ฉบับที่ 271 แอปพลิเคชัน FoodiEat กินดีมีสุข

เคยได้ยินคำว่า ดัชนีมวลกาย กันไหม         ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) คือ มาตรการที่ใช้ประเมินภาวะอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถทำได้โดยการชั่งน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และวัดส่วนสูงเป็นเซนติเมตร แล้วนำมาหาดัชมีมวลกาย โดยเกณฑ์มาตรฐานอยู่ระหว่าง 23 - 24.90 kg/m2 ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 23.0 ขึ้นไป ถือว่าน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ตามมาได้         การควบคุมอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยให้สามารถลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ดังนั้นเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของตนเอง โดยเลือกกินอาหารให้หลากกลาย แต่มีประโยชน์ และควรกำหนดปริมาณการกินที่เหมาะสมต่อความต้องการพลังงาน ทั้งนี้ก็ไม่ควรลด งด หรือ อดอาหารมากจนเกินไป โดยเฉพาะการรับประทานอาหารเช้าซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อสะสมไว้ใช้ทำกิจกรรมทั้งวัน ส่วนอาหารเย็นควรรับประทานไม่หนักมาก เนื่องจากจะมีโอกาสเผาผลาญพลังงานได้น้อย ทำให้พลังงานเหล่านั้นถูกสะสมในร่างกายกลายเป็นไขมันได้         ลองมาควบคุมพฤติกรรมการกินอาหารผ่านแอปพลิเคชัน FoodiEat กันดีกว่า แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนามาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมการกินอาหาร และการออกกำลังกาย         การใช้งานไม่ยาก เพียงดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน วันเกิด เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง รอบเอว เพื่อลงทะเบียน ระบบจะเริ่มต้นโดยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน (BMR) หรือเรียกว่าค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวันโดยไม่รวมการทำกิจกรรมต่างๆ ต่อจากนั้นกรอกข้อมูลประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อและข้อมูลการออกกำลังกายของทุกวัน แอปพลิเคชันจะคำนวณพลังงานของอาหารหักลบอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถควบคุมและวางแผนการการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้         นอกจากนี้แอปพลิเคชันจะรวบรวมประวัติในรูปแบบสถิติ เพื่อให้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบย้อนหลังได้ และยังมีข้อมูลความรู้ คำแนะนำ เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าอยากเปลี่ยนตัวเองให้กลับมามีรูปร่างสมส่วน ห่างไกลโรคร้าย ต้องเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการใช้แอปพลิเคชัน FoodiEat เพื่อดูแลสุขภาพกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ระวัง “ไลฟ์ tiktok หลอกกินเงิน”

        แอพ tiktok นั้นฮิตติดลมบน มีคอนเทนต์น่าสนใจมากมาย แน่นอนคอนเทนต์ขายของก็มาด้วย เจอที่ดีก็ดีไป เจอแย่ๆ จะเสียใจเจ็บใจอย่างเช่นผู้ร้องรายนี้ ดังนั้นก่อนจะหลงคารมผู้ขาย ท่องไว้อย่ามือไวโอนเร็ว         “สวัสดี ทุกคน ผมบอสหนึ่งเรากำลังตามหาผู้โชคดีได้สิทธิ์ซื้อ iPHONE มือ 1 รุ่นล่าสุด ราคาถูกสุดๆ 499 บาท ถ้าคุณอยากได้ของดี ของถูกต้อง @ LINE มาหาเรา แจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ์ แล้วเราจะสุ่มเลือกผู้โชคดี”         ยังไม่สิ้นเสียงบอสหนึ่ง คุณสมชายผู้เสียหายของเรา LINE ไปทันที “บอสหนึ่งแจ้งรับโปร 499 จากนั้นแป๊บเดียวมีเสียงไลน์แจ้งเตือนเข้ามา แอดมินแจ้งว่า “คุณ (คุณสมชาย) เป็นผู้โชคดีได้ iPhone 13 Pro มือ 1 มูลค่าเกือบ 4 หมื่นบาท แต่คุณจ่ายเงินแค่ 499 บาท ก็รับของได้เลย”         คุณสมชายรู้สึกดีใจมากๆ “โหย โคตรโชคดี” (เขาคิดในใจ) ที่ตนเองเป็นผู้โชคดี ดังนั้นจึงส่งข้อความ “แอดมินส่งบัญชีรับโอนมาเลยครับ” ก็คนมันดีใจมากไม่ทันคิดอะไร จ่ายแค่เงินไป 499 บาท ได้ iPhone 4 หมื่นเลยนะ ทว่าทันทีที่ส่งสลิปโอนเงินเข้าไลน์ไป อีกฝั่งก็บล็อกไลน์คุณสมชายทันควัน ติดต่อไม่ได้อีกเลย         แน่ใจแล้วว่าตนเองโดนหลอกแน่ๆ หลังจากหลงกลจากคำเชิญชวนใน วันเกิดเหตุ 1 มีนาคม 2566  ไลฟ์ tiktok บัญชีที่ชื่อว่า steamedboss (บอสหนึ่ง) ไม่คิดเลยว่าจะถูกโกงไม่รู้จะเอาเงินคืนอย่างไร จึงอยากมาขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝากเตือนใจกันไว้ อย่าโอนไว กรณีนี้ “เป็นการสุ่มรับโทรศัพท์หลอกว่าจะได้โทรศัพท์...สุดท้ายไม่ได้รับอะไรเลย พฤติการณ์แบบนี้เจตนาโกงชัดเจน เพราะบล็อกทุกช่องทางการติดต่อเข้าข่ายฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นผู้เสียหายต้องรีบไปแจ้งความกับตำรวจ โดยต้องบอกถึงพฤติการณ์ที่บ่ายเบี่ยงของผู้ขาย ซึ่งน่าจะเป็นแก๊งมิจฉาชีพ การร้องทุกข์นี้ต้องดำเนินการภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นคดีอาญาจะขาดอายุความไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 โดนเก็บเงินค่ามอเตอร์ไซต์เกินราคา

การใช้บริการรถรับจ้างไม่ว่าจะรถมอเตอร์ไซต์ รถแท็กซี่ ฯลฯ นอกจากจะต้องระวังเรื่องความปลอดภัยแล้ว ก็คงไม่พ้นที่จะต้องระวังเรื่องการฉวยโอกาสคิดเงินเกินราคาของคนขับที่มีข่าวให้เห็นกันบ่อยๆ  ไม่ว่าจะชอบคิดเหมาๆ ไม่ยอมคืนเงินทอน หรือไม่กดมิเตอร์ เหมือนกับที่คุณน้ำตาล ซึ่งชอบนั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆ เรื่องราวมีอยู่ว่าโดยปกตินั้นเธอมักจะนั่งรถมอเตอร์ไซต์ช่วงเย็นตอนกลับบ้านเนื่องจากมันสะดวกและเร็วดี วันเกิดเหตุเธอต้องแวะไปซื้อของที่ห้างใกล้บ้าน เธอจึงเลือกนั่งรถไฟฟ้าโดยให้เลยไปอีกหนึ่งสถานีซึ่งติดกันกับห้างสรรพสินค้า         เมื่อจัดการธุระซื้อข้าวของที่ห้างฯ อย่างสบายใจ ตอนกลับเธอก็เลือกกลับด้วยมอเตอร์ไซต์เพราะไม่อยากหิ้วของขึ้นรถไฟฟ้าย้อนกลับ จึงลงไปเข้าแถวเพื่อต่อรถวินเตอร์ไซต์กลับบ้าน พอถึงคิวก็บอกพี่วินว่าไป อพาร์ทเม้นท์.....ค่ะ  ครั้นพอมาถึงที่หมายปลายทางก็จ่ายพี่วินไป 30 บาท (เธอนั่งประจำ) แต่พี่วินบอก 35 บาทครับ ก็จ่ายไปโดยไม่คิดอะไร (ปกติ 30 บาท) เพราะตอนนั้นนึกว่าอาจจะขึ้นราคาแล้วก็ได้ก็น้ำมันมันแพง แต่...           “คือก็คิดว่าเรื่องราวจะจบลงไปแค่วันนั้นใช่ไหมคะ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นพออีกไม่กี่วันก็ไปขึ้นวินที่เดิมอีกแต่คราวนี้ยื่นแบงค์ 50 ไปพี่วินทอนมา 20 บาท”  อ้าว! ก็ 30 บาท เลยถามพี่คนขับ (คนละคนกับวันก่อน) ว่าวินขึ้นราคาแล้วไม่ใช่เหรอคะ พี่เขาก็ตอบว่าครับขึ้นราคาแล้วครับแล้วพี่วินก็ขี่รถไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เก็บเงินเธอเพิ่ม แม้จะงงๆ อยู่ แต่คุณน้ำตาลเชื่อว่า วันก่อนหน้านี้น่าจะคิดเกินราคาจริงแน่ๆ เพราะไม่ใช่ว่าเธอไม่เคยโดน สมัยตอนเป็นนักศึกษาเธอเคยโดนวินคิดเงินเกินราคาอยู่ แต่ที่ตอนแรกเธอไม่ได้เอะใจเพราะเธอไม่ได้นั่งนานแล้วจึงคิดอาจขึ้นราคาจริงๆ แต่พอมาเจออีกคันคิดแค่ 30 บาท จึงคิดขึ้นได้ว่าคงโดนซะแล้วววว  แถมตอนนี้จะให้ไปร้องเรียนกับใครก็คงไม่ได้เพราะเธอก็จำวินคันนั้นไม่ได้แล้ว จึงได้แต่มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้ระมัดระวังกันด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา                                   จริงๆ คุณน้ำตาลมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ผู้บริโภคที่เจอประสบการณ์ดังกล่าวนั้น ได้ทราบถึงวิธีการร้องเรียนและแก้ไขปัญหาเพราะไม่อยากให้ปล่อยไปเหมือนคุณน้ำตาล เนื่องจากหากไม่ร้องเรียนวินมอเตอร์ไซต์บางที่ก็จะเอาเปรียบเราไปเรื่อยๆ ดังนั้นควรที่จะร้องเรียนเพื่อสิทธิของตนเอง วิธีการร้องเรียน มีดังนี้        1. จำเบอร์วินมอเตอร์ไซต์คันนั้นไว้ให้แม่น หรือ ชื่อ-นามสกุล        2.บันทึกทะเบียนไว้ หรืออาจจะถ่ายเก็บไว้ยิ่งดี        3.ควรจำเหตุการณ์ว่าเป็นวันไหน เวลาอะไร สถานที่เกิดเหตุที่ไหน        4. โทรไปร้องเรียนกับเบอร์ 1584 (กรมขนส่งทางบก) 24 ชั่วโมง และยังมีช่องทางอื่นๆ ได้แก่                4.1 Line ID “@1584dlt”                  4.2 เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/                4.3 E-Mail : dlt_1584complain@hotmail.com และ                4.4 เฟซบุ๊ก “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ”                      อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้บริการลองสอบถามราคาก่อนหรืออ่านป้ายแสดงราคา เพื่อไม่ให้พลาดพลั้งค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 259 กินอย่างไรจึงอายุยืน

        นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการศึกษาด้านอาหารและโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับ การควบคุมแคลอรีและโปรตีน ในอาหารว่า ความเหมาะสมของสารอาหารทั้งสองมีประโยชน์เกี่ยวกับช่วงอายุ (lifespan) ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในสัตว์ที่มีอายุไขสั้น เช่น หนอน Caenorhabditis elegans ไปถึงสัตว์ที่ใหญ่กว่าเช่น หนู กระต่าย ลิง ตลอดจนการศึกษาทางระบาดวิทยาและการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ในคน         มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สัดส่วนในอาหารของโปรตีนที่ถูกควบคุมปริมาณให้ไม่มากแต่ต้องเพียงพอต่อความต้องการของการดำรงชีวิต หรือเป็นการบริโภคโปรตีนจากพืชตระกูลถั่วในระดับแม้อาจสูงกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์นั้นอาจเพิ่มช่วงอายุและก่อให้เกิดสุขภาพที่ดีโดยมีสมมุติฐานว่า เป็นการลดการบริโภคกรดอะมิโนบางชนิดซึ่งหมายถึง เมไทโอนีน (methionine) ทั้งนี้เพาะกรดอะมิโนเมไทโอนีนนั้นได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับกระบวนการที่เป็นวิถีทางของกระบวนการของการแก่ของเซลล์ต่างๆ ดังอธิบายไว้ในบทความเรื่อง Methionine Restriction Extends Lifespan in Progeroid Mice and Alters Lipid and Bile Acid Metabolism ในวารสาร Cell Reports ของปี 2018 โดยบทความนี้ได้ให้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในหนู mouse ว่า การจำกัดปริมาณกรดอะมิโนเมไทโอนีนลงระดับหนึ่งช่วยลดการถอดรหัสของดีเอ็นเอเพื่อสร้างโปรตีนที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดการอักเสบและการตอบสนองเมื่อเกิดจากความเสียหายของ DNA และช่วยฟื้นฟูเซลล์เนื่องจากเกิดความผิดปกติของเมตาบอลิซึมที่เกี่ยวกับไขมันและกรดน้ำดี สำหรับคำว่า progeroid ที่อยู่ในบทความที่กล่าวถึงนั้นเป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบายถึงกลุ่มอาการของความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดน้อยมากในคน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีลักษณะทางคลินิกที่คล้ายคนแก่ทั้งที่ยังหนุ่มสาว เช่น ผมร่วง รูปร่างเตี้ย ความหนาแน่นและลักษณะของผิวหนังเป็นแบบคนแก่ มักเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน         ในประเด็นเกี่ยวกับการมีอายุยืนเพราะมีรูปแบบการกินอาหารเหมาะสมนั้น Wikipedia และเว็บไซต์ต่าง ๆ (ซึ่งมีเอกสารวิชาการอ้างอิงในแหล่งเหล่านั้น) กล่าวถึง ชาวโอกินาวา (Okinawa) ในญี่ปุ่น ชาวบาร์บาเกีย (Barbagia) ในอิตาลี และชาวโลมา ลินดา (Loma Linda) ในสหรัฐอเมริกา         ชาวโอกินาวา ซึ่งมักประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรมอื่นๆ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น มีอัตราการเป็นโรคหัวใจ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงภาวะกระดูกพรุนที่ต่ำกว่าคนญี่ปุ่นที่มีอายุ 90 ปีเท่ากัน สิ่งที่น่าสนใจคือ พบว่าการทํางานของสมองและร่างกายของคนญี่ปุ่นทั่วไปมักลดลงต่ำกว่า 50% ในขณะที่ชาวโอกินาวานั้น ยังมีสภาพร่างกายที่สามารถทํางานได้ราว 85 % ของเมื่อยังหนุ่มสาว โดยรูปแบบการกินของชาวโอกินาวา คือ        o  กินอาหารหลากหลายในแต่ละวันซึ่งตรงกับหลักการทางพิษวิทยาที่ว่า การได้รับสารเคมีทั้งธรรมชาติและสังเคราะห์ในอาหารนั้น ถ้าไม่จำเจนักร่างกายควรกำจัดทิ้งได้จนไม่เกิดการสะสม        o  กินอาหารในแต่ละมื้อให้รู้สึกอิ่มเพียง 80% เท่านั้น หรือแค่ให้ไม่รู้สึกหิว (เพราะหลังจากนั้นร่างกายจะปรับกระบวนการทางสรีระวิทยาที่จะส่งข้อมูลไปสมองว่า อิ่มแล้ว) เพื่อเป็นการป้องกันการกินเกินจนเป็นโรคอ้วน        o  กินอาหารทํามาจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ มิโซะ ซอสถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว และถั่วหมักอื่น ๆ ซึ่งมีสารพฤกษเคมีช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และภาวะกระดูกพรุน        o  ดื่มน้ำมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพื่อช่วยในการนำของเสียหรือสารพิษที่ร่างกายปรับเปลี่ยนเรียบร้อยแล้วออกจากร่างกาย        o  กินอาหารเช้าเป็นอาหารหลักเพื่อให้ร่างกายปฏิบัติภาระกิจได้เต็มที่หลังจากอดอาหารในช่วงการนอนหลับทั้งคืน โดยลดปริมาณอาหารมื้ออื่นๆ ให้ต่ำลงในด้านพลังงาน        o  ปลูกผักกินเองและเผื่อแผ่เพื่อนบ้านเพื่อเลี่ยงสารเคมีตกค้าง        o  กินอาหารทะเลซึ่งอุดมไปด้วยไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทั้งนี้เพราะมีงานวิจัยกล่าวว่า โอเมก้า-3 อยู่ในกระบวนการที่ลดการสร้างพรอสตราแกรนดิน (prostraglandin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอักเสบ (inflammation) ของเนื้อเยื่อ         ชาวบาร์บาเกีย เป็นกลุ่มชนที่อาศัยในแคว้นซาร์ดิเนียของอิตาลีซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงถือว่ากิน อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (ซึ่งต่างจากอาหารอิตาเลียนแทบจะโดยสิ้นเชิง) ทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจน้อยที่สุดในโลก ซึ่งรูปแบบการกินของชาวบาร์บาเกีย คือ        o  กินอาหารมื้อเช้าเป็นหลัก โดยมีผักสด ผลไม้สด ธัญญาหาร ข้าวไม่ขัดสี เป็นองค์ประกอบหลักซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่าง ๆ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่        o  ปรุงอาหารด้วยน้ำมันมะกอกซึ่งเป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (ซึ่งมีโอกาสถูกเปลี่ยนให้เป็นอนุมูลอิสระน้อยมากต่างจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) ในน้ำมันถั่ว รำขาว และอื่น ๆ ซึ่งถึงมีประโยชน์สูงแต่ถ้ากินมากต้องกินร่วมกับพืชผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย) และมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล        o  กินอาหารที่มีถั่วเปลือกแข็งต่างๆ ซึ่งมีวิตามินอีและวิตามินอื่น ๆ สูงเป็นประจำ        o  ใช้สมุนไพรและเครื่องเทศในการปรุงอาหารกินเอง โดยหวังประโยชน์จากพฤกษเคมีในปริมาณที่เหมาะสม        o  ดื่มไวน์พร้อมอาหารมื้อเย็นไม่เกิน 2 แก้วไวน์ต่อวันสําหรับผู้ชาย และไม่เกิน 1 แก้วไวน์ต่อวันสําหรับผู้หญิง ซึ่งกล่าวกันว่าน่าจะส่งผลดีต่อร่างกายและลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ (อย่างไรก็ดีสำหรับพุทธมามกะแล้วการดื่มน้ำองุ่นหรือน้ำผลไม้/น้ำผักที่มีสีเข้มหน่อย ก็ได้ประโยชน์แทบไม่ต่างจากการดื่มไวน์เลย แถมยังดีกว่าที่ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเมาไร้สติ)        o  กินปลาและสัตว์ปีกโดยเลี่ยงการกินสัตว์ใหญ่ เลี่ยงการอาหารปรุงสำเร็จทางอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เค็ม        o  หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งจริงแล้วคือ องค์ประกอบปรกติในอาหารแต่อยู่ในปริมาณ megadose ที่เพิ่มภาวะงานในการกำจัดทิ้งของตับและไตโดยไม่จำเป็น ยกเว้นแต่ว่าได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการขายสินค้า        o  กินอาหารเมื่อหิวอย่างช้าๆ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด โดยใช้เวลาในการกินแต่ละมื้ออย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้เกิดความสุขไม่ต้องเร่งรีบจนเกิดความเครียดที่ไม่จำเป็น         ชาวโลมา ลินดา นั้นอาศัยในเมืองโลมา ลินดา ในเขตซานเบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ชาวเมืองกลุ่มนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกาย Seventh-day Adventist Church ซึ่งมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ท่ามกลางมลภาวะของสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ดีกว่าคนทั่วไปในสหรัฐฯ มีการใช้เครื่องอํานวยความสะดวก เครื่องมือสื่อสาร ใช้คอมพิวเตอร์เหมือนคนในเมืองใหญ่ทุกประการ มีเพียงรูปแบบการกินอาหารและแนวคิดในการดํารงชีวิตที่ดูแตกต่างคือ เป็นมังสวิรัติแบบกินไข่และนมและไปโบสถ์เป็นประจำ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยทำให้มีอายุยืน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงโรคมะเร็งและโรคเบาหวานน้อยกว่าคนทั่วไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีรูปแบบการกินอาหารคือ        o  กินอาหารเช้าเป็นมื้ออาหารหลักและลดปริมาณของอาหารมื้ออื่น        o  กินเนื้อสัตว์เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 2 ครั้งโดยประมาณ (ซึ่งคล้ายคนอินเดียวรรณะพราหมณ์ที่ต้องการกรดอะมิโนบางชนิดที่พืชผักมีต่ำไปหน่อย) หรือไม่กินเลยถ้ามีความรู้ในการจัดการอาหารให้มีคุณค่าครบตามที่ร่างกายต้องการ        o  กินถั่วเปลือกแข็งวันละประมาณ 1 กํามือทุกวัน เพื่อเป็นแหล่งของโปรตีน ไขมันไม่อิ่มตัว ใยอาหาร วิตามินอี ฯลฯ ซึ่งช่วยทําให้อิ่มได้นานขึ้น        o  หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งเพื่อเพิ่มรสชาติของอาหาร (เลี่ยงหวาน มัน เค็ม)        o  ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหาเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ทดแทนได้ไม่ยาก        o  กินอาหารช้า ๆ ร่วมกับผู้อื่นเพื่อสร้างความสุขและสัมพันธภาพที่ดี        o  หยุดกินทันทีเมื่อรู้สึกอิ่ม ซึ่งเหมาะมากสำหรับผู้ที่ไม่สนใจการกินอาหารแบบบุฟเฟ่ต์         โดยสรุปแล้วในกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่ามีอายุยืนยาวที่สุดในโลกนั้น แม้ว่าถิ่นฐานที่อยู่อาศัย รูปแบบการดํารงชีวิตวัฒนธรรมแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายคือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มาจากธรรมชาติคือ ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ไม่กินอาหารจนอิ่มมากเกินไปโดยเน้นอาหารเช้าเป็นมื้อหลัก และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ออกกําลังกายอย่างเป็นประจํา มีสุขภาพจิตที่ดีพอในการรับมือกับความเครียดได้ อารมณ์ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใส มีสังคมเพื่อแบ่งปันความสุขให้แก่กันและกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม

10 อันดับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ ปี 2564 เฟซบุ๊กถูกร้องสูงสุด        10 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ ในคดีฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน พบว่า ในรอบ 10 เดือนมีร้องเรียนผ่านสายด่วนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือน มกราคม – ตุลาคม 2564 โดยส่วนมากเจอกลลวงหลอก ดังนี้ 1.หลอกโอนเงิน ไม่มีสินค้าส่งจริง 2. สินค้าไม่ตรงตามโฆษณา  3.จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม 4.รับหิ้วของ 5.หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย 6.ได้รับของชำรุดเสียหาย 7.หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ 8.หลอกเช่าพระบูชา 9.ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ 10.หลอกขายไม่ตรงรูป โดยสัดส่วนจากการถูกหลอกขายออนไลน์จากทางเฟซบุ๊ก มีสูงสุดคิดเป็น 82.4% ตามด้วยเว็บไซต์ 4.6% อินสตาแกรม 4.3% และพบว่าข้อมูลการถูกหลอกขายออนไลน์เพิ่มจากปีที่แล้วเป็นเฉลี่ย 2,221 ครั้ง ต่อเดือน         การกระทำดังกล่าวข้างต้นเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งเป็นความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 อีกด้วย กรมปศุสัตว์แจ้งนมโรงเรียนห้ามซื้อขาย        จากกรณีที่มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการโพสต์ขายนมโรงเรียน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้เปิดเผยว่า ห้ามจำหน่ายนมโรงเรียนนอกโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทุกกรณี ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 หมวด 2 ข้อ 9 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และต้องจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น หากนำมาจำหน่ายนอกเหนือถือว่าเป็นการกระผิด มีโทษถูกตัดสิทธิการจำหน่ายในส่วนที่เหลือในปีการศึกษานั้น หากพบเป็นการทุจริตของหน่วยงานราชการเอง จะต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะมีโทษทั้งทางวินัยและอาญาขั้นร้ายแรงเด็ดขาด สั่งปิด “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950”        15  ตุลาคม 2564  คปภ.ได้มีคำสั่งนายทะเบียนเพิกถอนประกอบกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า มีคำสั่งนายทะเบียนปิดบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) จากการตรวจสอบของทาง คปภ.ได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทและได้มีคำสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว เนื่องจากพบว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน โดยระบุ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีหนี้สินติดลบ 1,543 ล้านบาท จากปัญหามีผู้ติดเชื้อสูงโควิด-19 ขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อสภาพคล่องและมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก ทำให้บริษัทไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจวินาศภัยและยังฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ จึงเพิกถอนใบอนุญาต ให้มีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยผู้เอาประกันจะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครอง จากกองทุนประกันวินาศภัยทันที โดยมีสมาชิก 13 บริษัทประกัน จะรับโอนกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุทุกกรมธรรม์ และหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ทางกองทุนประกันวินาศภัย จะเข้ามาช่วยเหลือและคุ้มครองในการรับค่าสินไหมและค่าเบี้ยคืน แพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยค้านดีอีเอสดึงบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย        จากกรณีภาคเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทยและกลุ่ม ECST ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์ควัน”  เข้าพบนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้จำหน่ายได้ตามกฎหมายนั้น ทางนายชัยวุฒิ บอกว่า ได้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ต่อมาทางแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง ขอชี้แจงข้อมูลดังกล่าวพร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ รมว.ดีอีเอส เสนอ และกรณีที่อ้างว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตนั้น ขอให้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของแต่ละประเทศ ว่ามีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ขายได้อย่างอิสระ ด้วยคำนึงเหตุผลที่ว่าประเทศเหล่านั้นต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้” มพบ. เร่งกระทรวงดิจิทัลออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ         จากกรณีที่มีผู้บริโภคกว่า 10,700 ราย ได้รับความเสียหายจากการที่เงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเร่งรัดให้กระทรวงดิจิทัล ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งมีสาเหตุจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลของระบบธนาคาร แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) และออกมาตรการแก้ไข 4 ข้อในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นั้น         ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า เครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่องแสกนจ่ายโดยแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะมีการยืนยันตัวตนด้วยการเซ็นสลิป หรือใส่รหัสผ่าน แต่การทำระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้การผูกบัญชี ใช้แค่เลขบัตรและเลขหลังบัตรเท่านั้น ซึ่งธนาคารอาจจะต้องไปตรวจสอบว่าข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร  เนื่องจากผู้เสียหายบางรายไม่ได้ผูกบัญชีกับร้านค้าออนไลน์ และรัฐต้องตอบคำถามว่าจะออกมาตรการจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร หากปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจง แสดงว่ารัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมในอนาคต หากไม่มีกฎหมายมาควบคุมธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของผู้บริโภคที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศและสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ให้รักพิพากษา : ใครอยากกินเด็ก…ยกมือขึ้น

                ชีวิตทางสังคมของคนเรานั้น เป็นประหนึ่งสนามรบที่ประลองพลังกันระหว่างอำนาจของโครงสร้างกฎเกณฑ์แห่งสังคมกับการดำรงอยู่ซึ่งความปรารถนาและตัวตนของปัจเจกบุคคล         และหากเป็นชีวิตทางสังคมของผู้หญิงแล้ว ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานก็คือสนามทดสอบพลังของสังคมและปัจเจกอันเข้มข้นเช่นเดียวกัน ยิ่งเมื่ออิสตรีต้องผกผันเข้าไปใช้ชีวิตในสนามทางสังคมที่บุรุษเพศยึดกุมมาก่อนด้วยแล้ว บททดสอบที่ผู้หญิงต้องเผชิญก็ดูจะยิ่งเข้มข้นดุเด็ดเผ็ดมันทับทวีคูณมากขึ้นไปอีก         และสนามทดสอบพลังทางสังคมเฉกเช่นนี้ก็คือ ส่วนเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “ทิชากร” หรือที่ใครต่อใครก็เรียกชื่อเล่นของเธอว่า “ทิชา” ทนายความเวิร์คกิ้งวูแมนแห่งบริษัทข้ามชาติด้านกฎหมายอย่าง “รอสแอนด์ฮาร์วีย์”         เพราะเป็นสาวสวย เก่ง และทุ่มเทให้กับงาน…งาน…และงาน ชีวิตส่วนตัวของทนายทิชาจึงดำรงสถานภาพโสดมานาน แม้จะมีผู้ชายมากหน้าหลายตาวนเวียนเข้ามาในชีวิต แต่เพราะความผิดหวังจากอัยการหนุ่ม “นรา” อดีตคนรักเก่าของเธอ ทิชาก็เลือกที่จะไม่ผาดตามองหรือคบหากับผู้ชายคนใดอีก         หากในสนามกีฬามีกฎกติกามารยาทซึ่งกำหนดให้ผู้แข่งขันต้องเล่นไปตามเกมฉันใด ในสนามชีวิตของผู้หญิง ก็มีข้อกำหนดต่างๆ ที่สังคมขีดเขียนให้ปัจเจกบุคคลอย่างทิชาต้องเดินไปตามเกมเฉกเช่นเดียวกันฉันนั้น         ในสนามของหน้าที่การงานนั้น เมื่อผู้หญิงอย่างทิชาต้องย่างก้าวเข้าสู่โลกแห่งวิชาชีพทนายความ อันเป็นปริมณฑลที่ผู้ชายได้ยึดกุมและเขียนกฎกติกาการเล่นในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ทนายทิชาต้องถูกทดสอบจากอำนาจแห่งกฎหมาย สถาบันศาลสถิตยุติธรรม หรือรวมไปถึงภาระงานที่เธอต้องรับผิดชอบไปตามวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทต้นสังกัด        บททดสอบลำดับแรกสุดนั้น เมื่อทิชาตัดสินใจว่าจะก้าวเดินหน้าสู่แวดวงอาชีพทนายความ เธอไม่เพียงแต่ต้องอดทนกับเสียงคัดค้านอย่างแข็งขันจาก “คุณนายชุมพร” ผู้เป็นมารดา ซึ่งคาดหวังให้บุตรสาวได้แต่งงานกับผู้ชายดีๆ สักคนมากกว่า         และในขณะเดียวกัน เมื่อการลงโรงว่าความในศาลครั้งแรกที่นางเอกคนสวยต้องพบกับความปราชัยแบบยับเยิน ทิชาก็ยังต้องเผชิญกับคำปรามาสสบประมาทจากนราแฟนเก่าซึ่งตัดสินวินิจฉัยว่า เธอไม่มีคุณสมบัติใดเลยที่เหมาะสมกับอาชีพนักกฎหมาย จนกลายเป็นเสียงก้องเอคโค่ไปมาในห้วงสำเหนียกของทิชาว่า “ผู้หญิงอย่างเธอเป็นทนายไม่ได้…!!!”         ลำดับถัดมา แม้ในเวลาต่อมาทิชาจะพิสูจน์ตนเองว่าเป็นทนายความที่ผู้คนยอมรับในความรู้ความสามารถในคดีครอบครัวก็ตาม แต่สำหรับเกมที่ผู้หญิงต้องเล่นในสนามแห่งวิชาชีพนักกฎหมายนั้น ทิชาก็ต้องแข่งขันห้ำหั่นเพื่อเอาชนะการว่าความในคดีต่างๆ ควบคู่ไปกับการลงช่วงชิงชัยเหนือเพื่อนร่วมงานสาวคู่แข่งอย่าง “คามีเลีย” เพื่อให้ได้ตำแหน่งหุ้นส่วนเลือดใหม่หรือพาร์ตเนอร์ยังบลัดของต้นสังกัดบริษัทแม่         ไม่เพียงเท่านั้น แวดวงอาชีพทนายความยังได้สร้างธรรมเนียมปฏิบัติให้ตัวละครหญิงผู้เล่นอยู่ในสนามนี้ ต้องละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกแบบที่อิสตรีทั้งหลายพึงมี ด้วยเหตุฉะนี้ ทิชาจึงถูกคาดหมายให้คิดและกระทำอยู่บนตรรกะของเหตุผลกับพยานหลักฐานเชิงประจักษ์เท่านั้น และไม่ว่าเบื้องลึกของผู้หญิงจะเป็นเพศซึ่งผูกพันเอื้ออาทรกับความเป็นมนุษย์มากเพียงไร แต่ท้ายที่สุด “เหตุผล” ก็จะเป็นสิ่ง “พิพากษา” หาใช่ “อารมณ์” ของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด         ถ้าหากโลกแห่งหน้าที่การงานเป็นเวทีประลองยุทธ์อันเข้มข้นระหว่างสตรีเพศกับกฎกติกาของสังคมแล้ว สนามแห่งชีวิตส่วนตัวของผู้หญิงก็ถือเป็นพรมแดนแห่งการเผชิญหน้าต่อกรกันระหว่างปัจเจกกับความคาดหวังของสังคมที่คุกรุ่นไม่ยิ่งหย่อนกันเลย         ทั้งนี้ ในขณะที่ความรักและการมีชีวิตคู่ถูกทำให้เป็นอุดมคติของหญิงชายทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว สังคมเองก็ได้ผลิตชุดมายาคติหรือกรอบวิธีคิดหลักที่ให้คำอธิบายด้วยว่า การครองคู่ที่ถูกต้องของผู้หญิง (เยี่ยงนางเอกละครแทบจะทุกเรื่อง) นั้น ควรลงเอยกับผู้ชายที่เหมาะสมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม วุฒิภาวะ และที่สำคัญคือ อายุของผู้ชายคนนั้นก็ควรจะสูงวัยกว่าผู้หญิงด้วยเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อมีตัวเลือกเป็นชายหนุ่มอย่าง “เบนจามิน” หรือ “บอสเบน” ผู้เป็น MD ใหม่ของบริษัท มาคอยตาม “ขายขนมจีบ” ให้กับทิชา หนุ่มหล่อภูมิฐาน การศึกษาดี และมีตำแหน่งหน้าที่ที่สูงกว่าเฉกเช่นบอสเบนนี้ ก็ทำให้ใครต่อใครพากันมองว่า เคมีของทั้งคู่ช่างเหมาะเจาะลงตัวเสียนี่กระไร         แต่สำหรับทิชาแล้ว เหตุผลกับความคาดหวังของสังคมก็อาจจะเป็นเรื่องหนึ่ง ทว่าอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ ของเธอกลับเลือกมีใจให้กับเด็กฝึกงานหนุ่มรุ่นน้องหน้าตาดูมึนๆ อย่าง “คิว” ที่ทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิช่างเป็นรองบอสเบนแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว         แม้อำนาจของสังคมจะกำหนดนิยามให้ผู้หญิงที่รักใคร่และคบหากับชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่า ว่าเป็นพวก “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” บ้าง หรือ “โคแก่ริจะกินหญ้าอ่อน” บ้าง หรือเป็นพวก “กินเด็กเพื่อให้ตนเป็นอมตะ” บ้าง แต่เพราะคิวเป็นเด็กหนุ่มที่ทิชาบอกมารดาว่า “คิวเป็นคนเดียวที่ไม่เคยเลิกเชื่อมั่นในตัวหนู ในวันที่หนูหมดความเชื่อมั่นในชีวิต คิวเป็นคนคนเดียวที่อยู่เคียงข้างในวันที่แย่ที่สุด” จึงไม่ยากนักที่ทิชาจะเลือกเขียนใบสมัครเข้า “แก๊งกินเด็ก” แม้ในส่วนลึกจะหวั่นๆ กับสายตาของสังคมที่จับจ้องครหาเธออยู่ก็ตาม         จนกระทั่งมาถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญกับจุดพลิกผันที่ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการงานของทิชาได้ผูกเกลียวเข้าหากัน เมื่อ “พงษ์” บิดาของคิว ถูกจัดฉากโดย “เรวัติ” ว่าเป็นผู้ต้องหาฆ่า “พิม” อดีตภรรยาของตน และบริษัทรอสแอนด์ฮาร์วีย์ได้รับมอบหมายให้เป็นทีมทนายความของคู่กรณี โดยมีกฎของวิชาชีพทนายความที่ต้องเลือกยืนอยู่บนผลประโยชน์ของลูกความ แม้ว่านั่นจะทำให้คนบริสุทธิ์ต้องติดคุกก็ตาม         เมื่อต้นสังกัดบีบให้ทิชาต้องสั่งฟ้องพ่อของคิว เธอก็ได้ตระหนักรู้ว่า บ่อยครั้งกฎของสังคมก็บิดเบี้ยวไปจาก “เหตุผล” ความถูกต้องชอบธรรมแบบที่ควรจะเป็น แต่มันกลับเป็นอำนาจที่มีพลานุภาพ “พิพากษา” ชะตากรรมของคนเราได้อีกต่างหาก ทิชาจึงตกลงใจรับเป็นทนายความสู้คดีให้กับพงษ์ และยื่นใบลาออกจากบริษัท พร้อมกับคำพูดที่เธอบอกกับใครต่อใครว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ทิชามั่นใจว่าใช้อารมณ์ตัดสินใจได้ถูกต้อง”         ในตอนจบของเรื่อง หลังจากทิชาได้สมาทานตนเข้าสังกัด “แก๊งกินเด็ก” ตอบรับรักกับหนุ่มรุ่นน้องอย่างคิวแล้ว ฉากที่ทั้งคู่เดินถือชุดครุยทนายความขึ้นบันไดเข้าศาลอาญา เหมือนจะถามเป็นนัยได้ว่า ระหว่างศาลหรือเหตุผลความคาดหวังที่สังคมกำหนด กับความปรารถนาและอารมณ์ของปัจเจกบุคคล ในบางครั้งและบางกรณีการเลือก “ให้รักพิพากษา” ก็อาจจะเป็นคำตอบให้ผู้หญิงฉุกคิดมาเป็นตัวเลือกของชีวิตได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 Plant-Based Food ทางเลือกของเรา ทางรอดของโลก

