ฉบับที่่ 269 กระแสต่างแดน

เอาที่ไหนมาพูด          Champstudy แพลตฟอร์มติวข้อสอบเจ้าดังของเกาหลีใต้ ถูกคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรม สั่งปรับเป็นเงิน 285 ล้านวอน (ประมาณ 7.6 ล้านบาท) หลังปล่อยโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเขาเป็นแพลตฟอร์มที่มีสถิตินักเรียนสอบผ่านสูงที่สุด         บริษัท Hackers Language Institute ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดังกล่าว อ้างว่าเป็น “อันดับหนึ่ง” ในเรื่องการสอบเข้ารับราชการและการสอบเป็นตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภค (ไม่ใช่การเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ)         นอกจากนี้ยังโฆษณายังอ้างว่าผู้เรียนจะสอบผ่านได้ “เร็วที่สุด” โดยไม่ได้ให้รายละเอียด คณะกรรมาธิการฯ จึงลงความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดคอร์สออนไลน์ของเกาหลี ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านวอน (ประมาณ 1,340 ล้านบาท) ในปี 2021         ก่อนหน้านี้บริษัท Eduwill ก็เคยถูกสั่งปรับด้วยความผิดนี้มาแล้วเช่นกัน  ขับสบาย นั่งสบาย         กระทรวงคมนาคมจีนขอให้แพลตฟอร์มเรียกรถปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานและการจัดการเพราะรัฐบาลตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน         ผู้โดยสารจะต้องได้รับบริการและประสบการณ์การเดินทางที่ราบรื่นปลอดภัย ไม่ถูกละเมิดสิทธิ บริษัทจะต้องเข้มงวดกับการขึ้นทะเบียนคนขับและยานพาหนะที่ใช้ และหากมีปัญหาก็ต้องสามารถร้องเรียนให้เกิดการแก้ไขได้         ขณะเดียวกัน คนขับก็ต้องมีสภาพการทำงานที่ดี ไม่ถูก “กดดัน” ให้ใช้ความเร็วสูง ทำงานเลยเวลา หรือทำงานต่อเนื่องนานเกินไป และพวกเขาควรได้รับข้อมูลการจราจรและสภาพอากาศอย่างทันท่วงที  นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังขอให้บริษัทพิจารณาลดค่าคอมฯ ที่เรียกเก็บจากคนขับทุกครั้งที่รับงานด้วย         อุตสาหกรรมนี้ในจีนเติบโตมาก ขณะนี้มีบริษัทขนส่งที่ได้รับอนุญาตถึง 318 ราย (ในจำนวนนี้มี 15 แพลตฟอร์ม) มีคนขับขึ้นทะเบียน 5.79 ล้านคน ยานพาหนะขึ้นทะเบียน 2.43 ล้านคัน ในเดือนมิถุนายนมีการเรียกใช้บริการถึง 763 ล้านครั้ง ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 ต่อเดือน  ย่อยนานไป ไม่ผ่าน         ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ไต้หวันจะ “แบน” ช้อน ส้อม จาน ชาม และภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจาก “พลาสติกชีวภาพ”         หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไต้หวันกล่าวว่าได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้เพิ่มการห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกชนิดโพลีแลคไทด์ (PLA) ที่เคยเชื่อกันว่าสามารถ “ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ”        เพราะพลาสติกชนิดนี้ใช้เวลาย่อยสลายนานเกินไปจนเป็นภาระต่อระบบรีไซเคิล และยังเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายของไต้หวันที่ต้องการลดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย        กฎหมายดังกล่าวห้ามหน่วยงานรัฐ โรงเรียน (ทั้งรัฐบาลและเอกชน) ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านฟาสต์ฟู้ด ใช้แก้ว ชาม จาน จานรอง กล่องอาหาร และถาดที่ทำจากพลาสติก PLA        ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,200 – 6,000 เหรียญไต้หวัน (ประมาณ 1,375 – 6,900 บาท)    ต่ำกว่าเป้า         สองปีก่อนเนเธอร์แลนด์เปิดตัวเลนจักรยานฝังโซลาเซลล์ที่ยาวที่สุดในโลก (350 เมตร) ที่หมู่บ้าน Maartensdijk อย่างยิ่งใหญ่         โครงการนำร่องซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาเมืองอูเทรคต์ และบริษัทก่อสร้าง Strukton ใช้เงินลงทุนมากถึง 1.3 ล้านยูโร (ประมาณ 49 ล้านบาท) เจ้าของโครงการยืนยันว่าถ้าประสบความสำเร็จ ต้นทุนในการสร้างเลนแบบนี้จะถูกลงเพราะจะทำให้เกิดความต้องการและการผลิตเป็นจำนวนมาก         แต่การณ์ไม่เป็นดังคาด จากที่ตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 137 kWh ต่อปี ผลประกอบการในปีที่แล้วกลับทำได้เพียงร้อยละ 27 ของเป้าหมาย ทั้งที่ฤดูใบไม้ผลิในปีนั้นแดดค่อนข้างแรงจัด ในขณะที่ตัวเลขของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 26 เท่านั้น         ผู้เชียวชาญบอกว่าอาจเป็นเพราะพื้นผิวไม่เรียบลื่นเท่าที่ควร เพราะเลนจักรยานต้องการความฝืดเพื่อป้องกันการลื่นล้มของผู้ขับขี่ ประกอบกับฝุ่นหรือโคลนจากล้อรถที่มาบดบังแสงอาทิตย์ด้วย         โครงการนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ เดือนมิถุนายนปีหน้าจะได้รู้กัน  บำบัดไม่ทัน         เมื่อการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงกลายเป็นทางเลือกในการเดินทางอันดับหนึ่งของชาวจีน ระบบบำบัด “ของเสียจากมนุษย์” ต้องทำงานเกินความสามารถจนอาจถึงขั้น “ล่ม” ได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน        การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงในปักกิ่งเป็นเวลาหนึ่งปี พบว่า ระดับสารประกอบออกานิก (ที่แสดงถึงการปนเปื้อนจากของเสียจากมนุษย์) ในแหล่งน้ำเหล่านี้สูงกว่าในน้ำเสียจากครัวเรือนทั่วไปหลายร้อยหลายพันเท่า อาจส่งผลให้สาหร่ายเติบโตอย่างรวดเร็วจนปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลง และอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิชนิดต่างๆ อีกด้วย         ส้วมในรถไฟไฮสปีดนั้นทั้งสะอาดและสะดวก แต่ของเสียในถังเก็บไม่มีเวลาและพื้นที่เพียงพอที่จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยความเร็วของรถไฟและจำนวนผู้ใช้บริการ และระบบบำบัดน้ำเสียที่สถานีก็ยังไม่ได้รับการอัปเกรดให้จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 กระแสต่างแดน

ถูกใจสิ่งนี้        ชาวเน็ตจีนแห่สรรเสริญมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหูหนาน ที่ใช้วิธีการอันแยบยลในการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงิน         จากการวิเคราะห์ข้อมูล “บิ้กดาต้า” เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินซื้ออาหารกลางวันของนักศึกษา 40,000 กว่าคน มหาวิทยาลัยพบว่ามีอย่างน้อย 2,000 คน ที่กินข้าวในโรงอาหารวันละ 3 มื้อ โดยใช้เงินไปไม่ถึง 11 หยวน (ประมาณ 55 บาท)         มหาวิทยาลัยจะพิจารณาว่านักศึกษาคนใดในกลุ่มนี้สมควรได้รับความช่วยเหลือ แล้วก็จะโอนมูลค่าเครดิต 200 หยวนเข้าไปใน “บัตรอาหาร” โดยอัตโนมัติ โดยจะโอนให้ปีละ 4 ครั้ง ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม กันยายน และ พฤศจิกายน         ผู้บริหารบอกว่าเด็กที่ฐานะทางบ้านยากจนส่วนใหญ่จะไม่กล้าติดต่อขอความช่วยเหลือ จึงเลือกใช้วิธีนี้เพราะสามารถช่วยให้เด็กเหล่านั้นได้กินอาหารอิ่ม โดยไม่ต้องรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นฉลากไม่เป็นมิตร         องค์กรผู้บริโภคยุโรป (BEUC) เรียกร้องให้แบนคำว่า “carbon neutral” “CO2 neutral” หรือ “climate positive” บนฉลากสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มในสหภาพยุโรป        การสำรวจพบว่าข้อความคลุมเครือเหล่านี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสินค้าที่ขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มประเทศสมาชิก         นอกจากฉลากหรือสัญลักษณ์ที่อ้างความ “เป็นมิตรต่อโลก” ในยุโรปที่มีมากถึง 230 แบบ จะสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ากระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนในกระบวนการผลิต ทั้งที่จริงๆ แล้วบริษัทเพียงใช้วิธีปลูกป่าเพื่อนำมาหักล้าง โดยยังคงสร้างคาร์บอนต่อไป และไม่มีหลักประกันว่าจะไม่สร้างเพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นต้น          ปัจจุบัน “ฉลากสิ่งแวดล้อม” ที่ใช้กันทั่วโลกมีถึง 450 แบบ จึงน่าจะมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่าตัวเองได้เลือกสินค้าที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อุปสรรคสำคัญ         สหประชาชาติระบุ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นปัจจัยบั่นทอนความพยายามของรัฐในการจัดหาแหล่งน้ำดื่มสะอาดให้กับประชากรอย่างทั่วถึงรายงานล่าสุดจาก UN University ที่สำรวจอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดใน 109 ประเทศ ยังพบความเหลื่อมล้ำอีกด้วย น้ำดื่มบรรจุขวดในซีกโลกเหนือจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้คนซื้อดื่มเพราะต้องการน้ำที่รสชาติดีและดีต่อสุขภาพแต่ผู้คนในซีกโลกใต้ต้องพึ่งน้ำดื่มบรรจุขวดเพราะต้องการน้ำดื่มสะอาด และกำไรมหาศาลของบริษัทน้ำดื่มในเอเชียแปซิฟิกก็ตอกย้ำความเฉื่อยชาของภาครัฐในการลงทุนกับระบบน้ำดื่มสาธารณะ ที่น่าสนใจคือผู้คนยอมจ่ายเพื่อความปลอดภัย แต่แทบไม่มีการสุ่มตรวจคุณภาพโดยภาครัฐเลยธุรกิจที่ดึงน้ำมาใช้ด้วยต้นทุนต่ำและผลิตน้ำบรรจุขวดขายในราคาแพงกว่าน้ำประปาถึง 150 – 1,000 เท่านี้ยังเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน เพราะนอกจากจะสร้างขยะพลาสติกแล้ว ยังทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ด้วยไต้หวันจะไม่ทน         ไต้หวันเตรียมเสนอร่างกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยความปลอดภัยบนท้องถนนในเดือนเมษายนนี้จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เครือข่ายถนนของไต้หวันถือเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรอยู่ที่ 12.67 คนต่อประชากร 100,000 คนการจราจรในไต้หวันได้รับการขนานนามจากสื่อว่าไม่ต่างอะไรกับสนามรบ และยังเป็นนรกสำหรับคนเดินถนนโดยแท้ ในปี 2565 มีผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่หยุดรถที่ทางม้าลายให้คนข้ามถึง 50,000 รายรายงานข่าวระบุว่าปัญหาหลักของถนนไต้หวันคือการออกแบบและการก่อสร้างที่ล้าสมัย บวกกับการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึงเพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องมากเกินไป ถนนในไต้หวันทำมาเพื่อรองรับรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก (แนวคิดเดียวกับถนนอเมริกาในยุค 60) ขนส่งมวลชนและคนเดินถนนจึงถูกละเลยการเพิ่มจำนวนไฟจราจรและกล้องวงจรปิดพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าสิ่งที่ไต้หวันต้องเปลี่ยนจริงๆ คือการออกแบบถนน และการปรับทัศนคติของผู้ขับขี่รถยนต์ ต้องมากกว่าหนึ่ง        นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศว่ารัฐบาลจะทบทวนการให้สิทธิผูกขาดกับผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและเป็นธรรมโดยแต่ละกระทรวงได้รับคำสั่งให้ไปศึกษาเหตุผลและความเป็นมาที่รัฐบาลเคยให้สิทธิดังกล่าวกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำการประเมินอย่างรอบคอบและเป็นธรรมว่าจะให้สิทธินั้นต่อหรือไม่ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ต่ออายุสัมปทานแบบผูกขาดให้กับบริษัท Puspakom ที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตรวจสภาพรถยนต์ตาม พรบ. ขนส่งทางบก ค.ศ. 1987 แต่เพียงผู้เดียวในมาเลเซียตั้งแต่ปี 1994 ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถที่ใช้ในการประกอบธุรกิจหมายความว่าเมื่ออายุสัมปทานดังกล่าวหมดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทอื่นที่ผ่านคุณสมบัติตามที่รัฐกำหนดก็สามารถประกอบกิจการดังกล่าวแข่งกับ Puspakom ที่ได้รับสัมปทานต่ออีก 15 ปีได้ เป็นที่ยินดีของผู้บริโภคที่จะไม่ต้องรอนาน และไม่ต้องทนกับภาวะไร้ทางเลือกอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 อยากยกเลิกการสั่งซื้อ แต่โดนร้านค้าขู่ต้องจ่ายค่าขนส่ง

