ฉบับที่ 163 “กาน่าฉ่าย” เมนูเสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำ

ถึงช่วงเทศกาลกินเจทีไร อาหารจำพวกพืชผักต่างๆ ก็ได้เวลาคึกคัก ซึ่งหนึ่งในเมนูผักๆ ที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลกินเจ ก็คือ “กาน่าฉ่าย” เมนูชื่อแปลกที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่ก็เป็นเมนูสุดโปรดของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่เชื้อสายจีนรับรองว่าต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี อ่านมาถึงตรงนี้แฟนๆ ฉลาดซื้อคงเริ่มอยากรู้แล้วว่า เราจะทดสอบอะไรในกาน่าฉ่าย ซึ่งฉลาดซื้อได้รับข้อมูลมาว่าในการทำกาน่าฉ่ายนั้นมีการใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบ ทำให้เรามีข้อสงสัยว่ากาน่าฉ่ายอาจเสี่ยงปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ ฉลาดซื้อจึงสุ่มเก็บตัวอย่างกาน่าฉ่ายที่ขายอยู่ตามแหล่งจำหน่ายอาหารเจและตลาดยอดนิยมที่ขายสินค้าอาหารของคนไทยเชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดเยาวราช ตลาดท่าดินแดง และตลาดสามย่าน  เพื่อมาทดสอบดูว่ากาน่าฉ่ายที่วางขายอยู่เสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำมากน้อยแค่ไหน   สูตรไม่ลับ กาน่าฉาย กาน่าฉ่าย ทำจากผักกาดดองที่บีบน้ำดองออกแล้วส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้รสชาติเปรี้ยวหรือเค็มจัดเกินไป จากนั้นนำมาสับ นำลงผัดกับลูกสมอดอง หรือที่ชาวจีนเรียกว่า กาน่าซั่ม บางเจ้าบางสูตรจะมีการเติมเห็ดหอมลงไปด้วย เมื่อผัดได้ที่ก็จะเติมน้ำเพิ่มลงไป  ตั้งไฟตุ๋นทิ้งไว้ 5-8 ชั่วโมง กาน่าฉ่ายก็จะกลายเป็นสีดำ หน้าตาอาจจะไม่ค่อยน่ากิน แต่รสชาติอร่อยถูกใจ หลายคนบอกว่าแค่กินคู่กับข้าวต้มหรือข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อยสุดๆ หรือจะนำไปดัดแปลงไปผัดกับเนื้อสัตว์ ผัดกับผักอื่นๆ หรือเติมลงในข้าวผัดก็อร่อยไปอีกแบบ ขั้นตอนการปรุงเมนูกาน่าฉ่าย จำเป็นต้องมีการใช้น้ำมันในขั้นตอนของการผัด ซึ่งน้ำมันที่นิยมใช้กันคือน้ำมันพืชอย่าง น้ำมันปาล์ม, น้ำมันถั่วเหลือง หรือ น้ำมันงา ร้านค้าส่วนใหญ่เวลาที่เขาผัดกานาฉ่ายขายแต่ละทีเขาทำขายกันทีละหลายกิโล น้ำมันที่ใช้จึงมีปริมาณมาก โอกาสที่จะมีการใช้น้ำมันซ้ำๆ ในการผัดเพื่อเป็นการลดต้นทุนจึงอาจเกิดขึ้นได้   ผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในกาน่าฉ่าย ฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย จากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในกรุงเทพฯ จำนวน 13 ตัวอย่าง ส่งไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 จ.อุดรธานี เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารโพลาร์ สารที่เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ในตัวอย่างกาน่าฉ่าย โดยการใช้ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งให้ผลที่แม่นยำเป็นที่ยอมรับ ได้ผลดังนี้     สรุปผลการทดสอบ การวิเคราะห์โดยใช้ชุดทดสอบนั้น จะใช้วิธีการหยดสารละลายโพลาร์ลงในตัวอย่าง ตัวสารจะทำปฏิกิริยากับตัวอย่างทำให้เกิดเป็นสีชมพู ตั้งแต่สีจางไปจนถึงเข้ม สำหรับตัวอย่างที่มีปริมาณสารโพลาร์ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก แต่หากตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ไม่เปลี่ยนเป็นสีชมพู หรือกลายเป็นสีเหลืองแสดงว่าตัวอย่างนั้นมีปริมาณสารโพลาร์เกินกว่า 25% - ตัวอย่างกาน่าฉ่าย ที่อยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ พบว่ามีเพียง 3 ตัวอย่างเท่านั้น (จากทั้งหมด 13 ตัวอย่าง) คือมีปริมาณสารโพลาร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1.กาน่าฉ่าย ร้านพลังบุญ จากสันติอโศก 2.กาน่าฉ่าย แม่จินต์ จากโลตัส สาขาสุขสวัสดิ์ และ 3.กาน่าฉ่ายเห็ดหอม สูตรคุณตี๋ จากตลาดสามย่าน สารโพลาร์อยู่ในช่วงปริมาณ 9-20% ถือเป็นน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี - กาน่าฉ่ายอีก 10 ตัวอย่างที่เหลือ ตรวจวิเคราะห์พบปริมาณสารโพลาร์ปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ คือมากกว่า 25% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งจากการทดสอบด้วยชุดทดสอบพบว่า ตัวอย่างเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม คิดเป็นสารโพลาร์ที่อยู่ในช่วง 27% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งถือเป็นน้ำมันที่เสื่อมสภาพแล้ว ไม่ควรนำมาใช้ประกอบอาหาร - จากตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์ พบว่า มากกว่า 70% มีการปนเปื้อนของสารโพลาร์เกินค่ามาตรฐาน การรับประทานกาน่าฉ่าย จึงมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำ ใครที่ชอบซื้อรับประทานบ่อยๆ อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น รับประทานแต่พอดี หรือพยายามเลือกร้านที่มั่นใจว่าเปลี่ยนน้ำมันในการทำอยู่เสมอ สังเกตดูกาน่าฉ่ายที่ต้องไม่ดูเก่าเกินไป สีของน้ำมันไม่เป็นสีดำ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน - น้ำมันปรุงอาหารจะเสื่อมคุณภาพ เมื่อถูกความความร้อนสูง และมีความชื้น จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดสารโพล่าร์ (Polar compounds) เครื่องปรุงต่างๆ เช่น เกลือ ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดสารสารโพลาร์เพิ่มขึ้น โดยปกติน้ำมันปรุงอาหารใหม่จะมีสารโพลาร์อยู่ระหว่าง 3-8 % ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ. 2547 เรื่องกำหนดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ให้มีปริมาณสารโพลาร์ได้ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก ผู้ประกอบการอาหารที่ใช้น้ำมันทอดอาหารที่มีค่าปริมาณสารโพลาร์เกินมาตรฐานทีกำหนดและจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25(3) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท   อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า ในน้ำมันทอดซ้ำมีสารอันตรายอยู่ 2 กลุ่ม คือ สารโพลาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และอีกกลุ่มคือสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือ PAH ซึ่งเป็นกลุ่มสารก่อมะเร็ง น้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพ มีผลทำลายสุขภาพ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ โรคหัวใจวาย โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ไอของน้ำมันที่เสื่อมจะมีกลุ่มสารก่อมะเร็ง ทำให้ผู้ที่ทอดอาหารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดจากการสูดดม   กานาฉ่าย ไม่ได้เสี่ยงแค่น้ำมันทอดซ้ำแต่ยังต้องระวังเรื่องสารกันบูด ช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากผักที่คนกินเจนิยมบริโภคกันมากแล้ว อาหารจำพวกหมักดองก็เป็นที่นิยมมากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดดอง หัวไช้โป้ว เกี่ยมฉ่าย และรวมถึง กาน่าฉ่าย ซึ่งอาหารเหล่านี้มักมีการใช้วัตถุกันเสียเพื่อยืดอายุของอาหาร ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ กรดเบนโซอิก (benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (sorbic acid) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร อนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ในผักดอง ผักปรุงสุก ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารช่วงเทศกาลกินเจปี 2557 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ไช้โป้ว หัวผักดอง และ ยำเกี่ยมฉ่าย รวม 30 ตัวอย่าง เพี่อตรวจวิเคราะห์หาวัตถุกันเสียทางห้องปฏิบัติการ พบว่ามีตัวอย่างที่ใช้วัตถุกันเสียถึง 29 ตัวอย่าง ไม่พบเพียง 1 ตัวอย่าง โดยพบตัวอย่างใช้วัตถุกันเสียทั้ง 2 ชนิด จำนวน 6 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบกรดเบนโซอิก เกินมาตรฐาน 22 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 73.3 โดยพบปริมาณสูงสุด 5,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ส่วนกรดซอร์บิกพบในตัวอย่าง ไช้โป้ว/ไช้โป้วฝอย อยู่ในช่วง 50 - 418 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แม้ว่ากรดเบนโซอิกจะมีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ที่มา: รายงานประจำปี 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >