ฉบับที่ 249 สำรวจปริมาณโซเดียมในขนมขบเคี้ยวจากข้าวโพด

        ข้าวโพดมีรสหวานหอมอร่อย กินแล้วได้วิตามินเอ วิตามินบี แร่ธาตุ เส้นใยอาหาร และเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ เป็นต้น         แล้วขนมกรุบกรอบที่ทำจากข้าวโพดล่ะ กินแล้วยังได้ประโยชน์ไหม ?         ขนมข้าวโพดอบกรอบ ข้าวโพดทอดกรอบ และข้าวโพดคั่ว ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส ที่มีหลากหลายรูปแบบและรสชาติให้เลือกละลานตา เป็นหนึ่งในขนมขบเคี้ยวยอดนิยมที่หลายคนชื่นชอบโดยเฉพาะเด็กๆ ที่ติดใจในกลิ่นหอมของข้าวโพด สัมผัสกรุบกรอบจากกระบวนการขึ้นรูปหรือแปรรูปขนม และรสชาติหวาน มัน เค็ม ติดปาก ชวนให้เคี้ยวเพลินจนหมดห่อแบบไม่รู้ตัว โดยไม่ทันเอะใจว่า ขนมที่กินเล่นอร่อยๆ นี้ มักเคลือบด้วยสารปรุงแต่งรสชาติต่างๆ ที่มีโซเดียมในรูปสารประกอบ ซึ่งหากกินบ่อยๆ กินมากครั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว จำนวน 400 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงสินค้าที่มีโซเดียมสูง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องเลือกขนมให้เด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของขนมประเภทนี้               ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมขบเคี้ยวที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ ที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สุ่มสำรวจจำนวน 20 ตัวอย่าง 15 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประเภทข้าวโพด        -ขนมจากข้าวโพดทั้งหมด 20 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายห่อละ 15 – 29 บาท และมีน้ำหนักสุทธิ 35 - 75 กรัม         -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลากพบว่า ยี่ห้อเซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีสมีโซเดียมสูงที่สุดคือ 390 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด และยี่ห้อคอร์นพัฟฟ์ ข้าวโพดอบกรอบ รสดั้งเดิม มีปริมาณมากที่สุดคือ 36 กรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีปริมาณน้อยที่สุดคือ 20 กรัม ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส ถูกสุดคือ 0.27 บาท ส่วนยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด แพงสุดคือ 0.61 บาท        -ยี่ห้อ เซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีส มีราคาขายถูกที่สุด (15 บาท) ห่อเล็กที่สุด (น้ำหนักสุทธิ 35 กรัม) และมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (390 มิลลิกรัม) หากลองเปรียบเทียบกับยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม ที่มีราคาเท่ากัน มีปริมาณใกล้เคียงกัน (43 กรัม) แต่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (25 มิลลิกรัม) จึงอาจชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการปรุงแต่งรสชาติกับปริมาณโซเดียมในขนมได้ ตัวอย่างในที่นี้คือรสชีสมีโซเดียมมากกว่ารสนม เพราะกรรมวิธีผลิตชีสนั้นใช้เกลือเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย        -ขนมข้าวโพดอบกรอบ/ทอดกรอบ รสชีส มีจำนวนมากที่สุดถึง 8 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคตั้งแต่ 140 - 390 มิลลิกรัม        -จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักหยิบขนมไม่ว่าจากห่อเล็กห่อใหญ่เข้าปากเพลินจนหมดในคราวเดียว ดังนั้นเมื่อลองคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมทั้งห่อแล้วจะพบว่า ยี่ห้อปาร์ตี้ คริสปี้ พาย ข้าวโพดทอดกรอบ รสคอร์นชีส มีโซเดียมมากที่สุดคือ 600 มิลลิกรัม และยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 53.75 มิลลิกรัม        -จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากันในทุกตัวอย่างชุดนี้ พบว่ามี 6 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์ คือมีโซเดียมไม่เกิน 150 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, โรลเลอร์ คอร์น ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, ทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส, ชาโชส บีบีคิว โบนันซ่า(ทอร์ทิลล่า ชิพ), ชีโตส ข้าวโพดทอดกรอบ รสอเมริกันชีส แล้วก็ โตโร ข้าวโพดคลุกน้ำตาลและเนย คำแนะนำ        -มีข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำว่า เด็กอายุ 2- 15 ปี โดยเฉลี่ย ควรบริโภคอาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อ และแต่ละมื้อควรได้รับโซเดียมปริมาณไม่เกิน 100 มิลลิกรัม        -ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ผู้ปกครองหรือเด็กเองควรอ่านฉลากโภชนาการ หรือฉลากหวาน มัน เค็ม บนห่อขนม และเลือกซื้อขนมที่มีโซเดียมต่ำ หากเป็นขนมสุดโปรดที่มีโซเดียมสูง ให้แบ่งกิน หรือไม่ควรกินบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น          - บางคนเลือกกินขนมกรุบกรอบห่อเล็กๆ เพราะเข้าใจว่ามีโซเดียมน้อย ซึ่งจริงๆ แล้วบางยี่ห้อแม้ห่อเล็กแต่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่ากินห่อใหญ่ทั้งห่อก็มี             -พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างและฝึกให้เด็กไม่กินของจุบจิบหรือขนมระหว่างมื้อ ชวนให้เด็กมากินผัก ผลไม้ หรือขนมที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้อบแห้ง นมอัดเม็ด หรือถั่วต่างๆ และชวนเด็กมาออกกำลังกายด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ        - ปัจจุบันมีขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีปริมาณโซเดียมต่ำให้เลือกบริโภคบ้างแล้ว แต่ว่าอาจยังมีราคาสูง และยังไม่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างเท่าไหร่นัก ในเบื้องต้นผู้บริโภคเลือกได้โดยมองหาสัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.บนฉลากของขนมนั้นๆ           - ขนมข้าวโพดอบกรอบปรุงรสมักมีสีเหลืองสวยชวนกิน ซึ่งอาจใช้สีผสมอาหารสีเหลือง 6 ซึ่งมาจากปิโตรเลียมใส่ลงไป และอาจมีการแต่งรสเทียม เช่น  Methyl benzoate และ Ethyl methylphenidate ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร โรคกระเพาะ และอาการเสพติดเหมือนกันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่        - ระวังเด็กเล็กๆ ที่อาจกินขนมข้าวโพดคั่วแล้วติดคอ เพราะมีเมล็ดข้าวโพดส่วนที่ยังแข็งอยู่ปนมาได้ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.comhttps://thai.ac/news/show/354305http://healthierlogo.comhttps://kukr2.lib.ku.ac.th (บทความขนมขบเคี้ยวจากเครื่องเอกซ์ทรูดเดอร์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 พิษร้ายของอาหารขยะ

        ช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษที่ A.U.A เพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อนั้น มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำที่อาจารย์ผู้สอนยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของคำที่ต้องใช้ให้เหมาะสม เช่น กรณีที่ต้องการอธิบายถึงการที่บุคคล 2 คน ที่พลั้งพลาดทำผิดในเรื่องเดียวกัน แต่คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อธิบายพฤติกรรมที่เป็นเหตุในการกระทำต่างกัน คำสองคำนั้นคือ stubborn และ ignorant