ฉบับที่ 272 รู้หรือไม่ งานทวงหนี้ ต้องขออนุญาต

        หลังที่โรคระบาดโควิดเริ่มซาลง สภาพเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง หมุนเงินไม่ทัน ก็ต้องวิ่งเข้าหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งแน่นอนว่าสมัยนี้ การกู้ยืมเงินสะดวกมากขึ้น ผู้บริโภคมีช่องทางกู้เงินมากมาย และหนึ่งในช่องทางที่ได้รับความนิยมคือ การกู้ยืมเงินผ่านออนไลน์ หรือแอปพลิเคชั่นกู้เงิน แต่อย่างไรก็ตาม ช่องทางดังกล่าวนี้ ก็มีความเสี่ยง เพราะเห็นในหน้าสื่อต่างๆ อยู่เสมอว่า คนที่กู้เงินผ่านช่องทางพวกนี้ มักเจอการถูกโกงในการกู้เงิน ได้เงินไม่เต็มบ้าง ถูกคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าทวงหนี้สูงเกินไปบ้าง หรือบางรายเจอการทวงหนี้ที่น่ากลัว ข่มขู่ จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ  ในฉบับนี้ จึงขอแนะนำความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ เพื่อประโยชน์ของทุกคน จะได้มีวิธีรับมือกับพวกแก๊งค์กู้เงินผิดกฎหมายครับ         ก่อนอื่น หลายคนไม่ทราบว่า “คำข่มขู่” ของแก๊งค์ทวงหนี้บางเรื่อง มีการอ้างข้อกฎหมายที่ไม่จริง ทำให้คนที่ไม่รู้ หลงเชื่อ  เช่น ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ซึ่งอันนี้ น่าจะเจอกันบ่อยที่สุด ซึ่งอันที่จริง การไม่จ่ายหนี้เป็นความผิดทางแพ่งไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายอาญา ดังนั้นไม่มีการติดคุกแน่นอน แต่ความผิดทางแพ่งเจ้าหนี้ต้องไปใช้สิทธิฟ้องศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้   อีกกรณีคือการขู่ว่าจะมายึดทรัพย์ลูกหนี้ทันทีถ้าไม่จ่าย ซึ่งความจริงคือ เจ้าหนี้จะไปยึดทรัพย์สินลูกหนี้ตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องมีคำสั่งศาลจนคดีถึงที่สุดก่อน ดังนั้น ก็ต้องไปฟ้องศาลก่อนเช่นกัน และหากเผลอมายึดจริงก็อาจมีความผิดฐานลักทรัพย์ได้          เมื่อพูดถึงเรื่องกฎหมาย หลายคนอาจไม่ทราบว่า รัฐได้ออกกฎหมายคุ้มครองลูกหนี้เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม ชื่อว่า “พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558” ซึ่งกฎหมายนี้ ให้การคุ้มครองผู้บริโภคในหลายประการ เช่น ห้ามการติดตามทวงหนี้ ซึ่งมีลักษณะการพูดจาข่มขู่ ดูหมิ่น การเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ การใช้ความรุนแรงทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย อาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท         หากใครประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องมีการขออนุญาตตามกฎกระทรวงการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558  หากใครฝ่าฝืนไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท ส่วนเจ้าหนี้คนไหนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย คิดดอกเบี้ยแพงเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนหรือร้อยละ 15 ต่อปี ถือว่าเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท         ดังนั้น เราจะเห็นว่า ความจริงแล้วคนที่ทำผิดกฎหมาย เสี่ยงติดคุกไม่ใช่ลูกหนี้ แต่เป็นบรรดาเจ้าหนี้และแก๊งค์ทวงหนี้มากกว่า เพราะคนเหล่านี้ทำผิดหลายอย่าง ทั้งเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยแพง ก็ถือว่าคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ดอกเบี้ยส่วนนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับ เงินที่จ่ายต้องเอาไปหักเงินต้นทั้งหมด หรือพวกทวงหนี้ที่ใช้คำหยาบ ทวงไม่เป็นเวลา หรือไม่ขออนุญาตก็ถือว่าเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ถ้าใครเจอปัญหาทวงหนี้ดังกล่าว ขอให้รีบดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1. หยุดจ่าย หยุดสร้างหนี้ใหม่ และรวบรวมหลักฐานเหล่านี้ เพื่อไปแจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมาย ได้แก่ รายการเดินบัญชี (Statement) ที่กู้เงินออนไลน์ ชื่อและหน้าแอปฯ กู้เงินเถื่อน หลักฐานการแช็ต และแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้ดำเนินคดีถึงที่สุด        2. ติดต่อสายด่วนแก้หนี้ 1213 หรือ สายด่วนชนะหนี้ 1443        3. เล่าข้อเท็จจริงและรูปแบบการกระทำของมิจฉาชีพ ลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อเตือนภัยให้กับคนรู้จัก        4. หากถูกปลอมแปลงหรือขโมยข้อมูลออนไลน์จากการโหลดแอปกู้เงินเถื่อน แจ้งสายด่วน 1559         นอกจากนี้ การทวงหนี้ที่ไม่ถูกต้อง เคยมีประเด็นฟ้องร้องต่อศาล และศาลฏีกาได้ตัดสินวางหลักที่น่าสนใจไว้ เป็นกรณี การประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย หากไม่จดมีความผิดทางอาญา ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2562 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2562         “พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บัญญัติว่า  ผู้ใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน...ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า  เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 เวลากลางวัน  จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยรับจ้างบุคคลผู้มีชื่อทวงถามหนี้เงินกู้จาก ร.และประชาชนอื่นซึ่งเป็นลูกหนี้อันเกิดจากการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้...จึงเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดแล้ว  ส่วนจำเลยทั้งสองจะรับจ้างจากบุคคลใดและประชาชนผู้ใดบ้างที่ถูกจำเลยทั้งสองทวงถามหนี้  หาใช่องค์ประกอบความผิดอันจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยไม่  แต่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก็นำสืบได้ในชั้นพิจารณา  การที่โจทก์มิได้ระบุชื่อผู้ว่าจ้างหรือชื่อประชาชนผู้ถูกทวงถามหนี้มาในฟ้อง  จึงไม่ถือว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม  ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158(5)         ความผิดฐานประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยไม่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 5, 39  มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี  จึงไม่ใช่ข้อหาที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น...เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ  ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องโดยไม่สืบพยานต่อไปก็ได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 176 วรรคหนึ่ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ไม่ให้สัญญากู้ยืมเงินแก่ผู้กู้ได้หรือไม่

        ปัจจุบันอัตราภาวะเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่ายภายในครอบครัว เงินสดทันใจก็เป็นที่พึ่งของใครหลายคนผู้ให้กู้ก็มีหลายเจ้า เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่...         ภูผามีค่าใช้จ่ายเพิ่มพูนขึ้นจำนวนมากเดือดร้อนหนักชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องการหาเงินมาหมุนเพื่อครอบครัวของเขาสามารถไปต่อได้ เขาเห็นโฆษณาของบริษัทสินเชื่อสีฟ้าแถวบ้าน ซึ่งมีสาขามากมายทั่วประเทศ ให้กู้ง่าย สะดวก รวดเร็ว แค่มีโฉนดที่ดินก็กู้ได้ ไม่ต้องจำนองด้วย เขาจึงลองเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทสินเชื่อสาขาใกล้บ้านเจ้านั้น เมื่อดูท่าทีว่ามีความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่และบริษัทสินเชื่อที่มีโฆษณาทางทีวี เขาจึงนำโฉนดที่ดินที่เป็นที่สวนของตัวเองเข้าไปกู้ยืมเงินกับบริษัทสินเชื่อ โดยเขากู้เงิน 150,000 บาท เซ็นชื่อในเอกสารของบริษัทเรียบร้อย มีการหักค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการอะไรต่างๆ ของบริษัทประมาณ 3,000 บาท เจ้าหน้าที่ของบริษัทก็ให้บัตรมาใบหนึ่งมีรายละเอียดว่าให้ชำระหนี้ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน หลังจากดำเนินการเรื่องเอกสารเรียบร้อยสักประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากเขาจากบริษัท         หลังจากกู้เงินมาได้ 1 สัปดาห์ เขาก็เล่าให้ลูกชายว่าไปกู้เงินกับบริษัทสีฟ้ามา ลูกชายก็บ่นๆ เขา ว่าทำไมพ่อไม่บอก ไม่น่าไปกู้เงินมาเลย ลูกชายเขาจะได้หาทางช่วย ลูกชายขอพ่อดูสัญญากู้ เขาบอกว่าบริษัทให้บัตรรายละเอียดที่ต้องชำระเงินมา ไม่รู้ว่าบัตรนี้เรียกสัญญาไหม เมื่อเขาคุยกับลูกชายไปมาก็ถึงบางอ้อว่า เอกสารที่บอกว่ากู้เงินกี่บาท ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ต้องชำระยังไง เขาเรียกว่าสัญญา ก็คือเอกสารที่เขาได้เซ็นไปนั่นแหละ สรุปว่าภูผาไม่ได้สัญญากลับมา         พอเห็นว่าพ่อไม่ได้สัญญามาไว้กับตัว ลูกชายจึงให้เขาไปขอสัญญาเงินกู้กับบริษัทสินเชื่อ เมื่อภูผาไปขอสัญญาจากบริษัทฯ พนักงานบริษัทฯ ก็บอกว่าเดี๋ยวให้ๆ วันนี้กลับไปก่อนนะครับ จนเวลาได้ล่วงเลยมา 2 เดือนหลังจากกู้ยืมเงิน ลูกชายเขาเข้าใจว่าบริษัทในฐานะผู้ให้กู้ต้องให้สัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่วันที่ให้พ่อของเขากู้ไม่ใช่หรอ นี่ไปของสัญญากู้ตั้งนานแล้วทำไมยังไม่ได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ลูกชายของผู้ร้องเข้าใจถูกแล้วว่าเมื่อกู้ยืมเงินกันสัญญากู้ต้องทำเป็นสองฉบับ ฉบับหนึ่งผู้ให้กู้เก็บไว้ ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้ผู้กู้เก็บไว้ หรือทำสัญญาฉบับเดียวแล้วถ่ายสำเนาสัญญากู้ให้อีกพร้อมหนึ่งเก็บไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๔ ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดอย่างชัดเจนไว้ว่า “ผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญาเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินให้แก่ผู้บริโภคไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับทันทีที่ผู้บริโภคลงนามในสัญญา” ดังนั้นบริษัทสีฟ้าต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้ร้องทันทีเมื่อได้เซ็นสัญญากัน หากไม่ทำตามมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         ทั้งนี้ผู้ร้องสามารถดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงและให้บริษัทสินเชื่อส่งสัญญาให้ผู้ร้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 กระแสต่างแดน

ห้ามกู้มาจ่ายหน่วยงานด้านกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นเสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของทายาทหรือคู่ครองของบุคคลที่ “บริจาคเกินตัว” จนครอบครอบครัวต้องลำบากร่างกฎหมายดังกล่าวห้ามการบริจาค “เงินที่ได้จากการกู้ยืม” และเงินจากการขายบ้านที่เป็นทรัพย์สินของครอบครัว หากได้บริจาคไปแล้วก็ให้ถือเป็นโมฆะ ลูกหลานหรือคู่ครองสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ การบริจาคดังกล่าว หมายถึงการบริจาคให้กับองค์กรทุกประเภท (ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรทางศาสนา) นอกจากนี้รัฐสภาญี่ปุ่นได้โหวตให้แก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการกับ “เทคนิคการขายแบบพิสดาร” ขององค์กรศาสนาบางแห่ง เช่น การบอกสมาชิกว่าถ้าไม่บริจาคแล้วโชคร้ายจะติดตัวไป หรือจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านถ้าไม่จ่าย เป็นต้น เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับชายญี่ปุ่นที่ตัดสินใจลอบสังหารอดีตนายกชินโซ อาเบะ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ “โบสถ์แห่งความสามัคคี” ที่ทำให้แม่ของเขาต้องหมดตัวเท่านั้น ปัจจุบันมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านอยู่ หรือต้องใช้ชีวิตอย่างยากแค้นเพราะพ่อแม่นำเงินไปทุ่มเทให้กับองค์กรเหล่านี้  ให้ความร่วมมือดี         คุณอาจกำลังสงสัยว่าประเทศอย่างสิงคโปร์ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านในโซนนี้หรือไม่ ... คำตอบคือ ไม่น้อย ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมาชาวสิงคโปร์ โดนมิจฉาชีพหลอกโอนเงินทางโทรศัพท์ไปแล้ว 51 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 3.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 85 ล้านบาท) รายที่โดนหนักสุด สุญเงินไปถึง 700,000 เหรียญ (18 ล้านบาท) เริ่มจากการที่เหยื่อได้รับโทรศัพท์จาก “เจ้าหน้าที่ธนาคาร” ที่แจ้งว่า “บัญชีของคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน” จากนั้นก็โอนสายให้คุยกับ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่จะยืนยันตัวตนด้วยการส่งรูปบัตรประจำตัวมาให้ดูประกอบความน่าเชื่อถือ จากนั้นก็อธิบายสถานการณ์แล้วขอให้เหยื่อโทรหา “เจ้าหน้าที่สอบสวน” กรณีดังกล่าวโดยตรง ตามด้วยจดหมายจาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติของสิงคโปร์” ที่ขอความร่วมมือให้เหยื่อช่วยสืบสวนหาต้นตอของ “เงินผิดกฎหมาย” ดังกล่าว ระหว่างนั้นก็ขอให้เหยื่อโอนเงินของตัวเองไปเก็บไว้ใน “บัญชีที่ปลอดภัย” ที่เขาจัดไว้ให้ ... งานนี้ไม่อยากเป็นมิตร         รัฐบาลฮ่องกงได้อนุมัติการผลิตและการใช้ “โลงศพชนิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มาตั้งแต่ปี 2007 โดยนำร่องใช้กับพิธีเผาศพไม่มีญาติ ตามด้วยการออกระเบียบให้ผู้ให้บริการพิธีเผาศพนำเสนอ “โลงอีโค” ให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของลูกค้าเสมอ โลงอีโคทำจากกระดาษและวัสดุรีไซเคิล สามารถติดไฟและเผาไหม้ได้ดีจึงประหยัดพลังงาน