ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง

        ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง         จากกรณีองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ (PETA) ออกมาให้ข้อมูลและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ถอดผลิตภัณฑ์ที่มาจากมะพร้าวของประเทศไทยออกจากชั้นวางจำหน่าย โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการผลิตมีการทารุณกรรมสัตว์ ด้วยการใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว” ซึ่งเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ได้รับทราบจากที่ประชุม “ความร่วมมือในการแก้ปัญหามะพร้าวและกะทิ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพราะได้มีการอภิปรายและนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมะพร้าวและกะทิ อย่างกว้างขวาง          ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” ขอหยิบยกบางช่วงบางตอนของเวทีดังกล่าวมานำเสนอให้ผู้อ่านรับทราบและพิจารณาไปด้วยกัน แน่นอนว่าปัญหาเกี่ยวกับมะพร้าวของไทยนั้นยังมีอีกมาก นอกเหนือไปจากกรณีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพียงอย่างเดียว โดยขอแยกเป็นประเด็นๆ คือ         ปัญหาลิงเก็บมะพร้าว         เรื่องนี้ “ตัวแทนผู้ประกอบการ” ระบุว่า ทางยุโรปมองว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมานสัตว์ แม้ว่าทางผู้ผลิตจะพยายามส่งหนังสือชี้แจงว่า นี่คือวัฒนธรรม และที่สำคัญลิงเหล่านี้ได้รับการดูแลเสมือนสมาชิกในครอบครัว  อีกทั้งมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บจะจำหน่ายเฉพาะในประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีการส่งออก แต่ทางยุโรปยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และนำมาสู่การเคลื่อนไหวถอดกะทิกล่องออกจากชั้นวางจำหน่ายในประเทศอังกฤษ         ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ และนายพรชัย เขียวขำ เกษตรกรจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2550-2555  ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด 1.5 ล้านไร่ แต่ก็พบว่าลดเหลือ 1.3 ล้านไร่ ในปี 2557-2562 ต่อมาเมื่อกลางปี 2562 พบว่าเหลือพื้นที่ปลูกมะพร้าว 1.2 ล้านไร่ ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งว่าในปี 2563พื้นที่ปลูกมะพร้าวเหลือเพียง 7.6 แสนไร่ เท่ากับว่าลดลงไป 40% ภายในปีเดียว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการสำรวจผิดพลาดหรือไม่          คุณจินตนา แก้วขาว ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่จริงพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวไม่ได้ลดลง แต่วิธีการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยจะให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำเอกสารไปให้เกษตรกรกรอกข้อมูล แต่บางครั้งเกษตรกรอกข้อมูลไม่เป็น ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเซ็นชื่อและทำแบบประเมินนั้นเอง ทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง สาเหตุที่พบพื้นที่ลดลงเพราะ 1.มีการครอบครองสวนบนที่ดินที่ไม่ถูกต้อง เช่น ที่ สปก. จึงไม่กรอกตามจริง 2.ไม่ยอมแจ้งเพราะครอบครองเยอะ 3. ไม่แจ้งเพราะกลัวเสียภาษี เป็นต้น ดังนั้นจึงคิดว่า สศก.ต้องทำประเด็นนี้ให้ชัดเจน ตรงกัน           ต้นทุนการปลูกมะพร้าวของเกษตรกรคือ 5 บาท หรือ 8 บาท         คุณนุกูล ลูกอินทร์ ตัวแทนเกษตรกรแปลงใหญ่อำเภอทับสะแก ระบุว่าตามหลักของ สศก. เมื่อปี 2562 ได้จัดทำต้นทุนมะพร้าวอยู่ที่ 6.80 บาท บวกเพิ่มอีก 2 บาท รวมเป็น 8-9 บาท พร้อมตั้งคำถามว่ากำไร 20% ของต้นทุน ช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าหากมีพื้นที่ปลูกเยอะอาจจะอยู่ได้ แต่เกษตรกรที่ปลูกเพียง 10-50 ไร่ อาจจะลำบาก เพราะในทางปฏิบัติ เกษตรกรจะขายมะพร้าวประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ถ้าคิดอัตราขายที่ 20 % จากต้นทุนเดือนละครั้งเท่ากับว่ามีรายได้น้อยมาก ยกตัวอย่างมะพร้าว 1 ลูก ต้นทุน 8 บาท ขายได้ 10 บาท กำไร 2 บาท ถ้าขายมะพร้าว 1,000 ลูก ก็ได้กำไรแค่ 2,000 บาทต่อเดือน         เพราะฉะนั้นจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าถ้าโรงงานซื้อมะพร้าวขาวประกันราคาต่ำสุดไม่ต่ำกว่า 12 บาทต่อลูก ประมาณ 2 ลูกต่อ 1 กิโลกรัม โรงงานต้องรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 24 บาท แต่ปัญหาในปัจจุบันคือองค์กรของรัฐไม่สามารถเชื่อมหรือบริหารจัดการนำเข้าและของที่มีอยู่ในประเทศเพื่อให้ทั้งหมดอยู่ในราคา 12-15 บาททั้งนี้ ตามที่สศก.ระบุว่าบวกเพิ่มต้นทุน 20% แต่ถ้ากำหนดต้นทุนราคาอยู่ที่ 5 บาท เกษตรกรอยู่ไม่ได้ เพราะแต่ละที่มีต้นทุนแรกต่างกัน เช่น มะพร้าวทับสะแกมีต้นทุน 9 บาท แพงกว่าบางสะพานที่มีต้นทุน 7 บาท เมื่อคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัด จะอยู่ที่ 5 บาท ซึ่งตัวเลขนี้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ราคาที่อยู่ได้ควรเป็น 7 บาท ดังนั้นการคิดราคาต้นทุนจะใช้วิธีคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัดไม่ได้         ปัญหาการผูกขาดการรับซื้อมะพร้าวโดยพ่อค้าคนกลาง         คุณนุกูล ยังบอกอีกว่า จากการหารือกันของกลุ่มเกษตรกรยุคใหม่ ยังมีความกังวลว่ามะพร้าวคุณภาพที่ผลิตออกมานั้นจะนำไปขายให้ใครได้บ้าง จะมีโอกาสขายตรงกับโรงงานโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือ “อรหันต์” ได้หรือไม่ เพราะถูกกดราคา หรือการขายให้ “ล้ง” ก็ทำให้เกิดการเหลื่อมราคาตลาด ดังนั้นจึงจะมีทางใดหรือไม่ที่เกษตรกรจะขายมะพร้าวให้โรงงานได้โดยตรง และโรงงานสามารถประกาศราคาหน้าโรงงานให้ทราบได้หรือไม่         “ยืนยันว่ากลุ่มเกษตรกรที่ต่อสู้เรื่องราคามะพร้าว ยืนยันไม่ได้สู้เพื่อผลประโยชน์ของราคา เพราะหากราคาสูงเราก็หยุด เราต้องการสู้ว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดการแก้ไขในทุกมิติ หาทางออกร่วมกัน โรงงานกะทิก็อยู่ได้ เกษตรกรก็อยู่ได้”         ปัญหาการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ         ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันวิจัยโภชนาการ ระบุว่า จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตมะพร้าวประมาณ 9 แสนตัน ในขณะที่ความต้องการของตลาดอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน เท่ากับว่ายังขาดอยู่ประมาณ 2 แสนตัน แต่จากข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ทำให้ไม่เชื่อมั่นในตัวเลขของภาครัฐ เช่น ชี้แจงตัวเลขนำเข้าน้ำกะทิแช่แข็งว่า ปี 2560 นำเข้า 53 ล้านลิตร และปี 2561 นำเข้า 49 ล้านลิตร         อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่ามะพร้าวที่นำเข้าจากอินโดนีเซียนั้นมีลักษณะข้น ไม่มีไขมัน เมื่อทำเป็นกะทิแล้วถูกตำหนิว่ามีการเติมแป้งลงไปเยอะ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการเติมแป้งแต่อย่างใด  ส่วนที่มีการนำเข้ากะทิสำเร็จรูปจากประเทศเวียดนาม ในรูปแบบของกะทิพาสเจอร์ไรซ์ ก็พบว่าคุณภาพไม่ผ่านตามมาตรฐาน         “มะพร้าวทับสะแก ทำเป็นกะทิดีที่สุดในแง่ของคุณภาพ ความหอม มัน จึงเป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตกะทิ ไม่มีใครอยากได้มะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะควบคุมคุณภาพยาก เสี่ยงเจอปัญหาแมลงหนอนหัวดำ ซึ่งคาดว่ามาจากเวียดนาม”          “กะทิ 100 % คือ กะทิที่มีไขมัน 17 %”         ศ.ดร.วิสิฐ ย้ำว่า ปัจจุบันกะทิกล่องที่จำหน่ายในประเทศไทยจะมีฉลากระบุ “กะทิ 100 %” ส่วนที่ส่งออกนั้นไม่ได้ระบุข้อความดังกล่าว มีเพียงคำว่า “Coconut Extract” คือการสกัดโดยที่ไม่เติมน้ำ และมีการเติมน้ำภายหลัง         ทั้งนี้การผลิตกะทิไทยจะอิงตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ที่กำหนดว่า กะทิ (Coconut Milk) ต้องมีไขมัน 10-17 % ซึ่งผู้ผลิตควบคุมมาตรฐานไขมันอยู่ที่ 17% ดังนั้นจึงสามารถระบุในฉลากได้ว่าเป็น กะทิ 100% ส่วนหัวกะทิ (Coconut Cream) ต้องมีไขมันไม่น้อยกว่า 20% อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปถ้าเขียนว่ากะทิ 100% คือมีไขมัน 17% นั้น แต่ถ้าเอามาคั้นดิบๆ โดยที่ไม่เติมน้ำจะมีไขมันประมาณ 32% บริษัทก็ใช้เป็นตัวคำนวณ และเป็นวิธีการที่เขียนบนฉลากในการส่งออก         อย่างไรก็ตาม การผลิตกะทิมีหลายสูตร มีทั้งเติม และไม่เติมอะไรลงไปเพิ่ม เช่น เติมน้ำมันมะพร้าวอาจจะมีปัญหาความไม่อร่อย หรือเติมอย่างอื่น เมื่อนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงจะทำให้กะทิมีลักษณะเหมือนเต้าหู้ หรือการเติมสารเพื่อให้กะทิเนื้อเนียน เมื่อนำไปทำกับข้าวกะทิจะไม่แยกชั้น เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายแล้วหากผสมอะไรลงไป ต้องระบุในฉลากด้วย หากไม่ได้ระบุไว้ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เช่น กะทิ UHT หากไม่ได้เติมสารอะไรลงไปเมื่อใส่ไว้ในตู้แช่แข็งกะทิจะแยกชั้นเป็นก้อน หากมีการเติมสารลงไปกะทิจะมีเนื้อเนียนเช่นเดิม อย่างไรก็ตามกะทิที่ส่งต่างประเทศโดยเฉพาะเมืองหนาวจะมีการเติมสารเพื่อให้กะทิคงสภาพเนื้อเนียนไม่แยกชั้น          โจทย์ในอนาคตของกะทิ          ศ.ดร. วิสิฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาด “กะทิ” มีการแข่งขันรุนแรงขึ้น จึงมีการกำหนดข้อห้ามตามมาเยอะ เช่น ในยุโรปกำหนดห้ามใช้คลอรีน เพราะมีสารไนคลอเรทที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้นหากมะพร้าวไทยยังมีการแช่คลอรีน หรือแช่น้ำแข็งในมะพร้าวขาว อาจจะเจอปัญหานี้ได้อีกในอนาคต         มีการวิจัยที่โรงงานว่า ถ้าทิ้งมะพร้าวไว้ให้แห้ง 8 ชั่วโมง โดยไม่แช่น้ำเลยก่อนนำมาคั้น จะทำให้ได้กะทิคุณภาพดีมาก ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันได้และมีระบบบริหารจัดการความสะอาดโดยที่ไม่ต้องแช่น้ำ เวลาส่งก็ไม่ต้องแช่น้ำแข็ง น่าจะช่วยเพิ่มราคามะพร้าวให้มากขึ้นตามคุณภาพ เพราะต้องยอมรับว่าการแช่น้ำทำให้น้ำหนักมะพร้าวมากขึ้น          กะทิกับคลอเรสเตอรอล         นอกจากนี้ “ศ.ดร.วิสิฐ” ยังให้ข้อมูลด้านโภชนาการด้วยว่า มีการศึกษาวิจัยให้คนกินกะทิ คือ กินไขมันจากมะพร้าวติดต่อกัน 6 เดือน เทียบกับการกินน้ำมันถั่วเหลืองในระยะเวลาเท่ากัน พบว่ามีปริมาณคอเรสเตอรอลเท่ากัน  ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามเสนอต่อองค์การอนามัยโลกว่าในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องไขมันอิ่มตัวไม่ควรรวมไขมันจากมะพร้าวเข้าไปด้วย แต่ทางองค์การอนามัยโลกยังปฏิเสธไม่ให้เข้าพบเพื่อส่งรายงานดังกล่าว ดังนั้นขณะนี้ จึงมีความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่าการกินอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบไม่ได้มีผลต่อระดับคอเรสเตอรอลแต่อย่างใด        ด้าน ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ อาจารย์สถาบันวิจัยโภชนาการ ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ ระบุว่าไขมันเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม           ขณะที่ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า มีคนจำนวนมากถูกห้ามไม่ให้กินกะทิ และมีความเชื่อว่ากะทิทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกะทิถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวเป็นตัวที่ไปเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เมื่อวิเคราะห์ลงลึก บวกกับงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวที่อาจปัญหานั้นเกิดขึ้นเฉพาะเนื้อแดง คือ เนื้อหมู เนื้อวัว และไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการกินน้ำมันมะพร้าวทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามอาจจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ         คณะกรรมการพืชน้ำมัน         อาจารย์ปานเทพ กล่าวถึงประเด็นคณะกรรมการพืชน้ำมันว่าทำอย่างไรให้มีตัวแทนเกษตรกรซึ่งเป็นคนที่รู้ปัญหาจริงๆ เข้าไปร่วมเป็นกรรมการ เพื่อจะได้เสนอปัญหาของเกษตรกร ที่ผ่านมา “ตัวแทนเกษตรกร” นั้นเป็นตัวแทนของนักการเมือง หรือ ตัวแทนโรงกะทิ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ไม่พูดคุย ไม่มีการนำเสนอประเด็นปัญหาของเกษตรกรเพื่อการแก้ไขอย่างถูกจุด         “เราต่อสู้เรื่องหนอนหัวดำ เจาะต้น ฉีดยา เรามีมติของกลุ่มคนในกลุ่มของเราที่ไปเรียกร้อง ห้ามไปรับจ้างเจาะ ห้ามรับจ้างฉีด ทำอย่างไรให้มีการฟังเสียงเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวอย่างเป็นระบบ”         ต่อประเด็นนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี บอกว่าตนไม่เห็นด้วยในการจัดมะพร้าวอยู่ในกลุ่มพืชน้ำมัน เพราะมะพร้าวมีคุณค่ามากกว่านั้น มะพร้าวเป็นวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น และมีผลในเชิงนิเวศน์มาก  ในขณะที่พืชน้ำมันคือพืชที่เอาไปใช้เป็นพลังงานใช้เป็นอาหารผัด ทอด แต่มะพร้าวไม่ใช่ เป็นพืชนิเวศน์เชิงวัฒนธรรมที่มีคุณค่าเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นอนาคตสำหรับประเทศเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และนิเวศน์การท่องเที่ยว มีคุณค่าทางวัฒนธรรม คุณค่ามันคนละเรื่องเลยกับพืชน้ำมันอื่นๆ          ทางออกเกษตรกร         คุณวิฑูรย์ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหลายเรื่องมาจากหน่วยงานของรัฐกับนักการเมือง การกำหนดมาตรฐาน อย่างเรื่อง GI  เรื่องของการตรวจรับรองมาตรฐานล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับบทบาทของหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น ซึ่งบางครั้งการรับรองมาตรฐานของไทยก็ไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งตามมาตรฐานของไทยจะใช้คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” แต่คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” ก็ไม่ถูกยอมรับจากต่างประเทศ ทำให้ส่งออกไม่ได้ ดังนั้นชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์จึงใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กับ IFOAM แต่ก็มีปัญหาเรื่องเงินสนับสนุนที่รัฐจะให้ 1,500 บาทต่อไร่ หรือ 2,000 ต่อไร่ หรือถ้าไม่ใช้ “ออร์แกนิกไทยแลนด์” รัฐก็จะไม่จ่ายค่าตรวจรับรองให้ แต่ถ้าใช้ก็มีเงินให้ แปลงละประมาณ 7,000 – 10,000 กว่าบาท         “หน่วยงานรัฐสามารถทำให้เกิดความวุ่นวายได้ทั้งสิ้น เราต้องจัดการปัญหาเรื่องหน่วยงานของรัฐที่เป็นอุปสรรคให้มาเกื้อกูลเกษตรกรให้ได้ คนของรัฐอยู่ภายใต้นักการเมือง ต้องต่อรองกับนักการเมืองและหน่วยงานราชการไปพร้อมกัน เกษตรกรต้องมีเครือข่ายความร่วมมือเป็นพื้นฐาน ถ้าขาดตรงนี้ไปลำบากทุกเรื่อง”         อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ยังให้ความเห็นในประเด็นนี้ด้วยว่า เราน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าราคาต้นทุนที่รัฐกำหนดในปัจจุบันนั้นไม่สะท้อนความเป็นจริง จะต้องทบทวนใหม่ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องปรับตัว รวมกลุ่มทำเกษตรที่ได้มาตรฐาน และมีตัวแทนเข้าไปร่วมอยู่ในกลไกต่างๆ โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจของใคร ต้องเจรจาสื่อสารระหว่างเกษตรกรกับโรงงานที่รับซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวให้มากขึ้นและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ “มะพร้าวออร์แกนิก” ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ควรมีการรวมกลุ่มกันและค่อยๆ สื่อสารให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมเอง และหากมีการทำการตลาดดีๆ ก็มีโอกาสที่จะขายได้ในราคาที่ดีต่อไป            ทางออกของผู้บริโภค                 ปัจจุบันองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกมีการรณรงค์เรื่องการเป็นผู้บริโภคที่ยั่งยืน โดยรู้แหล่งที่มาของอาหาร ลดการขนส่ง เป็นต้น ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องการให้บริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงฉลากผลิตภัณฑ์ โดยระบุให้ชัดเจนว่า “น้ำกะทิ” หรือ “หัวกะทิ” แทนการระบุว่า “กะทิ 100% Product of Thailand” แต่ยังคงระบุแหล่งที่มาว่าเป็นมะพร้าว เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและมีบทบาทในการสนับสนุนสินค้าที่ทำให้เกิดความมั่นคงและอธิปไตยในการผลิตอาหาร         รวมทั้งการบริโภคที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย การหาช่องทางทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ชัดเจน ผู้ประกอบการจะมีความรับผิดชอบต่อเกษตรกรอย่างไร เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันในอนาคตรวมทั้งผู้บริโภคด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

“ฉลาดซื้อ” เผยผลตรวจ สารกันบูดในกะทิ พร้อมแนะรัฐฯ ออกมาตรฐานกะทิ และแก้ปัญหามะพร้าวราคาถูกอย่างยั่งยืน

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลตรวจ สารกันบูดในกะทิปลอดภัย เตือนผู้บริโภคต้องตกอยู่ในความเสี่ยงหากบริโภคอาหารสะดวกซื้อ พร้อมแนะรัฐฯ ออกมาตรฐานกะทิเพราะเป็นอาหารคู่ครัวไทย และแก้ปัญหามะพร้าวราคาถูกอย่างเป็นระบบและยั่งยืน         จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนจากชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่ากะทิสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดนั้นไม่ใช่กะทิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ดังนั้น ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูป 3 แบบ คือ กะทิยูเอชที, กะทิพาสเจอร์ไรซ์ ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และ กะทิคั้นสด จากตลาดในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเปรียบเทียบปริมาณกรดไขมัน วัตถุกันเสีย (ซอร์บิก, เบนโซอิก) และสารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) รวมทั้งหมด 11 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) กะทิแท้ 100% ชาวเกาะ, 2) กะทิสูตรหัวกะทิ ชาวเกาะ, 3) กะทิแท้ พร้าวหอม, 4) กะทิ 100% อัมพวา, 5) กะทิแท้ 100% รอยไทย, 6) กะทิ 100% เรียลไทย, 7) กะทิ เอโร่, 8) กะทิ 100% หัวกะทิ อร่อย-ดี, 9) ร้านกะทิสด จากตลาดคลองเตย, 10) กะทิพาสเจอร์ไรส์ ชาวเกาะ (บรรจุถุง) และ 11) กะทิสำเร็จรูป (บรรจุถุง) สมุย        ผลการวิเคราะห์แบ่งเป็น กะทิยูเอชที, กะทิพาสเจอร์ไรซ์ และกะทิสด         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ กองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ข้อสังเกตจากผลวิเคราะห์น้ำกะทิ  11 ตัวอย่าง พบว่า          ปริมาณสารกันเสีย (กรดเบนโซอิก : ปริมาณที่อนุญาตให้มีได้ในผลิตภัณฑ์ประเภทอิมัลชั่น 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) มีการตรวจพบใน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) กะทิพาสเจอร์ไรส์ ชาวเกาะ (บรรจุถุง) 776.62 มก./กก., 2) กะทิสำเร็จรูป (บรรจุถุง) สมุย 804.24 มก./กก. 3) กะทิสดจากร้านในตลาดคลองเตย ในปริมาณ325.09 มก./กก. และ 4) กะทิ 100% หัวกะทิ อร่อย-ดี (AROY-D) ที่ระบุในฉลากว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่พบปริมาณสารกันเสีย 2.19 มก./กก.        ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ากะทิสดที่สุ่มเก็บตัวอย่างจากตลาดคลองเตยนั้น ตรวจพบวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกปริมาณ 325.09 มก./กก.         กรดไขมัน : จากผลการวิเคราะห์ปริมาณกรดไขมันพบว่า ปริมาณกรดไขมันที่พบในน้ำกะทิ จากตลาดคลองเตย มีปริมาณสูงที่สุดในทุกชนิดกรดไขมันที่ตรวจพบ (กราฟเส้นสีน้ำเงินในรูป) โดยกรดไขมันที่พบมากที่สุดคือ Lauric acid ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวชนิดหนึ่งที่อยู่ในน้ำกะทิตามธรรมชาติ        ดร.แก้ว กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า อาหารสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไปนั้น ผู้บริโภคต้องยอมรับความเสี่ยง เพราะความสะดวกนั้นมากับพร้อมความเสี่ยงและการได้รับความอร่อยที่ลดลง อีกทั้งทุกวันนี้กระบวนการผลิตอาหารมักใช้วัตถุเจือปนอาหาร และใช้กระบวนการผ่านความร้อนที่ทำให้ความหอมและรสอร่อยของอาหารลดลง เช่น กะทิ เมื่อนำมาผ่านความร้อนบรรจุลงกล่องหรือขวด จะมีคุณภาพลดลงไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เก็บอาหารนั้น จะสังเกตว่าเมื่อเราจะนำกะทิสำเร็จรูปมาปรุงอาหาร ในส่วนคุณภาพของกะทิ เช่น ความหอมและรสชาติจะถูกลดทอนไปมากแล้ว          “ผมคิดว่ากะทิเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในส่วนผสมของอาหารไทยเกือบทุกเมนู ฉะนั้นจึงเสนอให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เห็นถึงความสำคัญของอาหารประเภทกะทิ เร่งออกมาตรฐานคุณภาพของกะทิในบ้านเรา เพื่อทำให้กะทิของไทยมีคุณภาพดี รสชาติเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมการใช้มะพร้าวภายในประเทศในการผลิตอีกด้วย” ดร.