ฉบับที่ 151 ข้อความส่วนตัวบน Line กับความมั่งคงของประเทศ?

เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2556 หลายคนที่ชื่นชอบการใช้โซเชียลมีเดีย ต้องตื่นตระหนกกับการออกหมายเรียกผู้โพสต์ข้อความลงบนเฟสบุ๊คของตนเอง ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์  รวมถึงผู้ที่กด like หรือ กด Share จำนวน 4 รายนั้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดกระแสการควบคุมการสื่อสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตรวจสอบเฝ้าระวังการสื่อสารผ่านโปรแกรมสนทนาไลน์ หรือแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) โดยอ้างว่าอาจกระทบความมั่นคงของชาติ จนทำให้ใครหลายๆ คนในวงการโซเชียลมีเดีย ออกมาถามหาความความเป็นส่วนตัวในการดำรงชีวิต ด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์การตรวจสอบเฝ้าระวังการสื่อสารแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) ของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จึงกลายเป็นข่าวฮอตฮิตไปทั่วประเทศ แอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) เป็นโปรแกรมที่เป็นตัวกลางช่วยให้สามารถสื่อสารผ่านข้อความ รูปภาพ ระหว่างอุปกรณ์มือถือ และได้พัฒนาโปรแกรมให้สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะได้อีกด้วย ทั้งที่ต้องใช้ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย การสื่อสารบนแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) จะเหมือนกับการส่งข้อความส่วนตัวโต้ตอบกันได้ทันทีจากคนหนึ่งไปถึงอีกคนหนึ่ง หรือเป็นหลายคนในเวลาเดียวกันได้   จากสถิติของบริษัทไลน์ คอร์ปอเรชั่น (LINE Corporation) ในงาน press conference เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2556 ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งาน Line Messenger ทั่วโลกอยู่ที่ 230 ล้านคน  โดยประเทศไทยติดอันดับเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ 2 ถึง 18 ล้านคน รองลงมาจากอันดับ 1 ประเทศญี่ปุ่น มีผู้ใช้งาน 47 ล้านคน ส่วนอันดับที่ 3 จากประเทศไต้หวัน มีผู้ใช้งาน 17 ล้านคน อันดับที่ 4 จากประเทศสเปน มีผู้ใช้งาน 15 ล้านคน และอันดับที่ 5 จากประเทศอินโดนีเซีย มีผู้ใช้งาน 14 ล้านคน สังเกตปริมาณการใช้ แอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) ในประเทศไทย 18 ล้านคน ถือว่าประเทศไทยมีผู้ใช้งานค่อนประเทศ ถ้าต้องการตรวจสอบเฝ้าระวังการสื่อสารบนแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) จริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องใช้จำนวนคนและเวลาในการตรวจสอบนานพอดู เพราะขณะนี้สถิติข้อความที่ใช้ส่งหากันใน Line มีมากกว่า 7 พันล้านข้อความแล้ว  ลองคำนวณกันเองล่ะกันว่าผู้ใช้งานในประเทศไทย จะส่งข้อความหากันไปแล้วกี่ข้อความ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 เฟสบุค กับมาตรการการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ   ปัจจุบันนี้โปรแกรมโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุค ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก หลายๆ คนนิยมติดต่อ สื่อสาร แสดงสถานะของตนเอง ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลที่ อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัว และการเปิดเผยข้อมูลบางประการ ซึ่งอาจทำให้เป็นช่องทางที่พวกมิจฉาชีพทั้งหลายเข้ามาทำร้ายเราได้ และโดยในเฉพาะปัจจุบันนี้ ภัยจากสงครามปรองดอง บางส่วนก็ยังคงใช้โซเชียลมีเดียเป็นสนามรบแทนที่จะใช้เป็นสนามรัก เรื่องนี้ เป็นโจทย์ที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องตั้งสติและเตรียมตัว ให้ดีว่า เราจะช่วยกันป้องกันภัยคุกคามที่มาพร้อมกับการติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดนนี้ได้อย่างไร บทความตอนนี้ขออนุญาตเล่าสถานการณ์ เรื่องเฟสบุค ในประเทศเยอรมนี ต่อกรณีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่น่าจะมีประโยชน์กับผู้บริโภค และหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้บ้าง ตลอดจนได้แนะนำวิธีปฏิบัติเบื้องต้นไปพลางๆ สำหรับผู้บริโภคก่อน ที่ภาครัฐและฝ่ายนิติบัญญัติจะสามารถกลับมาทำหน้าที่ เป็นที่พึ่งของประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ครับ   เพื่อนที่ไม่ได้เชิญหรือไม่ได้รู้จักมีอีเมล์จากเฟสบุคมาชวนเรา ใครก็ตามที่ได้เล่นเฟสบุค แล้วก็มักจะติดอกติดใจ และใช้เฟสบุคเพิ่มมากขึ้น โดยปรกติแล้วการเข้ามาในระบบ ฐานข้อมูลของเฟสบุคนั้น ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องมีบัญชี (account) ในเฟสบุค เพราะเฟสบุคเองมีเครื่องมือที่เรียกว่า friend finder ที่เป็นโปรแกรมอัตโนมัติ คอยเสาะหาบุคคลที่จะเข้ามาเป็นเพื่อน หรือ เป็นเพื่อนของเราอยู่แล้วก็ได้ เพราะโปรแกรมเฟสบุคเองนั้นจะทำหน้าที่เสาะหาสมาชิกให้เข้ามาในเฟสบุค โดยเฟสบุคสามารถตรวจสอบข้อมูลจากเบอร์อีเมล์ของเพื่อนเราหรือคนรู้จักได้ เรียกเป็นภาษาเทคนิคว่า addressbook import ในกรณีที่พบเพื่อนหรือคนอื่นๆ ที่เราเคยรู้จัก เฟสบุคจะบอกเรา (user) ว่าใครบ้างที่ทำการลงทะเบียนใช้งานในเฟสบุคแล้วบ้าง หลังจากนั้นเฟสบุคก็จะทำการส่งคำเชิญชวนคนที่ยังไม่อยู่ในบัญชีเฟสบุคให้เข้ามาลงทะเบียนใช้เฟสบุค สำหรับคนที่ได้รับคำเชิญนั้นก็แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่สนใจใช้งานเฟสบุค กับกลุ่มที่ไม่สนใจใช้งานเฟสบุค แต่คนทั้งสองกลุ่มที่ได้รับคำเชิญนั้น ข้อมูลของคนทั้งสองกลุ่มได้ถูกเก็บบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของเฟสบุคแล้ว   กรณีที่เราอยากจะลบข้อมูลของเราในฐานข้อมูลของเฟสบุคต้องทำอย่างไร สำหรับประเทศไทยที่มาตรการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังย่อหย่อน และรัฐไม่ได้เห็นเป็นเรื่องสำคัญอะไรมากนัก ก็อาจจะเป็นเรื่องยากอยู่แต่ในประเทศเยอรมนีที่มีกฎหมายดูแลเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น จะมีคณะกรรมการอิสระคอยสอดส่องดูแลอยู่ นอกจากนี้ประชาชนและองค์กรภาคเอกชนก็เป็นกำลังสำคัญในการให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือในด้านนี้กันเป็นอย่างดี และล่าสุดสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีฟ้องศาล* กรณีการทำงานหาสมาชิกแบบอัตโนมัติของ friend finder ถึงแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งห้ามระบบการทำงานของ friend finder ก็ตามแต่ในความเป็นจริง friend finder ก็ยังคงทำงานอยู่นั่นเอง เพราะคดียังอยู่ในระหว่างชั้นอุทธรณ์ นั่นเป็นสถานการณ์ของเฟสบุคในเยอรมนี สำหรับคำแนะนำที่ผมได้อ่านมาจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของเยอรมันสำหรับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคล ในทางเทคนิคเท่าที่ผู้บริโภคสามารถดำเนินการเองได้มีดังนี้ครับ กรณีที่เราได้รับอีเมล์เชิญให้สมัครเฟสบุคนั้น ในตอนท้ายของอีเมล์จะมีลิงค์ ให้เราเลือกว่าเราปฏิเสธการรับอีเมล์จากเฟสบุคอีกต่อไป อย่างไรก็ตามเฟสบุคก็ยังคงเก็บข้อมูลของเราไว้อยู่ดี ปิดบัญชีเฟสบุค สามารถทำได้ตลอดเวลา โดยคลิกไปที่ http://www.facebook.com/help/contact_us.php?id=220219108064043 หลังจากนั้นเราสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะยกเลิกการใช้เฟสบุค หรือจะสั่งให้ลบข้อมูลของเราทั้งหมดออกจากเฟสบุคก็ได้ * องค์กรผู้บริโภคของเยอรมัน (VZBV) ได้ฟ้องเฟสบุคต่อศาล เมือง เบอร์ลิน (Landgericht Berlin) ให้สั่งห้ามระบบการทำงานของ friend finder เนื่องจากในหนังสือข้อตกลงของเฟสบุค (Term and Condition) นั้นละเมิดสิทธิ และผิดกฎหมายหลายอย่างตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (Civil Law Code) และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Bundesdatenschutzgesetz)  

อ่านเพิ่มเติม >