ฉบับที่ 231 เหล็กจ๋ามาได้อย่างไรในขนมถุง

        เมื่อเจอของแปลกปลอมในผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุในแพกเกจทันสมัย ดูสะอาดปลอดภัย ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาของขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรมองข้าม เราต้องช่วยกันสะท้อนปัญหากลับไปสู่ผู้ผลิตให้รีบจัดการแก้ไข เพราะไม่เพียงช่วยให้เราได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ยังเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคคนอื่นได้รับการคุ้มครองด้วย         คุณเสาวลักษณ์ ชอบรับประทานขนมถุงกรุบกรอบมาก โดยเฉพาะขนมที่ทำจากแป้งข้าวโพด มียี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งที่รับประทานเป็นประจำ แต่วันหนึ่งขณะกำลังจะหยิบชิ้นขนมเข้าปาก ตาก็เหลือบไปเห็นสิ่งผิดปกติเข้า สิ่งนี้สะท้อนแสงแวววาว ซึ่งไม่ควรจะมีอยู่ในถุงขนม มันคือ เศษเหล็ก คล้ายๆ ลวดตะแกรง          “ดีนะยังไม่ได้กินเข้าไป” คุณเสาวลักษณ์นึกดีใจนิดๆ แล้วรีบถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน และโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางแก้ไขปัญหา         เมื่อเกิดปัญหาลักษณะนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ รวบรวมหลักฐาน อย่างแรกคือ ถ่ายภาพสินค้าและสิ่งแปลกปลอม ภาพถ่ายของฉลาก วันหมดอายุ  และเก็บบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวไม่ให้ปะปนกับสิ่งอื่นต่อมาคือ ถ้าหากยังมีใบเสร็จหรือใบแสดงรายการสินค้า(สลิป) ที่เป็นหลักฐานการซื้อขาย ต้องเก็บไว้ให้ดี พร้อมนำหลักฐานที่รวบรวมได้ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ         จากนั้นควรติดต่อแหล่งจำหน่ายสินค้า ว่าจะช่วยเหลือหรือชดเชยอะไรให้กับเราได้บ้าง ควรกำหนดความต้องการไว้เป็นแนวทาง เช่น ขอเปลี่ยนหรือคืนสินค้า ในกรณีที่ซื้อสินค้าจากแหล่งที่ไกลบ้าน อาจกำหนดเรืองค่าเดินทางไว้ในรายการที่ต้องการให้ทางร้านค้าชดเชยให้กับเราด้วย          บางครั้งไม่อยากติดต่อกับแหล่งจำหน่าย ก็สามารถติดต่อไปที่แหล่งผลิตสินค้า เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น         อย่างไรก็ตาม หากมีการขอรับสินค้าไปตรวจสอบ ควรมีคนกลางเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพยานในการส่งมอบสินค้าให้กับทางผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต เพื่อเป็นหลักฐานการดำเนินการ         ในกรณีของคุณเสาวลักษณ์ ไม่ได้ต้องการการชดเชยเป็นตัวเงินหรือการเปลี่ยนสินค้า เพราะมูลค่าของสินค้าไม่ได้มีราคาสูง แต่ต้องการให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ช่วยในการแจ้งความผิดปกติของสินค้าต่อหน่วยงานกำกับดูแล  เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตของบริษัทขนมว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ทางศูนย์ฯ จึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้รับการตอบกลับจาก อย.ว่า ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโรงงานผลิตขนมดังกล่าว และพบว่า ส่วนของสายพานที่เป็นตัวรองรับชิ้นส่วนของขนมข้าวโพดอบกรอบ มีบางส่วนชำรุดเสียหาย เนื่องจากความร้อนของเครื่องจักร ทำให้เหล็กบางส่วนหลุดเข้ามาในขนมที่ผ่านสายพาน ทางเจ้าหน้าทึ่จึงได้สั่งให้หยุดการใช้เครื่องจักรดังกล่าว และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เสร็จ และให้ทางโรงงานทำรายงานการซ่อมบำรุงเครื่องจักรส่งต่อยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ทางโรงงานติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะเพื่อให้กระบวนการผลิตอาหารมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >