ฉบับที่ 241 ขบวนการทัวร์ลง ชกตรงๆ ผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย

        ในแวดวงโลกโซเชียลจะมีศัพท์หนึ่งคือ “ทัวร์ลง” หมายถึงการที่ผู้คนต่างๆ ที่ใช้โซเชียล หันมาสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และพร้อมใจกัน แสดงความคิดเห็น เปิดโปง หรือกดดันให้เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงดังที่เราเคยเห็นในแวดวงบันเทิง การเมือง ฯลฯ          “ทัวร์ลง” มันมีทั้งแง่ลบและแง่บวก ในแง่ลบ เช่น ไม่มีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวจนเกิดความเข้าใจผิด หรือบางทีเลยเถิด ขุดคุ้ย ด่าทอ จนเป้าหมายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งที่ไม่ได้ก่อเรื่อง แต่ในแง่บวกมันก็มีประโยชน์เพราะจะเกิดพลังความร่วมมือในการแสวงหาข้อมูล แสดงความคิดเห็นและระดมกันกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ควร         เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราคงได้เห็นกระแสทัวร์ลงพิธีกรสาวคนหนึ่งที่ไลฟ์สดโอ้อวดสรรพคุณสินค้าของตนเอง ตั้งแต่การมีผลเปลี่ยนโครงหน้าตนเองจนสวย  เลยเถิดไปถึงการป้องกันรักษาโควิด-19 ได้ ชาวโซเชียลในโลกไซเบอร์ เลยหันมาขุดคุ้ยหลักฐานการกระทำของเธอ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมารับลูกไปจัดการ        ปรากฎว่าชาวโซเชียลไม่ยอมหยุด มีประเด็นต่อเนื่องไปถึงถั่งเช่า ที่นักร้องลูกทุ่งคนหนึ่งโฆษณาขาย อ้างสรรพคุณต่างๆ อย่างเกินจริง จนมีคนเสียเงินไปซื้อหามาตามๆ กันมากมาย มีการขุดคุ้ยหลักฐานและโยงไปถึงบรรดาคนในวงการบันเทิงต่างๆ จนในที่สุดนักร้องลูกทุ่งรายนี้ก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว หลังจากนั้นไม่กี่วันโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำเสนอข่าวจากทวิตเตอร์ ที่มีคนรายงานว่ามีการขายครีมหน้าขาวจากเขมรใส่กระปุก ไม่มีฉลากใดๆ สภาพคล้ายน้ำตาลมะพร้าว ถัดไปไม่กี่วันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็รายงานผลการจับกุมดำเนินคดีได้สำเร็จ         ผมจำได้ว่าทั้งสามเรื่องนี้ เคยมีเครือข่ายผู้บริโภคและเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน พยายามดำเนินการมาแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างกรณีถั่งเช่ามีข้อมูลทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาเตือนว่า มีผลต่อไตด้วย ส่วนครีมจากเขมร ผมก็เคยนำมาเตือนในคอลัมน์นี้เมื่อนานมาแล้วด้วยซ้ำ แต่กระแสก็ไม่เปรี้ยงเท่าตอนนี้ ผลิตภัณฑ์พวกนี้ก็เลยผลุบๆ โผล่ๆ        สำหรับกรณีทัวร์ลงที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่า พลังของผู้บริโภคในโลกโซเชียลปัจจุบันมันมีอิทธิพลขนาดไหน ผู้คนที่มาร่วมมือกันจัด “ทัวร์ลง” เหล่าคนดังที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์อย่างไม่เหมาะสมต่างมาจากหลายวัย หลายอาชีพ หลายแหล่ง จนเกิดเป็นกระแสสังคมกระตุ้นและกดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุยจัดการอย่างทันที        ดังนั้นขอเชิญชวนให้พวกเราร่วมสร้างขบวนการ “ทัวร์ลง” อย่างมีประโยชน์ หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม นอกจากแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ขอให้ช่วยกันนำเสนอในโซเชียลและเพื่อทำให้เกิดเป็นประเด็นดังๆ จะได้เกิดแรงกระเพื่อมให้มีการจัดการอย่างรวดเร็วเสียที เริ่มจากพวกคนดังในแวดวงบันเทิงเลยดีไหม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 กระแสต่างแดน