        คุณกี้ได้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงกรณีการสั่งซื้อสินค้าของเธอ         “เนื่องจากเธออยากยกเลิกการสั่งซื้อแต่กลับโดนเก็บเงินค่าขนส่ง แถมโดนขู่จะดำเนินคดีอีกด้วย”  โดยเธอได้เล่าว่าหลายเดือนก่อนที่ผ่านมา เธอได้เห็นโฆษณาสินค้า “เซรั่มทาหน้า” ผ่านช่องทางทีวี เป็นสินค้าของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งที่ขายผ่านรายการทีวีบ่อยๆ พอได้ยินสรรพคุณของเซรั่มทาหน้าตัวนั้น ก็เกิดสนใจเพราะค่อนข้างตอบโจทย์เธอ เนื่องจากช่วงนี้ผิวหน้าเริ่มมีปัญหาถ้าซื้อมาใช้คงจะดีขึ้น แถมราคาก็พอซื้อได้ ราคา 990 บาท ซื้อ 1 แถม 1 และจัดส่งให้ฟรีอีกด้วย (มีหรอที่เธอจะพลาด) เธอจึงตัดสินใจ Add Line สั่งซื้อทันที และจ่ายแบบเก็บเงินปลายทาง        แต่แล้ว...เวลาผ่านไปยังไม่ทันข้ามวัน เธอคิดได้ว่ามีเหตุต้องใช้เงินเร่งด่วน จึงขอยกเลิกออเดอร์กับทางบริษัท แต่บริษัทกับตอบมาว่า “สามารถยกเลิกได้ แต่ต้องรับผิดชอบค่าขนส่งสินค้าจำนวน 150 บาท และบอกว่าสินค้ามีการจัดส่งแล้ว”  อ้าว...งงสิ ทำไมจัดส่งเร็วจัง แถมยกเลิกสินค้าต้องจ่ายค่าขนส่งด้วย(เธอคิด) ซึ่งเธอก็ได้ยืนยันกับทางบริษัทว่าไม่ขอจ่ายเงินค่าขนส่ง เนื่องจากตอนโฆษณาและตอนที่คุยกันไม่เห็นมีการแจ้งลูกค้าว่า หากต้องการยกเลิกสินค้าต้องจ่ายเงินจำนวนเท่านี้นะ         พูดคุยกับทางบริษัทสักพัก ทางบริษัทยังคงยืนยันให้รับผิดชอบ เลยคิดว่าหากต้องรับผิดชอบก็ขอดูใบเสร็จขนส่งหน่อย ถ้าส่งมาให้ดูจริงๆ เธอก็จ่ายให้ แต่สุดท้ายเธอก็ไม่ได้ใบเสร็จของขนส่ง ได้แต่ใบเสร็จที่ทางบริษัทออกเองเท่านั้น แถมยังโดนพนักงานต่อว่าประมาณว่า “ตั้งแต่ขายของมาไม่เคยเจอลูกค้าแบบเรา ว่าเราเป็นคนที่นิสัยแย่มากไม่มีความรับผิดชอบ” นอกจากนั้น ก็ส่งใบประกาศกฎหมายต่างๆ ของขนส่งสีส้ม สีเหลือง และอื่นๆ มาให้ดู ข้อมูลประมาณว่าถ้าหากซื้อสินค้าแล้วยกเลิกจะเป็นอย่างไรบ้าง พร้อมบอกกับเราว่าจะไม่ขอคุยต่อ แต่ให้ไปเจอกันในศาลโดยจะให้ทางบริษัทดำเนินคดีกับเราให้ถึงที่สุด ให้เป็นเคสตัวอย่างกับลูกค้าคนอื่นที่จะทำแบบเรา         หลังจากนั้นไม่กี่วันขนส่งก็ได้นำสินค้ามาส่ง แต่เธอปฏิเสธที่จะรับ บริษัทจึงติดต่อมาและขู่ว่า “ให้รอรับหมายศาลได้เลย ทางบริษัทจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด”  หลังจากนั้นเธอก็รอว่าจะมีการดำเนินการใดๆ หรือไม่ ปรากฏว่าทางบริษัทดังกล่าวเงียบหายไปเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณกี้ได้โทรติดต่อไปที่ Call Center ของขนส่งสีส้มเพิ่มเติมเพราะว่ามีการอ้างถึง และเล่าเรื่องราวพร้อมส่งรูปใบประกาศต่างๆ ที่แคปมาให้ทางขนส่งเพื่อสอบถามว่าได้ออกประกาศฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ทางบริษัทขนส่งที่ถูกอ้างถึงบอกว่า ไม่เคยจัดทำประกาศนี้ออกมา คุณกี้จึงได้แจ้งว่าแต่เธอได้รับข้อมูลมาจากทางบริษัทที่เธอได้ทำการสั่งซื้อสินค้า หากทางขนส่งไม่ได้ออกประกาศนี้แสดงว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารใช่หรือไม่ ซึ่งทางบริษัทขนส่งก็ได้บอกว่าจะแจ้งให้หัวหน้ารับทราบ คุณกี้เลยถามต่อว่าจัดการอย่างไร แต่กลับไม่มีคำตอบและได้ทำการบล็อกเธออีกด้วย          ทั้งนี้ เธอได้ไปร้องเรียนกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิฯ จึงได้โทรไปสอบถามเรื่องความคืบหน้าของผลการเจรจาเบื้องต้นระหว่างเธอกับบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า และหากว่า บริษัทมีการติดต่อเข้ามาหรือแจ้งดำเนินคดีกับเธอ มูลนิธิฯ พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ร้องต่อไป         ดังนั้นอยากให้ผู้บริโภคทุกคนก่อนซื้อสินค้าเช็กรายละเอียดให้รอบคอบ หากมีอะไรแปลกๆ เหมือนกรณีนี้อย่ายอมจ่ายเพื่อตัดปัญหาให้มันจบๆ ไป เนื่องจากจะเป็นการทำให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบเราได้ไปเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 กระแสต่างแดน

ทำงานช่วยชาติ         รัฐบาลเดนมาร์กมีมติยกเลิกการหยุดงานในวัน Great Prayer Day ซึ่งเป็นวันสำคัญทางคริสต์ศาสนามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยให้เหตุผลว่าต้องการเงินทุนเพิ่มสำหรับการใช้จ่ายภาครัฐรวมถึงการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มให้กับกระทรวงกลาโหมในยุคที่ประเทศอาจต้องเผชิญสงคราม         ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะไม่มี “ลองวีคเอนด์” ที่เริ่มจากวันศุกร์ที่สี่หลังอีสเตอร์ ในฤดูใบไม้ผลิ หรือวัน Great Prayer Day นั่นเอง         เมื่อไม่ใช้วันหยุด ห้างร้าน สถานประกอบการ และธุรกิจอื่นๆ ก็ต้องเปิดทำการ เมื่อผู้คนมีชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ 7.4 ชั่วโมง ก็ย่อมมีรายได้เพิ่มและเสียภาษีมากขึ้นตามไปด้วย         กระทรวงการคลังประเมินว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านแดนิชโครน (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) และจะบรรลุเป้าหมายที่นาโตกำหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกจะต้องมีงบป้องกันประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เล็กๆ ห้ามแจก         อีกสองปีโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 50 ห้องในเกาหลีจะยกเลิกการแจกสบู่ แชมพู โลชัน ยาสีฟัน ฯลฯ ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้กับแขกที่เข้าพัก เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การรีไซเคิลทรัพยากร (Resource Recycle Act)         หลายคนไม่ถูกใจสิ่งนี้ เพราะของใช้ส่วนตัวดังกล่าวเป็นปัจจัยที่คนเกาหลีจำนวนไม่น้อยใช้เลือกโรงแรมที่เข้าพัก เพราะมันหมายถึงโอกาสที่จะได้ใช้ “ของไฮเอนด์” เช่นเดียวกับบรรดาแบรนด์ต่างๆ ที่มักใช้วิธีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านทางลูกค้าของโรงแรม         ผลตอบรับจากโรงแรมที่เริ่มใช้นโยบายนี้แล้วออกมาไม่ค่อยดีนัก พนักงานบอกว่าลูกค้าส่วนหนึ่งที่ไม่อยาก “ใช้ของร่วมกับคนอื่น”​ จะโทรลงมาขอสบู่ แชมพู ขวดใหม่ บางคนที่อยากได้แชมพูหรือครีมอาบน้ำไว้ใช้ต่อก็พกพาขวดใหญ่กลับบ้านไปด้วย        บางโรงแรมจึงแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้ลูกค้าได้กดซื้อเองไปเลย น้องไก่กู้โลก         หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมือง Colmar ทางตะวันออกของฝรั่งเศส มีวิธีกำจัดขยะอาหารแบบ “ออกานิก” ด้วยการแจกไก่ให้ลูกบ้านนำไปเลี้ยงครัวเรือนละสองตัว         โครงการไก่กู้โลกนี้ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่แปดแล้ว โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการได้ต้องมีสภาพบ้านที่เหมาะสมในการเลี้ยง และเพื่อให้มั่นใจว่าน้องๆ จะอยู่ดีมีสุขตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะแวะไปเยี่ยมเยียนโดยสม่ำเสมอด้วย        ไก่หนึ่งตัวมีศักยภาพในการเก็บกินอาหารเหลือได้วันละประมาณ 300 กรัม เขาคำนวณแล้วว่าวิธีการนี้สามารถกำจัดขยะอาหารของครัวเรือนที่มีสมาชิกสองคนได้ถึงปีละ 100 กิโลกรัม         อีกแผนแก้ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากอาหารการกินของฝรั่งเศสคือการเตรียมประกาศ “มาตรฐานการทำปุ๋ยหมัก” ให้ทุกครัวเรือนสามารถใช้อ้างอิงได้ ในเดือนมกราคมปี 2567 และขณะนี้บางโรงเรียนเริ่มลดปริมาณเนื้อสัตว์ในอาหารกลางวันแล้วน้อยก็ต้องทอน         ชายอินเดียวัย 27 ปียื่นฟ้องบริษัทขนส่งมวลชนบังกาลอร์ (BMTC) เรียกร้องค่าเสียหายทางจิตใจที่ถูกกระเป๋ารถเยาะเย้ยเมื่อเขาทวงเงินทอน 1  รูปี         เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนกันยายนปี 2562 เมื่อเขาโดยสารรถเมล์ของ BMTC แล้วให้เงินกระเป๋ารถไป 30 รูปี เพื่อจ่ายค่าโดยสารในอัตรา 29 รูปี แต่กระเป๋าไม่ยอมทอนเงินให้ แถมเธอยังพูดจาไม่ดี เมื่อเขาไปร้องเรียนกับพนักงานอาวุโสของบริษัท คนเหล่านั้นก็หัวเราะเยาะเขาอีกเช่นกัน         เขาจึงใช้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ยื่นฟ้องบริษัทและผู้บริหาร ข้อหาบกพร่องในการให้บริการ  และเรียกร้องค่าเสียหาย 15,000 รูปี จากการถูกทำให้เสียความรู้สึก            หลังจากต่อสู้คดีกันเป็นเวลา 3 ปี ศาลตัดสินว่าพฤติกรรมการให้บริการของกระเป๋ารถคนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และตัดสินให้เขาได้รับเงินทอน 1 รูปี พร้อมค่าชดเชยอีก 3,000 รูปี (ประมาณ 1,250 บาท) เพื่อเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจรับมือตัวฤทธิ์         ซัมเมอร์นี้อิตาลีคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับไปเหมือนก่อนช่วงโควิดระบาด และคราวนี้บรรดาเมืองเล็กที่อยู่ในเส้นทางระหว่างสถานที่ยอดนิยมก็เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว        ชุมชนเหล่านี้มีจุดยืนว่าจะไม่ “รับทุกคน” ถนนบางสายถูกกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะผู้มีใบขับขี่อิตาลี บางสายที่คนท้องถิ่นใช้สัญจรไปมาหนาแน่นก็ไม่อนุญาติให้รถยนต์หรือจักรยานยนต์ของนักท่องเที่ยว (ทะเบียนต่างชาติ) เข้ามาวิ่ง             หลายที่บังคับใช้การจองผ่านแอปฯ เพื่อจำกัดจำนวนคน บางเมืองห้ามนำรถยนต์เข้าถ้าเข้าพักไม่ถึงสี่วัน ทั้งนี้รถต่างถิ่นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้า และชาวต่างชาติจะต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดินในฤดูร้อน 3 ยูโร ด้วย         นอกจากนี้ยังมีนโยบายจำกัดจำนวนห้องที่นำมาให้บริการที่พักกับนักท่องเที่ยว เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาหรือคนทำงานที่ต้องการที่อยู่ จะไม่ขาดแคลนห้องเช่านั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ยกเลิกการสั่งสินค้าได้ แต่ต้องจ่ายค่าขนส่ง

เสียงของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ในวันนี้ คือ คุณเฉลิมศิริ พิพัธนไชย แฟนตัวยงและสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อ ปัจจุบันนี้ทำงานอยู่ที่บ้าน เป็นแอดมินฟรีเลนซ์ งานที่ทำค่อนข้างเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคพอสมควร เธอเล่าว่า “โดยนิสัยส่วนตัวคือตั้งแต่เด็กมาแล้วเป็นคนที่ไม่ชอบให้ใครมาเอาเปรียบในเรื่องสิทธิของเรา และก็เป็นคนไม่ชอบเอาเปรียบใครในเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน จะเป็นคนที่ไม่ค่อยยอมถ้ามีใครมาเอาเปรียบเรื่องพวกนี้ เช่นถ้าซื้อของแล้วบอกเราจะได้แบบนี้แล้วปรากฏว่าไม่ได้ตามที่คุยไว้เราก็จะถามเลยว่าเพราะอะไร ทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเป็นบางคนเขาก็จะยอมๆ ไป ทำไมต้องเรื่องเยอะเรื่องมาก แต่สำหรับเรามีความรู้สึกว่าถ้าเรายอมให้เขาทำแบบนี้เรื่อยๆ คนที่ทำเขาก็จะคิดว่าทำได้ไม่ผิดแล้วเขาก็จะทำต่อไป” อยากให้เล่าเหตุการณ์ณ์ที่เกิดขึ้น         ย้อนกลับไปสัก 6  เดือนที่แล้ว วันนั้นนั่งดูโทรทัศน์รายการหนึ่งช่วงเช้า ก็ดูรายการตามปกติช่วงท้ายรายการเขามีการโฆษณาขายสินค้าทุกวัน วันนั้นเป็นการขายเซรั่มทาหน้าของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งซึ่งเราจะเจอได้บ่อยๆ ตามรายการต่างๆ อยู่แล้ว วันนั้นเป็นการโฆษณาขายเซรัมทาหน้า เราก็ฟังที่เขาพูดพอดีสรรพคุณของเซรัมที่เขาโฆษณามันตอบโจทย์ตรงกับที่เราต้องการพอดี เนื่องจากช่วงนี้ผิวหน้าเรามันเริ่มมีริ้วรอยจุดด่างดำ แล้วกำลังหาข้อมูลของครีมหรือเซรัมที่จะมาใช้พอดี เราฟังสรรพคุณแล้วมันตรงกับที่เราต้องการแล้วราคาที่เขาบอกเราพอจะซื้อได้ ราคาเซรัมที่เขาแจ้ง คือ 990 บาท ซื้อ 1 แถม 1 ถ้าสั่งซื้อตอนนี้คือส่งฟรี สามารถเก็บเงินปลายทางได้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แล้วเซรั่มสามารถใช้งานได้นานถึงครึ่งปี ก็เลยตัดสินใจว่าจะซื้อมาทดลองใช้ดู เขาให้สแกน QR Coad ที่ขึ้นหน้าจอเพื่อ Add Line ติดต่อสั่งซื้อกับพนักงานขาย หลังจาก Add Line แล้วก็มีพนักงานน่าจะเป็นผู้ชาย ทักมาบอกโปรโมชั่นนี้ตามที่โฆษณาในทีวี เราก็สั่งซื้อไป 1 ชุด ในราคา 990 บาท ส่งฟรี เก็บเงินปลายทาง จำได้ว่าสั่งไปช่วงประมาณไม่เกิน 11 โมงเช้าของวันนั้น เพราะรายการที่ดูจบตอน 10 โมง         หลังจากนั้นช่วงบ่ายสามหรือสี่โมงเย็นในวันนั้นเราต้องการยกเลิกการสั่งซื้อ เนื่องจากมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนและคิดว่าน่าจะยังไม่สามารถซื้อได้ช่วงนี้ เลยแจ้งเจ้าหน้าที่คนที่รับคำสั่งซื้อทางไลน์ว่าจะขอยกเลิกการสั่งสินค้าไปก่อนเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินช่วงนี้ยังไม่สะดวก ถ้าสะดวกแล้วจะสั่งไปใหม่อีกครั้ง ทางเจ้าหน้าที่น่าจะเป็นผู้ชายเพราะตอนที่คุยใช้คำว่าครับ แจ้งกลับมาว่าสามารถยกเลิกได้แต่เราจะต้องรับผิดชอบค่าขนส่งสินค้าเป็นจำนวนเงิน 150 บาท เขาบอกว่าสินค้าของเรามีการจัดส่งแล้ว เราถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมเราจะต้องรับผิดชอบเสียค่าขนส่งในเมื่อสินค้าก็ยังไม่ได้มาถึงบ้าน แล้วตอนที่คุณโฆษณาทางเจ้าของที่มาพูดก็แจ้งว่าจัดส่งฟรี แล้วเราเพิ่งสั่งสินค้าคุณไปช่วงเช้าเอง แล้วขอยกเลิกในช่วงเย็นทำไมถึงมีการส่งออกสินค้าเร็วขนาดนั้น เราคิดว่าระยะเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง ทางบริษัทน่าจะยกเลิกให้ได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าสินค้ามีการส่งแล้วเราสามารถยกเลิกได้ แต่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่าขนส่ง 150 บาท โดยเจ้าหน้าที่ให้เลขที่บัญชีมาเพื่อให้โอนเงินไปให้ ทางเราก็ยืนยันว่าเราจะไม่ขอรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้ในเมื่อตอนที่เราดูในทีวีกับตอนที่เราคุยกันไม่มีใครแจ้งว่าถ้ายกเลิกสินค้าแล้วเราจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งเป็นเงิน 150 บาท ตามที่เขาบอก         ก็คุยเหตุผลกันไปมาในไลน์สักพักเขาก็แจ้งว่าเขาต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้แทนเรา เราก็บอกว่าขอดูเอกสารการส่งสินค้าและใบเสร็จค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้า ซึ่งถ้าเขาต้องรับผิดชอบเราก็จะจ่ายให้แต่ขอจ่ายจริงตามใบเสร็จที่ส่งของ ทางเจ้าหน้าก็ที่ส่งใบส่งของให้ดูว่ามีการส่งในวันนี้เวลากี่โมง ซึ่งเป็นเอกสารของทางบริษัทที่ออกเองไม่ใช่ของทางบริษัทขนส่ง ส่วนใบเสร็จค่าส่ง เขาก็ไม่ให้ดูโดยให้เหตุผลว่าเขาไม่สะดวกไม่มีนโยบายให้ลูกค้าดู เราก็ยืนยันว่าจะไม่จ่ายตามจำนวนที่แจ้งมาจะจ่ายให้ตามใบเสร็จค่าขนส่งเท่านั้น         จริงๆ เราจะไม่จ่ายก็ได้แต่เห็นเจ้าหน้าที่พูดว่าถ้าเราไม่จ่ายเขาจะต้องเป็นคนจ่ายเงินตัวเองให้กับทางบริษัทเราก็เลยจะรับผิดชอบแทนให้ แต่เขาก็ยืนยันว่าเราต้องจ่ายให้เขา 150 บาทเท่านั้น คุยกันสักพักเขาเริ่มพูดจาไม่ดี มีการต่อว่าเรา เขาบอกว่าตั้งแต่เขาขายของมาไม่เคยเจอลูกค้าแบบเรา ว่าเราเป็นคนที่นิสัยแย่มากไม่มีความรับผิดชอบ ลูกค้าคนอื่นๆ ที่เขายกเลิกเขาก็ยินดีโอนเงินจ่ายคืนให้บริษัททุกเคสคือ 150 บาท ไม่มีใครเคยปฏิเสธ เพิ่งเคยเจอเราเป็นคนแรกที่ไม่ยอมจ่าย หลังจากนั้นก็ส่งใบประกาศที่ออกโดยบริษัทขนส่งสีส้ม สีเหลือง แล้วก็บริษัทอื่นอีกมาให้เราดู โดยในรายละเอียดใบประกาศมีมาตรา กฎหมายแจ้งว่าถ้ามีการสั่งสินค้าแล้วลูกค้ายกเลิก ลูกค้าจะต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายที่ทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย ถ้าไม่จ่ายทางบริษัทสามารถดำเนินคดีกับลูกค้าได้ เนื้อหาโดยจะประมาณนี้         เราแคปเอกสารที่เขาส่งไว้ทั้งหมดรวมทั้งคำพูดที่คุยกันในไลน์ ทางเจ้าหน้าที่ที่คุยกับเราเขาบอกว่าจะไม่คุยต่อแล้วไว้ให้ไปเจอกันในศาลจะให้ทางบริษัทดำเนินคดีกับเราให้ถึงที่สุด จะให้เป็นเคสตัวอย่างกับลูกค้าคนอื่นๆ ที่จะทำแบบเรา เราก็เลยแจ้งไปว่าก็แล้วแต่คุณเห็นสมควร แต่เรายืนยันว่าเราจะไม่จ่ายเงินให้อย่างแน่นอน หรือถ้าจ่ายก็ต้องจ่ายตามใบเสร็จเท่านั้น หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้คุยต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้ชายคนนั้นอีก ตอนที่เจ้าหน้าส่งเอกสารประกาศของบริษัทขนส่งที่แจ้งว่าจะดำเนินคดีกับลูกค้าที่สั่งสินค้าแล้วปฏิเสธการรับสินค้ามาให้แล้วได้ดำเนินอะไรต่อบ้าง         หลังจากนั้น เราได้โทรไปถามกับบริษัทขนส่งชื่อดังสีส้ม Call Centre เขาให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางไลน์ น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ เราเล่าเหตุการณ์คร่าวๆ แล้วส่งใบประกาศที่แคปมาจากบริษัทนั้นให้เจ้าหน้าที่ดู แล้วถามเขาว่าทางบริษัทของเขาได้ทำประกาศฉบับนี้ออกมาใช่หรือเปล่า ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าทางบริษัทเขาไม่เคยจัดทำและไม่ได้จัดทำประกาศฉบับนี้ออกมา เราเลยแจ้งว่าเราได้รับเอกสารประกาศนี้จากเจ้าหน้าที่บริษัทที่เราสั่งของส่งมาให้ โดยเขาอ้างว่าเอามาจากบริษัทของคุณทางบริษัทของคุณเป็นคนออกประกาศนี้ เราเลยบอกว่าถ้าทางบริษัทคุณไม่ได้ออกเอกสารฉบับนี้ก็เท่ากับว่าบริษัทนั้นจัดทำเอกสารขึ้นมาเองโดยอ้างชื่อบริษัทคุณว่าเป็นคนจัดทำ แล้วอย่างนี้ทางบริษัทคุณจะจัดการอย่างไรบ้าง แสดงว่าเขาปลอมแปลงเอกสาร ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะแจ้งให้ทางหัวหน้ารับทราบ แล้วก็เลิกคุยไปเลย เราก็ถามไปว่าสรุปคุณจะจัดการอย่างไร แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งสีส้มไม่คุยกับเราต่อแล้วบล็อกเราไปเลย         เราเลยโทรปรึกษาเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แล้วเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เขาฟัง เขาก็เลยให้เราแจ้งเรื่องนี้เข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเหลือในเรื่องนี้ หลังจากนั้นอีกประมาณสองวัน สินค้าตัวที่เราแจ้งยกเลิกไปมาส่งที่บ้านเรา โดยมีเจ้าหน้าที่จากขนส่งโทรมาแจ้งว่าจะมีสินค้ามาส่งเก็บเงินปลายทางเป็นจำนวนเงิน 999 บาท เราเลยแจ้งเจ้าหน้าที่ไปว่าไม่ต้องเอาเข้ามาส่งเพราะเราแจ้งยกเลิกไปแล้ว เขาก็เลยไม่ได้นำส่ง หลังจากนั้นสักพักมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงจากบริษัทที่เรายกเลิกสั่งของโทรมาแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโกดังจ่ายของเขาถามว่าเราปฏิเสธการรับของใช่หรือไม่ เราแจ้งว่าใช่เพราะเราแจ้งยกเลิกไปกับเจ้าหน้าที่ขายผู้ชายในไลน์แล้ว เมื่อมีของมาส่งเราเลยปฏิเสธการรับ เขาแจ้งว่าจริงๆ เรายกเลิกไม่ได้เราเลยบอกขอไม่คุยต่อเพราะเหตุผลต่างๆ ได้แจ้งไปตั้งแต่แรกแล้วให้ไปถามกับคนที่เรายกเลิกเอง สักพักมีไลน์จากบริษัทนี้แจ้งเข้ามาจากเจ้าหน้าที่ผู้ชายที่คุยกับเราคนแรก แจ้งว่าให้เรารอรับหมายศาลได้เลยจะให้ทางบริษัทดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง เราก็บอกว่าไม่เป็นไรเอาตามที่คุณเห็นสมควรคงคุยกันแค่นี้เพราะไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากนั้นเราก็รอว่าจะมีการดำเนินคดีหรือมีการติดต่อใดๆ จากบริษัทมาอีก แต่ปรากฏว่าเงียบหายไป ไม่มีการติดต่อกลับมาอีกเลย แถมยังมีการส่งไลน์มาขายของอีกเป็นระยะด้วย ทางบริษัทฯ ยังติดต่อเข้ามาหรือไม่         ทางบริษัทไม่มีการติดต่อใดๆ มาเลยทั้งจากบริษัทที่สั่งของไป หรือบริษัทขนส่งสีส้มที่เราถามเรื่องประกาศแจ้งการยกเลิกสินค้า ทั้งสองที่ไม่มีการติดต่อเข้ามาเลย ซึ่งหลังจากที่เกิดเรื่อง เราได้ติดต่อไปที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดยเล่าให้กับเพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่ฟัง แล้วก็มีการเขียนร้องเรียนไปที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่โทรติดต่อมาสอบถามเรื่องราวต่างๆ ว่า สรุปว่าทางบริษัทได้มีการดำเนินคดีตามที่เขาแจ้งหรือมีการติดต่อกลับมาว่าอย่างไร ซึ่งทางเราได้แจ้งไปว่าทางบริษัทเขาไม่ได้มีการติดต่อเข้ามา ทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิก็แจ้งว่าในกรณีถ้ามีการแจ้งดำเนินคดีหรือมีเรื่องที่เกี่ยวข้องจะให้ความช่วยเหลือต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้น มีคำแนะนำกับผู้บริโภคท่านอื่นๆ ในการพิทักษ์สิทธิ์อย่างไร         คือมองว่าการที่เราเป็นผู้บริโภค เป็นผู้ซื้อหรือผู้รับบริการต่างๆ ทุกคนควรมีสิทธิที่จะดูแลปกป้องสิทธิของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเวลาที่เราทุกละเมิดถูกกระทำแล้วเราจะต้องกลัวว่าจะมีเรื่องมีราวตามมาหรือจะต้องยอมทุกครั้งทั้งๆ ที่เราไม่ได้ผิด คือสำหรับตัวเองถ้าเราไม่ผิดเราจะไม่ชอบให้ใครมาเอาเปรียบ เรามีสิทธิที่จะปกต้องตัวเราและผู้บริโภคคนอื่นๆ ที่เกิดเหตุการณ์เหมือนเรา         ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าทุกครั้งควรศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วน ชื่อบริษัท รายละเอียดสินค้าต่างๆ ควรดูให้ครบถ้วน อย่างกรณีโฆษณาขายสินค้าในทีวี เราควรถ่ายรูปรายละเอียดที่เขาขึ้นหน้าจอไว้ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง หรือถ้าใน Platform ต่างๆ เราก็ควรแคบหลักฐานต่างๆ ไว้ให้ครบถ้วน ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดหรือเสียหายเราจะได้มีหลักฐานเก็บไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 หนุ่มงง! ถูกจับข้อหาใช้ป้ายแดงปลอม

