ฉบับที่ 250 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2564

สคบ.ชี้ “กล่องสุ่ม” ผิดกฎหมาย        จากกรณีกระแสนิยมซื้อขายสินค้ากล่องสุ่มในโลกออนไลน์ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา          รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า ทางคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา สคบ. ได้เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวง มาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทางออนไลน์ และมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมารีวิว โฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้ จะมีกำหนดทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค         สคบ.มองว่าการโฆษณาหรือจำหน่ายกล่องสุ่มมี 2 ประเด็นหลักที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิ คือ 1) อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน หากไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง 2)  เกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งการระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้าเครื่องสำอางหรือของใช้ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดอื่นๆ ของสินค้า เช่น ฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ว่าต้องได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ แบงก์ชาติแจงไม่สนับสนุนชำระสินค้าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล         จากกรณีที่มีธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ประกาศรับชำระสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ “ไม่สนับสนุนการรับชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าว” นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า  การดำเนินการดังกล่าวไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ทางแบงก์ชาติไม่สนับสนุน เพราะได้ประเมินแนวโน้มการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลว่ามีผู้ต้องการใช้บริการขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือทางการเงินดูแลเศรษฐกิจ และกระทบต่อเสถียรภาพการเงินในอนาคต ทั้งนี้ ทางแบงก์ชาติยังอยู่ในระหว่างดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่างแผนทางการเงินใหม่ให้มีแนวทางออกแบบนโยบาย มาตรการกำกับดูแลให้ครอบคลุมประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สามารถชำระสินค้าและบริการได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความสมดุลระหว่างการสนับสนุนเทคโนโลยีทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน สาธารณสุขเผยคนไทยสูบบุหรี่ลดลงต่อเนื่อง                 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 57 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 17.4  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องหากเปรียบเทียบจากปี 2560 ที่มีร้อยละถึง 19.1 โดยที่ผ่านมา 4 ปี ทางคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ได้กำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกมิติ ทั้งนี้ จากการประชุมยังมีความห่วงกังวลกับสถานการณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้กับกลุ่มเยาวชน และรวมถึงกลุ่มต้องการเลิกสูบบุหรี่และหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ยกฟ้อง “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผอ.มูลนิธิไบโอไทยกรณีเคลื่อนไหวแบน 3 เคมีอันตราย         15 ธันวาคม 2564 ศาลนัดฟังคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในคดีระหว่าง นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยากรวัชพืชแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโจทย์ ในฐานความผิดหมิ่นประมาท นำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากที่เพจ BIOTHAI ได้เผยแพร่ข้อความโต้แย้งกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษ ซึ่งมีประเด็นของสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอต สารคลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต และการกล่าวถึงกลุ่มที่ค้านการแบนสารพิษว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทสารเคมี         ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายรัษฎา มนูรัษฏา ทนายความนายวิฑูรย์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ศาลพิจารณายกฟ้องในชั้นไต่สวน โดยศาลให้เหตุผลว่า เรื่องที่นายวิฑูรย์ให้สัมภาษณ์หรือโพสต์ข้อความเป็นเพียงประเด็นเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ส่วนประเด็น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ศาลมองว่าไม่ได้เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ จึงพิพากษายกฟ้อง มพบ. เสนอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนการขึ้นค่าทางด่วน        จากกรณีประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564  ปรับค่าผ่านทางจากอัตรา 50/80/115 บาท เป็น 65/105/150 บาท สำหรับรถประเภท 4 ล้อ , 6-10 ล้อ , รถมากกว่า 10 ล้อ นั้น        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สะท้อนความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคว่า “กระทรวงคมนาคมควรต้องออกมาชี้แจงว่าทำไมต้องขายคูปองเพื่อให้ได้ราคา 50 บาทเท่าเดิม ในเมื่อยังมีผู้บริโภคที่ไม่สะดวกซื้อคูปอง แต่ต้องจ่ายราคา 65 บาท ซึ่งในอัตราที่ปรับขึ้นนี้สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค”           นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องความไม่สะดวกในการจ่ายด้วยคูปองและซื้อคูปองตามจุดที่เปิดขาย เพราะบางคนสะดวกเติมเงินผ่านระบบ easy pass มากกว่า ทว่าหากต้องการราคาเดิมต้องซื้อคูปองแทนการใช้ easy pass การซื้อคูปองตรงจุดที่เปิดขายจึงเป็นการสร้างภาระเพิ่ม อีกทั้งการซื้อคูปองจะต้องซื้อเป็นเล่ม (เล่มละ 20 ใบ) ในราคา 1,000 บาท เหมือนเป็นการบังคับซื้อ บังคับให้ต้องจ่ายค่าทางด่วนล่วงหน้า ทั้งที่ผู้บริโภคไม่ได้จำเป็นต้องใช้ทางด่วนนั้นเป็นประจำ บางทีในระยะเวลา 1 ปี อาจจะใช้ไม่หมดก็ได้ นอกจากนี้การเก็บเงินประชาชนล่วงหน้า 1,000 บาท ไม่ว่าจะใช้ทางด่วนหรือไม่ น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาทบทวนเรื่อง การซื้อคูปองลดราคาค่าผ่านทางพิเศษ และเสนอให้กระทรวงคมนาคมไม่ปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปรกติ...บอกอะไรบ้าง

        อินเทอร์เน็ตนั้นอุดมไปด้วยความรู้ด้านสุขภาพที่ควรต้องกลั่นกรองในระดับหนึ่ง โดยมีสิ่งที่ต้องระวังเป็นหลักคือ ไม่เป็นเว็บขายสินค้าใดๆ ทั้งสิ้น         ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ  ปรกติปัสสาวะของคนส่วนใหญ่มักมีกลิ่นแอมโมเนียเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายออกมาในตอนเช้า เพราะเราได้เว้นการดื่มน้ำระหว่างนอนหลับนานกว่า 4-6 ชั่วโมง ความเข้มข้นของปัสสาวะจึงเพิ่มขึ้นพร้อมกลิ่น อย่างไรก็ดีเมื่อใดที่ปัสสาวะที่มีกลิ่นแรงผิดปรกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณไม่ค่อยดี เช่น อาการเบาหวานที่ไม่ได้บำบัดมักทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นเฉพาะคล้ายน้ำจากผลต้นนมแมว เพราะมีน้ำตาลออกในปัสสาวะมากเกินปรกติ หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะหรือไต อาจทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปรกติ ซึ่งมักตามมาด้วยอาการปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะขุ่นข้นหรือมีเลือด มีไข้ ปวดหลัง เป็นต้น อาการเหล่านี้สามารถใช้ในการประเมินขั้นต้นว่า เป็นอาการของการติดเชื้อที่ไต ซึ่งคำแนะนำที่พบในอินเตอร์เน็ทคือ ควรไปพบแพทย์ โอกาสที่ปัสสาวะมีกลิ่นโดยไม่เจ็บป่วย         การเกิดกลิ่นที่ผิดปรกติของปัสสาวะอาจไม่ได้เกิดจากภาวะสุขภาพผิดปรกติเสมอไป อาจมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เมื่อร่างกายเสียน้ำมากในการออกกำลังกายอย่างหนัก การทำงานกลางแจ้งหรือการเดินทางไกล ซึ่งมักร่วมกับอาการที่เห็นได้ง่ายคือ ปากแห้ง เฉื่อยชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหัว เวียนหัว อาการดังกล่าวควรหายไปเมื่อดื่มน้ำมากพอพร้อมเกลือแร่ แต่ถ้าไม่หายควรไปพบแพทย์เพราะอาจหมายถึงความผิดปรกติในการทำงานของไต         อาหารหลายชนิดสามารถทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดจากปรกติ เช่น กาแฟ ผักที่มีกลิ่นแรงอย่างสะตอ ชะอม ขึ้นฉ่าย กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น กลิ่นที่เกิดในปัสสาวะหลังกินอาหารเหล่านี้เป็นดัชนีบ่งชี้การที่ไตต้องทำงานหนักขึ้นกว่าการกินอาหารที่มีกลิ่นไม่แรงนัก เพราะในอาหารที่มีกลิ่นแรงอาจจะมีสารเคมีที่ไม่ใช่สารอาหารมากกว่า         ผู้ที่กินวิตามินบีรวมที่มีความเข้มข้นสูงเกินความต้องการของร่างกาย กินยาปฏิชีวนะกลุ่นซัลโฟนาไมด์ กินยาบำบัดเบาหวานหรือยาบำบัดมะเร็ง มักมีประสบการณ์ว่าปัสสาวะมีกลิ่นที่ผิดปกติไปจากเดิม ทั้งนี้เพราะวิตามินบีเป็นสารที่ละลายน้ำดี เมื่อมากเกินความต้องการจึงต้องขับทิ้งทางปัสสาวะเช่นเดียวกับยาต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสารแปลกปลอมของร่างกาย อวัยวะภายในหลักในการนี้คือ ตับและไต ต้องเพิ่มการทำงานในการเปลี่ยนแปลงสารเหล่านี้เพื่อขับออกจากร่างกายพร้อมกลิ่นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสารที่ถูกขับแต่ละชนิด ปรากฏการณ์นี้มีความหมายว่า เราต้องจ่ายเพิ่มในเรื่องความเสื่อมของไต เพราะไตต้องทำงานหนักขึ้นในการขับสารที่ถูกเปลี่ยนแปลงแล้วออกทิ้งในปัสสาวะ ส่วนตับนั้นไม่มีปัญหาเท่าไรเพราะเป็นการขับทิ้งออกในน้ำดีซึ่งหลั่งออกสู่ทางเดินอาหารเพื่อใช้ช่วยในการย่อยอาหารไขมันอยู่แล้ว         การเสียสมดุลของแบคทีเรียบริเวณอวัยวะเพศสตรี อาจส่งผลทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นคาวปลาได้ เนื่องจากในสถานะการณ์ปรกตินั้นแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสมักเป็นกลุ่มเด่นในการทำให้สภาวะแวดล้อมในอวัยวะเพศสตรีมีสภาวะเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งเป็นการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การล้างช่องคลอดโดยไม่จำเป็น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดจึงเกิดการติดเชื้อ ฯลฯ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเสียสมดุลทั้งปริมาณและชนิดของแบคทีเรียที่เหมาะสม แบคทีเรียบางชนิดที่มีมากขึ้นผิดปรกติสามารถเปลี่ยนสารเคมีในช่องคลอดให้กลายเป็นสารที่มีกลิ่นคล้ายคาวปลา         การที่ปัสสาวะมีกลิ่นคล้ายปลาเน่านั้น เป็นการบ่งชี้ถึงความผิดปรกติในการทำงานของไตหรือปัญหาด้านพันธุกรรมที่ส่งผลให้ตับขาดเอ็นซัมชื่อ Flavin-containing monooxygenase 3 ซึ่งผลการขาดเอ็นซัมนี้ก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า Trimethylaminuria นั่นคือ ไตไม่สามารถทำลายสาร trimethylamine ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ที่เกิดขึ้นในร่างกายหลังการเปลี่ยนแปลง lecithin, choline และ L-carnitine ในอาหารบางประเภท เช่น ไข่แดง ต้นอ่อนข้าวสาลี เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์เช่น ตับ สาร trimethylamine นี้เป็นสารเคมีชนิดเดียวกับที่เกิดขึ้นในสภาวะที่ปลาถูกทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องนานๆ จนเกิดการเน่าเสีย โดยปรกติแล้ว trimethylamine ในร่างมนุษย์จะถูกเปลี่ยนไปเป็น trimethylamine-N-oxide ซึ่งไม่มีกลิ่น (สักเท่าไร) เพื่อขับออกทางการปัสสาวะ         