ฉบับที่ 219 กระแสต่างแดน

มากกว่าเรียกคืน        กระทรวงการขนส่งไต้หวันเตรียมดำเนินการตามกฎหมายหากบริษัทมาสด้าไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบความปลอดภัยของรถยนต์สองรุ่นที่ถูกร้องเรียนโดยผู้ใช้ 36 ราย          หลังการร้องเรียน บริษัทประกาศเรียกคืนรถดีเซลรุ่น Mazda CX5 และ Mazda 6 Skyactive ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมด้วยปัญหามีน้ำดันออกจากหม้อน้ำ         นอกจากนั้นผู้ใช้รถทั้งสองรุ่นยังพบปัญหาอื่นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปผสมกับน้ำมันเครื่อง รวมถึงเซ็นเซอร์ท่อไอเสียไม่ทำงาน ศูนย์รับรองความปลอดภัยยานยนต์ จึงได้ขอให้มาสด้าส่งรายงานการตรวจสอบปัญหาสองเรื่องนี้ด้วย         รายงานที่บริษัทส่งมาเพียงชี้แจงว่า ปัญหาเรื่องน้ำมันเกิดจากความผิดพลาดในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบสองสามกรณีเท่านั้น และไม่ได้ชี้แจงเรื่องเซ็นเซอร์ว่ามันส่งผลอย่างไรต่อการทำงานของเครื่องยนต์        การหลีกเลี่ยง ขัดขวาง หรือปฏิเสธการตรวจสอบโดยกระทรวงฯ ถือเป็นความผิดตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีโทษปรับ 30,000 ถึง 300,000 เหรียญไต้หวัน ละเลยความปลอดภัย        ครอบครัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายซ่อมบำรุงของบริษัทรถไฟไต้ดินสเปนฟ้องศาลแรงงานเพื่อเรียกค่าเสียหาย 400,000 ยูโร จากบริษัท โทษฐานที่รับรู้อันตรายของแร่ใยหินตั้งแต่ปี 1991 แต่ไม่ได้กระทำการใดๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้พนักงาน        พนักงานคนดังกล่าวเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อเดือนตุลาคม 2018 ขณะมีอายุ 60 ปี เขาทำงานให้กับ “มาดริดเมโทร” มานานกว่า 30 ปี ญาติของผู้ตายระบุว่า เขาล้มป่วยเนื่องจากได้รับแร่ใยหินมากเกินไป         แร่ใยหินมีประโยชน์ในการเป็นฉนวนกันเสียง ความร้อนและกระแสไฟฟ้า แต่การหายใจเอาฝุ่นแร่ใยหินเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบของปอดและพัฒนาไปสู่มะเร็งได้ โดยอาจใช้เวลา 20 ปีกว่าจะแสดงอาการ อันตรายจากแร่ใยหินเป็นที่รู้กันตั้งแต่ช่วงปี 1990 และทำให้เกิดการประกาศห้ามใช้ทั่วยุโรป สเปนก็ประกาศห้ามใช้แร่ใยหินในปี 2002         ปัจจุบันยังมีแร่ใยหินหลงเหลืออยู่ในระบบรถไฟไต้ดินของสเปน มาดริดเมโทรสัญญาว่าจะใช้งบประมาณ 140 ล้านยูโรเพื่อกำจัดแร่ใยหินออกจากระบบภายในปี 2025ยาต้องไม่ปนเปื้อน        สเปนเป็นอีกประเทศที่มีผู้ป่วยหันมาใช้กัญชาในการรักษาโรคมากขึ้น แต่การปลูกและการจำหน่ายกัญชายังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คนจึงหันไปพึ่งกัญชาที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศ        การตรวจสอบทางนิติเวชโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Complutense พบว่าร้อยละ 88.3 ของตัวอย่างกัญชาที่ลักลอบขายกันตามท้องถนนทั้งหมด 90 ตัวอย่าง ไม่เหมาะที่จะใช้บริโภค เพราะมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียชนิดที่อยู่ในอุจจาระคน        ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนที่ลักลอบนำเข้ากัญชาจะใช้วิธีม้วนใบกัญชาเป็นก้อนกลมๆ ห่อด้วยพลาสติก แล้วกลืนลงท้องไป เมื่อเดินทางข้ามแดนมาถึงสเปนก็จะกินยาถ่ายขับออกมาเพื่อนำไปขาย        ผู้ที่ได้รับแบคทีเรียอีโคไลชนิดที่เป็นพิษอาจจะอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นร้อยละ 10 ของตัวอย่างยังมีเชื้อรา aspergillus ซึ่งอันตรายมากหากผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำสูดหายใจเอาสปอร์ของมันเข้าไป  ผลไม้แปลงสัญชาติ        คนฝรั่งเศสชอบทานกีวี่ แม้จะมีราคาแพงแต่ผู้คนก็กัดฟันควักกระเป๋าเพราะรู้ดีว่ากีวี่ที่ปลูกในประเทศนั้นมีต้นทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากรัฐบาลประกาศห้ามใช้สารเคมีอันตรายในการฆ่าเชื้อราเพื่อยืดอายุผลไม้ เกษตรกรจึงต้องลงทุนสูงขึ้นเพื่อสร้างห้องเย็น         ความต้องการบริโภคกีวี่มีมากถึง 80,000 ตันต่อปี แต่เกษตรกรประมาณ 1,100 ราย ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ สามารถผลิตได้ปีละ 55,000 ตันเท่านั้น จึงต้องมีการนำเข้ากีวี่จากนิวซีแลนด์ ชิลี และอิตาลี เป็นต้น เนื่องจากอิตาลียังไม่แบนสารเคมีดังกล่าว ต้นทุนการผลิตกีวี่ที่นั่นจึงค่อนข้างต่ำ         หน่วยงานต่อต้านการคอรัปชั่นของฝรั่งเศสออกมาเปิดโปงว่า สามปีที่ผ่านมีกีวี่จากอิตาลีได้รับการ “แปลงสัญชาติ” เป็นกีวี่ที่ปลูกในฝรั่งเศส” ไปทั้งหมด 15,000 ตัน         บริษัทที่นำเข้าผลไม้ดังกล่าวกำลังจะถูกดำเนินคดี แต่ก็ได้กำไรไปแล้วกว่า 6,000,000 ยูโร  แอปแอบแชร์        ทีมวิจัยจากออสเตรเลียที่ทำการสำรวจแอปยอดนิยมในสมาร์ตโฟนสำหรับอาการซึมเศร้าและการเลิกบุหรี่จำนวน 36 แอปทั้งในแอนดรอยด์และ iOS พบว่า ร้อยละ 90 ของแอปดังกล่าวมีการแชร์ข้อมูลของผู้ใช้ไปยังบุคคลที่สาม         มีเพียงสองในสามเท่านั้นที่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบในนโยบายความเป็นส่วนตัว แต่นโยบายเหล่านี้ก็ไม่ได้บอกชัดว่าข้อมูลที่เก็บไปจะถูกนำไปใช้อย่างไร โดยใคร         เฉลยตรงนี้ว่ามีถึง 29 แอปที่แชร์ข้อมูลผู้ใช้ให้กับเฟซบุ้คและกูเกิ้ลโดยเฉพาะ         นักวิจัยพบว่าในบรรดา 33 แอปที่ส่งข้อมูลให้บุคคลที่สามนั้น มีทั้งที่ส่งข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้หรือการระบุสมาร์ตโฟนเครื่องที่ใช้ บ้างก็ส่งข้อมูลรวมๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ใช้เพื่อประโยชน์ในการทำโฆษณา ยิ่งกว่านั้นบางแอปยังส่งข้อมูลที่ผู้ใช้บันทึกไว้ เช่น ไดอารี่สุขภาพหรือยาที่กินด้วย         สรุปว่าถ้าแอปรู้ โลกก็รู้...   

อ่านเพิ่มเติม >