ฉบับที่ 271 เจอผลิตภัณฑ์เบเกอรี่แบรนด์ดังขึ้นรา

        ช่วงนี้ในโลกออนไลน์มีผู้บริโภคหลายคน พบเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารที่ซื้อมาบริโภคอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารในร้านสะดวกซื้อหรือแม้แต่ในร้านอาหารทั่วไป ซึ่งเรื่องราวทำนองนี้ทางมูลนิธิฯ ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมาอยู่ตลอดเช่นเดียวกัน ดังนั้นเสียงผู้บริโภคที่ฉลาดซื้อจะมาเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของคุณวีผู้เสียหายที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ โดยเขาได้เล่าให้ฟังว่า         ได้ซื้อขนมเค้กแบรนด์ดังเจ้าหนึ่งมา 1 กล่อง (ภายในกล่องจะแยกขนมเป็นชิ้นๆ ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กจำนวน 10 ชิ้น) จากร้านขายของชำแถวบ้าน เป็นขนมแบรนด์โปรดของคุณวีเลยแหละเพราะก็กินตั้งแต่เด็กจนโต หลังจากซื้อมาก็ได้รับประทานไปตามปกติแถมขนมก็ยังอร่อยเหมือนเดิมเลย แต่ด้วยความขนม 1 กล่องมีหลายชิ้น เลยกินไปเรื่อยๆ ไม่ได้กินครั้งเดียวจนหมด ทีนี้พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เขากลับมากินอีกครั้งฉีกซองออกมาก็เจอราสีขาวปนเขียวๆ ขึ้นอยู่บนขนม อ้าว! มันหมดอายุแล้วหรอ!(คุณวีคิด) เมื่อดูฉลากวันหมดอายุก็พบว่ายังไม่หมดนะ จึงทำให้เขาเป็นกังวลและเลือกที่จะไม่บริโภคต่อ เขาได้นำผลิตภัณฑ์มาร้องเรียนและเปิดให้ทางมูลนิธิฯ ดู ซึ่งพบว่าขนมเค้กดังกล่าวขึ้นราอีก 4 ซอง ทีนี้คุณวีเลยเป็นกังวลเกรงว่าผู้บริโภครายอื่นจะได้รับปัญหาเช่นเดียวกัน จึงขอความช่วยเหลือว่าควรจะทำอย่างไรดี? แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ หลังจากได้รับเรื่องจากคุณวี ได้มีการแจ้งไปทางบริษัทดังกล่าวที่ผลิตสินค้าและได้นัดหมายเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีสินค้ามีลักษณะขึ้นราก่อนวันหมดอายุ ซึ่งทางผู้จัดการบริษัทดังกล่าวก็ยินดีที่จะชดเชยให้เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท พร้อมกับนำกระเช้าผลไม้และขนมเค้กดังกล่าว จำนวน 2 ลัง มามอบให้ เพื่อเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย รวมถึงทำหนังสือขอโทษและแจ้งผลตรวจขนมดังกล่าวจากห้องแล็ปให้แก่ผู้เสียหายทราบด้วย ถือว่าทางบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค         ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่เจอเหตุการณ์ ดังกล่าวให้แก้ไขปัญหา ดังนี้         1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน เช่น ใบเสร็จจากร้านค้า         2. ไปพบแพทย์ตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน         3. นำหลักฐานแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่         4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) แจ้งความประสงค์ที่จะต้องการให้บริษัทแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร         5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท เขียนสรุปปัญหาที่พบ ส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า ระบุให้ชัดเจนถึงความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         กรณีที่ไม่ได้จะนำสินค้าเก็บไว้เพื่อร้องเรียน หากผู้บริโภคเจอ “เชื้อรา” ปนเปื้อนในอาหาร ทางฉลาดซื้อไม่แนะนำให้รับประทานต่อให้ทิ้งไปเลย เนื่องจากตัวเชื้อราอาจมีการแพร่เชื้อไปโดยที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากรับประทานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ขนมปังในห่อปิดสนิทมีเศษกระดาษปะปนอยู่

ขนมปังแผ่นเป็นที่นิยมรับประทานมากในปัจจุบัน ทั้งแบบกินเล่นเปล่าๆ หรือนำไปทำอาหารได้หลากหลาย เช่น แซนวิซ ขนมปังหน้าหมู ขนมปังปิ้ง พิซซ่า แล้ววันหนึ่งหากพบว่ามีบางอย่างไปปะปนอยู่ในเนื้อของขนมปัง ผู้บริโภคจะต้องทำอย่างไร         คุณภูผา ชอบรับประทานขนมปังแผ่นของบริษัทที่โฆษณาว่าสดใหม่ทุกเช้ามาก  โดยเฉพาะแบบโฮลวีต ซึ่งซื้อไว้ติดบ้านเพื่อรับประทานเป็นประจำ ก็ไม่เคยเกิดปัญหาอะไร อร่อยและคุณภาพดีตามคำโฆษณา จนวันหนึ่งขณะกำลังจะเตรียมทำแซนวิช คุณภูผาหยิบขนมปังจากถุงรับประทานเล่นไปก่อนสองแผ่น ขณะที่กำลังเคี้ยวๆ แผ่นที่สองอยู่นั้นรู้สึก มีอะไรแปลก ๆ อยู่ในปาก         เมื่อคายออกมาก็พบว่า มีเศษกระดาษอยู่ในขนมปัง เลยงงๆ ว่าทำไมถึงมีเศษกระดาษอยู่ในขนมปังได้ จึงถ่ายรูปเศษกระดาษไว้และแจ้งไปให้บริษัทผู้ผลิตทราบ เพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในขนมปังอย่างเช่นที่เขาพบอีก   เพราะตนเองเป็นลูกค้ามานาน ส่วนเบอร์โทรที่แจ้งก็โทรไปตามที่โฆษณาไว้บนฉลาก         บริษัทฯ แจ้งกับคุณภูผาว่า ให้คุณภูผาเก็บขนมปังไว้ก่อนและจะส่งพนักงานบริษัทให้ไปรับขนมปังมาตรวจเพื่อหาสิ่งปนเปื้อน ซึ่งคุณภูผารอหลายวันแล้ว ก็ไม่เห็นพนักงานบริษัทมาสักที ตนเองรู้สึกเป็นกังวลกลัวว่า บริษัทฯ จะคิดว่าเขามาหลอกบริษัทหรือเปล่า หรือคิดว่าเขาเป็นนักต้มตุ๋นหรือเปล่า จึงขอคำแนะนำมายังมูลนิธิ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่าการกระทำของผู้ผลิตอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงแนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้ร้องไม่ได้หลอกลวงหรือเป็นนักต้มตุ๋นอย่างที่กังวล จากนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จะได้ติดต่อไปยังบริษัท เพื่อให้เร่งจัดการปัญหาของผู้ร้อง แต่คุณภูผาผู้ร้องนั้น ยังไม่ต้องการให้ศูนย์ฯ ติดต่อไปเพราะว่าอยากให้โอกาสบริษัททำงานก่อน ถ้าภายใน 1 สัปดาห์บริษัทยังไม่ติดต่อมาจะกลับมาให้ศูนย์พิทักษ์ช่วยเหลือ        ต่อมาผู้ร้องได้แจ้งความคืบหน้าว่า ตนเองไปเที่ยวงานสหกรุ๊ปแฟร์ พบบูธของบริษัทขนมปังพอดี จึงเข้าไปแจ้งเรื่องกับพนักงานที่มาออกบูธ หลังจากนั้นก็มีคนของบริษัทติดต่อกลับมาและนัดหมายเพื่อรับขนมปังที่พบสิ่งปนเปื้อนไปตรวจ และขออภัยในปัญหาและความผิดพลาดของการสื่อสารที่เกิดขึ้น และได้นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาชดเชยให้ผู้ร้องเป็นจำนวน 2 – 3 เท่า ของราคาสินค้าที่ซื้อมา ผู้ร้องเข้าใจว่าเป็นความผิดพลาดของการสื่อสาร ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อบริษัทรับปากและนำความผิดพลาดไปปรับปรุง คุณภูผาก็พอใจ และขอยุติเรื่องไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สารกันบูดในขนมปังไส้สังขยาและไส้เผือก

ผลทดสอบ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพสารกันบูดในขนมปังไส้สังขยาและไส้เผือก“ขนมปัง” นั้น ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่เป็นเมนูที่หารับประทานได้ง่าย ซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป อีกทั้งราคาไม่แพงและแถมสะดวกในการพกพาไว้รับประทานระหว่างเดินทางอีกด้วย จึงเป็นทางเลือกที่ทดแทนอาหารหนึ่งมื้อได้เลยทีเดียว  ซึ่งชนิดของขนมปังที่พบได้มากที่สุดตามร้านค้าร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็คือ ขนมปังพร้อมทาน(Snack Bread)  หรือขนมปังที่มีปริมาณบรรจุต่อ 1 ซอง เหมาะสมพอดีต่อการรับประทาน 1 ครั้ง ขนมปังพร้อมทานมีหลายรูปแบบหลายรสชาติ แต่ที่น่าจะได้รับความนิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ขนมปังสอดไส้หวาน เช่น ไส้ครีม ครีมสังขยา ช็อกโกแลต  ตลอดจนแยมผลไม้ต่างๆ ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอนำเสนอผลวิเคราะห์ปริมาณ “สารกันบูด” ในขนมปังไส้หวาน โดยเราเลือกวิเคราะห์ขนมปังไส้หวาน 2 รสชาติแบบไทยๆ อย่าง ไส้สังขยาและไส้เผือก ซึ่งหลายๆ คนน่าจะชื่นชอบ จำนวน 19 ตัวอย่าง เราลองไปดูกันสิว่า ขนมปังไส้สังขยาและไส้เผือกที่เราเคยรับประทาน หรือบางคนอาจจะรับประทานเป็นมื้อเช้าแทบจะทุกวันมีปริมาณของสารกันบูดมาก-น้อยแค่ไหนกันบ้าง นอกจากนี้เรายังสุ่มทดสอบไส้สังขยาและไส้เผือกสำเร็จรูปที่เป็นวัตถุดิบในการทำขนมปังและเบเกอรี่ต่างๆ อีก 8 ตัวอย่างจากร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการทำขนมอบ เบเกอรี่ เพื่อให้รู้ชัดกันไปเลยว่าขนมปังหรือไส้ อันไหนที่มีสารกันบูดมากกว่ากันหมายเหตุ สารกันเสียที่ระบุบนฉลากอาหารINS 202 (โพแทสเซียมซอร์เบต) กลุ่มซอร์เบตINS 210 (กรดเบนโซอิก) กลุ่มเบนโซเอตINS 211 (โซเดียมเบนโซเอต) กลุ่มเบนโซเอตINS  282 (แคลเซียมโพรพิโอเนต) กลุ่มโพรพิโอเนตผลทดสอบการวิเคราะห์หาปริมาณสารกันบูดในขนมปังใส่ไส้ครั้งนี้ เราเลือกทดสอบสาร 2 ตัว คือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันบูดที่นิยมใช้ในอาหาร และมีการกำหนดค่ามาตรฐานไว้ (ส่วนสารแคลเซียมโพรพิโอเนต INS 282 ที่พบในหลายผลิตภัณฑ์ ไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน ระบุเพียงว่า ปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่ได้ทดสอบ) ส่วนตัวอย่างขนมปังสอดไส้ที่ฉลาดซื้อสุ่มนำมาทดสอบครั้งนี้ มีทั้งตัวอย่างที่วางจำหน่ายอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรพพสินค้าทั่วไป รวมทั้งตัวอย่างจากร้านขนมปังสอดไส้เจ้าดัง ที่คนชอบทานขนมปังสอดไส้ต่างๆ น่าจะรู้จักกันดี รวมแล้วทั้งหมด 14 ยี่ห้อ 19 ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ที่ได้พบว่า •ขนมปังไส้สังขยา 11 ตัวอย่าง และขนมปังไส้เผือก 8 ตัวอย่าง รวมทั้งหมด 19 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของสารกันเสีย กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ทุกตัวอย่าง •ข่าวดี ทุกตัวอย่างพบในปริมาณที่อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดย 3 ตัวอย่างที่พบปริมาณ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก รวมกันน้อยที่สุด คือ1. ยี่ห้อ UFM ขนมปังไส้เผือก พบกรดเบนโซอิก 15.23 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม (มก./กก.) หรือถ้าคิดเฉลี่ยต่อ 1 ชิ้น ที่น้ำหนัก 100 กรัม จะเท่ากับ 1.53 มิลลิกรัม ส่วนกรดซอร์บิก ไม่พบ2. ยี่ห้อ กาโตว์ เฮาส์ ขนมปังไส้เผือก พบกรดเบนโซอิก 15.87 มก./กก. หรือคิดเฉลี่ยต่อ 1 ชิ้น ที่น้ำหนัก 90 ก. จะเท่ากับ 1.42 มก.3.ขนมปังเจ้าดังจากเยาวราช ไส้สังขยา พบกรดเบนโซอิก 15.38 มก./กก. และกรดซอร์บิก 5.54 มก./กก. หรือคิดเฉลี่ยต่อ 1 ชิ้น ที่น้ำหนัก 87 ก. จะเท่ากับกรดเบนโซอิก 1.33 มก. และกรดซอร์บิก 0.48 มก./กก. •ตัวอย่างที่พบปริมาณสารกันเสีย เบนโซอิกและซอร์บิก ร่วมกันสูงที่สุดคือ ยี่ห้อ Victory ขนมปังไส้สังขยา พบกรดเบนโซอิก 389.01  มก./กก.และกรดซอร์บิก น้อยกว่า 1.50 มก./กก.ข้อสังเกตจากการวิเคราะห์ตัวอย่าง•ตัวอย่างขนมปังไส้สังขยา พบปริมาณสารกันเสีย เบนโซอิกและซอร์บิก มากกว่าตัวอย่างขนมปังไส้เผือก•ตัวอย่างขนมปังไส้สังขยาจากร้านวังหลังเบเกอรี่ พบว่ามีทั้งกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก แต่ถุงใส่ขนมปังของร้าน ซึ่งเป็นแบบทำสดขายวันต่อวัน มีข้อความว่าไม่ใส่วัตถุกันเสีย ปริมาณสารกันบูดที่อนุญาตให้พบได้ในขนมปังประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) อนุญาตให้มีการใช้สารกันเสีย กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบในอาหารในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัมหากมีการใช้ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) “ข้อ 6 การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชื่อวัตถุเจือปนอาหาร หมวดอาหาร หรือชนิดอาหาร หน้าที่ทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และปริมาณสูงสุดที่อนุญาตที่กำหนดไว้ตามบัญชีหมายเลข 1 โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมตามบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศนี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง”ตามเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ฉลาดซื้อคำนวณแล้ว พบว่า ไม่มีตัวอย่างใดเกินค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ตารางผลการวิเคราะห์กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกใน ไส้สังขยาและไส้เผือกสำเร็จรูปข้อสังเกตจากการวิเคราะห์ตัวอย่าง•ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) ไม่ได้มีการกำหนดเรื่องการใช้กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ในไส้สังขยาและไส้เผือกสำเร็จรูป ที่ดูแล้วพอจะสามารถอ้างอิงได้ใกล้เคียงที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มไส้ขนมที่ทำจากผลไม้ ซึ่งในประกาศฯกำหนดปริมาณของกรดเบนโซอิก ไว้ที่ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม เช่นเดียวกับกรดซอร์บิกที่ก็กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัมเท่ากัน•ถ้ายึดตามเกณฑ์นี้ ก็เท่ากับว่า ไส้สังขยาสำเร็จรูป 4 ตัวอย่าง และไส้เผือกสำเร็จรูป 4 ตัวอย่างที่ฉลาดซื้อสุ่มทดสอบครั้งนี้ พบปริมาณสารกันเสีย กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ทุกตัวอย่าง แต่ทุกตัวอย่างก็พบปริมาณที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมี 1 ตัวอย่างคือ ยี่ห้อยูยี ไส้เผือกสำเร็จรูป ที่พบการปริมาณ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก น้อยมาก คือพบกรดเบนโซอิกแค่ 1.68 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และไม่พบกรดซอร์บิกเลย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 189 สิ่งแปลกปลอมในขนมปัง

อาหารที่สะอาดและรสชาติอร่อยเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตควรคำนึงถึง โดยไม่ควรปล่อยให้มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนมาในอาหาร เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งยังผิดกฎหมายอีกด้วย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสมชายซื้อขนมปังยี่ห้อ เลอแปง หน้าพิซซ่าฮาวายเอี้ยน ราคา 15 บาท จากร้านค้าขนาดเล็ก (มินิมาร์ท) แห่งหนึ่งมารับประทาน โดยขณะรับประทานจนเกือบหมดแล้วพบว่า เขาได้กัดชิ้นส่วนแปลกปลอมเข้าไป ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นสีดำอมเขียว ความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โดยเขาสันนิษฐานว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของพลาสติก คุณสมชายจึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อร้องเรียนปัญหา ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้เก็บขนมปังดังกล่าวไว้ และจะเดินทางมารับไปตรวจสอบในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ภายหลังบริษัทเข้ามารับขนมปังดังกล่าวก็ได้มอบกระเช้าของขวัญให้คุณสมชาย และแจ้งว่าชิ้นส่วนดังกล่าวน่าจะเป็นเศษขนมปังเก่าที่สะสมมานาน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตามคุณสมชายยังคงไม่มั่นใจและต้องการผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้สามารถใช้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาอ้างอิงได้ โดยตามมาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายอาหารดังต่อไปนี้ (1) อาหารไม่บริสุทธิ์ (2) อาหารปลอม (3) อาหารผิดมาตรฐาน และ (4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด นอกจากนี้ตามมาตรา 58 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ร้องสามารถเรียกค่าเสียหายกับทางบริษัทได้ตาม พ.ร.บ. นี้ได้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแจ้งผู้ร้องว่าหากยังไม่ได้รับความคืบหน้าจากทางบริษัท สามารถส่งรายละเอียดให้ศูนย์ฯ ช่วยประสานงานกับผู้ผลิตได้ โดยใช้หลักฐานในการดำเนินการ ดังนี้ 1.หลักฐานการซื้อสินค้า 2.ใบเสร็จรับเงิน 3. สินค้าที่พบความเสียหายพร้อมรูปถ่าย 5. ใบแจ้งความบันทึกประจำวัน และ 6. รูปภาพตอนรับกระเช้าของขวัญจากทางบริษัท ทั้งนี้ภายหลังผู้ร้องได้ตอบกลับมาว่า ทางบริษัทได้แจ้งผลการตรวจสอบแล้วว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวคือเศษขนมปังเก่าจริง โดยชี้แจงวิธีการผลิตและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเขาพอใจการดำเนินการดังกล่าว และไม่ติดใจร้องเรียนค่าเสียหายต่อ จึงขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 60 Plus+ “ให้ทุกคนเห็นว่าคนพิการทำงานได้ ทุกคนมีจุดแข็ง จุดอ่อนที่มาเติมเต็มกันและกัน”

ริมถนนราชวิถี อาณาบริเวณติดกับบ้านราชวิถี เป็นที่ตั้งของร้าน 60 Plus+ Bakery & Cafe โครงการดีๆ ที่เปิดโอกาสให้คนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมได้ใช้สิทธิในสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ“โครงการนี้เป็นโครงการเฉลิมฉลองครบ 60 พรรษาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เราจึงอยากให้เป็น Living Present คือของขวัญที่มีชีวิต ซึ่งประชาชนก็ถวายของขวัญให้พระองค์ท่านมากมายแต่ให้ครั้งเดียวมันก็หมดไป แต่การที่น้องๆ อยู่ตรงนี้ทุกวันมันคือ การถวายพระพรท่านในทุกๆ วันว่าน้องๆ ทุกคนทำได้ ซึ่งร้านนี้เกิดจากความร่วมมือของศูนย์พัฒนาและอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก ( APCD) และบริษัทไทยยามาซากิจำกัด จากประเทศญี่ปุ่น และผู้ค้าอื่นๆ จุดเริ่มต้นคือการที่เราทำ Showcase ให้ทุกคนเห็นว่าคนพิการทำงานได้ มันเป็นรูปแบบนามธรรมที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เวลาที่เรานึกถึงคนพิการส่วนใหญ่แล้วเขาก็จะโดนจ้างจากบริษัทให้ทำงานเป็นพวก Call Center อะไรพวกนั้นแต่ในกรณีของร้านนี้น้องๆ จะได้พัฒนาเต็มศักยภาพจริงๆ เงินเดือนก็ไม่ได้ต่างอะไรกับพนักงานยามาซากิคนอื่นๆ ใช้เรทเดียวกัน ที่สำคัญคือน้องๆ จะสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองเพื่อที่เขาจะได้กลับไปอยู่ในสังคมที่พวกเขาคุ้นเคยอยู่แล้วได้ด้วย”น้องณูณู น้องพนักงานท่านหนึ่งเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ จากนั้นส่งไม้ให้คุณต้อม ดวงนฤมล ดอกรัก ผู้จัดการข้อมูลและความรู้ มูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก(ศพอ.) ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเล่าต่อ“น้องๆ จะอยู่ในเครือข่ายของเราขึ้นอยู่กับว่าจะมาสมัครหรือเปล่า อย่างรุ่นแรกจำเป็นต้องใช้เครือข่ายเพราะว่าเป็นปีแรกยังไม่มีใครรู้จักร้านเรา เราต้องรับสมัครก่อนที่ร้านจะเปิดจริงๆ 9 เดือน แล้วไม่มีใครรู้จักร้านเรา ที่ตรงนี้เดิมเป็นที่รกๆ เก่าๆ แต่เราเปลี่ยนมันให้เป็นร้านเบเกอรี่และทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นเทอเรซคาเฟ่”ตอนเริ่มต้นฝึกกันอย่างไรบ้างค่อนข้างลองผิดลองถูกเพราะว่าเราไม่รู้เลยโดยส่วนใหญ่แล้ว APCD จะทำอบรมด้านความพิการอย่างเดียวแต่นี่ถือเป็นการฝึกครั้งแรก ซึ่งมีเวลาเตรียมตัวแค่ 3 อาทิตย์เท่านั้น คือเราได้รายชื่อมาแล้วว่าเขาพิการอะไรบ้างแล้วมานั่งคิดประยุกต์จากที่พวกเราเชี่ยวชาญเฉพาะทางกันอยู่แล้ว อย่างตัวเองเคยสอนเด็กพิการ 9 ประเภทตามหลักกระทรวงศึกษาธิการก็เลยรู้ Know how อย่างไรถึงจะสอนพวกเขาได้ ทำอย่างไรเด็กออทิสติกจะเข้าใจ ทำอย่างไรให้เด็กออทิสติก คนหูหนวกและคนที่พิการทางด้านร่างกายเขาอยู่ร่วมกันได้ คือคนพิการทางด้านร่างกายนั้น ถ้าไม่นับข้อจำกัดด้านร่างกายเขาก็คือคนปกติดีๆ นี่เอง คนหูหนวกก็เหมือนกันถ้าไม่นับเรื่องที่เขาไม่ได้ยินเขาก็เหมือนคนปกติ แต่เด็กออทิสติกถือเป็นปัญหาในช่วงนั้นเลย เพราะเราจะพูดกับเขาไม่รู้เรื่องและในปีแรกนั้นมีน้องคนหนึ่งพิการค่อนข้างรุนแรงเลย คือเขียนหนังสือไม่ได้ อ่านก็ไม่ค่อยออกด้วย แต่ว่าน้องพัฒนาจากการที่เราเคยต้องพูดปากเปียกปากแฉะทุกวันว่า ต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง แต่ตอนนี้ลองมองตาของน้อง แววตามีแต่ความสุขทุกวันและน้องก็น่ารักเราจำวันแรกของทุกๆ คนได้เลย ทุกคนนั่งเฉยๆ เป็นต้นไม้ ไม่ไว้ใจใครทั้งนั้น เราก็คิดเหมือนกันว่าจะไปรอดไหมเพราะผู้พิการทางการได้ยินเขาก็จะมีสังคมของเขา แต่จะให้ช่วยมาดูแลน้องๆ ออทิสติกนั้นมันก็ยาก ก็ได้พี่ๆ ที่พิการทางร่างกายมาเป็นตัวเชื่อมโยงเหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กออทิสติก และผู้พิการทางการได้ยินก็เรียกได้ว่าเป็นมือขวาของผู้พิการทางด้านร่างกายเพราะว่าเวลาพี่ๆ ที่พิการด้านร่างกายเดินช้ากว่า แต่ว่าเตา(เตาอบขนม) มันพร้อมแล้วผู้พิการทางการได้ยินเขาจะจมูกไวมาก ก็ช่วยๆ กันทำงาน เพราะการที่เราทำออเดอร์เสร็จนั้นมันคือข้อบ่งชี้ว่าเราทำได้จริง และช่วงปีแรกเราก็มีปัญหาที่ว่าน้องๆ ที่เป็นเด็กพิเศษ ไม่สามารถนั่งผูกผ้ากันเปื้อนได้ คือเขาไม่สามารถที่จะผูกด้านหลังโดยมองไม่เห็นได้ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี รุ่น 2 เลยมีการสังเกตการณ์อยู่ 1 เดือนก่อนถ้ามีแววก็จะไปสู่ปฐมนิเทศของการอบรมแต่ถ้าไม่มีแววก็ต้องกลับบ้าน แต่เรามั่นใจว่าน้องๆ ทุกคนตรงนี้พอได้เป็นรุ่น 2 มันมีความเคยชินเพราะตอนรุ่น 1 ยังไม่มีร้านให้เขาฝึกงานเพราะร้านเสร็จตอนเดือน ส.ค. แต่เขามาฝึกกันตั้งแต่เดือน พ.ค. ซึ่งต้องฝึกกันถึง 6 เดือนรุ่นแรกมีกี่คน คัดมาจากจำนวนเท่าไรคัดมาจาก 14 คน ได้มาทำงานเป็นพนักงานจริงๆ 10 คน แต่เราเป็นสาขาศูนย์ฝึกไม่ใช่สาขาออฟฟิศ เพราะถ้าที่นี่เป็นสาขาออฟฟิศหมายความว่าเราจะสร้างความเข้มแข็งของผู้พิการได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเราเป็นสาขาศูนย์ฝึกเราจะหมุนเวียนทุกปีหมายถึง เราจะสามารถสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพให้น้องๆ พิการได้เรื่อยๆ จำนวนจะเพิ่มขึ้นทุกปี ตอนนี้เรามีกันอยู่ในร้าน 22 คนเป็นรุ่นแรก 9 คนที่แต่เดิมมี 10 คนหายไป 1 คนเพราะถูกส่งไปอยู่สาขาอื่นเรียบร้อย เขาเป็นผู้พิการทางด้านร่างกายเคยทำงานอยู่การรถไฟแห่งประเทศไทยแล้วถูกรถไฟทับขาขาดต้องใส่ขาเทียม เดี๋ยวก็จะมีคนต่อๆ ไปส่งไปอีกต้องดูเป็นคนๆ ไปใครที่ไปได้เราก็จะส่ง แต่ว่าน้องๆ รุ่นที่ 2 นี้ก็กำลังจะจบการฝึกงานสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าผลการฝึกงานจะเป็นอย่างไร เพราะตัวเราเองถูกส่งมาเพื่อคอยจับตาดูน้องๆ ทุกคนเพราะเป็นผู้ฝึกอบรมมาตั้งแต่รุ่นสังเกตการณ์ สังเกตการณ์เหมือนกับให้เขาได้เตรียมตัว เตรียมทักษะก่อนหน้าที่จะไปเจอของจริงที่เป็นมาตรฐานของยามาซากิอย่างเช่นที่คีบซึ่งมั่นใจว่าน้องๆ ไม่เคยใช้แน่ๆ แต่เขาต้องฝึกใช้กันให้คล่อง ก็ต้องสอนเขาให้รู้จักการใช้วิธีการคีบอย่างไร ใส่ถุงอย่างไร การกะขนาดของขนมกับถุงที่จะใส่ด้วยสายตา เรื่องพวกนี้เราต้องใช้เวลาในการฝึกและฝึกการทำงานเป็นทีมด้วย พอมาอยู่ในนี้ทุกคนต้องทำงานเป็นทีมเดียวกันคือต้องมีทักษะที่ชำนาญในระดับหนึ่ง และถ้าเป็นไปได้เราเริ่มให้เขาจำชื่อขนมและราคาก่อน ถ้าจำได้เรื่องจำโค้ดค่อยมาเรียนทีหลังเพราะโค้ดเป็นสิ่งที่สาขาอื่นจะใช้อยู่ตลอดเพราะฉะนั้นนี่เป็นเหตุผลที่ทำไมน้องๆ ต้องเรียนโค้ดสำหรับคนที่อยู่ฝ่ายขายและโดยเฉพาะคนที่ทำหน้าที่แคชเชียร์จะต้องจำมันให้ได้ซึ่งอันที่จริงมันก็แยกตามประเภทของขนมปังอยู่แล้ว จะมีชื่อเรียกเป็นโค้ดของมันอยู่แล้ว ก็มีทั้งหมด 21โค้ดน้องแต่ละคนได้ทำหน้าที่หมุนเวียนกันไปไหมคือไม่ได้หมุนเวียนแบบ 1 คนทำทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายขายแน่นอน เราทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะว่าเราต้องแยกใครมีแววด้านการผลิตก็ให้อยู่ฝ่ายผลิตไปเลย ใครอยู่ฝ่ายขายก็ฝ่ายขายไปเลย แต่ว่าจะมีน้องจุ๊บแจงจะเป็นกรณีพิเศษเขาจะอยู่ได้ทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายขายซึ่งมีแบบนี้ไม่กี่คน คือคิดว่าคนพิการทุกคนมีจุดแข็งจุดอ่อนเหมือนคนหนึ่งคอยมาเติมส่วนที่อีกคนหนึ่งขาด อย่างพี่ที่หูหนวกก็จะถูกจับคู่กับน้องๆ ออทิสติกซึ่งตอนแรกก็ห่วงว่าเขาจะสื่อสารกันอย่างไร สุดท้ายก็ใช้วิธีเขียนเอาบ้าง ใช้ภาษามือบ้างการสื่อสารนั้นสำคัญมากเลยเพราะเรามีทั้งออทิสติก ซึ่งการสื่อสารต้องทำความเข้าใจเขานิดหนึ่งและอย่างด้านผู้พิการทางการได้ยินก็มีทั้งหูตึง หูหนวก ซึ่งหูหนวกเขาจะสื่อสารกันโดยใช้ภาษามือ ส่วนหูตึงจะใช้การอ่านปากและการเขียน ส่วนออทิสติกภาษาที่เขาใช้คือภาษาง่ายๆ ใช้ท่าทาง คือผู้พิการทั้งหลายนั้นสิ่งที่มีร่วมกันคือการใช้ภาษาร่างกาย ภาษามือง่ายๆ ที่เราคิดกันขึ้นมาเองก็สามารถทำให้เขาเข้าใจได้เพราะเขาต้องการอะไรที่สั้นๆ สื่อความหมายได้ ซึ่งการเรียนรู้ตรงนี้ไม่ยากแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานมากกว่านั้นคือความรัก ถ้าเขาไม่รักกันเขาจะไม่เข้าใจกันเพราะฉะนั้นสิ่งแรกเราไม่ได้เน้นให้เขาใช้ภาษามือแต่เราฝึกให้เขาใช้ความรัก ความผูกพันและความเข้าใจกัน เข้าใจทั้งคนอื่นและเข้าใจตนเองว่าตนเองมีส่วนไหนทำได้ ส่วนไหนทำไม่ได้ เขาจะได้รู้ตัวเองว่ามีจุดดีจุดด้อยตรงไหน น้องๆ ที่มาแรกๆ นั้นเขาจะนั่งเฉยๆ เพราะเขาไม่เคยต้องทำอะไรเท่าไรตอนอยู่ที่บ้านแต่พอออกมาเขาได้ทำนู้นทำนี่แล้วเรารู้สึกดีใจที่ได้เห็นแววตามีความสุขของพวกเขา เขาสามารถบอกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไรได้ นี่คือความสำเร็จของเรา ซึ่งความรักนั้นทำให้พวกเขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นและเขาจะมีความเชื่อมั่น เวลาเขาทำสำเร็จเราจะชื่นชม เขาจะได้รู้สึกว่าเขาทำได้น้องๆ ที่นี่ก็จะมีประเภทที่ 1 คือจิตเภท คือความคิดของเขากับความจริงจะไม่เหมือนกัน โลกของเขาอาจจะต่างกับของเรา กลุ่มที่ 2 คือประเภทไบโพลาร์คือมีอารมณ์ 2 ขั้ว เขาจะมีการกลับไปกลับมาระหว่าง 2 ขั้ว ร่าเริงสุดขั้วกับซึมเศร้าสุดขั้วแต่ช่วงเปลี่ยนระหว่าง 2 อารมณ์นี้มันจะไม่แน่นอน อาจจะเปลี่ยนแค่วันเดียวหรือเป็นเดือน เป็นปีก็ได้ อีกกลุ่มคือซึมเศร้าตลอดเวลา ตอนนี้ในรุ่น 2 เรามีน้องที่เป็นจิตเภทและไบโพลาร์อยู่ในร้านด้วย อย่างที่เป็นจิตเภทจะเห็นได้ว่าเขาไม่เคยอาละวาดกับเรา แต่เขาเคยเข้าศรีธัญญามานะ ซึ่งคนทั่วไปถ้าให้รับเข้าทำงานก็คงคิดหนักเป็นเรื่องปกติเพราะเวลามีข่าวคนจะจำภาพทำให้ติดอยู่ในใจ ทำให้รู้สึกกลัวถ้าจะมีปฏิสัมพันธ์กับเขา แต่ถ้าได้มาดูที่ร้านจะเห็นว่าไม่ว่าจะวันไหนน้องๆ เขาก็น่ารักถึงแม้ว่าบางทีจะยิ้ม จะพูดคนเดียวแต่ก็ไม่ถึงขั้นร้ายแรง ส่วนที่เป็นไบโพลาร์พอเห็นเขาดีๆ ก็ดีแต่ใจก็คิดอยู่ว่าถ้าเขาคลุ้มคลั่งขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งน้องก็เคยเข้ารับการรักษาที่ศรีธัญญาเหมือนกันและทานยาอยู่ซึ่งน้องไม่ได้น่ากลัวเลย ตอนนี้เราเชื่อใจเขามากจึงให้ไปทำงานที่ UNCC ลูกค้าที่ไปใช้บริการที่นั่นเป็นระดับ VIP คือเป็นราชการระดับผู้ใหญ่แต่เรากล้าที่จะให้น้องที่เป็นไบโพลาร์ไปฝึกงานที่นั่นเพราะเราต้องการจะบอกกับสังคมว่าไบโพลาร์ก็ทำงานได้ ซึ่งเราพิสูจน์แล้ว จะมีแค่เขาอาจจะพูดอะไรงงๆ แต่ไม่ได้อาละวาดใคร คือเราได้เขาคืนกลับมาในสังคมซึ่งมันยิ่งใหญ่มาก จริงๆ แล้วพวกเขามีการศึกษาสูงกันทั้งนั้น เรียนปริญญาตรีกันแต่ว่าไปต่อไม่ได้เพราะเวลาเขาเข้าไปในสังคมเขาอาจจะกลัวแต่พอเขาได้อยู่ในบรรยากาศที่มีความเข้าใจเขาอยู่ได้ ตรงนี้ที่เราเน้นมากเคยมีปัญหาจากคนที่ไม่เข้าใจน้องๆ บ้างไหมเราเลี่ยงไม่ได้เพราะอาจมีคนคิดในแง่ลบกับคนพิการแต่ว่าเราไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดได้ด้วยคำพูดแต่เราเปลี่ยนได้จากการกระทำแล้วสักวันหนึ่งเขาจะเปลี่ยนเอง สิ่งที่เราหวังจากร้านนี้ไม่ใช่แค่ Training ไม่ใช่แค่ร้านค้าแต่มันเป็นทั้ง 2 อย่างเป็นทั้ง Training และ Showcase ด้วยเป็น Showcase หมายความว่าเราเป็นเหมือนโชว์รูมรถ เราอยากบอกว่าคนพิการทำงานได้เราก็ต้องแสดงให้เห็นจากบรรยากาศจริงๆ ในเรื่องของสินค้าเราทำมาตรฐานเดียวกันแต่ส่วนที่เราเพิ่มคือความเป็นคนพิการ ซึ่งความเป็นคนพิการไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่เศร้าหรือน่าสงสาร นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการแต่เราต้องการให้เห็นคุณภาพหรือศักยภาพของคนพิการมากกว่าถ้างานเยอะมากๆ น้องๆ เขารับมือกันอย่างไรถ้าออเดอร์เยอะเราจะแบ่งจัดสรรให้เขาทำงานเฉพาะด้านที่เขาถนัด บางคนก็อาจจะมีข้อจำกัดบ้างแต่ก็อย่างที่บอกเหมือนกับเป็นการฝึกมากกว่า เราจะมีการให้จับคู่กับคนที่ไม่พิการด้วยให้ทำงานคู่กันและให้สอนเขาไปด้วยพร้อมๆ กันฝากถึงคนในสังคมให้เปิดโอกาสให้น้องๆ ที่เป็นเด็กพิเศษอย่างไรดีถ้าในด้านสังคมอยากจะบอกว่าอันดับแรกคือ ให้คิดว่าคนพิการนั้นคือคนๆ หนึ่งในครอบครัวคุณเพราะคนในครอบครัวหรือตัวคุณเองก็มีสิทธิที่จะเป็นคนพิการได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจากโรคภัยหรืออุบัติเหตุแล้วถ้าในขณะนี้เรามีโอกาสทำไมเราไม่เปิดใจที่จะช่วยกันเปิดประตูที่กั้นระหว่างคนพิการกับคนในสังคม เพื่อที่จะให้คนเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ร่วมกับเรา ตอนนี้บางทีเราอาจจะอยู่บ้านเดียวกันแต่ว่าถ้าบ้านนั้นมีกำแพงที่มองไม่เห็นระหว่างตัวคนพิการและคนรอบข้างมันก็เป็นช่องว่างอยู่ดี ลองช่วยกันเปิดประตูมันไม่มีทางเปิดได้จากข้างใดข้างหนึ่ง คนพิการเปิดมามันก็หนักเกินไปมันต้องเปิดร่วมกัน-------------------------------------------------------------------------คุณคริส เบญจกุล: ประชาสัมพันธ์โครงการฯเข้ามาทำตรงนี้ด้วยจิตอาสาจริงๆ ก็อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและอีกอย่างคือคนในสังคมมองว่าคนพิการทำอะไรไม่ได้ อยากจะแสดงให้เห็นว่าคนพิการก็สามารถทำได้นะ ยามาซากิที่พวกเราทำอร่อยกว่าที่อื่นนะเพราะคนพิการทางหูเขาจะจมูกดีกว่าคนอื่น อันนี้หอมแล้ว อร่อยแล้ว พอเอามาให้ชิมก็อร่อยจริงๆทำหน้าที่อะไรในร้านผมอยู่ร้านวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ครับ ยกเว้นวันที่ไม่สบายจริงๆ หรือไปหาหมอ หน้าที่ของผมช่วยฝ่ายขายและช่วยโปรโมทร้าน ส่งของเองด้วย ส่งถึงมือลูกค้าเลย ส่วนใหญ่ก็ไปส่งเกือบทุกที่ ที่ส่งเยอะที่สุดก็ที่เซ็นทรัลเวิลด์สั่งมา 5 พันเซ็ท ก็ช่วยกันเริ่มแพ็คตั้งแต่บ่าย 2 เพราะเขาต้องการก่อน 4 ทุ่ม วันนั้นทำดึกเลยครับ ไม่มีใครงอแง ช่วยกันทุกคน บางคนแฟนก็ต้องมาช่วยทำ บางคนแม่มาช่วยเพื่อให้ได้ครบ 5 พันกล่องให้ได้ฝากอะไรถึงคนอื่นๆ ที่อยากให้มองคนพิการใหม่อยากให้มองว่าคนพิการก็ทำได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้คนให้ถูกกับงาน เช่นบางคนหูไม่ดีให้เป็นพนักงานเสิร์ฟก็ไม่ได้ ให้เลือกงานที่เขาทำได้ให้เขาทำดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ถูกอมเงินค่าอบรมทำขนมปัง

ขนมปังเพื่อสุขภาพรุ่น 10“เรียนทำขนมปังเพื่อสุขภาพด้วยแป้งสาลีโฮสวีต ฝึกเทคนิคการนวดแป้งขนมปังด้วยมือและนวดด้วยเครื่อง เช่น ขนมปังโฮลสวีท ขนมปังแครอท ขนมปังดินเนอร์โรล ขนมปังปูอัดน้ำพริกเผา รวมทั้งวิธีดัดแปลงเป็นขนมปังได้อีกสารพัดชนิด”เอกวิทย์ ผู้มีความสนใจที่จะเปิดร้านขนมปังสังขยาและนมสด ได้เห็นโฆษณาคอร์สอบรมทำขนมปังข้างต้น จากหนังสือ Learning For Better Living ที่จัดส่งมาให้ที่บ้าน และยิ่งมีความสนใจมากขึ้นเมื่อเห็นชื่อของ Amarin Training ร่วมกับ สถาบันบ้านและสวน ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั่วไปเป็นผู้จัดโปรแกรมการอบรมคอร์สอบรม ขนมปังเพื่อสุขภาพรุ่น 10 จะเริ่มเรียนในวันที่ 16 มิถุนายน 2555 เอกวิทย์จึงรีบสมัครเข้ารับการอบรมทางเว็บไซต์ในวันที่ 10 มิถุนายน 2555 ซึ่งมีสองราคา ราคาปกติ 2,900 บาท และสมาชิก 2,600 บาท พี่สาวของเอกวิทย์เป็นสมาชิกอยู่เอกวิทย์จึงได้สมัครในราคาสมาชิก 2,600 บาท และได้โอนเงินค่าอบรมเข้าบัญชีของผู้จัดในวันที่ 13 มิถุนายน 2555 หลังจากที่มีโทรศัพท์จากสถาบันเร่งให้เอกวิทย์โอนเงินค่าอบรมปรากฏว่าพอถึงวันรุ่งขึ้นสักประมาณบ่ายโมงครึ่ง เอกวิทย์ได้รับโทรศัพท์จากสถาบันโทรมาแจ้งว่า ขอยกเลิกการจัดอบรมเพราะมีคนมาสมัครน้อย สถาบันไม่สามารถเปิดสอนได้และบอกว่าจะขอโอนเงินค่าอบรม 2,600 บาทคืนให้ภายในอาทิตย์ถัดไปเอกวิทย์รอจนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2555 เงินก็ยังไม่ถูกโอนเข้าบัญชี จึงโทรเข้าไปที่สถาบันขอทราบถึงเรื่องการคืนเงินว่าจะกำหนดคืนให้ได้เมื่อไหร่ ได้รับคำตอบว่าอาจจะถึง 2 อาทิตย์ถึงจะได้รับเงินคืน เพราะต้องทำตามขั้นตอน ต่อมาก็ได้มีการโทรติดตามอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร เอกวิทย์เกรงว่าจะไม่ได้รับเงินคืนจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เอกวิทย์ให้ความเห็นว่า สถาบันเหล่านี้อาจจะมีรายได้จากค่าสมัครในการอบรมเป็นจำนวนไม่น้อย อาจจะมีการนำเงินของผู้สมัครอบรมไปหมุนเวียนในทางใดทางหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องมีการกู้ยืมหรือลงทุนแม้แต่บาทเดียว พอเสร็จแล้วก็ทำการยกเลิกการอบรม กว่าจะคืนเงินก็ใช้เวลาหลายอาทิตย์ ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมาก เมื่อสัญญาว่าจะจัดการอบรมและมีการเรียกเก็บค่าอบรมแล้วไม่จัดการอบรมให้ก็ต้องคืนเงินให้กับลูกค้าสถานเดียว ทางเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์ไปที่สถาบันการฝึกอบรมดังกล่าว ได้คำตอบว่าจะคืนเงินให้ผู้บริโภคในอาทิตย์ถัดไป สอบถามคุณเอกวิทย์ว่าจะยอมให้เขาผัดผ่อนอีกครั้งหรือไม่ คุณเอกวิทย์บอกว่าให้โอกาสเขาอีกครั้งถ้ายังประวิงเวลาอยู่ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที อาทิตย์ถัดมาเราทราบว่าเอกวิทย์ได้รับเงินคืนเป็นที่เรียบร้อย และต้องเริ่มต้นหาที่เรียนทำขนมปังใหม่อีกครั้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 พลังงานที่ซ่อนอยู่ในแซนวิชแฮมชีส

ลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าในเวลาที่เราเร่งรีบและหิวไปพร้อมๆ กัน อาหารอะไรจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ไม่แน่ว่าเมนูที่มาแรงเป็นอันดับแรกอาจจะหนีไม่พ้น “แซนวิช” อาหารหลักของคนอังกฤษ ที่ได้แพร่หลายความนิยมมาสู่คนไทยในวงกว้าง เพราะเป็นอาหารที่รับประทานได้อย่างสะดวก (ขนมปังประกบกัน สอดไส้ด้วยเนื้อสัตว์ที่ชอบ ราดซอสที่ต้องการก็เสร็จ) แถมยังอยู่ท้องอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยขนาดเล็กกะทัดรัดของแซนวิช จึงอาจทำให้ใครหลายคนคิดไปว่าอาหารชนิดนี้มีพลังงานน้อย เป็นแค่อาหารว่างแคลอรีต่ำ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปพิสูจน์กันว่า จริงๆ แล้วแซนวิชมีปริมาณไขมันและพลังงานมากน้อยแค่ไหน โดยจะขอเลือกแซนวิชไส้แฮมชีส ซึ่งเป็นไส้ที่ถูกปากคนส่วนใหญ่มากที่สุดมาทดสอบจำนวน 13 ยี่ห้อสรุปผลการทดสอบ- จากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แซนวิสไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค) คือยี่ห้อ Bread Talk 395 กิโลแคลอรี เพราะเป็นขนมปังชุบไข่ รองลงมาคือยี่ห้อ S&P 316 กิโลแคลอรี และแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือยี่ห้อ Victory 110 กิโลแคลอรี - สำหรับตัวอย่างแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีปริมาณไขมันมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค)คือ ยี่ห้อ Flavor Field 17 กรัม และปริมาณไขมันน้อยที่สุดคือ ยี่ห้อ Puff & Pie และ UFM ที่มีค่าไขมัน 5 กรัมเท่ากัน- มีแซนวิชไส้แฮมชีส 7 ตัวอย่างที่มีปริมาณพลังงานมากกว่าการรับประทานข้าวสวย 1 จานหรือมากกว่า 240 กิโลแคลอรี แสดงให้เห็นว่าบางครั้งการรับประทาน แซนวิชก็ไม่สามารถเป็นอาหารว่างมื้อเบาๆ แคลอรีต่ำได้       ตามหลักโภชนาการปริมาณพลังงานที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี และสำหรับของว่างหรืออาหารว่างควรมีค่าพลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการหรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี โดยปริมาณพลังงานที่เกินความจำเป็นของร่างกายจะถูกสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวานสูตรคำนวณพลังงานที่น้อยที่สุดร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรือในกรณีที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย สามารถคำนวณได้ดังนี้BMR สำหรับผู้ชาย = 66 + (13.7 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(5 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(6.8 x อายุ)BMR สำหรับผู้หญิง = 665 + (9.6 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(1.8 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(4.7 x อายุ)เช่น สมมติให้ ก เป็นผู้หญิง อายุ 22 ปี ส่วนสูง 155 ซม. น้ำหนัก 45 กก. BMR จะเท่ากับ 665+(9.6 x 45)+(1.8 x 155)-(4.7 x 22) = 1,273 กิโลแคลอรี**สูตรคำนวณ Basal Metabolic Rate (BMR) ของ Harris Benedict Formula ในกรณีที่วันนั้นเราไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย-----------------------------------------------------------------แซนวิชมาจากไหนจากหนังสือตำนานอาหารโลก คำว่า แซนวิช มีที่มาจากการตั้งตามชื่อของ จอห์น มอนทากิว (John Montague 1781-1792) หรือ เอิร์ลแห่งแซนวิชที่ 4 (4th Earl of Sandwich) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกองทัพเรืออังกฤษและมีนิสัยชอบเล่นการพนัน โดยเขาได้คิดค้นรูปแบบของอาหารชนิดนี้ขึ้นมา ด้วยการนำเนื้อประกบขนมปัง 2 แผ่น เพื่อให้นิ้วของเขาไม่มันจนเกิดตำหนิบนไพ่ให้คู่แข่งเดารูปแบบการเล่นได้ ซึ่งไม่นานอาหารดังกล่าวก็ได้รับความนิยมตามโต๊ะพนันของอังกฤษจนแพร่หลาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวอังกฤษอย่างรวดเร็วแม้แซนวิชจะอยู่ท้องแต่มีสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวันน้อยไปหน่อย เพราะส่วนมากมักประกอบด้วยแป้งและไขมัน จึงควรเพิ่มสารอาหารด้วยการเติมผักที่ชอบเช่น ผักสลัด ผักกาดหอม มะเขือเทศ และควรเลือกแซนวิชที่ใช้ขนมปังโฮลวีท (Whole wheat bread) เพราะมีสารอาหารและใยอาหารมากกว่าขนมปังขัดขาว  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 159 โดนัทกับสารกันบูด

นอกจากฉลาดซื้อจะชอบทดสอบเรื่องคุณค่าทางโภชนาการในอาหารแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็คือเรื่อง “สารกันบูด” ซึ่งอาหารเดี๋ยวนี้โดยเฉพาะพวกอาหารอุตสาหกรรมทั้งหลาย มักนิยมเติมสารกันบูดกันเสียลงไป เพื่อหวังยืดอายุอาหารให้นานยิ่งขึ้น วางอยู่บนชั้นวางสินค้าได้นานกว่าเดิม เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น ผู้บริโภคอย่างเราก็เสี่ยงอันตรายจากสารกันบูดมากขึ้นตามไปด้วย ถ้ายังจำกันได้ฉลาดซื้อเราเคยทดสอบดูสารกันบูดในขนมปังหลากหลายประเภทที่วางขายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ ทั้ง ขนมปังแซนวิช เค้ก ครัวซอง พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้สารกันบูด แถมบางตัวอย่างก็พบปริมาณของสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน ฉบับนี้ ฉลาดซื้อขอนำเสนอผลวิเคราะห์สารกันบูดในขนมปังอีกครั้ง แต่เน้นไปที่กลุ่มขนม “โดนัท” ขนมยอดนิยมที่ทำจากแป้ง ซึ่งผู้ผลิตมักอ้างว่ามันมีการผสมสารกันบูดมาตั้งแต่ตอนเป็นวัตถุดิบแล้ว   โดนัทสารกันบูดน้อย ü สารกันบูดที่ใช้ในโดนัทพบในปริมาณที่น้อยมาก ที่พบสูงสุดคือโดนัทน้ำตาลไม่มียี่ห้อ ซึ่งทอดขายอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัย พบว่าปริมาณสารกันบูด 2 ชนิด คือ เบนโซอิกพบ 18.72 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และซอร์บิกพบ 3.17 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม รวมแล้วเท่ากับ 21.89 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถ้าคิดเฉลี่ยต่อโดนัท 1 ชิ้นที่น้ำหนัก 30 กรัม เท่ากับพบว่ามีการใช้สารกันบูดเฉลี่ยที่ 6.57 มิลลิกรัมเท่านั้น และการทดสอบครั้งนี้จากตัวอย่างโดนัททั้งหมด 8 พบว่ามี 3 ตัวอย่างที่มีสารกันบูด ส่วนอีก 5 ตัวอย่างไม่พบ ถือว่าเป็นข่าวดี ü มีแนวโน้มที่ดีในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เมื่อเทียบกับผลการทดสอบครั้งก่อนที่ฉลาดซื้อเคยทำ ครั้งนั้นพบมีสารกันบูด 5 จาก 9 ตัวอย่าง โดยมิสเตอร์ โดนัทเป็นตัวอย่างที่พบสารกันบูดในการสำรวจทั้ง 2 ครั้ง คราวก่อนพบกรดเบนโซอิกที่ปริมาณ 36.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(โดนัท 1 ชิ้น 30 กรัม พบสารกันบูด 10.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)  แต่ในทดสอบครั้งนี้ ตัวอย่างโดนัทจากร้านมิสเตอร์ โดนัท พบสารกันบูดที่ปริมาณ 20.66 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(1 ชิ้น 30 กรัม พบสารกันบูด 6.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) จัดว่ามีแนวโน้มที่ดี  ส่วนยี่ห้อ ดังกิ้น โดนัท และ โดนัท แดดดี้ โด ที่เคยตรวจพบสารกันบูดในการวิเคราะห์ครั้งก่อน ครั้งนี้ไม่พบการใช้สารกันบูด   สารกันบูดกับโดนัท สารกันบูดที่นิยมใช้ในโดนัทมีอยู่ 3 ชนิด คือ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และกรดโปรปิโอนิค (Propionic Acid) ซึ่งตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ได้กำหนดปริมาณสูงสุดที่ของวัตถุกันเสียที่อนุญาตให้พบได้ในอาหารอยู่ที่ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ไม่ว่าอาหารชนิดนั้นจะใช้สารกันเสียกี่ชนิดก็ตาม รวมกันแล้วก็ห้ามเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม กฎหมายมีการบังคับไว้ว่า ถ้าหากอาหารประเภทใดที่มีการใช้วัตถุกันเสีย ต้องมีการแจ้งข้อมูลบนฉลากว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” แต่สำหรับโดนัทที่ขายกันอยู่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นของร้านแฟรนไชส์ต่างๆ จะเป็นแบบผลิตขายกันวันต่อวัน ไม่มีฉลากบอกเรื่องของส่วนประกอบที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ข้อมูลโภชนาการ รวมถึงเรื่องของการใช้สารกันบูด ผู้บริโภคอย่างเราก็เลยต้องอาศัยวิธีการเดากันเอาเองว่าโดนัทยี่ห้อนี่จะมีสารกันบูดหรือเปล่า*   *กินกันแบบไม่รู้อะไรเลย ในต่างประเทศเขากินโดนัทกันมาก่อนเรา กินมากกินกันจริงจัง บางคนถึงขนาดกินเป็นอาหารหลัก กินกันจนสุขภาพเสีย อย่างในอเมริกาที่คนกินโดนัทกันจนน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกินมาตรฐาน คนอ้วนเพิ่มจำนวนมากขึ้น คนป่วยก็มากขึ้น เขาเลยมีการรณรงค์เรื่องการกินโดนัทอย่างถูกต้องปลอดภัยกับสุขภาพ ซึ่งบรรดาร้านโดนัทชื่อดังที่นู้นเขาก็ขานรับ ด้วยการช่วยให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงข้อมูลโภชนาการ ว่าโดนัทแต่ละชิ้นที่ขายอยู่ให้ร้าน มีคุณค่าทางโภชนาการเป็นอย่างไรบ้าง กินแล้วได้พลังงานเท่าไร ไขมันเท่าไร น้ำตาลแค่ไหน ที่สำคัญมีการบอกด้วยว่ามีการใช้สารกันบูดด้วยหรือเปล่า ซึ่งอย่างน้อยๆ ผู้บริโภคก็ได้มีข้อมูลไว้ตัดสินใจเองได้ว่า ควรกินไม่ควรกิน คนที่ดูแลสุขภาพแต่อยากกินโดนัท ก็จะได้วางแผนควบคุมปริมาณสารอาหารของตัวเองได้ โดยข้อมูลโภชนาการของโดนัทแต่ละรสชาติ (รวมทั้งอาหารประเภทอื่นๆ ที่ขายอยู่ในร้าน) จะถูกเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของร้าน ผู้บริโภคสามารถคลิกเข้าไปดูได้ก่อนตัดสินใจซื้อ ส่วนผู้บริโภคไทยก็ยังต้องใช้วิธีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนกันต่อไป เพราะบรรดาร้านโดนัทที่ขายอยู่ในบ้านเรา ยังไม่มีข้อมูลเรื่องโภชนาการอยู่ในเว็บไซต์ คงได้แต่อาศัยข้อมูลจากเว็บไซต์ของร้านในต่างประเทศมาเป็นข้อมูลเทียบเคียงกันไปก่อน (หรือไม่ก็ใช้ข้อมูลที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจไว้ก็ได้)   3 เหตุผลที่ควรรู้ก่อนงั่มโดนัท โดนัทมีไขมันทรานส์ โดนัทเป็นของทอด ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับไขมันทรานส์ ที่มักพบในน้ำมัน รวมถึงในเนยเทียม และมาร์การีน ซึ่งถือเป็นไขมันตัวร้ายมีผลต่อการทำงานของหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและความดัน จากผลที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจพบว่า ในโดนัท 1 ชิ้น พบปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยอยู่ที่ 0.045 กรัม ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ว่าในอาหาร 1 หน่วยบริโภค ไม่ควรพบไขมันทรานส์เกิน 0.5 กรัม และเสี่ยงอันตรายจากสารก่อมะเร็งในน้ำมันทอดซ้ำอีกด้วย โดนัทมีน้ำตาลสูง ความหวานอร่อยของโดนัทเกิดจากการปรุงรสชาติด้วยน้ำตาล รวมถึงบรรดาหน้าต่างๆ ของโดนัท ส่วนประกอบหลักก็คือน้ำตาล ฉลาดซื้อเคยสำรวจพบว่า เฉลี่ยในโดนัท 1 ชิ้น จะมีน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 5.5 กรัม สูงสุดที่พบจากตัวอย่างที่ทดสอบคือ 13.9 กรัม ซึ่งใน 1 วันเราควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัม อันตรายๆ 3. โดนัทให้พลังงานสูง จากผลทดสอบที่ได้พบว่า โดนัท 1 ชิ้น (น้ำหนักประมาณ 40 กรัม) ให้พลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 168 กิโลแคลอรี่ ถ้าอิ่มที่ 1 ชิ้นก็ถือว่าโอเค พลังงานยังไม่สูงมาก (ปริมาณพลังงานที่เหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วันคือ  2,000 กิโลแคลอรี่) แต่ถ้าอร่อยต่อเนื่อง มีการเบิ้ลชิ้นที่ 2 ชิ้นที่ 3 แล้วยังต้องกินข้าวอีก 3 มื้อ อันนี้ก็บอกได้เลยว่ามีความเสี่ยงอย่างมากที่ร่างกายของเราจะได้รับพลังงานเกิน อ้วนๆๆ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 ขนมปังกรอบ โซเดียมที่คาดไม่ถึง

ขนมปังกรอบ หรือเรียกอย่างฝรั่งว่า แครกเกอร์(Cracker) นั้น  เป็นขนมอบกรอบอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันมากพอสมควร นิยมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะรับประทานกับชีสต่างๆ ร่วมกับการดื่มชาหรือกาแฟ หรือเวลาจัดงานเลี้ยงปีใหม่ งานเลี้ยงค็อกเทลก็จะเห็นมีการนำมาจัดวางกับพวกผักสลัด ชีส แฮม/ไส้กรอก ทำเป็นของกินเล่นได้อีกด้วย ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มขนมปังกรอบและแครกเกอร์ในประเทศไทยมีการขยายตัวทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ปัจจุบันมูลค่าตลาดขนมปังกรอบในไทยโดยรวมปี 2554 อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วน แครกเกอร์ 38%, คุกกี้ 32% และเวเฟอร์ 30% โดยมีอัตราการเติบโตที่ 13%  แน่นอนว่าเราจะพบเห็นโฆษณาที่มากขึ้นของขนมชนิดนี้ในสื่อต่างๆ และความหลากหลายของยี่ห้อที่พบวางอยู่บนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อพิจารณาจากส่วนประกอบในแครกเกอร์ ซึ่งมีแป้งสาลี ไขมัน น้ำตาลและเกลือ เป็นหลักแล้ว คงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมหลายๆ คนจึงชอบแครกเกอร์ ทั้งนี้คงเพราะติดใจในรสชาติเค็มๆ มันๆ แบบ ชิ้นเดียวไม่เคยพอ แต่เมื่อลองหยิบฉลากมาดู โอ้ แคลอรีกับโซเดียมไม่เบาเลยแฮะ เห็นแผ่นบางๆ แค่ไม่กี่แผ่น ถ้าเผลอกินเพลินไปล่ะก็ ได้รับโซเดียมกระฉูดแน่   ดังนั้นก่อนหยิบแครกเกอร์กินในครั้งต่อไป โปรดเช็คฉลากสักนิดว่า พลังงานและปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าจะดูรายละเอียดก่อนไปหยิบฉวยในซูเปอร์มาร์เก็ต ฉลาดซื้อมีมาฝากในฉบับนี้ค่ะ   แครกเกอร์(ขนมปังกรอบ) บิสกิต           ความต่างของคุกกี้ บิสกิตและแครกเกอร์ ทั้งหมดต่างเป็นขนมอบ ส่วนใหญ่ทำจากแป้งสาลีลักษณะกรอบ แห้ง คุกกี้ ได้จากการแบ่งแป้งขนมเค้กที่ผสมแล้วออกมาส่วนหนึ่ง จากนั้นแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำเข้าเตาอบ (เดิม)เพื่อทดสอบอุณหภูมิที่จะใช้อบขนมเค้ก คำว่า "คุกกี้" (cookie) ใช้กันในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในขณะที่ในสหราชอาณาจักรจะเรียกขนมแบบเดียวกันนี้ว่า "บิสกิต" (biscuit) ส่วน แครกเกอร์ (cracker) จะเป็นขนมปังกรอบแผ่นบางๆ แห้งๆ รสเค็มเอาไว้กินกับชีส ครีมชีส หรือทำเป็นขนมชีสเค้กต่างๆ     ความเสี่ยงของขนมปังกรอบ คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ นอกจากเรื่องแคลอรีและโซเดียมที่สูง ก็คือ ไขมันทรานส์ และสารอะคริลาไมด์ (AA) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในอาหารประเภทแป้งที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูง   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 143 ขนมปังและสารกันบูด

  คนไทยมีอาหารการกินหลากหลาย ขนมอบอย่างฝรั่ง เช่น ขนมปัง แซนด์วิช ครัวซอง หรือเค้ก ก็กลายมาเป็นทั้งอาหารมื้อหลัก(โดยเฉพาะมื้อเช้าที่เร่งรีบ) และอาหารว่างที่หลายคนชื่นชอบ เพราะหาได้ง่ายและราคาไม่แพง อย่างไรก็ตามในกระบวนการผลิตขนมอบเรายังพบความเสี่ยงบางประการที่เกือบจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นของระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมปัจจุบัน นั่นคือการผสมสารกันบูดลงไปด้วย ‘ฉลาดซื้อ’ เลยได้โอกาสตรวจสอบกันอีกสักทีว่าความเสี่ยงของสารกันบูดในขนมอบทั้งหลายมีมากน้อยแค่ไหนกันนะ   ฉลาดซื้อทดสอบ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้สุ่มซื้อขนมอบพร้อมบริโภค ทั้ง ขนมปัง และเค้กยี่ห้อต่างๆ จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และร้านเบเกอรี่ จำนวน 14 ตัวอย่าง แบ่งเป็นตัวอย่างที่มีฉลากกำกับว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” 8 ตัวอย่าง ตัวอย่างที่ระบุว่า “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” 1 ตัวอย่าง และ ตัวอย่างที่ฉลากไม่ระบุว่าใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ 5 ตัวอย่าง แล้วส่งทดสอบกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี เพื่อหาสารกันบูดที่อุตสาหกรรมอาหารนิยมใช้ 3 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และกรดโปรปิโอนิค (Propionic Acid)     หมายเหตุ หากมีการใช้สารกันบูดร่วมกันมากกว่า 2 ชนิด ในตัวอย่างเดียวกัน การพิจารณาค่ามาตรฐานให้ใช้ค่ารวมของสารทั้งหมดที่พบเทียบกับค่าสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้ของสารกันบูดชนิดที่มีค่าต่ำที่สุด ซึ่ง ณ ที่นี้ คือ 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อาหาร                *** ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น   ผลทดสอบ 2 ใน 3 ของตัวอย่างทั้งหมดที่พบสารกันบูดยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย จากการทดสอบพบว่า มีการใช้สารกันบูดในขนมอบสูงถึงร้อยละ 79 (รวม 11 ตัวอย่าง)   แบ่งเป็นพบสารกันบูดชนิดเดียว ร้อยละ 21 (3 ตัวอย่าง : เค้กฟลัฟฟี่ มาม่อน ชีส, ซอฟท์เค้กรสใบเตย เลอแปง, และเค้กโรลวนิลา  sun merry)   พบสารกันบูด 2 ชนิดร้อยละ 36 (5 ตัวอย่าง : ขนมปังใส้ถั่วแดง Tesco the Bakery, ขนมปังไส้เผือก ฟาร์มเฮ้าส์, ขนมปังไส้กรอกคู่ เบเกอร์แลนด์, ขนมปังไส้ลูกเกด นัทเบเกอรี่, และ ขนมปังแซนวิช  Tesco)   และพบสารกันบูดครบทั้ง 3 ชนิดร้อยละ 21 ( 3 ตัวอย่าง : ขนมปังไส้เผือก เลอแปง, ขนมปังไส้เผือก เอพลัส, และ สวีทโรล เลอแปง) และที่เข้าข่ายน่าเป็นห่วงมีทั้งหมด 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ขนมอบที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน 5 ตัวอย่างขนมปังใส้ถั่วแดง Tesco the Bakery ที่ปริมาณรวม 1,656 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (มก./กก.) เค้กโรลวนิลา sun merry ที่ปริมาณ 1,583 มก./กก.ขนมปังแซนวิช Tesco ที่ปริมาณรวม 1,279 มก./กก.  ขนมปังไส้เผือก เอพลัส ที่ปริมาณรวม 1,274 มก./กก.ขนมปังไส้กรอกคู่ เบเกอร์แลนด์ ที่ปริมาณรวม 1,195 มก./กก.     --------------------------------------------------   การพิจารณาฐานความผิดโดยใช้ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ตัวอย่างเกือบทั้งหมดที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน เข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (3) เรื่องอาหารผิดมาตรฐานมีบทลงโทษตามมาตรา 60 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท   โดยมีหนึ่งตัวอย่างคือ ขนมปังแซนวิช Tesco ที่เข้าข่ายการกระทำผิดมาตรา 25 (2) เรื่องอาหารปลอม มีบทลงโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท เนื่องจาก บนฉลากระบุว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่ กลับพบการใช้วัตถุกันเสียร่วมกันถึงสองชนิดในตัวอย่างเดียว และมีค่าที่พบสูงมากอีกด้วย   ฉลาดซื้อแนะนำ เลือกซื้อขนมอบของร้านที่ทำสดแบบวันต่อวันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารกันบูดได้ดีกว่าซื้อขนมอบที่ต้องทำส่งร้านหลายสาขาหรือวางสินค้าทั่วประเทศ การเลือกซื้อให้สังเกตฉลากตรงส่วนประกอบของอาหาร หากมีระบุว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” หมายความว่า คุณกำลังบริโภคสารกันบูด และมีความเสี่ยงของการจะได้รับสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน    สารกันบูดที่นิยมในวงการเบเกอรี่ 1. เบนโซเอท (Benzoic acid และ Benzoates) นิยม ใช้ในรูปของเกลือโซเดียม ซึ่งจะให้ผลดีในสภาพที่เป็นกรด เช่น น้ำหวาน, น้ำผลไม้, แยม, น้ำสลัด, ผักดอง เป็นต้นปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมายไม่เกิน 0.1%   2. ซอเบท (Sorbic acid และ Sorbates) เป็น สารกันบูดที่นิยมใช้กันมาก ซึ่งจะให้ผลดีในสภาพที่เป็นกรดเช่นกัน ดังนั้นกลุ่มที่ใช้จึงใกล้เคียงกัน รวมทั้งพวกไส้ขนมต่าง ๆ ในการทำขนมขายส่ง เป็นต้นปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมายไม่เกิน 0.1%   3. โปรปิโอเนท (Propionic acid และ propionices) มี ความสามารถในการทำลายแบคทีเรียและราได้ดีกว่ายีสต์ นิยมใช้สารนี้ในผลิตภัณฑ์ขนมปัง, เค้ก, นิยมใช้แคลเซียมโปรปิโอเนทกับขนมปังมากกว่า เพราะเกลือแคลเซียม จะช่วยเป็นตัวปรับสภาพของก้อนโด ได้ด้วยส่วนเกลือโซเดียมและโปแตสเซียม นิยมใช้กับเค้ก ปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมาย 0.1- 0.2% ที่มา  http://www.kccbakermart.com/bakery_materials.htm

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 130 เปรียบเทียบความหวานสารพัดของทา (น) กับขนมปัง

  ขนมปังอาจจะไม่ใช่อาหารหลักของคนไทย แต่ขนมปังก็เป็นของโปรดของใครหลายๆ คน จะรับประทานเป็นขนมเป็นของว่าง หรือจะรับประทานเอาอิ่มเป็นมื้อหลัก แบบที่หลายๆ คนนิยมเป็นอาหารเช้า ไม่ว่าจะแบบไหนก็อร่อยได้เหมือนกัน แค่ขนมปังธรรมดาๆ ก็ว่าอร่อยแล้ว ยิ่งถ้าทาแยมหรือเนยด้วยก็ยิ่งช่วยเพิ่มรสชาติขึ้นไปอีก แต่ก็อย่าอร่อยจนลืมตัว หรือหลงคิดว่าขนมปังทาแยม ขนมปังทาเนยจะแค่เป็นอาหารเบาๆ แทนข้าวแล้วจะไม่อ้วน เพราะในความอร่อยของ แยม เนยถั่ว หรือผลิตภัณฑ์ทาขนมปังชนิดอื่นๆ ล้วนมีตัวแปรสำคัญของความอร่อยอยู่ที่ความหวานของน้ำตาล เรามารู้ทันความหวานจากน้ำตาลกับผลสำรวจปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ทาขนมปังกันดีกว่า การทดสอบครั้งนี้ฉลาดซื้อสำรวจเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ที่นิยมนำมารับประทานคู่กับขนมปัง ไม่ว่าจะเป็น แยม เนยถั่ว มาร์การีน รวมทั้งที่เป็นสไตล์ไทยๆ อย่าง สังขยา และ น้ำพริกเผา   ฉลาดซื้อใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการวิเคราะห์จากข้อมูลที่อยู่บนฉลากของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยดูตัวเลขปริมาณน้ำตาลที่แจ้งไว้ในข้อมูลส่วนประกอบ ซึ่งทุกตัวอย่างที่นำมาทดสอบครั้งนี้จะแจ้งปริมาณน้ำตาลเอาไว้เป็น % เราจึงต้องปรับตัวเลขให้มีหน่วยเป็นกรัม แล้วเปรียบเทียบที่ปริมาณต่อ 1 ช้อนโต๊ะ (16 กรัม) เพราะการนำมาคิดเป็นน้ำหนักต่อช้อนโต๊ะน่าจะทำให้ข้อมูลที่ได้ เป็นข้อมูลที่ใกล้เคียงกับปริมาณที่เรารับประทานจริงในแต่ละครั้งมากที่สุด สำหรับการสำรวจในครั้งนี้ -ปริมาณ 16 กรัม ต่อ 1 ช้อนโต๊ะเป็นข้อมูลที่นำมาจากข้อมูลในฉลากโภชนาการ หรือ “Thai RDI” ของผลิตภัณฑ์ สุรีย์ น้ำพริกเผาเสวย ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ตัวอย่าง ที่มีการแจ้งข้อมูลโภชนาการ อีก 1 ตัวอย่างคือ สตรีมไลน์ รีดิวซ์ ชูการ์ มาร์มาเลดส้มสูตรลดปริมาณน้ำตาล   ตารางแสดงผลสำรวจปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ทาขนมปังชนิดต่างๆ   ผลทดสอบ 1. แยม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาหรือทานคู่กับขนมปังที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด ตัวอย่างที่มีน้ำตาลมากที่สุดตามข้อมูลที่แจ้งไว้ในส่วนประกอบก็คือ เบสท์ ฟู้ดส์ มาร์มาเลดส้ม ที่มีน้ำตาลอยู่ประมาณ 8.9 กรัม ต่อปริมาณแยม 1 ช้อนโต๊ะ มากกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่คนไทยควรบริโภคใน 1 วัน คือไม่เกิน 24 กรัม ถ้าเทียบจากเกณฑ์ที่ฉลาดซื้อใช้ แต่จริงๆ แล้ว วิธีการรับประทานของแต่ละคนก็คงจะแตกต่างกันไป บางคนอาจจะชอบทาแยมมากๆ เวลาทาบนขนมปังก็อาจทามากกว่า 1 ช้อนโต๊ะ หรือรับประทานต่อครั้งก็อาจกินขนมปังมากกว่า 1 แผ่น ปริมาณน้ำตาลก็จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมการบริโภค เพราะฉะนั้นก็ต้องคำนวณกันให้ดีว่าจะเลือกกินแบบไหนเพื่อให้ได้น้ำตาลในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของร่างกาย ไม่มากเกินไป ส่วนตัวอย่างแยมยี่ห้ออื่นๆ ก็มีปริมาณน้ำตาลใกล้เคียงกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 8 กรัม ต่อแยม 1 ช้อนโต๊ะ แยมที่เราสำรวจทั้งหมดเป็นแยมผิวส้ม หรือที่เรียกว่า มาร์มาเลด (marmalade) 2. เนยถั่ว เหมือนจะดูไม่น่าจะหวานมาก แต่ก็พบน้ำตาลในปริมาณที่สูงเช่นกัน ตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ นัทเกา โกโก้และเฮเซลนัทครีม พบปริมาณน้ำตาลประมาณ 8.16 กรัม ต่อปริมาณตัวอย่าง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่คนไทยควรรับประทานใน 1 วัน ข้อสังเกตที่น่าสนใจ เนยถั่วบางผลิตภัณฑ์น้ำตาลไม่มาก หรือไม่มีเลยบนฉลาก แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเนยถั่วนิยมใช้สารให้ความหวานชนิดอื่นแทนน้ำตาล ซึ่งที่เราพบจากการสำรวจก็คือ  คอร์นไซรัป เป็นสารให้ความหวานที่ทำมาจากแป้งข้าวโพด ว่ากันว่าให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย แถมร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ได้ง่ายกว่าน้ำตาลทราย แต่ในบ้านเราไม่นิยมใช้เพราะราคาแพงกว่าน้ำตาลทรายที่ทำจากอ้อยค่อนข้างมากความนิยมต่อเนยถั่วในบ้านเรายังมีค่อนข้างน้อย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เราสำรวจล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า ซึ่งส่งผลให้แต่ละตัวอย่างมีราคาที่ค่อนข้างสูง 3. สังขยา เราสำรวจพบ 1 ยี่ห้อ  2 รสชาติ คือ เอ็มไพร์ สังขยา กลิ่นใบเตย กับ กลิ่นวานิลลา ซึ่งปริมาณน้ำตาลของทั้ง 2 รสมีเท่ากัน คือ 6.89 กรัม ต่อปริมาณตัวอย่าง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 1 ใน 4 ของปริมาณน้ำตาลที่ควรรับประทานใน 1 วัน   ไม่ว่าคุณจะทาขนมปังด้วยหน้าอะไร ก็อย่าลืมความจริงข้อหนึ่งว่า ขนมปัง ก็มีความหวานเช่นกัน  ยกตัวอย่าง จากข้อมูลโภชนาการของผลิตภัณฑ์ขนมปังยี่ห้อฟาร์มเฮ้าส์ ทั้งแบบธรรมดาและแบบโฮลวีต บอกไว้ว่ามีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 3 กรัม ต่อขนมปัง 2 แผ่น (50กรัม) ลองนำไปเป็นข้อมูลไว้ใช้คำนวณกันดูเวลาจะทานขนมปังทาหน้าต่างๆ จะได้หวานกันแต่พอดี   สารกันบูด ยังพบในหลายผลิตภัณฑ์สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งในการรับประทานขนมปังทาหน้าต่างๆ ก็คือ สารกันบูด  เพราะถ้าลองดูจากผลสำรวจจะเห็นว่ามีหลายตัวอย่างที่มีการใช้สารกันบูด แถมก่อนหน้านี้ก็เพิ่งมีข่าวว่าศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มเก็บตัวอย่างขนมปังหลากหลายชนิดจำนวน 800 กว่าตัวอย่าง ผลที่ออกมาพบว่ามีมากกว่า 600 ตัวอย่างที่พบสารกันบูด เนย กับ มาร์การีน แตกต่างกันอย่างไร เพราะรูปร่างหน้าตาก็เหมือนกัน วิธีนำไปรับประทานก็ไม่ได้แตกต่างกัน ถ้าจะให้อธิบายให้ง่ายที่สุดก็คือ เนยคือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแตกตัวของไขมันในนม ขณะที่มาร์การีนก็คือ เนยเทียม ที่ใช้ไขมันจากพืชแทน เนื่องจากเนยจะมีไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโคเลสเตอรอลสูง มาร์การีนหรือเนยเทียม จึงถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ขณะเดียวกันตัวมาร์การีนเองก็มีความเสี่ยงของไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเนยแท้หรือเนยเทียมก็ต้องเลือกอย่างระมัดระวัง นึกถึงสุขภาพของตัวเองมาเป็นอันดับแรก

อ่านเพิ่มเติม >