ฉบับที่ 274 ‘จัดการการเงินส่วนบุคคล’ ต้องวางแผนแบบภาพรวม

        พอถึงช่วยท้ายปี บรรดาธนาคาร บริษัทประกัน และบริษัทจัดการกองทุนฯ ก็ขึ้นโฆษณากันพรึ่บพรั่บให้เรารีบซื้อกองทุนรวม รีบซื้อประกันชีวิต เพื่อจะได้เอาไว้ลดหย่อนภาษี คนที่มีรายได้สูงพอต้องเสียภาษีเลยหาทางลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุดด้วยการซื้อทุกสิ่งอย่างที่ได้รับการแนะนำ         ในแง่การจัดการการเงินส่วนบุคคลการวางแผนภาษีอย่างการลดหย่อนเป็นอะไรที่ต้องคิดคำนึง อันนี้เถียงไม่ได้         แต่ๆๆ อย่าลืมว่าการลดหย่อนภาษีไม่ใช่ทั้งหมองของการจัดการการเงินส่วนบุคคล         ทำไมต้องพูดเรื่องที่น่าจะรู้กันอยู่แล้ว? ก็เพราะบางคนหรือไม่รู้น่ะสิ         มีเคสตัวอย่างคนรู้จักที่จะเล่าสู่กันฟัง เขาเป็นคนที่มีรายได้ต่อเดือนราว 1 แสนบาท เลยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเยอะ ด้วยความที่ไม่อยากเสียภาษีให้รัฐบาลเพราะไม่เชื่อว่าจะใช้เงินภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาจึงหาทางลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด         เขาจึงเลือกซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี เท่านั้นยังไม่พอ ยังซื้อประกันชีวิต แถมยังมีเงินฝากประจำปลอดภาษีที่ต้องฝากให้ครบกำหนดตามเงื่อนไขของธนาคารถึงจะได้ดอกเบี้ยเต็มๆ แบบไม่ต้องแบ่งให้รัฐ         ปัญหาก็คือพอสนใจแต่จะลดหย่อนภาษี ก็เลยใช้เงินไปกับเรื่องนี้เยอะเกินไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะได้เงินคืนในตอนท้ายก็เถอะ แต่กลายเป็นว่าสภาพคล่องในแต่ละเดือนต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะไหนจะต้องส่งประกันชีวิต ส่งเงินฝากประจำ แล้วค่าใช้จ่ายเดิมก็มีอยู่แล้ว         บอกหลายครั้งแล้วว่าสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญ การมีเงินสดในมือเพียงพอสำหรับการจับจ่ายและรับมือเรื่องฉุกเฉินต่างๆ ต้องจัดการให้ดี ยิ่งถ้าไม่มีสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้เร็ว สุดท้ายมันจะพาตัวเองไปสู่วงจรหนี้         เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าต้องจัดการการเงินส่วนบุคคลแบบมองภาพรวมทั้งหมด อย่าแยกออกมาเป็นเรื่องๆ จะลดหย่อนอย่างเดียวแบบกรณีนี้ก็พาลทำให้สภาพคล่องตึง แต่ถ้ามีเงินสดในมือมากเกินกว่าจำเป็นก็ลดโอกาสเพิ่มดอกผลอีก         ย้ำอีกที การจัดการการเงินส่วนบุคคลต้องวางแผนแบบภาพรวม มองทุกองค์ประกอบ เชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้แผนการเงินที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในแบบของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ‘กองทุนรวมผสม’ ทำทุกอย่างให้เธอแล้ว

        เรามาคุยกันเรื่องกองทุนรวม (mutual fund) กันอีกครั้ง ก่อนๆ นี้พูดถึงหลายครั้งอยู่ แต่เป็นกองทุนรวมประเภท active fund กับ passive fund เป็นหลัก อย่างที่รู้กันว่ากองทุนรวมเป็นเครื่องการลงทุนที่ดีประเภทหนึ่งเพราะมีมืออาชีพมาบริหารเงินให้ว่าจะลงทุนกับหุ้นตัวไหน ตราสารหนี้ตัวไหน หรือ REIT (Real Estate Investment Trust หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์) ตัวไหน         แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายขนาดนั้น อย่างน้อยก็ต้องเลือกกองทุนรวมเป็น ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือต้องจัดพอร์ตให้ดี ลงกับกองทุนรวมหุ้นเยอะไปก็เสี่ยงเกิน ลงทุนกับกองทุนรวมตราสารหนี้มากไปผลตอบแทนก็อาจไม่ได้ตามที่คิด จะลงกับกองทุนรวมในสินค้าโภคภัณฑ์ก็ยิ่งเสี่ยงหนัก แถมยังไม่รู้ด้วยว่าควรจัดสรรเงินไปลงกองทุนรวมแต่ละประเภทอย่างละเท่าไหร่         พวกนักการเงินก็ฉลาด พวกเขาสร้างผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ‘กองทุนรวมผสม’ หรือ mixed fund มันเป็นกองทุนรวมประเภทที่ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปจัดสรรในหุ้น ตราสารหนี้ หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ และอื่นๆ ตามนโยบายของกองทุนรวมนั้น         พูดให้เข้าใจง่ายคือกองทุนรวมผสมจัดพอร์ตให้เราเสร็จสรรพ ซึ่งจะยิ่งเหมาะกับมือใหม่ที่ความรู้ยังไม่มาก ไม่มีเวลามาคอยติดตามผลการดำเนินการของกองทุน และปรับพอร์ต (asset allocation) ให้คงสัดส่วนสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการ         กองทุนรวมผสมก็เลยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุน สิ่งที่ผู้ลงทุนต้องเลือกคือจะเอาแบบที่กำหนดสัดส่วนไว้คงที่ ประมาณว่าหุ้น 60 เปอร์เซ็นต์ ตราสารหนี้ 30 เปอร์เซ็นต์ อื่นๆ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนผสมประเภทนี้ก็จะจัดพอร์ตการลงทุนในสัดส่วนนี้         กับกองทุนรวมผสมที่ไม่ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุน หมายความว่าเงินของคุณจะไปลงกับสินทรัพย์ประเภทไหนขึ้นกับการวิเคราะห์ จัดสรร จัดการของผู้จัดการกองทุน สมมติว่าช่วงตลาดหุ้นตกผู้จัดการกองทุนอาจคัดสรรหุ้นดีราคาถูกเข้าพอร์ตมากกว่าเดิมจาก 50 เปอร์เซ็นต์เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าตลาดผันผวนมากๆๆๆ ก็อาจเอาตราสารหนี้เข้าพอร์ตมากขึ้น         ทำให้กองทุนรวมผสมมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความผันผวนของตลาดได้ดีกว่า         ทว่า โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เนื่องจากกองทุนรวมผสมต้องมีการติดตามตลาดต่อเนื่องเพื่อจัดพอร์ตการลงทุน นั่นแปลว่าค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมของกองทุนประเภทนี้มักจะสูงกว่ากองทุนประเภทอื่น ก็ขึ้นกับว่าคุณจะยอมแลกหรือเปล่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่269 หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (Unconditional Basic Incomes)

        หลักการรัฐสวัสดิการ คือ การที่เราเมื่อมีอาชีพ มีรายได้ ก็ต้องเสียภาษี และส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ตามสัดส่วนของรายได้ โดยเงินที่เรานำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมจะเป็นหลักประกันทางการเงิน ในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยเราสามารถใช้เงินจากกองทุนในการรักษาพยาบาล กรณีตกงานหรือเลิกจ้าง ก็สามารถได้รับเงินทดแทนจนกระทั่งเราได้งานใหม่และมีรายได้กลับคืนมาอีกครั้ง หรือกรณีบำนาญชราภาพ เราก็มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน         เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประกันสังคม ที่หลายๆ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการได้ใช้กันมาตั้งแต่มีการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานมนุษย์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าซึ่งรูปแบบดังกล่าว มีข้อจำกัดคือใช้ได้กับคนที่ประกอบอาชีพมีรายได้ประจำเท่านั้น          ปัจจุบันมีแนวคิดในเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับทุกคนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย คือแนวความคิดเรื่อง หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes)         ในประเด็นและแนวคิดเรื่องการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไขที่ผมได้เคยนำเสนอในวารสารฉลาดซื้อ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 แล้วนั้น เป็นรายงานและข้อสรุปการศึกษาและดำเนินการของ สมาคมเพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น ของประเทศเยอรมนี โดยได้พูดถึงประเด็นว่า หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes) คืออะไร         โครงการของสมาคมนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.  2014 มีผู้เข้าร่วมโครงการจนถึงปัจจุบัน ทั้งสิ้น 3.3 ล้านคน และมีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับรายได้แบบไม่มีเงื่อนไขทั้งสิ้น 1514 คนโดยได้รับเงินประจำเดือน 1000 ยูโรเป็นเวลานาน 1 ปี         บทเรียนและข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษานี้         1 ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่เป็นประเด็นของความเป็นอิสระทางการเงินระดับหนึ่งของคนที่ได้รับเงินรายได้แบบไม่มีเงื่อนไข การที่ได้รับเงินหมายถึง คุณได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการเงินส่วนตัวของคุณไม่ว่าจะนำเงินไปใช้เพื่อการบริโภคไปลงทุน เก็บออมไว้หรือนำไปบริจาคให้คนอื่น การได้รับความไว้วางใจนำไปสู่การเกิดความเชื่อมั่นในตนเองซึ่งเงินที่ได้รับหรือที่สมาคมให้ไปนั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง         2 เดิมคนที่มีรายได้น้อยและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้ เริ่มลงทุนในชีวิตอย่างฉลาดไม่ว่าจะลงทุนในการศึกษา มาเรียนเพิ่มวุฒิเพิ่มประสบการณ์หรือมีอาชีพอิสระ เริ่มยอมรับกับความเสี่ยงในการที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือเริ่มซื้อของใช้ที่เดิมอาจไม่มีกำลังซื้อ         สำหรับคนที่มีรายได้ดีอยู่แล้วและได้รับการเช้าร่วมโครงการนี้ พบว่า ตนเองมีอิสระมากขึ้นและเมื่อย้อนกลับมาดูอดีตของตนที่ผ่านมาพบว่า ตนเองต้องเผชิญกับความเครียดและความกลัวในชีวิต ในช่วงปีที่ได้รับเงินจากโครงการชีวิตตนเองผ่อนคลายมีเวลาให้กับตนเองในการทบทวนบทบาทหน้าที่และมีความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่ได้ใช้เงินจากโครงการนี้เลย (ข้อสรุปเดิมของปี 2023)         3 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนที่ได้รับโอกาสมีอำนาจในการต่อรองกับหัวหน้างานของที่ทำงานเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ มีหลายคนคิดที่จะเปลี่ยนงานแต่เมื่อได้รับโอกาสหลักประกันทางรายได้ก็ยังคงเลือกที่จะทำงานที่เดิมต่อไป ภายใต้อำนาจต่อรองและจิตวิญญาณของการทำงานแบบใหม่ กรณีที่เปลี่ยนที่ทำงานพบว่า ก็ใช้โอกาสนี้ในการเรียนต่อหรือศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการทำงานในที่ทำงานหรือตำแหน่งใหม่ ไม่มีประเด็นเรื่องความขี้เกียจหรือเกี่ยงการทำงาน         4 ลดความเครียดจากการทำงานลง เมื่อมนุษย์ทำงานภายใต้เงื่อนไขการกดดัน มีความเครียดสะสมทำให้คนเราอยู่ในโหมดการเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีคนรอบข้าง การหลบหลีก การหนีปัญหา หรือการแกล้งตาย ซึ่งเป็นโหมดของคนทำงานเพียงเพื่อขายผ้าเอาหน้ารอดแต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง         5 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนมีสุขภาพกายและใจดีขึ้นโดยเฉพาะในสังคมของประเทศเยอรมนีที่ 50% ของคนทำงานมีโอกาสเกิดอาการ Burn out และมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากโครงการนี้ว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลหายขาดจากโรค ภาวะติดเชื้อในกระเพาะอาหารซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพการกดดันในที่ทำงาน         6 การมีหลักประกันทางรายได้ทำให้คนบริโภคน้อยลง แต่บริโภคอย่างมีสติซึ่งอาหารที่ผู้เข้าร่วมในโครงการนี้รับประทานเป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มชีววิถี (Bio) และเป็นผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่         ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ไม่ว่าจะมีแนวความคิดทางการเมืองใด เป็นคนเจนไหน ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เงินแต่เป็นประเด็นของเสรีภาพและศักดิ์ศรีที่เกิดขึ้นในจิตใจ         สำหรับกรณีของประเทศไทย ยังไม่มีการนำแนวความคิดนี้มาใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเรา ซึ่งในเบื้องต้นเสนอว่าการลองใช้การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจัดสรรรางวัล แบบไม่ให้เงินก้อนโต แต่จัดสรรเงินรางวัลแบบการประกันรายได้โดยไม่มีเงื่อนไข เป็นกรณีศึกษาเพื่อไม่ให้คนเราเกิดความโลภและใช้การเสี่ยงโชคในการที่จะยกสถานะของตัวเองจากหลายๆ กรณีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนเงินไม่สามารถทำให้คนสามารถรักษาความมั่งคั่ง หรือความมั่นคงไว้ได้ยืนยาว ....................................แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคม เพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig)https://www.mein-grundeinkommen.de/erkenntnisse/was-ist-es

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ เมื่อของรักเพิ่มมูลค่า

        การลงทุนให้เงินงอกเงยไม่ได้มีแค่หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมเท่านั้น มันยังมีสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพวกสินค้าโภคภัณฑ์ ทอง หรือน้ำมัน แต่เป็นสิ่งของจับต้องได้ที่ก็กำลังข้ามจักรวาลไปเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้         เคยได้ยินกันใช่ไหมเรื่องการแปลงสิ่งที่รัก สิ่งที่หลงใหล (Passion) ให้เป็นรายได้ คล้ายๆ กันนั่นแหละ คนเรามักมีของสะสมที่ชื่นชอบ พออยู่กับมันไปนานๆ เข้าความรู้ต่อสิ่งของชนิดนั้นก็เพิ่มพูน แล้วมูลค่าของสิ่งที่สะสมก็เพิ่มพูนขึ้นตามไปด้วย         ถึงตรงนี้คงร้องอ๋อกันแล้ว ใช่เลย ของสะสมบางประเภทสามารถแปลงเป็นสินทรัพย์มีค่าได้ ของสะสมของคนมีเงินมักมีราคาสูงซึ่งเจ้าตัวก็น่าจะคาดการณ์ว่าอนาคตสามารถปล่อยได้ในราคาที่สูงกว่าหลายเท่าตัว เช่น งานศิลปะ โบราณวัตถุ รถ กระเป๋าแบรนด์เนม เป็นต้น         การจะสะสมสินทรัพย์จำพวกนี้นอกจากต้องมีเงินแล้วยังต้องมีความรู้แน่นหนา ไม่ถูกย้อมแมวขาย รู้ที่มาที่ไปของวัตถุ อย่างถ้าเป็นงานศิลปะก็ต้องอ่านขาดทีเดียว อย่างใครถือครองงานของถวัลย์ ดัชนีไว้น่าจะรู้สึกอิ่มเอมกว่าศิลปินโนเนม         แต่ไม่จำเป็นเสมอไปที่สินทรัพย์ทางเลือกจะมีราคาแพงเว่อร์วัง ของบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่งอาจไม่ได้มีมูลค่าอะไรเลยด้วยซ้ำ พอผ่านไปๆ มูลค่ากลับถีบตัวเป็นหลักล้านก็มีเพราะเป็นของหายาก เป็นที่ต้องการในแวดวงเฉพาะกลุ่ม เช่น การ์ดจากการ์ตูนหรือเกมฮิตบางใบขายกันหลักล้าน (แม่เจ้า!!!) การ์ดนักกีฬา แสตมป์ ไล่เรียงไปจนถึงหนังสือหายาก พระเครื่อง นาฬิกา หิน เครื่องเขียน ของเล่น ฯลฯ         ประเด็นอยู่ที่ว่ามันคาดการณ์ยากพอสมควรว่าของที่เราสะสมจะมีมูลค่าเพิ่มในอนาคตหรือเปล่า ของบางอย่างก็ผ่านมาเป็นกระแสตูมตามชั่ววูบไหวแล้วหายไป ยกตัวอย่างจตุคามรามเทพที่เคยฮิตกันอยู่ช่วงหนึ่ง ทำออกมากี่รุ่นๆ ก็ปล่อยได้หมด         เมื่อกระบวนการปั่นราคาไปถึงจุดหนึ่ง คนมาก่อนได้กำรี้กำไร คนมาช้าจ่ายรอบวง งานเลี้ยงก็เลิกรา แปรสภาพเป็นคุกกี้โอริโอที่แจกฟรียังแทบไม่มีคนอยากได้                 ไหนจะเรื่องของวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ อย่างพระเครื่องรุ่นหายากเป็นสินทรัพย์มีค่าสูงในไทย แต่อาจไม่มีค่าในประเทศตะวันตก         ถึงบอกว่าต้องอาศัยความรู้เยอะทีเดียวถ้าหวังจะลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก แต่ถ้าสะสมเพราะใจรักและมีความสุข มูลค่าจะเพิ่มก็เป็นแค่ผลพลอยได้ แบบนี้ก็ทำไปเถอะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รู้ว่าเสี่ยง เลยต้องกระจายความเสี่ยง

        รอบนี้ขอพูดถึง ‘ความเสี่ยง’ อีกสักครั้งแบบมัดรวมรวบตึง ก่อนนี้พูดแค่ว่าเวลาไปซื้อกองทุน ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องให้เราทำแบบประเมินความเสี่ยงว่าเราเป็นสายแข็งแค่ไหน แบกมันได้แค่ไหน เวลาเห็นตัวเลขเป็นสีแดงจะได้ไม่ตกอกตกใจ เป็นวิธีจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่ง         ความเสี่ยงมาในหลายรูปแบบ ถ้าตามอ่านกันมาแต่ต้นพื้นที่นี้พูดถึงการรับมือความเสี่ยงไว้หลายทางอยู่ เริ่มตั้งแต่การมีเงินฉุกเฉิน 6-12 เดือนที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เอาชีวิตรอดได้หากตกงาน (แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมา 2 ปีกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐ เงินฉุกเฉินคงเกลี้ยงแล้ว ใครบอกการเมืองไม่เกี่ยวกับเรา)         ประกันชีวิต เดินอยู่ดีๆ เราอาจตกหลุมตกบ่อที่ขาดการบำรุงรักษาจากหน่วยงานรัฐ แข้งขาหัก ทำงานไม่ได้ การมีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ จะช่วยแบกความเสี่ยงตรงนี้แทนเรา บางผลิตภัณฑ์จ่ายเงินชดเชยรายวันจากการเสียรายได้ให้ด้วย         ยังรวมถึงประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัยใดๆ ก็ตามที่เราสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงออกไปได้ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ลองนึกดูว่าบ้านที่อุตส่าห์ทุ่มเทผ่อนเกิดไฟไหม้ รถถูกขโมย หรือตัวคุณผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเป็นอะไรขึ้นมา อย่างน้อยจะมีเงินก้อนหนึ่งให้คนอยู่หลังได้พอมีจังหวะตั้งตัว         จุดระวังคือต้องเลือกบริษัทประกันที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่เบี้ยวผู้เอาประกันเหมือนที่เป็นข่าว และเลือกกรมธรรม์ที่พอเหมาะพอสมตามกำลัง ไม่เว่อร์วัง         ความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่งเกิดจากการแทงม้าตัวเดียว หนังสือหรือคอร์สที่สอนการจัดการการเงินหรือการลงทุนต้องพูดเรื่องกระจายความเสี่ยงแน่นอน ถ้าไม่มีก็ไม่ควรซื้อแต่แรก         เคยได้ยินกันใช่ไหม? อย่าใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียว เพราะถ้าตะกร้าหลุดมือคุณจะเสียไข่ทั้งหมด เวลาลงทุนหุ้นถึงมีคำแนะนำว่าให้ลงในอุตสาหกรรมต่างกัน เช่น กระจายเงินลงในหุ้นกลุ่มสื่อสาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก เป็นต้น         กองทุนรวมก็เหมือนกัน มีคนจัดการให้แต่เราเป็นคนเลือกธีมการลงทุนเองอยู่ดี เช่น ลงทุนหุ้นในประเทศ ลงทุนหุ้นจีน หุ้นเวียดนาม หุ้นสหรัฐฯ สารพัดสารเพ ถ้าถือแต่กองทุนรวมหุ้นไทยตอนนี้คงกุมขมับเพราะแกว่งไปมา แต่ถ้ามีกองทุนหุ้นต่างประเทศด้วยน่าจะเครียดน้อยลง         ยังมีกองทุนรวมผสมอารมณ์ว่ากระจายความเสี่ยง จัดพอร์ตให้เสร็จสรรพ ไม่ต้องซื้อหลายกองให้ยุ่งยาก         คร่าวๆ พอหอมปากหอมคอ รายละเอียดจริงเยอะกว่านี้มากมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 Passive กับ Active คุณชอบแบบไหน?

        ขอพูดถึงกองทุนรวมต่อจากคราวที่แล้ว (คงมีอีกเรื่อยๆ นั่นแหละ) เพราะมันยังไม่จบ        กองทุนรวมแบ่งได้หลายแบบ หนึ่งในหลายแบบนั้นคือการแบ่งแบบ Passive Fund หรือ Index Fund กับแบบ Active Fund         ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่ลงในตราสารหนี้ ตราสารเงิน หุ้น หรือธีมอะไรก็ตาม จะมีสิ่งที่เรียกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือ Benchmark เพื่อใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงาน กองทุนรวมแบบ Passive จะพยายามทำผลตอบแทนให้เท่าหรือใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนแบบ Active จะพยายามเอาชนะตลาด         และกองทุนทั้งสองประเภทก็มีข้อดี-ข้อเสียต่างกันไป มาเริ่มกันที่แบบ Active         ข้อดีของกองทุนแบบนี้ที่เห็นกันชัดๆ คือมันมีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าหรืออาจขาดทุนน้อยกว่า ในเมื่อเป็นการบริหารแบบ Active ผู้จัดการกองทุนย่อมต้องพยายามทำผลตอบแทนให้สูงๆ เข้าไว้ในยามที่ตลาดกำลังขึ้นและขาดทุนให้น้อยที่สุดในขาลง (หรืออาจมีกำไรก็ได้) เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ผู้จัดการกองทุนและทีมย่อมต้องทำการบ้านเยอะ วิเคราะห์ข้อมมูล ซื้อๆ ขายๆ สินทรัพย์ ฟังแล้วก็ดูเข้าท่า แต่...         ใครจะมาบริหารจัดการเงินให้เราฟรีๆ ล่ะ ของพวกนี้มีค่าใช้จ่ายทั้งนั้นแหละ และจุดนี้เองคือข้อเสียของกองทุนแบบ Active ค่าธรรมเนียมเอย ค่าบริหารจัดการกองทุนเอย นั่นนู่นนี่ ทำให้ในระยะยาวแล้วมันอาจไม่ได้ชนะตลาดจริงอย่างที่กล่าวอ้าง เพราะผู้ถือหน่วยจะถูกค่าจิปาถะพวกนี้กัดกินผลตอบแทนจนต่ำกว่าตลาดในที่สุด         ตรงกันข้ามกับแบบ Passive ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเห็นๆ ผู้จัดการกองทุนก็แค่จัดสรรเงินลงทุนตามตลาด คุณได้ผลตอบแทนเท่ากับตลาด โดยที่มันจะไม่ถูกกัดกินจากค่าใช้จ่ายต่างๆ เหมือนกับกองทุนรวมแบบ Active         จุดอ่อนคือในยามที่ตลาดร้อนแรง กองทุนรวมแบบ Active อาจทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดจนคุณอิจฉา และในยามตลาดห่อเหี่ยวมันก็อาจขาดทุนน้อยกว่า         อย่างไรก็ตาม นักลงทุนระดับโลกและนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าในไทยบางคนต่างแนะนำกองทุนรวมแบบ Passive ด้วยเหตุผลว่าในระยะยาวแล้วไม่มีใครหรอกที่สามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ เผลอๆ แพ้ด้วย เมื่อเป็นอย่างนั้นเราจะจ่ายเงินแพงๆ ให้กับบริษัทจัดการกองทุนไปทำไม         แต่กูรูด้านกองทุนรวมบางคนก็ให้ความเห็นว่า มันอาจจะจริงกับตลาดหุ้นขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ หรือที่อื่นๆ แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยที่จำนวนบริษัทมหาชนยังไม่มากเท่า เรื่องที่ว่ากองทุนรวมแบบ Passive ให้ผลตอบแทนดีกว่าแบบ Active อาจยังไม่เป็นจริง         สุดท้ายอยู่ที่คุณเลือกว่าชอบแบบไหน...หลังจากเจอะเจอสไตล์ของตัวเองและทำความเข้าใจมันแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 กองทุนรวมอีกรอบ รุกและรับ

