ฉบับที่ 273 กระแสต่างแดน

ลดแล้วเพิ่ม         หลังจากเนเธอร์แลนด์ปรับลด “ความเร็วจำกัด” บนท้องถนนในเมือง จาก 50 กิโลเมตร เป็น 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจรกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 จากปี 2022         ข้อมูลจากสถาบันความปลอดภัยทางถนน (SWOV) ระบุว่า ปีนี้มีผู้เสียชีวิต 745 คน บาดเจ็บสาหัส 8,300 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 39 ของผู้เสียชีวิต และร้อยละ 70 ของผู้ได้รับบาดเจ็บคือผู้ใช้จักรยาน คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ยังเป็นผู้สูงอายุอีกด้วย         สาเหตุหลักคือ อุบัติเหตุรถล้มขณะขับขี่ การชนกับจักรยานด้วยกันเอง หรือไม่ก็อุบัติเหตุที่คู่กรณีไม่ใช่พาหนะคันอื่น         เรื่องนี้ค้านกับสิ่งที่ผู้คัดค้านการบังคับสวมหมวกนิรภัยเคยเสนอว่าการบาดเจ็บล้มตายจากอุบัติเหตุจักรยานควรเป็นการทำสภาพถนนให้ปลอดภัยและปรับลดความเร็วจำกัดบนท้องถนน พวกเขาไม่เชื่อในการบังคับสวมหมวกนิรภัย เพราะจะทำให้คนไม่อยากใช้จักรยานไม่เอาหนี้นอก         ช่วงนี้เทรนด์การจัดการหนี้นอกระบบกำลังมา ประเทศร่ำรวยอย่างเกาหลีใต้เพิ่งจะประกาศใช้กฎระเบียบที่เข้มขึ้นพร้อมเพิ่มบทลงโทษเจ้าหนี้เงินกู้ที่คิดดอกแพงลิ่ว จุดประสงค์คือการคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้จมกองหนี้โดยไม่มีทางออก         ลูกหนี้รายหนึ่งกู้เงินมา 250,000 วอน สามเดือนต่อมาหนี้ดังกล่าวงอกเงยขึ้นเป็น 150,000,000 วอน ในขณะที่เจ้าหนี้สาวรายหนึ่งถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 5,000 และยังข่มขู่ลูกหนี้ไปไม่ต่ำกว่า 300 ครั้ง            แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัญหาที่แท้จริงคือการเข้าไม่ถึงเงินกู้จากแหล่งทุนถูกกฎหมาย (สมาคมผู้ให้บริการเงินกู้บอกว่าพวกเขาปล่อยกู้ได้น้อยลงเกือบร้อยละ 70) แม้แต่การกู้เงินจากบัตรเครดิตก็ไม่ง่ายเช่นกัน         เกาหลีใต้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากปี 2019 มากกว่าสองเท่าตัว และในปี 2022 มีคนเข้าสู่วงจรนี้ไม่ต่ำกว่า 70,000 คน  ทาสแมวมีเฮ         รัฐบาลสิงคโปร์เสนอให้ยกเลิกการห้ามเลี้ยงแมวในแฟลตของรัฐ หลังใช้กฎหมายดังกล่าวมานานกว่า 30 ปี โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าแผนนี้จะเป็นผลดีทั้งต่อคนที่เลี้ยงและไม่ได้เลี้ยงแมว         ทั้งนี้ภายใต้ร่างกฎหมายใหม่ที่ว่าด้วย “การจัดการแมว” เจ้าของจะต้องนำแมวไปขึ้นทะเบียน ฝังไมโครชิป (ผู้มีรายได้น้อยสามารถขอรับบริการฟรีได้) และปฏิบัติตามมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง เช่น การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมด้วยการติดตั้งลูกกรงหรือตาข่ายป้องกันน้องตกจากตึก เป็นต้น         หลังการประกาศใช้ในครึ่งหลังของปี 2024 ทาสแมวจะมีเวลา 2 ปีในการยื่นเรื่องขอใบอนุญาตขอเลี้ยงแมวที่มีอยู่ (ซึ่งอาจจะมากกว่าสองตัวก็ได้) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากเกินกำหนด ทาสจะถูกปรับ 5,000 เหรียญ (ประมาณ 130,000 บาท)         ส่วนมือใหม่ที่จะเริ่มเลี้ยงแมวก็ต้องเข้ารับการอบรมออนไลน์ว่าด้วยการมีสัตว์เลี้ยงอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ก่อนจะได้รับใบอนุญาตด้วย  ขยะที่ถูกลืม         หลายประเทศมีแผนรับมือกับขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รวม “ก้นบุหรี่” ไว้ในขยะประเภทนี้         งานวิจัยโดยศูนย์ธรรมาภิบาลนานาชาติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ยังเสนอให้มีการ “แบน” ก้นบุหรี่โดยด่วน เพราะขยะที่ถูกทิ้งในประมาณมากที่สุดในโลกคือก้นบุหรี่ ซึ่งข้อมูลวิชาการยืนยันว่าไม่ได้มีสรรพคุณในการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ได้อย่างที่เข้าใจกัน         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศจีนซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคยาสูบรายใหญ่ที่สุดของโลก ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะจากก้นบุหรี่และซองใส่บุหรี่ในจีนสูงถึงปีละ 2,600  ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายทั้งโลกรวมกัน)         ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ปัญหาสุขภาพนั้นมีมานานแล้ว จีนมีนักสูบไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคอย่างมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ วันละประมาณ 3,000 คน    เงินไม่ถึง         หน่วยงานควบคุมดูแลการแข่งขันทางการค้าของอิตาลีสั่งปรับบริษัทของบล็อกเกอร์/ดีไซเนอร์ ชื่อดัง เคียร่า แฟร์รานี เป็นเงินล้านกว่ายูโร         การสอบสวนพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้นำเงินที่ได้จากการขาย “เค้กการกุศล” ไปมอบให้กับมูลนิธิของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในช่วงคริสต์มาสปีที่แล้ว ตามที่โฆษณาไว้ ด้านบริษัท Balocco ผู้ผลิตเค้กก็โดนปรับไป 420,000 ยูโรเช่นกัน         หน่วยงานดังกล่าวพบว่า มูลนิธิเพื่อการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งกระดูกของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองตูริน ได้รับเงินบริจาค 50,000 ยูโร จากบริษัทผู้ผลิตเค้กหลายเดือนก่อนคริสต์มาส แต่หลังจากที่บริษัทของแฟร์รานีออกแคมเปญชวนทำบุญและระดมทุนได้มากกว่าหนึ่งล้านยูโร กลับไม่มีการบริจาคเพิ่มให้อีกเลย             มาดูกันว่าผู้ติดตามเกือบ 30 ล้านคนในอินสตาแกรมของแฟร์รานีจะมีปฏิกิริยากับเรื่องนี้อย่างไร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2566

เตือน! “อย่าซื้อขนมโรลออน” ที่ลักลอบนำเข้าไทย        3 กันยายน 2566 ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยว่า พบขนมบรรจุขวดที่มีหัวเป็นลูกกลิ้ง ที่เรียกโดยทั่วไปว่า “โรลออน” วางจำหน่ายใกล้โรงเรียน และช่องทางออนไลน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้าไม่ได้รับอนุญาต สังเกต คือ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลข อย. รวมถึงไม่ทราบส่วนประกอบหรือส่วนผสม และไม่มีผู้นำเข้า         ทางอย.จึงขอเตือนว่าไม่ควรซื้อมาบริโภค ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงได้รับอันตราย หรือใช้วัตถุกันเสีย สี วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งอาจมีสารปนเปื้อนจากการผลิตจากภาชนะบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ขนมที่ได้รับอนุญาตต้องมีฉลากภาษาไทยระบุข้อมูลให้ครบถ้วน  สำหรับ ผู้นำเข้าและจำหน่าย ขนมที่ไม่ขออนุญาตนำเข้ามีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  BTS ชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าขัดข้องไม่ยอมปิดขณะเดินทาง         จากกรณีที่มีดราม่าระบบรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง โดยได้มีผู้ใช้ติ๊กต๊อกบัญชี @star111042 ได้โพสต์คลิปประตูรถไฟฟ้า BTS เปิดขณะวิ่งอยู่ พร้อมแคปชันระบุว่า "เมื่อคนซวยๆ อย่างฉันมาขึ้นรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าเลยซวยไปด้วย” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่มีประตูรถไฟฟ้าเปิดค้างไว้ ขณะเดินทางระหว่างสถานีบางจาก-สถานีปุณญวิถี หลังเกิดเหตุ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงได้ออกมาชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากระบบความปลอดภัยมีสัญญาณแจ้งเตือนประตูรถไฟฟ้าขัดข้อง เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า (TC) จึงรีบติดต่อเจ้าหน้าที่ห้องศูนย์ควบคุม (CCR) และประสานเจ้าหน้าที่ไปยืนดูแลบริเวณประตูที่ขัดข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารเข้าใกล้ประตู พร้อมทั้ง ได้ดำเนินการแก้ไขประตูดังกล่าวที่สถานีถัดไป        อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบขบวนรถไฟฟ้าดังกล่าว และประตูที่ขัดข้องอย่างละเอียด เพื่อหามาตรการป้องกันเพิ่มเติม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก อย่าซื้อ นมแม่แช่แข็งให้ลูกกิน         20 กันยายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้โพสต์เตือนกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง ที่มีการโพสต์ ซื้อ-ขาย นมแม่แช่แข็ง โดยมีการระบุข้อความว่า "มีคนไปโพสต์ในกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง บอกว่ามีนมแม่แช่แข็งเหลือ จะขาย คนก็แชร์ไปหลายพันละ อันนี้เตือนแม่ๆ ว่า นมแม่นี่ ของใครของมัน ไม่ควรเอานมแม่คนอื่นมาป้อนให้ลูกตัวเอง ถ้าไม่ผ่านการตรวจเชื้อ และผ่านธนาคารนมแม่มาแล้ว เพราะนมแม่ เป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่งซึ่งมีโอกาสที่จะมีเชื้อต่างๆ จากแม่ที่ผลิตนมนั้น เช่น HIV ไวรัสตับบี ไวรัสตับซี EBV CMV herpes  ซึ่งหากเด็กติดเชื้อขึ้นมาเรื่องใหญ่” นอกจากนี้  ปกติหากนมแม่เหลือและอยากแบ่งปันให้คนอื่น  จะมีธนาคารนมแม่ ที่เขาจะตรวจสอบว่าแม่ติดเชื้อไหม นมปลอดภัย มีการใช้สารเสพติด แอลกอฮอล์ ยาต่างๆ หรือไม่ เพื่อให้เด็กที่กินนั้นปลอดภัย Bangkok Airways ประกาศ “ชั่งน้ำหนักผู้โดยสาร สัมภาระก่อนบิน”         17 กันยายน 2566 หลังจากที่สายการบินต่างชาติ เช่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ได้มีการออกกฎชั่งน้ำหนักและสัมภาระผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อสำรวจและนำมาคำนวณกำหนดการกระจายน้ำหนักบนเครื่องบิน ลดการใช้เชื้อเพลิงนั้น         ทางบางกอก แอร์เวย์ส สายการบิน ประเทศไทย ก็ได้ออกมาประชาสัมพันธ์ ถึงกรณีดังกล่าวอีกด้วย โดยระบุข้อความดังนี้ “เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบินพลเรือนสากล เรื่องการใช้ข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานสำหรับคำนวณน้ำหนักผู้โดยสารและสัมภาระถือขึ้นเครื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำหนักของเที่ยวบินอยู่ภายใต้ขอบเขตการกำหนดน้ำหนักอากาศยานสำหรับการวิ่งขึ้นสูงสุด (Maximum Take-Off Weight) และทำการบินได้ด้วยความปลอดภัย ตั้งแต่ 15 ก.ย. ถึง 31 ต.ค. 66 เป็นต้นไป บริษัทขออนุญาตเก็บข้อมูลโดยการชั่งน้ำหนักผู้โดยสารรวมสัมภาระถือขึ้นเครื่อง ณ บริเวณประตูทางออกขึ้นเครื่อง จึงขอความร่วมมือจากท่านผู้โดยสารชั่งน้ำหนัก นอกจากนี้  บริษัทขอยืนยันว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ และจะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานเท่านั้น มพบ.เผยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิดจะได้รับเงินคืนจาก “Thai Air Asia X”         หลังจาก วันที่ 31 สิงหาคม 66 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบให้ฟื้นฟูกิจการ สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” รหัสเที่ยวบิน XJ บริการสายการบินราคาประหยัด เส้นทางไปต่างประเทศ หลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ต้องหยุดทำการบินขนส่งผู้โดยสารมานานกว่า 2 ปี         15 กันยายน 2566 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ที่เห็นชอบเเผนฟื้นฟูกิจการ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (XJ)” มีผลครอบคลุมเจ้าหนี้ทุกคนที่เป็นผู้โดยสาร ทั้งผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่างได้สิทธิรับคืนเงินทั้งหมด โดยไม่มีดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องทั้ง 2กรณี ส่วนที่ก่อนหน้านี้ มีผู้โดยสาร 11 คน พากันมายื่นร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแทนผู้บริโภค มูลค่าความเสียหายกว่า 4 แสนบาทนั้น ทางมูลนิธิฯ ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนให้ดำเนินการหาทนายฟ้องคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งทาง “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้ยื่นคำร้องค้าน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ จำหน่ายคดีที่ผู้บริโภคฟ้องเพราะศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น คดีอื่นๆ ที่มีการยื่นฟ้องหรือบังคับคดีจึงต้องหยุดชั่วคราวเพื่อรอการฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม ศาลมีข้อแม้ว่า หากสายการบินไม่จ่ายหนี้ตามสัญญา ก็จะเดินหน้าในกระบวนการทางศาลต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 เจอผลิตภัณฑ์เบเกอรี่แบรนด์ดังขึ้นรา

        ช่วงนี้ในโลกออนไลน์มีผู้บริโภคหลายคน พบเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารที่ซื้อมาบริโภคอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารในร้านสะดวกซื้อหรือแม้แต่ในร้านอาหารทั่วไป ซึ่งเรื่องราวทำนองนี้ทางมูลนิธิฯ ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมาอยู่ตลอดเช่นเดียวกัน ดังนั้นเสียงผู้บริโภคที่ฉลาดซื้อจะมาเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของคุณวีผู้เสียหายที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ โดยเขาได้เล่าให้ฟังว่า         ได้ซื้อขนมเค้กแบรนด์ดังเจ้าหนึ่งมา 1 กล่อง (ภายในกล่องจะแยกขนมเป็นชิ้นๆ ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กจำนวน 10 ชิ้น) จากร้านขายของชำแถวบ้าน เป็นขนมแบรนด์โปรดของคุณวีเลยแหละเพราะก็กินตั้งแต่เด็กจนโต หลังจากซื้อมาก็ได้รับประทานไปตามปกติแถมขนมก็ยังอร่อยเหมือนเดิมเลย แต่ด้วยความขนม 1 กล่องมีหลายชิ้น เลยกินไปเรื่อยๆ ไม่ได้กินครั้งเดียวจนหมด ทีนี้พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เขากลับมากินอีกครั้งฉีกซองออกมาก็เจอราสีขาวปนเขียวๆ ขึ้นอยู่บนขนม อ้าว! มันหมดอายุแล้วหรอ!(คุณวีคิด) เมื่อดูฉลากวันหมดอายุก็พบว่ายังไม่หมดนะ จึงทำให้เขาเป็นกังวลและเลือกที่จะไม่บริโภคต่อ เขาได้นำผลิตภัณฑ์มาร้องเรียนและเปิดให้ทางมูลนิธิฯ ดู ซึ่งพบว่าขนมเค้กดังกล่าวขึ้นราอีก 4 ซอง ทีนี้คุณวีเลยเป็นกังวลเกรงว่าผู้บริโภครายอื่นจะได้รับปัญหาเช่นเดียวกัน จึงขอความช่วยเหลือว่าควรจะทำอย่างไรดี? แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ หลังจากได้รับเรื่องจากคุณวี ได้มีการแจ้งไปทางบริษัทดังกล่าวที่ผลิตสินค้าและได้นัดหมายเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีสินค้ามีลักษณะขึ้นราก่อนวันหมดอายุ ซึ่งทางผู้จัดการบริษัทดังกล่าวก็ยินดีที่จะชดเชยให้เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท พร้อมกับนำกระเช้าผลไม้และขนมเค้กดังกล่าว จำนวน 2 ลัง มามอบให้ เพื่อเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย รวมถึงทำหนังสือขอโทษและแจ้งผลตรวจขนมดังกล่าวจากห้องแล็ปให้แก่ผู้เสียหายทราบด้วย ถือว่าทางบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค         ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่เจอเหตุการณ์ ดังกล่าวให้แก้ไขปัญหา ดังนี้         1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน เช่น ใบเสร็จจากร้านค้า         2. ไปพบแพทย์ตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน         3. นำหลักฐานแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่         4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) แจ้งความประสงค์ที่จะต้องการให้บริษัทแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร         5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท เขียนสรุปปัญหาที่พบ ส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า ระบุให้ชัดเจนถึงความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         กรณีที่ไม่ได้จะนำสินค้าเก็บไว้เพื่อร้องเรียน หากผู้บริโภคเจอ “เชื้อรา” ปนเปื้อนในอาหาร ทางฉลาดซื้อไม่แนะนำให้รับประทานต่อให้ทิ้งไปเลย เนื่องจากตัวเชื้อราอาจมีการแพร่เชื้อไปโดยที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากรับประทานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 กระแสต่างแดน

แบนดีไหม         ฮ่องกงกำลังพิจารณาห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น หลังสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อนุมัติให้ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัด ปริมาณ 1.3 ล้านตัน ลงสู่ทะเลได้ในช่วง 30 ปีข้างหน้า         นอกจากอาหารทะเลชนิดสด แห้ง ดอง แช่เย็น และแช่แข็ง ฮ่องกงยังจะแบนเกลือทะเล สาหร่าย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น (คิดเป็นร้อยละ 13 ของร้านอาหารที่จดทะเบียนในฮ่องกง) ได้รับผลกระทบ อาจมีถึง 3 ใน 10 ร้านที่ต้องเลิกกิจการ         ฮ่องกงเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุดอันดับสอง รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว            ส่วนประเทศไทย อเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอีก 30 กว่าประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการห้ามหรือจำกัดการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นมานานแล้ว  ช่วยน้องกลับบ้าน         สืบเนื่องจากการร้องเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยในกัวลาลัมเปอร์ ที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ในช่วงปิดเทอม เนื่องจากบ้านอยู่ไกลถึงรัฐซาบาห์ ซาราวัก หรือเกาะลาบวน ซึ่งต้องเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ราคาตั๋วกลับสูงเกินเอื้อม แม้จะทำงานพิเศษ ก็ยังมีรายได้ไม่พอซื้อตั๋ว         ในที่สุดกระทรวงคมนาคมมาเลเซียตัดสินใจแจกเวาเชอร์มูลค่า 300 ริงกิต (ประมาณ 2,300 บาท) ให้กับนักศึกษาเพื่อใช้ซื้อตั๋วเครื่องบินในประเทศ รายงานระบุว่าแผนนี้สามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้ไม่ต่ำกว่า 56,000 คน ด้วยงบประมาณ 16.8 ล้านริงกิต โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 15 สิงหาคมนี้         สภานักศึกษาฯ มองว่ารัฐมาถูกทางแล้ว แต่ยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มด้วย เช่น นักศึกษาบางคนต้องนั่งเครื่องบินมากกว่าหนึ่งต่อ รวมถึงรัฐควรจัดให้มีความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน เช่น การกลับบ้านด่วนเพื่อไปร่วมงานศพของคนในครอบครัว         เมื่อต้นปีรัฐบาลประกาศว่าจะเจรจากับผู้ประกอบการสายการบินให้จัดตั๋วราคาพิเศษสำหรับนักศึกษา แต่แผนดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า    ไม่มาเลยดีกว่า         การรถไฟสวิตเซอร์แลนด์ (SBB) ภูมิใจในความตรงต่อเวลาในการให้บริการมาโดยตลอด แต่เมื่อเปิดบริการ “ขบวนรถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศ” จากเยอรมนีเข้ามายังเมืองหลักในประเทศ เช่น คูร์ ซูริค หรือ อินเทอร์ลาเคน สถิติความล่าช้าของเขากลับเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง         เพราะขบวนรถจากเยอรมนีมาสายบ่อย ตารางเวลาเดินรถที่ออกแบบไว้เพื่อการเชื่อมต่อจึงไม่สามารถใช้การได้ สถิติปีที่แล้วระบุว่าร้อยละ 80 ของขบวนรถไฟที่มาช้าคือขบวนที่มีต้นทางในเยอรมนี         เพื่อไม่ให้เสียชื่อไปมากกว่านี้ สำนักงานขนส่งของสวิตเซอร์แลนด์ จึงเสนอว่าเมื่อสัญญาร่วมให้บริการหมดลงในปี 2035 เขาจะให้รถไฟจากเยอรมนีส่งผู้โดยสารเป็นป้ายสุดท้ายที่สถานีเมืองบาเซิลตรงชายแดนเท่านั้น ผู้โดยสารที่ต้องการเข้าเมืองจะต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟขบวนท้องถิ่น         หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย การตัดลดเส้นทางไม่น่าจะเอื้อต่อแผนลดโลกร้อน นักท่องเที่ยวคงไม่อยากหอบกระเป๋าขึ้นลงหลายรอบ แม้แต่รัฐบาลกลางก็ไม่เห็นด้วยและเกรงว่าเรื่องนี้อาจยังแก้ไม่ถูกจุด   กติกานักสู้         หน่วยงานป้องกันการผูกขาดทางการค้าของอิตาลีเริ่มสอบสวน CoopCulture ผู้ให้บริการขายตั๋วเข้าชม “โคลอสเซียม” หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่าการซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมสถานที่แห่งนี้ด้วยตนเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบริษัททัวร์ใหญ่ๆ กว้านซื้อไปหมดแล้ว         จากการตรวจสอบพบว่า จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม มีตั๋วเหลืออยู่เพียง 3 ใบในเว็บขายตั๋วอย่างเป็นทางการของโคลอสเซียม (ราคาตั๋วปกติอยู่ที่ 18 ยูโร หรือประมาณ 700 บาท)        แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เว็บของบริษัททัวร์หลายเจ้ากลับมี “ทัวร์โคลอสเซียมพร้อมตั๋วและไกด์” ให้เลือกมากมายในราคาตั้งแต่ 37.50 ถึง 74 ยูโร (1,430 ถึง 2,820 บาท)        CoopCulture ยืนยันว่าบริษัทมีระบบป้องกันการกว้านซื้อ และยินดีให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบ ในขณะที่องค์กรผู้บริโภค Codacons ก็ออกมาเรียกร้องให้มีกฎหมายห้ามการซื้อตั๋วไปขายต่อ รวมถึงเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย  ผิดซ้ำต้องแฉ         ตั้งแต่ต้นปี 2566 สำนักอนามัยเทศบาลเมืองไทเป ได้สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ขนมหวานแช่แข็งและเครื่องดื่มเย็นทั้งหมด 299 รายการ เพื่อหาแบคทีเรียที่เป็นอันตราย (เช่น ซัลโมเนลลา อีโคไล) และพบว่ามี 20 ผลิตภัณฑ์หรือร้อยละ 6.7 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์        ตามระเบียบของไทเป ผู้ประกอบการที่มีอาหารหรือเครื่องดื่ม “ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย จะได้รับแจ้งจากสำนักฯ พร้อมกับ “เดดไลน์” ในการปรับปรุง แต่การตรวจครั้งล่าสุดยังพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ยังคงสอบตกเหมือนเดิม        พ.ร.บ.ความปลอดภัยและอนามัยด้านอาหารของไต้หวันกำหนดโทษปรับสำหรับร้านค้าที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องปริมาณจุลินทรีย์ไว้ที่ระหว่าง 30,000 ถึง 3,000,000 เหรียญ         สำนักอนามัยฯ ยังเตือนภัยผู้บริโภคด้วยการเปิดเผยชื่อเมนู ชื่อร้าน รวมถึงสาขาที่ตั้ง พร้อมรูปถ่ายในการแถลงข่าวด้วย หากสนใจกดเข้าไปดูได้ที่ลิงก์นี้ https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4947489

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 พบพลาสติกในถุงบ๊วยสามรส

        อาหาร ขนม หรือผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพต่างๆ ที่มีขายในร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าทั่วไป คนส่วนมากจะมั่นใจว่าขั้นตอนในการผลิตนั้นจะต้องปลอดภัยแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะว่ามีมาตรฐานการผลิตหรือ อย. รับรองอยู่ แต่บางครั้งก็อาจจะมีผิดพลาดกันได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร มาดูกัน         คุณน้ำตาลได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์สินค้า “บ๊วยสามรส” ชื่อให้อารมณ์ประมาณกินแล้วตื่นแน่นอน โดยเรื่องมีอยู่ว่า วันนั้นเธอไปซื้อบ๊วยยี่ห้อโปรดที่เธอกินเป็นประจำจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อได้บ๊วยของโปรดมาก็นำกลับบ้าน ตอนที่เธอแกะบ๊วยและส่งเข้าปาก ในขณะที่กำลังเคี้ยวๆ บ๊วยสุดโปรดนั้น ก็พบว่า ทำไมมีสัมผัสแปลกๆ แข็งๆ อยู่ในปาก ตอนนั้น “ตกใจมาก”         เมื่อคายสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมาดูก็ต้องเจอกับพลาสติกขนาด 1 เซนติเมตร (ซึ่งไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากห่อบ๊วย) คุณน้ำตาลคิดในใจ “ดีนะ ที่ไม่กลืนไปเสียก่อน” เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบคุณน้ำตาลจึงได้โทรศัพท์ไปร้องเรียนกับทางผู้ผลิตสินค้า เพื่อตามหาความรับผิดชอบ        ทางบริษัทไม่ได้ปฏิเสธแต่แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้ว่า บริษัทฯ จะติดต่อกลับพร้อมมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษให้คุณน้ำตาลเพื่อเป็นการเยียวยา ซึ่งคุณน้ำตาลคิดว่าน่าจะไม่ใช่แบบนี้ แค่นี้ก็พอหรือ คุณน้ำตาลต้องการให้ทางบริษัทแสดงความรับผิดชอบโดยจ่ายเป็นเงินเยียวยาพร้อมทั้งคำขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรของบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อคุณน้ำตาลเจรจากับทางบริษัทก็ยังหาขอสรุปไม่ได้สักที เนื่องจากทางบริษัทยืนยันที่จะชดเชยโดยการมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษเพียงเท่านั้น จึงได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา                ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ติดต่อไปทางบริษัทเพื่อสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้ตอบกลับมาว่า ได้มีผู้คนมาร้องเรียนกรณีดังกล่าวและได้เรียกเงินชดเชย 5,000 บาทจริง อย่างไรก็ตามทางบริษัทมองว่ามากเกินไป ยืนยันจะให้กระเช้าพร้อมกับคำขอโทษเหมือนเดิมหรือถ้าหากไม่เอากระเช้าก็จะขอชดเชยเยียวยาเงินคืนให้เท่ากับราคาสินค้ามากกว่าเดิมประมาณ 5 เท่า ถุงละ 120x5 = 600 บาท         เมื่อทางมูลนิธิฯ ได้รับข้อมูลดังนั้น จึงโทรไปสอบถามทางผู้ร้องอีกรอบ ซึ่งผู้ร้องก็ยังคงยืนยันที่ต้องการให้บริษัทชดเชยเงินเยียวยาจำนวน 2,000 - 5,000 บาท พร้อมทำหนังสือขอโทษส่งมาทางอีเมลหรือเฟซบุ๊ก หลังจากแจ้งเจตนาของผู้ร้องและประสานงานเพื่อไกล่เกลี่ยกันแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตยอมรับข้อเสนอโดยตกลงว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ทางผู้เสียเป็นเงิน 2,000 บาท พร้อมทั้งผู้ผลิตฝากขอโทษไปถึงผู้ร้องอีกรอบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น อันเป็นว่าจบไปได้โดยดี         อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวถึงขั้นได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์หรือสินค้า เมื่อต้องเข้ารับการรักษาควรที่จะต้องขอใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและเก็บไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน นอกจากนี้ ถ้าผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวก็ควรที่จะเรียกร้องสิทธิและค่าชดเชยเยียวยา เพราะหากผู้ผลิตรับทราบก็จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 การสำรวจฉลากอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา กรุงเทพมหานคร เเละ จังหวัดนครปฐม

        ข่าวเด็กป่วยจากการกินขนมผสมกัญชา ซึ่งมีการเปิดเสรีให้นำมาผสมในอาหารได้นั้น ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ปกครองว่าวันใดวันหนึ่งบุตรหลานของตนอาจจะต้องประสบกับปัญหาการบริโภคอาหารที่มีการผสมกัญชา โดยไม่สามารถป้องกันตัวเองได้เลย ไม่เพียงเท่านั้นการเปิดกว้างแบบเสรีของการอนุญาตให้ใช้กัญชา ทำให้ประชาชนสามารถการเข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้จะพบว่ามีการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสินค้าแปรรูปที่มีส่วนผสมของกัญชาวางขายในท้องตลาดทั่วไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด เป็นต้น  โดยสินค้าทั้งน้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมต่างๆ ไม่ได้ระบุ ข้อห้ามของการจำหน่าย คำเตือนภัย อันตรายต่างๆ สำหรับการจำหน่ายสำหรับเด็ก อายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร  จึงทำให้กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการบริโภคสินค้าดังกล่าวโดยไม่รู้โทษภัยของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้         จึงเป็นที่มาของการร่วมกันทำงานระหว่าง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก และนิตยสารฉลาดซื้อ จากโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส.  วิธีการศึกษา        ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่จำหน่ายในท้องตลาด โดยแบ่งการสำรวจเก็บตัวอย่างสินค้า เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มที่ 1 ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ กลุ่มที่ 2 ตลาดนัด ร้านค้าริมทาง และ กลุ่มที่ 3 ร้านค้าออนไลน์ กำหนดพื้นที่ในการสำรวจ เขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดนครปฐม        สำรวจว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายนั้น มีป้ายเตือน คำเตือนหรือฉลากเตือนหรือไม่  ทั้งนี้เพื่อป้องกันการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาของเด็กและสตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และจัดทำเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยสาธิต ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดลสำรวจเดือน กรกฎาคม 2565 ข้อเสนอ        1.ควรกำกับดูแลให้มีแสดงคำเตือนผู้บริโภคบนฉลากสินค้า  ตลอดจนฉลากคำเตือนและฉลากห้ามจำหน่ายในบริเวณหรือพื้นที่ ตามที่กฎหมายกำหนด   ได้แก่ ชั้นวางสินค้าหรือแคชเชียร์ หน้าจอแสดงสินค้าบนแอพพลิเคชันต่างๆ        2.หน่วยงานด้านการศึกษา ควรจัดให้มีมีกิจกรรมสอนให้เด็กได้ทำความรู้จักกับใบกัญชา เรียนรู้เรื่องโทษจากใบกัญชา มีกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการเลือกซื้อขนมที่ปลอดภัย ไม่มีส่วนผสมของกัญชา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ซื้อขนมพายสตรอเบอรี่มาแต่มันขึ้นรา ทำไงดี?

        เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมาคงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของใครหลายคน เพราะเป็นเดือนสุดท้ายของปีก่อนจะเริ่มขึ้นปีใหม่ แถมยังเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวหลายคนคงจะเตรียมออกเดินทางที่จะท่องเที่ยวช่วงกับครอบครัวกันแน่นอน เรื่องราวเสียงผู้บริโภคที่เราจะเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องจากคุณน้ำตาล ที่ช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมามีโอกาสไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงาน ทริปไปท่องเที่ยวไหว้พระทำบุญก่อนขึ้นปีใหม่         คุณน้ำตาลโอเคมาทริปแบบนี้ดีถือว่าเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเริ่มปีใหม่ เข้าวัดทำบุญเสียหน่อยเผื่อว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีของเธอ วันนัดชาวคณะนั่งรถแท๊กซี่ไปโดยมีจุดมุ่งหมายปลายทาง คือ วัดดังย่านเขตดุสิต วัดแรกทำบุญและให้อาหารปลามีความสุขมาก หลังจากนั้นชาวคณะเริ่มเดินเท้าไหว้พระวัดที่ 2 ซึ่งไม่ไกลจากวัดแรกมากนัก อย่างไรก็ตามอากาศที่ร้อนก็ทำให้การเดินเท้าแบบเดินไปเรื่อยๆ นั้นเหนื่อยเอาเรื่อง เลยเดินเข้าวัดที่ 2 และแวะร้านกาแฟเล็กๆ ภายในวัดเพื่อหากาแฟดื่มให้ชื่นใจ คุณน้ำตาลเดินดุมๆ เข้าไปในร้านกาแฟทันที แต่ดันเห็นน้ำอัดลมและขนมพายสตรอเบอรี่เลยเปลี่ยนใจ ไม่กินกาแฟแล้ว สั่งน้ำอัดลมและขนมพายดีกว่า เมื่อรับสินค้ามาแล้วนั่งดูดน้ำอัดลมอย่างชื่นใจ ขณะฉีกซองพายสตรอเบอรี่เธอดันเห็นอะไรเขียวๆ ดำๆ เป็นจุดๆ หน้าตาเหมือนกับราเลย เธอคิดว่าจะเป็นวิธีการตกแต่งหน้าพายแบบใหม่ก็ไม่น่าใช่ จึงยื่นให้พี่ที่ทำงานช่วยดู ทุกคนก็บอกว่ามันคือราแน่นอน คุณน้ำตาลจึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี และแอบเสียดายเพราะอยากที่จะลองกินขนมพายสตรอเบอรี่ด้วย แต่ก็คิดว่าขนมทั้งหมดนั้นน่าจะมีปัญหาหมดอายุเหมือนกันทั้งหมดด้วยไหมแนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นคุณน้ำตาลได้เอาขนมไปเปลี่ยนกับทางร้านกาแฟทันทีที่เจอ ซึ่งทางร้านก็คืนเงินให้ทันที เพราะหากเปลี่ยนเป็นขนมชิ้นใหม่ ก็คือขนมล็อตเดียวกันและอาจจะขึ้นราอีกทางร้านจึงเลือกคืนเงินแทน พร้อมขอโทษขอโพยคุณน้ำตาล ซึ่งเธอก็ไม่ติดใจอะไรพร้อมรับเงินคืนจากทางร้าน  และขอให้เก็บสินค้าขนมพายสตรอเบอรี่ทั้งหมดออกจากชั้นวางขนมเพราะคิดว่า น่าจะหมดอายุเช่นเดียวกัน ซึ่งทางร้านยินดีจัดการปัญหาตามที่คุณน้ำตาลแนะนำ           ทั้งนี้ คุณน้ำตาลก็ได้มาเล่าประสบการณ์ที่เจอให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง เพื่อจะได้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอกรณีแบบนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่นำสินค้าไปเปลี่ยนและขอเงินคืนได้ทันที และอยากให้ผู้ประกอบการตรวจเช็คสินค้าเสมอก่อนจำหน่ายให้ผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 สำรวจปริมาณโซเดียมในขนมขบเคี้ยวจากข้าวโพด

        ข้าวโพดมีรสหวานหอมอร่อย กินแล้วได้วิตามินเอ วิตามินบี แร่ธาตุ เส้นใยอาหาร และเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ เป็นต้น         แล้วขนมกรุบกรอบที่ทำจากข้าวโพดล่ะ กินแล้วยังได้ประโยชน์ไหม ?         ขนมข้าวโพดอบกรอบ ข้าวโพดทอดกรอบ และข้าวโพดคั่ว ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส ที่มีหลากหลายรูปแบบและรสชาติให้เลือกละลานตา เป็นหนึ่งในขนมขบเคี้ยวยอดนิยมที่หลายคนชื่นชอบโดยเฉพาะเด็กๆ ที่ติดใจในกลิ่นหอมของข้าวโพด สัมผัสกรุบกรอบจากกระบวนการขึ้นรูปหรือแปรรูปขนม และรสชาติหวาน มัน เค็ม ติดปาก ชวนให้เคี้ยวเพลินจนหมดห่อแบบไม่รู้ตัว โดยไม่ทันเอะใจว่า ขนมที่กินเล่นอร่อยๆ นี้ มักเคลือบด้วยสารปรุงแต่งรสชาติต่างๆ ที่มีโซเดียมในรูปสารประกอบ ซึ่งหากกินบ่อยๆ กินมากครั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว จำนวน 400 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงสินค้าที่มีโซเดียมสูง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องเลือกขนมให้เด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของขนมประเภทนี้               ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมขบเคี้ยวที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ ที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สุ่มสำรวจจำนวน 20 ตัวอย่าง 15 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประเภทข้าวโพด        -ขนมจากข้าวโพดทั้งหมด 20 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายห่อละ 15 – 29 บาท และมีน้ำหนักสุทธิ 35 - 75 กรัม         -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลากพบว่า ยี่ห้อเซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีสมีโซเดียมสูงที่สุดคือ 390 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด และยี่ห้อคอร์นพัฟฟ์ ข้าวโพดอบกรอบ รสดั้งเดิม มีปริมาณมากที่สุดคือ 36 กรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีปริมาณน้อยที่สุดคือ 20 กรัม ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส ถูกสุดคือ 0.27 บาท ส่วนยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด แพงสุดคือ 0.61 บาท        -ยี่ห้อ เซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีส มีราคาขายถูกที่สุด (15 บาท) ห่อเล็กที่สุด (น้ำหนักสุทธิ 35 กรัม) และมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (390 มิลลิกรัม) หากลองเปรียบเทียบกับยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม ที่มีราคาเท่ากัน มีปริมาณใกล้เคียงกัน (43 กรัม) แต่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (25 มิลลิกรัม) จึงอาจชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการปรุงแต่งรสชาติกับปริมาณโซเดียมในขนมได้ ตัวอย่างในที่นี้คือรสชีสมีโซเดียมมากกว่ารสนม เพราะกรรมวิธีผลิตชีสนั้นใช้เกลือเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย        -ขนมข้าวโพดอบกรอบ/ทอดกรอบ รสชีส มีจำนวนมากที่สุดถึง 8 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคตั้งแต่ 140 - 390 มิลลิกรัม        -จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักหยิบขนมไม่ว่าจากห่อเล็กห่อใหญ่เข้าปากเพลินจนหมดในคราวเดียว ดังนั้นเมื่อลองคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมทั้งห่อแล้วจะพบว่า ยี่ห้อปาร์ตี้ คริสปี้ พาย ข้าวโพดทอดกรอบ รสคอร์นชีส มีโซเดียมมากที่สุดคือ 600 มิลลิกรัม และยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 53.75 มิลลิกรัม        -จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากันในทุกตัวอย่างชุดนี้ พบว่ามี 6 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์ คือมีโซเดียมไม่เกิน 150 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, โรลเลอร์ คอร์น ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, ทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส, ชาโชส บีบีคิว โบนันซ่า(ทอร์ทิลล่า ชิพ), ชีโตส ข้าวโพดทอดกรอบ รสอเมริกันชีส แล้วก็ โตโร ข้าวโพดคลุกน้ำตาลและเนย คำแนะนำ        -มีข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำว่า เด็กอายุ 2- 15 ปี โดยเฉลี่ย ควรบริโภคอาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อ และแต่ละมื้อควรได้รับโซเดียมปริมาณไม่เกิน 100 มิลลิกรัม        -ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ผู้ปกครองหรือเด็กเองควรอ่านฉลากโภชนาการ หรือฉลากหวาน มัน เค็ม บนห่อขนม และเลือกซื้อขนมที่มีโซเดียมต่ำ หากเป็นขนมสุดโปรดที่มีโซเดียมสูง ให้แบ่งกิน หรือไม่ควรกินบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น          - บางคนเลือกกินขนมกรุบกรอบห่อเล็กๆ เพราะเข้าใจว่ามีโซเดียมน้อย ซึ่งจริงๆ แล้วบางยี่ห้อแม้ห่อเล็กแต่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่ากินห่อใหญ่ทั้งห่อก็มี             -พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างและฝึกให้เด็กไม่กินของจุบจิบหรือขนมระหว่างมื้อ ชวนให้เด็กมากินผัก ผลไม้ หรือขนมที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้อบแห้ง นมอัดเม็ด หรือถั่วต่างๆ และชวนเด็กมาออกกำลังกายด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ        - ปัจจุบันมีขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีปริมาณโซเดียมต่ำให้เลือกบริโภคบ้างแล้ว แต่ว่าอาจยังมีราคาสูง และยังไม่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างเท่าไหร่นัก ในเบื้องต้นผู้บริโภคเลือกได้โดยมองหาสัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.บนฉลากของขนมนั้นๆ           - ขนมข้าวโพดอบกรอบปรุงรสมักมีสีเหลืองสวยชวนกิน ซึ่งอาจใช้สีผสมอาหารสีเหลือง 6 ซึ่งมาจากปิโตรเลียมใส่ลงไป และอาจมีการแต่งรสเทียม เช่น  Methyl benzoate และ Ethyl methylphenidate ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร โรคกระเพาะ และอาการเสพติดเหมือนกันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่        - ระวังเด็กเล็กๆ ที่อาจกินขนมข้าวโพดคั่วแล้วติดคอ เพราะมีเมล็ดข้าวโพดส่วนที่ยังแข็งอยู่ปนมาได้ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.comhttps://thai.ac/news/show/354305http://healthierlogo.comhttps://kukr2.lib.ku.ac.th (บทความขนมขบเคี้ยวจากเครื่องเอกซ์ทรูดเดอร์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ขนมเวเฟอร์หวานมันกรอบๆ ก็มีโซเดียมนะ

        ใกล้เทศกาลปีใหม่แบบนี้ หากลองสังเกตขนมขบเคี้ยวยอดฮิตที่ใครๆ มักนำมาจัดในกระเช้าของขวัญแล้ว หนึ่งในนั้นน่าจะต้องมี ”ขนมเวเฟอร์” รวมอยู่แน่นอน ด้วยแผ่นแป้งพิมพ์ลายไขว้กันเหมือนรังผึ้งที่กรอบบางเบาเคี้ยวเพลิน ผสานกับเนื้อครีมสอดไส้หรือเคลือบไว้ที่หอมหวานมันอร่อยลิ้น จึงเป็นขนมที่ถูกปากถูกใจทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุมานาน ทั้งยังกินง่าย หาซื้อง่าย มีหลายรสชาติหลากรูปแบบให้เลือกตามชอบ แต่ถ้ากินเยอะๆ บ่อยๆ ก็อ้วนง่ายด้วย เพราะมีทั้งแป้ง น้ำตาล และไขมันที่ให้พลังงานสูง แถมยังพ่วงโซเดียมมาอีก         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยวจำนวน 400 ตัวอย่าง สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงขนมที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมเวเฟอร์ทั้งที่สอดไส้และเคลือบด้วยครีมรสชาติต่างๆ ในรูปแบบสี่เหลี่ยม แบบโรลและแบบสติ๊ก จำนวน 27 ตัวอย่าง 10 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564           ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในขนมเวเฟอร์        -ขนมเวเฟอร์ทั้งหมด 27 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายซองละ 5 - 45 บาท และมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 25 - 86 กรัม        -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อล็อคเกอร์ ครีมคาเคา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมโกโก้) มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อริทซ์ ชีส เวเฟอร์โรล (เวเฟอร์โรลสอดไส้ครีม รสชีส) มีโซเดียมมากที่สุดคือ 150 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่าปริมาณน้อยที่สุดคือ 23 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อล็อคเกอร์ 3 ตัวอย่างคือ ครีมคาเคา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมโกโก้),นาโปลิเทนเนอร์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีมเฮเซลนัต) และมิลค์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีม รสนม) ส่วนปริมาณที่มากที่สุดคือ 45 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อเดลฟี่ท็อป 4 ตัวอย่างคือ เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลต ข้าวพองและคาราเมล, ทริปเปิ้ล ช็อก, คาปูชิโน และสตอเบอร์รี่ กับยี่ห้อล็อคเกอร์ 2 ตัวอย่างคือ วานิลลา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมวานิลลา) และโกโก้ แอนด์ มิลค์ (เวเฟอร์รสโกโก้สอดไส้ครีมนม)         ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบิสชิน เวเฟอร์ไส้ครีม กลิ่นส้ม และ รสมะพร้าว มีราคาถูกสุดคือ 0.17 บาท ส่วนยี่ห้อล็อคเกอร์ ฟอนแดนท์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีมดาร์กช็อกโกแลต มีราคาแพงสุดคือ 1.2 บาท        - จากตัวอย่างขนมขบเคี้ยวทั้งหมดที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สำรวจ ซึ่งแบ่งเป็น 9 ประเภทตามวัตถุดิบนั้นเมื่อเรียงลำดับปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคมากที่สุดในขนมแต่ละประเภทแล้ว พบว่าขนมเวเฟอร์อยู่รั้งท้าย (150 มก.) โดยลำดับที่หนึ่งคือมันฝรั่ง (1,080 มก.) รองลงมาคือปลาเส้น (810 มก.) ข้าวเกรียบและขนมอบกรอบ (560 มก.) สาหร่าย (510 มก.) ข้าวโพด (390 มก.) ถั่วและนัต ( 380 มก.) แครกเกอร์และบิสกิต (230 มก.) และคุกกี้ (220 มก.)        - จากที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจฉลากเวเฟอร์ช็อกโกแลตมาแล้ว ในครั้งนั้นได้ผลออกมาว่ามีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคอยู่ที่ 10 – 120 มิลลิกรัม และมี 6 ตัวอย่างที่นำมาสำรวจในครั้งนี้ด้วย ซึ่งพบว่ายี่ห้อกัสเซ็น เวเฟอร์สอดไส้ครีม รสช็อกโกแลต มีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคจากเดิม 35 มิลลิกรัม ลดลงเป็น 30 มิลลิกรัม ส่วนอีก 5 ตัวอย่างนั้นยังเท่าเดิม        - จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากัน พบว่าขนมเวเฟอร์ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์ปริมาณโซเดียมนี้แต่อย่างไรก็ตามยังต้องพิจารณาปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมันควบคู่ไปด้วย        - เมื่อคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมเวเฟอร์ทั้งซอง พบว่ายี่ห้อบิสชิน เวเฟอร์ไส้ครีม กลิ่นส้ม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 45 มิลลิกรัม ยี่ห้อริทซ์ ชีส เวเฟอร์โรล (เวเฟอร์โรลสอดไส้ครีม รสชีส) มีโซเดียมมากที่สุดคือ 225 มิลลิกรัม        - มี 13 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณต่อหน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักสุทธิ โดยมีปริมาณโซเดียมที่ 45 - 95 มิลลิกรัม        - ขนมเวเฟอร์รสโกโก้หรือช็อคโกแลต (แบบเคลือบ/สอดไส้) มีมากที่สุดคือ 10 ตัวอย่าง        - เวเฟอร์แบบสี่เหลี่ยมส่วนใหญ่จะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าเวเฟอร์โรลและเวเฟอร์สติ๊กที่เป็นแบบแท่งๆ คำแนะนำ-บางคนอาจสงสัยว่าขนมเวเฟอร์ไม่เค็มแล้วทำไมถึงมีโซเดียมได้ เพราะยังเข้าใจว่าอาหารรสเค็มเท่านั้นที่มีโซเดียม แต่จริงๆ แล้วขนมอบรสหวานมันที่มีส่วนผสมของผงฟู เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ต่างก็มีโซเดียมอยู่ เพราะผงฟูมีโซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบ นั่นเอง ดังนั้นอย่าชะล่าใจกินขนมหวานซ่อนเค็ม(โซเดียม)เพลิน ทำให้ได้รับโซเดียมเกินโดยไม่รู้ตัว- ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็กและผู้สูงอายุ- ผู้ปกครองหรือคุณครูควรฝึกให้เด็กๆ ดูและเปรียบเทียบฉลากหวาน มัน เค็ม ให้เข้าใจพอจะเลือกเองได้  -ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ไม่ควรเกิน 32.5-95  มิลลิกรัม  อายุ 9-12 ปี ไม่ควรเกิน  40-117.5 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี ไม่ควรเกิน  50-150 มิลลิกรัมหรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน และไม่ควรกินขนมเกินวันละ 2 มื้อด้วย    - หลายคนมักกินเวเฟอร์ที่บรรจุในซองเแยกเป็นชิ้นๆ ให้หมดในคราวเดียว เพราะขนมเวเฟอร์ไวต่อความชื้น ถ้าแกะซองแล้วกินไม่หมด ขนมที่เหลือก็จะนิ่มเหนียวไม่อร่อย จึงอาจเสี่ยงได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่แนะนำได้หากในฉลากระบุว่าควรแบ่งกินมากกว่า 1 ครั้ง ดังนั้นถ้าเผลอกินไปแล้วก็ต้องมาลดอาหารเค็มๆ อย่างอื่น และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย- ขนมเวเฟอร์แบบห่อ/กล่องใหญ่ ควรแบ่งขนมใส่จานไว้พอประมาณ แล้วปิดห่อ/กล่องให้สนิท- สำหรับขนมเวเฟอร์แบบแบ่งขายที่ไม่มีฉลากโภชนาการกำกับ หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือกินแต่น้อย- ใครชอบกินเวเฟอร์กับเครื่องดื่ม หากไม่อยากให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและไขมันเพิ่มอีก ควรดื่มเป็นน้ำเปล่า ชาร้อน กาแฟดำ หรือน้ำผลไม้คั้นสดเพื่อเลี่ยงโซเดียมจากน้ำผลไม้สำเร็จรูป- อย่าปักใจเชื่อว่าขนมเวเฟอร์ซองเล็กมีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าซองใหญ่เสมอไป จริงๆ แล้วยังมีเวเฟอร์ซองเล็กบางยี่ห้อที่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่าซองใหญ่ซะอีกข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 160 เรื่องทดสอบ “เวเฟอร์ช็อกโกแลต เผลอเคี้ยวเพลิน อ้วนแน่”ฉลาดซื้อฉบับที่ 243 เรื่องทดสอบ “สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย”http://healthierlogo.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ปลาเส้นปรุงรส โปรตีนสูง ไขมันต่ำ แต่โซเดียมสูงปรี๊ด

        ฉลาดซื้อเคยทำสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ขนม (ของกินเล่น) ปลาเส้นปรุงรส ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้ขนมอบกรอบหรือขนมขบเคี้ยวอื่นๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งพบว่า การโฆษณาว่าโปรตีนสูง ไขมันต่ำนั้นไม่ผิด แต่เรื่องโซเดียมนั้นมีเพียบจริงๆ และยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อประกอบกับข้อมูลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สแนกซ์หรือกลุ่มขนมขบเคี้ยวของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่เราจะนำมาเสนอในครั้งนี้         ในการทำสำรวจฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประจำปี 2564 ของ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยนั้น ได้เก็บตัวอย่างสินค้ากว่า 400 ตัวอย่าง แบ่งเป็นขนมอบกรอบ ซึ่งทำจากแป้ง และแยกย่อยเป็นประเภทตามวัตถุดิบได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวโพด สาหร่าย ถั่ว แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์ คุกกี้ และปลาเส้น (รวมปลาหมึกอบกรอบ ปลาแผ่น) เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเสี่ยงต่ออาหารที่มีโซเดียมสูงอย่างผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าประเภทนี้ ได้ใช้ในการตัดสินใจเลือกบริโภคหรือเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลชุดนี้ โดยจะแบ่งเป็นตอนๆ ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ โดยขอประเดิมด้วย ปลาเส้นปรุงรส          สรุปผล การสำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส (รวมปลาแผ่น ปลาหมึกอบกรอบและหมูอบกรอบ) มีข้อสรุปดังนี้        1.ผลิตภัณฑ์ที่นำมาอ่านฉลากมีทั้งสิ้น 36 ตัวอย่าง        2.ขนาดบริโภคหรือหนึ่งหน่วยบริโภคอยู่ที่ประมาณ 12-43 กรัม        3.มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 180 – 810 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค        4.หน่วยบริโภคแม้จะน้อยแค่ 12-13 กรัม แต่ก็ให้ปริมาณโซเดียมสูงถึง 180 กรัม        5.ยิ่งมีการปรุงรสมาก รสแซ่บ รสเข้มข้น (การใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ยิ่งมีปริมาณโซเดียมสูง         ติดตามผลการสำรวจได้จากภาพในหน้าถัดไป          คำแนะนำ        1.ผู้ปกครองควรใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรสของเด็ก และให้รับประทานแต่น้อย เพราะเป็นขนมที่มีปริมาณโซเดียมสูง        2.อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อหรือรับประทาน        3.เลี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง หรือแบ่งบริโภคในวันถัดไป ไม่บริโภคหมดซองในครั้งเดียว หรือเลือกซองเล็กแทนซองใหญ่ (เพราะในแต่ละวันร่างกายต้องรับโซเดียมจากอาหารอื่นๆ ด้วย)         4.ควรส่งเสียงถึงผู้ประกอบการให้พิจารณาจัดทำสินค้าที่ลดปริมาณโซเดียมลงเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน        5.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหารหรือ อย. หรือจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 เหล็กจ๋ามาได้อย่างไรในขนมถุง

        เมื่อเจอของแปลกปลอมในผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุในแพกเกจทันสมัย ดูสะอาดปลอดภัย ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาของขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรมองข้าม เราต้องช่วยกันสะท้อนปัญหากลับไปสู่ผู้ผลิตให้รีบจัดการแก้ไข เพราะไม่เพียงช่วยให้เราได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ยังเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคคนอื่นได้รับการคุ้มครองด้วย         คุณเสาวลักษณ์ ชอบรับประทานขนมถุงกรุบกรอบมาก โดยเฉพาะขนมที่ทำจากแป้งข้าวโพด มียี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งที่รับประทานเป็นประจำ แต่วันหนึ่งขณะกำลังจะหยิบชิ้นขนมเข้าปาก ตาก็เหลือบไปเห็นสิ่งผิดปกติเข้า สิ่งนี้สะท้อนแสงแวววาว ซึ่งไม่ควรจะมีอยู่ในถุงขนม มันคือ เศษเหล็ก คล้ายๆ ลวดตะแกรง          “ดีนะยังไม่ได้กินเข้าไป” คุณเสาวลักษณ์นึกดีใจนิดๆ แล้วรีบถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน และโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางแก้ไขปัญหา         เมื่อเกิดปัญหาลักษณะนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ รวบรวมหลักฐาน อย่างแรกคือ ถ่ายภาพสินค้าและสิ่งแปลกปลอม ภาพถ่ายของฉลาก วันหมดอายุ  และเก็บบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวไม่ให้ปะปนกับสิ่งอื่นต่อมาคือ ถ้าหากยังมีใบเสร็จหรือใบแสดงรายการสินค้า(สลิป) ที่เป็นหลักฐานการซื้อขาย ต้องเก็บไว้ให้ดี พร้อมนำหลักฐานที่รวบรวมได้ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ         จากนั้นควรติดต่อแหล่งจำหน่ายสินค้า ว่าจะช่วยเหลือหรือชดเชยอะไรให้กับเราได้บ้าง ควรกำหนดความต้องการไว้เป็นแนวทาง เช่น ขอเปลี่ยนหรือคืนสินค้า ในกรณีที่ซื้อสินค้าจากแหล่งที่ไกลบ้าน อาจกำหนดเรืองค่าเดินทางไว้ในรายการที่ต้องการให้ทางร้านค้าชดเชยให้กับเราด้วย          บางครั้งไม่อยากติดต่อกับแหล่งจำหน่าย ก็สามารถติดต่อไปที่แหล่งผลิตสินค้า เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น         อย่างไรก็ตาม หากมีการขอรับสินค้าไปตรวจสอบ ควรมีคนกลางเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพยานในการส่งมอบสินค้าให้กับทางผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต เพื่อเป็นหลักฐานการดำเนินการ         ในกรณีของคุณเสาวลักษณ์ ไม่ได้ต้องการการชดเชยเป็นตัวเงินหรือการเปลี่ยนสินค้า เพราะมูลค่าของสินค้าไม่ได้มีราคาสูง แต่ต้องการให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ช่วยในการแจ้งความผิดปกติของสินค้าต่อหน่วยงานกำกับดูแล  เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตของบริษัทขนมว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ทางศูนย์ฯ จึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้รับการตอบกลับจาก อย.ว่า ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโรงงานผลิตขนมดังกล่าว และพบว่า ส่วนของสายพานที่เป็นตัวรองรับชิ้นส่วนของขนมข้าวโพดอบกรอบ มีบางส่วนชำรุดเสียหาย เนื่องจากความร้อนของเครื่องจักร ทำให้เหล็กบางส่วนหลุดเข้ามาในขนมที่ผ่านสายพาน ทางเจ้าหน้าทึ่จึงได้สั่งให้หยุดการใช้เครื่องจักรดังกล่าว และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เสร็จ และให้ทางโรงงานทำรายงานการซ่อมบำรุงเครื่องจักรส่งต่อยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ทางโรงงานติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะเพื่อให้กระบวนการผลิตอาหารมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เกิดปัญหากับขนมของร้านเบเกอรีทำอย่างไรดี

        เบเกอรี (bakery) หรือขนมอบ เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมาก ปัจจุบันมีร้านหรือแบรนด์ (Brand) เบเกอรี่ดังๆ จำนวนมากอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ทำให้เกิดการแข่งขันกันสูง ทั้งเรื่องมาตรฐานการผลิตและการบริการ รสชาติ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีมาตรฐานสูงเพียงใด แต่ความผิดพลาดยังอาจเกิดขึ้นได้         ภูผา เป็นลูกค้าประจำของร้านเบเกอรีสัญชาติสิงคโปร์มาเป็นเวลาหลายปี  ด้วยมั่นใจในแบรนด์และมาตรฐานการผลิตระดับสากล เขาได้ซื้อขนมปังจากร้านนี้ที่สาขา เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เป็นประจำ วันหนึ่งเขาเลือกซื้อขนมอบสามชิ้น ได้แก่ Coconut Floss, Fire Floss(ขนมปังไก่หยองน้ำพริกเผา) และ Mini Smart Cheese แต่ไม่ได้รับประทานทันที เก็บใส่ตู้เย็นไว้เพื่อเป็นอาหารเช้าวันถัดไป         วันรุ่งขึ้นคุณภูผานำขนมปังไก่หยองน้ำพริกเผามากินกับกาแฟ เมื่อกินได้ประมาณครึ่งอันขณะกัดขนมปังเข้าปากและเคี้ยวอยู่ก็รู้สึกแปลกๆ ทำไมในขนมปังมีอะไรแข็งๆ จึงคายออกมา พบว่าเศษแข็งๆ ที่เคี้ยวนั้นเป็นเศษพลาสติกความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร หนา 0.2 มิลลิเมตร ซ้ำมีลักษณะแหลมคมด้วย เขาจึงมีความกังวลว่าถ้าเขาเผลอกลืนเศษพลาสติกลงคอไปจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าคนที่กินขนมปังมีเศษพลาสติกนี้เป็นเด็กหรือคนแก่จะเกิดอะไรขึ้น         คุณภูผาจึงไม่อยากปล่อยเหตุการณ์ผ่านไป เขาต้องการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบกับเหตุการณ์ครั้งนี้จึงได้แจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คของร้านขนมปัง แต่เรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีความคืบหน้า จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า กรณีเช่นนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ให้คำแนะนำแก่คุณภูผาว่า การพบเศษพลาสติกปนเปื้อนในขนมปัง เป็นการกระทำความผิดเข้าข่ายผิด พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เบื้องต้นจึงแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐานเสียก่อน         จากนั้นศูนย์ฯ ได้ช่วยดำเนินการทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และผู้บริหารห้างเซ็นทรัลเพื่อขอให้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ขนมปังร้านดังกล่าว และมีหนังสือถึงบริษัทเจ้าของแบรนด์เบเกอรีดังกล่าวเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค           จากการเจรจาไกล่เกลี่ย ตัวแทนบริษัทผู้ผลิตได้กล่าวขอโทษผู้ร้องคือคุณภูผา ที่ดำเนินเรื่องให้ล่าช้า และชี้แจงว่าหลังจากทราบเรื่องทางบริษัทได้ตรวจสอบและพบว่าเศษพลาสติกที่ผู้ร้องพบนั้น มาจากฝากล่องพลาสติกใส่ทอปปิ้งซึ่งแตกออกมาและหล่นลงไปในขนมปังระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งพนักงานไม่เห็น ดังนั้นปัจจุบันบริษัทได้เปลี่ยนกล่องใส่ทอปปิ้งทั้งหมด และมีนโยบายให้เปลี่ยนกล่องใส่ทอปปิ้งทุก 3 เดือน หรือนานสุด 6 เดือน ซึ่งแต่เดิมบริษัทจะเปลี่ยนเมื่อกล่องหรือฝากล่องชำรุดเท่านั้นไม่มีระยะเวลาแน่นอน และบริษัทได้จัดทำใบตรวจสอบการทำงาน (Checklist) เพิ่มเติม เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับพนักงาน         คุณภูผาพอใจกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของบริษัทฯ และหวังว่าบริษัทฯ จะมีการปฏิบัติที่ดีในการผลิตไม่ทำให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต สำหรับการเยียวยานั้น ทางบริษัทยินดีมอบเค้กขนาด 2 ปอนด์ จำนวน 1 ก้อนเพื่อชดเชยให้ ซึ่งเจตนาของคุณภูผาเดิมก็เพียงแค่อยากให้เกิดการแก้ไขปัญหาเท่านั้น จึงรับการเยียวยานี้ไม่ติดใจอะไรอีกและยินดีเป็นลูกค้ากันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 พิษร้ายของอาหารขยะ

        ช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษที่ A.U.A เพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อนั้น มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำที่อาจารย์ผู้สอนยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของคำที่ต้องใช้ให้เหมาะสม เช่น กรณีที่ต้องการอธิบายถึงการที่บุคคล 2 คน ที่พลั้งพลาดทำผิดในเรื่องเดียวกัน แต่คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อธิบายพฤติกรรมที่เป็นเหตุในการกระทำต่างกัน คำสองคำนั้นคือ stubborn และ ignorant ซึ่งคำทั้งสองนี้ผู้เขียนใคร่ขอนำมาตั้งเป็นประเด็นว่า ข้อมูลข่าวซึ่งจะเขียนถึงในบทความนี้ เป็นความเกี่ยวพันกันระหว่างการเจ็บป่วยทางกายและความรู้ด้านอาหารและโภชนาการซึ่งพบในอินเทอร์เน็ทนั้น ควรใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษใดในการสรุปถึงลักษณะของผู้เคราะห์ร้ายรายนี้   การกินอาหารให้ครบสมบูรณ์แบบที่มนุษย์ควรกิน         ตามความรู้ที่เรามีในปัจจุบัน เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ในสภาวะสุขภาพดี(ไม่แสดงอาการของโรคใด ๆ) นั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนควรรู้ แต่ก็ยังมีทั้งคนที่ไม่ใส่ใจรู้ทั้งที่มีโอกาสรู้ตลอดไปถึงคนที่ไม่มีโอกาสรู้เลย โดยลักษณะแรกนั้นอาจเป็นเพราะความดื้อด้าน(stubborn) ไม่ยอมทำตามสิ่งที่ได้รู้มา แต่ลักษณะหลังอาจจัดเป็นความโฉดเขลา(ignorant) ซึ่งความโฉดเขลานั้นเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจว่า ทำไมมนุษย์บางคนจึงขาดโอกาสเรียนรู้เพื่อขจัดความโฉดเขลา        บทความที่นำมายกเป็นตัวอย่างว่า ควรใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษคำใดในสองคำที่ยกขึ้นมาข้างต้นกับมนุษย์ผู้เป็นข่าว คือ Blindness Caused by a Junk Food Diet ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine 2019 ซึ่งนิพนธ์โดยแพทย์นักวิจัยของ University Hospitals Bristol NHS Foundation Trust, Bristol, United Kingdom และทำนองเดียวกันได้เผยแพร่ในเว็บอื่น ๆ อีกมากมาย จนถึงขนาดที่ข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดย CBS, TIME, NBC, USA Today, The Guardian, WebMD, Newsweek และองค์กรข่าวอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า แหล่งข่าวต่างๆ นั้นต้องการยกเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นตัวอย่าง เพื่อเตือนใจแก่มนุษย์บนโลกนี้ให้เข้าใจถึงความสำคัญในเรื่องของสภาวะโภชนาการที่เกี่ยวกับสาเหตุของความเจ็บป่วยของคน ที่เป็นข่าว         เด็กหนุ่มชาวสหราชอาณาจักรชื่อ Jasper ผู้ซึ่งไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่และไม่ใช้ยาเสพติด และสถานภาพของร่างกาย ซึ่งดูจากภายนอกไม่เลวนัก มีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับปกติ คือ 22 (ความสูงคือ 172.9 ซม. และน้ำหนักเฉลี่ย 65.7 กก.) แต่ต้องประสบเคราะห์หามยามร้ายถึง “ตาบอด”         บทความกล่าวว่า เมื่อแพทย์ทำการสอบถามผู้ป่วยในระดับลึกแล้วพบว่า ผู้ป่วยได้ละเลยไม่กินอาหารบางอย่างที่ไม่ชอบตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม โดยสิ่งที่เขาชอบกินเป็นชีวิตจิตใจเพื่อดำรงชีวิตคือ มันฝรั่งทอด และขนมขบเคี้ยวอื่นๆ ทุกวัน นอกจากนี้เขายังชื่นชอบขนมปังที่ทำจากแป้งฟอกขาว แฮมและไส้กรอก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของอาหารขยะ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่การตรวจเลือดแสดงออกมาว่า เขามีระดับวิตามินบี 12 และวิตามินดีต่ำพร้อมมวลกระดูกที่ต่ำกว่าปรกติ แม้ว่าผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดจากระบบทางเดินอาหารนั้น ยังแสดงความเป็นปรกติอยู่ มีระดับทองแดงและซีลีเนียมต่ำ แต่ระดับสังกะสีสูง ซึ่งผู้เขียนคาดเอาว่า การที่ระดับสังกะสีสูงนั้นเป็นเพราะผู้ป่วยได้โปรตีนจากอาหารน้อยกว่าที่ควร ซึ่งโดยปรกติแล้วสังกะสีเป็นธาตุที่มักถูกร่างกายนำไปใช้ทำหน้าที่เป็นโคแฟกเตอร์ของเอ็นซัม ซึ่ง เป็นโปรตีนโดยธรรมชาติ หรือเป็นองค์ประกอบสำคัญในโปรตีนอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นจากรูปแบบการกินอาหารของผู้ป่วยนั้นย่อมต้องมีการขาดโปรตีน จึงทำให้ไม่สามารถสร้างเอ็นซัมหรือโปรตีนอะไรที่ต้องการสังกะสีได้มากนัก จึงมีเหลือเป็นอิสระอยู่ในเลือด         ย้อนหลังไปดูประวัติการพบแพทย์ของเด็กหนุ่มซึ่งเริ่มต้นเมื่ออายุ 14 ปี ที่เขาเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าแล้ว เมื่อตรวจเลือดก็พบว่ามีอาการ macrocytic anemia หรืออาการโลหิตจางเพราะเม็ดเลือดแดงใหญ่กว่าปรกติจนทำงานไม่ได้ แม้ว่าจำนวนเม็ดเลือดอาจไม่ต่ำกว่าปรกติก็ตาม เนื่องจากขาดวิตามินโฟเลตซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดให้สมบูรณ์ โฟเลตนั้นควรได้จากผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ถั่วทั้งเมล็ด ผลไม้อีกหลายชนิด เป็นต้น         จากนั้นในปีต่อมาแพทย์เริ่มสังเกตพบสัญญาณของการสูญเสียการได้ยินและการมองเห็น แพทย์จึงสั่งจ่ายวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งก็ไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างไร เพราะการมองเห็นของเขายังแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งถ้าดูจากพฤติกรรมการกินอาหารแล้วนั้น สภาวะทางโภชนาการของเขายังขาดการกินอาหารโปรตีนอยู่ วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่กินเข้าไปจึงไม่ถูกนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์นัก        พออายุได้ 15 ปี Jasper เริ่มมีการสูญเสียการได้ยินมากขึ้น สุดท้ายเขาได้ถูกส่งต่อไปยังแพทย์หูคอจมูก ซึ่งได้ทำการเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) แต่ก็ไม่พบความผิดปกติใดในโครงสร้างของร่างกาย อย่างไรก็ดีหลังจากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มมีอาการผิดปรกติในการมองเห็นที่จักษุแพทย์หาสาเหตุไม่ได้ สุดท้ายเมื่ออายุได้ 17 ปี ระดับการสูญเสียในการมองเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องถูกส่งตัวไปพบจักษุแพทย์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบประสาทตาและได้พบว่า มีความผิดปรกติเกิดขึ้นกับส่วนปลายเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องในการมองเห็น พร้อมกับการที่เขามีข้อบกพร่องของจอประสาทตาส่วนกลางทั้งสองข้าง ความเสียหายในการมองเห็นที่ถาวรจึงได้เริ่มแสดง ซึ่งน่าจะเป็นการส่งผลเนื่องมาจากสภาวะโภชนาการที่ไม่ดีเพราะกินไม่ดี         อาหารขยะของ Jasper นั้นทำให้เขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณจำกัด ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทตา ซึ่งสำคัญต่อการมองเห็น มันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่บำบัดยาก และเป็นตัวอย่างของการก่อปัญหาทางสุขภาพเนื่องจากการขาดสารอาหารหลายชนิดพร้อมกัน พิษร้ายของอาหารขยะ         อาหารขยะที่ Jasper นิยมชมชื่นนั้น ส่งผลให้ร่างกายเขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่พอจนเด็กหนุ่มมีอาการทางระบบประสาทตาเสื่อม สภาพการณ์ในลักษณะนี้อาจแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากการบริโภคอาหารขยะกำลังเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มเด็กวัยรุ่นตลอดไปถึงรุ่นแย้มฝาโลงที่ไม่สนใจดูแลตัวเองเรื่องการกิน แม้มีความรู้เกี่ยวกับรูปแบบอาหารที่ช่วยให้สภาวะโภชนาการของร่างกายดี เพราะใจนั้นทุ่มเทให้กับการเขี่ยสมาร์ทโฟนและ/หรือการเล่นเกมส์ที่เป็น e-sport แล้วถ้ายังปราศจากการแก้ไขปรากฏการณ์ดังกล่าว แถมส่งเสริมกันต่อไปในสภาพเหมือนผู้รับผิดชอบตาบอดด้านคุณภาพของประชากร มองไม่เห็นปัญหาที่จะเกิดในอนาคต ประเทศที่มีประชากรในลักษณะนี้คงเข้าสู่ภาพ the aging society along with poor quality citizen ซึ่งคงดูไม่จืดแน่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ขนมปังในห่อปิดสนิทมีเศษกระดาษปะปนอยู่

ขนมปังแผ่นเป็นที่นิยมรับประทานมากในปัจจุบัน ทั้งแบบกินเล่นเปล่าๆ หรือนำไปทำอาหารได้หลากหลาย เช่น แซนวิซ ขนมปังหน้าหมู ขนมปังปิ้ง พิซซ่า แล้ววันหนึ่งหากพบว่ามีบางอย่างไปปะปนอยู่ในเนื้อของขนมปัง ผู้บริโภคจะต้องทำอย่างไร         คุณภูผา ชอบรับประทานขนมปังแผ่นของบริษัทที่โฆษณาว่าสดใหม่ทุกเช้ามาก  โดยเฉพาะแบบโฮลวีต ซึ่งซื้อไว้ติดบ้านเพื่อรับประทานเป็นประจำ ก็ไม่เคยเกิดปัญหาอะไร อร่อยและคุณภาพดีตามคำโฆษณา จนวันหนึ่งขณะกำลังจะเตรียมทำแซนวิช คุณภูผาหยิบขนมปังจากถุงรับประทานเล่นไปก่อนสองแผ่น ขณะที่กำลังเคี้ยวๆ แผ่นที่สองอยู่นั้นรู้สึก มีอะไรแปลก ๆ อยู่ในปาก         เมื่อคายออกมาก็พบว่า มีเศษกระดาษอยู่ในขนมปัง เลยงงๆ ว่าทำไมถึงมีเศษกระดาษอยู่ในขนมปังได้ จึงถ่ายรูปเศษกระดาษไว้และแจ้งไปให้บริษัทผู้ผลิตทราบ เพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในขนมปังอย่างเช่นที่เขาพบอีก   เพราะตนเองเป็นลูกค้ามานาน ส่วนเบอร์โทรที่แจ้งก็โทรไปตามที่โฆษณาไว้บนฉลาก         บริษัทฯ แจ้งกับคุณภูผาว่า ให้คุณภูผาเก็บขนมปังไว้ก่อนและจะส่งพนักงานบริษัทให้ไปรับขนมปังมาตรวจเพื่อหาสิ่งปนเปื้อน ซึ่งคุณภูผารอหลายวันแล้ว ก็ไม่เห็นพนักงานบริษัทมาสักที ตนเองรู้สึกเป็นกังวลกลัวว่า บริษัทฯ จะคิดว่าเขามาหลอกบริษัทหรือเปล่า หรือคิดว่าเขาเป็นนักต้มตุ๋นหรือเปล่า จึงขอคำแนะนำมายังมูลนิธิ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่าการกระทำของผู้ผลิตอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงแนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้ร้องไม่ได้หลอกลวงหรือเป็นนักต้มตุ๋นอย่างที่กังวล จากนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จะได้ติดต่อไปยังบริษัท เพื่อให้เร่งจัดการปัญหาของผู้ร้อง แต่คุณภูผาผู้ร้องนั้น ยังไม่ต้องการให้ศูนย์ฯ ติดต่อไปเพราะว่าอยากให้โอกาสบริษัททำงานก่อน ถ้าภายใน 1 สัปดาห์บริษัทยังไม่ติดต่อมาจะกลับมาให้ศูนย์พิทักษ์ช่วยเหลือ        ต่อมาผู้ร้องได้แจ้งความคืบหน้าว่า ตนเองไปเที่ยวงานสหกรุ๊ปแฟร์ พบบูธของบริษัทขนมปังพอดี จึงเข้าไปแจ้งเรื่องกับพนักงานที่มาออกบูธ หลังจากนั้นก็มีคนของบริษัทติดต่อกลับมาและนัดหมายเพื่อรับขนมปังที่พบสิ่งปนเปื้อนไปตรวจ และขออภัยในปัญหาและความผิดพลาดของการสื่อสารที่เกิดขึ้น และได้นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาชดเชยให้ผู้ร้องเป็นจำนวน 2 – 3 เท่า ของราคาสินค้าที่ซื้อมา ผู้ร้องเข้าใจว่าเป็นความผิดพลาดของการสื่อสาร ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อบริษัทรับปากและนำความผิดพลาดไปปรับปรุง คุณภูผาก็พอใจ และขอยุติเรื่องไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ทำไมต้องลดหวาน กับทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล

        เมื่อนิตยสารฉลาดซื้อวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มยอดฮิตอย่างชานมไข่มุก ผลการทดสอบทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ผู้บริโภคเครื่องดื่มสายหวานเป็นอย่างมาก ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่ทำงานรณรงค์เรื่องการลดการบริโภคน้ำตาลมายาวนาน เราลองมาติดตามคุณหมอดูว่าเห็นผลทดสอบชานมไข่มุกแล้วคิดอย่างไร เด็กไทยไม่กินหวานต้องทำงานหนักขึ้นอีกหรือไม่ โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ตอนนี้มีกิจกรรมอะไรบ้างคะ        ตอนนี้เป้าหมายจะไปอยู่ในกลุ่มของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มมีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทีนี้ก็จะมีเป้าหมายให้จังหวัดพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในแต่ละจังหวัดเราตั้งเป้าไว้ในแต่ละปีว่าจะทำในพื้นที่ไหน ศูนย์เด็กเล็กอะไร โรงเรียนอะไร ประเด็นหลักเน้นก็คือ จะเน้นเรื่องการบริโภคน้ำตาล ในส่วนนี้เองตอนนี้ก็จะเพิ่มเป็นประเด็นรณรงค์ในส่วนไม่ดื่มน้ำอัดลมเสร็จแล้ว คือทุกโรงเรียนไม่ดื่มน้ำอัดลมไม่มีจำหน่าย แล้วก็นมเป็นนมจืด         ในส่วนประเด็นต่อมาคือเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อม มีประเด็นให้เน้นในเรื่องของโรงเรียน โรงอาหารอ่อนหวาน มีการบูรณาการร่วมกับทางอาหาร ในเรื่องของโรงอาหารอ่อนหวานโรงอาหารปลอดภัย ให้โรงเรียนหาผักปลอดภัย สารเคมีก็อาจจะยังมีอยู่บ้างแต่อยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้ แล้วก็ถ้าที่ไหนสามารถมีการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีในโรงเรียนก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรุงอาหาร แล้วในส่วนนี้เองก็บูรณาการกับโรงอาหารที่จะไม่มีการจำหน่ายของว่างที่เป็นพิษเป็นภัย คือกินของว่างแบบไหนที่จะปลอดภัย ก็ไปกินตามฉลากเขียว เหลือง แดง ที่ทาง อย.น้อยกำหนดว่าเป็นพลังงาน เกลือ ไขมัน น้ำตาล ว่าควรมีเท่าไหร่ต่อวันต่อคน ซึ่งก็จะเน้นว่าในโรงอาหารต้องมีความรู้ตรงนี้เพื่อให้มันติดตา ทั้งเด็กที่จะได้ดูรับรู้ว่าของที่เราชอบกินนั้นมันไม่ควรกิน ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่พยายามเชิญชวนโรงเรียนให้เข้าโครงการนี้อยู่         เครือข่ายของเราที่ร่วมทำงานด้วยกันจะไปดำเนินการในโรงเรียนที่ยินดี มีความพร้อม เรายังทำได้ไม่ทุกโรง ในส่วนของบางจังหวัดที่เขาสนใจก็จะเอาตัวนี้ไปทำด้วย จริงๆ แล้วพยายามจะสื่อสารว่า มันควรทำทุกแห่งทั่วประเทศ ทุกโรงเรียนควรจะได้รับโอกาสนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ การรู้แล้วถ้าไม่เอื้อให้ทำได้ เขาก็จะมีพฤติกรรมเดิมๆ อย่างเช่นเครื่องดื่มมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเน้นว่าให้ดื่มน้ำสมุนไพรแทน คือถ้าไม่ดื่มน้ำอัดลมแล้วจะดื่มอะไร ดื่มน้ำหวานน้ำสมุนไพรแทน ส่วนใหญ่เด็กก็จะพยายามทานน้ำสมุนไพร เราพบว่าน้ำสมุนไพรหวานเราเลยต้องมีเงื่อนไขว่าการจะให้ดื่มน้ำอื่นๆ ก็จะต้องมีน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์มันก็ใช้วิธีคำนวณได้ถ้าเราทำเอง        มันก็มีที่บางโรงเรียนอาจจะไม่ทำเอง โรงเรียนก็ต้องควบคุมต้องบอกให้เขาพยายามทำรสชาติที่อ่อนหวาน ใช้ปริมาณน้ำตาลน้อยก็จะต้องมีเครื่องมือไปจับวัดและให้เขาปรับปรุงลดปริมาณน้ำตาลลง ในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ยังทำไม่ได้ก็ให้มีทางเลือก แทนที่จะบอกว่าไม่มีเลย ก็จะมีเครื่องดื่มประเภทอ่อนหวานกับเครื่องดื่มที่หวานปกติ ในตรงนี้ก็ต้องมีการสร้างแรงจูงใจสร้างความตระหนักให้กับนักเรียนหรือกลุ่มคนในนั้นว่าให้เลือกซื้อในส่วนนี้ด้วย เพราะมันจะมีปัญหาว่าถ้าเราไปเน้นให้เขาอ่อนหวานแต่คนบริโภคไม่นิยม ไม่นิยมอ่อนหวานเขาก็จำหน่ายไม่ได้สุดท้ายก็จะทำไม่สำเร็จ  ในเรื่องของการปรับพฤติกรรมปรับนิสัยมันต้องใช้เวลา เช่น อาหารในโรงเรียนที่ไม่วางน้ำตาลเอาไว้ นักเรียนก็จะมีปัญหาว่ารสชาติไม่อร่อยเพราะเคยชินกับรสหวาน แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เด็กก็จะเคยชินตอนหลังก็คือสามารถทำได้สำเร็จ การปรับพฤติกรรมต้องใช้ความร่วมมือในส่วนไหน ทำงานตรงนี้กับพวกกลุ่มอย่างไรบ้าง        เราทำงานทั้งกลุ่มของครอบครัว กลุ่มของครอบครัว หมายความว่าบางทีเราก็จะมีกิจกรรมในกลุ่มของผู้ปกครองเด็กเล็กก่อนที่จะมาเข้าโรงเรียน มีการทำกิจกรรมฐานความรู้ อย่างของจังหวัดราชบุรีมีชมรมคนรักฟัน เรามีการทำกิจกรรมให้ความรู้ในเรื่องของการเลือกบริโภคทั้งเด็กทั้งผู้ปกครอง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการนำผู้ปกครองเด็กอนุบาลมาเข้าร่วมกิจกรรมแล้วก็สอนในเรื่องของการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน สอนในเรื่องของสุขภาพช่องปาก ส่วนเรื่องการบริโภคนี่สำคัญมาก เพราะว่าหลายปีที่ผ่านมาฟันผุไม่ลดลงเลยและเด็กอ้วนมากขึ้น พบว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินบริโภคหวานทำให้เด็กฟันผุแล้วเด็กก็อ้วนด้วย การที่เราจะรณรงค์ให้สำเร็จก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน หากมัวแต่รณรงค์เรื่องแปรงฟันอย่างเดียว แต่เด็กยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูก กินขนมหวาน ดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากฟันเขาก็ผุอยู่ดี ให้รณรงค์อย่างไรฟันเขาก็ผุอยู่ดี ถ้าอย่างนี้แล้วก็ต้องดูแลเรื่องการบริโภคให้ถูกต้องเพื่อให้ฟันแข็งแรง แต่เรื่องกิจกรรมการแปรงฟันก็ต้องคงอยู่ เพราะในข้อเท็จจริงแล้วเราไม่สามารถห้ามให้เด็กบริโภคหลายๆ อย่างได้แต่เราสามารถบอกให้เขาเลือก อย่างน้อยค่อยๆ แทรกซึมในสิ่งที่เขาเลือกอาหารที่ปลอดภัยของว่างที่ควรกินได้ อันไหนที่ควรหลีกเลี่ยงแล้วก็แปรงฟัน เมื่อสร้างสุขนิสัยอันนี้เด็กก็จะเคยชินพอโตขึ้นเขาก็รู้แล้วว่าควรกินอาหารประเภทไหน กินน้ำตาลให้น้อยลงแล้วลิ้นก็จะปรับได้ เหมือนสมัยก่อนตัวเองกินกาแฟต้องใส่ครีมเทียม ซึ่งพบว่าครีมเทียมเป็นไขมันทรานส์ที่ไม่ควรกิน ปัจจุบันก็กินกาแฟเปล่าๆ ที่ไม่ต้องใส่แล้วก็กินกาแฟที่ไม่ต้องใส่น้ำตาลก็อร่อยได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะบอกว่าไม่ได้ไม่อร่อย ในส่วนของผู้ใหญ่เองต้องทำให้เป็นตัวอย่างไหมคะ         อย่างยิ่งเลยค่ะ ถ้าเราจะบอกเด็กว่าไม่ควร แต่ผู้ใหญ่ยังบอกว่าขอกินหน่อยค่ะอันนี้มันก็ไม่ได้ ก่อนอื่นเลยผู้ปกครองต้องลองฝึกที่ตัวเองก่อนไม่พยายามหาของที่เป็นอันตรายเข้าบ้าน อีกอันหนึ่งที่เราจะใช้ก็คือวิธีสำรวจตู้เย็น สำรวจตู้เย็นที่บ้านว่ามีของพวกนี้อยู่ไหมเรายังไปซื้อน้ำอัดลมประเภทไซค์บิ๊กที่บอกว่ามันประหยัด แต่ก่อนเราเชื่อว่ามีโปรโมชันเราก็จะซื้อในฐานะแม่บ้านว่ามันถูก แต่ลืมไปว่าการที่เราซื้อของถูกเหล่านี้ไว้ในบ้านมันก็หยิบกินง่าย แต่ถ้าเราไม่มีเด็กก็ไม่มีโอกาสที่จะกิน มันเป็นกลไกการตลาดที่จะทำให้พ่อบ้านแม่บ้านอยากจะซื้อเข้าบ้าน สมัยก่อนตัวหมอเองก็เป็น แต่พอเรารู้ว่ามันไม่ควรกินให้มันราคาถูกอย่างไรเราก็ไม่ซื้อ อันนี้จะลดความเสี่ยง  คือถ้าไม่ซื้อเข้าบ้านเด็กๆ ก็จะไม่มีโอกาสกินและก็ให้ซื้อของที่มีประโยชน์ผักผลไม้ให้ติดเป็นนิสัย แล้วเด็กๆ เขากินแต่ของพวกนี้เขาก็จะอิ่มท้อง คือลดโอกาสที่จะไปกินของที่ไม่มีประโยชน์ มันมีอีกวิธีคือการที่ทำให้เขาอิ่มด้วยของที่มีประโยชน์ก่อน เพราะถ้าให้กินของที่ไม่มีประโยชน์เขาก็จะกินได้อีก กลายเป็นว่าเขาจะอิ่มของที่ไม่มีประโยชน์ไปก่อนทำให้เขาสุขภาพไม่ดีจะเป็นเด็กอ้วนที่แบบไม่แข็งแรง กับเรื่องผลการทดสอบชานมไข่มุกที่ทางฉลาดซื้อเพิ่งแถลงข่าวไป         ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ทำการศึกษาและเผยแพร่ในนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีมากที่ได้เผยแพร่เรื่องนี้ออกไป เพราะจริงๆ แล้วทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพยายามรณรงค์เรื่องของการลดการบริโภคน้ำตาลมาโดยตลอด เราเริ่มทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ชวนเครือข่ายในระดับภูมิภาค เริ่มต้นมีแค่ 10 จังหวัด แล้วตอนนี้ก็มีรณรงค์เพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 25 จังหวัด มีจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโดยที่ไม่ได้ขอทุนไปดำเนินการอีกประมาณ 30 กว่าจังหวัด ในส่วนที่เรารณรงค์กันเบื้องต้นเราเน้นเรื่องของน้ำอัดลม ลดปริมาณการบริโภคน้ำอัดลมเพราะว่า เท่าที่ศึกษากันมาก็มีปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินในการบริโภค กลายเป็นว่าเราเน้นเรื่องน้ำอัดลม แต่มีน้ำอื่นมาแทน โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคปัจจุบันชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่คนทุกวัยทานได้         ก่อนหน้านี้อาจจะมีชาเขียวที่น้ำตาลเยอะ กลายเป็นว่าพอชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต ซึ่งเห็นข้อมูลตรงนี้แล้วถ้าเราดื่มน้ำอัดลมสักกระป๋องเราก็กินอย่างอื่นดื่มอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะน้ำตาลเกิน กลายเป็นว่าตอนนี้ชานมไข่มุกแค่แก้วเดียวก็เกินไปถึงไหนๆ จะมีอยู่ก็แค่สองยี่ห้อที่อยู่ในปริมาณที่ไม่เกิน แต่ว่าตามองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าคนเราจะสามารถบริโภคน้ำตาลต่อวันต่อคนแค่ 6 ช้อนชา จะสังเกตว่าขนาดชานมไข่มุกยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา แค่วันนั้นก็แทบจะเติมอย่างอื่นไม่ได้แล้ว โดยนิสัยคนไทยแล้วถ้าไปดู ก็ยังดื่มน้ำอัดลมกันอยู่ ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งน้ำอัดลมก็ยังครองแชมป์น้ำตาลสูง ยิ่งมาผสมกับการกินชานมด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่         ทุกวันนี้จะสังเกตว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะคนแน่นด้วยเป็นโรคทางระบบเลือด โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะที่ทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานสนใจมาก คือปริมาณน้ำตาลที่มันไปเชื่อมโยงกับโรคฟันพุแล้วมันก็ไปถึงโรคอ้วน ทำไมส่วนใหญ่ทางเครือข่ายกลุ่มคนที่เข้ามารณรงค์จะเป็นหมอฟันที่ไปจับมือกับนักโภชนาการ งานส่งเสริมสุขภาพ ประเด็นนี้เราต้องช่วยกันเพราะว่าสุขภาพฟันก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายเพราะถ้ามีปัญหาเรื่องฟันก็จะมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว ทำให้ได้รับสารอาหารได้ไม่เต็มที่  ในเรื่องของประเด็นน้ำตาลนั้นส่งผลทั้งในเรื่องของฟันผุ แล้วก็ที่ห่วงใยไปถึงสุขภาพร่างกายด้วยคือโรคทางระบบ โรคเรื้อรัง โรคติดต่อที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากตรงนี้เราจะทำอย่างไร ให้คนได้รับรู้ ต้องขอบคุณนิตยสารฉลาดซื้อ แค่นี้คงไม่พอต้องอาศัยสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่และกระตุ้น        สิ่งที่ทางเครือข่ายเริ่มพยายามจะรุกคืบก็คือ พยายามที่จะเชิญชวนร้านกาแฟ เราจะไปห้ามไม่ได้เพราะมันคือธุรกิจ จะบอกไม่ให้เขาขายคงเป็นไปไม่ได้ บอกไม่ให้คนกินก็คงยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะใช้วิธีการลดปริมาณขนาดที่จะให้ได้บริโภคต่อวัน คือในคนที่เลิกได้หันมาดื่มน้ำเปล่าแทนก็คือสุดยอดแล้ว ห่วงใยสุขภาพตัวเอง แต่ในเด็กกับกลุ่มคนที่อยากดื่ม เหมือนเราห้ามคนสูบบุหรี่เราก็ห้ามไม่ได้ ต้องอยู่ที่เขาตระหนักเอง คงต้องร่วมด้วยช่วยกันว่าทำอย่างไรจะสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ว่าเราจะต้องไม่เอาสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย มันเปรียบเหมือนสารพิษนะคะ แต่ว่ามันเป็นสารให้ความหวานทำให้เรารู้สึกมีความสุขกินแล้วก็อิ่มอร่อย แต่ทำอย่างไรจะให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพิษภัยต่อร่างกาย แล้วแค่ต่อมื้อก็มากแล้ว ต่อวันเข้าไปอีกแล้วสะสมหลายๆ วัน ซึ่งอีกทางที่จะช่วยป้องกันก็คือเรากินเข้าไปเผาผลาญมันออกมันก็จะช่วยลดตรงนี้ได้ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถจัดการเอาออกได้จากสิ่งที่เอาเข้าสู่ร่างกาย         ดังนั้นวิธีที่ไม่ให้ฝืนธรรมชาติคือ คิดว่าหลายๆ คนก็ยังรู้สึกว่ายังอยากจะกิน ยังอยากมีรสชาติของชีวิตอันนั้นคงอาจจะต้องเลือกไซด์ของการบริโภคให้เล็กลง ค่อยๆ ลดลงมาหรือเป็นไปได้ก็ไม่ไปบริโภคมัน อย่างที่บอกว่าเราพยายามที่จะไปเชิญชวนหรือหาแนวร่วมของร้านกาแฟ ร้านที่ขายเครื่องดื่มให้หันมาเป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ให้เป็นไซต์เล็กขายเป็นแก้วเล็ก ซึ่งอาจจะขัดแย้งเพราะว่าส่วนใหญ่ร้านค้าก็อยากขายแก้วใหญ่ ในเรื่องของกำไร แต่ส่วนนี้ถ้าเราสามารถเชิญชวนร้านค้าที่เขาอยากมีกำไรแล้วก็รู้สึกว่าอยากช่วยสังคมต้องร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่ว่า ปริมาณตัวนี้ที่เขาใส่เข้าไปมันส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง         อีกอันที่อยากเชิญชวนและให้เขารู้สึกว่าอยากเป็นแนวร่วมกับเราว่า การลดปริมาณน้ำตาลลง ลดเศรษฐกิจของเขา ลดต้นทุนของเขาถ้าเขาสามารถใส่น้ำตาลได้น้อยลงต้นทุนต่อแก้วก็น้อยลง แต่ปัญหาประเด็นที่เขาห่วงคือกลัวว่ารสชาติของเขาไม่เป็นที่ยอมรับ คือถ้าเขาลดปริมาณน้ำตาลหวานน้อยลง บางคนติดหวานก็จะไม่ซื้อเขา ซึ่งตรงนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกันในหลายส่วนคือในเรื่องของพฤติกรรมของแต่ละคนก็สร้างนิสัยที่ให้บริโภคหวานน้อยลง ถ้าเราลดความหวานลง ผู้บริโภคก็เลือกที่จะบริโภคหวานน้อยเทรนด์นี้ก็จะมาแรง เป็นประเด็นที่อยากให้ร่วมด้วยช่วยกัน       ในส่วนของทางเครือข่ายเองก็ออกไปรณรงค์ในโรงเรียน เข้าไปเชิญชวนโรงเรียน ให้มีโรงเรียนมีโรงอาหารอ่อนหวาน ซึ่งจะคุมในเรื่องปริมาณสัญญาณไฟจราจรเขียวเหลืองแดง ปริมาณแคลอรี่ ปริมาณพลังงานน้ำตาล ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พอควบคุมตัวนี้ได้สำคัญที่ตัวผู้บริโภคก็ต้องมีการหาแกนนำนักเรียน มีการให้ความรู้มีการบริโภคตามข้อแนะนำ สิ่งสำคัญคือต้องให้เขารับรู้ว่าควรที่จะบริโภคเท่าไหร่ การที่มาเผยแพร่ตรงนี้ให้กว้างขวางและให้รับรู้อยู่บ่อยๆ ก็จะช่วยได้เพราะบางทีเราก็จะจำไม่ได้ว่าควรเป็นเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งในฉลากเราก็มีการรณรงค์เรื่องฉลากบริโภค ซึ่งพยายามสอนให้ความรู้ประชาชนและนักเรียน สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องมามีส่วนร่วมอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ที่เราทำสำเร็จคือทำกับโรงเรียน โรงเรียนก็บอกว่าน้ำอัดลมโรงเรียนไม่จำหน่ายแล้ว แต่รอบรั้วโรงเรียนยังมีอยู่ แล้วรอบรั้วโรงเรียนก็จำหน่ายน้ำเหล่านี้ ซึ่งชานมไข่มุกที่นำมาเผยแพร่ข้อมูลในวันนี้น่าตกใจมากเป็นที่นิยมมากด้วย แต่เราจะทำอย่างไร คือถ้าเขาขาย เราไม่บริโภคเขาก็ขายไม่ได้ เขาก็จะต้องปรับกลยุทธ์ที่จะปรับให้มีน้ำตาลน้อยลง ฝากสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ออกไป แล้วก็ช่วยกันเป็นต้นแบบในการบริโภคหวานให้น้อยลง ทั้งหวานมันเค็ม โรคทางระบบรักษาหายยากเป็นแล้วเป็นเลยมันไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ว่าลดความรุนแรงได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ผลทดสอบ “สารกันบูด” ในเส้นขนมจีน

