ฉบับที่ 170 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2558 พบกล่องทีวีดิจิตอลตกมาตรฐาน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้แจ้งมายังบอร์ด กสท.ว่าจากการสุ่มตรวจมาตรฐานทางเทคนิคของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลในตลาดจำนวน 20 รุ่น พบว่ามีกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลจำนวน 6 รุ่น จาก 4 ยี่ห้อ มีการใช้ระบบเสียงไม่ถูกต้องตามตามที่แจ้งไว้ต่อ กสทช. ซึ่งจากนี้จะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทั้ง 4 ยี่ห้อที่มีการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานเดินทางมาชี้แจงยัง กสทช.โดยด่วน กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ไม่ผ่านมาตรฐานทางเทคนิค ได้แก่ ยี่ห้อเอเจ รุ่น SVB-93 และ รุ่น DVB-92, ยี่ห้อครีเอเทค รุ่น CT-1 และ CT4, ยี่ห้อฟินิกซ์ รุ่น T2color และ ยี่ห้อโซเคน รุ่น DB233 สำหรับผู้บริโภคที่ได้นำคูปองไปแลกซื้อกล่องที่การตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานไปแล้ว หากเกิดปัญหาจากการใช้สินค้า ทาง กสทช.จะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อทางแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ----------------------------------------------------------------------------------------   ห้ามใช้แล้ว!!! สาร “บีพีเอ” ในขวดนม จากนี้ไปคุณแม่ที่จะซื้อขวดนมให้ลูกน้อยต้องดูให้ดีว่าขวดนมพลาสติกที่ซื้อทำมาจากพลาสติกชนิดที่ชื่อว่า “พอลิคาร์บอเนต” หรือเปล่า เพราะอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสาร “บีพีเอ” หรือ สารบิสฟีนอลเอ ซึ่งเป็นสารที่ อย.ยืนยันแล้วว่าอาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 369) พ.ศ. 2558 เรื่อง ขวดนม และภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อควบคุมการใช้สารพีบีเอในขวดนมและภาชนะสำหรับทารกอีกหลายประเภท กฎหมายฉบับนี้ควบคุบผลิตภัณฑ์สำหรับทารก ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมและภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ซ้ำ เช่น ถ้วยหัดดื่ม ห้ามใช้พอลิคาร์บอเนตโดยเด็ดขาด โดยวัสดุอื่นทดแทน ได้แก่ แก้วชนิดบอโรซิลิเคต และพลาสติกชนิดพอลิพรอพิลีน พอลิอีเทอร์ซัลโฟน ส่วนภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงพลาสติกที่ใช้เก็บน้ำนมมารดา ถุงพลาสติกบรรจุนมแบบใช้ครั้งเดียวที่ต้องใช้ร่วมกับขวดนม ให้ใช้วัสดุที่อนุญาต ได้แก่ พอลิพรอพิลีน และ พอลิเอทิลีน สำหรับหัวนมยาง ให้ใช้วัสดุที่อนุญาตได้แก่ ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ปัจจุบันแม้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดสารบีพีเอเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็มีข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง ว่าสารพีบีเออาจมีผลไปขัดขวาง การทำงานของฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบการผลิตฮอร์โมน นอกจากนี้หลายๆ ประเทศมีการห้ามผลิตหรือจำหน่ายขวดนมพอลิคาร์บอเนตแล้ว เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา เป็นต้น -------------------------------------------------------------------------------- “คะน้า - ถั่วฝักยาว” เจอสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ได้แถลงผลการสุ่มทดสอบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่ามีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 22.5% โดยพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในกะเพรามากที่สุด 62.5% ถั่วฝักยาวและคะน้าพบ 32.5% ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะพบตกค้าง 25% แตงกวาและพริก12.5% ส่วนผักกาดขาวปลีและกะหล่ำปลีไม่พบการตกค้าง จากผลที่ออกมาทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องออกสุ่มทดสอบผักในท้องตลาดด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งผลที่ได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยอมรับว่ามีผักที่พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ในท้องตลาดจริง แม้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วไม่เท่ากับผลของทาง Thai-PAN แต่นั้นก็เป็นการยืนยันชัดเจนว่าคนไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพจากกินผัก โดยผัก 2 ชนิดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าที่การตกต้างของสารเคมีค่อนข้างสูงคือ คะน้าและถั่วฝักยาว โดยหลังจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจผักตามตลาดต่างๆ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ผู้บริโภคก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อผัก เลือกซื้อผักตามฤดูกาล และล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน ------------------------------------------------------------------------------------ “ผักเม็ด-ส้มเม็ด” หลอกลวงสรรพคุณ คนป่วยกินอาการยิ่งทรุด คนไทยยังคงตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลอกลวงสรรพคุณ ล่าสุดพบอาหารเสริม “ผักเม็ด” และ “ส้มเม็ด” โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาโรคเบาหวานได้ เมื่อมีผู้ป่วยหลงเชื่อคำโฆษณาหาซื้อมารับประทานกลับพบว่าอาการทรุดลง อาการแผลที่เท้าซ้ายบวมแดงและปวดมากกว่าปกติ อีกทั้งยังพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึง 552 mg (ซึ่งค่าปกติควรอยู่ที่ 82 - 110 mg) ผักเม็ดมีลักษณะภายในเป็นของเหลวคล้ายน้ำมันตับปลา ส่วนส้มเม็ดมีลักษณะเป็นผงบรรจุในแคปซูล โดยผู้ขายแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวชนิดละ 4 เม็ด เช้า - เย็น และให้ใช้ทาแผลด้วย อย.ฝากเตือนถึงที่คิดจะกินอาหารเสริมเพื่อหวังผลในการรักษาโรคนั้น ขอให้คิดไว้เสมอว่าเป็นเรื่องที่โอ้อวดหลอกลวง เพราะอาหารไม่ใช่ยา ไม่มีผลในการรักษาโรค ยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องรับประทานอาหารเสริมอย่างระมัดระวังเพราะอาจส่งผลต่อการเจ็บป่วยหนักได้ -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เคลือบฟันเทียม “วีเนียร์” ระวังได้ไม่คุ้มเสีย การเคลือบสีฟันเทียม หรือ วีเนียร์ (veneers) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยทำให้สีฟันขาวขึ้นและปรับรูปฟันให้สวยงาม กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะกับกลุ่มสาวๆ ที่อยากมีฟันขาวสว่างใส พร้อมกับการที่มีสถานเสริมความงามด้านทันตกรรมเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่การทำเคลือบสีฟันมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของฟันและเหงือกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การทำเคลือบผิวฟันเทียม คือการแปะวัสดุลงบนผิวฟันเพื่อเปลี่ยนสีผิวฟัน ซึ่งเดิมทีมีไว้ใช้แก้ปัญหาผู้ที่มีผิวฟันสีผิดปกติ เช่น ฟันตกกระ ฟันเป็นแถบสีน้ำตาลหรือดำ จากการกินยาแก้อักเสบกลุ่มเตตราไซคลิน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการฟอกสีฟันได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะต้องกรอผิวฟันออกไปเล็กน้อยเพื่อแปะวัสดุใหม่ลงไปให้เท่ากับผิวฟันเดิมไม่ให้นูนขึ้นมามากเกินไป ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าการกรอฟันเป็นการทำลายผิวเคลือบฟันที่ดีออกไปและจะไม่มีวันขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้การปิดวัสดุนั้นต้องทำด้วยเทคนิคที่ดี วัสดุที่ปิดฟันต้องพอดีกับตัวเนื้อฟันไม่มีส่วนเกินเข้าไปในเหงือก หรือ มีรูรั่ว เพราะอาจทำให้เกิดเหงือกอักเสบ เกิดหินปูน เหงือกร่น ทำให้เกิดพื้นที่ให้เชื้อโรคไปเกาะและเกิดปัญหากลิ่นปากได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทำเคลือบฟันเทียมต้องศึกษาให้ดี เคลือบฟันเทียบย่อมไม่มีแข็งแรงเท่าเคลือบฟันแท้ และการทำให้สีฟันขาวขึ้นยังมีวิธีอย่างการฟอกสีฟันซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อเคลือบฟัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 มาตรฐานขวดนมเด็ก: ถึงเวลาที่ผู้ปกครอง ต้องใส่ใจ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ เด็กและทารก เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิมากที่สุด ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเฉพาะเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยเฉพาะการควบคุมปริมาณสารเคมีอันตรายที่ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อและคุณแม่จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการเลือกซื้อ โดยจะขอยกตัวอย่างเรื่อง ขวดนม  เนื่องจากเด็กและทารกมีระดับความต้านทานต่อสารพิษได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดกว่า การเพิ่มระดับการป้องกันในเชิงกฎหมายที่เข้มข้นกว่าสินค้าทั่วๆ ไปจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่การออกกฎหมายหรือมาตรฐานสินค้านั้นใช้เวลานานและไม่ทันต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บทความนี้จะกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมสำหรับเด็กและทารก ความเสี่ยงและอันตรายของสารเคมี Bisphenol A ที่ยุโรปมีออกมาตรการที่เข้มที่สุด คือ คำสั่งห้ามผลิต ห้ามและห้ามจำหน่าย การป้องกันอันตรายจากสารเคมี และผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ตลอดจนมาตรการในการจัดการของหลายๆ ประเทศ เรื่องความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมเด็ก ซึ่งหลายๆประเทศ ได้ห้ามการจำหน่ายสินค้าประเภทขวดนมเด็ก หากตรวจพบสารเคมี Bisphenol A  จริงๆ แล้ว องค์กรผู้บริโภคในประเทศยุโรปได้เรียกร้องให้มีการสั่งห้ามผลิต และห้ามขายขวดนมที่มีสาร Bisphenol A มานานแล้ว จนกระทั่งในระดับประเทศ คือ ประเทศฝรั่งเศส และ เดนมาร์ค เป็นประเทศแรกๆ ที่ได้เริ่มสั่งห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายก่อน และในที่สุดกรรมาธิการยุโรปด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เกรงว่าจะเกิดการลักลั่นกัน ในประเทศสมาชิก จึงได้มีคำสั่งห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายในประเทศสมาชิกอียูตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554  สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมกับผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมสำหรับเด็กนี้ ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนและชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อาจมีสารเคมีอันตรายแอบแฝงอยู่ และสำหรับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรเข้ามามีบทบาทในการจัดการอย่างรีบด่วนที่สุด เพื่อยกระดับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ และเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทย   Bisphenol A ภัยร้ายในขวดนมบิสฟีนอลเอ (Bisphenol A) เป็นสารเคมีที่ใช้กันทั่วไปในการผลิตโพลีคาร์บอเนต หรือพลาสติกแบบใส เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ 50 อันดับแรกที่ผลิตโดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บิสฟีนอลเอ พบได้ในสินค้าบริโภคหลากหลายชนิดรวมถึงขวดนมพลาสติกแบบใส ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านและเพื่อการบริโภคอีกหลายสิบชนิดที่มีสารบิสฟีนอลเอ เช่น ขวดน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้บางประเภท กล่องบรรจุอาหารที่ใช้ในไมโครเวฟได้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ หมวกกันน็อคใส่เล่นกีฬา เลนส์แว่นตา ฯลฯ ยังพบ บิสฟีนอลเอ ได้ใน อีพ็อกซี่เรซิน ที่พบในวัสดุอุดฟันสีขาว วงจรพิมพ์สีทาบ้าน กาว สารเคลือบในกระป๋องโลหะที่บรรจุอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ ยังพบว่า บิสฟีนอลเอ เป็นสารเจือปนในพลาสติกประเภทอื่นที่ใช้ในการผลิตของเล่นเด็กด้วย   บิสฟีนอลเอก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างไร จากการศึกษาและรายงานผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากการได้รับ บิสฟีนอลเอ แสดงให้เห็นว่า บิสฟีนอลเอ สามารถเปลี่ยนแปลงหน่วยพันธุกรรมหลายร้อยหน่วย ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อบางชนิดและขึ้นอยู่กับจำนวนเวลาที่ได้รับ อีกทั้งการศึกษาในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิด บ่งชี้ว่าการได้รับ บิสฟีนอลเอ มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพมากมาย รวมถึงมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม ภาวะอ้วนผิดปกติ ภาวะไม่อยู่นิ่ง เบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง จำนวนอสุจิลดลง และการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ   กลุ่มเสี่ยงคือ เด็ก เด็กที่กำลังเจริญเติบโตมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะตามธรรมชาติของเด็กมักจะมีความรู้สึกไวต่อสิ่งเหล่านั้น เด็กได้รับสารตั้งแต่อยู่ในครรภ์ผ่านรกในร่างกายของมารดาที่ตั้งครรภ์ได้ มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดการได้รับสาร บิสฟีนอลเอ ระหว่างช่วงที่มีพัฒนาการจะไม่แสดงออกมาในขณะนั้น แต่จะปรากฏอาการภายหลังการได้รับสารดังกล่าวหลายปี ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการป้องกันเด็กไม่ให้เด็กได้รับสาร บิสฟีนอลเอ จากผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาใช้อยู่ทุกวัน   บิสฟีนอลเอสามารถก่อให้เกิดความผิดพลาดในการเรียงโครโมโซม บิสฟีนอลเอเป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้นในฐานะที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเรียง โครโมโซมผิดพลาด ในปี 2003 ดร.แพท ฮันท์ และทีมงานได้ค้นพบว่า บิสฟีนอลเอ สามารถทำให้โครโมโซมเรียงตัวกันผิดพลาดได้ ถึงแม้จะได้รับในปริมาณที่ต่ำมากก็ตาม โดยปกติเซลล์สืบพันธุ์จะแบ่งเป็นสองเซลล์เมื่อสร้างไข่ แล้วแบ่งโครโมโซมเท่าๆ กันระหว่างเซลล์ลูกแต่ละเซลล์ เซลล์พวกนี้สามารถเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์ และเมื่อผสมกับอสุจิ จะเกิดการปฏิสนธิขึ้น ดร.ฮันท์ แสดงให้เห็นว่าการได้รับ บิสฟีนอลเอ จะส่งผลให้โครโมโซมไม่สามารถจัดเรียงอย่างถูกต้อง ส่งผลให้การเรียงลำดับโครโมโซมผิดพลาดคล้ายกับที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome)    ขัดขวางพัฒนาการทางสมอง ในการศึกษาส่วนมาก พบว่า บิสฟีนอลเอเลียนแบบการทำงานของเอสโตรเจนในการพัฒนาประสาท อย่างไรก็ตาม ในบางส่วนของสมอง บิสฟีนอลเอ มีผลในการขัดขวางกิจกรรมของเอสโตรเจน ซึ่งปกติจะเพิ่มการเจริญเติบโตและควบคุมการเชื่อมโยงระหว่างเส้นประสาทด้วยเหตุนี้ บิสฟีนอลเอจึงมีสมบัติคล้ายคลึงกับ ทาม็อกซิเฟน ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเต้านม คือกระตุ้นการตอบสนองแบบเอสโตรเจนในเนื้อเยื่อบางประเภท และขัดขวางการตอบสนองแบบเอสโตรเจนในเนื้อเยื่ออื่นๆ จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากบิสฟีนอลเอ คือ สารบิสฟีนอลเอ เป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้และความทรงจำ นอกจากนี้ บิสฟีนอลเอยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองหรือทำให้เกิดการเชื่อมโยงในสมองในเวลาที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น จากการที่บิสฟีนอล เอเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของสมอง จึงนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงมากมาย เช่น   ภาวะไม่อยู่นิ่ง : ดร.