การตั้งท้องของสตรีทำให้สภาวะฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดไปจากเดิมหรืออาจบวกกับการที่คนท้องมักมีการได้รับกลิ่นไวขึ้นกว่าเดิม จึงรู้สึกว่าปัสสาวะมีกลิ่นแรงกว่าเดิม หนังสือทางชีววิทยาการสืบพันธุ์นั้นกล่าวว่า หลังจากไข่ได้รับการผสมกับอสุจิจนเกิดเซลล์ใหม่ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนนั้น เซลล์จะเข้าไปฝังตัวในเยื่อบุมดลูกซึ่งเป็นการกระตุ้นกระบวนการหลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปินคอโรนิกของมนุษย์หรือเอชซีจี ตรวจพบได้ในเลือดและปัสสาวะของหญิงตั้งท้อง ผู้หญิงที่จมูกไวมักสามารถได้กลิ่นเอชซีจีในปัสสาวะหลังมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่นอนเพียงไม่กี่อาทิตย์ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้ไปซื้อเครื่องตรวจการตั้งครรภ์มาทดสอบว่าจะจัดการกับชีวิตข้างหน้าอย่างไร บุญหรือกรรมสำหรับคนที่ไม่ได้กลิ่นบางอย่างของปัสสาวะ         โดยทั่วไปมนุษย์นั้นมีความสามารถในการรับกลิ่นต่างๆ ไม่เท่ากัน ในทางวิทยาศาสตร์เรียกสภาวะนี้ว่า Idiosyncrasies ซึ่งจัดว่าเป็นผลทางพันธุกรรม ดังนั้นจึงพบได้ทั่วไปว่า บางคนมีจมูกดีได้กลิ่นไวมากในขณะที่บางคนสบายมากในการเดินผ่านที่พักผู้โดยสารรถประจำทางเก่าๆ ในกรุงเทพมหานคร         จากหนังสือชื่อ Fart Proudly: Writings of Benjamin Franklin You Never Read in School พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ North Atlantic Books ในปี  2003. กล่าวว่า ในปี 1781 Benjamin Franklin เคยบันทึกถึงประสบการณ์ว่า การกินแอสปารากัสหรือหน่อไม้ฝรั่งเพียงไม่กี่ต้นทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ และในปี 2014 เว็บ www.aurorahealthcare.org มีบทความเรื่อง Why Asparagus Makes Your Urine Smell ซึ่งเป็นการอธิบายว่า เมื่อเรากินหน่อไม้ฝรั่งแล้วร่างกายจะเปลี่ยนแปลง asparagusic acid ที่มีในหน่อไม้ฝรั่ง ไปเป็นสารเคมีกลุ่มที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ทำให้ปัสสาวะ (รวมถึงเหงื่อและลมหายใจ) มีกลิ่นเฉพาะที่บอกว่าคนผู้นั้นได้กินอาหารที่มีหน่อไม้ฝรั่งเมื่อ 15-60 นาทีที่แล้ว        บทความเรื่อง Food Idiosyncrasies: Beetroot and Asparagus ตีพิมพ์ในวารสาร Drug Metabolism and Disposition ของปี 2001 ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่า เมื่อทางเดินอาหารในร่างกายย่อยหน่อไม้ฝรั่งแล้ว asparagusic acid จะถูกดูดซึมไปที่ตับซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปได้สารประกอบซัลเฟอร์ 6 ชนิด คือ methanethiol, dimethyl sulfide, dimethyl disulfide, bis(methylthio)methane, dimethyl sulfoxide, และ dimethyl sulfone สารเหล่านี้รวมกันแล้วเป็นสาเหตุของกลิ่นในปัสสาวะโดยมี methanethol ทำหน้าที่เป็นแกนนำหลัก แต่กรณีที่คนบางคนกินหน่อไม้ฝรั่งแล้วปัสสาวะไม่มีกลิ่นหรือมีน้อยมากนั้นบทความดังกล่าวบอกว่า อาจเป็นเพราะมีการดูดซึม asparagusic acid ต่ำจนถึงไม่ดูดซึม แต่ก็มีเรื่องน่าสนใจว่าบางคนที่กินหน่อไม้ฝรั่งแล้วปัสสาวะไม่มีกลิ่นรุนแรง ซึ่งแสดงว่าเขาผู้นั้นอาจขาดเอ็นซัมที่สามารถย่อยให้ asparagusic acid ไปเป็นสารประกอบซัลเฟอร์ที่ก่อให้เกิดกลิ่น อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวในลักษณะลึกซึ้ง         สำหรับในกรณี คนไม่ได้กลิ่นที่เปลี่ยนไปของปัสสาวะ ได้มีการอธิบายในบทความเรื่อง Web-Based, Participant-Driven Studies Yield Novel Genetic Associations for Common Traits ในวารสาร PLoS Genetics ตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายน 2020 ว่า เป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มีการกลายพันธุ์ในลักษณะของ SNP (single nucleotide polymorphism) ของโครโมโซมแท่งที่ 1 โดยตำแหน่ง SNP ที่เกิดนั้นคือ rs4481887, rs4309013 และ rs4244187 ของยีน OR2M7 (olfactory receptor family 2 subfamily M member 7) ซึ่งมีหน้าที่สร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็น olfactory receptors หรือตัวรับกลิ่น ที่น่าสนใจคือ บทความนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทชื่อ 23andMe ซึ่งรับตรวจสอบความผิดปรกติทางพันธุกรรมในการรับกลิ่นของปัสสาวะของคนที่กินหน่อไม้ฝรั่ง โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาในคนราวหมื่นคนว่าได้กลิ่นเฉพาะในปัสสาวะหลังกินหน่อไม้ฝรั่งหรือไม่ จากนั้นก็ดูลักษณะร่วมของคนที่ไม่ได้กลิ่นว่ามีลักษณะทางพันธุกรรมส่วนใดที่เป็น SNP ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น         นอกจากนี้ยังมีบทความเรื่อง Sniffing out significant “Pee values”: genome wide association study of asparagus anosmia ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ของปี 2016 ที่ศึกษาในอาสาสมัครที่มีข้อมูลทางพันธุกรรมของโครงการการศึกษาทางระบาดวิทยา 2 โครงการ คือ Nurses’ Health Study และ Health Professionals Follow-up Study ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเกี่ยวกับความสามารถในการได้กลิ่นจากปัสสาวะของคนที่กินหน่อไม้ฝรั่ง โดยผลสรุปของงานวิจัยคือ 58.0% ของผู้ชาย (n=1449/2500) และ 61.5% ของผู้หญิง (n=2712/4409) มีการแสดงออกที่เรียกว่า asparagus anosmia คือ ไม่ได้กลิ่นสารเคมีจากหน่อไม่ฝรั่งในปัสสาวะ         สภาวะการไม่ได้กลิ่นของปัสสาวะหรือ anosmia นั้นเกิดขึ้นได้ทั้ง ชั่วคราว หรือ ถาวร ซึ่งในกรณีหลังนั้นเนื่องจากพันธุกรรมดังกล่าวข้างต้น แต่ในกรณีชั่วคราวนั้นมักเกิดจากการระคายเคืองของจมูกเมื่อติดเชื้อ เช่น ป่วยเป็น covid-19 ทำให้จมูกไม่ได้กลิ่นเท่าเดิม ซึ่งมักส่งผลให้ไม่อยากอาหารจนมีภาวะทุพโภชนาการ น้ำหนักลดลง อาจเป็นโรคซึมเศร้า ซ้ำร้ายการสูญเสียความสามารถในการดมกลิ่มอาจส่งผลถึงการหมดสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย สำหรับสาเหตุอื่นของการไม่ได้รับกลิ่นนั้นมักเป็นผลมาจากการบวมและอุดตันภายในจมูกหรือปัญหาเกี่ยวกับการส่งสัญญาณจากเส้นประสาทในจมูกไปยังสมอง การติดเชื้อบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การสูบบุหรี่ เสพโคเคนหรือสารเสพติดอื่น ๆ ทางจมูก การอุดตันในจมูกเนื่องจากเนื้องอก กระดูกในจมูกหรือผนังกั้นจมูกผิดรูป โรคอัลไซเมอร์หรือเป็นโรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease) ที่เกิดจากพันธุกรรมผิดปกติซึ่งทำให้ระบบประสาทเสื่อม ความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาบำบัดความดันโลหิตสูง ลมชัก เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 แผนพิฆาตความหวานด้วยการขึ้นภาษี

ผู้เขียนนั้นเมื่อย่างเข้าสู่ความเป็น สว.(สูงวัย) ก็ไม่ได้รอดไปจาก โรคของผู้สูงอายุ คือ มีภาวะความดันโลหิตสูง ดังนั้นอมตะวาจาที่อายุรแพทย์แนะนำให้ปฏิบัติเป็นประจำคือ อย่ากินเค็มและอย่ากินหวาน เพื่อให้ยาลดความดันโลหิตทำงานได้ดีและเป็นการถนอมไตไปในตัวดังที่เคยเล่าอยู่บ่อยๆ ในหลายบทความว่า ผู้เขียนออกกำลังกายแบบแอโรบิคคือ ถีบจักรยานเสือภูเขาเป็นประจำอย่างน้อย 45 นาทีต่อวัน จำนวน 3 วัน และเล่นแบดมินตันเพื่อให้เหงื่อออกชุ่มอย่างน้อย 60 นาที จำนวน 2 วัน พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้ผู้เขียนซึ่งสูง 170 เซนติเมตร สามารถคุมน้ำหนักให้อยู่ที่ 70 + 1 กิโลกรัมตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมื่อคำนวณเป็นค่าดัชนีมวลกายแล้วได้ผลเฉลี่ยออกมาที่ 24.22 ซึ่งถ้าเป็นฝรั่งก็ยังอยู่ในค่าดัชนีที่ยังไม่อ้วนเพราะไม่เกิน 25 อย่างไรก็ดีการมีค่าดัชนีมวลกายที่ 24.22 ของผู้เขียนนั้น เมื่อมายืนอยู่ร่วมกับคนไทยกลับกลายเป็นว่า ผู้เขียนอยู่ในเกณฑ์ของคนที่อ้วนระดับ 1 เพราะค่าที่เหมาะสมของคนเอเชียนั้นอยู่ในช่วง 18.5-22.9 (อ้างอิงจากเว็บของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล) ผู้เขียนนั้นแอบคิดในใจว่า คนที่ปฏิบัติตนเองดี ออกกำลังกายเสมอ กินอาหารให้เหมาะสมก็คงมีค่าดัชนีมวลกายที่ 22.9 ได้ แล้วทำไมผู้เขียนถึงทำบ้างไม่ได้ สุดท้ายเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว(เขียนบทความนี้ในเดือนสิงหาคม) ผู้เขียนกลับมานั่งทบทวนพฤติกรรมการกินแล้วได้ข้อสรุปว่า น้ำอัดลม ซึ่งดื่มหลังออกกำลังกายแล้วรู้สึกเหนื่อยมากนั้นคือ เหตุที่ทำให้ดัชนีมวลกายคงอยู่แค่เกือบ 25 ไม่ยอมลดสักทีดังนั้นผู้เขียนจึงยกเลิกการซื้อน้ำอัดลมเข้าบ้านรวมถึงลดการดื่มกาแฟแบบ 3 in 1 เหลือเพียงวันละ 1 ซอง จึงพบว่า เมื่อ 2 เดือนผ่านไปน้ำหนักตัวค่อยๆ ลดจาก 70 กิโลกรัม เป็น 68 กิโลกรัม และเมื่อผ่านไป 4 เดือนก็อยู่ในช่วง 66 + 1 กิโลกรัมซึ่งคำนวณเป็นค่าดัชนีมวลกายที่ 22.84 สรุปแล้วสิ่งที่ผู้เขียนพิสูจน์พบคือ ปัจจัยหนึ่งที่สร้างโอกาสให้เรามีน้ำหนักเกินอย่างแน่นอนคือ อาหารรสหวาน ดังนั้นผู้เขียนจึงเข้าไปตั้งคำถาม(ทั้งไทยและอังกฤษ) กับอากู๋ (Google) ประมาณว่า มีโอกาสไหมที่ประชาชนจะลดการดื่มน้ำหวานได้ คำตอบที่ได้จากอากู๋ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษดูจะคล้ายกันว่า เป็นไปได้โดยการขึ้นภาษีเครื่องดื่มตามความหวานที่อยู่ในขวดเครื่องดื่มนั้นจากเว็บ www.bangkokbiznews.com มีหัวข้อข่าวหนึ่งที่น่าสนใจคือ “กรมสรรพสามิตเดินหน้าจัดเก็บภาษีความหวาน ดีเดย์ 16 กันยายนนี้ ด้าน อย. ออกโลโก้ทางเลือกสุขภาพ หวังเปลี่ยนพฤติกรรมติดทานหวานของคนไทย” โดยผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ให้ข้อมูลประมาณว่า มาตรการหนึ่งที่ภาครัฐจะบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยติดรสหวาน คือ จัดเก็บภาษีความหวาน โดยมีเกณฑ์ว่า หากสินค้าผสมน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัม และ 10 กรัมขึ้นไปต่อ 100 มิลลิลิตร ก็จะถูกจัดเก็บภาษีในระบบใหม่ ซึ่งผลจากการที่รัฐเป็นห่วงสุขภาพประชาชนนั้นจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และ 25 ของราคาขายปลีก ตามลำดับเครื่องดื่มที่ถูกเสนอให้จัดเก็บภาษีความหวานนี้ประกอบด้วย น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผลไม้ น้ำพืชผัก เครื่องดื่มชนิดผง เครื่องดื่มชนิดเข้มข้น ซึ่งในกรณีนี้รวมถึงเครื่องดื่มที่หวานตามธรรมชาติไม่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่มด้วย เพราะสามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบคือ ความอ้วนจากน้ำตาลได้เช่นกันแนวทางในการจัดเก็บภาษีความหวานนั้น เริ่มจากการให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนส่วนผสมของน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ในช่วง 2 ปี คือ 16 กันยายน 2560 - 30 กันยายน 2562 แล้วถ้าหากรายใดทำได้ก็จะได้สิทธิในการเสียภาษีเท่าเดิม ส่วนผู้ประกอบการใดที่งอแงปรับสูตรช้ากว่าจะได้รับรางวัลคือ ถูกเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไปภาษีความหวานนี้น่าจะตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Sugary drink tax ซึ่งไม่ได้หมายถึง ภาษีที่เก็บจากการขายน้ำตาลทราย(อันนี้เก็บไปแล้ว) แต่จะเก็บจากสินค้าซึ่งใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบในการผลิตมากเกินไปจนน่าจะก่อให้เกิดปัญหาแก่ประชาชน ผู้เขียนเข้าไปใน Wikipedia และพบว่า มีบทความเกี่ยวกับ Sugary drink tax ที่น่าสนใจมาก จึงขอกล่าวถึงบางส่วนโดยสรุปดังนี้ Wikipedia ให้ความรู้ว่า Sugary drink tax หรือ Soda tax นั้นถูกกำหนดขึ้นโดยหวังว่าจะลดการดื่มน้ำหวานของประชาชน ซึ่งไม่ว่าประเทศใดที่หวังออกภาษีนี้ก็ต้องถูกต่อต้านจากผู้ผลิตน้ำหวานรายใหญ่ทั้งหลาย ในขณะที่องค์การอนามัยโลกก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่มีน้ำตาลเข้าไปเกี่ยวข้องเช่น เบาหวาน น้ำหนักเกิน นั้นมหาศาลนักเดนมาร์คได้เริ่มแนวความคิดของการมีภาษีนี้เมื่อ ค.