ช้าแต่ไม่ชัวร์        พาหนะไฟฟ้าขนาดมินิกำลังได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้สูงอายุชาวจีนที่รู้สึกเป็นอิสระในการออกไปพบปะเพื่อนฝูง ไปโรงพยาบาล หรือไปซื้อของด้วยตัวเอง         ตัวเลือกและสนนราคาของพาหนะที่ว่านี้ก็ดึงดูดใจ มีตั้งแต่ที่หน้าตาเหมือนจักรยานสามล้อ (ราคาประมาณ 2,000 หยวน หรือ 9,300 บาท) ไปจนถึงแบบที่คล้ายรถจี๊ป (ราคา 10,000 หยวน หรือ 46,500 บาท) และด้วยความเร็วอันน้อยนิด จึงไม่ต้องจดทะเบียน         เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการผลิต ผู้ใช้จึงพบกับปัญหา “รถเสีย” บ่อยครั้ง  และตามกฎหมายจีน รถแบบนี้ไม่สามารถนำมาวิ่งบนถนนหรือในทางจักรยาน ใช้ได้เพียงในบริเวณพื้นที่ปิดหรือในอาคารเท่านั้น แต่คุณตาคุณยายไม่ทราบ เพราะคนขายบอกว่า “ไปได้ทุกที่”         เมืองใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้จึงมีมาตรการออกมารับมือ ด้วยการกำหนดให้ผู้ใช้รถแบบนี้มีใบขับขี่ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และเตรียมประกาศมาตรฐานการผลิต การขาย การเก็บภาษี และการประกันด้วย    สโลว์แฟชัน        รายงานของ Changing Markets Foundation ระบุว่าอุตสาหกรรมแฟชันพึ่งพาเส้นใยสังเคราะห์ราคาถูก เช่น โพลีเอสเตอร์ เป็นหลักเพื่อผลิตเสื้อผ้าให้ได้ราคาถูกลง ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีการผลิตเส้นใยสังเคราะห์เพิ่มขึ้น 9 เท่า และมีการใช้น้ำมันถึง 350 ล้านบาเรล/ปี ในการผลิตเส้นใยดังกล่าว         องค์กรดังกล่าวเสนอให้วงการนี้เลิกพึ่งวัตถุดิบจากฟอสซิลและ “ลดความเร็ว” ในการปล่อยสินค้าออกสู่ตลาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต ลดปริมาณขยะเสื้อผ้า และลดไมโครไฟเบอร์ (ที่ไหลลงสู่ทะเลปีละ 500,000 ตัน หรือเท่ากับขวดพลาสติก 50,000 ล้านใบ)            ปัจจุบันธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปใช้พลังงานมากกว่าการขนส่งทางเรือและทางอากาศรวมกัน ร้อยละ 20 ของน้ำเสียจากอุตสาหกรรมก็มาจากการผลิตเสื้อผ้าที่เราสวมใส่         การรีไซเคิลเป็นสิ่งดี... แต่มันยังไม่เกิดขึ้นมากเท่าที่ควร ทุกวันนี้ร้อยละ 87 ของเสื้อผ้าทิ้งแล้วยังถูกนำไปเผา หรือฝังกลบ (ในอัตรา 1 คันรถขยะต่อ 1 วินาที)         สำหรับผู้บริโภคอย่างเรา สิ่งที่ทำได้เลยตอนนี้คือซื้อเสื้อผ้าให้น้อยลงและใช้ประโยชน์จากมันให้นานขึ้น  ยังดีไม่พอ        สมาชิกคณะกรรมการกำกับดูแลอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์โหวตยืนยันอีกครั้งว่าน้ำผลไม้ 100% จะไม่ได้ “ห้าดาว” โดยอัตโนมัติ แต่จะต้องพิจารณาจากปริมาณน้ำตาลที่แท้จริง เช่นเดียวกับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม         เรื่องนี้ไม่ถูกใจอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ซึ่งมีมูลค่าถึง 800 ล้านเหรียญแน่นอน เพราะน้ำผลไม้ 100% บางชนิดมีปริมาณน้ำตาลสูงจึงอาจได้เรตติ้งเพียงสองดาวครึ่ง ซึ่งน้อยกว่าดาวบนฉลากน้ำอัดลมอย่าง ไดเอทโค้ก ด้วยซ้ำ         อเล็กซานดรา โจนส์ นักวิจัยด้านกฎหมายและนโยบายอาหาร ประจำสถาบัน George Institute for Global Health บอกว่าสิ่งที่สังคมได้จากการตัดสินใจครั้งนี้คือความเข้าใจว่า “น้ำผลไม้” ไม่ได้ดีต่อสุขภาพเสมอไป และตามเกณฑ์ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน มีเพียงน้ำเปล่าเท่านั้นที่จะได้ห้าดาว           ออสเตรเลียใช้ระบบ “ดาว” แสดงระดับความเป็นมิตรต่อสุขภาพบนฉลากอาหารมาตั้งแต่ปี 2557 อย่ากินน้องเลย         เทศบาลเมืองฮานอยออกมาเรียกร้อง (อีกครั้ง) ให้ผู้คนงดบริโภคเนื้อสุนัขและแมว เพื่อภาพพจน์ที่ “ศิวิไลซ์” ของเมืองหลวงประเทศเวียดนาม        สองปีก่อนรัฐบาลท้องถิ่นรณรงค์ให้งดการกระทำดังกล่าวตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ที่มองว่าเป็นการทารุณกรรม ทำให้คนฮานอยรุ่นใหม่เกิดการรับรู้และเปลี่ยนทัศนคติ ส่งผลให้ร้อยละ 30 ของร้านขายเนื้อสุนัขและแมวปิดตัวลง         แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าดีมานด์นี้จะหมดไป ปัจจุบันเวียดนามยังมีการบริโภคเนื้อสุนัขมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน แต่ละปีมีสุนัขประมาณห้าล้านตัวกลายเป็นอาหารของมนุษย์ แม้จะมีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลกถึงอันตรายที่อาจเกิดจากการบริโภคเนื้อสุนัขก็ตาม          