ฉบับที่ 227 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2563

สมอ.ปรับแก้มาตรฐานคุมสารทาเลตในของเล่นเด็ก        สมอ. แก้ไขมาตรฐานของเล่น เพิ่มการตรวจหาสารทาเลตและคุมเข้มปริมาณสารโลหะหนัก พร้อมเตรียมกำหนดมาตรฐานเพิ่มอีก เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก         นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการปรับแก้ไขมาตรฐานของเล่นให้มีความทันสมัย ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน  เพื่อป้องกันอันตราย หรือผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่น รวมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของเล่นของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากปัจจุบันของเล่นเด็กมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำ ทั้งนี้ มาตรฐานของเล่น มอก. 685-2540 ได้ปรับแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เช่น เพิ่มการตรวจสอบหาสารทาเลตซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติกในกลุ่มพีวีซีเพื่อให้เนื้อพลาสติกมีความอ่อนตัว สมอ.ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายตามมาตรฐานสากล ซึ่งเดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้ โดยมีเกณฑ์ควบคุมปริมาณของสารทาเลตสำหรับของเล่นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบและของเล่นที่สามารถนำเข้าปากได้ ต้องไม่เกิน 0.1% โดยมวล และแก้ไขการตรวจหาสารโลหะหนัก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเล่นที่มีการสัมผัสโดยตรงให้เข้มข้นขึ้น เช่น ฟิงเกอร์เพนต์ ซึ่งเป็นสีน้ำที่เด็กใช้มือสัมผัสโดยตรง ปริมาณสารตะกั่วต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องไม่เกิน 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือสารหนูต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมกำหนดเกณฑ์สูงสุดมีได้ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้เห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ประมาณต้นปี 2563          นักวิจัย มช. พบการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม         รศ.ดร.ภญ.บุษบัน ศิริธัญญาลักษณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการผลของยาปฏิชีวนะต่อการตกค้างในผลิตภัณฑ์จากส้มเขียวหวานสำหรับการผลิตอย่างแม่นยำ ลุ่มน้ำฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งติดตามปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลินของเกษตรกรสวนส้มเขียวหวาน โดยเกษตรกรใช้เพื่อแก้ปัญหาโรครากโคนเน่า ทั้งนี้แอมพิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในคน แต่เกษตรกรจะหาซื้อตามร้านขายยาในรูปแบบแคปซูล และนำมาผสมน้ำฉีดพ่นเพื่อป้องกันแบคทีเรียในต้นส้ม          โดยผลการศึกษาในสวนส้ม 3 แห่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบว่า ยังคงตรวจพบปริมาณสารปฏิชีวนะในลำต้นส้มในช่วง 90 วัน หลังฉีดสารปฏิชีวนะ ซึ่งแม้ว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลส้มในปริมาณที่ถือว่าน้อยมาก แต่แสดงให้เห็นว่ามีการตกค้างอยู่ในผลส้มจริง นอกจากนี้ยังพบว่า สวนส้มที่ใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นเวลานานมีความหลากหลายของเชื้อแบคทีเรียในดินน้อยมาก และยังพบเชื้อดื้อสารปฏิชีวนะในปริมาณสูงอีกด้วย         ข่าวปลอม ซึมเศร้า NCD เรื่องน่าห่วงสุขภาพคนไทย         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวที Thaihealth Watch จับตาประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งประเด็นที่น่าจับตาในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภัยคุกคามทางออนไลน์ อุบัติเหตุทางคมนาคม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์        โดยพบว่าสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเครียดเป็นอันดับ 1 มาจากปัญหาครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ส่วนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์มาก ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งและเป็นผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์ถึง 3 เท่า ส่วนปัญหาอุบัติเหตุทางคมนาคม พบว่ากลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มใส่หมวกกันน็อกลดลง และพบการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเยาวชนจากมอเตอร์ไซค์ และแม้อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นลดลง แต่อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน         สำหรับประเด็นพฤติกรรมสุขภาพที่น่าเป็นห่วงในกลุ่มวัยทำงาน คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน หรือ โรคในกลุ่ม NCDs เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด จากผลการสำรวจพบว่ากลุ่มคนวัยทำงานเน้นการบริโภคอาหารรสจัด และเน้นที่รูปลักษณ์ ขณะที่เด็ก คนโสด คนทำงานบริษัทกินผักน้อยที่สุด         นอกจากนี้ยังพบ ปัญหาข่าวปลอม หรือ fake news เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพที่มีการแชร์กันมาก เช่น อังกาบหนูรักษามะเร็ง, น้ำมันกัญชารักษามะเร็ง, หนานเฉาเว่ยสารพัดโรค, บัตรพลังงานรักษาสารพัดโรค และปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงปัญหาขยะอาหาร หรือ อาหารส่วนเกินอีกด้วย          ธปท. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ด้วยมาตรการปรับ “ดอกเบี้ย - ค่าธรรมเนียม”                ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบนโยบายให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 3 เรื่อง ได้แก่          1) ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ จากเดิมที่คิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน และให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน          2) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยกำหนดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น โดยให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด รวมถึงให้ชี้แจงแสดงรายละเอียดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ หรือ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ชัดเจน          3) ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรให้ผู้ใช้บริการ และการให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน หรือให้พิจารณาจัดเก็บตามความเหมาะสม        นอกจากนี้ ธปท.ยังขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 4 เรื่องไปปรับใช้ ได้แก่ 1) สะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 2) คำนึงถึงความสามารถในการชำระและไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร 3) ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ 4) เปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน              มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นเรื่อง กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ตรวสอบการต่อสัมปทานทางด่วนให้ BEM         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการต่ออายุสัญญาสัมปทานระยะที่ 2 ของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)  ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)         โดยมูลนิธิฯ และเครือข่ายฯ ได้ให้เหตุผลว่า การต่ออายุสัมปทานดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 2 แสนล้านบาท และอาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเสียประโยชน์โดยการจ่ายค่าผ่านทางแพงขึ้นจนถึงปี 2578 อีกทั้งยังพบว่า กระบวนการต่ออายุสัมปทานมีการอ้างอิงมูลค่าความเสียหายจากคดีที่ยังไม่มีการฟ้องร้องขึ้นจริงมาคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ของเด็กเล่นต้องปลอดภัย

