ฉบับที่ 236 มีอำนาจเหนือตลาดแต่ไม่ผูกขาด

        คำตัดสินของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมาก ทำให้นึกย้อนไปถึงมติปปช.เรื่องนาฬิกาเพื่อนเป็นการยืมใช้คงรูปไม่ต้องแสดงรายการในบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง         กรรมการเสียงข้างมาก 4 เสียง มีมติ อนุญาตให้ควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมครั้งนี้จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง         ขณะที่กรรมการแข่งขันการค้าเสียงข้างน้อย 3 เสียง ได้แก่ ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และนางอร่ามศรี รุพันธ์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ไม่สนับสนุนการควบรวมในครั้งนี้ เพราะเห็นว่า จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้ เนื่องจากผู้ขออนุญาตมีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภททั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ        เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่ายและจะมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น         นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อคู่แข่ง (Competitors) โดยผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น เพราะคู่แข่งที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดที่เน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนการลดราคาแข่งขัน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในที่สุดทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง         ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Suppliers) การรวมธุรกิจในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็นเอสเอ็มอี ที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องรับเงื่อนไขตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอโดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ เนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะวางสินค้าจำหน่ายหรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายและต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดก็กระทบกับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 66 ชั่งความจริงใจข้าวหอมมะลิถุงไหนไม่โกง

เมื่อปี พ.ศ.2541 ฉลาดซื้อได้ทำการเก็บตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่แจ้งว่าเป็นข้าวหอมมะลิส่งให้ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีทำการตรวจวิเคราะห์มาตรฐาน พบว่าจากจำนวน 18 ตัวอย่างมีเพียง 8 ตัวอย่างเท่านั้นที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานข้าวหอมมะลิที่เหลือเป็นข้าวหอมมะลิผสมกับข้าวชนิดอื่นทั้งสิ้นในปี 2545 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้มีประกาศเรื่องการรับรองมาตรฐานข้าวหอมมะลิบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายในประเทศขึ้นมาใหม่ และใช้วิธีเชิญชวนให้ผู้ประกอบการแสดงฉลากที่ถูกต้องด้วยการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานข้าวหอมมะลิบรรจุถุงตรารูปพนมมือ โดยข้าวหอมมะลิที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานมีทั้งสิ้น  8 ชนิดซึ่งเป็นการแบ่งตามคุณภาพของเมล็ดข้าวและระดับการสี (ดูที่ล้อมกรอบมาตรฐานข้าวหอมมะลิ 8 ชนิด) แต่ที่เราเห็นจำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่จะเป็นข้าวขาวหอมมะลิ 100% ข้าวขาวหอมมะลิ 5% มีข้าวขาวหอมมะลิ 10% บ้างเพียงเล็กน้อยผลสำรวจของกรมการค้าภายในถึงวันที่ 31 มกราคม 2548 มีข้าวหอมมะลิบรรจุถุงที่ได้เครื่องหมายรับรองตราพนมมือ นับได้รวมทั้งสิ้น 104 ยี่ห้อจากผู้ประกอบการทั้งหมด 68 ราย ซึ่งบางยี่ห้อก็จำหน่ายข้าวขาวหอมมะลิหลายชนิดในชื่อยี่ห้อเดียวกันเพียงแต่ใช้สีถุงหรือลวดลายของถุงบรรจุที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ก็ยังมีข้าวหอมมะลิที่ไม่มีตรามือพนมหรือกรมการค้าภายในไม่ได้รับรอง