ฉบับที่ 139 “จานดาวเทียม” และ “กล่องรับสัญญาณ” ติดเจ้าไหนถูกใจที่สุด

หากเสาอากาศรับสัญญาณโทรทัศน์แบบเดิมๆ อย่างเสาอากาศที่เป็นโครงเหล็กแบบก้างปลาหรือเสาขนาดเล็กแบบหนวดกุ้ง ไม่อาจตอบสนองอรรถรสในการชมจนทำให้หลายๆ คนรู้สึกหงุดหงิดใจ เพราะภาพก็ไม่ชัด สัญญาณก็ขัดข้อง บางช่องก็ดูไม่ได้ แต่ปัญหาเหล่านี้หมดไป พร้อมการมาถึงของ “จานดาวเทียม” และ “กล่องรับสัญญาณ” นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงการรับชมทีวีของคนไทย นอกจากจะดูทีวีได้ชัดแจ๋วยิ่งกว่าเดิม ยังได้ดูช่องรายการต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกเป็น 100 ช่อง แถมยังเป็นแบบ “ขายขาด” ติดแล้วดูฟรีไม่มีค่าบริการรายเดือน จึงไม่น่าแปลกใจถ้าเดี๋ยวนี้มองไปตามตึกรามบ้านช่องต่างๆ ไม่ว่าจะบ้านเล็กบ้านใหญ่ ห้องเช่าราคาประหยัดหรือคอนโดหรูราคาแพง เราก็จะพบเห็นจานดาวเทียมหลากสีถูกติดอยู่ทั่วไป ใครที่กำลังคิดจะติดจานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณไว้ที่บ้าน หรืออาจจะติดไปแล้ว (แถมเชื่อว่าคงจะมีหลายคนที่ติดมากกว่า 1 จาน หรือ 1 กล่อง)  ที่มีข้อสงสัยว่าแต่ละเจ้าแต่ละผู้ผลิตเขามีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันยังไง ติดจานไหนโดนใจกว่าหรือติดกล่องไหนคุ้มค่ามากที่สุด ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาพาไปตะลุยตลาดกล่องรับสัญญาณและจานดาวเทียม ไปดูกันสิว่าแต่ละยี่ห้อเขามีจุดขายอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง   1. กล่องทรูไลฟ์พลัส (True Life+) ผู้ผลิต บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ราคา เฉพาะกล่อง 1,290 บาท ราคาพร้อมจาน จานทึบ (จานแดง) ระบบ KU – Band  พร้อมค่าติดตั้ง บวกเพิ่ม 2,050 บาท (จาน 800 บาท ค่าอุปกรณ์รับสัญญาณ 250 บาท ค่าติดตั้ง 1,000 บาท) จานแบบโปร่งขนาด 1.5 เมตร รับได้ทั้งระบบ KU – Band และ C – Band ราคารวมค่าติดตั้ง จ่ายเพิ่ม 3,200 บาท (จาน 900 บาท ค่าอุปกรณ์รับสัญญาณ 800 บาท ค่าติดตั้ง 1,500 บาท) จานแบบโปร่งขนาด 1.8 เมตร รับได้ทั้งระบบ KU – Band, C – Band และ NSS6 ราคารวมติดตั้ง 4,200 – 4,500 บาท (จาน 1,200 – 1,500 บาท ค่าอุปกรณ์รับสัญญาณ 1,000 บาท ค่าติดตั้ง 2,000 บาท) จุดเด่น มีช่องรายการด้านบันเทิงประเภท หนัง และ เพลง เฉพาะของตัวเอง (ไม่มีในกล่องเจ้าอื่น) มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศ คือ พรีเมียร์ ลีก ของประเทศอังกฤษ (เฉพาะบางคู่เท่านั้น ต่างจากแบบที่บอกรับสมาชิกที่มีถ่ายทอดสดทุกคู่) หากเป็นจานทึบระบบ KU – Band สามารถรับชมช่องรายการร่วม 47 ช่อง จานโปร่งขนาด 1.5 เมตร สามารถดูได้ 170 ช่อง ส่วนจานโปร่งขนาด 1.8 เมตร สามารถดูได้ 240 ช่อง นอกจากนี้ หากเป็นคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบ ทรู มูฟ หรือ ทรู มูฟ เอช ยังมีสิทธิได้รับชมช่องรายการเพิ่มขึ้นอีก 12 ช่อง truevisions.truecorp.co.th 2. กล่องพีเอสไอทรูทีวี (PSI – True Tv) ผู้ผลิต บริษัท โพลี เทเลคอม จำกัด (Poly Telecom Co.LTD) ราคา เฉพาะกล่อง 890 บาท ราคารวมจานรับสัญญาณระบบ KU – Band (จานดำ) 1,990 บาท จุดเด่น เป็นการรวมตัวกันของ 2 ผู้ให้บริการ คือ พีเอสไอ (PSI) และ ทรู วิชั่นส์ (True Visions) ซึ่งนอกจากจะได้รับชมรายการในระบบ KU – Band แล้ว ยังได้รับชมช่องรายการจากทางทรู วิชั่นส์ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีช่องที่น่าสนใจอย่าง True 10 ซึ่งเป็นช่องที่ถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศลิขสิทธิ์ของทรู วิชั่นส์ (ช่องรายการที่เป็นของทรู วิชั่นส์ จะคล้ายกับช่องรายการของกล่องทรูไลฟ์พลัส) www.psisat.com 3. กล่องไอพีเอ็ม พีวีอาร์ พลัส (IPM - PVR Plus) ผู้ผลิต บริษัท ไอพีเอ็มทีวี จำกัด ราคา ราคากล่อง + จานระบบ KU - Band (จานส้ม) 2,990 บาท จุดเด่น มีช่องรายการเฉพาะของตัวเองกว่า 30 ช่อง ทั้ง ภาพยนตร์ การ์ตูน เพลง ข่าว