ฉบับที่ 258 อันตรายของการ ‘ปลดล็อกกัญชา’ ในภาวะสุญญากาศที่ไร้การควบคุม

หลังจาก ‘กัญชา’ ถูกปลดออกจายาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จากการผลักดันของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่เคยหาเสียงไว้ ก็เกิดสภาพปั่นป่วนวุ่นวายไม่น้อยเพราะปลดล็อคแบบไร้การกำกับดูแล เกิดข่าวผู้บริโภคกัญชาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเข้าต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไปจนถึงมีการเสพภายในโรงเรียน เป็นเหตุให้มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ความเคลื่อนไหวหลังปลดล็อกกัญชา        เบื้องต้นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เพื่อกำกับดูแลในเบื้องต้น โดยมีเนื้อหาดังนี้         1. ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม         2. อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้ (1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร (3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร         3. อนุญาตให้ใช้ สั่งจ่าย กัญชา ยากัญชา กับผู้ป่วยของตนได้ กลุ่มที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย         4. ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากัญชา กัญชา ได้ ตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน         ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยตั้งข้อสังเกตและแสดงจุดยืนว่าเนื้อหาในข้อ 2 เท่ากับปล่อยเสรีและสุ่มเสี่ยงที่เยาวชนจะใช้กัญชาในทางที่ผิด อีกทั้งน่าจะขัด พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มาตรา 46 หรือไม่ ที่บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต’ ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าควรยกเลิกประกาศข้อ 2 และรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา        ถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคมก็มีการรวบรวมรายชื่อแพทย์จำนวน 851 คน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และภาคประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้         ถ้าดูสถิติของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เราจะไม่แปลกใจ เพราะหลังวันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นมาถึงปลายเดือนกรกฎาคม พบเยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้นราว 2 เท่า ผลเบื้องต้นยังพบการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับสารเสพติดทั้งหมดยกเว้นสุราและบุหรี่ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 29.56 ในผู้ป่วยนอก และร้อยละ 44.33 ในผู้ป่วยใน ควรจำกัดเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์         ย้อนกลับไปดูความเป็นมาของการผลักดันให้มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์แบบสั้นๆ ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก นักวิชาการและนักวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ รองประธานมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย เล่าว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาอยู่มากและค้นพบประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของสารที่อยู่ในพืชชนิดนี้ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อีกทั้งในตำรับยาแผนดั้งเดิมของไทย กัญชาก็เป็นส่วนหนึ่งของตำรับยา         เป็นที่มาของการผลักดันโดยกลุ่มนักวิชาการให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ภายหลังจึงมีภาคประชาชนที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้วเข้าร่วมด้วย ขณะที่กลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนี้ กระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดปี 2562 อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ต่อมาพรรคการเมืองก็นำไปใช้เป็นนโยบายกัญชาเสรีในการหาเสียง เท่ากับว่าการปลดล็อกกัญชารอบนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์         “ที่ผ่านมาเราควบคุมว่ามันเป็นยาเสพติด แทนที่เราจะได้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ในทางยาเราก็ทำไม่ได้ ทำให้มีการเรียกร้องว่าน่าจะต้องจัดวิธีการควบคุมใหม่ แทนที่จะไปอยู่ในลิสต์ของยาเสพติด น่าจะมีกฎหมายแยกเฉพาะเพื่อคุมมัน อันนี้ข้อเรียกร้องข้อเสนอมาแต่แรกๆ มีเครือข่ายขับเคลื่อน อาจารย์สำลี ใจดีก็เป็นผู้นำในยุคนั้น”         ตามที่ ภก.