และข้าวหอมมะลิบางยี่ห้อก็อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้หากไม่สังเกตฉลากให้ถี่ถ้วน เนื่องจากเป็นข้าวหอมมะลิผสมกับข้าวชนิดอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่าทำให้สามารถขายได้ในราคาที่ถูกเอามาก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวหอมมะลิล้วน ๆ   เพื่อให้คุณผู้อ่านสามารถเลือกซื้อข้าวหอมมะลิบรรจุถุงได้อย่างคุ้มค่าคุ้มราคา ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้ทำการสำรวจข้าวหอมมะลิบรรจุถุงใน 2 ลักษณะด้วยกัน คือ หนึ่ง การสำรวจคุณภาพข้าวหอมมะลิ และสองคือการสำรวจน้ำหนักสุทธิของข้าวหอมมะลิขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัมว่าเที่ยงตรงตามที่ระบุไว้จริงแค่ไหนหรือไม่ ผลสำรวจคุณภาพข้าวหอมมะลิบรรจุถุงมีข้าวสารบรรจุถุง ที่ฉลากระบุว่าเป็นชนิดข้าวขาวหอมมะลิ 100% จำนวนทั้งสิ้น 35 ตัวอย่าง ที่ฉลาดซื้อเก็บได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 34 ตัวอย่างเป็นถุงบรรจุขนาด 5 กิโลกรัม อีก  1 ตัวอย่างเป็นข้าวถุงบรรจุขนาด 4 กิโลกรัมคือยี่ห้อ ช้างทิพย์ ข้าวเติมวิตามินของ บ.สากลธุรกิจเลิศรวมมิตร จำกัด ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกับข้าวขนาด 5 กิโลกรัมเลยทีเดียว ฉลาดซื้อได้ส่งตัวอย่างทั้งหมดไปที่ห้องปฏิบัติการทดสอบของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมวิชาการเกษตร เพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของข้าวขาวหอมมะลิ 100% เหล่านี้ ผลการวิเคราะห์พบว่าจาก 35 ตัวอย่าง มี 2 ตัวอย่างที่ไม่ได้คุณภาพตามเกณฑ์ของกรมการค้าภายใน คือยี่ห้อ ฉลาดชิม ของ บ.ไทยฮา จก.(มหาชน) ซึ่งไม่มีตรารับรองมือพนม และ ยี่ห้อ นครไทย ของ บ.บี.เค.เค.อินเตอร์ไรซ์ จำกัด ยี่ห้อนี้มีตรารับรองมือพนมของกรมการค้าภายในแสดงที่ข้างถุง โดยทั้งสองตัวอย่างมีปริมาณอมิโลสและข้าวอื่นปนเกินมาตรฐาน ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เกณฑ์มาตรฐานข้าวขาวหอมมะลิ 100% บรรจุถุงของกรมการค้าภายในที่ให้การรับรองด้วยตรามือพนม1.    กรมการค้าภายในยอมให้ข้าวหอมมะลิ 100% มีข้าวอื่นปนได้ไม่เกิน 8 %2.    ปริมาณอมิโลสอยู่ระหว่าง 13-18 % ข้าวอมิโลสต่ำ ๆ เวลาหุงไม่ควรใช้น้ำมากเพราะจะทำให้ข้าวแฉะ3.    อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ซึ่งทำให้ข้าวสุกไวไม่ใช้เวลาหุงนาน ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ผลการวิเคราะห์ข้าวสารบรรจุถุงที่ฉลากระบุว่าเป็นข้าวขาวหอมมะลิ 100% จำนวน 35 ตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 แฟร์เทรด (การค้าที่เป็นธรรม) เรื่องที่มักเข้าใจผิด

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เริ่มมีการพูดกล่าวถึงเรื่องแฟร์เทรด หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “การค้าที่เป็นธรรม” กันมากขึ้น แม้ว่าในประเทศพัฒนาแล้ว แฟร์เทรดเป็นเรื่องที่ผู้บริโภครู้จักและให้ความสนใจ ในการเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรดมานานพอควร โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา  “ฉลาดซื้อ” เล่มนี้จึงมีบทความพิเศษสำหรับผู้อ่าน เพื่อทำความเข้าใจประเด็นสำคัญ ที่มักจะเข้าใจผิด และการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแฟร์เทรดในประเทศไทยใครทำธุรกิจแฟร์เทรด    ผู้คนจำนวนไม่น้อย ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค มักจะมีความคิดและความเชื่อของตัวเองว่า อะไรคือการทำธุรกิจการค้าที่เป็นธรรม  หลายคนมักจะบอกว่า ธุรกิจของฉัน หรือธุรกิจนี้นั้นเป็นแฟร์เทรด  บางคนบอกว่า แฟร์เทรดต้องเป็นธรรมกับผู้ผลิต บางคนบอกว่า ต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค บางคนบอกว่า ทั้งสองอย่างเท่าๆ กัน และบางคนก็ตั้งคำถามต่อว่า แล้วไม่ต้องเป็นธรรมกับธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อมหรือ  ก่อนที่จะพูดถึงหลักการของแฟร์เทรด ลองมาพิจารณากันดูก่อนว่า ธุรกิจข้างล่างนี้ ท่านคิดว่า ธุรกิจใดน่าจะเข้าข่ายธุรกิจแฟร์เทรดกันบ้าง1) บริษัท ก. ซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) จากกลุ่มเกษตรกร โดยให้ราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาดเท่าตัว แต่ซื้อตามปริมาณที่ลูกค้าสั่งซื้อ ซึ่งประมาณเท่ากับ 5% ของผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกร2) บริษัท ข. ซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) จากกลุ่มเกษตรกร โดยให้ราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาด 5% แต่ซื้อผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกร3) สามีภรรยาที่เป็นคนเมืองตัดสินใจผันตัวไปเป็นเกษตรกร ทำเกษตรอินทรีย์ในชนบท มีการจ้างงานชาวบ้านจากชุมชนรอบฟาร์ม โดยจ่ายค่าแรงตามกฎหมายแรงงาน และขายผักออร์แกนิคที่ปลูกได้โดยตรงให้กับผู้บริโภคในเมือง4) บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ขายสินค้าอุปโภคทั่วไป ซื้อข้าวสารออร์แกนิค ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ จากกลุ่มเกษตรกร เพื่อปรุงเป็นอาหารกลางวันให้กับลูกจ้างในโรงงาน/บริษัท ที่เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการให้กับลูกจ้าง5) สหกรณ์การเกษตร ที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรสมาชิก ที่ปลูกพืชในระบบเกษตรทั่วไป/อาหารปลอดภัย โดยมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร แล้วนำมาสีที่โรงสีของตัวเอง หรือไปจ้างโรงสีเอกชนให้สีข้าวให้ แล้วขายผลผลิตให้กับห้างซูเปอร์มาร์เก็ต โดยบางส่วนขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง 6) บริษัทธุรกิจการเกษตร ที่ทำสัญญาการผลิตและซื้อขายล่วงหน้ากับกลุ่มเกษตรกร โดยการกำหนดราคารับซื้อผลผลิตที่สูงกว่าราคาทั่วไปในท้องตลาด     เมื่องลองอ่านหลักการแฟร์เทรดข้างล่างนี้ดู แล้วกลับไปทบทวนดูใหม่ว่า ธุรกิจแบบใดบ้างที่เป็นธุรกิจแฟร์เทรดจริงหลักการแฟร์เทรด1. สร้างโอกาสสำหรับผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ     องค์กรมีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ไขปัญหาความยากจนของผู้ผลิตด้วยการทำการค้า  องค์กรสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัว หรือมีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมหรือสหกรณ์  องค์กรพยายามที่จะยกระดับผู้ผลิตที่ยากจนและขาดความมั่นคงทางรายได้ให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม  องค์กรมีแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้างต้น     2. มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน     องค์กรมีการบริหารจัดการและการทำธุรกิจที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งความเคารพต่อความอ่อนไหวและความลับของข้อมูลทางการค้า     องค์กรมีแนวทางที่เหมาะสมและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับพนักงาน สมาชิก และผู้ผลิต ในกระบวนการตัดสินใจ  องค์กรสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับคู่ค้าต่างๆ รวมทั้งมีช่องทางการสื่อสารที่ดีและเปิดเผยในทุกระดับของห่วงโซ่อุปทาน 3. ดำเนินการค้าอย่างเป็นธรรม     เป้าประสงค์ คือ องค์กรทำการค้าโดยให้ความใส่ใจกับสภาพความเป็นอยู่ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ของผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบ และไม่แสวงหากำไรสูงสุด โดยไม่ใส่ใจถึงผลกระทบต่อผู้ผลิต ความมุ่งมั่นทางการค้า     เป็นความรับผิดชอบและความเป็นมืออาชีพขององค์กรในการที่จะดำเนินการปฏิบัติให้ตามความมุ่งมั่นขององค์กรโดยไม่ชักช้า  ซัพพลายเออร์เคารพข้อตกลงและส่งมอบสินค้าตรงเวลา มีคุณภาพ และเป็นไปตามข้อกำหนด การจ่ายเงินล่วงหน้า     ผู้ซื้อแฟร์เทรดตระหนักถึงข้อเสียเปรียบทางการเงินของผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ และพยายามในการชำระเงินเมื่อได้รับเอกสารการค้า  สำหรับสินค้าหัตถกรรมแฟร์เทรด ผู้ซื้อแฟร์เทรดจะจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 50% โดยไม่คิดดอกเบี้ย ถ้าได้รับการร้องขอ  ส่วนสินค้าอาหารแฟร์เทรด ผู้ซื้อแฟร์เทรดจะจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 50% โดยคิดดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล ถ้าได้รับการร้องขอ อัตราดอกเบี้ยที่ซัพพลายเออร์จ่ายจะต้องไม่สูงกว่ามูลค่าที่ผู้ซื้อกู้ยืมจากบุคคลที่สาม การคิดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นข้อกำหนด    ถ้าซัพพลายเออร์แฟร์เทรดในประเทศกำลังพัฒนาได้รับการจ่ายเงินล่วงหน้าจากผู้ซื้อ องค์กรจะต้องนำเงินดังกล่าวไปจ่ายต่อให้กับผู้ผลิตหรือเกษตรกร ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าแฟร์เทรด การยกเลิกการสั่งซื้อและการจัดการเมื่อเกิดปัญหา     ผู้ซื้อจะปรึกษากับซัพพลายเออร์ก่อนที่จะมีการยกเลิกหรือปฏิเสธการสั่งซื้อ  ถ้ามีการยกเลิกการสั่งซื้อโดยไม่ใช่ความผิดของผู้ผลิตหรือของซัพพลายเออร์ จะมีต้องการชดเชยให้กับการทำงานของผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว  เช่นกัน ซัพพลายเออร์และผู้ผลิตจะปรึกษากับผู้ซื้อ ถ้ามีปัญหาในการจัดส่งสินค้า และจะทำการชดเชยให้ เมื่อสินค้าที่ส่งมอบมีปริมาณหรือคุณภาพที่ไม่ต้องกันกับที่เรียกเก็บเงิน คู่ค้าระยะยาว     องค์กรรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่ค้า โดยความสัมพันธ์นั้นตั้งอยู่บนความสามัคคี เชื่อมั่น และการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมและการขยายตัวของการค้าที่เป็นธรรม  องค์กรมีการสื่อสารที่มีประสิทธิผลกับคู่ค้า  ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างก็พยายามที่จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน รวมทั้งมูลค่า และความหลากหลายของสินค้า ซึ่งเป็นหนทางที่จะช่วยให้การค้าที่เป็นธรรมสำหรับผู้ผลิตขยายตัว ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต การแข่งขันอย่างเป็นธรรม     องค์กรทำงานโดยให้ความร่วมมือกับองค์กรแฟร์เทรดอื่นในประเทศและหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม  องค์กรหลีกเลี่ยงการก๊อปปี้แบบลวดลายขององค์กรอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเคารพหัตถฝีมือท้องถิ่น     แฟร์เทรดตระหนัก ส่งเสริม และคุ้มครองเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและหัตถฝีมือท้องถิ่นของผู้ผลิตรายย่อย ที่สะท้อนออกมาในการออกแบบสินค้าหัตถกรรม อาหาร และบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ 4. ให้ราคาที่เป็นธรรมราคาที่เป็นธรรม     ราคาที่เป็นธรรมคือ ราคาที่ได้มีการตกลงยินยอมร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย ผ่านการพูดคุยปรึกษาและการมีส่วนร่วม ซึ่งราคานี้ทำให้ผู้ผลิตมีรายรับอย่างเป็นธรรมและมีความยั่งยืนทางธุรกิจ  ในกรณีที่มีการกำหนดโครงสร้างราคาแฟร์เทรดไว้อยู่แล้ว ให้ใช้ราคาดังกล่าวเป็นฐานราคาขั้นต่ำ รายรับที่เป็นธรรม (fair pay)     รายรับที่เป็นธรรมหมายถึง รายได้ที่ผู้ผลิตยอมรับได้ว่า มีความเป็นธรรมในทางสังคม (ภายใต้บริบทท้องถิ่น) และได้คำนึงถึงหลักการในเรื่องค่าจ้างที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย พัฒนาความสามารถในการกำหนดราคา     องค์กรแฟร์เทรดที่ทำหน้าที่การตลาดและผู้นำเข้าจะสนับสนุนการพัฒนาความสามารถให้กับผู้ผลิตตามที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมได้ 5. ต้องมั่นใจว่า ไม่มีแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ แรงงานเด็ก     องค์กรเคารพต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งกฎหมายของประเทศและท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก  องค์กรที่ซื้อสินค้าแฟร์เทรดจากกลุ่มผลิตจะต้องดำเนินการเองโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานอื่นในการสร้างหลักประกันว่า ผู้ผลิตได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งกฎหมายของประเทศและท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก  การมีส่วนร่วมของเด็กในการผลิตสินค้าแฟร์เทรด (รวมทั้งการเรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้าน) ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยและมีการติดตามตรวจสอบ รวมทั้งจะต้องไม่มีผลเสียต่อสภาพความเป็นอยู่ ความปลอดภัย การศึกษาภาคบังคับ และการสันทนาการของเด็ก แรงงานบังคับ     องค์กรต้องมีหลักประกันว่า ไม่มีการบังคับแรงงานในหมู่ลูกจ้าง และ/หรือองค์กรแฟร์เทรด หรือคนงานที่ทำงานอยู่กับบ้าน (home workers)  องค์กรที่ซื้อสินค้าแฟร์เทรดจากกลุ่มผู้ผลิตจะต้องดำเนินการเองโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานอื่นในการสร้างหลักประกันว่า ไม่มีการบังคับแรงงานในการผลิตสินค้าที่ได้จัดซื้อมา 6. ความมุ่งมั่นในการไม่เลือกปฎิบัติ, ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equity) และเสรีภาพในการรวมตัว  ไม่เลือกปฏิบัติ     องค์กรไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การจ่ายค่าตอบแทน การฝึกอบรม การก้าวหน้าทางตำแหน่ง การเลิกจ้าง หรือการเกษียณอายุ เพราะปัจจัยด้านเชื้อชาติ วรรณะ สัญชาติ ศาสนา ความพิการ เพศ ความนิยมทางเพศ สมาชิกของสหภาพแรงงาน สมาชิกทางการเมือง การติดเชื้อเอดส์ หรืออายุ ความเท่าเทียมทางเพศ     องค์กรจะให้โอกาสผู้หญิงและผู้ชายอย่างเท่าเทียมในการพัฒนาทักษะ รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้หญิงได้สมัครงานในตำแหน่งที่ว่าง และการได้รับตำแหน่งผู้นำในองค์กร  องค์กรจะใส่ใจถึงความจำเป็นทางสุขภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์และแม่ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร  ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจเรื่องผลประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการผลิต ค่าจ้างที่เท่าเทียม     องค์กรที่ทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตจะต้องสร้างหลักประกันว่า ผู้หญิงได้รับค่าจ้างจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเสมอ และในกรณีที่ผู้หญิงทำงานแบบเดียวกับผู้ชาย ผู้หญิงจะได้รับค่าจ้างในอัตราเดียวกัน   และในกรณีที่สภาพการผลิตที่งานของผู้หญิงถูกประเมินมูลค่าต่ำกว่าการทำงานของผู้ชาย องค์กรพยายามที่จะมีการประเมินงานของผู้หญิงใหม่และปรับค่าตอบแทนให้มีอัตราเท่าเทียมกับของผู้ชาย  รวมทั้งผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ทำงานตามศักยภาพของตัวเอง เสรีภาพในการรวมตัวเป็นสมาคม     องค์กรเคารพสิทธิของลูกจ้างทุกคนในการที่จะรวมตัวและเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามที่ลูกจ้างเลือก เพื่อที่จะมีการต่อรองร่วมกัน  ในกรณีที่สิทธิการเข้าร่วมสหภาพแรงงานและการต่อรองถูกจำกัดโดยกฎหมาย และ/หรือ สภาพการณ์ทางการเมือง องค์กรจะเปิดโอกาสให้มีการรวมกลุ่มอย่างเสรีและเป็นอิสระ รวมทั้งการต่อรองกับนายจ้าง  องค์กรสร้างหลักประกันว่า ตัวแทนของลูกจ้างจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน 7. หลักประกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี สุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน     องค์กรจะจัดสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะให้กับลูกจ้างและ/หรือสมาชิก  องค์กรจะปฏิบัติตามข้อกำหนดขั้นต่ำของกฎหมายของประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัย เงื่อนไขและชั่วโมงการทำงาน     ชั่งโมงการทำงานและสภาพเงื่อนไขของการทำงานของลูกจ้างและ/หรือสมาชิก (รวมทั้งคนงานที่ทำงานอยู่ที่บ้านของตัวเอง) เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎหมายของประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งอนุสัญญาของสหประชาชาติ สภาพการทำงานที่ปลอดภัยของผู้ผลิต     องค์กรแฟร์เทรดตระหนักถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะสำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่องค์กรซื้อสินค้า  องค์กรพยายามที่จะยกระดับความรับรู้เกี่ยวกับสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะกับกลุ่มผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการดำเนินการปรับปรุงสภาพการทำงานของกลุ่มผู้ผลิตที่มีความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ 8. พัฒนาศักยภาพ     องค์กรพยายามที่จะทำให้เกิดผลกระทบในการพัฒนาด้านบวกต่อผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบโดยการทำการค้าที่เป็นธรรม     องค์กรจัดให้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถของลูกจ้างและสมาชิก  องค์กรที่ทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตรายย่อยมีกิจกรรมการพัฒนาเฉพาะสำหรับช่วยให้ผู้ผลิตได้ปรับปรุงทักษะในด้านการบริหาร ศักยภาพในการผลิต และการเข้าถึงตลาด ทั้งตลาดท้องถิ่น ภูมิภาค ระหว่างประเทศ ตลาดแฟร์เทรด และตลาดทั่วไป ตามความเหมาะสม 9. เผยแพร่การค้าที่เป็นธรรม     องค์กรยกระดับความรับรู้ให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับเป้าหมายของแฟร์เทรดและความจำเป็นในการทำให้การค้าโลกมีความเป็นธรรมมากขึ้น  องค์กรผลักดันเป้าหมายและกิจกรรมแฟร์เทรดตามขอบเขตกำลังขององค์กร     องค์กรให้ข้อมูลกับลูกค้าเกี่ยวกับองค์กรเอง สินค้าที่จำหน่าย และองค์กรผู้ผลิตหรือสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตสินค้านั้น     การประชาสัมพันธ์และเทคนิคด้านการตลาดจะต้องตั้งอยู่บนฐานของความซื่อสัตย์ 10. สิ่งแวดล้อม การจัดหาวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน     องค์กรที่ผลิตผลิตภัณฑ์แฟร์เทรดจะพยายามเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนให้มากที่สุด และพยายามเลือกซื้อวัตถุดิบในท้องถิ่นเท่าที่เป็นไปได้ เทคนิคการผลิต     องค์กรใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ลดการใช้พลังงาน และเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด จัดการกับขยะ     องค์กรพยายามลดผลกระทบจากขยะต่อสิ่งแวดล้อมให้มีน้อยที่สุด  ผู้ผลิตสินค้าการเกษตรที่เป็นแฟร์เทรดจะพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยการทำเกษตรอินทรีย์ หรือเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ นโยบายการจัดซื้อ     ผู้ซื้อและผู้นำเข้าสินค้าแฟร์เทรดให้ความสำคัญก่อนกับการเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมต่ำสุด บรรจุภัณฑ์และการขนส่ง     องค์กรทั้งหมดพยายามเท่าที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นวัสดุรีไซเคิลหรือสามารถย่อยสลายได้ และการขนส่งสินค้าทางทะเล    เชื่อว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่ ในครั้งแรกก่อนที่จะได้อ่านหลักการ จะคิดว่า ทั้ง 6 กรณีเป็นแฟร์เทรด แต่เมื่อได้อ่านหลักการโดยละเอียด ก็จะเริ่มสงสัยว่า ไม่น่าจะใช่ หรือมีข้อมูลไม่พอที่จะบอกว่า ใช่ธุรกิจแฟร์เทรดหรือไม่  จริงๆ แล้วก็เป็นเช่นนั้น คือ การด่วนสรุปเร็วๆ ว่า ธุรกิจขององค์กรผู้ผลิตเป็นแฟร์เทรด หรือธุรกิจการค้ากับเกษตรกรรายย่อยเป็นแฟร์เทรด หรือการรับซื้อสินค้าการเกษตรในราคาสูงกว่าตลาดเป็นแฟร์เทรด (เช่น ในกรณีของการประกันราคาข้าวของรัฐบาลก่อนหน้านี้) ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะมีองค์ประกอบหลายประการที่ต้องพิจารณาว่า โดยภาพรวมธุรกิจการค้าใดบ้างที่เป็นแฟร์เทรดจริงๆแฟร์เทรดในต่างประเทศ แฟร์เทรดในประเทศไทย     ถ้าจะนับต้นกำเนิดจริงๆ ของการค้าที่เป็นธรรม สามารถนับย้อนหลังไปได้กว่า 180 ปีก่อน ตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1820 ที่มีกลุ่มคนในประเทศสหรัฐอเมริกาได้พยายามต่อสู้กับระบบทาส โดยการรณรงค์ให้ผู้บริโภคบอยคอต ไม่ซื้อสินค้าที่ผลิตโดยใช้ทาส (เช่น ฝ้าย น้ำตาล)  แต่ระบบแฟร์เทรดที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เริ่มต้นประมาณเมื่อ 50 – 60 ปีก่อน ที่เริ่มต้นโดยคนหนุ่มสาว (ในสมัยนั้น) กลุ่มเล็กๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มุ่งหวังที่อยากจะเห็นระบบการค้า/ตลาดทางเลือก ซึ่งเน้นความเป็นชุมชนท้องถิ่น ไม่แสวงหากำไร ต่อต้านระบบทุนนิยม และแสวงหาทางเลือกใหม่ให้กับสังคม  คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้สละเวลามาทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับร้านค้าทางเลือกที่พวกเขาร่วมกับจัดตั้งขึ้นในชุมชน/เมืองของตัวเอง ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการค้าเพื่อช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยในประเทศโลกที่สาม (ประเทศกำลังพัฒนา/ด้อยพัฒนา) ที่นำสินค้าดังกล่าวไปขายในช่องทางตลาดพิเศษในประเทศพัฒนาแล้ว และเริ่มมีการจัดทำระบบการตรวจรับรองแฟร์เทรดขึ้นในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2530     ในปัจจุบัน มีตลาดสินค้าแฟร์เทรดใน 125 ประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ. 2547 มีมูลค่ารวมกันกว่า 5,900 ล้านยูโร (ประมาณ 236,288 ล้านบาท) โดยตลาดแฟร์เทรดใหญ่มักจะอยู่ในประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่เริ่มตลาดแฟร์เทรดเริ่มขยายตัวในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ เคนยา และอินเดีย     สำหรับแฟร์เทรดในประเทศไทยนั้นถือกำเนิดมานานหลายสิบปีเช่นกัน ซึ่งอาจแบ่งกระแสการพัฒนาแฟร์เทรดในประเทศไทยได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ    กระแสแรกเป็นกลุ่มหน่วยงานด้านคริสตจักรจากยุโรปที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่เริ่มกิจกรรมแฟร์เทรดไปพร้อมๆ กับที่กลุ่มแฟร์เทรดในยุโรปที่ได้เริ่มการนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคยุโรป เช่น มูลนิธิ Christian Service Foundation (ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเป็น Thai Tribal Craft) ที่ได้เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชาวเขาในภาคเหนือ เพื่อไปจำหน่ายให้กับเครือข่ายคริสเตียนในยุโรป ตั้งแต่ปี 2516  ในปัจจุบัน องค์กรเหล่านี้มีจำนวนหนึ่งที่ยังทำงานอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยได้ทำงานเกี่ยวกับแฟร์เทรดอีกแล้ว    กระแสที่สองคือกลุ่มแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงพุทธทศวรรษ 2523 - 2533 โดยบางองค์กรก็เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานในกลุ่มแรก แต่ได้ผันตัวเป็นองค์กรไทย ที่เป็นอิสระจากองค์กรเดิม  หน่วยงานงานเหล่านี้มีเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น แต่ยังคงกิจกรรมการรับซื้อผลผลิต (ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรม) จากชาวบ้าน เพื่อส่งออกไปจำหน่ายให้กับกลุ่มแฟร์เทรดในต่างประเทศ  รวมทั้งมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ได้จัดตั้งองค์กรเพื่อให้บริการด้านการตลาดกับผู้ผลิตรายย่อยอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งบางกลุ่มก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ล้มเหลว และเลิกองค์กรไป  สมาคมไทยคราฟท์เป็นหนึ่งในองค์กรในกระแสที่สองนี้    ส่วนกระแสที่สามเป็นองค์กรแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เห็นความจำเป็นและโอกาสในการพัฒนาตลาดเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย รวมทั้งเป็นการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง  กลุ่มองค์กรในกระแสนี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการเกษตร ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหลัก  นอกจากนี้ กระแสความตื่นตัวเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ที่ได้ก่อตัวขึ้นในประเทศไทย พร้อมๆ กันกับการเกิดขึ้นของระบบการตรวจรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดในต่างประเทศ ทำให้องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำการผลิตและการค้าที่มีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และแฟร์เทรดไปพร้อมกัน  กรีนเนทเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของกระแสแฟร์เทรดไทยในกลุ่มนี้    เริ่มต้นจากความสัมพันธ์โดยบุคคล หน่วยงานแฟร์เทรดไทยได้เริ่มทำงานร่วมกันในกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะมีการรวมกลุ่มกันเป็นขบวนการแฟร์เทรดไทยในช่วงประมาณกลางพุทธศตรวรรษ 2540 ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง "ไทยแฟร์เทรดฟอรั่ม" ขึ้นในเดือนกันยายน 2550 และต่อมาได้พัฒนามาเป็น “เครือข่ายไทยแฟร์เทรด”    เนื่องยังไม่ได้มีการสำรวจข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ แต่จากการประมาณการของกรีนเนท เชื่อว่า มีกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกือบ 100 องค์กร/หน่วยงาน ที่ทำธุรกิจแฟร์เทรด ทั้งสินค้าหัตถกรรมและอาหาร ซึ่งน่าจะมีผู้ผลิตรายย่อย (เกษตรกรและช่างฝีมือหัตถกรรม) ที่ผลิตสินค้าแฟร์เทรดนับหมื่นครอบครัว  สินค้าแฟร์เทรดของประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายไปตลาดแฟร์เทรดในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรป  ส่วนในประเทศไทยเอง เนื่องจากผู้บริโภคไทยมีความตื่นตัวเรื่องแฟร์เทรดน้อยมาก จึงไม่ค่อยพบว่า มีการทำตลาดแฟร์เทรดในประเทศไทย แม้ว่ากลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการแฟร์เทรดที่ส่งออกเหล่านี้จะจำหน่ายสินค้าแฟร์เทรดเหล่านั้นในตลาดในประเทศไทยด้วยก็ตามแล้วผู้บริโภคไทยควรจะทำอย่างไร    ในปัจจุบันทราบกันดีว่า พลังของผู้บริโภคในการเลือกซื้อ (และเลือกบริโภค) มีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมในการผลิตและการค้า  การเลือกบริโภคอาหารออร์แกนิค/เกษตรอินทรีย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตร จากเดิมที่มุ่งเน้นแต่การเพิ่มผลผลิตโดยการใช้สารเคมีการเกษตร มาเป็นระบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  การเลือกบริโภคอาหารทะเลจากการประมงอย่างรับผิดชอบทำให้ธุรกิจประมงต้องเปลี่ยนวิธีการจับปลาทูน่า โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำอื่น  ส่วนตลาดแฟร์เทรดนี้ ก็เป็นกลไกหนึ่งของการพยายามเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งผู้บริโภคสามารถแสดงบทบาทสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้  ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการสนับสนุนแฟร์เทรด ก็คือ การเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรด    แต่สินค้าแฟร์เทรดโดยปกติจะมีราคาที่สูงกว่าสินค้าที่ไม่ใช่แฟร์เทรด เพราะการทำธุรกิจแฟร์เทรดมีต้นทุนที่สูงกว่า  สำหรับผู้บริโภคบางคนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ ก็คงไม่มีปัญหาที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสนับสนุนธุรกิจการค้าแฟร์เทรด แต่สำหรับผู้บริโภคบางส่วนที่ไม่มีความพร้อม การเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าจากธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (เช่น ธุรกิจที่ใช้แรงงานทาส ใช้แรงงานเด็ก เอาเปรียบเกษตรกร หรือทำลายสิ่งแวดล้อม) ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงพลังผู้บริโภค    รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายและนโยบายทางการเงินและภาษี เพื่อสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมและแฟร์เทรด ซึ่งอาจช่วยทำให้สินค้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point