และยังปล่อยก๊าซอันตรายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับโลงแบบดั้งเดิมที่ทำจากไม้ทั้งต้น ยิ่งไม้มีความแข็งแรง ก็ยิ่งลุกไหม้ยาก ในขณะที่สีย้อมไม้ น้ำมันเคลือบเงา ที่จับโลหะ รวมถึงผ้าบุด้านใน ล้วนก่อให้เกิดสารอันตรายเมื่อติดไฟอีกด้วย  สภาผู้บริโภคฮ่องกงพบว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีการใช้โลงอีโคเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ไม่สอดคล้องกับผลการสำรวจเมื่อปี 2015 ที่พบว่าคนฮ่องกงถึงร้อยละ 67 ยินดีจะเปลี่ยนมาใช้โลงอีโคถ้าพวกเขาต้องวางแผนจัดงานศพ หรืออาจเพราะปัจจัยด้านราคา สภาฯ พบว่าโลงสองประเภทนี้ราคาไม่ต่างกัน (5,000 เหรียญ หรือประมาณ 22,300 บาท) สธ. ต้องรับผิดชอบ         ครอบครัวชาวอินโดนีเซีย 12 ครอบครัว รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอาหารและยา ที่ล้มเหลวในการสกัดกั้นการจำหน่าย “ยาแก้ไอมรณะ” ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตเพราะอาการไตวายไปแล้วเกือบ 200 คน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังฟ้องบริษัทที่เป็นผู้จัดหายาดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีส่วนประกอบของสารอันตราย ไดเอทธิลีน ไกลคอล และเอทธิลีน ไกลคอล เกินมาตรฐาน (สารดังกล่าวใช้ในอุตสาหกรรมสี หมึก และน้ำมันเบรก เป็นต้น) ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำการสอบสวนและสั่งระงับการจำหน่ายยาดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยา 2,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 4.46 ล้านบาท) สำหรับผู้เสียชีวิต และ 1,000 ล้านรูเปียห์ สำหรับผู้ที่สูญเสียไต เหตุดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในแกมเบีย และก่อนหน้านั้นในรัฐจัมมูของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยาดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้สั่งปิดโรงงานที่ผลิตแล้ว ใครๆ ก็กินได้ ธุรกิจ “โลว์คอสต์” มักมีการแข่งขันสูง ซูชิโลว์คอสต์ก็เช่นกัน ล่าสุดประธานบริษัท Kappa Create หนึ่งในสี่ผู้ประกอบการร้านสายพานซูชิรายใหญ่ของญี่ปุ่น ถูกจับในข้อหา “ขโมยข้อมูลสำคัญทางธุรกิจ” จาก Hana Sushi ที่เขาเคยเป็นพนักงานมาก่อน ข้อมูลที่ขโมยมาคือรายการต้นทุนของแต่ละเมนู และบริษัทจัดหาวัตถุดิบของคู่แข่งนั่นเอง อุตสาหกรรมนี้เติบโตมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็อยากกินซูชิที่ราคาเริ่มต้นแค่จานละ 100 เยน (ประมาณ 25 บาท) และราเมนหรือขนมที่ราคา 300 หรือ 400 เยน ก็โดนใจผู้บริโภคสายประหยัดยิ่งนักส่งผลให้ผู้ประกอบการงัดกลยุทธออกมาแย่งลูกค้ากัน บางทีก็ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก นักวิชาการคาดว่าเรื่องแบบนี้จะมีให้เห็นกันอีก ก่อนหน้านี้ Sushiro เจ้าใหญ่ที่มีถึง 600 สาขาทั่วญี่ปุ่น ก็ทำทีโปรโมทเมนู​พิเศษ “ซูชิหอยเม่น” (เจ้าอื่นไม่มีเมนูนี้เพราะไม่สามารถหาวัตถุดิบได้) แต่เมื่อลูกค้าไปถึงร้าน กลับไม่มีเมนูดังกล่าวให้ ทางร้านอ้างว่า “ขายดีเกินคาด” ของจึงหมดสต็อก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ยืมเงินผ่านแชต เป็นหลักฐานฟ้องศาลได้ไหม

          สวัสดีครับ ฉบับนี้นำเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันมาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะเรื่องการหยิบยืมเงิน ที่ต้องบอกว่าไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ที่อะไรๆ ก็ดูแพงไปหมด เกิดภาวะเงินขาดมือ หมุนไม่ทัน ก็ต้องหยิบยืมจากคนใกล้ตัวมาหมุนไปก่อน และช่องทางสื่อสารที่นิยมกัน ยืมเงินกันง่ายไม่ต้องมาจ้องตา คือคุยยืมกันผ่านอินบ๊อกในเฟซบุ๊คหรือไลน์  ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบว่าข้อความแชตสนทนาในเฟซบุ๊คหรือไลน์ ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องได้  จึงอยากนำความรู้ดีๆ มาฝากสำหรับการแชตอย่างไรให้มีหลักฐาน และมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง        ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยืมเงินกันก่อน โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดเกี่ยวกับการยืมเงินกันไว้ว่า ถ้ามีการกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาท ต้องทำหนังสือเป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 กล่าวถึง "ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่น ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น"        จากข้อความดังกล่าวถูกตีความว่า แชตที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแทนหนังสือ ต้องมีองค์ประกอบดังนี้            1. ข้อความสนทนา (Chat) ที่ระบุข้อความขอยืมเงิน จำนวนเงิน และเห็นบัญชีผู้ใช้ว่าเป็นใครมาขอยืมเงิน            2. บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (Account) ในแชตจะต้องสามารถระบุชื่อบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน และเป็นข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้ที่มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้            3. หลักฐานการโอนเงิน (Slip) ที่ระบุวันเวลาที่โอนเงิน ไม่แก้ไขวันเวลารับส่งข้อความ             หากมีหลักฐานดังที่กล่าวมา ถือเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้[1]            อีกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องการฟ้องคดีกู้ยืมเงิน คือ อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน  โดยแบ่งเป็นสองลักษณะ คือ 1.   ถ้าสัญญากู้ยืมเงินมีกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ จะมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2553 แม้จะมีข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินกู้คืนทุกเดือนตามคำสั่งหรือกำหนดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน เดือนละ 148,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี เริ่มชำระคืนงวดแรกวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 และงวดต่อๆ ไปทุกวันที่ 23 ของเดือนจนกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยจะได้มีการชำระครบถ้วนแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อผู้ให้กู้เดิมและจำเลยที่ 1 เลือกผูกพันตามข้อตกลงในการชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยวิธีชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือนรวมระยะเวลา 5 ปี นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กู้เดิมหรือโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามข้อตกลงที่คู่สัญญาเลือกปฏิบัติผูกนิติสัมพันธ์กันนั้น เมื่อข้อตกลงชำระหนี้เงินกู้คืนที่ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันนั้นเป็นการชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) หาใช่มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ตามที่โจทก์ฎีกาไม่ อนึ่ง กรณีที่มีการชำระต้นเงินคืนบางส่วน หรือชำระดอกเบี้ย ย่อมเป็นกรณีลูกหนี้รับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และให้นับอายุความใหม่นับแต่เวลานั้น ตามป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 2.   สัญญากู้ยืมเงินที่ไม่มีข้อตกลงให้ผ่อนชำระคืนต้นเงินเป็นงวดๆ จะใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 "มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี" สัญญากู้ยืมเงินที่มีข้อตกลงให้ชำระต้นเงินคืนในคราวเดียว เช่น ให้ชำระต้นเงินทั้งหมดคืนในวันที่ 30 มิ.ย.59 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6830/2551 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง และจะต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า การกู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป” จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสาร จ.1 ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกเดือน ซึ่งจะครบกำหนดชำระดอกเบี้ยเดือนแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 การที่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันทีตามสัญญาข้อ 6 โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไป โดยไม่จำต้องรอจนครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญาอายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 10 ปีวันที่ 10 มิถุนายน 2549 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ หมายเหตุ แม้สัญญากู้ยืมเงินที่พิพาทในคดีนี้ แม้มีจะข้อตกลงให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แต่ในส่วนของต้นเงินนั้น คู่สัญญาตกลงกันให้ชำระในวันที่ 9 พ.ค.40 ในคราวเดียว จึงใช้อายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 [1] เพจเฟสบุ๊ค สำนักงานกิจการยุติธรรม

อ่านเพิ่มเติม >