่องไหมที่คุณกับฉันคิดถึงมันแล้วบังเอิญว่าคิดตรงกัน   และเรื่องที่ว่านั้นบังเอิญอีกทีว่าพ้นไปจาก เรื่องคุณค่าทางโภชนาการของปลาข้าวสารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม และเมนูที่น่าจะกินจากปลาชนิดนี้? ปลาข้าวสาร หรือปลาสายไหม  เป็นลูกปลาที่ยังไม่โตเต็มวัยของปลากะตัก  หรือที่รู้จักและมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกว่า ปลากล้วย, ปลาหัวอ่อน, ปลาจิ้งจั๊ง, ปลามะลิ, ปลาหัวไม้ขีด, ปลาเส้นขนมจีน , ปลายู่เกี้ย, ปลาเก๋ย    ปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดเล็กอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ตามผิวน้ำทะเลโดยอาศัยแพลงตอนเป็นอาหาร  มันจึงเป็นอาหารชั้นดีของปลาและสัตว์ทะเลขนาดใหญ่กว่า ครั้นเรามีแบบแผนการผลิตทางการประมงและอุตสาหกรรมอาหาร ปลาชนิดนี้เลยกลายมาเป็นอาหารของคนด้วย   ซึ่งนอกจากเราจะกินปลากะตัก ในรูปอาหารสารพัดตำรับการปรุงแล้ว   คนยังเอามันไปทำปลาบ่นเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์สารพัดชนิดให้กลายเป็นอาหารของเราอีกที ย้อนกลับไปช่วงปี พ.ศ. 2540-2542  ฉันคงคิดมากว่าจะซื้อปลาข้าวสาร มากินดีไหม เพื่อความสบายใจของตัวเองว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งที่อยู่ชายฝั่งทะเลสงขลาและฝั่งอันดามันที่กำลังประท้วงเรื่องหาปลากะตักตอนกลางคืนที่ติดเครื่องปั่นไฟกันอยู่ในขณะนั้น   จากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ที่เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้เรือจับปลากะตักแบบปั่นไฟ  และเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน  จังหวัดกระบี่  พังงา  ภูเก็ต และระนอง ที่ร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐดำเนินการกับเรือประมงที่ติดอวนรุนและอวนลาก ในช่วงเวลานั้น ทำให้ต่อมาในปี 2542 มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการศึกษาและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการทำประมงปลากะตักโดยใช้แสงไฟประกอบ  ผลการศึกษาพบว่า การทำประมงปลากะตักมิได้ชี้ชัดถึงการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดอื่น จึงอนุญาตให้เรือหาปลากะตักแบบปั่นไฟทำการต่อไปได้  โดยมีมติให้แบ่งเขตการทำประมงปั่นไฟตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาแบ่งเขต  อีกทั้งยังกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนเรือประมงและการควบคุมจำนวนอาชญาบัตร  เพื่อควบคุมปริมาณการทำประมงปลากะตัก  รวมถึงการควบคุมขนาดของตาอวนให้ใหญ่กว่า 0.6 ซม. เพื่อให้ลูกปลากะตักหรือปลาข้าวสารซึ่งมีขนาดเล็กกว่าตาข่ายหลุดรอดและเติบโต เพื่อให้เราได้มีปลาชนิดนี้กินกันต่อไปอย่างยั่งยืน หลังจากข่าวความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้านกับเรือหาปลากะตักแบบติดเครื่องปั่นไฟซาไปจากหน้าหนังสือพิมพ์  การกินปลาข้าวสารเพื่อแสดงความความตื่นตัวในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งของฉันก็สร่างเซาไปไปด้วยเช่นกัน  จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันก่อนเพื่อนของฉันซึ่งเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับวีถีชาวประมงพื้นบ้านในชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ได้กลับไป “เยี่ยมสนาม”   ที่เธอเคยวิจัย และ นำของฝากจากอันดามันมาให้ฉันและเพื่อนๆ ได้บริโภคกันอย่างเปรม เธอเล่าว่า แม้ข้อสรุปจากการต่อสู้เรื่องเรือปั่นไฟปลากะตักในคราวนั้นจะเอนเอียงไปทางฝ่ายเรือประมงพาณิชย์ แต่เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านก็ไม่ได้ย่อท้อและต่อสู้ขับเคี่ยวกับการทำประมงที่ทำลายล้างอย่างเรืออวนลาก อวนรุนซึ่งบั่นทอนรายได้ของพวกเขา โดยงัดเอาสารพันกลยุทธ์ขึ้นมาสู้ เช่น การเรียกร้องค่าเสียหายของเครื่องมือประมง การแจ้งความกับเจ้าหน้าที่รัฐ   การพยายามปรับเปลี่ยนเวลาหรือสถานที่การทำประมงของตนเพื่อหลีกหนีเรืออวนลากอวนรุน  การที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านรวมตัวกันเป็น “สมัชชาชาชาวประมงพื้นบ้านอันดามัน” เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง  การป้องกันและกำจัดผู้ที่ทำการประมงอย่างผิดกฎหมาย และการผลักดันในเชิงนโยบายและกฎหมาย  ซึ่งมีการทำงานทั้งในระดับหมู่บ้าน/ตำบลและระดับเครือข่าย ทั้งในระดับเครือข่ายอ่าว และระดับภาคอย่างต่อเนื่อง  จนกระทั่งส่งผลต่อนโยบายสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงอวนรุนของกรมทรัพยากรทางทะเลที่ตั้งขึ้นใหม่ ตอนนั้นนโยบายสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงอวนรุน เป็นเครื่องมือชนิดอื่นที่ไม่ทำลายล้าง เช่น ให้อวนถ่วง 40 หัว มูลค่า 6 หมื่นบาท  นี้ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกัน กระทั่งอวนรุนหมดไปจากฝั่งทะเลอันดามัน ยกเว้นก็แต่ที่ จ.ระนองเท่านั้น   ด้วยนโยบายนี้ ประกอบกับการทำงานอนุรักษ์พื้นที่ประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำทะเลของกลุ่มชาวบ้านที่ดำเนินงานกันอย่างต่อเนื่องยาวนานทำให้ปัจจุบันพื้นที่ประมงชายฝั่งอันดามันฟื้นตัวขึ้นมาได้มาก... หากคุณอยากเสพของฝากชิ้นเยี่ยมนี้แบบเต็มๆ  ต้องไปดาวน์โหลดที่   “สถานะของระบบนิเวศและทรัพยากรชายฝั่งท่ามกลางการปรับโครงสร้างชนบท: กรณีชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน”   โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์   https://docs.google.com/file/d/0B-ahm0-nZyGIUjl0Y3lWLU05Qmc/edit?usp=sharing&pli=1 คราวหน้าฉันจะมาคิดเรื่องปลาข้าวสารต่อ   ฉันขอให้คุณคิดถึงมันล่วงหน้าไว้เลยก็ได้  แล้วมาดูกันว่าเราจะคิดถึงมันอย่างเหมือนหรือต่าง กันมากน้อยแค่ไหนอย่างไร  แล้วพบกันค่ะ   ยำปลาข้าวสารแบบง่ายๆ เครื่องปรุง: ปลาข้าวสารคั่วกรอบ  ½ ถ้วย  มะม่วงแก้วหรือมะม่วงน้ำดอกไม้ดิบขูดเส้นฝอย 1 ถ้วย  น้ำตาลทราย 1 ช้อน  พริกป่น 1 ช้อน  พริกขี้หนูซอย ตามชอบ และใบมะยมอ่อน  3 – 4 ช่อ วิธีทำ: เคล้าเครื่องปรุงทุกอย่างเข้าด้วยกัน  ไม่ต้องใช้เกลือหรือน้ำปลา เพราะว่าปลาข้าวสารเราเค็มเข้มอยู่แล้ว  จากนั้นก็จัดลงจานวางเรียงกินเคียงเครื่องดื่มที่คุณชอบ วิธีกินปลาข้าวสาร อีกแบบฉันได้มาจากเพื่อนสาวชาวญี่ปุ่นของฉัน  เธอเคยยำปลาข้าวสารแบบญี่ปุ่นให้กินเมื่อกว่า 15 ปีก่อน แต่ฉันยังจำได้ดี  ทำง่ายมาก  เครื่องปรุงเปลี่ยนจากปลาข้าวสารกรอบเป็นปลาข้าวสารธรรมดานี่แหละ แต่เอาไปล้างด้วยน้ำสะอาด 3 – 4 ครั้งแล้วลวกด้วยน้ำร้อนแล้วสรงให้สะเด็ดน้ำ  หั่นแตงซุกินีตามแนวขวางเป็นแผ่นบางๆ เรียงลงจาน  โรยด้วยปลาข้าวสารที่เตรียมไว้    เสิร์ฟคู่กับถ้วยวาซาบิที่คลอด้วยซีอิ๊วญี่ปุ่น  เท่านี้ก็เป็นการกินปลาข้าวสารแบบยอดนิยมของเจแปนนิส ได้อีกหนึ่งจานแล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 เมทิลโบร์ไมด์ในข้าวสารบรรจุถุง ภาค 2

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน……. นายมดงานขอยืมวลีเพลงฮิตมาเปิดตัวเสียหน่อย ผมเคยเขียนบันทึกเล่าเรื่องการทดสอบข้าวสารบรรจุถึงไว้เมื่อช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว หนึ่งปีผ่านไปด้วยความรวดเร็ว จากกระแสข้าวเน่า-ข้าวบูดเมื่อปีที่แล้ว จนนำมาสู่การทดสอบสิ่งปนเปื้อนในข้าวสารบรรจุถุง โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ. – ฉลาดซื้อ) และมูลนิธิชีวิถี (biothai – Thai-PAN) ผลทดสอบครั้งนั้นพบว่า มีการพบ โบรไมด์อิออน ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารรมควันข้าวที่เรียกว่า เมทิลโบรไมด์ ในตัวอย่างที่ตรวจสอบเกินกว่าร้อยละ 70 และมีหนึ่งตัวอย่างที่พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐานสากล (MRL CODEX) จนนำไปสู่การประกาศค่ามาตรฐานเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออนของประเทศไทย โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกทั้งยังมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังการใช้สารรมควันข้าวและสารเคมีทางการเกษตรอื่น ๆ ในข้าวโดยเข้มงวดของหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และเพื่ออัพเดทสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารในข้าวสารบรรจุถุง “ฉลาดซื้อ” ทุ่มไม่อั้นอีกครั้ง โดยท่าน บก.จอมเฮี้ยบ (แต่หน้ายิ้มตลอด) ได้บัญชาการให้มดงานตัวจ้อยทำตามสัญญาที่แจ้งท่านผู้อ่านไว้ว่าเราจะกลับมารายงานผลการทดสอบเรื่องนี้ให้กับท่านอีกครั้ง แน่นอนว่าหนังภาคต่อมันต้องมีอะไรที่มากกว่าภาคแรก ครั้งนี้เราเก็บตัวอย่างเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว ท่านบรรณาธิการบริหารมีดำริว่าครานี้ไม่ตรวจแบบเหวี่ยงแหทุกอย่างเหมือนครั้งที่แล้วแต่เรามุ่งหมายแค่ตัวเดียวไปเลย คือ เมทิลโบรไมด์ มดงานตัวจ้อยและสมัครพรรคพวกวิ่งโร่ไปตามล่าหาซื้อตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงในสี่กลุ่มคือ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ข้าวพันธุ์พื้นเมือง และข้าวผสม จำนวน 86 ตัวอย่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างโมเดิร์นเทรด ทั้งค้าปลีกและค้าส่งจำนวน 6 แบรนด์ ได้แก่ บิ๊กซี สาขาสะพานควาย, เทสโก้โลตัส สาขาบางปะกอกและสาขาดินแดง, ท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่พลาซ่าและสาขาพระราม 9, แมคโคร สาขาแจ้งวัฒนะ, เดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน,  และฟู้ดส์แลนด์สาขาหัวหมาก และท่านบรรณาธิการบริหารยังได้อนุเคราะห์เก็บตัวอย่างข้าวสารกระสอบด้วยตนเองจากร้านค้าแถวบ้านอีกจำนวน 5 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 91 ตัวอย่าง มาทดสอบหาโบรไมด์อิออน โดยส่งห้องปฏิบัติการ SGS ในวันที่ 29 ก.ค. 57 และใช้วิธีการในการทดสอบ (Method) ที่เรียกว่า GC/MS (Headspace) หรือก็คือการตรวจหาโบรไมด์อิออนของเมทิลโบรไมด์ที่ตกค้างในตัวอย่างโดยตรง ผลการทดสอบ สถานการณ์ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา พบการตกค้างของโบรไมด์อิออน ร้อยละ 1 คือ ข้าวขาวหอมมะลิ 100% ตราสุรินทร์ทิพย์ จากฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาหัวหมาก โดยพบการตกค้างที่ปริมาณน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกิโลกรัม(เปิดถุงทิ้งไว้หน่อยก็ระเหยหมด) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่เกิด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าการทดสอบข้าวสารทั้งแบบบรรจุถุงและบรรจุกระสอบครั้งนี้ ไม่พบการตกค้างของโบรไมด์อิออน หมายเหตุ...ครั้งนี้เราตรวจเฉพาะ เมทิลโบร์ไมด์ แต่ปัจจุบันยังมีสารรมควันข้าวอีกหลายตัว ซึ่งถ้ามีโอกาสจะนำเสนอให้กับท่านผู้อ่านฉลาดซื้อแน่นอน รู้จักเมทิลโบรไมด์ เมทิลโบรไมด์ มีชื่อเรียกอื่นว่าโบรโมมีเทน หรือดาวฟูม หรือเฮลอน 1001 เป็นสารควบคุมที่อยู่ใน Annex E (ยกเลิกการใช้ทั่วโลก) ของพิธีสารมอนทรีออล เป็นสารเคมีสังเคราะห์ ใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อย่างกว้างขวาง  สำหรับประเทศไทยถูกกำหนดให้ยกเลิกการใช้ในปี 2558 สารนี้ มีสูตรทางเคมีว่า CH3Br เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีอะตอมโบรมีนที่มีผลทำลายโอโซนได้มากกว่าคลอรีนถึง 30-60 เท่า และพบว่ามีปริมาณการปล่อยมากกว่า 40,000 ตัน หรือสองเท่าในทศวรรษที่ 80 และยังพบว่าปลดปล่อยจากแหล่งธรรมชาติ เช่น การเผาไหม้มวลชีวภาพถึง 30,000 – 50,000 ตัน/ปี และมากกว่าครึ่งของเมทิลโบรไมด์ที่ผลิตขึ้นจะถูกปล่อยสู่บรรยากาศ ในภาคเกษตร ใช้สำหรับป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ โดยใช้รมควันในดิน ธัญพืช โกดัง และเรือ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารกำจัดไรและกำจัดวัชพืชด้วย ในภาคอุตสาหกรรม ใช้เป็นสารในการสังเคราะห์สารเคมีอื่นๆ สารตัวนี้ระเหยเข้าสู่บรรยากาศได้รวดเร็ว และแพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ในที่สุดก็จะกลับสู่พื้นโลกโดยมากับฝนหรือน้ำค้าง ส่วนใหญ่อันตรายต่อคนจะเกิดจากการหายใจเข้าไป ทำความระคายเคืองต่อปอด และเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้เกิดการเสพติดได้ด้วย ค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ คือ 9 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ที่มา: ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ผู้เขียน รศ.สุชาตา ชินะจิตร 19 ก.ค. 2549                                                        

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 150 ตรวจคุณภาพข้าวสารบรรจุถุง ตอนที่ 2

เรื่องของข้าวสารบรรจุถุงยังไม่จบ หลังจากที่ฉลาดซื้อรายงานผลการทดสอบหาการปนเปื้อนของสารเคมีไปเมื่อฉบับที่แล้ว ฉบับนี้เรายังมีเรื่องของผลวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพของข้าวสารบรรจุถุงมาให้ติดตามกันต่อ การตรวจวิเคราะห์ด้านกายภาพ เป็นการตรวจวิเคราะห์เพื่อดูเรื่องของคุณภาพข้าวสารบรรจุถุง โดยจะดูเรื่องของสิ่งปนเปื้อนที่ปลอมปนมาในข้าวและปริมาณของเมล็ดข้าวที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน เช่น ปริมาณข้าวหัก ข้าวเมล็ดสีอื่น อย่างสีแดง สีเหลือง ข้าวเปลือก หรือ เมล็ดพืชชนิดอื่นๆ โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2549 และ มาตรฐานสินค้าข้าวขาว พ.ศ. 2555 ที่รับรองโดยกระทรวงพาณิชย์   มาตรฐานข้าวขาวหอมมะลิ 100% และ ข้าวขาว 100% (ชั้น 3) -ข้าวเต็มเมล็ด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 -ข้าวหักที่มีความยาวตั้งแต่ 5.0 ส่วนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 8.0 ส่วน  ไม่เกินร้อยละ 5.0 ในจำนวนนี้อาจมีข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึง 5.0 ส่วน และไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 ไม่เกินร้อยละ 0.5 และปลายข้าวขาวซีวัน ไม่เกินร้อยละ 0.1 นอกนั้นเป็นข้าวที่มีความยาวตั้งแต่ 8.0 ส่วนขึ้นไป -ข้าวและสิ่งที่อาจมีปนได้ ข้าวเมล็ดแดง     ห้ามพบ ข้าวเมล็ดเหลือง ไม่เกินร้อยละ 0.2 ข้าวเมล็ดท้องไข่  ไม่เกินร้อยละ 6.0 ข้าวเมล็ดเสีย      ไม่เกินร้อยละ 0.25 ข้าวเหนียวขาว    ไม่เกินร้อยละ 1.5 ข้าวเปลือก         ไม่เกิน 7 เมล็ดต่อข้าว 1 กิโลกรัม ข้าวเมล็ดลีบ ข้าวเมล็ดอ่อน เมล็ดพืชอื่น และวัตถุอื่น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันไม่เกินร้อยละ 0.2   -ระดับการสี สีดีพิเศษ ที่มา : ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง  กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย   สรุปภาพรวมผลการทดสอบคุณภาพทางกายภาพของข้าวสารบรรจุถุง กลุ่มข้าวหอมมะลิ 100% จำนวนตัวอย่างข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% ที่ฉลาดซื้อสุ่มสำรวจมีทั้ง 15 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อดังต่อไป 1. ลายกนก 2.สุรินทร์ทิพย์ 3.ข้าวโรงเรียน 4. ปทุมทอง 5. cooking for fun 6.ฉัตรทอง 7.ข้าวเบญจรงค์ 8.ข้าวหอมมะลิแปดริ้ว 9.ตราเกษตร 10.ติ๊ก ชีโร่ 11.ดอกบัว 12.ท๊อปส์ 13.หงษ์ทอง 14.โฮมเฟรชมาร์ช จัสมิน และ 15.ชามทอง ซึ่งจากผลการวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ ข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% บรรจุถุงทั้ง 15 อย่าง พบเรื่องที่น่ายินดี คือ ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์ในเรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า 60% อีกเรื่องที่ตัวอย่างส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์คือ ปริมาณของข้าวหัก ที่กำหนดว่าห้ามเกิน 8% จากการวิเคราะห์มีเพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่สูงเกินมาตรฐาน คือตัวอย่างยี่ห้อปทุมทอง ขณะที่ผลการวิเคราะห์เรื่องสิ่งปลอมปนในข้าว พบว่ามีหลายตัวอย่างพบการปนของข้าวเมล็ดแดง (ข้าวที่สีต่ำกว่ามาตรฐาน) และข้าวเมล็ดเหลือง ที่กำหนดไว้ว่าห้ามพบสำหรับข้าวเมล็ดแดง และ ไม่เกิน 0.2% สำหรับข้าวเมล็ดเหลือง ตัวที่พบได้แก่ ลายกนก, สุรินทร์ทิพย์, ข้าวโรงเรียน, ปทุมทอง, ข้าวเบญจรงค์, ตราเกษตร, ติ๊ก ชีโร่, ดอกบัว, โฮมเฟรชมาร์ช จัสมิน และ ชามทอง ซึ่งปริมาณที่เกินเกณฑ์มานั้นก็ไม่ได้มากมายอะไร ไม่ถึง 1% ส่วนการปลอมปนของสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ อย่าง ข้าวเมล็ดท้องไข่ ข้าวเมล็ดเสีย ข้าวเปลือก จากผลการวิเคราะห์ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ในเรื่องการคุณภาพการสีทีกำหนดไว้ว่าต้องเป็นระดับการสีดีพิเศษ ข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% บรรจุถุงทั้ง 15 ตัวอย่าง มีระดับการสีอยู่ที่สีดีเท่านั้น   กลุ่มข้าวหอมผสม เพราะมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยของกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ข้าวสารบรรจุถุงหากจะใช้คำว่า “ข้าวหอมมะลิ” ในทางการค้า ข้าวที่นำมาบรรจุถุงขายต้องมีปริมาณข้าวหอมมะลิไม่น้อยกว่า 92% หากน้อยกว่านี้ใช้ได้เพียงแค่คำว่า ข้าวหอม เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะลักษณะเป็นข้าวผสม คือ มีข้าวหอมมะลิอยู่ประมาณ 70% จำนวนข้าวทั้งหมด อีก 30% ที่เหลือเป็นข้าวขาวธรรมดา ซึ่งข้าวหอมมะลิที่ใช้มักเป็นข้าวหอมมะลิที่เกรดคุณภาพ 10% หรือ 5% ซึ่งคุณภาพจะแตกต่างจากข้าวหอมมะลิเกรดคุณภาพ 100% ที่ยอมให้มี % ปริมาณของข้าวหักและสิ่งปลอมปน เช่น ข้าวเมล็ดแดง ข้าวเมล็ดเหลือง ข้าวเมล็ดเสีย ข้าวเปลือก ข้าวเมล็ดลีบ ได้มากกว่า สำหรับผลการวิเคราะห์ พบว่าข้าวที่อยู่ในกลุ่มข้าวหอมผสม ซึ่งมีตัวอย่างจำนวน 6 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.บัวทิพย์ 2.ธรรมคัลเจอร์ ข้าวหอมคุณภาพคัดพิเศษ 3.ปิ่นเงิน ข้าวหอมคัดพิเศษ 4.ข้าวแสนดี ข้าวหอมยโสธร 5.ข้าวหอมผสมเอโร่ และ 6.สุพรรณหงส์ ข้าวหอมสุรินทร์ นอกจากนี้ยังมีอีก 1 ตัวอย่าง ที่ไม่ได้แจ้งทั้งเกรดคุณภาพของข้าวและปริมาณของข้าว คือยี่ห้อ ไก่แจ้เขียว บอกแต่เพียงว่าเป็นข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ซึ่งเราจะนำตัวอย่างในกลุ่มนี้เทียบโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานข้าวหอมมะลิ 100% ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด ส่วนเรื่องการปลอมปนนั้น มีหลายยี่ห้อที่พบการปลอมปนของเมล็ดข้าวเหลืองเกินมาตรฐาน ได้แก่ยี่ห้อ ธรรมคัลเจอร์, ข้าวแสนดี และ ปิ่นเงิน ซึ่งตัวอย่างข้าวสารถุงยี่ห้อ ปิ่นเงิน ข้าวหอมคัดพิเศษ พบว่าตกเกณฑ์มาตรฐานหลายข้อ ทั้ง % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน การปนของเมล็ดข้าวแดงและเมล็ดข้าวเหลือง เรื่องคุณภาพการสีทุกตัวอย่างอยู่ในระดับ สีดี   กลุ่มข้าวหอมปทุม มาตรฐานข้าวหอมปทุมตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เป็นมาตรฐานแบบเดียวกับมาตรฐานข้าวหอมมะลิ 100% ซึ่งในตัวอย่างข้าวสารถุงที่ฉลาดซื้อสุ่มมาวิเคราะห์นั้น มี 2 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าเป็นข้าวหอมปทุม 100% คือ 1.ท๊อปส์ ข้าวหอมปทุมธานี และ 2.ยี่ห้อบิ๊กซี ข้าวหอมปทุม ทั้ง 2 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์เรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด แต่ทั้ง 2 ตัวอย่าง ตกเกณฑ์เรื่อง % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน ส่วนเรื่องสิ่งปลอมปน ท๊อปส์ ข้าวหอมปทุมธานี พบปริมาณข้าวเมล็ดแดงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนบิ๊กซี ข้าวหอมปทุม พบปริมาณข้าวเมล็ดเหลืองเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนสิ่งปลอมปนอื่นๆ ผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 ตัวอย่าง เรื่องระดับคุณภาพการสี ทั้ง 2 ตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ สีดี ซึ่งตามมาตรฐานต้องเป็น สีดีพิเศษ   กลุ่มข้าวขาว มาตรฐานทางกายภาพของข้าวขาวจะถูกแบ่งตามเกรดคุณภาพของข้าว ไล่ตั้งแต่ ข้าวขาว 100% ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% ข้าวขาว 15% ข้าวขาว 25% และ ข้าวขาว 35% ซึ่งเกณฑ์แต่ละประเภทก็จะเคร่งครัดลดหลั่นกันไป โดยตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่ฉลาดซื้อสุ่มเก็บมาวิเคราะห์นั้น มีตัวอย่างครบทุกเกรดข้าว รวมทั้งหมด 21 ตัวอย่าง ข้าวขาว 100% มีด้วยกัน 7 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ข้าวพันดี 2.ดอกบัว ตงฮั้ว 3.ข้าวแสนดี 4.มาบุญครอง 5.ช้างเผือก 6.เอโร่ ข้าวขาว 100% และ 7.ดอกบัว ข้าวขาวตาแห้ง ซึ่งผลการวิเคราะห์เรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด พบว่ามีเพียง 1 ยี่ห้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ ดอกบัว ตงฮั้ว ที่ระบุว่าเป็นข้าวขาวเสาไห้ ส่วนเกณฑ์ที่มีหลายตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ คือเรื่องส่วนของข้าวหัก และ% ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน รวมถึงเรื่องการปนของข้าวเมล็ดแดงและข้าวเมล็ดเสีย ตัวอย่างข้าวในกลุ่มนี้ที่ผลวิเคราะห์ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ มียี่ห้อ ดอกบัว ข้าวขาวตาแห้ง ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องการปนของข้าวเมล็ดแดงเรื่องเดียวเท่านั้น เรื่องคุณภาพการสี ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์สีดี ซึ่งตามมาตรฐานต้องเป็นสีดีพิเศษ ข้าวขาว 5% มีจำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ตราฉัตร 2.โค-โค่ ข้าวขาวพิมพา 3.ข้าวมหานคร 4.ข้าวแสนดี ข้าวหอมทิพย์ และ 5. ตราคุ้มค่า ข้าวหอม ในกลุ่มนี้ตัวอย่างส่วนใหญ่จะตกเกณฑ์ในเรื่องของส่วนของข้าวหัก และ % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน  ทั้ง ตราฉัตร, โค-โค่ ข้าวขาวพิมพา และ ข้าวมหานคร ตัวอย่างในกลุ่มข้าวขาว 5% ไม่ค่อยพบการตกเกณฑ์เรื่องการปลอมปนของข้าวเมล็ดแดงหรือเมล็ดเหลือง แต่พบตกเกณฑ์การปนของข้าวเมล็ดท้องไข่ใน 2 ตัวอย่าง คือ ตราฉัตร และ ข้าวมหานคร ระดับคุณภาพการสี ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์สีดี ซึ่งถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ข้าวขาว 10% มี 2 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ชาวนาไทย ข้าวเสาไห้ และ 2.ข้าวหอมฉัตรอรุณ สำหรับตัวอย่าง ชาวนาไทย ข้าวเสาไห้ ตกเกณฑ์ในเรื่อง ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ ปลายข้าวซีวัน ส่วน ข้าวหอมฉัตรอรุณ ตกเกณฑ์เรื่อง ส่วนของข้าวหัก % ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ % การปลอมปนของข้าวเมล็ดเหลือง ข้าวขาว 15% มี 2 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ตราฉัตร และ 2.พนมรุ้ง ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่างตกเกณฑ์เรื่องเดียวกัน คือ ส่วนของข้าวหัก % ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ % ปลายข้าวซีวัน โดยเฉพาะ พนมรุ้ง ที่ผลวิเคราะห์ที่ได้ตกจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ค่อนข้างเยอะ ข้าวขาว 25% มี 1 ตัวอย่าง คือยี่ห้อ ข้าวอิ่มทิพย์ ซึ่งผลวิเคราะห์ตกเกณฑ์เรื่อง % ปลายข้าวซีวัน และการปนของเมล็ดข้าวเหลือง ข้าวขาว 35% มีจำนวน 4 ตัวอย่าง 1.รุ้งทิพย์ 2.คุ้มค่า 3.ถูกใจ และ 4.แฮปปี้บาท ตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงในกลุ่มนี้ ตกเกณฑ์ในเรื่องของส่วนของข้าวหัก และ % ปลายข้าวซีวัน   ฉลาดซื้อแนะนำ การเลือกซื้อข้าวสารถุงหากต้องการชนิดของข้าวสารตรงตามกับที่ต้องการ ต้องไม่ลืมที่จะอ่านรายละเอียดส่วนประกอบที่อยู่บนฉลากข้างถุงเด็ดขาด เพราะข้าวสารถุงหลายยี่ห้อที่เป็นข้าวแบบผสม ถ้าเราไม่อ่านส่วนประกอบเราจะไม่รู้เลยว่า ข้าวที่ผสมกันนั้น เป็นข้าวหอมกี่ % ข้าวขาวกี่ % และเป็นข้าวเกรดไหน ซึ่งเมื่อรู้ว่าข้าวยี่ห้อนี้เป็นข้าวเกรดอะไร เราก็สามารถนำไปเปรียบเทียบกับข้าวเกรดเดียวกันยี่ห้ออื่นๆ เพื่อเลือกดูที่ยี่ห้อที่คุ้มค่าคุ้มราคามากที่สุด ส่วนของเมล็ดข้าว คือ ส่วนของข้าวเต็มเมล็ดแต่ละส่วนที่แบ่งตามความยาวของเมล็ดออกเป็น 10 ส่วนเท่า ๆ กัน ข้าวเต็มเมล็ด คือ เมล็ดข้าวที่อยู่ในสภาพ เต็มเมล็ด ไม่มีส่วนใดหักและให้รวมถึงเมล็ดข้าวที่มีความยาวตั้งแต่ 9ส่วนขึ้นไป ข้าวหัก คือ เมล็ดข้าวแตกเป็นซีกที่มีเนื้อที่เหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 80 ของเมล็ด ปลายข้าวซีวัน คือ เมล็ดข้าวหักขนาดเล็กที่ร่อนผ่านตะแกรงเบอร์ 7 ตะแกรงเบอร์ 7 คือ ตะแกรงโลหะรูกลม หนา 0.79 มิลลิเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางรู 1.75 มิลลิเมตร ข้าวเมล็ดแดง คือ เมล็ดข้าวที่มีรำสีแดงหุ้มอยู่ทั้งเมล็ดหรือติดอยู่เป็นบางส่วนของเมล็ด ข้าวเมล็ดเหลือง คือ เมล็ดข้าวที่มีบางส่วนของเมล็ดกลายเป็นสีเหลืองอย่างชัดแจ้ง ข้าวเมล็ดท้องไข่ คือ เมล็ดข้าวเจ้าที่เป็นสีขาวขุ่นเหมือนช็อล์คมีเนื้อที่ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปของเนื้อที่เมล็ดข้าว ข้าวเมล็ดเสีย คือ เมล็ดข้าวที่เสียอย่างเห็นได้ชัดแจ้งด้วยตาเปล่าซึ่งเกิดจากความชื้น ความร้อน เชื้อรา แมลง หรืออื่น ๆ ข้าวเมล็ดลีบ คือ เมล็ดข้าวที่ไม่เจริญเติบโตตามธรรมดาที่ควรจะเป็น มีลักษณะแฟบ แบน ระดับการสี แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1.สีดีพิเศษ คือการขัดสีเอารำออกทั้งหมดจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามเป็นพิเศษ 2.สีดี คือ การขัดสีเอารำออกทั้งหมดจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามดี 3.สีดีปานกลาง คือการขัดสีเอารำออกเป็นส่วนมากจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามพอสมควร และ 4.สีธรรมดา คือการขัดสีเอารำออกแต่เพียงบางส่วน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 149 บันทึกมดงาน : เรื่องของข้าวสารถุง

“ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้ ค่อนข้างพิเศษ เนื่องจากสิ่งที่เรานำมาทดสอบคราวนี้เป็นสินค้าที่อยู่ท่ามกลางกระแสที่ต้องถือว่าเป็น “เรื่องเล่าสนั่นเมือง” (talk of the town) ประเด็นนี้ร้อนขนาดที่ว่าเกือบ 2 เดือนแล้วยังมีเรื่องให้เป็นข่าวได้ตลอด ใบ้ให้อีกนิดว่าเป็นของที่คนไทยส่วนใหญ่ทานกันทุกวัน ติ๊ก.ต๊อก.ติ๊ก.ต๊อก รู้หรือยังครับว่าผมกำลังพูดถึงอะไร……ถูกต้องนะคร้าบ…ข้าวสารถุง นั่นเอง ซึ่งในเมื่อเป็นเรื่องร้อน มีหรือท่านผู้อ่านฉลาดซื้อจะไม่ได้รับข้อมูล งานนี้หัวหน้ากองบรรณาธิการบัญชาการด้วยตนเอง มีคำสั่งฟ้าผ่าเมื่อปลายเดือนมิถุนายนให้กระผมไปเก็บตัวอย่างข้าวสารถุงมาทดสอบหาความไม่ปลอดภัยมานำเสนอให้กับผู้บริโภคทุกท่านให้จงได้ งานนี้งานใหญ่ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและฉลาดซื้อ จึงเชื้อเชิญมูลนิธิชีววิถีและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(ไทยแพน) มาร่วมด้วยช่วยกัน(จ่ายเงินค่าทดสอบ) เพื่อตอบโจทย์สำคัญที่กำลังร้อนเรื่องข้าวมีสารเคมีปนเปื้อนหรือไม่   เมื่อบัญชามามีหรือกระผมจะนิ่งเฉย รีบจรลีไปเก็บตัวอย่างข้าวสารถุงจากซูเปอร์มาเก็ต และห้างโมเดิร์นเทรด ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง 6 แห่ง ได้แก่ ห้างเทสโก้ โลตัส, ห้างบิ๊กซี, ห้างแมคโคร, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, และโฮมเฟรชมาร์ท, กับร้านสะดวกซื้อ 1 แห่ง คือ เซเว่นอีเลฟเว่น รวม 7 แห่ง ในบัดดล แต่ด้วยสินค้ามีเยอะจึงใช้เวลาพอสมควร งานนี้ดำเนินการระหว่างวันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2556 ได้ข้าวถุงจำนวน 46 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ 100% จำนวน 15 ตัวอย่าง และข้าวขาวกับข้าวหอมอื่น ๆ อีก 31 ตัวอย่าง โดยส่งตรวจหาคุณภาพข้าวสารถุงใน 5 ด้านที่สำคัญ คือ 1)การตรวจคุณภาพข้าวสารถุง ตามมาตรฐานข้าวสาร กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 2)สารเคมีทางการเกษตร ยาฆ่าแมลง 2 กลุ่ม ได้แก่ ออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต 3) ยากันรา (fungicide) 4) สารรมควันข้าวเมธิลโบรไมด์ และ 5)  ข้าวสารถุงที่จำหน่ายในท้องตลาดสารพิษจากเชื้อรา – อะฟลาท็อกซิน กับห้องทดสอบที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ผลการทดสอบ สองอาทิตย์ผ่านไป ตอนเช้าของวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 รายงานผลทดสอบก็ออกจนได้ เราพบว่า…ทั้ง 46 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต รวมทั้งไม่พบการตกค้างของยากันรา (fungicide)  อย่างไรก็ตาม พบการตกค้างของสารรมควันข้าวเมธิลโบรไมด์ในตัวอย่างจำนวนมาก ซึ่งมีข้อมูลโดยสรุปคือ ข้าวสารถุงร้อยละ 26.1 หรือจำนวน 12 ตัวอย่างไม่พบสารตกค้างทุกกลุ่ม ได้แก่ 1.ลายกนก ข้าวหอมมะลิแท้ 100%, 2.ข้าวพันดี ข้าวขาว 100% ชั้นดีพิเศษ, 3.ธรรมคัลเจอร์ ข้าวหอมคุณภาพคัดพิเศษ, 4.รุ้งทิพย์ ข้าวขาวเสาไห้, 5.บัวทิพย์ ข้าวหอม, 6.ตราฉัตร ข้าวขาว 15%, 7.ข้าวมหานคร ข้าวขาวคัดพิเศษ, 8.สุพรรณหงส์ ข้าวหอมสุรินทร์, 9.เอโร่ ข้าวขาว 100%, 10.ข้าวแสนดี ข้าวหอมทิพย์, 11.โฮมเฟรชมาร์ท จัสมิน ข้าวหอมมะลิ 100% และ 12.ชามทอง ข้าวขาวหอมมะลิ 100% มีข้าวสารถุง 34 ตัวอย่างหรือร้อยละ 73.9 ที่พบสารรมควันข้าวเมทธิลโบรไมด์ ตั้งแต่ 0.9-67 มิลลิกรัม/กิโลกรัมโดยตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่พบการปนเปื้อนสูงที่สุด คือยี่ห้อ โค – โค่ ข้าวขาวพิมพา พบการปนเปื้อนสูงถึง 67.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ(codex) ที่กำหนดไว้ให้มีการตกค้างได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ข้อสังเกต ใน 34 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของเมธิลโบรไมด์ พบว่ามี 5 ตัวอย่าง ที่มีการตกค้างไม่เกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ แต่พบการตกค้างสูงกว่า 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ประกอบด้วย ข้าวแสนดี ข้าวหอม พบการปนเปื้อน 41 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ข้าวตราดอกบัว ข้าวเสาไห้ พบการปนเปื้อน 29.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ข้าวตราดอกบัว ข้าวตาแห้ง พบการปนเปื้อน 28.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, สุรินทิพย์ ข้าวหอมมะลิ พบการปนเปื้อน 27.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และข้าวถูกใจ ข้าวขาว พบการปนเปื้อน 27.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แม้ว่าการตกค้างส่วนใหญ่ที่พบจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของ codex แต่ว่าในหลายประเทศมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่สูงกว่า codex เช่น อินเดียกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, จีน กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, และไต้หวัน กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเมื่อนำผลทดสอบครั้งนี้มาประกอบการพิจารณา หากเรานำตัวอย่างที่ทดสอบนี้ส่งไปขายต่างประเทศ จะมี 13 ตัวอย่าง (ร้อยละ 28) ที่ไม่สามารถส่งออกไปประเทศจีนได้ และจะมีสูงถึง 25 ตัวอย่าง (ร้อยละ 54) ที่ไม่สามารถส่งไปขายประเทศไต้หวันได้ สถานการณ์ปัจจุบันหลังการเผยแพร่ผลการทดสอบ ผลการทดสอบที่ผู้อ่านเห็นนี้ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 และหลังจากนั้นก็มีการตอบสนองจากหน่วยงานรัฐโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกับคณะกรรมการอาหารออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ คุมสารเคมีรมควันข้าวโดยร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่...) พ.ศ.2556 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 2) ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศเดิมที่อาศัยอำนาจตาม พรบ.อาหาร พ.ศ.2522 โดยมีการเพิ่มชนิดและปริมาณสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในอาหารในบัญชีหมายเลข 1 เข้าไป 3 รายการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ไฮโดรเจน ฟอสไฟด์ ให้มีปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมของอาหาร (มก./กก.) สารเมทิลโบรไมด์ ไม่เกิน 0.01 มก./กก. และสารซัลเฟอริล ฟลูออไรด์ ไม่เกิน 0.1 มก./กก. และจะเร่งจัดทำร่างให้แล้วเสร็จเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามส่งต่อเพื่อประกาศลงในราชกิจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ทันที นอกจากนั้นยังได้ทำให้มาตรฐานการผลิตที่ดีขั้นพื้นฐาน (Primary GMP) กลายเป็นมาตรฐานบังคับ (จากเดิมเป็นแบบสมัครใจ) สำหรับข้าวบรรจุถุงและข้าวกระสอบแบ่งขาย และเร่งอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศเพื่อให้พร้อมปฏิบัติการในพื้นที่ ด้านผู้ประกอบการ ได้มีการเก็บสินค้าล็อตที่มีปัญหาประมาณ 3,000 ถุง ออกจากท้องตลาดพร้อมประกาศให้ผู้บริโภคนำสินค้าคืนให้บริษัท ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ เป็นวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ท่านผู้อ่านที่มีคำถามว่า เรื่องนี้จะจบอย่างไร และความปลอดภัยของข้าวสารถุงของพวกเราเหล่าผู้บริโภคทุกคนจะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องให้สมาชิก “ฉลาดซื้อ” ทุกท่าน คอยช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิดล่ะครับ   ภาคผนวก รู้จักเมธิลโบรไมด์ เมทิลโบรไมด์ มีชื่อเรียกอื่นว่าโบรโมมีเทน หรือดาวฟูม หรือเฮลอน 1001 เป็นสารควบคุมที่อยู่ใน Annex E (ยกเลิกการใช้ทั่วโลก) ของพิธีสารมอนทรีออล เป็นสารเคมีสังเคราะห์ ใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อย่างกว้างขวาง  สำหรับประเทศไทยถูกกำหนดให้ยกเลิกการใช้ในปี 2558 นี้ สารนี้ มีสูตรทางเคมีว่า CH3Br เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีอะตอมโบรมีนที่มีผลทำลายโอโซนได้มากกว่าคลอรีนถึง 30-60 เท่า และพบว่ามีปริมาณการปล่อยมากกว่า 40,000 ตัน หรือสองเท่าในทศวรรษที่ 80 และยังพบว่าปลดปล่อยจากแหล่งธรรมชาติ เช่น การเผาไหม้มวลชีวภาพถึง 30,000 – 50,000 ตัน/ปี และมากกว่าครึ่งของเมทิลโบรไมด์ที่ผลิตขึ้นจะถูกปล่อยสู่บรรยากาศ ในภาคเกษตร ใช้สำหรับป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ โดยใช้รมควันในดิน ธัญพืช โกดัง และเรือ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารกำจัดไรและกำจัดวัชพืชด้วย ในภาคอุตสาหกรรม ใช้เป็นสารในการสังเคราะห์สารเคมีอื่นๆ สารตัวนี้ระเหยเข้าสู่บรรยากาศได้รวดเร็ว และแพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ในที่สุดก็จะกลับสู่พื้นโลกโดยมากับฝนหรือน้ำค้าง ส่วนใหญ่อันตรายต่อคนจะเกิดจากการหายใจเข้าไป ทำความระคายเคืองต่อปอด และเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้เกิดการเสพติดได้ด้วย ค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ คือ 9 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ความเป็นพิษในระยะสั้นจะมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ปวดศรีษะ มองเห็นไม่ชัด พูดแบบลิ้นพันกัน ถ้าได้รับปริมาณเข้มข้นสูงภายใน 2-3 ชั่วโมงหรืออาจนานถึง 2-3 วัน จะมีอาการเจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด ผิวหนังเป็นผื่นพุพอง ถ้าได้รับระยะยาวระบบประสาทส่วนกลางจะถูกทำลาย มองเห็นไม่ชัด แขนขาชา อาจถึงกับหมดสติ เมื่อถูกผิวหนังจะเป็นแผลคัน หากกลืนกินจะกัดกระเพาะ ปัจจุบันอยู่ในสถานะ   ที่มา: ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ผู้เขียน รศ.สุชาตา ชินะจิตร 19 ก.ค. 2549  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 136 A to Z

ว้าว !! ฉลาดซื้อ ขึ้นปีที่ 19 แล้ว สาวสะพรั่งกันทีเดียว โอกาสดีแบบนี้ เราเลยขอทบทวนเรื่องราวข่าวสารในแวดวงงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ฉลาดซื้อและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหยิบจับ มาร้อยเรียงผ่านตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้ง 26 ตัว เพื่อเป็นอภินันท์แก่ทุกท่านนะคะ         Asbestos-แร่ใยหิน แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ ในกลุ่มแร่ใยหินสีขาว คือตัวที่ 50 ประเทศทั่วโลกได้เลิกใช้ไปแล้ว แต่ประเทศไทยยังมีใช้กันอยู่ แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในสินค้าชนิดต่างๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ท่อซีเมนต์ และยังผสมในผ้าเบรกรถยนต์ ตลอดจนอุปกรณ์ทนไฟต่างๆ ด้วย ปัญหาที่ทำให้แร่ใยหินถูกห้ามในหลายประเทศคือ อนุภาคของแร่ใยหินสามารถฟุ้งกระจายสู่ปอด ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ที่เกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอดอักเสบจากแอสเบสตอส โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เมโสเทลีโอมา (Mesothelioma) ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุจากแร่ใยหินอย่างเจาะจง ถือเป็นภัยเงียบที่แฝงตัวมิดชิดอยู่ในบ้านเรือนของเรา   กรณีประเทศไทยยังต่อสู้กันอยู่ระหว่างฝ่ายผู้ผลิตที่พยายามให้ข้อมูลว่า การใช้แอสเบสตอสปลอดภัยกับกลุ่มนักวิชาการและเครือข่ายผู้บริโภคที่พยายามผลักดันให้เกิดนโยบายยุติการใช้และห้ามนำเข้าแร่ใยหิน จนเป็นเหตุให้ฝ่ายผู้ได้รับความเสียหายในเชิงธุรกิจจ้องจะฟ้องร้องนักวิชาการที่ทำงานเพื่อสังคม นับเป็นภัยอีกรูปแบบหนึ่งจากแร่ใยหินเช่นกัน   BMTA Bangkok Mass Transit Authority- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) เว็บไซต์ของ ขสมก. ระบุว่าเขาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทกิจการสาธารณูปโภค ภายใต้กระทรวงคมนาคม ที่เน้นให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วยการจัดเก็บค่าโดยสารในราคาต่ำกว่าทุน เช่น รถเมล์ขาวแดง ต้นทุนต่อเที่ยวของเขาอยู่ที่ 933 บาท ก็เก็บเราแค่คนละ 6.50 บาท (หรืออาจไม่ต้องเสียเลย ถ้าเรี่ยวแรงและข้อเข่าดีพอที่จะไล่ตาม “รถเมล์ฟรี วิ่งหนีประชาชน” ได้ทัน) แต่ทั้งนี้ผู้มีรายได้น้อยจะต้องมีบ้านเรือนอยู่ในเส้นทางที่เขาจัดรถเมล์ให้ มิเช่นนั้นจะต้องนั่งรถตู้ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 20 บาทต่อเที่ยว กรุงเทพฯ มี “มวลชน” ที่ต้องได้รับการขนส่งเกือบ 6 ล้านคน แต่การสำรวจ Asia Green City Index ซึ่งเป็นการประเมินเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่ในเอเชีย เมื่อปีที่แล้ว โดย the Economist Intelligence Unit พบว่ากรุงเทพฯ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเมืองหลวงที่มีถนนหนทางและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการขนส่งมวลชนอยู่ในระดับ “ต่ำกว่ามาตรฐาน” ในขณะที่กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์เพื่อนบ้านของเราถูกจัดไว้ในกลุ่ม “สูงกว่ามาตรฐาน” เดียวกับกรุงโซล และฮ่องกงซึ่งถือได้ว่ามีระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดในโลกไปแล้ว   Copyright ดีแน่ แต่ต้องสมดุล สหพันธ์ผู้บริโภคสากล หรือ Consumers International ได้ทำการสำรวจกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาใน 30 ประเทศ เมื่อต้นปี 2012 เพื่อตามหาประเทศที่ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงความรู้ในงานอันมีลิขสิทธิ์มากที่สุด ผลการสำรวจพบว่า แชมป์ใหม่ปีนี้ได้แก่ อิสราเอล ซึ่งขยับขึ้นจากเดิม 3 อันดับ ตามด้วยเพื่อนบ้านของเราอินโดนีเซีย ที่ขยับขึ้นมา 5 อันดับจากปีก่อนหน้า และอินเดียซึ่งรั้งตำแหน่งที่ 3 เหมือนเดิม ตามด้วยนิวซีแลนด์และอาร์เจนตินา ประเทศเหล่านี้มีการตีความคำว่า “การใช้อย่างเป็นธรรม” ได้กว้างขวาง และเอื้อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลความรู้มากที่สุด ส่วนประเทศไทยของเราที่แข็งขันเรื่องการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ปีนี้ได้ที่ 4 จากท้าย (ตกจากเดิมลงมา 1 อันดับ) แต่ยังดีกว่าอังกฤษ อาร์เจนตินา และจอร์แดน   Disaster-ภัยพิบัติ หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายๆ คนคงมีมุมมองต่อภัยธรรมชาติที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกับคน กทม. ที่อาจจะเคยคิดว่าภัยธรรมชาติเป็นเรื่องไกลตัว แต่ตอนนี้ทุกคนรับรู้แล้วว่ามันอยู่ใกล้ซะยิ่งกว่าใกล้ (ก็เล่นท่วมถึงห้องนอนไม่เรียกใกล้มากๆ แล้วจะเรียกว่าอะไร) ปีนี้ก็ยังคงต้องลุ้นกันอยู่ว่าน้ำจะมาอีกมั้ย ขณะที่การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัยก็ยังมีปัญหาอย่างที่เห็นเป็นข่าว   แต่ไม่ว่าจะยังไงเราทุกคนก็ควรเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีเว็บไซต์ไว้ให้เราสามารถติดตามเฝ้าระวังหรือหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (www.ndwc.go.th), ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (www.thaiflood.com), มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (www.paipibut.org) และ ระบบสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับอุทกภัย (www.flood.rmutt.ac.th)   Eco Design-ดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ Eco Design  (Economic & Ecological Design) หรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของมวลมนุษยชาติ Eco Design เป็นสินค้าที่พึ่งพาหรือรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งลดการใช้พลังงาน ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติหรือได้จากขบวนการรีไซเคิล เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานด้านอย่างคุ้มค่า ง่ายต่อการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง ซึ่งหลายประเทศก็เริ่มให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ Eco Design  กันมากขึ้น เพราะนอกจากจะดีต่อโลกของเราแล้ว ความเป็น Eco Design  ยังเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบรรดาผู้ผลิตด้วยเช่นกัน สำหรับบ้านเราสินค้า Eco Design อาจยังไม่มีให้เห็นหรือเป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็มีความพยายามในการส่งเสริม อย่างเช่นการจัดการประกวด Thailand Eco Design Award   โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่พร้อมให้ความรู้และคำแนะนำเรื่อง Eco Design แก่บรรดาผู้ผลิตที่อยากช่วยโลก   Ft-ค่าไฟฟ้าผันแปร เดือน มิ.ย -ส.ค 55 จะเก็บเพิ่ม 30 ส.ต./หน่วย ค่าเอฟทีในบิลค่าไฟเคยสังเกตกันไหม ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนก็หมายความว่า เราต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มกันนะพี่น้อง บ้านใครใช้กี่หน่วยก็เอา 0.3 คูณเข้าไป นั่นคือราคาที่ต้องจ่ายเพิ่ม เช่นใช้ไฟอยู่ 300 หน่วย ก็จ่ายเพิ่มจากเดิมอีก 90 บาท ค่าเอฟทีคืออะไร ขอเรียกมันง่ายๆ ว่าการคิดกำไรสองชั้นของ(พ่อค้า)ไฟฟ้า ปกติเวลาใครจะขายสินค้าอะไรส่วนใหญ่เขาก็เอาต้นทุนคือพวกวัตถุดิบต่างๆ มาบวกกับค่าประกอบการ เช่น ราคาทุน 10 บาท ค่าประกอบการ 3 บาท แล้วขายในราคา 15 บาท คือเป็นกำไรสุทธิ 2 บาท แต่เอฟทีคือ เอาค่าประกอบการมาคิดใหม่ ให้ผันแปรไปได้ตามสถานการณ์ เช่น ราคาทุน 10 บาท กำไรสุทธิ 2 บาท แต่ค่าประกอบการ 3 บาทอาจไม่ใช่แล้ว เพราะจะผกผันไปได้ตลอด ดังนั้นราคาขายจริง อาจเป็น 15 บาท 16 บาท หรือ 18 บาทก็ได้ ถือเป็นกำไรชั้นที่สอง เรียกว่าพ่อค้าไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับค่าประกอบการเลย สินค้าอื่นทำแบบนี้ไม่ได้หรอก แต่กิจการไฟฟ้ามันถูกผูกขาดทำได้สบายอยู่แล้ว ค่าเอฟทีในบิลค่าไฟจะผันแปรไปตามต้นทุนของเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้ ร้อยละ 70 เป็นก๊าซธรรมชาติ ที่ต้องซื้อจาก ปตท. เท่านั้นผูกขาดกันไปอีกชั้น ซื้อถูกก็ไม่ได้ เห็นแต่ซื้อแพงตลอด แต่การไฟฟ้าเขาไม่สนใจหรอกเพราะภาระตรงนี้มันส่งต่อมาที่ผู้บริโภคในรูปแบบของค่าเอฟทีแล้วไง แว่วว่าเดือน ก.ย. 55 ก็จะปรับเพิ่มอีก 8 สตางค์ ซ้ำเติมกันให้เต็มที่ท่าน อย่าได้เกรงใจ   GMO-พืชดัดแปรพันธุกรรม พืชดัดแปรพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms- GMO) ประเทศไทยเราไม่อนุญาตตามกฎหมายให้มีการปลูกทดสอบในพื้นที่เปิดและผลิตจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ แต่การสำรวจ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2554 ถึงเดือนเมษายน 2555 ทั้งหมด 319 ตัวอย่าง ก็ยังพบการปะปนพืชจีเอ็มโอในฝ้าย 9 ตัวอย่าง ในมะละกอ 29 ตัวอย่าง ซึ่งเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอยังถูกผูกขาดโดยบรรษัทข้ามชาติ ถ้าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้หลุดออกไปอยู่ในมือเกษตรกรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เจ้าของสิทธิบัตรย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเกษตรกรได้ เรื่องฉลากจีเอ็มโอของกระทรวงสาธารณสุข  ได้กำหนดให้อาหารสำเร็จรูปที่มีถั่วเหลืองหรือข้าวโพดอยู่ใน 3 ส่วนประกอบแรกและถั่วเหลืองหรือข้าวโพดนั้นมีน้ำหนักตั้งแต่ 5% ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ขึ้นไป ถ้าตรวจพบจีเอ็มโอตั้งแต่ 5% ขึ้นไปถึงจะต้องแสดงฉลาก แต่บ้านเราต้องตาดีมากๆ ถึงจะเห็นฉลาก วันหนึ่งจีเอ็มโออาจจะเป็นม้าโทรจันเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพการเกษตร และความมั่นคงทางทางอาหารของไทย เราจึงต้องสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย   HPV-วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ไวรัสก่อโรคมะเร็งปากมดลูกมีหลายร้อยสายพันธุ์ แต่ที่พบบ่อยนั้น มีสองสายพันธุ์ที่เขาทำวัคซีนออกมาใช้และได้ผลค่อนข้างดี ปัญหาคือ ถ้าจะฉีดควรฉีดตั้งแต่เด็กๆ ก่อนจะมีประสบการณ์ทางเพศสัมพันธ์ ถ้าโตแล้วและผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ผลในการป้องกันจะน้อยลงไป ปัญหาคือ เวลาเขาโฆษณาให้ฉีดเพื่อป้องกัน เจ้าของวัคซีนหรือโรงพยาบาลบางแห่ง มักสร้างข้อมูลผิดๆ คือ ทำให้เชื่อว่าป้องกันได้ผล 100% และตลอดชีวิต ซึ่งไม่จริง วัคซีนสองตัวที่ว่าดีข้างบนนั้นก็เพิ่งเก็บข้อมูลกันไปสิบกว่าปีเท่านั้น ตอนนี้ข่าวว่า ท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขจะซื้อวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาฉีดให้เด็กไทย ซึ่งดูเหมือนจะใจเร็วด่วนได้ไปนิด เทียบกันแล้วอาจได้ไม่คุ้มราคาเพราะบริษัทเสนอราคาแพงเกินไป และใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องเป็นมะเร็งปากมดลูก อีกทั้งท่านรัฐมนตรีก็ให้ข่าวชวนสร้างความเข้าใจผิดว่า ฉีดแล้วจะป้องกันได้ตลอดชีวิต คงต้องระวังหน่อยนะท่าน เกิดฉีดไปแล้วเป็นขึ้นมาภายหลังล่ะก็ ได้ฟ้องกันวุ่นวายแน่ เพราะโอกาสติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ตัวที่เป็นวัคซีนก็เยอะเช่นกัน   ดังนั้นใครเคยฉีดวัคซีนไปแล้วอย่าเพิ่งวางใจ ควรไปตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป็ปสเมียร์ (pap smear) เช่นเดิมเพราะยังมีโอกาสอีกในการเกิดมะเร็งปากมดลูก   Instagram-อินสตาแกรม ภาพหนึ่งภาพมีค่าเท่ากับกี่ล้านคำพูดนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ หนึ่งโปรแกรมแชร์ภาพถ่ายนั้น มีมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปีตั้งแต่อินสตาแกรมเปิดตัวมา โปรแกรมนี้มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 31 ล้านคน แรกก็ใช้กันเฉพาะในหมู่ผู้มีไอโฟน แต่ต่อมาก็ขยายไปยังโทรศัพท์อื่นๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ว่ากันว่าโปรแกรมนี้ใช้ง่าย  แถมได้ภาพถ่ายสวยงามประหนึ่งผลงานมืออาชีพ ปลอดโฆษณาและการอัพเดทสถานะ ที่สำคัญเขาเคยได้ตำแหน่ง แอพออฟเดอะเยียร์ มาแล้ว เรียกว่าเติบโตเร็วจนยักษ์ใหญ่อย่างเฟสบุ๊ครู้สึกร้อนๆหนาวๆ จนต้องรีบควักกระเป๋าซื้อหามาครอบครองให้ได้ก่อนใคร ด้วยราคาสูงถึง 30,000 ล้านบาท สาวกดั้งเดิมของอินสตาแกรม เริ่มวิตกว่าพื้นที่จัดแสดงภาพถ่ายฝีมือประณีตของตัวเอง อาจถูกโฆษณาเข้ามาบุกรุก หรืออาจจะเป็นแขกรับเชิญรายการ “ล้วงลับตับแตก” โดยไม่รู้ตัว หรือแย่ไปกว่านั้นคือกลัวว่าเฟสบุ๊คจะปิดการใช้โปรแกรมดังกล่าวไปดื้อๆ นั่นเอง   Jeans-ยีนส์ ฉลาดซื้อเคยลงบทความเรื่อง CSR กางเกงยีนส์ยี่ห้อดัง ที่นำเสนอเรื่องราวกว่าจะเป็นกางเกงยีนส์สักตัวต้องผ่านหลากหลายขั้นตอน ใช้ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ทั้งพลังงาน  ใครจะคิดว่าการผลิตกางเกงยีนส์ก็ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อนด้วยเหมือนกัน งานนี้กางเกงยีนส์เลยต้องขอทำหน้าที่กู้โลกกะเขาบ้าง ด้วยการแปลงโฉมเป็น “Eco Jean” หรือ “กางเกงยีนส์รักษ์โลก” เมื่อ ลีวายส์ (Levi’s) แบรนด์กางเกงยีนส์ชื่อดัง ผลิตกางเกงยีนส์รุ่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยควบคุมทุกขั้นตอนการผลิตให้รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด เริ่มตั้งแต่การใช้ฝ้ายที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์มาผลิตกางเกง ใช้เปลือกมะพร้าวมาทำกระดุม สีที่ใช้ตกแต่งก็เป็นสีธรรมชาติ ส่วนป้ายที่บอกข้อมูลและราคาสินค้าแน่นอนว่าทำมาจากกระดาษรีไซเคิล ถึงเวลาเหล่าแฟชั่นตัวแม่แสดงพลังแก้ปัญหาโลกร้อนแล้ว...   Korea Fever-เคป็อป “เบื่อมั้ย?...เกาหลี” คำถามนี่อาจจะทั้งโดนใจและขัดใจหลายๆ คน แต่ก็ต้องยอบรับว่า “เกาหลีฟีเวอร์” มีอิทธิพลกับผู้บริโภคไทยในระดับที่มากถึงมากที่สุด ไม่ใช่แค่เพลงกับละครเท่านั้น ความเป็นเกาหลียังแพร่กระจายอยู่ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องอาหารการกิน เรื่องความสวยความงาม หรือแม้แต่การท่องเที่ยว แถมไม่ใช่แค่สินค้าจากเกาหลี (หรือแอบอ้างว่าเป็นเกาหลี) เท่านั้นที่ได้รับความนิยม เพราะเดี๋ยวนี้สินค้าไทยแท้ๆ ยังต้องจ้างดารา – นักร้องเกาหลีมาเป็นพรีเซนเตอร์ หวังเกาะกระแสเกาหลีฟีเวอร์ ทั้งๆ ที่สินค้าเหล่านั้นทำออกมาขายคนไทย แต่ทำไมต้องให้ดาราหรือนักร้องเกาหลีมาการันตีความดีของสินค้าเหล่านั้นก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ไม่ใช่จะมาบอกว่าดาราหรือสินค้าเกาหลีไม่ดี แต่อยู่ที่เราเลือกมองเลือกใช้อย่างไรมากกว่า ฝากถึงผู้ผลิตหรือคนที่นำเข้าสินค้า อย่าใช่แค่คำว่าเกาหลีมาเป็นจุดขาย เพราะของจะดีหรือไม่ดีเขาดูกันที่คุณภาพ Labeling – ฉลาก เป็นด่านหน้า ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่จำเป็นของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ แบ่งประเภทของฉลากตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มฉลากสินค้าทั่วไป และ กลุ่มฉลากยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ฉลากอาหารกลุ่มแรกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขณะที่กลุ่มที่สองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีจุดร่วมทางกฎหมายคือได้กำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจที่จะต้องให้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ โดยผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาเลือกซื้อหรือใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย เป็นธรรม และประหยัด ดังนั้นข้อความที่ปรากฏในฉลาก จึงต้องตรงต่อความจริง ไม่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และจะต้องเป็นภาษาไทย   Made in China-เมดอินไชน่า กว่าร้อยละ 50 ของรองเท้า เสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่ของประดับต้นคริสต์มาส ล้วนแล้วแต่เดินทางออกจากประเทศจีนทั้งสิ้น แต่ร้อยละ 89 ของสินค้าไฮเทคที่จีนส่งออกไปขายต่างประเทศนั้น ผลิตจากโรงงานที่เจ้าของเป็นนายทุนต่างชาติ (มีไม่น้อยที่เป็นคนเกาหลีและไต้หวัน) แม้แรงงานจีนจะมีงานทำ มีรายได้ แต่ผลกำไรส่วนใหญ่นั้นตกอยู่ที่คนอื่น เช่น ไอโฟน 4S เครื่องหนึ่งที่มีต้นทุนชิ้นส่วนและการประกอบไม่เกิน 6,000 บาท (ค่าแรงในการประกอบต่อหนึ่งเครื่องอยู่ที่ไม่เกิน 50 บาท) แต่เมื่อมาถึงมือผู้บริโภค รวมค่าลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ ค่าโฆษณา ฯลฯ แล้ว ก็อยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท ทั้งนี้หลังจากตกเป็นข่าวบ่อยๆ เพราะมีคนงานฆ่าตัวตายอยู่เนืองๆ โรงงานฟอกซ์คอน (ซึ่งเจ้าของคือมหาเศรษฐีชาวไต้หวัน) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ให้กับแบรนด์ชั้นนำต่างๆ รวมถึง Apple ประกาศว่ากำลังพิจารณาขึ้นค่าแรงจากปัจจุบัน 2,200 หยวน เป็น 4,400 หยวน (ประมาณ 22,000 บาท) ต่อเดือน ในปีหน้าด้วย อันนี้ไม่รู้ว่าพูดเป็นนัยๆ ให้ทราบโดยทั่วกันว่าต่อไปผลิตภัณฑ์พวกนี้จะราคาแพงขึ้นด้วยหรือเปล่า   19 -ฉลาดซื้อขึ้นปีที่ 19 ตั้งแต่พิมพ์ฉบับแรกเมื่อมิถุนายน 2537 ฉลาดซื้อเราลงเรื่องซ้ำไม่มาก เพราะปัญหาผู้บริโภคบ้านเรามันเกิดได้กับทุกสินค้า ส่วนเรื่องที่ลงซ้ำก็มักมีพัฒนาการปัญหาใหม่ๆ ให้วุ่นวายชี้แจงแถลงไขกันไม่หยุด อย่างขนมเด็กที่มีปัญหาเรื่องฉลากมาตั้งแต่เริ่มฉลาดซื้อ ผ่านไปสิบแปดปี ก็ยังมีปัญหาฉลากเหมือนเดิม พร้อมๆ กับการเติบโตของเทคโนโลยี สินค้าหลายชนิดถูกยกระดับการผลิตให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลอกหากินกับผู้บริโภคได้อย่างน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย ดังนั้นแล้วจะซื้ออะไรก็ขอให้ใส่ใจหาความรู้ให้มาก รู้ให้ทัน อย่าใจเร็วด่วนได้ ฉลาดซื้อกันนะคะ Olympic-โอลิมปิก มีใครก็ไม่รู้บอกว่า “โอลิมปิกเป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติ” ในเมื่อโอลิมปิกเป็นกีฬาของทุกคนบนโลก มหานครลอนดอนจึงมีมาตรการสีเขียว แบบว่าจัดเต็มไม่น้อยหน้าครั้งที่ผ่านๆ มา ประมาณการว่ามหกรรมโอลิมปิก 2012 ในช่วง 17 วันของการแข่งขัน จะมีผู้เข้าชมการแข่งขันราว 6.5 ล้านคน ซึ่งจะก่อให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารถึง 3,300 ตันจะก่อให้เกิดขยะ 8,250 ตัน และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ 1.1 ล้านตัน คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2012 ได้ตั้งเป้าว่าในช่วง 6 สัปดาห์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคจะต้องไม่มีขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ และขยะที่ถูกทิ้งอย่างน้อย 70% จะต้องสามารถนำไป reuse หรือ recycle หรือต้องย่อยสลายได้ ส่วนบริษัทน้ำดำ สปอนเซอร์รายใหญ่ถึงกับให้คำมั่นสัญญาว่า ขวดพลาสติกแบบ PET ทุกใบที่ขายในการแข่งขัน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนราว 80 ล้านใบ จะถูกนำมา recycle เป็นขวดใบใหม่    นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ไม่ว่าจะเป็นถ้วยกระดาษใส่เครื่องดื่ม กระดาษห่ออาหารประเภท Fast Food และกล่องใส่แซนวิช จะต้องสามารถย่อยสลายได้   ก็ลองดูกันต่อไปว่าหลังจบการแข่งขันจะเป็นอย่างไร  …..ให้กำลังใจเจ้าภาพมา ณ โอกาส นี้   Photoshop-โฟโต้ชอป เดี๋ยวนี้มีเครื่องสำอางที่โฆษณาว่าช่วยดูแลผิวหน้า ลบเลือนริ้วรอย คืนความอ่อนเยาว์ เพิ่มความขาวกระจ่างใส ฯลฯ ถึงจะอยากสวยอยากใสแค่ไหน สาวๆ ฉลาดซื้อก็อย่าได้ปักใจเชื่อเด็ดขาด เพราะสิ่งที่เห็นในโฆษณาอาจเป็นเพียงภาพมายา เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ถูกทำให้ดูดีได้ด้วยเทคนิคของโปรแกรมตกแต่งภาพยอดนิยมอย่าง “โฟโต้ชอป” (Photoshop) รอยย่น รอยตีนกา สิว ฝ้า จุดด่างดำ ของนางแบบในโฆษณา ถูกทำให้หายไปในพริบตา ไม่ใช่เพราะสรรพคุณของตัวผลิตภัณฑ์ แต่เป็นเพราะความมหัศจรรย์ของโฟโต้ชอปล้วนๆ ที่ประเทศอังกฤษ หน่วยงานมาตรฐานการโฆษณาของสหราชอาณาจักร เคยสั่งแบนโฆษณาแป้งรองพื้น ลังโคม (Lancome) ของเครื่องสำอางยี่ห้อดังอย่าง ลอริอัล (L’oreal) เพราะนักแสดงสาว จูเลีย โรเบิร์ต ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีใบหน้าที่เรียบเนียนเกินจริงดูแล้วไม่สมวัยซึ่งเกิดจากการรีทัชลบริ้วรอยออกไป แล้วแบบนี้ยังจะเชื่ออยู่มั้ยว่าใช้แล้วสวยสาวขาวใส ก็ขนาด จูเลีย โรเบิร์ต ยังต้องพึ่งโฟโต้ชอป!!!   Queue-คิว การเข้าคิวก็เหมือนการสื่อสารอย่างหนึ่ง ผู้คนพร้อมจะเข้าไปยืนในคิวก่อนที่จะรู้ด้วยซ้ำว่ากำลังจะมาซื้อสินค้าอะไร  ถ้าเป็นของกินแล้วคิวยาว แปลว่าของร้านนี้เขาคงอร่อยมากแน่ๆ คุณรู้หรือไม่ คนที่ไหนชอบเข้าคิวมากที่สุด  เฉลยว่าเป็นคนรัสเซีย ซึ่งว่ากันว่าสนุกกับการเข้าคิวมากกว่าการซื้อของเสียอีก เมื่อร้านฟาส์ตฟู้ดแห่งหนึ่งเปิดตัวที่มอสโควในปี 1990 นั้นมีคนมาเข้าคิวรอล่วงหน้านานกว่าคอนเสิร์ตเลดี้ กาก้า ที่บ้านเราอีก มีผลการสำรวจที่ระบุว่า รัสเซียเป็นที่ ที่คิวยาวที่สุดและขยับช้าที่สุดในยุโรป โดยเฉลี่ยแล้วคิวที่นี่ใช้เวลารอประมาณ 27 นาที ตามด้วยอันดับ 2 คืออิตาลี ที่ต้องเข้าคิวกัน 14 นาที ส่วนที่แทบจะไม่ต้องรอกันเลยคือ สวีเดน ที่เวลาเฉลี่ยในการเข้าคิวอยู่ที่ 2 นาทีเท่านั้น คนรัสเซียเขาเลยนิยมเทครัวกันไปซื้อของ ไม่ใช่เพราะต้องการความอบอุ่น แต่เพื่อจะได้กระจายกำลังกันไปเข้าคิวอื่นๆ เป็นการประหยัดเวลานั่นเอง เหตุที่คิวต่างๆ ยาวขึ้นนั้นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง ทำให้สถานประกอบการต่างๆ ลดพนักงาน เพื่อลดต้นทุนนั่นเอง โดยเฉพาะสถานประกอบการของรัฐ ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคาร ที่ขายตั๋วรถไฟ และร้านรวงทั่วไป   Rich-ความร่ำรวย คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนจน เชื่อมั้ย?? ถ้าดูจากจำนวนผู้ที่มีรายได้ที่ต้องแสดงแบบเพื่อเสียภาษี เมื่อปี 2554 มีเพียง 11.7 ล้านคน แต่จ่ายภาษีจริงหลังหักลดหย่อนเหลือแค่ 2.3 ล้านคน  (รายงานผลสำรวจของสำนักงานสถิตแห่งชาติในปี 2553 บอกว่าแรงงานของไทยทั้งหมดมีประมาณ 38 ล้านคน เป็นมนุษย์เงินเดือน 17 ล้านคน และกลุ่มอาชีพอิสระ เช่น หมอ วิศวกร ก่อสร้าง เกษตรกร แท็กซี่ หาบเร่แผงลอยอีก 21 ล้านคน) มองง่ายๆ มนุษย์ที่มีเงินเดือนเกิน 20,000 บาทขึ้นไปถึงเข้าข่ายเสียภาษี คือ 2.3 ล้านคนเท่านั้น เลยมีหลายคนให้ข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมหลายอย่างที่จับกลุ่มคนชั้นกลางจะไม่เติบโตมากในประเทศนี้ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างเงินมหาศาลให้กับเจ้าของกิจการจะเป็นสินค้าสำหรับคนรากหญ้าหรือผู้ใช้แรงงาน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มชูกำลัง ลองนึกถึงเศรษฐีอันดับต้นๆ ในประเทศนี้สิ ไม่ว่าจะเป็นคุณเฉลียว อยู่วิทยา(ที่เพิ่งเสียชีวิตไป) หรือคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ทั้งสองล้วนได้รับแรงสนับสนุนอย่างดีจากคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ จนติดอันดับเศรษฐีไม่เฉพาะของไทยแต่ของโลกเลยทีเดียว ดังนั้นถ้าอยากรวยรู้แล้วใช่ไหมว่าต้องขายอะไรกับใคร Sport-กีฬา 1 ในหลายรสชาติของการเชียร์กีฬาอย่างมีสีสัน  และสนุกไปกับเกม เสมือนเข้าไปนั่งเชียร์อัพให้กำลังใจทีมโปรดในสนาม ก็คือ การมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการฝึกร้องเพลงประจำทีม หรือการซื้อหาชุดกีฬาทีมมาสวมใส่ ในศึกยูโร 2012  ก็เช่นกันหลายๆ คนที่ซื้อหาเสื้อทีมชาติที่โปรดปรานมาครอบครองไว้แล้ว อาจจะร้อนๆ หนาวๆ ถ้ารู้ข่าวที่องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของยุโรป(บีอียูซี)  ออกมาแฉผลศึกษาเสื้อทีมฟุตบอล ในศึกยูโร 2012 ว่าเต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายต่อมนุษย์  โดยมีเสื้อทีมฟุตบอล 9 ชาติ มีส่วนผสมของสารเคมีที่ใช้ในการผลิตอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง และมี 6 ชาติ   จากจำนวนนั้น มีสารตะกั่วและโลหะหนักผสมอยู่ โดยในเสื้อทีมสเปน และ เยอรมนี มีสารตะกั่วสูงมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ในเสื้อทีมชาติสเปนและอิตาลี  พบสาร โนลิเฟโนล ซึ่งส่งผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ และถูกแบนจากการใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำเสียเพราะมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนเสื้อทีมโปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์ มีสารนิคเกิล อยู่ด้วย ขณะที่เสื้อทีมโปแลนด์ เจ้าภาพร่วมอาการหนักกว่าเพื่อน เนื่องจาก มีส่วนผสมของ ออร์แกโนติน สารเคมีที่มีผลต่อระบบประสาท ในระดับสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด จนองค์กรเพื่อผู้บริโภคของยุโรป เห็นว่า ควรจะถูกแบนจากร้านค้าโดยเด็ดขาด แฟนฟุตบอลจำนวนมาก ต้องจ่ายเงินมากกว่า 90 ยูโร หรือประมาณ 3,600 บาท ในการซื้อหาเสื้อทีมโปรดมาสวมใส่  เลยไม่รู้จะจะดีใจแทนคนไทยหรือไม่ที่ไม่ต้องเสี่ยงสารพิษ   แถมจ่ายเงินน้อยกว่าเพราะซื้อเสื้อบอลก็อปเกรดเอ จากร้านข้าง ๆ สนามศุภฯ ดี   Traffic Light Labeling – ฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร เป็นฉลากโภชนาการแบบที่มีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ พิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกอาหารที่ตนต้องการได้อย่างรวดเร็วเพียงการมองแค่ครั้งเดียวสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่มโดยเฉพาะเด็กและผู้ปกครองเด็ก ฉลากโภชนาการชนิดนี้ได้กำหนดให้แสดงคุณค่าสารอาหารจากกลุ่มสารอาหารที่มักก่อให้เกิดปัญหาต่อร่างกายเมื่อได้รับในปริมาณมากเป็นประจำ 5 รายการ ได้แก่ ค่าพลังงาน (Energy/ Calories) ไขมัน (Fat) ไขมันอิ่มตัว (Saturates Fat) น้ำตาล (Sugar) และ เกลือ (Salt) บนส่วนหน้าของฉลากอาหาร และกำหนดให้แสดงค่าสารอาหารโดยระบุปริมาณพร้อมใช้สีของสัญญาณไฟจราจร ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง เป็นสัญลักษณ์ หมายถึงคุณค่าทางโภชนาการ ต่ำ ปานกลาง สูง  เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ เครือข่ายผู้บริโภคเราก็เคยเคลื่อนไหวให้ อย. เอาฉลากเขียวเหลืองแดงมาใช้กับขนม แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นฉลากจีดีเอ ทรงกระบอกข้าวหลามที่เข้าใจยากกว่าไปได้   Used-มือสอง ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2553 ระบุ ประเทศไทยของเรามีขยะเกิดขึ้นมากถึงวันละ 41,532 ตัน ต้องใช้ทั้งกำลังคนและงบประมาณในการจัดเก็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งมองย้อนกลับไปดูสถิติที่ผ่านมา 5 ปี ปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แถมขยะหลายชนิดก็ยากแก่การย่อยสลาย ทั้ง กระป๋องอะลูมิเนียม ถุงพลาสติก โฟม ขยะเหล่านี้จะอยู่คู่โลกของเราไปอีกหลายร้อยปี ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องช่วยกันลดปริมาณขยะ เริ่มง่ายๆ ด้วยการใช้ของทุกอย่างที่เราซื้อมาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซื้อเท่าที่จำเป็น รู้จักนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ อันไหนถ้าไม่ใช้แล้วจริงๆ ก็แบ่งปันให้คนอื่น แปรเป็นของมือ 2 หรือเอาไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ทำให้ของทุกอย่างมีค่ามากกว่าการเป็นแค่ขยะ

อ่านเพิ่มเติม >