ศ. 1930 แต่มาในปี 2013 รัฐบาลเดนมาร์คได้ดำริในการเลิกกฎหมายนี้โดยการออกกฎหมายที่กว้างคือ Fat tax ซึ่งบังคับเก็บภาษีอาหารทุกชนิดที่ทำให้อ้วน แต่ปรากฏว่าระบบภาษีใหม่ใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากประชาชนข้ามพรมแดนเข้าเยอรมันหรือสวีเดนเพื่อซื้ออาหารที่ทำให้อ้วนต่างๆ ในราคาที่ถูกกว่า เดนมาร์คจึงหันกลับมาใช้กฎหมายเดิมในปี 2014 สำหรับฟินแลนด์นั้นได้นำการเก็บภาษีลักษณะนี้มาใช้ในปี 2011 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ฮังการีได้เริ่มใช้การเก็บภาษีในลักษณะเดียวกันภายใต้ชื่อ Public health product tax ซึ่งครอบคลุมถึงอาหารที่มีการใช้น้ำตาลแบบเกินเลย ดังนั้นโดยหลักการที่ดีเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนแล้ว ประเทศในสหภาพยุโรปดูมีความตั้งใจในการออกกฎหมายเก็บภาษีในลักษณะนี้แทบทุกประเทศ (แนะนำให้ดูเอกสารที่ ec.europa.eu/ DocsRoom/documents/5827/attachments/1/translations/en/renditions/pdf) เม็กซิโก ซึ่งมีปัญหาจำนวนคนอ้วนเพิ่มมากได้เริ่มเก็บภาษีนี้ในปี 2013 สหราชอาณาจักรเริ่มในปี 2016 ส่วนอัฟริกาใต้เริ่มใช้ในปี 2017 สำหรับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหล่าบริษัทแม่ของน้ำอัดลมระดับยักษ์ใหญ่ของโลกจึงผ่านกฎหมายลักษณะนี้ออกมาใช้ก็ค่อนข้างลำบากหน่อย(เพราะใครๆ ก็รู้ว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น แข็งเท่าแข็งเงินง้างอ่อนได้ดังใจ) จึงมีเพียง 2 เมืองคือ เบอรค์เลย์ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียและฟิลาเดลเฟียในมลรัฐเพนซิลเวเนียเท่านั้นในปัจจุบันที่มีภาษีนี้ระดับท้องถิ่น มีข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งได้จากการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Duke University และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์เมื่อปี 2010 ว่า ถ้าภาษีเครื่องดื่มที่หวานด้วยน้ำตาลถูกเปลี่ยนให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 20 ถึง 40 แล้วมันน่าจะไม่มีผลอะไรต่อการลดการได้รับพลังงาน(แม้ว่ายอดขายลดลง) เนื่องจากเมื่อสินค้าแพงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผู้บริโภคจะหันไปกินอาหารกลุ่มอื่นซึ่งให้ความหวานในระดับเดียวกัน เว็บในสหราชอาณาจักรชื่อ health.spectator.co.uk มีบทความเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2016 เรื่อง A sugar tax to make us slimmer? It’s not as simple as that ซึ่งผู้เขียนบทความดังกล่าวได้แสดงความเห็นประมาณว่า การที่คนจะบริโภคสินค้าน้อยลงเมื่อมันแพงขึ้นนั้นเป็นความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ (มัก) ง่ายเกินไป ทั้งนี้เพราะการได้มาซึ่งสิ่งที่ชอบของมนุษย์นั้น บางครั้งไม่ได้ขึ้นกับราคาของสินค้าเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเมื่อประชาชนเห็นว่าสินค้าหนึ่งมีราคาเพิ่มขึ้นจนไม่คุ้มกับการจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการ (ในที่นี้คือ รสหวาน) นั้น ประชาชนจะหันไปหาสิ่งอื่นซึ่งย่อมเยากว่า แต่ตอบสนองความต้องการเดิมได้ โดยไม่พะวงที่จะคิดถึงผลเสียอื่น ๆ ที่อาจตามมาบทความทางวิชาการใน Journal of Public Economics ชุดที่ 94 หน้าที่ 967-974 ประจำเดือนธันวาคม 2010 เรื่อง The effects of soft drink taxes on child and adolescent consumption and weight outcomes. ได้สรุปผลสุดท้ายของงานวิจัยว่า เมื่อภาษีน้ำหวานเพิ่มขึ้น การดื่มน้ำหวานก็ลดลง แต่ความอ้วนของประชากรก็ยังเพิ่มขึ้นในลักษณะเดิม เพราะเมื่อไม่ดื่มน้ำหวาน (ซึ่งให้พลังงาน) ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็เลี่ยงไปรับพลังงานจากอาหารอื่น เช่น น้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำผลไม้ และนมรวมทั้งผลิตภัณฑ์นม ดังนั้นสิ่งที่ควรหาทางทำให้สำเร็จหลังออกภาษีน้ำหวานแล้วคือ กระตุ้นให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายเพื่อหยุดยั้งความอ้วนที่เกิดจากพลังงานที่ได้รับเกินในแต่ละวัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 รัฐบาลโหมโฆษณากล่อมชาวบ้าน เมษานี้ขึ้นแน่...แก๊สหุงต้ม 100 บาท/ถังใน 1 ปี

 มีผู้บริโภคหลายรายถามมาว่า แก๊สหุงต้มจะขึ้นจริงหรือเปล่า เห็นบอกว่าจะขึ้นช่วงปีใหม่ แต่ผ่านมาแล้วยังไม่เห็นขึ้นซะที แล้วถ้าขึ้นจริงราคาจะขึ้นเป็นเท่าไรแน่“เสียงจากผู้บริโภค” ในฉลาดซื้อ ฉบับรับปีใหม่ ได้นำเสนอข่าวที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จัดชงแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) เสนอต่อนายพงษ์ศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน โดยอาศัยการคาดการณ์ราคา LPG ในตลาดโลกปี 2556-2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน (ทำให้ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 27.76 บาท/กก. และราคาขายปลีก 36.35 บาท/กก.)มาใช้อ้างอิง แต่พอมีเสียงทัดทานจากผู้บริโภคออกไป รมต.พลังงานคงเห็นว่าขึ้นราคาแบบนี้คงไม่เนียน ใส่เกียร์เจ้าตูบถอยหลังปรับทัพสักหน่อย สั่งเลื่อนเวลาปรับขึ้นราคาไปอีก 2 เดือน และให้ สนพ. ไปจ้างสวนดุสิตทำการศึกษาหามาตรการบรรเทาช่วยเหลือกับผู้มีรายได้น้อยและร้านค้าหาบเร่เพื่อลดแรงต้านรมว.พลังงานส่งสัญญาณมาแบบนี้ ก็กระจ่างชัดเจนแล้วว่า แก๊สหุงต้มปรับขึ้นราคาแน่...พี่น้อง มาตรการปรับราคาแก๊สหุงต้มของรัฐบาลก่อนการปรับขึ้นราคา LPG กระทรวงพลังงานได้จัดพิมพ์แผ่นพับ “ความจริงวันนี้ของ LPG” จำนวน 2 ล้านชุด เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนยอมรับ LPG ราคาใหม่ด้วยความสงบสาระสำคัญคือ จะมีการปรับราคา LPG กับภาคครัวเรือนและรถยนต์เริ่มเดือนเมษายน 2556 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งดังนี้1.ภาคครัวเรือนจะทยอยปรับขึ้นราคาจาก 18.13 บาท/กก. ขึ้นเป็น 24.82 บาท/กก. หรือเพิ่ม 100 บาท/ถัง(15 กก.) ภายในสิ้นปี 25562.