สารคดี แต่ส่วนใหญ่เป็นช่องที่ผลิตในไทย ไม่ใช่ช่องลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ช่องรายการที่น่าสนใจคือช่องท้องถิ่น ที่นำเสนอศิลปะ วัฒนธรรม พื้นบ้านของไทย โดยที่ช่องรายการจะแบ่งเป็นภาค เหนือ อีสาน กลาง ใต้ รวมแล้วช่องรายการที่สามารถรับชมได้จะอยู่ที่ 80 กว่าช่อง www.ipmtv.tv 4. กล่องดีทีวี-เอชดีวัน (DTV - HD1) ผู้ผลิต บริษัท ดีทีวี เซอร์วิส จำกัด ราคา เฉพาะกล่อง 4,990 บาท ราคารวมจานรับสัญญาณระบบ KU – Band (จานเหลือง) 5,490 บาท จุดเด่น เป็นกล่องรัฐสัญญาณที่มีช่องรายการที่ออกอากาศในระบบ HD (High-definition) ที่ให้ความคมชัดของภาพและเสียงมากกว่าการออกอากาศแบบทั่วไป (สาเหตุที่ทำให้กล่องมีราคาสูง) แต่ใช่ว่าทุกช่องรายการจะเป็นระบบ HD ทั้งหมด เพราะจะมีช่องรายการซึ่งเป็นช่องเฉพาะของกล่องอยู่ 5 ช่องที่ออกอากาศในระบบ HD ประกอบด้วยช่องรายการวาไรตี้ 1 ช่อง ช่องภาพยนตร์ 1 ช่อง ช่องกีฬา 2 ช่อง (มีถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศ) และช่องสารคดีอีก 1 ช่อง ช่องอื่นๆ ที่เหลือก็จะเป็นช่องรายการทั่วไปในระบบ KU – Band รวมช่องรายการทั้งหมดที่สามารถรับชมได้อยู่ที่ 79 ช่อง www.dtvthai-hd.com 5. กล่องจีเอ็มเอ็มแซท (GMMZ) ผู้ผลิต บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ราคา เฉพาะกล่อง 999 บาท (ได้รับค่าโทรศัพท์มือถือระบบ AIS และ 12 CALL 1,200 บาท) จุดเด่น เพราะผลิตมาเฉพาะกล่อง คนที่จะติดจะต้องมีจานดาวเทียมอยู่แล้วที่บ้าน (จานดาวเทียมของเจ้าไหนก็ได้) รองรับได้ทั้งระบบ KU – Band และ C – Band ช่องรายการที่ได้รับชมหลักๆ ก็เป็นไปตามระบบของจานดาวเทียม โดยจะมีช่องรายการพิเศษเฉพาะ 4 ช่อง คือช่องรายการวาไรตี้ ช่องซีรีส์ต่างประเทศ ช่องสารคดี และช่องถ่ายทดสดฟุตบอลต่างประเทศ ซึ่งกล่อง GMMZ ได้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศถึง 6 ลีก 6 ประเทศ เช่น บุนเดสลีกา เยอรมัน, ลีกเอิง ฝรั่งเศส, เจลีก ญี่ปุ่น ฯลฯ (ไม่ซ้ำกับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดของ ทรู วิชั่นส์) www.gmmz.tv 6. กล่องซันบ็อกซ์ (Sunbox) ผู้ผลิต บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ราคา เฉพาะกล่อง 1,590 บาท (ได้รับค่าโทรศัพท์มือถือระบบ Dtac 1,590 บาท) จุดเด่น ผลิตมาเฉพาะกล่องแบบเดียวกับกล่องจีเอ็มเอ็มแซท ซื้อแล้วต้องนำไปติดกับเจ้าดาวเทียมของเจ้าอื่น รองรับได้ทั้งระบบ KU – Band และ C – Band จุดขายหลักคือมีช่องรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลต่างเทศ เป็นลาลีกา ลีก จากประเทศสเปน (ไม่ซ้ำกับทั้งของ ทรู วิชั่นส์ และ กล่องจีเอ็มเอ็มแซท)  ช่องที่เหลือก็จะเป็นช่องรายการที่ออกอากาศให้รับชมฟรีทั่วไปตามแต่ระบบของจาน www.rssunbox.com หมายเหตุ : กล่องรับสัญญาณและจานดาวเทียมที่ฉลาดซื้อนำมาแนะนำทั้งหมดเป็นแบบขายขาด ไม่เสียค่าบริการรายเดือน : ราคาที่แสดงเป็นราคาที่แจ้งในเว็บไซต์ของแต่ละผู้ผลิต กรณีซื้อผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่าย ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง   เรื่องที่ควรรู้ก่อนติดจานดาวเทียม 1.ประเภทของจาน และ ระบบของสัญญาณ ก่อนที่เราจะติดตั้งจานดาวเทียม ต้องไม่ลืมศึกษาข้อมูลของจานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณว่ามีกี่ชนิดกี่ประเภทที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งที่นิยมกันอยู่ทุกวันนี้จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ จานดาวเทียมระบบ C – Band (ซี – แบนด์) และระบบ KU – Band (เคยู – แบนด์)   -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ความแตกต่างของจานรับสัญญาณระบบ C – Band และระบบ KU – Band จานรับสัญญาณระบบ C – Band ลักษณะของจานจะเป็นแบบจานตะแกรงพื้นผิวโปร่ง ขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางจะอยู่ที่ประมาณ 5 ฟุต หรือ 1.5 เมตร ไปจนถึง 10 ฟุต หรือ 3 เมตร ซึ่งจานระบบ C – Band สามารถรับสัญญาณได้คลอบคลุมเป็นวงกว้าง รับสัญญาณได้ทั้งดาวเทียมในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีรายการทีวีให้รับชมหลายช่องรายการมากกว่าจานในระบบ KU – Band ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่องฟรีทีวีจากต่างประเทศ แต่ด้วยขนาดของจานซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ต้องอาศัยพื้นที่ในการติดตั้งเหมาะสำหรับคนที่บ้านมีดาดฟ้า ผู้อาศัยอยู่ตาม อพาร์ทเม้นท์ หรือ คอนโด อาจยากในการติดตั้งเพราะมีพื้นที่ไม่เพียงพอ จานรับสัญญาณระบบ KU – Band จะเป็นจานทึบขนาดจะเล็กกว่าจานแบบตะแกรงโปร่งของ C-Band เส้นผ่าศูนย์กลางจะอยู่ที่ 2 ฟุต หรือ 60 ซม. เพราะความที่ใช้รับสัญญาณภายในประเทศ บวกกับความเข้มของสัญญาณมีมากกว่าจานในระบบ C – Band ขนาดของจานระบบ KU – Band จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มากก็สามารถรับสัญญาณได้อย่างคมชัด ซึ่งด้วยขนาดที่เล็กกว่าจานในระบบ C – Band ค่อนข้างมาก แถมการติดตั้งก็มีความยุ่งยากน้อยกว่า จึงทำให้จานระบบ KU – Band เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะติดได้ทั่วไป ทั้งตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ หรือแม้แต่ตามหอพัก อพาร์ทเม้นท์ ที่มีพื้นที่จำกัด แต่จานระบบ KU – Band ก็มีข้อเสียตรงที่ในช่วงเวลาที่มีฝนตกหนักและมีเมฆหนาทึบ การรับชมทีวีผ่านสัญญาณระบบ KU – Band จะมีปัญหาไม่สามารถรับชมได้ เพราะสัญญาณจะถูกบดบัง ขณะที่จานรับสัญญาณระบบ C – Band จะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ เนื่องจากสัญญาณที่ส่งมาจะมีความเบาบางกว่า พื้นที่ของจานในการรับสัญญาณก็มีมากกว่า เวลาที่ฝนตกหนักจึงไม่เป็นปัญหาต่อการรับสัญญาณ -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 2.ช่องรายการที่ต้องการรับชม สิ่งที่ผู้ผลิตจานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณแต่ละเจ้านำมาเป็นจุดขายแสดงความพิเศษและแตกต่างของตัวเองก็คือ “ช่องรายการ” ซึ่งเมื่อลองดูในภาพรวมจะเห็นว่า ช่องรายการที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างกันมากนัก จะมีที่แตกต่างกัน (ที่แต่ละเจ้าจะใช้เป็นจุดขายในการโฆษณา) แค่ไม่กี่ช่อง ส่วนมากจะเป็นช่องรายการจากต่างประเทศ เช่น การแข่งขันกีฬา ภาพยนตร์ และสารคดี  โดยเฉพาะในจานรับสัญญาณระบบ KU – Band ซึ่งส่วนใหญ่จะรับสัญญาณของรายการของประเทศไทย (อาจมีของต่างประเทศบ้าง แต่จะเป็นของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง อย่าง ลาว หรือ กัมพูชา) ช่องรายการที่สามารถรับชมได้จะอยู่ที่ประมาณ 80 – 100 ช่อง แต่หากเป็นจานรับสัญญาณในระบบ C – Band จะสามารถรับชมได้จำนวนช่องมากกว่า คือ ตั้งแต่ 100 ช่องขึ้นไป แถมยังได้รับชมช่องฟรีทีวีของต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น แม้จะมีช่องรายการให้ดูเป็น 100 ช่อง  แต่เชื่อว่าคนที่ดูทีวีส่วนใหญ่คงไม่ได้ดูทั้งหมดทุกช่องที่มี จะมีที่ดูอยู่เป็นประจำเพียงแค่ไม่กี่ช่อง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะติดตั้งเราควรต้องรู้ก่อนว่า จานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณที่เราเลือกนั้นมีช่องรายการอะไรบ้าง มีช่องที่เราสนใจหรือเปล่า หรือถ้าชอบบางรายการเป็นพิเศษ อย่างเช่น เป็นคนชอบดูหนัง ชอบดูข่าว หรือชอบดูกีฬา ก็ต้องลองพิจารณาดูว่าจานและกล่องที่เราจะติดนั้นมีสัดส่วนของรายการต่างๆ เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน เนื้อหาและคุณภาพของรายการตรงกับความต้องการของเราหรือไม่   3.ราคา ราคาก็ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่หลายๆ คนใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อ ซึ่งราคาถือว่าค่อนข้างใกล้เคียงกัน ในระบบจานรับสัญญาณแบบ KU – Band ขณะที่ระบบ C – Band ราคาก็จะสูงขึ้นมาอีก ซึ่งราคาของกล่องรับสัญญาณพร้อมจานดาวเทียมระบบ KU – Band จะอยู่ที่ 2,000 – 3,000 กว่าบาท แต่ถ้าหากว่าตัวกล่องระบุว่าเป็นระบบที่ถ่ายทอดสัญญาณภาพโทรทัศน์แบบละเอียดและคมชัดกว่าแบบธรรมดา หรือที่เรียกว่าระบบ HD (High-definition) ราคาก็จะสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 5,000 – 7,000 บาท สำหรับจานระบบ C – Band ราคาทั้งชุดจะอยู่ที่ 2,000 บาทขึ้นไป โดยปกติยิ่งขนาดของจานมีความกว้างมากขึ้นเท่าไหร่ ราคาก็มักจะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ในกรณีที่ซื้อเฉพาะตัวกล่องรับสัญญาณราคาก็จะลดลงมาอีกประมาณ 500 – 1,000 บาท ที่สำคัญอย่าลืมบวกค่าบริการติดตั้งซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับร้านตัวแทนจำหน่ายที่เราเลือก   4.บริการหลังการขาย การบริการหลังการขายเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญในการที่จะเลือกซื้อจานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณ ทั้งเรื่องของการซ่อมบำรุงรักษากรณีที่สินค้าเมื่อใช้งานแล้วเกิดการชำรุดเสียหาย หากเกิดปัญหาเรื่องการรับชมสามารถดูแลหรือให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาได้ รวมถึงเรื่องของช่องรายการต่างๆ ที่เปิดให้รับชมต้องเป็นไปตามที่โฆษณาไว้ หากไม่สามารถเปิดให้รับชมได้ต้องมีการแจ้งถึงเหตุผล รวมทั้งในกรณีหากมีการเพิ่มช่องรายการก็ควรต้องมีการแจ้งวิธีการรับชม ถ้าต้องมีการเข้ารหัสผ่านกล่องรับสัญญาณก็ต้องการแจ้งให้กับผู้ชมทราบ   5.พื้นที่ที่จะใช้ติดตั้งจานดาวเทียม พื้นที่ที่จะใช้ติดตั้งวางตำแหน่งจานดาวเทียมถือเป็นเรื่องสำคัญที่หลายๆ คนมองข้าม โดยเฉพาะจานรับสัญญาณในระบบ C – Band ขนาดใหญ่ต้องใช้พื้นที่พอสมควรในการติดตั้ง นอกจากนี้เพื่อประสิทธิภาพในการรับชมจำเป็นต้องคำนึงถึงทิศทางในการรับสัญญาณของตัวจาน ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องของการติดตั้งเป็นหน้าที่ของช่างผู้ชำนาญงาน แต่เราในฐานะผู้ซื้อสินค้าก็ควรทำความใจในเรื่องนี้ไว้บ้าง หลักการง่ายๆ ก็คือ ต้องติดตั้งไว้ในจุดที่ปลอดภัย อยู่ในพื้นที่ที่มีความแข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักของจานได้ และต้องไม่อยู่ใกล้กับจุดที่อาจเกิดอันตรายอย่าง สายไฟ หม้อแปลงไฟฟ้า หรือเสาไฟฟ้าแรงสูง และจานที่ติดตั้งควรเป็นจุดสะดวกต่อการเข้าถึงเพื่อซ่อมบำรุงแก้ไข

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 162 สำรวจราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี

หลายคนคงมีโอกาสได้รับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลกันบ้างแล้ว ซึ่งประเทศไทยเราได้เริ่มทำการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทีวี (Digital Television) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา โดยระยะแรกจะยังรับชมได้แค่ในบางพื้นที่ของประเทศ แต่คาดว่าจะสามารถออกอากาศครอบคลุมให้ได้ในพื้นที่ 80% ของประเทศภายในต้นปี 2558 เชื่อว่าบางคนก็คงสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากการรับชมทีวีแบบแต่ก่อนเคยดูมา อย่างน้อยก็เรื่องของช่องรายการที่มีเพิ่มมาให้ได้รับชมกันมากขึ้น แต่เชื่อว่าหลายคนก็อาจมีข้อสงสัยว่า ทีวีดิจิตอลจริงๆ แล้วมันคืออะไร ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นดิจิตอลทีวี จำเป็นมั้ยที่ต้องเปลี่ยน แล้วถ้าที่บ้านอยากจะดูดิจิตอลทีวีบ้างต้องทำอย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของราคาคูปองแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตัลทีวีที่ทาง กสทช. จะแจกให้ 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยเคาะราคาออกมาอยู่ที่ 690 บาท ปรับลดลงมาจากเดิมที่เคยตั้งไว้ที่ 1,000 บาท คูปองนี้เอาไปใช้ยังไง และทำไมต้อง 690 บาท เอาเป็นว่าเรามาค่อยๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมกันได้เลย จาก 1,000 ทำไมถึงกลายมาเป็น 690 