ฉบับที่ 207 โฆษณามั่วซั่วต้องตอบแทน (ตอนที่ 2)

ดังได้กล่าวในตอนที่แล้วประมาณว่า การทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกานั้น ใครใคร่ทำนั้นสามารถทำได้ แต่อย่าโอ้อวดจนน่าเกลียดเพราะมีนักร้อง(เรียน) อาชีพคอยจัดการอยู่ตัวอย่างต่อไปที่ผู้เขียนอ่านพบในอินเทอร์เน็ตคือ เมื่อปี 2009 ซึ่งกระแสความตื่นกลัวของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู(H1N1) กำลังแรง บริษัทขายอาหารเช้าชนิดที่ใช้ธัญพืชเป็นวัตถุดิบยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งตัวสินค้านั้นมีความละม้ายคล้ายข้าวเม่าคั่ว ได้ทำฉลากติดพาดกลางกล่องสินค้าชนิดที่ผลิตจากข้าวโพดว่า สินค้านี้ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของเด็กได้ดี พร้อมการอวดอ้างว่า การกินสินค้าดังกล่าวด้วยปริมาณที่บริษัทแนะนำนั้น ทำให้ผู้บริโภคได้สารต้านออกซิเดชั่นและสารอาหารถึงร้อยละ 25 ที่ร่างกายต้องการ แต่ทันทีที่ข้อมูลบนฉลากกระทบตานักวิชาการ คำถามถึงที่มาและการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งผลถึงที่มาของข้อความดังกล่าวก็ถูกตั้งเป็นประเด็นขึ้น จนสุดท้ายบริษัทก็ฉีกฉลากดังกล่าวทิ้งถังขยะไปในปีเดียวกันนั้นกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้ขอคำอธิบายจากบริษัทเดียวกันนั้นว่า การอวดอ้างว่าสินค้าที่ทำจากข้าวสาลีนั้นช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในเรื่อง ความเอาใจใส่(attentiveness) สูงขึ้นร้อยละ 20 นั้น ท่านได้แต่ใดมา ซึ่งทางบริษัทก็ไม่สามารถอธิบายได้ สุดท้ายกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐจึงได้สั่งการแบบปรานี ประมาณว่า ให้บริษัทถอดโฆษณาดังกล่าวออกพร้อมสำทับว่า คราวหน้าถ้าจะโฆษณาอะไรก็ตามเกี่ยวกับสินค้าว่า มีผลต่อสุขภาพผู้บริโภคนั้น ขอให้ทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์จนได้ข้อมูลที่ชัดแจ้ง อย่าได้บังอาจคิดว่าผู้บริโภคนั้นกินฟางเป็นอาหารหลักสืบเนื่องจากการโฆษณาสินค้าที่อ้างว่า มีผลต่อการเพิ่มความสามารถของคนดังกล่าวข้างต้นนั้น ชาวอเมริกันหลายคนที่มีโอกาสได้ดูโฆษณาสินค้าอาหารบางชนิดในประเทศไทย อาจประหลาดใจว่า โฆษณาสินค้าที่อ้างว่าทำให้คนฉลาดนั้นหลุดรอดออกมาสู่สายตาผู้ชมได้อย่างไร เช่น สินค้าบางชนิดอ้างเองว่า ผู้ที่กินเข้าไปแล้วจะฉลาดขึ้น เสมือนคนที่มะงุมมะงาหราอยู่ในที่มืดมานานแล้วสามารถเปิดไฟสว่างมองเห็นทางออก เช่น สอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ได้คำนึงเลยว่า ความฉลาดของมนุษย์นั้นมีหลายปัจจัยเป็นตัวคุม โดยหนึ่งนั้นคือ สภาวะโภชนาการ ซึ่งเป็นผลจากการกินอาหาร ซึ่งต้องเป็นอาหารที่ครบหมู่ต่างๆ ที่ร่างกายต้องการ ไม่ใช่สินค้าที่เหมือนได้จากการต้มโครงหมูกระดูกไก่แล้วแต่งสีบรรจุขวดขายอีกตัวอย่างที่ดูเหมือนเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิตสตรีและผู้ที่ข้ามเพศจำต้องหามาใช้บำรุงชีวิตนั้น คือ เครื่องสำอาง ผู้เขียนได้ดูภาพยนตร์สั้นเรื่องหนึ่งใน YouTube เกี่ยวกับสตรีไทยผู้มีอาชีพเป็นนางแบบภาพเปลือย ซึ่งทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า nude นั้นเป็นอย่างไร มีตอนหนึ่งที่สะกิดใจมากคือ นางแบบนั้นขอทาอายไลเนอร์ก่อนถ่ายภาพทั้งที่วันนั้นเป็นการถ่ายภาพที่มองไม่เห็นส่วนดวงตาของเธอก็ตาม ซึ่งน่าจะแสดงว่าสตรีบางคนในเมืองที่มีแสงสีนั้น ขอบำรุงผิวหน้าสักหน่อยก่อนออกไปไหนๆ เพื่อความมั่นใจในตนเอง เกี่ยวกับเครื่องสำอางโฆษณาเกินจริงนี้ ผู้เขียนขอข้ามจากสหรัฐอเมริกาไปยังสหราชอาณาจักรสักหน่อย เพราะในปี 2009 นั้นผู้ดูแลด้านกฏหมายการโฆษณาของสหราชอาณาจักร(U.K.’s Advertising Standards Authority) ได้สั่งถอดโฆษณาเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นครีมที่ใช้บำรุงผิวหนังบริเวณหลังตา โดยการสั่งห้ามนั้นมาจากสาเหตุที่ในการโฆษณานั้นมีการใช้นางแบบวัยดึกอายุราว 60 ปี คนหนึ่งซึ่งเคยถูกขนานนามว่า สวยแบบผอมกระหร่องที่สุดในโลก (นางเข้าวงการเดินแบบเมื่ออายุ 15 ปีในปี 1966 โดยเป็นต้นกำเนิดของแฟชั่นสไตล์ "Androgyny" ซึ่งเป็นสไตล์กึ่งหญิงกึ่งชาย) มาอวดอ้างว่า ครีมนั้นป้องกันตีนกา(ซึ่งฝรั่งใช้คำว่า crow’s feet) ได้ สุดท้ายแล้วข่าวในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า หลังจากการพูดจากันระหว่างผู้ดูแลกฎหมายและผู้ประกอบการ  ซึ่งก็ยอมรับแบบเสียไม่ได้ว่า ภาพที่โฆษณานั้นใช้การตกแต่งด้วยคอมพิวเตอร์(retouching) เพื่อกำจัดริ้วรอยของความแก่ตามวัยที่หางตานางแบบนั้นออกไป และสุดท้ายบริษัทก็เปลี่ยนภาพนางแบบจากสาวแก่เป็นสตรีเยาว์วัยแทนปรากฏการณ์เอาเรื่องของผู้ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับโฆษณาเครื่องสำอางในอังกฤษนั้น ยากที่จะเกิดในบางประเทศ เพราะผู้ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องสำอางส่วนใหญ่ในประเทศ กำลังพัฒนา มักใช้กระบวนการประมาณว่า(สมน้ำหน้า) ถ้าเครื่องสำอางนั้นใช้ไม่ได้ผลก็ให้โยนลงถังขยะแล้วอย่า(โง่) ไปซื้อมาใช้อีก โดยไม่คำนึงเลยว่า ค่าโง่ของผู้บริโภคนั้นมันต้องเสียเงินไปมากแค่ไหนย้อนกลับไปที่สหรัฐอเมริกาเพื่อดูข่าวเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการที่คนอเมริกัน ถูกหลอกให้กินผลไม้กวนปลอมปนที่ผลิตโดยบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่หนึ่งของสหรัฐอเมริกา(บริษัทนี้ขึ้นชื่อในการผลิตอาหารที่ทำจากแป้งเมื่อเริ่มต้นตั้งบริษัท จากนั้นก็ขยายไลน์ของผลิตภัณฑ์ออกไปมากมาย พร้อมธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อลือชามากคือ ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดแผ่นอบกรอบชนิดที่ขายดีในวันฮาโลวีน) ขนมผลไม้กวนม้วนที่คล้ายมะม่วงกวนบ้านเราซึ่งบริษัท(ซึ่งผู้เขียนไม่ขอออกนาม) ผลิตนั้น ได้ใช้ชื่อที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ทำจากผลสตรอว์เบอร์รี ทั้งที่มีส่วนผสมหลักคือ น้ำคั้นจากลูกแพร์เข้มข้น น้ำตาลข้าวโพดเข้มข้น น้ำตาลทราย และอื่น ๆ เช่น เพ็กตินซึ่งทำให้สินค้าเป็นแผ่นเหมือนผลไม้กวน โดยอาจมีสตรอว์เบอร์รีบ้างเป็นบางครั้งแต่ก็ไม่ถึงร้อยละ 2 (ข้อมูลจาก wikipedia)การหลอกพ่อแม่เด็กชาวอเมริกันว่า สินค้านั้นทำจากผลไม้ธรรมชาติแล้วโฆษณาว่า เด็กจะมีสุขภาพดีเพราะได้สารอาหารเหมือนกินผลไม้แท้นั้น กระตุ้นให้ The Center for Science in the Public Interest (CSPI) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นั้นเกิดอาการ หัวร้อน จัดการฟ้องร้องบริษัทนี้ในด้านละเมิดสิทธิที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อปี 2011 จนสุดท้ายมีการตกลงกันนอกศาล(ตามระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกา) ว่า ผู้ผลิตต้องเลิกใช้รูปผลไม้บนฉลากสินค้า เลิกอวดอ้างว่าทำจากผลไม้แท้ หรือข้อมูลที่ทำให้ผู้จ่ายเงินซื้อเข้าใจว่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผลไม้แท้ สำหรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนี้กระทำครบแล้วตามศาลสั่งในปี 2014สินค้าอาหารหลายอย่างที่มีลักษณะการผลิตดังที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังนี้ ในบ้านเราคงมีขายอยู่บ้าง ตัวอย่างที่ผู้เขียนเคยพบและคิดว่าน่าจะเข้าข่ายการหลอกลวงนั้นเกิดในสมัยผู้เขียนยังทำงานสอนหนังสืออยู่คือ เมื่อชงกาแฟ 3 in 1 ยี่ห้อหนึ่งในช่วงเช้าก่อนเวลาทำงาน ปรากฏว่าเกิดกลิ่นหอมออกไปจากห้องทำงานถึงทางเดินส่วนกลางจนมีผู้ตามกลิ่นเข้ามาดูว่า กาแฟอะไรทำไมถึงหอมอย่างนี้ ปรากฏว่าเมื่อดูที่ฉลากบนซองได้พบมีการระบุชัดเจนว่า เติมกลิ่นรสกาแฟสังเคราะห์ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวนี้ผู้เขียนคงได้เคยประสบมาแล้วอีกเช่นกัน เมื่อวันหนึ่งเดินเข้าไปในศูนย์การค้าใหญ่แถวสยามสแควร์เวลาประมาณ 11.00 น. ก็ได้กลิ่นกาแฟหอมฉุยมาจากร้านกาแฟร้านหนึ่ง จึงเดินตามกลิ่นไปดู สิ่งที่พบคือ พนักงานของร้านยังไม่ได้ต้มน้ำร้อนสำหรับชงกาแฟเลย เพียงแต่เอาสเปรย์กลิ่นกาแฟฉีดเพื่อให้เกิดบรรยากาศเรียกน้ำย่อยเท่านั้น ดังนั้นโดยสรุปแล้ว สินค้าที่ท่านซื้อมาบริโภคในวันนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องการได้จริงในบางครั้ง เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ในการผลิตเพื่อตบตานั้นได้ก้าวล้ำไปไกลแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >