ฉบับที่ 179 กระแสต่างแดน

สร้างแลนด์มาร์คชาวเมืองโอลกีอาสโตร ซิเลนโต เมืองเล็กๆ ในแคว้นคัมพาเนีย ของอิตาลี ออกมาคัดค้านแผนการสร้างรูปปั้นแลนด์มาร์คของเมือง ด้วยงบประมาณ 150 ล้านยูโร (เกือบ 6,000 ล้านบาท) ทั้งๆ ที่ถนนและระบบประปายังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงพ่อพีโอ นักบุญผู้เป็นที่เคารพรักของชาวอิตาลี นายกเทศมนตรีเมืองนี้ประกาศว่าจะสร้างรูปปั้นของท่านให้มีความสูงถึง 85 เมตร (เทพีเสรีภาพของอเมริกา หรือรูปปั้นพระเยซูมหาไถ่ในบราซิล ซึ่งสูงประมาณ 46 เมตร จะดูเล็กไปเลย)   ชาวบ้านส่วนใหญ่(จากทั้งหมด 2,200 คน) ไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อน ทั้งๆที่โครงการนี้มีมูลค่าสูงลิบ เงินเหล่านี้ควรนำไปปรับปรุงท่อส่งน้ำประปา สร้างถนนเพิ่ม หรือไม่ก็สร้างสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกที่มีแผนจะสร้างมาตั้งแต่ 22 ปีก่อนให้เสร็จเสียที นายกฯ เขายืนยันว่ารูปปั้นนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้จ่ายเงิน เพิ่มรายได้ให้คนท้องถิ่น โครงการดังกล่าวดำเนินต่อไป โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้เงินทุนจากแหล่งใด เงินภาษี? เงินอียู? หรือเงินบริจาคจากภาคเอกชน?  คืนข้ามปีเป็นที่รู้กันว่าโรงพยาบาลที่ไหนๆ ต่างก็เจอศึกหนักในคืนข้ามปี ยืนยันได้ด้วยรายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคแอลกอฮอลเกินกว่าเหตุ แต่ปีนี้ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ทั้งตำรวจและทีมแพทย์ฉุกเฉินต่างยินดีเป็นที่ยิ่ง เพราะมีเหตุวุ่นวายน้อยลงกว่าปีก่อนหน้า อาจมีคนเรียกรถพยาบาลบ้าง แต่ก็เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ ถึงกับกล้าฟันธงว่า ปีใหม่ที่ผ่านมานี่ถือว่าเป็นปีใหม่ที่ยอดเยี่ยมที่สุด เขาดีใจที่การรณรงค์ที่ผ่านมาได้ผลดีจนคนออสซี่เริ่ม “ดื่ม” แบบศิวิไลซ์มากขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่า แม้จะไม่เมาแต่เราก็ยังดูการแสดงดอกไม้ไฟตอนเคานท์ดาวน์ได้สนุกเหมือนเดิม     ด้านนายกเทศมนตรี ก็เป็นปลื้มที่วัฒนธรรมการดื่มของผู้คนกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับในอีกหลายๆ ประเทศ (อาจยังไม่รวมประเทศไทย) แต่ที่กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล เหตุการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง ทั้งตำรวจ ทั้งหน่วยกู้ภัยต่างงานล้นมือกันในคืนก่อนปีใหม่ มีผู้ป่วยถูกนำตัวเข้ามารับการรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลมาเกน เดวิด ถึง 461 คน ในจำนวนนี้มีเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลเพราะดื่มแอลกอฮอลมากไปถึง 63 คน   เรื่องไม่กล้วยนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ออกมาเตือนว่า อีกไม่นานกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช ซึ่งเป็นกล้วยพันธุ์ยอดนิยมที่สุดในขณะนี้กำลังจะถูกล้างเผ่าพันธุ์โดยเชื้อรา TR4 เชื้อราสายโหดนี้สามารถกบดานรอเวลาจู่โจมได้ถึง 30 ปี มันลงมือด้วยการทำลายกลไกการส่งน้ำ ต้นกล้วยจึงเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็วและแห้งตายในที่สุด TR4 (Tropical Race 4) ถูกค้นพบครั้งแรกในไต้หวัน หลังจากมันเป็นสาเหตุการตายหมู่ของต้นกล้วยจำนวนมาก 3 ปีก่อนหน้านั้น แต่เรื่องนี้มีคนรู้ค่อนข้างน้อย ต่อมามันได้แพร่กระจายเข้าไปในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงที่อื่นๆ เช่น จอร์แดน ปากีสถาน เลบานอน โอมาน และออสเตรเลีย ที่สำคัญ ยาฆ่าเชื้อราที่มีอยู่ขณะนี้ไม่สามารถทำอะไรมันได้ และถ้ามันขึ้นฝั่งละตินอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้วยหอมร้อยละ 80 ของโลกได้ เราคงจะลำบากแน่   แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ครั้งหนึ่งกล้วยหอมพันธุ์กรอส มิเชล ก็เคยถูกโรคปานามากวาดล้างไปแล้ว นักวิจัยเสนอให้เร่งพัฒนากล้วยหอมสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถต้านทานโรคนี้ได้ ปัญหาคือมันต้องใช้ต้นทุนสูง แล้วใครจะอยากลงทุนวิจัยและพัฒนา “พืชกำพร้า” อย่างกล้วยหอม ถ้ามันถูกจัดให้เป็น “พืชเศรษฐกิจ” ก็คงจะดี ฉันก็เป็น ... ผู้หญิงคนหนึ่งสาวประเภทสองชาวญี่ปุ่นนางหนึ่ง ประกาศจะฟ้องสถานออกกำลังกายที่ไม่ยอมให้เธอใช้ห้องน้ำหญิง โดยอ้างว่าตามกฎหมายแล้วเธอยังเป็นผู้ชายอยู่ สุภาพสตรีรายนี้ประกาศว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลแขวงเมืองเกียวโต เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย 4.8 ล้านเยน (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) จากบริษัทโคนามิ สปอร์ตคลับ   ในปี 2552 เธอเป็นสมาชิกของสถานออกกำลังกาย สาขาในเกียวโต ในสถานภาพของผู้ชาย หลังจากถูกวินิจฉัยในปี 2555 ว่าเธอมีภาวะความไม่พอใจในเพศของตัวเอง เธอจึงเริ่มทานฮอร์โมนตามคำแนะนำของแพทย์ และเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศในปี 2557 ก่อนการผ่าตัด เธอได้ปรึกษาครูฝึกว่าถ้าเธอกลับมาในรูปลักษณ์ของผู้หญิง เธอจะสามารถใช้ห้องน้ำและห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของผู้หญิงได้หรือไม่? แต่เธอได้รับคำตอบปฏิเสธจากผู้จัดการสาขา ซึ่งยืนยันว่าเธอจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเธอได้แจ้งเปลี่ยนเพศอย่างเป็นทางการแล้วแต่เธอทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะเธอมีลูกสาวที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี(กฎหมายญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 20 ปีแจ้งเปลี่ยนเพศ เพื่อป้องการการเกิดกระทบทางจิตใจต่อเด็ก) เธอบอกว่าอยากให้สังคมญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของการเคารพสิทธิในการเลือกตัวตน และเธอต้องการเรียกร้องสิทธิที่จะใช้ชีวิตตามเพศที่เธอเลือก เพราะเธอมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ตามมาตรา 13 ในรัฐธรรมนูญ  ทำไมไม่แจ้ง?ตามประกาศฉบับใหม่ ผู้ใช้บริการรถไฟที่ได้รับความเดือดร้อนจากการยกเลิกเที่ยววิ่งหรือมาช้ากว่ากำหนดจะมีสิทธิขอเงินคืนได้ แต่การสำรวจล่าสุดของ Which? องค์กรผู้บริโภคในอังกฤษพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวเท่านั้นที่ยื่นเรื่องขอเงินคืน และเมื่อถามว่า ครั้งล่าสุดที่รถไฟของคุณมาสาย คุณได้รับการแจ้งสิทธิเรื่องการขอเงินคืนหรือไม่? ก็มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ตอบว่าได้รับแจ้ง สายสืบที่ปลอมตัวไปเป็นผู้โดยสารในสถานีรถไฟ 102 สถานี พบว่า มีไม่ถึง 1 ใน 5 ของสถานีเหล่านั้นที่อธิบายให้ผู้โดยสารเข้าใจเงื่อนไขการขอเงินคืน และมากกว่าร้อยละ 60 ไม่แจ้งผู้โดยสารว่าพวกเขามีสิทธิดังกล่าว ทั้งๆ ที่ผู้โดยสารเข้าไปถามกับเจ้าหน้าที่โดยตรง    สำนักงานกำกับดูแลการขนส่งทางรางและทางถนน Office of Rail and Road (ORR) ก็มีข้อมูลที่ยืนยันว่าผู้โดยสารมีการรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการได้มาร่วมลงนามเรื่องการให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้ที่มาซื้อตั๋วโดยสาร (ข้อมูลที่ว่านั้นหมายรวมถึงสิทธิในการได้รับเงินคืนด้วย)ผู้ประกอบการรถไฟบางเจ้ามีระบบคืนเงินอัตโนมัติ กรณีที่ผู้โดยสารซื้อตั๋วล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิต แล้วขบวนรถเที่ยวนั้นมาสาย บางเจ้าใช้วิธีแจกตั๋วฟรีให้นำไปใช้วันหลัง เป็นต้น    เรื่องนี้ต้องติดตามตอนต่อไป Which? กำลังยืนเรื่องต่อ ORR ให้สอบสวนว่าเหตุใดผู้ประกอบการเหล่านั้นจึงไม่มีการแจ้งผู้โดยสารตามที่ได้ตกลงกัน  

อ่านเพิ่มเติม >