หลายคนที่ติดตามข่าวเรื่องแผนการแจกคูปองสำหรับเป็นส่วนลดแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีของทาง กสทช. คงจะพอทราบแล้วว่าเกิดปัญหามาต่อเนื่องเรื่องวงเงินของมูลค่าคูปอง จากที่ กสทช. บอกว่าจะแจกคูปองทุกบ้านบ้านละ 1 ใบ มูลค่า 1,000 บาท ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น องค์กรผู้บริโภคโดยคณะทำงาน “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน” ก็ได้ออกมาคัดค้านว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่เหมาะ และเรียกร้องให้ปรับลดลงมาให้เหลือที่ 690 บาท   ต้นทุนจริงกล่องดิจิตอลทีวีแค่ไม่กี่ร้อยบาท ผู้บริโภคหลายคนคงจะสงสัยว่า ทำไมต้องเรียกร้องให้ลดราคาคูปอง ได้ 1,000 ก็น่าจะดีกว่าได้แค่ 690 ไม่ใช่หรือ? ผู้บริโภคต้องไม่ลืมว่าคูปองที่ได้นำไปแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ใช้ได้แค่เป็นส่วนลดในการซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีหรือทีวีที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอลพร้อมในตัวเท่านั้น การตั้งราคาคูปองที่สูงเกินไปของทาง กสทช. ส่งผลให้การตั้งราคากล่องรับสัญญาณสูงตามไปด้วย ทั้งที่มีการศึกษาข้อมูลมาแล้วว่าต้นทุนของราคากล่องรับสัญญาณจริงๆ อยู่ในหลักไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.alibaba.com ซึ่งเป็นเว็บขายอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคออนไลน์ทั่วโลก พบว่า ราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี รุ่น DVTB T2 มีราคาขายอยู่ที่เพียง 403 บาท สำหรับการสั่งซื้อที่ขั้นต่ำ 5,000 ชิ้น นอกจากนี้ ทาง กสทช. น่าจะทราบดีอยู่แล้วถึงราคาต้นทุนของกล่อง เพราะมีอำนาจในการตรวจสอบโครงสร้างราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ แรกเริ่มเดิมที่ กสทช. มีมติเรื่องแนวทางการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลทีวี ซึ่งกำหนดมูลค่าคูปองไว้ที่ 690 บาท แจกให้กับผู้บริโภค 22 ล้านครัวเรือน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้คือ 15,190 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) กลับมีมติเห็นชอบอนุมัติมูลค่าราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท ทำให้งบประมาณที่ใช้พุ่งสูงไปถึง 25,000 ล้านบาท โดยที่ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีการเปิดเผยต้นทุนต่อสาธารณะและไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งคูปองส่วนลด 1,000 บาทนี้ ถูกกำหนดให้สามารถนำไปแลกเป็นส่วนลดได้ทั้ง 1.กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี พร้อมสายอากาศแบบติดตั้งภายในอาคารที่มีภาคขยาย (Active Antenna) 2.เครื่องรับโทรทัศน์ที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลในตัว และ 3.กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี รุ่นที่รองรับการรับชมความคมชัดสูง หรือ HD ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลัง กสทช. ปรับราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท นอกจากงบประมาณของประเทศจะถูกใช้เพิ่มมากขึ้น ผิดไปจากหลักการที่กำหนดไว้แต่แรกแล้ว ยังส่งผลเสียโดยตรงกับผู้บริโภค เพราะทำให้ราคากล่องรับสัญญาณมีราคาสูงขึ้นตามมูลค่าของคูปอง ซึ่งจากการสำรวจราคากล่องดิจิตอลที่วางขายอยู่ในท้องตลาด ราคาจะอยู่ที่ 1,000 – 2,000 บาท แต่อย่างที่ได้ให้ข้อมูลไปแล้วว่าต้นทุนจริงๆ ของกล่องดิจิตอลต่อให้บวกราคาที่บริษัทผู้ผลิตได้กำไรแล้ว ราคาขายก็ไม่น่าเกิน 1,000 บาท   ผลเสียของคูปอง 1,000 บาท กลายเป็นภาระของผู้บริโภค การประกาศให้ราคาคูปองที่ 1,000 บาทจึงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน ทำให้ประเทศชาติเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมีเพียงกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการที่ กสทช. อนุมัติราคาคูปองที่ 1,000 บาท มีเพียงแค่ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ค้ากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่สามารกำหนดราคากล่องสูงๆ ตามราคาคูปองได้ 2 .บริษัทจำหน่ายดิจิตอลทีวี ซึ่งราคาคูปอง 1,000 บาทสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคนำไปใช้เป็นส่วนลดซื้อทีวี และ 3.ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี เพราะผู้บริโภคสามารถนำคูปองไปเป็นส่วนลดในการซื้อกล่องดาวเทียมหรือเคเบิล ซึ่งแม้ราคาจะแพงกว่ากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีธรรมดา แต่รายการที่มีให้รับชมดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากกว่า แต่นั้นก็ถือเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีในรูปแบบฟรีทีวี ไม่ต้องมีภาระในการจ่ายค่าบริการรายเดือน เครือข่ายผู้บริโภคจึงได้เรียกร้องให้ กสทช. ต้องปรับลดราคาคูปองจาก 1,000 บาท ลงมาเหลือที่ 690 บาท เพื่อไม่เป็นสร้างภาระให้กับผู้บริโภค ไม่ใช้งบประมาณของประเทศไปอย่างไม่เหมาะสม พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากบรรดาผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลปรับลดราคาสินค้าของตัวเองลงให้เหมาะสมกับต้นทุนจริง เพื่อคูปองถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่อยากให้เป็นเครื่องช่วยให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม   พลังของผู้บริโภคมีผล กสทช.ยอมปรับราคาคูปองที่ 690 ในที่สุดความตั้งใจดีขององค์กรผู้บริโภคก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. กสทช. ก็ได้มีมติสรุปราคาคูปอง (น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้ว) ให้ลดลงมาอยู่ 690 บาท โดยคูปองราคา 690 บาทนี้จะสามารถใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อได้เฉพาะ โทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่มีภาครับในตัว และอุปกรณ์แปลงสัญญาณระบบดิจิตอล (Set-Top-Box) มาตรฐาน DVB-T2 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงาน กสทช. (มีสติ๊กเกอร์ตราครุฑแปะอยู่ที่กล่อง) เท่านั้น ไม่สามารถนำไปแลกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีแบบที่เคยกำหนดไว้ในคูปองราคา 1,000 บาท โดยคูปองแลกซื้อดิจิตอลทีวีจะแจกให้กับ 22.9 ล้านครัวเรือน ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง ณ เดือนมีนาคม 2557 โดยจะส่งทางไปรษณีย์  คาดว่าจะเริ่มส่งได้ช่วงปลายเดือนกันยายนหรือกลางเดือนตุลาคม ซึ่งจะเริ่มแจกก่อนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา และขอนแก่น *สำรวจราคาล่าสุดสิงหาคม 2557 --------------   ขอต้อนรับเข้าสูยุค “ดิจิตอลทีวี” ดิจิตอลทีวี เป็นชื่อเรียกของระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ทั้งภาพและเสียงเข้าสู่เครื่องรับโทรทัศน์ของแต่ละบ้าน ซึ่งก็คือช่องรายการต่างๆ ที่เรารับชมกันอยู่ แต่ก่อนแต่ไรมาระบบสัญญาณโทรทัศน์ในบ้านเราจะเป็นระบบที่เรียกว่า ระบบอนาล็อก (Analog) ซึ่งส่งสัญญาณช่องรายการทีวีที่ทุกบ้านสามารถดูได้ฟรีๆ 6 ช่องรายการ คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 (NBT) และ ไทยพีบีเอส โดยการรับชมก็ขอแค่มีทีวีสักเครื่องติดเข้ากับเสาอากาศสักอัน จะเป็นก้างปลาหนวดกุ้งก็แล้วแต่ แค่นี้ก็รับชมฟรีทีวี 6 ช่องรายการที่บอกไว้ได้แล้ว แต่การมาถึงของดิจิตอลทีวีจะทำให้การรับชมฟรีทีวีของคนไทยต้องเปลี่ยนไป และน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลจะช่วยทำให้คุณภาพของภาพและเสียงมีความคมชัดสูงมากกว่าระบบอนาล็อกเดิม ระบบเสียงจะเปลี่ยนเป็นระบบ Surround จากเดิมที่เป็นแค่ระบบ Stereo ส่วนภาพก็มีช่องรายการที่ออกอากาศด้วยระบบความคมชัดสูง (High Definition – HD) ต่างจากระบบอนาล็อกที่มีแค่ช่องรายการที่ความคมชัดของภาพอยู่ในระดับปกติ (Standard Definition – SD) เท่านั้น แถมช่องรายการที่เป็นฟรีทีวีก็มีเพิ่มมากขึ้นจาก 6 ช่อง เพิ่มเป็น 