แก้วกล่าว         ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมคนญี่ปุ่นต้องกินข้าวจากดินในประเทศญี่ปุ่น ผู้บริโภคไทยก็เช่นเดียวกัน เวลาเราใช้น้ำกะทิหรือกินแกงกะทิ เราต้องการข้อมูลที่จะบอกเราว่า กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์กล่องนี้ทำมาจากมะพร้าวที่มาจากไหน ในประเทศ หรือต่างประเทศใช้สารเคมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อลดการขนส่ง ลดการนำเข้า ลดการใช้พลังงานในการบริโภค โดยมีเป้าหมายในการเป็นผู้บริโภคที่ดี บริโภคอย่างยั่งยืน          “ในส่วนของฉลากบรรจุภัณฑ์ของกะทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรให้ผู้ผลิตระบุด้วยว่าใช้มะพร้าวจากในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อระบุแหล่งที่มาของอาหารและเพื่อให้ผู้บริโภคมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหาร สนับสนุนเกษตรกร รวมถึงสร้างทางเลือกสำหรับผู้บริโภคด้วย” นางสาวสารีกล่าว         ในส่วนของราคามะพร้าวที่ผู้ประกอบการรับซื้อจากชาวสวนนั้น หากยอมรับในคุณภาพของมะพร้าวในประเทศ ทุกฝ่ายต่างต้องการราคาที่เป็นธรรม การรับซื้อตรงจากเกษตรกร น่าจะทำให้เกษตรกรได้ราคาเพิ่มขึ้น หากเราคิดและยอมรับว่า เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณต่อผู้บริโภค เกษตรกรทำงานหนัก สินค้าเกษตรมีราคาถูกเกินไปจนเกษตรกรไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ การกำหนดราคาสินค้าจึงต้องมีราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่เกษตรกรขายสินค้าในราคาถูก ซึ่งเป็นปัญหาดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่จนถึงวันนี้ รัฐควรมีการแก้ปัญหา ควรมีข้อมูลปริมาณผลผลิตในประเทศที่ชัดเจน ทันสมัย เปิดเผย การส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง หรือรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรให้ชัดเจน ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือมุ่งไปสู่การเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไปด้วย          ส่วน นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มาจากการพูดคุยของตัวแทนเครือข่ายมะพร้าวกับผู้ประกอบการทำให้ได้รับทราบว่ากะทิกล่อง 100 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยมีการผสมน้ำมันแบะแซผสมลงไปด้วย ซึ่งน่าจะผิดกฎหมายที่อ้างว่า กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์ใช่หรือไม่ จึงได้นำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อทำการทดสอบ         “ผมคิดว่าบ้านเรามีมะพร้าวจำนวนมากและมีมะพร้าวคุณภาพดี แต่ขณะที่ผู้บริโภคในประเทศไม่ได้บริโภคมะพร้าวที่มีคุณภาพดี แต่กลับต้องไปบริโภคมะพร้าวนำเข้า ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคก็ได้ นอกจากนี้ ผมอยากเห็นการทำกะทิจากมะพร้าวที่สามารถปลูกได้ในประเทศไทยเพื่อทำให้ผู้บริโภคได้รับกะทิที่มีคุณภาพ มีน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณค่า แล้วราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย อีกทั้งยังช่วยจำกัดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 แกงกะทิลูกตำลึงใส่ปลาทู

สวัสดีครับ วันนี้ผมตาหนุ่ย ขออาสาพาสมาชิกฉลาดซื้อทุกท่านเข้าครัว ทำแกงกะทิลูกตำลึงใส่ปลาทู   ถึงตรงนี้หลายท่านคงมีคำถามว่า  “ลูกตำลึงทานได้ด้วยเหรอ” !! ก่อนจะเข้าครัวขอมาทำความรู้จักกับต้นตำลึงกันเสียก่อนครับภาษาอังกฤษ เรียกว่า  Ivy Gourd ครับผม เผื่อบางท่านอยากบอกเพื่อนชาวต่างชาติ   ตำลึงเป็นไม้เลื้อยที่มีมือจับใช้สำหรับเลื้อยเกาะต้นไม้ใหญ่หรือไม้ปักหลัก มีสีเขียวจัดมีแร่ธาตุ และวิตามิน  ตำลึงมีชื่อท้องถิ่นอื่นอีกอาทิ ผักแคบ  (ภาคเหนือ) แคเด๊าะ (กะเหรี่ยงและแม่ฮ่องสอน) ตำลึง, สี่บาท (ภาคกลาง) ผักตำนิน (ภาคอีสาน) ประโยชน์ของตำลึง เป็นทั้งยาสมุนไพรและพืชอาหาร นิยมใช้ยอดและใบกินเป็นผักสด อาจจะลวกหรือต้มจิ้มกินน้ำพริก และใช้ในการประกอบอาหารได้หลายอย่าง เมนูตำลึง เช่น แกงจืด ก๋วยเตี๋ยวใบตำลึง  ผัดไฟแดง  ต้มเลือดหมู แกงเลียง ไข่เจียว  เมนูเหล่านี้หลายท่านคงคุ้นเคยแน่ๆ ครับ พูดถึงใบตำลึง  ตอนเด็กๆ คุณย่าของผมเคยนำมารักษางูสวัด  เริม ให้กับน้องสาวของผมนะครับ วิธีการคือนำใบตำลึง 10-15 ใบสด  เริม ด้วยการใช้ใบที่แก่แล้ว(ล้างให้สะอาด) นำมาผสมกับดินสอพอง 1 ใน 4 ส่วน แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น   และแผลไฟไหม้  เพราะตำลึงมีฤทธิ์เป็นยาเย็น  เห็นที่ต้องเข้าครัวกันเลยดีกว่าครับผม    วันนี้รู้สึกสนุกที่จะทำแกงลูกตำลึง เพราะ ตำลึงข้างรั่วออกลูก แหมช่างน่าแกงเสียกระไร     ขอไปตลาดจัดหาเครื่องปรุงในการเข้าครัวครั้งนี้  กะทิ 1 กิโลกรัมสนนราคา 60 บาท   ปลาทู ตัวเล็กครับ  4 เข่ง 100 บาท เพื่อมาฉีก และตำกับพริกแกงเผ็ด   ตามด้วยปลาอินทรีเค็ม อีก 1 ชิ้น  40 บาท กระชาย 10 บาท การทำพริกแกงเผ็ด ไม่ยากนะครับ  เตรียมพริกแห้ง 15-20 เม็ด นำมาล้างน้ำ และแช่น้ำสักครู เพื่อตำได้ง่าย   กระเทียม แกะแล้ว 10-15 กลีบ  ขา 15-20 แว่น   ตะไคร้2-3 ต้นหั่นซอย   เกลือ1 ช้อนโต๊ะ จากนั้นใส่ครกหิน ตำให้ละเอียด   ตามด้วยกระชาย  หั่นเป็นแว่นๆ เพื่อตำง่าย  ท่านใดชอบเยอะก็ใสเยอะครับ    บางบ้านใช้เครื่องปั่นได้เลยครับ เพราะสะดวก  ส่วนผมขอตำครกหินแล้วกันนะครับ หรือง่ายสุด ก็ซื้อน้ำพริกแกงเผ็ดจากตลาดมา 3ขีด 300 กรัม และมาตำกระชายใส่เพิ่มครับ เมื่อทุกอย่างละเอียด เติมกะปิอย่างดี  3 ช้อนโต๊ะ เพราะการปรุงครั้งนี้ สำหรับรับประทาน 10-12 ท่าน ให้คุ้มกับการเดินเก็บลูกตำลึงนะครับ    จากนั้นนำเนื้อปลาทูที่แกะไว้แล้ว ตำลงไปเพิ่ม  อย่าลืมเก็บเนื้อปลาไว้สักครึ่งหนึ่งเพื่อจะได้มีเนื้อปลาเป็นชิ้น ๆ ในน้ำแกง  การใส่ปลาทูตำลงไปเพื่อน้ำแกงของเราจะได้ข้น และดูน่าทานเพิ่มขึ้น    คงสงสัยใช่มั้ยครับ แล้วปลาอินทรีที่ซื้อมาเอามาทำอะไร   ชิ้นนี้แหละครับสำคัญ เรานำเนื้อปลามาตำเข้ากับเครื่องแกง ที่เราใส่ปลาทูใส่ลงไปแล้ว    เราจะได้สัมผัสกับกลิ่นหอมปลาอินทรี  ขอบออกว่าตอนตำเครื่องแกง ผมรู้สึกอยากทานข้าวเร็วๆ เสียแล้วสิครับ   ขั้นตอนในการแกงลูกตำลึง เรานำลูกตำลึงมาทุบให้พอแตก    จากนั้นนำมาล้าง(แกว่ง)ในน้ำเกลือ 2 น้ำครับ  รสชาติฝาดๆ จะหายไป    ทุกอย่างเรียบร้อย เครื่องแกงที่เตรียมไว้พร้อม เรานำกะทิ 1 กิโลกรัมที่ซื้อมาจากตลาด กะทิส่วนหัวและหาง ผสมกัน ขอบอกหางไม่มากนะครับ เพราะชอบน้ำข้นๆ  นำมาเคี่ยวในหม้อให้เดือด   ปรุงรส  น้ำตาลนิดหน่อย   ส่วนผมขอเค็มนิด ๆ  รับประทานกับข้าว หรือขนมจีนกำลังดี เมื่อน้ำกะทิเดือด   ใส่เครื่องแกงทั้งหมดลงไป  จากนั้นลูกตำลึง   เนื้อปลา ที่แกะไว้       แกงกะทิลูกตำลึงใส่เนื้อปลา ก็พร้อมเสิร์ฟกับข้าวสวยร้อนๆ  หรือขนมจีน    เราสามารถใช้เนื้อหมูย่าง  เนื้อย่าง  แทนปลาได้นะครับ  ตามความชอบของแต่ละครัว การทำอาหารกินเองไม่ใช่เรื่องยากครับ  ผมหวังว่า เมนูครั้งนี้  หลายๆ คนคงอยากลองปรุงดู และอย่าลืมชวนเพื่อนๆ มารับประทานด้วยนะครับ หรือตักไปฝากข้างๆ บ้านหรือญาติของเรา จะได้อิ่มท้องกันถ้วนหน้า   

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point