ฉบับที่ 154 ปลาข้าวสาร (2) ขนมจีนซาวน้ำ

จากปลาข้าวสารที่กำลังจะเข้าปากในรูปการยำของฉันในตอนที่แล้ว ได้นำเราไปสู่เรื่องปัญหาและการคลี่คลายลงการจับปลากระตักในทะเลชายฝั่งอันดามันในอดีต และภาพปัจจุบันของชาวประมงชายฝั่งที่นั่นได้มีการปรับตัวเองไป จนเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ผู้อ่าน บางคนอาจยังมีคำถามคาใจถึงมาตรการที่กรมประมงใช้ในการควบคุม “การใช้อวนตาถี่ 0.6  ซ.ม.” ที่ติดตั้งในเรือปลากะตักกลางวัน ที่ยังอาจจะมีผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ปลากะตักและอาชีพการจับปลาในระยะยาว เรื่องนี้ พี่อิด – พิเชษฐ ปานดำ คนทำงานกับชาวประมงชายฝั่งอันดามันใน จ.พังงา – ภูเก็ต และคนที่เคยพาฉันไปซื้อปลาข้าวสารในตลาดภูเก็ต หลังจากการเยี่ยมเยือนกลุ่มออมทรัพย์และพื้นที่อนุรักษ์ริมฝั่งทะเลของเพื่อนชาวประมงที่แกทำงานด้วย 2 – 3 แห่ง เมื่อ 4 – 5ปีก่อน เล่าให้ฉันฟังว่า หากจะยึดข้อกำหนดขนาดของตาอวนในการจับปลากระตักกลางวันเป็นหลักอย่างที่กรมประมงกำหนด คนจับปลาคงต้องผันตัวเองไปทำอาชีพอื่นทั้งหมดแน่ๆ  ชาวประมงในฝั่งอันดามันจึงต้องต่อรองกับกรมประมง   “ก่อนอื่นเธอต้องเข้าใจก่อนว่าปลากระตักมีหลายชนิด ส่วนปลาข้าวสารที่เธอเรียกนั่น คนที่อ่าวพังงาเรียกปลาบูหรา” เสียงพี่อิดกรอกหูผ่านเครื่องมือสื่อสารในยุค 3G ดังชัดแจ๋ว พี่เขาบรรยายถึงเครื่องมือจับปลาและปลาชนิดต่างๆ ที่จับโดยเรือปลากะตักกลางวัน ว่าเรือหาปลาชนิดนี้จะใช้อวนที่เป็นมุ้งเขียว ซึ่งแน่นอนว่ามีขนาดตาอวนเล็กกว่าที่กรมประมงกำหนด เพราะต้องใช้กวาดจับปลาตัวเล็กชนิดต่างๆ ในร่องน้ำลึก ที่อยู่ไกลออกไปจากชายฝั่ง และเรือประมงเล็กไปไม่ถึง   นอกจากจะจับปลากระตักหรือปลาฉิ้งฉั้งในภาษาถิ่นแล้ว  ยังมี ปลาลิง ปลาบูหรา และปลาอื่นๆ อีก นับกว่า 10 ชนิด  ซึ่งปลาแต่ละชนิดอยู่กันคนละฝูงไม่ปะปนกัน  แถมยังมีความชุกชุมในแต่ละช่วงฤดูแตกต่างกันด้วย เพราะว่าในร่องน้ำลึกมีปลาตัวเล็กหลากหลายชนิดให้เรือปลากะตักจับนี่เอง ที่ทำให้เรือจับปลากะตักต้องจับปลาตัวเล็กหมุนเวียนไป  โดยบูหราจะมีมากในช่วงเปลี่ยนลมมรสุม หรือปีละ 2 ครั้ง คือระหว่างปลายเดือนเมษายน-มิถุนายน และช่วงปลายปีพฤศจิกายน-ธันวาคม  พ้นจากช่วงนี้เรือกะตักกลางวันก็หาและจับปลาตัวเล็กชนิดอื่นๆ แทน พี่อิดเล่าต่อไปอีกว่า อวนเขียวที่ล้อมจับบูหรานั้นยังจำกัดชนิดเฉพาะบูหรา เพราะปลาที่ล่าบูหราอย่างปลาฉลามนั้นสามารถพุ่งตัวหนีออกจากอวนเมื่อกำลังตีล้อมจับปลาได้อีกต่างหาก  ซึ่งต่างจากอวนทวน เครื่องมือปูม้าที่เวลาจับปูม้าแล้วมักได้ปลาอื่นๆ ติดมาด้วย “มิน่า  พี่ยังพาพวกเราไปซื้อปลาข้าวสารกลับบ้านหลังจากขึ้นทะเล” ฉันกรอกเสียงกลับไป คนอีกฝั่งที่ไกลลิบนั่นหัวเราะร่วมไปกับฉัน แต่ยังไม่วายอัพเดทความคืบหน้าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีต่อ “คนบนเรือหากะตักกลางวันที่นี่ส่วนใหญ่ยังเป็นคนพื้นถิ่น  เรือกะตักปั่นไฟกลางคืนจากอ่าวไทยไม่ค่อยเข้ามาในเขตนี้หลายปีแล้ว หลังจากชาวบ้านที่นี่ช่วยกันดูแลทะเล เดี๋ยวนี้คนทำประมงก็น้อยลงด้วย  แต่ปัญหาที่นี่ก็เหมือนที่อื่นๆ คือเริ่มเปลี่ยนจากเทคโนโลยีการจับแบบพื้นๆ มาใช้อุปกรณ์ไฮเทคค้นหาปลาจากดาวเทียมขึ้นอย่างซาวเดอร์ หรือซูนาร์ ที่แม่นยำ รวดเร็วกว่า ... ” เรื่อง ปลาข้าวสารหรือบูหรา ยังไม่จบ  มีต่อตอนหน้าแน่ๆ  ตอนนี้เรามาหาอะไรกินง่ายๆ จากปลาข้าวสารกันดีกว่า ฉันนึกถึงบูหราสดๆ ที่ชาวอ่าวพังงาเอามาทำห่อหมกหรือยำสดๆ แต่ปลาข้าวสารที่ฉันซื้อมาจากตลาดนัดนั่นเป็นปลาข้าวสารที่แช่แข็งมาในท้องเรือแล้วเอามาต้มน้ำทะเลและตากให้แห้งบนบก  เวลาจะเอามากินก็แค่ล้างหลายๆ เที่ยวเพื่อจางรสเค็มแล้วลวกด้วยน้ำร้อนเดือดๆ อีกทีก่อนจะสงให้สะเด็ดน้ำก่อนนำไปปรุงในรูปแบบต่างๆ  เมนูบูหราเที่ยวนี้ขอเป็นอาหารพื้นๆ ภาคกลาง ง่ายๆ แล้วกัน   ขนมจีนซาวน้ำ เครื่องปรุง 1.เส้นขนมจีน  ½  กก.   2.มะพร้าวขูด 3 ขีด  3.สับปะรดเปรี้ยว-หวาน หั่นชิ้นเล็ก 1 ถ้วย  4.ปลาข้าวสารล้างสะอาดลวกน้ำร้อนและสงให้สะเด็ดน้ำ 1 ถ้วย 5.กระเทียมสดซอยบาง ¼ ถ้วย   6.เกลือ 1 ช้อนชา  7.น้ำตาลทราย  8.พริกขี้หนูคั่วป่น  9.น้ำปลา วิธีทำ คั้นมะพร้าวเอาแต่หัวกะทิประมาณ 1 ถ้วย ปรุงรสด้วยเกลือให้มีรสเค็มนิดๆ แล้วนำไปเคี่ยวไฟปานกลาง ต้องหมั่นคนตลอดเวลาให้กะทิแตกมันและป้องกันกะทิจับกันเป็นลูกนานสัก 10 นาทีแล้วยกลง  จากนั้นจัดเรียงเครื่องเคียงที่ต้องการกินลงในจาน  ปรุงรสเค็ม เผ็ด หวาน ตามชอบ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point