        ข้อมูลจาก "กรมการขนส่งทางบก" ระบุว่า ป้ายแดงที่ถูกกฎหมายนั้นไม่มีขาย แต่มีอยู่ในความครอบครองของบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งมีไว้ใช้ติดรถเพื่อนำรถไปส่งให้ลูกค้า หรือนำรถไปซ่อมแซมเท่านั้น โดยต้องใช้ควบคู่กับสมุดคู่มือประจำรถด้วย ดังนั้น ถ้าใครซื้อรถใหม่ติดป้ายแดงมาแล้วไม่มีสมุดคู่มือประจำรถมาด้วย ไม่ว่าเซลล์จะอ้างอย่างไร ก็อย่าเพิ่งรับรถ ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงเกิดความเสียหายอย่างคุณนพได้         ย้อนไปเมื่อกรกฎาคม 2565 คุณนพตั้งใจจะซื้อรถกระบะแบบมีคอกเอาไปใช้ขนส่งมะพร้าวแห้ง ได้เช็กโปรโมชั่นของหลายๆ ยี่ห้อ จนไปสะดุดตาโฆษณาบนเฟซบุ๊กที่เขียนว่า รีโวกระบะแต่งคอก รับรถเพียง 9,000 จึงโทร.ติดต่อไปคุยกับผู้จัดการศูนย์รถยนต์แห่งหนึ่งย่านตลิ่งชัน ทางผู้จัดการก็ได้ส่งให้คุยกับทางเซลล์ต่อ โดยเซลล์ขอให้แอดไลน์ส่วนตัวเพื่อส่งรูปภาพรถตัวอย่างมาให้ดู เมื่อได้คุยไลน์กับเซลล์เกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ เขาก็ประทับใจที่เซลล์คนนี้ดูมีความเชี่ยวชาญและเข้าใจความต้องการของลูกค้าดี และสรุปราคาทุกข้อตกลงกันเป็นที่น่าพอใจ เขาจึงเข้าไปที่โชว์รูม พอได้ทดลองขับรถจริงแล้วก็ยิ่งถูกใจ จึงตัดสินใจซื้อและได้นัดทำสัญญากับไฟแนนซ์เลย         ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม คุณนพไปรับรถที่ศูนย์ เซลล์ถามว่าจะให้ติดป้ายแดงเลยไหม เขาบอกให้ติดได้เลยและขอสมุดเล่มป้ายแดงด้วย แต่ทางเซลล์แจ้งว่ายังไม่มี เนื่องจากทางขนส่งทำไม่ทันเพราะติดโควิด และรับปากว่าถ้าเสร็จแล้วจะรีบส่งให้ โดยเซลล์ได้ให้ความมั่นใจว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นให้โทร.หาได้ตลอด ในวันนั้นคุณนพจึงขับรถกระบะป้ายแดงกลับบ้านโดยไม่ได้เอะใจอะไร         แต่ขับรถป้ายแดงคันนี้ได้ไม่ถึงเดือน เขาก็โดนตำรวจจับข้อหาใช้ป้ายทะเบียนปลอม         วันนั้นระหว่างที่เขาขับรถกลับจากต่างจังหวัดเพื่อมายังที่พัก โดยใช้เส้นทางบูรพาวิถี กม.6 ต. บางแก้ว อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ ขณะที่กำลังเข้าช่องผ่านเงินเก็บค่าผ่านทาง ตำรวจโบกเรียกระหว่างออกจากช่องจ่ายเงิน และขอดูใบขับขี่ เขาจึงหยิบให้ดู แต่พอตำรวจขอดูสมุดคู่กับป้ายแดง เขาบอกไปว่าไม่มีเพราะเซลล์ไม่ได้ให้มา ตำรวจจึงให้ชิดช่องทางและเดินดูรถโดยรอบก่อนจะแจ้งว่าเขาใช้ป้ายทะเบียนปลอม พร้อมแจ้งข้อหาจับกุมในฐานปลอมแปลงเอกสารทางราชการ จากนั้นตำรวจก็ขับรถพาเขาไปที่จุดพักรถบนทางด่วน ถอดป้ายทะเบียนออกมาเป็นของกลาง เขียนบันทึกการจับกุมและอ่านให้เขาฟัง แล้วพาไปสอบสวนต่อที่พอสถานีตำรวจภูธรบางแก้ว เขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของตำรวจและได้โทร.หาเซลล์ให้รีบมาประกันตัวเขา ระหว่างนั้นเขาต้องเข้าไปนั่งในห้องขังประมาณ 3-4 ชั่วโมง กว่าเซลล์จะมาถึงและทำเรื่องประกันตัวจำนวน 50,000 บาท แล้วตำรวจยังบอกให้รอเรื่องที่กำลังส่งป้ายทะเบียนไปที่กรมการขนส่งทางบกเพื่อให้ตรวจสอบว่าจริงหรือปลอมด้วย ถ้าปลอมก็จะได้ทำสำนวนฟ้องศาลต่อไป         คุณนพคิดว่าเขาไม่ได้เป็นคนผิด แต่ทางเซลล์ของโชว์รูมรถยนต์ต่างหากที่เป็นคนเอาทะเบียนปลอมมาติดให้ ทำให้เขาได้รับความเสียหาย จึงได้นำเรื่องมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้เกี่ยวข้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณนพไปแจ้งความที่สถานีตำรวจตลิ่งชัน เกี่ยวกับป้ายทะเบียน ซึ่งทางศูนย์รถยนต์เป็นผู้ที่ให้มาไม่ใช่เป็นของคุณนพ ซึ่งการแจ้งความถือเป็นการหาพยาน ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องจริงไม่ใช่เป็นการกล่าวหา เพราะถ้าโกหกก็ถือว่าแจ้งความเท็จ         คดีแพ่ง –คุณนพเรียกค่าเสียหายจากบริษัทรถยนต์ โดยการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกัน แต่หากตกลงกันไม่ได้ ผู้ร้องก็ยังสามารถฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคได้ ซึ่งในเคสนี้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือไปถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัทรถยนต์ เพื่อให้เร่งเยียวยาค่าเสียหายให้กับทางผู้ร้องเรียบร้อยแล้ว (จากนั้นมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันหลายครั้ง และคุณนพได้เล่าเรื่องนี้ออกสื่อต่างๆ จนได้รับความสนใจ ในที่สุดคู่กรณีก็ตกลงกันได้แล้วเมื่อธันวาคม 2565)         คดีอาญา – คุณนพถูกตำรวจตั้งข้อหาใช้ทะเบียนรถปลอม เข้าข่ายกรณีใช้เอกสารทางราชการปลอม เมื่อถึงศาลผู้ร้องจะต้องมีเงินวางประกัน เป็นจำนวนประมาณ 60,000 บาท แต่ถ้าไม่มีเงินประกันผู้ร้องจะต้องไปที่ศาลตรงชั้น 1 จะมีการซื้อประกันอิสรภาพ ซึ่งจะมีตัวแทนของประกันเช่น วิริยะประกันภัย ทิพยประกันภัย ช่วยในส่วนนี้ ซึ่งจะต้องเสียเงินประมาณไม่เกิน 20,000 บาท แต่ต้องมีบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ญาติมาเป็นคนค้ำประกันด้วย ซึ่งในส่วนของผู้ค้ำประกันนั้นบุคคลธรรมดาจะต้องมีตำแหน่งซี 3 ขึ้นไป และถ้าเป็นตำรวจจะต้องเป็นชั้นสัญญาบัตร และผู้ร้องต้องนำเอกสารต่าง ๆ เช่น สลิปเงินเดือนไปแสดงด้วย (ในคดีนี้ ทางอัยการจังหวัดสมุทรปราการได้เข้ามาช่วยเหลือเพื่อไม่ให้มีการสั่งฟ้อง) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 พอโควิดคลี่คลายพี่แท็กซี่ก็ออกลายมาเลย

        สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดกำลังดีขึ้น รัฐบาลคลี่คลายมาตรการต่างๆ ขนส่งมวลชนกลับมาให้บริการตามปกติไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถตู้ รถทัวร์ เรือ สายการบิน รถรับจ้าง การคิดค่าโดยสารก้น่าจะเป็นไม่ตามปกติ แต่กลับไม่เป็นแบบนี้ รถแท็กซี่กลับทำตัวไม่น่ารัก เรามาดูกันว่ารถแท็กซี่ทำตัวไม่น่ารักอย่างไร         คุณเชอรี่ ไปทำงานต่างจังหวัด เมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อยก็นั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินดอนเมืองเพื่อเดินทางกลับบ้านแถวเมืองนนทบุรี เมื่อมาถึงสนามบินดอนเมืองประมาณสองทุ่ม เธอไปต่อแถวกดคิวเรียกรถแท็กซี่ในสนามบิน ได้คิวที่ 216 รอคิวประมาณร้อยกว่าคิว         “โอ๊ะ ท่าจะไม่ไหวเมื่อไหร่จะถึงบ้านกัน” คิดอย่างนั้นแล้ว เธอจึงไม่รอและลากกระเป๋าไปเรียกรถแท็กซี่หน้าสนาบินเพื่อกลับบ้านแทนการรอคิวแท็กซี่ในสนามบิน รถแท็กซี่หน้าสนามบินก็ไม่ค่อยมีเหมือนกัน แต่ก็มีคนรอเรียกอยู่หลายคน เธอเห็นว่า คนก่อนหน้าเธอสองสามคนเรียกแท็กซี่ แท็กซี่ก็ไม่ได้รับคนโบกก่อนหน้าเธอขึ้นไปสักราย จนลำดับถัดมาถึงเธอถึงรู้ว่าแท็กซี่ขอคิดราคาแบบเหมาไม่คิดราคาตามมิเตอร์ จากสนามบินดอนเมืองไปบ้านเธอแถวเมืองนนทบุรีคิดราคา 400 บาท         “พี่ก็คิดราคาขูดรีดเกินไป” คุณเชอรี่จึงปฏิเสธไม่ไป เพราะปกติเธอนั่งกลับบ้านประมาณแค่สองร้อยกว่าบาท เต็มที่สุดไม่เกินสามร้อย ไม่เพียงแท็กซี่คันดังกล่าวเธอยังเจอแท็กซี่คิดราคาแบบเหมาอีกสี่คันรวด เธอเรียกรถแท็กซี่ถึงห้าคันจึงเจอรถแท็กซี่ที่คิดราคาตามมิเตอร์ เธอจำได้ว่ารถแท็กซี่ต้องคิดราคาค่าโดยสารตามมิเตอร์ ดังนั้นจึงมาปรึกษามูลนิธิว่าจะทำอย่างไรได้บ้างไหมกับกรณีเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ตามกฎหมายแล้วรถแท็กซี่ต้องเก็บค่าบริการตามอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ไม่สามารถคิดค่าบริการแบบเหมาได้ ถ้าพบรถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการแบบเหมา สามารถร้องเรียนได้ที่กรมการขนส่งทางบก โทรศัพท์ 1584 โดยแจ้งทะเบียนรถและสถานที่ที่เกิดเหตุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 คนกรุงเทพฯ ต้องการระบบขนส่งมวลชนแบบไหน

        ผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้วที่ประเทศไทยเรามี “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตำแหน่งนี้อาจเป็นความหวังอีกครั้งหนึ่งที่มวลชนชาวกรุงเทพฯ คาดหวังว่าระบบขนส่งมวลชนของเมืองแห่งนี้ น่าจะดีขึ้นเสียที แต่ความคาดหวังเป็นเรื่องหนึ่งส่วนผลลัพธ์อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ เพราะว่าลำพังแค่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนเมืองซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนานนี้ได้  อย่างไรก็ตามก่อนจะไปถึงเรื่องว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ เรามาทบทวนกันสักนิดว่า คนกรุงเทพฯ เขามีความหวังหรือความต้องการในเรื่องใดบ้างของบริการขนส่งมวลชนสำรวจกับใคร เมื่อไร         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้บริการขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,200 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8 - 17 กันยายน 2564    ผลสำรวจน่าสนใจ         คนกรุงเทพฯ มีขนส่งมวลชนให้เลือกได้อย่างเพียงพอ (ร้อยละ 85) อย่างไรก็ตามระยะทางที่สามารถเดินเท้าไปถึงจุดใช้บริการต้องเดินในระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ถึงร้อยละ 38.2 ระยะทาง 500 เมตร ร้อยละ 27.1 ระยะทาง 1,500 เมตร ร้อยละ 18.5 และมากกว่า 1,500 เมตร ร้อยละ 16.2         ขนส่งมวลชนที่มีให้เลือกใช้บริการ (จากที่พักอาศัย) มากที่สุดคือ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) ร้อยละ 84 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 72.7 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 51.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 48.4 อันดับที่ห้าคือ รถสองแถว ร้อยละ 44.7 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 33.5         ดังนั้นการเดินทางของกลุ่มตัวอย่างจึงตอบว่าใช้บริการ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) มากที่สุด ร้อยละ 68 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 42.6 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 45.5 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 30 อันดับที่ห้าคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 28.2 และอันดับสุดท้ายคือ รถสองแถว ร้อยละ 23 โดยจุดประสงค์ของการใช้ขนส่งมวลชนนั้นคือ ไปทำงาน ร้อยละ 61.5 ทำธุระส่วนตัว ร้อยละ 54 ซื้อสินค้า ร้อยละ 37.1 ท่องเที่ยว ร้อยละ 27 และอันดับสุดท้ายคือ เรียนหนังสือ ร้อยละ 16.2         ในส่วนของความถี่ คำตอบส่วนใหญ่คือ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 23 อันดับที่สองคือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 22.5 และอันดับที่สามคือ ใช้ทุกวัน ร้อยละ 21.8  เรื่องที่คนกรุงเทพฯ ต้องการจากระบบขนส่งมวลชน        -        รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์)             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 34.6 อันดับที่สองคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 30.6 อันดับที่สามคือ บริการของรถเมล์มีมาตรฐานตรงเวลา ไม่ล่าช้า ร้อยละ 29.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์มีบริการที่มีคุณภาพ ในการรับส่งผู้โดยสาร ร้อยละ 27.7 อันดับที่ห้าคือ อัตราค่าโดยสารเหมาจ่ายรถร้อน 10 บาท (ทั้งวัน) ร้อยละ 26.7         -        รถไฟฟ้า             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 47.1 อันดับที่สองคือ ความสะดวกในการเข้าถึงสถานี และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 43.1 อันดับที่สามคือ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสายเพื่อลดค่าแรกเข้าเหลือครั้งเดียว (ขึ้นหลายสายก็จ่ายครั้งเดียว) ร้อยละ 41.6 อันดับที่สี่คือ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการเข้าถึงรถไฟฟ้าของกลุ่มผู้พิการ ร้อยละ 39.4 อันดับที่ห้าคือ ต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประชาชน ร้อยละ 38.9        -        เรือโดยสาร             อันดับที่หนึ่งความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ มีท่าเรือโดยสารที่ปลอดภัยในทุกจุดที่ให้บริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 19.4 อันดับที่สี่คือ มีการจัดการการขึ้นลงเรืออย่างเป็นระบบ ร้อยละ 18.6 อันดับที่ห้าคือ สามารถใช้ตั๋วร่วมสำหรับรถเมล์ ขสมก. รถเมล์ร่วมเอกชนได้ และรถไฟฟ้าทุกสายได้ (บัตรใบเดียว) ร้อยละ 18.1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 เคอรี่ไม่ส่งทรายแมว ทำเอาทาสลำบากสุดๆ

        เรื่องปวดหัวของทาสแมวรายนี้ คือบริการขนส่งที่ชื่อว่าเคอรี่ในอำเภอที่เธออาศัยอยู่ สวี ไม่ส่งทรายแมวให้เธอแต่สอบถามไปบอกส่งแล้วๆ ช่างเหนื่อยใจนัก              คุณลักษณ์บ้านอยู่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ที่นั่นฝนตกบ่อย บางครั้งตกติดต่อกันหลายวัน “ทรายแมว” จึงเป็นสิ่งที่ทาสตัวแม่อย่างเธอต้องมีติดบ้านไว้ตลอดเวลา ยิ่งตอนนี้มีน้องแมววัยละอ่อนที่กินและถ่ายตลอดเวลา ทรายที่มีอยู่จึงหมดไปอย่างรวดเร็ว         เธอจึงตัดสินใจรีบสั่งซื้อทรายแมวจากแอปฯ ห้างออนไลน์ไว้มาตุนไว้ก่อนสักสองถุง (ถุงละ 10 ลิตร) เพราะช่วงดังกล่าวเธอติดเชื้อโควิด 19 จึงต้องกักตัวอยู่กับบ้าน ผ่านไปสามวัน เธอได้รับข้อความอัปเดตการจัดส่งจากผู้ให้บริการขนส่ง Kerry เมื่อตอนบ่ายสามของวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า “จัดส่งไม่สำเร็จ รอดำเนินการ” จากนั้นก็เงียบหายไป จนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม เธอตัดสินใจโทรไปหาสำนักงานของบริษัทดังกล่าวที่สาขาสวี แต่ได้คำตอบว่า “ช่วงนี้มีปริมาณพัสดุที่ศูนย์กระจายสินค้าเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการล่าช้า ทางศูนย์อยู่ระหว่างการจัดส่งโดยเร็วที่สุด”  ระหว่างนั้นเธอก็แจ้งไปยังแอปฯ ที่เธอสั่งซื้อสินค้า ให้ช่วยติดตามเรื่องให้ด้วยอีกทาง         ระหว่าง “รอดำเนินการ” ด้วยความกังวล เธอก็ลองดูในแอปฯ อีกเจ้า เจอร้านที่ได้ราคาดีและส่งฟรีด้วย แต่เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์แบบเดิม เธอจึงถามผู้ขายว่าใช้บริการขนส่งเจ้าไหน ผู้ขายตอบว่าโปรฯ ส่งฟรีนั้นใช้ของ Kerry  เพราะผู้ขายเป็นสมาชิกอยู่ คุณลักษณ์จึงเล่าปัญหาให้ผู้ขายทราบ ผู้ขายบอกว่าหากต้องการให้ส่งเจ้าอื่นก็ได้ แต่ลูกค้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งเอง ซึ่งทางร้านแนะนำว่าไม่คุ้ม เพราะสินค้ามีน้ำหนักมาก ของที่ควรจะถูกก็กลายเป็นของแพงไปโดยปริยาย         ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม ทางแอปฯ ที่สั่งซื้อทรายแมวแจ้งว่าบริษัทขนส่งรับเรื่องไปดำเนินการแล้ว และจะนำส่งไม่เกินวันที่ 8 กรกฎาคม แต่จนถึงวันที่ 9 ก็ยังไม่มีการจัดส่ง เธอจึงทำเรื่องขอยกเลิกและขอรับเงินคืน         เรื่องนั้นเธอไม่ติดใจ ถือว่าจบกันไป แต่มางงตอนที่ได้รับข้อความ SMS ว่า “พัสดุเลขที่ XXXXXX ถูกส่งถึงผู้รับแล้วเรียบร้อย” ในวันที่ 10 ... แบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ เธอสงสัยว่าการบันทึกข้อมูลลักษณะนี้ ก็เท่ากับไม่ได้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเลยใช่ไหม? แล้วสองอาทิตย์ที่ผ่านมา มันเกิดอะไรขึ้นกับเธอ...  ทำอะไรก็พะวักพะวนว่าพกมือถือติดตัวไว้หรือยัง ต้องคอยชะเง้อดูหน้าบ้านตลอดเผื่อมีใครมาส่งของ จะไปซักผ้าหลังบ้านก็ลังเล เดี๋ยวออกตัวช้าจะไม่ทันพนักงานที่เขารีบออกรถไปส่งบ้านอื่นต่อ เพราะบางครั้งมีข้อความอัปเดตสถานะในทำนอง “จัดส่งไม่สำเร็จ ไม่มีผู้รับ”         ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอเจอปัญหาเรื่องความล่าช้า ก่อนหน้านี้เธอเคยสั่งซื้อต้นจำปูน ที่กว่าจะมาถึงมือเธอก็อยู่ในสภาพที่รอดยากแล้ว ที่เล่าให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังก็ไม่ได้คิดจะเอาเรื่องอะไรกับบริษัทขนส่ง แต่อยากฝากให้เป็นข้อคิดสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น และหากเป็นไปได้ทางผู้ให้บริการน่าจะได้นำสิ่งที่เป็นปัญหานี้ไปปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องการทำเหตุผลที่ลูกค้าบอกยกเลิกไว้ ว่าเป็นเพราะ “จัดส่งไม่สำเร็จ ไม่มีผู้รับ”  เช่นนี้แล้วก็เสมือนว่า “มันเป็นความผิดของผู้สั่งสินค้าเอง” อันนี้แหละที่เคืองมากๆ เลย คุณลักษณ์กล่าวไว้           แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีคุณลักษณ์น่าจะเป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ผู้บริโภคสามารถนำไปพิจารณาในการสั่งซื้อสินค้าที่มีน้ำหนักมากๆ เช่นกรณีทรายแมว ว่าอาจทำให้ต้องลำบากในการสั่งซื้อเพราะบริษัทอาจไม่สามารถควบคุมการปฏิบัติงานของพนักงานในพื้นที่แต่ละพื้นที่ได้ดีพอ อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิฯ จะได้นำเรื่องบอกเล่าของคุณลักษณ์ไปรวบรวมเป็นข้อเสนอต่อผู้ให้บริการขนส่งเพื่อการปรับปรุงบริการที่ดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ไม่ครบตามจำนวน

        หลายๆ บ้าน น่าจะสนิทกับบริษัทขนส่งของ เพราะว่าช่วงนี้คงจะมีของมาส่งที่บ้านอยู่ไม่น้อย เพราะว่าช่วงโควิด 19 หลายบ้านน่าจะสั่งสินค้าออนไลน์กันบ่อยๆ มาดูกันว่าถ้ามีปัญหาจากกันสั่งสินค้าออนไลน์ เราจะสามารถจัดการปัญหาอย่างไรได้บ้าง         ช่วงสถานการณ์โควิดกำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ATK (ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง) เป็นที่ต้องการอย่างมาก คุณบุปผาได้สั่งซื้อ ATK จากเพจเฟสบุ๊กชื่อ แหล่งรวมความถูกที่สุด ชุดละ 37 บาท จำนวน 20 ชุด เป็นเงินจำนวน 790 บาท โดยเขาจ่ายเงินค่าสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง เมื่อสินค้ามาส่งเขาไม่ได้อยู่บ้าน คนที่บ้านรับไว้ให้ และได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้กับบริษัทขนส่งไป แต่เมื่อเขากลับมาเปิดกล่องสินค้าพบว่า มี ATK แค่ 12 ชุด ขาดไป 8 ชุด เขารีบติดต่อไปที่เพจที่สั่งสินค้ามา แต่เพจไม่ยอมตอบกลับเขาและแสดงความรับผิดชอบ แนวทางการแก้ไขปัญหา         การสั่งสินค้าออนไลน์ โดยการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง (COD) เมื่อตรวจสอบสินค้าแล้วพบว่า สินค้าได้ไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อ สามารถแจ้งไปยังบริษัทขนส่งเพื่อให้ระงับเงินโอนไปยังผู้ขายได้ โดยทำผ่านแอปพลิเคชัน หรือโทรศัพท์ หรือสำนักงานสาขาก็ได้ หลังจากนั้นบริษัทจะติดต่อไปยังผู้ขายให้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กรแสะต่างแดน

โหวตได้หรือไม่        สวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนสามารถโหวตได้ทุกเรื่อง แต่มีอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่แต่ละรัฐในประเทศยังเห็นไม่ตรงกัน มีจึงมีเพียงบางรัฐ (จากทั้งหมด 26 รัฐ) เท่านั้นที่จัดโหวตในเรื่องดังกล่าว         ประเด็นที่ว่าคือ “การขอให้บริการขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้ฟรี”           เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางคนมองว่าการจ่ายภาษีก็ถือเป็นการร่วมจ่ายอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริหารบางรัฐยังตีความว่าการจัดโหวตเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้         แต่บางรัฐอย่างรัฐโว (Vaud) ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม “บริการขนส่งสาธารณะฟรี” และให้ความเห็นว่า รัฐมีสิทธิตัดสินใจได้ว่าจะช่วยจ่ายค่าโดยสารให้เต็มราคาหรือไม่ เขาเลือกใช้หลักการ...หากเกิดข้อสงสัย ให้เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนไว้ก่อน อยากเปลี่ยนน้ำ         เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในยุโรป เดนมาร์กยังล้าหลังในเรื่องการลดปริมาณแคลเซียมในน้ำประปา ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีจัดการกับน้ำกระด้างกันเอง บ้างก็พยายามขูดหินปูนในท่อ บ้างก็ลงทุนซื้อเครื่องกรองมาติดฝักบัว  นอกจากจะเปลืองสบู่ แชมพู และผงซักฟอก เพราะ “ตีฟองไม่ขึ้น” แล้ว การอาบน้ำกระด้างยังทำให้ผิวแห้ง หนังศีรษะเป็นรังแค แถมยังผมชี้ฟูอีกด้วย         แต่ข่าวดีคือโคเปนเฮเกนกำลังจะมีระบบกรองน้ำประปาส่วนกลางแล้ว บริษัท Hofor ผู้ให้บริการน้ำประปาในเมืองนี้และพื้นที่โดยรอบประกาศว่าเขาจะลดความกระด้างของน้ำลงให้ได้ภายในปี 2028         ด้านทันตแพทย์ออกมาเตือนว่า “น้ำอ่อน” จะทำให้คนฟันผุมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยที่ยืนยันว่าเด็กในโคเปนเฮเกนมีฟันผุน้อยกว่าเด็กในเขตอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ (งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากเด็กอายุ 15 ปี จำนวน 52,000 คน)           มารอดูกันว่าเขาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร   ป้องกันหลงผิด         ตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป รัฐบาลเมืองหางโจวจะเริ่มใช้กฎหมายอนุรักษ์ชาหลงจิ่ง สินค้าที่ได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองหางโจว         ด้วยชื่อเสียงด้านคุณภาพและราคาระดับพรีเมียม ทำให้มี “ชาแอบอ้าง” เข้ามาบุกตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรตัวจริงจากไร่ชาในเขตรอบทะเลสาบซีหู และหุบเขาในเมืองหางโจว          เพื่อพิทักษ์ “แบรนด์หลงจิ่ง” เขาจึงมีกฎหมายกำหนดรหัสเฉพาะ ที่ประกอบด้วยชื่อบริษัทผู้ผลิต ปีที่ผลิต ซีเรียลนัมเบอร์ และรหัสที่ต้องแจ้งบนกระป๋องนี้ จะไม่สามารถนำไปโอน แจกจ่าย หรือให้ใครยืมได้ ผู้ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 10,000 หยวน สำหรับบุคคลธรรมดา และ 50,000 หยวน สำหรับนิติบุคคล          นอกจากนี้ยังต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล จัดการ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วย          ไร่ชาที่นี่จะมีการสำรวจทุก 10 ปี เพื่อดูแลจัดการเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และทำฐานข้อมูลพื้นที่แต่ละแปลง รวมถึงการใช้ปุ๋ยธรรมชาติตามที่รัฐส่งเสริม โปรฯ โรแมนติก         ข่าวดีสำหรับคู่รักที่พร้อมจะแต่งงานกันภายในปีนี้ แคว้นลาซิโอ อิตาลี เขาจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจงานแต่ง และโปรฯ นี้สามารถเข้าร่วมได้ทั้งคนอิตาเลียนและคนต่างชาติ            ตามโครงการ “In Lazio with Love” คู่สมรสที่จัดพิธีแต่งงานในเขตลาซิโอ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงโรม ชายหาด หรือปราสาทยุคกลาง หรือโลเคชันยอดนิยมอื่นๆ จะสามารถนำใบเสร็จมาขอเบิกเงินคืนได้สูงสุด 2,000 ยูโร (ประมาณ 73,000 บาท)         ใบเสร็จที่ว่านี้อาจมาจากบริษัทรับวางแผนงานแต่ง ร้านเช่าชุดแต่งงาน ผู้ให้เช่าสถานที่ ร้านดอกไม้ บริษัทรับจัดเลี้ยง รวมไปถึงค่าจ้างช่างภาพ หรือค่าเช่ารถด้วย ทั้งนี้เขาสงวนสิทธิ์ให้ส่งใบเสร็จได้ไม่เกิน 5 ใบ         ข่าวบอกว่าเขาตั้งงบไว้ 10,000,000 ยูโร เพื่อช่วยเหลือธุรกิจงานแต่งที่ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2019 มีคู่รักมาจัดงานแต่งที่นี่ถึง 15,000 คู่ แต่สองปีกว่าหลังการระบาดของโควิด-19 เขามีโอกาสจัดงานแต่งไปเพียง 9,000 งานเท่านั้น       สควิดฟาร์ม        โลกกำลังจะมีฟาร์มปลาหมึกแห่งแรกในปี 2023 ภายใต้การดำเนินการของบริษัท Nueva Pescanova ของสเปน ที่ปาดหน้าคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเม็กซิโกไปได้         บริษัทอ้างว่าเขาลงทุนไปกว่า 65 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท และได้ศึกษาวิจัยจนพบ “สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” กับการเลี้ยงปลาหมึกในถัง เขาจะผลิตปลาหมึกได้ถึงปีละ 3,000 ตัน ภายในปี 2026 ทั้งนี้เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพราะถือเป็น “ความลับทางการค้า”         แต่นักวิชาการที่รีวิวผลงานวิจัยกว่า 300 ชิ้น ฟันธงว่า “ฟาร์มปลาหมึก” มันเป็นไปไม่ได้ การถูกจำกัดบริเวณอาจทำให้ปลาหมึกเครียดและทำร้ายกันเอง นักสิ่งแวดล้อมก็มองว่านี่เป็นการสวนกระแสเรื่องความยั่งยืน ปัจจุบันเราใช้ 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลที่จับได้มาเป็นอาหารสัตว์  แล้วเรายังจะต้องนำไปใช้ในฟาร์มปลาหมึกอีกหรือ ชาวประมงรายย่อยก็อาจได้รับผลกระทบ ในขณะที่เชฟบอกว่า “มันไม่อร่อย”            ขณะนี้ฟาร์มดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ส่งผลไม้กับบริษัทขนส่ง คนสั่งไม่ได้กินเพราะเหลือแต่เปลือกอยู่ในกล่อง

        การสั่งผลไม้จากสวนเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง และยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกร รายได้ก็เข้าเกษตรกรโดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง เพียงแต่การส่งสินค้าจำต้องใช้บริการของบริษัทขนส่งต่างๆ เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้บริโภค        ภูผา เป็นเจ้าของสวนมังคุดชื่อดังย่านประจวบคีรีขันธ์ เขาส่งมังคุดให้ลูกค้า จำนวน 4 กล่อง โดยใช้บริการขนส่งของ บริษํทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาลูกค้าของเขาแจ้งมาว่า ได้รับสินค้าแล้ว แต่ว่ากล่องมังคุดที่ส่งมาชำรุด และพบว่าเหลือแต่เปลือกมังคุดอยู่ในกล่อง เขาจึงให้ลูกค้าถ่ายรูปกล่องที่ชำรุดและเปลือกมังคุดมาให้เขา เมื่อได้รับหลักฐานจากลูกค้าแล้ว ภูผาจึงสอบถามไปยังบริษัทฯ  ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต้องการความรับผิดชอบ แต่ทางบริษัทฯ ตอบเขามาว่าจะชดเชยให้เฉพาะค่าสินค้าที่ได้รับความเสียหายตามจริงเท่านั้น ไม่รับผิดชอบค่าขนส่ง เขาจึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายตามมูลค่าของสินค้า ตลอดจนค่าขนส่ง ค่าเสียโอกาส และสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทคู่กรณีคุณภูผา เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคตามสิทธิอันพึงมี           ต่อมาทางบริษัทขนส่งคู่กรณีทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมายังมูลนิธิฯ และเสนอชดเชยค่าสินค้าและค่าบริการขนส่งให้ผู้ร้องตามที่เสียหายจริง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,482 บาท ซึ่งคุณภูผายอมรับตามข้อเสนอของทางบริษัทฯ แต่ก็รู้สึกว่าทำไมต้องให้เสียเวลาใช้สิทธิในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วผู้บริโภคก็ควรได้รับการคุ้มครองทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 จับตาให้ดี ยุบไม่ยุบ สถานีรถไฟหัวลำโพง

        จำข่าวใหญ่ส่งท้ายปี “ปิดตำนานหัวลำโพง” กันได้ไหม ที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าจะย้ายรถไฟทุกขบวนที่เข้าออกสถานีหัวลำโพงไปเริ่มต้นใหม่ที่สถานีกลางบางซื่อ ต่อด้วยข่าวลือยุบสถานีหัวลำโพงทำเมกะโปรเจค ผุดห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ ตลอดจนตึกสูงเสียดฟ้าท่ามกลางชุมชนโดยรอบพื้นที่เดิม  พร้อมเหตุผลความจำเป็นที่ต้องให้รถไฟทุกขบวนไปใช้ที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนสถานีหัวลำโพงเดิมจะถูกแทนที่ด้วยการพัฒนาพื้นที่ใจกลางเมืองให้มีความทันสมัยเป็นประโยชน์ต่อคนทุกคน โดยที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความงดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมให้คงอยู่         แต่แผนนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ทันทีที่กระแสข่าวโยกย้ายขบวนรถไฟไปสถานีกลางบางซื่อ พร้อมภาพสถานีหัวลำโพงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตออกมาสู่สายตาการรับรู้ของสังคมแล้ว นอกจากกลุ่มทุนที่เชียร์ให้สร้างแล้ว ก็แทบไม่มีใครออกมาสนับสนุนอีกเลย ขณะที่เสียงคัดค้านจากทุกสารทิศต่างพุ่งตรงไปที่กระทรวงคมนาคมโดยไม่ได้นัดหมาย พร้อมตั้งคำถามดังๆ ว่า ปิดหัวลำโพงนี้เพื่อการพัฒนาหรือผลักภาระให้ประชาชนกันแน่ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนของผู้คนรากหญ้าจำนวนไม่น้อยในทุกกลุ่มวัยที่ยังจำเป็นต้องใช้รถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมผ่านหัวลำโพงเข้าออกเมือง ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน ข้าราชการชั้นผู้น้อย พนักงานบริษัทเอกชน ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายที่ต้องอาศัยรถไฟเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน         ที่ผ่านมาหากกลุ่มผู้ใช้บริการหลักต้องเดินทางจากรังสิตถึงหัวลำโพงด้วยรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมจะเสียค่าโดยสารเพียง 6 บาทเท่านั้น ถ้ากระทรวงคมนาคมยืนยันให้จอดส่งผู้โดยสารแค่ที่สถานีกลางบางซื่อ ผู้โดยสารที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าหัวลำโพง ต้องต่อรถโดยสารประจำทางและจะต้องเสียค่าโดยสารและเวลาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือหากจะเลือกเดินทางเข้าเมืองที่หัวลำโพงด้วยรถไฟฟ้า MRT แม้ว่าจะสะดวกสบายขึ้น ค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นจาก 6 บาท เป็น 46 บาท หรือมากกว่าเดิมถึง 700% เลยทีเดียว         ไม่เพียงผู้ใช้บริการรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เราไม่อาจมองข้ามชีวิตของประชาชนคนรายได้น้อยที่ต้องทำมาหากินรอบบริเวณสถานีหัวลำโพง ชีวิตพวกเขาเหล่านี้ต่างถูกนำเสนอผ่านสื่อทุกช่องทาง เพราะพวกเขาคือ คนที่เดือดร้อนที่สุด ถ้าสถานีหัวลำโพงถูกปิด         หนุนเสริมด้วยพลังของภาคประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง และขาดไม่ได้เลย คือ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยที่ประกาศคัดค้านการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เพราะจะทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน รวมถึงแผนการพัฒนาที่ดินสถานีรถไฟหัวลำโพงอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย         อาจเป็นไปได้ว่ากระทรวงคมนาคมคงคาดไม่ถึงว่าแผนที่ตระเตรียมมาอย่างดีนี้ จะถูกกระแสคัดค้านที่สะท้อนออกมารุนแรงและขยายวงกว้างจนเกินกว่าที่จะต้านทานไหว เพราะอย่าลืมว่าหัวลำโพงไม่ใช่หมอชิตที่ใครคิดจะทำอะไรก็ทำได้ แต่หัวลำโพงเป็นมากกว่าแค่สถานีรถไฟเก่า หัวลำโพงคือพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์และความทรงจำ หัวลำโพงยังเป็นพื้นที่แห่งชีวิตของคนหลายกลุ่มหลายเชื้อชาติ และหัวลำโพงคือรากเหง้าการคมนาคมที่ผูกพันผู้คนและชุมชนจากทั่วทุกสารทิศมานานกว่า 100 ปี         ดังนั้นเราจึงได้ข่าวจากกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางรางเจ้าภาพหลักว่า จะยอมถอยเปลี่ยนเกมส์เป็นคนกลางเปิดวงสาธารณะรับฟังความเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และยืนยันว่าจะไม่มีการทุบและปิดสถานีหัวลำโพงแล้ว         อย่างไรก็ตามหลายคนที่ติดตามก็ยังไม่เชื่อเพราะข่าวการยุบสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น ภายนอกอาจจะถูกสื่อสารต่อสังคมให้เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบคมนาคมทางรางเพื่อประโยชน์ของคนทั้งมวล รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟหัวลำโพงให้มีความทันสมัยเป็นชุมทางเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบหัวลำโพงและแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง แต่เบื้องหลังก็เต็มไปด้วยภาพมายาผสมกับความเคลือบแคลงสงสัยถึงผลประโยชน์อันมหาศาลของกลุ่มทุน ที่จะมาทำให้สมดุลของพื้นที่กับชุมชนเปลี่ยนไป กลายเป็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำเหมือนเช่นหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่เปลี่ยนไปเมื่อความเจริญทางวัตถุเชิงพาณิชย์เข้ามาแทนที่         อีกทั้งกระทรวงคมนาคมยังแสดงออกถึงความต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปแผน ด้วยการยื้อเวลาหาทางออกแบบเนียน ๆ ว่าจะนำข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นไปปรับปรุงพัฒนา แต่เชื่อเถอะหากจะพัฒนาก็เป็นการพัฒนาแบบมีธงปักไว้แล้ว เพราะเมื่อปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อถูกสร้างเสร็จพร้อมใช้งาน และที่สำคัญสถานีกลางบางซื่อได้ถูกวางตัวให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางที่ใหญ่สุดในอาเซียนแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้สถานีหัวลำโพงจึงแทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นศูนย์กลางชุมทางรถไฟแบบเดิมอีกต่อไป           ขณะนี้เมื่อกระทรวงคมนาคมยังยุบสถานีหัวลำโพงตามแผนไม่ได้ ขั้นตอนต่อจากนี้ก็ต้องลดบทบาทความสำคัญให้น้อยลง ด้วยการโยกย้ายขบวนรถไฟให้ออกเริ่มต้นทางที่สถานีกลางบางซื่อแทน ซึ่งอาจจะเริ่มขยับจากกลุ่มรถไฟทางไกลประเภทเชิงพาณิชย์ก่อน ส่วนกลุ่มรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เชื่อว่ายังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดที่ต้องคิดทบทวนให้ดี เพราะขึ้นชื่อว่าประเภทบริการสังคมที่ส่วนใหญ่คนใช้บริการคือคนรายได้น้อย ถ้ากระทรวงคมนาคมตัดสินใจผิดพลาด นอกจากจะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นแล้ว แผนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็อาจจะล้มไม่เป็นท่า เพราะคิดผิดก้าวพลาดไปนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2564

ปรับเป็นแสน ห้ามนำ-ใช้ ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานแห่งชาติ        3 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง มีส่วนทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว  ดังนั้นเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกประกาศดังนี้         ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone , Octinoxate ,4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซื้อยาฟ้าทะลายโจรระวังเจอของปลอม         23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม  เนื่องจากมีกรณีผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีการโฆษณาตามเพจเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ายาไม่มีรสชาติขมซึ่งผิดปกติจากฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเป็นลักษณะเด่น จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตได้ จึงเชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. จึงทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสขายยาฟ้าทะลายโจร บนเพจเฟซบุ๊ก และเข้าจับกุม ด้าน อย.ระบุ หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรต้องดูฉลากที่ระบุเลขที่จดแจ้งและระบุสถานที่ผลิตชัดเจน โดยซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ “ขนส่งทางบกขอ” ตำรวจไม่จับใบขับขี่หมดอายุถึงสิ้นปี         ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีประกาศงดให้บริการประชาชนด้านใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิดระบาด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กรมฯ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผ่อนปรนการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง เกี่ยวกับกรณีใบขับขี่หมดอายุ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้พิจารณากฎเกณฑ์ขยายระยะเวลา ดังนี้         1.ใบขับขี่หมดอายุขับรถต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564          2.เพิ่มการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและส่วนบุคคลชั่วคราว สามารถขับรถที่ใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าได้ เช่น รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนตามกฎหมายของการขนส่งทางบก และรถปิกอัพป้ายเหลือง         กรณีที่ประชาชนมีเอกสารคำขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตประจำรถ ได้แก่ เอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ หรือคำขอที่ดำเนินการไม่สำเร็จภายใน 90 วัน กรมการขนส่งทางบกจะอนุโลมให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564  พืชกระท่อมปลดออกจากยาเสพติดแล้ว ประชาชน ซื้อ-ขายได้        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่ตอนนี้พืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ทุกคนสามารถครอบครองซื้อขายได้         และ การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด มีผลให้ต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวกับคดีสารเสพติดอื่นนอกเหนือจากพืชกระท่อม และถือว่าเป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิด หากในกรณีที่ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ยุติปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาล โดยได้รับการพิพากษายกฟ้อง ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จะต้องยกเลิกการเสียค่าปรับทันที ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสคิดค่าบริการปัดเศษวินาทีเป็นนาที         ตามที่มีตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เหตุจากการคิดค่าบริการดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริงนั้น  วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ ให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร ค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ และหากดำเนินคดีแบบสามัญการคำนวณค่าเสียหาย ผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญสะดวกกว่า         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากคำตัดสินนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดีหรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกันในกระบวนการแบบสามัญ เช่น สมาชิก 30-40 คน อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 คิดอย่างไร ประเทศไทยจะเป็นมหานครระบบรางติดอันดับโลก

        ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมท่านหนึ่งประกาศชัดว่า ในปี 2566 ประเทศไทยจะเป็นมหานครระบบรางติดอันดับโลก !!! และไม่ใช่ติดอันดับโลกธรรมดา แต่เป็นอันดับสามของโลกเสียด้วย         สอดคล้องกับที่ไอเอ็มดี (International Institute for Management Development: IMD) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ และมีหน่วยงานในสังกัด คือ สถาบัน IMD World Competitiveness Center ที่เป็นหน่วยงานในระดับนานาชาติ ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันระบบรางทั่วโลกว่า ภายในปี 2566 หรืออีก 3 ปีข้างหน้าต่อจากนี้   กรุงเทพมหานครจะกลายเป็นมหานครระบบรางที่มีระยะทางยาวเป็นอันดับ 3 ของโลกระยะทาง 560 กิโลเมตร ทำให้ยิ่งตอกย้ำถึงภาพความสะดวกสบายของกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองของรถไฟฟ้าขึ้นมาทันที         แต่เดี๋ยวก่อน มองให้พ้นจากภาพสวยหรู เมื่อหันกลับมาดูความจริงที่ประเทศไทย คำถามก็ผุดขึ้นมากมาย แล้วตอนนี้รถไฟฟ้าที่เปิดใช้บริการทุกสายมีระยะทางกี่กิโลเมตรแล้ว         ข้อมูล ณ ธันวาคม 2563 ประเทศไทยมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการผ่านกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นระยะทางยาวทั้งหมด 168 กิโลเมตร หรืออยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก         ขณะที่อันดับ 1 และ 2 ของโลกอยู่ที่ประเทศจีน คือ กรุงปักกิ่ง 690.5 กิโลเมตร และเมืองเซี่ยงไฮ้ 676  กิโลเมตร อันดับ 3 อยู่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ 540.9 กิโลเมตร และอันดับ  4 อยู่ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีนอีกเช่นกันที่ 531.1 กิโลเมตร ซึ่งจากข้อมูลนี้ 168 กิโลเมตรของประเทศไทยยังห่างจากเป้าหมายอันดับ 3 ที่ 560 กิโลเมตรอยู่มากเลยทีเดียว  (ดังนั้นน่าจะต้องเก็บคำคุยโวไว้ก่อนเพราะการที่ประเทศไทยจะเป็น HUB หรือเป็นมหานครระบบรางอย่างที่คิดในอีกสามปีข้างหน้าดูท่าจะยากเย็น)          แต่การที่ประเทศไทยวางแผนให้กรุงเทพมหานครมุ่งสู่การเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยระบบรางนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกวันนี้ระบบรางโดยเฉพาะรถไฟฟ้ากลายเป็นพาหนะที่อำนวยความสะดวกขนคนเดินทางได้ครั้งละจำนวนมาก ส่งผลดีให้เกิดกับคุณภาพชีวิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และต่อไปในอนาคต (ไม่รู้อีกกี่ปี) เมื่อรถไฟฟ้าทุกสายสร้างเสร็จสิ้น กรุงเทพมหานครจะมีรถไฟฟ้าหลากสีมากกว่า 10 สาย วิ่งให้บริการเต็มรูปแบบครอบคลุมทุกทิศทางจากชานเมืองมุ่งเข้ากรุงเทพชั้นใน ทำให้หลายคนมีความหวังว่า เมื่อประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะประเภทรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการจราจรรถติด การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และมลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษจะลดน้อยลงตามไปด้วย         ดังนั้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมารัฐบาลจึงมุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ที่รวมงานทุกด้านเอาไว้  ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติจะมีแผนย่อยเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน โดยมีประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล อยู่ในด้านที่ 7 จากทั้งหมด 23 ด้าน ตามกรอบที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี           แล้วโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล เกี่ยวอะไรกับมหานครระบบรางที่บอกไป แน่นอนว่าการพัฒนาประเทศต้องบูรณาการหลายด้าน ซึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 7 โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และให้ความสำคัญด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้าให้บรรลุเป้าหมาย         โดยในแผนแม่บท ประเด็นที่ 7 นี้ยังแบ่งออกเป็น 10 เป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อยอีก เช่น ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของในประเทศและต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของการขนส่งสินค้าทางราง การใช้พลังงานทดแทน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานไฟฟ้า การปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศ ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงเมืองหลักในภูมิภาค และการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน         สำหรับประเด็นการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเป้าหมายย่อยที่กำหนดไว้ 4 ระยะในเวลา 20 ปี คือ 1) ปี 2561-2565 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 30  2) ปี 2566-2570 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 3) ปี 2571-2575 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และ 4) ปี 2576-2580 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ขณะที่สัดส่วนในส่วนภูมิภาคอยู่ที่ ร้อยละ 5 10 และ 20 ตามลำดับ         แต่เมื่อกลับมาดูข้อมูลเปรียบเทียบการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะพบว่า โอกาสที่ตัวชี้วัดเป้าหมายนี้จะทำได้มีโอกาสค่อนข้างน้อย หรืออาจจะเรียกได้ว่าต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต สาเหตุสำคัญเพราะรัฐมีข้อมูลไม่เพียงพอ เนื่องจากขาดการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะดำรงอยู่และเป็นหัวใจหลักของการเดินทางสำหรับประชาชนได้ เพราะข้อมูลสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2560 – 2562 อยู่ที่ร้อยละ 20.62 , 17.90 และ 19.42 ตามลำดับ ซึ่งจากข้อมูลนี้ก็นับว่ายังมีความห่างจากเป้าหมายร้อยละ 30 ในปี 2565 อยู่พอสมควร และสำหรับข้อมูลในเมืองภูมิภาค ปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ เห็นได้ชัดเจนว่าหลายปีที่ผ่านมาระบบขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องที่ถูกปล่อยปละละเลย และยิ่งสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบันที่ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทแทบล่มสลาย ยิ่งทำให้การเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะทำได้ยากกว่าเดิมอีกด้วย         แล้วการเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองในภูมิภาค กับการเป็นมหานครระบบรางของประเทศไทยเกี่ยวพันกันอย่างไร ฉบับหน้าเรามาค้นคำตอบกันต่อนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะทดลองให้ถนนบางสายเป็น Bus Lane

        คงไม่มีใครคิดว่าประเทศไทยจะมาถึงจุดนี้ จุดที่ระบบสาธารณสุขใกล้จะล่มสลาย และระบบขนส่งมวลชนกำลังจะสิ้นใจ อันเป็นผลมาจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่นี้ กับตัวเลขรวมผู้ติดเชื้อรายวันที่แตะหลักหมื่นคน         ทุกวันนี้ถามแต่ละคนได้เลยว่า ในเวลานี้หากเลือกได้ใครบ้างอยากใช้ชีวิตแบบปกติ หรือออกจากบ้านใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างเดิมไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ รถทัวร์ เรือโดยสาร  แท็กซี่ หรือแม้แต่วินจักรยานยนต์รับจ้าง เพราะที่บอกมาทั้งหมดนั้น คือ บริการขนส่งมวลชนที่มีอัตราความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทบทั้งนั้น เนื่องมาจากลักษณะของการแพร่ระบาด คือ การที่มีประชาชนจำนวนมากจากหลายทิศทางมารวมตัวอยู่ในยานพาหนะเดียวกัน ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อเพียงหนึ่งคนที่อาจจะไม่รู้ตัว และมีพฤติกรรมประมาทไม่ระมัดระวัง รวมถึงผู้โดยสารท่านอื่นที่อาจจะไม่ทันระมัดระวังตัวเอง ผู้ที่มีเชื้อก็อาจจะกลายเป็นพาหนะนำเชื้อแพร่สู่บุคคลอื่นได้อีกเป็นจำนวนมาก         ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้จากโควิด 19 สายพันธุ์แรกเริ่ม ที่พบว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนที่ไม่มีภูมิต้านทาน และไม่ป้องกันตัวได้ 2.4 - 2.6 คน ขณะที่สายพันธุ์อัลฟาที่โจมตีประเทศไทยไปก่อนหน้านี้ การแพร่เชื้อจะอยู่ที่ 4 - 5 คนในเงื่อนไขเดียวกัน แต่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตาที่กำลังกลายเป็นตัวอันตรายหลักในตอนนี้ ผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ถึง 5 - 8 คน เลยทีเดียว         ชี้ชัดว่าความรุนแรงของโควิดระลอกใหม่นี้น่ากลัวจริงๆ และยังส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งสาธารณะและการจราจรทั้งระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้นว่าคนใช้รถยนต์ส่วนตัวอาจจะชื่นชอบเพราะถนนหนทางในกรุงเทพมหานคร โล่งขับสบาย เหมือนการจราจรในช่วงเทศกาลหยุดยาว แต่หากมองออกนอกกระจก ชมเมืองรอบนอกรถแล้วจะพบความจริงที่แสนน่ากลัว เห็นแต่ความทุกข์และคราบน้ำตาของ ผู้คน พ่อค้าแม่ขาย ร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อย คนขับรถสาธารณะ เพราะกรุงเทพมหานครในตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเข้าใกล้ความเป็นเมืองร้างไปแล้ว         จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง ยิ่งตอกย้ำถึงความยากลำบากของบริการขนส่งสาธารณะที่ระบุว่า ในช่วงวันหยุดที่ 10 – 11 ก.ค. มีอัตราการใช้บริการขนส่งทางรางทุกระบบน้อยที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คือ มีผู้โดยสารมาใช้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบไม่ถึง 2 แสนราย ขณะที่ในวันทำการปกติวันที่ 12 – 13 ก.ค. มีอัตราผู้โดยสารขนส่งทางรางทุกระบบอยู่ที่ประมาณ 2.75 – 3 แสนราย ด้วยจำนวนตัวเลขผู้โดยสารที่ลดน้อยลงเช่นนี้ นั่นเท่ากับว่าประชาชนเลือกที่จะไม่ออกจากบ้านกันแล้ว และหากสถานการณ์ยังไม่ดีและรุนแรงขึ้น อัตราของผู้โดยสารก็อาจจะลดน้อยลงได้อีก         นอกจากนี้จากสถานการณ์โควิด 19 ยังส่งผลให้ รถเมล์ รถโดยสารต่างๆ มีจำนวนผู้โดยสารลดน้อยมากกว่า 80% เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มรถร่วมเอกชน ทั้งรถเมล์ รถตู้ และรถทัวร์โดยสารต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน หลายรายถึงขั้นถอดใจจอดรถหยุดวิ่งและบางรายยอมขาดทุนเลิกกิจการไปเลยก็มี เพราะไม่สามารถทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและค่าเชื้อเพลิงอีกต่อไปได้แล้ว         แตกต่างกับ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจและรัฐยังอุดหนุนค้ำจุนอยู่ แม้จำนวนผู้โดยสารจะลดลง แต่พันธะหน้าที่บริการรถเมล์ให้กับประชาชนของ ขสมก. จะหยุดตามไม่ได้ เพราะบริการรถเมล์ ขสมก. ถือเป็นเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงไปทั่วทุกเส้นทางในเมืองหลวงแห่งนี้ หากหยุดวิ่งบริการเมื่อไหร่ เชื่อได้ว่าจะยิ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมประชาชนในช่วงสถานการณ์ความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เพราะอย่าลืมว่าแม้รัฐบาลจะออกมาตรการขอความร่วมมือเชิงสั่งการให้ Work From Home 100% แต่ก็ยังมีประชาชนคนทำงานจำนวนมากที่ไม่สามารถทำได้ และคนเหล่านี้แหละ คือ กลุ่มคนที่ทำให้ ขสมก. อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้         อย่างไรก็ดีการให้บริการเดินรถเมล์ ขสมก. ภายใต้ความเสี่ยงของสถานการณ์โควิดแบบนี้ พนักงานด่านหน้าของ ขสมก. กลับกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในทันที โดยพบว่ามีพนักงาน ขสมก. ทั้ง พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารจากหลายเส้นทางที่ทยอยกลายเป็นผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แม้ว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นการติดเชื้อจากที่พักอาศัย ไม่ได้มีต้นทางจากการให้บริการ แต่พนักงานที่ติดเชื้อก็ต้องให้พักงานเพื่อรักษาตัว และพักการใช้รถ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ใช้รถโดยสารสาธารณะอยู่ในขณะนี้         การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 รอบนี้สั่นคลอนประเทศในทุกระบบจริง ๆ  และถ้าภายในสองถึงสามสัปดาห์ข้างหน้าต่อไปนี้ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ยังคงเป็นไปอย่างที่เป็นมา เชื่อว่าคงเป็นเรื่องยากที่เราจะฟื้นฟูทุกอย่างให้กลับคืนมาได้ทัน เพราะตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของทุกคนแล้ว ก่อนที่ระบบทั้งหมดจะพังทลายลง อย่างไรก็ดีหากจะมองหาแง่ดี (ที่น้อยนิด) ของวิกฤตครั้งนี้ที่อาจจะเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส คือสามารถทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองได้รับการพัฒนา เนื่องจากในขณะนี้ปัญหารถติดไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไปแล้ว เพราะการจราจรบนท้องถนนในช่วงนี้อย่างน้อยก็ไม่ติดขัดเหมือนช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด 19         ดังนั้นการปรับนโยบายทดลองนำร่องให้ถนนบางสายบางช่วงเวลาเป็น Bus Lane สำหรับรถเมล์โดยไม่ต้องลงทุนก่อสร้างอะไรเพิ่ม รวมถึงการทดลองปรับระบบ และการควบคุมเวลาเดินรถให้สามารถทำรอบตามเวลาที่กำหนดได้ เพื่อเตรียมความพร้อมใช้งานยามเมื่อสถานการณ์โควิด 19 เบาบางลงแล้ว ก็ย่อมจะเป็นทางออกที่ดีของทุกฝ่ายและควรคิดที่จะเริ่มปรับแผนทดลองกันตั้งแต่ตอนนี้เลย แบบนี้จะดีไหมทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ขนส่งมวลชนกับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกันได้อย่างไร ?

        42 ปีที่แล้ว 30 เมษายน 2522  ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นเป็นฉบับแรก อีก 19 ปีต่อมาประเทศไทยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการกำหนดสิทธิของผู้บริโภคเพิ่มเป็น 5 ประการ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ประกอบไปด้วย 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องครบถ้วน 2.สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4.สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ 5.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย           นอกจากนี้สิทธิของผู้บริโภคยังถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างต่อเนื่องถึงสามฉบับ เริ่มแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 57 ได้บัญญัติถึงสิทธิผู้บริโภค ไว้ว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง” ต่อด้วยในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 61 ที่เพิ่มการรับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้ว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยา ความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค”         รัฐธรรมนูญ 2560 ได้พัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นอีกครั้งในมาตรา 46 ที่บัญญัติการรองรับสิทธิของผู้บริโภคไว้ว่า “สิทธิผู้ของบริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค”         จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาสี่สิบปีที่ผ่านมา สิทธิของผู้บริโภคได้รับการยอมรับและรับรองไว้ในกฎหมายหลายฉบับ แม้โดยหลักการสิทธิของผู้บริโภคไทยอาจจะไม่ครอบคลุมถึงสิทธิด้านต่างๆ เทียบเท่าสิทธิผู้บริโภคสากลที่ถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่เมื่อ 59 ปีที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 1962 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันสำคัญสากลนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อว่า Consumer Right Day โดยได้รับการรับรองจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ที่ปัจจุบันมีองค์กรสมาชิกจำนวน 222 องค์กร ใน 150 ประเทศทั่วโลก ที่เห็นร่วมกันถึงความสำคัญต่อสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ร่วมกันกำหนดขอบข่ายสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครองไว้        อย่างไรก็ดีแม้สิทธิของผู้บริโภคจะถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับ แต่ในทางปฏิบัติยังพบปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องอยู่ในเกือบทุกประเภทของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะปัญหาด้านบริการขนส่งมวลชน ที่นอกจากจะกลายเป็นต้นแบบปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แบ่งแยกชนชั้นของผู้ที่ใช้บริการแล้ว ผู้บริโภคที่ใช้บริการยังต้องเจอกับการละเมิดสิทธิและจำยอมต่อความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยและไม่มีทางเลือกตามสิทธิที่ควรจะมี เช่น ความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุรถโดยสารพลิกคว่ำ รถโดยสารไฟไหม้ รถตู้บรรทุกเกิน รถผีรถเถื่อน รถเมล์เก่าควันดำ การคุกคามทางเพศ ตลอดจนปัญหาค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้าแพง สูงเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และสูงมากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะแบกรับได้         จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่แนวคิดการจัดระบบขนส่งมวลชนให้เป็นขนส่ง ”มวลชน” ของคนทุกกลุ่มที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าขนส่งมวลชนเป็นของมวลชนจริงๆ ทุกคนคงได้เห็นภาพบริการที่สะดวก ทั่วถึง ปลอดภัย ตลอดจนความสามารถของคนทุกคนที่จะเข้าถึงบริการที่ไม่ถูกแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งต้นตอของปัญหานี้ต้องแก้ที่แนวคิดการทำให้ขนส่งมวลชนเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน เพราะทุกวันนี้ปัญหาใหญ่ของขนส่งมวลชนในบ้านเรา คือ ความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 4 บัญญัติไว้ชัดว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง หรือสิทธิผู้บริโภค”         ที่สำคัญหากหลักคิดขนส่งมวลชนของคนทุกคน คือ Mass Transit ที่เป็นบริการสาธารณะและเป็นสิทธิของทุกคนต้องขึ้นได้นั้น สิ่งแรกต้องมองโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนทุกประเภทให้เป็นระบบเชื่อมโยงกัน คือ รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร จะคิดแยกส่วน สร้าง แก้ ซ่อม เป็นแต่ละส่วนนั้นทำไม่ได้ สองมองภาพรวมของขนส่งมวลชนในทุกระบบทั้งประเทศมาเชื่อมต่อกัน สามพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแต่ละประเภทสนับสนุนเชื่อมร้อยกันและกันในการให้บริการแบบไร้รอยต่อ รวมถึงพัฒนาทางเท้าที่สะดวกคนทุกคนเข้าถึงได้จริงในทุกพื้นที่ และสี่ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการจัดบริการขนส่งมวลชนทุกระบบในทุกระดับ จัดทำความเชื่อมโยงของบริการขนส่งมวลชนทุกด้านทุกประเภท รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดทำสัญญาสัมปทานของรัฐกับเอกชนที่ปัจจุบันไม่เปิดเผยข้อมูล ไม่โปร่งใส ไม่มีส่วนร่วมและสร้างภาระให้กับผู้บริโภค         ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน และบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมคนทุกคนทั้งประเทศ และทำให้สิทธิของผู้บริโภคด้านขนส่งมวลชนเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งหากทำทั้งสี่ขั้นตอนนี้ได้ เป้าหมายลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้นคงไม่ไกลเกินฝัน หากทุกคนร่วมมือกัน เพราะขนส่ง”มวลชน”ไม่ใช่แค่ของหน่วยงานรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของคนทุกคนที่ต้องทำให้ขนส่งมวลชนเป็นของคนทุกคนได้อย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 สงสัยจริงจังราคาวีไอพี แต่ทำไมไม่มีบริการพิเศษ

หากจำเป็นต้องเดินทางไปต่างจังหวัด หลายคนต้องพึ่งพาบริการขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรถทัวร์โดยสารหรือเครื่องบิน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสะดวกเดินทางแบบไหน แต่ไม่ว่าจะใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะประเภทใด ก็ควรต้องได้รับการบริการที่ปลอดภัย พร้อมบริการที่คุ้มค่าและได้มาตรฐาน        คุณนิชรัตน์ มีธุระต้องไปทำงานที่จังหวัดขอนแก่นแบบเร่งด่วน ในช่วงเย็นจึงรีบเก็บกระเป๋าและนั่งรถเมล์มาที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต เธอซื้อตั๋วโดยสารกับบริษัทรถทัวร์แห่งหนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็นตั๋ววีไอพีของรถเสริมในราคา 700 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาปกติเกือบสองเท่า คุณนิชรัตน์ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะว่าวันนั้นถ้าไม่จ่ายราคานี้ก็จะไม่มีเที่ยวรถอื่นบริการอีก         หลังจากรถออกจากสถานีขนส่งหมอชิตมุ่งสู่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างเดินทางคุณนิชรัตน์ ไม่ได้รับการบริการอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงผ้าห่มที่เธอคุ้นเคยว่าต้องมีบริการเหล่านี้ หรือเพราะว่าเป็นรถเสริม แต่ทว่าราคาตั๋วที่จ่ายนั้นมีราคาแพง และก็เรียกว่า วีไอพี แต่ทำไมบริการถึงได้แย่ขนาดนั้น ไม่สมกับราคาเลย คุณนิชรัตน์คิดว่าสิ่งนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงได้ร้องกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา         สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ได้ประสานงานกับศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งต่อมาได้รับการแจ้งว่า ทางศูนย์ฯ พบว่า ผู้ให้บริการรถทัวร์โดยสารที่คุณนิชรัตน์เดินทางนั้น จำหน่ายตั๋วในราคาแพงกว่าปกติจริง ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารจึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ คืนเงินส่วนต่างค่าตั๋วโดยสารให้กับผู้บริโภค และดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย         ดังนั้น ผู้บริโภคหากมีข้อสงสัยว่า บริการรถทัวร์ที่ท่านใช้งานนั้นกระทำการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ไม่แสดงอัตราค่าโดยสาร ณ บริเวณจุดจำหน่ายตั๋ว หรือพนักงานขายตั๋วออกตั๋วโดยสารโดยไม่มีใบเสร็จ หรือท่านต้องจ่ายเงินค่าโดยสารเกินกว่าตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนตั๋วหรือใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งการนำรถเสริมมาให้บริการ หรือการปรับค่าตั๋วโดยสารโดยไม่มีเอกสารอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งงานบริการที่ไม่มีมาตรฐาน ท่านสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารฯ กรมการขนส่งทางบก สายด่วน 1584 และขอแนะนำให้ผู้บริโภคเก็บตั๋วโดยสารไว้ด้วยทุกครั้งที่เดินทาง และภ่ายภาพเลขรถโดยสารคันที่ท่านใช้บริการไว้ด้วย จะช่วยให้จดจำเลขประจำรถได้สะดวกขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 นโยบายคมนาคมขนส่งที่ เป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรภาคประชาชน ในเยอรมนี

