ฉบับที่ 271 ก่อนรับยาต้องกล้าถาม อย่าลืมถามชื่อยาบนซองยาด้วยทุกครั้ง

        เหตุการณ์ที่ผู้ป่วยแพ้ยาและเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ว่าเภสัชกรจะพยายามสอบถามชื่อยาและข้อมูลต่างๆ ทั้งจากตัวผู้ป่วยหรือแหล่งที่ส่งมอบยา (เช่น ร้านยาบางแห่ง หรือคลินิกบางแห่ง) แต่พบว่าบางครั้งมักจะไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลครบถ้วนเพียงพอพอ ส่งผลให้การลงประวัติแพ้ยาของผู้ป่วยขาดความสมบูรณ์ ระบุชื่อยาไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังต้องเสี่ยงต่อการแพ้ยาซ้ำๆ อีกในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายจนอาจเสียชีวิตได้        จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริโภค พบว่าหลายครั้งที่ผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิก ร้านยา หรือสถานพยาบาลเอกชน ฯลฯ มักจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับยาที่ตน เช่น ชื่อยา สรรพคุณ วิธีการใช้ ตลอดจนข้อพึงระวังต่างๆ สถานบริการหลายแห่งดังกล่าวข้างต้น มักจะเขียนเพียงแค่ ยาแก้อะไร กินปริมาณเท่าไหร่และกินเวลาไหน บนซองยาหรือฉลากยาเท่านั้นเอง        ประเทศไทยมีการออกหลักเกณฑ์และข้อกำหนดให้ผู้ป่วยจะต้องได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับยาที่ตนได้รับมานานแล้ว สภาวิชาชีพทางด้านสุขภาพสาขาต่างๆได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย มาตั้งแต่พ.ศ. 2558 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการรักษา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2556 กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับร้านยา มีรายละเอียดกำหนดให้ร้านยาต้องให้ข้อมูลยาแก่ผู้รับบริการให้ครบถ้วน บนซองยานอกจากจะบอกสรรพคุณ วิธีใช้แล้ว ยังต้องบอกชื่อสามัญทางยา คำเตือน ข้อควรระวังต่างๆอีกด้วย        จนมาถึงปี 2565 ก็มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเกี่ยวกับฉลากบรรจุยา กำหนดให้ซองยาจากคลินิก ที่ไม่มีชื่อยาหรือชื่อผู้ป่วยและรายละเอียดอื่นที่สำคัญมีโทษอาญา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีผลบังคับใช้ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งในระหว่างรอการบังคับใช้อีก 2 ปี ผู้ป่วยอาจได้รับความเสี่ยงจากการบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือขาดจรรยาบรรณ ดังเช่น ในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากการไม่ได้รับข้อมูลยาที่ครบถ้วนจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง        นอกจากประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยทางด้านการรับษาพยาบาลแล้ว ในด้านกฎหมายแรงงาน “ซองยา” ยังสามารถใช้ประกอบการลาป่วยได้ เพราะเหตุที่ซองยามีกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องมีข้อมูลมากพอ ที่จะเชื่อได้ว่าป่วย ฝ่ายบุคคลจึงสามารถตรวจสอบกลับไปที่ผู้ส่งมอบยา (ไม่ว่าจะเป็นเภสัชกรหรือแพทย์) ได้ว่าป่วยจริงหรือไม่ แต่หากซองยาเป็นเพียงซองพลาสติกใสๆ ฝ่ายบุคคลอาจจะไม่รับฟังว่าป่วยจริง        ดังนั้นจำให้ขึ้นใจเลยว่า “เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับข้อมูลยา” และ “ก่อนรับยาต้องกล้าถาม” หากพบว่า แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ไม่ให้ข้อมูลยาที่ครบถ้วน นอกจากจะผิดหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้จะมีความผิดตามข้อบังคับของจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ ด้วย ซึ่งสภาวิชาชีพต่างๆ ก็มีการกำหนดบทลงโทษ ซึ่งเราสามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่สภาวิชาชีพแต่ละแห่งได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 “ผมคิดทุกคนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเจอเรื่องเดียวกันนี้ เพราะการตรวจข้อมูล K-ETA ใช้ AI ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องนี้”

        ประเทศเกาหลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมาก  นิยมกันไปทั้งแบบเดี่ยวและแบบกรุ๊ปทัวร์ โดยการท่องเที่ยวกับครอบครัว กลุ่มเพื่อน การซื้อบริการทัวร์ท่องเที่ยวย่อมสร้างความสะดวกให้มากกว่า จึงได้รับความนิยมค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามทัวร์เกาหลีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากการซื้อทัวร์ท่องเที่ยวไปประเทศเกาหลีใต้หลายกรณีด้วยกัน หลายรายประสบปัญหาจากการซื้อทัวร์เกาหลี ทำให้สูญเงินหรือไม่ได้ท่องเที่ยวตามที่หวังไว้หลายลักษณะ  ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับนี้ ฉลาดซื้อได้รับความกรุณาจาก คุณพฤกษ สามกษัตริย์ มาแบ่งปันเรื่องราวปัญหาที่ได้พบเจอจากการซื้อทัวร์เกาหลีใต้  มาติดตามกันเลยค่ะ เหตุการณ์เริ่มเกิดขึ้นอย่างไร         เริ่มที่ผมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ตั้งใจจะไปเที่ยวเกาหลี ครอบครัวผมมีลูกและภรรยา ครอบครัวของเพื่อนก็เหมือนกัน รวม 3 ครอบครัว เราจะไปกัน 9 คน  ตัวผมไปมาหลายรอบแล้ว แต่เพราะจากสถานการณ์โควิดเราทราบว่ามีความยุ่งยาก ญาติพี่น้องเลยบอกว่า งั้นเราไปซื้อทัวร์แล้วกัน การไปเองมันเดินทางลำบาก ถ้าไปกับทัวร์ เราได้ขึ้นรถบัส มีเซอร์วิส บริการดี  แล้วราคาก็ถือว่ายุติธรรม  โปรแกรมที่ผมจะไปคือเดินทางช่วงกลางเดือนมีนาคม  5 วัน 3 คืน  บริษัททัวร์ที่เกิดปัญหาขึ้น ผมจองทัวร์กับเขาเพราะว่า มีคนที่รู้จักเคยไปมาแล้ว และแนะนำมาพอติดต่อไป บริษัทบอกว่า ตอนนี้เรามีโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 จากราคาต่อคนที่ 30,999 บาท เฉลี่ยลดลงมาที่ 17,499  จัดโปร 4 ชุด บวกกับอีก 1 คน  ราคาคำนวณทั้งหมดคือ 151,796 บาท         ทีนี้ผมทราบว่า ก่อนเดินทางต้องมีลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาก็บอกว่า  “ใช่ค่ะ ต้องทำคะ แต่จะรบกวนจองทัวร์เข้ามาก่อนได้ไหม  เพราะว่าเดี๋ยวโปรมันจะหมด ”เราเลยบอกว่า “ได้ๆ เดี๋ยวผมจะเริ่มโอนตังค์มาให้”   เขาเลยบอกว่า ขอเก็บเต็มจำนวนเลย เพราะว่าเวลาเหลืออีกไม่กี่วันแล้ว ผมเลยโอนเต็มจำนวนไปเลย 151,796 บาท แล้วปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไหร่        เริ่มเกิดในขั้นตอนลงทะเบียน K-ETA บริษัททัวร์บอกว่า เดี๋ยวเขาทำให้ มันจะได้ผ่านง่ายเป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนกันหมด แล้วเขาก็คิดเงินค่าดำเนินการคนละประมาณ  350 บาท ผมก็ส่งรายละเอียด ทั้ง 9 คนไปให้ คือครอบครัวผมและครอบครัวเพื่อนๆ ไป 3 ครอบครัว ปรากฏลงทะเบียน K-ETA ส่งไป 9 คน  คนที่ผ่าน  มี 4 คนครับ คือมีผมคนเดียวและเด็กอีก 3  คน  กลายเป็นพ่อแม่ของที่เหลือไม่ผ่านกันสักคน ผมเลยบอกว่า “อ้าว แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทำยังไงถ้าไม่ผ่าน”  เขาก็แนะนำว่า อย่าทำรอบ 2 – 3 เลย   เพราะว่าถ้าทำ จะไม่ผ่านอยู่ดี แล้วทำได้แค่ 3 รอบ การลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ ครั้งนี้คือบริษัทลงให้           ผมส่งข้อมูลให้บริษัทลงให้  คือผมวางใจเพราะผมไปเที่ยวเกาหลีเองแล้วหลายครั้ง คือเราไม่ค่อยเป็นคนที่น่าสงสัย แล้วน้องๆ คนอื่นๆ ที่ไปด้วยกันคนอื่นๆ เป็นเจ้าของกิจการ ได้รายสูงทุกอย่างโปรไฟล์ดีมากๆ  เขาไปต่างประเทศมาเยอะมาก เพียงแต่ว่ายังไม่เคยเข้าประเทศเกาหลีใต้  ส่วนเด็กๆ เขาไม่มีประวัติอะไร  ผมเลยให้ข้อมูลไป  ทางบริษัททัวร์ก็บอกว่า “ไม่น่ามีปัญหาค่ะ เดี๋ยวจัดการให้เลย” แต่ผู้ใหญ่ไม่ผ่านสักคน  มีผมคนเดียว         แต่ถามว่าลงทะเบียน K-ETA  ไม่ผ่านเพราะอะไร  ผมกำลังสันนิษฐานว่า บางทีรูปไม่ชัดเพราะว่าเขาใช้ AI ตรวจ ไม่ได้ใช้คนตรวจ ผมรู้สึกได้เลยว่าบางรูปมันไม่ตรงปก เพราะเนื่องจากว่า เขาจะให้เราถ่ายรูปหน้าตรงพื้นหลังสีขาว  ใส่เสื้อสีขาวแล้วส่งไป รูปพวกนี้ เราดูด้วยตาเรายังรู้สึกเลยว่าไม่เป็นธรรมชาติ  แต่ทางบริษัททัวร์ที่ทำให้ เขาก็ไม่ช่วยเราติงว่า “พี่คะ รูปมันไม่เคลียร์นะคะ  พี่คะ ช่วยถ่ายรูปใหม่ได้ไหม” จะไม่มีข้อแนะนำใดๆ เลย เขาได้อะไรจากเรา  เขาก็เอาไปทำต่อเลย พอเกิดปัญหา แล้วเริ่มแก้ไขอย่างไร          ผมก็ถามทางเจ้าหน้าที่ว่า สถานการณ์เป็นอย่างนี้แล้วเราต้องทำยังไง  เราผ่านกันแค่ 4 คน  เขาบอกว่า ก็จะต้องไป 4 คน เราบอกว่า “ไม่ได้สิ  ผมจะเอาลูกคนอื่นไปยังไง  พ่อแม่เขาต้องไปด้วย” ทางทัวร์เลยบอกว่า  อย่างนั้นเท่ากับว่าผมยกเลิกซึ่งเงื่อนไขการยกเลิกของเขา คนที่ผ่านคือผมกับเด็กอีก 3  คน จะได้รับเงินคืนแค่ครึ่งเดียว จะหัก 50%  ส่วนคนที่ไม่ผ่านถูกหักรายละ 500 บาท  ผมเลยบอกว่าในความเป็นจริง ทำไมคุณถึงไม่บอกว่าให้ลงทะเบียน K-ETA ก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินจองทัวร์ ถูกไหม เพราะว่าถ้าคุณมีเงื่อนไขคืนครึ่งเดียวสำหรับคนที่ผ่าน แล้วถ้าเราจะไปเป็นบางคนมันเป็นไปไม่ได้แน่นอน เขาไม่แจ้ง เขาบอกว่ามันไม่ได้จริงๆ ค่ะ มันเป็นกฎ         ผมจึงแจ้งยกเลิกการเดินทาง ยกเลิกทัวร์และเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร         ผมคิดว่าเขาควรจะสื่อสารความเสี่ยงให้ผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจนกว่านี้ ต้องให้ชัดเจนมากๆ ผมติดที่ว่า เขาไม่พูดความเสี่ยงให้เราฟัง และไม่ช่วยเหลือเราในการแบบว่า “เห้ย เดี๋ยวพี่จะเสียเงินฟรีนะ ถ้าทำตรงนี้ไม่ผ่าน”   เขาไม่ช่วยเรา  แล้วอีกกรณีที่สำคัญ พอเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ผมคิดว่าช่วยๆ กันได้ เพราะว่าเขาก็ยังไม่ได้ซื้อตั๋วอะไรให้เราเลย เพราะล่วงหน้าเป็นเดือน เราเลยคิดว่าเขาจะคืนเงินให้เราเยอะกว่านี้ ผมจะรู้สึกดีกว่านี้         ถามว่าในเอกสารโปรแกรมการท่องเที่ยวของบริษัทเขาระบุไว้ไหม เขาเขียนชัดเจนครับ  คือเขาระบุเลยนะว่า กรณีที่เราจ่ายเงินแล้ว และลงทะเบียนไม่ผ่าน เขาจะคืนเงินให้ 50% แต่กรณีผ่านแล้วมีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ไปเขาจะหักไว้ครึ่งนึงแล้วกำหนดเวลาคุณจะต้องทำลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ให้ผ่าน คือในเอกสารเขามี แต่การขายทัวร์ของเจ้าหน้าที่ของไม่สื่อสารเราแบบนี้ มันจะมีแชท ที่ผมส่งรูปเข้าไป ที่ผมสอบถาม แล้วเราจะต้องทำยังไง เขาจะบอกว่าโอนจองก่อน รีบโอน เดี๋ยวหมดโปร คือเขาโทรมา เขาไม่ได้พิมพ์  เขาพิมพ์มาแค่ว่า ช่วยโอนเงินจองก่อนค่ะ เพียงแต่ผมคิดว่า เขาควรจะบอกว่า “คุณลูกค้า ช่วยทำ K-ETAให้ผ่านก่อนนะคะ แค่คนละ 350 บาท ”  แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร เขาไม่แนะนำให้ทำ K-ETA ก่อน เราไม่เชิงปรึกษา เราถามเขาเพราะเห็นในเอกสารว่าต้องทำ เจ้าหน้าที่บอกว่า  “ไม่น่ามีปัญหานะคะ เพราะว่าไม่เคยมีใครมีประวัติอะไรเลย ดังนั้นทำคิดว่าน่าจะผ่าน” ผมเชื่อตามด้วยความคิดแบบนี้ ผมเลยซื้อทัวร์         อีกอย่าง สมมติถ้าผมรู้เงื่อนไขนี้อยู่แล้ว ผมบอกว่า ให้เขาทำ K-ETA ให้ก่อนได้ไหม ในนั้นเขาระบุว่าไม่ได้  เขาจะทำ K-ETA  ให้ต่อเมื่อเราลงทัวร์กับเขาแล้ว  เขาถึงจะมีบริการทำให้ อันนี้เป็นข้อที่ผมรู้สึกว่าผิด จริงๆ คุณต้องทำก่อนสิ  เราถึงจะจ่ายเงินทัวร์ ถึงจะยุติธรรม แต่กลายเป็นเราจ่ายทัวร์  แล้วให้เขาไปทำ ถ้าไม่ผ่าน ก็โดนเงื่อนไข โดนหักเงิน  ผมโดนหักเงินไป 33,732 บาท จนถึงปัจจุบันปัญหาได้รับแก้ไขอย่างไร          ตอนแรกครอบครัวก็บอกว่า เราแจ้งไปที่  สคบ. เลยไหม แต่เงินกว่า 150,000 บาทเกิดจากการรวมกันของหลายครอบครัว   พวกเราหลายคนกลัวว่าเงินจะจม ต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะได้คืน เงินแสนนึงเราเอามาทำอะไรได้มากมาย  ญาติพี่น้องผมบอกว่า ถ้าไม่ได้ไปเกาหลีเขาก็อยากเอาเงินไปเที่ยวประเทศเวียดนาม  ต้องใช้เงินในการทำทริปต่อไป เราเลยจำใจต้องเอาเงินคืนกลับมาให้ได้ก่อน เพราะว่ายังไงเราก็ไปไม่ได้ ยังไงเราก็ต้องทิ้ง  เราก็ยอม แล้วทำเรื่องส่งไปให้ทำเงินคืนให้หน่อย  บริษัทบอกว่าจะคืนให้ภายใน 7 วัน  เราก็รอไปเกือบเดือน กว่าจะได้เงินคืน จนผ่านเวลาที่จะเดินทางไปแล้ว เราตามหลายครั้งจนได้เงินคืน  มาราว 1 แสน 1 หมื่นกว่าบาท   อยากฝากอะไรถึงผู้ที่สนใจจะซื้อทัวร์ไปประเทศเกาหลี         ผมอยากให้บริษัททัวร์สื่อสารกับนักท่องเที่ยว กับผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจน  สื่อสารความเสี่ยงให้ชัดเจนเลยว่า เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเรื่องอะไรบ้าง แบบขอตัวแดง บันทึกไว้ทุกที่เลย แค่ระบุว่า  อันนี้เขาพูดแบบ ก็มีกรณี มีตายาย พ่อแม่และลูกจะไปด้วยกันแต่พ่อแม่ไม่ผ่านเขาก็ไปกับตายายได้ ผมมองว่ามันตลกหรือเปล่า หลายกรณีมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปเที่ยวได้  เอาจริงๆ ครับ ผมคิดทุกคนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเจอเรื่องเดียวกันนี้ เพราะการตรวจข้อมูล K-ETA ใช้ AI ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องนี้ ผมเลยคิดว่าง่ายมากเลย  บังคับให้ลูกค้า หรือคนที่จะไปทัวร์ลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ ให้ผ่านก่อน  วิธีทำให้เรียบร้อยครับ  มีการสื่อสารแนะนำให้ประชาชนเข้าใจว่าจะลงลงทะเบียน K-ETA ให้ผ่านได้อย่างไร ผมคิดว่าต้องมีชุดความรู้ที่ถอดออกแนะนำได้ ทำให้เรามีความเข้าใจที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2565

5 ข้อมูลส่วนบุคคลที่เสี่ยงถูกจารกรรม        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เตือนประชาชนระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นรวมถึงทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ให้เปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการรับรหัส ATM นำโชคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อที่กำลังเป็นที่นิยม โดย 5 ข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเปิดเผย ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3.ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM เลขบัตรเครดิต 4.ข้อมูลชีวมิติ ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5.ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ IP Address MacAddress Cookie ID        นอกจากนี้ควรระวังส่วนของข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล จำพวกทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลตนเองได้ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา หรือข้อมูลบันทึกอื่นๆ อีกด้วย สปสช.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ 9 แห่ง        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการให้บริการสาธารณสุขรพ.เอกชน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เหตุจากการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง         ทั้งนี้ สปสช.มีแผนการรับรองผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวโรงพยาบาล 9 แห่ง หลัง 30 กันยายน 2565 ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สามารถรักษาตัวต่อไปได้ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้ให้ 2) ผู้ป่วย 5 กลุ่ม เช่น สตรีใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยมีนัดทำอัลตราซาวนด์ ทำซีทีสแกน และทำ MRI  ยังคงรักษาตัวตามนัดเดิมได้ 3) ผู้ป่วย 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นยังได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ 4) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เข้ารับการรักษาตัวต่อได้ที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา พร้อมจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ คือ ระบบบริการแพทย์ทางไกลที่ใดก็ได้ 5) ผู้ป่วย HIV และวัณโรคให้เข้ารับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจ ยังคงได้รับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลเดิม สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย สามารถเข้าเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แค่เดือนสิงหา ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 1.7 หมื่นคดี        จากสถิติ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์จำนวนสูงถึง 59,846 เรื่อง ในส่วนของเดือนสิงหาคม 2565 พบสถิติประชาชนแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ถึง  17,254 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,317 ล้านบาท โดยประเภทที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่ ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%) หลอกให้ลงทุน (19.21%) หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%) และ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวหรือคอลเซนเตอร์ (6.08%)           ดังนั้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ เพจ PCT Police, เพจ ตำรวจสอบสวนกลาง, เพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้องกรณีแอชตัน อโศก        20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี         อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี จึงต้องรอคำตัดสินทั้งองค์คณะต่อไป         ตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นๆ ตู้น้ำดื่ม-รถเมล์-ผังเมือง สามเรื่องสภาผู้บริโภค กทมฯ ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากทม ฯ         19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง โดยคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2563  ได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ดำเนินงานในวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจัดเวทีเสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น         ทั้งนี้จากการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขนั้น หน่วยงานประจำจังหวัดและเครือข่าย สรุป 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมและมอบหมายให้ตัวแทนทั้ง 3 เรื่องยื่นข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงานเสวนาดังกล่าว         นายชัชชาติได้ตอบรับและกล่าวขอบคุณที่ให้ตนได้มีโอกาสมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่อง เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ตู้น้ำดื่มอาจมีการพิจารณานำเรื่องน้ำดื่มฟรีที่ กทม. เคยทำมาแล้วกลับมาอีกครั้ง ส่วนผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่คงต้องพูดคุยกันอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาตนเองเห็นถึงสัญญาณที่ดี นั่นคือภาคประชาชนตื่นตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 252 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปลดกัญชาจากยาเสพติดแล้ว        9 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรค แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ ดังนี้       ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 1.พืชฝิ่น ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ Papaver somniferum L. และ Papaverbracteatum Lindl. ที่มีชื่อในสกุลเดียวกันและให้ฝุ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น 2.เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ที่มีชื่อว่า Psilocybe cubensis (Earle)Singer หรือชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin 3. สารสกัดทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น (ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญซาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ        ข้อ 2.กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 1 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์ ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป AIS ถูกแฮกข้อมูลลูกค้ารั่ว 1 แสนรายการ         บริษัท เอไอเอส ได้เปิดเผยว่า ตรวจพบว่ามีผู้ละเมิดข้อมูลผู้ใช้บริการ ประมาณ 100,000 รายการ ซึ่งมีรายละเอียดประกอบไปด้วย ชื่อ-สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน วัน-เดือน-ปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินอื่นใด โดยข้อมูลนั้นได้ถูกนำไปเผยแพร่อยู่บน Dark Web ซึ่งทางบริษัทร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เร่งตรวจสอบหาสาเหตุดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สกมช. และกสทช. รวมทั้งยังแจ้งไปยังลูกค้าผ่านทาง SMS เพื่อให้รับทราบและระมัดระวัง ขณะนี้ทางบริษัทได้เร่งตรวจสอบผู้ที่กระทำความผิดเพื่อดำเนินตามกฎหมายต่อไป 10 อันดับข่าวปลอมเดือนกุมภา วอนอย่าหลงเชื่อ         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง แจ้ง 10 ข่าวปลอมช่วง 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้ 1) ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท 2) วันที่ 10-20 กุมภาพันธ์ 2565 ฝนตกหนักทุกภาค ทั่วประเทศไทย 3) รักษาโควิด-19 ด้วยสมุนไพรขมิ้นชัน กระชาย พริกไทย ทับทิม 4) คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก 5) ดื่มน้ำต้มต้นไมยราบ แทนน้ำเปล่า ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม 6) โครงการเราชนะ เฟส 4 แจกเงินคนละ 7,000 บาท เริ่มโอน 10 กุมภาพันธ์ 2565 7) คลิปข้าวสารถูกผลิตจากถุงพลาสติก 8) ธ.