นอกจากนี้การค้าเนื้อสุนัขยังทำให้ความพยายามของเวียดนามในการควบคุมการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับโรคดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จด้วย  ต้องมีที่มา         ศาลมิวนิกฟันธง ผักผลไม้ที่ขายออนไลน์ในเว็บ ”อเมซอนเฟรช” ต้องแสดงที่มาเช่นเดียวกับผักผลไม้ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ตามกฎหมายของสหภาพยุโรป หากฝ่าฝืนมีค่าปรับ 250,000 ยูโร (9,000,000 บาท)        องค์กร Foodwatch ในเบอลิน ได้ฟ้องร้องขอคำตัดสินจากศาล หลังทดลองสั่งซื้อผัก/ผลไม้ เช่น ผักกาด มะเขือเทศ องุ่น แอปเปิ้ล และอโวคาโด ทางอเมซอนเฟรช แล้วพบเรื่องแปลก         ครั้งแรกที่ทดลองสั่งในปี 2017 เขาพบว่าไม่มีการระบุแหล่งที่มาของสินค้าบนเว็บ ส่วนครั้งที่สองในปี 2019 ทางเว็บแจ้งที่มาเอาไว้ แต่ผักผลไม้ที่ส่งมานั้นกลับถูกส่งมาจากที่อื่น         ทางอเมซอนให้เหตุผลว่าการใช้แหล่งที่มาเพียงแหล่งเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะจะไม่มีสินค้าจัดส่งให้กับลูกค้าสั่งซื้อไว้ล่วงหน้านานๆ ในกรณีที่สภาวะอากาศไม่เป็นใจหรือมีปัญหาระหว่างเก็บเกี่ยว และยังโต้แย้งด้วยว่ากฎหมายดังกล่าวใช้กับการผัก/ผลไม้ที่แพ็คขายส่งเท่านั้น         อย่างไรก็ตามเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ตอนนี้ทางร้านจึงรับออเดอร์ล่วงหน้าแค่ 3 วันเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2563

สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกบัตรทองแล้ว 190 แห่งเหตุทุจริตเบิกเท็จ          30 ก.ย. 2563 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช. ยกเลิกสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน คลินิกชุมชนอบอุ่น จำนวน 190 แห่ง (แบ่งเป็นโรงพยาบาล 10 แห่ง คลินิกเอกชน 175 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง) ในพื้นที่ กทม. เหตุเพราะทำทุจริตการเบิกเงินในรายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากสปสช. รวมความเสียหาย 198 ล้านบาท ซึ่งการยกเลิกสัญญาครั้งนี้จะกระทบผู้ป่วยรับบริการจริง 4-5 แสนราย เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2.7 แสน         อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิที่หน่วยบริการประจำถูกยกเลิกสัญญา โดยกำหนดผู้ใช้สิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ หมายถึงสามารถเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยในหน่วยบริการที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเข้าร่วมกับ สปสช. ได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีหน่วยบริการประจำ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดจำนวนครั้ง (สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง)         ด้านนายจีรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขเกินจริง กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้เป็นหน้าที่กองปราบปรามในการรวบรวมพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดข้อหาใดบ้างแล้วดำเนินคดีในทางอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลทั้งหมด นอกจากนี้ได้ส่งเรื่องให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ด้วย ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า สบส.ได้พิจารณาแล้วพบว่ามีความผิดเช่นเดียวกันและได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเช่นเดียวกัน มีผลแล้ว ประกาศขายของออนไลน์ ห้ามให้อินบ็อกซ์ถามราคา          22 กันยายน 2563  เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ ฉบับที่ 70 พ.ศ. 2563 เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์  มีเนื้อหาโดยสรุปคือ ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ต้องแสดงราคาจำหน่าย ค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะขนาด น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ โดยการเขียน พิมพ์ หรือกระทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นใดในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจนั้น ในลักษณะที่ชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย กรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่แสดงไว้ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนครบถ้วนและเปิดเผย โดยแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่ให้บริการ         กรณีผู้ขายสินค้าออนไลน์ ไม่แจ้งราคาผ่านช่องทางที่จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ไลน์ และเว็บไซต์ แต่จะให้อินบ็อกซ์เข้ามาสอบถามราคาแทนนั้น จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท         ส่วนผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับสินบนนำจับ 25% ของค่าปรับ เช่น หากโทษปรับ 10,000 บาท ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินส่วนแบ่ง 2,500 บาท ซึ่งหลักฐานที่ต้องเตรียมนั้น ได้แก่ ข้อความที่พูดคุยกัน, การแจ้งราคาทางอินบ็อกซ์ รวมถึงบัญชีธนาคารของคนขาย เพื่อความสะดวกต่อการนำจับ สามารถแจ้งข้อมูล หรือร้องเรียนได้ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อีเมล์ 1569@dit.go.th หรือสายด่วน 1569 คกก.วัตถุอันตรายไม่ทบทวนแบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส'          28 ก.ย. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงส่วนใหญ่มีมติไม่ทบทวนแบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' เนื่องจากเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา และน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่พูดเรื่องแบนหรือไม่แบนสารเคมี 2 ตัวนี้ ทั้งนี้ กรรมการที่อยู่ในห้องประชุม 24 คน มีผู้เห็นด้วยกับการทบทวนมติ 4 คน และไม่เห็นด้วย 20 คน ที่ประชุมจึงมีมติโดยเสียงส่วนใหญ่ว่าไม่สมควรที่จะออกประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากประกาศเพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาและมีการฟ้องคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง จึงมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงสาธารณสุขนำข้อมูลจากคณะกรรมการไปพิจารณาและรายงานคณะกรรมการต่อไป         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 3-2/2563 กล่าวว่า เมื่อมีมติให้แบนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจะต้องมีการหาสารเคมีทางการเกษตรหรือสารทางเลือกเข้ามาทดแทน เพราะสารเคมี 2 ชนิดนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะพูดถึงเรื่องการแบนหรือไม่แบนสารเคมี 2 ตัวนี้ คนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่ม 2.4 เท่าใน 10 ปี          สสส. เผยข้อมูลสำคัญ พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในรอบ 10 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า คนเมือง-กรุงเทพฯ–ภาคกลาง เสี่ยงเสียชีวิตสูงสุด เผยกินผัก-ผลไม้ 400 กรัม/วัน ธัญพืชไม่ขัดสี ช่วยลดเสี่ยง แพทย์ชี้สาเหตุเกิดจาก “พันธุกรรม-พฤติกรรม-โรค” แนะปรับพฤติกรรมการกิน ตรวจคัดกรองก่อนเกิดอาการ        ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สถิติสถานการณ์สุขภาพคนไทย 10 ปีย้อนหลังรายเขตสุขภาพ ระหว่าง พ.ศ. 2552–2561 พบว่า คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่าทั้งเพศหญิงและชาย         ปี 2552 อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ในเพศชาย อยู่ที่ 3.6 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 8.9 คนต่อแสนประชากรในปี 2561 เช่นเดียวกับเพศหญิง ในปี 2552 อยู่ที่ 2.8 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 6.7 คนต่อแสนประชากรในปี 2561         ที่น่าสนใจคือคนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้สูงขึ้น โดยเฉพาะในเขต กทม. ที่มีจำนวนมากที่สุด 15.1 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าในรอบ 10 ปี ตามด้วยภาคกลาง 10.2 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า         การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400-600 กรัม การบริโภคพืชที่เรียกว่า “โฮลเกรน” หรือธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้เช่นกัน นอกจากนี้การออกกำลังกายจะช่วยระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น องค์กรผู้บริโภคเตรียมฟ้อง สปน.เหตุยื้อไม่เร่งเกิด “สภาองค์กรผู้บริโภค”          27 กันยายน 2563 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคเพื่อเตรียมพร้อมเป็นสภาองค์กรผู้บริโภคนั้นใช้ระยะเวลาดำเนินการล่วงมาเกือบ 15 เดือน นับตั้งแต่การยื่นจดแจ้งวันแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ขณะนี้มีจำนวน 144 องค์กรที่ผ่านการจดแจ้งแล้ว เหลืออีกเพียง 6 องค์กรตามกฎหมายกำหนด โดยสาเหตุที่ล่าช้าส่วนหนึ่งเพราะระเบียบอันซับซ้อนของสำนักงานปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ดังนั้นต่อจากนี้ 7 วันหากกระบวนการต่างๆ ยังไม่คืบหน้า องค์กรผู้บริโภคได้เตรียมการฟ้องสปน. ต่อศาลปกครอง         “ถึงแม้จะเหลืออีกเพียง 6 องค์กร ก็ยังมีความจำเป็นต้องเร่งรัดสปน. เพราะสถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ มองว่ากระบวนการตรวจสอบของ สปน.อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงขอให้สปน. เร่งรัดการออกประกาศรับรององค์กรและเร่งประกาศรายชื่อองค์กรผู้บริโภคในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สปน.หรือออก อกผ3 โดยเร็ว หากพบว่ายังล่าช้านานเกินกว่า 7 วัน องค์กรผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดได้เตรียมการที่จะฟ้องสปน. ต่อศาลปกครองทันที          ทั้งนี้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการจัดตั้งสภาขององค์กรผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนกับนายทะเบียนจังหวัดและนายทะเบียนกลาง กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคจำนวน 150 องค์กร สามารถเข้าชื่อยื่นจดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ ตามมาตรา 9  และรวบรวมสมาชิกที่ผ่านการจดแจ้งได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งขององค์กรผู้บริโภค ถึงจะสามารถยื่นจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคได้ และสภาองค์กรผู้บริโภคนั้นต้องรีบดำเนินการจัดทำข้อบังคับและรับฟังความคิดเห็นก่อนการประกาศใช้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 เปิดร้านชำ ไม่ให้ชีช้ำ

ร้านขายของชำมักเป็นสถานที่ ที่มีคนมาร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบ่อยๆ ประเด็นที่ร้องเรียนก็หลากหลาย เช่น มีการขายยาด้วย มีสินค้าไม่ถูกต้อง มีสินค้าหมดอายุ ฯลฯ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงมีกิจการร้านขายสินค้าอยู่บ้าง ยิ่งขนาดร้านใหญ่ สินค้าที่จำหน่ายก็ยิ่งเยอะ โอกาสพลาดไปมีสินค้าที่สุ่มเสี่ยงหลงหูหลงตาในร้าน ทั้งเจตนาหรือไม่เจตนา คงเป็นความเสี่ยง ถูกร้องเรียนให้ชีช้ำ ถือโอกาสนี้ เตือนผู้อ่านที่เป็นเจ้าของร้านขายของชำให้ไม่พลาด ชีวิตจะได้ไม่ต้องไปปวดหัวกับการถูกดำเนินคดีภายหลังลูกค้าเรียกหาอาจจะพาชีช้ำ : เจ้าของร้านชำที่ดีย่อมเอาใจใส่ลูกค้า ยิ่งลูกค้าต้องการสินค้าอะไร เจ้าของร้านแทบจะพลีกายถวายชีวิตไปขวนขวายหามาขายในร้านให้ได้ ตั้งสติก่อนเที่ยวไปหามานะครับ ร้านขายของชำ แม้จะมีสินค้าได้หลากหลาย แต่หากลูกค้าอยากได้ยาต่างๆ ท่องไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า สินค้าพวกยาเอามาขายในร้านไม่ได้นะครับ มียากลุ่มเดียวเท่านั้นที่กฎหมายอนุญาต คือ”ยาสามัญประจำบ้าน” วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ดูฉลากให้ละเอียดครับ ยาสามัญประจำบ้านจะมีข้อความแสดงบนฉลากว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” ถ้าไม่มีอย่าให้มันมาเสนอหน้าอยู่ในร้านเราเด็ดขาด เดี๋ยวความเสี่ยงจะตามมา อาจติดคุกติดตะราง ได้ไม่คุ้มเสียครับยี่ปั่วมั่วๆก็ชีช้ำได้ : ร้านขายของชำบางร้านจะไปซื้อสินค้ามาจากยี่ปั้ว บางทียี่ปั้วแนะนำสินค้าแปลกๆ ให้เอามาขายที่ร้าน  บอกว่ากำลังนิยม รับรองขายดีแน่นอน  อย่ารีบหลงเชื่อนะครับ เช็คให้ดีก่อน สินค้านั้นต้องไม่ใช่ยา หรือหากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ก็ต้องระวัง ถ้าฉลากไม่ครบ หรือสรรพคุณระบุเป็นยาหรือโฆษณาเกินจริง อย่าใจอ่อนรับมาขาย  เพราะอาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ของฝากขาย ซ้ำร้ายจะกลายเป็นเหยื่อ : หลายครั้งที่ไปตรวจร้านขายของชำ และเจอสินค้าที่ไม่ถูกต้อง เช่น เครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้งหรือฉลากไม่ครบ อาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง พอถามแหล่งที่มา เจ้าของร้านมักบอกว่ามีเซลล์มาฝากวางขาย หากขายไม่หมดเซลล์จะมาเก็บกลับคืนภายหลัง ระวังให้ดีนะครับ ตรวจสินค้าที่เขาฝากวางให้ดี หากสินค้านั้นไม่มีข้อมูลแสดงว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง หรือฉลากไม่ครบถ้วน อย่ารับวางไว้ที่ร้านเด็ดขาด มีเรื่องทีไร เซลล์หายหัวทุกทีชื่อแปลกๆ อย่าแหกตาตื่นไปซื้อ : จากประสบการณ์ที่ไปตรวจร้านขายของชำ พบเครื่องสำอางที่แปลกทั้งชื่อและชนิด เช่น ครีมนมเบียด กลูตาผีดิบ เยลลี่ลดอ้วน ฯลฯ ส่วนใหญ่สินค้าพวกนี้ฉลากไม่ค่อยถูกต้องตามกฎหมาย สอบถามผู้ขายว่าไปซื้อมาจากไหน ได้ข้อมูลว่าเห็นมันดังในอินเทอร์เน็ต เลยซื้อจากออนไลน์มาขาย  ตั้งสติครับ ลำพังแค่ชื่อสินค้าที่มันผิดปกติแบบนี้ คงไม่มีหน่วยงานไหนอนุญาตแน่นอน อย่าหาของร้อนจากออนไลน์มาใส่ร้านตัวเองเลยครับ ยังไงใช้ คาถา 4 สงสัย 2 ส่งต่อ ตรวจสอบสินค้าต่างๆ จะได้ไม่พลาดให้ชีช้ำนะครับ (1) สงสัยไม่มีหลักฐานการอนุญาต? (2) สงสัยขาดข้อมูลแหล่งที่มา? (3) สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป? (4) สงสัยใช้แล้วผิดปกติ? (1) ส่งต่อข้อมูลเตือนภัย (2) ส่งต่อเจ้าหน้าที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 อยากจะขายของออนไลน์ อย่าเผลอไผลไปเสียรู้

ยุคนี้ การขายสินค้าออนไลน์ทำรายได้ให้กับคนรุ่นใหม่มากมาย นักขายของออนไลน์หน้าใหม่ผุดขึ้นดังดอกเห็ด แต่สุดท้ายหลายรายก็เสียรู้ถูกหลอก เสียทั้งเงินและยังเสียรู้ทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว คนรุนใหม่หลายคนมาปรึกษาผมทั้งทางตรงและโทรเข้ามาสอบถาม เนื่องจากหาทางออกเกี่ยวกับการขายของออนไลน์ไม่ได้รายแรกเธอสนใจจะขายสินค้าออนไลน์ จึงเปิดตามเน็ตเห็นโฆษณาว่ารับจ้างผลิตสบู่ พร้อมขออนุญาตจาก อย. และทำฉลากให้เสร็จ สามารถนำไปจำหน่ายได้ทันที ภายหลังจากติดต่อกันแล้ว เธอก็ส่งข้อมูลส่วนตัวทั้งบัตรประชาชน บ้านเลขที่ พร้อมทั้งเลือกสบู่ที่เธอต้องการจะจำหน่ายจากแคตตาล๊อคที่เขาส่งมาให้ดู (ทั้งหมดนี้ ติดต่อทางอินเทอร์เน็ต) หลังจากนั้นเธอก็ได้สบู่ที่มีชื่อเธอเป็นผู้ผลิตส่งกลับมาให้เธอจำหน่ายได้ตามต้องการ เธอจำหน่ายได้สักระยะหนึ่ง เห็นว่าธุรกิจจะไปไม่รอด จึงติดต่อทางผู้ผลิตขอยกเลิก แต่ปรากฏว่าไม่มีการตอบรับใดๆ เธอกลัวว่าจะมีผลทางกฎหมาย หากมีสบู่ที่มีชื่อเธอเป็นเจ้าของขายต่อไปเรื่อยๆรายที่สอง เธอเห็นขนมชนิดหนึ่งที่คนกำลังนิยมรับประทาน แต่ขนมนี้ขายทางออนไลน์ มีเลข อย.เรียบร้อย เธอจึงสนใจจะนำมาขายบ้าง จึงติดต่อผู้ผลิตเพื่อจ้างให้ผลิตส่งให้เธอ โดยขอให้ระบุชื่อเธอเป็นผู้ผลิต หลังจากติดต่อกันเรียบร้อยแล้ว เธอก็มีขนมที่มีชื่อเธอเป็นผู้ผลิตส่งมาให้เธอเพื่อจำหน่ายทางออนไลน์ เมื่อจำหน่ายไปสักระยะหนึ่ง ลูกค้าออนไลน์ของเธอแจ้งกลับมาว่าขนมขึ้นราง่าย บางห่อมีราอยู่ข้างในตั้งแต่เมื่อได้รับของ ลูกค้าขอเงินคืนและยังขู่ว่าหากไม่ยอมจะไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ให้ดำเนินคดีด้วยผู้ขายสินค้าออนไลน์ทั้งสองรายข้างต้น ต่างเป็นเหยื่อผู้ผลิตและเหยื่อของความไม่รู้ของตนเองทั้งคู่ ผู้ผลิตเครื่องสำอางหรือผู้ผลิตขนมที่รับจ้างผลิตให้ผู้ขายทั้งสองราย อาศัยประโยชน์ที่ตนเองได้รับอนุญาตแล้วมาเป็นช่องทางในการหาประโยชน์ให้ตนเอง ผู้ผลิตสบู่รายแรกได้รับเลขที่จดแจ้งแล้ว จึงอาศัยที่สามารถจดแจ้งทางออนไลน์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้อย่างง่าย จดแจ้งตราใหม่เพิ่มเติม และเมื่อได้แล้วก็พิมพ์ฉลากโดยใช้ชื่อผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผลิต และส่งมาให้เธอจำหน่าย ส่วนผู้ผลิตขนมก็ทำเช่นเดียวกันคือขอ อย.ตราใหม่ของขนมชนิดเดิม โดยใช้ตราตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ และแสดงชื่อและสถานที่ของผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผลิตแทนสถานที่ผลิตจริงของตนเองในแง่กฎหมายนั้น การแสดงฉลากต้องตรงกับความเป็นจริง ผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดนี้ แม้จะผลิตจากผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่การแสดงชื่อสถานที่ผลิตไม่ตรงกับสถานที่จริง ถือว่ามีความผิด เป็นผลิตภัณฑ์ปลอม และเมื่อพบว่าคุณภาพผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ที่มีชื่อเป็นผู้ผลิตบนฉลากจึงต้องมาเกี่ยวข้องรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิต ซึ่งหากจะพิสูจน์ความผิดว่าตนไม่ใช่ผู้ผลิตตัวจริง ก็ต้องวุ่นวายพิสูจน์หลักฐานต่างๆ อีก เสียทั้งเวลา เจ็บทั้งใจการทำมาหากินไม่ใช่สิ่งผิด หากผู้ที่จะทำธุรกิจมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งวิธีการขออนุญาต การแสดงฉลาก การโฆษณา ฯลฯ ไม่เช่นนั้นเราอาจจะกระทำผิดกฎหมายหรือถูกหลอกให้ต้องร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่ผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน ผู้อ่านท่านใดที่สนใจจะขายสินค้าออนไลน์ ประเภท อาหาร เครื่องสำอาง ฯลฯ ขอให้ติดต่อสอบถามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ทุกจังหวัดเลยนะครับ จะได้ไม่พลาดเหมือนสองรายที่ผมเล่ามาครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ไม่ส่งสินค้าให้ เพราะแสดงราคาผิด

เพราะสินค้าในตลาดออนไลน์ส่วนใหญ่มักมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากตัดสินซื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่หากเราซื้อแล้วพบว่าราคาที่แสดงหน้าเว็บไซต์กับราคาที่ต้องจ่ายจริงต่างกัน จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้างคุณพอใจต้องการลำโพงไร้สายคุณภาพดี ราคาเหมาะสม จึงตัดสินใจเลือกซื้อผ่านเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดัง ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เหมือนตลาดกลาง คอยรวบรวมสินค้าจากร้านค้าหรือบริษัทต่างๆ เอาไว้ภายในเว็บไซต์เดียว คล้ายห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีร้านค้าต่างๆ มากมายมาเช่าพื้นที่เปิดร้านขายสินค้านั่นเอง ทั้งนี้หลังจากเธอพบสินค้าที่ต้องการในราคาที่ถูกกว่าร้านทั่วไป จึงรีบกดซื้อและชำระเงินผ่านบัตรเครดิต พร้อมรอให้มีการจัดส่งสินค้าภายใน 10 วันตามที่ระบุไว้อย่างไรก็ตามหลังครบกำหนดเวลาดังกล่าว คุณพอใจก็ยังไม่ได้รับสินค้า เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านค้าและได้รับการตอบกลับมาว่า เหตุที่ยังไม่ส่งสินค้าดังกล่าวให้ เนื่องจากทางร้านลงราคาผิดพลาดและไม่มีความประสงค์จะขายในราคาที่ระบุไว้บนหน้าเว็บไซต์ ดังนั้นจึงขอให้ลูกค้าไปติดต่อขอคืนเงินกับทางเว็บไซต์ได้เลยเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณพอใจจึงไม่พอใจมาก จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาว่าสามารถจัดการร้านค้าเช่นนี้ได้อย่างไรบ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องแจ้งรายงานพฤติกรรมผู้ขายไปยังเว็บไซต์ เพื่อให้มีมาตรการลงโทษผู้ขายที่มีพฤติกรรมดังกล่าว พร้อมแนะนำให้ดำเนินการขอเงินคืนทั้งหมด ส่วนการเรียกค่าเสียหายหรือขอให้ส่งของมาให้ตามที่ซื้อ จะต้องแจ้งให้ผู้ขายหรือเว็บไซต์รับผิดชอบ แต่หากยังปฏิเสธหรือเพิกเฉย สามารถฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือบังคับให้ส่งสินค้าตามสัญญาได้ทั้งนี้หลังการดำเนินการข้างต้นและผู้ร้องได้แชร์เรื่องราวดังกล่าวลงสื่อสังคมออนไลน์ ก็พบว่าทางเว็บไซต์ได้ดำเนินการแก้ปัญหาให้ ด้วยการคืนเงินทั้งหมดพร้อมคูปองลดราคาสินค้าอื่นๆ และลงโทษผู้ขายตามข้อกำหนดของบริษัท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 มาออกกำลังกาย ไหงแอบแฝงมาขายของ

สองสามปีนี้กระแสออกกำลังกายเป็นที่สนใจของผู้คน มองไปทางไหนก็เห็นคนมาออกกำลังกาย ทั้งเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ เล่นกีฬาต่างๆ มากมายเต็มไปหมด ในฐานะที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุข ก็อดดีใจที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น แต่บางทีสิ่งที่ต้องระวังมันก็แอบแฝงมาในสังคมของคนที่ใส่ใจสุขภาพเหล่านี้ ผมไปสถานที่ออกกำลังกายแห่งหนึ่ง มีคนเอาแผ่นพับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพมาให้ดู พร้อมถามว่า “ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มันดีจริงหรือไม่ เพราะเห็นคนที่มาออกกำลังกายเขาบอกว่าเขากินแล้วดี ตอนนี้เขายังชักชวนคนอื่นๆ ที่นี่ให้ซื้อไปกินเลย ที่ถามเพราะขวดละสองพันกว่าบาท รายได้ก็ไม่มาก เลยลังเลที่จะซื้อมากิน” ผมรับแผ่นพับโฆษณามาดู ในแผ่นพับบอกยี่ห้อผลิตภัณฑ์ ระบุว่าเป็นเครื่องดื่ม แอนตี้ออกซิเด้นท์ จากซุปเปอร์ฟรุ้ทและเบอร์รี่เข้มข้น มีรูปภาพผลไม้หลายชนิด เช่น มากิเบอร์รี่ อาร์ติโช้ค โกจิเบอร์รี่ แครนเบอรณี่ สตรอเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ องุ่นแดง แอปเปิ้ล ฯลฯ พร้อมข้อความโฆษณาว่า “เห็นผลจริงในคน เลือดสะอาด ตับแข็งแรง กำจัดสารพิษเร็วและมากกว่าถึง 3 เท่า ช่วยลดสารพิษในเลือดถึง 51% เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในเซลล์และตับ 246% ยืนยันผลลัพธ์ปกป้องตับเพิ่มขึ้น 14%” นอกจากนี้ยังมีภาพผู้ที่ได้รับประทานผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มาบรรยายถึงผลในการรักษาทั้ง ภูมิแพ้ ปอดอักเสบ มะเร็งตับ เบาหวานความดัน ลดคลอเลสเตอรอล กรดไหลย้อน มีบุตรยาก ทีแรกผมก็คิดว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ คงเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วๆ ไป ที่มักมีคนมาแอบอ้างโฆษณา แต่พอไปค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต พบว่าผลิตภัณฑ์นี้นำเข้ามาจากไต้หวัน โดยบริษัทที่จำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภคชื่อดัง และมีคนเคยตั้งกระทู้สอบถามในเว็ปพันทิพ แล้ว ที่น่าสังเกตคือ ในเว็ปนั้นมีคนแฉภาพ ข้อความบนฉลากอย่างชัดเจนว่า “เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน” “ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค” (แต่ทำไมในแผ่นพับที่เผยแพร่ตามสถานที่ออกกำลังกายสาธารณะ กลับไปคนละทางเลย นอกจากนี้ยังนำเสนอพร้อมภาพว่าเด็ก และผู้หญิงมีครรภ์ก็ยังรับประทานได้) ที่แนบเนียน คือแม้จะเป็นแผ่นพับโฆษณาผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน แต่ในแผ่นพับที่แจก ไม่มีข้อความหรือภาพเกี่ยวข้องกับบริษัทที่นำเข้าเลย เลยสรุปไม่ได้ว่า บริษัทนำเข้าชื่อดังนี้ จะมีส่วนรู้เห็นแอบโฆษณาขายของแบบกันตัวเอง เผื่อมีเรื่องจะได้สาวไม่ถึงต้นตอ หรือมีใครที่รับมาจำหน่าย ลงทุนทำแผ่นพับเสียเอง ยิ่งไปสืบค้นเพิ่มเติม ในแง่ประสิทธิภาพต่างๆ ตามที่อวดอ้างนั้น ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ามีประสิทธิภาพจริงตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ อันที่จริงมันก็สอดคล้องกับ ข้อความบนฉลากที่ระบุว่า “ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค” อยู่แล้ว (แต่ไม่สอดคล้องกับโฆษณาในแผ่นพับ) ไหนๆ ก็หันมาใส่ใจสุขภาพด้วยการออกกำลังกายกันแล้ว หันมาใส่ใจในการบริโภคอาหาร ผักผลไม้ ที่สะอาดมีประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย แคนี้สุขภาพก็ดีขึ้นแล้ว อย่าไปเสียเงินแพงๆ กับสิ่งที่ไม่ใช่ยารักษาโรคเลยครับ เดี๋ยวจะเสียทั้งสุขภาพ เสียทั้งเงิน จนเครียดไปอีกเปล่าๆ

อ่านเพิ่มเติม >