        เมื่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ใหญ่ของชาวโลก ผู้บริโภคต่างหันมาดูแลตัวเองในเรื่องอาหารการกินด้วยวิถีธรรมชาติกันมากขึ้น เน้นกินพืชผักและลดเนื้อสัตว์ ตามแนวทาง ’กินสู้โรค’ และ’กินเปลี่ยนโลก’ ในรูปแบบต่างๆ กัน อาหารทางเลือกจึงถูกพัฒนาให้มีความหลากหลาย อย่างล่าสุดกระแส plant-based food ที่กำลังมาแรงในตลาดอาหารสุขภาพ ก็ว่ากันว่าเป็นอาหารแห่งอนาคตฟีลกู๊ดที่ดีต่อเรา ดีต่อโลก และดีต่อใจด้วย         Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช         เนื้อทำจากขนุนอ่อน หมูสับจากเห็ดแครง เบค่อนจากเส้นใยเห็ด นมจากข้าวโอ๊ต ไข่จากถั่วเขียว         ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้คือตัวอย่าง plant-based food กลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกที่นำพืชโปรตีนสูง เช่น ถั่วและธัญพืชต่างๆ เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต แอลมอนด์ เป็นต้น มาเป็นวัตถุดิบหลักใช้ผลิตอาหารให้มีลักษณะและรสชาติใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากที่สุด โดยคิดค้นและผลิตขึ้นมาเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขาดแคลนอาหารในระยะยาว เป็นอาหารทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ต้องการลดหรือลด ละ เลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางศาสนา ความเชื่อ ความชอบ หรือความจำเป็นส่วนตัวใดๆ ก็ตาม กินได้อย่างสบายใจ มีทั้งในรูปแบบเนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จ           เนื้อไร้เนื้อ เปิดใจผู้บริโภค ปลุกเทรนด์อาหารจากพืช         ความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การอาหารในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตพลิกแพลงพืชผักผลไม้กลายมาเป็นอาหารที่คล้ายมาจากสัตว์จริงๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์จากพืช (plant -based meat) ที่พัฒนาให้มีรูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส และสีสัน เสมือนเป็นเนื้อวัว หมู ไก่ กุ้ง และอาหารทะเลต่างๆ จริงๆ นั้น เชิญชวนให้ผู้บริโภคเปิดใจลิ้มลอง สอดคล้องกับกลุ่มคนกินผักก็ดีกินเนื้อก็ได้ (Flexitrain) ที่มากขึ้น อย่างในไทยเอง 1 ใน 4 ของประชากร หันมาลดกินเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ 65% เพื่อควบคุมน้ำหนัก 20% โดยส่วนใหญ่จะงดกินในวันพระหรือวันเกิด ประกอบกับแนวโน้มผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้ม และกังวลการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ปลุกตลาดอาหารจากพืชทั่วโลกให้คึกคัก โดยศูนย์วิจัยกรุงไทย COMPASS ประเมินไว้เมื่อปี 2563 ว่า ตลาดเนื้อจากพืชในไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ต่อปี และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะที่ 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567         ในช่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื้อสัตว์จากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีวางขายในซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป ในรูปแบบเป็นวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูป ปัจจุบันมีให้เลือกหลายยี่ห้อทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในไทย เช่น  BEYOND MEAT, OmniMeat, NEVER MEAT, Meat Avatar, Let’s Plant Meat, More Meat, OMG Meat, MEAT ZERO, VG for Love และ Healthiful เป็นต้น         โปรตีนทางเลือก...ดีต่อเรา         ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ต่างต้องการโปรตีนเป็นองค์ประกอบในอาหารเพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การกินเนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจากพืชจึงเป็นอาหารโปรตีนทางเลือกที่เหมาะต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่แพ้โปรตีนจากสัตว์ ทั้งยังย่อยง่าย มีใยอาหารสูง มีไขมันดี(ไขมันไม่อิ่มตัว) ให้พลังงานต่ำ มีคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ต่ำ จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันและรักษาโรคได้ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น         พืชบางชนิดมีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่น้อย  ผู้บริโภคควรเลือกกินอาหารจากพืชที่หลากหลายเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับโปรตีนเพียงพอ ในแต่ละวันคนทั่วไปควรได้รับโปรตีน 0.8-1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงต่อภาวะพร่องโปรตีน ร่างกายต้องสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อบางส่วนมาทดแทน ทำให้อาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้         สำหรับคนที่แพ้ถั่วควรเลี่ยง เพราะอาหารจากพืชส่วนใหญ่ใช้ถั่วและธัญพืชต่างๆ เป็นวัตถุดิบ รวมทั้งคนที่เป็นโรคโลหิตจางหรือมีอาการมือเท้าชา ควรกินอาหารอื่นๆ ที่มีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 เสริมด้วย เพราะในพืชมีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 น้อยกว่าเนื้อสัตว์         แม้ plant - based food จะเน้นคุณค่าทางโภชาการและความปลอดภัยเป็นสำคัญ คัดเลือกวัตถุดิบมาผลิตอย่างดีไม่ให้มีสารปนเปื้อนอันตราย เลี่ยงใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม และพยายามคงคุณค่าของสารอาหารจากธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอาหารแปรรูป หรือ Highly Process Food อย่างโบโลน่า เบอร์เกอร์ ไส้กรอก ที่ทำจากพืชนั้น ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีสารปรุงแต่งรสสีผสมอาหาร และเกลือโซเดียมในปริมาณสูง          ลดก๊าซเรือนกระจก...ดีต่อโลก         ลดกินเนื้อสัตว์ ลดทำปศุสัตว์ ลดภาวะโลกร้อน         อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ที่ดินเพื่อทำปศุสัตว์เป็นต้นทางของก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการใช้ที่ดินทั้งหมดในโลก เราต้องใช้พื้นที่เลี้ยงสัตว์ถึง 77% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด เพื่อผลผลิตเพียง 17% ของอาหารที่มนุษย์บริโภค         ในขณะที่การผลิตเนื้อที่ทำจากพืชใช้ที่ดินน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 47%-99% ใช้น้ำน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 72%-99% ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จริง 30%-90% ดังนั้นการเปลี่ยนแนวทางมาบริโภคอาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์ จะช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้         องค์การสหประชาชาติก็มีแนวทางส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารใช้ส่วนประกอบของพืชแทนเนื้อสัตว์ ผลิตอาหารออแกนิค เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ตั้งเป้าสู่ “Net Zero” ให้คาร์บอนไดออกไซค์เป็นศูนย์ เพราะอุตสาหกรรมอาหารนั้นปล่อยคาร์บอนฯออกมากว่า 30-40% ของปริมาณคาร์บอนฯทั้งหมด         หากการใช้ที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์ถูกแทนที่ด้วยแปลงผักเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นวัตถุดิบให้ผู้ผลิตอาหารจากพืช จะช่วยฟื้นฟูให้สภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทั้งยังรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ด้วย         สร้างความมั่นคงทางอาหาร...ดีต่อใจ         การกินอาหารจากพืชเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้         คาดการณ์กันว่าในปี พ.ศ.2593 ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9.7 พันล้านคน ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัดอยู่เท่าเดิม ซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติร้ายแรงและโรคระบาดขั้นวิกฤติ การขาดแคลนอาหารจึงกลายเป็นความกังวลของคนทั่วโลก หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องจึงมองว่าการผลิตอาหารจากพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการดี ในปริมาณมากพอและราคาที่คนทั่วไปเข้าถึง โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (food security) ได้         ผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่เริ่มคิดหาวิธีการทำให้อาหารเพียงพอต่อประชากรโลก พร้อมลดขั้นตอนการผลิตอาหารที่เป็นตัวทำลายสภาพแวดล้อม จนพบว่าการผลิตอาหารจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ การฟื้นฟูเกษตรกรรมตามวิถีธรรมชาติ และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนั้น น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยให้มากขึ้นและยั่งยืนได้ในอนาคต         อีกแนวคิดหนึ่งที่สร้างเนื้อจากพืชขึ้นมาก็เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ หรืออุตสาหกรรมที่สร้างความลำบากให้กับสัตว์ด้วย นอกจากนี้การกินอาหารจากสัตว์น้อยลงยังช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ โดยมีการวิจัยพบว่าผู้ที่เคยกินเนื้อสัตว์เป็นประจำทุกวันมีแนวโน้มอารมณ์ดีขึ้นและเครียดน้อยลงหลังจากกินมังสวิรัติได้เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้อสัตว์มีส่วนประกอบของกรดไขมันสายยาว (Long-chainofomega-6 fattyacid )ที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า จึงทำให้คนกินมังสวิรัติส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตที่ดีกว่า (Nutrition Journal, 2010, 2012)        เมืองนวัตกรรมอาหาร หนุนผลิตภัณฑ์จากพืช        หลายหน่วยงานภาครัฐเองก็เข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจผลิตอาหารจากพืช ให้คิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ลดลง         เมืองนวัตกรรมอาหารที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ออกแบบแพลตฟอร์มให้บริการภาคเอกชนไว้ค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การผลิต การขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา(อย.) และปัจจัยเรื่องการตลาด รวมทั้งตั้งโรงงานขนาดเล็กที่ช่วยสนับสนุนการผลิตให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพด้วย โดยการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกนี้จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์         ทั้งนี้เพราะมองเห็นโอกาสของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีวัตถุดิบพื้นถิ่นอีกมากที่จะเลือกเป็นแหล่งโปรตีนใหม่จากพืชได้ เมื่อนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ ลักษณะของผลิตภัณฑ์ การเก็บรักษา การนำไปทำอาหารได้สะดวก และถูกปากถูกใจผู้บริโภคแล้ว อุตสาหกรรมอาหารจากพืชนี้น่าจะเติบโตได้ดีทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก           ความปลอดภัยใน ‘อาหารใหม่’         อาหารจากพืชที่ผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่นั้นส่วนใหญ่จัดเป็น ‘อาหารใหม่’ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการบริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งอาหารที่เข้าข่ายว่าเป็นอาหารใหม่มาประเมินความปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย         เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 376 เรื่อง อาหารใหม่ หรือ Novel food โดยกล่าวว่าในปัจจุบันนี้มีการนำวัตถุที่ไม่เคยบริโภคเป็นอาหารมาใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน จึงสมควรมีมาตรการการประเมินความปลอดภัยรองรับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการให้ความหมายของอาหารใหม่ไว้ 3 ข้อ ดังนี้         1) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี         2) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (Metabolism) หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ (level of undesirable substances)         3) อาหารใหม่ หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุตามข้อ 1) และ ข้อ 2) เป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัตถุเจือปนอาหารและอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม อาหารที่เข้าข่ายเป็นอาหารใหม่นี้จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยและต้องส่งมอบฉลากให้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจอนุมัติก่อนนําไปใช้         หน่วยงานที่ประเมินความปลอดภัยของอาหารใหม่ ได้แก่        1) ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล        2) สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข        3) สถาบันอาหาร สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม         อาหารใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากหน่วยงานดังกล่าวแล้ว จะผลิตเพื่อจำหน่ายได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ในบางกรณีอาจมีกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับการแสดงฉลากของอาหารใหม่ เช่น คำเตือนที่แสดงว่าอาหารใหม่นั้นไม่เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง รวมถึงการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน          ในต่างประเทศ หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป รวมถึงรัฐสภาและคณะกรรมการสหภาพยุโรป เป็นหน่วยงานต้นแบบที่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาหารใหม่ มีหลักสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านอาหาร โดยที่ยังทำให้ผู้บริโภคชาวยุโรปยังคงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของอาหารและเพิ่มประเภทอาหารให้หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภค         นอกจากนี้สมาคมอาหารจากพืช (Plant Based Foods Association) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดูแลตลาดการค้าสินค้าอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ยังได้ริเริ่มโครงการแสดงตราสินค้า “Certified Plant Based” เพื่อรับรองสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยผู้ประกอบการยื่นเอกสารเพื่อขอใช้ตราสัญลักษณ์ได้ที่ The Public Health and Safety Organization         ล่าสุดองค์กร Chinese Institute of Food Science and Technology (CIFST) ได้ร่างมาตรฐานกลุ่มสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช (T/CIFST 001-2020) เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำไปใช้ในธุรกิจของตน โดยมาตรฐานดังกล่าวได้นิยามและข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้งในแง่องค์ประกอบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการติดฉลาก กำหนดประกาศใช้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564          ดูฉลากอย่างฉลาด        ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS สำรวจพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยปี 2561 พบว่า 53% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะที่อีก 45% สนใจที่จะปรับเปลี่ยนไปกินอาหารแบบมังสวิรัติ วีแกน และอาหารจากพืชมากขึ้น         ไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกกินผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชนี้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม นอกจากความอร่อยที่ต้องพิสูจน์ด้วยรสนิยมส่วนตัวแล้ว ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยในราคาที่สมเหตุสมผล โดยพิจารณารายละเอียดบนฉลากสินค้าเป็นสำคัญ        1.ต้องมีสัญลักษณ์ อย. เพื่อแสดงว่าได้ผ่านมาตรฐานอาหารปลอดภัยมาแล้ว        2.ดูวันเดือนปีที่ผลิตและวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยต้องเรียงวันเดือนปีตามลําดับ และมีข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กํากับไว้ด้วย        3.ดูวัตถุดิบจากพืชที่นำมาผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นถั่วและเห็ดต่างๆ หากแพ้ควรเลี่ยง        4.ดูข้อมูลโภชนาการว่าให้ปริมาณโปรตีนมากพอที่ต้องการไหม มีพลังงานเท่าไหร่ รวมทั้งปริมาณโซเดียมและไขมันเท่าไร เพราะเนื้อสัตว์จากพืชก็มีโซเดียมและไขมันได้เหมือนกัน        5.ดูปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลประกอบด้วย พืชบางชนิดให้แป้งมากกว่าโปรตีน        6.ถ้าระบุว่ามีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แคลเซียม ไฟเบอร์ หรือเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุที่มักขาดในวัตถุดิบจากพืชด้วย เช่น วิตามินบี 12 วิตามินดี โอเมก้า-3 สังกะสี และเหล็ก เป็นต้น ก็เป็นตัวเลือกดีที่ช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการในอาหาร        7.ควรเลือกผลิตภัณ์ที่เติมสารปรุงแต่งหรือผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด        8.ควรเลือกวัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการตอบแทนต่อสังคมด้วยก็ดี เช่น ใช้วัตถุดิบที่เอื้อให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีรายได้ เป็นต้น         ปัจจุบันตลาด plant-based food มีการแข่งกันเสนอผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้ออาหารจากพืชที่หลากหลาย มีคุณภาพและราคาถูกลง  ทั้งยังน่าจะช่วยชะลอความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่รอดปลอดภัยได้นานขึ้นอีกสักหน่อยด้วย    ข้อมูลอ้างอิงKrungthai COMPASS ฉบับตุลาคม 2020เว็บไซต์ สอวช. (https://www.nxpo.or.th)เว็บไซต์ สมอช. (https://warning.acfs.go.th)https://pharmacy.mahidol.ac.thhttps://workpointtoday.com/plant-based-food-warhttps://marketeeronline.co/archives/210350https://www.sarakadeelite.com/better-living/plant-based-meat/https://brandinside.asia/whole-foods-plant-based-protein/https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945907