ของ “เด็ก” เล่น        ของเล่น ในความเข้าใจของคนทั่วไปคือ สิ่งของที่มีไว้สำหรับ “เล่น” ของเด็ก เพื่อให้สนุกและเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงนัก เพราะ ”ของเล่น” นั้น คนทุกวัยสามารถสนุกและเพลิดเพลินได้ ซึ่งมนุษย์รู้จักนำสิ่งของทั่วไปจากธรรมชาติหรือประดิษฐสิ่งของขึ้นเพื่อเล่นมาตั้งแต่อดีตกาล มีหลักฐานสืบค้นได้จากวัฒนธรรมเก่าแก่โบราณคือ ว่าว ลูกดิ่ง(โยโย่) ลูกบอล เป็นต้น         อย่างไรก็ตามการเล่นสิ่งของของเด็กมีความพิเศษต่างไปจากวัยอื่น เพราะของเล่นถือเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสุขและพัฒนาการในด้านต่างๆ สำหรับเด็กด้วย  โดยพื้นฐานแล้วของเล่นทุกประเภทนั้นมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายที่ดี ของเล่นที่ต้องใช้กำลังและการเคลื่อนไหวของร่างกาย สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้แข็งแรงเพื่อช่วยควบคุมการทรงตัวและรองรับการเติบโตของร่างกายในแต่ละช่วงวัย ขณะที่การเล่นของเล่นที่ใช้การสัมผัสหยิบจับและอาศัยนิ้วมือในการควบคุม เช่น การปั้นดินน้ำมัน การเล่นตัวต่อประเภทต่างๆ สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กที่ช่วยควบคุมนิ้วมือให้ทำงานที่มีความละเอียดอย่างการวาดรูป เขียนหนังสือ ได้เป็นอย่างดี ส่วนในด้านของพัฒนาการทางสติปัญญา ของเล่นช่วยให้เด็กเพิ่มความสามารถในการคิด การวางแผน การวางลำดับขั้นตอน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งยังเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ด้วย         ของเล่นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งประดิษฐเสมอไป แค่กิ่งไม้ ดิน ทราย กระดาษ ก็เป็นของที่เด็กนำมาเล่นได้ แต่สำหรับโลกปัจจุบันของเล่นในรูปแบบสิ่งประดิษฐนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งผลิตและจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีทั้งสินค้าของเล่นที่ผลิตในประเทศและสินค้าของเล่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีความรู้และความใส่ใจในการเลือกซื้อของเล่นให้ลูกได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากของเล่นได้ง่ายและรุนแรงถึงขนาดก่อผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวหรือถึงแก่ชีวิตได้  ในเกือบทุกประเทศของเล่นจึงเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมด้วย กฎ ระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าในระดับสูง ในส่วนของประเทศไทย “ของเล่น” สำหรับเด็ก ถือเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมมาตรฐานโดยกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กๆ ได้รับความปลอดภัยและรอดพ้นจากอันตรายเมื่อเล่นของเล่นทำไมไทยจึงยังมีปัญหาจากของเล่นไม่ได้มาตรฐาน        แม้มีการกำหนดให้ของเล่นเป็นสินค้าที่ต้องมีตรา มอก.หรือมาตรฐานบังคับ แต่เมื่อพิจารณาจากข่าวสารและงานวิจัยหลายฉบับพบว่า ยังคงมีสินค้าของเล่นที่ไม่ได้มาตรฐานวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่        1.ผู้บริโภคนิยมซื้อของเล่นที่วางจำหน่ายในตลาดที่เน้นราคาถูก และนิยมของเล่นที่เป็นสินค้าเลียนแบบสินค้าลิขสิทธิ์(ของปลอม) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่มีสัญลักษณ์มาตรฐาน มอก. หรือมีตราสัญลักษณ์ที่ปลอมขึ้นมา สินค้าประเภทนี้มักพบในร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดทุกชิ้นราคาเดียว ซึ่งร้านค้าประเภทนี้มีการกระจายตัวไปทั่วประเทศในเกือบทุกชุมชน ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยากที่จะเข้าไปตรวจสอบและดำเนินคดีได้ทั่วถึง และยังรวมไปถึงร้านค้าที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายแต่ยากแก่การกำกับดูแล        2.ช่องโหว่ของกฎหมายในการตรวจสอบโรงงานผู้ผลิต เพราะ “ของเล่น” จำนวนมากในตลาดไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นของเล่นตามกฎหมาย ทำให้หน่วยงานที่กำกับดูแลไม่อาจเข้าไปดำเนินการตรวจสอบได้นิยาม “ของเล่น” ตาม มอก.685-2540 คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ใช้เล่น        ของเล่นโดยนิยามนี้คือ “ผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบให้เด็กเล่น” และ “เด็กหมายถึงผู้มีอายุไม่เกิน 14 ปี” ดังนั้นหากเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไม่แสดงเจตนาว่าเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภควัยใด สินค้านั้นจะไม่จัดเป็นของเล่นตามนิยามนี้ แต่ในส่วนของการวางจำหน่าย ส่วนใหญ่ผู้ขายจะจงใจนำสินค้าที่ไม่เข้านิยามของเล่นไปจำหน่ายให้แก่เด็ก เช่น การวางขายปะปนในชั้นวางของเล่น หรือจำหน่ายในร้านที่ขายเฉพาะของเล่นที่มีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย        3.การขาดระบบการตรวจสอบหลังการวางจำหน่าย การกำหนดให้ของเล่นได้มาตรฐาน มอก. ทำให้ผู้ผลิตของเล่นสำหรับเด็กตามนิยามกฎหมายต้องผลิตให้ได้มาตรฐาน โดยจะมีการตรวจสอบโรงงานและนำสินค้าไปทดสอบก่อนได้รับมาตรฐานและวางจำหน่าย เช่นเดียวกันกับการนำเข้าเจ้าหน้าที่จะตรวจดูเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและเก็บตัวอย่างไปทดสอบกับหน่วยตรวจ จึงจะได้รับใบอนุญาต แต่เมื่อได้รับการอนุญาตแล้ว กฎหมายมิได้กำหนดอายุของใบอนุญาต ทำให้ภายหลังจากการได้รับอนุญาตของเล่นเด็กหรือการนำเข้าของเล่นเด็กแล้ว ของเล่นที่ได้รับการอนุญาตจะไม่ได้รับการติดตามตรวจสอบควบคุมคุณภาพอย่างเหมาะสม         แม้กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีการติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตรามาตรฐานบังคับ แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายฉบับนี้มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจำนวนมากที่อยู่ในการกำกับดูแลความปลอดภัย  ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก็ต่อเมื่อได้รับการร้องเรียนหรือเมื่อพบว่าความเป็นอันตรายของสินค้าได้เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจเอง กฎหมายมิได้กำหนดหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบของเล่นเด็กที่วางจำหน่ายในท้องตลาดแต่อย่างใด        4.ข้อกำหนดสำหรับการกำกับดูแลความปลอดภัยในของเล่นในระดับสากลมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น ในขณะที่มาตรการกำกับดูแลของไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มากและไม่ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เช่น ยังมิได้กำหนดห้ามสารในกลุ่มทาเลต(Phthalates) นำมาเป็นส่วนประกอบในของเล่นเด็ก ซึ่งในมาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับของเล่นเด็กอย่าง EN 71 (มาตรฐานสหภาพยุโรป) และ ASTM F 963 (มาตรฐานสหรัฐอเมริกา) ได้กำหนดห้ามไว้นานแล้วข้อมูลนลินี ศรีพวงและคณะ. การศึกษาวิจัยพิษและอันตรายในของเล่นเด็กและมาตรการความปลอดภัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2551. “มาตรการทางกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในของเล่นเด็ก” ศรารัตน์ อิศราภรณ์.วารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม - ธันวาคม 2561)“มหาภัยของเด็กเล่น” http://www.csip.org/csip/autopage/show_page.php?h=119&s_id=30&d_id=24&page=1&start=1“วันเด็กกับสถานการณ์อันตรายของเล่นในประเทศไทย” http://www.csip.org/csip/autopage/print.php?h=119&s_id=153&d_id=153&page=1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ผลทดสอบสารทาเลตในของเล่น/ ของใช้พลาสติก

ทาเลต (Phthalates) เป็นกลุ่มของสารที่ใช้ผสมในพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ลดความหนืด โดยทำให้เกิดความอ่อนนิ่มมากขึ้น ทาเลตไม่มีพันธะเคมีที่เชื่อมต่อกับพีวีซี จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์พีวีซีไปเกาะติดกับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ โดยเฉพาะของเล่นเด็กและของใช้พลาสติกที่อาจมีส่วนประกอบของทาเลต เมื่อเด็กใช้มือหยิบจับสัมผัสของเล่นของใช้ ก็อาจได้รับสารทาเลตได้        ทาเลตบางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์ต้านแอนโดรเจน ซึ่งขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย ทาเลตบางชนิดจึงมีข้อจำกัดในของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่นในสหรัฐอเมริกาได้ประกาศระเบียบภายใต้กฎหมาย PUBLIC LAW 110-314 มาตรา 108 เพื่อควบคุมปริมาณทาเลตในของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ให้มีทาเลตได้ไม่เกินร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนัก ซึ่งในสหภาพยุโรปและแคนาดาก็มีการออกกฎหมายควบคุมเช่นกัน         เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมปริมาณทาเลตในสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กอย่างชัดเจน ด้วยเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สุ่มเก็บตัวอย่างของเล่นเด็ก ของคล้ายของเล่นที่เด็กอาจนำมาเป็นของเล่น และของใช้ประเภทพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) จากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ท้องตลาด และบริเวณหน้าโรงเรียน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในเว็บไซต์ห้างออนไลน์ ซึ่งมีคุณลักษณะผิวสัมผัสนิ่ม สามารถกด ยืด หรืองอได้ จำนวน 51 ตัวอย่าง ในเดือนพฤษภาคม 2562 ส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อนุพันธ์ทาเลตทั้งหมด 6 ชนิด (ที่สกัดได้จากพลาสติก ยาง และสารเคลือบ ในบริเวณหรือส่วนที่สัมผัสถึง) ได้แก่         1) บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต  bis-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP)         2) ไดนอร์มอลบิลทิลทาเลต  di-n-butyl phthalate (DBP)           3) เบนซิลบิวทิลทาเลต  Benzyl butyl phthalate (BBP)          4) ไดไอโซโนนิลทาเลต  di-iso-nonyl phthalate (DINP)          5) ไดไอโซเดซิลทาเลต  di-iso-decyl phthalate (DIDP)         และ 6) ไดนอร์มอลออกทิลทาเลต  di-n-octyl phthalate (DNOP)          เพื่อเปรียบเทียบกับข้อกำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับทาเลตในของเล่นของสหภาพยุโรป และมาตรฐานอุตสาหกรรม (ฉบับร่าง)โดยเกณฑ์กำหนดสูงสุดของปริมาณรวมของอนุพันธ์ทาเลตในตัวอย่างของเล่น แสดงดังตารางต่อไปนี้ซึ่งผลทดสอบปริมาณอนุพันธ์ทาเลตทั้ง 7 ชนิด จากตัวอย่างของเล่น/ของใช้  แสดงดังตารางต่อไปนี้ตารางแสดงผลทดสอบปริมาณอนุพันธ์ทาเลต จากตัวอย่างของเล่น/ของใช้ ทั้งหมด 51 ตัวอย่างสรุปผลการสำรวจ        ผลการตรวจของเล่น/ของใช้ จำนวนทั้งหมด 51 ตัวอย่าง พบสารทาเลต (phthalates) เกินกว่าค่ามาตรฐานสากล จำนวน 18 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 35.29 โดยชนิดของอนุพันธ์ทาเลตที่ตรวจพบมากที่สุด คือ บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต  bis-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP)แผนภูมิผลการทดสอบปริมาณทาเลตในตัวอย่างของเล่น/ ของใช้ 51 ตัวอย่าง        และยังพบว่า ของเล่นที่ตรวจพบค่าทาเลตรวมสูงสุด 3 อันดับแรก เป็นของเล่นประเภทตุ๊กตาบีบได้ รูปสัตว์ชนิดต่างๆ ได้แก่        1)  ยางบีบหมู จาก ตลาดบางพลัด (หน้าเมเจอร์ปิ่นเกล้า) ตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  37.86 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ (ต้องไม่เกิน 0.1) ประมาณ 378 เท่า         2)  แรคคูณสีเหลือง จาก ร้านค้าเช่น ชั้น 2 ห้างเซ็นจูรี่ฯ อนุสาวรีย์ชัยฯตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  36.42 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล)                 และ 3)  พะยูนสีเขียว จาก ร้านค้าเช่าขายของเล่น แฟลตคลองจั่น ตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  35.739 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล)         โดยผลทดสอบจากตัวอย่างของเล่น/ของใช้ที่สุ่มซื้อจากห้างสรรพสินค้า จำนวน 20 ตัวอย่าง พบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 45         ส่วนตัวอย่างของเล่น/ของใช้ที่สุ่มซื้อนอกห้างสรรพสินค้า จำนวน 25 ตัวอย่าง พบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 36        ทั้งนี้ จากการสังเกตสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. พบว่า        ตัวอย่างของเล่น/ของใช้ ที่สุ่มเก็บทั้งหมด 45 ตัวอย่าง (ไม่รวมของเล่นที่สั่งซื้อออนไลน์ 6 ตัวอย่าง) มีสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. 19 ตัวอย่าง และ ไม่มีเครื่องหมาย 32 ตัวอย่าง        ซึ่งของเล่น/ของใช้ที่มี มอก. 19 ตัวอย่างข้างต้น ตรวจพบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 36.84        ส่วนที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. 26 ตัวอย่าง ตรวจพบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 11 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 42         และตัวอย่างของเล่นที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ ทั้งหมด 6 ตัวอย่าง จากร้านค้าในเว็บไซต์ Shopee และ Lazada เป็นของเล่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีคำอธิบายภาษาไทย ไม่มีสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. ซึ่งไม่พบสารทาเลตสูงเกินค่ามาตรฐานสากล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 “เรื่องของเด็ก ที่ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว โดยสภามหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี เล่าว่าสาเหตุที่เลือกเรียนด้านกุมารเวชศาสตร์นั้น เพราะมองว่าปัญหาสุขภาพเด็ก นอกจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพแล้ว หากมองลึกลงไป ยังมีเรื่องนโยบายอยู่เบื้องหลังด้วย เช่น ปัญหาทารกน้ำหนักตัวน้อย สาเหตุหนึ่งมาจากการที่มารดาได้รับโภชนาการที่ไม่ดี และหากวิเคราะห์กันให้ลึกลงไปถึงสาเหตุว่าทำไมมารดาจึงไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ สาเหตุที่แท้จริงก็มาจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม  จึงทำให้ไม่มีเงินซื้ออาหารที่มีประโยชน์ ทุกสิ่งเป็นเหตุและผล จากวันนั้นมาจนวันนี้ เรื่องราวของเด็กน้อย จึงไม่ใช่เรื่องของเด็กอีกต่อไปเพราะ มันส่งผลถึงอนาคตของประเทศด้วย อาจารย์อดิศักดิ์ เล่าภาพรวมปัญหาเด็กกับการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเราว่า ในศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็กนี้ ทำ 5 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1) อุบัติเหตุ แบ่งเป็นเรื่องย่อยอีก เช่น จมน้ำ จราจรทางถนน  ความร้อน ฯลฯ 2) ความรุนแรง การทำร้ายเด็ก 3) มลพิษ มลพิษจากทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ จากภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย 4) ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ 5) ภัยจากข้าวของเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ อยู่ในกลุ่มการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งภัยจากข้าวของเครื่องใช้ถือเป็น 1 ใน 5 กลุ่มงานที่เราทำที่นี่ เน้นที่เป็น ข้าวของเครื่องใช้ของเด็ก ของเล่นเด็ก ซึ่งมีหลายตัว โดย “ของเล่น” เรามีทำวิจัยไปหลายชนิด ทำตั้งแต่ทางด้านกายภาพ ด้านเคมี โดยการไปตรวจสอบ(ทดสอบ) ของเล่นแล้วดูว่ามีอันตรายไหม เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือเปล่า เพราะมาตรฐานอุตสาหกรรมของเล่นนี้เป็นมาตรฐานบังคับ เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่เราเริ่มจับประเด็นนี้ เราพบว่า ของเล่นส่วนหนึ่ง ซึ่งมีสัดส่วนสูงทีเดียวที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน และทางด้านกายภาพก็อาจจะมีอันตราย เช่น มีความแหลมคม มีช่องรูที่อาจจะไม่เหมาะสม ด้านเคมีก็ตรวจพบเจอสารตะกั่วในค่าที่สูงมาก ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องมีการแถลงข่าว มีการประชุมร่วมกันของเครือข่าย ทั้งด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทาง สคบ. กระทรวงอุตสาหกรรม มอก. ทั้งหลาย รวมทั้งอีกหลายภาคส่วนของภาครัฐ สมัยก่อน การแถลงข่าวก็ยังมีความเกรงใจกันว่าจะแถลงข่าวอย่างไรเกรงใจผู้ผลิตอาจจะไปโดนผู้ผลิตหลายรายเช่นกัน ไม่รู้ที่มาที่ไปของสินค้า เช่น ไม่รู้ว่ามีการผ่าน มอก. แล้ว แต่มาเปลี่ยนวัตถุดิบทีหลัง ทำให้มาเปลี่ยนโครงสร้างทีหลังแต่ไปยึดเอา มอก. เดิมมาใช้ ทำให้มันผิดไปจากมาตรฐานการส่งตรวจตั้งแต่แรก หรือว่าเป็นเพราะมีการนำเข้าของที่มันไม่อยู่ในการตรวจตั้งแต่แรก โดยที่ตอนแรกนำเข้ามาแบบหนึ่ง ตอนหลังเป็นการนำเข้าแบบอื่นๆ โดยใช้การตรวจผ่านในกลุ่มเดียวกัน อย่างเช่น กลุ่มพลาสติกทั่วไป แต่แบบของเล่นเปลี่ยนไปหมดเลย ทั้งที่ตัวเองได้ผ่านในกลุ่มพลาสติกทั่วไปในของเล่นลักษณะหนึ่ง  แต่ผลิตในรุ่นหลังๆ เปลี่ยนลักษณะไปหมด แต่ยังเอาตัว มอก. เดิมมาปะบนฉลากเลย หรือบางบริษัทไม่มีเลยตั้งแต่แรก ไม่เคยมาขออนุญาตเลยทำให้ไม่รู้ที่มาที่ไป สุดท้ายในคราวนั้นมีการนำเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นคือท่านไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งท่านมีการแถลงเอง โดยท่านยกของเล่นทั้งหมดที่เราตรวจสอบมาแถลง นั่นเป็นครั้งแรกที่มีการทำวิจัยเรื่องของเล่นกัน ผลการแถลงครั้งนั้นต่อมา “ของเล่น” ก็มีการปรับปรุง มีการไปตรวจสอบตลาดซ้ำ ก็มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น   แสดงว่ามาตรฐานของเล่นดีขึ้นแล้วตอนนี้             ก็ดีขึ้น แต่ “ของเล่น” ก็มีปัญหาอีกหลายเรื่อง อย่างตอนเจอของเล่นแปลกๆ ทีมก็ลองไปเช็คดู เช่น ปืนอัดลมที่มีกระสุนเม็ดพลาสติกเม็ดสีเหลืองๆ กลมๆ เล็กๆ กระบอกละ 50 - 60 บาท ปรากฏว่า ความเร็ว (ของกระสุนที่ยิงออกไป) ก็เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด แต่พอได้ตรวจสอบเข้าจริง พวกนี้จะไม่ใช่ของเล่นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมถือว่า ไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นสิ่งเทียมอาวุธ แล้วในกลุ่มนี้มีอะไรอีกบ้าง ปรากฎว่า ปืนฉีดน้ำก็ไม่ใช่ของเล่นนะ ปืนอัดลมก็ไม่ใช่ของเล่น ตัวดูดขยายก็ไม่ใช่ของเล่น พวกของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ใส่น้ำยาเคมีลงไปเกิดฟองฟู่ขึ้นมาคล้ายเป็นภูเขาไฟ ถ้าอันนี้ถือเป็นของเล่นเพื่อการศึกษา ซึ่งไม่เกี่ยวกับ “ของเล่น” ตามนิยามกฎหมาย แต่เป็นอุปกรณ์การศึกษา บางทีผู้ผลิต “ของเล่น” ก็อาจไปให้นิยามตัวเองว่า เป็นของประดับ เช่น ตุ๊กตาบางอย่าง ไปลงฉลากว่า เป็นของฝากของประดับแล้วก็หลบหลีกจากนิยามของเล่นกันหมด ดังนั้นจึงพบว่าของเล่นอีกหลายประเภทก็ใช้วิธีการนิยามว่า ไม่ใช่ของเล่น แต่เวลาไปวางขายกลับไปอยู่ในชั้นของเล่นวางขายเต็มไปหมด เครื่องบินที่บอกตั้งโชว์ ก็ไปวางไว้ในชั้นของเล่น และพวกนี้ก็มีอันตรายไม่ได้ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ทีมวิจัยจึงเกิดอีกบทบาทหนึ่งขึ้น คือทำงานร่วมกับ สคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ทำในเรื่องของสินค้าที่ไม่เข้ากับกฎหมายใด (ไม่มีหน่วยงานเฉพาะเจาะจง) สินค้าแบบนี้เป็นหน้าที่ของ สคบ.ที่จะไปจัดการทั้งหมด เช่น มีประกาศของเล่นตัวยืดขยาย ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ที่เป็นน้ำยาเคมีที่เป่า ปืนฉีดน้ำที่เป็นท่อกระบอกพีวีซี เหล่านี้ ก็เป็นของที่หลุดมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม หลุดจากนิยามของเล่นจากกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วมาถูกจัดการด้วยประกาศสินค้าที่เป็นอันตรายของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในเวลาต่อมา   ทางศูนย์วิจัยยังทำเรื่องกระเป๋านักเรียนอยู่ไหมคะ           กระเป๋านักเรียนเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเลย เพราะว่าเราเห็นเด็กๆ แบกกันอุตลุด ตอนก่อนโน้นก็ไปดูมาตรฐานการแบกของ แม้แต่ของผู้ใหญ่เองในการประกอบอาชีพ ก็จะมีมาตรฐานกำหนดอยู่ ในของเด็กเองเมื่อมาเทียบเคียงแล้วก็มีในหลายประเทศที่เขาห้ามการแบกของหนัก ซึ่งในบ้านเราตอนนั้นทีมไปวิจัยกันมา มีการแบกกันหนักมาก จากค่ามาตรฐานของหลายประเทศจะยึดถือที่ค่าอยู่ระหว่าง 10 – 20 % ของน้ำหนักตัว เรายึดค่ากลาง คือที่ประมาณ 15% ของน้ำหนักตัว จะให้ดีต้องต่ำกว่า 10% รุนแรง/ร้ายแรงถ้าเกิน 20% เราก็ไปยึดที่ค่า 15% ของน้ำหนักตัว พอลองไปชั่งน้ำหนักกระเป๋าบวกถุงศิลปะบวกปิ่นโตอาหารของเด็กที่แบกมา โรงเรียน พบว่า ถ้าเป็นเด็ก ป.2 นะ ป.1 ยังไม่เท่าไหร่ ป.5 – ป.6 ก็ยังไม่เท่าไหร่ หนักสุดก็พวก ป.2, ป.3, ป.4 พวกนี้เป้จะมีน้ำหนักมาก มากกว่าครึ่งหนึ่งที่แบกของเกินกว่าร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว       ตอนนั้นมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนะ มหาวิทยาลัยหอการค้าด้วย ก็ไปทำการวิจัยกันต่ออีก ต่างคนต่างทำแต่ก็เอาข้อมูลมาดูๆ กัน แลกเปลี่ยนกัน ก็จะเจอปัญหาคล้ายๆ กันทั้งหมดว่า แบกเกิน ประกอบกับทางวิศวกรรมจุฬา สาขาวิศวกรรมอุตสาหการก็มีความสนใจในเรื่องนี้ด้วย อ.ไพโรจน์ ก็ส่งนักศึกษามาทำวิทยานิพนธ์ร่วมกับศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็ก รวมกับอีกหลายชิ้นงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการแบกกระเป๋าแล้วทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด ต่อมาค่าแรงที่เด็กทนได้(การรับน้ำหนัก) ต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงข้อแนะนำ เช่น ร้อยละของน้ำหนักตัวจะไม่เหมาะสมในกรณี เด็กมีน้ำหนักมาก คำนวณไปแล้วมีโอกาสแบกกระเป๋าได้เยอะมาก มันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น วัดจากค่าแรงแล้วมีการปรับเปลี่ยน ยึดเอาอายุ อายุก็ไปแปลงเป็นชั้นปี เช่น ป.1 ป.2 fix ที่น้ำหนักค่าหนึ่ง ป.3 ป.4 fix ที่น้ำหนักค่าหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น เกิดเป็นคำแนะนำขึ้นมา เกิดการผลักดันมาตรการการเฝ้าระวังของโรงเรียนขึ้น เช่น คุณครูชั่งน้ำหนักกระเป๋าของเด็กอย่างสม่ำเสมอ มี record บันทึกไว้ และมีมาตรการการลดน้ำหนักของเป้หรือกระเป๋า โดยของใช้บางอย่าง สามารถเก็บของไว้ใต้โต๊ะได้ มีตู้เก็บของ เก็บเอกสาร อย่างนี้เป็นต้น มีข้อแนะนำให้สำหรับผู้ปกครองด้วย ว่าให้ช่วยจัดกระเป๋าให้ลูก เพราะหลายคนแบกเพราะว่าไม่จัดตารางสอน อย่างนี้เป็นต้น มีการดีไซน์กระเป๋าให้เหมาะสมในการแยกเป็นช่องเล็กช่องน้อย แล้วก็ในการวางของให้กระจายออกตามช่องต่างๆ เพื่อกระจายน้ำหนักออกไป ไม่ถ่วงอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง มีข้อแนะนำการแบกกระเป๋า เช่น กระเป๋าจะต้องแบกด้วยสะพายสองสายเสมอ ไม่สายเดียว มีสายรัดเอวเพื่อให้ช่วงล่างที่เป็นช่วงที่น้ำหนักถ่วงอยู่นั้นแนบติดกับลำตัว และช่วงล่างสุดไม่ต่ำกว่าบั้นเอวของเด็กลงไป จะช่วยให้อาการการปวดหลัง การเกิดกระดูกสันหลังคดงอในขณะแบกกระเป๋าลดน้อยลง ยังมีความพยายามที่จะออกเป็นมาตรการที่ชัดเจน มีการประชุมที่สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปรากฎว่า หลังการประชุมมีการเชิญผู้ใหญ่มาเยอะนะ แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบ เรื่องการแบกกระเป๋าหนักๆ นี้ สามารถที่จะสานต่อให้เป็นชิ้นเป็นอันได้มากขึ้น อยากให้มีคนรับรู้มากขึ้น ให้ขยายตัวมากขึ้นจะสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาการเรียนด้วย การแบกของหนักๆ มากๆ ก็ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการศึกษา   แล้วหากเปลี่ยนเป็นเรียนผ่านแทบเลต           แทบเลตนี่เคยมีการแจกกันตอน ป.1 ทั้งประเทศ ก็เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกัน แทบเลตก็เป็นสินค้า เป็น สินค้าที่พบว่า มีการละเมิดความปลอดภัยในเด็กและมีการส่งเสริมให้ใช้ถึงขนาดเป็นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ณ ห้องเรียนอิเลคโทรนิค มีคนพูดมากมาย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยี แต่เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่อยู่ภายใต้สินค้าชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีระดับของเศรษฐกิจที่สูง มีการประมูลถึงหมื่นๆ ล้านบาท สินค้าตัวแทบเลตเองมันจะวิ่งได้ก็ต้องมีแอปพลิเคชันที่อยู่ภายใต้อินเทอร์เน็ต ตัวอินเทอร์เน็ตก็ถือว่าเป็นสินค้าที่ซ่อนอยู่ในตัวแทบเลตหรือตัวโทรศัพท์มือถืออีกต่อหนึ่ง ถือว่าเป็นสินค้า 2 ชิ้น ที่ซ่อนเร้นกันอยู่ การกระตุ้นให้เด็กใช้บูรณาการด้านการศึกษาถือว่ามีประโยชน์มากมาย สามารถใช้ค้นคว้าหาความรู้ สร้างรูปแบบการศึกษาที่เป็นมัลติมีเดีย มีรูปมีเสียงที่กระตุ้นการศึกษาได้ แต่ขณะเดียวกัน โทษก็มากมายเช่นเดียวกัน การทำเช่นนี้ได้จะต้องยอมรับประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน และผู้ลงทุนก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อคุณรับผิดชอบต่อประโยชน์ เช่น เก็บเงินค่าอินเทอร์เน็ต 500 บาท ต่อ เด็ก 1 คน ทุกเดือนพ่อแม่ต้องจ่ายเพื่อรักษาสายอินเทอร์เน็ต ก็ควรต้องมีการแสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดโทษต่อเด็กด้วย แต่ปัจจุบันไม่เห็นตรงจุดนี้ ไม่มีการคิดเกี่ยวกับคนที่เอาข้อมูลมาใส่ เกี่ยวกับถนน(ช่องทาง) ที่สร้างไปให้ถึงตัวเด็ก เกี่ยวกับรถ(เนื้อหา) ที่วิ่งอยู่บนถนนปล่อยทุกอย่างให้ไปชนเด็กเอง แล้วก็เอากำไรอย่างเดียวไม่นึกถึงโทษที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นเลย ดังนั้นเด็กที่ได้แทบเลตฟรีจากรัฐบาล เสียค่าอินเทอร์เน็ตเอง ถ้าใครต่อไวไฟโรงเรียนก็รอดไปไม่ต้องเสีย แต่ถ้าใครต่ออินเทอร์เน็ตออนไลน์ด้วยก็ต้องจ่ายเอง ส่วนโรงเรียนเองก็ปล่อยไวไฟ แต่ซึ่งข้อมูลต่างๆ ไม่มีการกรอง เป็นอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใหญ่ไม่ใช่อินเทอร์เน็ตสำหรับเด็ก เด็ก 1 คนจึงสามารถที่จะเข้าไปดูภาพโป๊ด้วยการพิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว โดยเด็กอายุ 6 ปี ซึ่งคุณครูบอกให้ส่งการบ้านผ่านเฟซบุ๊ค ขณะเดียวกันกดอีกทีก็เป็น “ภาพโป๊แทน” แบบนี้ก็ได้ เล่นเกมส์ที่แบบเลือดสาด เรตติ้ง 13 – 18 ปี ให้เล่น เด็กก็เล่นได้หมด โซเชียลมีเดียที่คนอายุที่เขาเขียนไว้อยู่แล้วไม่ให้ 13 ปีเล่น ให้พ่อแม่มาลงทะเบียน เด็กก็เข้าได้หมด ตัวระบบไม่ได้ป้องกัน ทั้งหมดก็ยกให้เด็กป้องกันตัวเองหมด อยู่บนแทบเลตที่รัฐบาลเป็นคนแจก อยู่บนอินเทอร์เน็ตที่เด็กต้องจ่ายเงินเอง แล้วคนเก็บเงินไปบอกว่าไม่รับผิดชอบ ไม่เกี่ยวกับเขา เกี่ยวกับคนใส่ content เข้ามา ทีนี้พอมีการพูดถึงจะสร้างระบบเป็น single gateway เพื่อให้การควบคุมเป็นจริงได้มากขึ้นคนก็ร่วมกันถล่มทลายในเรื่องสิทธิ ซึ่งคนเหล่านั้นแน่นอนต้องเป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด ไม่มีเด็กคนไหนมาอ้างสิทธิเรื่อง single gateway แน่นอนเพราะยังไม่รู้เรื่องเลยว่ามันคืออะไรด้วยซ้ำไป แต่ว่าผลลัพธ์ก็คือ ผลเสียต่อตัวเด็กทั้งหมด อันนี้เป็นตัวอย่างของสินค้า “สองชิ้นซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียว”  ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยภาครัฐเอง แล้วก็ยกเว้นการลงทุน เช่น การทำ parental control การเซ็นสัญญาระหว่างพ่อแม่กับบริษัทอินเทอร์เน็ตกรณีที่จะส่งสายนี้เป็นสายของลูก  และบริษัทไม่ต้องลงทุนทำอะไร ถ้าเป็นสายของลูกจะทำให้เกิดการเซ็ตอินเทอร์เน็ตให้ได้ เช่น ฝ่าย parental control เป็น automatic ให้หรือว่าลงทุนทำ แอปพลิเคชัน parental control ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คัดกรองแอปพลิเคชันให้เกินอายุเด็กออกไปให้หมดให้ได้ ก่อนจะไปเก็บเงินเด็ก พวกนี้ก็ไม่ทำทั้งสิ้น แล้วก็ถูกยอมรับโดยสังคมว่า ถูกต้องแล้ว บริษัทแบบนี้ทำถูกต้องแล้ว ทำมากกว่านี้ไม่ถูกต้อง อย่างนี้ดีแล้ว ขณะเดียวกันก็มาพูดเรื่อง white Internet แล้วไม่ได้ทำจริง ถึงเวลาจะทำจริงก็คัดค้านทั้งหมด ก็ไปสอดคล้องกับเรื่อง E-Sport ที่โผล่ขึ้นมาบนออนไลน์ก็เช่นเดียวกัน   พอปัญหาถูกปล่อยให้เกิดไปเรื่อยๆ มาแก้ทีหลังก็ยากแล้ว อันนี้ก็เป็นผลมาจากที่เราไม่คัดกรองผลิตภัณฑ์ให้เด็กใช้ สุดท้ายก็ถูกประยุกต์ใช้ต่างๆ มากมายแล้วก็ยิ่งคัดค้านยากขึ้นไปใหญ่  และเด็กก็เล่นได้ทุกอายุเช่นเดียวกัน E-Sport นี่เด็กเล่นกันจนเสียการเรียนและไม่มีอายุจำกัด ตั้งสมาคมได้โดยไม่ต้องผ่านการกีฬาแห่งประเทศไทยด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ต้องมีระเบียบด้วยซ้ำไปว่าเด็กอายุเท่าไหร่ถึงจะเข้าสู่การแข่งขันที่เขารับรองว่าเป็นกีฬา ไม่ต้องมีระเบียบอะไรเลยแล้วจะพูดถึงระเบียบก็พูดถึงว่า มีการเติบโตกันไปเยอะแล้วเศรษฐกิจนี้เป็นหลายแสนล้าน ต่างประเทศเดินหน้าเต็มตัวแล้วเรายังจะมาชักช้าได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ก็เป็น “สินค้า” ทั้งนั้นเพียงแต่อยู่ในรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือเป็น air line ลอยทางอากาศ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ก็เป็นเรื่องของผู้บริโภค แล้วก็เป็นเรื่องของภัยที่ซ่อนเร้นภายใต้เศรษฐกิจที่ต้องเติบโตทำให้มองหรือพยายามที่จะไม่มองว่าเป็นภัย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นบรรทัดฐานจริงหรือเปล่า ในสังคมไทยถ้าพูดถึง สิ่งที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันหรือว่าเป็นสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศ ยิ่งไม่มองยิ่งมีความรู้สึกว่าต้องคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้นโดยเฉพาะเด็ก   ปัญหาเยอะขนาดนี้อาจารย์เคยท้อบ้างไหมคะ ไม่ๆ ถือว่าเป็นธรรมชาติ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพราะเราคงไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมดได้อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าถึงวันหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกเรื่องก็แบบนี้ สมัยก่อนถนนอันตราย ถึงวันหนึ่งถนนก็ปลอดภัยมากขึ้นเมื่อร่ำรวยมากขึ้น โรงงานทุกวันนี้ก็ปล่อยสารพิษ มาตรการความปลอดภัย ออกกฎหมายไม่ยอมทำ ขยะอุตสาหกรรม ทิ้งมั่ว เอาของจากต่างประเทศข้ามมาทิ้งอีกต่างหาก ถึงวันหนึ่งก็จะดีขึ้น อินเทอร์เน็ตก็เหมือนกัน สินค้าเหล่านี้ก็เหมือนกัน ตอนนี้เรารู้สึกว่าเสรีมาก เศรษฐกิจต้องโตห้ามกันไม่ได้ แต่ถึงวันหนึ่งเกิดผลเสียมากๆ ก็จะดีขึ้น เราจะอยู่ในโลกที่ปลอดภัยมากขึ้น เพียงแต่ว่าวันนั้นนานหรือเปล่า แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น มันจะต้องมีคนส่วนหนึ่งไปไม่ถึงวันนั้นแน่นอนอยู่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 25545 กันยายน 2554สินค้าลดราคาช่วยเหลือผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์จับมือกับผู้ประกอบการ ปรับลดราคาสินค้า 5 ประเภท รับการปรับลดลงของราคาน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค โดยสินค้าทั้ง 5 รายการประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ ลดราคาถุง (50 กก.) ละ 5-10 บาท จากราคาปัจจุบัน 135-140 บาท กระเบื้องมุงหลังคา ลดลงแผ่นละ 5 บาท จากราคา 36-40 บาท ปุ๋ยเคมี ลดลงถุงละ 5-8 บาท จากราคา 905-1,010 บาท เครื่องปั๊มน้ำ ลดลงเครื่องละ 100-200 บาท จากราคา 4,590 บาท และแป้งสาลี ลดลงถุงละ 10 บาท จากราคา 477-698 บาท  นอกจากนี้กระทรวงจะพิจารณาปรับลดราคาสินค้าในกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม โดยดูตามราคาทุนหากมีการปรับลดลง เช่น น้ำมันพืช เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์นม และน้ำตาล ส่วนสินค้าที่ยังไม่สามารถลดราคาได้ทันที ผู้ประกอบการได้ยืนยันจะไม่มีการปรับขึ้นราคา และจะตรึงราคาจำหน่ายไปจนถึงสิ้นปี ได้แก่ หมวดของใช้ประจำวัน เช่น ผงชักฟอก สบู่ ยาสีฟัน และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับสภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นกับชีวิตประจำวันทั้งสิ้น-------------   14 กันยายน 2554  แปรงสีฟัน เลือกไม่ดีอาจมีเสี่ยง เมื่อการแปรงฟันอาจเป็นฝันร้าย เพราะอันตรายจากแปรงสีฟัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เปิดเผยผลสำรวจแปรงสีฟันที่ขายอยู่ตามท้องตลาดทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ พบว่าด้อยคุณภาพถึง 61% ซึ่งมีปัญหาขนแปรงแข็งเกินไป หัวแปรงใหญ่และขนหลุดง่าย แถมยังพบสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ที่บริเวณด้ามแปรง และหัวแปรง ซึ่งถือเป็นสารเคมีอันตรายที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แต่พบเฉพาะในแปรงสีฟันที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น   สคบ. จึงได้ประกาศให้แปรงสีฟันจำนวน 83 ยี่ห้อ 229 รุ่น เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ต้องมีการระบุลักษณะของขนแปรง ชนิดของขนแปรง วัสดุที่ใช้ผลิตด้ามแปรง และวิธีใช้ ถ้าเป็นแปรงสีฟันนำเข้าก็ต้องมีฉลากภาษาไทย สำหรับวิธีการเลือกซื้อแปรงสีฟันควรเลือกที่ขนาดพอดีกับช่องปากของเรา หัวแปรงต้องไม่มีลักษณะทรงแหลมหรือมีความคม ด้ามแปรงก็ต้องไม่สั้นเกินไป ขนแปรงต้องทำจากเส้นใยไนล่อน หรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติเทียบเท่า เป็นเส้นกลม หรือรี ขนตั้งตรง ผิวเรียบ ปลายมน ไม่มีขอบคม หรือขรุขระ ที่สำคัญคือควรมีลักษณะอ่อนนุ่ม และผู้บริโภคควรเปลี่ยนแปรงใหม่ทุกๆ 3 เดือน------------     16 กันยายน 2554ห้ามตัดสัญญาณมือถือเติมเงิน ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินเตรียมเฮ เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งห้ามตัดสัญญาณคนใช้มือถือแบบเติมเงินที่ไม่ได้เติมเงินในเวลาที่กำหนด หลังจากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายแบบสัญญาการให้บริการโทรคมนาคมฉบับใหม่ ซึ่งเสียเวลาในการพิจารณาไปกว่า 3 ปี แต่ก็ไม่แล้วเสร็จ ซึ่งกลายเป็นปัญหาส่งมาถึงผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์ระบบเติมเงินต้องถูกกำหนดวันหมดอายุ และถูกระงับการใช้บริการ รวมถึงถูกยึดหมายเลขโทรศัพท์ เป็นเพราะยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติชัดเจนให้กับค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนเรื่องการระงับการใช้มือถือแบบเติมเงิน สิทธิในเบอร์โทรศัพท์จึงเป็นของผู้ใช้  ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการพิจารณามาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคมให้เสร็จภายใน 90 วัน เพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นแนวทางในการปฎิบัติของทั้งผู้ให้บริการ และให้ผู้บริโภคได้รู้สิทธิของตัวเอง ----------  เฝ้าระวังความปลอดภัย “ของกิน – ของเล่นหน้าโรงเรียน” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ฝากข้อความร่วมมือจากครู – อาจารย์ ตามโรงเรียนต่างๆ  ไปจนถึงพ่อ – แม่ ผู้ปกครอง ตรวจตราดูอาหารและของเล่นที่ไม่ได้มาตราฐานที่วางขายอยู่ตามหน้าโรงเรียน เพราะอาจเป็นอันตรายกับนักเรียน  อย. ได้ฝากเตือนว่า อาหารที่ขายให้กับเด็กนักเรียนตามหน้าโรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นพวกของทอดหรือปิ้งย่าง ถ้าเป็นขนมก็เป็นพวกขนมกรุบกรอบหรือไม่ก็ขนมที่มีสีสันน่าสงสัย ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก ส่วนของเล่นที่ขายอยู่ตามหน้าโรงเรียนนั้น แนะนำให้สังเกตสัญลักษณ์ของ สมอ. เพื่อความปลอดภัย และให้ระวังของเล่นต้องห้าม ทั้ง ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ และตัวดูดน้ำ ซึ่งเป็นของเล่นที่อันตรายมากหากหลุดเข้าไปในร่างกายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งถ้าใครพบเจอของเล่นต้องห้ามเหล่านี้สามารถแจ้งไปยัง สคบ. ที่เบอร์ 1166 ----------------------------------     รถตู้โฟตอนไม่ได้คุณภาพ เสียทั้งค่าเช่าจ่ายทั้งค่าซ่อมสมาชิกสมาคมรถตู้ต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อรถตู้โดยสารยี่ห้อโฟตอนจาก บริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์ เซลล์ จำกัด ซึ่งรถตู้ยี่ห้อดังกล่าวเป็นรถด้อยคุณภาพ ต้องนำรถไปซ่อมแซมหลายครั้ง ไม่สามารถนำรถยนต์มาประกอบอาชีพได้ ทำให้ผู้ซื้อรถต้องแบกรับภาระทั้งค่าเช่าซื้อและค่าซ่อมแซม กลายเป็นหนี้ค้างชำระกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ บางรายต้องถูกยึดรถยนต์และถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีต่อศาล รวมเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท   โดยที่บริษัทยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆ นายทรงผล พ่วงทอง ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า การที่มายื่นหนังสือครั้งนี้ อยากขอให้รัฐมนตรี ช่วยดำเนินการให้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ต่อตัวแทนจำหน่ายและผู้ให้เช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 กระแสในประเทศ

กระแสในประเทศกองบรรณาธิการ ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 25523 มกราคม 2552กรมวิทย์มุ่งธนาคารสเต็มเซลล์ ปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกรามารุ่ง นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้การนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้รักษาโรคยังเป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิกยังไม่ได้รับการยืนยันมาตรฐานทางการแพทย์ แต่ต้องยอมรับว่า เป็นการศึกษาวิจัยที่ได้ผลการรักษาค่อนข้างดี โดยที่ผ่านมากรมวิทย์ฯ ได้ทำโครงการความร่วมมือกับสถานพยาบาลในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรคแล้ว 2 โครงการ โดยประสบความสำเร็จ 1 โครงการ คือความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศึกษาการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกผ่านหลอดเลือดโคโรนารี่ เพื่อทดแทนกล้ามเนื้อและหลอดเลือดฝอยที่ตายจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานบกพร่องในผู้ป่วยเด็กจำนวน 2 ราย ส่วนอีก 1 โครงการ คือ ความร่วมมือกับโรงพยาบาลเลิดสิน ศึกษาการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกเพื่อรักษาโรคข้อเข่าเทียม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ในอนาคต กรมวิทย์ฯ จะพัฒนาการเพาะเซลล์ต้นกำเนิดใช้รักษาโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โรคเลือดต่างๆ ธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว เบาหวาน กระจกตา เป็นต้น และอาจจะพัฒนาเป็นธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อสาธารณประโยชน์เช่นเดียวกับสภากาชาดไทย 6 มกราคม 2552แพทย์เตือนพ่อแม่ซื้อของเล่น ระวังสารปนเปื้อนทำลายลูกนพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ในปี 2551 ได้เก็บตัวอย่างของเล่นในศูนย์พัฒนาเด็ก กทม. 23 แห่ง ตรวจหาสารตะกั่ว พบว่าของเล่นเด็กจาก 4 แห่ง มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน คือ 600 มล./กก. นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างของเล่นที่มีการวางขายหน้าโรงเรียนในกรุงเทพฯ 26 แห่ง พบ 4 แห่ง มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน และจากการซื้อของเล่นจากห้างและตลาดทั่วไปในกรุงเทพฯ พิจิตร บุรีรัมย์ สระแก้ว และชลบุรี 126 ชิ้น ส่งตรวจคุณสมบัติทางกายภาพ 50 ชิ้น พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 9 ชิ้น สภาพปัญหาที่พบคือ มีเสียงดังเกิน 75-85 เดซิเบล ซึ่งเป็นอันตรายต่อเซลล์ประสาทการได้ยิน มีเส้นสายยาวเกินกว่า 30 ซม. ซึ่งเสี่ยงต่อการพันรัดคอเด็ก มีช่องรูที่กว้างระหว่าง 5-12 มล. เสี่ยงต่อนิ้วเด็กติดค้างในช่องรู และมีขอบแหลมคมที่ทำอันตรายเด็กได้ และจากผลการตรวจคุณสมบัติทางเคมีของของเล่น 80 ชิ้น พบว่ามีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน 6 ชิ้น ซึ่งมีผลให้ไอคิวต่ำ "พ่อแม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ให้เด็ก ที่มีตรา มอก.รับรอง แม้จะไม่ปลอดภัย 100% แต่ก็พอที่จะบรรเทาอันตรายได้ในระดับหนึ่ง" 9 มกราคม 2552วิจัยพบเด็กโตขึ้นไอคิวยิ่งต่ำลงพญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเรื่องระดับสติปัญญา (ไอคิว) และระดับความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของเยาวชนไทย เนื่องจากในโครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 เก็บข้อมูลทุกปีจากพื้นที่ตัวอย่างนำร่องจำนวน 1,500 คน 15 จังหวัดมาศึกษาพบว่า ต้นทุนของเด็กไทยในช่วงทารกหรือแรกเกิดอยู่ในระดับสากล คือมีไอคิวประมาณ 100 แต่เมื่อมาอยู่ระดับประถมศึกษาประมาณ 9-10 ขวบ กลับมีระดับไอคิวเหลือเพียง 97-98 แต่เมื่อโตมาในช่วงวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษาจะมีค่าไอคิวเฉลี่ยเหลือเพียง 90 ต้นๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง ที่น่าสนใจคือ ปัจจัยแวดล้อมใดที่มีผลต่อการพัฒนาการทางสมองของเด็กไทย เพราะจากระดับไอคิวของเด็กแรกเกิดไทยแสดงให้เห็นว่าเรื่องของพันธุกรรมไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเกี่ยวกับการพัฒนาไอคิวเด็ก"วิธีที่จะกระตุ้นให้พัฒนาการของลูกดีคือการที่พ่อแม่เอาใจใส่สนใจในการตั้งคำถามของลูก ไม่ด่าว่า ส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถาม เอาใจใส่ต่ออาหารและการออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ รวมถึงได้ทำกิจกรรมร่วมกับลูกในช่วงวันหยุด เพราะการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างการเล่นกับลูกให้เหมาะตามวัยจะช่วยให้พ่อแม่ได้รู้จักลูกตัวเองดีขึ้นด้วย อาทิ เกมหมากรุก เกมต่อคำภาษาอังกฤษ จิ๊กซอว์ เกมคอมพิวเตอร์พวกเกมซิมที่เป็นการสร้างเมืองวางแผนต่างๆ ซึ่งระหว่างการเล่นพ่อแม่สามารถสอนลูกไปพร้อมกันได้ ซึ่งเด็กจะซึมซับและนำมาใช้ในชีวิตจริงได้" อย.ชี้อันตราย"คุกกี้เสริมอึ๋ม" ใช้กวาวเครือขาวผิดวิธีเจอดีอย. เตือนอันตรายคุกกี้ผสมกวาวเครือขาว ชื่อผลิตภัณฑ์ F Cup Cookie ขายเกลื่อนเน็ต โอ้อวดสรรพคุณเพิ่มอึ๋ม นอกจากเสียเงินมากแล้วอาจเจออันตรายจากผลข้างเคียงของการใช้กวาวเครือขาวโดยผิดวิธี เนื่องจากจะรบกวนระบบฮอร์โมนเพศ อีกทั้งเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และกวาวเครือเป็นพืชสมุนไพรควบคุมที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังไม่มีการขออนุญาตนำเข้ากับ อย. เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด ซึ่งในกรณีของผู้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากจำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หากผู้บริโภคพบเห็นการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์คุกกี้ดังกล่าว และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่คาดว่าจะผิดกฎหมาย โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556 29 มกราคม 2552หมอเตือนภัยฉีด"คาร์บ็อกซี่" หลุมพรางของคนคลั่ง"ผอม"นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม กล่าวถึงกระแสความนิยมของคาร์บ็อกซี่ (Carboxy) ว่า มีโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถสลายไขมันและเซลลูไลท์เฉพาะส่วนได้ในระยะเวลาไม่นาน และขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่ไม่รู้ว่าคาร์บ็อกซี่กำลังเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้บริโภค หากไม่ศึกษาถึงผลกระทบให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ การใช้ก๊าซคาร์บอนฉีดยังเป็นการทดลอง ยังไม่มีผลรับรองออกมาอย่างเป็นทางการ ทางที่ดีผู้บริโภคควรรอให้มีรายงานทางการแพทย์รับรอง 10 ฉบับขึ้นไป จึงนับว่าปลอดภัย รศ.นพ.นิยม ตันติคุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการทำคาร์บ็อกซี่ว่า ฝรั่งเศส คือประเทศแรกที่นำมาใช้ และขยายความนิยมสู่อิตาลี ในปี 2533 จากนั้นได้รับการยอมรับและนิยมใช้อย่างแพร่หลายทั้งในเอเชียและยุโรป คาร์บ็อกซี่ เป็นนวัตกรรมความงามเพื่อใช้ลดไขมันเฉพาะที่ด้วยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ละลายน้ำได้ดี สลายตัวได้เร็ว เมื่อฉีดเข้าไปยังชั้นไขมันใต้ผิวหนังจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของเส้นเลือดและทำให้เซลล์ไขมันสลายตัวและถูกกำจัดออกไป เช่น หน้าท้อง ใต้ท้องแขน สะโพก น่อง ต้นขา ฯลฯ ทั้งนี้ ในวงการแพทย์มีการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้อยู่ก่อนแล้ว เช่น การฉีดเข้าช่องท้องขณะส่องกล้องตรวจอวัยวะภายใน ถ้าใช้เหมาะสมไม่ส่งผลอันตรายใดต่อร่างกาย ที่สำคัญผู้ที่ให้การรักษาควรเป็นแพทย์เท่านั้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการฉีดคาร์บ็อกซี่ ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด โรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เพราะหากก๊าซบางส่วนผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดอาจทำให้อาการดังกล่าวแย่ลง ในปัจจุบันข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ปลอดภัยนั้นยังมีน้อย เท่าที่ทำการสืบค้นรายงานทางการแพทย์พบว่า มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ได้ผลและส่งผลข้างเคียงน้อย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยรถถึงเวลาต้องยกเลิก?พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำลังมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า การรักษาพยาบาลที่ได้รับสิทธิคุ้มครองจากบริษัทประกันในช่วงแรก เมื่อรักษาหมดวงเงินประกัน ก็ต้องกลับเข้ามารักษาตามสิทธิของแต่ละบุคคล ซึ่งถือว่าไม่ได้รับการดูแลจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างเต็มที่ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่อง "พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในบริบทของการประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ของ นพ.ดร.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียรและคณะ ระบุว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นการประกันภัยภาคบังคับมีหลักไม่กำไร ไม่ขาดทุน แต่ผลกำไรของบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้จากประกันภัยประเภทนี้กลับมีสูงถึง 3.3 พันล้านบาทใน 4 ปี บวกกับปัจจุบันคนไทยมีหลักประกันสุขภาพทุกคน พ.ร.บ.นี้ไม่น่าจะมีความจำเป็นอีกต่อไป จึงต้องพิจารณาทางเลือกในการปรับปรุงระบบเพื่อให้คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีประกัน" นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แนวคิดในการเปลี่ยนระบบ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นเพราะขณะนี้กองทุนผู้ประสบภัยจากรถเปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์เดิมที่ออกกฎหมายไว้ให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนเพราะไม่มีกองทุนใดคอยดูแล แต่ขณะนี้คนไทยทุกคนได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เมื่อเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินก็สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งได้ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ควรจะให้เวลาในการหารือและตัดสินใจ เนื่องจากอาจจะกระทบกระเทือนหลายฝ่าย โดยเฉพาะธุรกิจการประกันภัย “ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทีมที่ปรึกษาระดมความคิด พูดคุย ศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ปัจจุบันรายละเอียดต่างๆ ในสิทธิการรักษาพยาบาลเปลี่ยนไปมากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ยอมรับว่ามีข้อร้องเรียนเข้ามาเสมอๆ โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้าในการจ่ายเงินของบริษัทประกันภัย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นการโยนหินถามทางว่า สังคมจะมีความคิดเห็นอย่างไร ส่วนจะดำเนินการทันทีหรือไม่นั้น กระทรวงสาธารณสุขมีหลายเรื่องที่ต้องทำขณะนี้ คงจะต้องทำทีละเรื่อง เดือนละเรื่องและแต่ละเรื่องต้องใช้เวลา" นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ประกันภัยรถยนต์อีก เพราะคนไทยทุกคนมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับแล้ว หากรัฐบาลนำมาเป็นนโยบายและดำเนินการจริงจัง สปสช.ก็พร้อมดูแลรับผิดชอบผู้ประสบภัยอุบัติเหตุอย่างเต็มที่ แต่ สปสช.คงไม่เป็นต้นเรื่องในการให้ยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าวเอง ซึ่งหากยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว รัฐสามารถจัดเก็บภาษีอื่นทดแทนได้ เช่น การคิดภาษีจากน้ำมันเชื้อเพลิง 1 สตางค์ต่อลิตร หากยานพาหนะเติมน้ำมันเต็มถัง 50 ลิตร สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในระยะเวลา 1 ปีจะเสียค่าภาษีเพียง 104 บาทต่อคันต่อปีเท่านั้น ถูกกว่าจ่ายเบี้ยประกันภัยในปัจจุบันหลายเท่า ผู้เสียหาย “ซานติก้า” และนักวิชาการ วอนผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 30 มกราคม 2552 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับกลุ่มแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเสวนา “ซานติก้า…ปัญหาและทางออกของผู้บริโภค” ขึ้น โดยเชิญผู้เสียหายในเหตุการณ์ และนักวิชาการร่วมหาทางออก นายสันติสุข มะโรงศรี ผู้เสียหายในเหตุการณ์ ไฟไหม้ร้านซานติก้า เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 และเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้ถือหุ้นร้านซานติก้า ได้แก่ นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และนายสุริยา ฤทธิ์ระบือ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ ตามลำดับ รวมทั้งหมด 31 คน ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้ บริโภค พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า สาเหตุหลักของการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากการออกแบบอาคารและการก่อสร้างที่ผิดแบบ หากมีการก่อสร้างที่ถูกต้อง มีระบบดังเพลิงที่ดี เหตุการณ์ร้ายๆ คงจะไม่เกิดขึ้น “การที่ผมออกมาฟ้องเรื่องนี้ เพื่อจะยกระดับมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย และเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับตัวผมเอง และอยากจะใช้กฎหมายตัวนี้เป็นบรรทัดฐานให้ผู้บริโภคต่อไป และผมอยากให้ผู้ที่เสียหายต่อเหตุการณ์นี้ ได้ลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตัวเอง” นายสันติสุขกล่าวนายชัยรัตน์ แสงอรุณ ตัวแทนจากสภาทนายความ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวขณะนี้ ได้มีผู้ไปขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความจำนวน 18 รายแล้ว สภาทนายความยินดีให้ความช่วยเหลือทุกท่าน“จากการทำงานที่ผ่านมา กรณีเกิดเหตุไฟไหม้เช่นนี้ซึ่งถือว่าเกิดเหตุโดยประมาท ผู้ประกอบการมักจะหลุดจากข้อหา เพราะภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับผู้บริโภค จึงค่อนข้างลำบาก แต่การฟ้องด้วย กม.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะภาระการพิสูจน์จะตกอยู่กับผู้ประกอบการว่า สถานประกอบการถูกต้องอย่างไง ผมคิดว่าข้อเท็จจริงของคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีผู้บริโภคต่อไป และอยากให้ผู้เสียหายออกมาใช้สิทธิของตัวเองและเพื่อให้กฎหมายผู้บริโภคที่ออกมาและมีอยู่ได้ถูกใช้โดยผู้บริโภค” นายชัยรัตน์ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 83 ของ (ไม่น่า) เล่น

ใครๆก็รู้ว่าของเล่นเป็นสิ่งที่สามารถสร้างช่วยเสริมทักษะ และสนับสนุนพัฒนาการต่างๆให้กับเด็กได้ แต่ใช่ว่าของเล่นทุกชิ้นที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาดจะปลอดภัยสำหรับบุตรหลานของท่าน หลายคนอาจได้ยินเรื่องของของเล่นปนเปื้อนสารตะกั่วที่ต้องมีการประกาศเรียกคืนมาบ้างแล้ว เพราะของเล่นดังกล่าวอาจจะทำให้พัฒนาการเรียนรู้ พัฒนาการของกล้ามเนื้อและกระดูก รวมถึงพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กช้าหรือน้อยลงนั่นเอง มาดูกันว่าของเล่นที่มีขายในตลาดบ้านเราชิ้นที่เป็นอันตรายเพราะมีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินมาตรฐานนั้นมีอะไรบ้าง ข้อมูลที่ฉลาดซื้อนำมาเสนอนั้นได้จาก ศูนย์วิจัยเสริมสร้างความปลอดภัยการป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก  คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้ทำการตรวจสอบหาโลหะหนักในของเล่นจำนวน 183 ชิ้น ที่มีราคาระหว่าง 20 – 150 บาท และเป็นของเล่นที่หาซื้อได้จากห้างและตลาดทั่วไป ในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร น่าน พิษณุโลก สระแก้ว และ บุรีรัมย์ ผลการตรวจสอบ•    ของเล่นที่พบว่ามีสารตะกั่วเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดนั้นมีทั้งของเล่นที่มี และไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม •    ในภาพรวม ร้อยละ16.9 ของของเล่นทั้งหมดที่ตรวจสอบ มีระดับสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐาน•    ร้อยละ 16.3 ของของเล่นที่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม และร้อยละ 18.8 ของของเล่นที่ไม่มีเครื่องหมายดังกล่าว มีระดับสารตะกั่วสูงเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >