ฉบับที่ 120 ขื่นกะเพรา เฉาโหรพา

เอ่ยถึง “กะเพรา” วาบแรกที่เห็นคือ “ผัดกะเพราราดข้าว” อาหารจานด่วนยอดฮิตติดอับดับ  ส่วนองค์ประกอบของผัดกะเพราที่โป๊ะมาบนจานข้าวอาจจะมีแตกต่างกันไป  ทั้งผักและเนื้อสัตว์ รวมทั้งเครื่องปรุงรสที่ใส่ลงไปตามแต่สไตล์ของคนผัดและคนกินจะเลือกสรร  แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้นั้นคือกะเพรา  ข้าวผัดกะเพราที่เราคุ้นๆ กัน  กับข่าว “กะเพรา” ที่เห็นข้างหน้า ทำให้เราเห็นอะไรที่ไปไกลกว่า กะเพรา และพืชร่วมตระกูลอย่าง โหรพา แมงลัก ยี่หร่า   และพืชต่างตระกูลอย่าง ผักชี พริกขี้หนู พริกหยวก พริกชี้ฟ้า มะระจีน มะระขี้นก รวมไปถึง มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือขาว มะเขือม่วง มะเขือเหลือง และมะเขือขื่น ราว 16 ชนิด  กลายเป็นผักที่คนในยุโรป 27 ประเทศ นิยมกินและสั่งนำเข้าจากไทย ทำรายได้มูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 700 ล้านบาท  ฝ่ายเจ้ากระทรวงพาณิชย์ออกมายืนยันว่า ความนิยมในรสชาติอาหารไทย-ร้านอาหารไทยที่มีอยู่ในอียูหลายพันแห่งยังครองกระแสและมีแนวโน้มที่ดีในอนาคต จนทำให้ใน 11 เดือนแรกของปี 53 ไทยส่งออกสินค้าประเภท เครื่องเทศและสมุนไพรไปอียูจนมีรายได้สูงถึง 356.1 ล้านเหรียญสหรัฐ   แต่กลับกลายว่าผู้ส่งออกไทยจะกำลังเผชิญปัญหา เพราะว่าสหภาพยุโรป(อียู) ได้งัดมาตรการปกป้องผู้บริโภคด้วยมาตรฐานสุขอนามัยแบบคุมเข้มขึ้นมา ซึ่งจากการตรวจสอบพืชผักที่ผ่านเข้าตามรายการที่ว่ามาพบว่ามีการตกค้างทั้งสารเคมี และเชื้อจุลินทรีย์  และได้ส่งเรื่องแจ้งให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกรมวิชาการเกษตรทราบถึงปัญหามากกว่า 700 เรื่อง ในตลอดช่วงปีที่ผ่านมา จนทางกรมวิชาการฯ คิดว่าจะระงับจากส่งพืช 16 ชนิดนี้ไปอียูชั่วคราวในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้  เพื่อตรวจสอบ และคุมเข้มให้ได้สินค้าดีตามมาตรฐานที่อียูกำหนดปัญหาที่ว่าได้แก่ สารตกค้าง 60 %  การลักลอบ 20 % และอื่นๆ เช่นการติดฉลาก  กรมวิชาการฯ ได้แจงต่อไปอีกว่าได้เตรียมแผนสำรองเพื่อหาตลาดใหม่ทดแทนอย่างญี่ปุ่น รวมทั้งขยายตลาดภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายสร้างความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำสินค้าผ่านเกณฑ์ไปจำหน่าย ตามโรงพยาบาล  ท้ายข่าวยังมีความเห็นของผู้ส่งออกไว้ให้อ่านด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากผู้ส่งออก 2 ราย (ไหน?) แต่มาตรการแก้ไขที่กรมวิชาการเสนอทำให้ผู้ส่งออกทั้งหมดร่วม 20 รายต้องเสียหาย  ฝ่ายเกษตรกรผู้ผลิตซึ่งมีแหล่งปลูกรวมแล้วราว 1,800 ไร่ ที่นครปฐม ปลูกกะเพรา โหรพา และสะระแหน่ ขายได้ปีหนึ่งราว 12.4 ล้านบาท  , 15.9 ล้านบาท และ 3.3 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา เริ่มหาทางลดความเสี่ยงทางการตลาดของตัวเองลงโดยการหันมาปลูกผักบุ้งจีนสลับลงในแปลง  อ่านข่าวแล้วได้แต่รำพึง   ในฐานะที่เป็นคนอยู่ในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าและวัฒนธรรมอาหารไทย  ได้แต่ทอดถอน และหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพอาหารของตัวเองไปตามอัตภาพกันเถอะเรา   ใครพอมีที่มีทาง มีแสงสว่างส่องถึง ก็เตรียมจัดหากระถาง ขนาดย่อมเอาไว้ให้พอเหมาะพอดี ปลูกผักประเภท ผักชีฝรั่ง กะเพรา โหระพา พริก เอาไว้ติดบ้าน ดีหน่อยที่บ้านแม่พอมีที่ทางปลูกต้นมะเขือเปราะ มะเขือม่วงได้บ้าง  แต่ระหว่างรอผลที่มันจะงอกเงยมาจากต้นที่ปลูกข้างบ้าน  ก็คงต้องทำใจเลือกซื้อเลือกหาจากตลาดมากิน  ใครมีแหล่งผู้ผลิตดีๆ เอาไว้ก็โชคดีหน่อย   ถ้ามาดูในอาหารจานโปรดของแม่และฉันก็ล้วนแต่มีส่วนประกอบหลักจาก 16 พืชส่งออกเจ้าปัญหานี้เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะผัดพริกแกงเผ็ด ผัดฉ่า แกงป่า  แกงกะทิ แกงเขียวหวาน ต้มยำ  ฯลฯ   มากน้อยต่างไป แต่ยังไงก็ต้องมีสักอย่าง 2 อย่างอยู่ดี   ปลาหมึกผัดเผ็ด เครื่องปรุง ปลาหมึกสด   2 – 3 ตัว หั่นเป็นชิ้นพอคำ  ,  พริกแกง  1 ช้อนโต๊ะ  (พริกบางช้างแห้ง , กะปิ , ข่า , ตะไคร้ , ผิวมะกรูด หอมแดง) มะเขือเปราะ  5 – 6 ลูก  ผ่า 4 ,  ใบมะกรูด 3 – 4 ใบ ฉีก ,  พริกสด 3 – 4 เม็ด  หั่นเฉียง, กระชาย  5 – 6 ราก  หั่นเป็นเส้นฝอยตามแนวยาว  , พริกไทยสด  3 – 4 ช่อ  ,  ใบโหรพา  1 ขยุ้มมือ  , น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ , น้ำปลา , น้ำตาลทราย  วิธีทำ ตั้งกระทะไฟปานกลาง  ใส่น้ำมันให้ร้อนแล้วนำพริกแกงลงไปผัดให้สุกหอม  ใส่น้ำปลา น้ำตาล ตามชอบ   จากนั้นใส่เนื้อปลาหมึกหั่นลงไปผัดเร็วๆ  ตามด้วยมะเขือเปราะ  เติมน้ำได้นิดหน่อย  มะเขือเปราะสุกแล้วใส่กระชาย พริกไทยสด ใบมะกรูด ใบโหรพา และพริกสด   ผัดฉ่าปลาหมึก เครื่องปรุงและวิธีทำ คล้ายกับปลาหมึกผัดเผ็ด  แต่... เปลี่ยนจากพริกแกง เป็น กระเทียมไทยสับกับพริกขี้หนู  และใบโหระพา เป็นกะเพรา  และมะเขือเปราะเป็นยอดมะพร้าวหั่นเส้นแทน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point