48 ช่อง เพียงแต่การที่จะรับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลนั้น จำเป็นต้องมีตัวช่วย คือ กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล หรือ Set top Box นำมาติดตั้งเข้ากับทีวีเครื่องเดิมที่บ้านเพื่อแปลงสัญญาณดิจิตอลแสดงผลผ่านหน้าจอทีวี กลายเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงต้องหาซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีมาต่อเข้ากับทีวีที่บ้าน ซึ่งทาง กสทช. ก็ช่วยเหลือประชาชนส่วนหนึ่งด้วยการแจกคูปองมูลค่า 690 บาท ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดสำหรับแลกซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีและทีวีรุ่นใหม่ๆ ทีมีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัวไม่ต้องติดกล่องก็ชมได้     นอกจากนี้ดิจิตอลทีวี จะได้เปรียบทีวีดาวเทียม คือ หากมีการถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญๆ ทีวีดาวเทียมจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จึงทำให้จอดำ แต่ทีวีดิจิตอล สามารถรับได้ปกติ เพราะเป็นระบบฟรีทีวีแบบเดียวกับการใช้เสาหนวดกุ้ง (ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด)   อยากดูดิจิตอลทีวีต้องทำยังไง? ถ้าหากอยากให้ทีวีทีบ้านออกอากาศช่องรายการในระบบดิจิตอลทีวี มีวิธีหลักๆ อยู่ 3 วิธีด้วยกัน หาซื้อทีวีเครื่องใหม่ที่มีตัวรับสัญญาณหรือจูนเนอร์ที่รองระบบดิจิตอลทีวีในตัว (integrated Digital Television หรือ iDTV) ซึ่งสามารถรับสัญญาณระบบดิจิตอลทีวีได้ทันที ไม่ต้องติดกล่องรับสัญญาณ หรือ Set Top Box แค่นำทีวีต่อเข้ากับเสารับสัญญาณโดยตรงก็สามารถรับชมช่องรายการทีวีดิจิตอลได้ทันที (สามารถตรวจสอบ ยี่ห้อ รุ่น ของทีวีที่รองรับระบบสัญญาณดิจิตอลในตัวเครื่องได้ที่ https://broadcast.nbtc.go.th/tools/idtv) ส่วนถ้าใครไม่อยากเสียเงินซื้อทีวีใหม่ แต่ทีวีที่บ้านยังเป็นรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นทีวีจอตู้ หรือจะเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ ทั้งพลาสม่า, LCD, LED ถ้าหากเขาไม่ได้เป็นทีวีรุ่นที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัว ยังไงก็ดูช่องรายการดิจิตอลทีวีไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวช่วยอย่าง กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี โดยกล่องรับสัญญาณต้องเป็นรุ่นที่สามารถแปลงสัญญาณที่เรียกว่า DVB T2 ได้ โดยขั้นตอนการติดตั้งเพื่อรับชมก็ไม่ยากแค่นำกล่องรับสัญญาณไปต่อสายนำสัญญาณที่มาจากเสาอากาศ ก้างปลา หรือหนวดกุ้ง ก็แล้วแต่สะดวก จากนั้นก็ใช้สาย AV หรือสาย HDMI ต่อเข้าที่ทีวีแค่นี้ก็ชมดิจิตอลทีวีได้แล้ว (ข้อควรรู้สำหรับคนที่ตั้งใจจะชมช่องรายการความคมชัดสูง หรือ ช่อง HD จากกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ต้องต่อสายรับสัญญาณจากกล่องรับสัญญาณเข้าสู่ทีวีด้วยสาย HDMI เท่านั้น เพราะสายสัญญาณ AV เป็นการส่งสัญญาณแบบอนาล็อก การรับชมช่องแบบ HD ก็จะได้คุณภาพความคมชัดไม่สมบูรณ์ 100% เพราะฉะนั้นถ้าอยากดูช่อง HD ที่คมชัดจริงๆ ต้องต่อด้วยสายสัญญาณ HDMI นั้นแปลว่า ทีวีที่จะรับชมก็ต้องมีช่องสำหรับเสียบสัญญาณ HDMI มาพร้อมด้วยเช่น งานนี้ใครที่ยังใช้ทีวีรุ่นเก่าพวกทีวีจอตู้ก็จะต้องเจอปัญหาเพราะไม่มีช่องรับสัญญาณ HDMI ถ้าอยากชมก็ต้องยอมเปลี่ยนเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ แทน) แต่ถ้าที่บ้านใครปกติรับชมทีวีผ่านกล่องจานดาวเทียมหรือเคเบิลอยู่แล้ว (เช่น True, GMMZ, IPM, sunbox, PSI ฯลฯ) สามารถรับชมช่องรายการดิจิตอลทีวีได้ทันที 48 ช่องเช่นกัน แต่รูปแบบการเรียงลำดับช่องรายการก็แตกต่างจากช่องรายการที่เรียงไว้เป็นมาตรฐานของกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีทั่วไป นอกจากนี้หากอยากจะรับชมช่องรายการที่เป็นแบบ HD ก็ต้องเลือกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รองรับระบบ HD ด้วยเช่นกัน การรับชมก็แค่ถอดปลั๊กกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รับชมอยู่ แล้วเสียบใหม่ไปที่เครื่อง เครื่องจะเริ่มทำงานใหม่และค้มหาสัญญาณดิจิตอลทีวีโดยอัตโนมัติ   วิธีการติดตั้งกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1. ตรวจสอบสายอากาศ สายสัญญาณ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ว่ายังสามารถใช้งานได้เป็นปกติดีหรือไม่ 2. นำสายสัญญาณที่เชื่อมต่อมาจากเสาอากาศต่อเข้ากับกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล 3. เชื่อมต่อสายสัญญาณจากกล่องดิจิตอลทีวี ด้วยสายสัญญาณ AV หรือสาย HDMI เข้าสู่ทีวี 4. เปิดเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี เมื่อกล่องรับสัญญาณทำงานที่หน้าจอทีวีจะแสดงหน้าเมนู อันดับแรกให้เลือกภาษาที่แสดงเป็นภาษาไทย (กล่องรับสัญญาณทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่ได้รับการรับรองจาก กสทช. ต้องมีเมนูเลือกเป็นภาษาไทย) จากนั้นให้ตั้งค่าเปิดไฟเลี้ยงสำหรับทีวีที่ใช้เสาสัญญาณแบบที่มีไฟเลี้ยง (Active Indoor Antenna ส่วนใหญ่จะเสาอากาศขนาดเล็กที่ติดตั้งภายในอาคาร) จากเลือกเมนูคำสั่งค้นหาช่องรายการ กล่องรับสัญญาณก็จะทำการค้นหาสัญญาณและช่องรายการแบบอัตโนมัติ เท่านี้ก็ดูทีวีดิจิตอลได้แล้ว   มาตรฐานด้านเทคนิคของเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1.ต้องสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลในระบบ Second Generation Digital Terrestrial Television Broadcasting System (DVB-T2) ได้ทั้งแบบมาตรฐานความคมชัดปกติ (Standard Definition: SD) และแบบมาตรฐานความคมชัดสูง (High Definition: HD) 2. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมีคุณลักษณะทางไฟฟ้าและความปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน มอก. 1195  หรือฉบับที่ใหม่กว่า 3. ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility) ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าสําหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดินให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในมาตรฐาน CISPR 13 หรือ มอก. 2185-2547 4. ครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมาพร้อมกับคู่มือการติดตั้งและใช้งานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 5. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มนูนสัมผัส (Tactile marking) บนปุ่มกดตัวเลข “5” 7. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มสําหรับการเลือกช่องสัญญาณเสียงที่รองรับการใช้งานการบรรยายด้วยเสียง (Audio Description) ได้ โดยอาจเป็นปุ่มสําหรับเลือกช่องสัญญาณเสียงโดยทั่วไป เช่น ปุ่ม “Audio” หรือเป็นปุ่มสําหรับเปิดหรือปิดการบรรยายด้วยเสียงเป็นการเฉพาะ เช่น ปุ่ม “AD” 8. การแสดงผลภาพ ต้องรองรับการแสดงผลความคมชัดสูง ดังต่อไปนี้ -ความละเอียด 1920x1080 แบบ interlace (1080i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดสูง -ความละเอียด 1280x720 แบบ progressive (720p) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 50 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดปกติ -ความละเอียด 720x576 แบบ interlace (576i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาทีและ อัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 และ 4:3 9. การถอดรหัสสัญญาณเสียงแบบ 2 ช่องเสียง (stereo) แบบ MPEG-4 HE AACv2 ตามมาตรฐาน ISO/IEC 14496-3 10. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องรองรับการแสดงผลเมนูบนจอภาพเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีค่าเริ่มต้นเป็นภาษาไทยหรือผู้ใช้ต้องสามารถเลือกภาษาได้ในการใช้งานครั้งแรก   (ที่มา : ประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point