ยงศักดิ์ จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนที่เรียกว่าเป็นการเปิดกัญชา ‘เสรี’ ชนิดใครอยากปลูก อยากเสพ อยากขายก็ทำได้ แต่มีการควบคุมด้วยกฎหมายเฉพาะและจำกัดการใช้ในทางการแพทย์ ครั้นนำมาปฏิบัติกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน เขาเห็นด้วยกัญชาทางการแพทย์เป็นโยบายที่ควรสนับสนุน แต่ต้องควบคู่กับการควบคุมกำกับให้อยู่ในทางการแพทย์        “ผมไม่เห็นด้วยว่าเราจะกระโจนไปสู่การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็มันก็มีข้อควรระวังเยอะแยะที่จะเปิดให้ใช้กัญชาโดยทั่วไป ข้อกังวลเหล่านี้มีเหตุมีผลมีหลักฐานทางวิชาการและควรรับฟัง มันจะเป็นประโยชน์มากถ้าสามารถรวบรวมหรือทำให้คนหรือภาคีต่างๆ ในสังคมที่เขาสนใจเรื่องนี้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้กฎหมายและการควบคุมเป็นไปอย่างที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน” เสรีกัญชาแบบไร้การควบคุม         นอกจากนี้ บรรดาระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลก็ชวนตั้งคำถามทั้งในแง่ความชอบด้วยกฎหมายและการนำไปปฏิบัติจริง ไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายว่าข้อ 2 ในประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 เป็นประกาศที่มิชอบเพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 44 และ 45  ของ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจในการอนุญาตเรื่องนี้ไว้         “ปกติแล้วการจะอนุญาตเรื่องสมุนไพรควบคุม ตัวอย่างเช่นกราวเครือที่มีการประกาศไปแล้วตามมาตรา 45 จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการครอบครอง การดูแล การเก็บรักษา การศึกษาวิจัย ซึ่งต้องออกเป็นรายละเอียด แต่ว่าประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ 16 มิถุนายนไม่มีรายละเอียดก็เลยไม่มีอำนาจในการออก เป็นการออกที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ขัดแย้งกับมาตรา 46 ของกฎหมายฉบับเดียวกันด้วย เพราะมาตรา 46 บัญญัติว่าไม่ให้วิจัย ส่งออก รวมถึงจำหน่าย โดยเฉพาะการจำหน่ายแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ก็คือว่าใครที่จะเอาพวกกัญชาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และขายให้กับประชาชนเพื่อการค้าจะทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ. นี้ซึ่งก็คือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังไม่เคยอนุญาตให้ใครตามมาตรา 46 เลย ที่ขายกัญชาในสถานบันเทิง การขายดังกล่าวเป้นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. นี้ตามมาตรา 46 แต่ว่ากรมแพทย์แผนไทยแค่ไปตักเตือน ไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย มันมีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย”        สรุปคือแม้ว่ากัญชาจะถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดในกฎหมายยาเสพติดแล้ว แต่มันก็ยังถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 อยู่ ใครที่ต้องการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาจะต้องขออนุญาตก่อนทุกกรณี ซึ่งยังไม่มีการอนุญาตแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประกาศควบคุมกัญชาที่ดูเหมือนจะมีปัญหาในทางกฎหมายให้ต้องพิสูจน์กันต่อ         ส่วนกรณีการปลูกเพื่อใช้เองในครัวเรือนสามารถทำได่โดยไม่ต้องขออนุญาต ไพศาลมองว่าจะสร้างผลกระทบมาก ซ้ำยังผิดหลักการที่ควรต้องขออนุญาตก่อนจึงจะปลูกเองได้ เขายกตัวอย่างว่าหากในบ้านมีเด็กและเยาวชนนำกัญชาไปสูบเองหรือนำไปผสมในอาหารในปริมาณมากเกินไป กรณีคนที่มีอาการแพ้กัญชาอาจมีอันตรายต่อร่างกายได้ ยังไม่นับว่ากัญชามีคุณสมบัติดูดซึมสารพิษและโลหะหนักในดิน การใช้อย่างไม่มีความรู้ย่อมสร้างผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว หยุดภาวะสุญญากาศเสรีกัญชา         ด้าน วีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่าเวลานี้สังคมกำลังสับสนกับภาวะสุญญากาศในการกำกับดูแลกัญชา เขาเห็นว่ามี 2 ส่วนที่รัฐจำเป็นต้องทำให้ชัดเจน ประเด็นแรกคือการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการว่าสามารถทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ และจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป         ประเด็นต่อมาคืออาหารการกิน วีรพงษ์อธิบายว่าเป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและให้อนุญาตแก่ผลิตภัณฑ์ที่มาขอขึ้นทะเบียน ถือว่ายังมีการดูแลอยู่ส่วนหนึ่ง แต่มีปัญหาว่ายังไม่มีมาตรการกำหนดให้ผู้ผลิตติดฉลากคำเตือนว่ามีส่วนผสมของกัญชาให้ชัดเจน ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น         จุดที่วีรพงษ์คิดว่าน่าเป็นห่วงกว่าคือกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด เพราะแต่ละร้านปรุงกันเองใส่กันเอง ไม่มีการกำกับดูแล คงต้องรอร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ.... ที่อยู่ในการพิจารณาของสภาว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร สามารถสร้างกลไกกำกับดูแลได้แค่ไหน         ไพศาลวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ว่าเนื้อหาไม่ค่อยดีนัก หลักการค่อนไปทางส่งเสริมกัญชาเสรี อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้โดยไม่จำกัดแต่ใช้วิธีจดแจ้ง ส่วนมาตราการคุ้มครองผู้บริโภค เด็กและเยาวชนก็มีน้อย         “ถ้าจะให้ทำจริงๆ อาจจะต้องแก้ไขย้อนกลับไปที่ตัวประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยกลับไปใช้ประกาศฉบับเก่าปี 2563 ที่เขียนไว้ว่าให้ตัวต้น ตัวดอกกัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ แล้วกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรมพิจารณาร่วมกันในฐานะที่เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติดให้คนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาตามหน่วยงานเสนอ ไม่ใช่ให้ ส.ส. เสนอเพราะทำให้ไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง การรับฟังความเห็นก็ทำน้อย ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายก่อน อันนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้มีกระบวนการศึกษาผลกระทบก่อนรอบด้าน แต่คงจะยากเพราะรัฐบาลก็ไม่ยอมเสนอร่างกฎหมาย ปล่อยให้ ส.ส.เสนอ เหมือนว่ารัฐบาลก็เกียร์ว่าง”         ไพศาลยังเห็นว่ากฎหมายกัญชากับกัญชงควรแยกคนละฉบับเพราะกัญชงเป็นพืชเศรษฐกินได้ ขณะที่กัญชายังยาเสพติดในหลายประเทศยังต้องควบคุมเข้มงวดมากกว่านี้ ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ปลูกในระยะแรกควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านโดยต้องมาจดทะเบียน ส่วนกรณีประชาชนทั่วไปอาจจะอนุญาตให้ปลูกได้ในระยะต่อไปโดยจำกัดในกลุ่มผู้ป่วย พร้อมกับส่งเสริมองค์ความรู้         ด้าน ภก.ยงศักดิ์ แสดงทัศนะว่าการเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการยังเร็วเกินไปสำหรับสังคมไทย เขายกตัวอย่างแคนาดาซึ่งกว่าจะอนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการได้ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนกว่า 10 ปี เปิดให้โอกาสให้ทุกฝ่ายมาถกเถียง แลกเปลี่ยน วางระบบควบคุม และสร้างกลไกป้องกันกลุ่มเปราะบาง เช่น การควบคุมแหล่งผลิต พื้นที่ขายว่าบริเวณไหนขายได้ ตรงไหนขายไม่ได้ ห้ามขายให้ใคร มีระบบติดตามว่าใครเป็นผู้ซื้อ ซื้อไปจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น        ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่มีเลยในไทย เราจึงอยู่ในสภาพเปิดเสรีกัญชาแบบไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาจะมีหน้าตาอย่างไร เกิดภาวะสุญญากาศ มึนๆ งงๆ และเป็นบทเรียนอีกครั้งว่าการทำเรื่องใหญ่ๆ ที่เน้นเอาเร็วเข้าว่า ไม่วิเคราะห์ผลกระทบ ไม่สร้างการมีส่วนร่วม สุดท้ายก็ต้องมาตามแก้ไขกันไม่จบสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >