ฉบับที่ 156 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือน มกราคม 2557 “บ้านและที่อยู่อาศัย” กับปัญหายอดฮิตปี 56 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สรุปเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยกลายเป็นปัญหากวนใจผู้บริโภคมากที่สุด แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างปัญหาจากการใช้รถยนต์ เนื่องจากโครงการรถยนต์คันแรกที่เริ่มหมดลง ประกอบกับคนหันมาซื้อคอนโดมากขึ้น และเมื่อเกิดปัญหาเพียง 1 ยูนิต ผู้บริโภคที่อยู่ในโครงการเดียวกันก็มักจะตามกันมาร้องเรียนด้วย สำหรับเรื่องร้องเรียนในปี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 ธันวาคม มีผู้บริโภคร้องเรียนทั้งสิ้น 3,150 ราย โดยเรื่องร้องเรียนที่มากที่สุดคือเรื่อง อสังหาริมทรัพย์ 1,324 ราย แบ่งเป็น 3 ประเภทปัญหา คือ 1.อาคารชุด 629 ราย 1,390 เรื่อง เช่น ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือโฆษณา ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จยกเลิกสัญญา  2.บ้านจัดสรร 392 ราย 1,019 เรื่อง เช่น ไม่ดำเนินการตามที่โฆษณา มีการชำรุดหลังก่อสร้าง กู้ได้ไม่เต็มจำนวนตามที่ประกาศ ขอยกเลิกสัญญา และ 3.เช่าพื้นที่ เช่าช่วง 303 ราย 608 เรื่อง   สคบ.ดำเนินการไกล่เกลี่ยตามที่ผู้ร้องต้องการและเรื่องยุติแล้ว 60% เหลืออีก 40% โดยหลังจากนี้ทาง สคบ. จะส่งเจ้าหน้าที่จะลงสุ่มตรวจโครงการที่อยู่อาศัยที่พบปัญหาร้องเรียกซ้ำซาก แล้วจะมีการแจ้งชื่อโครงการที่มีปัญหาให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบ     ผิวขาวออร่า แต่หน้าพัง กระแสความนิยมอยากจะมีผิวขาวของวัยรุ่นไทย กำลังเป็นเรื่องน่าห่วง หลังจากที่มีวัยรุ่นจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของโฆษณาหลอกลวงชวนเชื่อ ผลิตภัณฑ์ผิวขาว ที่โอ้อวดว่าใช้แล้วผิวขาวสว่าง “ออร่า” แต่กลับต้องเจอผลข้างเคียง นอกจากผิวจะไม่ขาวแล้ว ยังต้องเสียโฉม หน้าพัง ผิวที่หวังว่าจะขาวก็ยิ่งคล้ำดำลงกว่าเดิม ล่าสุดมีกรณีที่วัยรุ่นอายุ 16-18 ปีที่ จ.เพชรบุรี ให้ครีมที่อ้างสรรพคุณช่วยให้ผิวขาวแล้วเกิดอาการแพ้ ผิวลายแตกงา เมื่อเก็บตัวอย่างครีมผิวขาวที่น่าจะเป็นปัญหาไปตรวจสอบยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม พบว่า ตัวอย่าง ครีมและโลชั่นทาผิวที่อ้างว่าช่วยให้ผิวขาว จำนวน 11 ตัวอย่างที่วางขายในจังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วยครีม 4 ประเภท ได้แก่ 1.ครีมผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่ไม่มีฉลาก 2.ครีมที่ผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่มีฉลากแต่ไม่ได้จดแจ้ง  3.ครีมที่มีฉลากภาษาจีน และ 4.ครีมที่มีฉลากภาษาจีนที่เป็นยาใช้ภายนอก มีการใช้สารสเตียรอยด์ชนิดโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต (Clobetasol propionate) ในครีมทั้ง 11 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 8.0-449.8  มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สูงมาก นอกจากนี้ยังตรวจพบสารคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งจัดเป็นยาในทุกตัวอย่าง และบางตัวอย่างตรวจพบว่ามีการใส่วัตถุกันเสีย 2 ชนิดคือ เมทิลพาราเบน (Methylparaben) และโพรพิลพราราเบน (Propylparaben) ด้วย สำหรับ สารโคลเบทาซอล โพรพิโอเนตเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง สารดังกล่าวเป็นยาสเตียรอยด์ ใช้ทาภายนอกที่มีความแรงสูงสุด ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นผิวหนังที่ดื้อยาสเตียรอยด์ชนิดรุนแรงปานกลาง หรือใช้ในบริเวณผิวหนังที่หนา เช่นที่ขาหรือส้นเท้า สารชนิดนี้เมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ผิวหนังบางลง เกิดจ้ำเลือดง่าย หรือมีรอยแตกที่ผิวหนัง     ระวัง!!!ใช้สมุนไพรขัดหน้า การใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขัดหน้า ขัดตัว หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่า ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในระดับสูงจนน่าตกใจ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. โดยนักวิจัยของศูนย์ฉายรังสี ได้ทำการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นทางจุลชีววิทยาในวัตถุดิบสมุนไพรและส่วนผสม ชนิดอื่น ๆ ที่มักใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอางสมุนไพรไทยจำนวน 10 ชนิด ได้แก่ ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านนางคำ ทานาคา กวาวเครือ จันทน์หอม เปลือกมังคุด ดินสอพอง และจันทน์เทศแดง โดยพบว่าในวัตถุดิบทั้ง 10 ชนิด มีจำนวนแบคทีเรียทั้งหมดในระดับที่สูงมาก คือ 1,000-1,000,000 โคโลนีต่อกรัม ทั้ง ๆ ที่ค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดคือ ต้องมีไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัม  และพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Clostridium spp. ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคบาดทะยัก ในวัตถุดิบ 4 ชนิด คือ ไพล  ทานาคา กวาวเครือ และ ดินสอพอง นอกจากนี้ยังได้สุ่มตรวจเครื่องสำอางสมุนไพรไทยที่สามารถหาซื้อตามตลาดทั่วไป ได้แก่ ครีมโคลนสมุนไพรพอกตัว จำนวน 12 ตัวอย่าง พบว่ามีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 41.67) แป้งสมุนไพรพอกหน้าและขัดตัวจำนวน 40 ตัวอย่าง พบว่ามีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 27 ตัวอย่าง (ร้อยละ 67.5)  และพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Clostridium spp. ถึง 22 ตัวอย่าง (ร้อยละ 55) ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด     ทุกข์ของผู้ป่วย การรักษาไม่ได้มาตรฐาน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลร้องเรียนด้านสุขภาพปี 2555 – 2556 พบว่ามีเรื่องร้องเรียนจากทุกสิทธิการรักษาคือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และกลุ่มที่จ่ายเงินเอง ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิก รวมทั้งหมด 38 เรื่อง ปัญหาที่พบมากที่สุด คือเรื่องมาตรฐานการรักษา 18 เรื่อง เช่น ผิดพลาดในการรักษา การผ่าตัด ทำให้แผลติดเชื้อ แพทย์จ่ายยาผิด เข้ารักษาโรงพยาบาลตามสิทธิแต่แพทย์ตรวจไม่ละเอียดให้แต่ยาแก้ปวด จ่ายยาให้ยาไม่ตรงชื่อหน้าซอง ทำให้คนไข้เกิดอาการการแพ้ยา ซึ่งมีอยู่กรณีหนึ่งแพทย์ถึงขั้นลืมผ้าก๊อตไว้ในช่องคลอดหลังทำคลอดให้กับคนไข้ ตามมาด้วยปัญหามาตรฐานการบริการ 9 เรื่อง เช่น เจ้าหน้าที่ไม่บริการ พูดจาไม่สุภาพ ไม่เอาใจใส่ผู้ป่วย  นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องระบบส่งต่อผู้ป่วย ระบบการใช้สิทธิ และปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องค่ารักษาพยาบาลแพง กรณีการให้การช่วยเหลือที่ล่าช้า พบว่าเกิดจาก การขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการอ่านเวชระเบียน ร่วมทั้งหน่วยงานภาครัฐล่าช้ากรณีส่งต่อเรื่องร้องเรียน แล้วไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายบางรายทำได้ลำบาก ล่าช้า และผู้เสียหายยังติดปัญหาเรื่องการขอเวชระเบียน ที่สำคัญคือผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหายยังไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน     7 วิธีปิ้งย่างลดเสี่ยงมะเร็ง พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล นักวิชาการโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง” เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำ 7 ข้อควรทำสำหรับคนที่ชอบกินอาหารปิ้งย่าง 1.เลือกสถานที่ปิ้งย่างที่มีอากาศถ่ายเทดี เพราะควันจากอาหารก็ส่งผลต่อร่างกายได้ 2. เน้นเนื้อสัตว์ประเภทปลา หรือไก่ไม่ติดหนัง ซึ่งมีปริมาณไขมันน้อยกว่า 3. เลี่ยงการรับประทานเนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน ไส้กรอกอีสาน เพราะมีไขมันและโซเดียมสูง 4. อย่าใช้ไฟแรงเกิน หรือปิ้งจนเกรียม หมั่นทำความสะอาดคราบเขม่าและรอยไหม้ต่างๆ ที่ติดอยู่บริเวณตะแกรง 5. หมักเนื้อด้วยน้ำมะนาว สะระแหน่ มินต์ โรสแมรี จะช่วยลดการเกิดของสารก่อมะเร็งในกลุ่มเอมีนส์ 6. ตัดเนื้อส่วนที่มีมันออกก่อนนำไปปิ้งย่าง หรืออบให้สุกนิดหน่อยก่อนเพื่อลดเวลาปิ้ง และ 7. เน้นกินผักสดๆ ควบคู่ด้วยเสมอ และเลือกดื่มน้ำเปล่า แทนน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเพิ่มปริมาณแคลอรีที่เกินความต้องการของร่างกาย อนึ่ง การรับประทานอาหารปิ้งย่างประจำจะมีผลกระตุ้น เซลล์มะเร็ง คือ สารในกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons หรือ PAH) ซึ่งพบในควันที่เกิดจากไขมันสัตว์ที่โดนความร้อนสูง โดยพบว่ามีความสามารถในการก่อมะเร็งได้ไม่แพ้ควันบุหรี่ และสารในกลุ่มเอมีนส์ (Heteocyclic amines) ที่พบมากในเนื้อแดงที่ถูกความร้อนสูง มีงานวิจัยหลายแหล่งระบุว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง //

อ่านเพิ่มเติม >