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 การซื้อขายออนไลน์(ทั่วโลก) ต้องเป็นมิตรกับผู้บริโภค

   จากการติดตามดูนโยบายเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี มีการนำเสนอหลักการ 3 ข้อ        ·    การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองไม่น้อยไปกว่าการซื้อของแบบออฟไลน์        ·    กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคของอียู จำเป็นต้องคงไว้และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่ เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภค        ·    ความปลอดภัยของสินค้า เป็นนโยบายที่สำคัญอันดับแรก ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างชาติ         สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอด ในเวทีการค้า WTO ของสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล 76 ประเทศ ซึ่งมีกลุ่มประเทศ อียู เข้าร่วมเพื่อพิจารณา รอบการเจรจาการค้าระหว่างชาติ ว่าด้วยข้อตกลงการค้า e commerce โดยเป้าประสงค์ของกลุ่มอียู คือ เสริมสร้างสิทธิแก่ผู้บริโภค มีสิทธิในการกำหนดมาตรฐานของตนเองและขยายวงเวทีในการเจรจาต่อรองในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค         ซึ่งผลการเจรจาการค้าในครั้งนี้จะส่งผลต่อผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากการเจรจาการค้ารอบนี้จะมีกฎเกณฑ์ระเบียบการค้าออนไลน์ เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์ ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำธุรกรรมออนไลน์ทั่วโลกนั้น มีมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของมาตรฐาน อียู ยกตัวอย่างผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในอียู ซื้อสินค้าออนไลน์และได้รับสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องหรือเกิดปัญหาในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ส่งผลให้ ผู้บริโภคได้รับความยากลำบากในการเรียกร้องสิทธิ ในการคืนสินค้า หรือสิทธิในการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคประสบปัญหา กรณีได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจากประเทศต้นทางสินค้านอกอียู ผลการศึกษานี้ เผยแพร่โดยวารสารผู้บริโภค Which ? ของประเทศอังกฤษ        ผู้แทนการเจรจาประเด็น e commerce ของ กลุ่มประเทศอียู ได้วางเป้าหมายการเจรจา โดยเน้นไปที่ 4 ประเด็นสำคัญ คือ        ·   มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีกว่า ในการค้าระบบ e commerce ในระดับนานาชาติ        ·   การคงไว้ของมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในอียู        ·   การมีกลไกในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และ        ·   การต่อสู้กับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ที่โฆษณา Online         อย่างไรก็ตามการเจรจาการค้าในประเด็นนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่เช่นกัน ซึ่งในมุมมองของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคในอียู เห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้มีการบรรจุไว้ในวาระการเจรจาในประเด็นที่สำคัญๆ หลายประเด็น ได้แก่ เรื่อง Artificial Intelligence(ปัญญาประดิษฐ์) Cybersecurity(ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์) Data Protection(การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) Data Transfer(การส่งผ่านข้อมูล) และ Network Neutrality(ความเป็นกลางของระบบเครือข่ายเชื่อมต่อข้อมูล)         ตัวอย่างล่าสุดคือ การตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้นำไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าแบบดิจิทัล(Digital Trade) ซึ่งประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าในรูปแบบ Digital Trade เพิ่งจะเริ่มต้นอภิปรายสาธารณะในกลุ่มประเทศอียูเท่านั้น และจุดยืนขององค์กรผู้บริโภคอย่างสหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีนั้น เห็นว่าข้อตกลงในการเจรจาทางการค้า ไม่ควรที่จะใช้มาเป็นข้ออ้างในการจำกัด หรือละเลยมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีประเทศไทย        เมื่อย้อนกลับมาดูปัญหาของผู้บริโภคในบ้านเราในการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกหลอกลวง และการถูกฉ้อโกง การได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ครบถ้วน ส่งมอบสินค้าผิดจากที่ตกลงสั่งซื้อ ปัญหาบริการหลังการขาย ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จหรือ ผิดกฎหมาย และปัญหาผู้บริโภคขาดความรู้ ฯลฯ ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอ “การกำกับตลาดออนไลน์ให้เป็นธรรม” ไปยังหน่วยงานภาครัฐ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานพัฒนาธุรกกรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปแล้วนั้น มีความคืบหน้าหลายประการในการร่วมมือกันทำงาน โดยเฉพาะกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภคของผู้บริโภคชาวไทย         แต่อย่างไรก็ตามการซื้อขายสินค้าออนไลน์ปัจจุบันเป็นการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ติดตามและเฝ้าระวังการเจรจาการค้าเสรีรอบต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามมา ดังนั้นผมคิดว่า ทางองค์กรผู้บริโภคโดยเฉพาะ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นภาคประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมและรับรู้ ประเด็นต่างๆ ที่จะมีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเกิดขึ้นของสภาองค์กรผู้บริโภคขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้   แหล่งข้อมูลเวบไซต์สหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (Federation of German Consumer Organizations)https://www.vzbv.de/meldung/online-handel-verbraucherfreundlich-gestaltenวันที่ 24 กันยายน 2562

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ทำไมต้องลดหวาน กับทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล

        เมื่อนิตยสารฉลาดซื้อวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มยอดฮิตอย่างชานมไข่มุก ผลการทดสอบทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ผู้บริโภคเครื่องดื่มสายหวานเป็นอย่างมาก ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่ทำงานรณรงค์เรื่องการลดการบริโภคน้ำตาลมายาวนาน เราลองมาติดตามคุณหมอดูว่าเห็นผลทดสอบชานมไข่มุกแล้วคิดอย่างไร เด็กไทยไม่กินหวานต้องทำงานหนักขึ้นอีกหรือไม่ โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ตอนนี้มีกิจกรรมอะไรบ้างคะ        ตอนนี้เป้าหมายจะไปอยู่ในกลุ่มของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มมีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทีนี้ก็จะมีเป้าหมายให้จังหวัดพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในแต่ละจังหวัดเราตั้งเป้าไว้ในแต่ละปีว่าจะทำในพื้นที่ไหน ศูนย์เด็กเล็กอะไร โรงเรียนอะไร ประเด็นหลักเน้นก็คือ จะเน้นเรื่องการบริโภคน้ำตาล ในส่วนนี้เองตอนนี้ก็จะเพิ่มเป็นประเด็นรณรงค์ในส่วนไม่ดื่มน้ำอัดลมเสร็จแล้ว คือทุกโรงเรียนไม่ดื่มน้ำอัดลมไม่มีจำหน่าย แล้วก็นมเป็นนมจืด         ในส่วนประเด็นต่อมาคือเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อม มีประเด็นให้เน้นในเรื่องของโรงเรียน โรงอาหารอ่อนหวาน มีการบูรณาการร่วมกับทางอาหาร ในเรื่องของโรงอาหารอ่อนหวานโรงอาหารปลอดภัย ให้โรงเรียนหาผักปลอดภัย สารเคมีก็อาจจะยังมีอยู่บ้างแต่อยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้ แล้วก็ถ้าที่ไหนสามารถมีการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีในโรงเรียนก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรุงอาหาร แล้วในส่วนนี้เองก็บูรณาการกับโรงอาหารที่จะไม่มีการจำหน่ายของว่างที่เป็นพิษเป็นภัย คือกินของว่างแบบไหนที่จะปลอดภัย ก็ไปกินตามฉลากเขียว เหลือง แดง ที่ทาง อย.น้อยกำหนดว่าเป็นพลังงาน เกลือ ไขมัน น้ำตาล ว่าควรมีเท่าไหร่ต่อวันต่อคน ซึ่งก็จะเน้นว่าในโรงอาหารต้องมีความรู้ตรงนี้เพื่อให้มันติดตา ทั้งเด็กที่จะได้ดูรับรู้ว่าของที่เราชอบกินนั้นมันไม่ควรกิน ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่พยายามเชิญชวนโรงเรียนให้เข้าโครงการนี้อยู่         เครือข่ายของเราที่ร่วมทำงานด้วยกันจะไปดำเนินการในโรงเรียนที่ยินดี มีความพร้อม เรายังทำได้ไม่ทุกโรง ในส่วนของบางจังหวัดที่เขาสนใจก็จะเอาตัวนี้ไปทำด้วย จริงๆ แล้วพยายามจะสื่อสารว่า มันควรทำทุกแห่งทั่วประเทศ ทุกโรงเรียนควรจะได้รับโอกาสนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ การรู้แล้วถ้าไม่เอื้อให้ทำได้ เขาก็จะมีพฤติกรรมเดิมๆ อย่างเช่นเครื่องดื่มมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเน้นว่าให้ดื่มน้ำสมุนไพรแทน คือถ้าไม่ดื่มน้ำอัดลมแล้วจะดื่มอะไร ดื่มน้ำหวานน้ำสมุนไพรแทน ส่วนใหญ่เด็กก็จะพยายามทานน้ำสมุนไพร เราพบว่าน้ำสมุนไพรหวานเราเลยต้องมีเงื่อนไขว่าการจะให้ดื่มน้ำอื่นๆ ก็จะต้องมีน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์มันก็ใช้วิธีคำนวณได้ถ้าเราทำเอง        มันก็มีที่บางโรงเรียนอาจจะไม่ทำเอง โรงเรียนก็ต้องควบคุมต้องบอกให้เขาพยายามทำรสชาติที่อ่อนหวาน ใช้ปริมาณน้ำตาลน้อยก็จะต้องมีเครื่องมือไปจับวัดและให้เขาปรับปรุงลดปริมาณน้ำตาลลง ในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ยังทำไม่ได้ก็ให้มีทางเลือก แทนที่จะบอกว่าไม่มีเลย ก็จะมีเครื่องดื่มประเภทอ่อนหวานกับเครื่องดื่มที่หวานปกติ ในตรงนี้ก็ต้องมีการสร้างแรงจูงใจสร้างความตระหนักให้กับนักเรียนหรือกลุ่มคนในนั้นว่าให้เลือกซื้อในส่วนนี้ด้วย เพราะมันจะมีปัญหาว่าถ้าเราไปเน้นให้เขาอ่อนหวานแต่คนบริโภคไม่นิยม ไม่นิยมอ่อนหวานเขาก็จำหน่ายไม่ได้สุดท้ายก็จะทำไม่สำเร็จ  ในเรื่องของการปรับพฤติกรรมปรับนิสัยมันต้องใช้เวลา เช่น อาหารในโรงเรียนที่ไม่วางน้ำตาลเอาไว้ นักเรียนก็จะมีปัญหาว่ารสชาติไม่อร่อยเพราะเคยชินกับรสหวาน แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เด็กก็จะเคยชินตอนหลังก็คือสามารถทำได้สำเร็จ การปรับพฤติกรรมต้องใช้ความร่วมมือในส่วนไหน ทำงานตรงนี้กับพวกกลุ่มอย่างไรบ้าง        เราทำงานทั้งกลุ่มของครอบครัว กลุ่มของครอบครัว หมายความว่าบางทีเราก็จะมีกิจกรรมในกลุ่มของผู้ปกครองเด็กเล็กก่อนที่จะมาเข้าโรงเรียน มีการทำกิจกรรมฐานความรู้ อย่างของจังหวัดราชบุรีมีชมรมคนรักฟัน เรามีการทำกิจกรรมให้ความรู้ในเรื่องของการเลือกบริโภคทั้งเด็กทั้งผู้ปกครอง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการนำผู้ปกครองเด็กอนุบาลมาเข้าร่วมกิจกรรมแล้วก็สอนในเรื่องของการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน สอนในเรื่องของสุขภาพช่องปาก ส่วนเรื่องการบริโภคนี่สำคัญมาก เพราะว่าหลายปีที่ผ่านมาฟันผุไม่ลดลงเลยและเด็กอ้วนมากขึ้น พบว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินบริโภคหวานทำให้เด็กฟันผุแล้วเด็กก็อ้วนด้วย การที่เราจะรณรงค์ให้สำเร็จก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน หากมัวแต่รณรงค์เรื่องแปรงฟันอย่างเดียว แต่เด็กยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูก กินขนมหวาน ดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากฟันเขาก็ผุอยู่ดี ให้รณรงค์อย่างไรฟันเขาก็ผุอยู่ดี ถ้าอย่างนี้แล้วก็ต้องดูแลเรื่องการบริโภคให้ถูกต้องเพื่อให้ฟันแข็งแรง แต่เรื่องกิจกรรมการแปรงฟันก็ต้องคงอยู่ เพราะในข้อเท็จจริงแล้วเราไม่สามารถห้ามให้เด็กบริโภคหลายๆ อย่างได้แต่เราสามารถบอกให้เขาเลือก อย่างน้อยค่อยๆ แทรกซึมในสิ่งที่เขาเลือกอาหารที่ปลอดภัยของว่างที่ควรกินได้ อันไหนที่ควรหลีกเลี่ยงแล้วก็แปรงฟัน เมื่อสร้างสุขนิสัยอันนี้เด็กก็จะเคยชินพอโตขึ้นเขาก็รู้แล้วว่าควรกินอาหารประเภทไหน กินน้ำตาลให้น้อยลงแล้วลิ้นก็จะปรับได้ เหมือนสมัยก่อนตัวเองกินกาแฟต้องใส่ครีมเทียม ซึ่งพบว่าครีมเทียมเป็นไขมันทรานส์ที่ไม่ควรกิน ปัจจุบันก็กินกาแฟเปล่าๆ ที่ไม่ต้องใส่แล้วก็กินกาแฟที่ไม่ต้องใส่น้ำตาลก็อร่อยได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะบอกว่าไม่ได้ไม่อร่อย ในส่วนของผู้ใหญ่เองต้องทำให้เป็นตัวอย่างไหมคะ         อย่างยิ่งเลยค่ะ ถ้าเราจะบอกเด็กว่าไม่ควร แต่ผู้ใหญ่ยังบอกว่าขอกินหน่อยค่ะอันนี้มันก็ไม่ได้ ก่อนอื่นเลยผู้ปกครองต้องลองฝึกที่ตัวเองก่อนไม่พยายามหาของที่เป็นอันตรายเข้าบ้าน อีกอันหนึ่งที่เราจะใช้ก็คือวิธีสำรวจตู้เย็น สำรวจตู้เย็นที่บ้านว่ามีของพวกนี้อยู่ไหมเรายังไปซื้อน้ำอัดลมประเภทไซค์บิ๊กที่บอกว่ามันประหยัด แต่ก่อนเราเชื่อว่ามีโปรโมชันเราก็จะซื้อในฐานะแม่บ้านว่ามันถูก แต่ลืมไปว่าการที่เราซื้อของถูกเหล่านี้ไว้ในบ้านมันก็หยิบกินง่าย แต่ถ้าเราไม่มีเด็กก็ไม่มีโอกาสที่จะกิน มันเป็นกลไกการตลาดที่จะทำให้พ่อบ้านแม่บ้านอยากจะซื้อเข้าบ้าน สมัยก่อนตัวหมอเองก็เป็น แต่พอเรารู้ว่ามันไม่ควรกินให้มันราคาถูกอย่างไรเราก็ไม่ซื้อ อันนี้จะลดความเสี่ยง  คือถ้าไม่ซื้อเข้าบ้านเด็กๆ ก็จะไม่มีโอกาสกินและก็ให้ซื้อของที่มีประโยชน์ผักผลไม้ให้ติดเป็นนิสัย แล้วเด็กๆ เขากินแต่ของพวกนี้เขาก็จะอิ่มท้อง คือลดโอกาสที่จะไปกินของที่ไม่มีประโยชน์ มันมีอีกวิธีคือการที่ทำให้เขาอิ่มด้วยของที่มีประโยชน์ก่อน เพราะถ้าให้กินของที่ไม่มีประโยชน์เขาก็จะกินได้อีก กลายเป็นว่าเขาจะอิ่มของที่ไม่มีประโยชน์ไปก่อนทำให้เขาสุขภาพไม่ดีจะเป็นเด็กอ้วนที่แบบไม่แข็งแรง กับเรื่องผลการทดสอบชานมไข่มุกที่ทางฉลาดซื้อเพิ่งแถลงข่าวไป         ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ทำการศึกษาและเผยแพร่ในนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีมากที่ได้เผยแพร่เรื่องนี้ออกไป เพราะจริงๆ แล้วทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพยายามรณรงค์เรื่องของการลดการบริโภคน้ำตาลมาโดยตลอด เราเริ่มทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ชวนเครือข่ายในระดับภูมิภาค เริ่มต้นมีแค่ 10 จังหวัด แล้วตอนนี้ก็มีรณรงค์เพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 25 จังหวัด มีจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโดยที่ไม่ได้ขอทุนไปดำเนินการอีกประมาณ 30 กว่าจังหวัด ในส่วนที่เรารณรงค์กันเบื้องต้นเราเน้นเรื่องของน้ำอัดลม ลดปริมาณการบริโภคน้ำอัดลมเพราะว่า เท่าที่ศึกษากันมาก็มีปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินในการบริโภค กลายเป็นว่าเราเน้นเรื่องน้ำอัดลม แต่มีน้ำอื่นมาแทน โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคปัจจุบันชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่คนทุกวัยทานได้         ก่อนหน้านี้อาจจะมีชาเขียวที่น้ำตาลเยอะ กลายเป็นว่าพอชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต ซึ่งเห็นข้อมูลตรงนี้แล้วถ้าเราดื่มน้ำอัดลมสักกระป๋องเราก็กินอย่างอื่นดื่มอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะน้ำตาลเกิน กลายเป็นว่าตอนนี้ชานมไข่มุกแค่แก้วเดียวก็เกินไปถึงไหนๆ จะมีอยู่ก็แค่สองยี่ห้อที่อยู่ในปริมาณที่ไม่เกิน แต่ว่าตามองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าคนเราจะสามารถบริโภคน้ำตาลต่อวันต่อคนแค่ 6 ช้อนชา จะสังเกตว่าขนาดชานมไข่มุกยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา แค่วันนั้นก็แทบจะเติมอย่างอื่นไม่ได้แล้ว โดยนิสัยคนไทยแล้วถ้าไปดู ก็ยังดื่มน้ำอัดลมกันอยู่ ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งน้ำอัดลมก็ยังครองแชมป์น้ำตาลสูง ยิ่งมาผสมกับการกินชานมด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่         ทุกวันนี้จะสังเกตว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะคนแน่นด้วยเป็นโรคทางระบบเลือด โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะที่ทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานสนใจมาก คือปริมาณน้ำตาลที่มันไปเชื่อมโยงกับโรคฟันพุแล้วมันก็ไปถึงโรคอ้วน ทำไมส่วนใหญ่ทางเครือข่ายกลุ่มคนที่เข้ามารณรงค์จะเป็นหมอฟันที่ไปจับมือกับนักโภชนาการ งานส่งเสริมสุขภาพ ประเด็นนี้เราต้องช่วยกันเพราะว่าสุขภาพฟันก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายเพราะถ้ามีปัญหาเรื่องฟันก็จะมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว ทำให้ได้รับสารอาหารได้ไม่เต็มที่  ในเรื่องของประเด็นน้ำตาลนั้นส่งผลทั้งในเรื่องของฟันผุ แล้วก็ที่ห่วงใยไปถึงสุขภาพร่างกายด้วยคือโรคทางระบบ โรคเรื้อรัง โรคติดต่อที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากตรงนี้เราจะทำอย่างไร ให้คนได้รับรู้ ต้องขอบคุณนิตยสารฉลาดซื้อ แค่นี้คงไม่พอต้องอาศัยสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่และกระตุ้น        สิ่งที่ทางเครือข่ายเริ่มพยายามจะรุกคืบก็คือ พยายามที่จะเชิญชวนร้านกาแฟ เราจะไปห้ามไม่ได้เพราะมันคือธุรกิจ จะบอกไม่ให้เขาขายคงเป็นไปไม่ได้ บอกไม่ให้คนกินก็คงยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะใช้วิธีการลดปริมาณขนาดที่จะให้ได้บริโภคต่อวัน คือในคนที่เลิกได้หันมาดื่มน้ำเปล่าแทนก็คือสุดยอดแล้ว ห่วงใยสุขภาพตัวเอง แต่ในเด็กกับกลุ่มคนที่อยากดื่ม เหมือนเราห้ามคนสูบบุหรี่เราก็ห้ามไม่ได้ ต้องอยู่ที่เขาตระหนักเอง คงต้องร่วมด้วยช่วยกันว่าทำอย่างไรจะสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ว่าเราจะต้องไม่เอาสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย มันเปรียบเหมือนสารพิษนะคะ แต่ว่ามันเป็นสารให้ความหวานทำให้เรารู้สึกมีความสุขกินแล้วก็อิ่มอร่อย แต่ทำอย่างไรจะให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพิษภัยต่อร่างกาย แล้วแค่ต่อมื้อก็มากแล้ว ต่อวันเข้าไปอีกแล้วสะสมหลายๆ วัน ซึ่งอีกทางที่จะช่วยป้องกันก็คือเรากินเข้าไปเผาผลาญมันออกมันก็จะช่วยลดตรงนี้ได้ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถจัดการเอาออกได้จากสิ่งที่เอาเข้าสู่ร่างกาย         ดังนั้นวิธีที่ไม่ให้ฝืนธรรมชาติคือ คิดว่าหลายๆ คนก็ยังรู้สึกว่ายังอยากจะกิน ยังอยากมีรสชาติของชีวิตอันนั้นคงอาจจะต้องเลือกไซด์ของการบริโภคให้เล็กลง ค่อยๆ ลดลงมาหรือเป็นไปได้ก็ไม่ไปบริโภคมัน อย่างที่บอกว่าเราพยายามที่จะไปเชิญชวนหรือหาแนวร่วมของร้านกาแฟ ร้านที่ขายเครื่องดื่มให้หันมาเป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ให้เป็นไซต์เล็กขายเป็นแก้วเล็ก ซึ่งอาจจะขัดแย้งเพราะว่าส่วนใหญ่ร้านค้าก็อยากขายแก้วใหญ่ ในเรื่องของกำไร แต่ส่วนนี้ถ้าเราสามารถเชิญชวนร้านค้าที่เขาอยากมีกำไรแล้วก็รู้สึกว่าอยากช่วยสังคมต้องร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่ว่า ปริมาณตัวนี้ที่เขาใส่เข้าไปมันส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง         อีกอันที่อยากเชิญชวนและให้เขารู้สึกว่าอยากเป็นแนวร่วมกับเราว่า การลดปริมาณน้ำตาลลง ลดเศรษฐกิจของเขา ลดต้นทุนของเขาถ้าเขาสามารถใส่น้ำตาลได้น้อยลงต้นทุนต่อแก้วก็น้อยลง แต่ปัญหาประเด็นที่เขาห่วงคือกลัวว่ารสชาติของเขาไม่เป็นที่ยอมรับ คือถ้าเขาลดปริมาณน้ำตาลหวานน้อยลง บางคนติดหวานก็จะไม่ซื้อเขา ซึ่งตรงนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกันในหลายส่วนคือในเรื่องของพฤติกรรมของแต่ละคนก็สร้างนิสัยที่ให้บริโภคหวานน้อยลง ถ้าเราลดความหวานลง ผู้บริโภคก็เลือกที่จะบริโภคหวานน้อยเทรนด์นี้ก็จะมาแรง เป็นประเด็นที่อยากให้ร่วมด้วยช่วยกัน       ในส่วนของทางเครือข่ายเองก็ออกไปรณรงค์ในโรงเรียน เข้าไปเชิญชวนโรงเรียน ให้มีโรงเรียนมีโรงอาหารอ่อนหวาน ซึ่งจะคุมในเรื่องปริมาณสัญญาณไฟจราจรเขียวเหลืองแดง ปริมาณแคลอรี่ ปริมาณพลังงานน้ำตาล ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พอควบคุมตัวนี้ได้สำคัญที่ตัวผู้บริโภคก็ต้องมีการหาแกนนำนักเรียน มีการให้ความรู้มีการบริโภคตามข้อแนะนำ สิ่งสำคัญคือต้องให้เขารับรู้ว่าควรที่จะบริโภคเท่าไหร่ การที่มาเผยแพร่ตรงนี้ให้กว้างขวางและให้รับรู้อยู่บ่อยๆ ก็จะช่วยได้เพราะบางทีเราก็จะจำไม่ได้ว่าควรเป็นเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งในฉลากเราก็มีการรณรงค์เรื่องฉลากบริโภค ซึ่งพยายามสอนให้ความรู้ประชาชนและนักเรียน สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องมามีส่วนร่วมอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ที่เราทำสำเร็จคือทำกับโรงเรียน โรงเรียนก็บอกว่าน้ำอัดลมโรงเรียนไม่จำหน่ายแล้ว แต่รอบรั้วโรงเรียนยังมีอยู่ แล้วรอบรั้วโรงเรียนก็จำหน่ายน้ำเหล่านี้ ซึ่งชานมไข่มุกที่นำมาเผยแพร่ข้อมูลในวันนี้น่าตกใจมากเป็นที่นิยมมากด้วย แต่เราจะทำอย่างไร คือถ้าเขาขาย เราไม่บริโภคเขาก็ขายไม่ได้ เขาก็จะต้องปรับกลยุทธ์ที่จะปรับให้มีน้ำตาลน้อยลง ฝากสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ออกไป แล้วก็ช่วยกันเป็นต้นแบบในการบริโภคหวานให้น้อยลง ทั้งหวานมันเค็ม โรคทางระบบรักษาหายยากเป็นแล้วเป็นเลยมันไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ว่าลดความรุนแรงได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 กินดีกับ Green Dee

                ฉบับนี้อยากให้ผู้อ่านทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพร่างกายให้มีความแข็งแรงกันทั่วหน้า เนื่องจากปัจจุบันสังคมรอบตัวนั้น มีปัจจัยหลายสิ่งที่มีส่วนทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมถอยลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่น สภาพอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นควันที่ทำให้มีผลต่อการหายใจ เป็นต้น และมีสิ่งหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงที่จะทำให้ร่างกายอ่อนแอได้ นั่นคือ อาหารการกินในชีวิตประจำวันนั่นเอง        สุขภาพที่ดีและแข็งแรงต้องมาจากภายในร่างกาย ดังนั้นการเติมพลังงานด้วยอาหารที่มีประโยชน์ มีวิตามินต่อร่างกาย ก็จะช่วยทำให้สามารถเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอและทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยใกล้เจ็บได้ส่วนหนึ่ง ถือได้ว่าการเลือกสรรอาหารเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างมากทีเดียว        แอปพลิเคชันที่ขอแนะนำมีชื่อว่า Green Dee ซึ่งจัดทำขึ้นโดย นิตยสารสารคดี ร่วมกับเว็บไซต์นายรอบรู้ นักเดินทาง สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มีวัตถุประสงค์ในการเชื่อมโยงเครือข่ายอาหารปลอดภัยเข้ากับกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยได้รวบรวมอาหารที่ดีต่อสุขภาพจากเกษตรผู้ผลิต ร้านค้า ตลาด ร้านอาหาร และแหล่งเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ เน้นเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพและมีความปลอดภัย        ภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่ หมวด Food เป็นเรื่องอาหารจะแบ่งเป็นเรื่องข้าว ผัก เนื้อสัตว์/นม/ไข่ ผลไม้ กาแฟ/ชา และอื่นๆ, หมวด Farmer เป็นการแนะนำเกษตรกรผู้ผลิตอาหารในแต่ละภาค หมวด Eat&Drink แนะนำร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ หมวด Market&Shop แนะนำตลาดนัดและร้านจำหน่ายสินค้า และหมวด Activity แนะนำแหล่งเรียนรู้ ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์การเรียนรู้ และที่พัก โดยทั้งหมดจะเน้นไปเรื่องอาหารที่มีประโยชน์ดีต่อสุขภาพและปลอดภัยทั้งสิ้น        การมีแอปพลิเคชัน Green Dee ไว้บนสมาร์ทโฟนจะช่วยให้การคัดสรรอาหารที่ดีมีประโยชน์เป็นไปได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เพราะแอปพลิเคชันได้รวบรวมมาให้ผู้ใช้สามารถรู้ถึงแหล่งที่มาของอาหาร แหล่งผลิตหรือแหล่งซื้อสินค้าได้โดยตรง อีกทั้งยังสามารถช่วยในการตัดสินใจเลือกอาหารที่จะรับประทานได้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง        มาคัดสรรอาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อสุขภาพที่ร่างกายของตนเองและครอบครัวกันเถอะค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2562

เด็กไทยกินเค็ม 5 เท่า        พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ที่น่าห่วงคือ พฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย ซึ่งกินเค็มเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน เกือบ 2-5 เท่า โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี ควรได้รับอยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม/วัน, เด็กอายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400 - 1,175 มิลลิกรัม/วัน และเด็กอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม/วัน        ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย ซึ่งมีโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม, ปลาเส้น มีโซเดียม 666 มิลลิกรัม/ซอง, สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง หรือ มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา        ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850 ล้านคน และเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6        เครดิตภาพ : https://teen.mthai.com/variety/165892.htmlเตือนผู้ปกครอง ระวังคลิปการ์ตูน สอนเด็กทำร้ายตัวเอง        อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า พบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กบนยูทูป (YouTube) ถูกดัดแปลงสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเอง โดยจงใจทำขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ทำตามแบบอย่างในคลิป        นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาความรุนแรงอื่นๆ ปะปนอยู่ในคลิปด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน และการค้ามนุษย์ โดยผู้ไม่หวังดีใช้ฉากในการ์ตูนเพื่ออำพรางการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติ เพราะเนื้อหาอันตรายมันถูกสอดแทรกอยู่ระหว่างกลางของเนื้อเรื่อง ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพัง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และมีการควบคุมเวลาและเนื้อหาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งหากเกิดกรณีตามเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323มติกก.สถานพยาบาลย้ำผู้ป่วยซื้อยานอก รพ.ได้        18 ก.พ. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวว่า                1) ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ ตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งแพทย์ต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษา                2) เรื่องการติดป้ายประกาศแจ้งคนไข้ว่าสามารถขอใบสั่งยาเพื่อนำไปซื้อจากร้านขายยาได้ เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้วที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยในการติดป้าย เพราะการรักษาในรพ. เป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร รวมถึงคุณภาพของยา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษา แต่ก็ย้ำว่ามติ 2 ข้อนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำตาม แต่จากนี้จะนำเรียนรมว.สาธารณสุขเพื่อทราบ เพื่อส่งมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาออกมาตรการในการควบคุมราคาบริการทางการแพทย์ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าอนุกรรมการฯ จะประชุมเมื่อไหร่ เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น เพราะผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ของรพ.เอกชนเป็นผู้ที่มีประกันเหล่านี้        เมื่อถามว่าสรุปผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนสามารถนำใบสั่งยามาซื้อจากร้านขายยาข้างนอกได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เดิมกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาข้างนอกอยู่แล้ว อย่างยาบางตัวที่ไม่มีในรพ. หรือยา รพ.หมดสต๊อก หรือกรณีผู้ป่วยมารพ.รัฐแล้วคิวยาวก็ขอใบเสร็จไปซื้อยาจากร้านข้างนอกได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ยาบางตัวไม่สามารถซื้อได้ แล้วแต่กรณีพบร้านค้าออนไลน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า 700 ราย         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งพบสินค้าที่ถูกเพิกถอนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 29 รายการ ยังมีวางขายอยู่ นอกจากนี้ยังมีการอ้างเลข อย.ปลอม ไม่แสดงฉลากภาษาไทย หรือข้อมูลผู้ผลิต        ทั้งนี้ยังพบว่าดาราและเน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือมักโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการจดแจ้งกับทาง อย.เท่านั้น จึงขอให้ดาราและเน็ตไอดอลตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา        โดยเครือข่ายผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหา เช่น ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง การสร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างห้างออนไลน์กับ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมถึงการให้รัฐจัดเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 กินเปลี่ยนโลก กินทุกวันเปลี่ยนโลกทุกวัน

แก้วตา ธัมอิน ผู้ประสานงานโครงการกินเปลี่ยนโลก ผู้หลงรักเรื่องราวของอาหารและบทกวี เธอจะบอกเล่าถึงแหล่งที่มาของอาหารจากท้องถิ่นสู่เมืองกรุง ผ่านร้านชื่อเดียวกันกับโครงการ ซึ่งต้อนรับเราในเช้าวันต้นฤดูฝน ถึงที่มาของ Growing Diversity Shop&Cafe by Foodforchange ที่เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา“กินเปลี่ยนโลก” เป็นโครงการที่เกิดตั้งแต่ปี 2553 ก็ประมาณ 8 ปีแล้ว เนื่องจากเราทำงานที่ผู้บริโภคเข้าตั้งคำถามเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก มาจากไหน อย่างไร และเราก็สนับสนุนให้ผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย นอกจากเกษตรกรรายย่อยทั่วไปจะได้กระจายรายได้อุดหนุนคนที่หลากหลายแล้วนั้น หลักๆ เลยคือเราคิดว่าเขาคือทางเลือก เป็นทางออกในการซื้ออาหารก็คือเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมี นอกจากได้สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยแล้วยังได้อาหารที่ดีสำหรับผู้บริโภคด้วย แล้วก็เพิ่มกิจกรรมมาทำเกี่ยวกับเครื่องปรุงเพราะว่าเราก็ส่งเสริมการทำกินเอง พอเราได้ผลิตผลมาจากเกษตรกรรายย่อยแล้วเราก็อยากให้ผู้บริโภคทำอาหารกินเองเพราะว่า การทำกินเองมันง่ายกับการที่คุณจะเลือกของที่ดีมากกว่าไปซื้อคนอื่น เราสามารถเลือกของที่คุณภาพที่เราพึงพอใจได้ เพราะเราสนับสนุนเรื่องการทำกินเองแล้ว “กินเปลี่ยนโลก” เป็นโครงการที่เกิดตั้งแต่ปี 2553 ก็ประมาณ 8 ปีแล้ว เนื่องจากเราทำงานที่ผู้บริโภคเข้าตั้งคำถามเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก มาจากไหน อย่างไร และเราก็สนับสนุนให้ผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย นอกจากเกษตรกรรายย่อยทั่วไปจะได้กระจายรายได้อุดหนุนคนที่หลากหลายแล้วนั้น หลักๆ เลยคือเราคิดว่าเขาคือทางเลือก เป็นทางออกในการซื้ออาหารก็คือเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมี เราทำงานกับเกษตรกรรายย่อยที่มีผักเยอะแยะมากมาย ผักที่ดีไม่ใช้สารเคมี แล้วก็มีข้าวพื้นบ้านหลายสายพันธุ์ที่รสชาติดี แต่ว่ามันมาเจอปัญหาหรือ “ตัน” ตอนปรุงเพราะว่าเวลาเลือกเครื่องปรุงจากท้องตลาดมักจะเป็นเครื่องปรุงที่มีการเติมสารเคมี พวกสารกันบูด สารปรุงรส และช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราก็เห็นว่านวัตกรรมการปรุงรสมันค่อนข้างก้าวกระโดด อย่างเช่นจากที่เราโตมาจะมีผงชูรสตัวเดียว แต่ตอนนี้มีผงชูรส 5 - 6 ตัว เยอะมากและก็หลีกเลี่ยงว่าตัวเองเป็นผงชูรส สร้างความบิดเบือนให้กับผู้บริโภค “เราก็เลยคิดว่า อยากจะอุดช่องโหว่นี้โดยการให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องเครื่องปรุงและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและผู้ผลิตรายย่อยที่ทำเครื่องปรุงรสพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล น้ำปลา เรามีเครือข่ายเป็นผู้ผลิตน้ำตาลโตนดเยอะมาก แต่การผลิตก็น้อยลงมากเช่นกัน หมายถึงคนที่ยังสืบทอดอาชีพ การขึ้นตาลโตนด การเคี่ยวน้ำตาลโตนดก็น้อยลง ถึงแม้ว่าตลาดยังต้องการน้ำตาลโตนดที่เป็นน้ำตาลแว่น ที่หน้าตายังเป็นแบบนั้นอยู่ แต่ความจริงแล้วมันสอดไส้น้ำตาลทรายเป็นหลักเพราะว่าต้นทุนด้วย ความรู้ของคนกินด้วย เราก็เลยคิดว่าการขายเครื่องปรุงและให้ความรู้ว่าวัตถุดิบแท้ๆ มันควรเป็นอย่างไร น้ำตาลอ้อย น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าวต่างกันอย่างไรรสชาติก็ต่างกัน เหมาะที่จะเอาไปปรุงอาหารต่างกันไป เกลือที่เราขายก็เลือกเกลือทะเลจากพื้นที่บางปะกง และเราก็อยากได้วัตถุดิบที่มีเรื่องราวด้วย เพราะเราเองก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่อง” นี่คือจุดเริ่มต้นของร้าน  กินเปลี่ยนโลก Growing Diversity Shop&Cafe by Foodforchangeเรื่องที่อยากเล่า การบริโภคของเรากระทบกับทุกสิ่งการเปลี่ยนแปลงหรือว่าผลกระทบที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือว่าผลกระทบจากการพัฒนาภาพรวม อย่างเช่น พื้นที่ชายทะเลที่มันจะโดนเขตเศรษฐกิจบ้างหรือเปล่า การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมที่อยู่แนวชายทะเลมันก็เกิดการกว้านซื้อที่ดิน จากครอบครัวที่เขาทำเกลือแต่ก่อนจนแทบจะไม่เหลือครอบครัวที่เป็นเจ้าของที่ดินที่ยังทำนาเกลืออยู่ ที่เราเห็นทำนาเกลือกันเยอะๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นที่ดินเช่า เพราะที่เคยเป็นของตัวเองขายไปแล้ว แล้วก็เช่าเขาทำ ส่วนเกลือที่เราเอามาจากบางปะกงนั้นเป็นครอบครัวที่เขายืนยันว่าจะรักษาที่ดินเอาไว้แล้วจะสืบทอดการทำนาเกลือและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือยกระดับเพิ่มมูลค่าให้กับมัน เราก็รู้สึกว่านอกจากเราจะขายสินค้าแล้วเราอยากขายเรื่องราวด้วยการบอกเล่า โดยใช้สินค้าเป็นตัวเล่าเรื่อง ที่มันเกิดขึ้นกับระบบอาหารของเราว่ามันมีอะไรมากกว่าสิ่งที่คุณเห็น อย่างเช่นเกลืออีสานที่เราไปเลือกมาก็เป็นเกลือที่ทำจากพื้นที่ริมน้ำมูล คือพื้นที่นี้ถ้าฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมแต่ถ้าหน้าแล้งก็จะมีขี้ทาเกลือ เราก็จะไปขูดมากรองแล้วก็ต้มเป็นเกลือสินเธาว์ แต่ว่าหลังจากมีเขื่อนปากมูลแล้ว ที่ที่เป็นแบบนั้นคือที่เวลาน้ำแห้งแล้วจะมีขี้เกลือมันถูกน้ำท่วมหมดเลย คนทำเกลือก็น้อยลง แต่เราก็พยายามไปหามาขาย สินค้าที่มันเป็นเรื่องราวเฉพาะ เราก็อยากให้คนได้รู้เรื่องราวที่มันเกิดขึ้นอยู่ในที่ต่างๆ ถึงผลกระทบที่พวกเขาได้รับด้วย นี่คือส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องแบบนั้นจากสินค้าหลายๆ ตัวที่เราดึงมา ก่อนจะซื้อเราก็อยากจะเล่าที่มาของสินค้าให้ทุกคนฟัง หอมแดงกับกระเทียมอันนี้ก็มาจากราษีไศล ซึ่งราษีไศลก็เป็นกลุ่มที่เขาทำเรื่องเขื่อนปากมูล แล้วก็เรื่องการเสียที่ดินทำกิน แต่พื้นที่ราศีไศลเป็นพื้นที่ที่ทำหอมกระเทียมกันอยู่แล้วดั้งเดิม ประมาณ 4 - 5 ปีที่แล้วถึงมาปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้เป็นหอมและกระเทียมอินทรีย์ซึ่งทำยากมากเพราะมันมีศัตรูพืชเยอะเลยค่อนข้างยาก แล้วมีคนที่ยอมเปลี่ยนน้อยแต่ก็ค่อยๆ ทำกัน เราก็เลยอยากจะช่วยอุดหนุนเพื่อให้คนที่ทำสามารถอยู่ได้ ให้เขาเห็นว่าถ้าคุณทำมาดีมันมีคนพร้อมสนับสนุน เป็นแรงจูงใจของผู้ผลิตที่จะเปลี่ยนซึ่งมันก็ดีกว่าจริงๆ นะ เพราะหอม กระเทียมทั่วไปพอมันเริ่มแก่แล้วใกล้จะเก็บเกี่ยวเขาจะฉีดยาฆ่าหญ้าเพื่อให้ใบมันแห้งสม่ำเสมอไม่อย่างนั้นจะเกิดเชื้อราวิถีผลิตที่น่าประทับใจชอบตอนไปหาน้ำปลามาก ตามหาน้ำปลาทั้งน้ำปลาทะเล น้ำปลาน้ำจืด ที่เป็นโรงงานพื้นบ้านหายากมาก เข้าถึงยาก หาข้อมูลว่ามันอยู่แถวไหนแล้วก็ลงไปถามหา บางทีก็ไปเจอแต่ว่าน้อยมากจนไม่สามารถเอาออกมาขายได้ เขาก็เล่าให้ฟังว่าโรงงานเล็กๆ เดี๋ยวนี้ก็เลิกผลิตไปเยอะแล้วพวกโรงงานที่เป็นธุรกิจท้องถิ่น แต่ก็สนุกทุกครั้งที่ลงไปหาวัตถุดิบ ไปเจอคนทำจริงๆ ไปดูกรรมวิธีการผลิต ตอนไปหาน้ำปลาที่กงไกรลาศก็สนุกมากได้ไปเจออำเภอหนึ่งที่มีโรงงานทำน้ำปลาน้ำจืดประมาณ 6 - 7 โรงงาน เป็นลานที่มีโอ่งเต็มไปหมด ข้างในก็มีแต่น้ำปลา มีเหมือนตะกร้าสอดไว้ในโอ่งเลย ตรงกลางก็เป็นน้ำใสใส เป็นน้ำปลาดิบแบบไม่ต้องไปต้ม กรองมาจากในโอ่งแล้ว ทำให้เราเข้าใจว่า ของที่เรากินไปหน้าตาแบบนี้ มันมาจากกระบวนการแบบไหนมากขึ้น ก็เลยคิดว่ามันสำคัญที่คนจะต้องจินตนาการออก บางทีไม่มีประสบการณ์เลยมันจินตนาการไม่ได้เลยว่าของสิ่งนี้มันมาอย่างไรเพราะฉะนั้นมันไม่สามารถโยงได้ว่ามันควรจะมีหรือไม่มีอะไร ควรจะใส่อะไรหรือไม่ใส่อะไร ถ้าเราไม่เข้าใจกระบวนการของมัน “เหมือนคนที่อยู่ห่างไกลระบบเกษตรก็จะนึกภาพไม่ออกเลยว่าผักพวกนี้กว่าจะได้มาคนปลูกต้องทำอย่างไร นอกจากจะไม่เข้าใจสิ่งที่กินเข้าไปแล้วนั้น ไม่เข้าใจคนอื่นด้วย ขาดความเห็นอกเห็นใจในสิ่งที่บางคนลงมือทำ” กลายเป็นไม่เห็นคุณค่าสิ่งของหรือคนอื่น ก็เลยไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ฉันลอยอยู่เหนือปัญหาที่เป็นพื้นฐานมากเลย ที่เราควรจะเข้าใจเพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะจัดการ ถ้าพูดถึงในมุมของการเป็นพลเมือง คนยุคใหม่มันลอยออกจากสังคมจริงๆ มีให้ใช้ก็ใช้ ไม่ได้มาคิดว่ามันมาจากไหน อย่างไรอาหารคลีนที่แท้จริงคืออาหารคลีนในสังคมเรา ที่มันถูกถ่ายทอดโดยภาพที่เราเห็นกันอยู่ในสื่อต่างๆ มันกลายเป็นหน้าตาที่มาก่อนเนื้อแท้ของความหมายที่แท้จริง เป็นอะไรที่มีบล๊อคโคลี่หน้าตาเขียวๆ ผักลวกนิดหน่อยแล้วก็มีไก่ 1 ชิ้น ขาวๆ ซีดๆ จืดๆ แล้วก็ดูคลีน ความจริงแล้วอาหารคลีนน่าจะต้องดูที่กระบวนการผลิตไหม มันต้องคลีนตั้งแต่ที่มาเพราะถึงแม้ว่าคุณจะทำพะโล้ใส่ซีอิ๊วดำ ซึ่งดูสีเข้มเข้มมันก็เป็นอาหารคลีนได้ ถ้าคุณใช้หมูที่คุณเลี้ยงมาโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะและก็ใช้ซีอิ๊วที่ไม่เป็น GMO ลดหวาน ลดเค็มด้วยตัวคุณเองก่อน แบบนี้ก็คลีนเหมือนกันผักก็ไม่ใช่ว่าสีเขียวๆ แล้วจะคลีน คุณต้องรู้ว่าปลูกมาอย่างไร ใช้สารเคมีหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันเหมือนเป็นมายาคติของคำว่าอาหารคลีนที่ทำให้คนก็ยังไปไม่ถึงอาหารหน้าตาพื้นบ้าน อย่างแกงเผ็ดมันดูร้อนแรงจะเป็นอาหารคลีนได้ไหมเพราะมันไม่ซีด เลยกลายเป็นว่าอาหารคลีนมาบล็อกกระแสอาหารท้องถิ่น จากที่อาหารท้องถิ่นมันจะยกระดับไปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้ ก็ต้องอธิบายกันต่อไปเป็นสินค้าออแกนิคส่วนใหญ่แล้วผลผลิตที่เรารับมาจะเรียกว่าออแกนิค ออแกนิคคือการไม่ใช้สารเคมี แต่ว่าในเชิงการตลาดมันอาจจะไม่ใช่เพราะว่าออแกนิคที่สถาบันเขารับรองต้องมีเงื่อนไขข้อจำกัดเยอะแยะ เพราะฉะนั้นแล้วหลักๆ สินค้าที่เราได้มาก็จะเป็นระบบรับรองตัวเองใช้ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครือข่ายที่เราทำงานด้วย แล้วได้ลงไปเห็นร้านที่มีมากกว่าการขายสินค้า ของกินเปลี่ยนโลกจะเป็นการทำอาหาร อาจจะเป็น Cooking class ต่างๆ อย่างวันนี้ที่เราอบรมทำซีอิ๊วกัน อยากให้คนหันมาพึ่งพาตัวเองในระบบอาหาร ก็อาจจะมีการชวนพ่อครัวแม่ครัวที่มีชื่อเสียงหน่อยมาร่วมกิจกรรม มาแชร์ ชวนพูดคุยกับเชฟอะไรต่างๆ แบบนี้ นอกนั้นก็อาจจะเป็นพวก Workshop เกี่ยวกับเรื่องการทำสวน การปลูกผักในเมืองอะไรประมาณนี้ ต่อไปสินค้าที่เราน่าจะมีเพิ่มมากขึ้นนอกจากอาหารก็จะเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันพวกน้ำยาล้างจาน แชมพูเพื่อเป็นทางเลือก ก็อาจจะมีเป็น Workshop ด้วย สามารถติดตามได้ที่เพจกินเปลี่ยนโลกก็ได้ ส่วนคาเฟ่เราก็พยายามจะทำร้านนี้ให้มันเป็นพื้นที่ศึกษาในเรื่องที่เราอยากจะคุยอย่างเช่นเครื่องปรุงในเครื่องดื่ม คือทุกคนกินเครื่องดื่มที่หวานมาก และใช้ไขมันทรานส์เยอะมาก อย่างพวกนมข้นหวานหรือครีมเทียมก็ทำมาจากน้ำมันปาล์มเราก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ดีต่อสุขภาพมากนักแต่คุณก็ติดความหวานมันแบบนั้น จะทำอย่างไรที่เราจะเอาสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพเหล่านั้นออกไป ในเมนูเราก็เลยนำเสนอเฉพาะเมนูกาแฟ กาแฟจริงๆ ที่มีระบบการผลิตด้วยกระบวนการที่ดี มันอร่อยด้วยกาแฟของมันจริงๆ ใส่แต่นมสดแค่นั้น ใส่น้ำตาลที่มาจากชาวบ้าน ก็อาจจะเป็นอีกรสชาติหนึ่งที่นำเสนอ ที่มันก็อร่อยได้เหมือนกันสิ่งที่เปลี่ยนยากแต่เปลี่ยนได้ ที่ร้านเราก็จะฝึกพฤติกรรมไม่มีถุงพลาสติกให้ด้วย ไม่มีจริงๆ เราต้องแข็งใจมากเลยเวลามีคนขอถุง เพราะเราอยากให้ทุกคนจดจำได้เลยว่ามาที่นี่ต้องพกถุงมาเองถ้าต้องการถุงคุณต้องซื้อ เพื่อให้เขาเห็นว่ามันมีต้นทุน และมันยังมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมด้วย ใช้ไปแล้วทิ้งก็เป็นภาระ เป็นขยะ เป็นมลพิษ เป็นสิ่งไม่สวยงามที่คุณก็ไม่อยากดูหลังจากที่คุณใช้แล้วก็ทิ้งไป เราก็ต้องปฏิเสธว่าไม่มีถุงให้แน่นอน แล้วก็ไม่มีแก้ว Take Away ถ้าอยากพกกาแฟออกไปกินก็ต้องเอาแก้วมาเองถ้าไม่มีแก้วมาก็นั่งกินในร้าน “กินเปลี่ยนโลก” เป็นโครงการรณรงค์อาหารท้องถิ่น มีกิจกรรมส่งเสริมเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค ให้สามารถสนับสนุนสินค้าของท้องถิ่น สนับสนุนเกษตรกรสร้างตลาดที่เป็นธรรม และสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่ดี ปลอดภัย เปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวสาร น้ำตาลโตนด น้ำตาลอ้อย กะปิ น้ำปลา ฯลฯ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในอาหารเล่าเรื่องราวของการปกป้องทรัพยากร การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารจากภัยคุกคามต่างๆ เช่น นโยบายการพัฒนาขนาดใหญ่ และความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยรณรงค์เรื่องอาหารท้องถิ่น และระบบเกษตรกรรมยั่งยืน สามารถติดตามโปรแกรมดีๆ จากแฟนเพจ ร้านกินเปลี่ยนโลก Growing Diversity Shop&Cafe by Foodforchange3/12 สวนชีววิถี ซอยบางอ้อ2 หมู่ 6 ต.ไทรม้า อ.เมือง 11000 Nonthaburiโทรศัพท์ 02 985 3838https://www.facebook.com/GDShopByFoodforchangewww.food4change.in.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 โฆษณาเกินจริง แม้ไม่เชื่อ ก็มีความผิด

สวัสดีครับ พบกันทุกเดือนเช่นเคยฉบับนี้ ผมขอบอกเล่าเรื่องอุทาหรณ์ของการโอ้อวดเกินจริง โดยเฉพาะทุกวันนี้ มีการเผยแพร่ข่าวสาร โฆษณาต่างๆ เพื่อชวนเชื่อให้เราซื้อสินค้าหรือบริการมากมาย  ที่มีทั้งจริงและไม่จริง มีคนสงสัยว่า ในทางกฎหมาย การโฆษณานอกจากเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแล้ว หากข้อความโฆษณานั้น มีลักษณะโอ้อวดเกินจริง ใครก็รู้ ไม่ได้หลงเชื่อ แบบนี้จะมีความผิดไหม  พอค้นๆ ดู ก็พบว่า มีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการโฆษณาในแผ่นพับของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่โอ้อวดว่าของตนดีกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ และไปกล่าวหาว่าโรงพยาบาลของโจทก์เขาไม่ดี  ทำให้โรงพยาบาลดังกล่าวเอาเรื่องมาฟ้องศาล สู้กันจนถึงศาลฎีกา และมีคำพิพากษาในที่สุดว่า การโฆษณาของโรงพยาบาลที่โอ้อวดเกินจริงมีความผิด และเป็นการละเมิดทำให้ผู้อื่นเสียหายด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2553ข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพของจำเลยในใบแผ่นพับโฆษณา จำเลยแสดงผลการเปรียบเทียบให้เห็นว่าโรงพยาบาลของจำเลยดีกว่า น่าใช้บริการมากกว่า เพราะมีผู้ประกันตนที่รับได้จำนวนมากที่สุด สะดวกสบายกว่า มีจำนวนเครือข่ายหลายแห่งกว่ามีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยมากกว่าเพราะมีผู้เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าใคร โรงพยาบาลของจำเลยใหญ่กว่าเพราะมีเตียงจำนวนมากกว่ามีความมั่นคงกว่าเพราะมีประกันอุบัติเหตุให้ด้วย การโฆษณาแผ่นพับของจำเลยดังกล่าวเป็นการจูงใจให้บุคคลมาใช้บริการของจำเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ โฆษณา หรือประกาศหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใดๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลหรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล" ดังนั้น การที่จำเลยระบุในแผ่นพับในช่องผู้ประกันตนที่รับได้ว่า โจทก์รับได้ 25,000 คน ช่องระยะเวลาเข้าร่วมโครงการประกันสังคมว่า โจทก์เพิ่งเริ่มเข้า ช่องขนาดโรงพยาบาลว่า โจทก์มี 150 เตียง ช่องประสบการณ์การบริหารงานโรงพยาบาลด้านโครงการประกันสังคมว่า โจทก์ไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งความเป็นจริงทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์มีจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ 50,000 คน โจทก์มีเตียง 400 เตียง และโจทก์เข้าร่วมโครงการประกันสังคมตั้งแต่ปี 2535 โจทก์จึงมีประสบการณ์ตั้งแต่ปีที่เข้าร่วมโครงการเป็นต้นมา จึงเป็นการที่จำเลยเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาไม่ตรงกับความจริงโดยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โรงพยาบาลจำเลยมีศักยภาพดีกว่าโรงพยาบาลโจทก์เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่ามีประสบการณ์มากกว่า จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 และเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ คำว่า สิทธิ หมายความถึงประโยชน์ของโจทก์ที่มีอยู่ และจำเลยหรือบุคคลอื่นต้องเคารพหรือได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่สิทธิเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 423 หรือบางครั้ง แม้ข้อความที่พูด จะไม่เข้าข่ายการกล่าวโอ้อวดเกินจริง แต่หากทำให้ผู้อื่นเสียหาย เสียชื่อเสียงก็เป็นละเมิดต้องรับผิดต่อเขาเช่นกัน ดังฎีกาต่อไปนี้คำพิพากษาฎีกาที่ 891/2557คำกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องที่ว่า “พวกมันมีเหี้ย 7 ตัว” หรือ “มันเป็นสามานย์” แม้เป็นการกล่าวกระทบถึงโจทก์ทั้งเจ็ด แต่ก็มิใช่การนำความเท็จหรือข้อความที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับตัวโจทก์ทั้งเจ็ดมากล่าว หากแต่เป็นการด่าโจทก์ทั้งเจ็ดด้วยความรู้สึกเกลียดชังว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี โดยเปรียบเหมือนสัตว์ซึ่งไม่ใช่เป็นการนำข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงมากล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงตาม ป.พ.พ. มาตรา 423แต่การพูดปราศรัยด้วยถ้อยคำตามฟ้องต่อประชาชนที่มาฟังการชุมนุม ณ ที่เกิดเหตุนั้นประชาชนที่ฟังย่อมรู้สึกได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี ไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งประธานสภาหรือสมาชิกสภาเทศบาล อันเข้าลักษณะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 420 ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียชื่อเสียงอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดและจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 ปัญหาโฆษณาสุขภาพเกินจริงแนวรบที่ไม่มีวันจบ

อย. ย้ำเตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทั้งลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน หรือรักษาโรค ผ่านทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ อาจเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย โดย อย. จะดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดเกินจริง ส่งตรวจวิเคราะห์ หากพบการปลอมปนของสารออกฤทธิ์ทางยา จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่รู้ว่าเราต้องอ่านคำเตือนจาก อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไปอีกกี่หน เพราะดูเหมือนว่าปัญหาจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น ก็ยังวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรา สอดแทรกอยู่ในสื่อต่างๆ ทั้งใหม่เก่า ที่ผูกมัดพันธนาการเราไว้แทบจะตลอดวัน ผู้บริโภคหากวันใดเกิดจิตใจไม่เข้มแข็งพอขึ้นมาก็คงไม่แคล้วต้องมีอันพลาดท่าเสียที แล้วทำไมสังคมของเราถึงยังจัดการกับปัญหาโฆษณาอวดอ้างเกินจริงเหล่านี้ไม่ได้ อะไรคือสาเหตุ และอะไรคือแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เราลองมาถอดรื้อจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสื่อและโทรคมนาคม เรื่อง การจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ที่จัดทำเมื่อปี 2559 ว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไร พบโฆษณาผิดกฎหมายปีหนึ่งเป็นหมื่นแต่จัดการได้แค่พัน ในงานวิจัยชี้ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นั้น พบการกระทำผิดกฎหมายเฉลี่ยปีละหมื่นกว่า แต่การดำเนินคดีนั้นทำได้เพียงปีละพันกว่า ทั้งนี้ไม่นับรวมการกระทำผิดที่ อย.ไม่พบ หรือไม่มีคนร้องเรียนเข้ามาอีกเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อทางอินเทอร์เน็ตที่มีพลังในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารได้อย่างน่าทึ่งแถมยังทำกันได้ง่าย แทบจะเรียกว่าใครก็ทำได้   ถ้านับเป็นเวลาก็นับเป็นแค่นาที แต่สำหรับหน่วยงานกำกับดูแล การเข้าจัดการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายต้องใช้เวลานับเดือน นับปีกว่าจะสามารถลงโทษด้วยการปรับเงิน(จำนวนน้อย)ได้ ดังนั้นผู้กระทำผิดจึงไม่ค่อยเคารพยำเกรงกฎหมาย เพราะถือว่าคุ้มกับการเสี่ยง    มี อย. ปลอดภัย 100% แล้วถ้าเป็น อย.ปลอมจะทำอย่างไร   แบรนด์ อย. ถูกสร้างมาให้ติดตลาด อย่างไรก็ดี เครื่องหมาย อย. ก็กลายเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน เมื่อปลายปี 2559 เกิดกรณี MangLuk  Power Slim ผลิตภัณฑ์อาหารในแบบแคปซูล สีชมพู-ขาว มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า หลังรับประทานแล้วมีอาการใจสั่น มือสั่น ปากแห้ง คอแห้ง (ผลข้างเคียงจากสารไซบูทรามีนหรือยาลดความอ้วนที่ผสมลงไปในผลิตภัณฑ์) เมื่อ อย. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งฉลากระบุเลขที่ อย. 89-1-04151-1-0080 นำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท THE RICH POWER NETWORK จังหวัดสมุทรสาคร รุ่นผลิต RI88-89/01วันที่ผลิต 01/01/16 วันหมดอายุ 01/01/18 นั้น  อย .แถลงข่าวว่า เป็นเลข อย.ปลอม และเมื่อตรวจสอบข้อมูลผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายตามที่ระบุบนฉลากจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าว คือปลอมทั้งเลข อย.และปลอมชื่อทางธุรกิจ ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหาร Mangluk Power Slim ตัวนี้ จึงเข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย มีการปลอมเลขสารบบอาหาร โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และตรวจพบไซบูทรามีน ซึ่ง อย. จะมีการดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป แต่ ณ ปัจจุบัน เมื่อนำมาสืบค้นด้วยชื่อ ผลิตภัณฑ์นี้ เราก็ยังพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ ผู้บริโภคทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า การมีเครื่องหมาย อย. คือการรับประกันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เครื่องหมาย อย. เป็นเพียงการรับรองการผลิตที่ได้มาตรฐานเท่านั้น เล่ห์ร้ายของผู้ประกอบการขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง หนึ่งในยุทธวิธีที่ผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบนิยมในการหลอกลวงทั้งหน่วยงานและผู้บริโภค คือ  ขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นพวกเขาจะมี เลขที่ใบอนุญาตโฆษณาที่ถูกต้อง แต่เนื้อหาผิดไปจากที่ยื่นขอ  ผู้บริโภคที่ไม่ทันเหลี่ยมนี้ก็คิดว่า เป็นโฆษณาที่ถูกต้องแล้ว นี่ไง อย.รับรอง หรือแม้กระทั่งการโฆษณาแฝงในรายการต่างๆ โดยไม่มีการบรรยายสรรพคุณแบบโต้งๆ  ทำให้ อย.ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้  เพราะยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโฆษณาแฝงทุกหน่วยงานมีปัญหากับการจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เมื่อนึกถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลายคนก็หันไปมองที่ อย. แน่นอนว่า ไม่ผิด แต่เราทราบกันไหมว่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานภาครัฐ ที่มีหน้าที่ช่วยกันกำกับดูแลด้านการโฆษณาผิดกฎหมายได้อีก ได้แก่ กระทรวงดิจิทัล ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด แต่กลับปล่อยให้มีการโฆษณาผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์กันอย่างมากมาย  ขณะเดียวกันก็ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบกำกับดูแลสื่อในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ซึ่งปัจจุบันตามกฎหมายให้อำนาจ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำกับดูแลเฉพาะสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ ไม่ได้ครอบคลุมถึงการโฆษณาใน โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เมื่อบางหน่วยงานไม่ค่อยขยับ หน่วยงานหลัก อย่าง อย. ก็ติดกับดักระบบราชการ ซึ่งมีระเบียบวิธีที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้เกิดลักษณะคอขวดในการจัดการเรียกง่ายๆ ว่า งานไปจมอยู่ที่ อย.  ผู้บริโภคไม่เชื่อวิทย์  ผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็ใจร้อน วิธีคิดก็เป็นตรรกะที่ผิด เช่น เชื่อว่ากินอาหารบางอย่างแล้วรักษาโรคได้สารพัดโรค อีกทั้งยังเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว หรือแทนที่จะคิดว่า การที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะสาเหตุที่มาจากการกินมากไปแล้วใช้กำลังกายน้อย กลับไปตั้งความหวังและมั่นใจในอาหารเสริมบางอย่างว่ากินแล้วจะช่วยบล็อกไม่ให้อ้วนได้ หรือเกิดการเผาผลาญพลังงาน โดยที่ไม่ต้องออกกำลังกาย พอไม่เชื่อวิทย์ ชีวิตบางคนจึงเปลี่ยน บางคนถึงเสียชีวิต เพราะหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างเกินจริง  บางคนแม้จะเชื่อในวิทยาศาสตร์ แต่แพ้ภัยค่านิยม "ผอม ขาว สวย ใส อึ๋ม ฟิตปั๋ง” ก็จำต้องเสี่ยงใช้ทางลัด ซึ่งบทพิสูจน์ที่ผ่านมาคือ ไม่มีทางลัดใดที่ปลอดภัย เน็ตไอดอล ยังไงฉันก็เชื่อเธอ NET IDOL ก็คือคนดังบนโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย พวกเขาหรือเธอ มียอดคนติดตาม (Followers) เป็นแสน เป็นล้าน ขยับตัวทำอะไรก็เกิดกระแส ถือสินค้าสักชิ้น กินอาหารสักอย่างเหล่าผู้ติดตามส่วนหนึ่งก็พร้อมจะทำตาม หากเน็ตไอดอลบางคนทำสินค้าด้านสุขภาพขึ้นมาสักชิ้นแล้วบอกว่า ใช้แล้วดีมาก พร้อมบรรยายสรรพคุณจนเลยเถิดไป หรือในผลิตภัณฑ์เกิดมีสารอันตรายแฝงอยู่ ผู้ที่หลงเชื่ออาจกลายเป็นเหยื่อที่ต้องทุกข์ทรมานเพราะความรักและความนิยมในตัวเน็ตไอดอลเหล่านั้น  หรือบางทีเน็ตไอดอลเองก็กลายเป็นผู้ส่งเสริมให้คนใช้สินค้าไปโดยไม่ได้สนใจว่า ผิดหรือถูก เพราะรับเงินค่าถือสินค้าออกช่องทางสื่อสารของตนเองอย่าง อินสตาแกรม เฟซบุ้ก ฯลฯ ไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงพวกเธอหรือเขาอาจไม่เคยทดลองใช้สินค้านั้นจริง แนวทางในการกำกับดูแล และแก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากงานวิจัย1.จัดทำและเปิดใช้ “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” (Health Products’ Public Data Bank) คือ คลังข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมด ที่ได้จดทะเบียนกับ อย. รวมทั้งการอนุญาตโฆษณา คำที่อนุญาตให้ใช้ในโฆษณา เลขที่อนุญาตโฆษณา ซึ่งจะแสดงรายละเอียดในสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้ง สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพ เสียง วีดีโอ เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเข้าสืบค้นข้อมูลได้เองด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เมื่อผู้บริโภคต้องการสืบค้นสรรพคุณและการโฆษณาของผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวใดตัวหนึ่งเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนจะซื้อ ก็สามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูล และตรวจสอบโฆษณานั้นว่าได้รับอนุญาตจริงหรือไม่2.อย. ควรประกาศใช้  “แนวทางปฏิบัติ หลักเกณฑ์การพิจารณา โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย” เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้บังคับใช้ตามแนวทางที่ออกประกาศ เช่น เมื่อหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการโฆษณา พบการโฆษณาฯ ที่ไม่มีอยู่ใน  “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” ให้สิทธิพิจารณาได้เลยว่า โฆษณานั้นผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องส่งกลับมาให้ อย.เป็นผู้วินิจฉัย และให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายในฐานความผิดของหน่วยงานด้วย ถือเป็น ความผิดเดียว ผิดหลายกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายจริงจังและรุนแรง เพื่อไม่ให้กระทำผิดอีก 3.การกระจายอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแลส่วนภูมิภาค อย. ควรกระจายอำนาจให้ สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) มีหน้าที่จัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในพื้นที่อย่างฉับไว สามารถบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกสื่อทั้งที่เกิดในพื้นที่ตน และใน Social Media โดยให้อำนาจเท่ากับ อย. เพราะในปัจจุบัน สสจ. มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเพียงเฉพาะที่เกิดขึ้นในสื่อโทรทัศน์ และสื่อวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น   4.อย. ควรเร่งปรับปรุงแนวปฏิบัติในการลงโทษ โดยพิจารณาความผิดฐานโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จ แทนที่จะลงโทษเพียงฐานไม่ขออนุญาตโฆษณา รวมถึงการกระทำผิดซ้ำซาก เพราะฐานความผิดโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จนั้นจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานกำกับดูแลอื่นสามารถนำไปต่อยอดความผิดได้ และปรับปรุงบทลงโทษกฎหมายที่เกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ให้มีโทษปรับในอัตราก้าวหน้า หรือนำมาตรการการเก็บภาษีเข้ามาช่วย สำหรับผู้ขายและผู้โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 5.ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องและการสร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อ ด้วยการปูพื้นฐานผู้บริโภคตั้งแต่ปฐมวัย และสอดแทรกอยู่ในหลักสูตรเท่าทันสื่อ ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 สาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสนใจงานวิจัยฉบับเต็ม สามารถดูได้ที่ www.indyconsumers.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เครื่องมือรัฐจัดการเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหด (2)

ความเดิมตอนที่แล้ว รัฐบาลได้ปรับปรุงและประกาศใช้ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560) ห้ามเจ้าหนี้ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าฝ่าฝืนมีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ สำหรับเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15  ต่อปี ส่วนสถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล เจ้าหนี้กลุ่มนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้เกินร้อยละ 15 ต่อปีดอกเบี้ยของเจ้าหนี้เงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงิน  “สถาบันการเงิน” ตามนิยามของ พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ได้แก่ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย(2) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์  (3) บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์  (4) สถาบันการเงินอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากฎหมายให้สิทธิ สถาบันการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดรายละเอียดว่าสถาบันการเงินประเภทไหน คิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และก็จะมีการปรับแก้อัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะ ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ ล่าสุด กำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จาก      ผู้กู้ยืม ได้ที่ http://law.longdo.com/lawindex/%E0%B8%94ดอกเบี้ยของเจ้าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลบริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหลายนั้น เป็นการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย  “บัตรเครดิต” มีเงื่อนไขกำหนดว่า “การเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใด จากผู้ถือบัตร เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี” และ “ห้ามคิดค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด ในการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่เบิกถอนนั้น”ในส่วนของ “สินเชื่อส่วนบุคคล” นั้น จะคิดดอกเบี้ย ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังมีสิทธิคิด ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้อีก แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี ดอกเบี้ยธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจเช่าซื้อไม่ว่าจะเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสินค้าอะไรก็ตามนั้น ไม่อยู่ในการกำกับ ดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะไม่ได้เป็นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินร้อยละ 15 ต่อปี ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแพ่ง มาตรา 654  ดังนั้น จึงมีนายทุนเงินกู้นอกระบบเจ้าเล่ห์ อาศัยช่องว่างของกฎหมายตรงนี้ ปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยอาศัยการทำสัญญาเช่าซื้อบังหน้า โดยทำทีว่า ลูกหนี้มาเช่าซื้อสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์ ราคา 30,000 บาท ผ่อน 10 เดือน เดือนละ 3,000 บาท แต่ไม่ได้มีการส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์กันจริง ๆ เมื่อเซ็นสัญญาเช่าซื้อแล้ว เจ้าหนี้ก็จะเอาเงินสดให้ลูกหนี้ 20,000 บาท หักไว้ 10,000 บาท เป็นค่าดำเนินการและดอกเบี้ยล่วงหน้า เป็นธุรกรรมทำนาบนหลังคน ที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามคิดดอกเบี้ยเกินอัตราอย่างชัดเจน ซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับเลยทีเดียว ดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ศาลยกขึ้นมาพิจารณาเองได้การคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ศาลจึงมีอำนาจที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาได้เอง แม้ว่าลูกหนี้จะไม่ได้อ้างเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้ในคดี ถ้าคุณเจอศาลที่ท่านเมตตาลูกหนี้   ให้ความเป็นธรรมพิพากษาไม่ให้คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยโหดก็ถือว่าโชคดีไป แต่เพื่อความไม่ประมาท ก็ควรเตรียมตัวทำคำให้การให้ชัดเจนว่า เจ้าหนี้เขาคิดดอกเบี้ยคุณถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะการตัดหนี้ดอกเบี้ยพวกนี้ออกไปจะช่วยให้คุณประหยัดเงินในการปิดบัญชีปลดหนี้ไปได้อีกเยอะเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 น้ำปลา

ผลิตภัณฑ์คู่ครัวไทยและอีกหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เป็นเครื่องจิ้มที่ขาดไม่ได้ เรียกว่าอร่อยทั่วภูมิภาคแต่ถ้าไปสืบค้นทางโบราณคดี การนำปลามาหมักเกลือนั้นเป็นการถนอมอาหารที่มีมานานแล้ว หลายชนชาติเขาก็ทำกันมา ในยุโรปกรีกเป็นชาติแรกที่ทำน้ำปลาเป็นผลิตภัณฑ์หรูหราระดับเลี้ยงชนชั้นสูง พวกโรมันก็รับไม้ต่อไป แต่การหมักปลาเพื่อเป็นน้ำปลานั้น กว่าจะย่อยปลาจนเป็นน้ำใสๆ ได้ ต้องหมักกันเป็นปี คนในแถบยุโรปเลยชอบกินแบบปลาหมักเกลือระยะกลางอย่างปลาเค็มฝรั่ง หรือ แองโชวี มากกว่า ส่วนบ้านเราการทำปลาหมักเกลือก็เป็นวิถีพื้นบ้านอยู่แล้ว ทั้งปลาร้า ปลาเจ่า ภาคใต้เองก็มีน้ำเคย ซึ่งใช้สร้างรสเค็มในอาหารแต่ดั้งเดิม น้ำปลาแบบปัจจุบันบางตำราจึงว่า อาจได้จากวิธีการของคนจีน แต่บางคนก็คิดว่า อาจจะเป็นการเผลอหมักปลาร้านานไปหน่อยก็ได้ จนปลาเปื่อยยุ่ยเป็นน้ำน้ำปลาอย่าไปคิดว่าพื้นที่ ที่ใกล้ทะเลจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะกล่าวกันว่าคนภาคกลางที่มีแม่น้ำสำคัญหลายสายนี่แหละเป็นตัวจริง เราคงเคยได้ยินว่าน้ำปลาจากปลาสร้อยอร่อยมาก แต่คงหากินไม่ง่ายแล้วเพราะปลาสร้อยแทบจะหาไม่ได้อีกแล้ว ปลาทะเลเลยเข้ามาแทนที่ ปลาทะเลไทยที่นิยมกันว่าทำน้ำปลาได้อร่อยก็ต้องยกให้ปลากะตักและปลาไส้ตัน โรงงานที่ทำน้ำปลาใส่ขวดจำหน่ายรายแรกมีอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว ก็เริ่มจากการหมักปลากะตักนั่นเองน้ำปลาดี ต้องดีตั้งแต่ปลา วิธีการหมัก ระยะเวลา ตลอดจนอุณหภูมิและภาชนะที่หมักบ่ม ของเวียดนามน้ำปลาที่อร่อยนั้นถึงกับต้องฝังภาชนะลงดิน ในน้ำปลาจะมีโปรตีนเป็นสารอาหารหลัก และมีวิตามิน บี 12 สูง แต่สำหรับคนที่มีปัญหาโรคไต ความดัน ก็เพลาน้ำปลาลงนิดนึงเพราะโซเดียมก็สูงเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ขายหวยชุดเกินราคา

แม้รัฐบาล คสช. จะประกาศห้ามขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนด คือ คู่ละ 80 บาท แต่ผู้บริโภคบางส่วนก็ยังพบปัญหาราคาสลากกินแบ่งแพงอยู่ดี โดยพ่อค้าแม่ค้าหัวใสบางรายมีการจำหน่ายหวยชุด หรือสลากกินแบ่งที่มีตัวเลขเดียวกันจำนวน 5 -10 ใบ แล้วนำไปบวกราคาเพิ่มอีก 50 – 200 บาท ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมพรเลือกซื้อหวยชุดจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ใน จ.อุบลราชธานี เมื่อสอบถามราคาก็พบว่าจำหน่ายอยู่ที่ชุดละ 450 บาท โดยมีสลากกินแบ่งทั้งหมด 5 ใบ ซึ่งเมื่อคิดราคาต่อฉบับแล้วอยู่ที่ 90 บาท เธอจึงลองไปดูร้านอื่น ก็พบว่าทุกร้านจำหน่ายสลากกินแบ่งชนิดดังกล่าวในราคาพอๆ กัน โดยราคาสลากในชุดจะมีตั้งแต่คู่ละหรือใบละ 90 -120 บาท ทำให้เธอเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดหวยชุดจึงต้องขายราคาสูงกว่าปกติ และเมื่อสอบถามคนขายก็ได้รับคำตอบแค่ว่า เจ้าอื่นก็ขายราคานี้กันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้คุณสมพรจึงรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กฎหมายกำหนด เพราะตามมาตรา 39 ของคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดให้จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาคู่ละ 80 บาทเท่านั้น ซึ่งหากพบว่าผู้ใดเสนอขาย หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนดต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศูนย์ฯ จึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือไปยังผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าดังกล่าว ภายหลังกองสลากได้รับเรื่องก็ประสานงานให้กองสลากประจำพื้นที่อุบลราชธานีเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งได้แจ้งกลับมาว่าไม่พบการจำหน่ายสลากเกินราคาตามที่ผู้ร้องแจ้งมา อย่างไรก็ตามหากผู้ร้องพบเห็นการจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคาอีก สามารถร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานกองสลากในพื้นที่ๆ อาศัยอยู่ หรือโทรศัพท์ไปยังศูนย์รับแจ้งเรื่องร้องทุกข์เบอร์ 02-345-1466 และสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถเดินทางหรือส่งจดหมายไปร้องเรียนได้ที่ สำนักงานสลากินแบ่งรัฐบาล: 359 ถ.นนทบุรี ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 เบอร์โทรศัพท์ 02-528-8888 หรือโทรสาร 02-528-9228

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 รู้เท่าทันการกินฉี่

การดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อเป็นการบำบัดโรคนั้น เคยเกิดกระแสนิยมในสังคมไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยเฉพาะในสายการแพทย์ทางเลือกและในสายของผู้ปฏิบัติธรรม ต่อมาลดความนิยมลง แต่ยังมีการปฏิบัติกันในหมู่นักปฏิบัติธรรมและผู้รักสุขภาพบางกลุ่ม ในบางช่วงก็เกิดกระแสนิยมเป็นครั้งคราว เหตุที่การดื่มน้ำปัสสาวะไม่ก่อกระแสรุนแรงเหมือนผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ นั้น อาจเป็นเพราะ ทุกคนเป็นเจ้าของน้ำปัสสาวะ ไม่ต้องซื้อขาย จึงไม่มีกระแสธุรกิจที่จะมาขายน้ำปัสสาวะอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เรามารู้เท่าทันน้ำปัสสาวะกันดีกว่าความเป็นมาการดื่มหรือการใช้น้ำปัสสาวะของคนหรือของสัตว์เพื่อการบำบัดโรคนั้นมีการใช้กันทั่วโลกมานานกว่าพันปี ในพระธรรมวินัย กำหนดแนวทางยังชีพหรือนิสัย 4 ให้ภิกษุฉันน้ำมูตเน่า(น้ำปัสสาวะ) มีหลักฐานการจารึกในอิยิปต์โบราณ กรีก โรม คัมภีร์โยคะของอินเดีย ตำราการแพทย์จีน ดังนั้นการดื่ม การใช้น้ำปัสสาวะจึงเป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่เก่าแก่หลายพันปีบทความในวารสาร Nephrology เดือน พ.ค. - มิ.ย. 2011 เขียนว่า ผู้คนที่ใช้น้ำปัสสาวะเชื่อว่า น้ำปัสสาวะไม่เป็นของเสียของร่างกาย แต่เป็นสิ่งที่กลั่นจากเลือดและมีสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ถูกเรียกเป็น “ทองคำจากเลือด” และ “ยาอายุวัฒนะ” การดื่มน้ำปัสสาวะมีที่มาจากวัฒนธรรมอินเดีย และมีการใช้มานานหลายศตวรรษและหลายวัฒนธรรมบทบรรณาธิการในวารสาร Pan Afr. Med J. เผยแพร่ ออนไลน์ 25 พค. 2010 เขียนว่า จากการค้นหาเกี่ยวกับ “การดื่มน้ำปัสสาวะ” ในกูเกิ้ลเกือบ 100,000 รายการและในวิดีทัศน์ 150 รายการ ยืนยันว่า “การดื่มน้ำปัสสาวะ ยังคงเป็นที่นิยมและกลับมานิยมในทุกวันนี้”ในน้ำปัสสาวะมีของล้ำค่าอะไรบ้างน้ำปัสสาวะส่วนใหญ่เป็นน้ำ มียูเรีย (25g/d), กรดยูริก (1g/d), ครีเอตินีน (1.5g), แร่ธาตุต่างๆ (10g/d ส่วนใหญ่เป็น เกลือโซเดียม), ฟอสเฟตและกรดอินทรีย์ (3g/d) , มีโปรตีนเล็กน้อย (40-80 mg/d, ส่วนใหญ่เป็นอัลบูมิน, ฮอร์โมนเล็กน้อย, กลูโคส และวิตามินที่ละลายน้ำน้ำปัสสาวะจะบริสุทธิ์ ปราศจากเชื้อโรคเมื่อเกิดขึ้นในไต แต่เมื่อปล่อยออกจากร่างกายแล้วมักจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคมีการใช้น้ำปัสสาวะรักษาโรคอะไรในบทความ Nephrology ปี 1999 เขียนว่า มีการดื่มน้ำปัสสาวะในตอนเช้าเพื่อเป็นการรักษาโรคจำนวนมาก เช่น การติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย อาการที่เกิดขึ้นระหว่างวันแรกๆ ที่ดื่มน้ำปัสสาวะ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ท้องเสีย หรือไข้ สารสำคัญจำนวนมากในปัสสาวะได้แก่ ยูเรีย กรดยูริก ไซโตไคน์ (เป็นโปรตีนหรือไกลโคโปรตีนที่มีขนาดเล็ก สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์ต่างๆ ในร่างกายเพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น) ฮอร์โมน มีการใช้น้ำปัสสาวะกับภายนอก ได้แก่ การชโลม การทา การประคบก้อนเนื้องอก การอาบน้ำปัสสาวะ หรือแช่เท้าในน้ำปัสสาวะ การหยอดตา หยอดหู และทำความสะอาดแผล จาการค้นหาการทบทวนการใช้น้ำปัสสาวะในการบำบัดจากวารสารวิชาการต่างๆ ไม่พบว่ามีการทบทวนประสิทธิผลของการใช้น้ำปัสสาวะต่อร่างกายสรุป การดื่มและใช้น้ำปัสสาวะเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่มานานหลายพันปี ใช้กันทั่วโลก ผู้คนเชื่อว่าทำให้สุขภาพแข็งแรง อายุยืน รักษาโรคได้ มีความเห็นตรงกันว่า ให้ดื่มน้ำปัสสาวะของตนเอง ควรเป็นน้ำปัสสาวะในตอนเช้าหลังตื่นนอน ไม่ควรดื่มทั้งวันหรือดื่มแทนน้ำอย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการทบทวนทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ ทั้งในแง่ประโยชน์ในการบำบัดโรค หรือโทษระยะยาวจากการดื่มน้ำปัสสาวะ

อ่านเพิ่มเติม >