ภาครถยนต์ จะปรับขึ้นราคาจาก 21.38 บาท/กก. เป็น 24.82 บาท/กก. เช่นเดียวกัน ส่งผลให้ก๊าซ LPG สำหรับรถยนต์จากปัจจุบันอยู่ที่ 11.56 บ./ลิตร (LPG 1 กก. = 1.85 ลิตร) จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 13.42 บาท/ลิตร ภายในปี 2556(เอกสารไม่แจ้งว่าจะใช้วิธีทยอยปรับขึ้นราคาหรือไม่)3.กระทรวงพลังงานจะลดแรงต้านทานจากประชาชนด้วยการให้ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 9 ล้านครัวเรือน และร้านหาบเร่แผงลอยประมาณ 500,000 ร้าน ได้ใช้ LPG ในราคาเดิมคือ 18.13 บาท/กก. (คาดว่าจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันที่เก็บจากประชาชนเข้าไปจ่ายชดเชยให้) ใครได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นราคา LPG บันไดปรับราคาก๊าซ LPG (แก๊สหุงต้ม) ขั้นที่ ราคา ต้นทุนที่โรงแยกได้ ราคาขายปลีก เหรียญสหรัฐ/ตัน บาท/กก. บาท/กก. 1 ราคาปัจจุบัน 333 10.26 18.13 2 ราคาโรงแยก 550 16.96 24.82 3 ราคาตลาดโลก 900 27.76 36.35   LPG ราคาที่ 24.82 บาท/กก. ซึ่งกระทรวงพลังงานส่งสัญญาณจะปรับขึ้นราคาในไตรมาสที่ 2/2556 หรือเมษายนนี้ เป็นการปรับราคาตามแผนขั้นที่ 2 โดยตัวเลขที่ 24.82 บาท/กก. นี้เป็นราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่รวมภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เงินจ่ายเข้ากองทุนน้ำมัน และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เมื่อแยกออกมาให้เหลือเฉพาะที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท ได้รับจะอยู่ที่ 16.96 บาท/กก. (550 เหรียญสหรัฐ/ตัน)ปตท.อ้างว่า ตัวเลข 16.96 บาท/กก.นี้เป็นราคาต้นทุนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติของตน (ปัจจุบันยังไม่เคยมีหน่วยงานวิชาการที่เป็นกลางตรวจสอบว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่) แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพบว่า โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ซื้อและใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาผลิตก๊าซ LPG ในราคาเฉลี่ย 8.42 บาท/กก. (เป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ประชาชนซื้อก๊าซธรรมชาติผ่านราคาค่าไฟฟ้า) ดังนั้น การที่รัฐบาลกำหนดราคา LPG จากโรงแยกก๊าซไว้ที่ 10.26 บาท/กก. (333 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามบันไดขั้นที่ 1)ก็ถือว่าเป็นราคาที่โรงแยกก๊าซได้กำไรพอสมควรอยู่แล้ว (มีส่วนต่าง 1.84 บาท/กก.)แต่เมื่อรัฐยอมให้โรงแยกก๊าซขยับราคาต้นทุนขึ้นมาที่ 16.96 บาท/กก.ตามบันไดขั้นที่ 2 จะทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาขายก๊าซ LPG ของโรงแยกก๊าซกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นวัตถุดิบมากถึง 8.54 บาท/กก.หรือสูงราว 1 เท่าตัวของราคาวัตถุดิบ ถ้าเป็นธุรกิจทั่วไปอาจเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับธุรกิจผูกขาดอย่างกิจการก๊าซธรรมชาติ ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่ขณะที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้รายงานปริมาณการใช้ LPG ของประเทศในปี 2555 ว่า ภาคครัวเรือนใช้ LPG ประมาณ 3 ล้านตัน ส่วนรถยนต์ใช้ประมาณ 1 ล้านตัน ดังนั้น ผลของการปรับราคาก๊าซ LPG จะทำให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ป ตท มีรายได้เป็นเงินสดๆจากการจำหน่าย LPG ให้ภาคครัวเรือนและรถยนต์เพิ่มขึ้นราว 23,540 ล้านบาทภายใน 1 ปี (ไม่ต้องเสียเวลารอเบิกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง) และนั่นยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะกระทรวงพลังงานยังคงมีแผนบันไดขั้นที่ 3 ปรับราคา LPG ให้ขึ้นตามราคาตลาดโลก ไว้รอประชาชนอยู่เห็นแผนการทยอยปรับขึ้นราคาแบบนี้ ทำให้นึกถึงการทดลองวิทยาศาสตร์สมัยเรียนหนังสือ การทดสอบเรื่องปฏิกิริยาของกบในหม้อน้ำร้อน คือถ้าเราโยนกบลงไปในหม้อที่ต้มน้ำร้อนเดือดอยู่แล้ว กบจะรู้สึกร้อนและกระโดดหนีทันที แต่ถ้าปล่อยให้กบอยู่ในหม้อน้ำอย่างสบายใจไปก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิความร้อนของน้ำทีละนิดๆ กบจะไม่ค่อยรู้สึกอะไรและนั่งอยู่ในหม้อต่อไป จนเมื่อน้ำร้อนจนถึงขั้นเดือดปุดๆ กว่ากบจะรู้ตัว น้ำร้อนก็ลวกกบตายเสียแล้ว ขอไว้อาลัยกับกบไทยทุกตัว ตารางแสดงรายได้ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับขึ้นราคา LPG ในภาคครัวเรือน รายได้จาก LPG ภาคครัวเรือน ราคาปัจจุบัน ราคาใหม่ โรงแยกมีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาขายปลีก 18.13 บาท/กก. 24.82 บาท/กก.   ราคาที่โรงแยกได้ 10.26 บาท/กก. 16.96 บาท/กก. 6.70 บาท/กก. ครัวเรือนใช้ 3,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี โรงแยกจะมีรายได้ 30,780 ล้านบาท 50,880 ล้านบาท 20,100 ล้านบาท   ตารางแสดงรายได้ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับขึ้นราคา LPG ในภาคครัวเรือน รายได้จาก LPG ภาครถยนต์ ราคาปัจจุบัน ราคาใหม่ โรงแยกมีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาขายปลีก 21.38 บาท/กก. 24.82 บาท/กก.   ราคาที่โรงแยกได้ 14.34 บาท/กก. 17.78 บาท/กก. 3.44 บาท/กก. รถยนต์ใช้ 1,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี โรงแยกจะมีรายได้ 14,340 ล้านบาท 17,780 ล้านบาท 3,440 ล้านบาท หมายเหตุ : ราคาขายปลีก และราคาที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติได้ รวบรวมจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ก.พลังงาน   จริงหรือไม่ แหล่งปิโตรเลียมของไทยเป็นแหล่งเล็ก ขุดหายาก ต้นทุนสูงช่วงนี้มีคำถามเรื่องพลังงานของประเทศไทยเข้ามาเยอะ คงเพราะประเด็นเรื่องพลังงานกำลังเป็นเรื่องร้อนและสร้างผลกระทบกับประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องราคาเชื้อเพลิงมีข้อสงสัยเรื่องพลังงานมาอีกหนึ่งเรื่อง ถามมาว่า เห็นกระทรวงพลังงานทำเอกสารประชาสัมพันธ์ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ บอกว่า แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นกระเปาะเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป ยากที่จะทำการค้นหา ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการสำรวจและมีความเสี่ยงสูง การคิดผลตอบแทนให้กับรัฐ จึงต้องกำหนดให้เหมาะสม มิเช่นนั้นจะไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน จริงหรือไม่ ตอบข้อสงสัยจากเอกสารเผยแพร่ที่ชื่อว่า ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ใน http://www.chevronthailand.com/knowledge/history.asp ได้กล่าวถึงเทคนิคการขุดเจาะแบบหลุมแคบ หรือ Slim hole drilling ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย ขอคัดมาให้อ่านกันชัดๆ เพื่อคลายข้อสงสัยที่ถูกปกปิดกันมานานในการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีความลึกแต่ละหลุมประมาณ 9,000 – 9,500 ฟุต (2,700 – 2,900 เมตร) จากระดับความลึกของผิวน้ำทะเล การขุดเจาะหลุมแคบ หรือ Slim hole เป็นวิธีการขุดเจาะหลุมที่มีขนาดหลุมเล็กกว่าการเจาะแบบปกติ ที่ต้องขุดเจาะหลุมขนาดใหญ่ 26-30 นิ้ว และ 17 ½ นิ้ว ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 12 ¼  นิ้ว แล้วจึงทำการขุดเจาะหลุมเล็กขนาด 8 ½ นิ้ว และใส่ท่อผลิตขนาด 7 นิ้ว แต่ในการขุดเจาะแบบหลุมแคบ หรือ Slim hole นี้ จะแบ่งเป็นสามชั้น ขนาด 12 ¼ นิ้ว และ 8 ½ นิ้ว ขนาดหลุมผลิตที่ต้องขุดเจาะเล็กลงเหลือ 6 ½ นิ้ว  และใส่ท่อขนาด 2 ¾ นิ้วหรือ 3 ½  นิ้ว เท่านั้นจากประสบการณ์ในการพัฒนาแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยของกลุ่มบริษัทเชฟรอนฯ พบว่า ทั้งแหล่งก๊าซหรือแหล่งน้ำมันที่มีกาขุดเจาะด้วยวิธีดังกล่าว จะมีขนาดเล็กกว่าแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแหล่งปิโตรเลียมในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ โดยส่วนใหญ่ปิโตรเลียมมักถูกพบอยู่รวมกันเป็นกระเปาะเล็กๆ ตามแนวแตกของหิน ดังนั้น การจะพัฒนาแหล่งผลิตเพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด จึงจำเป็นต้องขุดเจาะหลุมจำนวนมาก และแต่ละหลุมควรต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ซึ่งขาดขุดเจาะด้วยวิธีนี้นั้นทำได้อย่างรวดเร็ว มีความปลอดภัยสูง และสามารถออกแบบแท่นผลิตให้เล็กลงจากปกติได้ ส่งผลให้มีต้นทุนการเจาะหลุมที่ต่ำกว่าการเจาะหลุมแบบปกติ หรือ Conventional hole drilling (เป็นแท่นเจาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อุปกรณ์และส่วนประกอบมีขนาดใหญ่ และสามารถเจาะได้ลึกมาก อาจถึง 35,000 ฟุต หรือ 10-11 กิโลเมตร ในขณะที่แหล่งปิโตรเลียมของไทยอยู่ลึกเพียง 2-3 กิโลเมตรเท่านั้น) ด้วยเหตุนี้ การนำเทคนิคการเจาะหลุมแบบแคบมาใช้จึงเป็นคำตอบสำหรับแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่บริษัท เชฟรอนฯ นำมาใช้พัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้งหมดที่มีอยู่นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา เนื่องจากสามารถเจาะหลุมสำรวจและผลิตได้จำนวนมาก และสอดคล้องกับโครงสร้างทางธรณีวิทยาใต้ดินในอ่าวไทย แหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย เจาะง่ายและไวที่สุดในโลก ลึก 3 กิโลเมตรใช้เวลาแค่ 46 ชั่วโมงในด้านความเร็วของการขุดเจาะ สถิติที่น่าจดจำที่ถูกบันทึกไว้สำหรับในการนำเทคนิคการขุดเจาะหลุมแคบ (Slim hole) มาใช้คือ การเจาะหลุมฟูนาน เจ-13 ในอ่าวไทยเมื่อปี 2542 ของทางเชฟรอน (หรือยูโนแคลไทยแลนด์ในช่วงนั้น) โดยอาจเรียกได้ว่า เป็นการเจาะหลุมที่เร็วที่สุดในโลก โดยสามารถเจาะได้ด้วยอัตราความเร็ว  5,145 ฟุตต่อวัน( 1,568 เมตรหรือ 1.5 กม.ต่อวัน) ทำลายสถิติที่เคยเจาะหลุมสตูล เอ-17 ที่เคยทำได้ 4,720 ฟุตต่อวัน (1,439 เมตร หรือ 1.4 กม.ต่อวัน) เมื่อปี 2540 ซึ่งหลุมฟูนาน เจ-13 นี้ เจาะถึงความลึกที่ 9,882 ฟุต หรือ 3,012 เมตร (ความลึกตามแนวดิ่ง 7,900 ฟุต หรือ 2,408 เมตร) ภายในเวลาเพียง 46 ชั่วโมงเท่านั้น จากหลุมแบบใหญ่ เปลี่ยนเป็นหลุมเล็กหลายหลุม ต้นทุนถูกกว่า ผลิตก๊าซได้มากกว่าบริษัทเชฟรอนฯ ยังมีแท่นผลิตเก่าที่เคยออกแบบไว้เป็นหลุมใหญ่ 12 หลุม ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ด้วยเทคนิคการเจาะแบบหลุมแคบ โดยแบ่งหลุมใหญ่ดังกล่าวออกได้เป็น 3-4 หลุมย่อย ทำให้ได้จำนวนหลุมเพิ่มขึ้นเป็น 24 หลุมหรือ 36 หลุม ซึ่งช่วยให้ผลิตก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มขึ้น และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลง (เอกสาร เรื่อง “วิธีการเจาะสำรวจ“ เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่าเทคนิคการเจาะแบบนี้ ช่วยให้การปฏิบัติงานเจาะเร็วขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงมากกว่า 30%)ผลของเทคนิคการขุดเจาะดังกล่าวที่นำมาใช้กับแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย ได้ผลที่น่าตื่นใจตรงกันข้ามกับที่กระทรวงพลังงานทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์กับประชาชนทั่วไป โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้รวบรวมจำนวนหลุมสำรวจปิโตรเลียม ในแหล่งในทะเลของไทย ตั้งแต่ปี 2515-2554 ซึ่งรายงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า ประเทศไทยมีการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลทั้งหมด 852 หลุม พบปิโตรเลียมมากถึง 679 หลุม หรือคิดเป็นร้อยละ 80 และมีหลุมที่สำรวจไม่พบปิโตรเลียมเพียง 173 หลุม หรือร้อยละ 20 เท่านั้น โดยพบก๊าซธรรมชาติ 495 หลุม (73%) คอนเดนเสท 97 หลุม(14%)   และ น้ำมันดิบ 87 หลุม (13%)นับตั้งแต่ปี 2524 ถึง 2554  อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตปิโตรเลียมรวมเวลา 30 ปี ปิโตรเลียมที่ผลิตได้มีมูลค่าทั้งสิ้น 3.4 ล้านล้านบาท รัฐยอมให้เอกชนผู้รับสัมปทานนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาทมาหักออก ก่อนจะนำรายได้ส่วนที่เหลือประมาณ 2 ล้านล้านบาทมาหักแบ่งกันอีกครั้ง  โดยรัฐได้รับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายของเอกชนแล้วตกราว 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนนอกจากจะได้รับเงินลงทุนคืนไปทั้งหมดแล้วยังได้รับผลตอบแทนเพิ่มอีกกว่า 9 แสนล้านล้านบาทเป็นรางวัลอีกด้วย สรุปว่ามูลค่าปิโตรเลียมทั้งหมด 3.4 ล้านล้านบาท ตกเป็นของรัฐเพียง 30% ส่วนที่เหลือ 70% ตกเป็นของเอกชนทั้งในรูปของเงินลงทุนและผลกำไรล่าสุดกำลังจะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ และมีความพยายามที่จะขยายเวลาสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุไปแล้ว คำถามคือว่า รัฐจะมีการแก้ไขเงื่อนไขผลตอบแทนให้รัฐได้รับมากไปกว่านี้หรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่สังคมควรจับตาเป็นอย่างยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 เชื่อหรือไม่ การโหลดของขึ้นเครื่องบิน อาจทำให้ของด้อยค่าลงได้

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2554 แม้เวลาผ่านมาได้ 1 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นกับใครอีกก็ได้ ถ้าสายการบินและผู้ดูแลสนามบินไม่มีมาตรการความปลอดภัยที่ดีกว่าเดิมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2554 คุณสุทธิดาเดินทางจากจังหวัดเชียงรายเข้ากรุงเทพมหานคร โดยสายการบินไทยเที่ยวเวลา 10.25 น. ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 11.30 น. มายืนรอรับกระเป๋าที่โหลดขึ้นเครื่องมาพร้อมกันอยู่เป็นนาน กลับไม่เห็นวี่แวว จึงได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของการบินไทยรอประมาณ 1 ชั่วโมงก็ยังไม่ได้กระเป๋าคืน สรุปความได้ว่ากระเป๋าหายแน่แล้วเจ้าหน้าที่การบินไทยจึงให้เธอแจ้งเรื่องกระเป๋าหายไว้ และให้ไปรอที่โรงแรมที่พัก ถ้าได้กระเป๋าแล้วจะติดต่อกลับมา วันนั้นเธอใช้เวลาเดินทางบนเครื่องบินราว 1 ชั่วโมง แต่ต้องมาเสียเวลาติดตามเรื่องกระเป๋าหายข้ามปีคุณสุทธิดาบอกว่า ในวันนั้นเธอต้องรีบมาประชุมที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เวลา 16.00 น. และยังมีการประชุมต่อเนื่องอีก 2 วัน เป็นงานประชุมระดับชาติ แต่เธอไม่มีของใช้ติดตัวอะไรเลย ของในกระเป๋ามีชุดประชุม 4 ชุด ซึ่งตัดใหม่สำหรับใส่ไปงานนี้ 2 ชุด มีทั้งเสื้อสูท ชุดไปรเวท กางเกง เครื่องสำอาง น้ำหอม ชุดชั้นในบอดี้สูท ยกทรง ที่ชาร์ตแบตกล้องถ่ายรูป มือถือ หนังสือ แผ่นซีดี วิตามิน รวมราคาประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท“ลำบากมากๆ และต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการซื้อสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ในการประชุมอย่างเร่งด่วน เสียค่าโทรศัพท์เพื่อติดต่อการบินไทย ที่สำคัญเกิดความวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้พักผ่อนและประชุมด้วยใจที่ไม่ปกติสุข”สำนักงานการบินไทยบอกกับคุณสุทธิดาว่าให้รอครบ 21 วันก่อน ถ้าไม่ได้กระเป๋าจะทำเรื่องเคลมให้ พอถึงกำหนดกระเป๋ายังไม่ได้คืน คุณสุทธิดาจึงได้ทำเรื่องเคลมขอเรียกค่าเสียหายไป “สำนักงานการบินไทยที่เชียงรายโทรมาบอกว่า ทราบเรื่องแล้วจะเคลมให้โดยคิดเป็นกิโลกรัม กิโลกรัมละ 450 บาท กระเป๋าดิฉันหนัก 13 กิโลกรัมรวมแล้วได้ประมาณ 5,850 บาท ซึ่งไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป และไม่ได้เป็นความผิดของดิฉันด้วย การบินไทยทำแบบนี้ดิฉันรู้สึกยอมรับในเงื่อนไขไม่ได้ค่ะ ขอปรึกษาและขอความช่วยเหลือ ต้องทำอย่างไรต่อไปคะ” แนวทางแก้ไขหลังได้รับเรื่องร้องเรียน เรารู้สึกหนักใจเพราะกรณีนี้ยากแก่การพิสูจน์ว่ามีรายการทรัพย์สินและมูลค่าทรัพย์สินตามที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างจริงมากน้อยแค่ไหน จึงได้ขอให้ผู้ร้องทำรายละเอียดรายการทรัพย์สินที่สูญหายไปพร้อมกับกระเป๋าพร้อมมูลค่าราคาทรัพย์สิน เพื่อแนบส่งไปให้บริษัทการบินไทย ได้พิจารณาอีกครั้งต่อมาการบินไทยได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า บริษัทฯ ตระหนักในความเสียหายที่เกิดขึ้นในการขนส่งสัมภาระของสุทธิดา และได้มีจดหมายขออภัยและชี้แจงไปยังคุณสุทธิดาแล้ว ถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลในการชดเชยค่าเสียหายกรณีสัมภาระสูญหาย สำหรับเที่ยวบินในประเทศ พิจารณาจากน้ำหนักจริงของสัมภาระที่สูญหาย กิโลกรัมละ 450 บาท ซึ่งในกรณีนี้ผู้โดยสารเดินทางในชั้นประหยัด พร้อมสัมภาระจำนวน 1 ชิ้น 13 กิโลกรัม ดังนั้นหากพิจารณาตามเกณฑ์ปรกติกรณีสัมภาระสูญหาย ผู้โดยสารจะได้รับค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 5,850 บาท ทั้งนี้ บริษัทฯ โดยสำนักงานเชียงรายได้พิจารณาชดเชยจากน้ำหนักสูงสุดที่อนุญาตคือ 20 กิโลกรัม ในการคำนวณค่าชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 9,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดที่บริษัทฯ สามารถให้ได้นอกเหนือจากหลักเกณฑ์การพิจารณาตามปรกติ และขอยืนยันว่าจำนวนเงินค่าชดเชยดังกล่าว บริษัทฯ ได้พิจารณาเป็นกรณีพิเศษแล้วเราแจ้งคำยืนยันของการบินไทยฯ ให้คุณสุทธิดาพิจารณาอีกครั้งว่า จะตัดสินใจยอมรับในค่าชดเชยใหม่ที่การบินไทยเสนอหรือว่าจะดำเนินการฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป คุณสุทธิดาตกลงยอมรับในค่าชดเชยใหม่ เพราะหากจะฟ้องร้องต่อ เรื่องก็อาจกินเวลามากขึ้น และอาจได้รับการพิจารณาชดเชยความเสียหายที่ไม่ต่างกันมากนักก็ได้คติเตือนใจสำหรับเรื่องนี้ เดินทางด้วยเครื่องบิน ถ้าคุณนำโน้ตบุ้คส์น้ำหนัก 1 กิโลกรัมโหลดขึ้นเครื่องแล้วเกิดสูญหาย จำไว้ว่าคุณจะได้เงินคืนเพียง 450 บาทเท่านั้น อยากได้มากกว่านั้นต้องฟ้องสถานเดียว  ทางที่ดีของมีค่าควรเก็บไว้กับตัวเราเป็นดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >