ฉบับที่ 141 มาม่า - กระเจี๊ยบเขียว

โครงการรับจำนำข้าวคงต้องรอปิดดีลการขายแบบ G – to – G ของสิ้นปี 2555 จบ แล้วดูผลลัพท์เพื่อพิสูจน์ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์นี้จะสามารถเปลี่ยนกลไกการตลาดข้าวโลกเพื่อเพิ่มรายได้ของชาวนาตามมาตรฐานใหม่ที่ชาวนาควรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปแล้วอย่างความเสี่ยงที่จะการเกิดภัยพิบัติ  ภาวการณ์ขาดแคลนพลังงาน และราคาปัจจัยการผลิต ที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในโลกอนาคต  และหันมาเพิ่มรายได้ชาวนาเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายและสร้างการเงินหมุนวียนภายในประเทศได้มากน้อยเพียงไร ดีไปอย่างที่วิวาทะเกี่ยวกับโครงการจำนำนั้น   นอกจากจะทำคนไทยหันมาสนใจเรื่องของชาวนาอย่างกว้างขวาง  ตั้งแต่ชาวนาไทยที่แท้จริงรวยหรือจน?    รวมถึงข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาชาวนาที่ยั่งยืนมากขึ้นในรูปแบบอื่นๆ อย่างเช่นรัฐควรดูแลที่ดินทำกินของเกษตรกรให้ชาวนาเป็นผู้ถือครองมีกรรมสิทธิเป็นของตนเอง  การดูแลรายได้และการลดต้นทุนการผลิต ประเด็นแลกเปลี่ยนกันอย่างสุดฮิตใน FB  ก็คือ ความสามารถของชาวนาไทยในการแข่งขันผลิตข้าวขายในตลาดข้าวโลก โดยอิงตัวเลขจาก TDRI  โดยระบุว่า ไทยมีผลผลิต/ไร่ เป็นลำดับที่ 6  อัตรา 448 กก./ไร่   ต่ำกว่าลำดับที่ 1 เวียดนาม , อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ , มาเลเซีย ,  และลาว คือ  862.4 , 779.2 , 616 ,  592 , 588.8 กก./ไร่   แถมด้วยมีสารคดี “ASEAN Beyond 2015 : ข้าวเวียดนามชนะข้าวไทย”   ที่ Thai PBS ลงทุนเดินทางไปถ่ายทำและนำเสนอความยาวเกือบ 1 ชั่วโมง ฉายภาพให้เห็นโอกาสอันก้าวหน้าของอนาคตข้าวเวียดนาม พร้อมบรรยายว่ามีต้นทุนการผลิตเพียง 4,426 บาท/ไร่ แต่กำไรมากเป็น 4 เท่าของชาวนาไทย คือ 5,555 บาท และปีนี้ซื้อขายกันที่ตันละ 7,000 บ.  ซึ่ง อ.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยของ TDRI เอง ได้ชี้ให้เห็นข้อมูลที่ผิดพลาดนี้ว่า หากชาวนาเวียดนามจะขายให้ได้กำไรอย่างที่บรรยายไว้ โดยอัตราผลผลิต/ไร่ที่ 800 กก./ไร่ ราคาที่ควรขายจริงน่าจะอยู่ที่ 12,500 บาท   ถ้าผลผลิต/ไร่ของไทยต่ำกว่าเกือบครึ่งหนึ่งราคาที่ชาวนาไทยจะอยู่รอดได้จริงควรเป็นเท่าไหร่ดี(ฮา) อันที่จริงเรื่องปริมาณผลผลิต/ไร่ ที่มากกว่า ก็ไม่ชัวร์ว่าจะเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันในตลาดข้าวโลกได้   ตัวเลขที่หลายคนหยิบมาใช้นี้ไม่ได้บอกวิธีคิดที่แยกแยะความแตกต่างของชนิด/พันธุ์ข้าวที่ปลูกในแต่ละประเทศ   และลักษณะจำเพาะของตลาดที่ซื้อขายข้าวชนิดต่างๆ    ในกรณีของไทยอนุมานว่านำตัวเลขผลผลิต/ไร่ ของข้าวพื้นที่เพาะปลูกนาปรังในพื้นที่ชลประทานรวมกับนาปีเขตน้ำฝนรวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ย  ขณะที่เวียดนามเองก็มีทั้งพื้นที่ปลูกข้าวอายุสั้น ต้นเตี้ย ผลผลิตสูงแต่ราคาต่ำ  และพื้นที่ปลูกข้าวคุณภาพดีรวมอยู่ด้วยเช่นกัน   นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการชี้วัดผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศในแต่ละปีว่าจะมีแค่พอกินหรือเหลือขาย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่มีอัตราผลผลิต/ไร่สูงกว่าไทยแต่ต้องนำเข้าข้าว  เป็นต้น ยิ่งกว่าขำก็คือ หลายคนห่วงว่าชาวนาไทยจะเปลี่ยนใจหันมาเพิ่มรอบการปลูกข้าวมากขึ้นด้วยการใช้พันธุ์ข้าวอายุสั้น แต่กลับเอาปริมาณผลผลิต/ไร่ของข้าวอายุสั้นที่มากกว่าในเวียดนามมาใช้    ข้อมูลภาคสนามที่ฉันได้จากชาวนาพบว่า ข้าวอายุสั้น 75 วัน หรือที่เรียกว่าข้าวซีพี แม้จะโตไวแต่เพราะผลผลิต/ไร่ต่ำ ไม่ได้น้ำหนัก และขายยากไม่น่าสนใจ  ชาวนาแถวบ้านยังเลือกปลูกข้าวอายุ 100 กว่าวันในนาปรังหนแรกช่วงต้นปี และรีบปลูกข้าวปรังหนที่ 2 ทันที ซึ่งบางรายยังสนใจที่จะปลูกข้าวพันธุ์เดียวกับปรังหนแรกเพราะน้ำหนักดี แต่บางรายปรับมาปลูกข้าว 90 วันแทนเพราะต้องการหนีให้ทันน้ำ ยังมีเรื่องขำขันในสารคดีนี้อีกไม่น้อย เช่น แหล่งข้าวหอมมะลิไทยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือภาพที่ดูดีไปหมดของการมีอาชีพทำนาในเวียดนาม และประสิทธิภาพของรัฐในการส่งเสริมการลดต้นทุนชาวนา ที่ฉันได้แต่รำพึงในใจว่าถ้าดีและเก่งอย่างนั้นจริงๆ น่าจะส่งหน่วยงานส่งเสริมเกษตรของไทยไปฝึกงานอย่างจริงจังดูมั่ง แต่ก็ยังลังเลอยู่ว่า ชาวนารายที่มีที่นาถือครองเพียง 4 – 5,000 ตร.เมตร นั้นสามารถขายข้าวและผลผลิตในการทำเกษตรผสมผสานได้จริงๆ หรือ ก่อนคอลัมน์นี้จะเปลี่ยนสถานะจากคอลัมน์ how to cook ไปเป็น วิจารณ์หนัง/โฆษณา และกลายเป็นมาม่าทีวีไทยไปเสียก่อน เรามาทำอะไรง่ายๆ กินดีกว่า หลายวันก่อน คุณชาวนาเพื่อนของฉันที่สุพรรณ เอารูปกระเจี๊ยบเขียวและประชาสัมพันธ์ขายเมล็ดของมันใน FB  ฉันเลยทดลองทำกระเจี๊ยบเขียวอบกรอบกินดู ทั้งที่ไม่มีหม้ออบสุญญากาศ  ... แต่ยังไม่ได้ผลค่ะ รอสำเร็จเมื่อไหร่ค่อยเอามาแลกเปลี่ยนกันในคอลัมน์นี้ กระเจี๊ยบเขียว  ฝักรูปทรงยาวเรียวคล้ายนิ้วมือ(ยักษ์)แต่มี  5 - 10 เหลี่ยม เลยได้ชื่อว่า Okra หรือ Lady’s finger  พันธุ์ที่นิยมมากเพื่อนำไปแปรรูปและส่งออกไปชาวญี่ปุ่นของคือพันธุ์ 5 เหลี่ยม รูปฝักค่อนข้างตรง  ด้วยเพราะความนิยมในการปลูกส่งออกแล้วนี่แหละเราคนไทยจึงได้มีโอกาสกินกระเจี๊ยบเขียวเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต  ซึ่งนิยามกินในรูปของการนำไปลวกจิ้มน้ำพริก เกือบ 20 ปีก่อน เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งแนะนำฉันต่อหน้าเพื่อนชาวเนเธอแลนด์ว่ากระเจี๊ยบเขียวกินสดได้และส่งเข้าปากเคี้ยวกรุบกรอบทันทีในแปลงผักอินทรีย์แห่งหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี   ฉันก็ลองดูบ้างและพบว่ามันกรอบอร่อยและมีเมือกน้อยกว่า    หลังจากนั้นมาฉันว่าฉันชอบกินกระเจี๊ยบสดมากกว่ากระเจี๊ยบลวกสุกจริงๆ ด้วย หลังรู้วิธีกินกระเจี๊ยบเขียวสดได้ไม่กี่ปี ฉันมีโอกาสได้ไปประชุมอะไรสักอย่างที่กัวลาลัมเปอร์ แต่เพราะต้องเดินทางราคาประหยัดกับเพื่อนหมู่มาก จึงมีโอกาสได้แวะพักที่นอนราคาถูกแถวปีนัง   และเจอร้านบะหมี่โต้รุ่งที่นั่นมีบริการหั่นผักชนิดต่างๆ ใส่ตะกร้า และบอกราคาขายที่คนซื้อต้องจ่ายเพิ่มหากต้องการเติมลงในบะหมี่  ซึ่งในตะกร้าเหล่านั้นนั้นมีทั้งเห็ดทอด เห็ดฟาง ต้นกระเทียมญี่ปุ่น บล็อกโคลี และกระเจี๊ยบเขียวหั่นท่อนรวมอยู่ด้วย   โกยซีหมี่กันดีกว่า เครื่องปรุง 1.บะหมี่เหลืองกวางตุ้งหรือบะหมี่เตี๊ยว  2.แฮม 1 ขีด  2.กระเจี๊ยบเขียวหั่นท่อน  2 ขีด 3.เห็ดหอมแห้งแช่น้ำ  3 – 4 ดอก 4.ต้นหอม  3 ต้น 5.กระเทียม  4 – 5 กลีบ  6.แป้งข้าวโพดหรือแป้งมัน  7.น้ำ  8.ซีอิ๊วขาว  9.น้ำตาล  10.จิ๊กโฉ่(ซอสเปรี้ยว) วิธีทำ ลวกเส้นบะหมี่ให้สุกแล้วพักไว้   จากนั้นเตรียมน้ำสำหรับราดเส้นหมี่ ซึ่งมีวิธีทำคล้ายราดหน้า   เริ่มที่เจียวกระเทียมให้หอมแล้วนำเห็ดหอมแห้งที่แช่น้ำและหั่นเป็นชิ้นแล้วลงไปผัดสักครู่ ตามด้วยแฮมหั่นเป็นเส้น  แล้วเติมฝักกระเจี๊ยบเขียวลงไปผัดต่อไปไวๆ เติมน้ำ ระหว่างนี้ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและน้ำตาลตามชอบ รอจนกระทั่งน้ำเดือด ค่อยๆ เติมน้ำละลายแป้งข้าวโพดลงไป  เมื่อน้ำข้นได้ที่ก็ปิดเตา บางรายหากชอบมาม่า ก็ใช้แทนเส้นบะหมี่ได้ ทั้งแบบกรุบกรอบและแบบลวกล้างเค็มออก ก่อนตักโกยซีหมี่กระเจี๊ยบเขียวเข้าปาก  ฉันยังอดสงสัยไม่ได้ว่าปรากฏการณ์แล้งนานและกินพื้นที่กว้างขวางในสหรัฐอเมริกาปีนี้จะมีผลต่อราคาขนมปัง มาม่า บะหมี่ มักกะโรนี พลาสต้า  และบรรดาผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีหรือเปล่า???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point