             วันนี้ผมขอนำเสนอรูปแบบ การร่วมเสนอนโยบาย โดยองค์กรภาคประชาชน ที่ไม่ใช่พรรคการเมือง ในด้านคมนาคม การจราจร และการเดินทางของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา ปัญหาด้านการจราจรและการขนส่ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องปัญหาคุณภาพอากาศ และปัญหาในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพถูมิอากาศ เนื่องจากการกำหนดนโยบายการคมนาคมและการเดินทาง อยู่ในอิทธิพลของพรรคการเมือง และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาวะของประชาชน        ซึ่งการก่อตั้งองค์กรภาคประชาชน ในรูปแบบสมาคมซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 มีหลักการสำคัญ คือ เพื่อเปลี่ยนผู้บริโภคจากผู้ดู ให้เป็นผู้เล่นทางการเมือง การมีองค์กรที่เป็นกลางทางการเมืองในรูปแบบสมาคม จึงมีความจำเป็น และมีความสำคัญ เพื่อทำให้เกิดการสร้างแรงกดดันทางการเมืองขอฃประชาชน โดยเฉพาะกับพรรคการเมือง ที่มักจะมีอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร โดยได้รับอิทธิพลจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยการ Lobby         สำหรับการทำงานขององค์กรลักษณะนี้ มีนโยบายสนับสนุน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มการสัญจรทางเท้า เพิ่มการใช้รถยนต์โดยสารสาธารณะ และลด ละเลิกการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มเส้นทางการคมนาคมสัญจร และราคาที่เป็นธรรมประชาชนสามารถจ่ายได้ เพื่อที่จะลดปริมาณการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับลูกหลานในอนาคตในที่สุด        สำหรับรูปแบบการทำงานของภาคประชาสังคมที่มีความยึดโยงและใกล้ชิด กับประชาชน ในประเทศเยอรมนี คือ สมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.)         ตัวอย่างประเด็นการขับเคลื่อน นโยบายด้านการจราจรและคมนาคม        ·        นโยบาย ด้าน การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสมาคมไม่ได้ต่อต้านการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แต่สนับสนุนและให้ความรู้กับประชาชนในการรู้จักเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างฉลาด ตลอดจนตรวจสอบความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เสนอทางเลือกการเดินทางนอกเหนือจากรถยนต์ส่วนบุคคล การลดระดับมลพิษทางด้านเสียงและอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทาง เพื่อประโยชน์สุขของทุกคน        ·         นโยบายการเดินทางด้วยระบบราง เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน การเดินทางไม่ว่าจะเดินทางไปทำงาน เดินทางท่องเที่ยว เดินทางเพื่อทำการค้า ทำธุรกิจ หรือการเดินทางเพื่อไปพบปะญาติมิตร ในแต่ละวันจะมีผู้คนเป็นจำนวนหลักหลายล้านที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ดังนั้น การใช้ระบบรางในการเดินทาง จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจาเป็นระบบขนส่งคนจำนวนมากที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ประเด็นสำคัญที่จะต้องคำนึง คือ เรื่อง ราคาที่ทุกคนสามารถจ่ายได้    ·        นโยบายการใช้รถไฟฟ้า (Electromobility) ปัจจุบันมีคำถามว่า เป็นกระแส หรือเป็นทางรอดของมนุษยชาติ สำหรับ นโยบายเรื่องรถไฟฟ้า จะต่างจาก รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Personal Car) ที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่ สำหรับประชาชนชาวเยอรมันปัจจุบัน มากกว่า 2 ใน 3 ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นแบบ Electromobility และใช้จักรยานไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 4 ล้านคนต่อวัน        ·        นโยบายการใช้รถบัสในการเดินทางระยะไกล เนื่องจากในปี 2013 ได้เริ่มอนุญาตให้มีการเดินรถบัสสาธารณะ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางไกล นอกเหนือจากการใช้รถไฟ ในอดีตตั้งแต่ปี 1930 มีการห้ามการเดินรถบัส ในเส้นทางที่มีรถไฟให้บริการอยู่แล้ว ยกเว้นเส้นทางไปสู่สนามบิน หรือ เส้นทางในเมืองที่แสดงสินค้า (Expo City) ในกรณีนี้ ทางสมาคมมีจุดยืนในการเลิกระบบผูกขาด ด้วยระบบการเดินทางระบบรางเพียงอย่างเดียว แต่สนับสนุนให้มีทางเลือก ในการเดินทาง เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม        ·        การเดินทางทางอากาศ กระแสการเดินทางทางอากาศที่เป็นที่นิยม ด้วยราคาที่ดึงดูดและล่อใจผู้โดยสาร ทำให้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากการเดินทางทางอากาศ ตั้งแต่ปี 1990 และถ้าพิจารณากระแสความนิยมการเดินทางทางอากาศทั่วโลก ก็จะส่งผลให้ เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบเป็นไปไม่ได้เลย สมาคมมีจุดยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางทางอากาศ มาตรการในการจัดการเรื่องนี้ คือ การใช้ระบบ CO2 – Emission trade ซึ่งในปี 2020 จะเริ่มมีการใช้ เครื่องมือนี้ ทั่วโลกในการจัดการกับปัญหาก๊าซเรือนกระจกจาการเดินทางทางอากาศ         ·        การเดินทางทางเท้า ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางรูปแบบหนึ่ง ในประเทศเยอรมนีเอง ก็ยังมีนโยบายในการสนับสนุนการเดินทางด้วยการเดิน น้อย และมักให้สิทธิพิเศษกับ รูปแบบการเดินทางด้วยรถ หรือ รถยนต์ในการใช้ถนนสาธารณะ ภายใต้แนวคิด การไหลของการจราจรของรถยนต์ แทนที่จะมีแนวคิดให้ เกิดการไหลของการจราจรแก่คนเดินเท้า ซึ่งสมาคมสนับสนุนให้เกิดการไหลของการจราจรของคนเดินเท้า ซึ่งจากแนวคิดนี้ จะไปสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี กับผู้คนในเมือง เพราะจราจรคือ ชีวิตของผู้คน ไม่ใช่ชีวิตของรถยนต์        ·        การขนส่งสินค้า จำนวนสินค้าที่ขนส่งในประเทศเยอรมนีแต่ละปี  คือ 4,500 ล้านตัน หรือเท่ากับ 50 ตัน ต่อประชากรเยอรมนี 1 คน และในรอบ 25 ปี อัตราการขนส่งสินค้า เพิ่มเป็น 2 เท่า ส่วนใหญ่ ใช้การขนส่งผ่านรถบรรทุก ซึ่ง มีการปล่อยก๊าซจากการเผาไหม้ เครื่องยนต์ดีเซล ทางสมาคม จึงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปนโยบายการขนส่ง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการเรียกเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมจากการปล่อยมลพิษ ที่สะท้อนต้นทุนจริงในการขนส่ง และสนับสนุนให้ใช้การขนส่งระบบราง และการขนส่งทางเรือ ในการขนส่งสินค้าที่ต้นทุนต่ำกว่า        ·        นโยบายสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดกรปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการคมนาคมขนส่ง เนื่องจาก 90 % ของพลังงานที่ใช้ในระบบคมนาคมขนส่ง มาจาก พลังงาน ฟอสซิล ในประเทศเยอรมนี 1 ใน 5 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากการคมนาคมขนส่ง และ 96% มาจากการปล่อยก๊าซจากท่อไอเสียของรถยนต์และรถบรรทุก ซึ่งเยอรมนีมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ        ·        นโยบายอากาศสะอาด สำหรับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอากาศสะอาดคือ ชีวิต มนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะดำรงอยู่ได้ภายใต้อากาศที่สะอาด ควันพิษจากรถยนต์ และเขม่าควันดำ เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ เป็นต้นทุนของสังคมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง        ·        การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเมือง เป็นทางเลือกที่สำคัญ กว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ดังนั้นนโยบายนี้จึงต้องเพิ่มการเข้าถึงให้ทุกคนสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ และผู้โดยสารใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม        ·        การเดินทางของผู้สูงวัย และการเดินทางของคนทุกวัย เนื่องจากการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่สำคัญ และเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการมีส่วนได้ส่วนเสียของสังคม และของปัจเจก ดังนั้นคนสูงวัยก็มีความจำเป็นที่จะสามารถเดินทางได้ ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ การใช้ถนน เส้นทาง โดยมีประเด็นในการขับเคลื่อนคือ ความปลอดภัย ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพึ่งพาตนเองได้        ·        การอบรมให้ความรู้ในเรื่องการคมนาคมและจราจรแก่ เด็กและคนสูงวัย ที่เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก เด็กคืออนาคตของชาติ สมาคมให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ การฝึกอบรมกับเด็กและวัยรุ่น และ ผู้สูงวัย ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องอาศัย แนวความคิดใหม่    ·        การเดินทางแบบหลากหลาย และการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างการเดินทาง (Multimodality and Intelligent Networking on the Ways)แนวความคิดการเดินทางแบบนี้ คือ ไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัว แต่ มีรถยนต์แบบ car sharing ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและรถโดยสารสาธารณะ ที่เชื่อมต่อโดยผ่านทางเครือข่ายข้อมูลการเดินทาง สำหรับการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวในเมืองใหญ่ มีภาระที่ต้องแบกรับมากไม่ว่าจะเป็น ที่จอดรถ เงินประกัน และภาษี        ·        การเดินทางด้วยรถจักรยาน เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประโยชน์ ทั้งในแง่สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม การเดินทางด้วยจักรยานในเมือง ใช้เวลาน้อยกว่าในการถึงจุดหมาย ดังนั้นสิ่งที่สมาคมเรียกร้อง ในการขับเคลื่อนนโยบายการใช้จักรยานในเมืองคือ มีที่จอดรถจักรยานสาธารณะที่เพียงพอ และปลอดภัย มีการลงทุนสร้างทางจักรยานที่ได้คุณภาพและปริมาณ ของเส้นทางที่เชื่อมต่อกัน และมีกฎหมายที่อนุญาตให้นำรถจักรยานขึ้นไปบนรถโดยสารสาธารณะได้        ·        นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน ในปี 2017 มีคนเสียชีวิตบนท้องถนนจากอุบัติเหตุ ถึง 3,177 คน อีก 390,000 คน ได้รับบาดเจ็บ การขับเคลื่อนให้เกิดการจำกัดความเร็วบนท้องถนน เป็น เรื่องหนึ่งในอีกหลายเรื่องที่มีความสำคัญ แต่อย่างไร ก็ตามในระดับนโยบายมีการขยับน้อยมากในเรื่อง นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน         ·        นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่สมาคมให้ความสำคัญและทำงานขับเคลื่อนอยู่ไม่ว่า จะเป็น เรื่อง การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การเดินทางและที่อยู่อาศัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การออกแบบนโยบายการคมนาคมขนส่งสาธารณะ        ผลงานที่สำคัญ คือ การได้รับการชื่นชมจากคณะกรรมการ UNESCO แห่งเยอรมนี ถึง 2 ครั้ง ในประเด็นการให้ความรู้แก่สาธารณะในเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2011/2012 และ ปี 2013/2014        แนวทางการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ในประเด็นการคมนาคมขนส่ง ในประเทศเรา สามารถเรียนรู้จากองค์กรนี้ได้ และประยุกต์ให้เข้ากับบริบททางสังคมของประเทศเรา        แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.) https://www.vcd.org/startseite/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 บริการขนส่งมวลชนที่พึงปรารถนา

        ปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนค่าใช้จ่ายที่สำคัญของผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายเรื่อง อาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าบริการขนส่งในการเดินทางไปทำงาน         งานวิจัยล่าสุดของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สูงถึง 26-28 % หรือหากใช้รถปรับอากาศ ก็สูงถึง 15 % ของรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ในฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % ในการใช้รถไฟฟ้าเท่านั้น         โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ต้องออกจากบ้าน ใช้มอเตอร์ไซค์ รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้า 14-16 จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ         แน่นอนปัญหาความไม่เพียงพอของบริการขนส่งมวลชน ปัญหารถติด การใช้เวลาบนท้องถนน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่แน่นอนของบริการจากปัญหารถติด ปัญหารถไฟฟ้าราคาแพง ทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากถึง 43 % เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ 26 % และรถขนส่งมวลชน 24 %  ขณะที่สิงคโปร์ใช้รถขนส่งสาธารณะถึง 62 % และ 89 % ในฮ่องกง (สถิติในปี 2015)         รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ. 2030 จะทำให้ประชากรได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง สามารถจ่ายค่าโดยสารและสามารถเข้าถึงระบบขนส่ง และระบบขนส่งที่ยั่งยืน การปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ตัวอย่างที่ดีที่สุด เช่น โดยการขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอย่างผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงวัย โดยกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ คือต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนที่สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร          เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งมวลชน การบริโภคที่ยั่งยืน และแน่นอนการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาสุขภาพ รัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งมวลชนที่เพิ่มขึ้น ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มี 5 เรื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สำคัญ         1) ประชาชนทั่วประเทศ ต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที ต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ         2) ระยะเวลาในการรอรถเมล์ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงไม่เร่งด่วนในการเดินทางประจำวัน         3) มีระบบให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ว่า รถเมล์ หรือรถโดยสารสายอะไรที่กำลังจะมา (ViaBus) ในกรุงเทพฯยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถบอกได้ในปัจจุบัน รวมทั้งในต่างจังหวัดที่ยังแทบไม่มีระบบอะไรเลย         4) ค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกิน 5 % ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ         5) สำหรับกรุงเทพ ฯ ต้องจัดการให้ผู้บริโภคเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการถึงแม้จะใช้หลายเส้นทาง มีระบบที่เชื่อมโยงรถเมล์กับบริการรถไฟฟ้า และบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

อ่านเพิ่มเติม >