        เคยพูดถึงวิธีการทำงานของกองทุนรวม (Mutual Fund) ไปแล้ว เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาหาข้อมูลมากมาย ซื้อ-ขายหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ หรือนั่นนี่ไม่เป็น ไม่ถูก หรือไม่ทัน ก็หันมาใช้กองทุนรวมเพราะมีมืออาชีพคอยบริหารจัดการให้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ต้องยอมรับว่ากองทุนรวมได้รับความนิยมมากขึ้นเยอะ         วันนี้จะชวนลงรายละเอียดกันอีกนิดว่าด้วยประเภทของกองทุนรวม         เคยแตะไปนิดหนึ่งว่ากองทุนรวมแบ่งได้หลายแบบ แบบหนึ่งคือการแบ่งกองทุนรวมเป็น Active Fund และ Passive Fund ถ้าให้แปลเป็นไทยแบบเข้าใจง่ายมันก็คือวิธีการบริหารจัดการกองทุนเพื่อสร้างผลต้นแทน 2 แบบ         แบบ Active Fund คือการบริหารจัดการเชิงรุกหรือสร้างผลตอบแทนให้ชนะตลาด         อันนี้อาจจะงงว่าชนะตลาดคืออะไร เรื่องมีอยู่ว่าสินทรัพย์ต่างๆ จะมีมาตรวัดหรือดัชนีว่าให้ผลตอบแทนในช่วง 6 เดือน หรือ 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปีเป็นเท่าไหร่ สมมติว่าปี 2563 ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ A ทั้งตลาดสร้างผลตอบแทนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนรวมแบบ Active Fund ที่ลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นนั่นแหละก็ต้องทำผลตอบแทนในปี 2563 ให้ได้มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะ 11 12 15 20 อะไรก็ว่าไป         โดยผู้บริหารจัดการกองทุนจะทำหน้าที่เฟ้นหา สลับสับเปลี่ยนหุ้นที่ถือให้เหมาะกับแต่ละช่วงเวลา เช่น ถ้าช่วงนี้การท่องเที่ยวฟุบเพราะพิษโควิด หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวราคาหล่น ผลประกอบการก็ยังไม่น่าฟื้น เขาก็อาจจะขายหุ้นกลุ่มนี้ออกมาเพื่อไปซื้อหุ้นตัวอื่นที่น่าจะสร้างผลตอบแทนดีกว่า เขาต้องการชนะตลาดไง         ส่วนแบบ Passive Fund ก็ตรงกันข้าม เดี๋ยวๆ ไม่ได้หมายถึงบริหารให้แพ้ตลาด การบริหารจัดการเชิงรับคือการสร้างผลตอบแทนให้เท่ากับหรือใกล้เคียงกับตลาด ตัวอย่างเดิม ถ้าตลาดหลักทรัพย์ A ทำได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนรวมชนิดนี้ก็จะทำผลตอบแทนเกาะแถวเลข 10 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัด เป็นเหตุผลให้มันมีอีกชื่อว่า Index Fund         กองทุนรวมแบบนี้ ผู้บริหารจัดการกองทุนแค่มีหน้าที่เอาเงินไปใส่ในหุ้นต่างๆ ตามสัดส่วนของมูลค่าหุ้นของบริษัทนั้น สมมติว่าตลาดหลักทรัพย์ A มีหุ้นอยู่ 10 ตัวคือ ก. ข. ค. ง. จ. ฉ. ช. ซ. ต. ด. ใน 100 เปอร์เซ็นต์ หุ้นบริษัท ก มีมูลค่าตลาดอยู่ 30 จากนั้นก็ 10 5 5 4 6 12 8 6 14 ตามลำดับ เขาจะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้อหุ้นตามสัดส่วนนี้ เมื่อถึงรอบเวลา หุ้นทั้ง 10 ตัวทำผลตอบแทนได้เท่าไหร่หรือขาดทุนเท่าไหร่ ผลที่กองทุนรวมชนิดนี้ทำได้ก็จะล้อกับหุ้นทั้ง 10 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ‘กองทุนรวม’ คืออะไรเหรอ?

        เดี๋ยวนี้กองทุนรวมหรือ mutual fund เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะภาครัฐสนับสนุนให้คนเก็บออมผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF (Long Term Equity Fund) ที่ฮิตกันก็เพราะมันสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งถ้าคิดในแง่ความเหลื่อมล้ำ LTF เรียกว่าเป็นตัวดีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งห่างขึ้นไปอีก เอาล่ะ ยังไงกองทุนรวมก็ถือเป็นวิธีการเก็บออมและเพิ่มความมั่งคั่งที่ดีและได้รับการยอมรับ         แต่เป็นไปได้อยู่ที่คนอีกจำนวนมากไม่รู้ว่า กองทุนรวม คืออะไร? ทำงานอย่างไร?         เรามาลองทำความรู้จักกองทุนรวมแบบง่ายๆ คร่าวๆ ที่สุดกัน         แนวคิดของกองทุนรวมนั้นง่ายมาก สมมติว่าคุณมีเพื่อนคนหนึ่งที่เล่นหุ้นเก่งมาก ส่วนคุณไม่รู้เรื่องหุ้นเลยสักกระผีก แต่ก็อยากจะรวยกับเขาบ้าง คุณเลยไปชวนเพื่อนอีกสี่ห้าคน รวมเงินกันเข้า แล้วเอาไปให้เพื่อนคนนี้เล่นหุ้นให้เงินของคุณกับเพื่อนๆ งอกเงยขึ้น แน่นอนว่าคุณยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้เพื่อนคนนี้เป็นค่าความรู้ ค่าการจัดการสะระตะ แลกกับผลตอบแทนที่ได้         กองทุนรวมก็อารมณ์ประมาณนี้แหละ (เดาว่าบางคนอาจทำอยู่ด้วยซ้ำ) เพียงแต่กองทุนรวมมีกฎเกณฑ์ของภาครัฐกำกับอยู่ และคนที่จะมาบริหารเงินให้คุณคือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไม่ใช่ใครที่ไหนไม่รู้ที่พร้อมจะเชิดเงินหนีหายไป ใช่ คุณต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าบริหารจัดการให้กับกองทุนด้วย         แต่กองทุนรวมมีหลายประเภท หลายระดับความเสี่ยง (อันที่จริงแล้ว เรื่องเงินๆ ทองๆ มีความเสี่ยงทั้งนั้น เก็บเงินไว้ที่บ้านก็มีความเสี่ยงจากการถูกขโมยหรือถูกเงินเฟ้อกัดกิน) เสี่ยงต่ำกว่าเพื่อนต้องยกให้กองทุนรวมตลาดเงิน ไล่ขึ้นเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ตราสารทุน (ก็หุ้นนั่นแหละ) จนถึงกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์เฉพาะ เช่น ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น         ที่ว่ามานี่ยังแบ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศกับที่ลงทุนในต่างประเทศอีก         หรือจะแบ่งตามแนวทางการลงทุนคือแบบ active กับแบบ passive แบบแรกคือสร้างผลตอบแทนให้ชนะตลาด ยังไงดีล่ะ สมมติว่าตลาดหุ้นปีที่แล้วให้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุน active จะพยายามทำผลตอบแทนให้ได้มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแบบ passive จะสร้างผลตอบแทนให้ได้เท่ากับตลาด         ข้อดีของแบบแรกคือคุณมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าจัดการแพงกว่าแบบหลังซึ่งให้ผลตอบแทนไม่สูงเท่า แต่จ่ายให้กองทุนถูกกว่า ...ต้องแลกกัน ไม่มีอะไรฟรีหรอก         อ้อ ยังมีกองทุนรวมแบบเน้นประเภทธุรกิจหรือเทรนด์ของโลกด้วย เรียกว่าเป็นกองทุนรวมที่มีธีม (theme) ของตัวเอง เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยี ด้านอี-คอมเมิร์ส ตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น ซึ่งกำลังได้รับความนิยม         มีหนังสือเกี่ยวกับกองทุนรวมมากมายในตลาด ลองหาซื้อมาอ่านกันดู อย่าลืม! การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

        ออกตัวกันก่อนว่าไม่ใช่การชี้ชวนให้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมตัวไหน แหม่ จะเอาความรู้ที่ไหนมาบอกได้ แล้วถ้ารู้ว่าตัวไหนจะขึ้น ผู้เขียนซื้อไว้เองไม่ดีกว่าเหรอ เรื่องแบบนี้ต้องเรียนรู้เอง เจ็บเอง         ที่อยากเล่าสู่กันฟังคือเพิ่งได้ฟังเสวนาวิเคราะห์ทิศทางหุ้นโลก หุ้นไทย และการทำ DCA (เรื่องนี้ต้องพูดแน่ๆ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้) ของบริษัทหลักทรัพย์เจ้าหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาบางประเด็นน่าสนใจทีเดียว มันเกี่ยวข้องทั้งกับใครที่อยากลงทุนหุ้นและอาการบิดๆ เบี้ยวๆ ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย         เรื่องคือนักวิเคราะห์คนหนึ่งพูดถึงการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังหุ้นหรือกองทุนรวมในต่างประเทศ เพราะมีหลายตัว หลายกองน่าสนใจ โดยเฉพาะที่เกาะกับกระแสเมกะเทรนด์ของโลก เช่น สังคมสูงวัย อุตสาหกรรมดิจิทัลหรือเทคโนโลยีล้ำอย่างหุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เป็นต้น เดี๋ยวนี้กองทุนรวมหลายกองมีธีมการลงทุนเฉพาะ เช่น กองที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มอี-คอมเมิร์ส กองที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี ให้เราเลือกเกาะเทรนด์การเติบโต          แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน?        นักวิเคราะห์รายนี้บอกว่า เมื่อย้อนกลับมาดูหุ้นไทยเราแทบจะไม่เจอหุ้นที่เกาะเมกะเทรนด์ของโลกเลย แย่กว่านั้นหุ้นจำนวนหนึ่งก็เป็นธุรกิจผูกขาด ธนาคารเป็นตัวอย่างหนึ่ง นี่แหละประเด็นใหญ่         ลองถามนักเศรษฐศาสตร์ เกือบร้อยทั้งร้อยแหละไม่เห็นด้วยกับการผูกขาด มันส่งผลร้ายมากกว่าดี และผลร้ายที่ว่ามันตกอยู่กับประเทศ นักลงทุน จนถึงผู้บริโภคอย่างเรา          ทำไมเราจึงไม่ค่อยมีบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำวิจัยและพัฒนา ปรับตัวเพื่อเกาะเมกะเทรนด์ของโลก ทั้งที่ได้ประโยชน์เห็นๆ แต่ถ้าเป็นคุณจะเสียเงินมากมายทำไมกับผลในระยะยาวที่ไม่แน่ใจว่าจะประสบผลสำเร็จ ในเมื่อธุรกิจของคุณผูกขาดไปแล้ว ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ซื้อหรือใช้บริการของคุณก็ไม่มีเจ้าอื่นอีกแล้ว คุณแค่นั่งเก็บกินผลประโยชน์จากการผูกขาดก็พอ         การผูกขาดยังทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน สมมติว่าในอุตสาหกรรมหนึ่งมีบริษัทใหญ่เพียง 2 บริษัท พวกเขาคงแข่งกันแย่งลูกค้าแหละ แต่ไม่มีนัยสำคัญพอที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีขึ้น แล้วถ้า 2 บริษัทฮั้วกันอีก ความซวยก็ยิ่งเกิดกับผู้บริโภค จะต่างกันลิบถ้ามีคู่แข่งเป็นสิบๆ ในตลาด ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย บริษัทไหนอ่อนแอก็แพ้ไป          นักลงทุนจึงพลอยได้รับผลกระทบจากการผูกขาดไปด้วย มีตัวเลือกในการลงทุนไม่มาก ไม่มีบริษัทที่เกาะเมกะเทรนด์ การเติบโตในอนาคตของบริษัทประเภทนี้อาจไม่ยั่งยืน อย่าคิดว่ากำเงินสดไว้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมอย่างเดียวเป็นพอ         โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2562

แบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต' มีผล 1 ธ.ค. 2562 นี้        นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป พร้อมมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป         ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลาความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น         สำหรับตัวเลขสารเคมีค้างสต็อก 29,869.58 ตัน หลังมติถูกแบนเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค.นี้ นั้น พบมากสุดคือ พาราควอต 13,063.69 ตัน รองลงมา ไกลโฟเซต 15,110.93 ตัน และคลอร์ไพริฟอส 1,694.86 ตัน Media Disruption ทำคนไทยอ่านมากขึ้น แต่เป็น 'เนื้อหาออนไลน์' มากสุด         สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 พบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านสื่อต่างๆ ร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยคนไทยอ่านสื่อต่างๆ นานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่านสื่อต่างๆ 66 นาที และปี 2556 อ่านสื่อต่างๆ เพียง 37 นาที เมื่อพิจารณาสื่อที่คนไทยอ่านมากที่สุด ร้อยละ 69.2 คือการอ่าน 'สื่อสังคมออนไลน์' ตามมาด้วย 'หนังสือพิมพ์' ร้อยละ 60.5 ส่วน 'วารสาร' และ 'นิตยสาร' นั้นคนไทยอ่านเพียงร้อยละ 40.3 และ 31.1 เท่านั้นตามลำดับรับมือปัญหา Romance Scam         ข้อมูลจาก 'คู่มือป้องกันพิศวาสอาชญากรรม ฉบับผู้ดูแลระบบและผู้บังคับใช้กฎหมาย' ภายใต้โครงการวิจัย 'ข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน' โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ได้ระบุขั้นตอนการแจ้งความเกี่ยวกับคดี Romance Scam ไว้ดังนี้        1. ให้ผู้เสียหาย เตรียมเอกสารส่วนตัวเช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง        2. กรณีที่เสียหายต่อชื่อเสียง โดยเตรียมหลักฐาน เช่น ปริ๊นต์เอกสารหน้าจอหน้าเว็บไซต์ หน้าโปรแกรมไลน์ โปรแกรมเฟซบุ๊ก หรือหน้าเพจ ที่พบการกระทำความผิด        3. กรณีที่เสียหายต่อทรัพย์ ให้เตรียมหลักฐาน เช่น หลักฐานการโอนเงิน หน้าจอหรือรูปของบัญชีธนาคารของผู้รับโอน โดยปริ๊นต์เอกสารออกมาจากระบบคอมพิวเตอร์ให้เรียบร้อย         Romance scam คือ การหลอกลวงผู้หญิงหรือเพศอื่นด้วยการพูดคุยผ่านการแชท การส่งข้อความเป็นการจีบ ทำให้เหยื่อเชื่อว่าตกหลุมรัก ยอมเชื่อใจไว้ใจตายใจ จนในที่สุดก็จะโดนขอยืมเงิน หลอกให้ส่งยาเสพติด หรือทำสิ่งผิดกฎหมาย กรมสรรพสามิตเดินหน้าไอเดียเก็บภาษีความเค็ม        กรมสรรพสามิต เดินหน้าศึกษาการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าที่มีความเค็ม โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุป และเสนอให้รมว.คลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้         นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างเร่งศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าความเค็ม เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของความเค็ม หรือตามปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ยังระบุว่า “ภาษีความเค็มถือเป็นภาษีตัวใหม่ที่กรมฯ กำลังคิดจะจัดเก็บ เพราะไทยยังไม่มีมาก่อน มีแค่จัดเก็บภาษีความหวานเท่านั้น แต่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว มีการจัดเก็บไปหลายประเทศแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนความเค็มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากได้ข้อมูลครบจะพิจารณาได้ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหรือไม่  หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าต้องจัดเก็บภาษีความเค็มจริง กรมก็จะไม่ประกาศ และจัดเก็บในอัตราเดียวทันที แต่จะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 ปี เพื่อปรับลดปริมาณความเค็มในสินค้า หรือปรับสูตรการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพออกมาก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ระบุอัตราการจัดเก็บที่ชัดเจน”         สำหรับสินค้าที่จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีความเค็ม เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มสินค้าอาหารปรุงสำเร็จ เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่จะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีความเค็มในสินค้าขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็ก เนื่องจากมองว่า ขนมเป็นอาหารที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ที่ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้เอง ส่วนเครื่องปรุงรสที่มีความเค็ม เช่น นํ้าปลา เกลือ ซอสปรุงรสยังไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงร้านขายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง หรือสินค้าชุมชนก็ยังไม่เข้าข่ายที่จะเสียภาษีเช่นกัน "กองทุนแสงอาทิตย์" เปิดตัว ‘โรงพยาบาลภูสิงห์’ รพ. แสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากเงินบริจาคของประชาชน         19 ตุลาคม โรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่นและนักวิชาการ ในนามของ “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) ได้จัดงานแถลงข่าวและส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลภูสิงห์ นับเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากเงินบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์         “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่น และนักวิชาการ ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561  โดยมีท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรมและผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม เมตตาเป็นประธานกรรมการกองทุนฯ         กองทุนแสงอาทิตย์ได้ดำเนินการเปิดบัญชีชื่อ กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วทั้งประเทศ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar PV Rooftop) และมอบให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการหรือประสบปัญหาภาระค่าไฟฟ้า โดยในปี 2562 มีเป้าหมายติดตั้งให้กับโรงพยาบาล 7 แห่งใน 7 จังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลภูสิงห์เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเป้าหมาย 7 แห่งดังกล่าว         โรงพยาบาลภูสิงห์ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง อยู่ติดชายแดนไทย - กัมพูชา และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ 85 กิโลเมตร มีแพทย์จำนวน 5 คน ดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 9 แห่ง และหน่วยโรงพยาบาล 1 แห่ง รองรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่อำเภอภูสิงห์กว่า 36,000 คน และรวมถึงประชาชนจากประเทศกัมพูชาด้วย  ปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลมีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกในอนาคตทำให้ค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลมีการขยายเพิ่มของอาคารและการพัฒนาส่วนต่างๆ ที่ต้องใช้พลังงาน โดยในปี 2560 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 150,000 บาทหรือ 1,800,000 บาทต่อปี แต่ในปี 2561 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยเดือนละ 160,000 บาทหรือ 1,900,000 บาทต่อปี        คณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์และโรงพยาบาลได้คัดเลือกให้ บริษัท เดชาวุฒิ อินเตอร์เทค จำกัด เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้กับโรงพยาบาลภูสิงห์ และขณะนี้บริษัท ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้ว มีขนาดการผลิตไฟฟ้า  35.10 กิโลวัตต์  ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ ชนิด Mono ขนาด 390 วัตต์ จำนวน  90 แผง  ภายใต้งบดำเนินการ 795,000 บาท ซึ่งจากการคำนวณคาดว่าจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปี และระบบจะยังคงใช้งานได้ต่อไปและทำให้เกิดผลการประหยัดตลอดเวลา 25 ปี หากคำนวณเชิงธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนเอง ระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่  3.72  ปีเท่านั้น        ขอขอบพระคุณประชาชนทั่วประเทศที่ได้ร่วมบริจาคผ่านบัญชี  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) บัญชีออมทรัพย์ สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า เลขที่บัญชี 429-017697-4 ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 โรงพยาบาลพลังแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทย ด้วยพลังจากผู้บริโภค

“กองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) หรือ กองทุนเพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายองค์กร ได้ตั้งเป้าหมายติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลในโครงการฯ โดยการ ขอรับบริจาคจากประชาชน (ใช้งบดำเนินการประมาณ 1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล รวม 7 โรงพยาบาล จะเป็นเงินที่ขอรับบริจาคทั้งสิ้น 7.7 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อได้รับบริจาคครบ 7.7 ล้านบาทแล้ว กองทุนแสงอาทิตย์จะปิดรับบริจาคทันที ในเฟสที่ 1         ทั้งนี้เมื่อได้เงินบริจาค 1.1 ล้านบาทแรกแล้ว กองทุนแสงอาทิตย์จะทยอย ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลแห่งแรกทันที ซึ่งเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมากองทุนได้ไปส่งมอบและทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โดยท่านพระครูวิมล ปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานีผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรมโรงเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ และประธานกองทุนแสงอาทิตย์  มีเมตตาเล่าถึงที่มาของกองทุนว่ามีความสำคัญ และมีแนวความคิด นี้ได้อย่างไร        กองทุนนี้เริ่มมาจากกลุ่มของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     แล้วก็เครือข่ายที่ร่วมกันประมาณสิบเครือข่าย 10องค์กร เห็นความสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้มีแนวคิดมีอะไรผลักดันกันไปเรื่อยๆ ก็ยังไม่เป็นเม็ดเป็นผล ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง มีแต่พูดมันก็ไม่ดี เราก็น่าจะทำด้วย ก็เลยคิดว่าถ้าเรารวมตัวกันทำขึ้นมา เป็นองค์กรขึ้นมา เป็นหน่วยงาน เรียกว่ากองทุนใช่ไหม เป็นกองทุนขึ้นมา และก็ติดตั้งให้กับโรงพยาบาลที่ยินดีเข้าร่วม ซึ่งกระจัดกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ให้ทั่วประเทศ ซึ่งเบื้องต้นก็ใช้ 7 โรงพยาบาลเป็นหลัก คือโครงการแรกเราจะใช้ 7 โรงพยาบาล แล้วก็ตั้งเป้าไว้ที่ 30 กิโลวัตต์ เพื่อจะให้ลดค่าไฟลง เดือนละประมาณ18,000 บาท หรือว่าปีละสองแสนกว่าบาท อันนี้ก็เป็นแนวคิดขึ้นมา แล้วก็มีคณะกรรมการก็ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วก็มาวางแผนคัดเลือกว่าลงโรงพยาบาลไหน ก็ได้มาลงที่โรงพยาบาลแก่งคอยเป็นแห่งแรก ที่นี้ก็มีผู้มีจิตศรัทธาขอบริจาค แล้วก็ระบุว่ามาลงที่โรงพยาบาลแก่งคอยเป็นหลัก อันนี้ก็เลยได้เริ่มอันดับที่หนึ่ง ส่วนอันดับถัดไปก็จะเรียงลำดับเรื่อยๆ ถ้าครบ ถ้างบประมาณเราครบที่สองเราก็จะลงแห่งที่สองแห่งที่สามไปเรื่อยๆ คือก็จะรอเงินบริจาคเป็นหลัก ทำไมถึงต้องเลือกเป็นโรงพยาบาล ทำไมไม่เลือกเป็นสถานที่อื่นๆ เช่น โรงเรียน         ด้วยข้อจำกัดของเรื่องของงบประมาณ ซึ่งเราต้องพึ่งเงินของบริจาคอย่างเดียว จริงๆ มันทุกที่ๆ ใช้ไฟเป็นหลัก  ก็คือหน่วยงานของราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือว่าที่ไหนที่ใช้ไฟกลางวันเป็นหลัก อันนี้จุดคุ้มค่าหรือความคุ้มค่าของระบบโซลาร์เซลล์  ระบบผลิตไฟฟ้าใช้เองจะคุ้มมาก แต่ว่าโรงพยาบาล รู้สึกว่าจะเป็นเป้าหมายหลัก เพราะว่าอย่างการที่ระดมทุนวิ่งสนับสนุนหาทุนช่วยโรงพยาบาล ต่างคนก็ต่างช่วยกันถ้าเราทำแสงอาทิตย์เข้าไปอีกก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลลงบางส่วน และก็จะสามารถนำไปพัฒนาหรือว่าไปปรับปรุงบริการหรือว่าไปลดไปเติมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของโรงพยาบาลได้ ซึ่งก็มาเน้นทีโรงพยาบาล ส่วนหน่วยงานอื่นอาจจะเดือดร้อนเหมือนกัน แต่ว่าระดับความสำคัญแล้วโรงพยาบาลจะหนักสุด ก็เลยคัดเลือกโรงพยาบาลก่อน ไม่ใช่ว่าหน่วยงานอื่นไม่ทำนะ อันอื่นก็จะทำแต่ว่าขอดูโรงพยาบาลก่อนเพราะว่าด้วยโครงการที่เปิดตัวใหม่ แล้วก็ยังไม่เคยมีมาก่อนก็ทำให้การระดมทุนการบริจาค ก็อาจจะช้านิดหน่อยแล้วการลงทุนหนึ่งครั้ง ในหนึ่งโรงพยาบาลใช้ได้ประมาณนานไหมครับ         ถ้าอายุของอุปกรณ์ แผ่นโซลาร์เซลล์เป็นหลัก  แล้วก็มีตัวอินเวอร์เตอร์  แผ่นโซล่าเซลล์จะอยู่ได้ 25 ปี อายุการ ใช้งาน แล้วจะค่อยลดลงปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าประมาณ 25 ปี ยังมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยังใช้ได้ ส่วนอุปกรณ์สำคัญอันดับที่สองก็คือตัวแปลงไฟ หรือว่าอินเวอร์เตอร์เขาจะรับประกัน 12 ปี หมายความว่า 12 ปี เราก็ต้องเปลี่ยนครั้งหนึ่ง อยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่าย ส่วนการซ่อมบำรุง ก็มีครั้งเดียวก็คือเปลี่ยน นอกจากนั้นก็คือการบำรุงรักษา คือรักษาความสะอาดไม่ให้แผ่นมีฝุ่น มีอะไรแค่นั้นเอง ไม่มีการบำรุงรักษาอย่างอื่น  เหตุที่เลือกโรงพยาบาลแก่งคอยเป็นแห่งแรก        แก่งคอยก็อยู่ในเป้าหมาย แล้วก็มีผู้มีจิตศรัทธาอยู่ในพื้นที่ คือมีคนในพื้นที่ขอบริจาค และก็ระบุว่าให้ติดตั้งที่โรงพยาบาลแก่งคอย เราก็ทำตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค ถ้ามีโรงพยาบาลอื่นติดต่อขอเข้ามาลักษณะเดียวกันนี้ เราก็จะทำให้เขาก่อน จะมีโครงการต่อเนื่องหลังจากนี้เป็นอะไรบ้างครับ     สถานที่เป้าหมายต่อไป โรงพยาบาลต่อไปก็จะเป็นที่โรงพยาบาลหลังสวน  ส่วนอันดับที่สามก็จะไป  สังขละบุรี อันนี้ก็จะไล่ๆ กันไปตามลำดับ คือมีเงินบริจาคครบทำได้ตามเป้าหมายคือ 30 กิโลวัตต์   33 กิโลวัตต์ เราก็ทำให้ ทำให้ตามลำดับไป เราก็ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณล้านเอ็ด (1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล) แต่จริงๆ แล้วทางผู้ติดตั้งผู้รับเหมาเขาก็ลดราคาให้นะ มีส่วนบริจาคก็คือทำช่วยกัน ไม่คิดกำไร ประมาณนี้ งบจริงๆ ต่ำกว่าล้าน ได้การตอบรับดีไหมในการรับบริจาค การลงทุนเพื่อโรงพยาบาล     ประชาชนให้การเป็นสมาชิกในแฟนเพจ หรือว่าเฟซบุ๊คมันก็ยังไม่เปิดกว้าง เพราะสื่อหลักๆ ก็ยังไม่ค่อยกระจายไปมาก คนยังไม่รู้จักหน้าเฟซของโครงการฯ  ถ้าโครงการนี้คนรู้จักมาก อาจจะมีการช่วยเหลือ มีการระดมทุนเข้ามาช่วย แต่ก็ขยับไปก่อน เหมือนว่าเรามีกำลังแค่นี้เราก็ทำไปก่อน ถ้าครบโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งแล้วมีเป้าหมายที่จะทำโรงเรียนต่อไปนพ.ประสิทธิ์ชัย มังจิตร์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เกณฑ์ในการคัดเลือกโรงพยาบาลร่วมโครงการ        ก็เอาโรงพยาบาลที่สนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ก่อน แล้วก็คิดว่ามีประโยชน์กับโรงพยาบาลก็เชิญชวนโรงพยาบาลที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการ ตรงนี้อาจจะเป็นธีมที่ว่า  หนึ่งก็คือเพื่อลดค่าใช้จ่ายโรงพยาบาล  ช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรู้จักคุณค่าของพลังงาน แล้วก็เป็นพลังงานที่สะอาด ที่จะมาใช้ตรงนี้นะครับ คือถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ โดยการระดมทุนจากประชาชน ประชาชนก็จะมีความตระหนักเรื่องนี้ด้วย เข้าใจถึงโซลาร์เซลล์มากขึ้น และประชาชนก็จะได้บุญจากการมาบริจาคให้โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟเยอะ ก็จะสามารถที่จะมีงบประมาณใช้จ่ายในการซื้อครุภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วยได้อีกมากขึ้น โซลาร์เซลล์จะช่วยประชาชนและผู้ป่วยในด้านใดบ้าง         ตรงๆ เลยว่าบริจาคมา อย่างเช่นที่นี่บริจาคมา 33 กิโลวัตต์   ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละประมาณสองหมื่น ปีละประมาณสองแสน แล้วสองแสนนี่เราก็ย้อนกลับไปในการซื้อยา ซื้อเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ครุภัณฑ์ทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วยได้ อันนี้ตรงๆ เลยที่ได้จากตรงนี้ที่แก่งคอย 33.75 กิโลวัตต์ คือติดตั้งเรียบร้อยแล้ว พร้อมใช้ทุกอย่าง เปิดใช้งานวันนี้นะครับ (3 เมษายน 2562) สมมติว่าเราจะต่อขยายเพิ่มไปในอนาคตอีกได้ไหมครับ         เอาจริงๆ ที่นี่ก็ 33 กิโลวัตต์คงจะไม่เพียงพอสำหรับในส่วนโรงพยาบาลแก่งคอย จริงๆ ต้องใช้อีก อีกสักประมาณ 15 เท่า เพราะเราใช้ค่าใช้จ่ายไฟเดือนละประมาณสี่แสน ถ้าใช้ตรงนี้ก็ต้องใช้อีกประมาณสิบกว่าชุด เราก็ค่อยๆ พยายามขยายจุดต่ออื่นๆ อีกต่อๆ ไป ยิ่งขยายได้เยอะเราก็มีค่าใช้จ่ายที่ลดลง แล้วสามารถมาดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น สำหรับคนที่อยากบริจาคเพิ่มเติม คุณหมอจะฝากข้อความอะไรบ้างไหมครับ        การบริจาคอันนี้เป็นการทำบุญที่เป็นการทำบุญต่อยอด คือ        บริจาคเสร็จเรียบร้อยไม่ได้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง บริจาคครั้งเดียวมีการใช้งานได้ถึง 25 ปี  ตรงนี้ก็จะเป็นการสะสมบุญ บริจาคทีเดียวก็คือมีบุญไปถึง 25 ปี อันนี้ก็จะเป็นส่วนที่เกิดประโยชน์กับโรงพยาบาลแล้วเราก็คิดว่ากระตุ้นที่จะทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของพลังงานมากขึ้นด้วยครับ        หนึ่งก็คือ โรงพยาบาลก็เป็นส่วนที่ให้บริการประชาชน ถ้าเกิดสามารถมาบริจาคให้โรงพยาบาลแก่งคอยหรือโรงพยาบาลอื่นได้ ก็จะทำให้โรงพยาบาลลดค่าใช้จ่าย แล้วมีเงินไปใช้จ่ายดูแลประชาชน คนเจ็บป่วยได้ดีขึ้น อย่างที่สองเราคงต้องมาช่วยกันประหยัดพลังงานให้มากขึ้น ทำให้ลดภาวะโลกร้อน ลดการใช้พลังงานจากส่วนที่ไม่ได้อยากตัดออกจากธรรมชาติ จากถ่านหิน หรือจากส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็จะเป็นผลระยะยาว PM 2.5 ก็ลดลง  โรคภัยไข้เจ็บก็ลดลง หมายเหตุ        “กองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) กองทุนเพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายส่วนประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช), สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ), เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, สมาคมประชาสังคมชุมพร ,มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด , Solarder, โรงเรียนศรีแสงธรรม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด), เครือข่ายสลัม4ภาค, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green, มูลนิธิสุขภาพไทยและ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ต้องการบริจาคสนับสนุนกองทุนร่วมบริจาคกับกองทุนแสงอาทิตย์ได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 การบริจาคเงินสามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 พระอาทิตย์เป็นของเรา “กองทุนแสงอาทิตย์” เพื่อคุณภาพชีวิตทุกคน

ฉลาดซื้อ ฉบับส่งท้ายปีกับเรื่องราวดีๆ ของโครงการกองทุนแสงอาทิตย์ และอัพเดทสถานการณ์พลังงานของบ้านเรา กับผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญ ด้านการบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน นักวิชาการอิสระที่ติดตามและเสนอความเห็นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพลังงานทางเลือก ปัจจุบันเป็นอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาพลังงานของประเทศไทยทั้งระบบประมาณ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP ประมาณ15-16 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ปีไหนน้ำมันถูกหรือน้ำมันแพง ซึ่งบางปีขึ้นไปถึง 19 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันสูงมาก ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่าใน 2 ล้านล้านนั้นมันนำเข้า เราพึ่งตัวเองได้ประมาณไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เกือบๆ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเราต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้ามา ในจำนวน 2 ล้านล้านนี้ ก็จะเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 6-7 แสนล้านบาทต่อปี ทีนี้โดยรูปการแล้วพลังงานนี้ก็ถูกผูกขาด พลังงานฟอสซิลมันถูกผูกขาดและรวมศูนย์ และมีผู้ลงทุนอยู่ไม่กี่ราย ในขณะที่บริการให้กับคนทั้งประเทศ ผู้ซื้อมีจำนวนมาก แต่ผู้ผลิตมีน้อยนิดเดียว ผูกขาดก็ส่งผลกระทบหลายเรื่อง เรื่องสำคัญก็คือเรื่องโลกร้อน ซึ่งเราไปตกลงที่ปารีสเอาไว้จนต้องลด 15 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ว่าไป หนึ่งโลกร้อน สองสร้างความเหลื่อมล้ำเพราะว่าคนส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ซื้ออย่างเดียว ผลิตไม่ได้ ผู้ผลิตก็ผูกขาด ผู้ซื้อกระจายทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่เรามีแหล่งพลังงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแดด ลม และชีวมวล ทีนี้แดดกับลมเมื่อก่อนมันแพง โดยเฉพาะแสงแดด พลังงานโซลาร์นี้มันแพงมาก หน่วยหนึ่งเราเรียกว่าสู้ไม่ไหว ส่วนชีวมวลก็เรามีเองของเหลือจากการเกษตร เช่น ปาล์ม ซึ่งมีทะลายปาล์มหรือน้ำเสียจากจำนวนการสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งตัวนี้เราเอาทำเป็นก๊าซชีวภาพได้ มีคุณสมบัติเหมือนแก๊สที่เขาขุดจากใต้ดิน เหมือนกันเลย เพียงแต่ว่ามันกระจายอยู่ตามท้องถิ่น จังหวัด ใกล้ๆ โรงผลิตน้ำมัน เสร็จแล้วสิ่งเหล่านี้มันก็ถูก ใช้คำว่าถูกกีดกันจากรัฐ เช่น อ้างว่าไม่เสถียรบ้าง ไม่มั่นคงบ้าง ซึ่งมันก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง สายส่งเต็ม ที่เราได้ยินกันอยู่นะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางทีผมใช้คำว่าจริงบ้างไม่จริงบ้าง เช่นคำว่า “ไม่เสถียร” น้ำมันปาล์มซึ่งตอนนี้ออกมาล่าสุด คลิปไม่บอกชื่อผู้ผลิตด้วย ที่บอกมานี้ บอกว่าน้ำมันปาล์มนี้ ของเสียจากน้ำมันปาล์มมันเป็นฤดูกาล แล้วบางฤดูกาลก็ขาด แปลว่าอย่างไง ซึ่งถ้าคุณอนุญาตให้เขาทำ เขาก็สามารถเก็บเชื้อเพลิงไว้ใช้ทั้งปีได้ ปาล์มนี้มันมีฤดูเหมือนกัน แต่ว่านิดเดียวเอง ต่ำสุดกับสูงสุดกระจายกันอยู่ทั้งปีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาก็สามารถสต็อกเชื้อเพลิงเอาไว้ได้ พื้นที่เยอะแยะไป แล้วที่ผมไปดูในโรงน้ำมันปาล์มที่กระบี่ พวกทหารพาไปดู ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องกรรมการสามฝ่าย ก็มีฝ่ายทหาร ฝ่ายชาวบ้าน และฝ่ายทุน ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและชาวบ้านค้าน พึ่งไปดูข้อมูลเขาบอกว่าเขาสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง 24 ชม. 300 วันติดต่อกันไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะเอาทั้งปีเหรอ เขาก็จัดการได้ ใช่ไหม จัดการได้ มีหลายโรงที่ขออนุญาตอยู่ ถ้าเขายังไม่ได้รับอนุญาต แล้วเขาอ้างว่าสายส่งเต็ม ที่จริงคำว่าสายส่งเต็มนี้มันเป็นการบิดเบือน ในต่างประเทศอย่างเยอรมันเขาจะมีกฎหมายเป็นระเบียบเลย เขาบอกว่ามันอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญว่าจะใช้ใครใช้ก่อน สายส่งก็เหมือนกับถนนจะให้ใครวิ่งก่อน อย่างในกรุงเทพฯ ห้ามรถสิบล้อวิ่งเวลานั้นเวลานี้ มันห้ามได้ สายส่งก็เหมือนกัน เขาจะให้ผู้ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่เป็นมิตร พลังงานหมุนเวียนนี้ส่งได้ก่อน ข้อที่หนึ่งให้พวกนี้ส่งได้ก่อนโดยที่ไม่จำกัดจำนวน สองค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นภาระของคนทั้งประเทศ ข้อหนึ่งส่งได้ก่อน ข้อสองไม่จำกัดจำนวน และข้อสามก็คือว่าถ้าค่าใช้จ่ายสูงขึ้นก็เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ทีนี้เราก็มาบอกว่ามันเต็ม ที่มันเต็มเพราะว่าอะไร เพราะว่าเราไปให้พลังงานฟอสซิลส่งก่อน ขายได้ก่อน เพราะการบิดเบือนความจริง ที่จริงจัดลำดับความสำคัญอย่างนี้ ทำไมต้องจัดลำดับความสำคัญอย่างนี้ เพราะว่าเชื้อเพลิง พลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงแดด พลังงานลม หรือชีวมวลนี้มันกระจายอยู่กับคนทั่วไปๆ ก็ให้เขาผลิตไปก่อน และมันไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วมันก็กระจายรายได้ แล้วมันก็ไปเพิ่มผลิตจากปาล์ม ใช่ไหม มันไปทำให้ราคาปาล์มสูงขึ้นได้ เพราะว่าเขาขายไฟฟ้าได้ เอากำไรจากไฟฟ้าไปหมุนปาล์มได้ ราคาอาจจะสูงขึ้น มีตัวเลขอยู่ แต่ผมจำตัวเลขไม่ได้ เรื่องพลังงานต้องคิดให้เป็นระบบเรื่องของพลังงานมันต้องคิดทั้งระบบ จะคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ เรื่องกำไรขาดทุนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคิดถึงสิ่งแวดล้อม น้ำเสียคุณปล่อยไป คุณไปทำลายลูกหอยลูกปู ซึ่งเป็นอาหารของชาวบ้านอีก อาหารของคนทั้งประเทศอีก ต้องคิดเป็นทั้งระบบเลย  พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนสถานะตอนนี้อยู่ตรงไหน พลังงานทดแทน คำว่าทดแทนนี้ผมค้าน คือคำว่า “ทดแทน” มันไม่มีศัพท์นี้ ที่ถูกต้องใช้ “พลังงานหมุนเวียน” เพราะคำว่า “ทดแทน” ไม่มีนิยาม เอาอะไรไปทดแทนอะไร เอาถ่านหินไปทดแทนนิวเคลียร์ หรือ เอานิวเคลียร์มาแทนก๊าซธรรมชาติ มันก็ทดแทนกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมันทำให้เบลอหมด ความหมายมันก็เบลอหมด แท้ที่จริงแล้วก็คือ พลังงานหมุนเวียนกับพลังงานฟอสซิล พลังงานจะมีสองตัวเท่านั้น คือ หมุนเวียน กับ ฟอสซิล ส่วนนิวเคลียร์นี้มันตีความยากนิดหนึ่ง มันจะเป็นนิวเคลียร์ก็ไม่ใช่ มันจะเป็นหมุนเวียนก็ไม่ใช่ แต่รวมแล้วมันรวมศูนย์มันผูกขาด แล้วมันก็มีน้อยอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็พูดสองอย่างคือ ฟอสซิล กับ หมุนเวียน renewable  แปลว่าเอามาใช้ใหม่ได้ มันไม่หมด renew แปลว่า มันเหมือนหางจิ้งจก พอขาดไปมันก็สร้างใหม่ มันไม่หมด        พลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ คือโซลาร์หรือแสงแดด ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพราะว่าแดดอยู่ที่หัวเรา เราเข้าถึงได้ง่ายมากเลย มีเยอะมาก แต่ฟอสซิลอยู่ใต้ดิน 4-5 พันเมตร มีคนไม่กี่คนในโลกนี้ที่จะใช้ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาส่งเสริมตรงนี้ว่า ผู้บริโภคที่เคยถูกบังคับให้ซื้ออย่างเดียว เราก็เลยสามารถที่จะผลิตเองได้ด้วย ขายได้ด้วย ผู้บริโภคก็จะกลายมาเป็นเรียกว่าเป็น Pro-Sumer ก็คือ Production บวกกับ Consumer เป็นศัพท์เกิดมา 30-40 ปีแล้ว ของ ท็อปปา ถ้าผมจำไม่ผิดนะ เดวิล ทอปปา เพราะฉะนั้นไฟฟ้านี้ในความเป็นจริงมันสามารถเดินได้สองทาง ภายในสายส่งไฟฟ้าเดินได้สองทาง ไปก็ได้กลับก็ได้ แต่พอเรามาใช้ในบ้านเรา มันแค่ไหลเข้าบ้านเราอย่างเดียว มันไม่ได้ไหลออกจากบ้านเรา แล้วขณะเดียวกันเงินของเราก็ไหลสวนกับไฟฟ้า เงินไหลออกจากกระเป๋าเราไปที่ต้นทาง แต่ไฟฟ้ามาจากต้นทางเป็นพันพันกิโลเมตร จากแม่เมาะเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แล้วเงินเราก็ไหลจากกรุงเทพฯ ไปสู่บริษัทไฟฟ้า ซึ่งมันผิดหลัง ทั้งๆ ที่เขาให้เดินสองทางได้ เราเดินสองทางก็คือว่า ทันทีที่เราผลิตเองได้ก็ส่งออก ส่งออกจากหลังคาบ้านเรา พอกลางวันเราผลิตจากโซลาร์เซลล์ ปกติคนส่วนใหญ่เขาไม่อยู่บ้านกัน เราก็ไม่ได้ใช้ไฟในบ้าน เพราะฉะนั้นพอเราผลิตได้มันก็นี้มันก็ต้องส่งไปสาย ตอนกลับบ้าน พระอาทิตย์ก็กลับบ้านเหมือนกัน พอพระอาทิตย์กลับบ้านเราไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อเราไม่มีไฟฟ้าใช้เราก็เอาไฟฟ้าจากสายส่งเข้ามาใช้ แล้วพอสิ้นเดือนก็หักลบกลบหนี้กัน ที่เราส่งออกไปกับที่เรานำเข้ามาใช้มากกว่ากัน คิดบัญชีกัน เรียกว่าเป็น net metering ซึ่งตรงนี้เขาใช้กันทั่วโลก ไม่ว่าประเทศเคนยา ปากีสถาน อินเดีย อเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมัน ฯลฯ เขาก็ใช้ตัวนี้กันทั้งนั้น ทั่วโลกเขาก็ใช้ตัวนี้กัน แต่บ้านเรานี้ไม่ยอมให้ใช้ เนื่องจากอ้างเหตุผลสารพัด เช่น ไม่เสถียร สายส่งเต็ม ต้องเสียค่าแบ็คอัพไฟฟ้าไว้ให้กับกลางคืน เขาเรียกแบ็คอัพ เพราะว่า พอเราจะใช้ พระอาทิตย์ก็กลับบ้านแล้ว ใช่ไหม ก็ดึงเข้ามาตอนค่ำ ไฟฟ้าเก็บไว้ได้ดึงเข้ามาใช้ ตรงนี้เขาไปอ้างว่าเป็นค่าแบ็คอัพ ซึ่งผมเรียกว่าเป็น ภาษีแดด ตอนนี้รัฐไทยเก็บจากบริษัทใหญ่ๆ อยู่ แต่ในหลังคาบ้านเขาไม่ยอมให้ติด ถ้าติดแล้วไฟย้อนกลับเขาก็จะมาเปลี่ยนมิเตอร์เป็นดิจิทัล ซึ่งทำให้แรงดึงดูดในการที่เราจะติดตั้งโซลาร์เซลล์นี้มันไม่มี มันก็เลยไม่เกิด ที่เรากำลังทำเรื่องโครงการโซลาร์ กองทุนแสงอาทิตย์นี้ ก็เกิดขึ้นจากตรงนี้ ซึ่งเขาทำกันทั่วโลกแล้ว แต่บ้านเราไม่ทำกองทุนโซลาร์แท้จริงคืออะไรกองทุนโซลาร์นี้เราเริ่มต้นด้วยการหาทุนเพื่อที่จะไปติดโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาล เริ่มต้นโรงพยาบาลก่อน ต่อไปจะเป็นโรงเรียนและเป็นชุมชนต่างๆ ก็ว่าไป ทำไมเราถึงเลือกโรงพยาบาล เพราะว่าตอนนี้โรงพยาบาลขาดทุนอยู่ ต้องจ่ายเงินโรงพยาบาลเดือนละเป็นหลายแสน บางทีก็หลายล้าน เพื่อที่จะเสียค่าไฟฟ้า ทั้งๆ ที่หลังคาก็ว่างอยู่ โรงพยาบาลนี่กลางวันก็ใช้ไฟ เสาร์อาทิตย์ก็ใช้ไฟ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเรื่องอะไรเราจะปล่อยให้พลังงานมันหายไป เราก็มาผลิต ทีนี้เหมือนที่หมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา พูด เราผลิตไฟฟ้าจากหลังคานี้มันไม่ใช่ได้แค่ไฟฟ้าอย่างเดียว มันได้จิตสำนึกมาด้วย จิตสำนึกของคน ของพยาบาล ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตรงนี้จิตสำนึกมันสร้างได้ แต่ว่ามันค่อยๆ เกิดจากโครงการเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราหวังว่า “โครงการพลังงานกองทุนแสงอาทิตย์” เริ่มจากจุดเล็กๆ เอาเงินที่คนบริจาค ซึ่งเมื่อก่อนนี้ก็บริจาคให้วัด ส่วนใหญ่นะ ต่อไปนี้ถ้าคิดถึงเรื่องคนยากคนจนทางโรงพยาบาล เราก็มาที่ชุมชนในโรงพยาบาลเขา ให้เขาลดค่าไฟแล้วเอาเงินที่ลดได้ไปซื้อยาซื้อแพมเพิสให้คนไข้ ซึ่งยากไร้อยู่ ก็เป็นการทำบุญที่อยู่ได้นาน โซลาร์เซลลล์นี้จะอยู่ได้ประมาณ 25 ปี เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้เราคิดว่า 1 กิโลวัตต์นี้ประมาณ 35,000 บาท แต่มันอยู่ได้ 25 ปี มันจะได้ 5 เท่า สมมติเราทำบุญไป 100 บาท มันจะทวีคูณไปเป็น 500 บาท เพราะว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นมันสูงกว่าการลงทุน การลงทุนนี้คุ้มทุนนี้เขาเรียกว่าประมาณ 5-6 ปีเท่านั้น นี่เป็นการทำบุญในมิติใหม่ เงินเราจะหมุนไปๆ อย่างรวดเร็ว 5 เท่า ซึ่งตอนนี้เราก็มีโครงการที่จะติดอยู่ 7 โรงพยาบาล 30 กิโลวัตต์ ก็คิดๆ ประมาณ 1.1 ล้านต่อโรง 7 โรงก็ประมาณ 7.7 ล้าน ซึ่งตอนนี้เมื่อกี้ดูตัวเลขล่าสุด เปิดตัวมาตั้งแต่วันที่ 29 วันนี้ก็ประมาณ 4-5 วัน ตอนนี้เราได้ 6 หมื่นแล้ว ก็ทยอยเข้ามา ที่สำคัญเงินบริจาคหักภาษีได้ เงินบริจาคหากบริจาคตอนนี้ถึงสิ้นเดือนธันวาฯ หักของปีนี้ได้ บริจาคปีหน้าก็หักภาษีของปีหน้า ดังนั้นก็ขอเชิญชวนช่วยกันบริจาค เพราะว่าบางโรงพยาบาล เมื่อก่อนที่เชิญหมอมา ผอ.โรงพยาบาลชุมพร บอกว่าโรงพยาบาลเขาถูกจัดระดับเป็นระดับ 7 ถ้าเป็นเอกชนก็ล้มละลายแล้ว เป็นหนี้เยอะ เป็นหนี้อยู่ 85 ล้านจากเงินได้ต่อหัวที่ สปสช.เขาให้มา แล้วหมอเขาก็จะทำให้ลดลงมาแล้วเหลือ 65 เป็นหนี้อยู่ 65 ล้าน แต่บางโรงก็ไม่ถึง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นหนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นการช่วยโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการช่วยเชิงโครงสร้างเชิงระยะยาวให้เขาพึ่งตัวเองได้ระดับหนึ่ง แล้วก็ไปสร้างจิตสำนึกให้กับคนของโรงพยาบาลเองด้วยพลังงานโซลาร์จะช่วยโรงพยาบาลประหยัดเดือนหนึ่งกี่เปอร์เซ็นต์30 กิโลวัตต์นี้ก็ประมาณ เอา 30 กิโลวัตต์คูณด้วย 135 ก็จะได้เป็นหน่วยต่อปี แล้วคูณด้วย 4.5 บาท เท่ากับ 18,000 ต่อเดือน แล้วคูณด้วย 12 เท่ากับ 210,000 นี่คือประหยัด 2 แสนต่อปี เอาตัวเลขกลมๆ แล้วมันอยู่ได้ถึง 25 ปี ก็เอา 25 คูณ เท่ากับ 5 ล้าน(จากที่เขาขาดทุนก็จะช่วยตรงนี้) เราลงทุน 1.1 ล้าน ใน 25 ปี เราจะได้ 5.5 ล้าน นี่คือพลังบุญที่มันทวีคูณขึ้นไป(คิดที่ค่าไฟฟ้าราคาอยู่ที่ 4.5 บาทต่อหน่วย)        สถานการณ์ต่างๆ เราจะอัพเดทตลอด สามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ได้ thailandsolarfund.org บริจาคที่นั่นแล้วก็มีใบเสร็จออกมาให้ได้เลย ซึ่งออนไลน์ ไม่ต้องมาบริจาคที่มูลนิธิก็ได้ ทั้งโครงการทั้งหมดนี้อยู่ในนามของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทันทีที่เราได้ 1.1 ล้าน เราก็จะทำที่โรงพยาบาลแรก ซึ่งยังไม่รู้ว่าโรงพยาบาลไหน  ก็คัดเลือกกันไว้แล้ว ดูความเหมาะสม ดูความกระตือรือร้นของแต่ละโรงพยาบาลด้วย เขาก็เงินเข้ามาสมทบ คนของเขาตื่นตัวไหม เสร็จโรงที่หนึ่งก็ดำเนินการโรงที่สอง ระหว่างนั้นเราก็รับบริจาคไปเรื่อยๆ ไม่ได้กำหนด แต่ว่าเดือนมกราฯ นี้เราคาดหวังว่าควรจะได้โรงแรก พี่ตูนวิ่งได้เยอะแยะ แล้วเราเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 15 องค์กร ซึ่งแต่ละองค์กรก็จะมีเครือข่ายของตัวเองอยู่ ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณเป็นประธาน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่าเราจะได้จิตสำนึกของคนเพื่อมาลดโลกร้อน ขณะเดียวกันเราจะส่งแรงให้รัฐขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพราะรัฐกีดกัน net metering อยู่ แต่ถ้ามีกระแสแบบนี้ สร้างกระแสแบบนี้ มีข้อแนะนำอย่างไรสำหรับการเริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์คือตัวบ้านผมนี้ยังไม่ติดเลย เพราะว่าคนที่เขาติดแล้ว คนที่ค้านโรงไฟฟ้า สมมติค้านรัฐหน่อยก็จะถูกกลั่นแกล้ง เป็นที่หมายปอง ถ้าไปติดปุ๊บเขาจะมาถอดมิเตอร์ออกไป ทำให้ไฟฟ้าออกไปไม่ได้ หรือตอนนี้ก็ต้องติดอุปกรณ์ตัวหนึ่งเพื่อไม่ให้ไฟออก มันก็เลยลงทุนไปเปล่าประโยชน์ ฉะนั้นไม่คุ้มทุน คือคนติดแล้วนี่ลงทุน 1 กิโลวัตต์ ประมาณ 35,000 บาทใช่ไหม ถ้า 600 มันก็ประมาณ 2-25,000 บาท ประมาณนั้น พอติดแล้วมันจะจัดการกันเอง ไฟฟ้าไม่ต้องไปยุ่งมัน จะกระติกน้ำร้อนหรือว่าดูทีวีมันจัดการกันเอง (ลงทุนเล็กๆ อย่างนี้ก่อน) ใช่ แล้วมันจะคุ้มทุนประมาณ 4-5 ปีคือรอเวลาที่จะมีโครงการรับซื้อไฟใช่ ที่ออสเตรเลียเขาประกาศเป็นนโยบายแล้ว ติดแบตเตอรี่ 1 แสนหลัง ภายในกี่ปีผมจำตัวเลขไม่ได้ บ้านละ 2,000 เหรียญที่รัฐจะอุดหนุน  แต่สำหรับประเทศไทยเราไม่รอแล้ว เรารณรงค์แล้ว รณรงค์เรื่องติดโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันก็สร้างจิตสำนึกสร้างการเรียนรู้ของสังคมไทยว่า เราสามารถพึ่งตัวเองได้ว่าแสงอาทิตย์มีประโยชน์แล้วคนเหล่านี้ คนเล็กๆ เหล่านี้มารวมตัวกันบริจาคคนละร้อยสองร้อยเพื่อไปให้กับโรงพยาบาล ให้เขาเห็นสิ่งนั้น ในขณะเดียวกันเขาก็เรียนรู้ เมื่อเขาเรียนรู้เขาก็ไปคิดเองได้ว่าเขาควรจะทำอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ เขาควรจะไปผลักนโยบายในระดับรัฐยังไง เขาควรจะปรับปรุงตัวเองยังไง         ผมเคยพูดไว้วันที่แถลงข่าวว่าคนเล็กๆ เหมือนกับผีเสื้อขยับปีก บางจังหวัดสามารถทำให้เกิดพายุทอนาโดได้ แต่มันไม่ได้เกิดทันทีหรอกนะ ขยับปีก ทฤษฎีเขาว่า ใช้หลักผีเสื้อขยับปีกที่ฮองกงวันนี้ อาจจะส่งผลให้เกิดพายุทอนาโดในสหรัฐอเมริกาในอีก 3 เดือนต่อไป เพราะฉะนั้นของเราไม่ใช่ขยับปุ๊บได้ปั๊บ แต่ตรงนี้มันเป็นการสะสมพลังไปในสังคมว่าคนเล็กๆ อย่างเราก็มีอำนาจ ก็มีพลังที่จะสามารถแสดงพลังออกมาให้สังคมได้เห็น และร่วมกันสร้างโลกใหม่ที่เราอยากจะเห็น ที่ไม่ร้อน ที่จะแก้ปัญหาโลกร้อน โลกร้อนเป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลิตน้ำดื่มสูตรไม่ผสมเชื้อโรค (ตอนที่ 1)

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายประชานิยม โดยสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านให้ดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างรายได้นั้น สิ่งที่สังเกตเห็นคือ มีหลายพื้นที่นำเงินมาลงทุนตั้งเป็นสถานที่ผลิตน้ำดื่มขึ้นมากมาย โดยมักจะมีบริษัทมารับจัดการสถานที่และติดตั้งระบบกรองโดยขายไอเดียว่าจะดำเนินงานต่างๆ ให้เสร็จเลย แต่การผลิตอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักเพียงอย่างเดียวนั้น แม้จะดูไม่ยุ่งยากแต่มันก็มีรายละเอียดที่เราต้อระมัดระวังและใส่ใจมากพอสมควรเช่นกัน มิฉะนั้น เราอาจเผลอไปผลิตน้ำดื่มสูตรผสมเชื้อโรคโดยไม่ตั้งใจก็ได้อย่างแรกที่เราต้องตั้งสติคือ อย่าเพิ่งตัดสินในเชื่ออะไรง่ายๆ (โดยเฉพาะบริษัทที่จะมาเอาเงินเรา) ต้องพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตน้ำให้เข้าใจก่อน อันที่จริงขั้นตอนการขออนุญาตผลิตน้ำไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย มีเพียงสองขั้นตอนเท่านั้นเอง ขั้นตอนแรกคือการขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหารประเภทน้ำดื่ม เมื่อผ่านการตรวจสอบและขออนุญาตแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนที่สองคือ การขอ อย.ของน้ำดื่มแต่ละตรา ซึ่งเราจะทำกี่ตราก็ได้ในขั้นตอนแรกที่จะขอสถานที่ผลิตน้ำดื่มนั้น เราต้องทำให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด เรียกง่ายๆ ว่า เกณฑ์จีเอ็มพี (GMP) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต หากเราทำได้ตามเกณฑ์นี้แล้วรับรองว่าคุณภาพอาหารเราจะสม่ำเสมออย่างมีมาตรฐาน หลักเกณฑ์ง่ายๆ คือสถานที่เราต้องเป็นสัดส่วนแยกให้ห่างไกลจากแหล่งสกปรก มีการปิดกั้นมิให้สิ่งโสโครกหรือผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาป้วนเปี้ยนในสถานที่ผลิต ห้องน้ำห้องส้วมก็ต้องแยกให้ชัดเจนอย่าเข้ามาอยู่ใกล้สถานที่ผลิต มีการติดตั้งอ่างล้างมือทั้งหน้าห้องส้วมและบริเวณผลิต มีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะห้องบรรจุต้องแยกให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในห้องนี้ส่วนการตัดสินใจจ่ายเงินค่าเครื่องมือไม้เครื่องมือเกี่ยวกับระบบการกรองน้ำก็ต้องพิจารณาให้ดี อย่าเพิ่งไปเชื่อผู้ขายเครื่องกรองต่างๆ มิฉะนั้นจะเสียเงินไม่คุ้มค่าหรือไม่ได้ผลให้เจ็บใจที่เสียรู้เขา อันดับแรกคือ เราต้องรู้ว่าน้ำที่จะมาผลิตนั้นมีคุณภาพดีเลวขนาดไหน จะได้เลือกใช้เครื่องกรองให้เหมาะสม ซึ่งจะรู้ได้ก็โดยการตรวจวิเคราะห์ โดยสามารถส่งตรวจวิเคราะห์ได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตพื้นที่ (หากส่งห้องปฏิบัติการของเอกชน ก็ต้องเลือกห้องที่ได้รับการรับรองคุณภาพในการตรวจจากทางราชการ) ถ้าไม่อยากเสียเงินเอง ก็ให้คนที่จะมาขายเครื่องกรองออกเงินให้เลย ไหนๆ ก็จะขายแล้วนี่ และจะเป็นประโยชน์ด้วย เพราะต้องใช้ผลวิเคราะห์แสดง เวลาเจ้าหน้าที่มาตรวจในลำดับต่อๆ ไปด้วย (แนะนำให้ตรวจก่อนผลิตเลยครับ)เมื่อทราบผลวิเคราะห์น้ำแล้ว เราก็เลือกวิธีการกรองน้ำให้เหมาะสม เช่น น้ำที่จะนำมาใช้ผลิตมีสารอะไรมาก ควรเลือกใช้เครื่องกรองแบบไหน หรือถ้าเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก อาจต้องเปลี่ยนแหล่งน้ำ (ไม่แนะนำให้ใช้น้ำคลองเพราะคุณภาพน้ำไม่แน่นอน บางช่วงอาจดี บางช่วงอาจแย่) ส่วนมากชุดกรองแรกๆ ที่จะติดตั้งจะเป็นเป็นกระบอกใหญ่ๆ สามกระบอก แต่ละกระบอกก็จะมีตัวกรองแตกต่างกัน ตัวแรกมักจะเป็นตัวกรองแอนทราไซด์และแมงกานิส ซึ่งจะกรองพวกเหล็กและสารบางอย่างที่เจือปนอยู่ในน้ำ ส่วนอีกกระบอกจะเป็นตัวกรองเรซิน (ลักษณะข้างในจะเป็นเม็ดใสๆ คล้ายไข่ปลาดุก) จะเป็นตัวขจัดความกระด้างและสารเคมีบางตัวที่ละลายอยู่ในน้ำให้น้อยลง กระบอกต่อมาก็จะเป็นเครื่องกรองถ่าน ซึ่งข้างในจะมีผงถ่านละเอียดๆ บรรจุอยู่ เพื่อดูดกลิ่น และคลอรีนในน้ำ (มีต่อฉบับหน้าครับ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2555 ปัญหาของ “ซิมฟรี” ซิมมือถือแจกฟรียังเป็นปัญหากวนใจของผู้บริโภค เมื่อของที่ว่าแจกฟรีแต่แท้จริงกลับไม่ได้ฟรีอย่างที่โฆษณา เพราะพอเวลาผ่านไปกลับมีใบเสร็จมาเรียกเก็บค่าบริการ ทั้งๆ ที่ซิมฟรีที่ได้รับแจกมายังไม่ได้ถูกใช้งาน กลุ่มงานรับเรื่องราวร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้สรุปตัวเลขการร้องเรียนปัญหากรณีแจกซิมฟรี ช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมียอดร้องเรียนทั้งหมด 179 เรื่อง โดยบริษัทผู้ให้บริการที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ บริษัท เรียลมูฟ หรือ ทรูมูฟ เอช ที่มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 91 เรื่อง รวมเข้ากับบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันอย่าง บริษัท ทรูมูฟ จำกัด อีกจำนวน 10 เรื่อง ส่วนบริษัทผู้ให้บริการอื่นๆ ที่มีเรื่องร้องเข้ามาก็ได้แก่ บริษัท ไอ-โมบาย พลัส จำนวน 74 เรื่อง, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จำนวน 3 เรื่อง และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จำนวน 1 เรื่อง   ปัญหาการรับแจกซิมฟรีแล้วถูกเรียกเก็บเงินในภายหลังนั้น มักเกิดจากการที่ผู้ให้บริการสื่อสารข้อมูลหรือเงื่อนไขกับลูกค้าหรือผู้ได้รับแจกซิมฟรีไม่ชัดเจน ผู้ที่ได้รับแจกซิมหลายคนเข้าใจสามารถนำซิมไปใช้โทรได้ฟรีหรือมีวงเงินให้สามารถโทรได้โดยไม่ต้องเติมเงินหรือจ่ายรายเดือน   ซึ่งพนักงานที่แจกซิมที่สามารถพบเจอได้ตามแหล่งชุมชนหรือตามตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่าน มักไม่ยอมแจ้งข้อมูลทั้งหมด ว่าซิมที่แจกเป็นซิมประเภทไหน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซิมแบบจดทะเบียน เพราะเงื่อนไขในการแจกมักมีการขอบัตรประชาชน มีการลงลายมือชื่อ ทำให้มีบิลเรียกเก็บค่าบริการส่งไปหาถึงบ้านในภายหลัง แม้ว่าซิมที่ได้รับแจกมาจะยังไม่เคยได้เปิดใช้เลยก็ตาม   ใครที่ประสบปัญหานี้ สามารถติดต่อแจ้งได้ด้วยตัวเองกับบริษัทเจ้าของซิม หรือแจ้งมายัง กสทช. เพื่อแสดงเจตจำนงว่าไม่ได้มีความประสงค์จะขอใช้บริการและขอยุติการเรียกเก็บค่าบริการต่างๆ ทั้งหมด และครั้งต่อไปหากถูกเรียกให้ไปรับแจกซิมฟรี อย่ารับเด็ดขาดถ้าไม่คิดจะนำมาใช้งาน หรือหากอยากได้ก็ขอให้สอบถามข้อมูลประเภทการใช้งานให้เรียบร้อย โดยเฉพาะเรื่องการคิดอัตราค่าบริการ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เชื่อมั่น “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ทุกวันนี้ผู้ที่ถือสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ต่างก็ได้ใช้ยาในระบบ “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ซึ่งอาจมีบางคนที่ยังไม่มั่นใจว่ายาเหล่านี้จะสู้ยาราคาแพงๆ ที่ใช้ในโรงพยาบาลเอกชนได้หรือเปล่า คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. วอนให้คนไทยเชื่อมั่นใน “บัญชียาหลักแห่งชาติ” เพราะยาทุกรายการที่อยู่ในบัญชีมีความเหมาะสมและทันสมัย มีรายการยาที่จำเป็นสำหรับคนไทย ซึ่งผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกยาโดยคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คน  โดยยึดหลักในเรื่องประสิทธิภาพของยา ความปลอดภัย และมีความคุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและความสามารถในการจ่ายของสังคม ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วย 3 บัญชี คือ 1.บัญชียาสำหรับโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข 2.บัญชียาจากสมุนไพร และ 3.เภสัชตำรับโรงพยาบาล ปัจจุบันมีรายการยาแผนปัจจุบันอยู่ในบัญชียาหลักประมาณกว่า 800 รายการ บัญชียาจากสมุนไพรประมาณ 71 รายการ ซึ่งความครอบคลุมในการรักษาโรคต่างๆ ของคนไทย สำหรับยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ยามะเร็ง ยาโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ยาโรคระบบทางเดินอาหาร คณะกรรมการฯ ของ อย. จะนำหลักการทางด้านเภสัชศาสตร์กับความสามารถในการจ่ายของรัฐ เพื่อจัดทำข้อเสนอในการต่อรองราคายากับบริษัทผู้ผลิตยา เพื่อให้ยาที่มีความจำเป็นต้องอยู่ในบัญชีหลักแห่งชาติมีราคาที่ถูกลง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและมาตรฐานของยาแต่อย่างใด ใครที่อยากทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ www.nlem.in.th ------------------------------------------------------------------------------------------------------ หมากฝรั่งไฟช้อต มีของเล่นอันตรายมาทำร้ายเด็กไทยกันอีกแล้ว คราวนี้เป็นของเล่นที่ชื่อว่า “หมากฝรั่งไฟช้อต” หรือมีชื่อทางการค้าว่า “Chewing Gum Shock” ของเล่นที่หน้าตาเหมือนหมากฝรั่งแต่มีไว้แกล้งคนอื่น ซึ่งเด็กนักเรียนมักจะซื้อมาแกล้งเพื่อนให้ตกใจ ด้วยการให้ดึงชิ้นส่วนซองบรรจุหมากฝรั่งที่ยื่นออกมา แล้วจะเกิดไฟฟ้าช้อต ซึ่งทำให้มีเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บ เกิดอาการชาและช้ำบริเวณที่สัมผัสเจ้าของเล่นอันตรายชิ้นนี้ ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัยของ สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมากฝรั่งไฟช้อตมาทดสอบความแรงของการช้อต ซึ่งผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการของคณะวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าในการดึงแต่ละครั้งจะมีค่ากระแสไฟฟ้าสูงถึง 736 โวลต์ ซึ่งมากกว่าค่ากระแสไฟฟ้าตามบ้านเรือน และกระแสไฟเป็นแบบต่อเนื่องจึงทำให้เกิดการกระตุ้นของกระแสไฟที่ผ่านในร่างกายเป็นระยะๆ ทำให้เกิดอาการชาบริเวณอวัยวะที่สัมผัสเหมือนถูกไฟฟ้าช้อต ยิ่งถ้าดึงค้างไว้นานๆ กระแสไฟฟ้าจะส่งเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากใครเห็นสินค้าชนิดนี้ให้แจ้งไปได้ที่ สคบ .ซึ่งทาง สคบ. เองเตรียมนำเสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อห้ามขายสินค้าดังกล่าว ตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 -----------------------------------------------------------------------------------------------------   กองทุนเยียวยาผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมจัดตั้งกองทุนอุดหนุนเงินเยียวยาผู้บริโภค เพื่อชดเชยความเสียหายให้ผู้บริโภคทันที หลังจากที่คณะกรรมการมีมติว่าผู้ประกอบการมีความผิดและผู้บริโภคได้รับความเสียหายจริง จากเดิมที่กว่าผู้บริโภคจะได้รับเงินชดเชยต้องรอให้มีคำตัดสินของศาลออกมาก่อน ซึ่งใช้เวลานาน สำหรับแนวทางการจัดตั้งกองทุน ทาง สคบ. วางไว้ 2 แนวทาง แนวทางแรก สคบ.อาจรับเป็นเจ้าภาพแต่เพียงผู้เดียว โดยใช้งบประมาณจากสำนักงบประมาณ หรืออีกแนวทาง คือ ร่วมมือกับผู้ประกอบการในการจ่ายเงินค้ำประกันเพื่อรับประกันว่าหากเกิดปัญหาก็สามารถตัดเงินก้อนดังกล่าวมาใช้เยียวยาให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งทาง สคบ. จะเร่งให้เกิดกองทุนเยียวยาผู้บริโภคให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ที่มีดูเหมือนจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ------------------------------------------------------------------   10 สุดยอดนวัตกรรมปี 2555 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ได้คัดเลือก “10 สุดยอดนวัตกรรมประจำปี 2555” จากโครงการนวัตกรรมทั้งหมด 849 โครงการที่ สนช. ให้การสนับสนุน โดยคัดเลือกธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความโดดเด่นในด้านของเทคโนโลยีกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดในรูปแบบใหม่ โดย 10 สุดยอดนวัตกรรมประจำปี 2555 จากการคัดเลือกของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีดังนี้ 1. “ไบโอเวกกี้” วิตามินรวมจากผักเมืองหนาว บริษัท เชียงใหม่ ไบโอเวกกี้ จำกัด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินรวมจากผักเมืองหนาว 12 ชนิด   2. “ฟีนพลัส” หมึกนำไฟฟ้าผสมแกรฟีนสำหรับผลิตลายไฟฟ้า บริษัท อินโนฟิน จำกัด หนึกนำไฟฟ้าผสมแกรฟินที่จะช่วยทดแทนการใช้หมึกน้ำไฟฟ้าที่ผสมสารตัวอื่น เช่น โลหะเงิน ด้วยประสิทธิภาพการใช้งานที่เท่าเทียมกันแต่มีราคาต้นทุนถูกกว่า   3. “ซินนิไพร์” เครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์เซรามิกด้วยก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ บริษัท อิมพีเรียลพอทเทอรี่ จำกัด เครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์เซรามิกด้วยก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ แทนการใช้ก๊าซหุงต้ม   4. “เอนเนอเร่” เครื่องดื่มให้พลังงานจากข้าว บริษัท บีเอสซีเอ็มฟูดส์ จำกัด เครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวสารเกรดเอได้ถึง 10 เท่า   5. “โดรน” เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู บริษัท ศูนย์การได้ยินดีเมด จำกัด เครื่องช่วยฟังที่มีการประมวลผลแบบดิจิตอล สามารถตัดเสียงรบกวนภายนอก แยกแยะระดับความถี่ของเสียงที่ได้รับเพื่อเพิ่มความดังที่เหมาะสมกับความผิดปกติของแต่ละบุคคล   6. “ชีวาดี” น้ำหวานดัชนีน้ำตาลต่ำจากดอกมะพร้าวอินทรีย์ บริษัท ชีวาดี โปรดักชันส์ จำกัด ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานแต่ดัชนีน้ำตาลต่ำ ทำจากน้ำหวานดอกมะพร้าวหมักที่ยับยั้งการตกผลึกของน้ำตาลมะพร้าวและเชื้อจุลินทรีย์ด้วยมังคุดกับไม้พะยอม   7. “ไอริส” กระเบื้องเคลือบผลึกจากเศษกระจกรีไซเคิล ห้างหุ่นส่วนจำกัด ไอริส อินดัสเทียล กระเบื้องที่มีความสวยงามเฉพาะตัว แถมขั้นตอนการผลิตยังมีการลดการใช้อุณหภูมิในการเผาลงถึง 50 – 100 องศาเซลเซียส   8. “บีที ไฮบริด” สารชีวภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงสำหรับกำจัดหนอนศัตรูพืช บริษัท ภูธนเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกำจัดและลดการระบาดหนอนศัตรูพืชได้มากกว่า 1 ชนิด และเหมาะที่จะนำมาใช้แทนสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต   9. “ซิลค์ แอคเน่” ผลิตภัณฑ์ลดการอักเสบจากโปรตีน บริษัท เอทิกา จำกัด ผลิตจากรังไหมที่ผ่านกระบวนการสกัดจนได้กาวไหมเธริธินที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มการสร้างคอลลาเจนและยับยั้งการอักเสบ สำหรับแผลอักเสบจากสิวและแมลงกัดต่อย   10. “แดรี่โฮม” บรรจุภัณฑ์โยเกิร์ตอินทรีย์จากพลาสติกชีวภาพ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีความแข็งแรงทนทาน

อ่านเพิ่มเติม >