ฉบับที่ 269 รวบแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง

        เดี๋ยวนี้หลายคนที่ช้อปออนไลน์มักจะเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง เพราะไม่อยากเสี่ยงโอนเงินไปก่อนแล้วต้องมาลุ้นว่าจะได้ของชัวร์หรือตรงปกไหม แต่รู้หรือไม่ว่านี่กลับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้สวมรอยหลอกให้เหยื่อจ่ายเงินรับพัสดุแบบเนียนๆ ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อเลย ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วจำนวนมาก         เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์แกะรอยสืบสวนจากบริษัทรับส่งพัสดุแห่งหนึ่ง จนจับแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางได้ 3 คน ที่โกดังสินค้าและบ้านพักแถวคลองหลวง ปทุมธานี ผู้ต้องหารับสารภาพว่าซื้อกล่องพัสดุที่ติดชื่อผู้รับปลายทางมาชื่อละบาท จำนวน 3,000 รายชื่อ และซื้อกล่องสินค้าแบบแพ็คสำเร็จมากล่องละ 7 บาท แต่จะติดราคาแพงๆ เก็บเงินปลายทาง จากนั้นว่าจ้างให้บริษัทขนส่งเอกชนมารับพัสดุไปส่งให้เหยื่อ โดยจะทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่เจ้าของโรงงานผลิตกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ ไปจนถึงผู้ลักลอบนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาขายให้         มิจฉาชีพพวกนี้ได้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ เว็บไซต์เปิดรับสมัครงานปลอม ในคอมเมนต์เพจสั่งของ ในหน้าเพจร้านค้าออนไลน์ที่แจ้งการส่งสินค้า หน้ากล่องพัสดุที่ถูกทิ้งโดยไม่แกะหรือขีดฆ่าชื่อ-ที่อยู่ออกก่อน หรือซื้อมาจากบริษัทขนส่งพัสดุและบริษัทสมัครงาน          แก๊งนี้ได้ใจว่าหาเงินได้ง่าย หว่านส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางออกไปวันละ 1,000 กล่อง แต่มีผู้รับตีกลับไม่ถึง 100 กล่อง ผู้เสียหายไม่เอาผิดเพราะคิดว่ามูลค่าเงินไม่เยอะ หรือหากเอาผิดก็เป็นเรื่องยากเพราะใช้ชื่อผู้ส่ง ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ปลอมทั้งหมด ดังนั้นใครที่ตกเป็นเหยื่อควรเข้าแจ้งความเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ อย่าปล่อยให้พวกหลอกลวงลอยนวลได้อีกต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำวิธีป้องกันและรับมือในกรณีนี้ว่า         1.หากไม่ได้สั่งสินค้า ให้ปฏิเสธการรับพัสดุทันที แต่หากเผลอรับเพราะลืม หรือไม่ได้แจ้งคนที่บ้านเอาไว้ ให้โทรศัพท์ติดต่อไปตามเบอร์ที่อยู่บนกล่องพัสดุนั้น หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลปลอม          2.ถ่ายรูปกล่องพัสดุ ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com หากจับกุมตัวได้ก็จะส่งฟ้องศาล ซึ่งผู้เสียหายควรไปให้การในชั้นศาล เพื่อเรียกเงินชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงในการรับพัสดุปลายทางที่ไม่ได้สั่งนั้น           3.ผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแปะกล่องส่งพัสดุปลายทาง สามารถฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ "PDPA"  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ระวังเสียเงินกับพัสดุที่ไม่ได้สั่ง