มาซาโตชิ โมริตะและทีมงานที่สถาบันศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติญี่ปุ่น รายงานว่า การให้สารบิสฟีนอลเอ 30 g/kg/วัน กับหนูอายุ 5 วันเพียงครั้งเดียว ทำให้หนูมีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่งนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่าการได้รับสารบิสฟีนอลเอ เปลี่ยนแปลงระบบส่งสัญญาณโดปามีนที่พัฒนาในเซลล์สมอง ส่งผลให้ตัวรับและตัวส่งโดปามีนน้อยลง โดปามีนเป็นตัวส่งสัญญาณประสาทที่สำคัญในสมอง และการสูญเสียประสาทที่ผลิตโดปามีนเกิดขึ้นในโรคพาร์กินสัน เพิ่มความก้าวร้าว : การได้รับสารบิสฟีนอลเอที่ปริมาณ 2 – 40 g/kg/วัน ทำให้ทารกหนูเพศผู้ในครรภ์มีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการที่ความเข้มข้นของเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้น   บทสรุปและข้อเสนอแนะ ปัจจุบันผู้บริโภคมีข้อมูลไม่มากนักที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจเวลาซื้อสินค้าสำหรับครอบครัว  การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยคุ้มครองสุขภาพและสามารถเลือกใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย  ในส่วนของผู้ผลิตเองควรมีการติดฉลากในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ถ้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือมีศักยภาพที่จะเป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ นอกเหนือจากการระบุชื่อส่วนผสมที่เป็นอันตรายหรืออาจเป็นอันตรายแล้ว ความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกี่ยวกับสารเคมีดังกล่าวควรจะมีการอธิบายไว้บนผลิตภัณฑ์ด้วย   ในหลายประเทศได้มีการตระหนักถึงอันตรายที่แอบแฝงอยู่ของ บิสฟีนอลเอ จนมีมาตรการออกมาหลายอย่าง เช่น คณะกรรมาธิการด้านนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ออกประกาศห้ามบริษัทผู้ผลิตขวดนมสำหรับเด็กใช้สารเคมีบิสเฟอนอล-เอ (บีพีเอ) เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าพลาสติกทั้งหมด โดยประกาศห้ามจะมีผลบังคับใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิกอียูตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป องค์การการกุศลด้านเด็กและครอบครัว (NCT) ประเทศอังกฤษ ออกมาเรียกร้องให้ติดป้ายแสดงส่วนประกอบที่ใช้ผลิตขวดนมว่ามีสารพิษที่เป็นอันตรายหรือไม่ เป็นต้น   สำหรับในประเทศไทยเองเริ่มมีการตื่นตัวเกี่ยวกับอันตรายที่แอบแฝงอยู่ในขวดนมพลาสติกขึ้นมาบ้าง  องค์กรภาครัฐเริ่มขยับ แต่ถ้ามองจากผู้บริโภค และผู้ปกครองแล้ว กว่าจะมีประกาศห้ามผลิตและห้ามจำหน่ายนั้น คงจะใช้เวลาอีกนาน  ดังนั้นการเลือกซื้อขวดนม ขอให้เลือกจากผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากว่า ปลอด Bisphenol A อย่าเห็นแกของถูก ควรศึกษาหาความรู้ในด้านวิธีการใช้งานขวดนมพลาสติกที่ถูกต้องและปลอดภัย จากแหล่งข้อมูล ที่เชื่อถือได้ และคำนึงถึงการคุ้มครองสุขภาพสวัสดิภาพของเด็กมากกว่าประโยชน์ทางการค้า ก็จะช่วยเด็กไทยให้มีความปลอดภัยจากสารเคมี   ---------------------------------------------------------------------------------------------- การเลือกขวดใช้ขวดนมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กควรเลือกขวดนมพลาสติกที่ปราศจาก Bisphenol A ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ ตามรูป หรือขวดนมแก้ว ขวดนมพลาสติกเกือบทั้งหมดผลิตจากโพลีคาร์บอเนตพลาสติกที่มี บิสฟีนอลเอ เพียงแค่การล้าง 50-100 ครั้ง ปริมาณของบิสฟีนอลเอ จำนวนมากสามารถรั่วออกมาปนเปื้อนสู่นมของเด็กเล็กๆ ได้ วิธีการหลีกเลี่ยง คือ เปลี่ยนไปใช้ขวดนมแก้วสำหรับการใช้งานของทารก หากยังจำเป็นต้องใช้ขวดนมพลาสติก เวลาที่จะล้างทำความสะอาดให้หลีกเลี่ยงน้ำยาล้างจานที่ความเข้มข้นสูง หรือน้ำร้อนเวลาที่ล้าง เพื่อลดการรั่วไหลของสาร BPA อย่าใส่ขวดนม บรรจุภัณฑ์หรือ ในเครื่องล้างจาน และให้ทิ้งขวดนม บรรจุภัณฑ์หรือจานชามพลาสติกที่เริ่มมีรอยขีดข่วนหรือขุ่นมัว และห้ามทิ้งนมไว้ในขวดพลาสติกเป็นเวลานาน บทความนี้ ได้จัดทำขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาเวบไซต์ เพื่อการทดสอบสินค้า ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และอนุกรรมการทดสอบและพิสูจน์สินค้า  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point