กรุงไทย เปิดสินเชื่อกรุงไทยเพื่อนักสู้ ดอกเบี้ย 0.5% ผ่อนนาน 48 เดือน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ 9) ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารทำให้ก่อมะเร็ง และ 10) ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมวทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด  วอนอย่าหลงเชื่อ แชร์หรือกดลิงก์โดยเด็ดขาดตรวจพบโรงงานไส้กรอกเถื่อนไม่มี อย. 13 รายการ        ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาการและยา เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบกรณีมีผู้ป่วยเนื่องจากรับประทานไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อน จ.ชลบุรี นั้น ผลวิเคราะห์พบว่า ไส้กรอกมีปริมาณไนเตรท์มากเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า ทางคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อร่วมเฝ้าระวังในพื้นที่        ในส่วนจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จสิ้นแล้วมีทั้งสิ้น 66 จังหวัด และสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่เสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์) ทั้งนี้ได้ดำเนินคดีในกรณีที่จำหน่ายไส้กรอกไม่มีฉลากแสดงแล้ว คือที่สระบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนของจังหวัดสระบุรีนั้น เป็นสินค้ามาจากสถานที่ผลิตเดียวกันกับชลบุรี  ส่วนอุทัยธานี พบสินค้ามีฉลากเหมือนกับที่เจอปัญหาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเร่งให้มีการขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานที่ผลิตไส้กรอกโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ จ.อยุธยา ได้อีก 2 แห่ง และอายัดสถานที่ของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนซื้อซิมกับตัวแทนในร้านค้าออนไลน์ เสี่ยงโดนหลอกขาย         จากกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้อนเรียนจากผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าเป็นซิมเติมเงินของ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากทางร้านค้าออนไลน์ที่ขายในแพลตฟอร์ม Lazada เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ราคา 1,369 บาท มีรายละเอียดว่า เป็นซิมทรู 10 Mpbs เน็ตไม่อั้น ไม่จำกัด ไม่ลดสปีด รองรับระบบ 4G/5G ต่อมาเมื่อเปิดใช้งานซิมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พบปัญหาไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ตามที่ร้านค้าให้ข้อมูล ผู้ร้องจึงทำตามขั้นตอนตามตัวซิมพบว่าซิมมีชื่อรุ่นว่า กัมพูชา 5G ใช้เน็ตได้เพียง 7 วัน ปริมาณ 2 GB และใช้งานได้เพียงครึ่งวันก็ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว และเมื่อผู้ร้องทราบจากทางบริษัทพบว่า ซิมมีราคาเพียงแค่ 49 บาทไม่ตรงตามที่โฆษณา        นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขณะนี้ในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์มีปัญหาหลอกลวงขายซิมโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ไม่อั้นตามที่ร้านค้าโฆษณา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ซิมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามที่โฆษณาไว้ มูลนิธิฯ พบผู้เสียหายจากกรณีนี้หลายราย จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือกับผู้ขายที่ไม่ใช่ศูนย์บริการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงเพราะเสี่ยงโดนมิจฉาชีพหลอก ลักษณะของมิจฉาชีพ คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายซิมที่ขายในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada, Shopee และเฟซบุ๊กแฟนเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2564

อนุทินแจงสาธารณสุขโดนแฮกข้อมูลคนไข้จริงสั่งเร่งแก้ปัญหา        จากกรณีเพจเฟซบุ๊กน้องปอสาม ได้เปิดเผยถึงการถูกแฮกข้อมูลผู้ป่วย 16 ล้านราย ของกระทรวงสาธารณสุขไทย วันที่ 7 กันยายน 2564  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า ยอมรับว่าข้อมูลผู้ป่วยถูกแฮกจริง โดยข้อมูลที่ถูกแฮกเกิดขึ้นใน จ.เพชรบูรณ์ และเคยเกิดที่ จ.สระบุรี แต่เป็นข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับแต่ประการใด ทั้งนี้ ได้สั่งให้ปลัด สธ. เร่งดำเนินการแก้ไข ด้าน นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงการณ์กรณีการแฮกข้อมูลผู้ป่วยว่า ข้อมูลที่โดนประกาศขายมาจากฐานข้อมูลย่อยที่ทางเจ้าหน้าที่ของ รพ. ต้นทาง ไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ซึ่งแฮกเกอร์ได้เพียงข้อมูลชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สิทธิในการรักษา อาทิ ประกันสังคม ข้าราชการ บัตรทอง ประวัติการนัดคนไข้ของแพทย์ ข้อมูลการแอดมิท ตารางเวรของแพทย์และการคำนวณรายจ่ายการผ่าตัดราว 692 ราย เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนการดำเนินการตรวจสอบเรื่องความเสี่ยงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษามั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ สธ. และกระทรวงดีอีเอส ได้มีการแบ็กอัพข้อมูลทั้งหมด ว่ายังมีสิ่งใดซ่อนอยู่ในเซิร์ฟเวอร์หรือไม่” องค์การเภสัชกรรมเตือน “ฟาวิพิราเวียร์” ขายออนไลน์ผิดกฎหมาย        วันที่ 8 กันยายน 2564  ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า มีผู้แอบอ้างประกาศขายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรมที่ได้ทำการผลิตวิจัยและพัฒนาเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยระบุเป็นยาขององค์การเภสัชฯ จึงขอเตือนผู้บริโภคระวังอาจได้ยาปลอมและการขายผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์จัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ โดยสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นและต้องติดตามผลการรักษาตลอด ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถวางขายทั่วไปและออนไลน์ได้ กระท่อม "ต้ม-ปรุงอาหารขาย" ยังผิดกฎหมาย        กรณีพืชกระท่อมถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และประชาชนเริ่มค้าขายใบกระท่อมได้นั้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากรัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ซึ่งเป็นการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมว่าสามารถทำในส่วนใดได้บ้าง ขอชี้แจงว่า ส่วนของการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครองและขายใบสด โดยไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารสามารถทำได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย แต่หากนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรและแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ จะต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุม        หรือการนำไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยังไม่ปลดล็อคให้สามารถนำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย ก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่าย โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมนั้น เป็นอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือจำหน่าย การฝ่าฝืน ผลิต และขาย อาหาร ที่ พ.ร.บ.อาหาร ห้ามมีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน-2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท ตรวจสอบผ้าก่อนอบแห้ง        จากกรณีมีคลิปวิดีโอเผยแพร่เครื่องอบผ้ามีไฟลุกท่วมของร้านสะดวก Otteri wash & dry ซึ่งทางต้นคลิปได้ระบุว่า เจ้าของน่าจะเป็นการลืมไฟแช็กไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า  ทางบริษัท อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย จำกัด เจ้าของแบรนด์แฟรนด์ ได้ชี้แจ้งสาเหตุว่า ไม่มีการลืมไฟแช็คในผ้าและเกิดจากการนำผ้าที่ไม่ควรนำเข้าอบใส่ในเครื่องอบ หลังบริษัทลงพื้นที่ตรวจสอบระบบแก๊สและระบบไฟฟ้า พบว่ามีการทำงานปกติ และได้มีการตรวจสอบ ณ จุดเกิดเหตุไฟไหม้ที่เครื่องอบผ้า พบว่า ซากของผ้าที่อยู่ด้านในกลายสภาพเป็นพลาสติกแข็ง ซึ่งเป็นชุดกีฬา ชุดผ้าร่ม ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่ควรนำเข้าเครื่องอบ เพราะเส้นใยผ้าที่ผ่านสภาพการใช้งานพักหนึ่งจะไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ จึงจะดำเนินการเพิ่มคือ มีป้ายประกาศเรื่องของชนิดผ้าที่ห้ามนำเข้าเครื่องอบติดตั้งอยู่ภายในร้าน ศาลตัดสิน “จ่ายค่าเสียหายผู้พิการ”กรณีสร้างลิฟต์ระบบไฟฟ้าบีทีเอสล่าช้า 5 ปี        จากกรณีภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. ปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายแรกที่อยู่ในสัมปทานให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายในวันที่ 21 มกราคม 2559 แต่จนถึงปี 2564  ยังไม่ดำเนินการสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้เสร็จได้ เป็นเวลา 5 ปีแล้ว วันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำพิพากษา กรณีเรียกร้องค่าเสียหายที่ กทม. ไม่สามารถสร้างลิฟต์บนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เสร็จภายใน 1 ปี ด้านนายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทม. ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน รับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้พิการที่ร่วมฟ้องกว่า 500 คนที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องมีภูมิลำเนาใน กทม. และพิสูจน์ได้ว่าทำงาน/อยู่อาศัยใน กทม. ต้องใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นประจำ เป็นค่าชดเชยค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาทต่อคน รวมดอกเบี้ย ร้อยละ 7 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จ เป็นเวลา 5 ปี และให้กทม.จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายภายใน 6-7 วัน   เคลมประกันโควิดเกิน 15 วัน เร่งใช้สิทธิร้องทุกข์        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย ผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพายื่นเรื่องที่ คปภ. เมื่อวันที่ 10 กันยายน แม้ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหมกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไป แต่คาดว่าคงได้รับการแก้ไขปัญหาทุกราย         นางสาวฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคที่พบปัญหาเรื่องบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เกิน 15 วัน สามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเตรียมเอกสารดังนี้ 1. ใบรับรองแพทย์ 2. รายงานการตรวจ RT-PCR (ถ้ามี)  3. สำเนากรมธรรม์  4. สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร  5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  ส่งมาให้ทางมูลนิธิฯ ซึ่งจะรวบรวมและทยอยส่งให้ทาง คปภ.ดำเนินการ เนื่องจากมีผู้เสียหายทยอยร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำคัญไฉน ? (ตอนที่ 3 )

        ในตอนที่ 2 เราได้อธิบายความเบื้องต้น ในการให้ทราบว่ามีบุคคลใดบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ เรื่องหลักในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหลายคนคิดว่าจะเป็นมาตรการที่ห้ามใช้ ห้ามบันทึก ข้อมูลของคน ซึ่งไม่ใช่ เพราะที่จริงแล้ว เนื้อหาหลักคือ ให้นำไปใช้เท่าที่จำเป็น ปลอดภัย และโปร่งใส โดยอยู่บนพื้นฐานในเรื่องสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งถือว่าเป็นสิทธิที่เกิดจากความสมัครใจในการที่จะเลือกในการให้ “ความยินยอม” ในการให้ข้อมูลส่วนบุคคล ความยินยอมนั้นเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว คือผู้ให้ความยินยอมซึ่งแสดงต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และต้องมีผู้รับการแสดงเจตนาคือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลโดยมีหน้าที่ที่จะต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในรูปแบบที่กฎหมายที่กำหนด แต่ไม่ได้หมายความว่า ความยินยอมของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นใบอนุญาตให้ทำอะไรก็ได้กับข้อมูลนั้น โดยรายละเอียดของความยินยอมจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้         1) ลักษณะทั่วไปของความยินยอม            ความยินยอมต้องขอก่อนจะมีการประมวลผล โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องให้ความยินยอมโดยปราศจากความกลัวที่จะเกิดผลเสียสำหรับตนเองหรือปราศจากอิทธิพลหรือแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ซึ่งความยินยอมดังกล่าวต้องเกิดจากความสมัครใจและเป็นอิสระหมายความว่า ความยินยอมนั้นจะต้องไม่เป็นเงื่อนไขในการให้เข้าทำสัญญาหรือใช้บริการใดๆและไม่มีเงื่อนไขในการยินยอมเพื่อการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นที่ไม่มีความจำเป็น        2) วิธีการหรือแบบของการขอความยินยอม            การขอความยินยอมจะต้องชัดแจ้งหรือเป็นการเจตนาของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ชัดเจนว่าได้มีความยินยอมเพื่อการเก็บใช้รวบรวมใช้หรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลโดยชัดแจ้งเท่านั้น และต้องไม่ขอความยินยอมในลักษณะที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยวิธีการของความยินยอมโดยหลักนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือหรือทำโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่โดยสภาพไม่อาจขอความยินยอมด้วยวิธีดังกล่าวได้ - การขอความยินยอมนั้นต้องแยกออกจากข้อความอื่นอย่างชัดเจน มีแบบหรือข้อความที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงง่าย การขอความยินยอมจะต้องมีรายละเอียดข้อมูลต่างๆอย่างครบถ้วน แต่เนื้อหาต้องไม่ยาวจนเกินไป รวมทั้งภาษาที่อ่านง่ายด้วย        3) ข้อมูลเพื่อการขอความยินยอม ซึ่งจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและการแจ้งวัตถุประสงค์นั้นจะต้องไม่ทำให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเข้าใจผิดในวัตถุประสงค์และไม่เป็นการหลอกลวง ซึ่งผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถเพิ่มวัตถุประสงค์ใหม่เองได้โดยไม่ขอความยินยอมใหม่        4) การให้ความยินยอมต้องเพิกถอนได้ โดยหลักแล้ว เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะถอนความยินยอมเสียเมื่อใดก็ได้โดยจะต้องถอนความยินยอมได้ง่ายเช่นเดียวกับการให้ความยินยอม การกำหนดวิธีการยกเลิกหรือเพิกถอนความยินยอม อาจเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ประสงค์ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเก็บรวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวสามารถแจ้งยกเลิกความยินยอมได้โดยง่าย เช่น ทางเว็บไซต์ของผู้ควบคุมข้อมูล เป็นต้น กล่าวโดยสรุป “ความยินยอม”(Consent) ต้องประกอบด้วย            1. ต้องทำโดยชัดเจนเป็นหนังสือหรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์            2. ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล            3. ต้องแยกส่วนความยินยอม ใช้ภาษาที่อ่านง่ายและไม่เป็นการหลอกลวง            4. ต้องมีความเป็นอิสระในการให้ความยินยอม            5. ต้องสามารถถอนความยินยอมเมื่อไหร่ก็ได้ เว้นแต่มีข้อจำกัดสิทธิในการถอนความยินยอม         ดังนั้น หัวใจหลักของกฎหมายบอกว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา เมื่อให้ใครไปแล้ว เขาจะต้องเอาไปใช้ตามวัตถุประสงค์และความจำเป็น คือ นำไปใช้เท่าที่บอกว่าจะใช้ ไม่เอาไปใช้งานอื่นเกินเลย กว่าที่ขอความยินยอมไม่ได้ นอกจากนี้เมื่อมีข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ก็ต้องเก็บรักษาและใช้มันอย่างปลอดภัย จะเผยแพร่ต่อให้คนอื่นไม่ได้ถ้าไม่ได้ถามเราก่อนและเราในฐานะเจ้าของข้อมูลสามารถบอกเลิกการครอบครองข้อมูลนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ การที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ใช้สิทธิในการที่จะเลือกในการให้ความยินยอมในการให้ข้อมูลแล้ว หน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูล จะต้องทำอะไรบ้างและห้ามทำอะไรบ้าง เป็นเรื่องที่สำคัญมากและมีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจน โปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำคัญไฉน ? (ตอนที่ 2 )

       ความเดิมจากตอนที่ 1 ที่ได้อธิบายข้อมูลส่วนบุคคลคืออะไร ได้แก่อะไร ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จะมีผลบังคับใช้เกี่ยวข้องกับเราทุกคนในฐานะที่เป็นเจ้าของข้อมูล รวมถึงผู้ประกอบการ หน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่โดยตรงกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำไปใช้งาน        ทำไมต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เนื่องมาจากสหภาพยุโรป (European EU) ได้ออก GDPR (General Data Protection Regulation) เป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ซึ่งนอกจากมีผลบังคับใช้แก่การส่งข้อมูลภายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ผู้ประกอบการในไทยที่ติดต่อ รับส่งข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Cross-Border Data Transfer Issues) ก็ต้องมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสมและเพียงพอด้วย และที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือในมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการทำธุรกิจระหว่างประเทศ   หากประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ย่อมทำให้เสียโอกาสและความเชื่อมั่นจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป และอาจรวมไปถึงประชาคมโลกด้วย เพราะปัจจุบันมีการตื่นตัวเรื่อง Data Protection เนื่องจากมีหลายเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายล้านบัญชี หรือกรณีความลับทางทหารของประเทศมหาอำนาจได้รั่วไหลออกมาสู่สาธารณะ เป็นต้น ที่ผ่านมาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทยได้กำหนดไว้โดยทั่วไปในกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้อย่างเฉพาะเจาะจงในเรื่องดังกล่าวนี้         อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนบุคคลก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบันเพราะสามารถส่งต่อกันข้ามประเทศได้ และการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลมีความซับซ้อนมากขึ้นในการนำไปใช้ประโยชน์ จึงถือได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งในด้านธุรกิจและในด้านความมั่นคงในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง และเพื่อเป็นการทำความเข้าใจ เราจึงจำเป็นต้องทราบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นผู้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเรานั้นคือใครบ้าง         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ และ         การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้นหากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่เพื่อหาประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยหลักทั่วไป ผู้เผยแพร่ก็จะมีความผิดตามกฎหมายนี้         ด้วยเหตุนี้ บุคคลสำคัญที่เก็บข้อมูลของเราอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนใครจะเป็นผู้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเราก็ต้องขออนุญาตเจ้าของข้อมูลก่อนหรือไม่ และใช้ข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์อะไร การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลใครจะมีอำนาจที่จะเก็บได้ตามหลักกฎหมาย เหล่านี้คือคำถามที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 6 “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล “ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล          การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ เพื่อนำไปรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลต่อไปนั้น ต้องเก็บจากเจ้าของข้อมูลโดยตรง และได้รับการยินยอมโดยตรงจากเจ้าของข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรหรือผ่านระบบออนไลน์ตามรูปแบบที่กำหนด ดังนั้นก่อนที่จะยินยอม เจ้าของมูลต้องอ่านรายละเอียดให้ดี รวมถึงเก็บข้อมูลว่าได้ยินยอมให้เก็บ ใช้ เปิดเผยข้อมูล ไปกับหน่วยงานใดบ้าง โดยต้องแจ้งรายละเอียดชัดเจนครบถ้วน ผู้เก็บข้อมูลต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล การใช้ข้อมูล การเปิดเผยข้อมูล ระยะเวลาที่เก็บ เงื่อนไขต่างๆ ให้เจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน ที่สำคัญข้อมูลรายละเอียดในการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลต้องแยกส่วนออกมาจากข้อความอื่นอย่างชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย เพื่อให้เจ้าของข้อมูลอ่านและทำความเข้าใจก่อนที่จะยินยอมให้เก็บข้อมูล         ข้อมูลส่วนบุคคลที่ให้ไว้นั้น ผู้มีสิทธิเด็ดขาดคือเจ้าของข้อมูล เจ้าของข้อมูลสามารถยกเลิกการเก็บข้อมูล การนำไปใช้ แก้ไขและลบข้อมูลออกจากระบบได้ โดยที่ผู้เก็บข้อมูลไม่สามารถปฏิเสธได้ ดังนั้น ผู้เก็บข้อมูลต้องเตรียมการให้การยกเลิกทำได้สะดวกเช่นเดียวกับการยอมรับ ซึ่งการคุ้มครองนี้รวมถึงข้อมูลส่วนตัวที่ส่งไปเพื่อสมัครงาน ผู้สมัครสามารถแจ้งให้ทางบริษัทส่งข้อมูลกลับหรือทำลายข้อมูลส่วนตัว เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่าย เอกสารการศึกษา ฯลฯ หลังจากการสมัคร เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญเหล่านี้รั่วไหลออกไป และผู้เก็บต้องรักษาข้อมูลให้ปลอดภัยเป็นความลับ ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องมีหน้าที่รักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล มิให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของของมูล หรือเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ และดูแลไม่ให้เกิดการสูญหาย ซึ่งเรื่องนี้ทางผู้ประกอบการหรือองค์กรที่เก็บข้อมูลต้องมีการวางระบบ วิธีการ คณะทำงาน ทีมงานที่รับผิดชอบ ในการดูแลข้อมูลให้ปลอดภัยมากที่สุด แต่หากข้อมูลเกิดรั่วไหลหรือถูกขโมยไป ผู้เก็บข้อมูลต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบใน 72 ชั่วโมงนับแต่ทราบเหตุ         ในฐานะเราเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เรามีสิทธิอะไรบ้างตามกฎหมายในการที่จะติดตามหรือตรวจสอบในการไม่เอาข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต รายละเอียดนี้ ติดตามกันต่อไปในตอนที่ 3

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำคัญไฉน ? (ตอนที่ 1 )

        สถานการณ์ปัจจุบันกับการเฝ้าระวังและดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อโควิค – 19 แต่ในขณะเดียวกัน ในเร็วๆ นี้ก็จะมีการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562 ในวันที่ 28 พ.ค.2563 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รูปแบบการดำเนินธุรกิจและการกระทำของหน่วยงานรัฐ โดยผู้เขียนจะยกเอาประเด็นทั่วไปมากล่าวเบื้องต้น        ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้ยกตัวอย่างว่าอย่างไรบ้างที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นเพื่อให้มีหลักในการพิจารณาโดยจะกำหนดแนวปฎิบัติการกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล ดังนี้        แนวปฎิบัติการกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล        ขั้นตอนพื้นฐานเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคล แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ        1. ขอบเขตของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่อยู่ในขอบเขตความหมายของข้อมูลส่วนบุคคล        2. การกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยให้สามารถระบุข้อมูลส่วนบุคคลตามกระบวนการทำงานต่างๆขององค์กรและจัดการตามความเสี่ยงของแนวปฎิบัติ        ความสามารถในการระบุไปถึงเจ้าของข้อมูลมี 3 ลักษณะ        1.การแยกแยะ หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถระบุแยกแยะตัวบุคคลออกจากกันได้ เช่น ชื่อสกุล หรือเลขบัตรประชาชน        2. การติดตาม หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถถูกใช้ในการติดตามพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่บุคคลนั้นทำได้ เช่น Log file        3. การเชื่อมโยง หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถถูกใช้เชื่อมโยงกันเพื่อระบุไปถึงตัวบุคคล         ดังนั้นข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นข้อมูลทั้งหลายที่สามารถใช้ระบุถึงบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้ แม้ว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นจะไม่สามารถใช้ระบุถึงบุคคลได้แต่หากใช้ร่วมกับข้อมูลหรือสารสนเทศอื่นๆประกอบกันแล้วก็สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ โดยไม่จำเป็นว่าข้อมูลหรือสารสนเทศอื่นนั้นได้มีอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นจริงหรือเป็นเท็จ และเมื่อเป็นข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานหรือองค์กรทั้งหลายจะต้องขอความยินยอมในการที่จะเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจ และต้องปฎิบัติตามแนวปฎิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจ         ตัวอย่างที่เป็นข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อสกุลหรือชื่อเล่น เลขหนังสือเดินทาง เลขบัตรประกันสังคม เลขใบอนุญาตขับขี่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เช่น IP address , Cookie ID หรือข้อมูลทางชีวมิติ เช่น รูปใบหน้า,ลายนิ้วมือ,ฟิล์มเอกซเรย์ ข้อมูลสแกนม่านตา ,ข้อมูลอัตลักษณ์เสียง,ข้อมูลพันธุกรรม หรือข้อมูลระบุทรัพย์สินของบุคคล เช่น ทะเบียนรถยนต์,โฉนดที่ดิน หรือข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังข้อมูลข้างต้นได้ เช่น วันเกิดหรือสถานที่เกิด,เชื้อชาติ,สัญชาติ,น้ำหนัก ส่วนสูง ข้อมูลการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลบันทึกต่างๆที่ใช้ติดตามหรือตรวจสอบกิจกรรมต่างๆของบุคคล เช่น Log file เป็นต้น         ตัวอย่างข้อมูลที่ไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจที่ไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคล เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรือที่อยู่ที่ทำงาน ,อีเมล์ที่ใช้ในการทำงาน,อีเมล์ของบริษัท หรือข้อมูลผู้ตาย         ข้อมูลอ่อนไหว ( Sensitive Personal Data ) เป็นข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ของบุคคล แต่มีความละเอียดอ่อนและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้ในการเลือกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตัวอย่างข้อมูลอ่อนไหว เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ หรือข้อมูลสุขภาพจิต ข้อมูลชีวภาพ เป็นต้น         ข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล จึงเป็นสาระสำคัญเบื้องต้นที่คนไทยจะต้องเข้าใจว่าคืออะไร และได้แก่อะไรบ้าง รายละเอียดเนื้อหาต่อไป โปรดติดตามตอนที่ 2 ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 เกร็ดความรู้เรื่องการซักผ้าด้วยเครื่อง ตอนที่ 1

กิจกรรมการซักผ้า เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ในแต่ละครอบครัวมักมอบหมายหน้าที่ให้กับแม่บ้าน ซึ่งก็คือคุณแม่ แต่ในครอบครัวของชาวกรุงเทพ ส่วนใหญ่มักเป็นครอบครัวขนาดเล็ก กิจกรรมการซักผ้า มักจะถูกโอนไปให้กับ แม่บ้านมืออาชีพ(คนรับจ้างทำงานบ้าน) บางท่านอาจยังไม่ได้แต่งงาน ใช้ชีวิตเป็นคนโสด ก็อาจจะใช้บริการ จ้างร้านซักรีด หรือ ไม่ก็ใช้บริการตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ ซึ่งมีแพร่หลายอยู่ทั่วไป บทความในวันนี้จะอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับการซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้าอัตโนมัติการเลือกผงซักฟอกควรเลือกผงซักฟอก ให้เหมาะกับผ้าที่จะซัก โดยใช้ผงซักฟอกสำหรับผ้าขาว เมื่อซักผ้าขาว และใช้ผงซักฟอกผ้าสี กับผ้าที่มีสีสันต่างๆ ไม่ควรใช้สลับกัน เพราะในผงซักฟอกสำหรับผ้าขาวจะมีสารฟอกขาว (Bleaching chemicals) ซึ่งหากไปใช้ซักผ้าสี ก็จะทำให้สีหม่นลงจากสารฟอกขาว ในกรณีที่ซักผ้าไหม (Silk) หรือผ้าขนสัตว์ (Wool) ก็ควรใช้ผงซักฟอกสำหรับผ้าชนิดนั้นๆ เช่นกันเลือกโปรแกรมซักผ้าแบบประหยัด ทำไมเวลาเลือกโปรแกรมซักผ้าแบบประหยัดของเครื่องซักผ้าบางรุ่นจึงใช้เวลานานในการซัก ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ปัจจัยที่ผลต่อความสะอาดของการซักผ้า คือ ผงซักฟอก ความเร็วรอบของล้อหมุนในเครื่องซักผ้า (drum movement) อุณหภูมิของน้ำ และเวลาในการซัก ดังนั้นถ้าลดปริมาณของปัจจัย ชนิดใดลง ก็ต้องไปเพิ่มปัจจัย อื่นทดแทน เพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม ซึ่งปัจจัยที่มีราคาสูงคือ ค่าไฟฟ้า การซักผ้าโดยใช้น้ำร้อนเป็นการซักที่ใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก และมีต้นทุนสูงดังนั้นสำหรับประเทศไทย ที่อุณหภูมิน้ำไม่ได้ต่ำเหมือนในยุโรป ดังนั้นการซักผ้าด้วยน้ำร้อนจึงอาจเกินความจำเป็นทำไมจึงดูเหมือนว่า เครื่องซักผ้ารุ่นใหม่ๆ จึงซักผ้าได้ไม่ดีเหมือนซักด้วยเครื่องรุ่นเก่าจากการทบทวนผลการทดสอบของ มูลนิธิทดสอบสินค้าแห่งเยอรมนี พบว่า เมื่อซักผ้าด้วยโปรแกรมการซักแบบมาตรฐาน (Standard Washing Program) เครื่องซักผ้าหลายยี่ห้อ ให้ผลการซักแบบ ปานกลาง ต่อเมื่อลดปริมาณผ้าที่จะซักลง พบว่าผลการซักผ้าดีขึ้นมา สาเหตุ คือ ล้อหมุนที่ใส่ผ้าได้ออกแบบให้บรรจุผ้าได้มากขึ้น แต่กำลัง (ไฟฟ้า) ซักไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นหากผู้บริโภคประสบปัญหานี้จึงจำเป็นต้องลดปริมาณการซักแต่ละรอบลง หรือ ไปเพิ่มเวลาในการซัก ซึ่งทำให้ เสียค่าไฟและน้ำเพิ่มขึ้นจะใส่ผ้าลงไปซักได้มากที่สุดเท่าไหร่จริง ๆ แล้วในทางปฏิบัติก็คงไม่มีใครนำผ้าที่จะซักไปชั่ง ดังนั้นวิธีที่แนะนำสำหรับการเลือกปริมาณผ้าที่จะซักอย่างเหมาะสม ให้อ่านจากคำแนะนำในคู่มือของเครื่องซักผ้า ซึ่งปริมาณของผ้าที่เหมาะสมสำหรับเครื่องซักผ้าขนาดบรรจุ 10 ลิตร คือ ปริมาณผ้าที่ใส่จนเต็มระดับขอบบนของถัง แล้วสามารถปิดฝาถังได้พอดี ด้วยแรงกดเบาๆผงซักฟอกแบบผงหรือน้ำยาซักผ้า ?ผงซักฟอกแบบผง สามารถขจัดคราบหรือรอยเปื้อนได้ดีกว่า และยังช่วยรักษาสภาพสีของเนื้อผ้าไม่ให้สีหมองอีกด้วย ในขณะที่การซักผ้าสี ควรใช้ น้ำยาซักผ้า ซึ่งสามารถซักผ้าสีได้สะอาดดีใช้ผงซักฟอกปริมาณเท่าไหร่ปริมาณผงซักฟอกขึ้นอยู่กับปัจจัยสามสิ่ง คือ ความสกปรกของผ้า โดยดูจากคราบและรอยเปื้อน ปริมาณผ้าที่ซัก และ ระดับคามกระด้างของน้ำที่ใช้ซัก จริงๆ แล้ว ในคู่มือการใช้งาน ของเครื่องซักผ้าก็จะบอกไว้เป็นแนวทางอย่างคร่าวๆ ซึ่งจะแบ่งระดับความสกปรกของผ้า เป็น 3 ระดับ ได้แก่สกปรกน้อย คือเป็นผ้าที่อาจเปื้อนเหงื่อ และมีคราบบนผ้าสกปรกปานลาง คือ ผ้าที่มีคราบเพียงขนาดเล็กๆ เช่น ผ้าปูเตียงนอน 1 สัปดาห์ หรือผ้าเช็ดมือสกปรกมาก คือ ผ้าที่ใช้ในครัว ผ้าขี้ริ้ว ผ้าที่เปื้อนดิน เปื้อนใบไม้ใบหญ้าหวังว่า ข้อมูลนี้จะช่วยท่านผู้อ่านตระหนักรู้ในเรื่องการซักผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประหยัดเงินในกระเป๋าของเราพร้อมกันไปด้วย เพื่อก้าวสู่การบริโภคเพื่อความยั่งยืน(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 8/2012)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ข้อความส่วนตัวบน Line กับความมั่งคงของประเทศ?

เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2556 หลายคนที่ชื่นชอบการใช้โซเชียลมีเดีย ต้องตื่นตระหนกกับการออกหมายเรียกผู้โพสต์ข้อความลงบนเฟสบุ๊คของตนเอง ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์  รวมถึงผู้ที่กด like หรือ กด Share จำนวน 4 รายนั้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดกระแสการควบคุมการสื่อสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตรวจสอบเฝ้าระวังการสื่อสารผ่านโปรแกรมสนทนาไลน์ หรือแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) โดยอ้างว่าอาจกระทบความมั่นคงของชาติ จนทำให้ใครหลายๆ คนในวงการโซเชียลมีเดีย ออกมาถามหาความความเป็นส่วนตัวในการดำรงชีวิต ด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์การตรวจสอบเฝ้าระวังการสื่อสารแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) ของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จึงกลายเป็นข่าวฮอตฮิตไปทั่วประเทศ แอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) เป็นโปรแกรมที่เป็นตัวกลางช่วยให้สามารถสื่อสารผ่านข้อความ รูปภาพ ระหว่างอุปกรณ์มือถือ และได้พัฒนาโปรแกรมให้สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะได้อีกด้วย ทั้งที่ต้องใช้ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย การสื่อสารบนแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) จะเหมือนกับการส่งข้อความส่วนตัวโต้ตอบกันได้ทันทีจากคนหนึ่งไปถึงอีกคนหนึ่ง หรือเป็นหลายคนในเวลาเดียวกันได้   จากสถิติของบริษัทไลน์ คอร์ปอเรชั่น (LINE Corporation) ในงาน press conference เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2556 ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งาน Line Messenger ทั่วโลกอยู่ที่ 230 ล้านคน  โดยประเทศไทยติดอันดับเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ 2 ถึง 18 ล้านคน รองลงมาจากอันดับ 1 ประเทศญี่ปุ่น มีผู้ใช้งาน 47 ล้านคน ส่วนอันดับที่ 3 จากประเทศไต้หวัน มีผู้ใช้งาน 17 ล้านคน อันดับที่ 4 จากประเทศสเปน มีผู้ใช้งาน 15 ล้านคน และอันดับที่ 5 จากประเทศอินโดนีเซีย มีผู้ใช้งาน 14 ล้านคน สังเกตปริมาณการใช้ แอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) ในประเทศไทย 18 ล้านคน ถือว่าประเทศไทยมีผู้ใช้งานค่อนประเทศ ถ้าต้องการตรวจสอบเฝ้าระวังการสื่อสารบนแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) จริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องใช้จำนวนคนและเวลาในการตรวจสอบนานพอดู เพราะขณะนี้สถิติข้อความที่ใช้ส่งหากันใน Line มีมากกว่า 7 พันล้านข้อความแล้ว  ลองคำนวณกันเองล่ะกันว่าผู้ใช้งานในประเทศไทย จะส่งข้อความหากันไปแล้วกี่ข้อความ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ระวังถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว

ใครจะไปคิดว่าการบอกข้อมูลส่วนตัวทั่วๆ ไปกับบริษัทประกันภัย จะสามารถสร้างปัญหาหนักใจให้เราภายหลังได้ และเราควรจัดการปัญหานั้นอย่างไร ลองมาดูตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กันคุณสุชาติถูกชักชวนให้ทำประกันทางโทรศัพท์จากบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ซึ่งภายหลังฟังข้อเสนอต่างๆ เขาก็ไม่มีความประสงค์ที่จะทำประกันดังกล่าว อย่างไรก็ตามก่อนวางสายพนักงานก็พยายามสอบถามข้อมูลส่วนตัวทั่วๆ ไป เช่น ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ และแน่นอนเขาได้บอกไปตามความจริงทุกอย่าง เนื่องจากไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาอะไร แต่ภายหลังได้รับกรมธรรม์ประกันภัย จึงรู้ว่าตัวเองถูกหลอกให้ทำประกันไปซะแล้ว เมื่อโทรศัพท์กลับไปสอบถามที่บริษัทดังกล่าวก็ได้รับการชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้ไม่ได้หลอกผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะผู้ร้องเป็นคนบอกข้อมูลส่วนตัวให้ทำประกันเอง ซึ่งมีหลักฐานเป็นคลิปเสียงการสนทนาในครั้งนั้นอีกด้วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องยกเลิกประกันภัยทางโทรศัพท์ โดยส่งหนังสือยกเลิกสัญญา พร้อมหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ไปยังบริษัทประกันภัย และธนาคารเพื่อไม่ให้มีการเรียกเก็บเงิน หรือตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งต้องส่งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มของหนังสือยกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://www.consumerthai.org หรือโทรศัพท์มาขอคำแนะนำได้ที่เบอร์ 02 - 2483737 (จันทร์ – ศุกร์, 09.00 – 17.00 น.)นอกจากนี้สำหรับใครที่ไม่อยากเกิดปัญหาสมัครประกันแบบไม่รู้ตัว สามารถทำได้โดยการปฏิเสธอย่างชัดเจน หรือในกรณีที่สนใจข้อเสนอของประกันภัยนั้นๆ เราควรขอกรมธรรม์มาศึกษาก่อน และหากไม่แน่ใจรายละเอียดยิบย่อย สามารถโทรศัพท์สอบถามที่สายด่วนประกันภัย คปภ. ที่เบอร์ 1186 ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ตรวจสอบการให้ข้อมูลบนฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบบรรจุห่อรวม

  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นเสบียงคู่ครัวคนไทยสมัยใหม่มาอย่างยาวนาน เท่าที่ผู้เขียนทราบก็ราว ๆ ปี พ.ศ. 2514 – 2515 จนถึงปัจจุบัน โดยมียี่ห้อแรกคือ ซันวา นิตยสารฉลาดซื้อได้เคยลงบทความทดสอบปริมาณโซเดียม (เกลือ และ ผงชูรส) มาแล้ว ครานี้ผมขอนำบทความเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาเสนอผู้อ่านอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เราจะไม่พูดถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องของ ฉลาก และการให้ข้อมูลบนฉลาก ที่ต้องพูดคุยกันมาก ฉบับนี้เลยขอนำเสนอการเปรียบเทียบฉลากภายนอกของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดจัดชุดก่อน และฉบับหน้าจะพาท่านผู้อ่านไปดูรายละเอียดฉลากชนิดซองต่อซอง ยี่ห้อต่อยี่ห้อของผู้ประกอบการรายต่าง ๆ ในตลาดว่าค่ายใดจะให้ข้อมูลกับผู้บริโภคมากกว่ากัน   ฉลากและความสำคัญคำว่า ฉลาก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมายหรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยา อาหาร หรือผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ฉลากยา ฉลากเครื่องสําอาง  ส่วนคำว่า ฉลากอาหาร นั้น พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ระบุว่าหมายรวมถึง รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร หรือหีบห่อของภาชนะที่บรรจุอาหาร  ฉลากอาหารเป็นแหล่งข้อมูลของผู้บริโภค ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับอาหารนั้น ๆ ในการแสดงข้อมูลบนฉลากอาหาร ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ. 2543 เรื่องฉลาก ได้กำหนดไว้ว่า “ฉลากของอาหารที่จำหน่ายต่อผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยแต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ และจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้…” สำหรับข้อมูลที่ประกาศฉบับนี้ระบุให้แสดงนั้นมีทั้งหมด 15 รายการ   ในปัจจุบันสินค้าหลายชนิดถูกวางขายในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และห้างสรรพสินค้าในลักษณะแพ็กชุดใหญ่ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มชงชนิดต่างๆ เพื่อส่งเสริมการขายให้มากขึ้น เพราะการซื้อแบบแพ็กชุดราคาจะถูกลงเมื่อเทียบเป็นจำนวนชิ้น ในกรณีฉลากสำหรับบรรจุภัณฑ์ภายนอกของอาหารชนิดจัดชุดนั้น ตามหลักการควรที่จะมีการแสดงข้อมูลในระดับเดียวกันกับการแสดงข้อมูลที่อยู่ในซองย่อยที่อยู่ภายในซองบรรจุภัณฑ์รวม เพราะไม่เช่นนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่า ผลิตภัณฑ์ข้างในเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่สามารถแกะแยกห่อออกมาดูได้  ฉลาดซื้อจึงได้ลองใช้เกณฑ์ขั้นต่ำที่พึงแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลากที่ต้องแสดงจำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณของอาหารเป็นระบบเมตริก (น้ำหนักสุทธิ-กรัมหรือกิโลกรัม/ ปริมาตรสุทธิ-มิลลิลิตรหรือลิตร) และวันเดือนและปีที่ผลิต วันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค หรือ วันเดือนและปีที่อาหารยังมีคุณภาพดี โดยมีข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้ด้วยแล้วแต่กรณี มาใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณากับตัวที่บรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มสินค้าชนิดแพ็กชุด  โดยตัวอย่างทดสอบชุดแรก มาจากกรณีร้องเรียนของผู้บริโภครายหนึ่งที่ ร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเมื่อกลางเดือนเมษายน เรื่องซื้อสินค้าหมดอายุเนื่องจากการไม่เห็นวันผลิต – วันหมดอายุ บนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ 3 ห่อได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งน้ำข้น ตรามาม่า ชนิดห่อแบบจัดชุด 6 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 10 ซอง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ ตรายำยำ จัมโบ้ ชนิดจัดชุด 10 ซอง ที่ผู้ร้องซื้อจากห้างบิ้กซี สาขาสะพานควายเมื่อเดือนมีนาคม   จากการตรวจสอบหลักฐานเบื้องต้นที่ผู้ร้องส่งมา พบว่าซองภายนอกของผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ห่อ ไม่มีการระบุ วันผลิต – วันหมดอายุ แต่มีการระบุวัน เวลา ดังกล่าวไว้ในบรรจุภัณฑ์ย่อยแต่ละซองที่อยู่ภายในซองใหญ่ ในการหาข้อมูลเพิ่มเติมผู้เขียนจึงได้ไปเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 จากห้างที่ผู้ร้องไปใช้บริการจำนวน 3 ตัวอย่าง และจากร้านท็อปซูเปอร์มาเก็ต สาขาโรงภาพยนตร์เซ็นจูรี่ จำนวน 5 ตัวอย่าง รวม 8 ตัวอย่างได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับต้มยำ ตราไวไว ชนิด 10 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราไวไว ชนิด10 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสกุ้งนึ่งมะนาว ตราไวไวควิก ชนิด 5 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำหมูสับ ตรา ยำยำจัมโบ้ ชนิด 6 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำทะเลหม้อไฟ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิด 6 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ตรามาม่า ชนิด 10 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียม ตราซื่อสัตย์ ชนิด 6 ซอง และวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราเกษตร ชนิด 4 ซอง แล้วนำมารวมกับตัวอย่างเก่าที่ผู้ร้องส่งมาให้รวมทั้งหมด 11 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบลักษณะการแสดงข้อมูลขั้นต่ำแก่ผู้บริโภค จำนวน 4 รายการได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณของอาหารเป็นระบบเมตริก และ วันผลิต – วันหมดอายุ รวมไปถึงตรวจดูลักษณะบรรจุภัณฑ์บนซองภายนอกของผลิตภัณฑ์   ผลการทดสอบพบว่า1. เกือบทุกตัวอย่าง แสดงชื่อสินค้าและตราสินค้าบนซองภายนอกบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าซองที่บรรจุจะเป็นซองใสก็ตาม ยกเว้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียม ตราซื่อสัตย์ ที่ได้แสดงข้อมูลไว้ในห่อภายในของบรรจุภัณฑ์โดยที่ห่อภายนอกเป็นพลาสติกใส สามารถมองทะลุได้อย่างชัดเจน  2. ไม่มีตัวอย่างใดแสดงชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุบนซองภายนอกของบรรจุภัณฑ์ 3. มีตัวอย่างจำนวน 7 ตัวอย่างจาก 11 ตัวอย่างแสดงปริมาณของอาหารไว้บนห่อรวมบรรจุภัณฑ์ โดยที่ 3 ตัวอย่างแสดงไว้ด้านหลังบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ยำยำจัมโบ้รสต้มยำหมูสับชนิด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำทะเลหม้อไฟชนิด 6 ซอง และไวไวรสต้มยำกุ้งชนิด 10 ซอง อีก 4 ตัวอย่างแสดงไว้ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ได้แก่ มาม่ารสต้มยำชนิด 10 ซอง มาม่ารสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ชนิด 10 ซอง มาม่ารสต้มยำกุ้งน้ำข้นชนิด 6 ซอง และยำยำจัมโบ้รสหมูสับชนิด 10 ซอง  4. ไม่มีตัวอย่างใดแสดงวันผลิต-วันหมดอายุบนห่อรวมบรรจุภัณฑ์ หากแต่มีการแสดงข้อมูลวันผลิต วันหมดอายุ หรือวันบริโภคก่อน ภายในบรรจุภัณฑ์ย่อยในทุกผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามมีตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่างที่ไม่สามารถเห็นวันผลิต – วันหมดอายุในผลิตภัณฑ์ด้านในซอง ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากซองรวมบรรจุภัณฑ์มีลักษณะปิดทึบทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ได้แก่ รสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ชนิด 10 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำทะเลหม้อไฟ ชนิด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำหมูสับ ชนิด 6 ซอง  5. ลักษณะของบรรจุภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ (1) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกใสทั้งหมดหรือใสบางส่วนแต่สามารถเห็นได้ครบทุกด้านทั้งซ้าย ขวา หน้า และหลัง บรรจุภัณฑ์กลุ่มนี้มี 3 ตัวอย่าง คือ ซื่อสัตย์รสไก่กระเทียม ชนิดจัดชุด 6 ซอง ไวไวควิกรสกุ้งนึ่งมะนาว ชนิดจัดชุด 5 ซอง และ วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำตราเกษตร ชนิดจัดชุด 4 ซอง (2) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกประกอบลวดลายด้านหน้าและหลังแต่เปิดพื้นที่ว่างด้านซ้ายและขวาให้มองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างในได้ บรรจุภัณฑ์กลุ่มนี้มี 4 ตัวอย่าง ได้แก่ มาม่ารสต้มยำกุ้ง ชนิดจัดห่อ 10 ซอง มาม่ารสต้มยำกุ้งน้ำข้น ชนิดจัดชุด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสหมูสับ ชนิดจัดชุด 10 ซอง และไวไวรสต้มยำกุ้ง ชนิดจัดชุด 10 ซอง (3) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกประกอบด้วยรูปหรือลวดลายปิดหมด 3 ด้านเปิดพื้นที่ใสให้เห็นด้านในเพียงด้านเดียวหรือปิดทั้ง 4 ด้านจนไม่สามารถเห็นสิ่งที่อยู่ด้านในได้ บรรจุภัณฑ์กลุ่มนี้มีทั้งหมด 4 ตัวอย่าง ได้แก่ มาม่ารสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ชนิดจัดชุด 10 ห่อ ยำยำจัมโบ้รสต้มยำทะเลหม้อไฟ ชนิดจัดชุด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำหมูสับ ชนิดจัดชุด 6 ซอง และไวไวรสหมูสับต้มยำชนิดจัดชุด 10 ซอง   ข้อสังเกต1. ถึงแม้ผลิตภัณฑ์จะเป็นตราสินค้าเดียวกันแต่หากต่างรสกัน ไม่เสมอไปที่การแสดงข้อมูลจะเป็นแบบเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ไวไวรสหมูสับต้มยำชนิดจัดชุด 10 ซอง กับ ไวไวรสต้มยำกุ้งชนิดจัดชุด 10 ซอง ที่ตัวอย่างแรกมีการแสดงข้อมูลเพียงชื่อและตราสินค้าร่วมกับตัวอักษรขนาดใหญ่ว่าจัดชุด 10 ซอง ขณะที่ตัวอย่างหลังมีการแสดงข้อมูลสำคัญทุกอย่างเกือบครบถ้วนรวมไปถึง ข้อมูลโภชนาการด้วย 2. มีเพียง 2 ตัวอย่างเท่านั้นที่มีการแสดงคำว่า ผลิต หรือ ควรบริโภคก่อน เป็นภาษาไทยอยู่ในบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งตราเกษตร ชนิดจัดชุด 4 ซอง และ ไวไวรสต้มยำกุ้ง ชนิดจัดชุด 10 ซอง  3. ไม่มีรูปแบบตายตัวของการแสดงข้อมูลสำคัญของผู้ผลิตบนห่อใหญ่ของบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันผลิต วันหมดอายุ หรือ ควรบริโภคก่อน อีกทั้ง เมื่อมองเข้าไปในบรรจุภัณฑ์ย่อย ยังพบว่าหน่วยปีที่ใช้ก็ยังมีความแตกต่างกัน ขณะที่ส่วนใหญ่ใช้ปี ค.ศ. แต่ก็ยังมีบางรายใช้ปี พ.ศ. ในการอ้างอิง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียมตราซื่อสัตย์ เป็นต้น  สรุป การแสดงฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดจัดชุดอยู่ในระดับไม่น่าพอใจเนื่องจากมีการแสดงข้อมูลสำคัญที่จำเป็นไม่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันผลิต วันหมดอายุ หรือ ควรบริโภคก่อน   ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีที่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ หรือ มีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย เช่น มาม่ารสต้มยำกุ้ง ชนิดบรรจุ 10 ซอง ระบุว่ามีธาตุไอโอดีน เหล็ก และวิตามินเอ บนฉลากทั้งซองรวมภายนอกและซองเล็กภายในแต่บนซองรวมกลับไม่มีการระบุฉลากโภชนาการไว้ จริงอยู่ว่ามีการแสดงข้อมูลโภชนาการไว้ภายในซองเล็ก และลักษณะซองภายนอกอาจจะมีลักษณะใสมองเห็นด้านในได้บางส่วน แต่การจัดวางบรรจุภัณฑ์ทำให้มองไม่เห็นข้อมูลเหล่านี้  ดังนั้น ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นี้ชนิดจัดชุด ควรดูที่การแสดงข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ภายนอก หากไม่มีการแสดงข้อมูลวันผลิต-วันหมดอายุ ที่เห็นได้ชัดเจน ผู้บริโภคไม่น่าจะสนับสนุน ผู้ประกอบการรายนั้นๆ และควรส่งเสริมผู้ประกอบการที่ทำดี ทำฉลากชัดเจนจะดีกว่า   ตารางเปรียบเทียบการแสดงข้อมูลบนฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดบรรจุห่อรวม ผลิตภัณฑ์/ยี่ห้อ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณของอาหาร วันผลิต – วันหมดอายุ ลักษณะบรรจุภัณฑ์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์แต่มองเห็นด้านข้างได้ทั้งสองด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งน้ำข้น ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 6 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์แต่มองเห็นด้านข้างได้ทั้งสองด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายทั้งด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์ ซองมีสีชมพูถึงชมพูเข้มทั้งซอง มีการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวมแต่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งของด้านในได้อย่างชัดเจน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับต้มยำ ตราไวไว ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายบนผลิตภัณฑ์ 3 ด้าน เปิดพื้นที่ให้เห็นด้านในได้หนึ่งด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราไวไว ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและการแสดงข้อมูลชื่ออาหาร ตราสินค้า เลขสารบบอาหาร (เลขอย.) ด้านหน้าของซองรวม ด้านหลังแสดงข้อมูลโภชนาการ วิธีปรุง ส่วนประกอบสำคัญ และคำแนะนำในการบริโภค และเปิดพื้นที่ด้านข้างทั้งสองข้างให้มองเห็นวันผลิต-วันหมดอายุที่อยู่ภายในซองย่อย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสกุ้งนึ่งมะนาว ตราไวไวควิก ชนิดจัดชุด 5 ซอง มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี เป็นซองใสมีลายเล็กน้อยตรงกลางด้านหน้าซอง ซึ่งเป็นที่ระบุข้อมูลชื่อและชนิดอาหารพร้อมบาร์โค้ดของซอง วันผลิต-วันหมดอายุอยู่ในซองย่อยแต่มองได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากสีสันของบรรจุภัณฑ์ภายในมีมากเกินไป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์แต่มองเห็นด้านข้างได้ทั้งสองด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำหมูสับ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิดจัดชุด 6 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายบนผลิตภัณฑ์ และมีสีทึบ 3 ด้าน เปิดพื้นที่ให้เห็นด้านในได้เพียงเล็กน้อยหนึ่งด้าน โดยมีลวดลายมากจนมองเห็นการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อย ได้ไม่ชัดเจนหรือไม่เห็นเลย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำทะเลหม้อไฟ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิดจัดชุด 6 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายบนผลิตภัณฑ์ และมีสีทึบ 3 ด้าน เปิดพื้นที่ให้เห็นด้านในได้เพียงเล็กน้อยหนึ่งด้าน โดยมีการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อย แต่ไม่สามารถเห็นได้เนื่องจากตำแหน่งของวันผลิต-วันหมดอายุที่อยู่ในซองย่อยไม่ตรงกับช่องที่เปิดไว้ให้เห็นด้านในเพียงเล็กน้อย วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราเกษตร ชนิดจัดชุด 4 ซอง มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี เป็นซองใส มีข้อมูลชื่อและชนิดอาหารพร้อมบาร์โค้ดของซอง วันผลิต-วันหมดอายุ อยู่ในซองย่อย สามารถมองเห็นได้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียม ตราซื่อสัตย์ ชนิดจัดชุด 6 ซอง ไม่มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี เป็นซองใสมีลายเล็กน้อยตรงกลางด้านหน้าซอง ระบุตราสินค้าแต่ไม่ระบุชื่อสินค้า มีบาร์โค้ดของซอง วันผลิต-วันหมดอายุอยู่ในซองย่อยสามารถมองเห็นได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 159 Smart TV ข้อน่ากังวลสำหรับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการตอนนี้การประมูลทีวีดิจิตัลก็เสร็จเรียบร้อย กำลังทดลองออกอากาศในบางพื้นที่ แต่นโยบายแจกกล่อง set top box กำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงถึงความโปร่งใส และราคาคูปองที่จะแจกให้ผู้บริโภค ที่ราคาอาจจะสูงเกินจริง จนทำให้ประเทศชาติเสียหายได้ ถ้าไม่ระมัดระวังและมีการควบคุมวิธีการแจกคูปองที่ดี อย่างไรก็ตามสังคมกำลังเดินหน้าไปสู่การสื่อสารยุคดิจิตัล การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตัลเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ผมขอนำสถานการณ์เกี่ยวกับ เรื่อง Smart TV ของเยอรมนี ที่อยู่ในยุคทีวีดิจิตอล แล้วเป็นข้อกังวลสำหรับคนที่ต้องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมานำเสนอครับ Smart TV คือ อะไร คำว่า smart แปลเป็นภาษาไทย คือ ฉลาด และ smart TV เป็นโทรทัศน์ที่นอกจากสามารถดูรายการต่างๆ ได้เหมือนกับเครื่องรับโทรทัศน์อื่นๆ แล้ว ยังสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และสามารถลง Application เหมือนกับ Smartphone ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารไปยัง social media ไม่ว่าจะเป็น facebook Twitter และ Youtube ผู้ชมสามารถใช้รีโมต ที่สามารถพิมพ์ตัวอักษร ในการเลือกช่องทางการสื่อสารที่สามารถเกิดขึ้นได้ไปพร้อมๆ กับการชมรายการทางโทรทัศน์  ที่เกิดขึ้นบนจอเดียวกัน สำหรับการเลือกซื้อ Smart TV ผู้บริโภคจะต้องพิจารณาถึงความคมชัดของจอภาพ หากผู้ใดสนใจ ว่า Smart TV รุ่นไหนดีอย่างไรนั้น ต้องสอบถามมาที่ กอง บก. เนื่องจากสามารถเข้าถึงผลการทดสอบ Smart TV ของ ICRT ได้ แต่เงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องมี Wifi หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อ  โดยจะต้องมีความเร็วของอินเตอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 6 Mbits/ Second และสำหรับการรับชม HD Video ก็ไม่ควรมีความเร็วต่ำกว่า 8 Mbits/sec   ข้อน่ากังวลต่อประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สถานีโทรทัศน์ในเยอรมนีหลายช่อง รวมทั้ง Google ได้มีการเก็บข้อมูล ด้วยโปรแกรมที่ทำหน้าที่เหมือนกับสปาย (Google Universal Analytics) ที่สามารถสะกดรอยทางดิจิตัล (Digital trace) ผ่าน smart TV ได้ เมื่อผู้ชม Smart TV ใช้บริการของ Gmail หรือ Google ก็จะรู้ทันทีว่าใครเป็นผู้ใช้ ไม่สามารถปกปิด Identity ได้ นอกจากนี้ Smart TV บางยี่ห้อ เช่น ซัมซุง จะมีกล้องติดไว้ที่ Smart TV ด้วย เพื่อการสื่อสาร face to face communication Smart TV ก็จะจำหน้าของคนในครอบครัวที่ดูทีวีได้อีกด้วย ซึ่ง Smart TV จะจำได้ว่าสมาชิกในครอบครัวคนไหน ชอบดูรายการใด และสามารถรู้ได้อีกเช่นกันว่า ตรงไหนคือ เวลาโฆษณา ซึ่งจะทำให้ซัมซุงมีข้อมูลของผู้ชมทุกคนในครอบครัว หากใครต้องการปกปิดข้อมูลส่วนตัวนี้ ก็สามารถไปปิด Function Smart TV ที่เรียกว่า Personlization and Recommendation service นอกจากนั้นยังจะมีไมโครโฟนสำหรับใช้เสียงสั่งงานด้วย เช่น การใช้เสียงเปลี่ยนช่องรายการ เสียงที่ส่งไปยัง TV นั้น เป็นข้อมูลที่สำคัญเฉพาะตัว (Biomimetric data) ที่ไม่สมควรจะปล่อยออกไปยังอินเตอร์เน็ต เพราะสามารถถูกโจรกรรมข้อมูลและขโมย password ของเราได้ ทางที่ดีเราไม่ควรใช้งานอินเตอร์เน็ตด้วยระบบสั่งการด้วยเสียง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นงานที่สำคัญในเชิงเทคนิคสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ในการสื่อสารยุคดิจิตัลที่พลเมืองในฐานะผู้บริโภคต้องได้รับความคุ้มครอง การมีคณะกรรมการระดับชาติจึงมีความจำเป็น แม้ว่า ใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2553 จะมี มาตราที่ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการรับมือกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนมาสู่ยุคดิจิตัล แน่นอนว่าจะต้องมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างแน่นอน   แหล่งข้อมูล test ฉบับที่ 12/2011 และ test 5/2014  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 134 เฟสบุค กับมาตรการการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ   ปัจจุบันนี้โปรแกรมโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุค ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก หลายๆ คนนิยมติดต่อ สื่อสาร แสดงสถานะของตนเอง ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลที่ อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัว และการเปิดเผยข้อมูลบางประการ ซึ่งอาจทำให้เป็นช่องทางที่พวกมิจฉาชีพทั้งหลายเข้ามาทำร้ายเราได้ และโดยในเฉพาะปัจจุบันนี้ ภัยจากสงครามปรองดอง บางส่วนก็ยังคงใช้โซเชียลมีเดียเป็นสนามรบแทนที่จะใช้เป็นสนามรัก เรื่องนี้ เป็นโจทย์ที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องตั้งสติและเตรียมตัว ให้ดีว่า เราจะช่วยกันป้องกันภัยคุกคามที่มาพร้อมกับการติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดนนี้ได้อย่างไร บทความตอนนี้ขออนุญาตเล่าสถานการณ์ เรื่องเฟสบุค ในประเทศเยอรมนี ต่อกรณีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่น่าจะมีประโยชน์กับผู้บริโภค และหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้บ้าง ตลอดจนได้แนะนำวิธีปฏิบัติเบื้องต้นไปพลางๆ สำหรับผู้บริโภคก่อน ที่ภาครัฐและฝ่ายนิติบัญญัติจะสามารถกลับมาทำหน้าที่ เป็นที่พึ่งของประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ครับ   เพื่อนที่ไม่ได้เชิญหรือไม่ได้รู้จักมีอีเมล์จากเฟสบุคมาชวนเรา ใครก็ตามที่ได้เล่นเฟสบุค แล้วก็มักจะติดอกติดใจ และใช้เฟสบุคเพิ่มมากขึ้น โดยปรกติแล้วการเข้ามาในระบบ ฐานข้อมูลของเฟสบุคนั้น ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องมีบัญชี (account) ในเฟสบุค เพราะเฟสบุคเองมีเครื่องมือที่เรียกว่า friend finder ที่เป็นโปรแกรมอัตโนมัติ คอยเสาะหาบุคคลที่จะเข้ามาเป็นเพื่อน หรือ เป็นเพื่อนของเราอยู่แล้วก็ได้ เพราะโปรแกรมเฟสบุคเองนั้นจะทำหน้าที่เสาะหาสมาชิกให้เข้ามาในเฟสบุค โดยเฟสบุคสามารถตรวจสอบข้อมูลจากเบอร์อีเมล์ของเพื่อนเราหรือคนรู้จักได้ เรียกเป็นภาษาเทคนิคว่า addressbook import ในกรณีที่พบเพื่อนหรือคนอื่นๆ ที่เราเคยรู้จัก เฟสบุคจะบอกเรา (user) ว่าใครบ้างที่ทำการลงทะเบียนใช้งานในเฟสบุคแล้วบ้าง หลังจากนั้นเฟสบุคก็จะทำการส่งคำเชิญชวนคนที่ยังไม่อยู่ในบัญชีเฟสบุคให้เข้ามาลงทะเบียนใช้เฟสบุค สำหรับคนที่ได้รับคำเชิญนั้นก็แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่สนใจใช้งานเฟสบุค กับกลุ่มที่ไม่สนใจใช้งานเฟสบุค แต่คนทั้งสองกลุ่มที่ได้รับคำเชิญนั้น ข้อมูลของคนทั้งสองกลุ่มได้ถูกเก็บบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของเฟสบุคแล้ว   กรณีที่เราอยากจะลบข้อมูลของเราในฐานข้อมูลของเฟสบุคต้องทำอย่างไร สำหรับประเทศไทยที่มาตรการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังย่อหย่อน และรัฐไม่ได้เห็นเป็นเรื่องสำคัญอะไรมากนัก ก็อาจจะเป็นเรื่องยากอยู่แต่ในประเทศเยอรมนีที่มีกฎหมายดูแลเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น จะมีคณะกรรมการอิสระคอยสอดส่องดูแลอยู่ นอกจากนี้ประชาชนและองค์กรภาคเอกชนก็เป็นกำลังสำคัญในการให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือในด้านนี้กันเป็นอย่างดี และล่าสุดสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีฟ้องศาล* กรณีการทำงานหาสมาชิกแบบอัตโนมัติของ friend finder ถึงแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งห้ามระบบการทำงานของ friend finder ก็ตามแต่ในความเป็นจริง friend finder ก็ยังคงทำงานอยู่นั่นเอง เพราะคดียังอยู่ในระหว่างชั้นอุทธรณ์ นั่นเป็นสถานการณ์ของเฟสบุคในเยอรมนี สำหรับคำแนะนำที่ผมได้อ่านมาจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของเยอรมันสำหรับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคล ในทางเทคนิคเท่าที่ผู้บริโภคสามารถดำเนินการเองได้มีดังนี้ครับ กรณีที่เราได้รับอีเมล์เชิญให้สมัครเฟสบุคนั้น ในตอนท้ายของอีเมล์จะมีลิงค์ ให้เราเลือกว่าเราปฏิเสธการรับอีเมล์จากเฟสบุคอีกต่อไป อย่างไรก็ตามเฟสบุคก็ยังคงเก็บข้อมูลของเราไว้อยู่ดี ปิดบัญชีเฟสบุค สามารถทำได้ตลอดเวลา โดยคลิกไปที่ http://www.facebook.com/help/contact_us.php?id=220219108064043 หลังจากนั้นเราสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะยกเลิกการใช้เฟสบุค หรือจะสั่งให้ลบข้อมูลของเราทั้งหมดออกจากเฟสบุคก็ได้ * องค์กรผู้บริโภคของเยอรมัน (VZBV) ได้ฟ้องเฟสบุคต่อศาล เมือง เบอร์ลิน (Landgericht Berlin) ให้สั่งห้ามระบบการทำงานของ friend finder เนื่องจากในหนังสือข้อตกลงของเฟสบุค (Term and Condition) นั้นละเมิดสิทธิ และผิดกฎหมายหลายอย่างตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (Civil Law Code) และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Bundesdatenschutzgesetz)  

อ่านเพิ่มเติม >