ขนมจีน เป็นอาหารที่คนไทยนิยมรับประทานไม่แพ้ข้าวสวยและข้าวเหนียว เมนูขนมจีนถูกรังสรรค์ขึ้นมากมายในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนน้ำยา เช่น น้ำยากะทิ น้ำยาป่า แกงเขียวหวาน น้ำเงี้ยว แกงไตปลา ซาวน้ำ หรือจะเป็นตำซั่วปูปลาร้า ยำขนมจีน เป็นต้น หรือจะนำเส้นขนมจีนมาคลุกเคล้ากับน้ำปลาก็ยังถือว่าอร่อย เมื่อขนมจีนเป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีผู้ผลิตจำนวนมากแข่งกันทำขนมจีนออกมาขาย ซึ่งผู้บริโภคสามารถหาซื้อขนมจีนได้ง่ายในตลาดสดทั่วไป        ขนมจีนเป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียได้ง่าย โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อน การผลิตและจำหน่ายจึงเป็นแบบวันต่อวัน หากขายไม่หมดก็ต้องทิ้ง ทำให้แม่ค้าและผู้ผลิตขนมจีนเสี่ยงที่จะขาดทุน  “สารกันบูด” จึงถูกนำมาใช้ในกระบวนการยืดอายุขนมจีนให้สามารถเก็บไว้ขายได้นาน  นอกจากเส้นขนมจีนแล้ว ยังนิยมใส่สารกันบูดในเส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทอื่นๆ อีกด้วย สารกันบูดที่นิยมใช้กัน ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic acid) ซึ่งหากร่างกายได้รับสารกันบูดเหล่านี้ในปริมาณมากเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ตับและไตทำงานแย่ลงได้        ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้โภคด้านสุขภาพ เห็นความสำคัญในการสุ่มตรวจซ้ำในผลิตภัณฑ์เส้นขนมจีน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยและผลักดันให้เกิดมาตรฐานในผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลผลทดสอบให้ผู้บริโภคสามารถนำไปใช้เลือกซื้อสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ โดยก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อเคยทดสอบสารกันบูดในขนมจีนมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 180) และในเดือนมิถุนายน 2560 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 196) การสุ่มเก็บตัวอย่างขนมจีนในครั้งแรก พบเส้นขนมจีนที่มีปริมาณสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน จำนวน 2 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง และในครั้งที่ 2 พบว่ามีสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 2 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 17 ตัวอย่างฉลาดซื้อ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างขนมจีนให้มากกว่าเดิมในครั้งนี้ โดยสุ่มเก็บทั้งหมด 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) โดยผลการทดสอบปรากฏดังตารางต่อไปนี้ ตารางแสดงผลวิเคราะห์ปริมาณกรดเบนโซอิกในเส้นขนมจีน 31 ตัวอย่าง (ลำดับจากน้อยไปมาก)ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นเก็บตัวอย่าง เดือน พฤษภาคม 2562  ผลการทดสอบ        ตัวอย่างขนมจีนทั้งหมด 31 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) เลย แต่ตรวจพบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) ในทุกตัวอย่าง        โดย เส้นขนมจีนที่ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิกน้อยที่สุด ได้แก่ ขนมจีนไม่มียี่ห้อ จากตลาดห้วยขวาง ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก 119.81 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        จากตารางผลวิเคราะห์พบว่า มีเส้นขนมจีน จำนวน 2 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน ได้แก่        1) เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย                   ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก 1066.79 มก./กก.และ  2) เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง          ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก 1361.12 มก./กก.        ซึ่งตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 1000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ในอาหารประเภทพาสตา ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน ที่ผ่านกระบวนการ ชนิดสด ชนิดแห้ง และชนิดกึ่งสำเร็จรูป        กรณีพบการใช้วัตถุเจือปนอาหาร เช่น สารกันบูด เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด จัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน จะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ตามมาตรา 60 ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522  ข้อสังเกตการแสดงฉลากบนบรรจุภัณฑ์ขนมจีน        ขนมจีนจัดเป็นอาหารในภาชนะบรรจุ ซึ่งต้องแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยผู้ผลิตต้องระบุชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน และหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร โดยเฉพาะแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือร่วมกับตัวเลขตาม International Numbering System (INS) ไว้บนฉลาก        ทั้งนี้ ประกาศฯ ฉบับดังกล่าวได้ยกเว้นอาหารในลักษณะต่อไปนี้ ที่อนุโลมให้ไม่ต้องแสดงฉลาก ได้แก่ (1) อาหารที่ผู้ผลิตสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่ผลิตแก่ผู้บริโภคได้ในขณะนั้น เช่น หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น  (2) อาหารสดทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสดนั้นได้  เช่น ผัก ผลไม้ตัดแต่ง เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นหรือบด เป็นต้น (ไม่รวมถึงอาหารแปรรูปในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปในภาชนะพร้อมจำหน่าย) และ (3) อาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตและจำหน่ายเพื่อบริการภายในร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถานที่อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน และรวมถึงการบริการจัดส่งอาหารให้กับผู้ซื้อด้วยจากผลทดสอบที่พบว่า เส้นขนมจีนทั้งหมด 31 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกทุกตัวอย่างนั้น  ฉลาดซื้อได้ทำการสังเกตฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติม        พบว่า มีเส้นขนมจีน จำนวน 4 ตัวอย่าง เท่านั้น ที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ระบุไว้บนฉลาก ได้แก่           1) ยี่ห้อ เจ้ ควิก (ดอนเมือง) จากตลาดสะพานใหม่          2) ยี่ห้อ ขนมจีนแป้งหมัก ดอนเมือง ผลิตโดย โง้วง้วนฮวด จากตลาดคลองเตย          3) ยี่ห้อ ฉวีวรรณ จากห้างฯ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขารัชดาภิเษก และ    4) ยี่ห้อ หนองชะอม จากตลาดห้วยขวาง          พบว่า มีเส้นขนมจีน 1 ตัวอย่าง ที่มีข้อความบนบรรจุภัณฑ์อ้างว่า “ปราศจากสารกันบูด” ได้แก่ ยี่ห้อ เส้นทิพย์ จากตลาดพระประแดง  ซึ่งตรวจพบปริมาณสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก เท่ากับ 819.89 มก./กก.           พบว่า มีเส้นขนมจีน 2 ตัวอย่าง ที่ใช้ข้อความบนบรรจุภัณฑ์อ้างว่า “ปราศจากสิ่งเจือปน” หรือ “ไม่มีสารเจือปน” ได้แก่          1) ยี่ห้อ ดอกคูณ จากตลาดสะพานใหม่ ซึ่งใช้ข้อความอ้างว่า “ปราศจากสิ่งเจือปน”           2) ยี่ห้อ ขนมจีน 5 ดาว แพรกษา จากตลาดบางกะปิ ซึ่งใช้ข้อความอ้างว่า “ไม่มีสารเจือปน”                     พบว่า มีเส้นขนมจีน 3 ตัวอย่าง ที่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ได้แก่          1) ยี่ห้อ เจ้ ควิก (ดอนเมือง) จากตลาดสะพานใหม่ เลข อย. 10-1-04450-1-0035          2) ยี่ห้อ ฉวีวรรณ จากห้างฯ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ รัชดาภิเษก เลข อย. 19-2-00958-2-0001 และ    3) ยี่ห้อ นายไฮ้ ขนมจีนชะอำเพชรบุรี จากตลาดพระประแดง เลข อย. 76-2-00461-6-0001           และ พบว่า มีเส้นขนมจีน 2 ตัวอย่าง ที่แสดงวันผลิต และ วันหมดอายุ/วันที่ควรบริโภคก่อน บนฉลาก ได้แก่          1) ยี่ห้อ ขนมจีนสะพานใหม่ จากกูร์เมต์ มาร์เก็ต สยามพารากอนและ    2) ยี่ห้อ ฉวีวรรณ จากห้างฯ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ รัชดาภิเษก         ซึ่งหากสรุปข้อสังเกตการแสดงฉลากของเส้นขนมจีนทั้ง 31 ตัวอย่าง จะแสดงได้ดังตารางต่อไปนี้        นอกจากนี้ จากการสุ่มเก็บตัวอย่าง เส้นขนมจีนที่ขายอยู่ตามท้องตลาดส่วนใหญ่ไม่เข้าข่ายตามข้อยกเว้นที่ไม่ต้องแสดงฉลาก ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ จึงต้องมีการแสดงฉลากบนบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเป็นอาหารที่ผลิตในรูปแบบของโรงงานและส่งออกวางจำหน่ายตามตลาดต่างๆ โดยเฉพาะพบว่าขนมจีนบางยี่ห้อ มีการใช้ข้อความบนฉลากว่า “จำหน่ายปลีก-ส่ง” ซึ่งอาจหมายความว่าไม่ได้มีวัตถุประสงค์ผลิตเพื่อขายเองหน้าร้านเพียงอย่างเดียวแต่หากเป็นกรณีที่ผลิตเส้นขนมจีนและจำหน่ายเองหน้าร้าน ไม่ได้รับซื้อหรือส่งต่อไปขายที่อื่น ก็เข้าข่ายได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงฉลากทั้งนี้ หากไม่ติดฉลาก หรือ ฉลากไม่ครบถ้วน มีจะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ตามมาตรา 51  ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ทดสอบสารกันบูดในแป้งทำขนม

ฉลาดซื้อทดสอบวัตถุกันเสียในขนมอบหรือเบเกอรี่ค่อนข้างบ่อย เพราะเป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันมาก หลายครั้งที่พบว่า มีการปนเปื้อนของวัตถุกันเสียในปริมาณไม่มาก ซึ่งผู้ผลิตเองก็ระบุว่า ไม่มีการเติมวัตถุกันเสียใดๆ ลงไปจนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงตรวจพบ ซึ่งจากคำแนะนำของนักวิชาการด้านอาหาร เป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากตัววัตถุดิบที่นำมาผลิตขนม  ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  จึงสุ่มตัวอย่าง “แป้งสาลี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกชนิด จำนวน 19 ตัวอย่าง ทดสอบหาสารกันเสียยอดนิยมคือ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก และสารฟอกขาว(ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) จากผลวิเคราะห์พบ กรดเบนโซอิกปริมาณน้อยในผลิตภัณฑ์ 13 ตัวอย่าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจมิใช่การจงใจใส่วัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกโดยตรง แต่เกิดจากการใช้วัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นในกระบวนการผลิตแป้งสาลีเพื่อฟอกขาว และสารนั้นมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกรดเบนโซอิก ดังนั้นเมื่อมีการนำแป้งสาลีมาทำขนมอบ เช่น ขนมเปี๊ยะ ผลวิเคราะห์จึงพบค่าวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกในปริมาณเล็กน้อย ทั้งที่ผู้ผลิตยืนยันว่าไม่มีการเติมวัตถุกันเสียในสูตรขนม ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด ผู้ผลิตขนมจึงควรแจ้งบริษัทแป้งสาลีเพื่อขอใช้แป้งสาลีที่ไม่มีสารฟอกขาว สรุปผลการทดสอบจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้ง 19 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของกรดซอร์บิกและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุกตัวอย่าง พบกรดเบนโซอิกในปริมาณเล็กน้อยตั้งแต่ 2.52 – 71.66 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในผลิตภัณฑ์ 13 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านอาหาร ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยให้ความคิดเห็นไว้ในการประชุมร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อว่า การพบวัตถุกันเสียในปริมาณที่ไม่สูงพอที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในอาหาร ไม่น่าจะเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตในการใส่สารกันเสียเพื่อถนอมอาหาร อีกทั้งในกระบวนการผลิตแป้งสาลีจะมีการใช้สารเสริมคุณภาพหรือวัตถุเจือปนอาหารเพื่อฟอกสีแป้งให้ขาว ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารที่นิยมใช้ได้แก่ INS 928 Benzoyl peroxide , INS 925 Chlorine , INS 927a  Azodicarbonamide , INS 300 Ascorbic acid L-  “การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ใส่ลงไปในวัตถุดิบเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อาจกลายเป็นการปนเปื้อนวัตถุกันเสียจากความเข้าใจผิดได้ เช่น การใช้สารฟอกขาวประเภท Benzoyl peroxide เนื่องจากสารตัวนี้มีโครงสร้างเคมีคล้ายสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก” ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) ไม่มีการกำหนดค่าวัตถุกันเสีย BENZOATES (กลุ่มเบนโซเอต) ในแป้ง แต่มีการกำหนดค่า BENZOYL PEROXIDE (เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์) INS: 928 ซึ่งมีหน้าที่เป็น สารฟอกสี, สารปรับปรุงคุณภาพแป้ง, สารกันเสีย  ในแป้งไว้ไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตารางผลการทดสอบ ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเก็บตัวอย่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561*หมายเหตุ วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เพื่อการฟอกสีประเภท Benzoyl peroxide มีโครงสร้างเคมีคล้ายสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ผลวิเคราะห์ในปริมาณที่ปรากฏ จึงไม่น่าใช่การจงใจเติมวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ฟอกสีแป้งสาลีเพื่อปรับปรุงคุณภาพหรือสีของผลิตภัณฑ์ INS 928 Benzoyl peroxide , INS 925 Chlorine , INS 927a  Azodicarbonamide , INS 300 Ascorbic acid L-แป้งสาลี    แป้งสาลีเป็นแป้งที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกชนิด ไม่มีแป้งชนิดอื่นใช้แทนแป้งสาลีได้ ทั้งนี้เพราะแป้งสาลีมีโปรตีน 2 ชนิด ที่รวมกันอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมคือ กลูเตนินและไกลอะดิน (Glutenin & Gliadin) ซึ่งเมื่อแป้งผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่ถูกต้องจะทำให้เกิดสารชนิดหนึ่งเรียกว่า “กลูเตน” (gluten) มีลักษณะเป็นยาง เหนียว ยืดหยุ่นได้ กลูเตนนี้จะเป็นตัวเก็บก๊าซไว้ทาให้เกิดโครงร่างที่จำเป็นของผลิตภัณฑ์ และจะเป็นโครงร่างแบบฟองน้ำเมื่อได้รับความร้อนจากตู้อบ ประเภทของข้าวสาลี ข้าวสาลีที่นำมาโม่เป็นแป้งสาลีนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภทตามความแข็งและสีของเมล็ดจัดเป็นข้าวสาลีชนิดแข็ง (Hard wheat) กับข้าวสาลีชนิดอ่อน (Soft wheat) ชนิดของแป้งสาลี แป้งสาลีที่ผลิตออกมาขายเพื่อทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่นั้นมี 3 ชนิดคือ แป้งขนมปัง แป้งเค้ก และแป้งเอนกประสงค์ ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและคุณลักษณะ รวมถึงการใช้ประโยชน์ต่างกันคือ 1.แป้งขนมปัง มีโปรตีนสูง 12-14 เปอร์เซ็นต์ โม่จากข้าวสาลีชนิดแข็ง ใช้ทำผลิตภัณฑ์พวกขนมปังจืด ขนมปังหวาน และผลิตภัณฑ์ที่ใช้หมักด้วยยีสต์ทุกชนิด 2.แป้งเอนกประสงค์ มีโปรตีนสูงปานกลาง 10-11 เปอร์เซ็นต์ เป็นแป้งที่ได้จากผสมข้าวสาลีชนิดแข็งกับชนิดอ่อนเข้ากับเข้าด้วยกันในสัดส่วนที่เหมาะสมการทำผลิตภัณฑ์หลายๆ ชนิด ใช้ทำผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น ขนมปังจืดและหวาน ขนมเค้กบางชนิด ปาท่องโก๋ บะหมี่ เพสตรี 3.แป้งเค้ก มีโปรตีนประมาณ 7-9 เปอร์เซ็นต์ โม่จากข้าวสาลีชนิดอ่อน ใช้ทำเค้ก คุกกี้ ลักษณะของแป้งเมื่อถูด้วยนิ้วมือจะรู้สึกอ่อนนุ่มเนียนละเอียด มีสีขาวกว่าแป้ง 2 ชนิดแรก เมื่อกดนิ้วลงไปบนแป้ง แป้งจะเกาะรวมกันเป็นก้อนและคงรอยนิ้วมือไว้ แป้งชนิดนี้ใช้สารเคมีช่วยทำให้ขึ้นฟูเท่านั้น ไม่ใช่ยีสต์ ซึ่งสารเคมีก็ได้แก่ ผงฟู โซดา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันได้สั่งข้าวสาลีจากต่างประเทศมาทำการโม่เป็นแป้ง โดยโรงโม่ที่มีอยู่จะทำแป้งจากทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวมาแล้ว และจากแป้งหลักเหล่านี้ โรงโม่แต่ละแห่งจะทำการโม่แป้งสาหรับทำผลิตภัณฑ์เฉพาะยิ่งขึ้น โดยจะบ่งไว้ที่ถุงบรรจุแป้งว่า ใช้ทำผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งผู้ซื้อจะต้องรู้ว่าแป้งที่จะใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการนั้นเป็นแป้งชนิดใด มีโปรตีนชนิดใด แล้วจึงเลือกซื้อให้เหมาะสม     เพื่อจะทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ให้ได้ผลดี คุณลักษณะที่สำคัญหนึ่งของแป้งสาลี คือ สีของแป้ง(Color) แป้งที่ดีควรมีสีขาว ถ้าหากมีสีอื่นปน เช่น สีเหลืองอ่อนของแซนโทฟิลล์ หรือสีครีม จะทำให้ขนมปังมีเนื้อใน(crumb) ที่มีสีไม่ดี ดังนั้นแป้งที่โม่ออกมาจึงควรผ่านการฟอกสีก่อน               สารเสริมคุณภาพแป้งสาลี ในปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปรวมทั้งประเทศไทยได้ออกกฎหมายอาหาร เพื่อยกเลิกการใช้โพแทสเซียมเป็นสารเสริมคุณภาพแป้งสาลี ทำให้บริษัทผู้ผลิตแป้งสาลีต้องเลือกใช้สารออกซิไดส์อื่นแทน เช่นใช้กรดแอสคอร์บิกในปริมาณ 15-25 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ของแป้งสาลี เพื่อช่วยให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรและเนื้อขนมปังดีขึ้นโดยผสมลงในแป้งก่อนขายให้ช่างทำขนมปัง นอกจากนี้ยังอาจใช้คลอรีนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารออกซิไดส์อย่างอ่อนและเป็นสารฟอกสีแป้งด้วย เพื่อช่วยให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรและเนื้อสัมผัสที่ดี หรือใช้เบนโอซิลเพอร์ออกไซด์ ซึ่งเป็นสารฟอกสี จะช่วยให้ได้ขนมปังที่มีเนื้อขนมปังขาวขึ้น โดยผสมลงในแป้งในปริมาณที่เหมาะสม สารเสริมคุณภาพแป้งสาลีอีกชนิดหนึ่งที่โรงโม่แป้งสาลีต้องคำนึงถึงคือ แป้งมอลล์ หรือเอนไซม์อะมิเลสจากเชื้อรา โดยใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพแป้งในการทำขนมปังให้มีปริมาตรเพิ่มขึ้นและมีเนื้อสัมผัสนุ่มขึ้น ถ้าใช้แป้งมอลล์จะใช้ปริมาณ 1800 ส่วนในล้านของแป้ง แต่ใช้เอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสได้เช่นกันแต่มีประสิทธิภาพในการทนความร้อนได้น้อยกว่า   เอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสจากเชื้อรา จึงต้องใช้ในปริมาณมากกว่า ซึ่งเอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสนี้จะช่วยย่อยสลายสตาร์ชในขณะหมักเพื่อให้ได้น้ำตาลมอลโทสสาหรับการทำงานของยีสต์ให้ได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสมขณะหมักเพื่อให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรดี ที่มา : จิตธนา แจ่มเมฆ และอรอนงค์ นัยวิกุล. 2549. เบเกอรี่เทคโนโลยีเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สานักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ผู้ประกอบการขนมเปี๊ยะ ปั้นด้วยใจ

เริ่มศักราชใหม่ทุกคนมีสิทธิ์นำเรื่องราวดีๆ จุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 นิตยสารฉลาดซื้อได้จัดเวทีเชิญผู้ประกอบการที่ทางนิตยสารฉลาดซื้อเคยนำสินค้ามาทดสอบในเรื่อง สารกันบูด จากกลุ่มขนมและอาหารประเภทต่างๆ จำนวน 9 ราย และตัวแทนจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ในเวทีได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้ในเรื่องของสารกันเสียและการใช้ที่ถูกวิธี และยังได้แลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งผู้ประกอบการแจ้งว่าจะได้นำข้อมูลจากการทดสอบไปปรับปรุงและควบคุมวัตถุดิบในการผลิตของตน อย่างเช่น ขนมเปี๊ยะครูสมทรง ขนมเปี๊ยะสิงห์เพชร และขนมเปี๊ยะคุณหมู ถือเป็นความร่วมมือที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการยกระดับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ ส่วนทางห้างค้าปลีกเอง ก็รับจะนำข้อเสนอและข้อมูลจากเวทีไปพัฒนาในเรื่องการจัดซื้อสินค้าเพื่อผลิตและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคต่อไป ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับบนี้จึงพาไปพบกับมุมมองของผู้ประกอบการรายเล็กๆ  3 เจ้า ที่มีมุมมองในการเลือกสรรสิ่งดีๆ ได้ด้วยมือของเราเองท่านแรกคุณวิมล ศิริวณิชย์วงศ์ จากขนมเปี๊ยะร้านหมู ซอยโปโล เล่าว่า “ พื้นเดิมของครอบครัวพี่จะทำอาหารทานเอง พ่อแม่ก็ทำให้ทานเองตั้งแต่ปู่ย่าเขาก็จะทำอาหารให้ทานเอง แล้วเราก็จะรู้วิธีการว่าจะทำอย่างไรให้อาหารอยู่ได้นานและเราก็จะรู้จักวิธีเลือกวัตถุดิบว่าอย่างไรถึงจะดี เขาจะสอนเราหมดเหมือนมันเป็นอะไรที่มันซึมอยู่ในสายเลือดก็ว่าได้ ทั้งครอบครัวเลยไม่ใช่เฉพาะแต่พี่หรอก คนในครอบครัวจะรู้สึกว่าการที่เราจะเป็นคนที่มีสุขภาพที่ดีนั้นต้องเริ่มจากการกิน และบวกกับความที่เราชอบทำอาหารก็คิดว่าถ้าเรารู้สึกอย่างไรก็อยากให้คนอื่นเค้ารู้สึกเหมือนเรา การควบคุมคุณภาพเลือกวัตถุดิบอย่างไรบ้างอย่างหนึ่งที่ต้องซื้อก็คือเรียกว่าต้องมาจากแหล่ง อย่างไข่เค็มที่เราใช้ก็ไม่ได้ซื้อทั่วๆ ไปจากท้องตลาด เราต้องมีเจ้าประจำซึ่งเรียกได้ว่าค้าขายกันมานาน ทุกอย่างเลยแม้กระทั่งแป้งสาลี ต้องผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ผ่าน อย. ทุกอย่างต้องมีใบกำกับเรียบร้อยซึ่งตรงนั้นก็จะเหมือนกับเรากรองมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือคุณภาพของวัตถุดิบ ต้องมีการผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมมาทุกอย่าง จากข่าวที่ออกไปมีผลกระทบอย่างไรตอนแรกที่นักข่าวเขียนคือการที่พี่ใช้คำว่าไม่มีวัตถุกันเสียนั้นมันผิดนะ ไม่ถูกต้องเพราะว่าถ้าไม่มีแปลว่าต้องไม่เจอเลย แต่จากที่เคยฟังตัวสารเบนโซอิกไม่ได้เกิดจากวัตถุกันเสียแต่มันเกิดจากถั่วด้วยเพราะฉะนั้นอะไรคือข้อสรุปที่ให้เราเขียน พี่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่แม้กระทั่งผู้ประกอบการแบบพี่เอง หลายๆ คนก็ไม่เข้าใจหรอกว่ามันผิดอย่างไร และถ้าพี่ไม่ไปฟังพี่ก็ยังไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่ตอนที่ข่าวออกไปส่วนหนึ่งลูกค้าเขาไม่เข้าใจนะ เขาอ่านข่าวปุ๊บหมดเลย 10 กว่าร้านที่เจอวัตถุกันเสีย เมื่อวันก่อนลูกค้ามาเขาบอกเขาไม่ได้ทานมาเกือบปีเลยเพราะแฟนเขาไม่ให้ซื้อแต่เขาก็มั่นใจว่าพี่ไม่ได้ใส่เพราะเขาซื้อไปถ้าวางทิ้งไว้ 10 วันขึ้นราหมดเลย คือพี่ไม่ได้ทำตรงนี้มาแค่ปีสองปี พี่ทำงานตรงนี้มาจะ 40 ปีแล้ว ถ้าเราไม่ได้ให้ความไว้วางใจกับลูกค้ามันคงยืนมาไม่ถึงตรงนี้ เพราะขายอยู่แต่ในร้านไม่เคยลงเฟสบุคหรืออะไรทั้งนั้น ไม่มีสื่อประชาสัมพันธ์ ตอนที่เป็นข่าวมีนักข่าวบอกว่าทำไมพี่ไม่ตอบโต้ พี่ก็บอกไปว่าไม่จำเป็นหรอกพี่คิดว่าลูกค้าเข้าใจนะ ถูกก็คือถูก วันหนึ่งลูกค้าก็จะกลับมาเหมือนเดิมและก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คนที่เป็นลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ตอนที่เป็นข่าวเขาโทรมาหาเลย บอกว่าเขาเสียความรู้สึกมาก วันนั้นพี่ไม่ได้อยู่บ้านเลยไม่ได้ฟังข่าวก็ถามเขาว่าเสียความรู้สึกเรื่องอะไร เขาก็ถามว่าทำไมพี่ใส่วัตถุกันเสีย วันนั้นลูกค้าโทรมากันใหญ่เลย พี่ก็ถามว่าไปเอามาจากไหน เขาถึงบอกว่าข่าวออก พี่ก็งงและก็ไม่รู้เรื่อง ที่บ้านก็ไม่รู้เรื่อง แล้ววันต่อมาหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กลงแล้วคนก็อ่านแค่ว่าพบสารกันเสียในขนมเปี๊ยะ คนอ่านแค่นี้ไม่ได้อ่านข้างในแต่ว่ามันมีแบรนด์ร้านเราอยู่ก็แสดงว่าอ๋อร้านนี้มีแน่นอน คือคนไทยเป็นแบบนี้เขาไม่อ่านทั้งหมด ถ้าเขาอ่านทั้งหมดเขาก็เข้าใจว่าข่าวมันก็เป็นตามเนื้อข่าว แต่พี่ก็ไม่มีอะไรก็ช่างมัน แต่ถามว่ากระทบไหมก็มีผลกระทบนะ ไม่เฉพาะแต่ร้านพี่นะร้านอื่นๆ ก็คงเหมือนกัน แต่พอเรามาคิดว่าเราทำผิดอย่างไร ซึ่งก็มีลูกค้ามาแนะนำนะว่าพี่ต้องเขียนอย่างนี้ๆ สรุปพี่บอกว่าเอาอย่างนี้พี่ไม่เขียนอะไรเลยพี่เขียนแค่ว่าเก็บในตู้เย็นแล้วกัน (หัวเราะ) คนที่เขาทำอาหารให้คนอื่นกินต้องคงคุณภาพของอาหารถูกที่สุดเลย ถ้าคุณเป็นคนรุ่นพี่คุณจะรู้ว่าเคยทานอะไรแล้วมันอร่อยแล้วเดี๋ยวนี้มันจะไม่เหมือนเดิม แต่คำพูดแบบนี้คูณจะไม่ได้ยินจากปากลูกค้าของพี่นะ แต่ถ้าของร้านพี่ทานเมื่อ 30 ปีที่แล้ววันนี้ก็ยังโอเคเหมือนเดิม คุณต้องคิดว่าพี่ต้องทำมันด้วยใจรักขนาดไหนมันถึงอยู่มาได้ ไม่ว่าข่าวจะว่าอย่างไรแต่พี่ก็ยังผ่านมาได้แต่ก็น้อยใจนะเพราะเราไม่สามารถไปบอกลูกค้าทุกคนที่ได้รับข่าวนี้ได้ บางคนเข้าใจแต่บางคนอาจจะเสียความรู้สึกไปเลยก็ได้ ว่าที่กินมาตั้งนานนี่ใส่วัตถุกันเสียเหรออยากฝากอะไรถึงผู้ผลิตวัตถุดิบสำหรับทำขนม เช่น บริษัทผลิตแป้ง,ถั่วกวนสำเร็จรูปเขาก็ต้องมีคุณธรรมนะ หมายถึงว่าเขาต้องไม่เติมวัตถุกันเสีย ต้องมีวิธีรักษาให้มันอยู่ได้นาน ต้องมีความซื่อสัตย์กับลูกค้า อย่างของพี่ก็เลือกตั้งแต่ถั่วเลยต้องเป็นถั่วเกรด 1 ที่ไม่มีกรวด หิน ซึ่งราคาจะแพงกว่า แต่พอล้างน้ำให้สะอาดแช่ไว้แล้วใช้ได้เลย แต่มันก็จะมีถั่วผ่านรังสี ถั่วพอผ่านรังสีแล้วมันจะเก็บได้นาน แต่มันก็จะมีอันตรายกับผู้บริโภค อย่างโรงถั่วที่เขาโม่ให้พี่พอเขากะเทาะเมล็ดออกจากฝักแล้วจะอยู่ได้แค่ 1 เดือนเท่านั้นเอง ไม่นานกว่านี้ซึ่งถั่วที่พี่สั่งมานั้นก็จะเก็บนานไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะมีแมลงอะไรต่ออะไร เราก็การันตีจากความรู้สึกได้ว่ามันไม่ใส่ยา เพราะถ้ามียาผ่านรังสีปุ๊บแมลงไม่มีแน่นอนคุณชุติกานจน์ กิตติสาเรศ และคุณนลพรรณ มั่นนุช พี่ดาและพี่อิ๋ว ร้านขนมเปี๊ยะสิงห์เพชร ซอยชินเขต ถนนงามวงศ์วาน เล่าประวัติก่อนเริ่มมาทำขนมเปี๊ยะขายว่าแต่เดิมนั้นขายน้ำ และขนมอยู่กับเตี่ย รับขนมของคนอื่นมาขายหลายยี่ห้อ จนวันหนึ่งก็มีความคิดว่าจะทำอะไรขายดี จึงได้ไปเรียนทำขนมปังแต่ก็ทำไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาเรียนทำขนมเปี๊ยะ ด้วยความที่ชอบทานมาตั้งแต่เด็ก จึงชอบที่จะทำขนมเปี๊ยะ แล้วนำความรู้ที่เรียนมาลองทำทานเองบ้าง ทิ้งบ้าง ให้เพื่อนช่วยชิมบ้าง และปรับปรุงสูตรให้เป็นสูตรของตนเองจนเพื่อนบอกว่าสูตรนี้อร่อยแล้ว จึงมาทำขาย โดยเริ่มไปตั้งบูธขายที่เดอะมอลล์ท่าพระ และเดอะมอลล์บางแค ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากข่าวเรื่องพบสารกันบูดในขนมเปี๊ยะออกไปเป็นอย่างไรบ้างแต่ข่าวที่ออกไปก็ส่งผลให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์เข้ามาสอบถามว่าหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง ทราบมาจากข่าวจึงอยากลองชิม เราคิดว่าวัตถุกันเสียน่าจะปนเปื้อนมากับแป้งที่ใช้ทำขนม  แต่แป้งที่เราใช้นั้นมีฉลาก อย. เพราะเราคิดว่าของที่มี อย. กำกับน่าจะสะอาดอยู่แล้ว เราจึงไม่ทราบจริงๆ ว่ามีสารปนเปื้อนอยู่ จากเรื่องนี้ก็ส่งผลกระทบทำให้ยอดขายตกลงไปนิดหน่อย เพราะผู้บริโภคอาจจะยังไม่กล้าซื้อไปทานแล้วมีวิธิแก้ไขอย่างไรเมื่อยอดขายตกลงไปแบบนี้ ได้คุยกับลูกค้าหรือไม่ลูกค้ามีทั้งที่หยุดซื้อขนมเราไปบ้าง และที่ยังซื้ออยู่บ้าง แม้จะซื้อน้อยลง แต่ยังมีลูกค้าที่ยังไว้ใจร้านเรา เพราะขนมเราทำครั้งละน้อยๆ พยายามทำใหม่ทุกวัน เราเน้นที่ความสดใหม่ เพราะร้านเราเพิ่มเริ่มต้น ต้องคงคุณภาพให้ได้  คือเมื่อทำเสร็จแล้วก็จัดส่งให้ลูกค้าทันที เพราะส่วนใหญ่เราจะทำขนมตามออเดอร์ลูกค้า เช่น ลูกค้าโทรมาสั่งจำนวน และนัดเวลาส่งขนมไว้ เราก็จะทำตามนั้น  แต่หากไม่ทันก็ต้องขอเลื่อนเวลาลูกค้าออกไป เพราะขนมของเราจะใช้เวลาในการทำค่อนข้างนานในการทำขนมให้อร่อย และคงคุณภาพไว้ต้องมีความสด ใหม่ เพราะขนมที่นำออกมาจากเตาใหม่ๆ จะกรอบ รสชาติจะหวาน หอม ละมุนในปาก แต่หากพักไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แป้งขนมจะนิ่มและเย็นลิ้น  นี่เป็นคำบอกเล่าจากลูกค้าที่ติดใจในความอร่อยของขนมร้านเรา และขนมทางร้านเราไม่ได้ใส่วัตถุกันเสีย นี่จึงเป็นจุดขายของร้าน นอกจากนี้ที่ร้านเราจะซื้อแป้งทำขนมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วทำขนมให้หมดภายในอาทิตย์นั้นๆเพราะหากซื้อมาเก็บไว้นานแป้งจะไม่สด พี่คิดว่าผู้ประกอบการท่านอื่นควรมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคอย่างไรบ้างอย่างร้านเรา ของใหม่ก็คือของใหม่ที่เพิ่มทำออกมา เพราะเราทำตามออเดอร์ลูกค้า จะไม่ทำขนมเก็บไว้นาน และต้องการให้ผู้ประกอบการรายย่อยรักษาเรื่องนี้ไว้ ไม่โกหกลูกค้า ไม่นำของเก่าออกมาขาย แล้วบอกว่าเป็นของใหม่ คือให้เปรียบเหมือนเราทำรับประทานเอง และวัตถุดิบที่ทางร้านใช้ ทั้งแป้งทำขนม เกลือ สีผสมอาหาร จะใช้ยี่ห้อที่มีฉลาก อย. หลังจากที่กลับมาจากการอบรม เราได้กลับมาจัดโต๊ะใหม่ มีการใส่ถุงมือตลอดเวลาที่ทำขนม จากเดิมที่ใส่บ้าง ถอดบ้าง เพราะเราใช้ถุงมือแพทย์จะขาดง่าย  ก็ได้ปรับเปลี่ยนถุงมือใหม่เมื่อลูกค้าเสนอความคิดเห็น หรือมีคำติชมเข้ามา ได้นำมาปรับใช้กับที่ร้านหรือไม่มีค่ะ เช่นเริ่มแรกขนมที่ทำมาเป็นแป้งนิ่ม ซึ่งจะเสียง่าย จึงนำมาปรับสูตรไปเรื่อยๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ ขนมก็จะเก็บไว้ได้นานขึ้นจากเดิมเก็บไว้ได้ 2-3 วัน เมื่อปรับปรุงสูตรใหม่จะเก็บไว้ได้ 4 วัน ฉลากที่ร้านจะเขียนแจ้งว่าควรเก็บไว้ในตู้เย็นทันที เพราะขนมเราไม่ได้ใส่วัตถุกันเสีย ขนมอยู่ในตู้เย็นได้ 2 สัปดาห์  รวมทั้งบอกกล่าวกับลูกค้าโดยตรงมากกว่า เช่น เมื่อลูกค้ามาซื้อขนมก็จะบอกกับลูกค้าทันทีว่าควรทานขนมให้หมดภายใน 3 วัน เหตุที่เราไม่ใส่วัตถุกันเสีย เพราะเราต้องการให้ลูกค้าได้ดูแลสุขภาพด้วยคุณครูสมทรง นาคศรีสังข์ ขนมเปี๊ยะครูสมทรง  อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมสมัยก่อนตอนเริ่มทำขนมก็ช่วยกันทำกับลูกอีก 3 คน ในห้องแถว 1 ห้อง ลูกเรียนที่สาธิตเกษตร ส่วนครูเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการที่ ร.ร.อนุบาลกำแพงแสน ตอนเช้าก่อนไปส่งลูกเราก็ตั้งเตาถ่านนึ่งถั่วไว้หน้าบ้าน  ไฟก็ดับไปเอง พอกลับมาตอนเย็นก็จะนำถั่วมาบด นวดแป้ง ช่วยกันปั้นขนม ช่วยกันทำจนเสร็จ และนำไปส่งตอนเช้าโดย บรรจุถุงละ   5 ลูก  ขนมลูกจะลูกใหญ่มาก ขายถุงละ 20 บาท ซึ่งถ้าถุงไหนที่ขนมลูกไม่สวยเราก็จะนำไปให้ลูกๆ ทานที่ จะขายเฉพาะลูกสวยๆ จะเห็นว่าเราดูแลเรื่องคุณภาพมาตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้นเมื่อเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นจึงทำให้เราเครียดมากจากกิจการเล็กๆ มาจนถึงปัจจุบันที่เป็นที่รู้จักในทุกวันนี้ เราค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปตั้งแต่เริ่มทำมาก็เติบโตมาเรื่อยๆ แต่เมื่อมีคนเชิญให้ไปออกรายการทางช่อง 5 พอรายการออกอากาศก็มีคนโทรเข้ามาสั่งเป็นจำนวนมากจนเราทำไม่ทัน ตอนนั้นเหมือนเป็นการฆ่าตัวเองเลย เพราะทำไม่ทัน พอเราเร่งรีบขนมก็ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งมีผู้ผลิตขนมเปี๊ยะเจ้าอื่นเกิดขึ้นมาอีกหลายราย จึงค่อยๆ เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ขนมของเราเน้นที่ความสดใหม่ จึงไม่คิดที่จะใส่สารกันบูด ครูจะเล่าถึงกลยุทธ์ที่เหตุใดครูจึงทำขนมที่ไม่ใส่สารกันบูด และก็ไม่มีความคิดที่จะใส่ด้วย เพราะหากเราทำขนมที่ขายหมดภายใน 3 วัน เราจะสามารถทำขนมได้ทุกวัน เพราะลูกค้าที่ซื้อไปจะต้องรับประทานให้หมดภายใน 3 วัน เพราะไม่เช่นนั้นขนมจะเสีย แต่หากเราใส่สารกันบูด หรือทำขนมที่อยู่ได้ 7 วัน หรือนานเป็นเดือน เราก็ไม่รู้ว่าขนมเราจะขายได้เมื่อไร แล้วขนมก็จะไม่อร่อยเหมือนขนมที่ทำสดใหม่ด้วย  ตอนที่มีข่าวว่าขนมของคุณครูใส่สารกันบูดมีอะไรเกิดขึ้นบ้างครูก็รู้สึกเสียใจ และโมโหเหมือนกัน เพราะขนมเราไม่ได้ใส่สารกันบูดจริงๆ คิดว่ามีคนกลั่นแกล้งเราหรือเปล่า เพราะช่วงนั้นมีทั้งข่าวโทรทัศน์ และข่าวหนังสือพิมพ์ออกมาจำนวนมาก ทำไมข่าวออกมาแบบไม่นึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานของเรา เพราะโดยตัวเราเองนั้นไม่ทำอาชีพนี้ก็มีอาชีพอื่น แต่พนักงานของเราจะเดือดร้อน ดังนั้นเราจึงคิดหาวิธีแก้ไข เพราะเห็นในตอนท้ายข่าวว่าอาจปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ จึงนำเรื่องมาปรึกษากับหลาน โดยให้นำวัตถุดิบทุกชนิด ทั้ง แป้งสาลี   ไข่  เกลือ  ทุกอย่างที่เราใช้ประกอบในการทำขนมไปตรวจหาสารปนเปื้อน ซึ่งผลปรากฏว่าพบอยู่ใน แป้งสาลีที่ใช้ทำขนม จึงติดต่อสอบถามไปที่บริษัทผู้ผลิตแป้ง เขาแจ้งว่าในตัวแป้งสาลีได้ใส่สารฟอกขาว  “ตอนแรกติดต่อขอให้ทางบริษัทผลิตแป้งที่ไม่ใส่สารให้เรา ได้รับคำตอบที่ไม่แน่นอนว่าต้องมีการสั่งซื้อในแต่ละครั้งจำนวนมากน้อยเพียงใด และคิดว่าเราเป็นธุรกิจเล็กๆ เขาจะทำให้เราหรือไม่  จึงติดต่อให้ทางบริษัทออกใบรับรองให้สำหรับวัตถุดิบที่เราใช้ทุกอย่างว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่ต่อไปจะพยายามติดต่อกับทางบริษัทผู้ผลิตแป้งอีกครั้งว่าต้องสั่งผลิตในจำนวนเท่าไรที่จะไม่ต้องใส่สารฟอกขาวให้เราได้ คิดอย่างไรหากจะต้องมีการรวมกลุ่มกันของผู้ผลิตขนมเปี๊ยะในการสั่งแป้งเพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐานยังไม่เคยคุยเรื่องนี้กับผู้ผลิตรายอื่นเหมือนกัน แต่คิดว่าเรื่องนี้ต้องมีคนกลางช่วยประสานให้ผู้ผลิตขนมเปี๊ยะหลายรายมารวมตัวกันเพื่อสั่งแป้งสาลีกับผู้ผลิตรายเดียว น่าจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าให้ครูเป็นผู้ประสานเอง ดังนั้นจึงขอให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคนกลางช่วยประสานกับกลุ่มผู้ผลิตขนมที่เขาต้องการแป้งสาลีที่ไม่ใส่สารให้ด้วยค่ะ อยากให้ไปสอบถามผู้ผลิตขนมเจ้าที่ไม่พบสารกันบูดว่าใช้แป้งชนิดใดเป็นส่วนผสม ให้เขาช่วยแนะนำเรา ซึ่งวิธีนี้ครูคิดว่าจะเป็นวิธีที่ง่ายกว่า ต้องลองดูก่อน  แต่อาจไม่ได้รวมกลุ่มเฉพาะผู้ผลิตขนมเปี๊ยะเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ผลิตขนมชนิดอื่นที่ใช้แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบในการผลิตขนม หรือให้บริษัทผู้ผลิตแป้งสาลีเสนอมาให้เราว่าบริษัทใดที่สามารถผลิตแป้งแล้วไม่ใส่สารกันเสียได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สารกันบูดในขนมปังไส้สังขยาและไส้เผือก

ผลทดสอบ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพสารกันบูดในขนมปังไส้สังขยาและไส้เผือก“ขนมปัง” นั้น ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่เป็นเมนูที่หารับประทานได้ง่าย ซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป อีกทั้งราคาไม่แพงและแถมสะดวกในการพกพาไว้รับประทานระหว่างเดินทางอีกด้วย จึงเป็นทางเลือกที่ทดแทนอาหารหนึ่งมื้อได้เลยทีเดียว  ซึ่งชนิดของขนมปังที่พบได้มากที่สุดตามร้านค้าร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็คือ ขนมปังพร้อมทาน(Snack Bread)  หรือขนมปังที่มีปริมาณบรรจุต่อ 1 ซอง เหมาะสมพอดีต่อการรับประทาน 1 ครั้ง ขนมปังพร้อมทานมีหลายรูปแบบหลายรสชาติ แต่ที่น่าจะได้รับความนิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ขนมปังสอดไส้หวาน เช่น ไส้ครีม ครีมสังขยา ช็อกโกแลต  ตลอดจนแยมผลไม้ต่างๆ ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอนำเสนอผลวิเคราะห์ปริมาณ “สารกันบูด” ในขนมปังไส้หวาน โดยเราเลือกวิเคราะห์ขนมปังไส้หวาน 2 รสชาติแบบไทยๆ อย่าง ไส้สังขยาและไส้เผือก ซึ่งหลายๆ คนน่าจะชื่นชอบ จำนวน 19 ตัวอย่าง เราลองไปดูกันสิว่า ขนมปังไส้สังขยาและไส้เผือกที่เราเคยรับประทาน หรือบางคนอาจจะรับประทานเป็นมื้อเช้าแทบจะทุกวันมีปริมาณของสารกันบูดมาก-น้อยแค่ไหนกันบ้าง นอกจากนี้เรายังสุ่มทดสอบไส้สังขยาและไส้เผือกสำเร็จรูปที่เป็นวัตถุดิบในการทำขนมปังและเบเกอรี่ต่างๆ อีก 8 ตัวอย่างจากร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการทำขนมอบ เบเกอรี่ เพื่อให้รู้ชัดกันไปเลยว่าขนมปังหรือไส้ อันไหนที่มีสารกันบูดมากกว่ากันหมายเหตุ สารกันเสียที่ระบุบนฉลากอาหารINS 202 (โพแทสเซียมซอร์เบต) กลุ่มซอร์เบตINS 210 (กรดเบนโซอิก) กลุ่มเบนโซเอตINS 211 (โซเดียมเบนโซเอต) กลุ่มเบนโซเอตINS  282 (แคลเซียมโพรพิโอเนต) กลุ่มโพรพิโอเนตผลทดสอบการวิเคราะห์หาปริมาณสารกันบูดในขนมปังใส่ไส้ครั้งนี้ เราเลือกทดสอบสาร 2 ตัว คือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันบูดที่นิยมใช้ในอาหาร และมีการกำหนดค่ามาตรฐานไว้ (ส่วนสารแคลเซียมโพรพิโอเนต INS 282 ที่พบในหลายผลิตภัณฑ์ ไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน ระบุเพียงว่า ปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่ได้ทดสอบ) ส่วนตัวอย่างขนมปังสอดไส้ที่ฉลาดซื้อสุ่มนำมาทดสอบครั้งนี้ มีทั้งตัวอย่างที่วางจำหน่ายอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรพพสินค้าทั่วไป รวมทั้งตัวอย่างจากร้านขนมปังสอดไส้เจ้าดัง ที่คนชอบทานขนมปังสอดไส้ต่างๆ น่าจะรู้จักกันดี รวมแล้วทั้งหมด 14 ยี่ห้อ 19 ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ที่ได้พบว่า •ขนมปังไส้สังขยา 11 ตัวอย่าง และขนมปังไส้เผือก 8 ตัวอย่าง รวมทั้งหมด 19 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของสารกันเสีย กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ทุกตัวอย่าง •ข่าวดี ทุกตัวอย่างพบในปริมาณที่อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดย 3 ตัวอย่างที่พบปริมาณ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก รวมกันน้อยที่สุด คือ1. ยี่ห้อ UFM ขนมปังไส้เผือก พบกรดเบนโซอิก 15.23 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม (มก./กก.) หรือถ้าคิดเฉลี่ยต่อ 1 ชิ้น ที่น้ำหนัก 100 กรัม จะเท่ากับ 1.53 มิลลิกรัม ส่วนกรดซอร์บิก ไม่พบ2. ยี่ห้อ กาโตว์ เฮาส์ ขนมปังไส้เผือก พบกรดเบนโซอิก 15.87 มก./กก. หรือคิดเฉลี่ยต่อ 1 ชิ้น ที่น้ำหนัก 90 ก. จะเท่ากับ 1.42 มก.3.ขนมปังเจ้าดังจากเยาวราช ไส้สังขยา พบกรดเบนโซอิก 15.38 มก./กก. และกรดซอร์บิก 5.54 มก./กก. หรือคิดเฉลี่ยต่อ 1 ชิ้น ที่น้ำหนัก 87 ก. จะเท่ากับกรดเบนโซอิก 1.33 มก. และกรดซอร์บิก 0.48 มก./กก. •ตัวอย่างที่พบปริมาณสารกันเสีย เบนโซอิกและซอร์บิก ร่วมกันสูงที่สุดคือ ยี่ห้อ Victory ขนมปังไส้สังขยา พบกรดเบนโซอิก 389.01  มก./กก.และกรดซอร์บิก น้อยกว่า 1.50 มก./กก.ข้อสังเกตจากการวิเคราะห์ตัวอย่าง•ตัวอย่างขนมปังไส้สังขยา พบปริมาณสารกันเสีย เบนโซอิกและซอร์บิก มากกว่าตัวอย่างขนมปังไส้เผือก•ตัวอย่างขนมปังไส้สังขยาจากร้านวังหลังเบเกอรี่ พบว่ามีทั้งกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก แต่ถุงใส่ขนมปังของร้าน ซึ่งเป็นแบบทำสดขายวันต่อวัน มีข้อความว่าไม่ใส่วัตถุกันเสีย ปริมาณสารกันบูดที่อนุญาตให้พบได้ในขนมปังประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) อนุญาตให้มีการใช้สารกันเสีย กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบในอาหารในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัมหากมีการใช้ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) “ข้อ 6 การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชื่อวัตถุเจือปนอาหาร หมวดอาหาร หรือชนิดอาหาร หน้าที่ทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และปริมาณสูงสุดที่อนุญาตที่กำหนดไว้ตามบัญชีหมายเลข 1 โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมตามบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศนี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง”ตามเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ฉลาดซื้อคำนวณแล้ว พบว่า ไม่มีตัวอย่างใดเกินค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ตารางผลการวิเคราะห์กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกใน ไส้สังขยาและไส้เผือกสำเร็จรูปข้อสังเกตจากการวิเคราะห์ตัวอย่าง•ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) ไม่ได้มีการกำหนดเรื่องการใช้กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ในไส้สังขยาและไส้เผือกสำเร็จรูป ที่ดูแล้วพอจะสามารถอ้างอิงได้ใกล้เคียงที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มไส้ขนมที่ทำจากผลไม้ ซึ่งในประกาศฯกำหนดปริมาณของกรดเบนโซอิก ไว้ที่ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม เช่นเดียวกับกรดซอร์บิกที่ก็กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัมเท่ากัน•ถ้ายึดตามเกณฑ์นี้ ก็เท่ากับว่า ไส้สังขยาสำเร็จรูป 4 ตัวอย่าง และไส้เผือกสำเร็จรูป 4 ตัวอย่างที่ฉลาดซื้อสุ่มทดสอบครั้งนี้ พบปริมาณสารกันเสีย กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ทุกตัวอย่าง แต่ทุกตัวอย่างก็พบปริมาณที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมี 1 ตัวอย่างคือ ยี่ห้อยูยี ไส้เผือกสำเร็จรูป ที่พบการปริมาณ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก น้อยมาก คือพบกรดเบนโซอิกแค่ 1.68 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และไม่พบกรดซอร์บิกเลย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 198 สารกันบูดใน “เฉาก๊วย”

“เฉาก๊วย” 1 ในขนมหวานที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ด้วยรสสัมผัสอันเป็นเอกลักษณ์ นุ่มเหนียวเคี้ยวอร่อย นำมารับประทานพร้อมน้ำแข็ง น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำเชื่อม ได้รสชาติหวานเย็นชื่นใจ เหมาะกับอากาศร้อนๆ ของเมืองไทยเฉาก๊วย หาทานได้ทั่วไป ที่เห็นบ่อยก็น่าจะเป็นตามร้านขายขนมหวานจำพวกหวานเย็น นอกจากนี้ยังที่ปรับปรุงสูตรให้กลายมาเป็นครื่องดื่ม ใช้เฉาก๊วยเส้นเล็กๆ ใส่ในน้ำเชื่อม เพื่อรับประทานง่ายยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้ เฉาก๊วย ถูกทำให้เพิ่มมูลค่า นำมาใส่ในเครื่องดื่มอย่าง ชา กาแฟ นมสด ก็อร่อยไปอีกแบบ ฉลาดซื้อฉบับนี้ ขอนำเสนอผลทดสอบ “สารกันบูดในเฉาก๊วย” ลองไปดูกันสิว่าขนมหวานในดวงใจของใครหลายๆ คน ปลอดภัยจากการใช้สารกันบูดหรือเปล่า?ผลทดสอบ- จำนวนตัวอย่าง เฉาก๊วย ที่นำมาทดสอบครั้งนี้มีทั้งหมด 30 ตัวอย่าง มีตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนของสารกันบูด ทั้ง เบนโซอิก และ ซอร์บิก ถึง 14 ตัวอย่าง หรือเกือบ 50% ของตัวอย่างทั้งหมดที่นำมาทดสอบ ถือว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภค- นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีก 5 ตัวอย่าง ที่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก น้อยกว่า 1.50 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก- มีตัวอย่างเฉาก๊วยที่พบปริมาณสารกันบูด เบนโซอิก และ ซอร์บิก เกินมาตรฐาน เพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้น คือ เฉาก๊วยอาโก ศูนย์การค้าบางประกอก ที่พบปริมาณเบนโซอิก 1,387.37 มิลลิกรัมต่อปริมาณเฉาก๊วย 1 กิโลกรัม เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณเฉาก๊วย 1 กิโลกรัมข้อสังเกตเรื่องการแสดงฉลาก-ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก จำนวน 16 จาก 30 ตัวอย่าง มีเพียง 4 ตัวอย่างที่แจ้งข้อมูลบนฉลากว่ามีการใช้สารกันบูด ประกอบด้วย1.ยี่ห้อ ปุ้น & เปา แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย INS202, 211 หรือ โปแตสเซียม ซอร์เบต และ โซเดียม เบนโซเบต ซึ่งเป็นสารในกลุ่มสารกันเสีย เบนโซเอต ทั้ง 2 ชนิด โดยผลทดสอบพบ เบนโซอิก 219.56 มก./กก. และพบซอร์บิก 180.17 มก./กก.2.เฉาก๊วย (jelly glass) ของ นิตยาวุ้นมะพร้าว แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย โซเดียเบนโซเอท (INS211) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 292.03 มก./กก. และพบซอร์บิก 231.05 มก.กก.3.ยี่ห้อ แม่ปิงเฉาก๊วย แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสียโซเดียเบนโซเอท (INS211) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 321.05 มก./กก. และพบซอร์บิก 260.19 มก.กก.4.เฉาก๊วยอาโก ศูนย์การค้าบางปะกอก แจ้งว่า มีโซเดียมเบนโซเอท 0.02% ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 1,387.37 มก./กก. ข้อสังเกตเกี่ยวกับ ฉลากสินค้าที่แจ้งว่าไม่มีวัตถุกันเสียมีกลุ่มตัวอย่างที่แจ้งว่า “ไม่มีวัตถุกันเสีย” บนฉลากแต่จากผลทดสอบพบว่า มีการปนเปื้อน ได้แก่ 1.ยี่ห้อ นายอุ๋ย เฉาก๊วยโบราณ ผลทดสอบพบ เบนโซอิก น้อยกว่า 1.50 มก./กก.2.ยี่ห้อ เมจิกฟาร์ม ดีเซิ้ดทคัพ ขนมเยลลี่คาราจีแนน ผสมบุกผง ถั่วแดงและน้ำเฉาก๊วย 15% ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 6.53 มก./กก. และพบซอร์บิก 3.74 มก./กก.3.ยี่ห้อ เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถัง) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 68.85 มก./กก. 4.ยี่ห้อ เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถุง) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 79.41 มก./กก.มาตรฐานการใช้สารกันบูดใน เฉาก๊วย เฉาก๊วย จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับผลิตภัณฑ์ เยลลี่ เพราะมีกรรมวิธีในการผลิตในลักษณะเดียวกัน ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 213) พ.ศ. 2543 เรื่อง แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท นิยามความหมายของ เยลลี่ ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำผลไม้ล้วนที่ได้จากการคั้นสดหรือสกัดจากผลไม้ หรือทำจากน้ำผลไม้ล้วนที่ผ่านกรรมวิธี หรือทำให้เข้มข้น หรือแช่แข็ง ซึ่งผ่านการกรองและผสมกับ น้ำตาลทำให้มีความข้นเหนียวพอเหมาะ (ส่วนเฉาก๊วยทำจากพืชที่เรียกว่า หญ้าเฉาก๊วยหรือGrass Jelly )สำหรับข้อกำหนดเรื่องการใช้สารกันบูด กรดเบนโซบิก และ กรดซอร์บิก ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) กำหนดไว้ อาหารกลุ่ม แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด สามารถใช้ กรดเบนโซอิก ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถใช้ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม เช่นกัน ทั้งนี้หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ปริมาณรวมที่ใช้ต้องไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตของสารตัวใดตัวหนึ่ง (อิงตัวที่ปริมาณน้อยที่สุด) ซึ่งในกรณีของ เฉาก๊วย อนุญาตให้ใช้สารกันเสีย กรดเบนโซบิก และ กรดซอร์บิก รวมกันสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม -------------------------------------------------------------ฉลาดซื้อแนะนำ1.เฉาก๊วย ชนิดที่จำหน่ายในภาชนะบรรจุ นอกจากจะมีมาตรฐานที่ควบคุมโดยกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ออกโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจที่ช่วยทั้งยกระดับคุณภาพของผู้ผลิตสินค้า และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์2.มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เฉาก๊วย จะดูเรื่องการบรรจุ ภารชนะบรรจุที่สะอาด แห้ง ปิดสนิท สามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกได้ นอกจากนี้ยังดูเรื่องของการแสดงเครื่องหมายและฉลากบนบรรจุภัณฑ์ ต้องมีข้อมูล คือ -ชื่อเรียกผลิตภัณฑ์ เช่น เฉาก๊วย วุ้นดำ เฉาก๊วยหวาน-ส่วนประกอบที่สำคัญ-น้ำหนักสุทธิ-วัน เดือน ปีที่ผลิต และวัน เดือน ปีที่หมดอายุ หรือข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน (วัน เดือน ปี)”-ข้อแนะนำในการบริโภคและการเก็บรักษา เช่น ควรเก็บไว้ในตู้เย็น-ชื่อสถานที่ผลิต พร้อมสถานที่ตั้ง หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในกรณีที่ใช้ภาษาต่างประเทศ ต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น3.คุณลักษณะที่ดีของเฉาก๊วย ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มีดังนี้ สี     ต้องมีสีที่ดีตามธรรมชาติของส่วนประกอบที่ใช้กลิ่นรส     ต้องมีกลิ่นรสที่ดีตามธรรมชาติของส่วนประกอบที่ใช้ ไม่มีกลิ่นแอลกอฮอล์ ปราศจากกลิ่นรสอื่นที่ไม่พึงประสงค์เนื้อสัมผัส    ต้องนุ่ม หยุ่นตัว ไม่แข็งกระด้าง ต้องไม่พบสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่ส่วนประกอบที่ใช้4.ข้อนี้ แค่มองด้วยตาเปล่าอาจดูไม่เห็น แต่ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนกำหนดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในเฉาก๊วยเอาไว้ด้วย -จำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมด ต้องไม่เกิน 1X104  โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัม-เอสเชอริเชีย โคไล โดยวิธีเอ็มพีเอ็ม ต้องน้อยกว่า 3 ตัวอย่าง 1 กรัม-ยีสและรา ต้องไม่เกิน 100 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัมอันตรายของ เบนโซอิก และ ซอร์บิกเป็นกลุ่มสารกันเสียที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ในอาหาร ซึ่งนิยมใช้ใน แยม เยลลี่ ผักผลไม้ดอง เครื่องดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม แต่หากได้รับสารทั้ง 2 ชนิดจากการรับประทานอาหารในปริมาณสูง อาจส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิงเวียน และปวดศีรษะผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560

อ่านเพิ่มเติม >