        เมื่อการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ มิจฉาชีพก็ว่องไวในการหาทางฉกฉวยเงินของคุณจากธุรกิจนี้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งขอนำเสนอภัยแฝงอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้บริโภคควรรับทราบไว้         คุณนพวรรณโทรมาปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวานกลับจากทำงานถึงบ้าน คุณป้าซึ่งอาศัยอยู่ด้วยกันกับคุณนพวรรณยื่นกล่องพัสดุน้อยๆ ให้บอกว่า วันนี้มีคนนำมาส่งและเรียกเก็บเงินปลายทาง จำนวน 150 บาท ป้ามองแล้วแม้เห็นว่าชื่อผู้รับไม่ตรงกับคนในบ้าน แต่บ้านเลขที่ตรงกันจึงคิดว่าหลานหรือคุณนพวรรณอาจใช้ชื่ออื่นในการสั่ง อีกทั้งจำนวนเงินก็ไม่ได้มาก คุณป้าจึงจ่ายค่าสินค้าและเซ็นรับของไว้         คุณนพวรรณอึ้งไปสักพักและทบทวนว่าตนได้สั่งซื้อสินค้าอะไรไปหรือไม่ ก็คิดว่าไม่ และเมื่ออ่านชื่อที่อยู่ผู้รับซ้ำอีกครั้ง พบว่าแม้เลขที่บ้านตรงกันแต่เป็นคนละซอย เธอคิดว่าผู้ส่งซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทขนส่งคงเข้าใจผิด ผู้สั่งสินค้าจริงอาจจะกังวลที่ของไม่ถึงมือจึงโทรไปตามเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับที่แปะอยู่บนกล่องพัสดุ มีคนรับโทรศัพท์แต่พอเล่าเรื่องให้ฟัง คนตามจ่าหน้ากลับบอกว่าตนเองวันนี้ได้รับสินค้าที่สั่งไปแล้ว สินค้าที่อยู่กับคุณนพวรรณไม่น่าจะใช่ของตนเอง “อ้าว แล้วคราวนี้จะยังไง” สรุป “มีดโกนหนวดนี้เป็นของใคร” คุณนพวรรณเลยโทรไปตามเบอร์โทรศัพท์ของร้านค้าที่เป็นเจ้าของสินค้าก็ไม่มีผู้รับสาย เธอพยายามหลายรอบจนคิดว่าอาจจะไม่มีร้านนี้อยู่จริง “ดิฉันควรทำอย่างไรดี”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากปรากฎเป็นข่าวเตือนภัยกันถึงเรื่องที่มีมิจฉาชีพส่งพัสดุราคาไม่แพงไปเรียกเก็บเงินปลายทาง ซึ่งผู้รับที่ไม่ได้อยู่บ้านในขณะที่สินค้ามาส่งจะไม่มีโอกาสปฏิเสธ แต่ญาติหรือคนที่อาศัยด้วยกันเป็นผู้รับสินค้า เมื่อเห็นว่าราคาเรียกเก็บเงินประมาณ 100-300 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากก็จะออกเงินให้ไปก่อน แต่มารู้ทีหลังว่าผู้รับตามจ่าหน้าไม่ได้เป็นผู้สั่งสินค้า ก็ทำให้เสียเงินกันไปฟรีๆ เพราะสินค้าที่ได้มามักเป็นสินค้าที่ไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือสินค้าที่มูลค่าน้อยกว่าจำนวนเงินที่เสียไป ซึ่งกรณีนี้หากผู้เสียหายต้องการให้เกิดการจัดการทางกฎหมายควรนำสินค้าไปแจ้งความกล่าวโทษกับร้านค้าหรือบริษัทที่ส่งสินค้ามาหลอกลวง         อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีคุณนพวรรณ เนื่องจากว่าบ้านเลขที่บนกล่องพัสดุมีบุคคลที่สั่งซื้ออยู่จริงเพียงแต่มีสินค้าชนิดเดียวกันนำไปส่งให้แล้ว อาจเป็นไปได้ว่า ผู้รับสั่งสินค้าผิดพลาด(สั่งซื้อซ้ำ) และพนักงานบริษัทขนส่งทำงานพลาด ดังนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงช่วยประสานงานกับบริษัทขนส่ง ซึ่งเป็นตัวกลางในการนำส่งสินค้าแก้ไขปัญหาให้กับคุณนพวรรณ ทางบริษัทฯ ได้รับเรื่องไว้และส่งพนักงานไปรับสินค้าจากคุณนพวรรณพร้อมคืนเงินจำนวน 150 บาท และนำสินค้ากลับไปเพื่อดำเนินการจัดส่งให้ถูกต้องต่อไป        สำหรับผู้บริโภคที่พบกรณีปัญหาคล้ายกันนี้ หากพบพิรุธว่าเป็นการหลอกลวงให้เสียทรัพย์ ให้นำความไปแจ้งต่อตำรวจเพื่อดำเนินคดีในฐานฉ้อโกง แต่หากพบว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดของบริษัทขนส่ง ให้ติดต่อกับบริษัทขนส่งที่รับผิดชอบส่งสินค้าผิดมาให้ท่านเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป  และบอกกล่าวกับคนในบ้านไว้เสมอเมื่อตนเองสั่งสินค้าอะไรไป ของจะมาส่งวันไหน แต่หากว่ามีของมาส่งโดยไม่ได้บอกกล่าวไว้ให้ตรวจสอบรายชื่อและบ้านเลขที่ให้ดีๆ หากไม่ตรงกันกับบุคคลในบ้านและ/หรือที่อยู่ผิดควรปฏิเสธไม่รับสินค้า 

อ่านเพิ่มเติม >