ฉบับที่ 141 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2555 ระวัง! “ทิ้นท์” ไม่ได้มาตรฐานทำปากพัง คงไม่ใช่เรื่องผิดถ้าสาวๆ จะรักสวยรักงาม เพราะใครๆ ก็อยากดูดี แต่เวลาจะแต่งหน้าทำผมทั้งทีเครื่องสำอางที่จะใช้ก็ต้องใส่ใจเลือกให้ดี เพราะถ้าใช้ของไม่ดีไม่มีคุณภาพไม่ผ่านมาตรฐาน ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่แต่งออกมาแล้วไม่สวย แต่อาจต้องเจ็บป่วยด้วยโรคที่แถมมากับเครื่องสำอาง อย่างล่าสุดคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาเตือนถึงอันตรายของ “ทิ้นท์” เครื่องสำอางที่มีลักษณะเป็นเจลน้ำสีแดง ที่ใช้สำหรับทาบริเวณริมฝีปากเพื่อให้ริมฝีปากมีสีแดงอมชมพู ดูน่ารักสวยงาม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มสาวๆ วัยรุ่น โดยส่วนใหญ่จะหาซื้อกันตามร้านค้าแผงลอยตามตลาดนัดทั่วไป ทาง อย. จึงเป็นห่วงผลิตภัณฑ์ที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไปนั้น อาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน สีที่ใช้ในทิ้นท์อาจเป็นสีที่ห้ามใช้หรือมีส่วนผสมของสารอันตราย เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนัก หากสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจมีผลทำให้รู้สึกระคายเคืองอย่างรุนแรง อาการคลื่นไส้อาเจียน ตาพร่ามัว หรือถ้าใครที่แพ้อย่างรุนแรงอาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ริมฝีปาก เกิดอาการคัน บวม แดง ผิวหนังลอกเป็นขุย   อย. จึงฝากเตือนสาวๆ ที่อยากใช้ทิ้นท์ช่วยเพิ่มสีสันให้ริมฝีปาก ต้องไม่ลืมอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ ซึ่งเครื่องสำอางที่ได้รับมาตรฐานจะต้องแสดง ชื่อเครื่องสำอาง ชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง วิธีใช้เครื่องสำอาง ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ วัน เดือน ปี ที่ผลิตและหมดอายุ ในกรณีที่เครื่องสำอางมีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน คำเตือน และที่สำคัญต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลากหรือกล่องผลิตภัณฑ์ -------------------------------------------------------------   เมื่อ “สารส้ม” ปนเปื้อนอลูมิเนียม “สารส้ม” ถือเป็นของคู่บ้านคนไทยเรามาอย่างยาวนาน หลายๆ ครอบครัวใช้สารส้มแกว่งในน้ำกินน้ำใช้เพื่อให้ตกตะกอน โดยเฉพาะในพื้นที่กันดารห่างไกลซึ่งระบบน้ำประปาน้ำสะอาดยังเข้าไม่ถึง แต่สารส้มแม้จะมีคุณประโยชน์ช่วยทำให้น้ำใสน่ากินน่าใช้แต่ก็ต้องรู้จักใช้อย่างพอดี เพราะล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการสุ่มตรวจสารส้มพบว่ามีการปนเปื้อนของอะลูมิเนียมเกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท กำหนดให้มีอะลูมิเนียมได้ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร แต่จากการที่กลุ่มงานพิษวิทยา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 พิษณุโลก ได้เฝ้าระวังอะลูมิเนียมในน้ำบริโภคหลังจากเกิดอุทกภัยในเขตจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอบางระกำ และอำเภอเมือง พบการปนเปื้อนของอะลูมิเนียมเข้มข้นถึง 0.06 – 0.42 มิลลิกรัมต่อลิตรถึง 7 ตัวอย่าง ซึ่งสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนอาจมาจากการเติมสารส้ม เพื่อทำให้น้ำใสแต่มิได้มีการควบคุมปริมาณให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย อะลูมิเนียมที่เข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกดูดซึมแพร่กระจายผ่านทางระบบเลือดไปยังปอด ตับ กระดูก และสมอง และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะผ่านไต ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกับการทำงานของไต และหากบริโภคน้ำที่มีปริมาณอะลูมิเนียมสูงเป็นเวลานานจะส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งขณะนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งศึกษาถึงปริมาณและวิธีการใช้สารส้มที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ -------------------------------------------------   “ปลาดุกย่าง” แชมป์ของย่างเสี่ยงมะเร็ง ใครที่ชอบทานอาหารปิ้งย่างฟังทางนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รายงานผลการสุ่มสำรวจการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหารปิ้งย่าง โดยสารที่ตรวจวิเคราะห์เป็นกลุ่มสารก่อมะเร็ง เช่น สารเบนโซเอไพรีน เป็นสารประกอบในกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีที่มีมากกว่า 100 ชนิด ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรือการสลายทางเคมีของสารอินทรีย์โดยความร้อน แต่เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ แม้จะมีการทดลองพบว่าสารนี้มีผลก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่พบข้อมูลที่เพียงพอว่าจะทำให้ก่อมะเร็งในคน สำหรับตัวอย่างอาหารที่นำมาวิเคราะห์ได้แก่ ไก่ย่าง ปลาดุกย่าง และหมูปิ้ง โดยเก็บตัวอย่างจากตลาดสดใน กทม.42 แห่ง รวม 101 ตัวอย่าง ซึ่งพบการปนเปื้อนมากที่สุดในตัวอย่างปลาดุกย่าง เฉลี่ยพบการปนเปื้อนอยู่ที่ 0.5-3.2 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม จากทั้งหมด 36 ตัวอย่าง รองลงมาคือ หมูปิ้ง 30 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อน 0.3-1.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ตามด้วยไก่ย่าง 35 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนอยู่ที่ 0.5-0.7 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณสารที่พบยังถือว่ามีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ประกาศในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ที่กำหนดไว้ 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม แต่เพื่อความปลอดภัยในการทานอาหารปิ้งย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฝากถึงผู้จำหน่ายอาหารปิ้งย่างไม่ควรใช้ไฟแรงและใช้เวลาในการปิ้งย่างนานเกินไป ควรตัดแต่งอาหารส่วนที่ไหม้เกรียมออก ส่วนผู้บริโภคก่อนรับประทานควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมออกไป หลีกเลี่ยงส่วนไหม้เกรียมมากๆ เพราะสัมผัสไฟโดยตรง เช่น หนังหรือชิ้นส่วนติดมัน ----------------------------------------------------- คุมเข้มโรงเรียนกวดวิชา ในยุคที่โรงเรียนกวดวิชาถูกประเมินค่าความสำคัญไม่ต่างจากการเรียนในโรงเรียนปกติทั่วไป ทำให้เราได้เห็นโรงเรียนกวดวิชาผุดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด ซึ่งทำให้มีโรงเรียนกวดวิชาจำนวนมากที่ไม่ได้มาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ และหลายแห่งใช้การโฆษณาเกินจริงเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงต้องออกมาทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภค เร่งจัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชา จากการตรวจสอบของทาง สคบ. พบว่าปัจจุบันมีสถาบันกวดวิชาเปิดสอนทั่วประเทศมากกว่า 10,000 แห่ง ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากมักตัดสินใจเลือกใช้บริการโรงเรียนกวดวิชาจากชื่อเสียงและคำโฆษณา โดยไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ สคบ. จึงฝากแนะนำนักเรียนและผู้ปกครองที่กำลังมองหาโรงเรียนกวดวิชาต้องไม่ลืมตรวจสอบข้อมูลสำคัญต่อไปนี้ 1.ต้องมีการขออนุญาตจากกระทรวงศึกษา 2.ต้องจัดห้องเรียนให้ครบกับหลักสูตรและรายวิชาตามที่ขออนุญาต 3.สถานที่ต้องไม่แออัด มีความกว้างขวางเพียงพอกับจำนวนนักเรียน คือประมาณ 1.50 เมตร ต่อนักเรียน 1 คน 4.ต้องมีสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัย มีการดูแลรักษาความปลอดภัยที่ดี ไม่ต้องอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมที่อาจเกิดอันตรายใดๆ กับกิจกรรมต่างๆ โรงเรียน 5.ห้ามให้สถานที่ตั้งโรงเรียนเอกชนสามัญศึกษาเป็นสถานที่เปิดสอนกวดวิชา 6.ต้องจัดให้มีสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนและบริการอื่นๆ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนกำหนด และ 7.ผู้สอนต้องมีคุณสมบัติตามที่กระทรวงศึกษากำหนด ใครที่ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการโรงเรียนกวดวิชาหรือพบเห็นโรงเรียนกวดวิชาที่มีการใช้คำโฆษณาอวดอ้างเกินจริง สามารถแจ้งข้อมูลไปได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 --------------------------------------------------------------------------------------------   “กะปิ” มีสีมีเสี่ยง “กะปิ” ถือเป็นส่วนประกอบที่ทำให้อาหารไทยหลากหลายเมนูมีรสชาติอร่อยถูกปากถูกใจ แต่จากนี้ไปต้องระวังให้ดี เพราะกะปิธรรมดาๆ ก็อาจไม่ปลอดภัยกับสุขภาพของเรา เมื่อศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 จ.ตรัง ได้นำเสนอผลการสุ่มตรวจตัวอย่างกะปิจากจังหวัดกระบี่ ตรัง ระนอง รวม 88 ตัวอย่าง พบว่ามีการใส่สีลงไปในกะปิถึง 52 ตัวอย่าง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสีที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหารถึง 49 ตัวอย่าง โดยพบสีที่เป็นอันตรายอย่าง สีโรดามีน บี ที่หากสะสมในร่างกาย อาจทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง หน้าบวม อาเจียน และอาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการชา อ่อนแรงคล้ายเป็นอัมพาต ตับ ไต และระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังมีการตรวจในเรื่องของคุณภาพด้านจุลินทรีย์ ซึ่งไม่พบการปนเปื้อนเชื้อสเตปโตคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) แต่พบการปนเปื้อนเชื้อคลอสทริเดียม เพอร์ฟิงเจน (Clostridium perfringens) ร้อยละ 3.48 แต่อยู่ในระดับปลอดภัย เพราะฉะนั้นเวลาที่จะไปเลือกซื้อกะปิครั้งต่อไป อย่าลืมเลือกกะปิที่สีสันไม่ฉูดฉาด จะได้ปลอดภัยจากสารเคมี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 เรื่องของกะปิ

  บทความนี้เขียนในเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งปรกติแล้วอากาศควรจะเย็นๆ แต่ปีนี้ถึงน้ำไม่ท่วม แต่เหงื่อก็ท่วมกายได้ เพราะเมืองไทยมีอากาศละม้ายสมัยที่พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะยังไม่ออกผนวช และยังทรงมีปราสาทสามฤดูคือ ฤดูหนึ่งก็พักที่ปราสาทหลังหนึ่ง เปลี่ยนฤดูก็เปลี่ยนไปพักอีกหลังหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าทรงมีความสุขมากแต่ก็ยังทุกข์จนต้องออกผนวช ส่วนคนกรุงเทพมหานครวันนี้ มีปราสาท (บ้าน) หลังเดียว แต่มีโอกาสที่ในหนึ่งวัน (เปรียบเสมือน) มีสามฤดูเลยทีเดียวคือ ตอนเช้ารู้สึกเย็น ๆ บ่ายร้อนจะเหงื่อไหล แล้วค่ำ ๆ ก็มีฝนตก   วันที่เขียนบทความนี้เป็นวันที่ละครเรื่อง รากบุญ กำลังจะอวสาน ซึ่งก็เป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่ว่า (คน)ทำดีได้ดี (คน)ทำชั่วได้ชั่ว เพราะเจติยาจะได้รับผลดีจากการทำดีเสียที โดยที่น้าพิสัยก็ต้องตายเสียที ซึ่งก็เป็นตามคำสาปแช่งของผู้ชมทั่วไป เพราะทั้งเรื่องไม่ทำอะไรที่ระบุได้ว่าเป็นความดีเลย นี่ก็คือละคร   ความจริงผู้เขียนไม่ค่อยได้ดูละครโทรทัศน์สักเท่าไร เพราะทนความเร้าร้อนทางโลกีย์วิสัยที่ผู้สร้างประเคนให้คนดูอย่างเกินพิกัด แต่บังเอิญเรื่องรากบุญนั้นเป็นละครที่สอนเรื่องการทำความดี และที่สำคัญนักแสดงแสดงได้ดีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ประกอบกับผู้กำกับละครทำได้ในแบบของหนังฝรั่งคือ ไม่เยิ่นเย้อ ผู้เขียนจึงติดตามขนาดเอาไปฝัน (ซึ่งไม่เหมือนฝันของ ส.ส.ชาย ในสภา) ว่า กล่องรากบุญได้ขอให้ผู้เขียนทำความดี 3 ประการ(ซึ่งพอตื่นขึ้นก็เสียดายที่จำไม่ได้) โดยแลกกับพร (ที่กล่องรากบุญบังคับให้ขอว่า) อาหารที่มีอยู่ในบ้านจะไม่มีวันหมดอายุ กินได้ตลอดชาติไม่ต้องโยนทิ้ง   ในฝันนั้น ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าตอบรับคำขอไปหรือเปล่า แต่พอตื่นเช้าขึ้นมาเช็คเมล์ก็พบนัดขอสัมภาษณ์ให้ความเห็นว่าผู้บริโภคควรทำไงดี เกี่ยวกับข่าวเรื่องกะปิจากปักษ์ใต้อันตรายเพราะใส่สี ผู้เขียนจึงตอบรับ โดยหวังว่า มันน่าจะเป็นการทำความดีตามที่กล่องรากบุญน่าจะมาขอในฝัน   ข่าวเรื่องกะปิอันตรายนั้นมีในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมทั้งฉบับที่ออนไลน์ให้อ่านในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีข้อความคล้ายๆ กันว่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดเผยข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์กะปิของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดตรัง ในปี พ.ศ. 2552-2554 ซึ่งเก็บตัวอย่างกะปิจากจังหวัดกระบี่ ตรัง ระนอง รวม 88 ตัวอย่างมีการใช้สี 52 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 59 โดยเป็นสีคือ สีโรดามีนบี ที่ไม่มี อย. ชาติใดในโลกยอมให้ใช้ในอาหาร 49 ตัวอย่าง ซึ่งเมื่อสีนี้สะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณที่มากพออาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ส่วนสีอื่น ๆ ที่เหลือเป็นสีเหลืองซันเซ็ตเยลโลว์เอฟซีเอฟ สีแดงเอโซรูบีน และสีแดงปองโซ 4 อาร์ นอกจากนี้ผู้ผลิตกะปิยังแถมกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกเป็นของชำร่วยแก่ผู้บริโภคโดยไม่คิดมูลค่าเพิ่ม ก่อนอื่นผู้เขียนขออธิบายถึงสีอื่น ๆ  ที่ไม่ใช่สีโรดามีนบีว่า เป็นสีที่อยู่ในบัญชีอนุญาตให้ใช้ในอาหาร (บางชนิด) ได้ โดยมีการจำกัดปริมาณไว้ที่ระดับที่ไม่ควรก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค แต่บังเอิญกะปิเป็นอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ ซึ่งในสากลโลกนี้เขาไม่ยอมให้ใส่สีอะไรลงไปเพราะเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่ง อย. บ้านเราก็มีประกาศห้ามใส่สีในเนื้อสัตว์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นถึงสีเหล่านี้ใส่ในอาหารบางชนิดได้ แต่ก็ไม่ควรตรวจพบในกะปิ สำหรับสารกันบูดคือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก (ซึ่งความจริงเวลาใส่ในอาหารจะอยู่ในสถานะที่เป็นเกลือ เราจึงเรียกว่า เกลือเบนโซเอตและเกลือซอร์เบต) นั้น สำหรับกะปิแล้วก็ไม่ควรตรวจพบเพราะ กะปิเป็นอาหารที่ถูกหมักในสภาวะมีเกลือเป็นสารถนอมอาหาร เชื้อโรคที่เป็นอันตรายนั้นไม่ควรทนความเค็มได้ แต่การที่ผู้ผลิตต้องเติมสารกันบูดสองชนิดนี้ลงไปเพราะกะปิที่เขาผลิตนั้นไม่แห้งจริง โดยเจตนาทำให้มีความชื้นสูง(เพราะหนักกิโลดี) ดังนั้นพอกะปิมีความชื้นสูง แบคทีเรียและรา ก็สามารถเจริญเติบโตและก่ออันตรายแก่ผู้บริโภคได้ สำหรับประเด็นสีโรดามีนบีนั้น เป็นสีที่มีความสามารถในการเรืองแสงชนิดที่เรียกว่า ฟลูออเรสเซนต์ ดังนั้นจึงมีการใช้มากในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ต้องย้อมสีเซลล์หรือเนื้อเยื่อ ประโยชน์อีกอย่างคือ ใช้เป็นตัวติดตามการไหลของของเหลวเช่น น้ำ เพื่อติดตามตรวจสอบสภาวะการไหลว่ามีการติดขัดที่จุดใดในระบบ ซึ่งมีทั้งระบบในอาคารตลอดจนถึงแม่น้ำ ลำคลอง   ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ สีชนิดนี้มีราคาที่น่าจะถูก เพราะผู้บริโภคไทยมีประสบการณ์ของปัญหาเนื่องจากสีโรดามีนบีในอาหารมานานจนผู้เขียนจำไม่ได้ว่านานแค่ไหน เนื่องจากตั้งแต่จำความได้เมื่อจบปริญญาตรีก็ได้ยินข่าวเรื่องสีชนิดนี้ปนเปื้อนในอาหารแล้ว เวลาผ่านไป 30 ปีจนจะเกษียณอายุจากการทำงานในปีหน้า ปัญหานี้ก็ยังไม่จบ และก็มองไม่เห็นทางจบเสียด้วยซ้ำ เพราะการขายสารเคมีในสยามประเทศนี้ปราศจากการตรวจสอบติดตามแบบที่ฝรั่งใช้คำว่า Chemical inventory ซึ่งหมายความว่า เมื่อสารเคมีถูกขายไปเพื่อการใดการหนึ่งแล้ว ผู้ซื้อต้องรายงานต่อทางการว่า ณ เวลาใดๆ สารนั้นถูกใครใช้ทำอะไร เหลือเท่าไร ถ้าสนใจเรื่องนี้ขอเชิญไปลองอ่านได้ที่ http://www.ehs.berkeley.edu/hs/197-chemical-inventory-program.html   ที่ไม่รู้ว่าควรดีใจหรือเสียใจดีก็คือ ประเทศเวียดนามก็มีประสบการณ์เนื่องจากสีชนิดนี้เช่นกัน โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารของเวียดนามก็พบสีโรดามีนบีในพริกป่น ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหารในเวียดนาม โดยทางผู้ประกอบการที่ถูกจับกล่าวว่า ได้ใช้สีนี้ผสมในเม็ดมะม่วงหิมพานต์ก่อนผสมลงในพริก เพื่อปรับปรุงสีและลักษณะปรากฏของพริกป่นให้ดีขึ้น พริกป่นเหล่านี้จะใช้เป็นเครื่องเทศในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารทะเลแห้ง (http://www.udo.moph.go.th/post-to-day-2/upload/ 613873892/2006110045.pdf)   ส่วนในประเทศมาเลเซียซึ่งคนไทยนิยมไปซื้อของกินที่ชายแดนเข้ามากินในประเทศไทย (โดยไม่ได้ดูว่ามันมาจากจีนหรือเปล่า) ก็มีข่าวในเว็บ http://thestar.com.my (เว็บ the star online) ว่าสีโรดามีนบีซึ่งถูกห้ามใช้ในประเทศนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1952 คือ 60 ปี มาแล้ว ก็ยังมีการใช้ในอาหารที่เรียกว่า belacan (shrimp paste) ซึ่งคงไม่ต่างจากกะปิไทย ดังนั้นการที่กะปิปักษ์ใต้มีการเติมสีนั้น อาจเป็นได้ว่าผู้ผลิตไทยได้ละเมิดลิขสิทธิ์การผลิตอาหารอันตรายจากมาเลเซียเข้าแล้ว หรืออาจเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่อาเชียนก็ไม่รู้ ความจริงการผลิตกะปิใส่สีในบ้านเรานั้นไม่ได้มีเฉพาะปักษ์ใต้ ทั้งนี้เพราะผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อสักยี่สิบกว่าปีมาแล้ว เมื่อผู้เขียนได้เป็นผู้แทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการในอนุกรรมการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานอาหารหรือที่เรียกว่า อ3. นั้น ประเด็นเรื่องกะปิใส่สีก็เข้ามาในการพิจารณาว่าเป็นปัญหา   ปัญหาเกิดเนื่องจากจังหวัดชายทะเลของเราที่เคยทำกะปิจากเคย (สัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกุ้ง ในกลุ่มกุ้ง-กั้ง-ปู ซึ่งเป็นอาหารของปลาใหญ่ต่างๆ เช่น ปลาวาฬ ปลากระเบนราหู นกบางชนิด รวมทั้งคนซึ่งเอาเคยมาทำกะปิ)นั้นหาเคยไม่ได้ ต้องทำกะปิจากปลาเล็กปลาน้อย (ที่ขายไม่ได้) จึงได้กะปิมีสีไม่น่าดู (แถมเหม็นคาวต่างหาก) จึงต้องแต่งสีเพื่อหลอกผู้บริโภค และสีหนึ่งที่ใช้ก็คือ สีโรดามีนบี ผู้เขียนจำได้ว่า มีการพยายามเสนอให้มีการอนุญาตให้สามารถเติมสีในกะปิได้ โดยใช้สีอาหารที่ อย. อนุญาต แต่สุดท้ายดูเหมือนจะไม่สำเร็จเพราะอนุกรรมการยอมรับการหลอกลวงผู้บริโภคไม่ได้   ความจริงกะปิที่ดีซึ่งทำจากเคยนั้นจะมีลักษณะค่อนข้างแห้ง เพราะมีเกลือสูง และถ้าได้รับการตากแดดอย่างเต็มที่ สีกะปิดีจะออกม่วงอ่อนอมขาวเพราะเกล็ดเกลือ เมื่อเอาไปอังไฟโดยห่อใบตองก่อน จะมีกลิ่นหอมเหมือนกุ้งเผาออกเค็ม แต่ถ้าเป็นกะปิทำจากปลาจะมีกลิ่น (เหม็น) คาวปลาซึ่งบางคนอาจชอบ แต่ผู้เขียนรับประทานไม่ลง   ที่สำคัญซึ่งผู้บริโภคควรรับทราบก็คือ การผลิตกะปินั้นส่วนใหญ่สกปรก แม่ผู้เขียนเคยเล่าว่า ในสมัยโบราณกะปิไทยมีการผลิตคล้ายการผลิตไวน์ในฝรั่งเศส กล่าวคือ ใช้เท้าย่ำไปบนวัตถุดิบจนกว่าจะละเอียดเนียนเท้าจึงเอาไปตากแดดให้แห้งบนพื้นคอนกรีต ซึ่งในการย่ำกะปินั้นถ้าผู้ย่ำเป็นแม่ลูกอ่อน ก็จะอุ้มลูกไปด้วยในการย่ำ ลูกก็จะดูดนมแม่ไปพลาง ถ่ายอึ ถ่ายฉี่ไปพลาง ลงบนกองกะปิที่กำลังย่ำ   ในปัจจุบันนี้ ถึงกะปิถูกผลิตด้วยเครื่องจักรแต่ก็ยังสกปรกอยู่ จึงสามารถตรวจพบแบคทีเรียกลุ่ม คลอสตริเดียมเพอร์ฟิงเจ็น (Clostridium perfringen) จึงทำให้ผู้บริโภคกะปิดิบมักเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงเนื่องจากเชื้อโรคนี้ แต่มักไม่ตายได้อยู่กินกะปิสกปรกอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตจึงนิยมใส่สารกันบูดลงในกะปิที่ทำให้ไม่แห้ง (เพื่อให้หนักกิโล) เป็นการป้องกันการเกิดอุบัติการณ์ปวดท้องของผู้บริโภค   ดังนั้นสำหรับผู้เขียนแล้ว เมื่อจะบริโภคอาหารอะไรที่มีกะปิ ก็จะต้องดูว่าอาหารนั้นทำจากเคยหรือปลา โดยการดมกลิ่นซึ่งต่างกันชัดมาก และที่สำคัญอาหารที่ทำจากกะปิไม่ว่าจากสัตว์อะไร ผู้เขียนจะต้องทำให้สุกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกมะนาว ข้าวผัดกะปิ หรือแม้น้ำปลาหวาน ทั้งนี้เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนธาตุอ่อนมาแต่เกิด กินกะปิดิบนิดหน่อยก็ท้องเสียแล้ว จึงทำให้กลายเป็นคนไม่ค่อยชอบกินข้าวเย็นนอกบ้าน เกิดผลพลอยได้คือ ไม่เปลืองสตางค์มากเกินไปกับการกินอาหารมื้อเย็นอย่างคนทั่วไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 131 เมนูกุ้งฝอย : ไข่เจียว กับ กุ้งฝอยคลุกกะปิ

  ตั้งแต่หัวน้ำเริ่มลดลงหลังวันลอยกระทง กุ้งฝอยโผล่โฉมมาให้เห็นแบบยกขบวนมามากหน้าหลายตาอยู่หลายหน ทั้งในตลาดสด ตลาดนัด ทั้งรูปแบบปรุงเป็นอาหารแล้วและแบบสดๆ จะเพราะความคุ้นชินกับฐานทรัพยากรอาหารตัวนี้ที่มีติดตัวมาตั้งแต่จำความได้ ทั้งในแง่เหยื่อของปลาที่วิ่งไปซื้อในตลาดแทนการขุดไส้เดือนดิน – แมงกะชอน   และเหยื่อของคนในรูปตำรับอาหารต่างๆ ก็ไม่รู้ ไม่แน่ใจ ...  แต่จู่ๆ วันหนึ่งพลันนึกถึงว่าตัวเองกำลังกลายเป็นกุ้งซะงั้น  ประเภทกุ้งฝอยน้ำจืดที่คุ้นที่สุดนั่นแหละ อ่านข่าวเร่งพัฒนาแก้มลิงตามโครงการพระราชดำริ กว่า 3,000 แห่ง รับมือภัยน้ำท่วมที่จะมาในอนาคต , อิทธิพลลานิญาปี 55  และ ระบบปลูกข้าวใหม่ 3 รูปแบบ ตามนโยบาย ก.เกษตร ที่ยังดันทุรังผลักดันที่ต่อเนื่องจากปีที่แล้วแม้จะมีชาวนาในจังหวัดอยุธยาเข้าร่วมต่ำกว่าเป้ามโหฬาร และยิ่งมีตัวเลขต่ำลงอีกเมื่อนับพื้นที่นาที่ชาวนาทำจริงตามโครงการ แล้วอดไปได้ที่จะขับรถออกไปดูเวิ้งน้ำที่ยังเนืองนองในทุ่งต่างๆ รอบตัวอำเภอ ทำให้ฉันครุ่นคิดไปเองอีกแล้วว่า มันจะลดลงทันต้นมกราคมปีหน้าแล้วชาวนาเริ่มไถหว่านกันตั้งแต่ต้นปีอย่างที่รายงานข่าวสั้นในวิทยุประกาศนโยบายของกรมชลประทานไหม? ไม่รู้ว่าข้อมูลข่าวที่ไหลอวลอยู่ในหัว หรือยาที่ฉันเพิ่งอัพเข้าไปก่อนขับรถมาถึงทุ่งลาดชะโด ออกฤทธิ์  ฉันจอดรถแล้วลง เดินเซแถดๆ ไปที่ริมถนน 4เลนส์เส้นใหญ่ที่ใครๆ ก็ต้องบอกขอบคุณบรรหารที่สร้างและยกมันขึ้นสูงอีก 1.5 เมตร หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2549  เพราะมันเป็นเส้นทางเดียวที่คนในตลาดผักไห่ใช้เดินทางไปสุพรรณ และที่ใกล้เคียงที่น้ำยังไม่ท่วมได้  แต่นโยบายกระทรวงเกษตรนี่ทำเอาฉันอยากเปลี่ยนคนบริหารจัง รวงข้าวฟางลอยที่เพิ่งหว่านเมื่อพฤษภาคมเพิ่งอยู่ในช่วงน้ำนม ไม่รู้ว่าปีนี้ผลผลิตจะเป็นอย่างไร จะแย่กว่าปีที่แล้วที่ได้แค่ 2 ขีด/ไร่ ไหม?  และหากน้ำไม่ลดลงจนแห้งกลางเดือนมกราคม ชาวนาที่นี่คงได้เกี่ยวข้าวกลางน้ำกันอีกรอบหรือเปล่า?  ข่าวเรื่องน้ำท่วม โครงการแก้มลิง  ลานิญา ปัญหา กส.ยึดเงินชาวนาลูกหนี้ในโครงการจำนำข้าว และชาวนาสุพรรณกับชาวนาอยุธยาจะปิดถนนประท้วงเรื่องเงินชดเชยน้ำท่วมเมื่อวานนี้ที่ ถนนสาย 340 ช่วง อ.สาลี จะมีอิทธิพลต่อแผนการขยายพื้นที่นาปรังปี 55 อีกกว่า 100 ไร่ ในทุ่งแห่งนี้ที่ฉันรับรู้มาเมื่อช่วงตอนน้ำขึ้นขั้นพีคหรือเปล่าหนอ? ดงดอกผักบุ้งที่อยู่ในช่วงอุ้มลูกอุ้มดอกบานล้อลมแข่งกับดอกพงพลิ้วสวยไม่มีคำตอบให้ แต่แดดแรงๆ และลมเย็นกรรโชกทำให้ฉันเย็นใจ ผักบุ้งรอดมาช่วงฤดูกาลการจ้างฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าในเดือนสิงหาคมมาได้ฉันใด ชีวิตคนปลูกข้าวก็คงอยู่ในครรลองเดียวกันกับเหล่าสิ่งชีวิตในทุ่งแห่งนี้ฉันนั้น อา... หรือว่ายาที่อัพมาเมื่อกี้มันหมดฤทธิ์อีกแล้ว ฉันถึงกลับมานึกว่าตัวเองเป็นกุ้งฝอยอีกครั้งเมื่อนึกว่าต้องกลับมาปั่นต้นฉบับ กุ้งฝอยสด 2 ขีด 25 บาท ถูกใส่กระชอนล้างน้ำที่ไหลจากก๊อกอย่างเหม่อๆ  แม้เลยกำหนดส่งต้นฉบับไป 1 วัน ฉันยังเย็นใจได้กับการนั่งตัดกรีกุ้ง และเฉือนเอาส่วนขี้ที่อยู่ในหัวออกไปทีละตัว ทีละตัว จนครบทุกตัวแล้วจับใส่กระชอนล้างน้ำอีกรอบ ตอกไข่ 2 ใบใส่ชาม ฝานมะนาว 1 ซีกลงชามนั้น จนสะดุ้งเฮือก ... มือที่พลาดไปถูกไอกรดกำจัดเชื้อราหลังทำความสะอาดบ้านที่บางบัวทองเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทำเอาฉันตื่นขึ้นมาอีกครั้งจากฤทธิ์ยาที่เพิ่งอัพเข้าไปใหม่ ฉันพยายามตื่นฝืนฤทธิ์ยา  ตั้งใจตีไข่ในชาม  แล้ว ใส่หอมแดงซอย กุ้งฝอย 2 – 3 ช้อน และน้ำปลา  แล้วตั้งกระทะใส่น้ำมัน เจียวไข่ กุ้งฝอยหัวขาดที่เหลือ 3 ใน 5 ส่วน จากที่เตรียมไว้ เอามาผัดกับเครื่องปรุง คล้ายๆ กับเมนูที่คนใต้ใช้ผัดสะตอกับน้ำพริกก้นถ้วย แต่หลายวันมานี่ฉันกินแต่น้ำพริกแมงดากับปลาช่อนย่าง เลยต้องเตรียม กระเทียมบุบ-สับ 1 หัว พริกขี้หนูสวนบุบ 4- 5 เม็ด  กะปิดี 1 ช้อนชาละลายน้ำและใส่น้ำตาลทรายสัก 1 ช้อนชา ใบมะกรูด 2 ใบ หั่นเส้น  ถั่วพู 2 ฝัก   และมะนาวอีก 2 ชิ้นที่เหลือจากเจียวไข่ ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันจนน้ำมันร้อน ใส่กระเทียมบุบลงไปผัดจนเหลืองหอม ใส่กุ้งฝอยหัวขาดผัดจนแดงระเรื่อแล้วใส่น้ำละลายกะปิกับน้ำตาลทราย  ผัดต่ออีกนิดจะยกลงใส่ถั่วพูหั่นแฉลบและพริกขี้หนูบุบ  ปิดเตา ตักใส่จาน ... ว้า! น้ำแห้งไปหน่อย มีแต่เนื้อๆ ถ่ายรูปจัดฉาก ชิม และเตรียมส่งงาน  แต่ไม่วายแว้บ... ดู FB อีกที เม้นท์ตอบ พรรคเพื่อนในแคมเปญฝ่ามืออากง...  ฮากับการไล่ไปอยู่ตปท.ของท่านแม่ทัพ  ฯ นาทีนี้ฉันก็นึกว่าตัวเองย้ายไปอยู่ที่เกาหลีเหนือเป็นวูบๆ ตามแรงของยาที่อัพเข้าไป ... มั้ง   ...เพลินกะจะโม้ถึงรสอร่อยที่เพิ่งกินให้เพื่อนฟัง ใบหน้าใจดีของหัวหน้ากองบก.ฉลาดซื้อก็ลอยเข้าไปได้ก็รีบละมาก่อน เฮ่อ!... นี่ฉันจะต้องผวานึกว่าเป็นกุ้งที่กินไปเมื่อกี้อีกกี่ครั้ง กว่าจะหมดฤทธิ์ยา  สวัสดีปี2555

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 ข้าวคลุกกะปิรวมมิตร

เรื่องเรียงเคียงจานนก อยู่วนา วันหยุดเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ฉันหลบร้อนจากเรื่องราวที่ผ่านตาในหน้าคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ไปอยู่ในสวน เพาะถั่วมะแฮะ ถั่วแปบ ถั่วดาบ ที่เก็บมาจากยโสธร ถั่วพูจากฝักแก่ที่พันเลื้อยต้นมะม่วงในบ้าน และถั่วพุ่มที่เก็บมาจากตลาดสดของชาวบ้านระหว่างทางไปสามพันโบก จ.อุบลฯ พอปลายเดือนเมษายน ต้นถั่วแปบและถั่วดาบก็มีอันเป็นไปเพราะหอยหากอัฟริกันที่แฝงฝังอยู่ในสวนออกมาพาเหรดกันช่วงที่ฉันไม่อยู่บ้านหลายวัน ดีที่ยังมีกล้ามะแฮะที่ฉันแยกเอาไปปลูกลงดินข้างรั้วบ้าน กับถั่วพูที่นอกจากเอาไปลงข้างค้างที่เพิ่งทำขึ้นใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้รกเลื้อยไต่ไปบนต้นไม้ใหญ่จนลำบากต่อการเก็บมากิน ยังเหลือเอาไปปันให้พี่ฉัตร แม่ค้าก๋วยจั๊บในหมู่บ้านซึ่งแม้ตัวเองจะบอกว่าไม่ค่อยมีที่จะปลูกก็ยังพยายามปลูกพืชผักสวนครัวแซมแทรกที่หน้ารั้วบ้านของตัวเองด้วยใจรัก ส่วนถั่วพุ่ม ฉันนำกล้าทั้ง 3 ต้นปลูกลงในลอง ซึ่งเป็นท่อซีเมนต์ขนาดใหญ่กว้างเกือบเมตรที่ปกติเขาเอาไว้ทำบ่อพักส้วม ลองซื้อมาหนึ่งอันตกราคาแค่ 80 – 85 บาท นับว่าถูกกว่ากระถางดินขนาดใหญ่หลายเท่าทีเดียวแม้กล้าผักต่างๆ ทั้งใบบัวบก ผักชี ผักชีฝรั่ง ผักคะน้า ผักกาดเขียว กวางตุ้ง ผักกาดฮ่องเต้ และอีกสารพัดชนิดที่ว่านลงดิน ล้วนมีชะตากรรมเดียวกับถั่วแปบและถั่วดาบทั้งสิ้น ซึ่งในการลงมือ “เก็บ” เหล่าเจ้าหอยทากตัวแสบ(มารคอหอยตัวจริง)แทบทุกครั้งเพื่อเอาไปปล่อยนอกบ้าน ฉันจะข่มขู่มันว่าจะเอาไปต้มยำทำแกงเป็นเมนูในคอลัมน์นี้สักครั้งมันก็ยังไม่เข็ด ยังคงพากันแห่แหนเข้ามาเพราะที่สวนของฉันมันทั้งร่มชื้นและมีต้นไม้ เศษซากใบไม้ไว้ให้กินได้อย่างอิ่มหมีพีมัน วิธีกินหอยทากชนิดนี้ ถ้าจะกินให้ดีต้องเอาไปต้ม นึ่งหรือย่างให้สุกดีเสียก่อนแล้วปรุงเป็นอาหารต่างๆ อร่อยไม่แพ้หอยจุ๊บ หรือหอยหวาน แต่แค่เห็นหน้าเห็นหนวดมันแล้ว ออกจะดูน่ารักน่าสงสารแม้จะสร้างความรำคาญและเสียหายให้กันอยู่บ้าง ก็ได้แต่ปลงใจว่ามันทำให้ฉันต้องพยายามค้นหาผักยืนต้นอื่นๆ ที่มันไม่พิสมัยต่อไป พอก่อนจะเข้าพรรษา ต้นถั่วพุ่มก็งามสมบูรณ์ ออกดอกออกฝักให้ได้เห็นชื่นตา ฝักแรกของต้น ฉันปล่อยให้มันแก่แห้งคาต้นไว้ เพื่อเก็บเมล็ดไว้ปลูกครั้งต่อไป ตอนเก็บฝักแดงๆ มากินยังนึกแปลกใจว่าเป็นเพราะพันธุ์ที่ได้มามีแต่ถั่วพุ่มสีแดง หรือว่าถั่วพุ่มสีเขียว ถั่วพุ่มลายที่ปะปนมากันในถุงเมล็ดที่วางขายจะถูกเจ้าหอยทากกินหมด ซึ่งถ้าจะให้รู้คำตอบได้แน่คงต้องลองหาเมล็ดถั่วพุ่มสีอื่นๆ มาทดลองเพาะซ้ำร่วมกับถั่วพุ่มแดงอีกหน แล้วฉันก็หายจากบ้านไป 5 – 6 วัน อีก2 ครั้ง ดีแต่ว่าที่ที่ฉันไม่อยู่มีเทวดาคอยดูแลต้นไม้ในสวนไว้อย่างต่อเนื่อง กลับมาบ้านเที่ยวนี้จึงเห็นสุมทุมพุ่มไม้ในสวนเขียวงามสดสะพรั่ง และดั่งเช่นเคย เจ้าหอยทากก็ออกมาร่าเริงเลยกันเป็นหมู่คณะ ฉันเห็นฝักถั่วพุ่มแดงไสวก็ได้แต่บอกว่าช่างมันเถอะ ถือว่าแบ่งกันกิน แล้วก็เก็บมันไปทิ้งเหมือนเดิม เดินทางหลายวันแบบนี้ ได้ลงมือทำอาหารกินเองสักที ค่อยชื่นใจ มีข้าวเย็นเป็นข้าวหอมมะลิหุงปนกับข้าวกล้องบรือปรุ๊ หรือข้าวหม่นของปกากะญอที่เชียงใหม่ กับยอดของใบชะมวงที่พี่ฝนเอามาให้จากบ้านสิงห์บุรี และกะปิดีของชาวบ้านที่ทำนาอินทรีย์ ต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรีติดก้นครัว เมนูวันนี้คงจะเป็นข้าวคลุกกะปิ ฝักถั่วพุ่มที่พองแล้วฉันแกะเอาแต่เมล็ดออกมา เนื้อเมล็ดที่สดยังหวาน มัน ส่วนเปลือกนั้นออกจะเหนียวเกินอร่อย ทดลองกินฝักที่สดกำลังกิน เนื้อจะเหนียวกว่าและหวานน้อยกว่าถั่วฝักยาวนิดหน่อย ฉันเอามาซอยบางๆ ไว้ แล้วเอาใบชะมวงมาซอยหยาบๆ แทนมะม่วงซอย ซอยหอมแดงอินทรีย์จากสุรินทร์ วางข้างพริกที่เก็บมากินจากในสวน แล้วลงมือเจียวไข่ไก่ เป็นไข่จากไก่แจ้ที่ฉันเก็บมาจากบ้านแม่ที่อยุธยา แล้วซอยเป็นเส้นหยาบๆ รอไว้ แกะกระเทียมอินทรีย์สุรินทร์แล้วตี สับกระเทียมเจียวให้หอม ตักกะปิเกือบๆ ช้อนแกงลงไปผัดบนไฟอ่อนๆ ให้หอมดีแล้วเอาข้าวที่ยีเป็นเม็ดลงไปผัดสักครู่แล้วตักขึ้น ฉันเลิกกินหมูมาตั้งแต่เมื่อต้นปี ดีที่ในตู้เย็นยังมีกุ้งแห้งทั้งป่นแล้ว และกุ้งเป็นตัว กับหอยหวานที่ได้มาจากดอนหอยหลอดเมื่อกลางมิถุนายน (คราวหน้าไม่แน่อาจเป็นเจ้าหอยทากตัวแสบ ฮา) ฉันเลือกหยิบมาแต่หอยหวาน จำได้ว่าตอนเลือกซื้อหอยหวานที่ไม่คลุกน้ำตาลนี่ฉันเดินหาอยู่พักใหญ่ หลายร้านกว่าจะได้ เพราะแผงร้านขายอาหารทะเลที่ดอนหอยหลอดส่วนใหญ่จะมีขายชนิดที่ผสมมาเสร็จ “เอากลับไปทำแล้วมันหวานเลยไม่ต้องปรุง” เป็นคำอธิบายของแม่ค้า จนสุดท้ายตอนที่ฉันได้มาเป็นเพราะแม่ค้าด้วยกันเองช่วยถามเพื่อนข้างร้านที่เขามีหอยหวานที่ไม่ปรุงเก็บไว้นั่นแหละ ไม่งั้นอดกินแน่เลยเชียว เทหอยหวานใส่ลงชามแล้วล้าง 2 – 3 ครั้ง ตั้งทิ้งให้สะเด็ดน้ำ แล้วเอาไปทอดในน้ำมันแบบขลุกขลิก ไฟไม่แรงมากเพราะกลัวไหม้ หมั่นใช้ตะหลิวคนเอาไว้ พอสุกเหลืองหอมทั่วทุกตัวดีแล้วตักใส่ถ้วย เอาน้ำผึ้งโตนดราดสัก 1 ช้อนโต๊ะแล้วคลุกให้เข้ากันดี แค่นี้ทุกอย่างก็พร้อมแล้วสำหรับมื้อเช้าเย็นชื้นฝนที่พรมลงมาแต่เมื่อคืน น้ำผึ้งโตนด (หรือคนที่เอามาให้จากคาบสมุทรสทิงพระ สงขลาเรียกน้ำผึ้งโหนด) เป็นน้ำหวานจากจาวตาลที่ถูกเคี่ยวจนเหนียวมีลักษณะคล้ายน้ำผึ้ง คนแถวนั้นคุ้นเคยกับมันดีเพราะมีตาลโตนดปลูกเรียงรายอยู่มากไม่น้อยกว่าที่เพชรบุรีเลยทีเดียว วิธีใช้น้ำผึ้งโหนดของพวกเขามีตั้งแต่เอามาผสมน้ำจิ้มสารพัดชนิด ทำอาจาด ใส่ขนมหวานน้ำแข็งไสเป็นน้ำเชื่อม เชื่อมขนม ตอนที่อ้นยกขวดน้ำผึ้งโหนดให้ฉัน 4 ขวด เธอกังวลว่าขวดจะหนักและต้องแบกขนกัน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการผลิตสินค้าส่งออกขาย แต่ฉันว่าไม่ได้ลำบากอะไรแค่ใส่ไว้ท้ายรถ แล้วพอมาถึงก็แบ่งๆ กับเพื่อนๆ ไปทดลองทำอาหารกินกันดู รสมันหวานและหอมดีแท้ๆ ถ้าจะทำน้ำปลาหวานแบบที่กินกับมะม่วง หรือที่กินกับปลาดุกเผาสะเดาลวก ก็แสนจะสะดวก ไม่ต้องเอาน้ำตาลโตนดที่เป็นปึกเป็นแว่นมาเคี่ยวไฟละลายให้เหนียว แถมยังลดความเสี่ยงจากการใช้น้ำตาลโตนดปึกซึ่งถ้าไม่รู้แหล่งและดูไม่ออก อาจจะได้น้ำตาลโตนด(แว่น) ที่ปนดีน้ำตาลที่เขามาใส่ตอนเคี่ยวให้มันแห้งไฟและจับเป็นก้อน ข้าวคลุกกะปิจานนี้เลยเป็นเมนูรวมมิตรจากผลผลิตทั่วสารทิศตั้งแต่ภูเขาสูงเหนือจรดดินแดน 3 น้ำ ของสงขลาไป อร่อยแบบข้าวคลุกกะปิ แต่แปลกออกไปไม่เหมือนใครดี ซึ่งแบบนี้คุณเองก็ลองแปลงเองได้ ง่ายๆ จริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 170 สีใน “กะปิ”

“กะปิ” ถือเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารทีแทบทุกบ้านจะต้องมีติดครัวเอาไว้ เพราะหลากหลายเมนูอาหารไทย ล้วนแล้วแต่ต้องเพิ่งพาความอร่อยจากรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของกะปิ ด้วยว่าประเทศไทยเรามีพื้นที่หลายส่วนที่ติดกับทะเล เมื่อบวกเข้ากับภูมิปัญญาแบบชาวบ้านของคนรุ่นปู่รุ่นย่า ที่นำเอาสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ อย่าง “เคย” นำมาหมักรวมเข้ากับเกลือ ตากแดดทิ้งไว้จนเนื้อเคยและเกลือทำปฏิกิริยาเข้าด้วยกัน ได้เป็นกะปิของดีของอร่อย เป็นเครื่องปรุงหลักทั้งในน้ำพริกและเครื่องแกงต่างๆ แม้ขั้นตอนการทำกะปิดูเหมือนจะไม่ซับซ้อนและใช้เพียงแสงแดดจากดวงอาทิตย์บวกกับกำลังคนคอยหมั่นพลิกเนื้อกะปิให้สัมผัสแดดโดยทั่วถึงกัน แต่ที่ผ่านมาเราก็ยังได้ยินข่าวเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมในกะปิที่วางขายตามท้องตลาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการใส่ “สี” ซึ่งกฎหมายควบคุมชัดเจนว่า “ห้ามใส่สี” ในกะปิ ซึ่งสีสังเคราะห์ที่ใช้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนกิน ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงของอาสาสุ่มตรวจตัวอย่างกะปิจากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตในกทม. เพื่อดูว่ากะปิที่เรากินกันอยู่นั้น ปลอดภัยจากสีผสมอาหารมากน้อยแค่ไหน       **** Update (17 ธันวาคม 2558) กะปิระยอง  มีข้อชี้แจงมาด้านล่างครับ          ผลทดสอบ -พบตัวอย่างกะปิที่ใส่สีสังเคราะห์จำนวน 5 ตัวอย่าง ประกอบด้วย 1.กะปิดี ร้านเจ๊ติ่ง ตลาดสี่มุมเมือง พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 47.84 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./ กก.), 2.กะปิตัวอย่างจากตลาดคลองเตย พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 18.84 มก./ กก., 3.กะปิระยอง ตราเรือใบ จาก ท๊อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 6.04 มก./ กก., 4.กะปิร้านน้อยกุ้งแห้ง ตลาดโชคชัย 4 พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 4.55 มก./ กก. และ 5.กะปิกุ้งใหญ่ชุมพร ตลาดห้วยขวาง พบสี Erythrosine E127 ปริมาณน้อยกว่า 1 มก./กก. -สี Erythrosine E127 หรือ เออร์โธรซีน เป็นสีสังเคราะห์กลุ่มสีแดง เป็นชนิดของสีที่พบในทุกตัวอย่างกะปิที่มีการพบการใส่สี -กะปิ ถือเป็นอาหารที่ห้ามมีการใส่สีทุกชนิด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ซึงกำหนดเกณฑ์ตามมาตรฐานของโคเด็กซ์ หรือมาตรฐานอาหารสากล หรือตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเคยประกาศไว้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 66 (พ.ศ.2525) เรื่องการใช้สีผสมอาหาร -การใส่สีลงไปในกะปิก็เพื่อให้กะปิมีสีที่ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น แต่สีสังเคราะห์ที่ใส่ลงไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะมีปริมาณไม่มากแต่ก็อาจสะสมส่งผลเสียในระยะยาว ทางที่ดีควรเลือกรับประทานกะปิที่ไม่ใส่สีใดๆ จะดีที่สุด   คำแนะนำในการเลือกซื้อกะปิ -สีของกะปิต้องเป็นที่ดูเป็นธรรมชาติ เช่น สีชมพู สีแดงออกม่วง ไม่ออกคล่ำและดูสีสดเกินไป -เนื้อของกะปิต้องละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน มีความสม่ำเสมอ เหนียว ไม่แห้งหรือเปียกเกินไป -มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติของกะปิ ไม่มีกลิ่นคาวปลา หรือกลิ่นฉุนคล้ายสารเคมี ไม่เหม็นอับ -รสชาติเค็มพอดี ไม่มีรสขม -ไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น แป้ง กรวด ทราย ฯลฯ ไม่มีเม็ดเกลือเป็นก้อนๆ -บรรจุในภาชนะที่สะอาด แห้ง และปิดไว้สนิท   สีในกะปิ...ก่อนหน้านี้ก็เคยมีมาแล้ว เมื่อปี 2555 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ตรัง ได้ทำการสุ่มตรวจตัวอย่างกะปิที่ผลิตใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล  จำนวน 86 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสี ผลที่ได้พบว่า 52.3% ของตัวอย่างกะปิมีการใส่สีสังเคราะห์ โดยชนิดของสีที่พบมีดังนี้ สีโรดามีน 50%, สีซันเซ็ต เย็ลโลว์ เอ็ฟซีเอ็ฟ 9.3%,  สีเอโซรูบีน 9.3%,  และสีปองโซ 4 อาร์  1.1% นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ก็เคยตรวจวิเคราะห์หาเชื้อจุลินทรีย์ในตัวอย่างกะปิ พบว่ามีเชื้อจุลินทรีย์สาเหตุโรคอาหารเป็นพิษหลายชนิด โดยเฉพาะกะปิที่เก็บเอาไว้นาน เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ กะปิควรทำให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน       ....ผู้ผลิตและจำหน่ายกะปิระยอง ตราเรือใบ ขอเรียนชี้แจงและยืนยันว่า บริษัทฯ มีกรรมวิธีการผลิตกะปิที่ได้มาตรฐาน GMP ไม่มีการใส่สีและไม่มีสารกันบูด แต่เมื่อทางฉลาดซื้อพบว่ามีการปนเปื้อนของสีในรุ่นการผลิตที่เก็บตัวอย่าง เดือนเมษายน ทางบริษัทจึงได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ในรุ่นการผลิตอื่นๆ และปัจจุบันไม่พบว่า มีการปนเปื้อนของสีในผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค จึงเรียนมาเพื่อทราบ...ฉลาดซื้อขอขอบคุณที่บริษัทฯ ใส่ใจและเข้มงวดในเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน เนื่องจากปริมาณสีที่พบในรุ่นการผลิตที่ฉลาดซื้อทดสอบมีปริมาณน้อย จึงอาจเป็นไปได้ว่า มีการปนเปื้อนมาในส่วนของวัตถุดิบ ซึ่งทางบริษัทคงได้เข้มงวดในจุดนี้มากขึ้นจึงไม่พบการปนเปื้อนของสีซ้ำ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ที่บริษัทฯ เห็นความสำคัญของงานคุ้มครองผุ้บริโภค   

อ่านเพิ่มเติม >