ซึ่งคำทั้งสองนี้ผู้เขียนใคร่ขอนำมาตั้งเป็นประเด็นว่า ข้อมูลข่าวซึ่งจะเขียนถึงในบทความนี้ เป็นความเกี่ยวพันกันระหว่างการเจ็บป่วยทางกายและความรู้ด้านอาหารและโภชนาการซึ่งพบในอินเทอร์เน็ทนั้น ควรใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษใดในการสรุปถึงลักษณะของผู้เคราะห์ร้ายรายนี้   การกินอาหารให้ครบสมบูรณ์แบบที่มนุษย์ควรกิน         ตามความรู้ที่เรามีในปัจจุบัน เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ในสภาวะสุขภาพดี(ไม่แสดงอาการของโรคใด ๆ) นั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนควรรู้ แต่ก็ยังมีทั้งคนที่ไม่ใส่ใจรู้ทั้งที่มีโอกาสรู้ตลอดไปถึงคนที่ไม่มีโอกาสรู้เลย โดยลักษณะแรกนั้นอาจเป็นเพราะความดื้อด้าน(stubborn) ไม่ยอมทำตามสิ่งที่ได้รู้มา แต่ลักษณะหลังอาจจัดเป็นความโฉดเขลา(ignorant) ซึ่งความโฉดเขลานั้นเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจว่า ทำไมมนุษย์บางคนจึงขาดโอกาสเรียนรู้เพื่อขจัดความโฉดเขลา        บทความที่นำมายกเป็นตัวอย่างว่า ควรใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษคำใดในสองคำที่ยกขึ้นมาข้างต้นกับมนุษย์ผู้เป็นข่าว คือ Blindness Caused by a Junk Food Diet ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine 2019 ซึ่งนิพนธ์โดยแพทย์นักวิจัยของ University Hospitals Bristol NHS Foundation Trust, Bristol, United Kingdom และทำนองเดียวกันได้เผยแพร่ในเว็บอื่น ๆ อีกมากมาย จนถึงขนาดที่ข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดย CBS, TIME, NBC, USA Today, The Guardian, WebMD, Newsweek และองค์กรข่าวอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า แหล่งข่าวต่างๆ นั้นต้องการยกเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นตัวอย่าง เพื่อเตือนใจแก่มนุษย์บนโลกนี้ให้เข้าใจถึงความสำคัญในเรื่องของสภาวะโภชนาการที่เกี่ยวกับสาเหตุของความเจ็บป่วยของคน ที่เป็นข่าว         เด็กหนุ่มชาวสหราชอาณาจักรชื่อ Jasper ผู้ซึ่งไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่และไม่ใช้ยาเสพติด และสถานภาพของร่างกาย ซึ่งดูจากภายนอกไม่เลวนัก มีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับปกติ คือ 22 (ความสูงคือ 172.9 ซม. และน้ำหนักเฉลี่ย 65.7 กก.) แต่ต้องประสบเคราะห์หามยามร้ายถึง “ตาบอด”         บทความกล่าวว่า เมื่อแพทย์ทำการสอบถามผู้ป่วยในระดับลึกแล้วพบว่า ผู้ป่วยได้ละเลยไม่กินอาหารบางอย่างที่ไม่ชอบตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม โดยสิ่งที่เขาชอบกินเป็นชีวิตจิตใจเพื่อดำรงชีวิตคือ มันฝรั่งทอด และขนมขบเคี้ยวอื่นๆ ทุกวัน นอกจากนี้เขายังชื่นชอบขนมปังที่ทำจากแป้งฟอกขาว แฮมและไส้กรอก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของอาหารขยะ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่การตรวจเลือดแสดงออกมาว่า เขามีระดับวิตามินบี 12 และวิตามินดีต่ำพร้อมมวลกระดูกที่ต่ำกว่าปรกติ แม้ว่าผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดจากระบบทางเดินอาหารนั้น ยังแสดงความเป็นปรกติอยู่ มีระดับทองแดงและซีลีเนียมต่ำ แต่ระดับสังกะสีสูง ซึ่งผู้เขียนคาดเอาว่า การที่ระดับสังกะสีสูงนั้นเป็นเพราะผู้ป่วยได้โปรตีนจากอาหารน้อยกว่าที่ควร ซึ่งโดยปรกติแล้วสังกะสีเป็นธาตุที่มักถูกร่างกายนำไปใช้ทำหน้าที่เป็นโคแฟกเตอร์ของเอ็นซัม ซึ่ง เป็นโปรตีนโดยธรรมชาติ หรือเป็นองค์ประกอบสำคัญในโปรตีนอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นจากรูปแบบการกินอาหารของผู้ป่วยนั้นย่อมต้องมีการขาดโปรตีน จึงทำให้ไม่สามารถสร้างเอ็นซัมหรือโปรตีนอะไรที่ต้องการสังกะสีได้มากนัก จึงมีเหลือเป็นอิสระอยู่ในเลือด         ย้อนหลังไปดูประวัติการพบแพทย์ของเด็กหนุ่มซึ่งเริ่มต้นเมื่ออายุ 14 ปี ที่เขาเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าแล้ว เมื่อตรวจเลือดก็พบว่ามีอาการ macrocytic anemia หรืออาการโลหิตจางเพราะเม็ดเลือดแดงใหญ่กว่าปรกติจนทำงานไม่ได้ แม้ว่าจำนวนเม็ดเลือดอาจไม่ต่ำกว่าปรกติก็ตาม เนื่องจากขาดวิตามินโฟเลตซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดให้สมบูรณ์ โฟเลตนั้นควรได้จากผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ถั่วทั้งเมล็ด ผลไม้อีกหลายชนิด เป็นต้น         จากนั้นในปีต่อมาแพทย์เริ่มสังเกตพบสัญญาณของการสูญเสียการได้ยินและการมองเห็น แพทย์จึงสั่งจ่ายวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งก็ไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างไร เพราะการมองเห็นของเขายังแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งถ้าดูจากพฤติกรรมการกินอาหารแล้วนั้น สภาวะทางโภชนาการของเขายังขาดการกินอาหารโปรตีนอยู่ วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่กินเข้าไปจึงไม่ถูกนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์นัก        พออายุได้ 15 ปี Jasper เริ่มมีการสูญเสียการได้ยินมากขึ้น สุดท้ายเขาได้ถูกส่งต่อไปยังแพทย์หูคอจมูก ซึ่งได้ทำการเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) แต่ก็ไม่พบความผิดปกติใดในโครงสร้างของร่างกาย อย่างไรก็ดีหลังจากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มมีอาการผิดปรกติในการมองเห็นที่จักษุแพทย์หาสาเหตุไม่ได้ สุดท้ายเมื่ออายุได้ 17 ปี ระดับการสูญเสียในการมองเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องถูกส่งตัวไปพบจักษุแพทย์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบประสาทตาและได้พบว่า มีความผิดปรกติเกิดขึ้นกับส่วนปลายเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องในการมองเห็น พร้อมกับการที่เขามีข้อบกพร่องของจอประสาทตาส่วนกลางทั้งสองข้าง ความเสียหายในการมองเห็นที่ถาวรจึงได้เริ่มแสดง ซึ่งน่าจะเป็นการส่งผลเนื่องมาจากสภาวะโภชนาการที่ไม่ดีเพราะกินไม่ดี         อาหารขยะของ Jasper นั้นทำให้เขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณจำกัด ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทตา ซึ่งสำคัญต่อการมองเห็น มันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่บำบัดยาก และเป็นตัวอย่างของการก่อปัญหาทางสุขภาพเนื่องจากการขาดสารอาหารหลายชนิดพร้อมกัน พิษร้ายของอาหารขยะ         อาหารขยะที่ Jasper นิยมชมชื่นนั้น ส่งผลให้ร่างกายเขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่พอจนเด็กหนุ่มมีอาการทางระบบประสาทตาเสื่อม สภาพการณ์ในลักษณะนี้อาจแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากการบริโภคอาหารขยะกำลังเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มเด็กวัยรุ่นตลอดไปถึงรุ่นแย้มฝาโลงที่ไม่สนใจดูแลตัวเองเรื่องการกิน แม้มีความรู้เกี่ยวกับรูปแบบอาหารที่ช่วยให้สภาวะโภชนาการของร่างกายดี เพราะใจนั้นทุ่มเทให้กับการเขี่ยสมาร์ทโฟนและ/หรือการเล่นเกมส์ที่เป็น e-sport แล้วถ้ายังปราศจากการแก้ไขปรากฏการณ์ดังกล่าว แถมส่งเสริมกันต่อไปในสภาพเหมือนผู้รับผิดชอบตาบอดด้านคุณภาพของประชากร มองไม่เห็นปัญหาที่จะเกิดในอนาคต ประเทศที่มีประชากรในลักษณะนี้คงเข้าสู่ภาพ the aging society along with poor quality citizen ซึ่งคงดูไม่จืดแน่

อ่านเพิ่มเติม >