ฉบับที่ 274 สำรวจฉลากโภชนาการ “ขนมในกระเช้าปีใหม่”

        ช่วงเทศกาลส่งความสุขในปีใหม่นี้ ผู้บริโภคคนไหนกำลังคิดจะเลือกซื้อขนมอบกรอบหวานหอม และขนมขบเคี้ยวเค็มๆ มันๆ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส มาจัดกระเช้าปีใหม่ ด้วยหวังว่าผู้รับจะชอบใจ อยากให้แตะเบรกไว้ก่อน เพราะแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่มักมอบให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ แต่อย่าลืมว่าขนมเหล่านี้มีส่วนผสมหลักเป็นแป้ง น้ำตาล เนย นม เกลือ ผงฟู และสารกันเสีย ซึ่งหากกินเข้าไปเยอะๆ บ่อยๆ อาจเกิดการสะสมของน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดได้         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างขนมในกระเช้าปีใหม่ (คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ และพาย) จำนวน 11 ตัวอย่าง ในช่วง 1 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ (ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม) และราคาต่อปริมาณ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคว่าจะเลือกขนมเหล่านี้จัดใส่กระเช้าปีใหม่ดีไหมหนอ  ผลการสำรวจ        ·     ทุกตัวอย่างระบุเลขที่ใบอนุญาตจาก อย. ไว้ถูกต้อง ตรวจสอบข้อมูลได้         ·     เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของขนม 11 ตัวอย่าง พบว่า ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค มีปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุดคือ 34 กรัม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม และ ยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้ มีน้อยที่สุดคือ 25 กรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภค พบว่า            -        ปริมาณพลังงานมากที่สุด = 180 กิโลแคลอรี คือยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า มีน้อยที่สุด  = 120 กิโลแคลอรี            -        ปริมาณน้ำตาลมากที่สุด = 11 กรัม  คือยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม มีน้อยที่สุด = 2 กรัม             -        ปริมาณไขมันมากที่สุด = 9 กรัม ได้แก่ ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค และยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า และยี่ห้อแซง มิเชล กาเลต โอ เบอร์ ทิน บัตเตอร์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด = 5 กรัม             -        ปริมาณโซเดียมมากที่สุด = 135 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล(บิสกิตข้าวสาลี) ส่วนยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้  มีน้อยที่สุด = 40 มิลลิกรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ แพงสุดคือ 0.95 บาท ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ถูกสุดคือ  0.22 บาท  ข้อสังเกต        - เมื่อคำนวณในปริมาณ 1 หน่วยบริโภคที่เท่ากัน คือ 30 กรัม (ปริมาณเฉลี่ย ได้จากผลรวมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ÷ 11) พบว่า ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีปริมาณพลังงานมากที่สุด = 160 กรัม ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม มีทั้งน้ำตาล (11.96 กรัม) และโซเดียม (141.30 มิลลิกรัม) ในปริมาณมากที่สุด         - หากเรากินโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม 1 ห่อ (3 ชิ้น) จะได้รับน้ำตาลเกือบครึ่งหนึ่งของที่แนะนำให้กินได้ต่อวัน(ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 24 กรัมต่อวัน) ถ้าเผลอกินเพลินเกิน 2 ห่อต่อวัน ร่างกายจะได้น้ำตาลเกินจำเป็น         - วัยผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น หากกินขนมแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล (บิสกิตข้าวสาลี) 2 ชิ้น หรือโอรีโอ ช็อกโกแลตครีม 3 ชิ้น ก็จะได้รับโซเดียมเกินครึ่งหนึ่งของที่แนะนำไว้แล้ว        - เมื่อลองนำเกณฑ์สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกสุขภาพ” มาพิจารณา ในปริมาณขนม 100 กรัม         ขนมบิสกิตและแครกเกอร์   กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 7 กรัม  และโซเดียม ≤ 500 มิลลิกรัม พบว่าทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมอยู่ในเกณฑ์        ขนมคุกกี้  กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 20 กรัม และ โซเดียม ≤ 300 มิลลิกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมเกินเกณฑ์นี้ 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม (471.01 มก.)  ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ (348.48 มก.) และยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค (323.53 มก.)         - ทุกตัวอย่างบอกวันผลิตและวันหมดอายุไว้ มีอายุตั้งแต่ 10 – 21 เดือน โดยมี 8 ตัวอย่างที่อายุ 1 ปี         - ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ระบุวันหมดอายุ 01.12.23 และมีอายุนับจากวันผลิตนานถึง 21 เดือน         - มี 3 ตัวอย่างที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เยอรมันฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร         - ทุกตัวอย่างแสดงข้อความเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ”     ฉลาดซื้อแนะสำหรับผู้ให้        - หากจะซื้อขนมมาจัดกระเช้าปีใหม่ ต้องดูวันหมดอายุให้ดีๆ เพราะอาจมีสินค้าใกล้หมดอายุมาวางขายปะปนบนชั้นได้ ยิ่งถ้าใครซื้อแบบกระเช้าสำเร็จรูปก็ต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ         - เลือกซื้อขนมที่ผลิตในประเทศไทย สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ         - เปลี่ยนเป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น กระเจี๊ยบมอญอบกรอบ บร็อคโคลี่อบแห้ง งาดำอัดแท่งหวานน้อย ลูกเดือยกล้อง ถั่วเปลือกแข็ง (อัลมอนด์ วอลนัท) อบไม่ปรุงรส ดาร์คช็อคโกแล็ต (มี %cocoa มากกว่า 70%) เป็นต้น         - อย. แนะนำให้มอบกระเช้าของขวัญปีใหม่ในแบบ “สุขใจผู้ให้ ห่วงใยผู้รับ” โดยเลือกที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับผู้รับ        - เมื่อได้รับขนมเหล่านี้เป็นของขวัญ มักได้เป็นกล่องหรือกระป๋องใหญ่ แกะแบ่งห่อเล็กปันคนอื่นๆ ด้วยก็ดีไม่ต้องเก็บไว้เยอะ และอย่าเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ เดี๋ยวจะอ้วน         - ถ้าวันไหนรู้ตัวว่ากินคุกกี้ แครกเกอร์ เยอะเกินแล้ว ก็ควรจะออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไป จะได้กินขนมให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเอง         - กินขนมคู่กับน้ำเปล่าดีที่สุด หากไม่อยากได้รับน้ำตาล ไขมันและโซเดียมเพิ่มอีก         - อย่าชะล่าใจ กินขนมอบกรอบรสหวานๆ เสี่ยงเป็นเบาหวานแล้วยังเสี่ยงเป็นโรคไตด้วย เพราะโซเดียมไม่ได้มีแต่ในเกลือที่ให้รสเค็ม แต่ยังแฝงอยู่ในผงฝูและสารกันบูดที่เป็นส่วนผสมของขนมเหล่านี้ด้วย  ข้อมูลอ้างอิงwww.thaihealth.or.thwww.oryor.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 กระเช้าสีดา : ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาไม่รักหรอก

              มีข้อสังเกตอยู่ว่า แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำคุกรุ่นอยู่เป็นเบื้องหลัง แต่ทว่าจิตสำนึกของคนไทยก็มักเลือกที่จะ “ซุกขี้ฝุ่นไว้ใต้พรม” หรือใช้วิธีหรี่ตาให้กับความขัดแย้งต่างๆ แต่ในขณะที่สังคมไทยพยายามปิดบังอำพรางเชื้อฟืนแห่งความขัดแย้งเอาไว้ กลับเป็นละครโทรทัศน์ที่เลือกจะ “เลิกพรมขึ้นมาดูขี้ฝุ่นที่อยู่ใต้พื้น” และนำความเหลื่อมล้ำขัดแย้งมาเผยให้ได้เห็นกันอยู่ทุกค่ำคืน         และหนึ่งในความขัดแย้งที่มักถูกมานำเสนอเป็นเรื่องเล่าของละครโทรทัศน์ ก็หนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่แตกต่าง ซึ่งต่างก็ช่วงชิงโอกาสและอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจสังคม และยังเป็นเส้นเรื่องในสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างผู้หญิงสองคนในละครโทรทัศน์เรื่อง “กระเช้าสีดา”         เมื่อสมัยเด็กๆ ผู้เขียนเคยอ่านนิทานตำนานของต้นไม้ที่ชื่อ “กระเช้าสีดา” ว่า แต่เดิมไม้เถาพันธุ์นี้เป็นกระเช้าของนางสีดาที่ทำตกไว้ในป่า ระหว่างที่นางถูกทศกัณฐ์อุ้มลักพาตัวไปจากพระราม จากนั้นทวยเทพยดาเบื้องบนจึงบันดาลดลให้กระเช้ามีรากงอกออกมาเป็นไม้เถา เพื่อรำลึกถึงชะตากรรมของนางสีดาในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์         แม้ในทุกวันนี้ ต้นกระเช้าสีดาจะยังมีข้อถกเถียงว่า ใช่ต้นไม้กาฝากที่เฝ้าคอยดูดน้ำเลี้ยงจากไม้ใหญ่ หรือเป็นไม้เถาที่เพียงอิงแอบอาศัยไม้อื่นเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยกันแน่ แต่สำหรับในละครโทรทัศน์แล้ว กระเช้าสีดาเป็นอุปมาอุปไมยถึงกลุ่มคนชั้นล่างที่แอบอิงเอาแต่จะเกาะกินเซาะทำลายชนชั้นนำที่วางสถานะเศรษฐกิจสังคมไว้สูงส่งกว่า         หากกระเช้าสีดาเป็นไม้เลื้อยที่ต้องอาศัยเกาะเกี่ยวไม้อื่น ตัวละครอย่าง “รำนำ” ก็เหมือนจะถูกสร้างขึ้นให้เป็นภาพแทนของเถาไม้แห่งชนชั้นล่างดังกล่าว รำนำเติบโตเป็นเด็กรับใช้ และเป็นลูกของ “นุ่ม” สาวใช้ในบ้านของ “ลือ” เนื่องจากบิดาเสียชีวิตตั้งแต่เล็กๆ ลือจึงสงสารและเอ็นดูเด็กหญิง เพราะคิดเสมอว่า เด็กที่ขาดพ่อก็ขาดซึ่งความอบอุ่น เลยอนุญาตให้รำนำนับถือเรียกเขาว่า “คุณอา” ทั้งที่ลึกๆ ในใจนั้น รำนำกลับแอบผูกจิตปฏิพัทธ์ให้กับ “คุณอา” ผู้เป็นญาติสมมติมาตั้งแต่เติบโตเข้าสู่วัยสาว         ตรงข้ามกับผู้หญิงอีกคนอย่าง “น้ำพิงค์” ซึ่งละครเปิดฉากแรกก็แนะนำให้ผู้ชมรับรู้สถานภาพของเธอในฐานะประธานบริหารเจ้าของบริษัทรถยนต์นำเข้าจากยุโรป และด้วยความมั่งคั่งร่ำรวยเพราะ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด” เช่นนี้เอง เมื่อน้ำพิงค์แต่งงานมาใช้ชีวิตคู่อยู่กินกับลือ จึงเท่ากับการทำลายความฝันและพรากความหวังที่รำนำจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของหัวใจหนุ่มใหญ่ที่เธอแอบหลงรักมานานแล้ว         ความแตกต่างทางสถานะเศรษฐกิจและหน้าตาทางสังคมของผู้หญิงสองคนที่โคจรให้มาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน โดยที่คนหนึ่งเป็นเด็กรับใช้ลูกแม่บ้าน กับอีกคนหนึ่งเป็นหญิงที่เพียบพร้อมชื่อเสียงเงินทอง จึงไม่ต่างจากพื้นที่ภูเขาไฟใต้สมุทรที่ความขัดแย้งแห่งชนชั้นรอคอยวันปะทุขึ้นมา         เมื่อไม่มีต้นทุนชีวิต รำนำก็ได้แต่เชื่อว่า การอยู่เฉยๆ เป็น “ข้าวรอคอยฝน” คงไม่ใช่คำตอบในชีวิตของเธอ ผู้หญิงที่เกิดมาในสถานะแบบชนชั้นล่างจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไขว่คว้าโอกาสด้วยสองมือของตนเอง         ประโยคที่รำนำเน้นย้ำกับแม่ว่า “พวกเราเป็นคนต่ำต้อย ไม่มีใครเขาประเคนอะไรให้เราหรอก ถ้าเราอยากได้ เราก็ต้องแย่งเอง” อีกนัยหนึ่งก็คือการประกาศเจตนารมณ์ว่า แม้จะ “เกิดมาเป็น” ชนชั้นที่ไม่มีปัจจัยการผลิตและอภิสิทธิ์ใดๆ แต่ก็ใช่ว่าเธอจะมีจิตสำนึกที่ศิโรราบต่อสถานะอันเหลื่อมล้ำดังกล่าวนั้น         ด้วยเหตุฉะนี้ ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อยืนยันเจตจำนงแห่งปัจเจกบุคคลจึงเริ่มต้นขึ้น และแม้จะไม่มีต้นทุนใดๆ ติดตัวมาแต่กำเนิด หากทว่า “นารีก็ยังมีรูปที่เป็นทรัพย์” รำนำจึงวางแผนหว่านเสน่ห์ยั่วให้ลือลุ่มหลง และมีสัมพันธ์เกินเลยกับเธอ รวมไปถึงพยายามทำทุกวิถีทางให้ “ความลับไม่เป็นความลับ” จนสามารถเขย่าขาเตียงของลือกับน้ำพิงค์ และนำไปสู่การหย่าร้างจากกันได้ในที่สุด         แต่ทว่า ข้อเท็จจริงบางอย่างที่รำนำก็ต้องเรียนรู้ในสนามต่อสู้ครั้งนี้ก็คือ สำหรับชนชั้นนำอย่างน้ำพิงค์แล้ว เนื่องจากมีทั้งต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคมที่ล้นเกิน แถมยัง “สวยเลือกได้” อีก สโลแกนของคนกลุ่มนี้จึงครวญออกมาเป็นวลีที่ว่า “ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” เพราะแม้จะเลิกรากับลือไป เธอก็พร้อมจะมีหนุ่มโสดในฝันอย่าง “อำพน” มาจ่อคิวรอคอยดูแล ก่อนจะก้าวเป็น “สามีแห่งชาติ” ในลำดับถัดมา         ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถลำเข้าสู่สมรภูมิเกมแห่งชนชั้นแล้ว รำนำก็ได้สำเหนียกว่า ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจสังคมต่างถักสานโครงข่ายผลประโยชน์ระหว่างกันของคนกลุ่มนี้เอาไว้ ทั้งผลประโยชน์ด้านสว่างและด้านมืดที่โยงใยอย่างซับซ้อน โดยที่ลูกสาวคนใช้อย่างเธอยากนักจะเข้าไปเจียดแบ่งผลประโยชน์มาดอมดมได้บ้างเลย         เริ่มจากหนุ่มหล่อลูกชายของเจ้าของธุรกิจสื่อรายใหญ่อย่าง “เวไนย” ผู้เคยแอบหลงเสน่ห์ที่รำนำโปรยไว้ให้ แต่เมื่อรู้ภายหลังว่ารำนำเป็นลูกสาวใช้และเป็นอนุภรรยาของลือ เขาก็เลือกสลัดเธอทิ้งไป พร้อมๆ กับสนับสนุนมารดาให้ใช้อำนาจสั่งปลดรำนำจากพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้า ตามมาด้วย “ศศี” นักธุรกิจสาวที่คอยกีดกันความรักที่รำนำมีต่อลือ จนสร้างความขัดแย้งของผู้หญิงสองคนชนิด “ตายไม่เผาผี” กันเลย         แถมด้วย “พาที” ผู้บริหารธุรกิจกลางคืน ก็หลอกใช้รำนำเป็นเครื่องมือเพื่อกรุยทางสู่ผลประโยชน์ของเขา ไปจนถึง “ท่านจรินทร์” นักการเมืองใหญ่ที่ไม่เพียงเห็นรำนำเป็นเพียงของเล่นชั่วครั้งคราว หรือหลอกใช้เธอให้เป็นบันไดเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองเพื่อขึ้นสู่อำนาจ แต่ยังสั่งฆ่าเธอได้เมื่อของเล่นชิ้นนี้หมดประโยชน์ลง         ในวังวนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเช่นนี้ คนชั้นล่างผู้เสียเปรียบก็ยิ่งถูกทำให้เสียเปรียบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขูดรีดผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่เหนือกว่าอยู่วันยังค่ำ แถมซ้ำด้วยการถูกยัดเยียดฝากฝัง “ความรู้สึกผิด” เอาไว้ในความคิดของชนชั้นล่างโดยคนกลุ่มเดียวกันเอง เหมือนกับที่แม่นุ่มก็พูดย้ำเตือนสำนึกอันผิดพลาดของรำนำว่า “คุณค่าของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเกิดมาแบบไหน หรือพ่อแม่มีอาชีพอะไร แต่มันอยู่ที่การกระทำ ถ้าทำตัวไร้ค่า ต่อให้รวยล้นฟ้า ก็ไร้ค่าอยู่ดี”         ด้วยต้นทุนที่ไม่เท่าเทียมกันในสนามรบนี้ แม้ในตอนจบเรื่อง รำนำอาจจะพิชิตหัวใจของลือและลงเอยใช้ชีวิตคู่กับเขาได้ก็ตาม แต่ “ราคาที่ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทน” สำหรับผู้หญิงชนชั้นล่างนั้นก็ช่างแพงแสนแพงเหลือเกิน ทั้งถูกทำร้ายจนเหลือเพียงร่างพิการ ทั้งเสียลูกที่อยู่ครรภ์ ไปจนถึงสูญเสียชีวิตแม่นุ่มผู้ได้ชื่อว่าหวังดีที่สุดในชีวิตของเธอ         ในฉากท้ายๆ ของเรื่อง ทางออกของความขัดแย้งได้รอมชอมขึ้น เมื่อรำนำและน้ำพิงค์หันหน้ามาปรับความเข้าใจกัน แต่เมื่อผู้หญิงจากชนชั้นที่แตกต่างหันมาพูดคุยกันอีกคำรบหนึ่งเช่นนี้ บางทีละครก็ทิ้งคำถามให้ชวนคิดว่า ระหว่างผู้หญิงที่ “ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” กับผู้หญิงที่ “ต่อสู้ทุกอย่างเพื่อให้มีตัวตนทางเศรษฐกิจสังคม” นั้น คนกลุ่มใดกันแน่ที่เป็นไม้เลื้อยหรือกาฝากที่เกาะเกี่ยวพันไม้อื่นเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 118 จัดกระเช้าผลไม้ อย่าลืมตรวจสอบคุณภาพ

จัดกระเช้าผลไม้ อย่าลืมตรวจสอบคุณภาพโดย พชร  แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณที่ดี (นสธ.)  ใกล้ปีใหม่แล้ว เริ่มคิดจัดกระเช้าผลไม้ต้อนรับเทศกาลกันหรือยัง ถ้าตัดสินใจเลือกกระเช้าผลไม้เป็นของขวัญของฝาก เราก็ขอฝากข้อมูลไว้ให้พิจารณาเพิ่มด้วย ปีใหม่นี้จะได้แฮปปี้กันทั้งผู้ให้และผู้รับครับ  ผลไม้นั้นได้ชื่อว่าเป็นของดีต่อสุขภาพ แต่กระบวนการผลิตปัจจุบันอาจมีการแอบแฝงเข้ามาของสารเคมีกลุ่มยาฆ่าแมลงที่เหลือตกค้างอยู่ ดังนั้นก่อนรับประทานก็ต้องเลือกให้ดี และล้างให้สะอาด ถ้ายังไงลองนำข้อมูลที่นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ทำสำรวจไว้เป็นแนวทางในการพิจารณานะครับ แต่อย่าถึงขนาดเป็นทุกข์มากจนไม่รับประทานนะครับยังไงผลไม้ก็ดีต่อสุขภาพมากกว่าขนมครับ  ผมหยิบข้อมูลมานำเสนอสองชุด ข้อมูลชุดแรกเป็นข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลไม้นำเข้าจาก โครงการศึกษาระบบการจัดการอาหารนำเข้าที่ด่านอาหารและยาในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ปี 2552 - 2553 ซึ่งได้ทำการตรวจวิเคราะห์คุณภาพตัวอย่างผักสดและผลไม้สดนำเข้ารวม 44 ตัวอย่าง (เป็นผลไม้สด 14 ตัวอย่าง) จากด่านอาหารและยาเชียงแสน (เชียงของ) ผลการวิเคราะห์พบยาฆ่าแมลง จำนวน 16 ตัวอย่าง โดยมี 7 ตัวอย่าง เป็นผลไม้สด ได้แก่ 1) องุ่น จำนวน 1 ตัวอย่าง พบแลมป์ดา-ไซแฮโลทริน (แอล-ไซแฮโลทริน) ยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ ที่ปริมาณ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (มก./กก.) 2) ทับทิม จำนวน 2 ตัวอย่าง พบยาฆ่าแมลง 2 ชนิดคือคลอร์ไพริฟอสในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ที่ปริมาณ 0.02 – 0.09 มก./กก. และ ไซเพอร์เมทรินในกลุ่มไพรีทอยด์ที่ปริมาณ 0.02 มก./กก. 3) สาลี่ จำนวน 1 ตัวอย่าง พบพิริมิฟอสเมทิล    ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่ปริมาณ 0.21 มก./กก. 4) ลูกพลับ จำนวน 3 ตัวอย่าง พบคลอร์ไพริฟอสในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่ปริมาณ 0.02 มก./กก. และไซเพอร์เมทริน กับ แอล-ไซแฮโลทริน ในกลุ่มไพรีทอยด์ที่ปริมาณ 0.02 และ 0.01 มก./กก. ตามลำดับ โดยสรุปจากข้อมูลชุดแรก ผลไม้นำเข้าทั้ง 4 ชนิดที่ทดสอบมีความเสี่ยงประมาณร้อยละ 50 ที่จะพบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตร แต่ทุกตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนเป็นสารเคมีที่ไม่มีมาตรฐานใดระบุให้ใช้ได้ในผลไม้ชนิดนั้น ๆ ทั้งมาตรฐานในประเทศและมาตรฐานสากล ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าปริมาณสารเคมีที่พบแต่ละชนิดในผลไม้ต่าง ๆ นั้นเป็นอันตรายหรือ ไม่อย่างไร   ผลไม้จากโครงการเฝ้าระวังฯ ชุดนี้เป็นข้อมูลผลไม้สดที่จำหน่ายในประเทศ และทางโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังฯ ได้นำมาทดสอบ ได้แก่ ส้ม ส้มจีน แอ๊ปเปิ้ล สาลี่ ลูกพลับ เพื่อหาการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตร 4 ประเภทประกอบด้วย ยากันรา-คาร์เบนดาซิม ยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ (สารเลียนแบบโครงสร้างโมเลกุลจากสาร Pyrethrins ที่สกัดได้จากดอกไม้พวกดอกเบญจมาศ) กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (สารอินทรีย์ที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ) และกลุ่มคาร์บาเมต (สารอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ) ในพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล โดยเก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 4 ครั้ง ครั้งละ 2-3 ชนิด แบ่งเป็น 2 ครั้งในปี 52 คือเดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน 2552 และอีก 2 ครั้งในปี 53 คือเดือนมกราคมและเดือนมีนาคม 2553 ส่วนผลการทดสอบการปนเปื้อนของสารเคมีตกค้างทางการเกษตรในผลไม้แต่ละชนิดเป็นอย่างไรกันบ้าง ไปดูกันเลยครับ   ส้ม เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 1 ครั้ง (ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า) จำนวน 8 ตัวอย่างจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ได้แก่ บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส และคาร์ฟูร์ ในพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัดเมื่อเดือนกันยายน 2552 เพื่อส่งทดสอบหา การตกค้างของยากันรา-คาร์เบนดาซิม ยาฆ่าแมลงกลุ่ม ไพรีทอยด์ และยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ผลการทดสอบพบว่า 1) มีการตกค้างของยากันรา-คาร์เบนดาซิมในตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ37.5 ที่ปริมาณ 0.07 – 0.24 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยพบในตัวอย่างของ บ.เซนคาร์ จำกัด จากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ บ.เอกชัยดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด จากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสมุทรสงคราม และ บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จากห้างบิ๊กซี สุขสวัสดิ์ กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามปริมาณสารเคมีที่พบจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารสากล (CODEX) ที่ระบุให้มีคาร์เบนดาซิมในส้มได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   2) พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในต้วอย่างจำนวน 6 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 75 โดยพบการตกค้างของยาฆ่าแมลงตั้งแต่ 1 – 4 ชนิด ในแต่ละตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.004 – 0.64 มก./ กก.  ยาฆ่าแมลงที่พบประกอบด้วย คลอร์ไพริฟอส อีไทออน โพรฟิโนฟอส ไดเมโธเอต ไดอาซินอน และมาลาไธออน เมื่อนำมาตรฐานมาประกอบการพิจารณาจะพบว่าทั้ง 6 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรที่ไม่มีมาตรฐานใดระบุให้ใช้ได้และมี 3 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนเกินมาตรฐานได้แก่ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สุขสวัสดิ์ กรุงเทพฯ ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสมุทรสงคราม และตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม พบโพรฟิโนฟอสเกินมาตรฐานที่ปริมาณ 0.64 0.47 และ 0.45 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ   3) พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างจำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 50 โดยมี 3 ตัวอย่างที่พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงชนิดที่ไม่มีมาตรฐานใดระบุให้ใช้ได้ ได้แก่ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี มหาสารคาม ตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ และตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา ชนิดของยาฆ่าแมลงที่พบในแต่ละตัวอย่างมีตั้งแต่ 1 – 5 ชนิด ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.03 – 0.54 มก./กก. ประกอบด้วย ไซเพอร์เมทริน เดลทาเมทริน แอล-ไซฮาโลทริน ไซฟลูทริน และเฟนวาเลท   ข้อสังเกต 1. มีตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 25) ที่พบการตกค้างในทุกกลุ่มของสารเคมีที่ทำการทดสอบได้แก่ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ กรุงเทพฯ และตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะตัวอย่างจากจังหวัดกรุงเทพฯ พบการตกค้างในปริมาณที่สูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ แต่ยังไม่เกินมาตรฐานยกเว้นโพรฟิโนฟอสที่ตกค้างสูงเกินมาตรฐาน และสารอื่นที่ไม่มีมาตรฐานกำหนด 2. และมีตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่างเช่นกัน ที่ไม่พบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรเลยนอกจากนี้ทั้ง 2 ตัวอย่างเป็นตัวอย่างจากพื้นที่ภาคใต้ได้แก่ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสตูล และ ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สรุปความเสี่ยงจากสารเคมีทางการเกษตรในส้มและคำแนะนำในการบริโภคมีความเสี่ยงในภาพรวมต่อการพบสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับค่อนข้างสูง (ประมาณร้อยละ 60) และมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะได้รับอันตรายจากสารเคมีแต่ละชนิดที่ตกค้างโดยเฉพาะ โพรฟิโนฟอสในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคติดต่อกันเป็นประจำในปริมาณมาก (เกินครึ่งกิโลกรัมต่อวัน)     ส้มจีนเก็บตัวอย่างจำนวน 1 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 8 ตัวอย่างในการเก็บตัวอย่างเดือนมกราคม 2553 จากตลาดสดหรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในพื้นที่ดำเนินงาน 8 จังหวัด จังหวัดละ 1 ตัวอย่างโดยทดสอบหาสารตกค้างทางการเกษตร 3 กลุ่มเช่นเดียวกับที่ทดสอบในส้ม คือคาร์เบนดาซิม ออร์กาโนฟอสเฟต และไพรีทอยด์ มีผลการทดสอบดังนี้ 1. พบยากันรา-คาร์เบนดาซิม จำนวน 3 ตัวอย่างได้แก่ตัวอย่างจาก ตลาดกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ปริมาณ 0.06 มก./กก. ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดมหาสารคาม ที่ปริมาณ 0.05 มก./ และตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสตูล ที่ปริมาณ 0.02 มก./กก. อย่างไรก็ตามปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยต่อการบริโภคเนื่องจากไม่สูงเกินกว่ามาตรฐานอาหารสากล (CODEX) ซึ่งระบุไว้ที่ไม่เกิน 1 มก./กก. 2. พบยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตจำนวน 4 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 50 และ 3 จาก 4 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงชนิดที่ไม่มีมาตรฐานใดระบุไว้ให้ใช้ได้ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส และไตรอะโซฟอส ปริมาณสารเคมีที่พบในทั้ง 4 ตัวอย่างอยู่ระหว่าง 0.006 – 0.14 มก./กก. 3. พบยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์จำนวน 3 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 37.5 โดยมีตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงที่ไม่มีมาตรฐานใดระบุให้ใช้ได้ ได้แก่ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาฟอร์จูน กรุงเทพฯ พบฟลูไซทริเนตที่ปริมาณ 0.02 มก./กก. และตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา พบ แอล-ไซฮาโลทริน และ ไซฟลูทรินที่ปริมาณ 0.14 – 0.16 มก./กก. ตามลำดับ ข้อสังเกต 1. ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาฟอร์จูน กรุงเทพฯ พบการตกค้างของสารเคมีเมทิดาไธออน (Methidathion) ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟส ซึ่งผ่านมาตรฐาน CODEX แต่เป็นสารเคมีที่อยู่ในรายการเฝ้าระวังการใช้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เนื่องจากมีอันตรายสูง อีกทั้งยังพบการตกค้างของสารเคมี ฟลูไซทริเนต (Flucythrinate) ซึ่งเป็นสารเคมีมีพิษร้ายแรงตามการจัดลำดับของ EPA (US Environmental Protection Agency) อย่างไรก็ตามปริมาณที่พบถือว่าไม่สูงนัก (ต่ำกว่า 0.02 มก./กก.) จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแบบเฉียบพลันเมื่อบริโภค 2. มีเพียงตัวอย่างจากตลาดรถไฟ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่ไม่พบการตกค้างของสารเคมีกลุ่มใด ๆ เลย   สรุปความเสี่ยงของสารตกค้างในส้มจีนมีความเสี่ยงต่อการพบสารเคมีทางการเกษตรตกค้างอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง (ร้อยละ 35 – 50) และมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการได้รับสารเคมีตกค้างเข้าสู่ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างปลอดภัย (ปริมาณที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่า 0.1 มก./กก.) แต่ไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นประจำ   แอ็ปเปิ้ล  เก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้ง รวม 15 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกันยายน 2552 และเดือนมกราคม 2553 จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่หรือตลาดสดในพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด จังหวัดละ 1 ตัวอย่าง/ครั้ง เพื่อทดสอบหาการตกค้างของสารเคมี 3 กลุ่มคือคาร์เบนดาซิม ออร์กาโนฟอสเฟต และไพรีทอยด์ ผลการทดสอบพบว่า 1. มีการตกค้างของยากันรา-คาร์เบนดาซิมจำนวน 4 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 27) เป็นตัวอย่างจากการเก็บตัวอย่างในเดือนกันยายน 52 จำนวน 1 ตัวอย่างคือแอ็ปเปิ้ลเขียวของ หจก. สยาม เอส ซี ที จากห้างบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม ที่ปริมาณ 0.01 มก./กก. และเป็นตัวอย่างจากการเก็บตัวอย่างในเดือนมกราคม 53 จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ตัวอย่างจากตลาดรถไฟ จังหวัดขอนแก่นที่ปริมาณ 0.09 มก./กก. ตัวอย่างจากตลาดสดหาดใหญ่ใน จังหวัดสงขลา ที่ปริมาณ 0.06 มก./กก. และตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม ที่ปริมาณ 0.02 มก./กก. อย่างไรก็ตามไม่สามารถระบุได้ว่าสารเคมีที่พบเป็นอันตรายแค่ไหนหากบริโภคเนื่องจากไม่มีมาตรฐานใดระบุไว้ให้ใช้ได้หรือไม่และมากน้อยเพียงใดหากให้ใช้ในผลไม้ชนิดนี้ 2. มีการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตจำนวน 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 20) จากการเก็บตัวอย่าง 2 ครั้ง โดยในเดือนกันยายน 52 พบ 2 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่พบอีไทออน และตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา พบคลอร์ไพริฟอส และอีก 1 ตัวอย่างในเดือนมกราคม 53 พบสารเคมีชนิดคลอร์ไพริฟอสในต้วอย่างของบ.วิตี้เฟรชฟรุ๊ต จากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตามปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมากจนแทบจะตรวจไม่พบโดยเฉพาะตัวอย่างจากจังหวัดเชียงใหม่ที่เก็บเมื่อเดือนมกราคม 53 จึงไม่น่าเป็นอันตรายแต่อย่างใดต่อการบริโภค   3. มีการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์จำนวน 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 40) แบ่งออกเป็น 4 ตัวอย่างในตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนกันยายน 2552 ได้แก่ตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปริมาณรวม 0.73 มก./กก. ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา ที่ปริมาณรวม 0.08 มก./กก. ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม ที่ปริมาณรวม 0.04 มก./กก. และตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์สาขาลาดพร้าว กรุงเทพฯ ที่ปริมาณรวม 0.03 มก./กก. กับอีก 2 ตัวอย่างในตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนมกราคม 2553 ได้แก่ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคามที่ปริมาณรวม 0.02 มก./กก. และตัวอย่างจากตลาดรถไฟ จังหวัดขอนแก่นที่ปริมาณ 0.01 มก./กก. โดยพบสารเคมีตั้งแต่ 1 – 5 ชนิดได้แก่ แอล-ไซฮาโลทริน ไซเปอร์เมทริน เฟนวาเลท ไซฟลูทริน และเดลทาเมทริน และมีเพียงแค่ 2 ชนิดคือไซฟลูทรินและเดลทาเมทรินที่มีมาตรฐานกำกับการใช้ (มาตรฐานอาหารสากล-CODEX)   ข้อสังเกตมีตัวอย่างอย่างจาก 2 จังหวัดที่ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในแอ๊ปเปิ้ลเลยจากการเก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้งได้แก่ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสมุทรสงครามและตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสตูล   สรุปความเสี่ยงในแอ๊ปเปิ้ลและคำแนะนำในการบริโภคมีความเสี่ยงต่อการพบสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับน้อยถึงเกือบปานกลาง และมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารเคมีในระดับต่ำยกเว้นสารเคมีกลุ่มไพรีทอยด์บางชนิด คำแนะนำในการบริโภค ควรปอกเปลือกและล้างทำความสะอาดก่อนการบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point