ฉบับที่ 188 เครื่องดื่มเกลือแร่ “หวาน” แค่ไหนกัน

อย่างที่เรารู้กันดีว่าเครื่องดื่มเกลือแร่ มีไว้สำหรับผู้ที่สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย เพราะสามารถช่วยชดเชยน้ำ และเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปในระหว่างการออกกำลังกายได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเครื่องดื่มเกลือแร่หลายยี่ห้อได้ปรับภาพลักษณ์สินค้าใหม่ กลายเป็นเครื่องดื่มที่สามารถดื่มได้แม้ไม่เสียเหงื่อ (Functional drink) โดยมีการเติมวิตามินหรือสารอาหารต่างๆ รวมทั้งน้ำตาลลงไป เพื่อปรับรสชาติให้ถูกปากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคที่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นประจำ เสี่ยงต่อการได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินความต้องการในแต่ละวันฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้สำรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเกลือแร่ จากยี่ห้อยอดนิยมตามท้องตลาด จำนวน 14 ยี่ห้อ ซึ่งเจ้าไหนจะใส่น้ำตาลมากน้อยกว่ากัน เรามาดูผลทดสอบกันเลย  สรุปผลการทดสอบจากตัวอย่างเครื่องดื่มเกลือแร่ที่นำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ พบว่า- ร้อยละ 50 หรือ 7 ยี่ห้อ พบมีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 25 - 38.5 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำตาลที่เราควรได้รับต่อวันคือ 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา ได้แก่ 1.สปอเรต (กลิ่นมิกซ์ฟรุท) มีปริมาณน้ำตาล 38.5 กรัม 2.เกเตอเรด กลิ่นมะนาว มีปริมาณน้ำตาล 30 กรัม 3.เอ็มสปอร์ต มีปริมาณน้ำตาล 30 กรัม 4.สปอนเซอร์ ออริจินัล มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม 5.สตาร์ท พลัส มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม 6.ซันโว มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม และ 7.สปอนเซอร์ บีเฟรช มีปริมาณน้ำตาล 25 กรัมยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดคือ สปอเรต (กลิ่นมิกซ์ฟรุท) ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดคือ พอคคา สปอร์ต วอเตอร์- เครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดแห้ง ได้แก่ ยี่ห้อ ออราส, สตรอง-เค และ รอแยล-ดี มีการระบุปริมาณปริมาณกลูโคสและซูโครส ตรงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่195) พ.ศ.2543 คือ น้ำตาลกลูโคสหรือฟรุคโตส ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของน้ำหนัก หรือซูโครสไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของน้ำหนักข้อสังเกตตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 195) พ.ศ.2543 นิยามความหมายของเครื่องดื่มเกลือแร่ว่า เครื่องดื่มที่มีเกลือแร่เป็นส่วนประกอบหลัก และหมายความรวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดแห้งด้วย รวมทั้งไม่ให้ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลในเครื่องดื่มดังกล่าว นอกจากนี้ในการแสดงฉลากเครื่องดื่มเกลือแร่ ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง ฉลาก โดยต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ ด้วยตัวอักษรขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร เห็นได้ชัดเจนในกรอบสี่เหลี่ยม สีแดง พื้นขาว 1.เด็กและทารกไม่ควรรับประทาน 2.เฉพาะผู้สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย 3.ไม่ควรรับประทานเกินวันละ … หน่วย (ความที่เว้นไว้ให้ระบุจำนวนหน่วยที่ควรบริโภค ทั้งนี้จำนวนดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกินวันละ 1 ลิตร)อย่างไรก็ตามจากตัวอย่างเครื่องดื่มเกลือแร่ที่เรานำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ พบว่า -มีเพียง 9 ยี่ห้อที่เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ตรงตามประกาศข้างต้น ได้แก่ ยี่ห้อ 1.เกเตอเรด (กลิ่นมะนาว) 2.เอ็มสปอร์ต 3.สปอนเซอร์ (ออริจินัล) 4. สตาร์ท พลัส (เครื่องดื่มเกลือแร่ผสมซิงค์) 5.ซันโว (กลิ่นบลู พั้นซ์) 6.พอคคา สปอร์ต วอเตอร์ 7.ออราส 8.สตรอง-เค (ถาวร) และ 9.รอแยล-ดีตัวอย่างที่เหลืออีก 5 ยี่ห้อ แม้จะมีส่วนผสมของเกลือแร่ (โซเดียม/โพแทสเซียมคลอไรด์) แต่อาจไปเข้าข่ายเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ (Functional drink) หรือ เครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินหรือสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพลงไป ซึ่งแบ่งเป็น 2 ยี่ห้อที่มีการโฆษณาว่า ใช้วัตถุอื่นให้ความหวานแทนน้ำตาล ได้แก่ 1. ยี่ห้อ100 พลัส โฆษณาว่าใช้สตีวิออลไกลโคไซตด์ เป็นวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล 2.สปอนเซอร์ บีเฟรช โฆษณาว่าใช้ซูคราโลสเป็นวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล และอีก 3 ยี่ห้อที่เหลือ ได้แก่ 1.เจเล่บิวตี้ ระบุว่าเป็นเครื่องดื่มน้ำผลไม้รสองุ่นขาว ผสมคาราจีแนน คอลลาเจนและเกลือแร่ 2.สปอเรต ระบุว่าเป็นน้ำรสองุ่น และ 3.อควาเรียส ระบุว่าเป็นน้ำผลไม้รวม----------------------------------------------------------------------------------เกลือแร่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 1. เกลือแร่สำหรับผู้ที่ท้องเสีย (Oral Rehydration Salt หรือ ORS) เหมาะสำหรับผู้ที่เสียน้ำจากอาการท้องเสีย ซึ่งร่างกายจะขาดน้ำและเกลือแร่ทันที ทำให้เกลือแร่ชนิดนี้มีส่วนประกอบของเกลือแร่หรือโซเดียมสูง และ2.เกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย (Oral Rehydration Therapy หรือ ORT) เหมาะสำหรับผู้ที่เสียน้ำหรือเหงื่อจากการออกกำลังกาย ซึ่งร่างกายจะเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลัก โดยจะเสียเกลือแร่ในปริมาณที่น้อยมาก ดังนั้นเกลือแร่ชนิดนี้จะมีปริมาณน้ำตาลสูง อย่างไรก็ตามสำหรับเครื่องดื่มเกลือแร่บางยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เราสามารถผสมน้ำเปล่าเพื่อเจือจางความเข้มข้นของความหวานลงได้----------------------------------------------------------------------------------เรา (ไม่) จำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อน ซึ่งส่วนประกอบของเหงื่อ คือ น้ำกว่าร้อยละ 99 ที่เหลือร้อยละ 1 คือ โซเดียมคลอไรด์ โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็กหรือกรดอะมิโนบางชนิด ดังนั้นเมื่อเราเสียเหงื่อ จึงควรชดเชยน้ำให้กับร่างกายเป็นอันดับแรก ซึ่งการดื่มน้ำเปล่าธรรมดาถือว่าเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่สูญเสียน้ำในปริมาณมากและต่อเนื่อง หรือนักกีฬาที่ออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น วิ่งมาราธอน ขี่จักรยานไกล หรือว่ายน้ำระยะไกล อาจจำเป็นที่ต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เนื่องจากในเครื่องดื่มดังกล่าวมีส่วนประกอบของ น้ำตาลกลูโคสและโซเดียม/โพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งช่วยให้น้ำเข้าสู่เซลล์ได้เร็วขึ้น----------------------------------------------------------------------------------ผู้นำตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ คือ ยี่ห้อสปอนเซอร์ ครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 80% ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นยี่ห้อ เอ็มสปอร์ต 12% และยี่ห้อ ซันโว 8% โดยสำหรับผู้ที่ดื่มเครื่องเกลือแร่มากที่สุด 70% คือกลุ่มผู้แรงงาน ตามด้วยผู้ออกกำลังกาย 30% ทั้งนี้ตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ของประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 4,500 ล้านบาทข้อมูลอ้างอิง: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่195) พ.ศ.2543 เรื่อง เครื่องดื่มเกลือแร่ http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P195.pdf , ตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ http://marketeer.co.th/archives/43534

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 104 กระแสต่างแดน

บล็อกเกอร์ต้องสำแดง ออสเตรเลียเกิดปิ๊งไอเดียจัดระเบียบการทำการตลาดทางอินเตอร์เน็ตด้วยการออกข้อบังคับให้เจ้าของบล็อกประเภท “วิจารณ์ผลิตภัณฑ์” หรือ “ใช้ดีแล้วบอกต่อ” แสดงที่มาที่ไปของสินค้าที่ตัวเองพูดถึงด้วย   เงินค่าจดทะเบียนน่ะมีไหม เดนมาร์กนั้นนอกจากจะเป็นประเทศที่รถมีราคาแพงจนน่าตกใจแล้ว ยังเป็นประเทศที่การจดทะเบียนรถก็แพงไม่แพ้กันอีกด้วย เดนมาร์กมีค่าจดทะเบียนรถยนต์สูงที่สุดในยุโรป ที่ประมาณ 1,180 โครเนอร์ (ประมาณ 7,800 บาท) ซึ่งองค์กรผู้บริโภคลงความเห็นว่าราคานี้ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง และเป็นการเก็บเงินเกินไปถึง 1,000 โครเนอร์ (ประมาณ 6,500 บาท) เลยทีเดียว เขาอ้างอิงจากข้อมูลของสรรพากรที่บอกว่าค่าภาษีอยู่ที่ 160 โครเนอร์ (1,055 บาท) ส่วนตัวป้ายทะเบียนก็ราคาประมาณ 22 โครเนอร์ (145 บาท) แล้วที่เหลือนี่น่าจะเป็นค่าอะไร??? สมาคมผู้เป็นเจ้าของรถยนต์แห่งเดนมาร์กและสหพันธ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็เห็นด้วยว่าหลักการคิดค่าธรรมเนียมดังกล่าวดูไม่ค่อยจะโปร่งใสสักเท่าไร รัฐบาลเดนมาร์กมีรายได้จากการค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนและการโอนรถถึงปีละ 780 ล้านโครเนอร์ (ประมาณ 5 พันกว่าล้านบาท) อังกฤษ เปิดเสรีโฆษณาแฝง การโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์เคยเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอังกฤษ แต่หลังจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์ที่เอกชนเป็นเจ้าของสามารถอนุญาตให้มีโฆษณาแฝงได้ สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนใจ เพราะการอนุญาตให้มีโฆษณาแฝงได้จะทำให้สถานีโทรทัศน์ของเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 100 ล้านปอนด์ (5,000 กว่าล้านบาท) แค่สถานีไอทีวีสถานีเดียวก็สามารถหาเงินเพิ่มได้ถึง 72 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,800 ล้านบาท) แล้ว ฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องนี้อ้างว่าจะเป็นผลดีต่อผู้ชม เพราะการที่สถานีมีทุนมากขึ้น ก็จะสามารถจัดหารายการดีๆ มาให้ดูกันมากขึ้น สตีเฟ่น บาร์เน็ท อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสมินสเตอร์ บอกว่าคนดูอาจเกิดอาการสับสนระหว่างเนื้อหาของละครกับเนื้อหาส่วนที่เป็นโฆษณาได้ และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ผู้จัดละครจะสร้างเนื้อหามารองรับการโฆษณาแฝง เพื่อหารายได้เสริมเข้ารายการมากกว่าการเขียนบทเพื่อสร้างอรรถรสตามที่ควรจะเป็น ปีเตอร์ บาซาลเกต ผู้สร้างรายการบิ๊กบราเธอร์ที่เรารู้จักกันดีก็ออกมาบอกว่า เรื่องนี้ควรปล่อยให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสิน ถ้าคนดูรู้สึกเลี่ยนกับโฆษณาแฝงเหล่านี้พวกเขาก็จะปิดทีวีหนีไปเอง แถมยังบอกว่าทุกวันนี้อังกฤษก็ซื้อรายการจากอเมริกาที่มีโฆษณาแผงพ่วงมาด้วยมากมายอยู่แล้ว แล้วไหนจะบรรดาเสื้อยืดพร้อมโลโก้ที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับนักกีฬาอีก มีเพิ่มมาอีกนิดหน่อยก็ไม่น่าจะมีใครเดือดร้อนก็คงจับตาต้องดูกันต่อไปว่าคนอังกฤษจะได้ดูรายการที่ดีขึ้นจริงๆ หรือจะมีแต่รายการที่เต็มไปด้วยโฆษณาแฝงที่อยู่ดีๆ ผู้ชมก็ได้เห็นสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลเหมือนซิทคอมในบางประเทศหรือไม่หมายเหตุ การห้ามโฆษณาแฝงในอังกฤษยังคงมีอยู่สำหรับสถานีบีบีซี และรายการสำหรับเด็กในโทรทัศน์ทุกช่อง   ของมันมีจริงๆ นะเคยไหมที่เราตั้งใจไปซื้อของลดราคา ตามที่เห็นในโฆษณา แต่ต้องผิดหวังเพราะทางร้านบอกว่าของหมดแล้ว ที่เดนมาร์กเขามีการทำสำรวจไว้ เขาบอกว่ามีผู้บริโภคที่ผิดหวังกลับบ้านมือเปล่าไปถึง 1 ใน 10 อันนี้เป็นการสำรวจกับผู้บริโภคจำนวน 500 คน เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่าในแต่ละปีจะมีประชากรชาวเดนมาร์กที่พลาดหวังถึง 250,000 คนเชียว ข่าวบอกว่าต่อไปนี้รัฐบาลจะเอาจริงแล้ว กับของที่โฆษณาว่าลดสุดๆ ลดล้างสต็อก หรือลดพลีชีพนั้น ต้องมีอยู่ที่ร้านจริงๆ และอีกหน่อยอาจจะมีกฎหมายระบุไปเลยว่าต้องมีของในสต็อกอย่างน้อยกี่ชิ้นด้วย มองในมุมกลับหรือมองในแง่ดีก็หมายความว่า มีถึง 9 ใน 10 เชียวนะที่มาซื้อแล้วได้ของกลับไปจริงๆ   โรคระบาดหลังหวัดสายพันธุ์ใหม่ข่าวนี้เก็บตกจากเกาหลีใต้ ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงแพร่ระบาด และเรายังคงต้องปฏิบัติตามหลักการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” กันอยู่ ที่เกาหลีใต้นั้นหลายคนร่ำรวยอู้ฟู่ขึ้นตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาด เพราะทั้งหน้ากากอนามัย น้ำยาทำความสะอาดมือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทั้งหลายล้วนแล้วแต่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อย.ของเกาหลีเลยต้องออกมาให้สติกับผู้บริโภค เพราะการแข่งขันที่สูงมากนั้นหมายถึงเจ้าของสินค้าจะต้องโฆษณาสินค้าของตัวเองว่าเลิศเกินใครและโดยมากจะเกินจริง เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค เช่น ตามกฎหมายของเกาหลีนั้น หน้ากากที่ไม่ผ่านเกณฑ์ KF94 ขององค์การอนามัยโลกไม่สามารถจะโฆษณาว่า “ป้องกันการติดเชื้อ” ได้ แต่ก็มีหน้ากากดังกล่าววางขายอยู่เกลื่อน นอกจากนี้ยังมีการจงใจสร้างความสับสนระหว่าง น้ำยาล้างมือ (ธรรมดา) กับน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ในขณะที่น้ำยาล้างมือนั้น จัดเป็นเครื่องสำอางซึ่งตามกฎหมายก็หมายความว่าไม่อาจนำมาโฆษณาว่าสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แม้แต่โรงพยาบาลก็ยังกลัวตกรถไฟต้องหาประโยชน์จากความตื่นกลัวของผู้บริโภคเสียหน่อย ด้วยการแนะนำให้คนไข้รับการตรวจที่เรียกว่า Rapid Antigen Test เพื่อการยืนยันว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด A ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 – 40,000 วอน (600 -1,200 บาท) โดยบอกว่าจะรู้ผลเร็วกว่าการตรวจ RT-PCR ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน ทางอย.ที่นั่นออกมาประณามโรงพยาบาลเหล่านี้ว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เพราะการตรวจดังกล่าวนั้นแม้จะรวดเร็วกว่าแต่ให้ความแม่นยำน้อยมาก และทำให้สูญเสียโอกาสในการได้รับการรักษาอย่างทันเวลาด้วย   นาทีนี้คนที่มีคอมพิวเตอร์และสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้มักจะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตอยู่เสมอก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ก็ตาม และผู้บริโภคก็มักจะพบกับบล็อกประเภทที่ดูเหมือนเขียนขึ้นจากใจจริงโดยผู้บริโภคด้วยกันที่อยากแบ่งปันเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ผู้บริโภคอาจยังไม่รู้แน่ชัดคือ บล็อกเกอร์เหล่านั้นได้รับค่าตอบแทนให้มาพูดถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ เพราะปัจจุบันการกระทำดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธวิธีการตลาดของบริษัทต่างๆ โดยการอาศัยช่องว่างที่ขณะนี้ยังไม่มีการควบคุมการทำการตลาดบนอินเตอร์เน็ตอย่างชัดเจน คณะกรรมการการค้าแห่งออสเตรเลียบอกว่า การใช้วิธีขายแบบนี้มีผลทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดอย่างยิ่ง จึงออกกฎว่าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 ปีนี้เป็นต้นไป ขอให้บล็อกเกอร์ที่วิจารณ์หรือให้คะแนนผลิตภัณฑ์ในเน็ตนั้น ระบุให้ชัดเจนว่าสินค้าที่พวกเขาพูดถึงนั้น เป็นสินค้าที่บริษัทให้มาฟรีหรือไม่ และได้รับค่าตอบแทนเท่าไรจากบริษัทในการพูดถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คณะกรรมการฯ บอกว่ากฎนี้มีเจตนาจะจัดระเบียบการทำการตลาดของบริษัทต่างๆ โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะจำกัดเสรีภาพบล็อกเกอร์แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >